พระมหาวีระ ถาวโร
ll กลับสู่ด้านบน
(((( โปรดติดตามตอนต่อไป ))))
webmaster - 5/9/08 at 08:52
<: หมายเหตุ :>
ก่อนที่จะอ่านเรื่องราวต่อไป ผู้จำทำขอทำความเข้าใจต่อท่านผู้อ่านก่อนว่า ในสมัยก่อน พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เขียนหนังสือเล่มนี้
เพื่อเป็นแนวปฏิบัติเฉพาะศิษย์ในกลุ่มของท่าน ซึ่งยังมีจำนวนไม่มากนัก ต่อมาสมัยนี้ท่านก็ได้เขียนหนังสือ "คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน"
ขึ้นมาอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่า และภายหลังท่านได้สอนวิชา "มโนมยิทธิ" อันเป็นวิธีการที่ลัดและง่ายกว่า แต่ถ้าจะปฏิบัติแบบ "สุกขวิปัสสโก"
ก็ยังถือเป็นแนวปฏิบัติตามนี้ได้
ฉะนั้น การที่นำข้อเขียน "อภิญญาปฏิบัติ" ของท่านมาลงในเว็บนี้ เพื่อจะได้อ่านสำนวนของท่านสมัยก่อนเท่านั้น
แต่การที่จะยึดถือแนวปฏิบัติ คงจะถือแนวปฏิบัติแบบเดิม คือเมื่อผึก "มโนมยิทธิ" ได้แล้ว ก็สามารถจะได้ญาณต่างๆ เหล่านี้อยู่แล้ว
จึงได้จำเป็นต้องย้อนกลับมาปฏิบัติแบบเดิมอีก เพราะการฝึกมโนมยิทธิเป็นทางลัดเข้าสู่ญาณทั้ง ๗ อันมี "ทิพยจักขุญาณ" เป็นต้น
อภิญญาปฏิบัติ
โดย
พระมหาวีระ ถาวโร
อภิญญา ๕
๑ อิทธิฤทธิญาณ มีความรู้ในการแสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ
๒ ทิพยโสตญาณ มีความรู้เหมือนหูทิพย์
๓ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของคนและสัตว์
๔ จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายแล้วไปเกิด ณ ที่ใด
๕ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้
๕ ข้อข้างบนนี้ ท่านรวมเรียกว่า อภิญญา เพราะมีความรู้เกินกว่าสามัญชนจะพึงรู้ได้ อภิญญาทั้ง ๕ นี้ เป็น โลกียวิสัย
โลกียชนสามารถจะปฏิบัติ หรือ ฝึกหัดจิตของตนให้ได้ ให้ถึงได้ทุกคน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกวาสนาบารมี แต่เลือกเอาเฉพาะผู้ทำถูก ทำจริง และทำดี
ถ้าทำจริง ทำถูก และทำแต่พอดีแล้ว ได้เหมือนกันหมด เว้นเสียแต่ท่านผู้รู้นอกลู่นอกทางเท่านั้น ที่จะทำไม่พบไม่ถึง ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า
เมื่ออภิญญานี้เป็นของคนทุกชั้นทุกวรรณะแล้ว ทำไมนักปฏิบัติกรรมฐานสมัยนี้มีดื่น สำนักกรรมฐานก็ก่อตั้งกันขึ้นเหมือนดอกเห็ด
ทำไมเขาเหล่านั้นไม่มีใครได้อภิญญา?
ถ้าท่านถามอย่างนี้ ก็ขอตอบว่า ที่เขาได้เขาถึงในปัจจุบันนี้ก็มีมาก แต่เขาไม่กล้าแสดงตนให้ท่านทราบ เพราะดีไม่ดีท่านนั่นแหละจะหาว่าเขาบ้า ๆ บอ ๆ
เสียก็ได้ ที่ปฏิบัติกันเกือบล้มเกือบตาย ไม่ได้ผลอะไรเลย แม้แต่ปฐมฌานก็มี ที่ไม่ปรากฏผลก็เพราะเขาปฏิบัติไม่ถูก
บางสำนักไม่แต่เพียงปฏิบัติไม่ถูกอย่างเดียว ยังแถมสร้างแบบสร้างแผนปฏิบัติเป็นของตนเอง แล้วแอบอ้างว่าเป็นของพระพุทธเจ้า
ทำการโฆษณาคุณภาพแล้วก็สอนกันไปตามอารมณ์ ตามความคิดความนึกของตัว พอทำกันไปไม่กี่วันก็มีการสอบเลื่อนชั้น เลื่อนลำดับ
แล้วออกใบประกาศรับรองว่าคนนั้นได้ชั้นนั้น คนนี้ได้ชั้นนี้
ครั้นพิสูจน์กันเข้าจริง ๆ ปรากฏว่าไม่ได้อะไรเลย แม้แต่อุปจาระฌานก็ไม่ได้ แล้วยังแถมมีจิตคิดผิด หลงผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสียอีก กรรมหนักแท้ ๆ
ในบางสำนักก็ให้ชื่อสำนักของตนเป็นสำนักวิปัสสนา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาสอนไปตามลัทธิของตน ถูกหรือผิดไม่รู้
แล้วแถมยังคุยเขื่องอีกว่าพวกฉันเป็นพวกวิปัสสนา ฉันไม่ใช่สมถะ พวกสมถะต่ำ ไปนิพพานยังไม่ได้ ส่วนวิปัสสนาของฉันเป็นทางลัดไปนิพพานโดยตรงเลย
น่าสงสารแท้ ๆ ช่างไม่รู้เก้ารู้สิบเอาเสียเลย ความรู้เรื่องไปนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้ชัดเจน ไม่ได้ปิดบังอำพลางแต่ประการใด
ท่านสอนว่า ผู้ที่มุ่งพระนิพพานนั้น ในขั้นต้นต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ที่เรียกว่า "อธิศีลสิกขา"
เมื่อปรับปรุงศีลอันเป็นเครื่องระงับความชั่วทางกายวาจาได้แล้ว ก็ให้เข้ามาปรับปรุงใจ ใจนั้นมีสภาพดิ้นรน กลับกลอก ไม่อยู่นิ่ง คล้ายลิง
ให้ผูกใจมัดใจให้มีสภาพคงที่มั่นคงเสียก่อน โดยหาอุบายฝึกใจให้จับอยู่ในอารมณ์เดียว คือคิดอะไรก็ให้อยู่ในวัตถุนั้น ไม่สอดส่ายไปในวัตถุอื่น
ที่เรียกว่า "สมาธิ" หรือเรียกตามชื่อของกรรมฐานว่า สมถกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ การทำใจให้สงบนี้ จะโดยวิธีใดก็ตาม เรียกว่า สมถะ ทั้งนั้น
อุบาย ๗ กลุ่ม
อุบายที่ทำใจให้สงบระงับไม่ดิ้นรนนี้ พระพุทธเจ้าทรงวางแบบไว้ถึง ๔๐ แบบ จัดเป็นกลุ่มได้ ๗ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ เอาไว้ปราบพวกรักสวยรักงาม เรียกว่า ราคะจริต
กลุ่มที่ ๒ เอาไว้ปราบพวกใจร้ายใจอำมหิต เรียกว่า โทสะจริต
กลุ่มที่ ๓ เอาไว้ปราบพวกหลงงมงาย เรียกว่า โมหะจริต
กลุ่มที่ ๔ เอาไว้ปราบพวกเชื่อง่ายไม่มีเหตุผล เรียกว่า ศรัทธาจริต
กลุ่มที่ ๕ เอาไว้ปราบพวกช่างคิด ช่างนึก ตัดสินใจไม่เด็ดขาด เรียกว่า วิตกจริต
กลุ่มที่ ๖ เอาไว้ปราบพวกฉลาดเฉียบแหลม เรียกว่า พุทธจริต
กลุ่มที่ ๗ เป็นกรรมฐานกลาง ปฏิบัติได้ทุกพวก
เมื่อสามารถระงับใจให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ พอจะใช้งานด้านวิปัสสนาได้ ที่เรียกว่าได้ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ ตามลำดับอย่างนี้ เรียกว่า
อธิจิตสิกขา เป็นการเตรียมการลำดับที่ ๒ แล้วจึงเอาจิตที่มีสมาธิตั้งมั่นจนถึงลำดับฌานแล้วนี่แหละ ไปวิจัยด้านวิปัสสนา
คำว่า วิปัสสนา นั้น แปลว่า รู้แจ้งเห็นจริง หรือถ้าจะพูดตามภาษานิยมก็เรียกว่า ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง
ไม่ฝืนกฎธรรมดานั่นเองแล้วก็พวกวิปัสสนาลัดทุ่งลัดป่า ที่ไม่ยอมปรับปรุงศีล ไม่ปรับปรุงสมาธิ ที่เรียกว่าสมถะแล้ว เอาอะไรมาเป็นวิปัสสนา
เห็นสำเร็จมรรคผล ซื้อไร่ ซื้อนา รับจำนำจำนองกันให้ยุ่งไปหมด อย่างนี้เรียกว่าถึงมรรคถึงผลแล้วหรือ น่าขายขี้หน้าชาวต่างชาติต่างศาสนา
เขามาประเดี๋ยวเดียวเขาก็คว้าเอาของดีไปหมด เราอยู่ในเมืองพระพุทธศาสนา มัวทำตนเป็นปีศาจอย่างนี้ ในที่สุดก็ไปทำให้พระยายมมีงานมากขึ้น
ฝึกอภิญญาปฏิบัติ
เพื่อย่นเวลาอ่านให้สั้นเข้า จึงใคร่จะให้ท่านผู้อ่านได้รู้ได้เห็นวิธีฝึกใจเพื่อได้อภิญญาเสียเลย แล้วจึงจะได้เขียนถึงวิธีเตรียมการณ์ไว้ท้ายบท
อภิญญาที่ ๑ อิทธิฤทธิญาณ
อภิญญาที่ ๑ นี้ ผู้ประสงค์จะฝึกท่านให้เรียนกสิณ ๑๐ ให้ชำนาญจากอาจารย์ผู้สอนเสียก่อน ถามวิธีฝึกและข้อเคล็ดลับต่าง ๆ ให้เข้าใจ
เมื่อขณะฝึกนั้นถ้ามีอะไรสงสัยให้รีบหารืออาจารย์ อย่าตัดสินเองเป็นอันขาด ข้อสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อจะเรียนนั้นดูอาจารย์เสียก่อนว่าได้แล้วหรือเปล่า
ถ้าอาจารย์ไม่ได้ก็จงอย่าไปขอเรียนเลย เคยเห็นพาลูกศิษย์ลูกหาไปผิดลู่ผิดทาง เลอะเทอะกันมาแล้ว
เมื่อเห็นอาจารย์ได้จริงแล้วก็เรียนเถิด ท่านคงไม่พาเข้ารกเข้าป่า เมื่อทำกสิณได้ชำนาญทั้ง ๑๐ อย่างแล้ว
ท่านให้พยายามเข้าฌานตามลำดับฌานแล้วเข้าฌานตามลำดับกสิณ แล้วเข้าฌานสลับฌาน แล้วเข้าฌานสลับกสิณ ทำให้คล่อง นึกจะเข้าเมื่อไรเข้าฌานได้ทันที
นอนหลับพอรู้สึกตัวก็เข้าฌานได้ทันที กำลังเดิน กำลังทำงาน กำลังพูด อ่านหนังสือ ดูมหรสพ หรือในกิจต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ เมื่อคิดว่าเราจะเข้าฌานละ
ก็เข้าได้ทันที อย่างนี้เรียกว่าได้อภิญญาที่ ๑ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ตามความพอใจ
อภิญญาที่ ๒ ทิพยโสตญาณ
ญาณหูทิพย์นี้ ท่านให้เข้าฌานในกรรมฐานกองใดกอง ๑ ก็ได้ เป็นกรรมฐานที่มีอภิญญาเป็นบาท คือกรรมฐานกองนี้ทรงคุณถึงฌานที่ ๔ ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า
ทำไมกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ทรงคุณไม่เสมอกันหรืออย่างไร
ขอตอบว่ากำลังของกรรมฐานทั้ง ๔๐ ไม่เท่ากัน เช่น อนุสติ ๓ คือ พุทธานุสติ ธรรมมานุสติ สังฆานุสติ เป็นต้น
ทรงกำลังได้เพียงอุปจารฌาน กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ จตุธาตุ ๔ เป็นต้น ทรงกำลังได้ถึงฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้เป็นฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท
เพราะทรงอภิญญาไว้ได้ กำลังของกรรมฐานไม่เท่ากันอย่างนี้ ท่านจึงให้เลือกกรรมฐานเข้าฌาน เข้าให้ถึงฌานที่ ๔ แล้ว
ถอยจิตออกจากฌานให้ตั้งอยู่เพียงอุปจารฌาน
แล้วคิดคำนึงถึงเสียงที่ได้ยินมาแล้วในเวลาก่อน ๆ ในระยะแรกให้คำนึงถึงเสียงที่ดังมาก ๆ เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงหวูดรถไฟ เรือยนต์
แล้วค่อยคำนึงถึงเสียงที่เบาลงมาเป็นลำดับ จนถึงเสียงกระซิบ และเสียงมดปลวก ซึ่งปกติเราจะไม่ได้ยินเสียงคำนึงด้วยจิตในสมาธิ จนเสียงนั้น ๆ ก้องอยู่
คล้ายกับเสียงนั้นปรากฏอยู่เฉพาะหน้าและใกล้หู ต่อไปก็คำนึงถึงเสียงที่อยู่ไกล ข้ามบ้าน ข้ามตำบล อำเภอ จังหวัด
และเสียงที่บุคคลอื่นพูดแล้วในเวลาที่ล่วงเลยมาแล้ว เมื่อเสียงนั้น ๆ ปรากฏชัดแล้ว เป็นอันว่าได้ทิพยโสตญาณ หูทิพย์ ในอภิญญาที่ ๒
อภิญญาที่ ๓ เจโตปริยญาณ
ญาณนี้รู้ใจคนและสัตว์ รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ ในขณะนี้ หรือก่อน หรือในวันต่อไป เจโตปริยญาณก็ดี จุตูปปาตญาณก็ดี
ทั้งสองอย่างนี้ล้วนเป็นกิ่งก้านของทิพยจักขุญาณ เมื่อท่านเจริญทิพยจักขุฌาน คือ ญาณที่มีความรู้เหมือนตาทิพย์ได้แล้ว ทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๔
ก็จะได้ "เจโต" และ "จุตูปปาตญาณ" เอง ทิพยจักขุฌานนั้น เป็นญาณที่สร้างให้ได้ก่อนญาณอื่น
เพราะเจริญกรรมฐานให้ได้เพียงอุปจาระฌาน คือเจริญ อาโลกสิณ โอทาตกสิณ หรือ เตโชกสิณ ใน ๓ อย่างนี้
อย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้อุปจารฌานแล้ว กำหนดจิตว่าต้องการเห็นนรก ก็ถอนจิตจากนิมิตกสิณนั้นเสีย แล้วกำหนดใจดูนรก ภาพนรกก็จะปรากฏ
เมื่อประสงค์จะเห็นสวรรค์และอย่างอื่น ๆ ก็ได้เหมือนกัน
๑. การเห็นนั้นจะมัวหรือชัดเจนขึ้นอยู่กับนิมิต เมื่อเพ่งนิมิต คือ รูปกสิณ ถ้าเห็นรูปกสิณชัดเท่าใด ภาพนรกสวรรค์
หรืออย่างอื่นที่เราปรารถนาจะรู้ก็ชัดเจนแจ่มใสเท่านั้นเมื่อท่านเจริญกสิณกองใดกอง ๑ ใน ๓ กองนี้จนได้อุปจารฌานแล้ว ฝึก "ทิพยจักขุญาณ" ได้แล้ว
ให้พยายามทำสมาธิให้สูงขึ้นถึงฌานที่ ๑-๒-๓-๔ โดยลำดับ ท่านจะได้ภาพที่เห็นชัดเจนขึ้น และสามารถเจรจากับพวกพรหมเทวดา และภูตผีปีศาจได้เท่า ๆ กับมนุษย์
๒. เมื่อทำจิตให้ตั้งมั่นจนถึงฌานที่ ๔ แล้ว ก็จะรู้วาระจิตของคนอื่น ว่าคนนี้มีกิเลสอะไรเป็นตัวนำ ขณะนี้เขากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ เรียกว่า
"เจโตปริยญาณ"
๓. และรู้ต่อไปว่า สัตว์ตัวนี้ หรือคน ๆ นี้ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์หรือคนที่เกิดใหม่นั้นมาจากไหน อย่างนี้เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ"
๔. และรู้ต่อไปว่า สัตว์หรือคนที่มาเกิดนี้เพราะกรรมอะไร ที่เป็นบุญหรือเป็นบาปบันดาลให้มาเกิด เขาตายไปแล้วไปตกนรกเพราะกรรมอะไร
ไปเกิดบนสวรรค์เพราะกรรมอะไร อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่า "ยถากรรมมุตาญาณ"
๕. สามารถรู้เรื่องในอดีต คือ ที่ล่วงมาแล้วมาก ๆ เรียกว่า "อตีตังสญาณ"
๖. รู้เรื่องในอนาคตได้มาก ๆ เรียกว่า "อนาคตังญาณ"
๗. และเมื่อปรารถนาจะรู้เรื่องถอยหลังไปถึงชาติก่อน ๆ นี้ก็รู้ได้ เรียกว่า "ปุพเพนิวาสานุสติญาณ"
รวมความแล้วเมื่อเจริญกรรมฐานในกสิณ ๓ อย่างนั้น อย่างใดอย่าง ๑ แล้ว จนถึงฌานที่ ๔ ก็จะได้ญาณรวมกันทั้งหมด ๗ อย่าง เป็นกรรมฐานที่ได้กำไรมาก
ในหนังสือนี้จะเขียนแต่เพียงบอกทางปฏิบัติ หรือจะเรียกว่าแนะวิธีปฏิบัติก็ได้ จะไม่เขียนวิธีปฏิบัติไว้ให้ในปีนี้ ท่านผู้สนใจในกรรมฐาน ๔๐
ของพระพุทธเจ้า โปรดสละเงินสัก ๖๐ บาท ไปหาซื้อ "หนังสือวิสุทธิมรรค" จากร้านขายหนังสือ แล้วเอามาอ่านมาเรียนกันเอาเอง
เมื่อไม่เข้าใจตอนไหนก็ไปถามท่านผู้รู้จริง ไม่ใช่รู้หลอกลวง แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านก็จะได้ผลสมความมุ่งหมาย
ปรับพื้นใจ
ไม่ว่าอะไร จะเป็นบ้าน ตึก เรือน โรง หรือถนนหนทางก็ตามทีก่อนจะสร้างให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ก็ต้องปรับพื้น ตอกหลัก ปักเข็มกันซุดเสียก่อน
แม้การเจริญอภิญญาปฏิบัติก็เหมือนกัน อยู่ ๆ จะมาปฏิบัติเพื่อทำให้ได้แบบชุบมือเปิบนั้น ไม่มีทางสำเร็จแน่ ต้องปรับปรุง กาย วาจา ใจ
ให้เข้ามาตรฐานเสียก่อน
ถ้ายังรู้จักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นชู้ลูกเขาเมียคนอื่น โกหกตอแหล ดื่มเหล้าเมาสุรา หรือยังรู้จักอิจฉาริสยาชาวบ้านชาวเมือง สะสมกอบโกย
กลั่นแกล้ง ตระหนี่ขี้เหนียวอยู่แล้ว อย่าคิดอย่าฝันเลย ว่าจะพบอภิญญากับเขา อภิญญารักคนดี เกลียดคนชั่ว
ฉะนั้นสมัยนี้พวกนักต่าง ๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ หรือนักศาสตร์อื่น ๆ จนกระทั่งนักศาสตร์ขี้เหล้าเมายา
ก็พากันวิภาควิจารณ์ถึงเรื่องนรกสวรรค์ อยากจะรู้อยากจะเห็นด้วยตาตนเอง ถ้าอยากรู้อยากเห็นจริงแล้ว เชิญทดลองปฏิบัติได้เลย
ขออย่างเดียวทำตนให้เข้ากับหลักสูตรให้ได้เสียก่อน
ถ้าทำตนของท่านให้เข้ากับหลักสูตรไม่ได้แล้ว ก็ควรเลิกฝอย เสียเวลาเปล่า ไม่ว่านักเรียนนักศึกษาหรือนักอะไรทั้งนั้น
ถ้าความประพฤติไม่ดีไม่เหมาะสมแล้ว โรงเรียนหรือสถานที่นั้น ๆ เขาก็คงไม่ต้องการ เรื่องความรู้หรือค่าแรงงานก็เป็นอันไม่ได้รับ
อภิญญานี้ก็เหมือนกัน ขอให้ทำตนให้เหมาะสมเสียก่อนแล้วจึงเข้ามาปฏิบัติ คำว่าทำตนให้เหมาะสมนี้ ท่านอย่าคิดนะว่า ถ้าได้โกนหัวห่มเหลืองแล้วจะใช้ได้
ชนิดโกนหัวห่มเหลืองนี้ ที่เป็นหนอนบ่อนไชพระพุทธศาสนาก็ไม่น้อย บวชแล้วแทนที่จะช่วยกันบำรุงพระศาสนา แต่กลับไปติดลาภ ติดยศ ติดสรรเสริญเยินยอ
ประกาศพระศาสนาแข่งกับพระพุทธเจ้า โปรดสังเกตดูเถอะหาไม่ยาก ฉะนั้นการทำตนให้เหมาะสมจึงไม่ใช่จะต้องบวช เอาเพียงประพฤติให้ถูกเท่านั้น เป็นพอดีแล้ว
ll กลับสู่ด้านบน
(((( โปรดติดตามตอนต่อไป ))))
อุทุมพลิกาสูตร
webmaster - 13/9/08 at 09:57
(Update 13 ก.ย. 51)
อุทุมพลิกาสูตร
การทำถูกทำดีนั้นเขาทำกันอย่างไร ในหนังสือนี้ขอนำเอาพระพุทธฎีกาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเจ้าของศาสนามาเล่าสู่กันฟังจะได้รู้ว่าการปฏิบัติเพื่ออภิญญา และพระนิพพานนั้น ในหลักสูตรของพระพุทธศาสนาท่านวางไว้อย่างไร
ท่านผู้อ่านได้เคยอ่านหนังสือมาหลายเล่ม อาจไม่ใคร่ตรงกันหรือบางทีก็ไปพบเอาลัทธิของบรรดานักปราชญ์มือเปล่ากระเป๋าโบ๋เข้า
แต่งหนังสือให้ชาวบ้านอ่านได้เป็นวรรคเป็นเวร แต่ตัวเองแม้แต่ศีล ๕ ก็รักษาไว้ไม่ได้ ดีไม่ดีแถมกินเหล้ากำลังมึนอยู่นั่นแหละ เขียนธรรมสอนชาวบ้าน
เป็นอันว่าผู้อ่านก็อ่านคำสอนของขี้เมา
เมื่อคนเขียนเมา มือที่จับปากกาก็เมาไปด้วย เมื่อปากกาเมาแล้ว เส้นน้ำหมึกที่ไหลไปติดกระดาษก็เมา เมื่อน้ำหมึกเมาแล้ว
ตัวอักษรที่เป็นข้อความนั้นก็เมา เมื่อตัวอักษรเมาคนอ่านก็พลอยเมาไปด้วย แล้วอะไรต่อไปล่ะ เมื่อคนอ่านบรรจุความเมาเข้าไปแล้ว ไปอยู่บ้านบ้านก็พลอยเมา
หมายถึงคนในบ้านนั้นพลอยเมาไปด้วย เพราะเขาอ่านมาก เขาดูมาก เขาจำได้มาก ต้องเชื่อเขา เมื่อเชื่อคนเมาก็พลอยเมาตาม เมื่อความเมาขยายมาถึงขนาดนี้แล้ว
ต่อไปในตำบลนั้นก็เมา เพราะความรู้เมา ๆ แพร่ไป แล้วก็ในเขตอำเภอ เขตจังหวัด เขตประเทศ เลยขยายไปประเทศนี้ แล้วก็ประเทศโน้น ในที่สุดขยายไปเต็มโลก
เป็นอันว่าโลกนี้ทั้งโลกเมาหมด เพราะนักปราชญ์ขี้เมาคนเดียว
ทีนี้ถ้าตายไปแล้ว ไปโลกพระยายม ก็ทำให้โลกนั้นเมาไปด้วย เพราะพระยายมแกจะนั่งกะจู๋ กะจี๋กับเมียแกสบาย ๆ บ้าง
พอดีพ่อนักปราชญ์เมาลงไปแกก็เลยต้องมาเมาสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงโทษ คราวนี้ความเมาก็เข้าไปถึงนายนิริยะบาล พอจะได้พักผ่อนหย่อนใจ
ไปเที่ยวสงขลาหัวหินบ้างก็ไปไม่ได้ เมื่อได้รับคำสั่งแล้วก็ต้องเมาตามคำสั่ง ลากลู่ถูกังพาพ่อนักปราชญ์ขี้เมาลงหลุมนรกไป แล้วเริ่มเมาทิ่ม เมาแทง
สับฟันพ่อนักปราชญ์ขี้เมานั้นให้ย่อยยับไป
เมื่อศาสดาขี้เมาลงไปก่อนแล้วในโอกาสต่อไป พวกสาวกขี้เมาก็ต้องลงตามไปเป็นลำดับ ทำให้เมืองนรกต้องเมาไม่สร่าง
นี่แหละเพราะเมาเขียนหนังสือธรรมเมื่อขณะยังมึน เรื่องเมาของนักปราชญ์นี้ยังค้างให้อ่านอยู่ คือ เรื่องพระนิพพาน ท่านว่าไว้ว่า พระอรหันต์นิพพานแล้ว
เหมือนควันไฟลอยไปในอากาศ ไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่หมาย พ่อคุณเถอะ..เขียนส่งเข้าไปได้ แล้วคนรุ่นหลังก็จดจำเข้าไว้ เมื่อข้าพเจ้าเรียนมาครูก็สอนแบบนั้น
ต่อเมื่อมาค้นคว้าตามหลักพุทธศาสตร์ และพบในเรื่องยมกสูตร ในพระสุตตันตปิฎกตรงกัน ว่าการเข้าใจเช่นนั้นผิด ท่านหาว่าเป็นทิฏฐิชั่วหยาบ
นี่แหละเป็นอย่างนี้
ก่อนเขียนไม่ค้นคว้าให้แน่นอน เขียนตามอารมณ์ความเมาทำให้เสียเรื่องเสียราวอย่างนี้แหละ ทำเอาคนที่หวังความดีต้องเสียผู้เสียคนไปเสียเยอะแยะ เหมือน
ๆ กับพวกศาสดากรรมฐานยุคนิวเคลียร์นี่แหละ เมารู้ เมาสำเร็จ ประกาศกันโครมคราม สำนักฉันดีอย่างนั้นอย่างนี้ แบบแผนของฉันวิเศษ ไม่มีของใครวิเศษเหมือน
แล้วก็เป็นอย่างไร ลูกศิษย์ลูกหางอมแงมไปตามกัน เสียทั้งเวลา เสียทั้งทรัพย์สินเงินทอง อะไรสักนิดก็ไม่ได้ ได้แต่ความโลภโมโทสันของอาจารย์เจ้าสำนัก
นี่พูดถึงแต่สำนักที่เลวนะ ที่ดีก็มีเยอะ แต่ก็อ่อนโฆษณา เพราะว่าท่านถือว่าท่านทำถูกทำดี ท่านเลยเฉยเสีย ใครอยากกินยาพิษเชิญทางโน้น
ใครอยากกินยารักษาโรคมาทางนี้ อาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวแก่ข้าพเจ้าอย่างนี้ ของท่านดีเหมือนกัน
คราวนี้เราจะทำอย่างไรกันถึงจะรู้ว่า อาจารย์สำนักไหนถูกหรือผิด เพราะชาวบ้าน หรือพระบวชใหม่ไม่เคยรู้เคยเรียนมาก่อน
เพื่อประโยชน์ของการปฏิบัติถูกปฏิบัติตรง และเลือกสำนักให้ได้ดี มีผลทางปฏิบัติ ขอแนะนำวิธีเลือกสำนักดังต่อไปนี้ สำนักใด
ถ้ามีปฏิปทาตรงกับที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้ในอุทุมพลิกาสูตรแล้ว ให้เข้าไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาได้ ถ้าสำนักใดปฏิบัติไปตามแนวทาง
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ว่าผิดทาง ไม่เป็นสาระแก่นสาร หรือเป็นปฏิปทาทำให้เกิดอุปกิเลสแล้ว ให้รีบหนีเสียโดยเร็วเถอะ ดีไม่ดีจะเป็นอย่าง
พระเทวทัต กับ พระโกกาลิกะ เพราะต้นเหตุพระเทวทัตทำผิดคนเดียวทำเอา พระโกกาลิกะ ผู้ยอมตัวเป็นศิษย์ลงอเวจีไปด้วย
เอาละนะ..จะนำเรื่องใน อุทุมพลิกาสูตร มาเขียนให้อ่าน แต่กลับไปพูดเรื่องอะไรต่ออะไรเสียยาวเหยียด ขออภัยด้วย
มันจำเป็นจะต้องเขียนไว้เพื่อกันความหลงผิด จะได้ปฏิบัติถูกลู่ถูกทางตามความตั้งใจ
ใจความใน "อุทุมพลิกาสูตร" มีดังนี้
สูตรนี้ มีมาใน คัมภีร์ทีฆนิกายปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เล่ม ๑๑ หน้า ๔๑
ในท้องเรื่องเล่าไว้ว่า ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าของเรา เสด็จประทับสำราญอิริยาบถอยู่ บนยอดภูเขาชื่อว่า "คิชฌกูฎ" (ภูเขาลูกนี้ตรงยอดมองดูไกลๆ
แล้วเหมือนแร้งจับอยู่) ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์นัก พอไปในเมืองได้สะดวก ครั้งนั้นมีปริพาชกเจ้าสำนักชื่อว่า อุทุมพลิการาม
คนหนึ่งชื่อว่า นิโครธปริพาชก มีปริพาชกบวชอยู่ในสำนักประมาณ ๓๐๐ คน พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกเป็นอันมากกำลังนั่งประชุมกันอยู่
เวลาเที่ยงวัน ๆ นั้น ท่านสัณฐานคฤหบดี สาวกของพระพุทธเจ้าออกจากบ้าน ประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม
แต่พอเดินออกจากบ้าน ไปกระทบความร้อนเข้า ก็กลับคิดได้ว่า เออ..เวลานี้เป็นเวลาเที่ยงวัน พระท่านฉันเพลแล้วท่านจะได้พักผ่อนบ้าง
ถ้าเราไปหาท่านเวลานี้จะเป็นการรบกวนเกินไป รอพอเวลาบ่ายลมโชยมาอ่อนๆ เมื่อพระท่านได้พักผ่อนพอสบาย อาหารย่อยดีแล้วเราจึงค่อยไปเฝ้าพระพุทธองค์
และไปหาพระสงฆ์บางรูปเพื่อท่านจะได้แสดงธรรมให้ฟัง
แล้วเขาก็คิดต่อไปว่า ถ้าเราจะกลับเข้าบ้านในตัวเมือง ดีไม่มีไปพบธุระสำคัญ หรือเพื่อนบ้านมาหาเสีย ก็จะไม่มีเวลาได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
เอาอย่างนี้ดีกว่า ไหน ๆ ก็เดินมาแล้ว และก็ใกล้วัดอุทุมพลิกาเข้าไปแล้ว
ไถลเข้าไปคุยกับพวกปริพาชกเพื่อถ่วงเวลาสักครู่พอได้เวลาพอสมควรจึงค่อยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อคิดและตัดสินใจแล้ว
จึงได้มุ่งหน้าเดินเข้าไปในวัดอุทุมพลิกา ของนิโครธปริพาชก ได้ทักทายปราศรัยกับท่านสมภารใหญ่นิโครธะแล้ว ก็นั่งลงในที่อันสมควรแก่ตน
เมื่อขณะนั่งคุยกันอยู่นั้น พวกปริพาชกไม่ได้พูดเรื่องธัมมะธัมโมเหมือนพระพุทธเจ้า หรือพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า
มีแต่เอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมาพูดมาคุยนินทาคนโน้น ติเตียนคนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาก็ไม่มีระเบียบวินัย พูดหัวร่อต่อกระซิก เฮ ๆ ฮา ๆ ไม่เป็นสมณสารูป
ไม่น่าเลื่อมใส ไม่น่าไหว้ ไม่น่าบูชา เอ..ก็สมัยนี้พระสงฆ์เราที่บวชเข้ามาในศาสนานี้ มีพวกเหล่ากอนิโครธปริพาชกมาบวชบ้างหรือเหล่าก็ไม่รู้
เคยเห็นชอบหาเรื่องหาราว ยุแยงตะแคงแสะ ยุให้รำตำให้รั่ว กินข้าวของชาวบ้านแล้วก็นินทาชาวบ้านก็มี อ้ายพวกสันดานเลว ๆ อย่างนี้
ถ้าจะเป็นเหล่ากอของนิโครธปริพาชกมาเกิด และปลอมเข้ามาบวช
สัณฐานคฤหบดีทนฟังอยู่เฉย ๆ ไม่ไหว ก็พูดขึ้นว่า เอ..นี่สำนักของท่านนี่ดูไม่เป็นเรื่องเลยนี่ ผมนั่งฟังอยู่นานแล้ว
ไม่เห็นพูดในเรื่องที่เป็นสาระประโยชน์เลย มีแต่เรื่องเหลวไหลไร้ประโยชน์ สู้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกไม่ได้
มีแต่เสด็จประทับอยู่ในที่สงัด อีตา..นิโครธปริพาชกสมภารใหญ่ พอได้ฟังท่านคฤหบดีว่าอย่างนั้น ต่อหน้าที่ประชุมก็โกรธ ได้พูดตอบว่า
พระสมณโคดมจะพูดจะคุยกับใครได้ หาความรู้ความฉลาดมาจากไหน ปัญญาของพระสมณโคดมหล่นหายเสียแล้ว ตามที่ว่างบ้านเรือนจึงไม่กล้าเข้าสู่ที่ประชุม
ไม่อาจสนทนาปราศรัยกับใครได้ จึงได้ หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่แต่ในป่า มีกิริยาเหมือนโคตาบอดข้างเดียว เที่ยวหลบอยู่ตามชายป่าเท่านั้น
ขอเชิญให้พระสมณโคดมมาที่ประชุมนี้หน่อยเถอะ เราจะถามปัญหาเพียงข้อเดียว จะให้พระสมณะโคดมนั่งก้มหน้านิ่ง เหมือนคว่ำหม้อเปล่าลงทีเดียว
ตามบาลีว่า ขณะที่ทั้งสองพูดกันอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงได้ยินเสียงของทั้งสองคนพูดกันด้วยทิพยโสต จึงได้เสด็จลงจากยอดเขาคิชฌกูฏ
ทรงเดินจงกลมอยู่ในที่โมฬนิวาปวิหาร ริมแม่น้ำสุมาคธา ไม่ไกลจากที่ทั้งสองคนพูดคุยกันนัก พอเห็นกันได้ถนัด
ท่านสมภารนิโครธะแลเห็นเข้า ก็รีบบอกให้บริวารของตนเงียบเสียงแล้วพูดต่อไปว่า
นี่ขอเชิญให้พระสมณโคดมเข้ามาในที่ประชุมนี่ซิ เราจะถามปัญหาว่าพระองค์ทรงแนะนำด้วยธรรมใด พวกสาวกจึงถึงความยินดียืนยันอริยะมรรคธรรมนั้นเป็นอย่างไร
เราจะถามพระสมณะโคดมอย่างนี้พวกเธอจงนิ่ง ปริพาชกลูกวัดพากันนิ่งเงียบตามคำสั่งสมภาร
พอเขาพูดจบ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จมาสู่ที่ประชุม เขาทูลเชิญให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้รับ เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับนั่งแล้ว
ได้ทรงตรัสถามว่า นิโครธะ เธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร
ขอแวะตรงนี้อีกสักนิดเถอะ ท่านผู้อ่านเห็นหรือยังว่า พวกที่เขาได้อภิญญาอย่างพระพุทธเจ้า ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเขาพูดเรื่องอะไร ก็ทำเป็นไม่รู้
ฉะนั้นพวกที่ทรงอภิญญาในสมัยปัจจุบันก็เหมือนกัน เขาก็ทำตนเหมือนคนไม่ได้อะไร เขาไม่เที่ยวแสดงสุ่มสี่สุ่มห้าเหมือนเถรตำราหรอก
เล่าเรื่องพระสูตรต่อไปดีกว่า มันอดแวะข้างทางไม่ได้..ขอโทษด้วย !
นิโครธะตอบว่า เมื่อกี้นี้ขณะที่พระองค์เดินอยู่ ณ ที่โน้น ข้าฯ ได้พูดว่า เชิญพระสมณโคดมมานี่ซิ เราจะถามปัญหาว่า
พระองค์ทรงแนะนำสาวกด้วยธรรมใด พวกสาวกจึงถึงความยินดี ยืนยันอริยะมรรคธรรมนั้นเป็นอย่างไร นี่แหละเป็นถ้อยคำที่สนทนากันค้างอยู่
ก็พอดีพระองค์เสด็จมาถึง
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า นิโครธะ..เธอมีทิฏฐิอย่าง ๑ มีความเห็นควรเห็นชอบอย่าง ๑ ไม่เหมือนกับของเรา ยากที่เธอจะรู้ได้ว่า เราแนะนำสาวกอย่างไร
พวกสาวกที่เราแนะนำแล้ว ยืนยันพรหมจรรย์ต้นตามอัธยาศัยได้อย่างไร นอกจากลัทธิของเธอ นอกจากอาจารย์ของเธอ เพราะฉะนั้น เธอจงถามปัญหาเราในอธิเชคุจฉะ
คือการเกลียดชังบาปด้วยความเพียร ซึ่งเป็นวาทะอาจารย์ของเธอว่า ตะโปชิคุจฉะ..คือการเกลียดชังบาปด้วยความเพียรชนิดไร..จึงชื่อว่าสมบูรณ์
ชนิดไร..จึงนับว่าไม่สมบูรณ์
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ พวกปริพาชกลูกวัดและบริวาร ก็พากันเปล่งเสียงดังขึ้นพร้อมกันว่า น่าอัศจรรย์ในการที่พระสมณโคดม ได้งดวาทะของตนไว้
ให้ถามด้วยวาทะของผู้อื่นอย่างนี้
นิโครธะสมภารใหญ่ สั่งให้ลูกวัดและลูกน้องหยุดเสียงดัง แล้วทูลตอบไปว่า พวกข้าพเจ้าเป็นตะโปชิคุจฉะวาทะ คือเป็นผู้เกลียดชังบาปด้วยความเพียร
เป็นผู้ติดอยู่ในตะโปชิคุจฉะ คือในการเกลียดชังบาป งดเว้นบาปด้วยความเพียร ตะโปชิคุจฉะอย่างไรบริบูรณ์ คือบริสุทธิ์ อย่างไรไม่บริบูรณ์
คือไม่บริสุทธิ์ พระเจ้าข้า
บำเพ็ญความเพียรสร้างกิเลส ๑
พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า พวกทำตะบะ คือทำทุกกิริยาในลัทธิของพวกเธอนั้น ๑ ย่อมไม่นุ่งผ้า ๒ ปล่อยมรรยาท ๓ เช็ดอุจจาระด้วยมือ ๔
ไม่ยืนรับบิณฑบาตที่เขาบอกว่าจงมาทางนี้ ๕ ไม่รับบิณฑบาตที่เขาบอกว่าจงหยุดก่อน ๖ ไม่รับบิณฑบาตที่เขานำมาให้เฉพาะ ๗ ไม่รับบิณฑบาตที่เขาทำไว้เฉพาะตัว
๘ ไม่ยินดีต่อการนิมนต์ ๙ ไม่รับบิณฑบาตจากหม้อข้าว ๑๐ ไม่รับจากกระเช้าข้าว
๑๑ ไม่รับในระหว่างแกะ ๑๒ ไม่รับในระหว่างครกข้าว ๑๓ ไม่รับในระหว่างสากตำข้าว ๑๔ ไม่รับในระหว่างไม้ฆ้อน ๑๕
ไม่รับในระหว่างคนสองคนที่กำลังกินอยู่ ๑๖ ไม่รับบิณฑบาตของหญิงครรภ์ ๑๗ ไม่รับบิณฑบาตของหญิงแม่นม ๑๘ ไม่รับบิณฑบาตของหญิงที่ไปสู่ระหว่างบุรุษ ๑๙
ไม่รับบิณฑบาตที่เขาจำกัดไว้ ๒๐ ไม่รับบิณฑบาตในที่มีสุนัขอยู่
๒๑ ไม่รับบิณฑบาตในที่มีแมลงวันเกาะอยู่ ๒๒ ไม่กินปลา ๒๓ ไม่กินเนื้อ ๒๔ ไม่ดื่มสุรา ๒๕ ไม่ดื่มเมรัย ๒๖ ไม่ดื่มน้ำที่มีแกลบ ๒๗
รับเฉพาะเรือนหลังเดียวก็กินข้าวเพียงคำเดียว ๒๘ รับในเรือนสองหลังก็กินข้าวเพียงสองคำ ๒๙ รับในเรือนเจ็ดหลัง ก็กินข้าวเพียงเจ็ดคำ ๓๐
เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่หญิงคนเดียวให้ก็มี
๓๑ ด้วยอาหารที่หญิงสองคนให้ก็มี ๓๒ ด้วยอาหารที่หญิงสามคนให้ก็มี ๓๓ ด้วยอาหารที่หญิงเจ็ดคนให้ก็มี ๓๔ กินอาหารวันละครั้งก็มี ๓๕
กินอาหารสองวันต่อครั้งก็มี ๓๖ กินอาหารเจ็ดวันต่อครั้งก็มี ๓๗ กินอาหารสิบห้าวันต่อครั้งก็มี ๓๘ กินแต่ผักดองก็มี กินแต่ข้าวตังก็มี ๔๐
กินแต่ลูกเดือยก็มี
๔๑ กินแต่ข้าวนกก็มี ๔๒ กินแต่ข้าวเย็นก็มี ๔๓ กินแต่ข้าวหักก็มี ๔๔ กินแต่ยางไม้ก็มี ๔๕ กินแต่หญ้าก็มี ๔๖ กินแต่ขี้โคก็มี ๔๗
กินแต่หัวมันในป่าก็มี ๔๘ กินแต่ผลไม้ที่หล่นเองก็มี ๔๙ นุ่งแต่ผ้าป่านก็มี ๕๐ นุ่งแต่ผ้าเปลือกปอก็มี
๕๑ นุ่งแต่ผ้าห่อศพก็มี ๕๒ นุ่งแต่ผ้าที่เก็บมาจากกองหยักเยื่อก็มี ๕๓ นุ่งแต่ผ้าเปลือกไม้ก็มี ๕๔ นุ่งแต่ผ้าทอด้วยผมคนก็มี ๕๕
นุ่งแต่ผ้าทอด้วยขนสัตว์ร้ายก็มี ๕๖ นุ่งแต่ผ้าทอด้วยขนปีกนกเค้าก็มี ๕๗ ถอนผมและหนวดก็มี ๕๘ นั่งกับพื้นอย่างเดียว ไม่นั่งอาสนะเลยก็มี ๕๙ นั่งยอง ๆ
อย่างเดียวก็มี ๖๐ นอนบนหนามก็มี
๖๑ นอนบนแผ่นกระดานก็มี ๖๒ นอนบนที่ปูด้วยหญ้าก็มี ๖๓ นอนตะแคงข้างเดียวก็มี ๖๔ ปล่อยให้ร่างกายทรุดโทรมด้วยเหงื่อใคร ไม่อาบน้ำเลยก็มี ๖๕
อยู่แต่ในที่แจ้งอย่างเดียวก็มี ๖๖ นั่งตามแต่จะได้ก็มี ๖๗ กินแต่อาหารแปลก ๆ ก็มี ๖๘ ถือการลงอาบน้ำเป็นกิจวัตร วันละ ๓ ครั้งก็มี
นี่แน่ะ นิโครธะ เมื่อเป็นอย่างนี้ ตะโปชิคุจฉะ..บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์
เขาตอบว่า บริบูรณ์พระเจ้าข้า
พระองค์ทรงตรัสว่า นิโครธะ..ตะโปชิคุจฉะอันบริบรูณ์อย่างนี้ เราก็กล่าวว่า มีอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่มาก ไม่บริสุทธิ์เลย
◄ll กลับสู่ด้านบน
(((( โปรดติดตามตอนต่อไป ))))
webmaster - 20/9/08 at 08:10
(Update 13 ก.ย. 51)
ทำความเพียรสร้างกิเลสอีกอย่าง ๑
ครั้นเมื่อนิโครธะปริพาชกทูลถามต่อไปว่า อย่างไรพระองค์จึงกล่าวว่า ตะโปชิคุจฉะอันบริบูรณ์อย่างนี้ มีกิเลสอยู่มาก
พระองค์ทรงตรัสว่า นี่แน่ะ..นิโครธะ
๑ ผู้ทำตะบะ (คือความเพียร) ยึดมั่นตะบะ ดีใจด้วยตะบะ มีความดำริเต็มไปด้วยตะบะ นี่เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๒ ผู้ทำตะบะ ยกตนข่มผู้อื่น เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๓ ผู้ทำตะบะ มัวเมาด้วยตะบะ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๔ ผู้ทำตะบะ ดีใจด้วยลาภสักการะและสรรเสริญ อันเกิดขึ้นด้วยตะบะ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๕ ผู้ทำตะบะ ยกตนข่มผู้อื่น ด้วยลาภสักการะที่เกิดจากตะบะ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๖ ผู้ทำตะบะ มัวเมาด้วยลาภสักการะสรรเสริญ อันเกิดด้วยตะบะนั้น เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๗ ผู้ทำตะบะ เลือกอาหารว่าสิ่งนี้สมควรแก่เรา อย่างนี้ไม่สมควรแก่เรา แล้วทิ้งสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่สมควรเสีย ติดอยู่ในสิ่งที่ตนเห็นว่าสมควร
ไม่เห็นโทษในสิ่งนั้น ไม่มีปัญญาสละสิ่งนั้น เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๘ ผู้ทำตะบะ ยึดมั่นตะบะ เพราะเห็นแก่ลาภสักการะสรรเสริญ ว่าพระราชา มหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จะทำสักการบูชาเรา
เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๙ ผู้ทำตะบะ รุกราญสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งว่า อย่างไรท่านผู้นี้จึงมีอาชีพมาก กินไม่เลือก คือกินพืชอันเกิดจากราก เกิดจากลำต้น เกิดจากผล
เกิดจากยอด เกิดจากพืช ฟันของเขาเคี้ยวไม่รู้จักหยุดจักหย่อนแต่ยังกล่าวว่าตนเป็นสมณะ เช่นนี้เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๐ ผู้ทำตะบะ ได้เห็นสมณะ หรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง มีผู้สักการะเคารพนับถึงบูชาในตระกูลทั้งหลาย ก็คิดว่าพวกนี้สักการะเคารพนับถือบูชา
ผู้ที่มีการกินมาก ไม่สักการะเคารพนับถือ บูชาเราผู้ทำตะบะ ผู้เลี้ยงชีพอย่างลำบาก เขาทำให้เกิดอิจฉามัจฉะมัจฉริยะ ในตระกูลทั้งหลายอย่างนี้
เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๑ ผู้มีตะบะ นั่งในที่คนทั้งหลายพึงเห็น เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๒ ผู้มีตะบะ แสดงตนเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลายว่า สิ่งนี้เป็นตะบะของเรา สิ่งนั้นก็เป็นตะบะของเรา เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๓ ผู้ทำตะบะ ซ่อนโทษหรือทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ เวลาถูกถามว่าสิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ สิ่งที่ไม่ควรก็บอกว่าควร สิ่งที่ควรก็บอกว่าไม่ควร
แกล้งกล่าวเท็จเสียอย่างนี้ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๔ ผู้ทำตะบะ ไม่เห็นดีต่อสิ่งที่ควรเห็นดี ในธรรมของพระตถาคตเจ้าหรือของพระสาวกของตถาคตเจ้า เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๕ ผู้ทำตะบะ เป็นคนมีความโกรธ มีความผูกโกรธ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๖ มีความลบหลู่ มีความดีเสมอ เป็นอุปกิเลสอย่าง ๑
๑๗ มีความริสยา มีความตะหนี่ ความโอ้อวด ความเจ้าเล่ย์ ความแข็งกระด้าง ความถือตัวเกินไป ความปรารถนาลามก ความเห็นผิด ประกอบด้วยความเห็นว่า
โลกมีที่สุดเป็นต้น ไม่ยอมสละความเห็นของตน เหล่านี้เป็นอุปกิเลสแต่ละอย่าง ๆ
นิโครธะ เราขอถามเธอว่า ตะโปชิคุจฉะเหล่านี้ มีอุปกิเลสหรือไม่
เขาตอบว่า มีแน่พระเจ้าข้า ผู้ทำตะบะย่อมประกอบด้วยอุปกิเลสเหล่านี้ทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง
ทำความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๑
เมื่อพระพุทธองค์ ทรงแสดงตะโปชิคุจฉะในพระพุทธศาสนา จึงตรัสว่านิโครธะ
๑ ผู้ทำตะบะในโลกนี้ ย่อมยึดมั่นตะบะ เขาไม่ดีใจ ไม่เต็มความประสงค์ด้วยตะบะนั้น การที่เขาเป็นอย่างนี้ ก็จัดว่าเป็นการบริสุทธิ์อย่าง ๑
๒ ยังมีความบริสุทธิ์อื่นอีกของผู้ทำตะบะ ซึ่งได้แก่ไม่ยกตนข่มผู้อื่น
๓ ไม่มัวเมาในตะบะ
๔ ไม่ยินดีด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
๕ ไม่ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
๖ ไม่มัวเมาด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
๗ ไม่เลือกอาหาร
๘ ไม่คิดว่า พระราชา มหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จะสักการะเรา
๙ ไม่รุกรานสมณะ หรือ พราหมณ์คนใดคนหนึ่งว่ากินไม่เลือก
๑๐ ได้เห็นสมณะหรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง มีผู้สักการะเคารพนับถือบูชา แล้วไม่คิดริสยาตระหนี่ ๑๑ ไม่นั่งในที่คนจะเห็น
๑๒ ไม่แสดงตน เที่ยวไปในตระกูลให้เขาเห็นว่าตนทำตะบะ
๑๓ ไม่ปิดบังโทษหรือทิฏฐิ เวลาถูกถามว่า สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ สิ่งที่ไม่ควรตอบว่าไม่ควร สิ่งที่ควรตอบว่าควร ไม่แกล้งกล่าวคำเท็จ
๑๔ เวลาพระตถาคตเจ้า หรือสาวกของพระตถาคตเจ้าแสดงธรรม ก็เห็นดีเห็นตาม
๑๕ ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ
๑๖ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ
๑๗ ไม่ริสยา ไม่ตระหนี่
๑๘ ไม่โอ้อวด ไม่เจ้าเล่ห์
๑๙ ไม่มีใจกระด้าง ไม่ถือตัวเกินไป
๒๐ ไม่มีความปรารถนาลามก
๒๑ ไม่มีความเห็นผิด
๒๒ ไม่ประกอบด้วยความเห็นว่า โลกมีที่สุดเป็นต้น
๒๓ ไม่ยึดมั่นความเห็นของตน
๒๔ สละความเห็นของตนได้ง่าย
เราขอถามเธอว่า ตะโปชิคุจฉะอย่างนี้ บริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์
เขาตอบว่า บริสุทธิ์แท้ เป็นของเลิศ เป็นของมีแก่นสารด้วย พระเจ้าข้า
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า นิโครธะ ยังก่อน เพียงเท่านี้ ยังไม่ใช่เป็นของเลิศ ยังไม่ใช่เป็นของมีแก่นสาร ด้วยอาการเพียงเท่านี้
นี่เป็นเพียงสะเก็ดเท่านั้น
นิโครธะได้ทูลถามต่อไปว่า อย่างไรจึงชื่อว่าเป็นของเลิศ ถึงแก่นสารพระเจ้าข้า
ประกอบความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๒
ทรงตรัสว่า นิโครธะ..ผู้ทำตะบะย่อมสำรวมด้วยความสำรวมในยาม ๔ คือ
๑ ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ยินดีต่อการที่ผู้อื่นฆ่า
๒ ไม่ลักขโมยด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นลักขโมย ไม่ยินดีต่อการเห็นผู้อื่นลักขโมย
๓ ไม่กล่าวเท็จด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ ไม่ยินดีต่อการที่ผู้อื่นกล่าวเท็จ
๔ ไม่หวังกามคุณด้วยตนเอง ไม่ให้ผู้อื่นหวังกามคุณ ไม่ยินดีต่อการที่ผู้อื่นหวังกามคุณ
ผู้กระทำตะบะนั้น ทำตะบะเรื่อย ๆ ไป สึกเป็นฆราวาส อยู่แต่ในเสนาสนะที่สงัด คือ ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าใหญ่ ที่แจ้ง
ลอมฟาง เป็นต้น เวลากลับจากบิณฑบาต หลังอาหารแล้ว ก็นั่งตั้งกายให้ตรง ดำรงสติอันเป็นเครื่องกำหนดไว้ แล้วก็ละอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ
กุกกุจจะ วิจิกิจฉา
(ได้แก่การเพ่งเล็งแสวงหาโทษ คือความผิดของคนอื่น การจองเวร จองกรรม จองล้างจองผลาญ ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน และรำคาญใจ
ความสงสัยในผลที่จะพึงได้พึงถึง) ซึ่งเป็นนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้ว แผ่เมตตา (ความรัก) กรุณา (ความสงสาร) มุทุตา (พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) อุเบกขา
(วางเฉยเมื่อเหลือวิสัยจะช่วยได้ไม่ซ้ำเติม) ไปในทิศทั้งปวง
เราขอถามเธอว่า ตะโปชิคุจฉะอย่างนี้ บริสุทธิ์หรือไม่
เขาตอบว่า บริสุทธิ์แท้ เป็นของเลิศ ทั้งเป็นของมีแก่นสาร พระเจ้าข้า
ทรงตรัสว่า ยังก่อน ยังไม่เลิศ ยังไม่เป็นแก่นสาร นี่เพียงเปลือกเท่านั้น
เขาทูลถามว่า อย่างไรจึงชื่อว่าเป็นของเลิศ เป็นของถึงแก่นสารพระเจ้าข้า
ประกอบความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๓
ทรงตรัสตอบว่า ผู้ทำตะบะสำรวมด้วยความสำรวมในยาม ๔ แล้ว ละนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว แผ่เมตตา กรุณา มุทุตา อุเบกขา
ไปทั่วทิศทั้งปวงแล้วได้สำเร็จปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้ว่าชาติไหนเราเป็นอย่างไร
อย่างนี้เราขอถามว่า บริสุทธิ์ หรือ ไม่บริสุทธิ์
เขาตอบว่า บริสุทธิ์แท้พระเจ้าข้า ทั้งเป็นของเลิศ ถึงแก่นด้วย
ทรงตรัสว่า ยังก่อนนิโครธะ ยังไม่ถึงแก่น นี่เพียงกระพี้เท่านั้น
เขาทูลเชิญให้ตรัสต่อไป
ทรงตรัสต่อไปว่า
ประกอบความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ ๔
นิโครธะ..ผู้ทำตะบะ เป็นผู้สำรวมในยาม ๔ อยู่ในเสนาสนะที่สงัด ละนิวรณ์ ๕ แผ่เมตตา กรุณา มุทุตา อุเบกขา ไปในทิศทั้งปวงแล้ว
ได้สำเร็จปุพเพนิวาสานุสติญาณ บำเพ็ญทิพยจักขุญาณให้เกิดขึ้น เห็นสัตว์โลกทั้งหลายที่ ทำชั่ว ทำดี ไปเกิดในทุคติ สุคติได้แจ่มแจ้ง
ขอถามเธอว่า อย่างนี้บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์
เขาตอบว่า บริสุทธิ์แท้ ถึงความเป็นของเลิศ และถึงแก่นสารด้วยพระเจ้าข้า
ทรงตรัสว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แหละ ตะโปชิคุจฉะ (คือการเกลียดบาป) จึงถึงความเป็นของเลิศ และถึงแก่น เธอถามเราแล้วว่าเราแนะนำพวกสาวกด้วยธรรมใด
พวกสาวกที่เราแนะนำด้วยธรรมใด จึงถึงความยินดี ยืนยันพรหมจรรย์ต้นได้ตามอัธยาศัย ธรรมนั้นได้แก่สิ่งใด นิโครธะ เราแนะนำสาวกด้วยธรรมใด
สาวกที่เราแนะนำแล้วด้วยธรรมใด จึงถึงความยินดี ยืนยันพรหมจรรย์ต้นตามอัธยาศัย ธรรมนั้นยิ่งกว่านี้ดีกว่านี้
เมื่อพระองค์ทรงตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นก็เปล่งเสียงขึ้นว่าพวกเราไม่เห็นคุณวิเศษเหล่านี้มีอยู่ในลัทธิของพวกเรา
พวกเรารวมทั้งอาจารย์ก็ไม่เห็นคุณวิเศษ คือความสำรวมในยาม ๔ ความอยู่ในป่า ความละนิวรณ์ ๕ ความเจริญพรหมวิหาร ๔ ความสำเร็จปุพเพนิวาสานุสติญาณเลย
พวกเราจะมีทิพยจักขุญาณมาจากไหน พวกเรากับอาจารย์ฉิบหายเสียแล้ว พวกเราไม่เคยได้ยินได้ฟังคุณวิเศษยิ่งกว่าทิพยจักขุญาณเลย
พวกเราจะรู้คุณวิเศษยิ่งกว่านี้ได้อย่างไร
สัณฐานคฤหบดี ได้นั่งฟังอยู่ในที่นั้นด้วย รู้ว่าพวกปริพาชกตั้งใจฟังคำของพระพุทธเจ้า เพื่ออยากรู้จริงดังนั้นแล้ว จึงว่าแก่นิโครธะปริพาชกว่า
ท่านได้พูดกับเราไว้ว่า พระสมณะโคดมจะพูดกับใครได้ จะมีความรู้มาจากไหน ปัญญาได้หล่นหายเสียแล้วในที่ว่างบ้านเรือน
พระสมณะโคดมไม่เคยเข้าที่ประชุมหลบอยู่แต่ในป่า เหมือนแม่โคตาบอด ขอให้พระสมณะโคดมมาที่นี่ เราจะกดพระสมณะโคดมให้จมลง บัดนี้พระองค์เสด็จมาแล้ว
ท่านจงทำอย่างนั้นเถิด
เมื่อสัณฐานคฤหบดีกล่าวอย่างนั้น เขาก็เป็นผู้เก้อ ก้มหน้า คอตก เหงื่อแตก ซบเซา หมดปฏิภาณจะโต้ตอบ
พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า นิโครธะเธอพูดอย่างนั้นจริงหรือ
เขารับว่า พูดจริงพระเจ้าข้า ที่พูดไปนั้นก็เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของข้าพระองค์
พระพุทธองค์ทรงตรัสต่อไปว่า นิโครธะ..เธอเคยได้ยินได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์ และเป็นอาจารย์ใหญ่มาว่าอย่างไร
เธอเคยได้ยินหรือว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบัน มีแต่ประกอบดิรฉานคาถา (พูดไม่ประกอบด้วยธรรม คือ
พูดเลอะเทอะไม่เป็นเรื่องเป็นราวเนือง ๆ) เหมือนเธอกับอาจารย์เดี๋ยวนี้
เขาตอบว่า ไม่เคยได้ยินพระเจ้าข้า
เธอเคยได้ยินหรือไม่ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมอยู่ในเสนาสนะสงัดเหมือนบัดนี้
นี่แน่ะ..นิโครธะ เธอผู้มีความรู้ เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้คิดเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงฝึกฝนพระองค์เอง สงบระงับแล้ว
ข้ามโลกได้แล้ว ดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ดี เพื่อความฝึกฝน เพื่อความสงบ เพื่อความก้าวล่วงเสียซึ่งวัฏฏะ
เพื่อความดับสนิทซึ่งกิเลสทั้งหลาย
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชก ก็ทูลขอโทษ พระองค์จึงทรงตรัสว่า
นิโครธะ การที่เธอรู้สึกความผิด แล้วขอโทษเพื่อระวังต่อไปนี้ เป็นความดีความชอบ ตามวินัยของอริยะเจ้า แต่ว่าเราขอบอกว่า บุรุษผู้มีความรู้
ผู้ไม่มีความโอ้อวด ผู้ไม่มีมายา ผู้มีชาติตรง จงมาเถิดเราจะสอน เราจะแสดงธรรมให้ฟัง
ผู้ปฏิบัติตามที่เราสอนอยู่เพียง ๗ ปี หรือ ๖-๕-๔-๓-๒-๑ ปี หรือ ๗ เดือน ๖-๕-๔-๓-๒-๑ เดือน หรือครึ่งเดือน หรือเพียง ๗ วันเท่านั้น
ก็จะได้สำเร็จพรหมจรรย์อย่างเยี่ยม ซึ่งเป็นที่ต้องการของกุลบุตรทั้งหลาย ผู้บรรพชาในศาสนาของเรา เธอคงคิดว่า พระสมณะโคดมกล่าวอย่างนี้
เพราะอยากได้เราเป็นอันเตวาสิก เธอไม่ควรเห็นอย่างนี้ ผู้ใดเป็นอาจารย์ของเธอ ผู้นั้นก็จงเป็นอาจารย์ของเธอ
นี่แน่ะ.. นิโครธะ เธอคงคิดว่า พระสมณะโคดมพูดอย่างนี้ เพราะประสงค์จะให้เธอเคลื่อนจากอุเทศ เคลื่อนจากอาชีพ เธอไม่ควรเห็นอย่างนี้ เธอจงมีอุเทศ
มีอาชีพตามเดิม
เธอคงคิดว่า พระสมณะโคดมกล่าวอย่างนี้ ประสงค์จะให้เราตั้งอยู่ในอกุศลธรรม อันเป็นอกุศล จะเปลื้องเราออกจากกุศล เธอไม่ควรคิดอย่างนี้
นี่แน่ะ..นิโครธะ สิ่งที่เป็นอกุศล เป็นของเศร้าหมอง เป็นของทำให้เกิดอีก เป็นของทำให้เกิดทุกข์ มีทุกข์เป็นวิบาก ทำให้เกิดแก่ตายต่อไปอีก
เราแสดงธรรมเพื่อให้ละนั้นมีอยู่
ธรรมอันเศร้าหมองของผู้ปฏิบัติ ตามคำสอนของเราจักหายไป ธรรมอันผ่องใสบริสุทธิ์จักเจริญขึ้น
เธอทั้งหลายจักรู้แจ้งเห็นจริงความบริบูรณ์แห่งปัญญาและความไพบูลย์ในอัตภาพนี้ด้วยตนเอง
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นก็พากันนิ่ง เก้อเขิน มีคอตก ก้มหน้าซบเซาอยู่ ไม่มีปัญญาจะโต้ตอบแต่อย่างไร ท่านกล่าวว่า
เพราะอาศัยมารเข้าดลใจ จึงเป็นอย่างนั้น
พระพุทธองค์ทรงดำริว่า พวกโมฆะบุรุษทั้งปวงนี้ ถูกมารผู้ลามกเข้าสิงใจแล้ว จึงไม่มีผู้ใดคิดสักคนว่า เราจักประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในสำนักพระสมณะโคดม
เพื่อความรู้ให้ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จะเป็นอะไรไป
ครั้นทรงดำริแล้ว ก็ลอยขึ้นสู่เวหา ไปปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สัณฐานคฤหบดี ก็กลับเข้าสู่กรุงราชคฤห์ในขณะนั้น.
= จบอุทุมพลิกาสูตร =
◄ll กลับสู่ด้านบน
webmaster - 4/10/08 at 09:07
แวะคุยกันก่อน
"........เป็นอย่างไรท่านที่รัก ท่านเห็นแล้วหรือยังว่า
ความรู้เรื่องพุทธศาสตร์นั้น ต่างจากศาสตร์อื่น ๆ ที่ท่านเรียนท่านศึกษามา เรื่องของศาสตร์หนึ่งจะเอาไปบวกกับอีกศาสตร์หนึ่งนั้นไม่ได้
ท่านศึกษาวิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ แล้วท่านจะให้รู้ให้เข้าใจในพุทธศาสตร์ด้วยนั้นมันจะได้อย่างไร หรือโดยเฉพาะคณะนักคุยศาสตร์
นักโม้ศาสตร์ ขี้เมาศาสตร์ด้วยก็ยิ่งแล้วกันใหญ่ ไม่มีทางจะรู้จะเข้าใจเรื่องพุทธศาสตร์ได้เลย
.........เพราะแต่ละศาสตร์ก็มีความมุ่งหมายให้กว้างขวางไกลออกไปจากตน ส่วนพุทธศาสตร์นั้นเรียนเข้าหาตนแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน
ศาสตร์ทางโลกมุ่งวัตถุเป็นสำคัญ ส่วนพุทธศาสตร์มุ่งนามเป็นสำคัญ ศาสตร์ทางโลกมุ่งสัญญา คือความจดจำเป็นสำคัญส่วนปัญญานั้นใช้บ้างแต่ในส่วนวิจัยตามสูตร
และมุ่งวิจัยวัตถุ
ส่วนพุทธศาสตร์นั้นหนักไปในทางปัญญา ส่วนสัญญานั้นใช้บ้าง แต่ถือว่าไม่สำคัญนัก เพียงอาศัยเป็นเครื่องเกาะไปเพื่อช่วยพยุงปัญญาเท่านั้น
เพราะเมื่อขณะใดนักปฏิบัติทางพุทธศาสตร์ยังอาศัยสัญญา เป็นกำลังอยู่ ก็ชื่อว่าเขาผู้นั้นยังเข้าไม่ถึง พุทธศาสตร์อย่างแท้จริง
สัญญาให้ผลเพียงแต่โลกีย์วิสัย ผลที่ได้ทางโลกีย์นี้ จะเป็นฌานหรืออภิญญาก็ตาม
ย่อมยังอยู่ในเขตที่จะเสื่อมสูญได้ เพราะเป็นส่วนที่หยาบและยังไม่เข้าถึงจุดอิ่มของศาสตร์ ต่อเมื่อไรเขาผู้นั้นได้มีโอกาสใช้ปัญญา
พิจารณาตามกฎของความเป็นจริง ในส่วนที่เป็นรูปและนาม คือรู้ชัดรู้แจ้งตามความเป็นจริงในขันธ์ ๕ เห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา จนจิตของตนไม่ยึดมั่นถือมั่นในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกแล้ว นั่นแหละ เขาผู้นั้นชื่อว่าถึงจุดอิ่มของพุทธศาสตร์
จะทรงความดีไว้ได้โดยไม่กลับเลื่อนถอยหลัง
ข้อเท็จจริงในพุทธศาสตร์เป็นอย่างนี้ ขอท่านผู้สนใจในพุทธศาสตร์ โปรดทำความเข้าใจเสียใหม่ มิใช่ว่าท่านนั่งนึกนอนนึก ถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า
ปรารภเรื่องสวรรค์นรก หรือตายแล้วไปไหน เกิดใหม่หรือไม่เกิด โลกหน้ามีจริงหรือไม่มี ทำอย่างไรจึงจะได้รู้ได้เห็นโลกใหม่ คนและสัตว์ตายแล้วไปไหน
นรกมีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือไม่ เรื่องอย่างนี้ ถ้าท่านเพียงสนใจแต่นึกคิด หรืออ่านตำรับตำราต่อให้ท่านอ่านพระไตรปิฎกขาดเป็นพัน ๆ ชุด
ท่านก็ไม่มีทางจะรู้ได้เลย
เพราะการนึกคิด และค้นคว้าแต่เพียงอ่านตำรานั้น ก็ไม่แตกต่างอะไรกับแม่ครัวที่ซื้อตำรากับข้าวมาดูมาอ่านแล้วอ่านอีก จนตำราขาด แม้แต่ต้มยำ
ต้มน้ำปลาซึ่งเป็นอาหารหญ้าปากคอกก็ไม่ได้กิน นั่งหิวนั่งอยากจนน้ำลายไหลแล้วไหลอีกอยู่นั่นเอง ผลที่จะได้กินอาหารนั้นต้องลองทำ ทำตามตำรานั่นแหละ
และก็ระวังอย่าฝืนตำรา ในตำราเขาบอกว่าอยากจะกินรสเปรี้ยวให้ใส่ส้ม อยากกินรสเค็มให้ใส่เกลือหรือน้ำปลา อยากกินรสหวานให้ใส่น้ำตาล
ถ้าเราฝืนตำราตรัสรู้เอาเอง อยากกินรสเค็มแอบเอาส้มไปใส่ อยากกินเปรี้ยวแอบเอาเกลือไปใส่ อยากกินหวานแอบเอาเกลือหรือส้มไปใส่
ลองหลับตานึกดูเถอะว่ารสอาหารมันจะเป็นอย่างไร
ในที่สุดก็เหนื่อยเปล่า ของก็เสีย เวลาก็เสีย กินก็ไม่ได้ ในที่สุดก็เททิ้งเสียหมดทั้งเวลาและทรัพย์สมบัติ ถ้าปรุงอาหารรับแขกด้วย
ก็เลยพาลเสียชื่อเสียเสียงอีกด้วย เสียกันใหญ่ใช้อะไรไม่ได้ เรื่องศาสตร์ทางพระศาสนาก็เหมือนกัน เมื่อท่านประสงค์จะเรียนรู้ปฏิบัติให้ถึงแล้ว
ต้องเลือกตำราให้ถูกต้อง ถ้าจะเรียนกับครูบาอาจารย์ ก็ควรเรียนกับครูบาอาจารย์ชนิดที่เขาทำได้ผลมาแล้ว อย่าไปหลงลิ้นหลงลมพวกเถนตำรา
หรือพวกสร้างสำนักตักลาภตักผล เมื่อท่านเข้าไปสำนักใดเพื่อมอบกายถวายชีวิต จะมอบตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหา ให้เฝ้าสังเกตตรวจตราเสียให้แน่นอนเสียก่อน
ถ้าเอาอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ไม่ได้ ก็เอาอุทุมพลิกาสูตร หรือวิสุทธิมรรคเป็นปรอดสำหรับวัด ดูองค์อาจารย์เสียก่อนว่า
ยังรู้จักอิจฉาริสยาชาวบ้านไหม? ยังชอบสะสมทรัพย์สมบัติไหม ? ยังมีจิตพยาบาทคนอื่นไหม ? เจรจาโดยธรรมหรือไม่
มีความเมตตาปราณีในคนและสัตว์เท่ากับเมตตาตัวเองหรือไม่ เผื่อแผ่เกื้อกูลคนและสัตว์หรือไม่
แล้วถามเรื่องกรรมฐานว่า ท่านมีกรรมฐานกี่แบบ การให้กรรมฐานท่านให้เหมือนกันหมดทุกคน หรือ ให้กรรมฐานตามอุปนิสัย ถ้ามีแต่เพียงกรรมฐานอย่างเดียว
กี่คน ๆ ก็ให้เหมือนกัน ไม่แยกกรรมฐานตามจริต หรือยังรู้จักอิจฉาริสยา ยังโลภโมโทสันสะสมทรัพย์สมบัติ ขาดเมตตาปราณีแล้ว รีบถอยกลับเถอะอย่าอยู่ช้าเลย
ท่านหนีเสือไปพบจระเข้เข้าแล้ว ดีไม่ดีอ้ายด่างเกยชัยมันจะตะครุบเอาตาย
และก็ผลที่จะรู้โลกอื่นก็เหมือนกัน สมมติว่าท่านได้อาจารย์ที่ดีแล้ว ท่านก็ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำแนะนำของอาจารย์ ถ้าทำได้ตามนัยนั้น
หมายถึงการเตรียมตัวตามอุทุมพลิกาสูตร เว้นในส่วนที่พระพุทธเจ้าให้เว้นทำตามในส่วนที่พระองค์แนะนำให้ทำ อย่าให้ขาดตกบกพร่องเพียง ๙๐ วันเท่านั้น
มีหวังที่ท่านจะพบกับทิพจักขุญาณเบื้องต้น
แล้วท่านไม่ละวิริยะอุสาหะ อภิญญาจะเป็นของท่านทั้งหมดภายใน ๓ ปี ต่อจากนั้นท่านก็ศึกษาวิปัสนาญาณต่อไป
แล้วอาศัยอภิญญาเป็นเพื่อนช่วยวิจัยด้านวิปัสสนา อย่างช้า ๗ ปี ท่านจะจบกิจในพระศาสนา คือ ถึงพระนิพพาน ขอให้ทำจริงเถอะ อย่าจริงแต่พูด
อย่ามัวเมาในลาภยศสรรเสริญสุข แล้วจะพบของจริง ถ้าท่านดีแต่พูดดีแต่วิจารณ์ มันก็ไม่ต่างอะไรกับสุนัขเห็นข้าวเปลือก
เดิมทีเดียวคิดไว้ว่า หนังสือเล่มนี้จะนำกรรมฐานทั้ง ๔๐ ทัศน์ และวิปัสสนาญาณมาเขียนย่อ ๆ ให้จบ
เป็นที่น่าเสียดายที่จะทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะมีเวลาเขียนน้อย เพราะหนังสือนี้จะต้องออกให้ทันงาน และก็มีบทความอย่างอื่น
ที่ผู้อื่นเขียนมาลงในหนังสือนี้ ซึ่งเป็นบทความเบาสมอง จึงของดไม่เขียนให้จบ แต่จะบอกแนวทางส่วนที่สำคัญไว้เพื่อศึกษา ความจริงการเขียนไว้สั้น ๆ
นั้นก็ดีเหมือนกัน ปีนี้แนะนำชี้แจงให้เตรียมเนื้อเตรียมตัวเสียก่อน ฝึกหัดตามแบบฝึกหัดบทต้น ๆ ที่เบา ๆ ไว้ก่อน
ปีหน้าจะได้เขียนกรรมฐาน ๔๐ ทัศน์ลงให้ครบ เพื่อให้โอกาสแก่ท่านได้ฝึกหัดต่อไปเป็นอันดับที่ ๒ แล้วปี ๒๕๑๐ จะได้แนะวิปัสนาญาณทั้ง ๙
พร้อมทั้งเคล็ดลับ ในการปฏิบัติวิปัสสนาให้ครบถ้วน จนถึงจุดจบ เพื่อป้องกันการเบื่อหน่าย เล่มนี้จะได้แนะนำกรรมฐาน ๔๐ ทัศน์ ว่าอย่างไหนใช้อย่างไร
เพื่อปราบกิเลสชนิดไหน เพื่อให้เป็นแนวทางไว้ก่อน และจะได้แนะวิธีฝึกในกสิณ ๓ อย่างไว้เพียงอย่างเดียว เพื่อสร้างทิพจักขุญาณไว้เสียด้วย
เพื่อว่าท่านที่คิดจะทำจริงไม่ดีแต่พูด ดีแต่วิภาควิจารณ์ จะได้ฝึกฝนไปเลย ดีไม่พอถึง พ.ศ.ใหม่อาจได้ทิพจักขุญาณเสียเลยก็เป็นได้
ความจริงทิพจักขุญาณนี้ มิใช่ว่าจะต้องปฏิบัติตามแบบกสิณอย่างเดียวจึงจะได้ จะปฏิบัติในกรรมฐาน ๔๐ กองใดกอง ๑ ก็ได้
แต่ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติต้องฉลาด หรือมีอาจารย์ผู้แนะนำที่ถูกต้อง เมื่อได้กรรมฐานถึงอุปจารสมาธิแล้ว ให้ฝึกในสายทิพจักขุญาณเลย ภายใน ๑
เดือนก็จะใช้งานได้บ้างถึงแม้ยังไม่ถึงที่สุด ก็พอแก้ความสงสัยเสียได้.
◄ll กลับสู่ด้านบน
((( โปรดติดตามตอน กรรมฐาน ๔๐ ตามจริต )))
webmaster - 14/10/08 at 16:20
กรรมฐาน ๔๐ ตามจริต
ได้บอกท่านไว้แต่ในตอนต้นแล้วว่า ถ้าอยากรู้ กรรมฐาน ๔๐ ทัศละเอียด ให้ไปซื้อหนังสือ "วิสุทธิมรรค" มาอ่าน
ถ้าสตางค์มีน้อยก็ไปซื้อเฉพาะวิสุทธิมรรค สมาธินิเทศ ราคาเล่มละ ๒๐ บาทเท่านั้น ถ้าซื้อแบบ ๓ เล่มติดกัน คือ ศีลนิเทศ
สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ เขาเย็บรวมกันเป็นเล่มเดียว ราคาประมาณเล่มละ ๕๐ บาท สบายใจดีกว่า เราเลือกอ่านเลือกดูเอาตามสบายใจ
(หมายเหตุ : ปัจจุบันนี้ท่านบอกว่าไม่ต้องอ่าน "วิสุทธิมรรค" แล้ว ขอให้ไปอ่าน "คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน"
ก็เหมือนกัน)
ในตอนนี้จะบอกชื่อกรรมฐาน ๔๐ อย่างชนิดประมวลก่อน จะไม่แยกออกเพราะยังไม่จำเป็น เล่มหน้าจึงจะเขียนแยกออกให้ละเอียด กรรมฐาน ๔๐
นั้นมีชื่อโดยประมวลดังต่อไปนี้ คือ
๑. กสิณ ๑๐
๒. อสุภ ๑๐
๓. อนุสติ ๑๐
๔. อาหารปฏิกูลสัญญา
๕. จตุธาตุวัตถาน ๑
๖. พรหมวิหาร ๔
๗. อรูป ๔
รวมเป็น ๔๐ ทัศ พอดี
ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า กรรมฐาน ๔๐ ทัศนี้ แบ่งออกเป็น ๗ กอง เพื่อปราบกิเลสที่เข้ามารบกวนใจ แต่ละอย่างตามความสามารถของกรรมฐานนั้น ๆ
ต่อไปนี้จะได้บอกชื่อ และอาการของจริตนั้น ๆ ดังต่อไปนี้
๑. ราคะจริต จริตนี้ถ้าสิงใจใครแล้ว ทำให้เขาผู้นั้นรักสวยรักงาม ไม่ว่าอะไรต้องสวยต้องสะอาดทั้งนั้น เลอะเทอะมอมแมมไม่ได้
แม้แต่เขาจะไปทำงานทำการ ซึ่งไม่ใช่เวลาอวดสวยอวดงาม แต่พวกมีราคะจริตสิงใจนี้ ก็ต้องหวีผมให้เรียบ รีดเสื้อผ้าให้เรียบร้อย รองเท้าต้องขัดให้เป็นมัน
แต่งหน้าด้วยแป้งหอมน้ำมันหอมไปทำงาน อาการเขาเป็นอย่างนี้
เมื่อจิตใจชอบอย่างนี้มันเป็นกิเลสเครื่องผูกเครื่องเกาะ กีดกันความดี ท่านให้หากรรมฐานที่มีกำลัง พอจะปราบจริตนี้ด้วยกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ
อสุภทั้ง ๑๐ อย่าง และแถม กายคตาสติอีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่าง
๒. โทสะจริต จริตนี้เมื่อสิงใจแล้ว จะกลายเป็นคนพื้นเสียเสมอ ๆ โกรธกริ้วคิ้วขมวด ใจคอหงุดหงิดอะไรนิดก็โกรธ อะไรหน่อยก็โกรธ
เป็นคนเจ้าอารมณ์ ทำงานทำการหยาบ เอาละเอียดถี่ถ้วนไม่ได้ เดินแรงพูดเสียงดัง ท่านให้ปราบกิเลสประเภทโทสะนี้ด้วย พรหมวิหาร ๔ และวรรณกสิณ ๔
รวมเป็น ๘ อย่าง
๓. โมหะจริต มีอาการหลงใหลใฝ่ฝัน ขี้หลงขี้ลืม หวงแหน เก็บเล็กเก็บน้อย หยุม ๆ หยิม ๆ แม้แต่เศษกระดาษหรือฝอยไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ
ก็เก็บ เรื่องข้าวของแล้วช่างจดช่างจำ มีความเสียดมเสียดาย เป็นเจ้าเรือนผ้าขี้ริ้วหายไปผืนเดียว บ่นได้ ๓ วัน ๓ คืน
๔. วิตกจริต เป็นคนช่างตริช่างตรอง ช่างคิดช่างนึก มีเรื่องอะไรสักนิดก็คิดก็นึก พูดแล้วพูดอีกจนชาวบ้านรำคาญ ไม่กล้าตัดสินใจ
คนประเภทนี้ถ้าเป็นหมอคนไข้ตายหมด เพราะไม่แน่ใจว่าจะวางยาอะไรดี มัวคิดมัวนึกเสียจนสายเกินควร ถ้าเป็นหัวหน้าฝ่ายดับเพลิง ไฟก็ไหม้หมดโลก
เพราะถ้าได้ข่าวว่าไฟไหม้ก็จะมัวกะการ วางแผนเสียจนไฟโซมไปเอง เชื่องช้าไม่ปราดเปรียวใครได้ไว้เป็นสามีหรือภรรยา ก็ต้องเป็นคนอารมณ์เย็นจริง ๆ
มิฉะนั้นแล้วมีหวังแยกทางกันเดิน จริตทั้ง ๒ นี้ ท่านให้แก้ด้วยอานาปานุสติกรรมฐาน
๕. ศรัทธาจริต จริตนี้เมื่อเข้าสิงใจใคร คนนั้นจะกลายเป็นคนเชื่อง่าย เชื่อไม่มีเหตุมีผล มี ลักษณะตรงกันข้ามกับวิตกจริต
รายนั้นไม่ใคร่เชื่อใคร แต่รายนี้เชื่อไม่มีหูรูด ใครพูดให้ฟังเป็นเชื่อทั้งนั้น เชื่อโดยปราศจากเหตุผล ที่ถูกหลอกถูกต้มก็คนแบบนี้แหละ
จริตนี้ท่านให้เจริญอนุสติ ๖ ประการ คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ และเทวตานุสติ รวม ๖ ประการด้วยกัน
๖. พุทธจริต จริตนี้ทำจิตใจให้ฉลาดเฉียบแหลม เพียงใครพูดอะไรก็ตาม หรือครูอธิบายในวิทยาการเพียงแต่หัวข้อ
คนที่มีจริตนี้ก็เข้าใจความได้เลย สามารถอธิบายความพิสดารในหัวข้อนั้นได้ โดยมิต้องอาศัยตำหรับตำรา จริตนี้ท่านให้เจริญ มรณานุสติ อุปมานุสติ
อาหารปฏิกูลสัญญา จตุธาตุวัตถาน ๔
เหลือกรรมฐานอีก ๑๐ อย่าง คือ อรูป ๔ ภูตกสิณ ๔ อาโปกสิณ ๑ และอากาศกสิณ ๑ รวมเป็น ๑๐ เหมาะแก่จริตทุกจริต ไม่เลือกคน ใครจะเจริญ
คือนำไปปฏิบัติก็ได้ มีหวังสำเร็จทั้งนั้น
ที่เขียนถึงเรื่องจริต และกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตมานี้ ยังไม่ได้คิดจะให้รู้ละเอียด ประสงค์เพียงให้รู้ไว้เป็นเครื่องมือวัดอาจารย์
หรือสำนักที่จะเข้าไปศึกษา ถ้าเขามีความรู้ตามนี้ และสามารถให้กรรมฐานได้ถูกต้องตามนี้ ก็เรียนกับเขาได้ ถ้าถามเรื่องจริตไม่รู้
กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตก็ไม่เข้าใจ มีกรรมฐานอย่างเดียว ใครจะมีจริตอะไรก็ตาม ให้กรรมฐานอย่างเดียว
แต่ถ้าเขาให้กรรมฐานเป็นกรรมฐานกลางก็พอใช้ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะให้กรรมฐานกลางได้ แต่ไม่เข้าใจแก้อารมณ์ของใจตามอำนาจจริตแล้ว
ก็อย่าเข้าไปเรียนเลยเสียเวลาเปล่า ต่อให้เรียนอยู่ด้วยสักหมื่นชาติก็จะไม่ได้ดีอะไร นอกจากเสียเวลาเปล่า ดีไม่ดีจะพาให้เป็นมิจฉาทิฏฐิเลยลงนรกไปก็ได้
ตัวอย่างในปัจจุบันนี้มีเยอะ ลองสอบถามดูเถอะจะพบไม่น้อยทีเดียว
กสิณ ๓ เป็นบาทของทิพยจักขุญาณ
ต่อไปนี้จะได้แนะถึงวิธีปฏิบัติ ในกสิณ ๓ อย่าง คือ เตโชกสิณ โอทากสิณ อาโลกสิณ กสิณ ๓ อย่างนี้ แต่เพียงพอเป็นทางปฏิบัติ
เพื่อบำเพ็ญเพื่อได้ทิพยจักขุญาณ แต่ท่านอย่าลืมนะว่า การปฏิบัติกรรมฐานจะต้องหาครูผู้สอน ถ้าทำเองโดยไม่มีใครแนะนำและควบคุมแล้ว
ดีไม่ดีจะเกิดสำเร็จเร็วกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างในปัจจุบันมีไม่น้อย พอเห็นอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็คิดว่าสำเร็จเสียแล้ว เลยไม่พบดีกัน
ขณะที่เขียนหนังสือนี้อยู่ มีนักปฏิบัติกลุ่มหนึ่งมาถามว่า ฉันได้ไปสอบกับครูผู้สอน คุณครูบอกว่าได้องค์ธรรมแล้ว
ท่านช่วยตรวจด้วยเถอะว่าฉันได้แค่ไหนแล้ว ทำเอาข้าพเจ้างงงันคอแข็งไปเลย ไม่มีแบบมีแผนที่ไหน ที่ผู้ปฏิบัติถึงธรรมแล้ว กลับไม่รู้ว่าตัวได้แปลกมาก
ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นปัจจัตตัง เมื่อได้แล้วต้องรู้เอง ไม่ใช่ไปขอร้องให้คนอื่นช่วยบอก แล้วครูเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่าลูกศิษย์ได้ดวงธรรม
ในเมื่อเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวสักนิด
ข้าพเจ้าได้วินิจฉัยดูเห็นว่า ก. ข. ยังไม่กระดิกหูเลย จึงย้อนถามว่าใครเป็นครู ท่านกลุ่มนั้นก็บอกครูและสำนัก (ขอสงวน)
ถามถึงระเบียบการสอนก็บอกให้ทราบ ดูแล้วช่างไม่ถูกไม่ตรงเสียเลย เสียดายธรรมของพระพุทธเจ้า สงสารพระพุทธเจ้า อุตส่าห์พร่ำสอนเสียเป็นวรรคเป็นเวร
เกือบล้มเกือบตายแต่ลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้เชื่อฟัง กลับเอาลัทธิหลอกลวงมาใช้ แล้วแอบอ้างเอาพระนามของพระองค์มารับรอง
น่าสงสารแท้ ๆ ธรรมที่ว่าสอบได้นั้น เขาบอกว่าเห็นดวงเล็กบ้างใหญ่บ้าง เห็นพระบ้าง โธ่..น่าสงสาร ของเท่านี้ยังไกลต่อคำว่าได้อีกหลายล้านเท่า
ท่านระวังไว้นะ ดีไม่ดีจะไปพบครูจรเข้แบบนี้เข้าจะลำบาก
ทิพยจักขุญาณนี้ ความจริงแล้วอาจจะได้จากกรรมฐานกองอื่นก็ได้ ไม่เฉพาะกสิณ ๓ อย่างนี้ เมื่อทำสมาธิถึงแล้ว
และรู้จักวิธีปฏิบัติแม้กรรมฐานกองอื่นก็ทำทิพยจักขุญาณให้บังเกิดได้ แต่ที่แนะนำไว้ในที่นี้ว่า ให้ปฏิบัติในกสิณ ๓ ก็เพราะว่ากสิณ ๓
นี้เป็นบาทของทิพยจักขุญาณโดยตรง แนะตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็เขียนไปตามท่าน แต่ถ้าใครตามได้คนนั้นก็ได้ทิพยจักขุญาณจริง
อาโลกสิณ
กสิณกองนี้ ตามในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า เป็นกสิณที่เหมาะแก่ทิพยจักขุญาณที่สุด มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ ผู้ใดที่เคยเจริญอาโลกสิณมาแต่ชาติก่อน ชาตินี้แม้เพียงแลดูแสงจันทร์หรือแสงอาทิตย์ที่ส่องลอดช่องฝามาเท่านั้น
ก็สำเร็จอุคหะนิมิต (คือรูปนั้นติดตาแม้หลับตาแล้วก็ยังเป็นภาพนั้นติดหูติดตาอยู่ เรียกว่าอุคหะนิมิต) และปฏิภาคนิมิต
(คือเห็นแสงนั้นสว่างไสวคล้ายแสงดาวประกายพรึก สว่างจ้าเหมือนลืมตาเห็นดวงอาทิตย์) ได้ง่ายดาย
สำหรับผู้ที่ฝึกหัดใหม่นั้นท่านให้เพ่งดูแสงจันทร์และแสงอาทิตย์ ที่ส่องลงมาตามช่องฝาเป็นแสงกลม ลืมตามองดูแล้วตั้งใจจดจำไว้ว่า
แสงที่ส่องลงมานั้นเป็นอย่างไร มีรูป คือ ลักษณะช่องกลมอย่างไร แล้วบริกรรมว่า โอภาโส ๆ หรือจะภาวนาว่า อาโลโก ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
จนกว่าภาพนั้นจะติดตา คือภาวนาไปด้วย นึกถึงภาพนั้นไปด้วย เมื่อภาพนั้นติดตาแล้ว ก็ให้กำหนดใจว่าขอภาพนั้นจงใหญ่ขึ้น เมื่อภาพนั้นใหญ่ขึ้น
ก็นึกให้เล็กลง ภาพนั้นก็เล็กลง นึกว่าภาพนี้จงสูงขึ้น ภาพนั้นก็สูงขึ้น
นึกว่าขอภาพนี้จงต่ำลง ภาพนั้นก็ต่ำลง อย่างนี้เรียกว่าได้อุคหะนิมิต เป็นอุปจาระสมาธิ ถึงอุปจาระฌาน ต้องให้ได้จริง ๆ
นึกขึ้นมาเมื่อไรต้องเห็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น แม้ไม่มีแสงให้ดูภาพนั้นก็ยังติดตาติดใจอยู่ และเมื่อต้องการจะเห็นภาพนั้นเมื่อไร คือ เมื่อกำลังง่วง
ต้องการเห็นต้องการบังคับ ก็เห็นได้บังคับได้ เมื่อกำลังเหนื่อย เมื่อหิว เมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ เห็นได้บังคับได้ทุกขณะทุกเวลา
จึงชื่อว่าได้อุคหะนิมิตที่แท้
ต่อไปให้ฝึกอย่างนั้นจนชำนาญ จนได้ปฏิภาคนิมิต คือ เห็นแสงสว่างผ่องใส เป็นแท่งหนาทึบ คล้ายแสงมากองรวมกันอยู่
คล้ายดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ที่มองเห็นในขณะลืมตา อย่างนี้เรียกว่าปฏิภาคนิมิต เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว ก็ชื่อว่าจิตสมควรแก่การที่จะได้ทิพยจักขุญาณ
เมื่อประสงค์จะเห็นอะไร ให้เพ่งนิมิตนั้นก่อน เมื่อเห็นนิมิตชัดเจนแล้ว ให้กำหนดจิตว่า ขอภาพนิมิตจงหายไป ภาพที่ต้องการจงปรากฏขึ้น
เพียงเท่านี้ภาพที่ต้องการก็ปรากฏขึ้น จะเป็นภาพนรกสวรรค์พรหมโลก หรือญาติที่ตายไปและจะเป็นอะไรก็ได้ เมื่อได้แล้วให้ฝึกไว้เสมอ ๆ
จะได้ชำนาญและคล่องแคล่ว ใช้งานได้ทุกขณะ สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะหัดให้คล่องทั้งลืมตาและหลับตา เพราะจะเป็นประโยชน์มาก เพื่อว่าถ้าเราอยากจะรู้อะไร
ในขณะที่คุยกับเพื่อนหรือไปในระหว่างคนมากถ้ามัวไปหลับตาอยู่ เขาจะคิดว่าเรานี่ท่าทางลมจะไม่ใคร่ตรง ดีไม่ดีพวกจะพาส่งโรงพยาบาลบ้าเสียก็ได้
เพราะฉะนั้นควรฝึกให้คล่อง เสียทั้งสองอย่าง ทั้งลืมตาและหลับตา
เอาละนะ แนะนำไว้แบบเดียวก็พอจะได้ไม่ยุ่ง ทิพยจักขุญาณนี้มีประโยชน์มาก เหมาะแก่การพิสูจน์ประวัติต่าง ๆ เช่น พระพุทธบาท ปฐมเจดีย์
หรือเรื่องราวเก่า ๆ ที่สงสัย ถ้าปรารถนาจะรู้แล้วจะรู้ได้เลย ภาพเก่า ๆ จะปรากฏคล้ายดูภาพยนตร์ พร้อมทั้งรู้เรื่องรู้ชื่อคน ชื่อสถานที่ไปในตัวเสร็จ
แต่ระวังใช้ให้ถูกทาง อย่านำไปใช้ในทางลามก ถ้าทำอย่างนั้นจะเสื่อมเร็ว
พอกันทีนะ ปีนี้ขอลาก่อน ปีหน้าพบกันใหม่ เรื่องเดียวกัน แต่พิสดารกว่าปีนี้
ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน
ส วั ส ดี.
◄ll กลับสู่ด้านบน
((( โปรดติดตามตอน เรื่องเบาสมอง ของท่านต่อไป )))
webmaster - 31/10/08 at 05:55
เรื่องเบาสมอง
ด้อม ๆ มอง ๆ
โดย..งู ดิน
เรื่องเบาสมองของข้าพเจ้า ไม่หนักสมอง หนักจิต หนักใจ เหมือนเรื่องไปนิพพานของท่าน "มหาวีระ ท่านเป็นพระเป็นสงฆ์
ท่านก็มุ่งตัดกิเลส เหมือน "พระเวสสันดร ไม่ว่าหนาวหรือร้อนท่านก็นอนของท่านองค์เดียว ท่านไม่ง้อใคร ไม่เหมือนข้าพเจ้า พอร้อนก็อยากจะจรหัวหิน
บางแสน แต่พอหนาวเข้า ผ้าห่มที่บ้านไม่มีเป็นประจำ ทั้งนี้ไม่ใช่ไม่อยากมี ความจริงแล้วอยากจะมีประจำ แต่หาไม่ได้ เมื่อมันหนาวเหน็บเจ็บทรวงหนักเข้า
ทนไม่ไหวจริง ๆ
ก็ต้องไปเช่าผ้าห่มตามโรงแรมห่ม มันนิ่ม ๆ และก็อบอุ่นเป็นสุขดีเหมือนกัน แต่พอนอนตื่นลืมความฝันแล้วสิ เกิดทุกข์ใจเรื่องเงินค่าเช่าเฮ้ออย่าพูดเลย
เจ็บใจนัก เสียเงินค่าเช่าเท่านั้นยังไม่พอ แถมยังต้องเสียเงินค่ายารักษาหิตอีก ไม่ไหวแล้ว ลูกกลัวแล้วโรงแรมจ๋า กลัวแล้วจ๊ะ กลัวจริง ๆ
เรื่องส่วนตัวทิ้งไว้เสียเถอะนะ
เรามาเริ่มด้อม ๆ มอง ๆ กันดีกว่า จะไปทางไหนดีนะ เดี๋ยวนึกดูก่อน อ้อเอาอย่างนี้ดีกว่า เที่ยวเมืองมนุษย์ก็เที่ยวมามากแล้ว
ลองเที่ยวเมืองผีดูบ้างเถอะ จะมีอะไรแปลก ๆ บ้าง เอาละคอยตามข้าพเจ้ามา เราไปเริ่มต้นเดินทางกันที่เมืองสุพรรณบุรีโน่น ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า
เอาละนะ ออกเดินไปรวมกันที่นั่นได้แล้ว
คนเดียวเคยตายมาแล้ว ๓ ครั้ง
ณ ตำบลสาลี หมู่ที่ ๒ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่นั่นมีหมู่บ้าน ๆ หนึ่ง ในหมู่นั้นมีประมาณ ๔-๕ หลังคาเรือน
ขณะที่พูดถึงนี้คนในหมู่บ้านนี้อยู่ในบ้านไม่ครบจำนวน เพราะต่างก็อพยพไปทำมาหากินกันในทางทิศเหนือ
เพื่อจับจองที่ดินเป็นการขยายฐานะให้มั่นคงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตัวเอกของเรื่องอยู่ในหมู่บ้านนี้ เป็นเรือนใหญ่กว่าหลังอื่น เขาอยู่สองคนกับแม่
อ้อ..เขาเป็นผู้ชายวัยรุ่น ผิวเนื้อดำแดง ขณะนั้นเขามีอายุได้ ๑๗ ปี
เขาเป็นลูกคนกลาง เพราะท้องเขามี ๕ คน คือ พี่ ๒ คน น้อง ๒ คน แม่จึงเรียกเขาว่า พ่อกลาง ปีนั้นตรงกับ พ.ศ. ๒๔๖๗
ในแถวย่านบ้านนั้นเกิดโรคระบาด ชาวบ้านเรียกว่าโรคห่าลง หมอหลวงไม่เคยโผล่ไปถึง ใครเจ็บใครป่วยก็รักษากันด้วยยาโบราณ
เมื่อโรคจับทีแรกโรคกินไก่กินเป็ดก่อน คืนหนึ่ง ๆ ไก่ตายมาก ๆ เพียง ๓-๔ วัน
ในตำบลนั้นก็ไม่มีไก่ขัน เมื่อกินไก่หมด โรคก็เริ่มกินควาย ควายเป็นโรคท้องเดินตายวันละมาก ๆ เนื้อไก่เนื้อควายกินกันจนเบื่อ ขายก็ไม่มีใครซื้อ
บอกให้เฉย ๆ ก็ไม่มีใครอยากได้ เจ้าของต้องทำเนื้อเค็มตากแห้งไว้เพราะไม่รู้จะทำอะไรให้ดีกว่านั้น
เมื่อเจ้าโรคร้าย หรือพวกห่าที่มากินควายกินไก่ เบื่อไก่เบื่อควายแล้วก็เริ่มหันเข้ามากินคน พอเริ่มจับกินคนไหนคนนั้นเป็นต้องตาย
วัดไม่มีป่าช้าพอให้ฝัง ตายวันละหลาย ๆ คน ผัวตาย พอนำผัวไปฝังเสร็จ กลับมาบ้านไม่ทันข้ามวันเมียก็ตายตามผัวไป แล้วก็ลูก แล้วก็หลาน
ตายกันเป็นว่าเล่น เขาป่วยเขาตายกันหมู่อื่น แต่หมู่ของพ่อกลางยังเงียบอยู่ เมื่อเวลาพลบค่ำ คนในหมู่มานั่งจับกลุ่มรวมกันบนเรือนใหญ่ของพ่อกลาง
ซึ่งมีท่านแม่ของพ่อกลางเป็นคนปลอบใจ
เพราะพวกนั้นพากันสั่นสะท้าน สยดสยองเพราะเสียงสุนัขทั้งเห่าทั้งหอนตลอดคืน บางคืนได้ยินเสียงคนพูดดังชัดเจน เหมือนกับเขาเดินมาใกล้เรือนใหญ่ ทั้ง
ๆ ที่เป็นข้างขึ้นเดือนหงาย คณะที่นั่งอยู่นั้นพากันมองดูก็ไม่เห็น เมื่อนอนก็สุมกันนอน คอยจับกันไว้เพื่อความอุ่นใจ เพราะความกลัวปีศาจ พอถึงวันที่ ๔
พ่อกลางเริ่มป่วยเป็นโรคท้องเดิน ถ่ายอุจจาระครั้งแรกออกเหมือนน้ำไหลจากท่อ ท่านแม่พอรู้ก็ตกใจ รีบจัดหายาให้กิน
แล้วใช้คนในบ้านให้รีบไปตามลุงของพ่อกลาง
ซึ่งเป็นหมอที่มีชื่อเสียงอยู่ในตำบลนั้น กว่าลุงจะมาก็ท้องเดินอีก ๑ ครั้ง คราวนี้รู้สึกว่าที่หน้าท้องเจ็บมาก
จนขมวดผ้านุ่งไม่ได้ต้องเอาผ้าวางไว้เฉย ๆ เมื่อลุงมาถึงก็วางยาหยุดถ่ายแล้วลุงให้กินยาบำรุงหัวใจ พอชักใจสบายขึ้นบ้าง เสียงแม่บอกว่า พ่อกลาง นึกถึง
พระพุทโธ ไว้นะ ภาวนาไว้ลูก..พุทโธ ๆ พระจะช่วยลูกให้หายได้ พ่อกลางรับคำแล้วภาวนาไว้ บางครั้งจะได้ยินเสียงว่า พุทโธ ๆ เบา ๆ
แล้วต่อมาเพราะความอ่อนเพลียที่ท้องเดิน พ่อกลาง ก็หลับ
แต่ท่านที่รัก.. แกหลับอะไรอย่างนั้น หลับตั้งแต่ประมาณ ๑๕.๐๐ น. แกไปตื่นเอา ๔.๐๐ น. ขณะนั้นไม่เห็นแกหายใจ ทุกคนว่าแกตาย
แต่ลุงที่เป็นหมอบอกว่ายังพอมีทาง แล้วแกก็ทำตามเรื่องของแก อย่าเล่าเรื่องพิธีหมอเลยช้าเปล่า ๆ เป็นอันว่าพ่อกลางแกตื่นตี ๔ แกขอน้ำกิน บอกว่าคอแห้ง
เมื่อกินน้ำแล้วแกก็ลุกขึ้นคุย อาการเหมือนไม่ได้เป็นอะไรเลยท่านแม่และท่านลุงห้ามไม่ให้ออกแรงกลัวเป็นลม
แต่พ่อกลางแกกลับพูดว่าไม่เป็นไรครับผมไม่ตายแล้ว เขาเอาผมมาส่งครับ เท่านั้นเอง เรียกความสนใจของทุกคนให้มารวมกลุ่มกันถามเรื่องราว
พ่อกลางแกได้เริ่มเล่าเรื่องของแกว่า เมื่อแกหลับนั้น ความจริงแกว่าแกไม่ได้หลับ แกว่าแกเดินออกจากร่างเหลียวมาดูแกก็รู้ว่าร่างของแกนอนอยู่
แต่ตัวแกเองเกิดมีขึ้นมาอีกคนหนึ่งรูปร่างเหมือนกัน มีผ้าผ่อนนุ่งห่มเหมือนกัน เหมือนกับผ้าที่นุ่งเมื่อนอนป่วย
แกไม่สนใจใยดีกับร่างของแก แกเดินไปทักแม่ ทักลุง ทักพี่ยวง ทักป้าใย ไม่มีใครเขาพูดด้วย แกเลยหลีกพวกนั้นเดินลงใต้ถุนไป
ไปยืนอยู่ที่ข้างทางเดินหลังบ้าน เป็นเส้นทางเชื่อมตำบล ขณะที่ยืนตากลมเล่นเย็น ๆ ใจนั้น แกเล่าว่าเห็นคนแถวยาวเหยียดนับร้อยเดินมาตามทาง
คนนำหน้ารูปร่างสูงใหญ่มาก พวกที่เดินตามมาหัวเพียงแค่เอวของคนหน้าเท่านั้น แกคิดว่าพวกนี้คงจะไปดูงานวัด
เมื่อเขาเข้ามาใกล้ จึงยกมือไหว้คนใหญ่นำหน้า แล้วถามว่า คุณลุงจะไปไหนครับ ผมไปด้วยคนได้ไหม ?
คุณลุงแกหยุดมองดูแล้วเปิดสมุดข่อยในมือแกดูแล้วบอกว่า พ่อหนูไปกับลุงไม่ได้ เข้าบ้านเสียเถอะแม่จะบ่นหา หนูไม่มีชื่อในบัญชี
แล้วแกก็นำหน้าพวกนั้นเดินต่อไป เมื่อคนที่ตามเดินผ่านไป พ่อกลางแกบอกว่าคนที่รู้จักก็มี ไม่รู้จักก็มี มีทั้งเด็กคนแก่ คนท้อง
และหนุ่มคนที่รู้จักเขาเดินผ่านไป ทักเขา ๆ ก็ไม่พูดด้วย ทุกคนหน้าซีดเซียว
ทุกคนที่รู้จักนั้นแกบอกว่ารู้เหมือนกันว่าเขาตายไปแล้ว ตามความรู้สึกว่าสงสัยเหมือนกันว่าพวกนี้ตายไปแล้วทำไมจึงมาเดินตามกันเป็นแถว ๆ
พอกลางขบวนมาถึงก็พบคนใหญ่อีก ขออนุญาตตามเขา เขาก็ห้ามและบอกให้เข้าบ้านเหมือนคนหน้า ในที่สุดก็สุดแถว ท้ายแถวมีคนคุมอีก เขาฉุดมือให้พ่อกลางเข้าบ้าน
เขาห้ามไม่ให้ไป เมื่อเขาไม่ยอมให้ไป ด้วยความสงสัยอยากจะรู้ว่าเขาไปไหนกัน เมื่อท้ายแถวไกลไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็เดินตามไปห่าง ๆ