ประวัติ "สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน" โดย พระอาจารย์นาค โฆโส
kittinaja - 24/9/08 at 11:14
...เล่าเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือและก่อให้เกิดศรัทธาปสาธะ ในด้านการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างดี เพราะสมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่เจริญ
มีแต่ป่าและเขาเป็นส่วนใหญ่ จึงเหมาะที่จะเดินธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง
เราเคยอ่าน "หลวงพ่อธุดงค์" กันมาแล้ว ลองอ่านพระธุดงค์สายอีสานกันบ้าง แต่ต้องติดตามไปเรื่อยๆ จะทะยอยลงไปทีละตอนครับ
หมายเหตุ : หนังสือประวัติ "สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน" ลิขสิทธิ์เป็นของ พระครูสมุห์พิชิต
ฐิตวีโร ผู้จัดพิมพ์ และหลวงพี่เก่ง แห่งสำนักเวฬุวัน เป็นผู้พิมพ์ดีด
คุณกิตติเป็นผู้โพส ถ้าใครจะคัดลอกหรือนำออกไปภายนอกเว็บนี้ จะต้องได้รับอนุญาตก่อนนะครับ
สารบัญ
(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)
1. คำนำ
2. เริ่มประวัติตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
3. บวชเป็นสามเณร
4. ผู้ใหญ่บ้านนึกว่าเป็นเณรบ้า
5. พิจารณาสติปัฏฐาน ๔
6. ธุดงค์พบคนป่าเปลือยกาย
7. เรียนรู้วิธีหาอาหารในป่า
8. พบสาธุวันดีผู้ทรงฤทธิ์
9. ฝันเห็นเทวดา
10. แสร้งทำเป็นบ้า
11. เณรไม่บ้า
12. ญาติโยมขอขมาโทษ
13. ถูกจับขังคุก
14. อาจารย์หลายล่วงรู้ใจ
15. พบคู่วาสนา
16. ทรมานกายทำลายรัก
17. เกิดสัญญาวิปลาส
18. ถูกเจ้าคณะจังหวัดสอบธรรมวินัย
19. เศรษฐีจะยกลูกสาวให้
20. นิมิตว่าจะได้บวชพระ
สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน
คำนำ
"หนังสือประวัติ สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน" ลงวันที่ ๑๖ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ วันจันทร์ พ.ศ. ๒๔๘๐ เผอิญมีพระเดชพระคุณ
ท่านเจ้าจอมมารดาทับทิม ที่วังกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พร้อมด้วยคุณนายอั๋นและโยมเข็ม ขอประวัติการณ์ความเป็นมาแล้วของอาตมภาพ ในเวลาหนึ่งโมงเช้า (๗
นาฬิกา) ก่อนรับบิณฑบาต อยู่ ณ ที่ตำหนักในวังนั้น
(เจ้าจอมมารดาทับทิม เป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๕ ถึงอสัญกรรม พ.ศ. ๒๔๘๑ อายุได้ ๘๒ ปี คือหลังจากให้พระอาจารย์นาคเขียนเล่าประวัติเพียง ๑
ปีเท่านั้น)
เห็นบุพพนิมิต
ก่อนพระเดชพระคุณจะบัญชาให้เขียนประวัติความเป็นมาของอาตมภาพ ในเวลา ๙ ทุ่ม (ตี ๓) นั้น อาตมภาพกลับมาจากเดินจงกรมในลานพระเจดีย์แล้ว
เข้ามาที่นั่งสมาธิในห้อง ได้รับบุพพนิมิตเห็นบุรุษแก่คนหนึ่งมาประกาศชื่อของตนว่า "โยมนี้มีชื่อว่า อะสะ กรรมบุรุษ" แล้วตระเตรียมกระแทะ (เกวียน)
เทียมโค แล้วว่า "นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าขึ้นนั่ง"
ครั้นเมื่ออาตมภาพนั่งเสร็จแล้ว ปรากฏว่า ณ ที่ทั้งปวงเกิด เป็นห้วงน้ำทั้งหมด บุรุษนั้นก็ขับกระแทะเทียมโคพาข้ามน้ำนั้นไป พอพ้นฝั่ง
บุรุษแก่คนนั้นแสดงตนเป็นผู้มีฤทธิ์เกิดแสงสว่างรอบตัว แล้วสั่งอาตมภาพว่า "จงระวังกิจที่จะทำในวันต่อไป กลัวจะเป็นภัยแก่ท่าน"
พอรุ่งเช้ามาเป็นเวลาย่ำรุ่ง ๓๐ นาที ก็ออกบิณฑบาต ครั้นไปถึงตำหนักที่พักของพระเดชพระคุณเป็นเวลาหนึ่งโมงเช้า พอนั่งลงประมาณสัก ๕ นาที
พระเดชพระคุณท่านก็บัญชาขอให้เขียนประวัติความเป็นมาของอาตมภาพตั้งแต่ยังรุ่นเยาว์ ครั้งแต่เป็นสามเณรเล็ก ๆ จนกระทั่งออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐานมาจนบัดนี้
ประวัติความเป็นมาของอาตมภาพ มีคนขอ ๒ ครั้งมาแล้ว แต่ยังมิได้เขียนให้สักคน ครั้งที่ ๑ ขุนอาจ กำนันตำบลฟ้าหยาด ครั้งที่ ๒
ขุนประเทืองอุปราช เจ้าเมืองคำทอง แขวงดินแดนฝรั่งเศส ก็มิได้เขียนให้ บัดนี้เป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งพระเดชพระคุณบัญชาขอประวัติ ความเป็นมาแห่งอาตมภาพ
อาตมภาพจำต้องลิขิตเขียนเรียนมา เพื่อพระเดชพระคุณทราบ ตั้งแต่ต้นจนอวสานในประวัติการณ์แห่งอาตมภาพ ดังรายละเอียดเรียนมาในสมุดเล่มนี้
◄ll กลับสู่ด้านบน
เริ่มประวัติตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
อยากห่มผ้าเหลือง
อาตมภาพเป็นบุตรคนสุดท้องของบิดา มารดา เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ พอดีวันนั้นเป็นเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ มารดาพาไปทำบุญวันเกิดของอาตมภาพที่วัด
เผอิญหนาวจัด มองเห็นท่านพระครูปานห่มจีวรผืนใหญ่ เข้าใจว่าจะอุ่น ก็ร้องเรียกให้มารดา ขอให้มารดาบอกว่า "ยังไม่บวช เอามาห่มไม่ได้ กลัวบาป"
อาตมภาพมองขึ้นไปข้างบน เห็นพระพุทธรูปที่พิมพ์ใส่แผ่นกระดาษเรียงลำดับ ๑๒ องค์ ซึ่งพระท่านติดไว้บนหัวนอน ถามมารดาว่า "นั้นอะไร" มารดาบอกว่า
"นั้นรูปพระเจ้า (พระพุทธเจ้า)" อาตมภาพก็นึกรักใคร่เลื่อมใสในพระพุทธรูปนั้น บอกมารดาขอให้ มารดาไม่ขอ ก็ร้องไห้ขึ้นในทันใดไม่หยุด
ตกลงสมภารวัดได้เอามาให้แล้ว ก็นำไปไว้ที่บ้าน
วันหลังถามมารดาว่า "แม่ เวลานี้พระเจ้าอยู่ไหน" แม่บอกว่า "พระเจ้าไปนิพพานแล้ว" จึงขอให้แม่พาไปนิพพานที่พระเจ้าอยู่ แม่บอกว่า "ไปไม่ได้
นิพพานอยู่เมืองฟ้า" ต่อมาวันหลังเห็นพระเดินเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับกันมาหลายองค์ คล้ายกับรูปที่ติดอยู่บนหัวนอน นึกว่าเป็นพระเจ้าจึงร้องบอกมารดาว่า
"แม่ นั่นพระเจ้ามาหน้าบ้านเรา" มารดาโผล่ออกมาดูเห็นพระไปเที่ยวบิณฑบาต มารดาจึงร้องนิมนต์พระว่า "นิมนต์ก่อนค่ะ" พระก็ยืนเป็นแถวเรียงลำดับกันอยู่
ก็นึกเลื่อมใสมาก
อยากไปอยู่วัด
ครั้นมารดากลับมาจากใส่บาตรจึงถามว่า "แม่ พระมาจากไหน" มารดาบอกว่า "พระมาจากวัด" ถามอีกว่า "พระมาจากไหนไปอยู่วัด" มารดาบอกว่า
"ไปจากบ้านไปบวชอยู่ที่วัด" เมื่อทราบว่าพระไปจากบ้านไปบวชอยู่ที่วัด อาตมภาพก็ขอให้มารดาพาไปบวช มารดาบอกว่า "ยังเล็กบวชไม่ได้"
ก็อ้อนวอนขอให้มารดาพาไปฝากไว้วัด มารดาก็ห้ามเป็นครั้งที่ ๒ ว่ายัง เล็กเกินไป ก็ขอไปไม่หยุด ต่อมามารดาไม่พูดด้วยก็ร้องไห้ ว่าอยากไปอยู่วัด
ทั้งบ่นทั้งร้องไห้แต่เช้าจนเที่ยง จนไม่กินข้าวสาย (กลางวัน) เพราะเสียใจกลัวมารดาจะไม่ไปฝากที่วัด
ตกลงมารดาก็พาไปวัด เผดียงต่อสมภารว่า "ไอ้หนูร้องไห้ อยากมาอยู่วัด ไม่รู้จะทำอย่างไร" สมภารก็เรียกไปถาม อาตมภาพตอบว่า "อยากบวช"
ท่านจึงถามอีกว่า "อยู่กับเราไปก่อนไหม โตจึงบวช" จึงตอบท่านว่า "อยู่" มารดาก็มอบให้อยู่กับพระแต่ วันนั้นเป็นต้นมา
อยู่กับพระไป ๒ เดือน บิดากลับมาจากขายกระบือ ไม่เห็นก็ถามหา มารดาบอกว่า "แกไปอยู่วัด" บิดาก็ออกไปที่วัดถามว่า "แกอยากเข้าไปนอนบ้านไหม"
จึงบอกกับพ่อว่า "ไม่อยากไป" พ่อก็มอบให้พระเป็นครั้งที่ ๒
เป็นศิษย์วัดก่อน
ครั้นจวนเข้าพรรษา อาจารย์ก็พาไปจำพรรษาที่วัดป่า อำเภอ ยโสธร ไกลจากบ้านเดิมประมาณ ๓ พันเส้น คนเดิน ๓ คืนจึงจะถึง ขณะขี่เกวียนไปตามทาง อาจารย์บอกว่า
"อีก ๓ ปีจึงจะให้บวช ไปอยู่ในเมือง เรียนหนังสือกับเขาก่อน" จากนั้นมาก็นึกดีใจมาก เพราะอาจารย์กำหนดการจะบวชให้ในระหว่าง ๓ ปี
แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นปีเป็นเดือน ตื่นเช้ามาก็ถามอาจารย์ทุกวัน ว่าถึง ๓ ปีหรือยัง อาจารย์ก็หัวเราะทุกวัน นานเข้าท่านรำคาญ ท่านบอกว่า "ถ้าถึง ๓ ปี
จะบอกให้ดอกนะ และจะบวชให้ด้วย ต่อไปนี้อย่าถามอีกนะ จงเรียนหนังสือให้มากๆ จึงค่อยบวช" แต่นั้นมาอาตมภาพก็ตั้งใจเรียนหนังสือในสำนักอาจารย์ต่อไป
จนอายุได้แปดขวบ พอดีตรงกับเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ กลางคืนวันนั้นฝันเห็นพระเจ้าพร้อมทั้งรัศมี สว่างไสว ตื่นนอนขึ้นมารู้สึกคิดถึงมาก จึงกราบพระสวดมนต์
แล้วก็ปรารถนาเป็นพระเจ้าอีกองค์หนึ่ง แต่นั้นไปทุก ๆ วันก็ตั้งใจเก็บดอกไม้บูชาแล้ว ปรารถนาเป็นพระเจ้า
◄ll กลับสู่ด้านบน
บวชเป็นสามเณร
จนอายุ ๙ ขวบ อาจารย์ก็บวชให้เป็นสามเณร พอบวชแล้วก็เรียนหนังสืออยู่กับอาจารย์ต่อไปอีกเป็น เวลา ๖ ปี พอดีอายุครบ ๑๔ ขวบเต็ม ๑๕ ปีย่าง
เผอิญพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งชักชวนไปทำปาณาติบาตฆ่าแย้ ๑ ตัว พอกลับมาถึงวัด
ค่ำลงสวดมนต์ไหว้พระ แล้วประมาณ ๔ ทุ่มก็จำวัด แล้วนิมิตฝันเห็นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๒๓ องค์ นั่งประชุมอยู่ร่มไม้หว้าชมพู
และท่านแสดงธรรมว่า "คนจะเป็นสมณะเพราะศีรษะโล้นก็หามิได้ จะเป็นสมณะเพราะผ้าเหลืองก็หามิได้ จะเป็นสมณะเพราะไม่มีภรรยาก็หามิได้
จะเป็นสมณะเพราะเรียนรู้มากก็หามิได้ ผู้เที่ยวไปไม่มีอะไรในชีวิต และถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่ และที่อาศัยเช่นนี้จึงได้นามว่าเป็นสมณะ"
ขณะที่ฝันนั้นปรากฏว่าแดดร้อนจัด อาตมภาพก็เข้าไปอาศัยอยู่ในร่มนั้น ๆ เย็นดี แล้วท่านเอาน้ำให้ฉัน น้ำนั้นเมื่อฉันเข้าไปแสบขึ้นสมอง
คล้ายกลิ่นสุราและแสบจมูกมาก เลยตื่นขึ้น ขณะนั้นเป็นเวลา ๗ ทุ่ม (ตีหนึ่ง) เงียบสงัดและเดือนหงายแจ้งสว่าง
มองไปเห็นเพื่อนบรรพชิตทั้งพระและสามเณรนอนเกลื่อนกรน อยู่ที่ระเบียงเล็กข้างนอกกุฏิ เพราะฤดูนั้นเป็นฤดูร้อน เป็นเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ
จากนั้นอาตมภาพจึงลงจากระเบียงกุฏิเล็ก ไปนั่งอยู่ที่ร่มมะม่วง หวนนึกถึงความฝันที่ปรากฏทั้ง ๔ ข้อ
แล้วนึกถึงมรรยาท และความเป็นอยู่ของพระสาวก และพระศาสดาว่า คงไม่ตลกคะนองคลาดเคลื่อนกันเช่นนี้ พอนึกแล้วก็ตกลงในใจว่า
เราจะต้องหลีกออกไปบำเพ็ญความสงบ และมีมรรยาทอย่างที่ปรากฏเห็นในนิมิตนี้ให้จงได้ นึกแล้วนึกเล่าจนนอนไม่หลับอีกในคืนนั้น
ลาอาจารย์ออกธุดงค์
".......ในเมื่อถึงเวลาบวช
เมื่อบวชจริงๆ ท่านบวชที่ "วัดบางปลาหมอ" เพราะว่าเวลานั้น "วัดบางนมโค" เวลานั้นเดิมทีเป็นวัดร้าง
.........พอรุ่งเช้าขึ้นมาฉันอาหารแล้ว ก็ลาพระอาจารย์ ท่านก็ไม่อนุญาต บอกพระอาจารย์ว่า "ผมตกลงใจ แล้วตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ผมเห็นจะไม่อยู่"
ว่าแล้วก็ขอขมาโทษจากอาจารย์ วางขันดอกไม้ไว้ต่อหน้าท่าน แล้วก็หลีกไป
.........วันแรกเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ไปพักที่ป่าช้า บ้านหนองแสง ตอนค่ำลงนึกกลัวผี ได้พิจารณาว่า อะไรเป็นผี ได้ความว่า ใจเป็นผี เพราะร่างและกระดูกเขาเผา
และฝังหมดเสียแล้ว ตกลงว่าไม่จริง วัว, ควาย, หมู, ไก่ ก็มีใจทั้งนั้น ทำไมคนกินเนื้อมันได้ เช่น วัว ควาย ยิ่งตัวใหญ่ไม่กลัวผีมันหลอก
หรือทำไมกินเนื้อมันได้ ขนเอาเนื้อเอากระดูก มันไปเก็บไว้ที่บ้านทั้งกินเสียด้วย จนกระทั่ง ปู, ปลา ก็มีใจทั้งนั้น หากว่าใจสัตว์ที่ตายแล้ว
เป็นผีอยู่กับซากศพที่ฝังไว้แล้วนั้น เป็นผีหลอกคน ถ้าเช่นนั้นคนที่ฝัง ซากวัว ซากควายลงที่ท้องของตน ก็จะไม่เป็นอันอยู่อันนอน เพราะผีมันจะหลอก
เปล่าทั้งนั้น ไม่ปรากฏเลยว่า ค่ำมาคนนั้นคนนี้ถูกผีวัวควายหลอก หรือผีหมู ผีไก่หลอก ก็เปล่าทั้งนั้น
ตกลงว่า มนุษย์นี้หลอกกันทั้งนั้น สิ่งใดกินเนื้อมันเห็นว่าไม่ใช่ผี สิ่งใดไม่ได้กินเนื้อ เขาบอกว่ากลัวผีมันหลอกดังนี้
มนุษย์ที่ตายแล้วฝังอยู่ป่าช้าเช่นนี้ ล้วนแล้วแต่ยังไม่อยากตาย ใจของมันไม่อยากตายอยู่แล้ว เพราะมันกลัวป่าช้า ตายแล้วที่ไหนมันจะมา
ถ้าใจของคนยังมีติดอยู่ที่กาย ทำไมมันจะตาย ใจคนหนีไปแล้ว ตั้งแต่อยู่บ้านเรือน ขณะมันตายทีแรกนั้นมิใช่หรือ มันจึงตาย เมื่อพิจารณาเช่นนี้
ตั้งแต่วันนั้นมา ขึ้นชื่อว่าป่าช้า อยู่ได้ทุกแห่งไป ไม่ต้องกลัวผีอีก
ข้ามโขงสู่แคว้นลาว
เดินเที่ยวพักไปตามป่าช้าบ้านอื่นๆ ต่อไปได้ ๙ คืน ถึงฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแดนของฝรั่งเศสเป็นเวลา ๕ โมงเศษ ขอข้ามเรือกับแกว (คนญวน) คนหนึ่ง
พอข้ามไปถึงฝั่งนั้นมีหมู่บ้านเล็กตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ยังไม่มีวัด อยู่ใกล้ริมภูเขา ชื่อ บ้านแก้งกะอาก พอไปถึงหมู่บ้านนั้นมืดพอดี
ผู้ใหญ่บ้านเขานิมนต์ให้ขึ้นพักจำวัดที่เรือน เพราะกลัวช้างป่า เขาบอกว่ามันเข้ามารบกวนหมู่บ้านนั้นทุกวัน
เมื่อได้ยินเขาเล่าเช่นนั้น อาตมภาพก็ยืนพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ได้ความว่า บัดนี้เราเป็นบุตรของพระศาสดา เราจะเชื่อความเป็นพ่อของเราในข้อที่ว่า
อย่าลุอำนาจแก่ความกลัวซึ่งเป็นอคติข้อที่ ๔ หรือเราจะเชื่อความหลงที่เราเคยกลัวมาแต่ปุเรชาติ (ชาติปางก่อน)
ตกลงในใจว่าหากความกลัวมีประจำใจมาแล้ว ตั้งแต่วันเกิดทุกตัว สัตว์คงจะพากันทำแต่ดีเพราะความกลัว แล้วมนุษย์และสัตว์ทั้งโลกนี้ก็จะวิเศษกันไปหมดแล้ว
ตกลงว่าหัวใจสัตว์ทั้งโลกมีความกลัวนี่มาเป็นประจำสันดานอยู่ทุกตัวสัตว์ ตัวเราเองก็มัวแต่กลัวอยู่เช่นนี้ หัวใจเราก็จะแค่หัวใจสัตว์เท่านั้น
ไม่เห็นแปลกจากสันดานสัตว์
นึกแล้วก็ตั้งใจอดทนต่อความกลัว เดินผ่านบ้านนั้นไป คนในบ้านนั้นทักท้วงว่า พระกรรมฐานท่านไม่พักเรือนคน ขณะนั้นก็มีความกลัวอยู่อย่างระส่ำระสาย
แต่นึกถึงความอดทน คือ ขันติบารมี ว่าเป็นธรรมอันจะพึงบำเพ็ญส่วนหนึ่ง ตกลงว่าเวลานั้นจำเป็นจำไป เพราะอดทนต่อความกลัวต่อสัตว์ร้ายนั้น มิใช่ไปด้วย
ความหมดกลัว อย่างไม่กลัวผี
เผชิญหน้าช้างป่า
พอไปถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นหนทางช้างเดินแถบชายภูเขา ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าที่นั้นเป็นทางช้าง เห็นแต่ว่าที่นี้เตียนดี เมื่อเราต้องการเดินจงกรม
ก็จะได้เดินตามแนวนี้ และที่นั้นมีต้นตะเคียนใหญ่ และมีเครือหวายเป็นพุ่มห้อยล้อมต้นตะเคียนดกหนา เป็นร่มดี อาตมภาพจึงตรึงกั้นมุ้งลง (ปักกลด)
เพื่อพักอาศัยในที่นั้นเสร็จแล้วก็นั่งสมาธิในที่นั้น
ต่อมาตอนดึกจวนรุ่งเวลา ๙ ทุ่ม (ตี ๓) เผอิญมีช้างเผือกใหญ่ตัวหนึ่งเป็นประธานในช้างทั้งหลาย เดินผ่านเชือกที่แขวนกลด
ทำให้ขาดตกลงแล้วได้ยินเสียงช้างกระดิกหูดังโปะๆ ก็นึกตกใจว่านี่เป็นเสียงอะไร เปิดมุ้งขึ้นดูเห็นช้างยืนใกล้กลดอยู่ ก็นึกตกใจจนหายใจไม่ออก
แน่นหน้าอกขึ้นมา ก็ค่อยคลานออกจากมุ้งเข้าไป อาศัยพุ่มหวายที่รกห้อมล้อมต้นตะเคียนอยู่ ไม่ช้า ช้างก็ฉวยเอามุ้งขึ้นพาดบนศีรษะของมัน
แล้วจับเหวี่ยงลงมาแล้วก็เอาเท้าขยี้ ทำดังนี้จนมุ้งและกลดแหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี ช้างยืนอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็หันหน้าไปทางต้นตะเคียน
แล้วดึงเครือหวายตรงที่นั้นกินเป็นอาหาร ตกลงว่าเวลานั้นได้ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มหวายใต้คางช้าง
อีกไม่นานหมู่ช้างก็เดินตามกันมาอีก ๒๑ ตัว มาทันช้างตัวที่กินหวายอยู่ก่อนนั้น ต่างตัวก็มายืนห้อมล้อมต้นตะเคียนดึงเครือหวายลงมากินเป็นอาหาร
อาตมภาพรู้สึกแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก เพราะความกลัวอยู่สักครู่หนึ่ง นึกขึ้นได้ว่า มาคราวนี้ เพื่อบำเพ็ญกิจของพระศาสนา
ฉะนั้นขออันตรายทั้งหลายจงพินาศฉิบหายไปด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย
พออธิษฐานเสร็จแล้วก็เกิดคันตามลำคอ และแสบจมูกขึ้นมา ทนไม่ได้ก็ไอและกระแอมขึ้นมาด้วยเสียงอันดัง ฝ่ายช้างทั้งหลายเหล่านั้นตื่นเสียงไอ
ก็พากันวิ่งแตกตื่นหนีไป ในขณะนั้นก็พอดีสว่าง ออกมามองหาบาตรและห่อผ้า เห็นไปอยู่ในเหวซึ่งช้างมันเหวี่ยงลงไป ก็ค่อย ๆ คลานลงไปที่เหว
เอาบาตรและผ้าขึ้นมาได้ แล้วก็ครองผ้าอุ้มบาตร เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น
นายดีผู้ใหญ่บ้านถามว่า "คุณพักที่ไหน ช้างไม่รบกวนคุณหรือ" อาตมภาพก็นิ่งอยู่ไม่พูดและไม่ ตอบกระไร แกก็แปลกใจบ่นว่า "พระเณรอะไร ถามไม่พูด"
แกก็ตามออกไปดูที่อยู่ เห็นรอยช้างมันขยี้กลดและมุ้งแหลกป่นปี้ แกจึงถามอีกเป็นครั้งที่สองว่า "เวลาช้างมันมาทำลายของท่านใต้เท้าไปอยู่ที่ไหน
ช้างจึงไม่ทำร้ายตัวของใต้เท้าด้วย" อาตมภาพก็นั่งฉันข้าวเรื่อยไป มิได้พูดและตอบโยมคนนั้น ด้วยคำใดคำหนึ่งเลย
เจอเสือ
พอฉันเสร็จแล้วก็ตะพายบาตร ไต่ชายเขาไปประมาณสัก ๘๐ เส้น พบบึงน้ำมีบัวหลวง บัวทอง จอกแหนต่าง ๆ มีร่มไม้สดชื่นหลายอย่างตามริมบึง
แต่บึงนั้นมีฝั่งชันและสูง มีทางลง ๕ แห่ง เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้นว่า เสือ, ช้าง, หมี, ลิง, กระทิง
สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้อาศัยกินน้ำในบึงนั้น อาตมภาพไปถึงก็พิจารณาว่า "ที่นี้มีน้ำใสดีและป่าไม้ก็สดชื่น
ควรแล้วที่เราผู้ต้องการความสงบจะต้องพักบำเพ็ญอยู่ที่นี่" แล้วก็หลีกไปอาศัยอยู่ร่มไทรที่ตั้งอยู่ชายเขา ห่างจากบึงประมาณ ๑๐ เส้น
พอตะวันค่ำลง ประมาณ ๕ โมงเย็น เผอิญมีเสียงเสือร้องเสียง ฮ้าวฮือๆ ฮ้าวฮือๆ ดังจากหลังเขาจะมากินน้ำในบึงนั้น เสียงเสือร้องดังก้องมาในทิศทั้งสี่
อาตมภาพได้ยินเข้าก็ตกใจ พิจารณาไปว่า "บัดนี้เรานำชีวิตมาสู่อันตราย ด้วยหวังเพื่อบำเพ็ญบารมี" เมื่อตกลงใจเช่นนี้ เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างน่าพิศวง
คือปรากฏว่าขนทั้งตัวยาวออกข้างละแขนตั้งขึ้นตรง เสียงเสือยิ่งร้องใกล้เข้ามาทั้ง ๔ ตัว มาตัวละทิศ ขณะนั้นเกิดแน่นหน้าอก ลำคอแข็ง น้ำตาทั้งสองข้าง
ไหลหยดหยาดออกมา หยิบจีวรในบาตรมาห่มคลุมปิดทั้งตัวทั้งศีรษะ นั่งขัดสมาธิแล้วนึกอะไรยังไม่ออก เพราะยังแน่นหน้าอกและคอแข็ง
น้ำตาทั้งสองข้างก็ไหลไม่หยุด
ผีสะม่อยกินไส้พุง
อยู่มาประมาณ ๕ ทุ่ม ก็มีลิงไม่ใหญ่ไม่เล็กขนาดกลาง ๆ ลงมาจากต้นไทร มาร้องโวก ๆ เวียนอ้อม ๓ รอบ แล้วมานอนอยู่บนหน้าตัก เอาศีรษะหนุนเข่าขวา
ร้องเสียงโวกๆ ดังนั้นอยู่เรื่อยไป จนประมาณ ๖ ทุ่ม จึงนึกได้ว่าจะเป็นเช่นนี้กระมังที่โบราณท่านว่า ผีสะม่อยกินไส้พุงคนนอนค้างเขากลางคืน
พอนึกได้เช่นนี้แล้ว อาการแน่นหน้าอกก็ค่อยทุเลาลง พอให้นึกอะไรต่อไปได้ จึงได้ตั้งสัจอธิษฐานว่า
"สาธุ..สาธุ..สาธุ..ข้าแต่เทพยดาทั้งหลาย พร้อมด้วยคุณพระรัตนตรัย หากว่าข้าพเจ้ายังมีกรรมเวรกับสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดแล้ว
ขอสัตว์เหล่านั้นจงมาล้างผลาญทำลายชีวิตของข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามยถากรรมนั้นๆ หากว่าข้าพเจ้ามิได้มีกรรมเวรกับสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดแล้ว
ก็ขอให้ปฏิปทาการบำเพ็ญบารมีของข้าพเจ้า จงเป็นไปอย่าได้ขัดข้องด้วยอันตรายทั้งหลาย อันจะพึงมีในเบื้องหน้า"
พออธิษฐานเสร็จลง ลิงตัวนั้นก็กระโดดออกไปขึ้นบนต้นไทร ทันใดก็นึกขึ้นได้ว่า "เราคงจะไม่มีเวร เพราะพอสำเร็จอธิษฐาน ลิงก็หนีทันที" ก็นึกดีใจขึ้นมา
ได้บริกรรมกำหนดนึก พุทโธๆ ตามหายใจเข้าหายใจออกอยู่เรื่อยไป
พอจวนสว่าง เสือก็ร้องฮ้าวฮือ ๆ ขึ้น ก็แน่นหน้าอกขึ้นอีก น้ำตาทั้งสองข้างก็ไหลหยดหยาดซึมซาบออกมา ไม่ช้าช้างก็ร้องเสียงดังเอ๊ก ๆ เอกขึ้นอีก
ขณะนั้นใจสะดุ้งขึ้นมาก็อึดอัดที่ต้นคอ หูดังอื้ออยู่ครู่หนึ่ง ปรากฏว่าลิ้นแข็ง ฟันออกมาที่ริมปาก แล้วก็หูดับและไม่รู้อะไร ในระหว่างนั้นคล้ายๆ
กับว่านอนหลับไม่ฝัน ก่อนจะรู้สึกตัวคล้ายกับนอนฝัน แต่ยังนั่งอยู่ ปรากฏว่ามีหญิงสาวหนุ่มคู่หนึ่ง ถือดอกบัวมาดอกหนึ่งมาถวายแล้วบอกว่า ท่านจงทนไปเถิด
ท่านจะเป็นผู้หมดเวรในชาตินี้ แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นทันที
◄ll กลับสู่ด้านบน
ผู้ใหญ่บ้านนึกว่าเป็นเณรบ้า
พอดีสว่าง ก็ไปเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านนั้นอีก พอไปถึงหมู่บ้าน นายดีผู้ใหญ่บ้านบอกแก่ชาวบ้านนั้นว่า "ท่านองค์นี้ท่านมาบิณฑบาต
ใครมีศรัทธาก็จงใส่บาตรให้ท่านไปเถิด ใครไม่มีศรัทธาก็แล้วไป ส่วนตัวเราเข้าใจว่าจะเป็นคนบ้ากระมัง ถามไม่พูด
มิฉะนั้นก็จะเป็นคนพิกลมาจากแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นแน่ "วันนั้นมีคนใส่บาตรให้ ๒ คน ได้ข้าวประมาณเท่า ๒ ฟองไข่เป็ด แล้วก็กลับไปฉัน
พอฉันเสร็จตอนกลางวันก็นั่งสมาธิ และเดินจงกรมไปตามเคย
ครั้นค่ำลงตอนเย็น เสือมันร้องฮ้าวฮือ ๆ ทุกวัน ๆ พอได้ยินเสียงเสือร้องขึ้น ก็เกิดแน่นหน้าอก น้ำตาไหลซึม ออกมาดังนั้นทุกวันไป
ตอนกลางคืนนอนไม่หลับเลยสักนิด นั่งอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น หากจะเคลื่อนตัวหรือเดินไปมาในเวลากลางคืน ก็นึกกลัวว่าเสือหรืออะไรมันจะมองเห็น
เอาผ้าจีวรห่มคลุมศีรษะแล้วก็นั่งนิ่งอยู่ เพื่อจะให้สัตว์ที่มามองเห็นว่าเป็นตอไม้ไป มันจะได้ไม่ทำอันตรายแก่เรา ทำอย่างนั้นอยู่ในที่นั้น ๓ วัน
ส่วนเวลากลางวันก็เดินจงกรม นั่งบ้าง นอนบ้าง ตามธรรมดา ส่วนกลางคืนนั่งทำทีเป็นตอไม้ไปเลย
เห็นนิมิต ได้แรงใจ
อยู่ต่อมาถึงวันคำรบ ๔ คิดปรารภจะกลับบ้านและสำนักวัดเดิม ไม่ช้าในขณะคิดจะกลับคืนสู่สำนักวัดเดิมนั้น มีตะขาบใหญ่ตัวหนึ่งวิ่งออกมาจากรูหิน
มาอยู่ตรงหน้า แล้วก็กัดสะดือกินไส้ของตนจนเกือบจะขาดเป็นท่อนแล้วก็ตายไป ก็นั่งพิจารณาอาการของสัตว์นั้นอยู่
ไม่ช้าก็มีเต่าใหญ่ตัวหนึ่งคาบผลมะสั้นลูกโต ๆ เข้ามาวางติดกับเข่า หยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็หลีกไป
อาตมภาพก็นั่งพิจารณาอาการสัตว์ทั้งสองที่ปรากฏขณะนั้น ได้ความว่า "หากเราเพียรทำลายความกลัวของเราได้ แล้วเราก็จะมีผลดังเต่าตัวโง่ ๆ
ทำไมมันยังเอาผลไม้มาให้เราดูได้ ถึงความกลัวนี้ไม่หาย เราก็จะอดทนต่อความกลัวอยู่ต่อไป ก็จะได้บำเพ็ญขันติบารมี คือว่า จะกลัวเพียงใด
ก็อดทนอยู่อย่างนั้นเอง ทนต่อความกลัวอยู่ที่นั้น ตอนค่ำมา พอเสือร้องขึ้น เสียง ดังฮ้าวฮือๆ ก็แน่นหน้าอก น้ำตาไหลออกมา อยู่ เช่นนั้นได้ ๑๐ วัน
ท้อแท้ใจอยากตาย
ในวันคำรบ ๑๐ ตอนเย็น เสือร้องที่บนเขา ก็แน่นหน้าอกอีก จึงนึกขึ้นมาว่า เราทนต่อความกลัวมาเป็นเวลา ๑๐ วันแล้ว ไม่เห็นหายสักที
เป็นทุกข์อยู่ดังนี้ร่ำไป หากจะกลับบ้านก็กลัวเพื่อนบรรพชิต พร้อมทั้งอาจารย์จะดูถูกเรา ว่าไปไม่กี่วันก็กลับมาแล้ว ไม่เห็นเป็นอะไรไปได้ที่ไหน
เราก็จะอายขายหน้าและรำคาญหู ตกลงว่าเราตั้งใจไปหาความดี ซ้ำจะเอาความโง่ของตนคืนไปสู่สำนักวัด ให้คนอื่นเขาดูถูกปฏิปทาของศาสนา ทั้งเราก็จะเป็นทุกข์ต่อไป
เพราะจะรำคาญหู เขาจะเย้ยเล่นว่าเราเป็นกรรมฐานก้อม (ฉาบฉวย)
ตกลงถึงจะอยู่ที่นี้ก็เป็นทุกข์ จะกลับคืนสู่สำนักวัดก็เป็นทุกข์ กลัวเขาจะไม่เชื่อถือข้อประพฤติของเราอีกต่อไป คือเห็นเป็นคนไม่จริงกลับกลอก
หากว่าเราไปให้เสือกัดตายในวันนี้เสีย ก็ดีกว่าจะทนทุกข์อยู่ดังนี้ไปอีกหลายวัน ถ้าเรายังไม่ตายอยู่ต่อไปอีก พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้
ก็จะเป็นทุกข์เพราะความกลัวเช่นนี้ หากว่าเสือกัดให้เราตายเสียแล้วในวันนี้ ก็ใครเล่าจะมากลัวให้เป็นทุกข์อยู่ที่นี้อีก ตกลงว่า เอาเถิดเป็นทุกข์
เพราะเสือกัดไม่กี่ชั่วโมงก็ตายไป ดีกว่าเราจะทนทุกข์อยู่เช่นนี้ต่อไปอีกหลายวัน
คิดตกลงแล้ว ก็เตรียมครองผ้าให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล แล้วก็ตรงไปยังท่าน้ำบึงที่เสือเคยลงกินน้ำทุกวัน พอลงไปถึงริมน้ำแล้วก็นั่งขัดสมาธิพิจารณาว่า
เมื่อมันมากินเรา มันก็คงกัดที่ตรงคอเรานี้ ประเดี๋ยวก็ตายเท่านั้น ไม่ต้องลำบากอีกหลายวัน คิดแล้วก็ตั้งปณิธานปรารถนาว่า "หากข้าพเจ้าตายลงไปในวันนี้
ด้วยอำนาจแห่งคุณธรรมทั้งหลาย มีผลแห่งการรักษาศีลเป็นต้น จงดลบันดาลข้าพเจ้าให้ได้ถึงสุคติมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า"
อธิษฐานเสร็จก็นั่งอยู่ ไม่ช้าเสือก็มาถึง นั่งหลับตาอยู่ ได้ยินเสียงหายใจเสือดังเสียงกึกฮือๆ เข้าก็ลืมตาขึ้น เห็นเสือตัวใหญ่สี่มุม
มองดูเท้าหน้าทั้งสองของเสือใหญ่เท่าต้นคอของเรา นึกแล้วก็แน่นหน้าอกขึ้นมาทันที น้ำตาก็หยดหยาดลงมาในขณะนั้น แล้วก้มตัวลงหมอบอยู่ คอยให้เสือเข้ามากัด
ไม่ช้าเสือครางขึ้นเสียงดังกึกฮือ ๆ แล้วก็เอาฝุ่นดินมาใส่ถูกศีรษะ ๓ ที
แล้วเสือก็กระโดดขึ้นบนฝั่งบึง ร้องเสียงดังฮ้าวฮือ ๆ ไกลออกไปจึงเงยขึ้น นึกได้ว่า เสือมันไม่กินเรา เพราะอันตรายยังไม่มาถึง
นึกแล้วก็ขึ้นฝั่งบึง เดินตามหลังเสือห่างกันประมาณ ๑๐ กว่าวา พอเสือมองเห็นก็ทำท่าตะครุบ ก็เดินตรงเข้าไปหาเสือยังอีกประมาณ ๒ ก้าว
เสือก็กระโดดหนีไปตามชายเขา ส่วนอาตมภาพก็เดินกลับไปที่พักร่มไทร
เป็นตายเป็นเรื่องของกรรม
ขณะกำลังเดินไปนั้นพลางพิจารณาว่า ขึ้นชื่อว่ามนุษย์คือสัตว์วิเศษ แปลว่า พวกใจสูง สูงพร้อมด้วยบุญญาภิสังขาร จึงได้เกิดมาเป็น มนุษย์ ตกลงว่า
ใครทั้งหมดในโลกนี้จะอยู่ได้ทน เพราะความกลัวก็หามิได้ หรือว่านึกอยากตายแล้วก็ ตายลงทันทีหามิได้ ข้อนี้หมายความว่า
ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์คงอยู่ได้หรือตายลงก็ดี ต้องเป็นไปตามยถากรรมของสัตว์ตามให้ผลเท่านั้น
พิจารณาเช่นนี้แล้วก็ถึงร่มไทร นั่งลงที่ก้อนหินที่เคยพักแล้วก็พิจารณาต่อไปว่า เช่นเราเวลานี้คิดอยากตาย ทั้งไปให้เสือกัดกินเสียด้วย
ข้อนี้กรรมยังรักษาอยู่ยังไม่ให้ผลให้ความตายมาถึง จึงไม่ตายเหมือนคนอื่นที่เขาตายก่อนเรา ยังอยู่ในบ้านเรือนเสียด้วย มีพี่น้อง
ญาติวงศ์รักษาไม่อยากให้เขาตาย คนที่ตายไปนั้นเขาก็ไม่อยากตาย แล้วก็ไม่เห็นว่ามีใครทำให้เขาตาย ทำไม เขาตายไป? ความเป็นอยู่ได้หรือความตายไปเหล่านี้
มิได้อยู่ในความปกครองต้องการของใครเสียแล้ว ความเป็นอยู่หรือความตายเป็นเรื่องของกรรมจะให้ผล เป็นส่วนพิเศษนอกเหนือจากความปกครองของใจ
มิใช่ ว่าใจนี้จะปกครองชีวิตได้โดยเด็ดขาด เช่นใจยังไม่อยากตายเลย พอเจ็บปวดที่ไหน เจ้าใจต้องนึกหายามาใส่ ผลที่สุดก็ตาย เช่นใจของเราเวลานี้
นึกอยากตาย ก็ไม่เห็นมันตาย ข้อนี้อย่าเลย เจ้าใจเอ๋ย ชีวิตความเป็นอยู่นี่หรือจะตายลงเมื่อไรก็ดี มิได้มีกรรมสิทธิ์ในเจ้าเสียแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ควรแล้วหรือที่เราจะมานึกกลัวตาย หรืออยากตายให้เป็นทุกข์เปล่า ๆ มิเข้าเรื่อง เข้าการความเป็นอยู่หรือความตายไป มีตัวกรรม เป็นเจ้าของ
เขาทำหน้าที่นั้นเป็นส่วนพิเศษ เราจะไปหวงแหนช่วยให้เขาทำให้ดีขึ้นกว่านี้ก็เปล่า หรือนึกจะทำลายของของเขาจนไปยอมให้เสือกัดเสียมันก็ไม่กัด
เพราะเจ้าของเขารักษาอยู่
เมื่อพิจารณาตกลงเช่นนี้แล้ว ก็รู้สึกหายกลัว ตกค่ำมืดประมาณ ๑ ทุ่ม รู้สึกง่วงนอนมาก ก็นอนทับลงที่ลานหินนั้น เงยหน้าขึ้น
มองดูดวงดาวสดใสก็นึกสบายใจขึ้น ชั่วครู่ เสือก็ครางขึ้นใกล้ ๆ เสียงฮ้าวฮือ ๆ ใจก็นึกขึ้นทันทีว่า "บัดนี้ ข้าพเจ้ารู้ดีแล้ว
ชีวิตนี้มิได้มีกรรมสิทธิ์ในข้าพเจ้า" ใจจึงนึกสั่งเจ้าของชีวิตคือเจ้ากรรมว่า "เจ้ากรรมเอ๋ย ผู้เป็นเจ้าของแห่งชีวิต บัดนี้เสือมาใกล้เข้าแล้ว
เห็นสมควรเช่นไร เจ้าก็จงจัดการไปตามเรื่องนั่นแหละหนอ" นึกแล้วก็นอนหลับต่อไป ขณะหลับอยู่นั้นฝันว่าช้าง เผือกมาจับยกเอาทั้งตัวขึ้นนั่งบนศีรษะ
แล้วก็เดินพาไปพักอยู่ร่มไม้ใหญ่เย็นเงียบ
◄ll กลับสู่ด้านบน
พิจารณาสติปัฏฐาน ๔
ไม่ช้าก็ตื่น พอตื่นขึ้นมาก็นึกพยากรณ์ความฝันของตนว่า ฝันเช่นนี้ปฏิปทาของเราจะเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงพิจารณาต่อไปว่า "แต่ก่อนเรามีความกลัวมาปิดกั้น
สันดานจนนึกอะไรไม่ออก บัดนี้ความกลัวอันนั้นก็ถึงความพ่ายแพ้ไปแล้ว บัดนี้เราควรจะบำเพ็ญธรรมบทไหนหนอ" พิจารณาไปมาก ๆ ก็ระลึกขึ้นได้ว่า
"สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นธรรม อันบุคคลเจริญให้มากแล้ว ก็จะได้บรรลุธรรมาภิสมัย (การบรรลุธรรม) ภายใน ๗ ปีบ้าง ๗
เดือนบ้าง ๗ วัน บ้าง"
จากนั้นอาตมภาพก็นั่งสมาธิพิจารณาต่อไปว่า กายก็สักเพียงว่าแต่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เรียก กายานุปัสสนา และเวทนา สุขทุกข์
ก็ไม่ใช่เรา เรียก เวทนานุปัสสนา และจิตก็ไม่ใช่เรา เรียก จิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา ที่คิดพล่านกับจิตก็ไม่ใช่เรา เรียก ธรรมานุปัสสนา
เมื่อพิจารณาเสร็จก็เกิดความสลดใจขึ้นมา ว่าเราปฏิบัติเพื่อจะละกายอันเป็นมนุษย์ที่เจืออยู่ด้วยความทุกข์ เพื่อจะได้ความสุขเวทนาอันเกิดแก่ทิพสมบัติ
สุขนั้นก็มิใช่เราและของเราเสียแล้ว หรือจิตผู้จะเสวยความสุขก็ไม่ใช่เรา และไม่เป็นของเราเสียแล้ว และธรรมารมณ์ผู้จะรับรู้ซึ่งความสุขอันเราจะพึงได้
ก็ไม่ใช่เราและไม่เป็นของเราเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิปทาที่บำเพ็ญอยู่ด้วยความลำบากถึงเพียงนี้ เมื่อไรหนอจะเป็นคุณสมบัติอันจะพึงได้พึงถึง
เพราะว่ากายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ไม่ใช่เราและไม่เป็นของเราเสียแล้ว ตัวเวทนาคือความเสวยทุกข์ เสวยสุข
และอุเบกขาเวทนา ความเสวยในเวทนาทั้ง ๓ นี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเสียแล้ว ผลจะพึงได้อันเกิดแก่การรักษาศีล และเมตตาภาวนา จะพึงมีที่ไหนหนอ
พิจารณาไม่ตกลงก็เกิดความสลดใจมากขึ้น
พอดีสว่างรุ่งเช้าขึ้นก็เดินไปบิณฑบาต ขณะ เดินไปบิณฑบาตก็พิจารณาไปพลางว่า ทุกข์อันเกิดแต่ความรำคาญก็ปรากฏอยู่ที่เรา
สุขอันเกิดแต่ความชื่นใจก็ปรากฏอยู่ที่เรา หากสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อุเบกขาเวทนาก็ดี พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา
ทำไมหนอจึงปรากฏอยู่ในสันดานของข้าพเจ้า ไม่รู้สิ้นรู้สุดเช่นนี้ พอเข้าไปถึงบ้าน เผอิญนายดีผู้ใหญ่บ้านแกลงมาบอกว่า "คนเช่นคุณไม่รู้ว่าบ้าหรือ
คนพิกลอย่างหนึ่งอย่างใด จะอยู่อาศัยหมู่บ้านนี้นานไม่ได้ จงหลีกไปเถิด" พอกลับจากบิณฑบาต ฉันเสร็จ ก็เตรียมของหลีกไปในวันนั้น
เห็นเสือกินคน
เดินข้ามเขาไป ๒ ลูก ไปถึงดงตะเบิงนาง พอดีตอนเที่ยงรู้สึกหิวน้ำ ก็แวะลงไปในคลองกลางดงนั้น พอลงไปที่ท่าน้ำ เห็นเสือกัดบุรุษคนหนึ่ง
เสือกำลังดึงกัดกินแต่ต้นขาขวาเท่านั้น ก็ยืนพิจารณาว่า "เจ้ากรรมเอ๋ย กรรมเช่นนี้ เจ้าเคยทำหรือไม่ หากใช่กาลอันถึงพร้อมแล้ว ก็ตามยถากรรม
มิใช่กาลถึงพร้อมแล้ว คือไม่เคยทำเวรกันมาแต่ก่อน ก็ขอปฏิปทา ของข้าพเจ้าจงเป็นไปในศาสนา อย่าได้ขัดข้อง" พออธิษฐานเสร็จแล้วก็นั่งลงฉันน้ำ
ส่วนเสือก็กระโดดมาจากคนที่ตายอยู่นั้น ข้ามศีรษะขึ้นริมบึง
เมื่ออาตมภาพฉันน้ำเสร็จแล้ว ก็ขึ้นฝั่งคลองตามหลังเสือไป พอเสือมองเห็นก็วิ่งขึ้นหน้าไปก่อนประมาณ ๒๐ เส้น
เดินติดตามไปในไม่ช้าก็พบเสือตัวนั้นหมอบอยู่ ทำท่าจะตะครุบ จึงพิจารณาขึ้นว่า "หากเราทั้งสองเคยเป็นกรรมกันมาแล้วอย่างใด ก็จงเป็นเช่นนั้นเถิด
หากไม่เคยเป็นกรรมหรือเบียดเบียนกันแล้ว ก็จงอย่าได้เบียดเบียนกันเลย" อธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ตรงเข้าไปหาเสือประมาณ ๕ ศอก เสือกระโดดเข้าป่าไป
จึงเดินข้ามดงนั้นไป ประมาณ ๓ ทุ่มเศษก็พ้นจากดง
ทำผิดผีชาวข่า
ไปถึงหมู่บ้านชื่อ นาบันได เป็นหมู่บ้านของข่าซึ่งไม่มีศาสนา มองเห็นศาลเจ้าของเขา นึกว่าเป็นศาลาที่พักนอกบ้าน
ก็ขึ้นพักที่นั้นโดยไม่รู้การปฏิบัติของเขา จึงไปเอายางไม้เต็งจุดไฟขึ้นที่ศาลเจ้าของเขา ชาวบ้านเขามองเห็นก็ถือตะเกียงและหอก ดาบ หลาว แหลนต่าง ๆ
มาทำท่าจะทุบตีบ้าง จะฟันบ้าง จะแทงบ้าง แล้วพูดขึ้นไม่รู้ภาษากันได้แต่สั่นศีรษะเท่านั้น
เขาจึงไปตามล่ามมา เขามาถามเป็นภาษาลาวว่าจะไปไหน จึงได้บอกเขาว่าจะไปกรรมฐาน แต่คนนั้นบอกว่า "เจ้ามาอยู่ที่นี่ เจ้าจุดไฟผิดผีของพวกชาวบ้านแล้ว
เจ้าจงไปหาซื้อควายมาเลี้ยงผีเขาก่อนจึงไปได้" อาตมภาพบอกเขาว่าไม่มีเงิน แต่คนนั้นขอคลี่ดูย่ามและบาตรและสายคาดเอว เห็นไม่มีเงิน แกจึงขอมีดโกนกับผ้าสบง
ได้ยอมให้แต่ผ้าสบง และเขาให้ตัดผ้าสบงผืนนั้นออกเป็น ๑๖ ท่อน แล้วเขาก็แจกกัน
ในคืนวันนั้นจึงได้อาศัยอยู่นั้นตลอดรุ่ง พอสว่างตอนเช้าก็เข้าไปบิณฑบาต ก็มีเฉพาะแต่คนพูดภาษาลาวเขาใส่ให้ ได้ข้าวก้อนหนึ่งประมาณเท่าไข่เป็ด
จึงกลับไปฉันที่ศาลา เสร็จแล้วก็เดินต่อไปเข้า เขาส้มโรง ในวันนั้น
เรียนมนต์พระเจ้า ๕ พระองค์
ข้ามเขาไปได้ ๔ ลูก เลียบไปตามชายเขา พอประมาณ ๕ โมงเย็น มองหาที่พัก เผอิญมองไปเห็นสามเณรองค์หนึ่ง นั่งนับลูกประคำอยู่ เข้าไปถาม ไม่พูดด้วย
เป็นแต่เขียนหนังสือบอกว่า "ผมอยู่ เมืองหงสาวดีเที่ยวธุดงค์ไปกับอาจารย์ บัดนี้อาจารย์ตายเสียแล้ว ยังเหลือแต่ผมคนเดียว บัดนี้อายุผมได้ ๑๗ ปี
จะเที่ยวไปโดยไม่อาลัย (ในชีวิต) ผมชื่อเณรจวง" จึงพักอาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกันในคืนวันนั้นจนตลอดรุ่ง
พอสว่างรุ่งเช้าขึ้นมา สามเณรรูปนั้นจึงกวักมือเรียกอาตมภาพว่า "สามเณร ท่านจงเข้ามานี่" ครั้นอาตมภาพเข้าไปถึงสามเณรรูปนั้นจึงพูดว่า "ต่อไปนี้
บ้านมนุษย์อยู่ห่าง เมื่อท่านต้องการอาหารแล้ว รุ่ง เช้าขึ้น ท่านจงฟังเสียงชะนีมันร้อง เมื่อชะนีร้องมากชุกชุมที่ไหน ท่านจงเข้าไปที่นั้น
เพราะชะนีกินผลไม้เป็นอาหาร ท่านไปถึง เมื่อท่านต้องการ ท่านก็จะได้ฉันผลไม้นั้นเป็นอาหาร
" ว่าแล้วก็นั่งนิ่งอยู่ อาตมภาพจึงขอลาท่านไป สามเณรนั้นจึง พูดว่า "ท่านจะเดินทางต่อไป ท่านจงเรียนพระพุทธมนต์ (พระเจ้า) ๕ พระองค์กับผมก่อน
ท่านจะไปด้วยความสวัสดิภาพ" อาตมภาพถามว่า "พุทธมนต์นั้นอย่างไร" สามเณรจึงบอกว่า "นะ เมตตา โม กรุณา พุท ปรานี ธา ยินดี
ยะ เอ็นดู ท่านจงเจริญบ่อย ๆ ท่านจะปลอดภัย" จากนั้นอาตมภาพจึงลาเณรแล้ว เดินทางต่อไปอีก ๓ วัน ยังไม่พบบ้านคน ฉันแต่ผลไม้เป็นอาหาร
◄ll กลับสู่ด้านบน
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
kittinaja - 6/10/08 at 19:59
ธุดงค์พบคนป่าเปลือยกาย
วันคำรบ ๔ เดินไปพลางมองขึ้นไปบนยอดภูเขา เห็นต้นยาใหญ่ มองไกล ๆ คล้ายกับเจดีย์ เพราะฤดูนั้นเป็นฤดูใบยาร่วงเป็นพัก ๆ คล้ายกับต้นมะพร้าว
แต่ต้นมันใหญ่ ปลายมันเล็ก คล้ายกับยอดเจดีย์ อาตมภาพจึงขึ้นไปดู เห็นใบพร้อมทั้งเปลือก เข้าใจแน่ได้ว่าเป็นยาแท้ จึงเก็บเอาใบแห้งมาสูบดู
ก็เป็นรสเมาอย่างยาที่มีอยู่ตามบ้านคน อาตมภาพจึงเอามีดโต้ เล่มเล็ก ๆ ที่ติดย่ามไปนั้นบาก (ถาก) ต้นยาได้สองกีบ (ชิ้น) ก็ถือไป
จวนค่ำก็ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งมี ๖ หลังคาเรือน ไม่รู้ชื่อหมู่บ้านเพราะคนเหล่านั้นเป็นข่าไม่รู้ภาษากัน อาตมภาพจึงแวะเข้าจำวัด อาศัยเงื้อมหินที่ชายเขา
รุ่งเช้าก็เข้าไปบิณฑบาต เห็นคนแก่คนหนึ่งนั่งหลามข้าวโพดสาลีอยู่ ผ้าก็ไม่นุ่งห่มเลย อาตมภาพจึงไปยืนที่หน้าบ้านแก แกก็คว้าไม้ท่อนฟืนตรงเข้ามาหา
ทำท่าจะตีอาตมภาพ อาตมภาพมองเห็นเช่นนั้นก็หลับตายืนตรงอยู่กับที่ ไม่ช้าแกตรงเข้ามา จับชายจีวรแล้วพูดขึ้นแต่ไม่รู้ภาษา
อาตมภาพจึงตรงเข้าจิ้มมือลงในกระบอกหลามข้าวโพด แกก็เอามาให้หมดทั้งกระบอก อาตมภาพก็เลี่ยงไปนั่งฉันอยู่ ณ ลานหินทิศตะวันออก คนแก่คนนั้นแกก็ตามไปดู
แล้วก็คลานเข้ามาจับฝ่าเท้าของอาตมา แสดงความรักใคร่ แกหัวเราะขึ้นแล้วก็กลับเข้าไปในบ้าน
เรียกเพื่อนบ้านมาดูทั้งหญิงทั้งชาย ล้วนแต่ไม่มีผ้านุ่งห่มทั้งนั้น ผลที่สุดผู้หญิงก็จะเข้ามาใกล้ ๆ จับขาอย่างตาแก่คนนั้น
อาตมภาพจึงโบกมือห้าม แล้วตรงไปจับเอาแต่มือผู้ชายด้วยกันให้เข้ามา ใกล้ ๆ แล้วโบกมือห้ามผู้หญิงไม่ให้เขาจับ ผู้ชายเหล่านั้นก็รู้นัย
เขาจึงห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้ามาใกล้และจับตัว
เจริญอานาปานัสสติ
ตอนบ่าย อาตมภาพก็เข้าไปอาศัยอยู่เงื้อมหินเป็นที่อาศัยนอน คนเหล่านั้นก็ตามไปดู ที่นั้นมีร่มไทร และต้นตะเคียน มีบ่อน้ำ ใบไม้สดชื่น
อาตมภาพจึงพิจารณาว่า ที่นี้จะเป็นที่สบายเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ตกลงพักแรมทำความเพียรเจริญอานาปานัสสติอยู่ที่นั่น ๑๙ วัน
แล้วจึงเดินข้ามเขาไปอีกวันจนค่ำ
ไปถึงหมู่บ้านข่าแห่งหนึ่งมีบ้านประมาณ ๙ หลังคาเรือน ซึ่งเป็นข่าตะโอ่ย เข้าไปตั้งอยู่ใหม่ มีข่าสองคน พอส่งภาษาลาวได้มาถามว่า "เจ้าสิไปไส"
ถ้าคำไทยว่า "คุณจะไปไหน" อาตมภาพตอบว่า "จะไปเที่ยวกรรมฐาน" แกจึงบอกว่า "ต่อไปข้างหน้านี้ บ้านคนห่างและส่งภาษากันไม่รู้เรื่อง อย่าไปดีกว่า"
ตกลงอาตมภาพก็ไปหาถ้ำอาศัยจำพรรษาอยู่ที่นั้น ก็มีคนสองคนนั้นใส่บาตรให้ฉัน อาหารบิณฑบาตเป็นข้าวโพดหลามด้วยกระบอกไม้
อาตมภาพก็อาศัยจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนั้น บำเพ็ญเพียรเพ่ง อาโปกสิณ คือเพ่งน้ำเป็นอารมณ์ บำเพ็ญอารมณ์นี้เป็นที่สบายใจ
อยู่จำพรรษาในที่นั้นนับว่าปลอดภัย ไม่มีอันตรายมาเบียดเบียน
เรียนคาถาสำเร็จ
ตอนออกพรรษาแล้ว ๕ วัน จึงเที่ยวต่อไปอีก ข้ามเขา ๓ ลูกจวนจะค่ำยังไม่พบบ้านคน อาตมภาพก็แวะขึ้นเขา หาน้ำฉันเพื่อจะพักจำวัดที่นั้นด้วย
เผอิญไปพบพระหลวงตาองค์หนึ่ง หาบตะกร้าใหญ่เที่ยวเก็บผลมะเดื่ออยู่หน้าถ้ำ อาตมภาพจึงถามท่านว่าอยู่ที่ไหน ท่านตอบว่า "ผมอยู่ในจักรวาล"
อาตมภาพจึงตะกายขึ้นไปพักที่ถ้ำ วางบาตรไว้แล้วไปสรงน้ำ เสร็จกลับมา พระหลวงตาองค์นั้นก็มาพักที่ถ้ำแห่งเดียวกัน จำวัดด้วยกันในถ้ำนั้น
ท่านเรียกอาตมภาพ ไปเรียนคาถาด้วย ท่านบอกว่า "คาถาสำเร็จ" คือ จะปรารถนาอะไรก็สำเร็จตามประสงค์ใจความว่า "โอม อุ อะ มะ นะโม พุทธายะ สะ
สุมัง" ท่านบอกว่า "ให้เณรเจริญเป็นนิตย์ เณรจะสมหวังดังความตั้งใจ ในชาตินี้และชาติหน้า" พออาตมภาพเรียนจนจำได้แล้ว ท่านก็ลงไปในเวลา ๗ ทุ่ม (คือ
ตี ๑)
ในกลางคืนวันนั้น อาตมภาพถามว่า "ท่านจะไปไหน" ท่านตอบว่า "จะไปเที่ยวในจักรวาล" อาตมภาพถามว่า "ท่านชื่ออะไร" ท่านตอบว่า "ผมชื่อพระ"
แล้วก็เดินเรื่อยไปตามชายเขา อาตมภาพจำวัดอยู่ที่นั้นจนสว่าง มีงูตัวหนึ่งโตประมาณ ๑ จับ (กำมือ) เลื้อยมาเอาหางสอดเข้าที่น่องของอาตมภาพ แล้วรัดจนแน่น
ไม่นานก็เอาหางออกมาแหย่ไปตามตัวตามรักแร้อยู่นาน สว่างขึ้นมันจึงคลายตัวออก แล้วเลื้อยเข้าไปในถ้ำนั้น
◄ll กลับสู่ด้านบน
เรียนรู้วิธีหาอาหารในป่า
จากนั้นอาตมภาพก็ลุกขึ้น ฟังเสียงชะนี ชะนีร้องมากที่ไหนก็ไปที่นั้น เพื่ออาศัยฉันผลไม้เป็นอาหาร เพราะว่าป่าดงเหล่านี้มีผลไม้ครบทุกชนิด เช่น กล้วย
ขนุน ส้ม ฝรั่ง มะเดื่อ หรือส้มจีน มีมากมายหลายชนิด ชะนีกินไม่หวัดไม่ไหว อาตมภาพก็เก็บผลไม้นั้น ฉันเป็นอาหาร
และเดินต่อไปอีก ๓ คืน ยังไม่พบบ้านคน ไปพบคนจำพวกหนึ่ง ไม่มีบ้านไม่มีเรือน อยู่ อาศัยตามถ้ำตามเขา กินผลไม้เปลือกไม้เป็นอาหาร ไม่ห่มผ้าห่มผ่อนเลย
ส่วนลูกอ่อนของเขา เอารังผึ้งที่มันร้างแล้วมาห่มให้ และปูให้เด็กนั้นนอน พอไปพบเข้า เขากลัวแตกตื่นวิ่งหนี ทิ้งไม้สีไฟและเครื่องมือใช้สอยและรังผึ้งร้าง
อาตมภาพก็เข้าไปตรวจดูเห็นแน่ชัดว่า พวกนั้นเขากินผลไม้และเปลือกไม้เป็นอาหาร
พระเณรประหลาด
อาตมภาพก็เดินข้ามเขานั้นไปอีกเป็นเวลา ๓ คืน ถึงเมืองพาบัง มีวัด เจดีย์ โบสถ์และศาลา มีพระศาสนาอย่างเมืองเรา แต่พระเณรเมืองนั้นฉันข้าวค่ำ
และจับต้องสตรีในอาวาสไม่เป็นอาบัติ จับต้องสตรีนอกอาวาสจึงเป็นอาบัติ ดังนั้นอาตมภาพจึงพักอยู่ ที่นั้น ๑๖ วัน ถูกเจ้าอาวาสขับไล่ เพราะเห็นว่าแข่งดีเขา
เพราะฉันหนเดียว ประเทศนั้นเป็นคนยาง มีคนลาวเมืองหล่มคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่น พอส่งภาษากันได้
อาตมภาพจึงหนีจากที่นั้น เดินข้ามเขามาอีก ๒ คืน ไปพบบ้านหนึ่งชื่อ บ้านป่าเหล็ก มี ๔๐ หลังคาเรือน เป็นคนพวกส่งภาษาลาวได้ แต่ไม่มีวัด
พวกนี้ทำไร่ข้าวโพดกินเป็นอาหาร และมีบึงน้ำใหญ่ ในระหว่างดงป่าไม้ใกล้กับตีนเขา
สุขทุกข์อยู่ที่ใจ
อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า ที่นี้เป็นที่จะบำเพ็ญ สมณธรรมดี อาตมภาพจึงพักอยู่ที่นั้นอีกประมาณ ๑๓ เดือน ตกลงจำพรรษาที่นั้นอีกพรรษาหนึ่ง
บำเพ็ญใจให้นิ่งอยู่ที่ลมสุดคือ ที่ว่างตรงสะดือ รู้สึกว่าได้ความสบาย เพราะจิตนิ่งอยู่ที่เดียว ได้ความ ว่า ทั้งโลกนี้เป็นทุกข์
เพราะใจทำงานคือคิดไม่หยุด คนทั้งโลกนี้ก็เป็นทุกข์เพราะใจเท่านั้น จะเป็นสุขก็เพราะใจเท่านั้น จิตนี้นำมาซึ่งอารมณ์ เป็นที่พอใจก็เป็นสุขขึ้น
เมื่อจิตนำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่ไม่พอใจ ก็เป็นทุกข์ขึ้นเท่านั้น
สาธุชนผู้ปฏิบัติทางใจ มีสติเป็นหลักฐานพอเป็นที่อาศัยจิตให้จิตเฉยอยู่ มิให้จิตนำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่พอใจ และอารมณ์ไม่เป็นที่พอใจ
ดักจิตเฉยอยู่ที่อารมณ์อันเดียวทั้งกลางวันและกลางคืน จิตไม่นำมาซึ่งอารมณ์ทั้งสอง ทั้งส่วนเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ไม่มีแล้ว ทุกข์จะมาทางไหน
เมื่อจิตเฉยอยู่ที่เดียวนั้น ได้ศัพท์ ว่า วิหรติ แปลว่า ย่อมอยู่สบาย "สบาย" ศัพท์นี้ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เฉยๆ นั่นเอง ตกลงสถานที่
ที่อาตมภาพบำเพ็ญเพียรโดยวิธีดักจิตอยู่นี้ชื่อ ถ้ำ นางแพง
เจอสัตว์ประหลาด
อยู่พอพ้นเขตเข้าพรรษาแล้ว ก็เที่ยวไปตามภูเขา อีกประมาณ ๕ วัน ไปถึงภูเขาลูกหนึ่งชื่อ ภูเขา อ่างเงิน
เพราะมีหนังสือจารึกแผ่นศิลาเป็นตัวลาวอ่านได้ความว่า "นี้ภูเขาอ่างเงิน เป็นที่พักของพระองค์เจ้าธิดาเมต" และที่นั้นมีบึงน้ำใหญ่ไหลออกมาจากภูเขา
แต่น้ำนั้นฉันไม่ได้เพราะมีกลิ่นคาวคล้ายกับน้ำล้างไส้เดือน ถึงจะล้างมือล้างเท้าก็ ติดมือติดเท้า พอได้กลิ่นก็ทนอาเจียนไม่ได้
อาตมภาพเห็นน้ำเหม็นเช่นนั้น จึงพักพิสูจน์ดูว่า น้ำนี้เป็นเพราะอะไรจึงคาวนัก นั่งเข้าสมาธิอยู่ที่นั้น ประมาณ ๕ โมงเย็น เสียงน้ำหยุดไหล
ลืมตาขึ้นมาก็ไม่เห็นน้ำไหลจริงๆ ไม่ช้าเห็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ตัวคล้ายกับปลาไหลเลื้อยออกมาจากรูนั้น ใหญ่ประมาณ ๔ จับ (กำมือ) ยาวประมาณ ๑๒ ศอก
มีสีแสดเหมือนอิฐบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง สีน้ำเงินบ้าง เลื้อยลงไปสู่บึงที่มีในภูเขานั้น
◄ll กลับสู่ด้านบน
พบสาธุวันดีผู้ทรงฤทธิ์
ต่อจากนั้น อาตมภาพจึงเดินขึ้นเขา ไปหาถ้ำที่สำหรับจำวัด เพราะเดือนมืดจะเดินกลางคืนก็เห็นจะลำบาก พอขึ้นไปบนหลังเขา ไปพบพระองค์หนึ่งชื่อ
สาธุวันดี ท่านบอกว่า ท่านอยู่เมืองหลวงพระบาง ขณะนั้นอายุของท่านองค์นั้นกำลัง ๒๕ ปี ท่านถามอาตมภาพว่า "เณรเที่ยวมานานแล้ว ได้คุณวุฒิอะไรบ้าง"
อาตมภาพก็เล่าตามเรื่องที่เป็นมาของตนให้ท่านฟัง
ท่านจึงแนะนำว่า "บุคคลผู้บำเพ็ญเพียร หากรู้ว่าบุพเพ (อดีตชาติ) ของตนเป็นมาแล้วอย่างไร คนนั้นจะมีความเพียรก้าวหน้าไม่ท้อถอย
เพราะว่าชาติที่เป็นมาแล้ว สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง เมื่อเห็นเช่นนี้ว่า
ความเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ในโลกมีภพอันเป็นไปปรกติ ผู้นั้นจึงกล้าต่อความเพียรนั้นอีกในโลกนี้ เหตุนั้นผู้เห็นบุพเพนิวาสานุสสติแล้ว
จึงมีความเพียรก้าวหน้าไม่หยุด ผู้บำเพ็ญทั้งหลายเมื่อชำนาญการดักจิตแล้ว ควรบำเพ็ญปัญญาจักษุอันนี้ให้เจริญขึ้น จึงจะไม่ท้อถอยต่อการบำเพ็ญ"
อาตมภาพจึงถามท่านว่า "ปฏิบัติมาแค่ผม ควรบำเพ็ญแล้วหรือยัง" ท่านตอบว่า "การดักจิตของเณรก็ชำนาญบ้างแล้ว แต่ขาดปัญญาจักษุ
เหตุนั้นควรอบรมปัญญาจักษุให้กล้าก่อน จึงควรต่อไป" จากนั้นท่านก็แนะนำทางปัญญาจักษุ พอควร แล้วท่านจึงแสดงฤทธิ์ของท่านบางสิ่ง บางอย่าง เช่น หายตัว
คือ ขณะนั้นไปเที่ยวบิณฑบาตด้วยกันกับอาตมภาพ อาตมภาพเดิน ตามหลังท่าน ท่านเดินก่อน ทายกเขาไม่เห็นท่าน บิณฑบาตก็ไม่ได้
ได้เฉพาะแต่อาตมภาพผู้เดินตามหลัง
ที่ถ้ำนั้นมีบ้านอาศัย บิณฑบาต ๕ หลังคาเรือน ทำไร่ข้าวเป็นอาชีพ เป็นคนชาติพวน อาตมภาพพักศึกษากรรมฐานกับ ท่านองค์นั้นอยู่ ๑๖ วัน
จากนั้นออกเดินตามคลองชายฝั่งเป็นถนน คือท่านเดินไต่หลังน้ำไป เป็นของสุดวิสัยของอาตมภาพที่จะตามได้ จึงเป็นอันว่าหมดหนทางจะตามท่านไปด้วย
เจ้าคณะแขวงเมืองลาวขับไล่
อาตมภาพก็เดินไปตามเขาอีก ๒ วัน ไปถึงเมืองวัง ไปพักอยู่ ถ้ำเต่างอย ไปเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านแดง ทางประมาณ ๑๐๐ เส้น ที่นั้นมีบ่อน้ำ
เป็นที่สบายแก่การบำเพ็ญสมณธรรม อาตมภาพพักทำความเพียร เพ่งกสิณอาโปธาตุ บ้าง บางทีเพ่ง อากาศธาตุ บ้าง บำเพ็ญอยู่ที่นั้น ๒ พรรษา เกิดเรื่อง
อธิกรณ์ ๔ ครั้ง คือไปอยู่ทีแรก เจ้าคณะแขวงเรียกเข้าไปในเมือง ตรวจดูใบสุทธิ อาตมภาพบอกว่าไม่มี อุปัชฌายะ เจ้าคณะแขวงบอกว่า
"เณรต้องเข้ามาอยู่วัดด้วยหมู่คณะ อย่าไปอยู่ถ้ำอยู่เขาคนเดียว ไม่สมควร"
อาตมภาพบอกว่า "ผมบำเพ็ญกรรมฐาน ขอใต้เท้าจงให้โอกาสแก่ผมบ้าง" ท่านตอบว่า "บำเพ็ญอะไรข้าไม่รู้ ถ้าเป็นพระเณรแล้ว ควรเข้าไปอยู่ในวัดทั้งนั้น"
อาตมภาพได้ยินคำนี้นึกขึ้นได้ว่า "ที่นี้จะเป็นอุปสรรคแก่การบำเพ็ญสมณธรรม แต่ถ้าเราทนอยู่ได้ เราก็จะได้บำเพ็ญขันติบารมี" เมื่อนึกขึ้นมาเช่นนี้
อาตมาจึงกราบลาท่านเพื่อจะออกไปอยู่ถ้ำตามเดิม
ท่านบอกว่า "พรุ่งนี้จะต้องเข้าอยู่วัดนะ อย่าไปอยู่ป่าอยู่เถื่อนตามลำพังของตน เพราะเป็นเณรต้องอยู่ในบังคับของพระ"
อาตมภาพก็นิ่งไม่พูดออกจากวัดของท่าน ก็กลับเข้าไปอยู่ถ้ำตามเดิม อธิษฐานไม่พูด จะบำเพ็ญแต่สมณธรรมอย่างเดียว ใครจะว่าอะไร ไม่พูดด้วย
ตั้งหน้าบำเพ็ญความเพียรอย่างเดียวอีก ๑๐ กว่าวัน เจ้าคณะแขวงใช้พระให้ไปบอกเข้ามาอยู่วัด อาตมภาพก็นั่งทำสมาธิเรื่อยไป ไม่พูดด้วย
พระที่ไปถ้ำมาบอกแก่เจ้าคณะแขวงว่า "เณรเอาแต่นั่งสมาธิหลับตาอยู่ ไม่พูดด้วย" วันหลังต่อมา เจ้าคณะแขวงให้นายตำบล (กำนัน) ไปไล่
"ถ้าไม่ไปต้องไปหาเจ้าคณะแขวงในวันนี้"
อาตมภาพก็เข้าไปหาเจ้าคณะแขวงในเมือง แต่ไม่พูด ท่านถามว่าจะไปไหนก็ไม่พูด จะเข้ามาอยู่ในอาวาสด้วยไหม ก็ไม่พูด ท่านถามอะไรๆ ก็ไม่พูด
ท่านดุด้วยคำหยาบคายหลายอย่างหลายประการ หนักเข้านั่งสมาธิอยู่ที่นั้นตลอดวันยันรุ่ง ดักจิตอยู่ ไม่ให้จิตตามเอาอารมณ์อะไรทั้งหมด เข้ามาสิงอยู่ภายในใจ
รู้สึกสบาย และทำความเข้าใจว่า
คำพูดอะไรทั้งหมดเป็นสักเพียงแต่เสียง เป็นธาตุอันหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นสักแต่ว่าเสียง เสียงอันใดเป็นที่พอใจของตน
ก็ว่าเสียงนั้นดี เสียงอันใดไม่เป็นที่พอใจของตน ก็ว่าเสียงชั่ว ที่จริงเสียงนั้นจะได้เป็นรูปเป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย ก็หามิได้
ตกลงทั้งโลกนี้จะสงัดจากเสียงไม่มี เพราะหูเรายังมีอยู่ เข้าบ้านก็เสียงคน ออกป่าดง ก็เสียงสัตว์ เช่น อยู่ป่า สัตว์บางชนิดร้องเสียงเพราะ
เป็นที่พอใจเรา ก็ว่าเสียงดี บางทีเสียงสัตว์บางตัวร้องขึ้น ไม่เป็นที่พอใจ เราก็ว่าเสียงนั้นชั่วร้าย ผลที่สุดลมพัดต้นไม้เสียงออดแอดซะนิดหน่อย
เป็นที่พอใจน่าฟัง ก็ว่าเสียงนั้นดี หากพายุมันพัดมาแรง เสียงอึกทึก ครึกโครม เรากลัวก็ว่าเสียงนั้นร้ายหรือชั่ว
ที่จริงเสียง หรือหูเท่านั้นเป็นไปตามธรรมดาของโลก เช่น หูถ้าเสียงดังขึ้น ไม่ฟัง ก็ได้ยิน หรือเสียงดีหูไม่ได้ต้องการฟัง มันก็ดังขึ้นเอง
เหตุนั้นมิเป็นการควรละหรือที่เรา จะทำโทษหูที่ได้ยินและเสียงที่ดังขึ้น อันเป็นไปตามธรรมดาวิสัยของโลก
◄ll กลับสู่ด้านบน
ฝันเห็นเทวดา
เมื่ออาตมภาพพิจารณาได้เช่นนี้ ก็มีความอิ่มอกอิ่มใจ มิได้โศกเศร้าเสียใจในกิริยาที่ท่านขู่เข็ญ ดุดันต่างๆ ไม่ช้าอาตมภาพก็ไปพักจำวัดอยู่ที่โบสถ์
หลับไปฝันเห็นเทวดาเหาะมาทางอากาศ มาบอกอาตมภาพว่า "ดูกรเจ้าสามเณร จะมีผู้มาขัดขวางต่อปฏิปทาของท่าน อย่างน่าพิศวงใจ"
อาตมภาพตื่นนอนขึ้นมา แล้วก็พิจารณาว่า "อะไร จะขัดขวางข้อปฏิปทาของข้าพเจ้ายิ่งกว่าความตายไม่มี แม้แต่เสือเคยทำท่าจะกัด
ข้าพเจ้าก็สละชีวิตมาหลายหนแล้ว มิได้ทอดธุระเลยว่า จะไม่ปฏิบัติศีลธรรมต่อไปอีก นี้มนุษย์เหมือนกัน ที่สุดท่านก็คงฆ่าให้ตายเท่านั้น
ชีวิตนี้ถึงไม่มีคนฆ่าก็จะตายเองอยู่แล้ว ส่วนความดีคือศีลธรรม เราไม่ปฏิบัติเอาก็ไม่ได้ ตกลงเราจะหวงชีวิตที่จะตายเองอยู่เปล่าๆ มาละศีลธรรมอันเป็นที่พึ่ง
ทั้งในภพนี้และภพหน้า มิเป็นการควรเลย"
นิ่งเสียตำลึงทอง
เมื่ออาตมภาพตกลงเช่นนี้แล้ว ก็ออกจากโบสถ์ เข้าสู่ถ้ำที่อยู่ตามเดิม บำเพ็ญเพียรพิจารณา อนัตตา ธรรม เป็นลำดับไป มิได้เพ่งกสิณอย่างเดิม
โดยเหตุว่าปัญญาเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากอุปสรรคเช่นนั้น จะเป็นอันตรายแก่ข้อปฏิบัติ บำเพ็ญอยู่ที่นั้นตลอดฤดูแล้ง ต่อมาฤดูฝนจวนเข้าพรรษา
ญาหลวงเมืองวัง ไทยเราเรียกนายอำเภอ ต้องการอยากพบสามเณรกรรมฐานที่ไม่พูด อยู่ถ้ำเต่างอย จึงใช้ปุลิศ (ไทยเรียกตำรวจ)
ไปนำตัวของอาตมภาพไปที่ว่าการอำเภอ แล้วซักไล่ ไต่ถามด้วยอรรถด้วยธรรม เป็นต้นว่า ศีล ๑๐ กรรมบถ ๑๐ เหล่านี้เป็นต้น และกรรมฐาน ๔๐ คืออะไรบ้าง
อาตมภาพก็นั่งพิจารณาว่า คนเช่นนี้มิใช่ผู้ถามเพื่อปฏิบัติ มาถามเพื่อทดลองเล่นเท่านั้น เมื่อจะกล่าวแก้
หรือก็ไม่เห็นประโยชน์แก่ผู้มาถามด้วยความประมาท เช่นนี้ ทั้งเราก็เปล่าทั้งนั้น ก็คงเป็นสักเพียงแต่จะพูด ให้เขาเห็นดีในตนเท่านั้น
ตกลงดีหรือชั่วเราก็ปฏิบัติเอาเท่านั้น จะได้มาจากคำพูดให้ผู้อื่นเห็นดีก่อนจึงจะดีก็หามิได้ เมื่อพิจารณาเช่นนี้ อาตมภาพก็นั่งนิ่ง ไม่พูด
นายอำเภอแกก็ว่า คนเช่นนี้จะเป็น พระเป็นเณรอย่างไรได้ ทั้งใบ้ทั้งหนวกทั้งบ้า
อาตมภาพก็พิจารณาขึ้นทันที ทักท้วงจิตของตนว่า นี้เขาว่าใคร จิตรับว่า เขาว่าให้ธาตุ ๔ คือ รูป เมื่อไม่มีธาตุ ๔ คือ รูปนี้ เราก็ไม่เห็น เขาก็ไม่ว่า
เพราะข้าพเจ้า คือ จิต ไม่มีตัว เขาก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็น เขาจะว่าใคร หูเท่านั้นเป็นผู้ได้ยิน เขาดูถูกก้อนธาตุ เขาไม่ได้ดูถูกใจ เพราะใจไม่มีตัว
เขามองไม่เห็น เขาจะดูถูกได้อย่างไร ผู้ที่ว่าเขาก็คงมองเห็นก้อนธาตุคือหน้าตานี้เป็นเรานั้นล่ะ จากนั้นเขาจึงว่า เขามองเห็นก้อนธาตุ ๔ เขาก็ว่าไป
ตามความพอใจของเขา จะยุ่งอะไรนัก อาตมภาพก็หลับตาลง นั่งขัดสมาธิขึ้นในทันใด อยู่อย่างนั้นทั้งวันตลอดค่ำ
พอสว่างก็ออกไปนั่งอยู่ที่วัด มีคนเขาหาข้าวมาให้ฉัน อาตมภาพฉันแล้วก็กลับไปสู่ถ้ำตามเคย บำเพ็ญเพียรพิจารณาวิปัสสนาภูมิตั้งต้นแต่ขันธ์ ๕ เป็นต้นไป
อยู่จนจวนวันเข้าพรรษา
◄ll กลับสู่ด้านบน
แสร้งทำเป็นบ้า
เข้าพรรษาแล้ว ๒ วัน ญาหลวง คือนายอำเภอเมืองวัง จึงใช้ปุลิศคือตำรวจไปเรียกอาตมภาพ ไปยังที่ว่าการอำเภออีก พอไปถึงแกสั่งว่า "เณรจง
เข้าจำพรรษาที่วัดเดิมกับพระทั้งหลายได้เป็นการดี ได้ยินไหม" อาตมภาพได้แต่ยิ้มเท่านั้น ไม่พูดด้วย แกก็หัวเราะแล้วว่า "คนพูดได้ยินกันอยู่ ไม่ตอบกัน
ให้ได้คำ ก็สุดเรื่องเท่านั้น"
นายอำเภอบอกต่อไปว่า "การอยู่เช่นนั้น มันผิดต่อการปกครองบ้านเมือง เหตุนั้น ขอเจ้าสามเณรจงกลับไปอยู่อาวาสตามเดิม"
พูดไปอย่างไรอาตมภาพก็นั่งหลับตาขัดสมาธิตามเคย แกจึงบอกปุลิศคือตำรวจว่า "เณรอวดดี เอาแต่หลับตาเท่านั้น จงเอาไปขังไว้ที่ห้องขังสัก ๒-๓ วัน
ดูสิจะใช่คนบ้าหรือคนดี"
จากนั้นปุลิศก็จับมืออาตมภาพ พอไปยังห้องขังแล้วขังไว้ อาตมภาพก็นั่งสมาธิไปตามเคย แล้วพิจารณาว่า อุปสรรคเกิดขึ้นมาเช่นนี้
เขาขังเราครั้งนี้เพื่อจะสังเกตว่าเราบ้าหรือคนดี ตกลงในใจว่าควรทำตนเป็นคนบ้าเสียดีกว่า เพื่อป้องกันความปลอดภัยแก่ปฏิปทาของตน
เมื่อเขาเห็นว่าเราเป็นบ้าแล้ว เขาจะปล่อยเราตามเรื่อง
จากนั้นอาตมภาพก็ทำเหมือนคนบ้า พูดคนเดียวบ้าง หัวเราะขึ้นคนเดียวบ้าง เมื่อเขาเอาอาหารมาให้ พูดกับถ้วยชามไปตามเรื่อง
ปุลิศคือตำรวจได้เห็นอาการเช่นนั้น ก็นำความนั้นไปบอกแก่นายอำเภอว่าบ้าแน่นอน จะเอาเรื่องกับคนบ้าก็จะเสียประโยชน์เปล่าๆ แทงในบัญชีว่าบ้าก็แล้วกัน
ปล่อยไปตามเรื่อง จากนั้นเขาก็ปล่อยอาตมภาพ อาตมภาพก็กลับไปอยู่ที่ถ้ำตามเคย แล้วก็ทำเป็นคนดีแต่ไม่พูด
ต่อแต่นั้นไปคนนอกเมืองในเมืองบางคนก็ว่าบ้า บางคนก็ว่าไม่ใช่บ้า แต่ส่วนมากว่าไม่บ้า บ้าทำไมจะประพฤติศีลธรรมเรียบร้อยนัก
มีคนไปหารู้จักห่มผ้าสบงทรงจีวร ทำท่านั่งรับแขกโดยเรียบร้อย แต่ไม่พูดเท่านั้น ต่อมาในกลางพรรษา มีคนมาทำบุญด้วย ๑๐ กว่าคน คนหนึ่งแสดงตนว่า
"ผมเชื่อว่าท่านไม่ใช่คนบ้า โดยเหตุที่ท่านรักษาศีลธรรม และมรรยาทเรียบร้อย ทั้งนั่งทั้งเดินและเวลาเที่ยวเดิน บิณฑบาตก็มีอินทรีย์สงบเสงี่ยม
ข้าพเจ้าอยากทราบความจริง ขอผู้เป็นเจ้าจงแก้ความสงสัยแก่ข้าพเจ้า"
เณรไม่บ้า
อาตมภาพก็ได้แต่ยิ้มๆ เท่านั้น แกก็น้อมอาหารบิณฑบาตถวาย อาตมภาพก็รับ ฉันเสร็จแล้ว ก็ยถาสัพพี โมทนาให้พรแก่โยมคนนั้น แล้วอาตมภาพจึงเตือนโยมคนนั้นว่า
"โยมเอ๋ย จงรู้โดยเหตุมีประมาณเท่านี้ก่อน ต่อไปจะรู้แน่ชัดกว่านี้ในพรรษาที่ ๒ อาตมาจะจำพรรษาบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นี้ประมาณ ๒ พรรษาเท่านั้น"
ว่าแล้วอาตมภาพก็นั่งนิ่ง โยมแก่บอกว่า "โยมเฒ่าหมดความสงสัยว่าบ้าแล้ว เชื่อว่าไม่บ้า โยมเฒ่าขอเป็นโยมอุปัฏฐาก จนกว่าเจ้าสามเณรจะหลีกไป"
จากนั้นโยมแก่คนนั้นแกก็อุตส่าห์ไปใส่บาตร และส่งสำรับทุกวัน
ต่อจากนั้น มีพวกคณะญาติของโยมคนนั้น มีความเชื่อถือมากขึ้นว่าท่านไม่บ้า ท่านเที่ยวบำเพ็ญบารมีของท่าน ต่างคนก็ต่างมีความเชื่อถือมากขึ้น
ได้มาทำบุญวันละหลายๆ คน จนตลอดพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว นายอำเภอได้ข่าวว่ามีคนไปทำบุญ ด้วยวันละมากๆ จึงนำคนเหล่านั้นไปสอบสวนที่ที่ว่าการว่า
"พวกเธอทั้งหลายไปเชื่อสามเณรบ้าด้วยเหตุไร" โยมแก่คนนั้นตอบนายอำเภอว่า "เณรไม่ใช่บ้า เณรเที่ยวบำเพ็ญบุญบารมีในศาสนานี้"
นายอำเภอจึงให้คนนำตัวของอาตมภาพไปยังที่ว่าการอีก
เมื่อไปถึงคราวนี้ นายอำเภอทำการปฏิสันถาร มีน้ำฉัน และหมากพลู บุหรี่ แล้วอาราธนาศีลขึ้น อาตมภาพก็ให้ศีลแก่พวกข้าราชการหลายคนซึ่งอยู่ในที่ว่าการนั้น
เสร็จแล้วแกจึงอาราธนาเทศน์ต่อไป อาตมภาพพิจารณาอยู่ในใจว่า
"หากเราแสดงธรรมในเวลานี้ บางคนก็จะเชื่อถือมากขึ้น บางคนก็จะนินทาและเบียดเบียนว่าเราอวดรู้อวดฉลาด คนที่เชื่อถือก็จะเป็นภัยแก่ความสงบอย่างหนึ่ง
คือจะมาคบหาสมาคม เพื่อฟังเทศนาบ่อยๆ เราก็จะมัวแต่รับแขก มิได้ทำความสงบ ส่วนผู้ที่นินทาว่าเราอวดรู้อวดฉลาด
เขาก็นำเรื่องนี้ไปเล่าโดยความไม่พอใจของตนต่างๆ ว่า เราแสดงตนเป็นคนมีบุญอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะถูกไต่สวน เป็นอันตรายแก่ความสงบอีกอย่างหนึ่ง
พิจารณาเช่นนี้แล้วอาตมภาพก็นั่งนิ่งอยู่ มิได้พูด อะไร"
นายอำเภอบอกว่า "นิมนต์แสดงธรรมครับ" อาตมภาพพูดว่า "การแสดงธรรมนี้ อาตมภาพของดไว้ ตอนพรรษาที่ ๒ เมื่อออกพรรษาที่ ๒ แล้ว ๓๐ วัน
นั่นแหละอาตมภาพจึงจะแสดงธรรมที่ถ้ำเต่างอย เมื่อท่านทั้งหลายมีความประสงค์จะฟังแล้วจงไปฟังที่นั้น" จากนั้นอาตมภาพก็นั่งนิ่งมิได้พูดต่อไปอีก
นายอำเภอแกนิมนต์อีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า "ขอท่านจงแสดงเดี๋ยวนี้" อาตมภาพก็หลับตานั่งขัดสมาธิเท่านั้น มิได้พูดอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง คนก็ไปกันหมด
อาตมภาพก็กลับคืนสู่ถ้ำตามเคย บำเพ็ญสมณธรรมต่อไปจนตลอดฤดูแล้งและฤดูฝน นับว่าได้รับความสงบทั้งภายนอกและภายในใจต่อไป จนออกพรรษา รวมเป็นพรรษาที่ ๔
แห่งการออกเที่ยวธุดงค์คราวนี้
แสดงโวหารเทศนา
นับแต่ออกพรรษาแล้ว เดือน ๑๒ วันเพ็ญ ก็มีผู้คนไปทำบุญเพื่อจะฟังธรรมเทศนา แม้กระทั่งนายอำเภอเมืองวังก็ออกไปด้วย เมื่อฉันเสร็จก็มีคนอาราธนาธรรม
อาตมภาพจึงได้แสดงธรรมในข้อที่ว่า "สุขินทริยัง ทุกขินทริยัง มายุปะมัญจะ วิญญาณัง
อธิบายว่า ความสุขซึ่งเป็นของมีจริง ทั้งเป็นใหญ่ด้วย แต่ไม่เที่ยง เป็นความทุกข์ ทางกายทางใจก็มีจริง ทั้งเป็นใหญ่ด้วย แต่ไม่เที่ยง ถูกหลอก
เจ้ามายาคือ วิญญาณัง เจ้าวิญญาณตามรู้แจ้งว่าสิ่งนี้เป็นสุข เข้าอาศัยความสุขที่มาถึงพร้อมชั่วขณะจิตรู้ แล้วก็หายไป
เพราะความสุขอันเกิดแก่ความพอใจเนื่องมาจาก ความคิดในอารมณ์อันเป็นที่พอใจแล้ว ก็สุขหรืออิ่มใจ ขึ้นประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแล้วก็เสื่อมไป
เพราะเขาเป็นของไม่เที่ยง ประเดี๋ยวก็ไปฉวยเอาความคิดและอารมณ์ อันไม่เป็นที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ขึ้นมาเท่านั้น ประเดี๋ยวทุกข์นี้ก็หายไป
ก็ไปฉวยเอาอารมณ์อันอื่นอีก
ตกลงความสุขอันเกิดจากความยินดี และพอใจในสิ่งที่ตนต้องประสงค์เท่านั้น จัดเป็นที่พึ่งแน่นอนยังไม่ได้ คือบรรดาสาธุชนในโลกนี้ต้องการความอิ่มใจ
ต่างก็เคยพบเคยเห็นเคยมีความสุขความอิ่มใจมาแล้วทุกคน มิใช่หรือ ความสุขและความอิ่มใจอันนั้น ต่างคนก็รู้แล้วว่าเป็นของดี
ทำไมจึงไปคิดและถือเอาความสุขนั้นไว้ ประจำสันดานจนตลอดชีวิต
ข้อนี้เนื่องมาจากความไม่เที่ยงอันเป็นความจริงของโลกนั้นเอง มาตัดรอนให้จิตใจแปรผันไปหน่วงเหนี่ยวยึดถือ เอาความคิดความเห็นอันไม่เป็นที่พอใจ
มาปรากฏขึ้นในสันดาน แล้วก็รู้แจ้งขึ้นว่าเป็นทุกข์ใจคอไม่สบาย ประเดี๋ยวเท่านั้นได้พบหรือได้เห็นสิ่งเป็นที่หัวเราะพอใจ ก็กลับมีความสุขแช่มชื่นขึ้นอีก
เหตุนั้นเจ้าสังขารคือความคิดความนึกอันปรับปรุงขึ้นมาก็เป็นเจ้ามายา เจ้าเล่ห์ เจ้ากล อีกอันหนึ่ง โดยศัพท์ว่า มายุปะมัญจะ สังขารา แปลว่า
เจ้าสังขารผู้ช่างนึกช่างคิดปรับปรุงประจำ สันดานนี้ก็เจ้ามายาใหญ่ คือประเดี๋ยวก็ปรุงและคิดอารมณ์อันเป็นที่พอใจขึ้นมา เจ้าวิญญาณรับรู้ว่าเป็นสุข
ก็เข้าอาศัยและยึดถือ ประเดี๋ยวก็นึกคิดปรับปรุงอารมณ์ไม่เป็นที่พอใจขึ้นมา พล่าอารมณ์ที่ดีคือความพอใจอันนั้นให้เสื่อมหายไป
เจ้าวิญญาณก็รับรู้ว่าใจคอไม่สบาย ยุ่งและจุกจิกคือทุกข์ใจขึ้นมา
ตกลงว่า ความเป็นอยู่ของสาธุชนทุกจำพวก ยกเว้นพระอริยเจ้าผู้ได้ประสบสันติสุขแล้ว ล้วนแต่ถูกสังขารหลอกทั้งนั้น
แล้วแต่เจ้าสังขารปรุงหรือคิดขึ้นมาอย่างไร ก็เป็นไปตามปรุงความสุขขึ้นมาก็พลอยสุขไปตาม ประเดี๋ยวปรุงความทุกข์ขึ้นมา ก็พลอยทุกข์ไปตาม
ตกลงว่าถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปีก็ดี ปรุงแต่สุขหรือทุกข์เท่านั้น ลวงตนเล่นอยู่ หาที่พึ่งมิได้ แล้วแต่สังขารจะปรุงให้ร้องไห้ก็ร้องไห้
เจ้าสังขารจะปรุงให้หัวเราะก็หัวเราะขึ้นเท่านั้น
ตกลงว่า อำนาจของจิตไม่มี เพราะเจ้าสังขารลวงเล่น ไม่มีเวลาหยุด ฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเทศนาสรรเสริญความสงบจิต เอา
อาโยโคความเข้าไปสงบจิต เป็นยอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจิตสงบกายและสงบวาจา เมื่อกายสงบก็เป็นศีลสังวร เสร็จอยู่ที่ใจสงบ เหตุนั้น
การรักษาศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่ใจสงบเท่านั้น
เหตุนั้น ท่านจึงรักษาศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่ใจสงบ ไม่ต้องไปอ่าน หรือนับว่านี้ศีล นี้สมาธิ นี้ปัญญา เมื่อรักษาจิตให้สงบแล้ว ก็บริบูรณ์
พร้อมทั้งศีลสมาธิปัญญา เมื่อไม่มีปัญญา จิตก็ไม่สงบ เมื่อปัญญาทำจิตให้สงบได้แล้ว ศีลสมาธิก็บริบูรณ์ขึ้นในขณะนั้น
เหตุนั้นสาธุชนผู้ต้องการอยาก เป็นผู้มีศีลมีสมาธิในศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ขอท่านจงแสวงหาครูอาจารย์แนะนำทางปัญญา หา อุบายทำให้จิตสงบลงเมื่อใด
ก็เมื่อนั้นท่านจะเป็นผู้ บริบูรณ์ไปด้วยศีล ด้วยสมาธิ ปัญญา ดังรับประทาน วิสัชนามาก็สมควรแก่กาละเวลาดังนี้"
◄ll กลับสู่ด้านบน
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
kittinaja - 14/10/08 at 11:44
Update 14 ต.ค. 51
ญาติโยมขอขมาโทษ
จากนั้นอาตมภาพก็นั่งสมาธิหลับตาเรื่อยไป แต่ก็ยังมีคนศรัทธาขอปวารณาเป็นอุปัฏฐาก และขอขมาโทษที่ได้ดูหมิ่นประมาทต่าง ๆ
"ขอเณรจงงดโทษแก่ผู้ข้าทั้งหลาย ผู้ข้าผิดไปแล้ว" ต่อมามีคนมาทำบุญมาก และขอฟังธรรมทุกวัน อาตมภาพอยู่ไปอีก ๓ วันเท่านั้น พิจารณาเห็นว่า
เราก็ยังเป็นผู้ฝึกหัดอยู่ จะมาตั้งตัวเป็นผู้รับแขกและคลุกคลีอยู่เช่นนี้ เป็นอันตรายแก่ความสงบ เป็นที่ตั้งแห่งความกำเริบ
ของวิญญาณเราควรหลีกไปเสียดีกว่า ต่อมาเป็นวันคำรบ ๘ ฉันบิณฑบาตเสร็จ อาตมภาพก็ลาโยมเหล่านั้น รู้สึกมีบางคนบ่นว่า "เราไม่รู้ว่าท่านมาบำเพ็ญบุญบารมี
ต่างคนก็เข้าใจว่าบ้าทั้งบ้านทั้งเมือง"
จากนั้นอาตมภาพจึงเที่ยวไปทางหนองน้ำจันทน์ ไปพักที่ป่าช้าบ้านหนองน้ำจันทน์อยู่ ๙ วัน พระครูเขียวไปไล่ว่า "เณรนี้ใช่ไหมที่เขาว่าเป็นบ้า
เรารู้เรื่องของเณรแล้ว เธอนี้แหละเขาบอกว่าเป็นบ้า จะได้เป็นสามเณรในศาสนาก็หามิได้ เหตุนั้นเณรจงหนีไปเถิด อย่าได้อยู่ ในท้องถิ่นนี้เลย"
โต้วาทะกับพระครูเขียว
อาตมภาพได้ตอบท่านองค์นั้นว่า "สามเณร มาจากสมณะ ตามศัพท์แปลว่าผู้สงบ ใครเป็นผู้สงบ ผู้นั้นแหละพระพุทธเจ้าเรียกว่า สามเณร หรือ สมณะ
บุคคลผู้มีความปรารถนาและโลภอยู่ คนนั้นจะศีรษะโล้นก็ไม่ชื่อว่า สมณะ โดยพระพุทธภาษิตว่า อัพพะโต อะลิกัง ภะณัง อิจฉาโลภะสะมาปันโน
กิง สะมะโณ ภะวิสสะติ แปลว่า บุคคลผู้มีความปรารถนาและมีความโลภอยู่ จะชื่อสมณะอย่างไรได้"
เมื่อท่านได้ยินเช่นนี้ ท่านก็โกรธ หาว่าดูหมิ่น ว่าท่านไม่รักษาธุดงค์ก็ไม่ชื่อว่าสมณะไปด้วย อาตมภาพตอบท่านว่า "(๑)
เป็นผู้มีความปรารถนา (๒) โลภ (๓) ไม่รักษาธุดงค์คือความสงบ ผู้ขาดคุณสมบัติทั้ง ๓ นี้แหละครับ พระพุทธเจ้าว่าไม่ชื่อสมณะ ตามบาลีที่มีมาในธรรมบท
ภาค ๗ ธัมมัฏฐวรรคว่าดังนี้ แหละครับ"
ท่านก็โกรธว่า "บ้า อะไรมาอ้างศัพท์อ้างแสง อ้างคัมภีร์ธรรมบทภาคนั้นภาคนี้ วรรคนั้น วรรคนี้ จะมาแข่งดีกับพระหนองน้ำจันทน์หรือเณร" อาตมภาพ ตอบว่า
"ความแข่งดีกันเป็นอุปกิเลส ๑๖ ในข้อ ๑๒ ว่า สารัมภะ การแข่งดีเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญเลยครับ
ผมพูดในที่นี้ผมพูดตามศัพท์บาลี หรือความเป็นจริงเท่านั้น คนที่มีกิเลสในสันดาน ได้ยินเข้าก็น้อมเป็นกิเลสทั้งนั้น เพราะความจริงเข้าไปถึงสันดาน
ที่เป็นเจ้ากิเลส ตัวกิเลสก็ดิ้นรนออกมาเท่านั้นครับ"
ท่านพระครูเขียวยิ่งโกรธใหญ่ หาว่าอาตมภาพดูหมิ่นท่านว่าไม่ใช่สมณะ ทั้งเป็นเจ้ากิเลสด้วย ท่านจึงนำตัวของอาตมภาพเข้าไปที่วัดของท่าน
แล้วขังไว้ในโบสถ์เพื่อไต่สวน อาตมภาพก็นั่งสมาธิและเดินจงกรมในโบสถ์เรื่อย ไม่พูดกับใคร
ต่อไปอีก ๒ วัน ท่านนำตัวไปไต่สวน อาตมภาพก็ไม่พูด มีแต่นั่งหลับตาทำสมาธิ ผลที่สุดท่านก็ตัดสินลงโทษ จะให้อาตมภาพขนดินขนทรายเข้าวัด แล้วถามว่า
"เณรยอมทำไหม" อาตมภาพก็ไม่พูด เอาแต่นั่งหลับตาดักจิตไว้ภายในใจเรื่อยไป
◄ll กลับสู่ด้านบน
ถูกจับขังคุก
ตกลงท่านก็มอบให้ฝ่ายบ้านเมืองนำตัวไป พิสูจน์ว่าเป็นคนอย่างไรแน่ ปุลิศนายตำรวจก็นำตัวอาตมภาพไปขังไว้เรือนจำของศาลเมืองสองคร ได้สองวัน
นายอำเภอเมืองสองครจึงนำตัวของอาตมภาพ ไปยังศาลเพื่อชำระคดีเรื่องนั้น กับ ท่านพระครูเขียวเจ้าคณะแขวงเมืองสองคร
นายอำเภออ่านคดีฟ้องเสร็จแล้ว ถามอาตมภาพว่า "ได้ว่าให้ท่านพระครูเช่นนี้หรือไม่" อาตมภาพตอบว่า "ได้ว่าอย่างนั้นจริง แต่ไม่ได้ว่าให้ท่านพระครู"
นายอำเภอจึงถามต่อไปว่า "เณรว่าให้ใคร" อาตมภาพตอบว่า "อาตมาว่าที่ปากของอาตมาเอง ไม่ได้ว่าให้ใครและไม่ได้ว่าออกชื่อของใคร
ว่าคนชื่อนั้นชื่อนี้ไม่รักษาธุดงค์ มีความโลภและความปรารถนาไม่ชื่อว่าสมณะนี้หามิได้ เป็นแต่อาตมาว่าไปตามคาถาธรรมบทที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เท่านั้น"
ท่านพระครูเขียวท่านก็ว่า "บ้าใบ้ ถ้าไม่พูด มันก็ไม่พูด ถ้าพูดมันเล่นสำนวน จริงหรือไม่เณร" อาตมภาพตอบว่า "จริงครับ ตามความประสงค์ของท่าน
แต่จะจริงตามคำของพระพุทธเจ้าก็หามิได้"
ท่านถามต่อไปว่า "จริงตามคำของพระพุทธเจ้านั้นอย่างไร" อาตมภาพตอบว่า "จริงคือความดับนั้น แหละเป็นความจริงของพระพุทธเจ้า"
ท่านถามต่อไปว่า "ดับอะไร" อาตมภาพตอบว่า "ดับความโกรธ และความจองล้างจองผลาญ จึงได้นามว่า สาวะกะ คือ
สาวกผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
ท่านถามต่อไปว่า "เณรดับได้และฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง" อาตมภาพตอบว่า "ถ้าผมดับความโกรธและความจองล้างจองผลาญกับคนอื่นได้
ก็ได้ชื่อว่าผมดับและฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าผมดับไม่ได้ ผมก็ยังไม่ดับนั้นเอง"
ท่านจึงถามต่อไปว่า "เดี๋ยวนี้เณรดับได้ไหม" อาตมภาพตอบว่า "ถ้าผมดับความโกรธของผมได้เดี๋ยวนี้ก็ดับได้
ถ้าผมดับยังไม่ได้ผมก็คงยังดับไม่ได้อยู่นั้นเอง"
"ถ้าเช่นนั้น เณรเป็นอรหันต์แล้วหรือ" อาตมภาพตอบว่า "ถ้าผมสิ้นอาสวะผมก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าผมยังไม่สิ้นอาสวะผมก็ยังเป็นปุถุชนอยู่"
ท่านถามอีกว่า "เณรสิ้นอาสวะแล้วหรือยัง" อาตมภาพตอบว่า "ถ้าผมสิ้นไปแล้วจากอาสวะ อาสวะก็สิ้นไปจากผม ถ้าผมยังไม่สิ้นจากอาสวะ
อาสวะก็ยังอยู่ที่ผม"
จากนั้นไป นายอำเภอเมืองสองครจึงว่า "หยุดก่อนครับ ท่านพระครูอย่าเร่งถามเณรนักในเรื่องเช่นนี้ ผมเข้าใจดีว่าเณรไม่ใช่คนใบ้และบ้าเลย
ท่านองค์นี้เป็นนักพรต คือผู้บำเพ็ญเพียรในศาสนาแน่นอน" จากนั้นนายอำเภอจึงถามว่า "เณรมีอายุเท่าไร" อาตมภาพตอบว่า "เวลานี้อายุของสังขาร ๑๘ ปีนี้"
นายอำเภอจึงว่า "ผมขอนิมนต์เณรอยู่วัดในเมืองนี้ได้หรือเปล่า" อาตมภาพตอบว่า "ได้แต่เฉพาะวันที่อาตมภาพมาอยู่ ถ้าอาตมภาพไปแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ได้อยู่"
จากนั้นไปทางศาลก็ตัดสินยกเลิกว่า ไม่จำเป็นจะเกี่ยวข้องในท่านผู้เช่นนี้ เพราะท่านเที่ยวบำเพ็ญส่วนกุศลเท่านั้น
ท่านไม่หวังว่าจะอยู่ในท้องถิ่นเขตแดนของใคร จะไปหรือจะอยู่ก็แล้วแต่เรื่องของท่านเท่านั้น จากนั้นก็เลิกแล้วกันไป
ทดลองอดอาหาร
อาตมภาพจึงเดินทางไปยัง แขวงสุวรรณเขต แล้วข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปตาม ดงปังอี่ ไปถึงเขา สีถาน พักบำเพ็ญอยู่ที่นั้น ๓ เดือน
มีหมู่บ้านข่าอยู่ตามชายเขานั้นหลายหลังคาเรือน การบำเพ็ญอยู่ที่นั้นได้ทดลองกำลังใจด้วยวิธีอดข้าว ๓ วันจึงฉันหนหนึ่ง
เพราะอยากทราบว่าเราปฏิบัติมานานปีเพียงนี้ เราจะมีกำลังของขันติมากน้อยเพียงไร และเราจะมีอุบายระงับเวทนา แก้หิวข้าวเท่านี้ได้หรือไม่
เมื่อเวทนาใหญ่คือความตาย มาถึงจะไม่ซ้ำร้ายกว่าหิวข้าว ๓ วันนี้หรือ เราทดลองในเวลาเช่นนี้ เมื่อเวทนากล้าจนถึงตายมาถึงเข้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า
เราอาจดักจิตให้ล่วงทุกขเวทนาเช่นนี้ได้หรือไม่
เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียร ด้วยวิธี ๓ วันจึงฉันหนหนึ่ง อยู่ที่นั้นสิ้น ๓ เดือน พวกข่าพากันแตกตื่นว่าเป็นผู้มีบุญ ไม่ฉัน ๓
วันยังเดินได้คล่อง ๆ ต่างก็พากันมาเฝ้าดูอยู่มากมาย อาตมภาพบอกว่า "อาตมภาพบำเพ็ญขันติบารมี ไม่ใช่ผู้มีบุญบาปอะไรดอก
เป็นสามเณรภาวะในศาสนาของพระพุทธเจ้า เสมอด้วยสามเณรทั้งหลายที่มีอยู่ทั่วไป" เขาก็ไม่เชื่อ ยิ่งแตกตื่นกันมามาก เฝ้าอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
อาตมภาพพิจารณาเห็นเป็นอันตรายแก่ความสงบ จึงหลีกไปเสียจากที่นั้น
◄ll กลับสู่ด้านบน
อาจารย์หลายล่วงรู้ใจ
ข้ามไปทาง ภูเขาค้อ แขวงอำเภอนาแก ไปพบท่านองค์หนึ่ง เป็นพระกรรมฐานพักอยู่ ถ้ำพระเวส ชื่อ อาจารย์หลาย
ซึ่งคนเล่าลือว่าท่านรู้หัวใจคนที่ไปหา อาตมภาพคิดปัญหา ๔ ข้อ ว่าจะไปทดสอบท่าน คือ จิตรวม ๑ จิตอยู่ ๑ จิตเข้าสู่ภวังค์ ๑ จิตเป็นสมาธิ ๑ ต่างกันอย่างไร
และคุณสมบัติจะพึงได้พึงถึงของขณะจิตทั้ง ๔ นี้ ต่างกันบ้างหรือไม่
พอคิดไว้แล้วก็เดินไปหาท่าน พอกราบลงเท่านั้น ท่านก็ยิ้ม ๆ แล้วพูดว่า "ว่าไงปัญหา ๔ ข้อ ที่ยังสงสัยนั้น ยกขึ้นมาสนทนากันได้นะ"
ที่จริงอาตมภาพยังไม่ได้ถาม ท่านยกขึ้นมาปรารภก่อน อาตมภาพกระดากใจขึ้นมาว่า "แหม ท่านรู้ได้จริง ๆ" อาตมภาพก็จึงขออาราธนาให้ท่าน แสดงนัยต่าง ๆ
พร้อมทั้งคุณสมบัติของจิตทั้ง ๔ ขณะ จิตอาตมภาพมีความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติของท่าน อาตมภาพขอเรียนกรรมฐานอยู่กับท่าน ๑๖ วัน พอดี อาตมภาพป่วยหนัก
ท่านก็จากไปในวันนั้น
คำพยากรณ์
ก่อนท่านจะไปท่านได้สั่งว่า "ถึงป่วยก็ไม่เป็นไร ในชีวิตนี้เณรจะต้องได้บวชเป็นพระภิกษุ แต่ก่อน ๆ มาทุกชาติ เณรได้บวชและบำเพ็ญมาดังนี้ได้ ๑๑๑
ชาติแล้ว แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระสักที ครบอายุ ๑๘-๑๙ ก็ตายเสียก่อนด้วยบุพกรรม (กรรมเก่า) ของเณร เณรเคยได้เป็นเสือโคร่งใหญ่มา ๑๑ ชาติ ทำลาย
ชีวิตสัตว์ที่มีคุณทั้งหลาย ๑๐ ตัวมาเป็นอาหาร ด้วยกรรมอันนั้นมาขีดคั่นทำให้ชีวิตสั้น จึงยังไม่ได้อุปสมบทเป็นพระสักที บัดนี้เณรพ้นจากเวรเช่นนั้น
แล้วต่อไปก็จะมีปฏิปทาอันสะดวกดี และจะได้อุปสมบทเป็นพระตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไป" และท่านทำนายต่อไปว่า "เณรมีนิสัยเสือโคร่งเป็นสันดาน
เพราะเณรเกิดเป็นชาติเสือติดๆ กันทั้ง ๑๑ ชาติ คือ
(๑) น้ำใจกล้าหาญ
(๒) ชอบเที่ยวกลางคืน สบายกว่ากลางวัน
(๓) ถ้าได้อยู่ที่ซ่อนเร้นสงัดจากคน จิตเป็นที่สบาย
(๔) ได้ลงมือทำอะไรแล้ว ผิดหรือถูกก็ถอนได้ยาก เพราะทำอะไรมักอยากให้อยู่ในกำมือของตน ค่อนข้างกล้าไปด้วยโทสะสักหน่อย แต่ว่าพยายามไปเถิด อายุ ๒๐
ปีจะมีความรู้ความเห็นเป็นที่อุ่นใจ"
พบสิ่งวิเศษในถ้ำ
จากนั้นท่านก็เดินทางไปตามชายเขา ส่วนอาตมภาพนอนป่วยอยู่ ๔ วัน ก็รู้สึกทุเลาลงพอจะเดินไปบิณฑบาตได้ อาตมภาพก็ทำความเพียรอยู่ที่นั้นสิ้น ๑ ปีกับ ๖
เดือน รู้สึกได้รับความสบายกายสบายใจมาก ทางอาศัยบิณฑบาตที่บ้านแก้งมะหับ จากถ้ำถึงบ้าน ๑๐๐ เส้น ระหว่างบำเพ็ญอยู่ที่นั้นได้ ๑๑ เดือน
ฝันเห็นคนมาบอกให้ไปเอาพระพุทธรูป ออกจากถ้ำไทรทุกวัน จนแทบจะนอนไม่หลับ หลับลงก็ปรากฏคนมาบอกในทันใด ตกลงอาตมภาพก็เข้าไปในถ้ำนั้น ดูเข้าไปประมาณ ๓
เส้นเศษ เห็นแผ่นทองตั้งอยู่ ดูจารจารึกไว้เป็นตัวอักษรลาว ใจความว่า "พระภิกษุอ่อน พรรษา ๗ ได้สร้างพระพุทธรูปบรรจุไว้ที่นี้
ตั้งแต่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ๕๒๑ ปี" อาตมภาพก็คลานเข้าไปอีกประมาณ ๒ เส้น เห็นพระพุทธรูปตั้งอยู่กับเสือเหลืองตัวหนึ่ง งูเหลือมตัว
หนึ่งที่อาศัยอยู่ในถ้ำนั้น
อาตมภาพก็หยิบเอาแต่พระพุทธรูปมาองค์หนึ่ง เป็นพระปรอทมาไว้เป็นที่สักการะ อยู่ในถ้ำก็หลายวันอาตมภาพเอาเฉพาะแต่ พระปรอทองค์หนึ่ง กับดาบเล่มหนึ่ง
และแผ่นทองนั้น ซึ่งหนัก ๑๒ บาท นายฮ้อย (พ่อค้าเร่) อุ่น บ้านซอง ไปล่าเนื้อ ไปแวะเห็นเข้าขอดู รู้ว่าเป็นทองแท้ก็ขออาตมภาพ อาตมภาพก็ให้ไป
ส่วนพระปรอทนั้น ถึงกำหนดที่อาตมภาพจะหลีกไปจากที่นั้น มานิมิตฝันว่า มีคนมาห้ามไม่ได้เอาพระปรอทพร้อมทั้งดาบไปด้วย อาตมภาพก็คืนไว้ที่เดิม
แล้วก็เดินทางไปที่ภูเขาค้อ ที่ ถ้ำไทร อาศัยบิณฑบาตที่หมู่บ้านคิ้ว ไปพักทำความเพียรที่นั้น ได้รับนิมิตฝันเห็นแต่งูมารัดแทบทุกวัน
บางวันก็ละเมอจนร้องไห้ก็มี เพราะฝันเห็นแล้ว กลัวว่ารัดแน่นไปจะหายใจไม่ออก ก็ละเมอร้องสุดเสียง เมื่อตื่นนอนขึ้นมาก็ไหว้พระแล้วอธิษฐานว่า "ข้าพเจ้า
มาบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นี้ เป็นเพราะเหตุไรหนอจึงฝันเช่นนี้ทุกวัน หากข้าพเจ้าจะถึงแก่ความเสื่อมหรือความเจริญสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย
จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าทราบเหตุในวันต่อไปด้วยเทอญ"
พอค่ำวันนั้น ประมาณ ๗ ทุ่ม ก็จำวัด ฝันเห็นพระหลวงตาแก่ ๆ มาบอกว่า "จงระวัง เณรมาอยู่ที่นี้ อีก ๔ วันเณรจะเห็นเนื้อคู่ (คู่วาสนา)
แล้วเณรจะร้อนใจเพราะผู้หญิงคนนั้น" ก็พอดีตื่นนอน อาตมภาพก็ลุกขึ้นทำความเพียร เดินจงกรมไปตามเรื่อง
◄ll กลับสู่ด้านบน
พบคู่วาสนา
อีก ๔ วันพอดี บิณฑบาตกลับมา เผอิญผู้ใหญ่บ้านคิ้วมาทำบุญกับลูกสาวคนหนึ่ง อายุ ๒๐ ปี พอมานั่งลงเท่านั้น มองเห็นหน้าหญิงคนนั้น ยังไม่ได้พูดอะไร
เกิดประหม่า ดูเหมือนรักก็ไม่ใช่ เกลียดก็ไม่ เชิง ใจคอว้าเหว่จนรู้สึกว่าหายใจไม่รู้อิ่ม ใจคอก็ไม่หนักแน่นอย่างแต่ก่อน
อาตมภาพก็นั่งพิจารณาอยู่ "จะเป็นนี้กระมังที่ตรงกับความฝันของเราเมื่อวันที่แล้วมา ว่าจะพบเนื้อคู่ (คู่วาสนา)" โยมผู้ใหญ่บ้านคนนั้น
เขาถามถึงบ้านเกิดเมืองเกิด ถามทั้งบิดามารดาแล้ว แกก็ปรารภว่า "ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ผมเห็นคุณเณร ไปบิณฑบาตแต่วันมาถึงทีแรก จนบัดนี้รู้สึกคิดรักคุณเณร
คล้ายกับบุตรของตนจริง ๆ"
ส่วนหญิงลูกสาวคนนั้นก็พูดว่า "ฉันเองก็ไม่รู้เป็นอย่างไร นับตั้งแต่วันได้เห็นท่านเข้าไปบิณฑบาตจนบัดนี้ รู้สึกคิดรักท่านยิ่งกว่าพี่ชายน้องชายของตน
ท่านก็เป็นคนหนุ่มอยู่ ทำไมเที่ยวกรรมฐานนอนตามถ้ำตามเขาคนเดียว ข้อนี้เองยิ่งเป็นเหตุให้ดิฉันสงสารมากขึ้น แทบน้ำตาจะร่วงออกมา"
เพียรสลัดรัก
อาตมภาพก็นั่งพิจารณาในใจว่า "นับแต่วันเราเกิดเป็นมนุษย์มา ไม่มีเลยที่เราจะมาคิดชอบคิดรักคน จนหายใจไม่อิ่มอย่างนี้ ไม่มีเลย" แต่ก็ไม่พูด อันนี้
เป็นแต่คิดในใจเท่านั้น แล้วพิจารณาต่อไปว่า "เราจะหาคำพูดอันหนึ่งอันใดที่จะมิให้เป็นที่พอใจรักใคร่กันต่อไปอีก"
นึกขึ้นมาแล้วก็ข่มใจพูดดูประหนึ่งว่าไม่มีความยินดีสักนิดเดียว พูดว่า "โยมผู้ใหญ่พร้อมทั้งนางสาวนั้นเป็นคนโง่ไม่มีปัญญา ทำไมจะมารักของทิ้ง
คือโฉมสรีระร่างกายนี้ ทั้งของโยมทั้งสอง ทั้งของอาตมานี้ต่างก็จะพากันเอาไปฝังดินทิ้งทุก ๆ คนมิใช่หรือ
เมื่อถึงที่สุดต่างคนก็ต่างจะถูกเอาไปฝังดินทิ้งอยู่แล้ว ประโยชน์อะไรมาคิดรักของทิ้งกันเล่นเปล่า ๆ ใครก็อยู่ไปจนกว่าจะเอาไปทิ้งกันเท่านั้น
สิ่งที่ควรรักก็คือศีลธรรมเท่านั้น ไม่ควรรักร่างกระดูกคือรูปโฉมอันเป็น ของจะทิ้งลงสู่พื้นดินทุกคนไป"
ว่าแล้วอาตมภาพก็ฉันบิณฑบาตนั้นเรื่อยไป พออิ่มเสร็จแล้ว แกจึงถามว่า "คุณเณรดูเหมือนจะไม่สึกละหรือ" อาตมภาพจึงตอบขึ้นในทันใดว่า
"อาตมาไม่ได้บวชเพื่อจะสึก บวชเพื่อจะบำเพ็ญกุศลบารมีเท่านั้น คืออาการของสึกยังไม่ได้คิดไว้เลย อาตมาได้คิดไว้แต่เพียงว่า
การบวชของเรามีประโยชน์และมีธุระจะบำเพ็ญส่วนกุศลเท่านั้น ธุระหรือประโยชน์นอกนั้นไม่ใช่การงานของนักบวช จึงมิได้คิดไว้" ว่าแล้วอาตมภาพก็ให้พร ยถาสัพพี
พอเสร็จหญิงสาวคนนั้นก็พูดสอดขึ้นว่า "คุณเณรมัวแต่จะเพียร สร้างบารมี นานเข้าจะลืมคิดสึก เดี๋ยวจะแก่เสียก่อน"
อาตมภาพนึกขึ้นได้ว่า พูดในเรื่องนี้จะเป็นอันตรายแก่ความสงบ ก็นั่งสมาธิเรื่อยไปไม่พูด ทั้งสองพ่อลูกเห็นอาการเช่นนั้นก็ชวนกันกลับบ้าน
ฝ่ายอาตมภาพพอคนทั้งสองออกไปแล้ว ก็รู้สึกคิดถึงหญิงคนนั้น จนรู้สึกหายใจไม่อิ่มและใจคอว้าเหว่มาก นั่งก็ไม่นาน นอนก็ไม่หลับ ฉันข้าวก็ไม่ได้
เพราะปรากฏว่าหัวใจแขวนเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เป็นอยู่เช่นนี้ ๒ วัน รู้สึกเป็นทุกข์มาก
อาตมภาพจึงดำริว่า ประโยชน์อะไรที่เราจะอยู่ ด้วยความทุกข์เช่นนี้ เราตายเสียในเร็ว ๆ นี้จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราจะสึกไปมีครอบครัวอย่างฆราวาส
ต้องทำปาณาติบาตเป็นอาชีพ เราก็สร้างบาปกรรมมากขึ้นไปอีก กว่าชีวิตนี้จะสิ้นไป เราก็จะมีบาปกรรม เป็นที่อาศัยไปข้างหน้า สู้เราตายเสียก่อน
อย่าให้ทันได้ทำบาปกรรมเลย ฉวยเอาศีลธรรมที่เราได้ประพฤติมาแล้วนี้ เป็นที่อาศัยไปเสียก่อน
ดีกว่าเราจะสึกออกไปสร้างเอาบาปเอากรรมต่อไปอีกตั้งหลายปีหลายเดือน เมื่อพิจารณาตกลงเช่นนี้แล้ว จึงตั้งสัจอธิษฐานว่า
"หากความรักหญิงคนนี้ไม่ตายจากจิตใจของข้าพเจ้าแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าจงได้ตายไปเสียภายใน ๑๐ วันนี้
ข้าพเจ้าจงอย่าทันได้สึกไปทำบาปกรรมทั้งหลายเหล่าอื่นต่อไปอีกเลย"
◄ll กลับสู่ด้านบน
ทรมานกายทำลายรัก
เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ตั้งใจว่า "หากยังไม่หายจากความรักหญิงคนนี้ เราจะไม่ฉันข้าวตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนกว่าชีวิตนี้จะตายไป"
จากนั้นอาตมภาพก็ตั้งหน้าไม่ฉันข้าวไปได้ ๕ วัน แต่ยังฉันน้ำอยู่ ถึงวันคำรบ ๕ จึงสังเกตภายในจิตว่า ความรักและความคิดถึงเช่นนั้นเบาแล้วหรือยัง
รู้สึกว่าหนักแน่นอยู่เหมือนเดิม จึงนึกขึ้นมาว่า เมื่อเรายังฉันน้ำอยู่ ชีวิตนี้ก็จะตั้งอยู่ได้นาน ความรักนี้ก็จะกำเริบเรื่อยไป อย่ากระนั้นเลย
ต่อไปนี้เราจะไม่ฉันทั้งข้าวทั้งน้ำ ให้ชีวิตนี้ตายไปเสียเร็ว ๆ หากความรักอันนี้ยังไม่เบาลงหรือหายไปจากสันดานเราเมื่อไร
เราก็จะไม่ฉันทั้งน้ำทั้งข้าวจนกว่าจะถึงวันตาย หรือจนกว่าความรักจะหายไปจากสันดาน
ต่อไปเมื่ออดทั้งข้าวทั้งน้ำได้ ๒ วัน รู้สึกว่า เมื่อนอนหลับไป หายใจเข้าออก ลำคอแห้ง เสียงหายใจจากจมูกดังโวด ๆ เมื่อตื่นนอนขึ้นมา
จึงพิจารณาต่อไปเห็นว่า ความรักใคร่เช่นนั้นก็ยังปรากฏอยู่ พิจารณาว่าความรักใคร่และความกระสัน อันนี้มีรากลึกลงไปในชีวิตนี่ละหรือ?
จึงตกลงใจว่า เอาเถิด หากชีวิตกับความรักอันนี้ จะถอนจากความเป็นอยู่ในชีวิตนี้พร้อมกันแล้วตายไปก็ตาม ขอแต่อย่าทันได้สึกออกไปทำบาปกรรมเหล่าอื่นอีก
หากเราตายไปเสียเวลานี้ ก็ยังดีเพราะเราเกิดมาในชาตินี้ยังมิได้สร้างบาป บาปก็จะมิได้มีแก่เรา เราได้สร้างแต่ส่วนเป็นกุศลคือศีลธรรม
ก็บุญกุศลคือศีลธรรมที่เราสร้างไว้นี้จะเป็นของเรา เพราะเราได้สร้างไว้แล้ว หากเราตายไปแล้ว ก็จะฉวยเอาบุญไปสู่สุคติก่อน ไม่ทันเอา
เราไปสร้างสิ่งที่เป็นบาป
ความรักตายจากใจ
เมื่อพิจารณาเช่นนั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าอดทนต่อความหิวไปอีกวันหนึ่ง พอจวนค่ำรู้สึกหายใจไม่ถึงสะดือ กระนั้นก็ตามความกระสันก็ยังปรากฏอยู่บ้าง
แต่เบาบางลงไป ที่สุดตอนกลางคืนประมาณ ๕ ทุ่ม รู้สึกหายใจ ไหล่ทั้งสองหอบขึ้นมาด้วย คือ สูดเอาลมหายใจแรง ๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีลมเข้าไป
ปรากฏแต่ลมออกเป็นส่วนมาก ขณะนั้นจึงรู้สึกว่าความกระสันหายไป เย็นขึ้นตามเนื้อตามตัว สวิงสวายเป็นที่วิง ๆ เวียน ๆ คล้ายกับจะอาเจียนแต่ไม่อาเจียน
เป็นแต่เย็นขึ้นมา
ไม่ช้ารู้สึกหายใจสูดลมหายใจเข้าออก รู้สึกแค่หน้าอกขึ้นมาลำคอ ไม่ถึงท้องอย่างแต่ก่อน หนักเข้าหายใจเข้าออกสุดแรง ก็ปรากฏว่ามีลมเข้าออกด้วย
รู้สึกปลายจมูกติ่ง แล้วก็เหงื่อไหลออกที่ริมฝีปาก และทั่วไปทั้งศีรษะ รู้สึกว่าความรักความกระสันเช่นนั้นขาดไปจากสันดาน คือความเป็นอยู่ในขณะนั้น
ไม่ช้าปรากฏมีแสงคล้ายแสงหิ่งห้อยออกจากตา ลืมตาขึ้นก็ไม่เห็นสิ่งอื่น เห็นแต่แสงชนิดนั้นหลั่งไหลออกจากลูกตา มีทั้งสีแสด, สีแดง, ดำ, ขาว, เขียว
ครบทุกชนิด ลอยขึ้นข้างบนลูกตา ก็เหลือบขึ้นข้างบนตามแสงอันนั้น รู้สึกว่าอันนี้ไม่ใช่อื่น คือวิญญาณทางตาของเราออกไปแล้ว ต่อไปวิญญาณทางหูก็จะดับ
ก็เป็นอันว่าเราตายไปเท่านั้น
ทีนี้ความกระสันยิ่งไม่ปรากฏ จึงนึกอยากทดลองน้ำใจดูว่าสึกไปแต่งงานกับนางสาวนั้นเถิด รู้สึกว่าขณะนั้นจิตใจไม่เกี่ยวข้องด้วยเลยแม้แต่น้อย
เป็นแต่สวิงสวายไปเท่านั้น จึงกำหนดได้ว่าเรายังไม่ตาย ความรักความกระสันเช่นนั้นตายไปก่อนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรกลับไปฉันน้ำเสียในเวลานี้
พอให้ชีวิตนี้ตั้งอยู่กว่าจะถึงเวลาเช้าจึงไปบิณฑบาตมาฉัน นึกแล้วก็คว้าเอาน้ำอยู่ในกระบอกไม้ไผ่มาฉัน เมื่อฉันน้ำลงไปในท้องก็รู้สึกท้องลั่นดังวุบวับ
ปรากฏลำไส้ข้างในขยายเป็นขด ๆ ขึ้นมาแล้วเรอออก ๒-๓ พัก รู้สึกหายใจสะดวกดีลงถึงที่สะดือ เมื่อหายใจสูดลมแรง ๆ ก็ดูเหมือนที่สะดือพุ่งออกและหยุดเข้า
รู้สึกมีกำลัง พอที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้
จากนั้นก็คลานไปที่บ่อน้ำ ฉันน้ำจนอิ่ม และสรงน้ำแต่เช้าตรู่ ยิ่งรู้สึกสบายขึ้น เดินได้แข็งแรงพอสมควร ก็ไปบิณฑบาตวันนั้น ตั้งแต่นั้นมาฉันข้าววันละ ๗
คำอยู่ ๑๕ วัน รู้สึกเบากายเบาใจ หายจากความอาลัยในความกระสันรักใคร่
◄ll กลับสู่ด้านบน
เกิดสัญญาวิปลาส
จากนั้นก็เที่ยวไปตามหลังเขาได้ ๓ วันถึง ภูเขากูด พักบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นั้น เกิดสัญญาวิปลาสเข้าใจ ว่าตนพ้นวิเศษ ก็จำพรรษาอยู่ที่นั้น
ในกลางพรรษานั้นได้พิจารณาเรื่องของศาสนาได้ความว่า
เวลานี้มีภิกษุเป็นมหาโจรปล้นพระศาสนา คือ ภิกษุประพฤติผิดพระธรรมวินัย ทำการซื้อถูกขายแพง ประจบประแจงชาวบ้าน และซื้อม้า วัว ควาย ขับขี่เป็นพาหนะ
สะสมเงินทองสิ่งของไว้เป็นทุนเป็นกำไร อาศัยได้ทรัพย์ไปจากพระพุทธศาสนา ที่เขานำมาบูชา เมื่อตนยังเป็นบรรพชิตอยู่
พอได้แล้วก็ลาสิกขานำเครื่องบูชาที่เขาให้แต่ยังเป็นพระไปเป็นทุนกำไรค้าขายในคราวที่ตนสึกออกไป ผู้บวชในศาสนาจะแสวงหาพระนิพพานนั้น เป็นส่วนน้อย
ผู้บวชแสวงหาแต่ลาภยศมีเป็นส่วนมาก
พระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นลัทธิที่พระพุทธเจ้าวางไว้เพื่อกุลบุตรผู้ต้องการความพ้นทุกข์เท่านั้น
มิได้วางไว้เพื่อให้เป็นที่หากินของบุคคลผู้เพ่งต่อความโลภ บัดนี้มีพระภิกษุบวชอาศัยในพระพุทธศาสนา เพ่งต่อความโลภมาก จนเป็นหมอดู และหมอยารักษาไข้
เอาปัจจัยเงินทอง ของชาวบ้าน ยังมีการซื้อถูกขายแพงเข้าอีกหลายอย่างหลายประการ เป็นอันตรายแก่พระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ตกลงใจว่าออกพรรษาแล้ว
จะเที่ยวประกาศพระพุทธศาสนา พร้อมทำสังคายนา
พระอลัชชี โยมเดียรถีย์
ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ลงจากเขาไปบ้าน ชักชวนพี่ชายออกเที่ยวกรรมฐาน และบอกว่าไม่ช้าจะพาทำสังคายนา พี่ชายก็ติดตามไปถึง อำเภอท่าบุ่ง
มีโยมหลายคนมาฟังธรรมเทศนา มีนายพิมพ์และนายอิน เป็นต้น ได้แสดงธรรมเทศนาเพื่อประกาศ พระศาสนาตามความสำคัญวิปลาสของตนว่า ธัมมะ
วาทิโน ทุพพะลา โหนติ อะวินะยะวาทิโน พะละ วันโต โหนติ แปลเอาเนื้อความว่า ในกาลก่อน พระธรรมวาทีมีกำลังกล้า รักษาธรรมวินัยในศาสนานี้ เรียบร้อย
เป็นที่น่าเลื่อมใสบูชา
บัดนี้ อธรรมวาที คือภิกษุโจรปล้นพระศาสนา มีกำลังกล้าเบียดเบียน ประพฤติย่ำยีพระธรรมวินัยให้เสื่อมสูญ เป็นตัวอย่างแก่กุลบุตรผู้บวชเมื่อภายหลัง
ฝ่ายญาติโยมกลายเป็น เดียรถีย์ ให้กำลังแก่พระอลัชชี ประพฤติย่ำยีพระพุทธศาสนา เช่น ทำพระให้เป็นหมอดู และหมอขับภูตผี
และทำการติดต่อยืมเงินยืมทองของพระไปเป็นทุนซื้อขาย แบ่งทุนแบ่งกำไรกันและกัน นี้แหละฝ่ายพระก็เป็นอลัชชี ฝ่ายโยมก็เป็นเดียรถีย์ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ช่วยกันย่ำยีพระพุทธศาสนา เป็นมหาโจรปล้นพระศาสนาทั้งนั้น ตกลงว่าท่านเหล่านี้ กาลัง กัตวา ครั้นทำกาลกิริยาตายไปแล้ว จะไปตกมหาอเวจีนรก
ด้วยโทษประพฤติเป็นอลัชชี ย่ำยีพระธรรมวินัยให้เสื่อมทรุดชำรุดไป
จากนั้นก็แสดงไปหลายนัยอเนกประการ เมื่อเทศนาจบลงมีคนแสดงความเลื่อมใสมาก ขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในพระศาสนาเสียใหม่ เพื่อชำระบาปกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว
ขุนคีรีสมันการ ปลัดขวาอีกคนหนึ่งเห็นพร้อมด้วย นอกนั้นเขาก็ว่า แสดงธรรมกระทบกระทั่งไม่เรียบร้อย
จนกระทั่งเจ้าคณะแขวงก็เข้าใจว่าแกล้งแสดงธรรมกระทบท่าน สั่งไปกับปลัดขวาว่า "ให้สามเณรหลบหนีไปเสียดีกว่า มิฉะนั้นจะเดือดร้อนทั้ง ๒ ฝ่าย"
ขุนคีรีสมันการ ก็นำความอันนั้นมาแนะนำว่า "เจ้าคณะท่านเคือง ขอเณรจงหลบไปเสียก่อน" ขุนคีรีสมันการเล่าให้ฟังด้วยว่า "บัดนี้ยังมีอาจารย์ ๒ ท่าน คือ
พระอาจารย์สิงห์ องค์หนึ่ง พระมหาปิ่น องค์หนึ่ง ท่านใฝ่ใจในทางนี้ ขอท่านสามเณรจงหลบไปหาท่านเหล่านั้นเถิด
เวลานี้ท่านอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น" อาตมภาพได้ทราบข่าวว่าท่านเหล่านี้รักษาธุดงค์ และมุ่งประโยชน์ในพระ ศาสนา
พบพระอาจารย์กัมมัฏฐาน
อาตมภาพก็เดินทางจากอำเภอท่าบุ่ง ๓ คืน ไปถึงจังหวัดขอนแก่น ได้ทราบว่า พระอาจารย์สิงห์ และ อาจารย์มหาปิ่น พักอยู่ที่ป่าช้า
อาตมภาพก็ตรงเข้าไปศึกษาได้ความว่าพระเถระทั้งสองพร้อมด้วยสานุศิษย์ ทั้งหลาย ๗๐ รูปปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย
จากนั้นอาตมภาพก็น้อมตนเป็นศิษย์ของท่านพระเถระทั้งสอง แล้วก็ลาท่านไปบำเพ็ญอยู่ ป่าช้าบ้านโนนรัง พรรษาหนึ่ง ในกลางพรรษานั้น
บำเพ็ญเพียรไปก็ตระหนักในใจว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว เราจะออกเที่ยวแสดงธรรม ประกาศพระศาสนาให้พวกอลัชชี และพวกเดียรถีย์รู้ตัวสักหน่อย
ญาติโยมศรัทธา
ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็เที่ยวมาทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปพักอยู่ที่ บ้านหนองสะพัง และ บ้านหนองมันปลา แสดงเรื่องพระเป็นอลัชชี
โยมเป็นเดียรถีย์ รู้สึกว่ามีคนเลื่อมใสและเห็นด้วย คือนายสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหนองสะพัง ก็นำลูกบ้านมาฟังธรรม และมาขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา
จะไม่ถือสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จะถือเฉพาะพระรัตนตรัยเท่านั้นเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต และ นายบุญมาผู้ใหญ่บ้านหนองมันปลา
ก็นำลูกบ้านมาปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา ว่าจะไม่ถือภูตผีปีศาจต่อไปอีก ปฏิญาณว่าจะถือเฉพาะคุณพระรัตนตรัยเท่านั้น เป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต
ฝ่าย ภิกษุยาคู พระเจ้าคณะหมวด ก็นำพระมาฟังธรรมที่ป่าช้าทุก ๆ วัน และมายอมตัว พร้อมด้วยสานุศิษย์มาฝึกหัดกรรมฐานด้วยทุกๆ วัน
แต่ก่อนท่านองค์นี้ท่านเลี้ยงหมูขาย เลี้ยงไก่ขายบ้าง เลี้ยงม้าไว้ขี่บ้าง ซื้อโคให้คนไปขายเอากำไรแบ่งกันบ้าง
ต่อเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาซึ่งอาตมภาพนำไปแสดงว่า เป็นลัทธิของพระอลัชชี แต่นั้นมาท่านก็ให้คนนำเอาหมู เอาไก่ เอาม้า เอาโคออกไปจากวัดทั้งหมด
ประพฤติตนตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย จากนั้นก็ยิ่งกำเริบใหญ่ พิจารณาไปว่าเรานี้จะรื้อฟื้นพระศาสนาให้เจริญได้จริง ๆ เพราะมีคนเห็นด้วยแล้วเป็นส่วนมาก
เท่าที่ได้ยินได้ฟังก็นับว่ามีคนเชื่อถือมาก
จากนั้นก็ตั้งใจเที่ยวธุดงค์ไปอีก ๒ คืน ถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปพักอยู่ป่าไม้ทิศตะวันตกเมือง อยู่ ๓ วันเท่านั้น นายอุ้ม ผู้ใหญ่บ้านหัวขัว
มาฟังธรรมก็เกิดความเลื่อมใส ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา ต่อมาวันหลังก็นำลูกบ้านทั้งหมดมาปวารณาและ ปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ต่อมาอีก ๒ วัน นายหอม
นักปราชญ์บ้านดงเมือง เคยเป็นครูสอนบาลีและมูลกัจจายน์มาหลายปี
ครั้นมาเห็นเข้าก็ปฏิญาณด้วย วจีเภทอันเลื่อมใสว่า "จำเดิมแต่ข้าพเจ้าเกิดมาอายุ ๕๕ ปี พึ่งได้พบตัวศาสนาในวันนี้ เหตุนั้น ขอท่านสามเณร จงจำไว้ว่า
ข้าพเจ้าเป็นอุบาสกในพระศาสนา อันหมดจดตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปตลอดชีวิต" วันหลังมา นายหอมนักปราชญ์ ก็นำเพื่อนพร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านมาฟังธรรม
ก็มีความเลื่อมใสทุก ๆ คน มิได้แสดง ความขัดขวางอันหนึ่งอันใด
พระดีอ่อนแรง พระชั่วมีพลัง
จากนั้นอาตมภาพก็แสดงธรรมด้วยความหวัง ใจจะประกาศพระศาสนาตามความสำคัญของตนว่า "อนิจจา อนิจจา สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้า
ดับขันธ์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานนานมาได้ ๒๔๗๓ เท่านั้น บัดนี้ ฝ่ายโยมก็กลายเป็นเดียรถีย์ ฝ่ายพระก็เป็นอลัชชี ประพฤติย่ำยีพระธรรมวินัย
อันเป็นพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้า ให้เศร้าหมองเสื่อม สูญ อันตรธาน จะมิได้ตั้งอยู่นาน
เหตุนั้น บัดนี้มาเถิด ท่านอุบาสก จงช่วยยกพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองวัฒนาถาวร ธัมมะวาทิโน ทุพพะลา โหนติ อะวินะยะ วาทิโน
พะละวันโต โหนติ บัดนี้ ภิกษุผู้เป็นยุติเป็นธรรม ทุพพลภาพ มีกำลังน้อย เสื่อมถอยลง มิอาจว่ากล่าวแก่อลัชชี เจ้ามหาโจรปล้นพระศาสนา
ฝ่ายมหาโจรปล้นพระศาสนา มีกำลังกล้า สนุกประพฤติฝ่าฝืนพระธรรมวินัย เล่นการพนัน เล่นถั่ว เล่นโป เที่ยวเกี้ยวสีกา ตามทุ่งตามนา ซื้อถูกขายแพง หาทุนกำไร
สั่งสมปัจจัยไว้เพื่อญาติวงศ์ มิได้ตรงต่ออริยมรรคธรรมวินัย กลายเป็นเหล่าอลัชชี มิได้มีความหิริละอายต่อบาป ประพฤติหยาบ ๆ ล่วงสิกขาบท
นี่แหละ ท่านทายกอุบาสกอุบาสิกา เห็นเป็นการควรละหรือที่ท่านทั้งหลาย จะสมคบให้กำลังแก่พวกอลัชชีย่ำยีพระศาสนาให้กำเริบมากมายขึ้นทุกวัน
ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะกลับตัวเสียจากการยืมเงินยืมทองของพระ ของเณรไปเป็นทุนซื้อทุนขาย แบ่งทุนแบ่งกำไรซึ่งกันและกัน อันเป็นทางแห่งอบาย"
เมื่อเทศน์จบลง นายจันทร์เรือง และครูโรงเรียนชื่อ นายแก้ว ซึ่งอาศัยกินอยู่กับเจ้าคณะจังหวัด ท่านพระครูสังฆปาโมกขวาทยาจารย์
นำเอาเนื้อความซึ่งอาตมภาพกล่าวว่า โยมทั้งหลายเป็นเดียรถีย์ พระทั้งหลายก็เป็นอลัชชี
ไปเรียนท่านพระครูสังฆปาโมกขวาทยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์
◄ll กลับสู่ด้านบน
ถูกเจ้าคณะจังหวัดสอบธรรมวินัย
เมื่อท่านได้ทราบ ท่านก็โกรธใหญ่ ให้พระสมุห์ภัยไปไล่ บอกว่า "สามเณรจะมาแข่งกับพระจังหวัดกาฬสินธุ์หรือ เณรอย่ามาทำอย่างนี้เลย เณรจงหนีไปเถิด
เดี๋ยวจะถูกจับสึก" อาตมาตอบว่า "ผมหนีมาแล้วจากจังหวัดอุบลฯ จนถึงนี้ จะให้ผมหนีอย่างไรอีก ท่านสมุห์เล่า หนีแล้วหรือยัง ผมเห็นว่า
สมุห์ก็ควรหนีไปเที่ยวธุดงค์บ้างตามอริยประเพณี"
ท่านถามว่า "เณรเดินตามอริยประเพณีแล้ว หรือยัง" อาตมภาพตอบว่า "ผมเข้าใจว่าอริยประเพณี เป็นมาดังนี้"
ท่านถามอีกว่า "อริยประเพณีมีกี่อย่าง" อาตมภาพได้ตอบว่า "มี ๕ อย่าง คือ (๑) ไม่ฆ่าสัตว์อื่น (๒)
ไม่เข้าไปว่าร้ายและล้างผลาญคนอื่น (๓) สำรวมในพระปาฏิโมกข์ (๔) นั่งนอนเสนาสนะอันสงัด (๕) เป็นใหญ่ในจิตของตน ๕ อย่างนี้แหละเรียกว่า
อริยประเพณี"
ท่านจึงถามว่า "ถ้าเณรคิดเดินตามอริยประเพณี แล้ว ทำไมไปว่าเขาเป็นเดียรถีย์ เป็นพระอลัชชี ไม่ชื่อ ว่าเบียดเบียนเขาหรือ" อาตมภาพตอบว่า "เปล่าผม
ไม่ได้เบียดเบียน หากจะมีคนเดียรถีย์และพระอลัชชีแล้ว ผมสงสารว่าเขาจะไปตกนรก ผมกล่าวเพื่อให้บุคคลเช่นนั้นรู้สึกตัว เพื่อจะให้เขากลับมาสำรวมใน
พระธรรมวินัยในพระศาสนานี้"
ท่านถามว่า "เณรเข้าใจว่าใครเป็นเดียรถีย์ ท่านองค์ไหนเป็นอลัชชี" อาตมภาพตอบว่า "บุคคลไม่ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง บุคคลนั้นเป็นเดียรถีย์
ท่านองค์ไหนแกล้งประพฤติล่วงเกินพระธรรมวินัย ท่านองค์นั้นชื่อว่า อลัชชี"
ท่านถามว่า "เช่นฉัน เณรเห็นว่าเป็นอลัชชีหรือลัชชีบุตร" อาตมภาพตอบว่า "ถ้าท่านสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ท่านก็เป็นลัชชีบุตร
หากท่านไม่สำรวมในพระปาฏิโมกข์ละเมิดล่วงเกินพระวินัย ท่านก็เป็นอลัชชี"
ท่านจึงถามต่อไปว่า "เณรเป็นอรหันต์แล้วหรือ" อาตมภาพตอบว่า "ถ้าผมสำเร็จอรหันต์ ผมก็เป็นอรหันต์เท่านั้น ถ้าผมยังไม่สำเร็จอรหันต์
ผมก็ยังเป็นปุถุชนอยู่"
ท่านจึงถามอีกว่า "ธรรมอะไรทำบุคคลให้เป็นอรหันต์" อาตมภาพตอบว่า "ผู้เห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ ชื่อว่า พระอรหันต์"
ท่านจึงถามต่อไปว่า "เณรเห็นอริยสัจทั้ง ๔ แจ้งแล้วหรือยัง" อาตมภาพตอบว่า "ความรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ
เป็นความรู้ความเห็นของพระอริยเจ้า หากผมเป็นพระอริยเจ้า ผมก็รู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ หากผมเป็นปุถุชนอยู่ตราบใด
ผมก็ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ อยู่ตราบนั้น"
ท่านจึงพูดขึ้นว่า "ถ้าเช่นนั้น เณรก็เป็นทั้งปุถุชนทั้งอริยะใช่ไหม?" อาตมภาพตอบว่า "ธรรมดาผู้บำเพ็ญพรตในศาสนาพระพุทธเจ้า แรกก็เป็นปุถุชน
ปฏิบัติเพื่ออริยมรรคนั้นเอง"
ท่านสมุห์ภัยถามต่อไปว่า "เณรได้อริยมรรคแล้วหรือยัง" อาตมภาพตอบว่า "ผมจำได้ซึ่งอริยมรรค ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด"
ท่านจึงบ่นต่อไปว่า "แค่จำองค์อริยมรรค ๘ ได้เท่านั้น ก็สำคัญตนเป็นผู้วิเศษไปแล้ว อ้ายพรรค์นี้มันบ้าจริงๆ ตัวของเณรนี้แหละเป็นตัวอลัชชีใหญ่
แกบวชเข้ามาเบียดเบียนหมู่พวกภิกษุสามเณร ไปดูหมิ่นดูถูกเพื่อนบรรพชิตด้วยกันทั้งหมดว่าพวกนั้นเป็นอลัชชี พวกนี้เป็นลัชชีบุตร
เดี๋ยวแกจะยุสงฆ์ให้แตกร้าวกัน เป็นอนันตริยกรรม (กรรมหนัก) ตัวของเณรเองจะมีโทษถึงอนันตริยกรรม ตายแล้วแกก็ไปตกอเวจีมหานรกเท่านั้น
เดี๋ยวนี้แกไม่ควรเป็นเณรแล้ว การติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นนาสนังคะ ขาดคลอง เณรมิใช่หรือ
ตกลง เณรนี้แกไม่ใช่เป็นเณรแล้ว แกติเตียนพระสงฆ์ นี้ท่านอุบาสกอุบาสิกา เธอคนนี้ไม่ใช่เณรแล้ว พวกเจ้าทั้งหลายอย่าเชื่อถือมาก
พวกเจ้าจะเป็นบ้าไปตามเธอคนนี้ทั้งหมด ใช้ไม่ได้ หากพวกเจ้าติเตียนพระสงฆ์เสียแล้ว พวกเจ้าจะไปทำบุญที่ไหน เพราะพระสงฆ์เท่านั้นเป็นบุญเขตของโลก"
จากนั้นท่านจึงหันหน้ามาถามอาตมภาพว่า "ใช่ไหมเธอ หรือเธอเห็นเป็นอย่างไรอีก" อาตมภาพตอบว่า "ท่านจะถามถึงความเห็นของผม
ผมก็มีความเห็นอยู่หลายอย่างหลายประการ มีนัยจะพูดอยู่มากมายมิใช่น้อย" ท่านสมุห์ภัยจึงบอกว่า "แกมีความเห็นมากมายนั้น เห็นอย่างไร จะพูดได้มากมายนั้น
แกจะพูดได้อย่างไร ลองพูดขึ้นมาดู"
ขาดจากความเป็นเณรหรือไม่
อาตมภาพพูดต่อไปว่า "เท่าที่ท่านสมุห์จะมาโทษว่าผมขาดจากเณรทีเดียว ด้วยเหตุแห่งการติเตียนพระอลัชชีเท่านั้น ผมไม่เห็นด้วย
เพราะผมไม่ได้ติเตียนพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ผมพูดเพื่อจะให้พระอลัชชีรู้ความผิดของตนเท่านั้น
ส่วนพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ผมไหว้อยู่ทุกวันว่า สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ จนถึง สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ผู้ปฏิบัติดีและเป็นผู้ปฏิบัติชอบเท่านั้นแหละ ชื่อว่า พระสงฆ์สาวกของพระพุทธ เจ้า ผมมิได้ติเตียนพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี
ผมกล่าวตามโทษของบุคคลผู้กระทำผิดพระวินัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านเคืองอะไรหนักหนา หรือท่านประพฤติผิดพระธรรมวินัยกับเขาบ้าง" ท่านตอบว่า "อย่าว่า
แต่ฉันเลย เจ้าคณะแขวงก็มีม้า มีวัว มีเงินตั้งหลายพันบาท ไม่เห็นใครว่าท่านเป็นพระอลัชชี"
อาตมภาพตอบท่านว่า "ถ้าเช่นนั้นท่านทั้งหลาย ค่อนข้างจะเป็นพระอลัชชีไปแล้วมิใช่หรือ พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
มิได้ยกเว้นเจ้าคณะแขวงให้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยมิใช่หรือ ใครต่อใครก็ตาม ครั้นเมื่อบวชแล้วก็มีศีลสังวร ๒๒๗ ข้อ เสมอภาคกัน มิใช่หรือ
หรือท่านยกเว้นที่ไหนบ้าง"
ท่านสมุห์จึงพูดว่า "ขี่ม้าเท่านั้น จับเงิน ขายทอง และซื้อขายของบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น จะขาดความเป็นสมณะด้วยหรือ เณร"
อย่างไรถึงจะชื่อว่าสมณะ
อาตมภาพตอบว่า "ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะด้วย เหตุแห่งการเบียดเบียนสัตว์อื่นนั้นเอง ดังมีในภาษิตว่า นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต แปลว่า ผู้ฆ่าสัตว์อื่นและเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลยครับ"
ท่านก็โกรธใหญ่ว่า "ถ้าเช่นนั้น เณรก็คงเหมาพระทั้งหมดว่าไม่ชื่อว่าเป็นสมณะใช่ไหม" อาตมภาพตอบว่า "ผมไม่ได้เหมาใครเลย
เป็นแต่ผมแสดงธรรมไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น"
ท่านสมุห์ภัยจึงพูดขึ้นว่า "เรื่องอื่นมีถมไป ทำไมเณรไม่เทศน์ ทำไมเณรจึงเทศน์เรื่องส่อเสียดพระเจ้าพระสงฆ์"
อาตมภาพตอบว่า "อันที่จริง ผมต้องการประกาศพระศาสนา ในเรื่องนี้ผมพิจารณาเห็นว่า ผู้บวชในศาสนาทุกวันนี้ ถือกันแค่เป็นเจ้าลัทธิเท่านั้น
สำคัญว่าได้บวชก็เป็นตัวบุญเท่านั้น คือถือเอาแค่ ลัทธิศรีษะโล้นห่มผ้าเหลืองเท่านั้น เป็นอันว่าสำเร็จ ในการบำเพ็ญบุญ แล้วก็ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ต่าง ๆ
เพราะสำคัญว่าเราเป็นพระแล้ว ทำผิดไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะใครเขาคงจะไม่อาจว่าเราได้ง่าย ๆ เพราะเราเป็นพระ ถ้าเขามาพูดดูหมิ่นเราโดยเหตุเล็กน้อยเท่านั้น
เขาก็กลัวเป็นบาป เพราะเราเป็นพระแล้ว
ข้อนี้แหละเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อม ฝ่ายพระก็ทะนงตัวว่าเราเป็นพระ ใครไม่อาจดูหมิ่นเราได้ ฝ่ายโยมเห็นความผิดของพระ
ก็ไม่กล้าทักท้วงเพราะกลัวเป็นบาปนี้เอง ทั้งฝ่ายพระก็ไม่มีความละอายกลายเป็นพระอลัชชี ทั้งฝ่ายโยมก็เห็นผิดกลายเป็นเดียรถีย์
ต่างก็พากันมาสำคัญลัทธิที่ผิด ๆ เท่านี้ ว่าเป็นกุศล มิได้ประพฤติตามความจริงของพุทธศาสนา ต่างก็มาสำคัญปฏิปทาของพระพุทธศาสนาว่า หมดวิธีทำกันเท่านี้
แล้วก็นอนใจอยู่ มิหนำซ้ำยังประพฤติเหลวไหลผิดธรรมวินัยลงไปอีก พวกนี้มันเกิดมาประพฤติย่ำยี พระพุทธศาสนาให้ถึงแก่ความคร่ำคร่าลงไป จะได้ นามว่า พุทธบริษัท
คือ เป็นหมู่เหล่าของท่านผู้รู้วิเศษ อย่างไรได้"
จากนั้นฝ่ายคณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ มีท่านพระครูสังฆปาโมกขวาทยาจารย์เป็นประธาน กักตัวของอาตมภาพ
แล้วยื่นคำร้องเรียนมายังพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธิวงศาจารย์ อยู่จังหวัดนครราชสีมา
หาว่าอาตมภาพดูหมิ่นผู้ประพฤติพุทธศาสนาทั่วไปในสังฆมณฑล ตกลงเวลานั้นถูกกักพร้อมทั้งไต่สวนอยู่ที่นั่น ๑ เดือนกับ ๑๔ วัน เพราะสงฆ์ในจังหวัดกาฬสินธุ์
อุทธรณ์ ๒ ครั้ง หมายว่าจะให้ฉิบหายจากศาสนาไปเลย ทั้งบังคับให้สึก ขู่เข็ญหลายอย่างหลายประการ
ยอมตายดีกว่ายอมสึก
อาตมภาพปฏิญาณตนว่า "เมื่อชีวิตนี้ยังอยู่ตราบใด จะไม่เปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกาย หากท่านทั้งหลายจะสึกผมแล้ว
จงทำศีรษะของผมให้ขาดออกจากร่างกายนี้เป็น ๒ ท่อนก่อน ค่อยเปลื้องผ้าเหลืองออก จึงจะเป็นอันสึก หากดวงชีวิตนี้ยังอยู่ อย่าเลย ท่านทั้งหลายเอ๋ย
ในชีวิตนี้เป็นไปไม่ได้เสีย แล้วในการสึกของผม ถึงไหนถึงกัน หากจะล้างผลาญชีวิตของผมให้ตายลงวันนี้ ผมก็ยอมตาย หากจะให้สึก ก็จะไม่ยอมสึกเป็นอันขาด
ในชีวิตนี้ท่านทั้งหลายต้องการอย่างไร ทำไปเถิด หากผมไม่ได้มอบชีวิตนี้ ถวายแก่พรหมจรรย์แล้ว ที่ไหนผมจะมาแสดงในข้อ
ว่าท่านทั้งหลายประพฤติค่อนข้างเป็นอลัชชี ท่านทั้ง หลายจงฟังดูเถิด คำพูดอันนี้เป็นคำดูหมิ่นพระอลัชชีโดยตรงอยู่แล้ว ท่านทั้งหลายเห็นคนอื่นเขาพูดกันไหม
เพราะเขากลัวตายกันอยู่ จึงช่วยนิยมความประพฤติผิดพระธรรมวินัยว่าเป็นของถูกของนิยมกันอยู่เท่านั้น ส่วนผมเล่า เอาเถอะ ในชีวิตนี้จะตายลงวันไหนก็ตาม
ขอแต่ได้ประพฤติพระธรรมวินัยให้เป็นให้อยู่ และได้นำความจริงของศาสนามาประกาศตามเป็นจริงอยู่เช่นนี้
ผมมิได้ห่วงในชีวิตที่จะทำกิจของพรหมจรรย์ให้เป็นไปอยู่ เพราะผมได้มอบชีวิตแล้วแก่พรหมจรรย์อย่างแน่นแฟ้น เรื่องของศาสนานี้ผมมิได้หวาดหวั่นแล้ว
อย่าว่าแต่ท่านทั้งหลายจะมาขู่ให้ผมสึกหรือให้เห็นตามข้อประพฤติที่ผิด ๆ ของท่านทั้งหลาย ไม่มีทางหรอก ท่านทั้งหลายเอ๋ย คนเช่นผม หากไม่แน่นอนในใจแล้ว
ก็จะไม่ประพฤติทั้งจะไม่พูดในเรื่องนั้น ๆ ถ้า ประพฤติหรือพูดลงไปแล้ว ยอมสละชีวิตลงแทนคำพูด และความประพฤติของตนอย่างเด็ดหัวตัวขาดทีเดียว
คำพูดทั้งหมดที่ผมแสดงไปว่า พระทั้งหลายเป็นอลัชชี โยมทั้งหลายกลายเป็นเดียรถีย์ ข้อนี้นั้นผมเผดียงหาตัวพระอลัชชีเท่านั้น มิใช่ผมพูดด้วยความเห่อเหิมว่า
มีคนนับถือเท่านั้น
บัดนี้ ผมขอประกาศอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ตัวของผมเองได้มองเห็นมลทินของศาสนาคือ พระเณรประพฤติไม่เป็นยุติเป็นธรรมแล้ว ตั้งแต่ครั้งผมจำพรรษาอยู่ที่
ถ้ำภูเขากูด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงได้เที่ยวธุดงค์ออกมาเพื่อประกาศพระพุทธศาสนา ทั้งเผดียงหาตัวพระอลัชชี พึ่งมาพบเมื่อเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปี พ.ศ.
๒๔๗๓ ในจังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง ก็ชอบกลอยู่ ข้าพเจ้าเกิดก็เกิดเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ตั้งใจจะทำกิจของศาสนา ก็มีกาลถึงพร้อมในกำหนดวันเดียวกัน
บางทีต่อไปข้างหน้า หากชีวิตของข้าพเจ้ายังตั้งอยู่ไปนาน อาจจะบริหารพระพุทธศาสนานี้ให้เป็นยุติเป็นธรรมก็อาจเป็นได้ นี้แหละ ฟังดูเถิดท่านทั้งหลาย
ความตั้งใจของผมได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ ที่ไหนผมจะหวั่นไหวต่อความกระทบกระทั่งของท่านทั้งหลายด้วยฝีปากเท่านี้ มิได้มีเลย แม้แต่ชีวิตนี้ผมก็ได้สละลงแล้ว
เพื่อกิจของศาสนาอันมีคุณานุภาพอันยิ่งใหญ่ไพศาล"
ถูกชำระโทษ
ครั้นเมื่ออาตมภาพหยุดนิ่งอยู่ ฝ่ายคณะสงฆ์ก็เขียนคำร้องทุกข์มาเป็นครั้งที่ ๒ ผลที่สุด พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี ที่อยู่วัดบรมนิวาสทุกวันนี้
จึงตัดสินใจให้เอาตัวอาตมภาพลงไปชำระที่ จังหวัดนครราชสีมา อาตมภาพจึงมีจดหมายไปเรียน ท่านอาจารย์สิงห์ และ อาจารย์มหาปิ่น
พร้อมกับท่านพระครูวิเศษสุตคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ท่านอาจารย์สิงห์ และท่านอาจารย์มหาปิ่นก็ลงมาแก้ไขช่วย พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี
ที่จังหวัดนครราชสีมา ตกลงท่านก็ตัดสินยกเลิก และเสนอเอาตัวของอาตมภาพกลับไปอบรมปฏิปทาของศาสนา ในสำนักของท่านอาจารย์สิงห์และท่านอาจารย์มหาปิ่นอีก
ครั้นเมื่อกลับถึงสำนักของท่านอาจารย์สิงห์แล้ว ท่านก็แนะนำอุบายให้ว่า
บัดนี้ คณะพระปฏิบัติยังไม่มีความกล้าหาญเสมอภาคกัน ยังริเริ่มอยู่ จงปฏิบัติเรื่อย ๆ ไปเถิด ต่อเมื่อกาลถึงพร้อม จงทำกัน หากไม่มีโอกาสอันเหมาะแล้ว
จงแสวงหาความพ้นทุกข์โดยส่วนตัวนั้นเถิด เพราะเวลานี้ พวกพระปฏิบัติยังอ่อนเหมือนกำลังหว่านข้าวกล้าลงในนานั่นเอง
๑. พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ต่อมาเป็นพระราชาคณะ ที่ พระญาณวิศิษฏ์ มรณภาพเมื่อ ๘ กันยายน ๒๕๐๔
๒. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ป.ธ.๕ มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙
◄ll กลับสู่ด้านบน
kittinaja - 14/10/08 at 11:52
(Update 14 ต.ค. 51 ตอนจบ)
เศรษฐีจะยกลูกสาวให้
เมื่ออาตมภาพได้รับโอวาทของท่านแล้ว จึงขอลาท่านไปจำพรรษาอยู่ที่ ภูเขาฝ่ายพญานาค ในพรรษานั้นตั้งใจบำเพ็ญความสงบส่วนตัว ก็ได้ความสบายใจ
มิได้มีอุปสรรคอันหนึ่งอันใดเลย เมื่อออกพรรษาแล้วเที่ยวธุดงค์ไปจังหวัดมหาสารคาม ไปพักอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่ง มีคนตระกูลหนึ่ง เขาเป็นคนมีทรัพย์พอสมควร
เขาก็นิมนต์ให้พักอยู่ที่ป่าช้าได้ ๒๐ วัน แกคนนั้นเป็นคนเข้าออกปฏิบัติทั้งลูกทั้งแม่
ครั้นต่อมา โยมคนนั้นจึงเล่าความเป็นอยู่ของเขาว่า "ผมก็แก่แล้ว การไปมาก็ไม่สะดวก และผมก็เป็นทุกข์อยู่อย่างหนึ่ง คือหากผมตายลงไป
กลัวจะไม่มีใครพาลูกของผมอยู่ เพราะมีลูกสาวคนเดียวเท่านั้น ทรัพย์สิ่งของก็มากมาย ไม่รู้ว่าใครจะมาช่วยรักษาและพาลูกของผมอยู่กินไปข้างหน้า
คนโดยมากไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม เป็นแต่นักเล่นถั่วเล่นโป และนักเลงสุรา หากจะเอาคนพวกนั้นมาปกครองรักษาทรัพย์ ก็เป็นอันว่าถึงความฉิบหายเท่านั้น
ท่านคุณเณรก็ดูยังน้อย ยังหนุ่มนัก ขอให้อยู่ไปนาน ๆ ก่อน อย่าได้เที่ยวไปทางอื่นอีก หรือหากจะสึกออกมาพ่อก็จะมอบสมบัติให้ครอบครอง"
อาตมภาพก็นั่งนิ่ง มิได้พูดคำหนึ่งคำใด ทำประดุจหนึ่งว่านั่งสมาธิ ดูเหมือนว่าแกมีความละอายขึ้นมา แล้วก็ลากลับขึ้นบ้าน ครั้นเมื่อค่ำลงวันนั้น
อาตมาจึงพิจารณาต่อไปว่า
"บัดนี้เรามีอายุเพียง ๒๐ ปีเท่านั้น บัดนี้เราหนุ่ม จะอยู่ในศาสนาไม่ตลอดชีวิต"
ครั้นพิจารณาเช่นนี้ ก็รู้สึกขึ้นมาทันทีว่า บัดนี้จิตของเราเอนเอียงไปตามความชักนำของโยมคนนั้น ครั้นระลึกขึ้นได้ก็ทำประดุจหนึ่งว่าขู่จิตของตนว่า
"เราปฏิบัติหาทางพ้นทุกข์ก็เป็นเวลา ๗ ปีนี้ เรื่องอะไรหนอจะมาอาลัยกับมาตุคามอยู่เช่นนี้ อย่าเลยนะ สถานที่นี้เป็นอัปมงคลแล้ว
เราควรไปเสียเดี๋ยวนี้แหละจะดีกว่า" ครั้นพิจารณาแล้วก็หลบหนีไปในคืนวันนั้น
คืนสู่ป่าเพื่อดัดใจ
ครั้นเดินไปตามทางกลางคืนวันนั้น ตั้งใจพิจารณาว่า "เจ้าวิชาอยู่ลุ่มลึกยิ่งนัก มาทำความวิจิกิจฉา สงสัยมิเข้าเรื่องเข้าการ อย่าเลยนะ
เราจะต้องเข้าป่าเข้ารกเพื่อดัดสันดานความลุ่มหลงนี้ให้แยบคายลงไป" ครั้นเมื่อพิจารณาตกลงเช่นนั้น ก็เที่ยวเข้าไปหาที่สงบ อีก ๕ วันถึงแม่น้ำโขง
แล้วก็เดินไปตามภูเขา อาศัยบิณฑบาตฉันตามบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีอยู่ตามชายเขา อีก ๓ วันถึงภูเขาคง แขวงเมืองคำทอง
ก็พักทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งชื่อ ถ้ำสองห้อง และพักจำพรรษาอยู่ที่นั้น ในกลางพรรษานั้น บำเพ็ญทรมานอดข้าว ๗ วันฉันหนหนึ่ง จนตลอดพรรษา
ในเดือนแรกนึกว่าชีวิตนี้จะตั้งอยู่ไม่ตลอด ๓ เดือน เพราะมีอาการเหน็บชาไปทั่วร่างกาย
ครั้นถึงวันคำรบ ๗ ก็ฉันข้าว ขณะที่ฉันลงไปประมาณครึ่งอิ่ม เกิดอาการอยากนอนขึ้นมา ครั้นฉันจนอิ่มก็มีอาการมืดหน้ามืดตา ถึงจะลืมตาอยู่ก็มองไม่เห็นอะไร
มืดไปหมด ถึงจะลืมตาดูตะวันก็ไม่เห็นตะวัน อยากแต่จะนอนเสียให้ได้ เมื่อนอนอิ่มหนึ่งแล้วตื่นนอนขึ้นมา จึงมองเห็นอะไรต่ออะไรได้
ครั้นต่อมาเดือนที่ ๒ ก็ทำอย่างนั้นเรื่อยไป คือ ๗ วันฉันหนหนึ่ง ถึงวันคำรบ ๗ แล้วก็ออกบิณฑบาตมาฉัน ครั้นฉันก็มีรสดี แต่ฉันมากไม่ได้
ถ้าฉันมากจะอาเจียนออกมาหมด แต่ไม่ถึงกับมืดหน้ามืดตาเหมือนอย่างแต่ก่อน จากนั้นก็อุตส่าห์บำเพ็ญต่อไป
ในระหว่างนั้น วันไหนยังไม่ถึงวันกำหนดฉัน ตื่นขึ้นแต่เช้ารู้สึกเหน็บชาตั้งแต่ปลายเท้าจนถึงหนังศีรษะ แต่ก็ทำต่อไปจนตลอดพรรษา
ร่างกายรู้สึกซีดผอมเหี่ยวแห้งมาก ออกพรรษาแล้วก็กลับมาฉันทุกวัน ได้ ๑๖ วัน ปรากฏมีเหงื่อชุ่มปลายเท้า ปลายมือ และริมฝีปาก
ส่วนผิวหนังก็หุบเหี่ยวเปราะลอกออกได้ยาว ๆ ตามหลังมือ หรือข้อศอก ผิวหนังที่ลอกออกมามองใส่ตะวันเห็น รูขนเป็นแถว ๆ
ได้พิจารณาเป็นอนิจจัง ดวงชีวิตยังตั้งอยู่ภายในกายนี้ แต่ผิวหนังที่ลอกออกมานี้ เขาตายไปแล้วจากความเป็นอยู่แห่งชีวิต
ครั้นพิจารณาดังนี้ก็เกิดความสังเวชขึ้นมาก รู้สึกจิตดิ่งลงไปตั้งอยู่เป็นปกติ
◄ll กลับสู่ด้านบน
นิมิตว่าจะได้บวชพระ
จากนั้นไปก็พิจารณาความสงบอันนั้นให้นิ่งอยู่ นิมิตปรากฏเห็นช้างสารใหญ่ ๒ ตัว เข้ามาจับทั้งตัวของอาตมภาพขึ้นนั่งบนหลัง แล้วพาขึ้นไปบนภูเขา สูง ๆ
คว้าเอาผ้าไตรจีวรมาวางลงที่ไหล่ขวาแห่งอาตมภาพ แล้วก็ยกลงวางไว้ที่บนก้อนหินที่ยอดภูเขา จากนั้นก็รู้สึกตัว นั่งสมาธินิ่งอยู่ที่ก้อนหิน
พิจารณาต่อไปว่านี้เรื่องอะไร ได้ความว่า การอุปสมบท เป็นพระของเรา ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายท่านจะโปรดอนุเคราะห์ จากนั้น อาตมภาพก็เที่ยวธุดงค์
มาจากเมืองคำทอง ดินแดนของฝรั่งเศส เรื่อยมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๗๕
เข้ากรุง
ครั้นมาถึงในวันนั้น พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี จึงเรียกเข้าไปถามว่า "เณรนี้หรือที่ถูกเจ้าคณะแขวงจังหวัดกาฬสินธุ์กักตัว"
อาตมภาพก็รับตามเป็นจริง ท่านจึงจับมือไปดูลายลักษณะที่มีอยู่ในฝ่ามือ แล้วท่านก็สั่งว่า "จงหัดนาคเสีย ถึงเวลาอุปสมบทแล้ว"
ครั้นวันหลังก็สั่งไปกับแม่ชีเป๋าว่า "เรียนท่านที่วังให้ทราบ อาตมาจะบวชพระรูปหนึ่ง หวังว่าคงไม่เหลือวิสัย"
จากนั้นคุณเป๋าก็มาเรียนพระเดชพระคุณท่านที่วัง พระคุณท่านที่วังก็รับอนุเคราะห์จัดการสมณบริขาร อุปสมบทอาตมภาพเป็นภิกษุในศาสนา เมื่อ เดือน ๕ ขึ้น ๕
ค่ำ ในปี พ.ศ. นั้น ครั้นบวชแล้วก็อยู่ ในกรุงเทพฯ นี้ไม่กี่วัน
คืนสู่โคราช
เดือน ๕ ข้างแรม ท่านเจ้าคุณก็นำตัวของ อาตมภาพกลับไปที่โคราช อาตมภาพได้จำพรรษาที่ วัดป่าช้าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมานั้น
ออกพรรษาแล้วอาตมภาพก็เที่ยวลงมาทางพระบาทสระบุรี เตลิดเข้ามาที่กรุงเทพฯ นี้ อยู่ ๘ วัน อาตมภาพก็ขอเจริญพรลา พระเดชพระคุณโปรดช่วยอนุเคราะห์ค่าโดยสารรถ
เสร็จแล้วอาตมภาพก็กลับไปจำพรรษาที่ "วัดป่าสาลวัน" ของคณะอาจารย์สิงห์ที่โคราชอีก
ในระหว่างกลางพรรษาที่ ๒ เกิดโรคเหน็บชา อ่อนเพลีย บางวันก็ไปบิณฑบาตไม่ได้ บางวันก็ไปได้ หายาที่ไหนมาฉันก็ไม่หาย นึกรำคาญใจขึ้นมา
ก็นึกว่าจะไม่ฉันอาหารเสียเลย ให้มันตายเสียดีกว่าจะอยู่เป็นทุกข์ไปอีกหลายวัน.
คาถาประจำตัวของ พระอาจารย์นาค โฆโส
สะริตวา ปุพพะเก ชิเน
สัจจะพะละมะวัสสายะ
สัจจะกิริยะมะกาสะหัง
สันติ ปักขา อะปัตตะนา
สันติ ปาทา อะวัญจะนา
มาตา ปิตา จะ นิกขันตา
ชาตะเวทะ ปะฏิกกะมะ ฯ
หมายเหตุ มาจาก วัฏฏะกะปริตร (คาถานกคุ่ม) แปลว่า "ข้าระลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน อาศัยกำลังสัจจะขอทำสัจกิริยา
ปีกทั้งสองของข้ามี แต่ยังบินไม่ได้ เท้าทั้งสองของข้ามี แต่ยังเดินไม่ได้ แม่และพ่อของข้าก็บินหนีไปเสียแล้ว จงถอยไปเถิด..ไฟป่า! "
◄ll กลับสู่ด้านบน
****************************
เป็นอันว่า หนังสือประวัติ "สามเณรบุญนาค เที่ยวกัมมัฏฐาน" ก็จบลงเพียงแค่นี้ พยายามติดตามหาประวัติตอนต่อไป
หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ปรากฏว่าหาไม่พบเลย จึงขอยุติไว้เพียงแค่นี้ ส่วนข้อปฏิบัติของท่าน ที่มีความแน่วแน่อุตสาหะอย่างไร
อันเป็นแนวทางพอที่ปฏิบัติตามได้ ก็ขอให้เลือกทำไปตามอัธยาศัยเถิด.