ตามรอยพระพุทธบาท

"จดหมายเหตุ 100 ปีไกลบ้าน ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง"
webmaster - 27/2/09 at 14:53




พระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” เป็นพระราชหัตถเลขาบันทึกประจำวันทำนองจดหมายเหตุที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล หรือ “สมเด็จหญิงน้อย” เมื่อ 100 ปีก่อน จำนวน 43 ฉบับ

เป็นพระราชนิพนธ์แบบพ่อเล่าให้ลูกสาวฟัง เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบ และสิ่งที่ได้ทอดพระเนตรตลอดระยะเวลา 225 คืน ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป กว่า 10 ประเทศ นับตั้งแต่พระองค์เสด็จลง “เรือพระที่นั่งมหาจักรี” ออกจากกรุงเทพฯ ผ่านสถานที่ต่างๆ

ภายหลังได้มีพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนชาวไทย และต่างชาติได้ประจักษ์ถึง พระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่ประจักษ์

พระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวไทย มีหลากหลายอรรถรส และมากด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังควรรับรู้เป็นอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาสิบปีหลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 การเสด็จประพาสยุโรปอีกเป็นครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น

ในเวลานั้น นอกจากพระอาการประชวรแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งนั่นคือการเดิมพันอธิปไตยของสยามจากสนธิสัญญาหลายฉบับที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศ สร้างความวิตกให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

อันได้แก่ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ในการยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับการยกดินแดนด่านซ้าย จังหวัดเลย ตราด และเกาะต่างๆ ที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด กลับมาเป็นของไทย



รายการ "จดหมายเหตุ ๑๐๐ ปีไกลบ้าน
ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง


เป็นสารคดีนำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ความยาว 45 นาที จำนวน 52 ตอน ส่วนที่ทำให้เป็นเหตุสำคัญที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอันต้องเสด็จประพาสทวีปยุโรปเป็นครั้งแรก และเรื่องราวของเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ที่เป็นเบื้องหลังของการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ด้วย สำหรับตอน "เสด็จประพาสยุโรป" ทางทีวี TPBS เริ่มออกอากาศ วันที่ 15 - 16 กันยายน 2551 (และออกอากาศต่อไปทุกวันจันทร์ - อังคาร เวลาประมาณ 20.20 - 21.05 น. หลังข่าวพระราชสำนัก)

(Update 13-07-55)

ชมย้อนหลัง (คลิกชมได้แต่ละตอนในเครื่องเล่น You tube)






หรือคลิกชม Link 1 และ Link 2


ตอนที่ ๑ : ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ออกอากาศ :อังคารที่ 6 ม.ค.52 เวลา 20.23 น.


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สามครั้ง

ครั้งแรกในช่วงต้นรัชกาลคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือช่วง บุนนาค

ครั้งที่สอง พระองค์ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อปีพุทธศักราช 2450

ครั้งที่สาม เมื่อพระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง ในอีกสิบปีต่อมา พระองค์ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในการรักษาพระนคร ครั้งนั้น ได้มีประกาศการรักษาพระนคร ที่แจ้งให้ชาวสยามได้ทราบโดยทั่วกัน มีข้อความสรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะไม่ให้ราชการแผ่นดิน ซึ่งพระองค์ทรงเคยเป็นพระราชธุระอยู่เสมอต้องคั่งค้าง หรือสำเร็จช้าเวลาไป เพราะเหตุที่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ในพระมหานคร

พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอำนาจในราชกิจที่จะรักษาพระนคร ไว้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร และให้ทรงเป็นประธานในที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ที่ประชุมเสนาบดี และให้ทรงบังคับบัญชาการทั้งปวง สิทธิ์ขาดทั่วไป สำหรับการติดต่อระหว่างสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารในการแจ้งข่าวสารความเป็นไปของสยามประเทศ

ในเวลานั้น โทรเลขถือเป็นการติดต่อสื่อสารเพียงชนิดเดียวในโลก ที่ส่งข่าวสารได้อย่างรวดเร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือถึงมือผู้รับภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่การส่งจดหมายจากยุโรปถึงเอเชีย ต้องใช้เวลาเดินทางโดยทางเรือไม่ต่ำกว่า 2 เดือน และนี่คือส่วนหนึ่งของพระราชโทรเลขที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2450 จากจำนวนทั้งสิ้น 86 ฉบับ และช่วยทำให้ภาพการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้แจ่มชัดขึ้น

ตอนที่ ๒ : จดหมายเหตุ หม่อมนเรนทรราชา
ออกอากาศ : จันทร์ที่ 12 ม.ค.52 เวลา 20.23 น.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีรับสั่งให้หม่อมนเรนทรราชา  มีหน้าที่จดบันทึกพระราชกรณียกิจของพระองค์ในแต่ละวันนับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายที่เสด็จนิวัติพระนคร

หม่อมนเรนทรราชา  หม่อมราชวงศ์สิทธิ์  สุทัศน์ เป็นบุตรของหม่อมเจ้าอลงกรณ์ สุทัศน์  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยงให้การศึกษาและส่งไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษร่วมชั้นเรียนเดียวกับสมเด็จพระบรมโ อรสาธิราช  สยามมกุฎราชกุมาร จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในวิชาการทหาร และตามเสด็จนิวัติพระนครในพุทธศักราช 2445  จนเมื่ออายุ 28 ปี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งเป็นหม่อมราชินิกูลในพุทธศักราช 2447  และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นราชองครักษ์ด้ว


ตอนที่ ๓ : พระราชหัตถเลขา ถึงกรมดำรงฯ
ออกอากาศ : อังคารที่ 13 ม.ค.52 เวลา 20.23 น.

โดยข้อความเหล่านี้ ล้วนมีแง่มุมที่หลากหลาย และหลายข้อความ แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อบ้านเมืองอยู่เสมอ แม้ครั้งนี้ จะเป็นการเสด็จประพาสเพื่อรักษาพระวรกายก็ตาม รวมทั้งเนื้อหาสำคัญที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้กราบบังคมทูลรายงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ความเป็นอยู่ทั่วไปของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชสำนัก

ทั้งนี้ พระราชหัตถเลขาและพระราชโทรเลขที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพนั้น จึงนับเป็นเอกสารสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ที่ช่วยต่อเติมเรื่องราวเมื่อครั้งพระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


ตอนที่ ๔ : สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในสื่อยุโรป
ออกอากาศ : อังคารที่ 19 ม.ค.52 เวลา 20.23 น.

พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงฉายคู่กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นหนึ่งในภาพข่าวที่ฮือฮาและมีนัยยะสำคัญทางการทูตเป็นอย่างยิ่ง ......

พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงฉายคู่กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พุทธศักราช 2440 เป็นหนึ่งในภาพข่าวที่สร้างความฮือฮาและมีนัยยะสำคัญทางการทูตเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์อื่นอีกจำนวนมากที่ทรงฉายในประเทศต่างๆและปรากฏเป็นข่าว ทำให้ชาวยุโรปได้รู้จักพระมหากษัตริย์จากแดนสยามมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 อีกสิบปีถัดมา

จึงไม่น่าแปลกใจว่า พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักของชาวยุโรปมากขึ้นดังข่าวที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ตลอดการเสด็จประพาสในครั้งนี้ ตลอดเวลากว่า 7 เดือนของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 สื่อมวลชนหลายสำนักของประเทศต่างๆในยุโรปได้ติดตามและนำเสนอข่าวพระราชกรณียกิจการเสด็จประพาสยุโรปอย่างต่อเนื่อง

ภาพและข่าวที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เหล่านี้ นับเป็นหลักฐานและแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ที่สำคัญ ยังช่วยเติมเต็มข้อมูลสำคัญบางประการที่ขาดหายไปและไม่อาจพบเห็นได้จากเอกสารของทางการ แม้เพียงคำบรรยายใต้ภาพไม่กี่บรรทัดก็อาจเป็นสิ่งบ่งชี้เบื้องหน้าเบื้องลึก และบอกเล่าความเป็นมาของเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างแจ่มชัด


ตอนที่ ๕ :แกะรอยภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
ออกอากาศ : พุธที่ 20 ม.ค.52 เวลา 20.23 น.

เทคโนโลยีการถ่ายภาพ เข้ามาในเมืองไทย สมัย รัชกาลที่ 3 เมื่อถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดให้ช่างภาพ ถ่ายพระบรมรูปของพระองค์และพระราชินี นับเป็นครั้งแรก ......!!!

มีการบันทึกภาพพระมหากษัตริย์ไทย จากนั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากพระองค์จะโปรดการถ่ายภาพ เช่นเดียวกับพระบรมราชชนกแล้ว พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถในด้านการถ่ายภาพ รวมถึงทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการถ่ายภาพ จนทำให้การถ่ายภาพได้รับความนิยมในหมู่คนไทย และเจริญรุ่งเรืองในเวลาต่อมา ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบันทึกภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยภาพบุคคลสำคัญต่างๆ ที่พระองค์ทรงพบปะ และสถานที่ที่พระองค์ได้ทอดพระเนตร ทั้งสภาพบ้านเมืองทั่วไปเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน

วิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละเมือง ตลอดจนลักษณะทางธรรมชาติของเมืองนั้น ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์และภาพที่พระองค์ทรงบันทึกไว้เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน จึงเป็นทั้งภาพที่บันทึกบรรยากาศของบ้านเมืองในเวลานั้น และเป็นเอกสารที่สำคัญ ที่มีคุณค่าในการศึกษา ประวัติศาสตร์สำหรับเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนได้เป็นอย่างดี ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จำนวนนับร้อยใบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้นั้น ไม่เพียงทำให้ผู้รับในเวลานั้น มีความยินดีที่ได้ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับพระองค์ หากแต่ในยุคปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ยังมีคุณค่าและมีความสำคัญ สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรปในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี


ตอนที่ ๖ : ความทรงจำจากโปสการ์ด
ออกอากาศ : วันที่ 26 ม.ค.52 เวลา 20.23 น.

ภาพหนึ่งบอกเล่าแทนคำบรรยายได้ เช่น ไปรษณียบัตรหรือโปสการ์ด จากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ก็เป็นหลักฐานสำคัญ เมื่อนำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันก็จะฉายภาพการเสด็จประพาสครั้งนั้นให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น....!!!

ในช่วงปลายรัชสมัย เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตามที่ต่างๆ จึงทรงมีโอกาสสะสมโปสการ์ดเกี่ยวกับ โบราณสถาน ภูมิประเทศ ตลอดจนภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละเมือง แต่ละประเทศไว้เป็นจำนวนมาก ระหว่างนั้น เมื่อทรงมีเวลาล่าง จะทรงเขียนบรรยายพระราชกรณียกิจในแต่ละวัน และสิ่งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตร หรือแม้แต่ทรงเล่าถึงความรู้สึกขณะประทับอยู่ในต่างแดนและทรงส่งกลับมาถึงบุคคลใกล้ชิด ดังที่ทรงเล่าไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน

" ว่าด้วยเรื่องโปสการ์ด ฉันไม่ได้ตั้งใจเก็บจริงๆเสียแต่แรก แลเห็นมันมามากมายก่ายกองนัก หาเวลาเขียนส่งก็ไม่ใคร่จะได้ เพราะติดเสียเวลาการแต่งรายวัน จึงตกลงเปนส่งตามแต่ที่มีวันว่าง ภายหลังมาดูชาวบางกอกพอใจกันขึ้น จึงได้ตั้งเก็บส่ง "

ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า กระดาษใบเล็กๆที่เรียกว่าโปสการ์ดนี้มีคุณประโยชน์อย่างมากมาย ดังนั้นถึงแม้ว่าโลกจะก้าวล้ำนำสมัยไปมากเพียงใด แต่โปสการ์ดก็เป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารที่ยังคงเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกรวมทั้งสังคมไทย เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เป็นบันทึกที่เก็บเรื่องราวในความทรงจำไว้ได้ตราบนานเท่านาน เฉกเช่นเดียวกับโปสการ์ดเมื่อครั้งไกลบ้านที่เป็นหลักฐานบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ามาตราบจนทุกวันนี้


webmaster - 27/2/09 at 16:00


ตอนที่ 7 เสด็จประพาสเนเปิ้ล

ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 28 ก.ค.51 เวลา 20.23 น.

สารคดีตอนนี้จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเสด็จประพาสเมืองเนเปิ้ล การขึ้นฝั่งครั้งแรกบนแผ่นดินยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ทีมงานได้มุ่งหน้าเข้าสู่ท่าเรืออาเซนาเล่ เมืองเนเปิ้ล ประเทศอิตาลี ในวันและเวลาเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ในแบบย้อนเวลาไปเมื่อ 100 ปีก่อนให้ได้สัมผัสตัวอักษรในพระราชหัตถเลขาไกลบ้านอย่างใกล้ชิด

สถานที่แรกที่พระองค์เลือกทอดพระเนตร คือ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเมืองเนเปิ้ล ที่มีความทันสมัยที่สุดในเวลานั้น และเสด็จฯต่อไปยังวัดซานมาร์ติโน บนเนินเขาเวโลโซ ที่นี่พระองค์ทรงทอดพระเนตรความงดงามของทัศนียภาพเมืองเนเปิ้ล

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จต่อไปยังโรงละครซาโลเน่ มาการิต้า เพื่อทอดพระเนตรละครเพลงโอเปร่า แม้จะผ่านไปนานถึง 100 ปี แต่ในวันนี้ โรงละครที่ปิดตายมานานได้เปิดประตูให้ทีมงานสารคดี 100 ปีไกลบ้านได้เข้าชมอีกครั้ง !!!


ตอนที่ 8 เสด็จประพาสเจนัว ซานเรโม
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 29 ก.ค.51 เวลา 20.23 น.

สารคดีบอกเล่ารูปโฉมที่เปลี่ยนไปของเมืองเจนัว และเมืองซานเรโม จากวันนั้นที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถึงวันนี้ แม้หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป แต่หลักฐานยืนยันการเสด็จมากมายก็ปรากฏให้ทีมงานสารคดีได้ตามรอยพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด

ซานเรโม เป็นเมืองตากอากาศริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งแคว้นลิกูเรีย เป็นเมืองที่มีอากาศดีที่สุดตลอดทั้งปี ไม่ร้อนหรือไม่หนาวจนเกินไป มหาเศรษฐีหรือกษัตริย์จากประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลอดจนผู้ป่วยที่ต้องการการพักฟื้น มักนิยมมาพักผ่อนที่เมืองนี้ เช่นเดียวกับรัชกาลที่ห้า พระองค์ทรงเลือกที่จะประทับในเมืองนี้นานที่สุดในอิตาลี เป็นเวลาถึง 16 คืน

16 คืนที่ทรงประทับอยู่ที่เมืองแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย สารคดีจะนำเสนอทุก ๆ พระราชกรณียกิจ ทุกสถานที่ ที่พระองค์เสด็จไปเยือนอย่างใกล้ชิด…ติดตามชมได้ในวันอังคารที่ 29 ก.ค.นี้


ตอนที่ 9
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 4 ส.ค.51 เวลา 20.23 น.

ในตอนนี้สารคดี นำเสนอ เรื่องราวความประทับใจของเจ้าของร้านกรอบรูป ย่านตลาดการค้าใจกลางเมืองซานเรโม ที่ยังคงเก็บรักษาโปสการ์ดพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ เป็นเสมือนของสะสมชิ้นสำคัญ และจากนั้นจะนำเสนอต่อด้วยเรื่องราวการเสด็จประพาสเมืองม็องตง เมืองไข่มุกแห่งฝรั่งเศส

และที่เมืองนี้ พระองค์ได้ฉายพระบรมรูปที่สตูดิโอแห่งหนึ่งในเมืองม็องตงร่วมกับผู้ตามเสด็จ ซึ่งต่อมาภาพนี้ก็กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับในเวลาอันรวดเร็ว และสุดท้ายสารคดี ยังนำเสนอเรื่องราวและที่มาของการวาดพระบรมรูปเขียนสีทั้งแบบเต็มพระองค์และครึ่งพระองค์ ซึ่งวาดโดย มองสิเออร์ คาโรรัส ดุรัง จิตรกรชื่อดังชาวฝรั่งเศส



ตอนที่ 10

ออกอากาศ : วันอังคารที่ 5 ส.ค.51 เวลา 20.23 น.

สารคดีตอนนี้ จะนำเสนอเรื่องราวการเสด็จประพาสเมืองชายฝั่งริเวียร่า ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว คือการเสด็จประพาสชายฝั่งริเวียร่าฝรั่งเศสที่เมืองมอนติคาร์โล ในประเทศโมนาโก ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่การเสด็จทอดพระเนตรคาสิโนของเมือง ซึ่งจากพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน จะเห็นได้ว่า พระองค์ไม่ทรงโปรดการเล่นพนันเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้พระองค์ทรงตระหนักดีและจะเห็นได้จากการลดจำนวนบ่อนพนันในสยาม ที่พระองค์ทรงริเริ่มมานานเกือบ 20 ปีก่อนการเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ 2450

นอกจากนี้ ขณะที่การเสด็จประพาสเมืองอัลเบงก้า ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระสารสาสน์พลขันธ์ หรือ ยี.อี.เยรินี ข้าราชการทหารที่เคยรับราชการในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ความน่าสนใจพิเศษ อยู่ที่ความเป็นนักสะสม และนักบันทึกเยรินี ที่ได้เก็บรักษาและรวบรวมความเป็นสยามประเทศในช่วงที่เยรีนีรับราชการอยู่ในสยาม ทั้งในรูปแบบของหนังสือ เอกสาร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ ทั้งหมดนี้จะได้เห็นกับตาในสารคดีตอนนี้

ปิดท้ายของเนื้อหาด้วยการนำเสนอเรื่องความสนพระราชหฤทัย เรื่องของการปลูกดอกไม้ และที่มาที่ไปของการเข้ามาของกุหลาบที่มีชื่อว่า คิงออฟไซแอม


ตอนที่ 13
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 18 ส.ค.51 เวลา 20.23 น.

สารคดีตอนนี้ จะนำเสนอเรื่องราวเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนับได้ว่า เป็นความสัมพันธ์ ที่ดีนับตั้งแต่การเสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์ ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อปี 2440 ในฐานะที่สวิสเป็นชาติที่มีความเป็นกลางและเป็นที่ตั้งของสำนักงานกลางด้านองค์กระระหว่างประเทศ

โดยในการเสด็จประพาสสวิสครั้งที่ 1 นั้น พระองค์ ได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ อย่างสมพระเกียรติ ขณะที่ความสัมพันธ์ในช่วงการเสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์ ครั้งที่ 2 นั้น พระองค์ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีเช่นกัน โดยการเสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 2450 นี้ ในระหว่างที่ทรงประทับรถไฟพระที่นั่ง ผ่านเขตต่อพรมแดนจากเมืองมิลานมายังเขตประเทศสวิส พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยกับการทอดพระเนตรภูมิทัศน์ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรียกได้ว่า อย่างไม่ละสายตาเลยทีเดียว

สารคดียังได้นำเสนอเรื่องราวของโรงแรมที่ประทับที่ตำบลเตร์ริเต ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่แต่โรงแรมถูกแบ่งสรรให้เป็นอพาร์ทเม้นท์ ห้องพักส่วนบุคคล และอีกส่วนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยุโทรทัศน์ของเมือง (AUDIORAMA)


ตอนที่ 14

ออกอากาศ : วันอังคารที่ 19 ส.ค.51 เวลา 20.23 น.

สารคดีตอนนี้ จะนำเสนอเรื่องราวในระหว่างที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ขณะประทับที่เมือง มองเทอร์ และเตร์ริเต หนึ่งในนั้นคือการเสด็จประพาสงานสงครามบุปผชาติ หรือที่ชาวสวิสเรียกว่าคอนเฟตติ ซึ่งปัจจุบันเทศกาลเหล่านี้ไม่มีแล้ว แต่กลับกลายเป็นเทศกาลเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวชมบรรยากาศของดอกไม้ประจำเมือง ดอกนาซิซัส นี้บนยอดเขาเปลเดส (Les Pleiades) ของเมืองมองเทรอส์

นอกจากนี้พระองค์ได้เสด็จประพาสบ้านเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเมือง ทั้ง ปราสาทชิยอง ปราสาทโบราณริมทะเลสาบเจนีวา และที่สำคัญยอดเขา โรเชเดเนย์ ด้วยความสูงถึง 2042 เมตร ในระหว่างเส้นทางที่เสด็จประพาส พระองค์ทรงบันทึก บรรยากาศสองข้างทางรถรางขึ้นเขาโรเชเดเนย์ได้อย่างน่าสนใจยิ่งนัก ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ คือ แหล่งท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงของเมืองและยังคงความงดงามเหมือนเมื่อครั้ง 100 ปีที่แล้วเช่นเดิม

ขณะเดียวกันสารคดียังนำเสนอเรื่องราวของการเสด็จประพาส น้ำตกไรน์ที่นอยเฮาเซน ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้ด้วยการลงเรือและประทับพระบาทบนเกาะกลางน้ำตก ซึ่งหากใครที่ได้มีโอกาสมาเยือนที่นี่ ก็ย่อมที่จะไปยืน ณ จุดนั้นให้ได้ จากนั้นยังมีเรื่องราวของการเสด็จประพาสเมืองซูริค ในระหว่างที่ทรงประทับอยู่ที่เมืองนอยเฮาเซ่น อีกด้วย


ตอนที่ 15 เสด็จฯ ประพาสเยอรมนี ๑
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 25 ส.ค.51 เวลา 20.23 น.
สารคดีตอนนี้ จะย้อนรำลึกถึงสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์ของ ๒ ราชวงศ์ บทบาทสำคัญของประเทศเยอรมนี ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงสาเหตุของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ทั้งจุดประสงค์ด้านการรักษาพระวรกายและด้านการเมือง

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศเยอรมนีจากการเสด็จฯ ประพาสในครั้งนี้ และความหมายของคำว่า “มิตรใหม่” ที่จะมาทดแทน “มิตรเก่า” อย่างประเทศรัสเซีย ทางเลือกใหม่ที่มีความหมายยิ่งต่อสถานการณ์ในขณะนั้น ติดตามชมได้วันจันทร์นี้


ตอนที่ 16  เสด็จฯ ประพาสเยอรมนี ๒ (บาเดนบาเดน)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 25 ส.ค.51 เวลา 20.23 น.


สารคดีตอนนี้ จะนำเสนอเรื่องราวของ บาเดนบาเดน เมืองแรกของประเทศเยอรมนี… เมืองที่มีชื่อเสียงด้านสปาในอันดับต้นๆ ของโลก และเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองแห่งนี้ และทรงเข้ารับการรักษาด้วยการทำ “สปา” นานเกือบสามสัปดาห์ ทุกขั้นตอนที่ทรงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของคณะแพทย์ชาวเยอรมนี และบทสรุปของการรักษาในช่วงต้นจากพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ห้ามพลาด วันอังคารนี้


ตอนที่ 17 เสด็จฯ ประพาสเมืองไฮเดลแบ็ค
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 1 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.


สารคดีตอนนี้ จะย้อนรำลึกถึงช่วงระหว่างที่เสด็จประทับ ณ เมืองบาเดนบาเดน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลา ๒ วันในการเสด็จประพาสเมืองในละแวกใกล้เคียงอย่างเมืองไฮเดลแบ็ค(Heidelberg) ที่เมืองนี้มีหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดีจากทายาทในรุ่นต่อๆ มา นั่นคือ เหรียญเครื่องราชย์ชั้นที่ ๔ “ทิพยากรณ์” รูปช้างเผือก โดยทรงพระราชทานแก่ด๊อกเตอร์ อัลเบิร์ด โฮลสเบิร์ก ผู้อำนวยการวิทยาลัยไฮเดลแบ็ต ณ เวลานั้น

และยังมีหลักฐานอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จฯ หลายอย่างด้วยกัน ทั้งหนังสือพิมพ์เก่าที่บอกเล่าถึงความโด่งดังของรัชกาลที่ ๕ และภาพเก่าสถานที่ประทับของพระองค์เจ้ารังสิตฯ เมื่อครั้งยังทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยไฮเดลแบ็ค พร้อมกันนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ มากมายนับสิบแห่ง หนึ่งในนั้นคือพลุเมืองไฮเดลแบ็ค ที่มีกำหนดการแสดงเพียง ๓ ครั้งในรอบปี และพระองค์ทรงทอดพระเนตรพร้อมกับทรงบรรยายความไว้โดยละเอียดตอนที่ 16



ตอนที่ 18 เสด็จฯ ประพาสเมืองมันน์ไฮม์ และเมืองคาร์ลสรูห์
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 2 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.


สารคดีตอนนี้ จะย้อนรำลึงถึงระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่เมืองบาเดนบาเดนนั้น ราชวงศ์เยอรมนีในพระนาม แกรนด์ดุ๊ก เฟรเดรริกที่ ๑ ออฟ บาเดน (Grand Duke Friedrich I of Baden) ได้ถวายการรับเสด็จฯ รัชกาลที่ ๕ อยู่บ่อยครั้ง

นับเป็นพระสหายที่มีความสนิทสนมชิดเชื้อเป็นอย่างมาก และยังทรงทูลเชิญเสด็จฯ ไปยังเมืองมันน์ไฮม์ และเมืองคาร์ลสรูห์ เพื่อทอดพระเนตรงานแสดงศิลปะของทั้งสองเมือง ซึ่งต่อมาทรงมีพระราชวิจารณ์ในแนวทางไม่โปรดงานเขียนสมัยใหม่นี้เลยปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาไกลบ้าน โดยเฉพาะงานแสดงศิลปะ ณ หอศิลป์เมืองมันน์ไฮม์ ทั้งนี้พระองค์ยังเสด็จฯ เยี่ยมตอบแกรนด์ดุ๊ก ณ พระราชวังของทั้งสองเมืองอีกด้วย



ตอนที่ 19 เสด็จฯ ประพาสเมืองสตราสบวร์ก และปิดท้ายที่เมืองบาเดน
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 8 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.


สารคดีตอนนี้ จะย้อนรำลึกถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ระยะทางไกลไปยังเมืองสตราสบวร์ก (Strasbourg) ซึ่งเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ความในไกลบ้านยังระบุว่าเป็นเมืองที่อยู่ในเขตการปกครองของประเทศเยอรมนี ปัจจุบันเมืองสตราสบวร์ก ซึ่งอยู่ในกา รปกครองของแคว้นที่มีชื่อว่าอัลซาส จึงใช้แม่น้ำไรน์เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างแคว้นอัลซาส (ฝรั่งเศส) กับประเทศเยอรมนีอย่างถาวร นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๔๐ เป็นต้นมา

แม้จะเป็นการเสด็จประพาสเพียง ๑ วัน แต่เรื่องราวที่น่าสนใจในแง่ประวัติศาสตร์กลับมีอยู่มากมาย รวมถึงการทอดพระเนตรมหาวิหารเมืองสตราสบวร์ก (Cathedrale Notre-Dame de Strasbourg) และจุดเด่นที่สำคัญของมหาวิหารอย่างนาฬิกาดาราศาสตร์ (Astronomical Clock)



ตอนที่ 20 ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 9 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.

สารคดีตอนนี้ จะนำเสนอเรื่องราวนับตั้งแต่การสูญเสียดินแดนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ซึ่งเป็นกรณีพิพาทกับทางฝรั่งเศส


webmaster - 17/4/09 at 06:20

ตอนที่ 21 เสด็จฯ ประพาสกรุงปารีส
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 15 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.
ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรอเพื่อเซ็นสัญญาสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจต่างๆ มากมาย ทั้งการเสด็จเยี่ยมนายอาร์มองด์ ฟาลีแยร์ส (Armand Fallières) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๐๖ – ๑๙๑๓ โดยเสด็จฯ ประทับ ณ ห้องรับรองของ เอลิเซ่ ปาเรส (Elysee Palace) สถานที่ทำงานของประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ซึ่งทีมงานได้รับเกียรติให้เข้าถ่ายทำสถานที่สำคัญแห่งนี้โดยละเอียด ทั้งนี้ ยังได้เสด็จฯ เสวยพระกระยาหารที่ร้าน La Tour D’Argent ร้านอาหารที่มีอายุยาวนานถึง ๔๐๐ ปี เมนูในวันนั้นที่พระองค์ทรงโปรดปรานคือ “เมนูเป็ด” ซึ่งทางร้านได้นำเป็ด ๒ ตัวในลำดับที่ ๒๘๓๔๗ และ ๒๘๓๔๘ มาปรุงเป็นอาหารเพื่อถวายอีกด้วย



ตอนที่ 22 เสด็จฯ ประพาสอังกฤษ ตอน 1
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 16 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.

ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชภารกิจอันสำคัญจากกรุงปารีส ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสสู่มหานครลอนดอนทันที เพื่อเสด็จเข้าร่วมงานเลี้ยงอุทยานสโมสร (Garden Party) ณ พระราชวังวินเซอร์ (Windsor Castle) ตามคำทูลเชิญของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ งานเลี้ยงในวันนั้นถูกสื่อต่างประเทศตีพิมพ์ถึงสัมพันธไมตรีระหว่างสองชาติได้อย่างสมพระเกียรติ

เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคล้องพระกรสมเด็จพระนางเจ้าอเล็กซานดร้า พระราชินีอังกฤษ เสด็จพระราชดำเนินนำหน้าขบวนเสด็จของเจ้านายพระองค์อื่นๆ ตามติดด้วยพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกเรื่องในกรุงลอนดอน นั่นคือ พิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์


ตอนที่ 23 เสด็จฯ ประพาสอังกฤษ ตอน 2
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 22 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.


นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จประพาสอังกฤษครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ตลอดระยะเวลา ๖ วันที่พระองค์ประทับในอังกฤษ แทบจะไม่ปรากฏข้อความใดๆ ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านหรือเอกสารอื่นใดที่บันทึกในคราวเดียวกัน ที่กล่าวถึงการเจรจาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระหว่างการเสด็จประพาสครั้งนี้

และครั้งนี้ เราได้ค้นพบเอกสารชิ้นใหม่ ซึ่งกล่าวถึงความพยายามของพระองค์ที่จะทรงหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานระหว่างสยามและอังกฤษ ในระหว่างที่พระองค์ประทับในพระราชวังวินด์เซอร์ นี่คือเบื้องหลังที่คนไทยแทบไม่เคยรู้ ตลอด ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาก็คือ คืนสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับในพระราชวังวินด์เซอร์ พระองค์ได้ทรงเจรจาประเด็นปัญหาทางการเมืองกับเซอร์ ชาลส์ ฮาร์ดดิง ในหลายเรื่องที่ยังหาข้อยุติระหว่างกันไม่ได้มาหลายปี


ตอนที่ 24 เสด็จฯ ประพาสเบลเยียม
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 23 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.


จากประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินถึงเบลเยียมโดยเรือพระที่นั่งในเวลาสองทุ่มของคืนวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งครั้งนี้ นับเป็นการเสด็จประพาสเบลเยียมครั้งที่สอง และเบลเยียมยังจัดเป็น ๑ ใน ๑๐ ประเทศแรก ที่ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ซึ่งปีนี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ดำเนินมาถึง ๑๔๐ ปี ในการเสด็จประพาสเบลเยียมครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเสด็จประพาสเพื่อรักษาพระวรกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเลือกที่จะเสด็จประพาสเมืองออสเตนด์เพียงเมืองเดียว และในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน พระองค์ได้ทรงบรรยายถึงบรรยากาศการพักผ่อนตากอากาศชายทะเลของชาวยุโรปในสมัยนั้นไว้อย่างน่าสนใจ


ตอนที่ 26 เสด็จฯประพาสเดนมาร์ก ตอน 2
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 30 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.


จากเมืองโคเปเฮเกนเพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศนอร์เวย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินผ่านเมืองเล็กๆ ของประเทศเดนมาร์กมากมาย ได้แก่ เมืองออร์ฮุส เมืองเฟรเดอริกชาวน์ และเมืองสเกน ทั้งสามเมืองปรากฏเรื่องราวอันน่าภูมิใจและหลักฐานต่างๆ มากมายให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมพระบารมี

โดยเฉพาะเรื่องราวในช่วงของการเสด็จ เสวยพระกระยาหารที่ปราสาทอันเก่าแก่ของท่านเคาน์ฟริส (Frisborg Castle) มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งของเมือง ณ ปราสาทแห่งนี้ปรากฏหลักฐานมากมายที่คนไทยอาจไม่เคยพบเห็น ไม่ว่าจะเป็นพระบรมรูปที่ทรงฉายให้แก่เจ้าของปราสาท รวมถึงลายพระหัตถ์จารึกในแบบที่ไม่เคยปรากฎที่ใดมาก่อน เป็นลายพระหัตถ์ที่ทรงแสดงถึงสภาพอากาศในวันที่เสด็จเยี่ยมปราสาทแห่งนี้ พร้อมพระปรมาภิไธยกำกับในบันทึกหน้าที่ ๒๐ กันยายน ซึ่งถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์นั่นเอง



ตอนที่ 25 เสด็จฯประพาสเดนมาร์ก ตอน 1
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 29 ก.ย.51 เวลา 20.23 น.


สายสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามกับประเทศเดนมาร์กเริ่มต้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศนี้เป็นครั้งแรก ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ภาพขบวนรับเสด็จที่พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ (King Christian IX) พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ทรงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ทรงมอบหมายให้เจ้าชายวัลดิมาร์ (Prince Valdimar) พระราชโอรส เสด็จแทนพระองค์มาปฏิบัติพระราชกรณียกิจสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศในเอเชีย โดยประเทศสยามก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เดนมาร์กเห็นว่า ควรเดินทางมาเยือนเพื่อสานสัมพันธไมตรีต่อกัน เข้าสู่สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นอีกครั้งกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ และเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กก็คือจุดหมายอีกแห่งในการกระชับพระราชไมตรี และเดนมาร์กนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงฉายพระรูปไว้อย่างมากมาย


ตอนที่ 27 เสด็จประพาสนอร์เวย์ ตอนที่ 1 (ออสโล)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 6 ต.ค.51 เวลา 20.23 น.


นอร์เวย์ เป็นประเทศเล็กๆ ในแถบสแกนดิเนเวียที่มีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย เป็นดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืน มีเมืองหลวงที่กวีเคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีใครสามารถจากไป โดยปราศจากความทรงจำของที่นี่ เมื่อหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์จากดินแดนสยามอันห่างไกล ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงประเทศเล็กๆ แห่งนี้ และประทับอยู่เป็นเวลายาวนานนับหนึ่งเดือน พร้อมๆ กับทรงบันทึกภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของประเทศนี้ไว้มากกว่า ๑๐๐ ภาพ

เมืองออสโล (พระราชหัตถเลขาทรงเรียกว่าคริสเตียเนีย) ในสายพระเนตรของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงบอกเล่าเรื่องราวของการผลัดเปลี่ยนรัชสมัย จากเดิมที่เคยเป็นเมืองที่อยู่ในการปกครองของสวีเดน จนได้รับเอกราชก่อนการเสด็จประพาสครั้งนี้เพียง ๒ ปี รวมทั้งทรงบอกเล่าถึงสถานที่ต่างๆ ที่ทรงทอดพระเนตรโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังที่ประทับ พิพิธภัณฑ์เรือไวกิ้ง พิพิธภัณฑ์สกี หรือแม้แต่ฟาร์มโคนมส่วนพระองค์ของสำนักพระราชวัง ซึ่งล้วนแต่ยังคงอยู่แม้เวลาจะผ่านมายาวนานถึง ๑๐๐ ปี


ตอนที่ 29 เสด็จประพาสนอร์เวย์ ตอนที่ 3 (นอร์ธเคป)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 14 ต.ค.51 เวลา 20.23 น.


ณ ดินแดนเหนือสุดของนอร์เวย์ที่เรียกว่า นอร์ธเคป เป็นจุดหมายในฝันของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่ต่างปรารถนามาชมความงดงามของปรากฏการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืนหรือ Midnight Sun เมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินมาถึงแหลมแห่งนี้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กลายเป็นบทบันทึกการเดินทางที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง สำหรับคนในยุคปัจจุบัน

เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ไทยในนอร์ธเคป ที่ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในจุดที่สูงที่สุดในโลก จัดแสดงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว นับเป็นเรื่องราวที่สร้างความแปลกใจให้กับชาวนอร์เวย์และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกทุกคน เดินทางมาถึงนอร์ธเคป และนับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของดินแดนแห่งพระอาทิตย์เที่ยงคืนแห่งนี้



ตอนที่ 28 เสด็จประพาสนอร์เวย์ ตอนที่ 2
(ทรอนด์แฮม แฮมเมอร์เฟส)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 13 ต.ค.51 เวลา 20.23 น.


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับรถไฟพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงออสโลสู่นอร์ธเคป เพื่อทอดพระเนตรความงดงามของพระอาทิตย์เที่ยงคืน ตามเส้นทางพระราชดำเนินนี้ ทำให้พระองค์ต้องเสด็จผ่านเมืองต่างๆ ในประเทศนอร์เวย์มากมาย โดยจุดหมายแรกของเส้นทางก็คือ เมืองทรอนด์เยม ซึ่งมีเรื่องราวของการเสด็จประพาสมากมาย รวมทั้งภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงบันทึกไว้หลายภาพ

โดยเฉพาะช่วงของการเสด็จทอดพระเนตรยังวิหารนิดารอส เมืองทรอนด์เยม วิหารแบบโกธิคที่สำคัญที่สุดในนอร์เวย์ จัดเป็นวิหารที่สวยงามแห่งหนึ่งของโลก ส่วนที่โดดเด่น ได้แก่ ด้านหน้าฝั่งทิศตะวันตกของวิหาร ซึ่งตกแต่งด้วยรูปปั้นอันงดงาม และได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จากเมืองทรอนด์เยม ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จประทับเรือพระที่นั่งอัลเบียนเสด็จสู่เมืองแฮมเมอร์เฟส เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่นอร์ทเคป สัญลักษณ์ที่สำคัญของเมืองแฮมเมอร์เฟสคือเสาหลักเมอริเดียน

เสาหลักแห่งนี้ เป็นเส้นแบ่งระหว่างทะเลดำกับมหาสมุทรอาร์คติค เป็นอนุสาวรีย์เกี่ยวกับความสำเร็จในการวัดเส้นรอบวงของโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2395 โดยความร่วมมือระหว่างรัสเซีย สวีเดน และนอร์เวย์ สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2399 มีประวัติจารึกความเป็นมาของอนุสาวรีย์แห่งนี้ไว้ถึงห้าภาษาคือ เยอรมัน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และอังกฤษ เป็นจุดที่สามารถชมวิวที่สวยงามของเมืองได้



ตอนที่ 31 เสด็จประพาสนอร์เวย์ (เมร็อก)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 21 ต.ค.51 เวลา 20.23 น.


จากเมืองนาร์วิก เรือพระที่นั่งอัลเบียนผ่านเส้นทางความงามธรรมชาติที่งดงามราวกับภาพสวรรค์นั่นคือ ไกแรงเกอร์ฟยอร์ค ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทอดพระเนตรความงดงามเหล่านั้น และปัจจุบันองค์การยูเนสโกได้ให้การรับรองเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

จากนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงตำบลเมร็อค โดยได้เสด็จประพาสถานที่ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะโรงแรมที่ประทับ ซึ่งในปัจจุบันหลาย ๆ โรงแรมยังคงเปิดให้บริการอยู่เช่นเดิม และตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งเดิม มาเป็นเวลายาวนานกว่า 100 ปี


ตอนที่ 30 เสด็จประพาสนอร์เวย์ (ทรอมโซ่-นาร์วิก-คริสเตียนซุนด์-โมลเด)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 20 ต.ค.51 เวลา 20.23 น.


จากนอร์ธเคป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเรือพระที่นั่งอัลเบียนเสด็จพระราชดำเนินกลับ โดยในเส้นทางกลับได้ผ่านลิงเคนฟยอร์ค จุดที่ชมฟยอร์คที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของนอร์เวย์ จากนั้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองทรอมโซ่ เมืองใหญ่ที่เรือมักจะมาแวะซื้อของก่อนที่จะขึ้นไปยังเขตขั้วโลกเหนือ

ที่เมืองนี้ พระองค์ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวลัป ชนพื้นเมืองทางตอนเหนือของนอร์เวย์ จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองนาร์วิก และทอดพระเนตรการทำเหมืองแร่ของเมืองซึ่งยังคงเปิดให้บริการในวันทีมงานสารคดีเดินทางไปถึ


webmaster - 18/5/09 at 05:50



ตอนที่ 33 เสด็จประพาสนอร์เวย์ (บัลฮม-คุดวังเกน-วอส)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 28 ต.ค.51 เวลา 20.23 น.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังตำบลบัลฮม เมืองเล็กๆ ริมทะเลที่มีทิวทัศน์สวยงามที่สุดอีกแห่งหนึ่ง และได้ทอดพระเนตรบ้านฮันดาล นักเขียนชื่อดังชาวนอร์เวย์ ก่อนที่จะทรงซื้อภาพเขียนถึง ๔ ภาพ จากนั้นจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังตำบลมุนดัลและตำบลคุดวังเคน

เมืองที่มีจุดชมฟยอดที่งดงามอีกแห่งหนึ่ง ที่เมืองวอสแห่งนี้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้เข้าประทับโรงแรมไฟร์เชอร์ ซึ่งปัจจุบันโรงแรมแห่งนี้ได้นำพระปรมาภิไธยที่ทรงเคยลงรายพระหัตถ์เป็นที่ระลึกไว้ นำมาใส่กรอบประดับฝาผนังของโรงแรม และทำให้โรงแรมแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยต้องการมาชม



ตอนที่ 32 เสด็จประพาสนอร์เวย์ (วิสเนส-เลือน)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 27 ต.ค.51 เวลา 20.23 น.

ความงดงามของธรรมชาติที่ตำบลเมร็อกและวิสเนสนั้น ได้ทำให้บทบันทึกในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านเกิดเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเส้นทางที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินสู่ตำบลวิสเนส เป็นเส้นทางที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรน้ำตกอันงดงามมากมาย จากตำบลวิสเนส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินยังตำบลเลือน เพื่อทอดพระเนตรภูเขาน้ำแข็งที่มีชื่อว่า โครนาเบร ปัจจุบันได้กลายสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมากันเป็นจำนวนมาก


ตอนที่ 35 เสด็จประพาสนอร์เวย์ (สตาวังเงอร์-เบรวิก-โนโตดเดน)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 4 พ.ย.51 เวลา 20.23 น.


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งไปยังเมืองสตาวังเงอร์ โดยพระองค์ได้ทอดพระเนตรโบสถ์เก่าแก่ของเมืองซึ่งมีอายุเกือบพันปี แล้วได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังเมืองเบรวิก ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นับเป็นปีที่ครบ ๑๐๐ ปีของการเสด็จประพาส ดังนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของเมืองได้จัดงานนิทรรศการและการแสดงเกี่ยวกับการเสด็จประพาสในครั้งนั้นขึ้น รวมถึงการจัดทำหินแกะสลักเพื่อจารึกว่า ล้นกล้ารัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประพาสที่เมืองนี้เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว


ตอนที่ 34 เสด็จประพาสนอร์เวย์ (เบอรเคน-ออดดา)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 3 พ.ย.51 เวลา 20.23 น.


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินสู่เมืองเบอรเคน เมืองท่าค้าขายที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งของนอร์เวย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ โดยทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการค้าขายของเมือง ปัจจุบันเป็นอาคารเก่าแก่ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ต่อมาพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินสู่ตำบลออดดา และทอดพระเนตรสถานที่สำคัญคือ น้ำตกลาเตโฟสและน้ำตกเอสปละนาเดโฟส ซึ่งเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองออดดา


ตอนที่ 36 เสด็จเสด็จประพาสนอร์เวย์ (รูกัน-โนโตดเดน)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 10 พ.ย.51 เวลา 20.23 น.


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินสู่ตำบลโนโตดเดน และทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ของบริษัทนอร์ทฮีโดรอีเล็คตริค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเมือง และทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยในประเทศไทยในเวลาต่อมา นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ทอดพระเนตรเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งสร้างกั้นน้ำตกรูกัน น้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของยุโรป

บทสรุปของการเสด็จประพาสนอร์เวย์ตลอด ๓๐ วัน อาจกล่าวได้ว่า ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดความงดงามทางธรรมชาติของประเทศนอร์เวย์เป็นอย่างยิ่ง และทรงเคยบันทึกไว้ว่า งดงามกว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์เสียอีก รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์นอร์เวย์กับราชวงศ์ของไทยที่ยังดำเนินสายสัมพันธ์อันดีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน



ตอนที่ 37 ๑๐๐ ปีพระบรมรูปทรงม้า
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 11 พ.ย.51 เวลา 20.23 น.


เนื่องในโอกาสสำคัญที่ครบรอบ ๑๐๐ ปีพระบรมรูปทรงม้า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ สารคดีฯ นำเสนอเรื่องราวของที่มาและความสำคัญของพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ตอนที่ 38 เสด็จประพาสเยอรมนี (กีล-เบอร์ลิน)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 17 พ.ย.51 เวลา 20.23 น.


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองกีล ประเทศเยอรมนี และเสด็จไปทอดพระเนตรโรงทำเครื่องเหล็กและอู่ต่อเรือของบริษัทกรุปป์ จากนั้นจึงประทับรถไฟพระที่นั่งต่อไปยังกรุงเบอร์ลิน โดยได้เสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ ในกรุงเบอร์ลินมากมาย ทั้งสวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน ห้างคาเดเว วิหารแห่งกรุงเบอร์ลิน และสถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่เช่นเดิม

แม้เวลาผ่านมาแล้วถึง ๑๐๐ ปี พระองค์ยังได้เสด็จไปทอดพระเนตรโทรเลขไร้สายที่ตำบลเนาเอนอีกด้วย โดยในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน พระองค์ยังได้ทรงบรรยายเรื่องราวของการทำงานของโทรเลขไร้สายไว้อย่างละเอียด บ่งบอกถึงความสนพระราชหฤทัยในวิทยาการสมัยใหม่ที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศสยามในเวลานั้น


ตอนที่ 39 เสด็จประพาสเยอรมนี (คัสเซล-บราชไวซ์)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 18 พ.ย.51 เวลา 20.23 น.


จากกรุงเบอร์ลิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังเมืองคัสเซล และได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากพระเจ้าไกเซอร์ วิลเลี่ยมที่ ๒ จักรพรรดิของประเทศเยอรมนี พระองค์ได้ร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำที่พระราชวังวิลเฮมสฮือ และเสด็จประพาสบริเวณโดยรอบของพระราชวังแห่งนี้

จากเมืองคัสเซล พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังเมืองบราชไวซ์ และที่นี่พระองค์ได้พบกับดุ๊กโยฮันอัลเบิร์ก พระสหายอีกท่านหนึ่งที่ให้การรับรองพระองค์ท่านอย่างสมพระเกียรติ ปัจจุบันทีมงานสารคดีฯ ได้พบหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการเสด็จประพาสของพระองค์ในครั้งนั้น ซึ่งยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่พิพิธภัณฑ์ของเมืองและหอจดหมายเหตุของเมืองวิหาร



ตอนที่ 40 เสด็จประพาสเยอรมนี (บาดฮาร์ซบูร์ก-โกลอน)
ออกอากาศ : วันจันทรที่ 24 พ.ย.51 เวลา 20.23 น.


ดุ๊กโยฮันอัลเบิร์กยังได้ทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองบาดฮาร์ซบูร์ก และทูลเชิญพระองค์เพื่อทอดพระเนตรการประลองยุทธ์และการดับเพลิง รวมถึงการแสดงต่างๆ ก่อนที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ จะเสด็จพระราชดำเนินสู่เมืองโคโลญจ์ และทรงบรรยายถึงน้ำหอมอันมีชื่อเสียงของเมืองแห่งนี้ โดยปัจจุบันยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีวางจำหน่ายอยู่ทั่วเมือง


ตอนที่ 41 เสด็จประพาสฝรั่งเศส (ปารีส-รงบุลเย)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 25 พ.ย.51 เวลา 20.23 น.


อีกครั้งของการเสด็จพระราชดำเนินสู่กรุงปารีส โดยในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงทำเครื่องถ้วยที่ตำบลเซฟว์ ซึ่งปัจจุบันโรงทำเครื่องถ้วยแห่งนี้ยังคงผลิตเครื่องถ้วยเช่นเดียวกับเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว และภายในยังคงเก็บหลักฐานแบบพิมพ์ในการสั่งทำเครื่องถ้วยลายอักษรพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. ไว้เป็นอย่างดี พร้อมการสาธิตวิธีการทำเครื่องถ้วยตามที่พระองค์ได้ทรงบรรยายไว้ในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” อย่างละเอียดถี่ถ้วน

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่สำคัญๆ อีกหลายแห่งในประเทศฝรั่งเศส เช่น พระราชวังฟอนเตนโบล พระราชวังเวอไซล์ และเสด็จไปประทับแรม ณ พระราชวังรงบุลเย โดยการรับรองจากรัฐบาลฝรั่งเศส บ่งบอกถึงนัยยะสำคัญทางการเมืองระหว่างสยามและฝรั่งเศส ซึ่งได้ส่งผลต่อการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองประเทศให้ยุติลงได้



ตอนที่ 42 เยอรมนี (บาดฮอมบวร์ก ๑)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 1 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.


จากกรุงปารีส ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินกลับเข้าสู่ประเทศเยอรมนีอีกครั้ง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองบาดฮอมบวร์ก เพื่อจุดประสงค์ในการประทับรักษาพระวรกายด้วยน้ำแร่ร้อนธรรมชาติที่โรงอาบน้ำไกเซอร์วิลเลียมบาด โดยปัจจุบันโรงอาบน้ำแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญด้านสปาบำบัดเช่นเดียวกับเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน


ตอนที่ 43 เสด็จประพาสเยอรมนี (บาดฮอมบวร์ก ๒-วิสบาเดน)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 2 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.


ในระหว่างที่ประทับ ณ เมืองบาดฮอมบวร์ก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองต่างๆ มากมาย และทรงพรรณนาถึงสิ่งรอบข้างไว้อย่างหลากหลาย ทั้งการเสด็จประพาสเมืองวิสบาเดน เมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กันกับเมืองบาดฮอมบวร์ก ปัจจุบันทีมงานสารคดีฯ ยังค้นพบหลักฐานที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในหอจดหมายเหตุของเมือง ลายลักษณ์อักษรที่ถูกตีพิมพ์บอกเล่าถึงมุมมองอีกด้านของนักข่าวชาวเยอรมนีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ตอนที่ 44 เสด็จประพาสเยอรมนี-ฝรั่งเศส (วิสบาเดน-ปารีส)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 8 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองวิสบาเดน เมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กันกับเมืองบาดฮอมบวร์ก ปัจจุบันทีมงานสารคดีฯ ยังค้นพบหลักฐานที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในหอจดหมายเหตุของเมือง ลายลักษณ์อักษรที่ถูกตีพิมพ์บอกเล่าถึงมุมมองอีกด้านของนักข่าวชาวเยอรมนีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินช่วงสั้นๆ กลับเข้าสู่กรุงปารีสเพื่อเสด็จประพาสบ้านเมืองและสถานที่สำคัญต่างๆ ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้าสู่ประเทศเยอรมนีอีกครั้ง



ตอนที่ 45 เสด็จประพาสสวิสเซอร์แลนด์ (ลูเซิน-เบิร์น)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 9 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ณ เมืองลูเซินและกรุงเบิร์น ตามลำดับ ซึ่งในระหว่างที่ประทับอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้ พระองค์ได้เสด็จประพาสตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง อีกทั้งยังทรงบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวการเมืองการปกครองของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ


ตอนที่ 46 เสด็จประพาสอิตาลี (โกโม-โรม-เนเปิ้ล)
ออกอากาศ : วันจันทร์ที่ 15 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.

ซึ่งในปัจจุบัน พิธีการต่างๆ ในศาสนสถานเหล่านี้ยังคงใช้ปฏิบัติสืบต่อมาดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน จากกรุงโรม ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ประทับรถไฟพระที่นั่งเข้าสู่เมืองเนเปิ้ล และได้ประทับแรม ณ โรงแรมเบอโตลินี ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าของเป็นชาวไทย โดยภายในโรงแรมแห่งนี้ยังได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ทั้งลวดลายต่างๆ แม้กระทั่งลิฟท์ที่พระองค์ได้บรรยายเปรียบเทียบไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้านก็ยังคงถูกเก็บรักษามาจนถึงปัจจุบันนี้


ตอนที่ 47 เสด็จประพาสอิตาลี (ปาเลอรโม-เมสสินา-เทาร์มินา)
ออกอากาศ : วันอังคารที่ 16 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.

โดยได้เสด็จประพาสบ้านเมืองและสถานที่ต่างๆ ที่สำคัญ ตามสถานที่ต่างๆ ของเมืองทางตอนใต้ประเทศอิตาลีนี้ ยังคงพบหลักฐานการเสด็จมากมาย ทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินประทับที่โรงแรมวิลลาอิจิอา เมืองปาเลอรโม และพรปรมาภิไธยในสมุดปกทองของโรงแรมซานโดเมนิโก เมืองเทาร์มีน่า


ตอนที่ 48 เสด็จประพาสอิตาลี-มอลต้า (ไซราคุสซา-มอลต้า)
ออกอากาศ : จันทร์ที่ 22 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.

ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ยังได้เสด็จประพาสสถานที่สำคัญหลายแห่งของเมืองในแถบทางตอนใต้แห่งนี้ รวมไปถึงประเทศมอลต้า ประเทศเล็กๆ อีกแห่งด้านใต้ของประเทศอิตาลี ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชประสงค์เพื่อทอดพระเนตรประวัติศาสตร์อันสำคัญของเมือง และปัจจุบันก็ยังคงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตราบจนทุกวันนี้


ตอนที่ 49 คลองสุเอซ-โคลัมโบ-การรับเสด็จนิวัตพระนคร
ออกอากาศ : อังคารที่ 23 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.

ช่วงสุดท้ายของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเรือพระที่นั่งซักเซน เข้าสู่น่านน้ำเมดิเตอเรเนียน จนกระทั่งล่องเข้าสู่คลองสุเอส ผ่านทะเลแดง และมหาสมุทรอินเดีย จนถึงเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาอีกครั้ง

เมื่อเรือพระที่นั่งอัลเบียนออกจากเมืองโคลัมโบและล่องเข้าสู่อ่าวเบงคอล จนกระทั่งเสด็จพระราชดำเนินถึงท่าเรือเมืองสิงคโปร์ในที่สุด ซึ่งหลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน่วยงานราชการต่างๆ ได้เตรียมการรับเสด็จครั้งนี้กันอย่างยิ่งใหญ่
โดยเฉพาะการรับเสด็จที่จังหวัดตราดและจันทบุรี ในการนี้ได้มีการจัดซุ้มรับเสด็จตลอดเส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจนถึงพระบรมมหาราชวัง ท่ามกลางประชาชนชาวสยามที่ต่างมาเฝ้ารอรับเสด็จและชื่นชมพระบารมีของพระองค์กันอย่างล้นหลาม



ตอนที่ 50 หนึ่งศตวรรษเสด็จประพาส “ไกลบ้าน”
ออกอากาศ :จันทร์ที่ 29 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.


บทสรุปของความสำคัญของพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้นั้น ยังทรงคุณค่าในด้านการศึกษาให้แก่คนรุ่นหลัง ทั้งด้านการต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ สังคม ศิลปวัฒนธรรม และด้านอื่นๆ ดังนั้น พระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” จึงนับเป็นมรดกอันล้ำค่ำของชาวไทยตราบจนทุกวันนี้


ตอนที่ 51 หนึ่งศตวรรษเสด็จประพาส “ไกลบ้าน ๒”
ออกอากาศ : อังคารที่ 30 ธ.ค.51 เวลา 20.23 น.

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามประเทศได้เปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมบ้านเมืองสู่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยพระวิสัยทัศน์ส่วนพระองค์ ทั้งพระราชกรณียกิจด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การเสด็จประพาสต่างประเทศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็นับเป็นส่วนหนึ่งในพระวิเทโศบายของพระองค์ที่นำพาให้สยามประเทศรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมข องมหาอำนาจยุโรป และยังคงดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้


ตอนที่ 52 “เบื้องหลังสารคดี”
ออกอากาศ :จันทร์ที่ 5 ม.ค.52 เวลา 20.23 น.


การเก็บข้อมูลและเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่เดียวกับที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้ในเบื้องหลังสารคดีฯ ในทุกแง่มุมของการทำงาน กว่าจะออกมาเป็นสารคดีชุดนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ให้ประชาชนชาวไทยได้เรียนรู้และชื่นชมกับพระราชอัจฉริยภาพในทุกด้านที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในมรดกล่ำค่าทางวรรณกรรมในชื่อ “ไกลบ้าน”



webmaster - 11/6/18 at 16:47

.