ประวัติพระพุทธศาสนา โดย.."อุณากรรณ" ( เล่มที่ 1 )
webmaster - 28/2/08 at 22:03
ประวัติพระพุทธศาสนา ณ สุวรรณภูมิ
โดย..."อุณากรรณ" เรียบเรียง
สารบัญ
(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)
01. "สุวรรณภูมิ" อยู่ที่ไหนกันแน่..?
02. พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี
03. ปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญชัย
04. การเฉลยปัญหาธรรม
05. ทรงริเริ่มพระราชพิธีสืบชะตา
06. ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย
07. ประวัติ "รอยพระพุทธบาท" ที่สระบุรีและภูเก็ต
08. ชาติไทยกับพระพุทธศาสนา
09. ชาติไทยกับหนังสือไทย
10. สุวัณณภูมิฟื้นชื่อ
11. เมืองสรวง (สมัยพระกุกกุสันโธพุทธเจ้า)
12. พุทธศาสนารุ่งเรืองในสุวรรณภูมิ
13. โลกวิทยา
14. ยุคที่ ๑ ขุนสรวง และ นางสาง
15. อนาคตวงศ์
16. ทรงสละราชสมบัติออกบรรพชา
17. ถวายเศียรเกล้าบูชาธรรม
18. ช้างปาลิไลยกะ
19. ยุค ๒ (พุทธันดรที่ ๒) ขุนแถนเทียนฟ้า-สีทองงาม
20. พระพุทธโกนาคมน์เสด็จโปรด "อาณาจักรแถนไทย"
ตอนที่ ๑
"สุวรรณภูมิ" อยู่ที่ไหนกันแน่..?
ผู้อ่านได้เคยติดตามประวัติผลงานของ "พระมหินทเถระ" ซึ่งท่านได้นำ "คณะสมณทูตสายที่ ๘"
เดินทางไปประดิษฐานพระพุทธศาสนา สร้างความเจริญรุ่งเรืองในประเทศลังกามาตราบเท่าถึงทุกวันนี้
ซึ่งเคยลงในหนังสือ "ธัมมวิโมกข์" เมื่อหลายปีก่อนเป็นตอนๆ มาแล้ว นับเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านโดยทั่วไป
สำหรับตอนแรกนี้ เรามาศึกษาผลงานการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของ "พระโสณะ" และ "พระอุตตระ"
กันบ้าง ซึ่งท่านได้นำ "คณะสมณทูตสายที่ ๙" เดินทางมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่ "สุวรรณภูมิ"
แต่ตามหลักฐานทางคัมภีร์ ต่างๆ ไม่มีรายละเอียดมาก ฉะนั้น ก่อนที่จะถึงเรื่องราวต่อไปเราต้องมาศึกษา
ค้นคว้าดินแดน "สุวรรณภูมิ" ว่าอยู่ที่ไหนกันแน่...?
นับตั้งแต่พุทธปรินิพพานมาจนถึงปัจจุบันนี้ ประเทศต่างๆ ที่รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท (หินยาน)
เช่น ประเทศอินเดีย ลังกา พม่า เขมร และลาว เป็นต้น เราจะสังเกตได้ว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเจริญ
วัฒนาถาวรอยู่ในอาณาเขตประเทศไทยประชากรส่วนใหญ่ทั้งประเทศ
นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักประจำชาติไทยเพราะเมื่อเราแหงนดูไปเบื้องหน้าจะเห็นยอดช่อฟ้าใบระกา หรือยอดพระปรางค์เป็นต้นปรากฏเป็นสัญลักษณ์อยู่ทั่วไป
พระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ ๕
ส่วนกิจการด้านพระศาสนา มีการจัดระบบการปกครองคณะสงฆ์ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้าน
พระศาสนา พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกามีสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรม และยังมีตำราเรียนทางพระพุทธศาสนาอย่างครบถ้วน
อีกทั้งสำนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานก็มีอยู่ทั่วไป
ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศดังกล่าวมาแล้วนี้ ด้านการพระศาสนาของเรา มีความเจริญมั่นคงกว่า
ประเทศใดๆ ในปัจจุบันนี้เรามีพระมหากษัตริย์ธรรมิกราช ผู้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก อีกทั้งมีพระมหาเถระ
ผู้ทรงความรู้ ความสามารถอีกมากมาย จึงเป็นการยืนยันได้ว่าประเทศของเรายังมีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ครบถ้วน
ทั้ง ๓ ประการ สมกับเป็นประเทศที่สืบต่ออายุพระศาสนาอย่างเต็มภาคภูมิ ตามเหตุผลดังที่กล่าวมานี้
อนาคตังสญาณ
คราวนี้เราจะลองย้อนกลับไปในอดีต ถึงเจตนารมย์ของ พระเจ้าอโศกมหาราช และ พระโมคคลีบุตรติสสเถระ
ที่ได้จัดส่ง "คณะสมณทูต" ออกไปประกาศพระศาสนาตามประเทศต่างๆ นั้นตามที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า
พระโมคคลีบุตรติสสะ ท่านเป็น "พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ" ท่านจะต้องทราบด้วย "อนาคตังสญาณ"
คือการรู้เหตุการณ์ในอนาคตของท่านว่า
ในกาลต่อไป เมื่อพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากชมพูทวีป อินเดีย แล้ว อาณาเขตประเทศไทยในเวลานี้
ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะต้องเป็นดินแดนที่สามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ตลอด ๕๐๐๐ปี
คงจะเป็นไปไม่ได้ที่ท่าน จะไม่ส่ง "คณะสมณทูต" มาทางด้านนี้ เพราะในเวลานั้น พระเจ้าอโศกมหาราช
กำลังมีพระราชอำนาจในการปกครอง แผ่ไปทั่ว พระองค์จะต้องทรงปรึกษากับพระมหาเถระอย่างรอบคอบ
จะต้องสอบถามว่าสถานที่ใดสมควรหรือไม่
การที่ท่านส่ง "คณะสมณทูต" ไปทั้ง ๙ สายในเวลานั้น หลังจากการทำ สังคายนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕
กลับเป็นผลดีแก่พระศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิด และลังกาก็เป็นประเทศที่รับช่วง
ต่อมา แม้แต่ พม่า เขมร และลาว พระพุทธ ศาสนาก็เคยรุ่งเรืองมาก่อน แต่ก็ต้องมาเสื่อมโทรม
ในกาลภายหลัง
ทั้งนี้ เหตุเพราะพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สถานการณ์ของ
บ้านเมือง ตลอดจนผู้นำของประเทศ เป็นต้น ถ้าบ้านเมืองมีความสงบสุข เศรษฐกิจดี มีความมั่นคง
พระศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์ เป็นอย่างดี หากบ้านเมืองประสบปัญหาถูกข้าศึกรุกราน หรือมีปัญหา
การเมืองภายในประเทศ พระศาสนาต้อง พลอยได้ รับความกระทบกระเทือนไปด้วย
รวมความว่า ตามสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ประเทศที่รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ที่กำลังมี
ความเจริญมั่นคงอยู่ในขณะนี้ ก็มีแต่ประเทศไทยเท่านั้น เราเพียงแต่หาหลักฐานมายืนยันเท่านั้นว่า
พระโสณะ และ พระอุตตระ เดินทางมา "สุวรรณภูมิ" นั้น
อยู่ที่ไหนกันแน่...?
พลิกประวัติศาสตร์และโบราณคดี
อันดับต่อไปจะขอนำเอกสารต่างๆ มา เป็นหลักฐานประกอบ เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษา ขอให้
ท่านผู้อ่านที่กำลังสนใจติดตาม "ประวัติพระพุทธศาสนา" ตามที่ได้เคยเรียบเรียงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่อินเดีย ลังกา
กำลังจะมาถึงประเทศไทยแล้ว ขอได้โปรดช่วยกันวินิจฉัยด้วยว่า พอจะเป็นจริงหรือมีเหตุผลพอเพียงหรือไม่
เพราะผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยสันทัดในเรื่องนี้ จึงขอทำหน้าที่แต่เพียงค้นคว้าหาให้อ่านกันเท่านั้น
สำหรับหนังสือที่นำเป็นหลักฐาน ส่วนมากจะกล่าวอ้างมาจากพงศาวดารบ้าง ตำนาน บ้าง จากศิลปวัตถุโบราณ
ที่ขุดพบได้บ้าง จากศิลาจารึกที่ปรากฏอยู่บนพื้นดินบ้าง และที่เป็น หลักฐานที่ดีที่สุดที่ฝังอยู่ใต้พื้นดินเรียกกันว่า
"กระเบื้องจาร" จะนำมาเสนอเป็นตอนสุดท้าย
ตามหลักสูตรการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนมากเราจะรู้จักแต่อาณาจักรที่ครอบครองอยู่ในดินแดน
แถบภาคเหนือทั้งสิ้น เช่น อาณาจักรเชียงแสน เป็นต้น ต่อมาอาณาจักรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็ คือ อาณาจักรสุโขทัย
ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมา แล้วเราจึงเริ่มรู้จักคำว่า กรุงศรีอยุธยา กัน โดย พระเจ้าอู่ทอง เป็นผู้สร้าง
เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ "อาณาจักรศรีอยุธยา" จึงได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้น
เป็นอันว่า ประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น
นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี หรือที่ใครเขาวิเคราะห์กันว่าน่าจะเป็นเขตของ "อาณาจักรทวารวดี"
หรือ "อาณาจักรสุวรรณภูมิ" มาก่อน อันนี้เราไม่มีตำราเรียนกัน นอกจากจะค้นคว้าหาจากตำนานที่พอเหลืออยู่บ้าง
แต่ก็ หาสมบูรณ์ครบถ้วนได้ยากเต็มที คงจะถูกทำลายไปเสียหมด ประวัติศาสตร์ช่วงนี้จึงหาย ไปนับพันๆ ปี
ฉะนั้น ในดินแดนภาคกลางที่เราอาศัย เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงอยู่ในเวลานี้ นับตั้งแต่ ก่อนพุทธกาลมา
เราไม่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานเลย นอกจากจะขุดพบศิลปโบราณวัตถุ แล้วนำมาวินิจฉัยกันว่าเป็นสมัยใดบ้าง
โดยเฉพาะชื่อของประเทศนี่เอาแน่นอนไม่ได้ มักจะเปลี่ยนชื่อไปตามยุคตามสมัย เมืองหลวงก็ย้ายกันอยู่เสมอ
ถ้าลองย้อนหลังเพียงไม่กี่สิบปี เรียกประเทศไทยว่า "ประเทศสยาม" เรียกกรุงเทพว่า "บางกอก" อย่างนี้เป็นต้น
ต่อไปนี้เรามาลองศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์กันบ้าง คือ คุณกฤษณา เกษมศิลป์
ได้เขียนลงในหนังสือ "๒๔๐๐ ปีในแหลมทอง" ขอนำมาโดยย่อ ดังนี้
พระบรมราโชบายของ รัชกาลที่ ๕
เป็นธรรมเนียมของคนไทยทุกคน เมื่อมีโอกาสได้เดินทางผ่านวัดพระแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ใน บริเวณเดียวกับ
พระบรมมหาราชวัง ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา จะต้องพนมมือสิบนิ้วขึ้นนมัสการพระแก้วมรกต ซึ่งสถิตประดิษฐาน
อยู่ในพระอุโบสถนั้น
ภายในกำแพงจะเห็นเจดีย์ และปราสาท ราชมณเฑียรมียอดแหลมหลากสี งดงามตั้ง เรียงรายเป็นระเบียบ
เป็นภาพที่งดงามนักดังหนึ่งสร้างจากสวรรค์ ล้วนแล้วสำเร็จด้วยฝีมือ อันบรรจงวิจิตรของช่างชาวไทย เป็นแบบอย่าง
ของชนชาติที่เจริญแล้วโดยแท้
ชนชาติใดที่มีฝีมือสร้างเวียงวังของตนได้ใหญ่หลวงงดงามถึงเพียงนี้ ชนชาตินั้นน่าจะมีอดีตที่รุ่งโรจน์
และน่าศึกษายิ่งนัก คงมิใช่ชาติเล็กที่ไร้ระเบียบแบบแผนประเพณี คงเป็นชาติใหญ่มีคุณลักษณ์อันดีล้วนชวนให้ค้นคว้า
แต่อันใดหนอที่ทำให้พวกเราชาวไทย บางคนยังเข้าใจว่าเราอพยพมาจากที่อื่น ไม่ใช่เจ้าของดั้งเดิม
ของแผ่นดินอันเราได้ยืนอยู่ ณ แทบเท้านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เข้าใจตามนั้นว่า ชนชาติไทยอพยพมาจากที่อื่น
เช่นจากใจกลาง ประเทศจีน เป็นต้น
ข้าพเจ้าไม่อยากจะเชื่อเช่นนั้น เพราะตำนานเก่าๆ ของเราไม่ได้ว่าไว้เช่นนั้นเลย ผู้ใดข้องใจหรือสงสัยก็ได้
โปรดติดตามอ่านดู โดยเฉพาะข้อเขียนนี้พยายามยึดตามพระบรมราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัลกาลที่ ๕
ซึ่งได้ตรัสคราวเปิดสโมสรโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ว่า
...ประเทศทั้งหลายซึ่งได้ควบคุมกันเป็น ชาติและเป็นประเทศขึ้น ย่อมถือเรื่องราวของ ชาติและประเทศ
ตน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะพึงศึกษาและพึงสั่งสอนกันให้รู้ชัดเจนแม่นยำ เป็นวิชาอันหนึ่งซึ่งจะได้แนะนำความคิด และ
ความประพฤติ ซึ่งจะพึงเห็นได้ เลือกได้ ใน การที่ผิดแลชอบชั่วแลดี เป็นเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติแล
รักแผ่นดินของตัว
เรื่องราวทั้งหลาย ซึ่งมนุษย์อาจจะทรงจำได้ ย่อมมีหลักฐานอยู่เพียง ๖,๐๐๐ ปี แต่ย่อมประกอบด้วยเรื่องราว
อันไม่น่าเชื่อเจือปนเป็นนิทาน ข้อความซึ่งได้มั่นคงอย่างสูงก็อยู่ภายใน ๓,๐๐๐ ปี แต่ประเทศโดยมาก ในชั้นปัจจุบันนี้
มักจะตั้งตัวได้เป็นปึกแผ่นราว ๑,๐๐๐ ปี เมื่อมีหนังสือเรื่องราวซึ่งเป็นหลักฐานมั่นคง ไม่เป็นแต่ใช้เครื่องหมาย
เป็นรูปนกรูปกา หรือรูปภาพที่เขียนต้องคิดประกอบ
แต่ความรู้ยืดยาวขึ้นไปเช่นนี้ ย่อมมีในประเทศที่แบบแผนเป็นหลักในบ้านเมือง ที่ถึงความรุ่งเรืองแล้ว
ในสมัยนั้น ถ้าหากว่าเป็นเมืองที่ยังคงเป็นป่าเถื่อน ไม่รู้จักหนังสือ และไม่รู้จักเล่าต่อกัน ก็รู้ได้เพียงชั่วอายุหรือ
สองชั่วอายุคน บ้านเมืองเช่นนี้ก็ยังมีอยู่ กรุงสยามนี้ เป็นประเทศที่เคราะห์ร้าย ถูกข้าศึกศัตรูทำลายล้างอย่างรุนแรง
เหลือเกิน ยิ่งกว่าชาติใด ๆ ที่แพ้ชนะกันในสงคราม หนังสือเก่าๆ ซึ่งควรจะสืบสวนได้ ได้สาบสูญไปเสียเป็นอันมาก
ทั้งเวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดี ที่เราสามารถ อาจจะหาเรื่องราวจากต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเซีย
ซึ่งได้เคยคบหากับเรามาแต่ในปางก่อน แม้ถึงเมืองที่เป็นปัจจามิตร เช่นพม่า เราก็อาจจะสืบสวนหาข้อความได้
มีหลักอยู่ซึ่งเราจะพิจารณาข้อความอันได้มาจาก ต่างประเทศนั้น ให้รู้ว่าประเทศใดมีอัธยาศัยชอบอวดอ้าง
บารมีเจ้าแผ่นดินปรากฏแก่ใจ เมื่อเราได้อ่านหนังสือนั้น เราก็ควรพิจารณาหารความลงในทางนั้น
ฝ่ายเรื่องราวซึ่งฝรั่งเล่า มักจะแต่งให้อัศจรรย์ เพื่อให้คนอ่านพิศวง จะได้ซื้อหนังสือ นั้นมาก เช่นกับที่กล่าวกัน
อยู่ในปัจจุบันทั่วไปว่า เมืองไทยมีวังอยู่ใต้น้ำเป็นตัวอย่าง ข้างฝ่ายจีนนั้น ไม่ใคร่จะออกความอย่างจีนคือจะให้เราเป็นจีน
หรือไม่ก็เป็นฮวน ทำอะไรให้ผิดปกติไปต่าง ๆ เป็นต้น
วิธีจะวินิจฉัยเรื่องราวอันได้มาแต่ต่างประเทศนั้น มีข้อสำคัญอยู่ที่จะจับหลักน้ำใจ และความคิดข้างไทยให้มั่น
ถ้าเรื่องราวอันใดแปลกไปจากประเพณีความคิดของไทยเราแท้ เราควรจะพิจารณาในข้อนั้น ไม่ควรจะด่วนเชื่อ
ทั้งเคราะห์ดีซึ่งมี "พระสงฆ์ผู้เป็นบัณฑิตแต่โบราณ" ได้เขียนเรื่องราวพระศาสนาอัน ประดิษฐานในแถบประเทศ
เหล่านี้ไว้ในภาษาบาลี และมีเรื่องราวประเทศซึ่งนับว่าเป็นไทย เช่น ล้านช้าง และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนังสือ
อาจจะสอบสวนเอาความจริงได้มีอยู่
แต่เรามักจะไปถือเสียว่าเป็นหนังสือศาสนา ไม่มีผู้แลดูด้วยความหมายจะค้นคว้า เรื่องราวประกอบพงศาวดาร
หรือเรื่องราวของประเทศ ถึงว่าจะมีบางตอนซึ่งเรายังแลไม่เห็นว่า จะหาทางใดที่จะสืบสวนข้อความให้แจ่มแจ้งได้
เหตุไฉนจะทอดธุระไม่สืบสวนต่อไป
ความคิดอันนี้ ใช่ว่าจะมุ่งหมายให้สำเร็จ เป็นหนังสือเรื่องราวประเทศสยามโดยเร็วนั้น มิได้หวังว่าพวกเรา
จะช่วยกันสอบหา รวบรวมเรื่องราวหลักฐาน และช่วยกันดำริวินิจฉัยข้อความซึ่งยังไม่ชัดเจนให้แจ่มแจ้งขึ้น
ตามปัญญาตัวที่คิดเห็น ไม่จำเป็นจะต้องยืนยันว่า เป็นการถูกต้องนั้นหรือไม่ เมื่อมีความเห็นอย่างไรเขียนลงไว้...
วันที่ ๒ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๖
ชาติไทยกับถิ่นดั้งเดิม
อนึ่ง ในเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้อีกว่า
"ชนชาติไทยเป็นชนชาติใหญ่อันหนึ่ง ในเอเซียตะวันออกมาตั้งแต่พุทธกาล แม้ในทุกวันนี้ นอกจาก
ประเทศไทยนี้ ยังมีชนชาติไทย ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นๆ อีกเป็นอันมาก อยู่ในดินแดนประเทศจีน
ก็หลายมณฑล ทั้งในแดนตังเกี๋ย พม่า ตลอดไปจน มณฑลอัสสัม ในแดนอินเดีย
แต่คนทั้งหลายต่างหากเรียกชื่อต่างๆ กันไปตามถิ่นที่อยู่ เช่นเรียกว่าชาวสยามบ้าง ลาวบ้าง เฉียงบ้าง
ฉาน ลื้อ เขิน เงี้ยว ขำติ อาหมบ้าง ที่แท้ได้นามต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ล้วนเป็นชนชาติไทย พูดภาษาไทย และถือตัว
ว่าเป็นไทยด้วยกันทั้งสิ้น"
ทีนี้ว่าถึงถิ่นดั้งเดิมของไทย ตามตำนานไทยเหนือก็ดี พงศาวดารโยนกก็ดี พงศาวดารของไทยแท้ๆ ก็ดี
ล้วนกล่าวต้องกันว่า ชนชาติไทยมีอาณาจักรอยู่ดังนี้
ทางเหนือสุดลงมาทางใต้ คือแคว้นสิบสองปันนา แคว้นเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองจุไทย แคว้นเชียงตุง แคว้นลานนา
แคว้นหลวงพระบาง แคว้นฉาน (เงี้ยวหรือไทยใหญ่) แคว้น เชียงใหม่ แคว้นสุโขทัย แคว้นอิสานบุรี (ภาคอิสานทั้งภาค) แคว้นอยุธยา แคว้นทวารวดี แคว้นนครศรีธรรมราชเป็นที่สุด และแม้ปัจจุบันนี้ คนไทยก็ยังอยู่ในแคว้นเหล่านี้ทั้งสิ้น
เป็นแต่ว่าบางแคว้นไม่ได้เป็นอาณาเขตของประเทศไทยเท่านั้น..."
คนไทยอยู่ที่นี่มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว
มีเหตุอันน่าคิดอยู่อย่างหนึ่ง คือนักโบราณคดีก็ดี นักประวัติศาสตร์ก็ดี บางท่าน มักเกิดงุนงงและสับสน
ในเรื่องของชนชาติไทย ทั้งนี้ก็เพราะไปเข้าใจเอาว่า ชนชาติไทยอพยพจากใจกลางประเทศจีน แต่ก็เข้าใจผิด
ว่าชนชาติเร่ร่อนและชาวป่าชาวเขา เช่น พวกข่า ละว้า ขมุ ว่าเป็นเจ้าของถิ่นเดิมในแหลมทอง โดยไม่เฉลียวใจ
และไม่คิดบ้างว่า ไทยเราก็อยู่ที่นี่มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้วด้วย ทั้งเป็นชนกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย และเป็นกลุ่มใหญ่
หลายกลุ่ม อยู่กระจัดกระจายกันทั่วไปในถิ่นแหลมทองนี้
เพราะชนชาติไทยอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนกันมานานดึกดำบรรพ์ ตอนหลังจึงได้แยกย้ายห่างกันออกไปทุกที
จากเหนือสุดและใต้สุดของแหลมทอง ภาษาไทยของเราจึงได้เพี้ยนกันไปบ้าง แต่ก็เป็นภาษาไทยแท้ที่ใช้พูดกัน
รู้เรื่องตลอดแหลมทอง และเราก็ได้รู้จัก กันว่าใครเป็นใคร คือรู้ว่าพวกเรายังเป็นไทยด้วยกัน ก็เพราะภาษาไทย
ของเรานี่เอง แม้บัดนี้จะต้องไปอยู่กันห่างไกลเพียงไร
ฉะนั้น เมื่อเราเกิดไขว้เขวว่าพวกชาวป่าเป็นเจ้าของถิ่น ไทยเรายังไม่อพยพลงมา เมื่อไปพบหลักฐาน
โบราณคดีที่เกี่ยวกับชาติเราเข้า เราก็เกิดความไม่แน่ใจ แล้วก็เลยโมเมว่า "ไม่ใช่ของๆ เราไป" มาพูดกันให้
ชัดแจ้งเลยว่า ถ้าชนชาติป่าเถื่อนเหล่านั้น เป็นเจ้าของถิ่นแต่ผู้เดียวไซร้ เหตุไฉนเมื่อพวกเหล่านั้นหายสาบสูญไป
จึงไม่มีที่ใดกล่าว ให้ชัดออกมา อยู่ๆ ก็หายหน้าไปเฉยๆ จากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ทั้งเรื่องราวของชนเหล่านั้นที่เกี่ยวกับชาติไทยเรา ก็ไม่ปะติดปะต่อเลย ไม่ต้องดูอื่น ไกลดูแต่ขอม
เมื่อขอมสูญชาติไป เราเองก็ยังไม่รู้ว่าสูญได้อย่างไร และคำว่า "ขอม" เราก็ยังแปลไม่ออกจนกระทั่งบัดนี้
แต่อย่าลืมว่า แม้ขอมจะสูญชาติไปแล้ว แต่หนังสือขอม ก็ยังเป็นหนังสือสำคัญทางวัดของเราจนทุกวันนี้
นักประวัติศาสตร์ต่างชาติ
ในสมัยหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๖๐ ประเทศไทยเราเริ่มสนใจเรื่องโบราณคดีได้มีนักโบราณคดี
ชาวต่างประเทศท่านหนึ่งมาช่วยงานด้านนี้ จนพวกเราได้รู้เรื่องราวต่างๆแต่โบราณของเราเป็นอันมาก แต่มี
บางสิ่งบางอย่าง ที่ท่านผู้นี้ ได้แปลและตีความหมายไว้ ซึ่งทำให้พวกเราชาวไทยเข้าใจผิด เช่นว่า เขมร หรือ ขอม
เคยมีอำนาจครอบครองประเทศไทย
สมัยก่อนพ่อขุนรามคำแหง เมืองลพบุรีเคยเป็นเมืองของพวก มอญ มาก่อน สุโขทัยเคยเป็นเมืองขึ้นของขอม
แล้วแปลคำและความหมายให้บิดเบือนไป แต่บัดนี้ นักปราชญ์ไทยหลายท่านก็ได้คัดค้าน พร้อมทั้งอ้างหลักฐานจาก
โบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ใหม่มายัน เราจึงได้ทราบความจริงว่า
ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจใน "นครวัด นครธม" นั้น ขอมไม่เคยมามีอำนาจในอาณาจักรไทยเลย และลพบุรีก็ไม่เคยเป็นเมืองของมอญมาก่อน
เพียงแต่อาจมีเจ้าครองนครมีเชื้อสายเป็นมอญ เช่น พระนางจามเทวี เป็นต้น นั่นไม่ได้หมายความว่าราษฎรทั้งเมือง จะต้องกลายเป็นมอญไปด้วย
การกระทำดังกล่าว ทำให้เรามองเห็นได้เด่นชัดว่า แม้แต่ทางโบราณคดี ก็ได้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะในครั้งนั้นเรารู้ดีว่า อังกฤษกับฝรังเศสพยายามที่จะแบ่งแยกประเทศไทยออก เป็น ๒ ส่วน โดยถือเอา
แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นพรมแดน เพื่อชาติทั้งสองจักได้ครอบครองประเทศไทยไปคนละครึ่ง เขาจึงพยายามทุกวิถีทาง
ที่จะโฆษณาชวนเชื่อให้เราหลงเชื่อ เริ่มต้นด้วยการแต่งหนังสือ อ้างว่าเราไม่ได้อยู่ในดินแดนแหลมทองนี้มาก่อน
พวกเราชาวไทยล้วนอพยพมาจากใจกลางประเทศจีนโน้น
ขั้นสอง เมื่อขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีอะไร ที่เกี่ยวข้องถึงชนชาติที่ตกเป็น เมืองขึ้นของเขา
เช่น มอญก็ดี เขมรก็ดี เขาก็จะบีบหรือบังคับกรายๆ ให้นักปราชญ์ชาติเขา พยายามบิดเบือนความจริงว่า
ของนี้เป็นของมอญบ้าง ของนี้เป็นของเขมรบ้าง แล้วสรุปให้ได้ว่า ดินแดนที่พบของเหล่านี้ ส่อเป็นดินแดนของมอญ
มาก่อนบ้าง ส่อเป็น ดินแดนของเขมรมาก่อนบ้าง เพื่อว่าเขาจะอ้าง ได้ถนัดเมื่อมีโอกาสจะฮุบเอาดินแดนของเราอีก
นี่แหละคือ มูลเหตุที่ว่า ทำไมนักประวัติศาสตร์ของไทยก็ดี นักโบราณคดีของไทยก็ดี จึงสับสนเหลือเกินในการ
สืบสาวราวเรื่องชาติของตนเอง และต้องจดจำสิ่งที่ผิดๆ มาเป็นอันมาก
และตามหนังสือ "พนม ทวาราวดี ศรีวิชัย" สามอาณาจักรไทยโบราณ (ไศเลนทร์) เรียบเรียง โดย "ธรรมทาส พานิช"
ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
"...ชื่อ กิมหลิน - สุวรรณภูมิ นี้ แต่เดิมนักโบราณคดีมักจะชี้ไปที่ เมืองสะเทิม คือชี้ตามข้อความในจารึกของ
พระเจ้าปิฎกธร สมัย พ.ศ. สองพันเศษ ในหนังสือ ตำนานมูลศาสนา แต่งก่อน พ.ศ. ๒๐๐๐ พระพุทธพุกาม และ
พระพุทธญาณ ท่านระบุว่า พระโสณะ และ พระอุตตระ มาแจกธาตุ (พระนิพพาน) ไว้ที่ สุวรรณภูมิ
คือ เมืองราม และ เมืองละโว้ บัดนี้ เมืองราม คือที่ อู่ทอง เคยเป็นกรุงทวาราวดีของ
"พระราม" ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ ตามความรู้ของภิกษุไทยสมัยก่อน พ.ศ. ๒๐๐๐ "สุวรรณภูมิ" คือที่
อู่ทอง
ในหนังสือ โกลเด็น เคอรโซนิส ของ ปอล วีทลีย์ หน้า ๑๑๖ - ๑๑๗ ได้คัดเรื่อง "กิมหลิน"
จากหนังสือจีนมาลงไว้พร้อมทั้งต้นฉบับภาษาจีน มีว่า
"...กิมหลิน อยู่พ้น ฟูนัน ไปอีกสองพันลี้ เป็นถิ่นมีแร่เงิน ชาวเมืองชอบจับช้างมาเลี้ยงไว้ใช้งาน
เมื่อช้างตายก็ถอดเอางา..."
ความรู้จากศาลาวัด
ในเรื่องนี้ลองมาศึกษาหาความรู้จาก "ศาลาวัด" กันบ้าง ตามพระบรมราโชวาทของ "รัชกาลที่ ๕" ได้ตรัสไว้ว่า
"ประเทศไทยซึ่งมีพระสงฆ์ผู้เป็นบัณฑิตแต่โบราณ" ดังนี้
อดีตท่านเจ้าคุณพระราชกวี (อ่ำ ธัมมทัตโต) ได้เขียนคำนำไว้ในหนังสือ
"พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ"
เรื่องของท่านมีอยู่ว่า
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมาท่านได้เจอจารึก "กระเบื้องจาร" ที่บ้านคูบัว จ. ราชบุรี จึงได้อ่านรู้เรื่องประวัติ
ชนชาติไทยได้ตลอดว่า ไทยนี้ต้องเป็นเผ่าแรกต้น ที่ทำความเจริญแก่โลกมนุษย์แน่นอน เช่น
คิดลายไทย ลายสือไทย ลายตัวเลขไทย เป็นต้น
ต่อมาได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นของที่ทำปลอมขึ้น ทำให้ประวัติศาสตร์ปั่นป่วน ท่านจึงเขียน ชี้แจงไว้ว่า
ความจริงมีอยู่ เรื่องไม่จริงนั้นโกหกกันได้ไม่นาน เพราะตัวของมันเองยืนยันตัวเอง อยู่แล้ว ส่วนที่ทำให้ตัวเอง
เสียหายน่าอับอายขายหน้า เช่นแต่งให้ไทยวิ่งหนี ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย อย่าง "ทวารวดี" ซึ่งไม่รู้และไม่มีหลักฐาน
ยืนยันว่าที่ไหน เมื่อไร ของใคร และอะไร เพียงเอาหลักฐานที่ชาติฝรั่งลบแผนที่ของไทยโบราณกุให้ฟังแล้วสร้างเรื่องขึ้น
สิ่งที่ไทยได้กระทำมาเป็นไทยและของไทย ไทยไม่ยอมรับ แถมยกไปให้เขาอื่น เหตุนี้ของไทยทุกชนิด
จึงไม่ขึ้นเป็นหลักฐาน แม้ในขั้นการเรียนเพียงชั้นประถมก็ยังไม่มี ที่มีอยู่ก็ต้องอาศัยฝรั่ง เฉพาะในเรื่องต่างๆ
ของไทยที่มีขึ้น ก็ต้องไปลอกแปลที่ฝรั่งเขาเขียนไว้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้ายังขลาดอยู่อีกคนหนึ่ง ไทยก็สูญสิ้นสัญลักษณ์
และเอกลักษณ์คือระบบแบบไทย และสิ่งของไทยที่มีอยู่แล้ว ก็คงจะกลายเป็นไม่มี จึงจำเป็นต้องกล้าเอาหน้ารอด
เพราะไม่ได้ดีอะไรเลย
ทั้งได้แต่ถูกแช่งด่าตลอด และสิ้นเนื้อประดาตัว จึงไม่ต้องพูดถึงความดีความชอบ มีแต่จะต้องจมลึกลงไป
ยิ่งกว่าปิดทองหลังพระ และยืนยันได้อย่างเปิดเผยว่า ทำให้ไทยเป็นไทยอยู่ได้เพียงเท่านี้ ก็เพราะเหตุที่ได้กระทำมาแล้ว
ทั้งยังได้เกิดจิตสำนึกอยู่เสมอว่า "มีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น" ถึงจะมีอุปสรรคอย่างไร ก็ต้องทำเพื่อไทยได้ฟื้นคืนตัวเป็นไทยอยู่
ตามเดิมตามที่ "ท่านต้นไทย" ได้ขอร้องให้กระทำ
(หลวงพ่อของเราก็ยืนยันว่า หลวงพ่อวัดโสมนัสองค์นี้ เกิดมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ)
จากหนังสือ "ทิพยอำนาจ" อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ จะได้สังเกตและค้นคว้ามา เขียนเรื่องราว
ในสมัยดึกดำบรรพ์ของแหลมทองสู่กันฟังประดับสติปัญญา นับถอยหลังคืนไปจากปัจจุบันนี้ ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี
แผ่นดินที่รู้กันว่าสุวรรณภูมินี้ มีอาณาเขตตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล ไปจดฝั่งอ่าวตังเกี๋ย ด้านเหนือสุดจด
ถึงเทือกเขาหิมาลัย ด้านตะวันออกด้านใต้จดถึงชวา มลายู
ดินแดนภายในเขตที่กำหนดนี้ เป็นที่อยู่ของชนชาติเผ่าผิวเหลืองหรือขาวใส รูปร่าง สันทัดหน้ารูปไข่
ผิวพรรณละเอียดเกลี้ยงเกลา มีชื่อเรียกว่า มงเก่า บาลีเรียกว่า อริยกชาติ ประชาชนพูดภาษาเป็นคำพยางค์เดียว
โดดๆ แต่ละคำมีความหมายตายตัว เป็นถ้อย คำฟังเข้าใจง่ายและไพเราะสละสลวย มีหลักภาษาเป็นระเบียบแบบแผน
สำหรับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน ท่านได้ให้ข้อคิดในเรื่องนี้ไว้ว่า
"ถ้าจะกล่าวกันไปจริงๆ ละก้อ คนไทย สายเหนือที่เข้ามาจากประเทศจีน จะถือว่าตามประวัติศาสตร์บอกว่า
"คนไทยตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ประเทศจีน" อันนี้ไม่จริง สัญลักษณ์แห่งนิมิต ท่านบอกว่าสมัยนั้น คนไทยอยู่เรี่ยราด
กันไปหมด พื้นฐานถิ่นเดิมจริง ๆ คนไทยอยู่ชายทะเลฝั่งแหลมทอง และก็เรี่ยราดกันไปหากินกันเรื่อยไป
ในที่สุดก็ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ เป็นการขยายเขตอยู่แถวประเทศจีน คือไปจากเขตเดิม
แต่ก็ไม่ได้ไปหมด เป็นแต่เพียงไปหากินกันเท่านั้น เวลานั้นยังไม่รวมกลุ่มยังไม่รวมก้อน จัดเป็นเมือง
เป็นแต่เพียงว่าเป็นบุคคลบางเผ่าบางพวก ถือสัญชาติถือพรรคถือพวก มีสัญชาติเดียวกัน พูดเหมือนกัน มีวัฒนธรรม
อย่างเดียวกัน ถ้าจะกล่าวกันไปอีกทีก็เรียกว่า "เป็นตระกูลเดียวกัน" นั่นเอง ขยายเขตขึ้นไปถึงประเทศจีน เมื่อทางโน้น
เกิดการหากินไม่ดี มีความเป็นอยู่ไม่เป็นสุขก็ขยับขยายลงมา แต่ว่าเวลาเป็นร้อยๆ ปี คนเก่าที่ไปก็ตายหมด ทีหลังก็เลย
ปรากฏคิดกันว่า คนไทยอยู่ในเขตของประเทศจีนมาก่อน ที่เรียกว่า เก่าที่ไปก็ตายหมด ทีหลัง เป็นคนไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน
สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน
ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ ดร. เดือน บุนนาค โดย "หลานย่า" (คุณเดือนฉาย คอมันตร์)
ท่านได้วิเคราะห์ไว้ดังนี้
"สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ คำว่า สุวรรณภูมิ
หรือ สุวัณณภูมิ แปลตามศัพท์ว่า แผ่นดินทอง ซึ่งหมายถึงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ ในพงศาวดารพม่าอ้าง
จาก "จารึกกัลยาณี" ซึ่งเป็นภาษามคธ และ "คัมภีร์ศาสนวงศ์" ระบุไว้ว่า สุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ในประเทศพม่าตอนใต้
คือ
เมืองสุธรรมวดี หรือ เมืองสะเทิม ตลอดถึง เมืองพะโค (หงสาวดี) และมะละแหม่ง
ส่วนพงศาวดารลังกาอ้างจาก คัมภีร์สีหลวัตถุปกรณ์ เชื่อกันว่า "สุวรรณภูมิ" อยู่ ในแหลมมะลายูแต่คำว่า
"สุวรรณภูมิ" ปรากฎใน "นิทานชาดก" ของพระพุทธ ศาสนาหลายเรื่อง เช่น
ใน มหาชนกชาดก เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ขออนุญาตมารดาไปเสี่ยงโชคยัง "สุวรรณภูมิ" แล้วเรือแตกกลางทะเล
ใน "สังขพราหมณ์ชาดก" เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ลงเรือไปค้าขายหากินทาง "สุวรรณภูมิ" เพื่อนำมาบริจาคทาน
ลูกสุกรเกิดในสุวรรณภูมิ
ในตอนนี้ ผู้เขียนขอนำเรื่องนี้มาแทรกไว้ด้วย เป็นเรื่องที่มีมาใน "ธรรมบทขุททกนิกาย" มีใจความว่า
เมื่อสมเด็จพระบรมสุคตประทับอยู่ที่พระเวฬุวนาราม ทรงตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังถึงลูกสุกรกินคูถ (ขี้)
ตัวหนึ่งว่า ลูกสุกรตัวนั้นได้เป็น "แม่ไก่" อยู่ที่ใกล้หอฉันหลังหนึ่งในครั้งศาสนา สมเด็จพระกกุสันโธ แม่ไก่นั้น
ได้ฟัง
เสียงสาธยายธรรมของพระภิกษุองค์หนึ่ง ซึ่งสาธยายวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยอานิสงส์เพียงแค่นี้ เวลาจุติจากชาตินั้นแล้ว
ก็ได้เกิดในราชตระกูล เป็นราชธิดาชื่อว่า "อุพพรี"
ต่อมาภายหลัง "อุพพรีราชธิดา" นั้น ก็เข้าไปที่ส้วมเห็นกองหนอน ก็ทำให้เกิด ปุฬวกสัญญา
คือเห็นเป็นสิ่งสกปรกในกองหนอนนั้น แล้วก็ได้ปฐมฌาน เมื่อตายจากชาตินั้นแล้ว ก็ขึ้นไปเกิดในพรหมโลก ก็วนเวียนไปมาด้วยอำนาจคติ
แล้วได้มาเกิดในกำเนิดสุกรนี้
ฝ่ายลูกสุกรจุติจากชาตินั้นแล้ว เกิดในราชตระกูลที่ "สุวรรณภูมิ" จุติจากราชตระกูลนั้นแล้วเกิดที่ เมืองพาราณสี
เหมือนอย่างนั้นอีก จุติจากชาตินั้นแล้ว ไปเกิดในเรือน พ่อค้าม้า ที่ท่าเรืออันชื่อว่า สุปารกะ จุติจากชาตินั้นแล้ว
ได้เกิดในเรือนแห่ง พ่อค้าเรือ ที่ท่าเรือ คาวิระ จุติจากนั้นแล้วเกิดในเรือนผู้เป็นใหญ่ที่ อนุราชบุรี
(ลังกา) จุติจากนั้นแล้ว เกิดเป็นธิดาชื่อว่า "สุมนา" ในเรือนแห่งกฎุมพีผู้ชื่อว่า "สุมนะ"
ใน บ้านเภกันตะ ในด้านทิศใต้แห่งอนุราชบุรีนั้น
ครั้งนั้น บิดาของนางสุมนานั้น เมื่อคนทั้งหลายในบ้านก็ได้ไปที่แว่นแคว้นทีฆวาปี อยู่ในบ้านที่ชื่อว่า
มหามุนีคาม อำมาตย์ของ พระเจ้าทุฏฐคามณี (ครอง ลังกาประมาณ พ.ศ. ๓๘๒) ผู้มีชื่อว่า
"ลกุณฏกอติมพระ" ได้ไปที่มหามุนีคามนั้น ด้วยกิจธุระอย่างหนึ่ง ได้พบเห็นนางสุมนานั้นแล้ว ก็กระทำมงคลใหญ่ (แต่งงาน) นำนางสุมนานั้นไปที่บ้านมหาปุณณคาม
ครั้งนั้น พระมหาอตุลเถระ ผู้อยู่ที่โกฏิปัพพตมหาวิหาร (ประเทศลังกา) เมื่อเที่ยวบิณฑบาตในบ้านนั้น
ก็ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือนแห่งนางสุมนานั้น ได้เห็นนางสุมนานั้นแล้วก็กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ลูกสุกร.. ได้ถึงความเป็นภรรยาแห่งมหาอำมาตย์ ผู้ชื่อว่า ลกุณฏกอติมพระ น่าอัศจรรย์หนอ..."
นางสุมนาได้ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ก็ระลึกชาติก่อนได้ นางเกิดความสลดใจขึ้นในขณะนั้น ได้อ้อนวอนสามี
แล้วบรรพชาในสำนักของพระเถรีทั้งหลาย ได้ฟัง มหาสติปัฏฐานสูตร ในติสสมหาวิหาร แล้วก็ตั้งอยู่ใน โสดาปัตติผล
ภายหลังเมื่อทางราชการมีการปราบปรามพวกทมิฬแล้ว นางสุมนาเถรีนั้นก็ได้ไปที่ บ้านเภกันตะ
อันเป็นที่อยู่แห่งมารดาบิดา เมื่ออยู่ในที่นั้นได้ฟัง อาสีวิสูปมสูตร ในกัลลกมหาวิหารก็ได้สำเร็จ พระอรหัตผล
ชาติสุดท้ายของการเกิด
ในวันจะปรินิพพานมีนางภิกษุณีทั้งหลายถามถึงเรื่องนี้ พระสุมนาเถรีจึงได้เล่าเรื่องของตนเองให้ฟังว่า
เมื่อก่อนข้าพเจ้าจุติจากกำเนิดมนุษย์ แล้วได้เกิดเป็น "แม่ไก่" อยู่ใกล้หอฉัน ต่อมาได้ถูกเหยี่ยวเฉี่ยวจนหัวขา จึงได้ไปเกิดใน
กรุงราชคฤห์ ได้บรรพชาอยู่ในสำนักนางปริพาชิกา แล้วเกิดในพรหมโลกในชั้นปฐมฌาน จุติจากนั้นแล้วเกิดในตระกูล เศรษฐี ไม่ช้าก็จุติไปสู่
กำเนิดสุกร
จุติจากที่นั้นแล้วก็ไปเกิดที่ "สุวรรณภูมิ"
จากสุวรรณภูมิไป พาราณสี
จากพาราณสีไป ท่าเรือสุปารกะ
จากท่าเรือสุปารกะไป ท่าเรือคาวิระ
จากท่าเรือคาวิระไป อนุราชบุรี (ลังกา)
จากอนุราชบุรีไป เภกันตคาม
ข้าพเจ้าได้เกิดในชาติที่แตกต่างกันถึง ๑๓ ชาติแล้ว บัดนี้ได้เกิดในชาติสูงสุด (ได้บรรพชา)
ขอท่านทั้งปวงจงทำประโยชน์ให้สำเร็จ ไปด้วยความไม่ประมาทเถิด..."
ท่านทำให้ประชุมชนทั้ง ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) เกิดความสลดใจ ในความทุกข์ อันเนื่องจาก
ความเกิดที่ไม่แน่นอน ดังนี้ แล้วก็ปรินิพพานไป
เป็นอันว่าชื่อ "สุวรรณภูมิ" ได้ถูกกล่าว ถึงในที่หลายแห่ง ตามที่ "หลานย่า" ได้กล่าวอ้างมานี้
ต่อไปในหนังสือ หน้าที่ ๒๙ มีใจความอีกว่า...
"จากจดหมายเหตุจีน ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๙ ได้กล่าวถึงดินแดนทองในภูมิประเทศแถบนี้ และเรียกชื่อ
ดินแดนนั้นว่า"กิมหลิน" ว่าอยู่เลยอาณาจักรฟูนันไปทางตะวันตก ประเทศกิมหลินมีบ่อเงิน บ่อทอง มีเพนียดช้างด้วย
นอกจากนี้ชื่อจังหวัดในประเทศไทย ที่มีความหมายว่า "ทอง" หรือ "โภคทรัพย์" ก็มีหลายจังหวัด
และเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคกลาง บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น
และในหนังสือ "พุทธสาสนสุวรรณภูมิปกรณ" อ้างถึงเมืองบริเวณ "คูบัว" ในจังหวัดกาญจนบุรี มีอาณาเขตตลอดเพชรบุรี
ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ถึงนครปฐม..."
เนื่องจากบทวิเคราะห์จาก "หลานย่า" ยังมีอีกมาก แต่เวลาหมดแล้ว จึงขอนำข้อสรุปความเห็นเรื่อง
"สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน" มาปิดท้ายไว้ดังนี้
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และ โบราณคดี ตลอดจนโบราณวัตถุสภาพการณ์แสดงให้เห็นว่า
ดินแดน "สุวรรณภูมิ" หรือส่วนหนึ่งที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ มิใช่มีเพียงแต่อารยธรรมสมัยสุโขทัย อยุธยา
และรัตนโกสินทร์เท่านั้น แต่ระยะเวลาก่อน สุโขทัยขึ้นไป จนกระทั่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้มีการปฏิรูปสังคม
และสืบทอดวัฒนธรรมต่างๆ เป็นเวลาช้านานแล้ว..."
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป วันที่ ๑๕
มีนาคม...สวัสดี...
webmaster - 14/3/08 at 20:49
ตอนที่ ๒
พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี
เรื่องราวที่ผ่านสายตาท่านผู้อ่านไปแล้วนั้น
เป็นการเสนอข้อคิดเห็นจากพระมหาเถระที่มีความรู้ด้านนี้บ้าง จากนักค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์บ้าง ซึ่งปรากฏตามหลักฐานทางด้านเอกสาร เช่น
พงศาวดารและตำนานต่าง ๆ พอจะลำดับตามยุคสมัยได้ดังนี้
เริ่มตั้งแต่ภัทรกัปหลังจากน้ำท่วมโลก ครั้งใหญ่แล้ว ในปลายสมัยศาสนา สมเด็จพระโกนาคมน์ ได้มีมนุษย์มาตั้งบ้านเรือนขึ้น
สืบทอดมาหลายชั่วคนเรียกว่า "แคว้นสุวรรณโคมคำ" ต่อมาเป็น "แคว้นโยนกนคร" แล้วก็มาถึง "แคว้นหริภุญชัย" สมัย พระนางจามะเทวี
"แคว้นลานนาไทย" มาจนถึง "แคว้นสุโขทัย" ตามลำดับ
แม้แต่ตำนานพระธาตุต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ได้กล่าวไว้ ว่าสมัยสมเด็จองค์ปัจจุบันยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เคยเสด็จมายังดินแดนนี้หลายวาระแล้ว
เช่นมาประทับรอยพระบาทบ้าง มาโปรดแสดงพระธรรมเทศนาบ้าง และ พระสาวกที่มีฤทธิ์เช่น พระมหาโมคคัลลาน์ หรือ พระมหากัสสป
ต่างก็ได้เคยมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน
ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้เราจึงมีหลักฐานพออ้างอิงได้ แต่เฉพาะดินแดนทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ส่วน อาณาจักรสุวรรณภูมิ หรือ
อาณาจักรทวารวดี ที่มีศูนย์กลางอยู่ทางภาคกลางนั้น เราได้ยินแต่เพียงชื่อเท่านั้น แต่หามีหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นเอกสารไม่
นอกจากจะขุดพบโบราณวัตถุต่าง ๆ แล้วจึงจะเทียบตามยุคสมัยนั้นได้ ในโอกาสหน้าเราจะมาศึกษาในด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุกันต่อไป
แต่ตอนนี้ขอเชิญพบกับการค้นคว้าทางด้าน เอกสาร กันก่อนจึงจะไปค้นคว้าหลักฐานที่เป็น วัตถุ สำหรับต่อไปนี้จะขอนำเอกสารที่สำคัญชิ้นหนึ่ง
ที่มีค่าสูงและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไทย นั่นก็คือการค้นพบบันทึกสมุดข่อย พระราชชีวประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี
ที่ถ้ำเทือกเขาขุนตาล ในเขตจังหวัดลำพูน ต้นฉบับเป็นอักษรลานนา ได้ค้นพบโดย คุณสุทธวารี สุวรรณภาชน์ เมื่อประมาณพ.ศ.๒๕๐๘
เนื้อเรื่องทั้งหมดได้จัดพิมพ์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สนอง วรอุไร อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อพ.ศ.๒๕๒๕
เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกบันทึกไว้ จากผู้ ที่เกี่ยวข้องอยู่ในสมัยนั้น เรียกว่าทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่ฟังเขาเล่าว่าเท่านั้น
นับว่าเป็นหลักฐานที่หายากและน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้จึงขออนุญาตนำมาเป็นตัวอย่างเฉพาะบางตอน เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาประวัติศาสตร์
สมัยย้อนหลังไปประมาณพันปีเศษว่า คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เป็นชนชาติใดภาษาใด สืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีมีศาสนาอะไรประจำใจ..?
เมื่ออ่านไปแล้วก็คงจะจำได้ว่า ไม่ใช่ใครที่ไหน คงจะเป็นพี่ไทย...นี่เอง ไม่ได้เป็นจีน ไม่ได้เป็นแขก ไม่ได้เป็นขอมแต่อย่างใด เพราะข้อความต่อไปนี้
เป็นบันทึกของ พระพี่เลี้ยงพระแม่เจ้า ซึ่งอุปภิเษกสมรสร่วม พระแม่เจ้าจามะเทวี ซึ่งอ่านโดยมิได้เรียบเรียงใหม่
คงให้ตามเดิมเพื่อท่านผู้อ่านจะได้เห็นว่า คำพูดสมัยพันกว่าปีใช้สำนวนอย่างนี้
บันทึกของพระพี่เลี้ยงปทุมวดี
เราคือ ปทุมวดี และน้องเราคือ เกษวดี เจ้าลุง พระเจ้านพรัตน์ เจ้าแม่มัณฑนาเทวี ให้เราและน้องเราเป็นพี่เลี้ยง เทวี
ที่เจ้าลุงและเจ้าป้ารับมาเป็นราชธิดาท่านฤาษีส่งมาจาก ระมิงค์นคร เมื่อพุทธศก ๑๑๙๐ อันตัวเราและน้องเรา เป็นธิดา เจ้าพ่อทศราช
เจ้าแม่ผกาเทวี เจ้าลุงนพรัตน์เป็นพี่แห่งเจ้าแม่เราเราทั้งสองยังมีพี่น้องชายหญิงอีกสี่คน น้องเรานั้นอยู่กับเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่ง รัตนปุระนคร
เราและน้องเราอยู่กับเจ้าลุงและเจ้าป้า แต่ยังเล็ก ๆ อันเทวีน้อยนี้ เจ้าลุงเจ้าป้าประทานนามว่า เจ้าหญิงจามะเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี
รัตนกัญญา ลวะบุรีราเมศวร เราเป็นผู้สอนอักขระและการหัตถกรรม ส่วน น้องเราให้วิชาตำรับพิชัยสงครามและเพลงอาวุธ น้องหญิงจามะเทวีฯ
เป็นดาบคู่และธนูไม่แพ้ชาย ยังชำนาญในพิณอย่างยิ่ง
น้องหญิงจามะเทวีฯ มาอยู่กรุงละโว้เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ รอบ จึงเมื่อพระราชธิดาเจริญวัยได้ ๒๒ รอบ จึงอุปภิเษกสมรสกับ เจ้าราม
ผู้เป็นโอรสผู้พี่แห่งบิดาเราเมื่อปีพุทธศกได้ ๑๑๙๘ ตัวเราและน้องเราก็อุปภิเษกกับเจ้าราม พร้อมกับน้องหญิงจามะเทวีฯ ขณะนั้น เราได้ ๒๘ รอบน้องเรา ๒๖
รอบ
จวบกระทั่งน้องหญิงจามะเทวีฯ ถูกรับไปครอง นครหริภุญชัย เมื่อพุทธศกได้ ๑๒๐๑ น้องหญิงพระชนม์ได้ ๒๕ รอบ ท่านฤาษีเฉลิมนามน้องหญิงว่า
เจ้าแม่จามะเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ปิ่นธานีหริภุญชัย
เราทั้งสองได้ติดตามมายังนครหริภุญชัย เจ้าแม่ให้กำเนิดโอรสฝาแฝดแต่ นครละโว้ ซึ่งเจ้าลุงเจ้าป้าประทานนามโอรสผู้พี่ว่า มหันตยศฯ
และโอรสผู้น้องว่า อนันตยศฯ โอรสทั้งสองมาสู่หริภุญชัยด้วยเจ้าแม่
และเราให้กำเนิด เจ้าชัยรัตน์ฯ ซึ่งเป็น พญาโหราธิบดินทร์ ในแผ่นดินเจ้าเกษวดีน้องเราให้กำเนิดกุมารีแฝดคือ เจ้าจันทราฯ และ
ผกามาศฯ เจ้าแม่ให้อุปภิเษกเจ้ามหันตยศฯ ด้วยจันทราฯ และอนันตยศฯ ด้วยผกามาศฯ เราและน้องเราอยู่กับเจ้าแม่จนสิ้นสังขาร
ข้อความจากภาษาลานนานี้ หนานทา เป็นผู้อ่านให้ คุณสุทธวารี ฟังพอจะสรุปได้ว่า เจ้ารามราช ทรงมีพระมเหสี ๓ พระองค์ คือ
พระแม่เจ้าจามะเทวี พระนางปทุมวดี และพระนางเกษวดีพระแม่เจ้า ได้ศึกษาวิชาการรบไม่แพ้ชาย เก่งในเพลงดาบคู่และธนู
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงบุคคลท่านหนึ่ง ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน โดยท่านผู้ทรงคุณพิเศษเล่าไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ว่า
บันทึกพิเศษ
โดยเฉพาะ แม่ศรี แล้ว เรื่องการรบ แกเป็นหัวเรือใหญ่จริง ๆ เก่งในเพลงอาวุธหลายอย่าง การยิงธนูคราวละ ๓ - ๔ ดอกพร้อมกัน
เพื่อให้ถูกจุดหมายดอกละจุด แกเก่งมาก เมื่อมีสงคราม แกออกสงครามคู่กับฉันทุกคราว เวลาออกรบ แกแต่งตัวเป็นชายชอบใช้ชุดสีเหลืองโพกผ้าเหลือง สะพายดาบคู่
หอกซัด ธนูคู่ชีพ และมีดสั้นอาวุธประเภทนี้ แกเก่งมาก กำลังในการรบก็เก่ง ชายสองสามคน ล้อมแกแกก็จัดการเสียสิ้นไปในชั่วครู่ แกเคยถูกล้อมกรอบบ่อย ๆ
แต่ไม่ทันเหนื่อย เจ้าพวกนั้นก็เป็นเหยื่อคมดาบของแกสิ้น
ครั้งหนึ่ง ฉันกำลังรบกับข้าศึกที่ท้ารบ ตัวต่อตัว ข้าศึกเล่นไม่ซื่อลอบยิงธนูมาทางหลัง หวังสังหารฉัน แม่ศรีแกก็ยิงธนู ๓ ดอก
สวนลูกธนูของข้าศึก ดอกหนึ่งถูกลูกธนูของข้าศึกหัก เป็นการตัดอาวุธที่มาทำลายชีวิตอีกดอกหนึ่งถูกตัวคนยิงตาย อีกดอกหนึ่งถูกคู่รบกับฉันตาย รวมความว่า
แกยิงคราวเดียวได้ผล ๓ อย่าง คนที่รบกับฉันเป็นแม่ทัพเมื่อแม่ทัพตายก็เป็นอันเสร็จศึก
ขอย้อนเรื่อง บันทึกพระแม่เจ้าจามะเทวี ต่อไป ตามที่ได้กล่าวถึง ท่านฤาษี นั้นท่านเป็นใคร โปรดอ่านข้อความที่ท่านบันทึกไว้ด้วยตนเองเช่นกัน
เป็นข้อความที่ได้บันทึกไว้กับ เด็กหญิงวี และให้ไว้ในสุพรรณบัฏ
บันทึกของท่านสุเทพฤาษี
เรา สุเทพฤาษี แห่ง อุจฉุตบรรพต ณ ระมิงค์นคร ขอจารึกกำเนิดของกุมารีนามว่า วี มาให้มวลนิกรทั้งหลายได้รู้แจ้งดังนี้
กุมารีน้อยนี้ พญาสกุณาพามาจาก บุรพนคร เราจึงช่วงชิงเอาไว้ ณ สุวรรณบรรพต ใกล้อาศรมแห่งปู่ย่าผู้บรรพบุรุษ พญาสกุณาได้ปล่อยกุมารี
ตกลงมาท่ามกลางกอปทุมมาแห่งสระหลวง เราจึงสักการะอธิษฐาน กุมารีน้อยจึงลอยขึ้นบน วี ที่คอยรองรับ เราจึงขนานนามว่า วี ณ
วันนี้เป็นวันบุรณมีดิถีเพ็ญ พระจันทร์เต็มดวง แห่ง ศุกลปักษ์ คุรุวารแห่งเดือนจิตตมาศ ศตวรรษแห่งนาคะลังกาเพลาสายัณห์ พุทธศก ๑๑๗๖
กุมารีนี้ประมาณชันษาได้สามเดือนแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงกระทำพิธีมงคลขนานนามตามกำเนิด เพื่อเป็นศิริมงคล เราได้ทราบด้วยญาณว่า กุมารีนี้เป็นบุตรีของ
ชาวหนองดู่ ใน บุรพนคร เราจึงมอบให้กากะวานรและบริวาร เลี้ยงกุมารีน้อยนี้ ณ สุวรรณบรรพต...
(อธิบายคำต่อไปนี้ ๑. อุจฉุตบรรพต - ดอยสุเทพ ๒. ระมิงค์นคร - เชียงใหม่ ๓. บุรพนคร - ลำพูน ๔. สุวรรณบรรพต - ดอยคำ ๕. วี -
ภาษาเหนือหมายถึง พัด ๖. ศุกลปักษ์ - วันพฤหัส กลางเดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๑๗๖ ๗. หนองดู่ - ปัจจุบันคือ บ้านหนองดู่ อยู่ริมแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอป่าซาง จ.
ลำพูน )
ข้อความดังกล่าวนี้ ท่านสุเทพฤาษีบันทึกมากับ เด็กหญิงวี อาศัยนาวายนต์ลอยมาจาก ดอยคำ มาขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดชัยมงคล ( ปัจจุบัน เป็นท่าฉนวน
หน้าวัดเชิงท่า อ. เมือง จ. ลพบุรี ) ซึ่งเป็นท่าโดยเสด็จทางชลมารคของกษัตริย์ละโว้สมัยนั้น อีก ๓ วัน ถึงวันสำคัญ
จึงขอนำเหตุการณ์ที่ได้บันทึกไว้โดยละเอียดเพื่อจะได้ทราบว่า ขนบธรรมเนียมประเพณี เช่นนี้ ได้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว...
พระราชพิธีสถาปนาและเจิมพระขวัญ
วันสำคัญในนครละโว้ก็มาถึง ภายในพระราชวังประดับประดาด้วยประทีปโคมไฟบริเวณรอบพระราชวังสว่างไสวดุจกลางวัน ประชาชนต่างมากันล้นหลาม เพื่อชมการเล่นต่าง
ๆ โรงมหรสพต่างประกวดประชันการเล่นกันสุดความสามารถ ห้างร้านตบแต่งกันงดงาม บรรดาหญิงสาวแต่งกายกันด้วยวัฒนธรรม
ครั้นได้เวลาล่วงเข้ายาม ๑ เศษ เวลา ( ๑๙.๐๐ น. ) ภายในท้องพระโรงแห่งวังหลัง พระเจ้าละโว้และพระมเหสีทรงเป็นประธาน
พรั่งพร้อมไปด้วยบรรดาเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ เจ้านายฝ่ายหน้าฝ่ายใน พระมหาอุปราช หมู่ปุโรหิต เสนาข้าราชบริพาร หมู่สนมกำนัล และ คุณท้าว ก็มาสพรั่งพร้อม
และแล้วกุมารีน้อยในชุดสีขาวยาวกรอมข้อเท้า แลดูเยี่ยงชาวภารตะ สรวมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ส่องแสงแวววาว เดินเยื้องกายมาพร้อมพระพี่เลี้ยง
ตรงมายังแท่นประทับของจอมคนแห่งละโว้และพระมเหสี ได้หมอบลงกราบถวายบังคม แทบเบื้องพระยุคลบาทของสองกษัตริย์
ครานั้น พระเจ้าอยู่หัวและพระมเหสี พร้อมพระประยูรญาติ ก็เข้าประทับล้อมรอบกุมารีน้อย ฆ้องชัยต่างประโคมกระหึ่ม
พระมหากษัตริย์ทรงจุดเทียนไชยเวียนรอบกุมารีน้อย พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา
พราหมณ์ปุโรหิตอ่านโองการของพระศิวะผู้เป็นเจ้าโลกมโหรีปี่พาทย์บรรเลงเพลงชัยถวายพระพร
ดวงหน้าของกุมารีน้อยถูกบ่มด้วยโลหิตสีแดงเรื่อ ดุจสีของดอกกุหลาบ ณ ท่ามกลาง หมู่เทพยาดาอารักษ์ และดวงพระวิญญาณของอดีตพระประมุขกษัตริย์ละโว้
จึงพระเจ้าอยู่หัวก็ประกาศก้องด้วยพระสุรเสียงอันกังวานว่า
ด้วยบัดนี้เราและพระมเหสีขอแจ้งให้ ทราบทั่วกันว่า เราสถาปนากุมารีนี้เป็นเอกราช ธิดาแห่งนครละโว้ และให้ปุโรหิตจารึกพระนาม ลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า
เจ้าหญิงจามะเทวี ศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัตติยนารี รัตนกัญญาลวะบุรีราเมศวร ( ต้นฉบับอ่านแม่นางจามะเตวีฯ) เป็นรัชทายาทแห่งนครละโว้ ในวารดิถี
คุรุวาร ชุณหปักษ์ เดือน ๓ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๑๙๐
สิ้นพระกระแสพระราชดำรัส ก็ได้ยินแต่เสียงถวายพระพรพระราชธิดากันเซ็งแซร่ จากนั้นเหล่าบรรดาแขกเมืองได้เข้าถวายพระพร จวบกระทั่งเวลาล่วงเข้ายาม ๒ (
เวลา ๒๑.๐๐ น. ล่วงแล้ว ) พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ เจ้าหญิงจามะเทวีฯ ก็เป็นอันเสร็จสิ้น การเล่นต่าง ๆ
ได้แข่งประชันกันเต็มที่ เป็นที่สนุกสนานแก่ประชาชนละโว้ยิ่งนัก ในวันรุ่งขึ้นพระราชธิดามีหมายกำหนดการ จะทรงมีพระดำรัสปราศรัยกับไพร่ฟ้า
และเสด็จพระราชดำเนินรอบพระนคร
เมื่อพระราชธิดาทรงพระเจริญวัยขึ้นเป็นลำดับ ก็มาถึงพระราชพิธีที่สำคัญสำหรับชีวิต ที่เรียกกันว่า แต่งงาน นั่นเอง...
พระราชพิธีอภิเษกสมรส
วันจันทร์เดือน ๖ ปีขาล พุทธศักราช ๑๑๙๘ พระราชพิธีสำคัญในนครละโว้ก็ได้ถูก จัดขึ้น คือกษัตริย์ละโว้องค์ใหม่ ( เจ้ารามราช )
เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงจามะเทวีฯ และเจ้าหญิงพระพี่เลี้ยงทั้งสองคือ เจ้าหญิงปทุมวดี และ เจ้าหญิงเกษวดี
เครื่องราชบรรณาการถูกส่งมาจากที่ต่าง ๆ ประมาณมูลค่ามิได้ พระขนิษฐาของเจ้าชายโกสัมภีได้เสด็จมาในราชพิธีนี้ด้วย ฉะนั้นภายในพระราชวังละโว้คืนนั้น
สว่างไสวด้วยประทีปโคมไฟ ณ เพลาบ่ายแก่ของวันนั้น เจ้าชายและเจ้าหญิงทั้งหมดภายใต้ด้ายมงคลบนพระเศียร น้ำสังข์หยดแรกจากพระหัตถ์ของพระราชบิดา
ก็หยดรินสู่พระหัตถ์ที่ประนมเป็นรูปดอกบัวตูมของเจ้าหญิง สายธารแห่งน้ำสังข์เย็นเยือกถึงส่วนลึกแห่งดวงใจ
สมเด็จพระสังฆราช สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ก็ประกอบพิธีมงคลเสียงมโหรีปี่พาทย์ บรรเลงเพลงอยู่เจื้อยแจ้ว ตราบกระทั่งล่วงเข้ายาม ๑
กลางคืนเสียงมโหรีก็คลายด้วยทำนองเพลงพระบรรทม ดังกังวานขึ้นช้า ๆ ฟังแล้วทำให้ดวงใจทุกผู้มีชีวิตชีวา
ครั้นงานพระราชพิธีผ่านไปได้ ๓ วันพระเจ้าละโว้พระองค์ใหม่พร้อมทั้งพระมเหสี ทั้งหมดได้เสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค ตามพระราชประเพณี
หลังจากนั้นเจ้าหญิงที่ทรงระหกระเหิรไปจากระมิงค์นคร ได้เสวยสุขกับพระราชสวามีทุกนิรันดร์วันคืนและในปีนี้พระราชินีจามะเทวีฯ
ทรงโปรดให้สร้างนครอันสวยงามขึ้นที่สุวรรณบรรพตนคร แล้วทรงตั้งนามให้ใหม่ว่า นครงามฟ้า หรือ นครฟ้างาม ( เขาทอง จ. นครสวรรค์ )
เป็นนครที่สวยงามโอ่อ่า มีปราสาทราชวังดุจเมืองสวรรค์
จากพระราชพิธีสำคัญดังกล่าว พอจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยแท้ ๆ ที่ได้รับสืบทอดกันมาช้านานแล้ว สังเกตพิธีกรรมได้ กล่าวถึง สมเด็จพระสังฆราช
ด้วยแสดงว่าพระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง คนสมัยนั้นจึงมีศีลธรรมอันดีงาม สมกับที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา บ้านเมืองจึงมีความสงบสุข
แต่ที่มีการกล่าวถึง พระขนิษฐา หมายถึงน้องสาวของเจ้าชายกรุงโกสัมภี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดศึกสงครามขึ้น ก่อนที่จะมี พระราชพิธีอภิเษกสมรส
เนื่องจากเจ้าชายโกสัมภีทรงพอใจพระรูปพระโฉมของพระราชธิดาจามะเทวี เมื่อไม่สมอารมณ์หมายก็ยกทัพมาประชิดติดพระนคร พระราชธิดาจึงอาสาทรงนำทัพเอง
ในที่สุดก็สามารถปราบปรามข้าศึกอย่างราบคาบ นับว่าเป็นการออกศึกที่มีชัยชนะเป็นครั้งแรกของพระแม่เจ้า และสถานที่เจ้าชายต่างเมืองต้องมาสิ้นพระชนม์
จึงให้ชื่อว่า วังเจ้า ( จ. ตาก ) มาตั้งแต่บัดนั้น
ll กลับสู่ด้านบน
((((( โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 22 มี.ค. 51 )))))
Update 22 มี.ค. 51
ปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญชัย
ตามพระราชชีวประวัติได้เล่าต่อไปว่า ในปลายปี พ.ศ. ๑๒๐๐ ทูตจากนครหริภุญชัย แจ้งว่า บุรพนคร( ลำพูน )ได้ล่มแล้ว
พระฤาษีทั้งหลายได้ร่วมกันสร้างพระนครใหม่นามว่า นครหริภุญชัย จึงขอพระราชทานพระราชินีจามะเทวี เสด็จไปครองนครหริภุญชัย ครั้นถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ
เดือน ๘ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๒๐๑พระนางจามะเทวี พร้อมด้วยเสนาข้าราชบริพาร เศรษฐีและนักปราชญ์ ช่างต่าง ๆ ช้างม้า เป็นต้น อีกทั้งพระ
สงฆ์สามเณรร่วมติดตามเป็นอันมาก ได้เสด็จเป็นขบวนเรือทางชลมารค
ครั้นถึง นครงามฟ้า ทรงถวายไตรจีวร แก่พระมหาสมณะยังพระอารามหลวง และทรงอำลาพระประธานคู่เวียง เสร็จแล้วได้เสด็จต่อไปกระทั่งถึง
นครชุมรุม ( เดิมชื่อ นครเขื่อนขันธ์ เมื่อเสร็จศึกสงครามทรงเปลี่ยนชื่อเป็น นครชุมรุม ปัจจุบันเรียก นครชุม
ได้ทรงปราศรัยแก่ประชาราษฎร์ที่มาส่งเสด็จ แล้วได้เสด็จต่อไปจนกระทั่งถึง วังเจ้า ทรงหยุดไหว้เจ้าทั้งมวล ครั้นแล้วได้เสด็จต่อไปเรื่อย ๆ
ตามรายทางที่มีหมู่บ้านชาวประชา ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำได้มาเฝ้ารับเสด็จ และถวายแก้วแหวนอัญมณีต่าง ๆ
ชาวโกสัมภีที่มาค้าขายอยู่ ณ รามบุรี ( เมืองของเจ้ารามราช ปัจจุบันเป็นบริเวณ อ. แม่สอด จ. ตาก )ได้นำหยกและจันทน์แดงมาถวาย ณ
เวียงระแกง ( ต่อมาเรียกเวียงระแหง ปัจจุบันเป็นจังหวัดตาก ) เนื่องจากขบวนทางเรือตรากตรำมาหลายเพลา จึงหยุดยั้งพัก ณ หมู่บ้านเหนือเวียงระแกง
เช้าขึ้นได้พักเพื่อทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องใช้แล้วได้นำออกตากแดด ดูเต็มไป หมดในอาณาเขตกว้างใหญ่ สถานที่นี้ให้เรียกว่า เวียงกะทิกะ ( ปัจจุบัน
อ. บ้านตาก )
นับเวลาที่ได้เสด็จรอนแรมมาได้หนึ่งเดือนเศษ ได้บรรลุถึงสถานที่หมู่บ้านกว้างขวาง ได้ให้หยุดยั้งพักแรมไพร่พล และก็เห็นสถานที่นี้ประหลาดนัก
จึงกราบทูลพระราชสวามีว่า จะต้องสร้างนครไว้ที่นี้ ให้เป็นที่ระลึกในการที่ เราทั้งสองจะต้องจากกันด้วยภารกิจ และมิทราบว่าวิถีชีวิตจะได้บรรจบหรือไม่
ครั้นแล้วการสร้างเวียงก็เริ่มต้น ทรงสร้างอาราม ๔ อาราม สร้างพระประธานและพระเจดีย์ทุกอาราม มีอารามหนึ่งสร้างพระเจดีย์ทองคำไว้ภายในเจดีย์ใหญ่ด้วย
ทรงสร้างค่ายคูหอรบประจำเวียงไว้พร้อมสรรพ จนกระทั่งวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศก ๑๒๐๑ ทั้งอารามและเวียงก็เรียบร้อย เพราะประชาราษฎร์ที่ทราบว่า
พระมหากษัตริย์แห่งหริภุญชัยเสด็จมาแต่ละโว้ ต่างก็หลั่งไหลมาช่วย
นับเวลาสร้างได้ ๔ เดือนเศษ จึงทำการสมโภช ๗ วัน ๗ คืนได้ทรงขนานนามว่า พิศดารนคร ( ปัจจุบันอยู่ใน อ. ฮอด จ.เชียงใหม่ )
จากนี้พระมหากษัตริย์ทั้งสองก็จะต้องจากกัน ต่อมาพระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ทูลขอให้พระมหาเถระที่มาด้วย ให้อนุญาตให้พระนางเป็นชีผ้าขาว
ซึ่งวันรุ่งขึ้นพระมหากษัตริย์ละโว้ทรงถวายไทยทานแด่ชีผ้าขาวแล้ว ก็จากเสด็จกลับละโว้เพลานั้น
เมื่อออกจากพิสดารนครแล้ว เริ่มเข้าสู่เขตแดน หริภุญชัย ทรงอยากจะสร้างเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
จึงให้หยุดยั้งไพร่พลแล้วให้คนทั้งมวลสร้างและขนานนามสถานที่นั้นว่า ปะวีสิถะเจดีย์ ( ปัจจุบัน วัดพระธาตุดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ. เชียงใหม่ )
ต่อมาได้เสด็จมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง จึงได้เริ่มสร้างพระอาราม ทรงสร้างพระเจดีย์ทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และทรงสร้างพระพุทธรูปเท่าพระองค์
หมู่เศรษฐีที่ติดตามมาได้สร้างพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ทรงขนานนามว่า พระอารามรามัญ ( ปัจจุบันคือ วัดกู่ละมัก จ.ลำพูน )
ทั้งสองแห่งได้ทรงทำการสมโภช ๓ วัน ๓ คืน เช่นกัน
หลังจากได้ลาสิกขาบทแล้ว ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเข้าพระนครหริภุญชัย ในวัน ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมียพุทธศก ๑๒๐๒ เช้าตรู่วันขึ้น ๔ ค่ำ
จึงได้มีพระราชพิธีเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญชัยพระองค์แรก และเป็นต้นราชวงศ์ จามะเทวี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
คนไทยคือเจ้าของแหลมทอง
ตามที่นำมากล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในครั้งนั้นชนชาติไทยทางนคร ลำพูน กับชนชาติไทยใน นครละโว้ ได้ติดต่อกันใกล้ชิดสนิทสนม
และระยะทางก็ไกลกัน ถ้าคิดเป็นทางรถไฟขณะนี้ก็ร่วม ๗๐๐ กิโลเมตร ถ้าคิดเป็นทางคนเดิน ที่จำเป็นต้องอ้อมไปอ้อมมาแล้ว ก็นับเป็น ๑,๐๐๐ กิโลเมตรขึ้นไป
บ้านต่าง ๆ ตำบลต่าง ๆ นครต่าง ๆ ที่พระนางจามะเทวีเสด็จพักหรือผ่านมา ถ้าให้สันนิษฐานก็ต้องว่าเป็นคนไทย ตำบลคนไทย นครของเจ้าไทยวงศ์ต่าง ๆ
ซึ่งคุ้นเคยกับพระนางทั้งสิ้น มิฉะนั้นพระนางจะเสด็จผ่านมาได้อย่างสะดวกสบายอย่างไร และดินแดนเหล่านี้อาจ
เป็นดินแดนอยู่ในอาณาจักรของละโว้นครครั้งนั้นก็ได้ สำหรับพระนางที่ว่า มีเชื้อรามัญนั้น ก็อาจจะจริงทางมารดา แต่ว่านครละโว้ก็ดี นครลำพูนก็ดี ประชาชนก็ดี
คงเป็นไทยทั้'สิ้นโดยเฉพาะนครลำพูนบ่งบอกว่าเป็นไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
เราก็คงเห็นชัดแล้วว่า ในครั้งนั้นดินแดนอันยาวตั้ง ๑,๐๐๐ กิโลเมตรนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบ้านเมืองของคนไทยที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นแบบแผนของตนเอง
มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ดังที่มีมาในพระราชชีวประวัติดังกล่าวแล้ว
จึงเป็นการยืนยันว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นต้นมานั้น ไทยเราก็มีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในแหลมทองแล้ว ไม่มีรายงานว่าอพยพมาจากไหนเลย
พระพุทธศาสนาก็ได้ตั้งมั่นอยู่นานแล้ว แต่ถ้าจะย้อนลงไปก่อนนั้น จะต้องหาหลักฐานมาแสดงกันในโอกาสต่อไปนี้
พระแม่เจ้าฯ เป็นผู้คิดประดิษฐ์อักษรลานนา
หลังจากทรงดำเนินงานในการก่อสร้างอาราม บูรณะพระนคร สร้างเวียงหน้าด่านสถาปนากองทัพม้า กองทัพเรือ จัดระบบหน่วยงานการปกครอง ตั้งผู้ครองนคร
เวียงแขวงบ้าน จ่าบ้าน ผู้ครองนครเป็นพระยา ผู้ครองเวียงเป็นจ่าเวียง
ครั้นในด้านสร้างพระอาราม กุฏิ พระเจดีย์ พอเข้ารูปแล้ว จึงทรงจินตนาการว่า อักขระทั้งหลาย ที่ใช้กันในขณะนี้ยุ่งยากมาก เพราะต่างคนต่างใช้
เช่นทาง ระมิงค์ (เชียงใหม่) ใช้ อักษรฝักขาม ซึ่งพระองค์ได้ศึกษาจากท่านฤาษีสุเทพ ทางละโว้ใช้อักขระของต้นวงศ์คือ
พระเจ้ากอมมันตราช ผู้ซึ่งสถาปนานครละโว้( ปัจจุบันเรียก อักขระขอม )
จึงในวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ปีวอก พุทธศก ๑๒๐๔ จึงอาราธนาท่านสุเทพฤาษี พระอาจารย์นครโกโตทะนะ ( ชาวผิวขาว ) ซึ่งได้ถวายอักขระแด่พระองค์เมื่อนครละโว้
พระอาจารย์นครโทโตทะนะ ( ธิเบต ) พระอาจารย์นครโคโตทะนะ ( เขมร )
พระอาจารย์ดังกล่าวทั้ง ๓ นคร เป็นผู้ถวายอักขระแด่พระแม่เจ้าเมื่อครั้งอยู่ละโว้ และ ได้ติดตามมายังนครหริภุญชัยด้วย
แล้วทรงปรารภว่าอักขระฝักขามนั้นใช้ทาง นครโทโตทะนะ และ อุชเชนี และ ระมิงค์นคร
ส่วน นครโคโตทะนะ อักขระใช้อย่างเดียวกับ ละโว้ ขณะนี้เกิดความยุ่งยากหลายประการ จึงมีพระราชประสงค์จะนำอักขระ ทั้งหมดมาเป็นแบบฉบับ
แล้วตราเป็นอักขระขึ้นใหม่ให้เรียกว่า อักขระรามัญ ( ปัจจุบันเรียก อักขระลานนา ) จึงขอเชิญพระอาจารย์ทั้งมวลร่วมกันดัดแปลง
ซึ่งพระองค์จะพยายามแก้ไขขอให้พระอาจารย์ทั้งมวลคอยให้ความเห็นแนะนำ
การดัดแปลงอักขระนี้ พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ทรงร่างไว้คร่าว ๆ แล้วจึงที่ประชุมพระอาจารย์ก็ปรึกษาแก้ไขดัดแปลงให้ง่าย เพื่อจะได้ตราไว้เป็นแบบฉบับ
และแบ่งเป็นหมวดหมู่ มีพยัญชนะ สระและตัวเลข ซึ่งทั้งหมดได้แยกไปจากพยัญชนะนั่นเอง การพิจารณาอักขระต่าง ๆ ครั้งนี้ใช้เวลา ๒ เดือนเต็ม จากวันเริ่มขึ้น ๑
ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก พุทธศก ๑๒๐๔ ตราบถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕
อีกทั้งยกเลิกการเรียกนามปี ซึ่งแต่เดิม ปีชวด เรียก มุสิกสังกา ให้เรียกเสียใหม่ว่า
ไจ้ เป้า ยี เหม้า สี ไส้ สง้า เม็ด สัน เร้า เส็ด ไก๊ ส่วนเวลาข้างขึ้นให้เรียก ออก ข้างแรมให้เรียก ดับ
( จากนี้ขอคัดคำพูดตอนที่คิดอักขระเรียบร้อยแล้วดังนี้ )
ถ้วนมาสต่าง ๆ เป๋นบัวละมวลได้ว่า เพลาแห่งเซี่ยงกิ๊ดอักขาระนี้ ถ้วนสิ้นได้ ๘ เพลาธรรมสวนะ จึ๋งให้ตราไว้หมายจำฮอมเข้า กับเพลาต้นกิ๊ดอักขาระ
ว๋าระนี้ให้ค้าย ( ย้าย ) ถ้วนมาสก๋าได้ว่า ( เดือนที่สิ้นเต็ม เรียก ถ้วนมาส ใช้ในคำเหนือโบราณเพลาดับ ๑๕ ถ้วนมาส ๘ ปี๋เร้า พุทธศก ๑๒๐๕
ในวันแรกที่ทรงประกาศอักขระรามัญ ก็พอดี พระเจ้ารามราช เสด็จจากละโว้ถึงหริภุญชัยพอดี
เพราะพระแม่เจ้าได้มีบัญชาให้ทหารไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จมาเป็นสักขีพยาน ตั้งแต่วันเริ่มคิดตัวอักขระจากวันประกาศใช้ระเบียบตัวอักขระแล้ว
ทรงรับสั่งให้บันทึกประวัติของแต่ละนครใส่ลานทอง โดยจักกล่าวถึงนครละโว้ก่อน ฉบับที่จารึกเรื่องราวของนครละโว้นั้นมีว่า
ประวัตินครละโว้ ลพบุรี
ในกาลที่พระบรมศาสดาได้เสด็จนิพพานไปได้ ๒๐๐ พรรษาเศษ มีพระยาท่านหนึ่งหนีมาจาก นครอโยธยา ( เข้าใจว่าเป็นอยุธยา
)ได้พาข้าราชบริพารมาหนึ่งหมื่นเศษ เมื่อมาถึง สถานที่แห่งหนึ่ง เห็นว่ามีชัยภูมิเหมาะสมก็ยั้งไพร่พลทั้งมวล แล้วก็พากันสร้างนครขึ้น ได้สร้างถึง ๓ ปี
จึงแล้วเสร็จ จึงได้ขนานนครว่า นครกะมะละ (หมายถึงละโว้ ) แล้วพระยาผู้นั้นได้สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้ากอมมันตราช
เป็นปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์กอม
ชนทั้งหลายนิยมชมชื่นมาสวามิภักดิ์เป็นอันมาก จนกลายเป็นนครใหญ่รุ่งเรืองวิทยาการ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ ได้เคยไปเรียนวิทยาการจากพระดาบส ณ
กาลิงครัฐฝูงชนทั้งหลายขนานนามว่า นครกอม บ้าง ก๋อม บ้าง ( คำพูดนี้อาจฟังเป็น ขอม ก็ได้ )
พระเจ้ากอมมันตราชเสวยราชสมบัติได้ ๔๐ ปี ก็สวรรคต พระราชโอรสทรงเสวยสืบแทน จวบกระทั่งเป็นเวลาพันปีกว่า ซึ่ง พระเจ้านพรัตนราช
ครองราชย์สมบัติสืบแทน นับ เป็นราชวงศ์กอมลำดับที่ ๓๕ จวบกระทั่งถึง พระเจ้ารามราช สืบราชสมบัติต่อไปในปีพุทธ ศก ๑๑๙๘ ก็เปลี่ยนจากราชวงศ์กอมเป็น
รามะวงศ์ อันเหตุความเป็นมาดังนี้
พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ จึงได้ทรงกำหนดเรื่องราวไว้ ให้ฝูงชนได้ทราบสิ้นในลานทอง และได้จารึกไว้พร้อมกับถวายแก่พระราชสวามี เพื่อให้ทรงนำไปประดับ ณ
นครละโว้ด้วย
( เป็นอันว่า ตามที่ได้พยายามค้นหาหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นเอกสาร เกี่ยวกับชนชาติไทยทางภาคกลาง
ถึงแม้จะไม่ได้กล่าวถึงอาณาจักรบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็พอจะทราบความเป็นมาของ อาณาจักรละโว้ ซึ่งอยู่บริเวณภาคกลางเหมือนกัน
ได้สืบสันตติวงศ์โดยคนไทยตลอดมา
ฉะนั้น คำว่า ขอม อาจจะเพี้ยนมาจาก ก๋อม ก็ได้ และเมืองนี้ได้ใช้ อักษรขอม มาตั้งแต่สมัย พระเจ้ากอมมันตราช
แสดงว่าอักษรขอมได้มีมานานแล้ว ส่วนใครเป็นผู้ประดิษฐ์ จะได้ทราบจากจารึก กระเบื้องจาร ในตอนต่อ ๆ ไป... )
ประวัตินครระมิงค์ ( เชียงใหม่ )
อันระมิงค์นครนี้ แต่เดิมมาท่านฤาษีผู้หนึ่ง
ได้เลี้ยงกุมารผู้หนึ่ง และกุมารีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในรอยเท้าช้าง แล้วให้นามกุมารชายว่า อุปะติ ให้นามกุมารีหญิงว่า กุนารีสิ
ต่อเมื่อกุมารทั้งสองเติบใหญ่ขึ้นมาก็ได้สร้างนครให้ ณ เบื้องล่างอุจฉุตบรรพต ในเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปีเศษ
จึงเมื่อสร้างนครแล้วก็ขนานนามนครว่า นครทัมมิฬะ แต่ฝูงชนบางหมู่ก็เรียก นครทัมมิลวะชน บางหมู่ก็เรียก นครมิรังคะกุระ
และให้กุมารและกุมารีเป็นพระมหากษัตริย์ปกครอง เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าอุปะติราช และให้กุมารีกุนารีสิเป็นพระมเหสี ทรงพระนามว่า
พระนางกุนารีสิ พระมหากษัตริย์ทั้งสองได้เสวยราชย์ จนสิ้นพระชนม์ พระราชโอรสก็เสวยราชย์สืบต่อ ๆ กัน ตราบกระทั่งพุทธศักราชได้ ๗๐๐ ปีเศษ
ก็สิ้นวงศ์อุปะติ ซึ่งได้เสวยราชสมบัติสืบต่อมาได้ ๑๘ พระองค์
ต่อมาอำมาตย์ กุนาระนาท แย่งราชสมบัติ ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า พระเจ้ากุนาระราชา เมื่อพระเจ้ากุนาระราชาสิ้นไปแล้ว
ราชโอรสเสวยราชสมบัติสืบมา ในขณะนั้นพระเจ้ากุนาระราชาได้เปลี่ยนนามนครเป็น ระมิงค์นคร ซึ่งในขณะนี้กษัตริย์วงศ์กุนาระที่ ๑๓ ทรงพระนาม วิลังคะ
กำลังเสวยราชสมบัติอยู่ จึงตราประวัติของนครนี้ไว้ให้มุขอำมาตย์ทวยราษฎร์ทั้งหลายได้รู้แจ้ง และให้จารใส่ลานทองไว้เป็นบรรทัดฐานสืบไป
ประวัตินครหริภุญชัย ( ลำพูน )
เมื่อพุทธศกได้ ๑๕๕ กษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่า กุนาริโกระ มาแต่ นครละกอน (ต่อมาเปลี่ยนเป็น นคร
เขลางค์ ปัจจุบันคือ ลำปาง ) เข้าทำศึกกับ นครราชมะกะ ( ต่อมาเปลี่ยนเป็น บุรพนคร หริภุญชัย ปัจจุบันก็คือ ลำพูน
)
กษัตริย์นครราชมะกะแพ้หนีไปนครอุชเชนี จึงพระเจ้ากุนาริโกระเสวยราชสมบัติ แล้ว ทรงเปลี่ยนนามนครว่า บุรพนคร
พระมหากษัตริย์พระองค์นี้มีบุญญาธิการแก่กล้า และยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ได้สร้างอารามและพระเจดีย์ไว้มากมาย
ทรงรวบรวมอักขระฤาษีและอักขระฝักขามไว้เป็นหมวดหมู่ ปรับปรุงนครให้เหมาะสม บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติได้ ๒๒
ปีก็เสด็จสู่สวรรคาลัย พระราชบุตรได้สืบราชสมบัติต่อมา
ราชวงศ์กุนาริโกระสืบต่อ ๆ กันมาได้ ๔๘ พระองค์ ก็ถึง พระเจ้าสิโรระราชะ ซึ่งได้เสวยราชย์แต่พุทธศก ๑๑๙๐ พอถึง พุทธศก ๑๑๙๘ เดือน ๔ (
คือเดือนยี่ ใต้ ) ได้เกิดวาตภัย อุทกภัยพระคงคาท่วมพระราชวังประชาราษฎร์ต่างก็หนีระส่ำระสายพระมหากษัตริย์ก็หายไปกับแม่พระคงคา
ท่านบิดาสุเทพฤาษี ท่านฤาษีสุกันต์ ท่านฤาษีสุทันต์ ท่านฤาษีสุพราหมณ์ และท่านฤาษีต่างๆ อีก ๑๐๐ รูป
ได้ร่วมกับฝูงชนทั้งหลายสร้างพระนครขึ้นใหม่ ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล พุทธศก ๑๑๙๘ และแล้วเสร็จในกลางปีพุทธศก ๑๒๐๐ได้ขนานนามว่า นครหริภุญชัย
จึงตราประวัติของนครนี้ไว้ให้มุขอำมาตย์ทวยราษฎร์ทั้งหลายได้รู้แจ้ง และให้จารใส่ลานทองไว้เป็นบรรทัดฐานสืบไป ให้จารึกเรื่องราวความเป็นมาของ ๓
นครนี้ไว้ให้ประชาชนได้รู้แจ้ง
ครั้นกำหนดประวัติศาสตร์นครทั้งหมด แต่วันประกาศอักขระเป็นต้นมา ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕ก็ทรงให้ตราประวัติศาสตร์ในวันนี้เลย
จึงกำหนด วันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีระกา พุทธศก ๑๒๐๕ให้มีพระราชพิธีฉลองหนังสืออักขระและหนังสือประวัติศาสตร์ ๑๕ วัน ๑๕ คืน
เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระเจ้ารามราชาก็เสด็จกลับนครละโว้ด้วยเหตุพระแม่เจ้าทรงให้ปุโรหิตสำเนากำหนดอักขระและประวัติศาสตร์ไว้หลายชุดก็ได้มอบให้พระราชสวามีนำไป
นครละโว้หนึ่งชุดพระเจ้าละโว้ทรงรับสั่งกับพระอัครมเหสีว่า
อีก ๓ ปีข้างหน้า จะทรงลาจากราชสมบัติ และจะทรงผนวช...
กระทำสังคายนา
เนื่องจากพระพุทธศาสนาสับสนอลเวง การปฏิบัติก็กระทำกันไปต่าง ๆ นานาจึงในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกาพุทธศก ๑๒๐๕ ให้เริ่มกระทำสังคายนพระพุทธศาสนา
เป็นเวลา ๒ เดือนเศษก็แล้วสิ้น ทรงสร้างสำนักศึกษาปริยัติธรรม ณ พระอารามจามะเทวี พระอารามอัมภวนาราม ทรงสร้างสถานที่ศึกษาอักขระรามัญ ณ พระอารามทั้งสองนี้
ให้ขุนนางข้าราชบริพารเริ่มศึกษาอักขระรามัญกันทั่วทุกคน ระหว่างนี้พระพี่เลี้ยงทั้งสองทรงพระครรภ์
ระยะนี้ทรงเร่งปรับปรุงพระนคร และเวียงต่าง ๆ สร้างพระอารามเพิ่มจัดระบบ การศึกษาทั้งภิกษุสามเณรและประชาชน เร่งให้ฝึกทหารม้าที่อยู่เวียงหน้าด่าน
จัดระบบทัพเรือ ณ เวียงหนองดู่ สร้างนครใต้พิภพ สร้างทางใต้ดินจากพระราชวัง ให้มีทางถึงปากน้ำสบทา จวบกระทั่งพุทธศก ๑๒๑๐ กลางปี
ก็สำเร็จสิ้นภาระกิจด้านนี้
สรุปความ
เรื่องนี้ทำให้เราได้ทราบว่า หนังสือประวัติศาสตร์ไทย บันทึกไว้โดยคนไทย ผู้อยู่ในผืนแผ่นดินไทย อาจจะเป็นฉบับแรกของโลกก็ได้
ที่ยืนยันว่าบรรพบุรุษของเรา มีเชื้อชาติ มีเผ่าพันธุ์ มีวัฒนธรรมเดียวกัน อันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยควรที่เราจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
ประการที่ ๒ ทำให้เราได้รู้ว่าสมัยโบราณ ได้มีการใช้ตัวหนังสือกันมานานแล้วและมีใช้หลายแบบด้วย
ประการที่ ๓ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาอยู่ในหัวใจคนไทยนานแล้ว คัมภีร์ทางพระศาสนาคงมีครบถ้วน แต่การประพฤติยังไม่เป็นแนวทางเดียวกัน
พระสงฆ์จึงได้ทำสังคายนาทบทวนพระพุทธวจนะกันใหม่ นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่มิได้ถูกบันทึกไว้ก่อนเลย
พระแม่เจ้าคงจะทราบได้ดีว่า ลูกหลานรุ่นหลังอาจจะสับสนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติของตน จึงได้จารึกไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนไทย
ให้ระลึกถึงคุณค่าของแผ่นดินไทยว่าเป็นของเรามาช้านานแล้ว เราจะได้รู้จักรักษาและหวงแหนไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป
ประการสุดท้ายทำให้นึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อนำมาแนะนำไว้เสมอ ที่ให้ดูคนที่ตายแล้วเป็นตัวอย่าง บุคคลในประวัติก็ดี
ทรัพย์สมบัติที่สร้างเอาไว้ก็ดี ผลสุดท้ายก็พังสลายไปในที่สุด เราผู้อ่านก็คงจะมีสภาพเช่นเดียวกับท่านสู้ตัดสินใจไปนิพพานเลยดีกว่า
จะได้ไม่ต้องเกิดมามีร่างกายที่แสนทุกข์อย่างนี้อีก
ใจความที่ยกมาเป็นตัวอย่างธรรมะนี้ ในฉบับหน้าจะมีโอวาทของท่านผู้เป็นเจ้าของประวัติและท่านผู้อ่านจะได้พบกับการถามปัญหาธรรมระหว่าง
สมเด็จพระสังฆราช แห่งนครละโว้ กับนครหริภุญชัยจะมีเนื้อหาน่าสนใจแค่ไหน ไว้คอยติดตามกันต่อไป..สวัสดี..
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป วันที่ ๒๙ มีนาคม..
webmaster - 29/3/08 at 06:12
Update 29 มีนาคม 2551
การเฉลยปัญหาธรรม
ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ นครหริภุญชัยได้ต้อนรับคณะราชทูต จากนครละโว้
พร้อมกับพระสังฆราชละโว้ พระมหาเถระสักกายะ ทางหริภุญชัยได้ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ
คณะราชทูตละโว้ได้แจ้งข้อราชการว่า พระเจ้ารามราช พระมหากษัตริย์แห่งละโว้ ได้ลาออกจากราชสมบัติ
และได้ทรงผนวช เวลานี้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พระเจ้าจักรราช ได้ให้คณะทูตมาขอเมตตาเจริญธรรมปัญญา
มาตรว่าทางละโว้มิสามารถแก้ปัญหาได้ ก็ขอเป็นเมืองออก
เนื่องด้วยเหตุนี้ พระแม่เจ้าจึงรับสั่งให้สร้างพลับพลาใหญ่ มีอาสนะประดับมณีสีต่าง ๆ ๒ อาศรม ณ ที่อาราม
จามะเทวี และให้แจ้งเหตุให้พสกนิกรทราบ ให้มาร่วมฟังการเฉลยปัญหาในครั้งนี้
ณ วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ ณ พลับพลาบริเวณอาราม จามะเทวี เนืองนองด้วยพสกนิกร
ใกล้ไกล เสนาข้าราชบริพาร พระฤาษีสุเทพ และบรรดาฤาษีทั้งปวงก็มาประชุมพร้อมพรั่ง เบื้องพระพักตร์พระแม่เจ้า
ครั้นได้เวลามหาฤกษ์ พระสังฆราชละโว้ พระมหาเถระสักกายะ เสด็จขึ้นบนธรรมาสน์ก่อน แล้วพระสังฆราช
หริภุญชัย พระมหาเถระอุบาลี เสด็จขึ้นตาม
พระมหาเถระสักกายะเริ่มวิสัชนาว่า
อันนครหริภุญชัยนี้มีความผาสุขร่มเย็น ด้วยพระเมตตาของพระเจ้าแม่จามะเทวีฯ หมู่พสกนิกรก็เบิกบาน ประกอบด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
กระผมเดินทางบุกป่าฝ่าดงมาครั้งนี้ ก็อยากขอความเมตตาพระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย
ได้ประทานความรู้บางข้อ ของข้อปลีกย่อยแห่งธรรม โดยนัยนี้
กระผมขอถามสัก ๒ ข้อ และนัยเดียวกันก็ขอให้พระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย ได้แนะนำสั่งสอนกระผม ๒ ข้อ เช่น
เดียวกัน ถ้ากระผมมิสามารถจะเฉลยข้อใดข้อหนึ่ง หรือทั้ง ๒ ข้อได้ก็ถือว่าแพ้ ยินดีนำนครละโว้เป็นเมืองออก มิทราบว่า
พระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย จักเมตตาประการใด?
พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
พระคุณเจ้าแห่งละโว้มีพระทัยเมตตาบุกป่าฝ่าดงมา กระผมแสนจะปีติในดวงใจ ก็ขอรับข้อธรรมซึ่งพระคุณเจ้าจักเมตตาสั่งสอน และก็นัยเดียวกัน
ถ้ากระผมมิสามารถจะเฉลยปัญหาใดได้ กระผมก็ขอยอมแพ้ และตกลงให้นครหริภุญชัยเป็นเมืองออก และก็ขออาราธนานิมนต์พระคุณเจ้าละโว้ เป็นผู้แสดงก่อนด้วยเถิด
พระมหาเถระสักกายะถามว่า
กระผมอยากจะเรียนถามว่า พระมหาจักรพรรดิ ต้องมีสิ่งใดเป็นเครื่องหุ้มห่อ จึงจะคงทนถาวร?
พระมหาเถระอุบาลีตอบ
อันว่าพระมหาจักราธิราชย่อมต้องมีแก้ว ๓ ประการเป็นเครื่องหุ้มห่อ คือ
๑. แก้วกาย ย่อมหาเวลาให้เสนาข้าราชบริพารและพสกนิกรเห็นว่า ถ้าหุ้มห่อพระวรกายเยี่ยงเสนาหรือพสกนิกร
ก็อยู่ได้เยี่ยงฝูงชนทั้งหลาย
๒. แก้ววาจา ต้องประกอบด้วยสัมมาวาจา ทรงมีพระวาจาสัจจะ
๓. แก้วใจ ต้องมีพระทัยเต็มไปด้วย สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ด้วยการระลึกสิ่งที่ถูกต้อง
และพระทัยตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว
มิทราบว่า ข้อเฉลยของกระผมจะตรงเป้าของพระคุณเจ้าหรือเปล่า ขอได้โปรดเมตตาด้วยเถิด
พระมหาเถระสักกายะรับว่า
ตรงเผ็งทีเดียวพระคุณเจ้า เลิศแท้หนอ...หริภุญชัย แต่เดี๋ยวกระผมขอถามอีก ๑ ข้อก่อน
พระมหาเถระสักกายะทรงถามปัญหาต่อว่า
ปัญหาข้อที่ ๒ เอ๊ะ! พระคุณเจ้าแห่งหริภุญชัย อันปัญหาข้อนี้จะให้กระผมเสนอเลยหรือรอไว้ก่อน?
พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
มีพระวาจามาเลยพระคุณเจ้า เมื่อน้าวสายธนูแล้วปล่อยลูกเลย กระผมหลบลูกธนูไม่ได้ วันนี้ก็ขอเอาร่าง
สังเวยกันละ
พระมหาเถระสักกายะจึงว่า
โอ๊ะ! พระคุณเจ้านี่เด็ดแท้อย่างนี้นี่เล่า หริภุญชัยถึงรุ่งเรืองในอักษรศาสตร์ เอาละครับ..ปัญหาข้อที่ ๒
ขอเรียนถามดังนี้
เมื่อว่าองค์พระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วขณะที่ทรงไปยังฝั่งมหานที ก็มีสัตว์ ๔ เหล่า คือ เต่า ปู ปลา หอย
มานมัสการ จึงพระบรมศาสดาก็ทรงเปล่งพระวาจาประทานแด่เทพยดาอารักษ์ และฝูงเวไนยสัตว์ทั้งหลายว่า
เออหนอ...ถ้าแม้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย จะเป็นชนก็ดี ฝูงสัตว์ก็ดี ถ้าตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม สัจจธรรมแล้ว
ก็จุ่งมีชีวิตอันเลอเลิศดุจสัตว์ทั้ง ๔ นี้เถิด
ด้วยเหตุใดพระองค์จึงตรัสดังนั้น อย่างไรพระคุณเจ้าหริภุญชัย ถ้าจะไม่ตอบก็ได้นะ กระผมจะแก้แทน
พระมหาเถระอุบาลีจึงตอบว่า
เอ...วันนี้อากาศก็เย็น เหตุดังฤาพระคุณเจ้าละโว้ร้อนรุ่มเหลือหลาย กระผมเพียงคลางแคลงว่า ทำไม
พระบรมศาสดาจึงยกยอสัตว์ ทั้ง ๔ นี้มากมาย ปัญหาข้อนี้เห็นทีจะมีเนื้อความลึกซึ้ง หรือจะเป็นเส้นผมบังภูเขา
เสียกระมัง เอ้า... บรรดาศรัทธาญาติโยม แต่ละท่านมีความเห็นฉันใด?
พระมหาเถระสักกายะจึงกล่าวว่า
ยอมหรือยังพระคุณเจ้า บรรดาศรัทธานักบุญเขาก็ไม่มีความเห็นจะให้
พระมหาเถระอุบาลีบอกว่า
เดี๋ยว ๆ พระคุณเจ้า พระทัยเย็น ๆ เข้าไว้ กระผมต้องท้วงติงบ้าง เปรียบดังนักมวยพอระฆังเก๊งก็
ตลุยเอา ๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นนกกระจอกน้ำน่ะนา เอาละผิดถูกกระผมขอเฉลยว่า
การที่พระบรมศาสดาให้พรว่า
ถ้าผู้ใดมั่นในศีลสัจจะแล้ว ให้มีความเป็นอยู่เยี่ยงสัตว์ประเสริฐ ๔ เหล่านี้ เพราะเหตุว่า
๑. ให้บุคคลท่านนั้น มีอายุยืนยาวดุจดัง เต่า
๒. ให้มีวรรณะหรือผิวพรรณงดงามดุจดัง ปู คือว่าปูนั้น ยามเล็กอองปู ( เปลือกนอก ปู )
ขรุขระไม่งดงาม
แต่เมื่อแก่ตัวกลับเป็นมันเลื่อมสีสดสวย
๓. ให้มีความสุขดุจดัง ปลา จะฝนตกแดดออก หน้าร้อนหน้าหนาว ปลามีความสุขอยู่เสมอ
๔. ให้มีพละดุจดัง หอย มิว่ายอดเขาหรือใต้มหาสมุทร หอยก็สามารถไปได้ทั่วจักรวาล ไม่เหนื่อยเมื่อยล้า
ความรู้กระผมก็ได้แค่นี้ มิทราบว่าพระคุณเจ้าละโว้จะเมตตาธรรมประการใด?
พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
ประเสริฐแท้ ๆ หริภุญชัยจักรุ่งเรืองวัฒนาถาวร ก็ด้วยความปราชญ์เปรื่องของพระคุณเจ้าเป็นแน่แท้
เอาละขอได้เมตตาถามกระผมมาเลย
พระมหาเถระอุบาลีจึงถามว่า
พละกำลังของสิ่งต่าง ๆ ที่ล้อมรับโลกให้สดชื่น หรือสั่นสะเทือน หรือทั้งยุ่งเหยิงวุ่นวาย เรียกว่าถึงกับ
ว่า โลกนี้จะแตกระเบิดเป็นผุยผง ความเป็นไปเหล่านี้ จักด้วยดวงอาทิตย์หรือ ดวงจันทร์ หรือมหาสมุทร หรือ
อะไรกันแน่?
พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
เปล่าเลยพระคุณเจ้า พระอาทิตย์ก็ดี พระจันทร์ก็ดี สมณชีพราหมณ์ก็ดี มหาสมุทร หรือฝั่งมหานทีก็ดี
สิ่งเหล่านี้มีกำลังมากก็จริง แต่ก็หาสามารถจะให้โลกสั่นสะเทือน ถึงกับวุ่นวายเท่าใดไม่ แต่สตรีกลับมีกำลังสามารถ
ให้โลกโกลาหล รบราฆ่าฟัน ทั้งที่เห็นตัวและไม่เห็นตัว
อย่างเช่นในเวลานี้มวลชนทั้งหลายเสพย์ พืชผักส้มสูกลูกไม้ หัวเผือกหัวมันเป็นอาหาร จะเสพย์สัตว์มีชีวิตก็เพียงเล็กน้อย
มวลสตรีทั้งหลายก็มิใคร่มีบุตรธิดา ถึงจะมีก็น้อยมาก
แต่ต่อไปภายหน้ามวลชนจะเสพย์เนื้อ สัตว์มากกว่าพืชผัก เหล่าสตรีก็จะให้กำเนิด บุตรธิดากันมากหลาย
จนต้องแก่งแย่งฆ่าฟัน ทั้งที่เกิดมาแล้วและยังไม่เกิด พละกำลังที่สตรี มี จึงจักทำให้โลกวุ่นวาย อุปมาดังที่พระพุทธองค์
ได้ตรัสไว้ว่า พลังจันโท พลังสุริโย พลังสมณพราหมณา พลังเวลา สมุทัสสพลาติ พลังมิ ตาถิโย
แปลความว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ สมณพราหมณ์ และฝั่งทะเล ต่างมีกำลัง แต่สตรีมีกำลังมากกว่า จะถูกหรือผิดนะพระคุณเจ้า
พระมหาเถระอุบาลีชี้แจงว่า
ประเสริฐ ๆ ใช่แล้วพระคุณเจ้า ถ้ากระไรกระผมจะขอถามปัญหาข้อ ๒ อันว่า มนุษย์ก็ดี สัตว์โลกก็ดี
พืชผลก็ดี ก่อกำเนิดด้วยอะไรก่อน? อย่าครับ อย่าเพิ่งท้วงว่า ไม่เห็นเกี่ยวกับธรรมนะขอรับกระผม ขอพระคุณเจ้าละโว้พระทัยเย็น ๆ เข้าไว้
พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
เดี๋ยวนะพระคุณเจ้า คิดก่อน เอ... มนุษย์เราเป็นตัวขึ้นมา แล้วก็มีบุตรหลานตามมา สัตว์ที่ไข่ ไข่แล้ว
กลายเป็นตัว ตัวก็ไข่อีก เป็นตัวอีก เอ๊ะ! ใครเกิดก่อนใครล่ะ ต้นไม้ล่ะ เป็นต้นมีผล ผลกลายเป็นต้น ดูมันยุ่งเหยิง
เหลือเกิน เอาละ...กระผมขอเฉลยปัญหาว่า
สัตว์โลกที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มิว่ามนุษย์ หรือสัตว์ และสัตว์โลกที่มีไข่ หรือต้นไม้นั้น ปฐมแรกคือกำเนิดเป็นตัวตนก่อน แล้วได้รับธาตุ
๔ ก็เจริญวัยขึ้น เมื่อได้เสพย์อาหาร ต่าง ๆ อาหารเหล่านั้นก็ไปทำให้เกิดเชื้อบ้าง จุลินทรีย์
บ้าง ที่มองเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง
ถ้ามนุษย์ก็ทำให้เกิดเชื้อมนุษย์ ถ้าเป็นพยาธิก็บังเกิดสืบพันธุ์ต่อไปอีก เหมือนต้นเห็ด เดิมก็เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง
เมื่อเห็ดถูกผิวอากาศเป็นอาหาร รากกินจุลินทรีย์ในดินเป็นอาหาร ก็เกิดแพร่พันธุ์แยกเผ่าไปได้อีก ถ้าอาหาร
แปลกออกไป ถ้าต้นใดไม่มีอาหารกินก็เหี่ยวแห้งก่อนที่จะใหญ่โต
สัตว์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าว่าอาหารที่มวลมนุษย์และสัตว์กินนี้เปลี่ยนไป รูปร่างการสืบพันธุ์ก็เปลี่ยนไป
เช่นมนุษย์เสพย์อาหารที่มีเนื้อสัตว์กันเป็นหลัก ก็ย่อมเกิดบุตรมาก และจิตใจก็ต่ำลงต่างก็ประหัตประหารกัน มิว่าบิดาหรือบุตร
พระมหาเถระอุบาลีจึงว่า
กระผมขอติงสักหน่อยเถิด คือว่าเหตุใด...หรืออาหารจะเป็นต้นเหตุให้แพร่พันธุ์ได้ และให้พันธุ์มากน้อยได้?
พระมหาเถระสักกายะตอบว่า
เป็นได้ซิพระคุณเจ้า ดูแต่ต้นผลไม้ซิ ไม่มีผลหรือผลไม่ดก เขาก็ริดกิ่งริดใบแล้วใส่อาหาร เช่น มูลสัตว์ ปัสสาวะ ใบไม้ใบหญ้าต่าง ๆ
ตลอดจนเถ้าถ่าน ผลไม้นั้นย่อมมีผล ที่ผลน้อยก็ดกขึ้น คือว่าให้อาหารด้วยขยุกขยิก
ตัดใบริดทอนกิ่งด้วย
พระมหาเถระอุบาลีแย้งว่า
เอ๊ะ! ให้อาหารยังไม่พอ ยังต้องไปขยุกขยิกต้นใบด้วยหรือนี่
พระมหาเถระสักกายะพูดว่า
อ้าว...ให้อาหารอย่างเดียวจะไปได้อย่างไรก็พระคุณเจ้า ถามศรัทธานักบุญทั้งหลายดูทีหรือว่า เขาทั้งหลาย
แต่งงานอยู่กินด้วยกัน เขาบำรุงด้วยอาหารอย่างเดียว หรือว่าต้องมี อย่างอื่นด้วยจึงจะบังเกิดบุตรขึ้นมาหรืออย่างไร
ศรัทธานักบุญทั้งหลาย ช่วยไขความให้พระคุณเจ้าหริภุญชัยหายข้องใจหน่อยเถิด
บรรดาศรัทธานักบุญต่างก็อมยิ้มมิได้กล่าวเยี่ยงไร
พระมหาเถระอุบาลีจึงกล่าวว่า
ก็เป็นอันว่า มนุษย์และสัตว์ที่เกิดเป็นตัว ย่อมบังเกิดเป็นร่างกายด้วยธาตุทั้ง ๔ แล้วได้เสพย์ซึ่งอาหาร
ก็ทำให้บังเกิดมีเชื้อสืบพันธุ์ขึ้นภายหลัง ส่วนที่เป็นไข่ก็เกิดตัวขึ้นก่อนเยี่ยงด้วยกัน แล้วจึงเจริญเติบโตต่อไป ออกไข่
แพร่พันธุ์ไป อีกทั้งต้นไม้นานาก็เช่นกันหรือ พระคุณเจ้า?
พระมหาเถระสักกายะรับว่า
เช่นนั้นสิ พระคุณเจ้า อันมวลมนุษย์และสัตว์ที่เสพย์เนื้อหนังมังสาก็เกิดพันธุ์มาก อย่างคชสาร โค กระบือ เสพย์แต่หญ้าก็แพร่พันธุ์น้อย
แต่ลูกที่เกิดมาต้องแข็งแรง หมู ไก่ ปลา ที่เสพย์เนื้อสัตว์เป็นอาหารก็แพร่พันธุ์มาก แต่ทว่ามิใคร่แข็งแรง
อันมวลมนุษย์ยุคนี้ ต้องการความแข็งแรงของบุตรที่จะต้องต่อสู้กับธรรมชาติ บิดามารดาย่อมเสพย์พืชผักเป็นอาหาร แต่ถ้าภายภาคหน้าวิถีของโลกเปลี่ยนไป
มวลมนุษย์อาจเสพย์เนื้อสัตว์เป็นอาหารสำคัญ เสพย์พืชน้อยลง ก็ย่อมจักเกิดมนุษย์มาก สติปัญญาพละ ของบุคคลยุคนั้นย่อมเปลี่ยนไป มีการรบราฆ่าฟัน
เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อาจก่อบาปก่อเวร
นับตั้งแต่สัตว์โลกทั้งหลายยังอยู่ในครรภ์ หรือกระทั่งยังอยู่ในอาการริเริ่ม ก็แหละว่าปัญหาข้อนี้พระคุณเจ้าที่เมตตาถามมา
ยังมิทราบว่ากระผมได้แก้ตรงเป้าหมายหรือไม่?
พระมหาเถระอุบาลีตอบว่า
ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง พระคุณเจ้าชี้แนวแสงสว่างแก่สัตว์โลก ก็ขอเชิญบรรดาศรัทธาสาธุชนได้ใคร่ครวญ
และแก้ไขเหตุการณ์ในครอบครัวว่า สิ่งใดที่จะนำมาซึ่งความวุ่นวายในภายภาคหน้าได้ ดังที่สมเด็จพระสังฆราชแห่งละโว้ ได้ทรงเมตตาชี้ทางเดินให้ท่านทั้งหลาย
ส่วนผู้ใดจะเลือกเดินสายใดก็แล้วแต่ปรารถนา อันปัญหาต่าง ๆ ที่ได้วิสัชนา ณ ที่นี้ก็สมควรแก่เวลาด้วยประการนี้ ขออายุ วรรณะ สุขะ พละ
จงบังเกิดแด่ทุกท่านเทอญ
สาธุ สาธุ สาธุ...
บรรดาผู้ฟังทั้งหลาย ต่างก็โมทนาสาธุกันแซ็งแซ่
สรุปการสนทนาธรรมครั้งนี้ มิมีแพ้มิมีชนะ แต่ทว่าฝูงชนทั้งหลายได้อิ่มเอม ด้วยข้อความอันมีสาระสำคัญ
จักแก้ไขเหตุต่าง ๆ
( หมายเหตุ ผู้จัดทำหนังสือนี้ได้ชี้แจงว่า การเฉลยปัญหาธรรมนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตใช้คำพูดปลีกย่อย
พอสมกับคำพูดสภาพปัจจุบัน ส่วนข้อความสำคัญยึดเอาต้นฉบับเป็นหลัก )
ll กลับสู่ด้านบน
โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป วันที่ ๕ เมษายน..
Update 5 เมษายน 2551
ทรงริเริ่มพระราชพิธีสืบชะตา
พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ รับสั่งให้มีพระราชพิธีเฉลิมฉลองสืบชะตา สมเด็จพระสังฆราชแห่งละโว้ ซึ่งได้ทรงพระอุตสาหะ มาแสดงปัญหาธรรมในครั้งนี้ มีมหรสพสมโภช ๓
วัน ๓ คืน นับตั้งแต่นั้นมา จึงมีพิธีสืบชะตาพระภิกษุสืบกันมา
ณ ครั้งนี้เป็นปฐม ณ วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕
ทรงสถาปนานครเขลางค์
ราวเดือน ๑๒ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๑๕ พระมหากษัตริย์ นครละกอน ให้ทูตถือพระราชสาส์นมาทูลเชิญพระแม่เจ้าเสด็จไปนครละกอน
เพื่อให้ทรงวางรากฐานหนังสืออักขระรามัญ เพื่อให้ร่ำเรียนกันทั่วหน้า
ในครั้งนี้ เจ้ามหันตยศฯ และ เจ้าอนันตยศฯ ร่วมเสด็จด้วย เพื่อไปศึกษาวิชาการจาก ท่านฤาษีสุพราหมณ์
ผู้น้องฤาษีสุเทพ
ระหว่างเปิดการเรียนอักขระรามัญ แก่บรรดาข้าราชบริพาร ก็ได้ทรงสถาปนานครละกอนใหม่เป็น
นครเขลางค์ ในวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเดียวกัน
ทรงสร้างพระอารามไว้ ณ นครเขลางค์ โดยพระราชทานทุนทรัพย์ทั้งหมด แล้วเสด็จไปพักผ่อน ณ นครแปร (แพร่) เสร็จพระราชกิจแล้ว
ทรงเสด็จกลับนครหริภุญชัย ในเดือน ๔ ส่วนพระราชโอรสทั้งสองยังไม่กลับ
พระแม่เจ้าทรงประทานพระโอวาท
ในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พุทธศก ๑๒๒๔ มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสเจ้าชายทั้งสองและเจ้าหญิง ทั้ง ๕ พระองค์ ณ นครหริภุญชัย
พระแม่เจ้าทรงประทานโอวาท แด่พระราชโอรสและพระวรชายาว่า
ลูกรักของมารดา เมื่อว่าลูกได้ร่วมชีวิตเข้าเป็นสามีภรรยานั้น มิว่าจ้าวว่าไพร่ย่อมต้องระลึกว่า ทั้งสองฝ่ายต้องระลึกถึงหน้าที่ยิ่งกว่าสิ่งใด
สามีย่อมปฏิบัติหน้าที่ของสามี ภรรยาย่อมปฏิบัติหน้าที่ของภรรยา และทั้งสองต้องระลึกถึงเกียรติอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ข้อสำคัญต้องระลึกว่า
สามีคือช้างเท้าหน้า ภรรยาคือช้างเท้าหลัง
อันความข้อนี้จำแนกออกว่า มิใช่ว่าสามีทำอะไร ภรรยาจะต้องทำอย่างนั้น ตามอย่างกันไปเรื่อย ๆ แต่หมายว่า สามีนั้นเปรียบดังเท้าช้างคู่หน้า ก้าวไปก่อน
บังเอิญว่าไปพลาดพลั้ง ถลำหล่มหรือหลุม เท้าหลังต้องรีบยันไว้ให้มั่น อย่าให้ถลำไปทั้งตัว เฉกเช่นสามีออกหาเลี้ยงชีวิต อาจประมาทพลาดพลั้ง
จะด้วยเหตุใดก็ตาม ภรรยาต้องตั้งหลักมั่นคง อาจให้สติ หรือแก้ไขความผิดพลาดนั้น มิใช่ผิดก็ผิดไปด้วยกัน
อนึ่ง กิจการใด ๆ ต้องรีบกระทำ เมื่อนึกคิดแล้ว อย่าผัดเวลาหรืออายุ โดยอ้างว่าเด็กไปบ้าง แก่ไปบ้าง มนุษย์และสัตว์ ตลอดจนพืชดำรงอยู่ด้วยธาตุทั้ง ๔
มี ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าธาตุเหล่านี้หมดสิ้นไป ให้อายุเท่าไรก็มิมีความหมาย เพราะวันเดือนปีเราตั้งขึ้นมา เป็นการสมมุติ
จงตรวจตัวของเราว่า ขาดธาตุอะไรก็ เติมธาตุนั้น ใครผู้ใดจะมัวหลงงมงาย ว่าอายุเท่านั้นจะเป็นอย่างนั้น เราอย่าไปเอาเยี่ยงเขา เพราะเราไม่เหมือนเขา
ขอลูกทั้งมวล จงจดจำคำที่มารดากล่าวนี้ ไว้เป็นอุทาหรณ์เถิด...
พระโอวาทของท่านมีเพียงแค่นี้ แต่ก็มีคุณค่ามหาศาล หวังว่าสุภาษิตโบราณที่สอนไว้คงจะยังไม่ล้าสมัยจนเกินไป ทำให้เราได้เข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้ง
ของคำว่า ช้างเท้าหน้า และ ช้างเท้าหลัง เป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะสำหรับชีวิตของการครองเรือน ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านมานานนับพันปี
แต่ข้อปฏิบัติที่ท่านสอนไว้ ยังทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านสอนแฝงด้วยคติธรรม ในพระพุทธศาสนานั่นเอง
สำหรับเหตุการณ์ต่อไป ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม พุทธศก ๑๒๒๗ ก็มีการทำศึกสงครามกับ ขุนวิลังคะ กษัตริย์แห่งระมิงค์นคร
ที่มีความพอใจพระรูปพระโฉมพระแม่เจ้า แต่พระราชโอรสทั้งสองทรงอาสาทำศึก ในครั้งนี้ จนได้รับชัยชนะในที่สุด ในปี พ.ศ. ๑๒๓๑ ทรงมอบให้ พระเจ้ามหันตยศ
ขึ้นเสวยราชสมบัติแทน และให้ พระเจ้าอนันตยศ ไปครองนครเขลางค์ ต่อจากกษัตริย์องค์ก่อน
นับแต่พระเจ้าอนันตยศเสวยราชสมบัติ ทรงเร่งสร้างพระอารามต่าง ๆ โดยพระราชชนนีจามะเทวีทรงอยู่ช่วย ทรงจัดระบบการปกครอง ทรงเปิดสถานศึกษาอักขระรามัญ
ทรงสร้างอาราม ณ นครแปร (แพร่) พระราชชนีทรงเสด็จไปมา
ระหว่าง ๒ พระนคร แต่จำต้องช่วยพระมหากษัตริย์ เขลางค์พระองค์ใหม่ในระยะแรก
ทั้งนี้เพราะทางหริภุญชัย มีระเบียบแบบแผนดีแล้ว
ต้นปีพุทธศก ๑๒๓๒ เจ้าคุณโหราธิบดี แห่งนครหริภุญชัยสิ้นชีพตักษัย จึงทรงแต่งตั้ง เจ้าชัยรัตนกุมาร พระโอรสของ พระเจ้ารามราช
ซึ่งเกิดจาก พระแม่นางปทุมวดี เป็น พระยาโหราธิบดินทร์ สืบแทน
( เหตุการณ์สืบแต่นี้ไป พระยาโหราธิบดินทร์ ทรงบันทึกต่อมีใจความว่า )
ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ (เดือน ๑๒ใต้) ปีกุน พุทธศก ๑๒๓๒ สมเด็จพระสังฆราช พระมหาเถระอุบาลี พระชนม์ ๑๐๒ พรรษา สิ้นพระชนม์ ทรงบรรจุพระศพไว้ ๑
ปี พระมหาเถระอุปะกายะ รองสังฆราช แห่ง อารามอัมภวนาราม ( ปัจจุบัน วัดทุ่งตูม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ) ได้รับตำแหน่งสม
เด็จพระสังฆราชสืบต่อ
ทางเดินบั้นปลายของชีวิต
กาลเวลาผ่านมา จากวันเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ของพระเจ้ามหันตยศได้ ๕ ปี ย่างเข้าปีมะโรง พุทธศก ๑๒๓๖ พระราชินีทั้งสอง ( เจ้าหญิงจันทราฯ และ
เจ้าหญิงประกาย คำ) ของหริภุญชัย ประสูตรพระราชโอรส ๑ พระองค์ พระราชธิดา ๑ พระองค์ พระราชโอรสทรงพระนามว่า เจ้ากัมมันทะกุมาร
พระราชธิดาทรงพระนามว่า เจ้าหญิงกาบทิพย์
ฝ่ายเขลางค์ ประสูตรพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระราชธิดา ๑ พระองค์ ( พระราชินี ๓ พระองค์ คือ
เจ้าหญิงผกามาศ
เจ้าหญิงประกายฟ้า เจ้าหญิงจิระประภา )
เหตุการณ์บ้านเมืองเป็นปกติสุข พระเจ้ามหันตยศ ทรงเปลี่ยนผู้ครองเวียงจาก นัก เป็น ขุนเวียง ภายในเวียงแบ่งเป็นแคว้น ๆ มีหัวหน้าเรียก
จ่าแคว้น ทางศาสนาให้มีตำแหน่ง "ตู้หลวง" ( คงเป็นตำแหน่งเจ้าอาวาส เมืองเหนือเรียก
เจ้าอาวาสว่า ตุ๊หลวง ในสมัยนั้นคงเรียกวัดว่า
อาราม )
เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย จึงในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พุทธศก ๑๒๓๖ สมเด็จพระราชชนนีจามะเทวีฯ พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา
พระชนนีปทุมวดีพระชนมายุ ๖๖ พรรษา พระชนนีเกษวดีพระชนมายุ ๖๔ พรรษา ทั้ง ๓ พระองค์ทรงสละเพศเป็นชีผ้าขาว แม่ชีจามะเทวีทรงปฏิบัติกิจศาสนา ณ
สำนักอารามจามะเทวี ส่วนแม่ชีปทุมวดีและแม่ชีเกษวดี ทรงปฏิบัติกิจศาสนา ณ อารามศิวะการาม ที่เวียงหน้าด่าน
นับจำนวนอารามที่พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ได้ทรงสร้างไว้ตั้งแต่อยู่ละโว้ และเสด็จมา ครองนครหริภุญชัย สร้างอารามที่สุโขทัย ละโว้ สวรรคโลก นครงามฟ้า
นครสุวรรณบรรพต นครชุมรุม เรื่อยมาจนถึงนครพิสดาร หริภุญชัย ระมิงค์ เขลางค์ แปรได้ ๒,๕๐๐ วัด สร้างกุฏิได้ ๑๐,๐๐๐ จวบพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ทรงสละเพศ
เป็นชีผ้าขาวก็ยุติการสร้าง บำเพ็ญธรรมอย่างเดียว
วาระสุดท้ายของชีวิต
ในปลายปีมะโรง พุทธศก ๑๒๗๒ แม่ชีปทุมวดีและแม่ชีเกษวดีได้ถึงแก่มรณะ ในเวลาไล่เลี่ยกันไม่กี่วัน ทรงสิ้นในขณะครองผ้าขาว ในครั้งนี้พระราชโอรสทั้ง ๓
คือ พระมหากษัตริย์มหันตยศฯ พระมหากษัตริย์อนันตยศฯ พระยาโหราธิบดินทร์ ได้รักษาศพไว้
๑ ปี ได้กระทำฌาปนกิจในปีมะเส็ง พุทธศก ๑๒๗๓
วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย พุทธศก ๑๒๗๔ ฝูงชนทั่วนครหริภุญชัย พบกับความทุกข์อันสุดจะบรรยาย แม่ชี
จามะเทวีฯ ได้ถึงแก่มรณะ
ชั่วเช้าตรู่ของวันพระ ๘ ค่ำ โดยปราศจากโรคใด ๆ เมื่อทำวัตรตั้งแต่แสงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ได้นั่งหลับเนตรตลอดกาล ข่าวมรณะถูกประกาศอย่างรวดเร็ว
การรื่นเริงชะงักงัน ดวงใจทุกผู้แทบขาดรอน พระองค์เสด็จไปแล้ว ข้าบาทฯทั้งหลายมีแต่โศกาอาดูร สิ้นซึ่งน้ำหล่อเลี้ยง ขอพระองค์เสด็จสู่ทิพย์วิมานเถิด
และเหตุดั่งนี้ศพถูกเปลี่ยนจากชุดชีผ้าขาว โดยนำเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ มา สรวมใส่อย่างรีบด่วน บรรดานครต่าง ๆ ก็ได้รับข่าวในเวลารวดเร็ว
อีกครั้งหนึ่งที่ฝูงชนหลั่งไหลมาทั่วทิศมืดฟ้ามัวดิน แต่ละสีหน้าเนืองนองด้วยน้ำตา มิว่าเด็กผู้ใหญ่แก่ชราพึมพำงึมงำ...
โอ้...พระร่มโพธิไทรเสด็จจากไปเสีย แล้ว พระชนมายุเพียง ๙๘ พรรษา มิน่าเลย...
เมื่อพระมหากษัตริย์เขลางค์มาถึง พร้อมพระประยูรญาติอีกเวลาไม่นาน นครต่าง ๆ ก็ทะยอยมาทั่วทุกนคร
หริภุญชัย, ระมิงค์, เขลางค์
เป็นเจ้าภาพเช่นเดิม นครอุชเชนี นำปรอทมาสำหรับใส่พระบรมศพ กำหนดสวดพระอภิธรรม ๑ เดือน รักษาพระบรมศพไว้ ๒ ปี
ถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เดือน ๖ ปีวอก พุทธศก ๑๒๗๖ นับจากปีที่พระแม่เจ้าจามะเทวีฯ ประสูติ ตราบถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงนับได้ ๑๐๐ ปี
ในวันนี้ฝูงชนยิ่งแน่นขนัดไม่มีอะไรเปรียบ นครหริภุญชัย นครระมิงค์ ดูเล็กไป ณ แผ่นพื้นปฐพีเนืองแน่นด้วยฝูงชน
พระมหากษัตริย์อัญเชิญพระบรมศพขึ้นสู่ราชรถ พระบรมศพจะอัญเชิญไปนครพิศดารก่อนวันถวายพระเพลิง และพสกนิกรได้อัญเชิญพระบรมศพออกจาก
นครพิศดาร แค่ยามสองเพลากลางคืน (๒๒.๐๐ น.) ของวันก่อนถวายพระเพลิง คือวันแรม ๒ ค่ำ เพราะวันรุ่งขึ้นแรม ๓ ค่ำ เป็นวันถวายพระเพลิง
ครั้นได้เวลา ขบวนแห่พระบรมศพจากพิศดารนคร ได้มาถึงท่าน้ำแห่งหนึ่งซึ่งมีน้ำน้อย สามารถข้ามได้ โดยมิต้องใช้เรือ ได้ข้ามลำน้ำระมิงค์
เพื่อเดินเส้นทางตะวันออกของลำน้ำ เพราะพระศพจะได้ผ่านเวียงการ้อง อันขบวนพระบรมศพนั้นกล่าวว่า หัวขบวนถึงท่าน้ำ แต่ท้ายขบวนเพิ่งพ้นเขตเวียง
มิทันเวลาอาหารเช้าก็ถึงเวียงการ้อง ขบวนแห่พระศพถึงนครหริภุญชัยประมาณ ๑๘ นาฬิกา และก็ตรงไปยังพระเมรุ ณ เชตุวันพนาเวศ (
ปัจจุบันเป็น วัดเชตวัน จ.ลำพูน ) หลังจากถวายพระเพลิงอดีตพระมหากษัตรีย์แล้ว ก็ได้นำพระอัฐิบรรจุไว้ ณ อารามจามะเทวี (ปัจจุบันเรียกเจดีย์กู่กุด
วัดจามเทวี จ.ลำพูน) ครั้งนี้นครหริภุญชัย, เขลางค์, และ ระมิงค์ พากันไว้ทุกข์ต่ออีก ๑ ปี
ต่อมาปีพุทธศก ๑๒๙๑ พระเจ้าระมิงค์ พระองค์ใหม่สิ้นพระชนม์ และไม่มีรัชทายาท พระเจ้ามหันตยศจึงประชุมมุขอำมาตย์ และได้เห็นพ้องต้องกันว่า
ควรรวมพระนครทั้งสองเป็นนครเดียวกันเสีย หมู่เสนาข้าราชบริพารไปอยู่หริภุญชัยให้หมด ประชาชนผู้ใดชอบอยู่ทางใดก็อยู่กันไป จึงทำให้ชนชาวลั๊วะ
ได้อยู่ทั่วเขตหริภุญชัย
ในกลางปีพุทธศก ๑๒๙๑ ปีกุน พระเจ้าอนันตยศ แห่งนครเขลางค์เสด็จสวรรคต พระราชโอรสได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบแทน ทรงพระนาม
พระเจ้าปริกะราชา ครั้นวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พุทธศก ๑๒๙๒ พระเจ้ามหันตยศ แห่งนครหริภุญชัย ได้เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ ๙๒ พรรษา
ทรงมีพระราชโอรส ๓ พระองค์ พระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชโอรสทรงพระนาม กัมมันทะกุมาร ได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติ แทนเป็นราชวงศ์จามะเทวีฯ ที่ ๓
( สิ้นสุดพระราชชีวประวัติที่แปลจากต้นฉบับเพียงแค่นี้ )
เรื่องนี้มีความยาวมาก แต่ต้องคัดมาเฉพาะบางตอน จึงต้องขอขอบคุณ และ อนุโมทนาผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
ที่มีความอุตสาหะพยายามนำมาเผยแพร่ให้คนไทยได้รู้โดยทั่วกัน