เรื่องเทวดา ภาค ๒ (ตอนที่ ๑) "เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก" โดย ก.ษ.ป.
praew - 23/11/09 at 09:26
« ตอนที่ 1
สารบัญ
เรื่องที่ 21. ท่านกฬารขัตติยฟ้องพระสารีบุตรกับพระพุทธเจ้า (คำอ่าน = กะฬาระขัตติยะ)
เรื่องที่ 22. ความรู้บางประการเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
เรื่องที่ 23. พระเจ้าอัมพสักขระกับเปรต
เรื่องที่ 24. ทำอย่างไรจึงจะเป็นพระอรหันต์
เรื่องที่ 25. ปั้นผี
เรื่องที่ 26. ผลการกล่าวโทษพระอริยะ
เรื่องที่ 27. อายุขัย
เรื่องที่ 28. พระอรหันต์บางองค์
เรื่องที่ 29. สมถะ วิปัสสนา
เรื่องที่ 30. ปัญหาการทำแท้ง
เรื่องที่ 31. พระปัจฉิมวาจา
เรื่องที่ 32. ลักษณะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เรื่องที่ 33. จูฬสัจจกนิครนถ์ เบ่งทับพระพุทธเจ้า
เรื่องที่ 34. ศีล
เรื่องที่ 35. นิพพานเป็นอย่างไร? ตอน ๑
เรื่องที่ 36. นิพพานเป็นอย่างไร? ตอน ๒
เรื่องที่ 37. พรหมโลก
เรื่องที่ 38. เรื่องเทวดา ภาค ๒ (ตอนที่๑)
praew - 23/11/09 at 09:27
ท่านกฬารขัตติยฟ้องพระสารีบุตรกับพระพุทธเจ้า
โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๐
คนสมัยก่อน... ในอินเดียช่างว่าช่างฟ้องไม่เบา
เป็นสาเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมาตั้งหลายข้อ (เพื่อความเลื่อมใส) โดยเฉพาะพวกภิกษุละช่างฟ้องดีนักทีเดียว
เช่น อย่างท่านพระโมคัลลานะบอกว่าเห็นเปรต อีกท่านหนึ่งก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่าเห็นได้จริง พระองค์เองก็เคยเห็นแต่ไม่ได้พูด
เพราะพูดไปแล้วคนไม่เชื่อ คนฟังจะตกนรกเปล่าๆ
ข้อนี้ต้องสำนึกไว้ให้ดีๆอย่าทำอวดเก่งว่าเป็นสิทธิของฉัน ฉันจะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้ เพราะถ้าบอกว่าไม่เชื่อก็เท่ากับเป็นการพูดว่าพระพุทธเจ้าโกหก
บาปลงนรกไปเลย
พระพุทธเจ้าท่านไม่พูดไม่ใช่เพราะกลัวคนไม่เชื่อ แต่เพราะไม่ต้องการให้คนตกนรก
คราวนี้มีท่านพระโมคลานะมาช่วยเป็นพยานกันก็เลยตรัสได้ เพราะใครละจะไม่เชื่อ ( เว้นแต่ นักปราชญ์
สมัยปัจจุบัน)
ถึงท่านพระสารีบุตรก็ถูกฟ้อง อย่างใน
กฬารขัตติยสูตร ในพระสุตตันตปิฏก สังยุคนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๑๖ หน้า ๕๓
( นิทานวรรค คือ เรื่องราวที่มีมา ไม่ใช่ที่เราเข้าใจในปัจจุบันเป็นนิยายแต่งขึ้น)
ซี่งขอเรียบเรียงเสียให้อ่านง่ายๆต่อไปนี้ ( ข้อความในวงเล็บเป็นของผู้เรียบเรียง)
ณ พระเชตะวัน.. อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่
กฬารขัตติภิกษุ เข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่
ทักทายกันเรียบร้อยแล้วบอกท่านสารีบุตรว่า
โมลิยผัคคุณ ภิกษุได้ลาสิกขา (สึก) เวียนมาทางฝ่ายต่ำ เสียแล้ว
( ควรตั้งข้อสังเกตว่าสมัยที่ท่านบวชกันนั้น บวชเอาดีกันจริงๆการสึกออกมาแสดงว่ามาทาง ฝ่ายต่ำ
มาในสมัยปัจจุบัน ปรากฏว่าพระที่บวชเข้าไปเพื่อพระนิพพาน พยายามศึกษากันขึ้นไประดับมหาวิทยาลัย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปในอินเดียบ้างลังกาบ้าง
กลับมาไม่ยักทำตัวเป็นพระอรหันต์ กลับลาสิกขาเวียนมาทางฝ่ายต่ำ เสียฉิบ)
พระสารีบุตร : - ท่านโมลิผัคคุณน่ากลัวจะไม่ได้พอใจในพระธรรมวินัยนี้แน่ๆ
กฬารขัตติยภิกษุ : - ท่านพระสารีบุตรคงได้ความพอใจในพระธรรมวินัยนี้ละสิ..?
พระสารีบุตร : - ผมไม่มีความสงสัยเลย
กฬารขัตติยภิกษุ : - ต่อไปก็ไม่สงสัยหรือ...?
พระสารีบุตร : - ถึงต่อไปก็ไม่สงสัย
เท่านี้แหละ กฬารขัตติยภิกษุ ลุกออกจากอาสนะไปฟ้อง พระพุทธเจ้าว่า
ท่านพระสารีบุตรอวดอ้างพระอรหัตผลว่า ข้าพเจ้ารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี
( เอาเข้าแล้วแปลงสารซึ่งๆหน้า ในสมัยปัจจุบันเรื่องเช่นนี้ปรากฏบ่อย
เหตุเกิดอย่างหนึ่งคนพูดอย่างหนึ่ง เอาไปพูดตามสำนวนของตนเองกลายเป็นอย่างอื่นไป ซึ่งบางที่ผู้นำมาพูดก็ไม่ตั้งใจ อีกอย่างหนึ่งขอให้จำข้อความตั้งแต่
ชาติสิ้นแล้วฯลฯ ไว้ เพราะพบบ่อยในพระไตรปิฏก แสดงว่าเป็นพระอรหันต์ บางทีเราพูดกันสั้นๆว่า
จบกิจพระพุทธศาสนา แล้ว )
พระพุทธเจ้า : - จึงทรงเรียกพระภิกษุรูปหนึ่งมาสั่งว่า
เธอจงไปเรียกสารีบุตรมาตามคำของเราว่า พระศาสดารับสั่งเรียกหาท่าน ( ข้อสังเกตสำคัญ คือ
ความรัดกุมในคำพูด ในสมัยของเรานี้ เราก็จะสั่งแบบว่า นี่..ไปเรียกพระสารีบุตรมาทีซิ
แต่สมัยนั้นจะบ่งลงไปทีเดียวว่าให้ไปพูดอย่างนี้ นี่แหละเป็นความสำคัญที่ดูเหมือนกับจะไม่สำคัญ พระไตรปิฏกซึ่งจารึกประมาณ ๔๐๐ ปี
หลังทรงพระปรินิพพานยังทรงข้อนี้ไว้ คือความรัดกุมถูกต้อง ไม่พลาด แต่คนเป็นจำนวนมากมักคิดเอาเอง ไม่ใช่รู้ว่า พระไตรปิฏกนั้นมาเขียนเล่ากันตามใจความ
ตามเนื้อเรียง ควรจะคลาดเคลื่อนหรือมีการแต่งเติม จะต้องรู้ไว้ว่า สมัยพุทธกาลนั้น ต้องละเอียดถี่ถ้วนและรัดกุม ไม่ใช่ชุ่ยๆแบบสมัยนี้)
เมื่อพระสารีบุตรมาเฝ้าแล้ว จึงตรัสถาม
ดูกร...สารีบุตร เขาว่าเธออวดอ้างอรหัตผล เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี ดังนี้ จริงหรือ...?
พระสารีบุตร : - ไม่ได้กล่าวเนื้อความตามนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : - ก็ต้องอวดอ้างอย่างใดอย่างหนึ่งละน่า
คนอื่นได้ยินเข้า ถึงเข้าใจว่าอวดอ้าง
( แสดงถึงว่าบางทีพระพุทธเจ้าก็ล้อเป็นเหมือนกัน)
พระสารีบุตร : - ก็อย่างที่กราบทูลไม่ได้กล่าวเนื้อความตามนั้นเลย
( ท่านสารีบุตรคงชักงงไม่รู้ว่าทรงมาไม้ไหน ทูลตอบเป็นกลางๆไว้ก่อน)
พระพุทธเจ้า : - สารีบุตร ถ้าเขาถามว่า รู้เห็นอย่างไร
จึงอวดอ้างอรหัตผลว่า เราย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี
เธอจะตอบว่าอย่างไง...?
พระสารีบุตร : - ก็จะตอบว่า เพราะรู้ได้ว่า เมื่อปัจจัยแห่งชาติสิ้นแล้ว
เพราะปัจจัยอันเป็นต้นเหตุสิ้นไป ชาติจึงสิ้นไปพระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : - ก็ถ้าเขาถามว่า ชาติมีอะไรเป็นต้นเหตุ( สมุหทัย)
มีอะไรเป็นแดนเกิด จะตอบอย่างไร...?
พระสารีบุตร : - ตอบว่าชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นกำเนิด มีภพเป็นแดนเกิด
พระพุทธเจ้า : - ถ้าเขาถามว่า ภพมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุหทัย
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด...?
พระสารีบุตร : - ตอบว่าภพ มีอุปาทานเป็นเหตุ เป็นสมุหทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด
พระพุทธเจ้า : - ถ้าเขาถามว่า อุปาทานมีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ...?
พระสารีบุตร : - ตอบว่ามี ตัณหาเป็นเหตุ ฯลฯ
พระพุทธเจ้า : - ถ้าเขาถามว่า ตัณหา มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ...?
พระสารีบุตร : - ตอบว่า ตัณหา มี เวทนา เป็นเหตุ ฯลฯ
พระพุทธเจ้า : - ถ้าเขาถามว่า เวทนา มีอะไรเป็นเหตุ ฯลฯ...?
พระสารีบุตร : - ตอบว่า เวทนา มี ผัสสะ เป็นเหตุ ฯลฯ
พระพุทธเจ้า : - ถ้าเขาถามว่า รู้เห็นอย่างไร
ความเพลิดเพลินในเวทนาจึงไม่ปรากฏ จะตอบว่าอย่างไร...?
พระสารีบุตร : - ข้าพเจ้ารู้ว่า เวทนา ๓ เหล่านี้ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ความเพลิดเพลินในเวทนาจึงไม่ปรากฏ
พระพุทธเจ้า : - ถูกละ ตามที่เธอตอบมาโดยย่อนั้นก็ได้ใจความว่า
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น ทีนี้...ถ้าเขาถามว่า
ท่านสารีบุตร เพราะความหลุดพ้นเช่นไร ท่านจึงอวดอ้างอรหัตผลว่า ท่านรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี อย่างนี้จะตอบว่าอย่างไร...?
พระสารีบุตร : - ก็ตอบว่า อาสวะทั้งหลายไม่ครอบงำผู้ที่มีสติอยู่อย่างใด
ข้าพเจ้าก็เป็นผู้มีสติอยู่อย่างนั้น เพราะความหลุดพ้นภายใน เพราะอุปาทานทั้งปวงสิ้นไป ทั้งข้าพเจ้าก็ไม่ได้ดูหมิ่นตนเอง ดังนี้พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า : - ถูกละสารีบุตร ตามที่เธอกล่าวมาโดยย่อก็ได้ใจความว่า
อาสวะเหล่าใดอันพระสมณกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าไม่สงสัย ไม่เคลือบแคลงในอาสวะเหล่านั้นว่า อาสวะเหล่านั้นข้าพเจ้าละได้แล้วหรือยัง...?
ตรัสดังนี้แล้วก็เสด็จเข้าไปในพระวิหาร
เมื่อเสด็จเข้าไปแล้วไม่นานนัก ท่านพระสารีบุตรก็พูดกับพระภิกษุทั้งหลายว่า
สรุปความว่าทีแรกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหามาไม่รู้ท่าเลยตอบช้าไปหน่อย พอทรงอนุโมทนาแล้วก็มาคิดได้ว่า
ยังงี้ตรัสถามมาทั้งวันทั้งคืนไปตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน ก็คงทูลตอบได้ทั้งเจ็ดคืนเจ็ดวัน
เอาอีกแล้ว.. .พระกฬารขัตติยลุกขึ้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลฟ้องอีกว่า ท่านพระสารีบุตรพูดอย่างนี้
พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า ก็สารีบุตรแทงตลอดในพระธรรมธาตุแล้วนี่ ถึงถามไปตลอดเจ็ดคืนเจ็ดวัน
ก็ตอบได้ทั้งเจ็ดคืนเจ็ดวันนั้นแหละ
( ข้อพิจารณา...ผู้เรียบเรียง
๑. สงสัยว่ากฬารขัตติยภิกษุคงจะเป็นลูกกษัตริย์เพิ่งบวชใหม่ กำลังฟิตทางพระวินัย
๒. เมื่อมาฟ้องพระพุทธเจ้า ท่านก็ย่อมทรงทราบแล้วว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร
๓. ต่อมาจึงได้ถือโอกาสสอนปฏิจจสมุปบาทให้กฬารขัตติยภิกษุเสียเลย โดย
วิธีถาม ให้ท่านสารีบุตรตอบ แล้วสรุปเป็นใบ้ๆว่า วิธีบอกความเป็นพระอรหันต์ เขาบอกกันเป็นนัยๆ เช่นไม่สงสัยแล้วว่าละอาสวะได้หรือยัง
ไม่มีใครพูดโต้งๆว่าข้าพเจ้าเป้นพระอรหันต์แล้วหรอก
๔. เสร็จแล้วท่านสารีบุตรจึงบ่นว่า เสียท่าไม่รู้แกวว่า พระพุทธเจ้าท่านจะทรงสอนกฬารขัตติยะ ถ้ารู้เจ็ดคืนเจ็ดวันก็ได้
เรื่องนี้แสดงว่าถ้าอ่านพระไตรปิฏกดีๆแล้ว ก็จับได้ว่า
สำหรับท่านพระสารีบุตรนั้นหลวงพ่อพระราชพรหมยานเล่าว่าท่านเป็นคนรื่นเริง ไปไหนเด็กตอมเกรียวกราว ดูก็รับกันกับในตอนนี้
ใครๆมักเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์แล้วต้องไม่มีความรู้สึกอะไร จะให้เป็นเหมือนตอไม้ให้ได้ ที่จริงแล้วพระอรหันต์ท่านปล่อยหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องคุมอีก
เวลาพูดท่านก็บอกว่าพูดอย่างที่ชาวบ้านเขาพูดกัน โดยตรงกันข้ามพวกที่นั่งเคร่งคอยระวังโน่นระวังนี่ ก้แสดงว่าท่านยังต้องระวังตัวเองอยู่
ฟังดูแล้วก็ชอบกล)
เรื่องพระอารมณ์ขัน ...ของพระพุทธเจ้านี้
ประเดี๋ยวจะหาว่านึกเอาเองจึงควรหาพยานมาอีกสักเรื่องหนึ่งคือ... เล่ม ๑๓ หน้า ๕๐๑ สุภสูตร มัชฌิมนิกาย
มัชฌิมมปัณณาสก์
สุภมาณพโตเทยบุตร ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้สดับมาว่าพระสมณโคดมทรงรู้จักหนทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม
(ทางที่จะไปเกิดเป็นพรหม)
แทนที่จะทรงตอบว่ารู้จักหรือไม่รู้จักตรงๆ กลับมีบทสนทนาที่แสดงพระอารมณ์ขันดังนี้
พระพุทธเจ้า : - ท่านรู้จักนฬการคามที่อยู่ใกล้ๆนี้ไหม...?
สุภมานพ : - อยู่ใกล้ ท่านพระโคดม
พระพุทธเจ้า : - คนที่เกิดและโตในนฬการคามเวลาออกมาจากหมู่บ้าน
ถ้าถูกถามทางในบ้านนฬการคาม จะพึงชักช้าหรือตกประหม่าไหม...?
สุภมานพ : - ไม่หรอกท่านพระโคดม เพราะเขาย่อมรู้จักทางของบ้านนฬการคามทุกแห่งดีอยู่แล้ว
พระพุทธเจ้า : - ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลก หรือปฏิปทาให้ถึงพรหมโลก
ก็ไม่ชักช้าหรือตกประหม่า เช่นเดียวกัน ดูกรมานพ...เราย่อมรู้จักทั้งพรหมโลกและปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก
อนึ่ง...ผู้ปฏิบัติด้วยประการใดจึงเข้าถึงพรหมโลกเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย
( เทียบกับคำถามตอบของคนธรรมดา เมื่อถูกถามว่ารู้จักหนทางเป็นพรหมไหม ก็ตอบว่าของมันคล่องอยู่แล้ว
แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่าสุภมานพโตเทยยบุตร หวังว่าถามคำถามนี้แล้วพระพุทธเจ้าไม่ทรงทราบ คงจะตกประหม่า
จึงทรงตอบให้คลุมไปถึงความในใจของพราหมณ์นั้นก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี มีจุดน่าสนใจอยู่ว่า ฝ่ายไม่เชื่อเทวดาและพรหม
อ้างตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าบิดามารดาเสมือนพรหมของบุตร เพราะฉะนั้นที่ว่าพรหมๆก็คือบิดามารดานั้นเอง เมื่อมาดูที่ทรงตอบสุภมานพโตเทยยบุตรก็เห็นได้ว่าไม่ใช่ดังนั้น เพราะตรัสถึงพรหมโลก และทางปฏิบัติให้ถึงพรหมโลก
ทำอย่างไรจึงจะถึงพรหมโลกด้วย
การเป็นบิดามารดานั้น ไม่ต้องมีการปฏิบัติแต่อย่างใดเลย ลูกเกิดมาบิดามารดาก็เท่ากับเป็นพรหมของบุตรอยู่แล้ว )
◄ll กลับสู่ด้านบน
praew - 22/12/09 at 07:56
ความรู้บางประการเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
โดย ก.ษ.ป.
จากธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๐๒
เล่ม ๑หน้า ๓๘๙
พระตถาคตทั้งหลาย ทรงทราบอยู่ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม
พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ
พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่างคือ
- จักทรงแสดงธรรม อย่างหนึ่ง
- จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลาย อย่างหนึ่ง
เล่ม ๑ หน้า ๑๔
ประเพณีของพระตถาคต ยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาแล้วจะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท
เล่ม ๑ หน้า ๕๐๗
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกาลก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์นั้น แต่เราไม่ได้พยากรณ์ ถ้าเราพยากรณ์สัตว์แล้ว และคนอื่นไม่เชื่อเรา
ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เขาเหล่านั้นชั่วกาลนาน
( เรื่องท่านพระโมคคัลลานะเห็นเปรต ใจความข้างบนนี้สรุปว่า ผู้ไม่เชื่อคำที่พระพุทธเจ้าเล่ามาตามความเป็นจริง
จะถึงกับตกนรก เข้าใจว่า น่าจะเป็นคล้ายกับหาว่าพระพุทธเจ้าตรัสคำเท็จ คือเป็นการปรามาสพระพุทธเจ้า)
เล่ม ๔ หน้า ๙
พุทธประเพณี-พระตถาคตทั้งหลายไม่รับวัตถุด้วยมือ
เล่ม ๔ หน้า ๔๑
ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เล่ม ๔ หน้า ๔๕
พระรัศมีสีต่างๆคือ สีเขียว สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง สีแก้วผลึก ปรากฏที่พระกายพระอังคีรส
เล่ม ๔ หน้า ๑๖๔
ตถาคตทั้งหลายมีพรอันล่วงเลยเสียแล้ว (คือไม่ให้พร)
เล่ม ๕ หน้า ๘๓
ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
(นี่คงจะรับมาเป็นธรรมเนียมการตั้งพระพุทธรูปโดยทั่วไปกันในภายหลัง)
เล่ม ๗ หน้า ๘๖
พระตถาคตทั้งหลายย่อมยินดีในสุญญาคาร
เล่ม ๗ หน้า ๑๕๑
ข้อที่บุคคลจะปลงชีวิตพระตถาคต ด้วยความพยายามของผู้อื่น นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส
( เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น)
เล่ม ๑๑ หน้า๑๑
ตถาคตเคยกล่าววาจาเป็นที่สองไว้บ้างหรือ
เล่ม ๑๑ หน้า ๑๐๔
พระพุทธเจ้าในอดีตและอนาคตเป็นผู้มีความรู้เสมอกับองค์ปัจจุบันในสัมโพธิญาณ
เล่ม ๑๒ หน้า ๒๑๖
เธอกล่าวตู่เรา ขุดตนเองและประสบบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยทิฎฐิอันลามกอันตนถือเอาเอาชั่วแล้ว กรรมนั้นแลจักมีแก่เธอเพื่อไม่เป็นประโยชน์
เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
( ข้อนี้พวกไม่เชื่อพระไตรปิฏก
ไปสอนเอาเองตามที่ตัวเองคิดแล้วอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้นหรือทรงหมายความว่าอย่างนั้น อย่างนี้ พึงระวังให้ดีจะตกนรกง่ายๆ ฐาน
กล่าวตู่พระพุทธเจ้า)
เล่ม ๑๓ หน้า ๔๘๗
ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน
( ข้อนี้น่าแปลกที่พระพุทธรูปยืนปางลีลา มักปั้นก้าวพระบาทข้างซ้าย เช่นที่พุทธมณฑลเป็นต้น
ชะรอยจะมีเหตุผลอะไรที่ผู้เขียนยังไม่พบ)
เล่ม ๑๔ หน้า ๗๒
ดูกร พราหมณ์ ฉันนั้นก็เหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่
แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย ยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี
ดูกร พราหมณ์ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้
เล่ม ๑๘ หน้า ๓๔๒
พระพุทธเจ้าไม่อาจสวดอ้อนวอนให้คนตายไปแล้วขึ้นสวรรค์ได้
เล่ม ๑๘ หน้า ๔๐๕
พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป
เล่ม ๑๙ หน้า ๒๘๑
ดูกร สารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระคถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต
เล่ม ๒๑ หน้า ๒๖
เรียกว่า ตถาคต เพราะ
- กล่าวอย่างใดเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอื่น
- กล่าวอย่างใดทำอย่างนั้น ทำอย่างใดกล่าวอย่างนั้น
เล่ม ๒๒ หน้า ๒๑๗
พระตถาคตย่อมไม่ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏด้วยไม่มีเหตุ
(ข้อนี้เห็นจะหมายถึงว่าอยู่ดีๆก็แย้มพระโอษฐ์ขึ้นมา)
เล่ม ๒๒ หน้า ๓๖๐
ใครเล่านอกจากตถาคตจะรู้กระแสธรรมในบุคคล
เล่ม ๒๒ หน้า ๔๑๒
ข้อที่เราพยากรณ์แล้วโดยส่วนเดียวจะเป็นสองได้อย่างไร
( เช่นตรัสถึงสวรรค์ก็คือสวรรค์ ไม่ใช่จิตใจมีความสุขก็คือสวรรค์
เล่ม ๒๕ หน้า ๒๙๙
พระพุทธพจน์ ระหว่าง ตรัสรู้กับปรินิพพาน ย่อมเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น
เล่ม ๒๕ หน้า ๓๐๔
เราเที่ยวไปด้วยความเป็นสัพพัญญู
เล่ม ๒๙ หน้า ๑๘๙ ,๓๘๑
สิ่งที่ไม่ทรงรู้ เห็น แจ้ง ไม่มี
เล่ม ๒๙ หน้า ๓๘๔
ทรงทราบจริตของคนต่างๆ
เล่ม ๒๙ หน้า ๔๙๔
ทรงพระนามว่าพระสยัมภู เพราะไม่มีอาจารย์
เล่ม ๓๒ หน้า ๑
พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆนับไม่ถ้วน
เล่ม ๓๒ หน้า ๒๓
น้ำในมหาสมุทรอาจประมาณได้ด้วยมาตราตวง แต่ใครๆไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตาญานของพระองค์ได้เลย
เล่ม ๓๓ หน้า ๓๓๑
พระวาจาพระพุทธเจ้าไม่เป็นสอง ไม่เปล่าประโยชน์ ไม่ตรัสคำไม่จริง
อุตส่าห์นำพระพุทธคุณมาแสดงไว้มากมาย ก็เพื่อสนับสนุนที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้แล้วว่า
คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นสอนตามที่ตรัสรู้มามาแล้ว และเป็นความจริงที่ไม่แปลได้หลายอย่าง จึงรับไปปฏิบัติได้เลย
ไม่ใช่ตรึกตรองให้เห็นจริงเสียก่อนเพราะนอกจากจะเสียเวลาเปล่าๆแล้ว ยังอาจคิดไม่ออก (เพราะปัญญาตื้น) อีกด้วย.
◄ll กลับสู่ด้านบน
praew - 12/1/10 at 08:40
พระเจ้าอัมพสักขระกับเปรต
โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๖
พระเถระหลายองค์ เช่น พระมหาโมคคัลลานะ ท่านควัมปติ ท่านนราฑะ ท่านวังคีสะ ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาผู้มีฤทธิ์ มักจะคุยกับเทวดาบ้าง เปรตบ้าง
ถามว่า ทำกรรมอะไรมาจึงปรากฏผลดังนี้ มีบ่งไว้แทบทุกเรื่องว่าองค์ไหนเป็นองค์ที่ถาม
แต่เรื่องของพระเจ้าอัมพสักขระกับเปรตนี้ไม่ได้บ่งว่าองค์ไหนเอามาเล่า...
มหาวรรคที่ ๔ เรื่องที่ ๑ อัมพสักขระเปตวัตถุ พระสุตันตปิฏก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๒๘ หน้า
๒๑๑ ถึง ๒๒๓
เรื่องมีว่า...ในนครเวสาลีของชาววัชชี มีกษัตริย์ลิจฉวี ทรงพระนามว่า อัมพสักขระได้เห็นเปรตตนหนึ่งมาพูดกับชายผู้ถูกหลาวไม้สะเดาเสียบอยู่ว่า
อัมพสักขระ : - ผู้ถูกหลาวเสียบนี้ใครก็พาละทิ้งไปแล้ว พวกมิตรสหายทราบว่าผู้ใดขาดแคลนย่อมละทิ้งไป
ผู้ใดมั่งคั่งย่อมห้อมล้อม นี่เป็นธรรมดาของโลก บุคคลผู้นี้ถูกแทงเป็นแผล พรุ่งนี้ก็จะตายอยู่แล้ว เหตุใด...? ท่านจึงมาพูดอยู่ละว่า อย่าตายเสียเลย
การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ
เปรต : - ได้ระลึกชาติดู รู้ว่าชายนี้เป็นญาติ รู้ว่าชายที่ทำกรรมชั่วนี้ถ้าตายไป
ก็จะต้องตกนรกที่ยัดเยียดไปด้วย สัตว์ผู้ทำบาป มีความเร่าร้อน เผ็ดร้อนน่ากลัว เสียบหลาวอยู่นี่ ยังดีกว่าตกนรกตั้งหลายพันเท่า
ถ้าเขาได้ยินอย่างนี้คงเสียใจถึงแก่ความตาย จึงสงเคราะห์ได้แค่พูดแต่ว่า จงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ
อัมพสักขระ : - ทราบละ...ทีนี้อยากถามเรื่องของท่านบ้าง... อย่าโกรธเลยนะ
เปรต : - ได้เคยปฏิญานว่าคนไม่เลื่อมใส ถาม ก็จะไม่ตอบ พระองค์ก็เป็นผู้ไม่เลื่อมใส
แต่เอาเถอะ...ตอบเท่าที่สามารถ
อัมพสักขระ : - เห็นอะไรด้วยตาแล้วก็เชื่อซี ถ้าไม่เชื่อยอมให้ลงโทษ
ขอถามว่าท่านขี่ม้าขาวงามไปที่คนถูกเสียบหลาวน่ะ ได้ม้าเพราะผลกรรมอะไร...?
เปรต : - ที่กลางเมืองเวสาลี มีหลุมอยู่ในทางลื่น
ข้าพระองค์ก็มีจิตเลื่อมใส(เมตตา)เอากะโหลกวัวไปวางทอดในหลุมให้เป็นสะพาน ม้าสวยนี้ได้มาเพราะกรรมอันนั้น
อัมพสักขระ : - ท่านมีรัศมีเปล่งไปทั่ว มีกลิ่นหอมฟุ้ง มีฤทธิ์เหมือนเทวดาแต่เปลือยกาย
นี่เพราะผลกรรมอะไร...?
เปรต : - เมื่อก่อนขี้โกรธ แต่มีใจเลื่อมใสเป็นนิตย์ พูดจากับคนทั้งหลายด้วยวาจาอ่อนหวาน
ผลกรรมนั้นทำให้มีรัศมีทิพย์สว่างไสว
เมื่อก่อนมีจิตเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญยศและชื่อเสียงของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผลกรรมนั้นทำให้มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งตลอดเวลา
เมื่อก่อนพวกเพื่อนไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ได้เอาผ้าของเขาไปซ่อนที่บนบกโดยไม่ประสงค์จะลักขโมย ไม่มีจิตคิดร้าย ผลกรรมนั้นทำให้เปลือยกาย
เป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
อัมพสักขระ : - ทำบาปเล่นๆยังมีผลเช่นนี้ ทำบาปจริงๆผลจะเป็นอย่างไร...?
เปรต : - ลงนรกไม่ต้องสงสัย ใครปรารถนาสุคติต้องยินดีในทาน
อัมพสักขระ : - (ไม่เชื่อการชี้แจงนี้ ) เราจะเห็นได้ชัดๆยังไง...? จึงจะเชื่อได้ว่านี่เป็นผลกรรมดี
กรรมชั่ว
เปรต : - ได้เห็นแล้วได้ยินแล้ว ก็ทรงเชื่อเถอะว่านี่เป็นผลของกรรมดี กรรมชั่ว มีกรรมดี กรรมชั่ว
จึงได้มีสุคติ และทุคติ
ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษย์โลกไม่ทำกรรมดีและกรรมชั่ว ผู้ไปสู่สุคติและทุคติก็ไม่มี กรรมที่ข้าพระองค์ทำในชาติก่อน
ที่จะเป็นเหตุให้ได้เครื่องนุ่งห่มในเวลานี้ก็ไม่ได้ทำไว้ ส่วนคนที่เขาให้ผ้านุ่งผ้าห่ม ที่นอนที่นั่ง ข้าวและน้ำแก่สมณพราหมณ์แล้วอุทิศมาให้ก็ไม่มี
จึงได้เปลือยกายมีความเป็นอยู่ฝืดเคืองดังนี้
อัมพสักขระ : - มีวิธีอะไรที่จะทำให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่มไหม...?
เปรต : - ในเมืองเวสาลีเวลานี้มีภิกษุชื่อ...กัปปีตกะ...เป็นผู้ได้ฌาน มีศีลบริสุทธิ์
เป็นพระอรหันต์หลุดพ้นแล้ว บรรลุวิชชาสาม ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ เพราะท่านปิดบังไว้ ถ้าพระองค์ถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่ภิกษุนั้น
แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพระองค์ เมื่อถวายแล้วและท่านรับผ้านั้นแล้ว พระองค์ก็จะทรงเห็นข้าพระองค์นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
อัมพสักขระ : - สมณะนั้นอยู่ที่ไหน...?
เปรต : - อยู่ที่เมือง...กปินัจจนา
อัมพสักขระ : - จะไปทำตามท่านว่าแล้วจะคอยดู
เปรต : - โปรดอย่าเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่ควร การเสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่ควรนี้
ไม่เป็นธรรมเนียมที่ดีของกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย ทรงเข้าไปในเวลาที่ควรก็จะผ่านอยู่ในที่สงัดนั้น
พระเจ้าลิจฉวีก็เลือกผ้า ๘ คู่จากหีบไปหาสมณะนั้น แนะนำพระองค์ทักทายกันแล้ว
อัมพสักขระ : - ขอถวายผ้า ๘ คู่นี้แก่ท่าน
พระเถระ : - โดยปกติสมณะพราหมณ์ทั้งหลายพากันหลีกห่างไกลทีเดียวจากพระราชนิเวศน์ของท่าน เพราะหากเข้าไป
ไม่ถึงบาตรแตกก็สังฆาฏิฉีกขาด เท้าพลาดหัวซุกหัวซุน มหาบพิตรไม่เคยพระราชทานแม้น้ำมันสักหยดหนึ่ง เป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวม เปรียบเหมือนคนหลงมาบอกทาง
พบคนตาบอดก็แย่งไม้เท้า บัดนี้...เกิดเห็นผลอะไรจึงมาแจกทานเล่า...?
อัมพสักขระ : - ขอรับผิดในเรื่องเบียดเบียนสมณะ เพียงแต่อยากล้อเล่นไม่มีจิตประทุษร้าย
เมื่อได้ทำกรรมนั้นแล้วได้มาพบเปรต ต้องเปลือยกายเพราะกรรมที่ทำเพื่อล้อเล่น จึงขอถวายผ้า ๘ คู่นี้ ขอทักษิณานี้จงเป็นผลให้แก่เปรตด้วย
พระเถระ : - ขอรับผ้า ๘ คู่นี้ไว้ และขอทักษิณาทานนี้จงสำเร็จผลแก่เปรตนั้นด้วย
พระเจ้าลิจฉวีทรงชำระพระหัตถ์และพระบาทแล้วถวายผ้า พอพระเถระรับประเคน พระราชาก็เห็นเปรตนั้นนุ่งห่มผ้ารียบร้อย
มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ทำให้เกิดความปิติ เพราะทรงเห็นกรรมและวิบาก(ผลของกรรม) แจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เอง จึงเสด็จเข้าไปขอบใจเปรตนั้น
ตรัสว่าจะให้ทานแก่สมณะพราหมณ์ทั้งหลายด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่
เปรต : - ทานนั้นทำให้ข้าพระองค์เป็นเทวดา จะขอเป็นสหายกับพระองค์
อัมพสักขระ : - ต่อไปปรารถนาจะได้เห็นท่านอีก
เปรต : - ถ้าทรงเป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ มีจิตไม่เลื่อมใสก็จะไม่ได้เห็นกันอีก
ถ้าทรงเคารพธรรม ยินดีในการบริจาคทาน สงเคราะห์สมณะพราหมณ์ทั้งหลายก็จะได้เห็นข้าพระองค์อีก
ขอทรงโปรดปล่อยบุรุษเสียบหลาวนี้เสียเถิด เขาพ้นไปแล้วจะเป็นผู้ประพฤติธรรมโดยเคารพ พ้นจากนรกอย่างแน่นอน
เมื่อปล่อยแล้วก็พึงไปถวายทานแก่ภิกษุนั้นตรัสถามดูแล้ว ท่านจะแสดงธรรมให้ถึงสุคติ
เมื่อจากกันแล้ว เปรตก็ไปกล่าวกับบริษัทกษัตริย์ลิจฉวี พร้อมด้วยบุตรที่กำลังนั่งประชุมกันอยู่ ว่าจะขอปล่อยบุรุษถูกหลาวเสียบ โปรดขออนุญาตด้วย
เมื่อกษัตริย์ลิจฉวีองค์นั้นกลับมาถึงก็ปล่อยบุรุษถูกหลาวเสียบ จัดให้หมอรักษาพยาบาลแล้วไปถวายทานต่อท่าน กัปปีตกภิกษุ
และถามว่าได้ปล่อยคนถูกหลาวเสียบไปแล้ว เหตุที่เขาจะไม่ต้องตกนรกมีอยู่หรือ
พระเถระ : - ถ้าเขาเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมทั้งหลายโดยเคารพตลอดคืนและวัน ก็จะพ้นนรกได้แน่
กรรที่จะให้ผลต้องเว้นไปไม่มี
อัมพสักขระ : - ถ้าเช่นนั้นขอท่านช่วยโปรดไม่ให้ต้องตกนรกบ้าง
พระเถระ : - พึงเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ถือศีล ๕ อย่าให้ด่างพร้อย
สมาทานอุโบสถศีล พระราชทานจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานปัจจัย ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว ผ้า เสนาสนะในภิกษุผู้มีจิตซื่อตรงทั้งหลาย
ทรงถวายแด่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบรูณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ เป็นพหูสูตรให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ เมื่อบุคคลเป็นผู้ไม่ประมาท
ประพฤติธรรมโดยเคารพตลอดคืนและวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น กรรมที่เว้นจากการให้ผลพึงมี
อัมพสักขระ : - ขอถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอสมาทานศีล ๕ อุโบสถศีล
และจะถวายทานต่างๆต่อไป
ด้วยการคบสัปบุรุษ คือ ท่านกัปปีตกภิกษุผู้ประเสริฐ คนทั้งสองก็ได้บรรลุสามัญผล คือ พระเจ้าอัมพสักขระได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนบุรุษถูกหลาวเสียบ
เมื่อหายแล้วก็บรรพชาและบรรลลุผลอันยอดเยื่ยม...(ควรแปลว่าเป็นพระอรหันต์ หรืออย่างน้อยก็พระอริยะ)
◄ll กลับสู่ด้านบน
praew - 11/2/10 at 08:02
ทำอย่างไรจึงจะเป็นพระอรหันต์
โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๗๘
ผู้เขียนไม่ได้เป็นพระอรหันต์ และไม่ขอกล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์ เพราะเรื่องนี้พระคุณเจ้า พระราชพรหมยานมหาเถระ (วัดจันทาราม อ. เมือง จ. อุทัยธานี ) ท่านบรรยายไว้ละเอียดแล้ว
ที่เอามาเขียนนี้สาเหตุเป็นเพราะได้ยินบางคนสอนว่า ทำจิตว่างก็เป็นนิพพานแล้ว ด้วยนัยนี้คนที่ไถนาอยู่ ทำจิตว่างก็เรียกว่า นิพพาน แต่ผู้ที่จะนิพพานนั้นก็ต้องเป็นพระอรหันต์ด้วย ดังนั้นตามหลักก็ต้องสรุปได้ว่า
ทำจิตว่างก็เป็นพระอรหันต์
ท่านผู้สอนอย่างนั้น ความจริงท่านก็รู้พุทธศาสนามาจากพระไตรปิฏก ผู้เขียนก็อ่านพระไตรปิฏก ไม่เห็นมีตรงไหนที่ท่านว่าไว้ว่า
จิตว่างแล้วเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นจึงขอทำหน้าที่อย่างเคยคือ คัดลอกจากพระไตรปิฏกมาแสดงว่า
พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อย่างไร (ตามหลักมหาประเทศ ๔ คือให้สอบสวนในพระสูตรและพระวินัย)
หากคัดลอกมาหมดก็เห็นจะต้องเป็นเล่มโตทีเดียว ดังนั้นส่วนมากจะเอาหัวข้อมาแสดงย่อๆ ท่านที่สนใจรายละเอียดโปรดพลิกอ่านดูเอง
๑. เล่ม ๑๑ หน้า ๘๗ (อัคคัญญสูตร)
ดูกร วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ก็ดี แพศย์ก็ดี ศูทรก็ดี สำรวมกาย สำรวมใจ อาศัยการเจริญ
โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว
โพธิปักขิยธรรม ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔, อิทธิบาท ๔, สัมมัปปธาน ๔,
อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, และ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวม ๗ เรื่อง แต่นับจำนวนข้อเป็น ๓๗ บางทีจึงเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ และบางทีก็เรียกว่า เอกายนมรรค ด้วย
๒. เล่ม ๑๒ หน้า ๕๓ (อากังขยสูตร)
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ
อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญา อันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่เถิด ดังนี้ ภืกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริสุทธิ์ ในศีล
ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร
(ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อลงมาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ )
๓. เล่ม ๑๒ หน้า ๕๗ (อากังขยสูตร)
(ย่อ) ภิกษุมีใจประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหคตะ
ไม่มีประมาณทั่วทิศ ฯลฯ
ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมรู้ชัดว่าสิ่งนี้มีอยู่ สิ่งที่เลวทรามมีอยู่ สิ่งที่ประณีตมีอยู่ ธรรมเป็นเครื่องสลัดออกที่ยิ่งแห่งสัญญานี้มีอยู่
เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว
ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
(ธรรมหมวดนี้คงจำกันได้ว่าคือ พรหมวิหาร ๔ แต่ไม่พึงเถรตรง ถือไปว่าทำพรหมวิหาร ๔
อย่างเดียวก็เป็นพระอรหันต์ได้ ควรเข้าใจว่าพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้นโยงถึงกันหมด เมื่อมีธรรมนี้ธรรมอย่างอื่นจึงมีตามมา
พระพุทธเจ้าตรัสเช่นนี้ไว้ในธรรมหลายหมวด เช่น สีเลนะนิพพุติงยันติ รักษาศีลเป็นทางให้ถึงพระนิพพาน
เพราะมีศีลจึงมีสมาธิได้ มีสมาธิจึงมีปัญญาได้ พรหมวิหาร ๔ ถ้าไม่มีก็มีศีลไม่ได้
อนึ่งพึงสังเกตคำว่า กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว เพราะจะเป็นเครื่องเตือนใจว่า ภิกษุที่บวชเข้ามาเพื่อความหลุดพ้น หากยังไม่หลุดพ้นก็เรียกว่ามีกิจต้องทำ เมื่อกิจต้องทำยังทำไม่เสร็จเหตุใดจึงมัวไปสนใจในเรื่องอื่น
ซึ่งทำให้ได้ชื่อว่าทำกิจที่ไม่ควรทำ ภิกษุสมัยใหม่มักจะมีความเห็นว่า ควรทำประโยชน์ให้ชาวบ้านด้านสังคม
ท่านจะคิดหรือเปล่าไม่ทราบว่า ฝ่ายปกครองบ้านเมืองเขาทำกันอยู่แล้วและในฐานะเป็นพระตัวท่านเองก็ทำอะไรไม่สะดวก หากรักจะช่วยจริงๆแล้ว
สึกออกไปเสียจะทำหน้าที่ได้ โดยมีประสิทธิภาพมากขึ้นดีกว่าเป็นพระเสียอีก)
๔. เล่ม ๑๒ หน้า ๘๔ (สติปัฏฐานสูตร)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ
เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑,
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา...., พิจารณาเห็นจิตในจิต...., พิจารณาเห็นธรรมในธรรม....ฯลฯ
ในหน้า ๑๐๐ ทรงแสดงว่าถ้าทำตลอดไปถึง ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการ คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อขันธปัญจกยังเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี
ธรรมข้อนี้คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งฝ่ายนิยมวิปัสสนาอย่างเดียว และรังเกียจสมาธิ
พากันนึกว่านี่คือทางไปทางเอกทางเดียว ทางอื่นไม่มี โดยศัพท์ว่า เอกายนมรรค
ซี่งความจริงแล้วในเล่ม ๒๙ หน้า ๔๙๓ บ่งว่า
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอก เพราะอรรถว่า เป็นผู้เสด็จไปตามเอกายนมรรค สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปธาน๔, อิทธิบาท
๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗,และอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่าเอกายนมรรค ( ธรรมเป็นหนทาง เป็นที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียว )
บุคคลคณะนี้มักอธิบายสติปัฏฐาน ๔ ว่าได้แก่การรู้ตัวในอิริยาบถต่างๆ เช่น การก้าวไปข้างหน้า ข้างหลัง การครองจีวร ฯลฯ ก็ให้รู้ตัวอยู่ทุกขณะ
ซึ่งไม่ใช่เป็นความสำคัญของสติปัฏฐาน เพราะข้อนี้เป็นเพียง ๒ บรรพของข้อกายในกาย คืออิริยาบถบรรพ กับ สัมปชัญญะบรรพ
คือ ( เล่ม ๑๐ หน้า ๒๕๗)
- กาย (มี อานาปานบรรพ, อิริยาบถบรรพ, สัมปชัญญะบรรพ, ธาตุมนสิการบรรพ, นวสีกิกาบรรพ)
- เวทนา
- จิต
- ธรรม (มี นิวรณ์บรรพ, ขันธบรรพ, อายตนบรรพ, โพชฌงค์บรรพ, สัจจบรรพ)
การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ต้องครบ กาย - เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่เอาแค่อิริยาบถ สัมปชัญญะ
เท่านั้น แล้วมาพูดว่านี่แหละคือ สติปัฏฐาน ๔
จุดหมายของการพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ท่านก็แสดงไว้แล้วว่าเพื่อให้ กำจัดอภิฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
สติปัฏฐาน ๔ ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว คือเป็นธรรมที่ทำให้ธรรมอื่นเกิดขึ้นแล้ว จึงจะหลุดพ้นในภายหลัง เพราะ
สติปัฏฐาน ๔ ก็คือ สัมมาสติ ในอริยมรรคมีองค์ ๘
เล่ม ๑๔ หน้า ๓๘๕ ( อรณวิภังคสูตร )
ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็สัมมาสติเป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย
มีความเพียรรู้สึกตัวมีสติกำจัดอภิฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา... จิตในจิต... ธรรมในธรรม...ฯลฯ
ส่วนสัมมาสมาธิ บ่งว่าเข้าปฐมฌานถึงจตุตถฌาน
และ เล่ม ๑๔ หน้า ๑๖๔ บ่งว่า เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้
ดังนี้สติปัฏฐาน ๔ จึงทำให้มีสัมมาสมาธิ และสัมมาสมาธิทำให้มีส้มมาญาณต่อไป
สัมมาญาณทำให้เกิดสัมมาวิมุติ หลุดพ้น
๕. เล่ม ๑๒ หน้า ๑๐๕ จุฬสีหนาทสูตร
สมณะรู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณโทษและการถ่ายถอนแห่งทิฏฐิ ๒ อย่าง (ภวทิฏฐิและวิภาวทิฏฐิ) ตามความจริง ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์
๖. เล่ม ๑๒ หน้า๑๐๘ จุฬสีหนาทสูตร
ภิกษุละ อวิชชาได้ เกิดวิชชาไม่ถือมั่นในอุปาทาน (กามุปทาน ทิฏฐปาทาน สีลัพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน) ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน
๗. เล่ม ๑๒ หน้า ๒๒๕ อลคัททูปมสูตร
เห็นรูป (อดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ไกลหรือใกล้) เวทนา.... สัญญา....
สังขาร.... วิญญาณ .... ด้วยปัญญาอันชอบว่านั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา.... ดังนี้ย่อมเบื่อหน่ายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่านคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
( ความเห็นว่าว่าง ตัวเราไม่มี อะไรก็ไม่มีแบบมหายานนั้นไม่ตรงกับข้อนี้ เพราะข้อนี้บ่งว่า ขันธ์ ๕มี อัตตามี แต่ให้เห็นว่าไม่ใช่ของเรา
เมื่อไม่ใช่ของเราจึงเบื่อ ไม่ใช่รู้สึกว่างๆ)
๘. เล่ม ๑๒ หน้า ๒๔๒ รกวินีตสูตร
สีลวิสุทธ เป็นประโยชน์แก่ จิตตวิสุทธิ
จิตวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ทิฏฐิวสุทธิ
ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ กังขาวิตรณวิสุทธิ
กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ มัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธิ
มัคคามัคญาณทัสนวิสุทธ เป็นประโยชน์แก่ ปฏิปทาญาทัสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาทัสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ญาณทัสนวิสุทธิ
ญาณทัสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ อนุปาทาปรินิพพาน
๙. เล่ม ๑๒ หน้า ๔๑๖ มหาอัสสปุรสูตร
ภิกษุกำจัดอกุศลกรรมลามกอันเศร้าหมอง ทำให้เกิดในภพใหม่ต่อไปเสียแล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่าอรหันต์
๑๐. เล่ม ๑๒ หน้า ๔๒๓ จุฬอัสสปุรสูตร
ทำให้สิ้นอาสวะด้วยเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุตติ
๑๑. เล่ม ๙ หน้า ๒๒๑ มหาลิสูตร
มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ทำให้ภิกษุสิ้นอาสวะด้วยบรรลุเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุคิ
๑๒. เล่ม ๑๓ หน้า ๑๕ อัฏฐกนาครสูตร
ธรรมที่ทำให้จิตที่ยังไม่หลุดพ้นได้หลุดพ้น ได้แก่การเข้าฌาน ๑ถึง ๔ (รูปฌาน) มีใจประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ เข้าอากาสานัญจายตน
ไปถึงอากิญจัญญายตนฌาน
๑๓. เล่ม ๑๓ หน้า ๒๑๔ มหาวัจฉโคตรสูตร
ภิกษุละตัณหาได้ขาด ไม่เกิดขึ้นอีก เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ
๑๔. เล่ม ๑๓ หน้า ๒๒๖ ทีฆนขสูตร
เห็นเวทนา ๓(สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา)ไม่เที่ยง คือเกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป ดับไป ย่อมหน่ายในเวทนา ย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
๑๕. เล่ม ๑๔ หน้า ๓๓ ปัญจัตตยสูตร
รู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปแห่งผัสสายตนะทั้ง ๖ ตามความเป็นจริง หลุดพ้นได้ด้วยไม่ถือมั่น
๑๖. เล่ม ๑๔ หน้า ๖๕ อาเนญชสัปปายสูตร
ปฏิบัติแล้วได้อุเบกขา เมื่อไม่ติดใจในอุเบกขาวิญญาณก็ไม่เป็นอันอาศัย ไม่ยึดมั่นในอุเบกขานั้น ย่อมปรินิพพานได้
๑๗. เล่ม ๑๔ หน้า ๑๗๗ อานาปานสติสูตร
เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุติ ให้บริบูรณ์ได้
๑๘. เล่ม ๑๔ หน้า ๑๘๘ กายคตาสติสูตร
เสพกายคตาสติมากๆแล้ว ย่อมสิ้นอาสวะได้
๑๙. เล่ม ๑๔ หน้า ๔๔๖ ฉฉักสูตร
ละราคานุสสัยเพราะสุขเวทนา บรรเทาปฎิฆานุสสัยเพราะทุกขเวทนา กวนอวิชชานุสสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้แล้ว
จักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้
๒๐. เล่ม ๑๕ หน้า ๔ คติฉินทิสูตรที่ ๕
ตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่าง สังโยชน์เบื้องบน ๕ อย่าง ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ อย่าง เป็นผู้ข้ามโอฆะแล้ว
(สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ อย่างได้แก่ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพตปรามาส, กามฉันทะ, พยาบาท
สังโยชน์เบื้องบน ๕ อย่างได้แก่ รูปราคะ, อรูปราคะ, ปฏิฆะ, อุทธัจจะ, อวิชชา
ธรรมเครื่องข้องใจ ๕ อย่างได้แก่ ตะปูตรึงใจ ๕ คือ เคลือบแคลงสงสัยไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา, พระธรรม,
พระสงฆ์, สิกขา และขัดเคืองผูกใจเจ็บในเพื่อนพรหมจรรย์)
๒๑. เล่ม ๑๕ หน้า ๒๒ เอณิชังคสูตรที่ ๑๐
บุคคลเลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นทุกข์ได้อย่างนี้
๒๒. เล่ม ๑๘ หน้า ๓๘๙ อสังขตสังยุตต์วรรคที่ ๑
ก็ทางที่จะให้ถึงอสังขตะเป็นไฉน
- สมถะและวิปัสสนา
- สมาธิที่มีทั้งวิตกวิจาร, ที่ไม่มีวิตกมีแต่วิจาร, ที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร
- สุญญตสมาธิ อนิมิตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ
- สติปัฏฐาน ๔ ....ฯลฯ.... อริยมรรคมีองค์ ๘
- (สุญญตสมาธิไม่ใช่ว่าง เพราะสมาธิคือการมีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในสิ่งเดียว)
๒๓. เล่ม ๑๙ หน้า ๔๑๒ พราหมสูตร
อุทยคามินีปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า....ในพระธรรม....ในพระสงฆ์
ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ
(คงจำกันได้ว่าคือองค์แห่งความเป็นพระโสดาบัน)
ตามที่อ้างมาจนจะหมดพระสูตรอยู่แล้วนี้ (ที่คล้ายๆกันแต่ไม่ได้ยกมาอ้างก็มาก) จะเห็นได้ว่าตามพระไตรปิฏกแล้ว ไม่มีที่ใดที่ท่านสอนไว้ว่า
ทำจิตว่างแล้วเป็นนิพพาน
โดยที่แท้แล้วท่านสอนอริยสัจ ๔ มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นวิธีปฏิบัติ ธรรมทั้งปวงที่อ้างมาแล้วนี้ล้วนเป็นวิธีปฏิบัติที่ทรงสอน
หรือตอบคำถามแก่หลายๆคน ซึ่งเป็นการตอบให้เหมาะแก่จริตพื้นฐานธรรมที่มีอยู่แล้วในบุคคลนั้นๆ อย่างไรก็ดีธรรมทั้งปวงก็ลงในอริยสัจ ๔ ได้ทั้งนั้น
พูดให้ง่ายในทางปฏิบัติแล้ว ท่านให้ทำตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ไปจนได้ฌาน ๔
เป็นอย่างน้อยเพื่อใช้อบรมจิต และขณะอยู่ในฌานทำวิปัสสนา พระไตรลักษณ์ในหัวข้อต่างๆไปตามอัธยาศัย ในที่สุดก็จะหลุดพ้นได้
คือทำสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ทำจิตว่างๆ
หากผู้สอนจิตว่าง ตั้งใจจะพูดว่าทำจิตให้ว่างจากกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ควรพูดให้ชัดว่าทำจิตให้ว่างจากกิเลส
หรือพูดว่าตัดกิเลสอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนเป็นการอัญเชิญคำสอนของพระพุทธเจ้ามา ถ่ายทอดต่อ
การสอนว่าจิตว่างคือนิพพาน (เคยอ่านมาว่าถึงจะทำนาอยู่ หากทำจิตให้ว่างก็นิพพานได้)
นั้นเป็นการแสดงว่าไม่แยแสต่ออริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งบ่งว่ามีมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางปฏิบัติเอาเสียเลย
อนึ่งคำสอนของสายจิตว่าง ออกจะบ่งๆอยู่ว่าตายแล้วก็สูญไป นิพพานของเขาคือนิพพาน ที่ถึงได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่นี่เอง
ถือจิตว่างเมื่อใดก็นิพพานเมื่อนั้น (น่าจะบ่งไปเสียเลยว่านั่นแหละเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะนิพพาน) คำสอนเช่นนี้ไม่สามารถอธิบาย อนุปาทิเสสปรินิพพานได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่ามีทั้ง สอุปาทิเสสปรินิพพาน (เมื่อยังมีชีวิตอยู่)
กับ อนุปาทิเสสปรินิพพาน (เมื่อตายไปแล้ว) (เล่มที่ ๒๕ หน้า ๒๓๑)
อีกอย่างหนึ่งนิพพานนี้ ถ้าเรียกกันให้เต็มยศก็เรียกว่ามหาอมตะนิพพาน นิพพานที่ไม่ตาย แต่นิพพานจิตว่างนั้นตาย นิพพานที่ไม่ตายนั้นท่านตรัสว่าคือนิพพานที่ไม่เกิดด้วย คือเมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มีการตาย ดำรงอยู่โดยไม่ต้องเกิด
จึงเป็นอมตะ
เชิญท่านนักศึกษาพิจารณาเอาเอง
◄ll กลับสู่ด้านบน
((((((((((โปรดติดตามตอนต่อไป))))))))))
praew - 10/5/10 at 07:32
ปั้นผี
โดย ก.ษ.ป.
จาก ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๙๐
วันหนึ่งผู้เขียนกำลังหาหลักฐานจะเขียนในเรื่องที่มีผู้พูดกันมาก จนทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า
๑. พระพุทธเจ้าไม่เคยยืนยันเลยว่าคนตายแล้วเกิดอีก
๒. การพูดว่าเมื่อคนตายแล้วมีจิตไปเกิดใหม่นั้น
เท่ากับพูดว่ามีอัตตาซึ่งเป็นสัสสตทิฐิอันพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมิจฉาทิฐิ
ครั้นหาได้จะลงมือเขียนก็ต้องนึกว่า เอ..จะตั้งชื่อเรื่องว่ายังไงดีเพราะตั้งชื่อยาก ก็มี
คำปรากฏขึ้นในใจว่า ปั้นผี เอ๊ะยังไง เลยนึกในใจว่าขออนุญาตไม่ตั้งชื่อนื้ คำก็ปรากฏขึ้นอีกว่า
เขียนลงไปว่า ปั้นผี เอ้าปั้นก็ปั้นจะได้ไม่เปลืองสมองคิดค้นหาชื่อ คราวนี้ก็เริ่มเรื่องกันได้แล้ว
ประการแรกทีเดียวต้องชี้กันเสียก่อนว่าเลยว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น มีเจ้าลัทธิความเชื่อความเห็นที่มีต่างๆอยู่มากมายหลายท่าน
ผู้คนไม่รู้จะเชื่อใครกันแน่ พากันเอาคำถามนี้มาทูลถามพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า เช่น ตายแล้วมีอยู่หรือ อัตตาและโลกเที่ยงหรือ ฯลฯ
เหล่านี้เป็นปัญหาของลัทธิอื่นเขา เวลามาถามพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่อยากจะตอบ เพราะไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ไม่ว่าข้อที่ถามนั้นจะผิดหรือถูก
จะผิดก็ตาม ถูกก็ตาม เป็นเรื่องที่ไม่น่าตอบ เพราะตอบไปแล้วก็จะเอาไปยึดถือกัน จะเป็นโทษ
เวลาอ่านพระไตรปิฏกกันก็มักจะข้ามความสำคัญข้อนี้ไปหมด กระโดดไปจับเอาตัวปัญหามาถกกันโดยตรง เช่น ตายแล้วเกิดอีกไหม มีอัตตาหรือไม่มีอัตตากันแน่
คือไปปฏิบัติอย่างคนในลัทธิอื่นกัน ไม่หาสาระในพระพุทธศาสนา เมื่อมีความเข้าใจไว้อย่างนี้ในเบื้องต้นแล้วก็เข้าใจได้ง่าย
เล่ม ๑๑ หน้า ๑๒๕ (ปาสาทิกสูตร)
พระพุทธเจ้าตรัสกับสามเณรชื่อ จุนทะ
ดูกร จุนทะ ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล คือการที่พวกของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ดูกรอาวุโส เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีสิ่งนี้และจริง สิ่งอื่นเปล่า หรือหนอแล ดังนี้
ดูกร จุนทะ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้แล อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ดูกร อาวุโส พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะสัตว์ย่อมมีสิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ฯลฯ
ถึงแค่นี้ก็เอาไป ปั้นผี กันแล้วว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงยืนยันเลยว่าตายแล้วเกิดอีก
พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไปอีก (ขอย่อ)
- เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมไม่มีฯ
(พวก ปั้นผี ไม่ได้เอาข้อมูลนี้ไปพูดว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงยืนยันว่าตายแล้วก็สูญ)
- เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีด้วย ย่อมไม่มีด้วยฯ
- เบื้องหน้าแต่มรณะ สัตว์ย่อมมีหามิได้ ย่อมไม่มีก็หาไม่ฯ
ซึ่งพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ก็อาจถามว่า ก็เพราะเหตุไร ข้อนี้พระสมณโคดมจึงไม่ได้ทรงพยากรณ์ไว้เล่า ก็ให้ตอบว่า
ดูกร อาวุโส เพราะว่าข้อนี้ไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เป็นไปเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ฉะนั้นข้อ
นั้นพระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงพยากรณ์ไว้
พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า เขาคงถามอีกว่า พระสมณโคดมทรงพยากรณ์ไว้อย่างไรเล่า ก็ให้ตอบว่า
ดูกร อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ว่า นี้ทุกข์... นี้ทุกขสมุทัย... นี้ทุกขนิโรธ...
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดังนี้แล ทั้งนี้เพราะ
เป็นสิ่งที่ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม ข้อนี้เป็นเบื้องต้นแห่งแห่งพรหมจรรย์ ย่อมเป็นไปด้วยความหน่าย
เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพานโดยส่วนเดียว
ต่อไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ไม่ทรงพยากรณ์ ทิฐินิสัย คือไม่ทรงคล้อยตามพวกอัญญเดียรถีย์ที่ว่า
- อัตตาและโลกเที่ยง สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
- อัตตาและโลกไม่เที่ยง ฯลฯ
- อัตตาและโลกเที่ยงด้วย ไม่เที่ยงด้วย ฯลฯ
- อัตตาและโลก สัดว์ทำได้เอง ฯลฯ
- อัตตาและโลก ผู้อื่นทำให้ ฯลฯ
- อัตตาและโลก สัตว์ทำให้เองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ฯลฯ
- อัตตาและโลก สัตว์มิได้ทำเอง และผู้อื่นมิได้ทำ เกิดขึ้นลอยๆ ฯลฯ
- สุขและทุกข์ เที่ยง ฯลฯ
- สุขและทุกข์ ไม่เที่ยง ฯลฯ
- สุขและทุกข์ เที่ยงด้วย ไม่เที่ยงด้วย ฯลฯ
- สุขและทุกข์ เที่ยงก็หามิได้ ไม่เที่ยงก็หามิได้ ฯลฯ
- สุขและทุกข์ สัตว์ทำได้เอง ฯลฯ
- สุขและทุกข์ ผู้อื่นทำให้ ฯลฯ
- สุขและทุกข์ สัตว์ทำได้เองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ฯลฯ
- สุขและทุกข์ สัตว์มิได้ทำเองด้วย ผู้อื่นมิได้ทำเองด้วย ฯลฯ
ดังนี้เราไม่ย่อมคล้อยตามคำนั้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ดูกร จุนทะ เพราะว่าในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สัตว์จำพวกหนึ่งแม้เป็นผู้มีสัญญาเป็นอย่างอื่นมีอยู่
(ข้อความว่า เป็นผู้มีสัญญาเป็นอื่น คงจะแปลความได้ว่ารู้ไม่ตรงกัน เมื่อเป็นเช่นนี้
ก็ย่อมทำให้เกิดโต้แย้งกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับลัทธิอาจารย์อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น ตอบไปว่า ไม่คล้อยตาม ซึ่งอาจแปลว่า ถูกก็ไม่คล้อยตามผิดก็ไม่คล้อยตามก็ได้
ดังนี้แล้วไม่เป็นเหตุให้ทุ่มเถียงกับใคร)
พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่านี้เป็น ทิฐินิสัย อันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้น (คงหมายถึงฝ่ายข้างเกิด)
สำหรับทิฐินิสัยในส่วนเบื้องปลายก็มี ที่สมณพราหมณ์ว่า เบื้องหน้าแต่มรณะ
- อัตตามีรูป หาโรคมิได้ สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า
- อัตตาไม่มีรูป ฯลฯ
- อัตตามีรูปด้วย ไม่มีรูปด้วย ฯลฯ
- อัตตามีรูปก็หามิได้ ไม่มีรูปก็หามิได้ฯลฯ
- อัตตามีสัญญา ฯลฯ
- อัตตาไม่มีสัญญา ฯลฯ
- อัตตามีสัญญาด้วย ไม่มีสัญญาด้วย ฯลฯ
- อัตตามีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ ฯลฯ
- อัตตาย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มี ฯลฯ
นี่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงคล้อยตาม
เพราะว่าในสมณพราหมณ์เหล่านั้น สัตว์พวกหนึ่งแม้เป็นผู้มีสัญญาเป็นอย่างอื่นมีอยู่
ครั้นแล้วทรงสรุปว่า เพื่อละ เพื่อก้าวล่วงทิฐินิสัย อันประกอบด้วยส่วนเบื้องต้นด้วย ประกอบด้วยส่วนเบื้องปลายด้วย จึงทรงแสดงปฏิปัฏฐาน ๔
ประการคือ
- พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิฌาและโทมนัสในโลกเสียได้...
- พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนื่องๆ...
- พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ...
- พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ... ฯลฯ
นี่เป็นลีลาของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ตรัสถึงความเชื่อ ของลัทธิหรือศาสดาอื่น ครั้นแล้วก็ทรงแสดงธรรมของพระองค์เองไปด้วย ในพระสูตรนี้ทรงแสดง อริยสัจ ๔ กับมหาสติปัฏฐาน ๔
ผู้ที่ไม่เข้าใจกลับเอาอาการที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัส(ไม่พยากรณ์) เรื่องตายแล้วมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงยืนยันว่าตายแล้วเกิดอีก
(แล้วไม่ยอมพูดว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงยืนยันเหมือนกันว่าตายแล้วไม่เกิด)
ท่านผู้ตั้งชื่อเรื่องเลยตั้งว่า ปั้นผี
บุคคลสำคัญในการตั้งคำถามแบบนี้ได้แก่ วัจชโคตตปริพาชก ขยันถามจริงๆ ถามกับพระพุทธเจ้าบ้าง ถามกับพระสาวกบ้าง เช่น
เล่ม ๑๘ หน้า ๒๐๗ (อัคคิวัจฉโคตตสูตร)
วัจฉโคตตปริพาฉก ทูลถามว่า
ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ
คำถามต่อๆไป พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น ทั้งสิ้น
คือมีความเห็นว่า
- โลกไม่เที่ยง
- โลกมีที่สุด
- ชีพอันนั้น สรีระอันนั้น
- ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง
- สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่
- สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่
- สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี
- สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่
วัจฉโคตตทูลถามว่า ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฐิเหล่านี้
โดยประการทั้งปวงเช่นนี้ ฯ
ทรงตอบว่า ดูกร วัจฉะ ความเห็นว่าโลกเที่ยง... ฯลฯ ดังนี้นั้นเป็นความเห็นที่รกชัฏ เป็นความเห็นอย่างกันดาร
เป็นความเห็นที่เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง
เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้เป็นไปกับด้วยความทุกข์ เป็นไปกับด้วยความลำบาก เป็นไปกับด้วยความคับแค้น
เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อพระนิพพาน ฯลฯ
วัจฉโคตตทูลถามว่า ก็ความเห็นอะไร ของท่านพระโคดมมีอยู่บ้างหรือ
ทรงตอบว่า