"พายุนาร์กิส" ถล่มพม่า เมื่อปี 2551
webmaster - 28/5/08 at 08:18
(Update 5 ก.ย. 2551) และ (Update 24 เม.ย. 2559)
บทเพลง "ปลงสังขาร"
ขับร้องโดย คุณชินกร ไกรลาศ
พายุนาร์กีส ถล่มพม่า[/color]
รวมเหตุการณ์ภัยพิบัติ พายุนาร์กีสในพม่า
ภาพหลังเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส
พัดเข้าสร้างความเสียหาย ย่านโรงแรม Kandawgyi Palace Hotel เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า (4 พ.ค.51)
ออกอากาศเมื่อ : 2008-05-09
รวมเหตุการณ์ภัยพิบัติ พายุนาร์กีสในพม่า ภาพจากอีกมุมกล้องของนักท่องเที่ยวชาวไทย
ในเหตุการณ์ความรุนแรงพายุไซโคลนนาร์กีส พัดเข้าย่านโรงแรม Kandawgyi Palace Hotel เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า (3 พ.ค.51)
ออกอากาศเมื่อ : 2008-05-09
รวมเหตุการณ์ภัยพิบัติ พายุนาร์กีสในพม่า ภาพจากมุมกล้องนักท่องเที่ยวชาวไทย
ในเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส พัดเข้าสร้างความเสียหาย ย่านโรงแรม Kandawgyi Palace Hotel เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า (3-4 พ.ค.51)
ออกอากาศเมื่อ : 2008-05-09
รวมเหตุการณ์ภัยพิบัติ พายุนาร์กีสในพม่า รายงาน นาทีภัยพิบัตินาร์กีส ถล่มพม่า - วราภรณ์
เจริญพาณิช
ออกอากาศเมื่อ : 2008-05-08
ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้แล้วว่า "สัตว์โลก..ย่อมเป็นไปตามกรรม" แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าไปพูดทับถม..คนตาย
เพราะผู้ที่จะต้องสิ้นชีวิตก่อนอายุขัยนั้น ด้วยเหตุมาจาก "ปาณาติบาต" ในชาติปางก่อน ไม่ว่าจะเป็นภัยอันตรายแทบทุกชนิด
ที่เกิดขึ้นแบบกระทันหัน...กับใครก็ได้ในโลกนี้
ส่วนทรัพย์สินเสียหายจากภัยต่างๆ เช่น ถูกโจรลักขโมย หรือภัยพิบัติ เป็นต้น คงเนื่องจากการผิดศีลข้อ "อทินนาทาน" เป็นเหตุอีกเหมือนกั้น ฉะนั้น
เหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศพม่า หรือประเทศจีน (ส่วนไทยก็ถูก "ซึนามิ" เล่นงานไปก่อน เมื่อ ปี 2547) ถือว่าประสบชะตากรรมคล้ายคลึงกัน คือ
ชีวิตก็ต้องมาตายแบบไม่ทันรู้ตัว บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย บางครอบครัวตายหมดทั้งบ้าน เด็กบางคนต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ก็มี
นับน่าสงสารชีวิตทั้งคนและสัตว์ที่เกิดมาในโลกใบนี้ คือ ทุกข์เท่ากันหมด ไม่ว่าจะรวยจะจน จะดีเลวขนาดไหนก็ตาม เราลองทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านไปไม่ทาน
จากรูปภาพทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อจะประมวลชีวิตของผู้คนเหล่านี้ ที่สูญเสียทุกอย่างในชีวิตของการเกิดมาเป็นคน เหมือนกับชีวิตของเราที่ยังมีลมปราณ
แต่ใครเล่าจะคิดปลง "สังขาร" นี้ได้
ช่วงนี้ถ้าใครพูดถึงหรือได้ยินได้ฟังคำว่า "นาร์กิส" ก็คงนึกไปถึง "พายุหมุนนาร์กิส" หรือ Cyclone Nargis ซึ่งเข้าถล่มประเทศพม่าเมื่อช่วงวันที่ 2
ต่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา นี่คือภาพพายุไซโคลน "นากิส" ขณะเข้าถล่มประเทศพม่า จะเห็นว่าศูนย์กลางใหญ่โตมโหฬารเหลือเกิน
เส้นทางที่พายุพัดผ่าน ทำความเสียหายให้แก่ชาวพม่ามากมาย แบบไม่ทันตั้งตัว พื้นที่ที่ "นาร์กิส" ทำลาย ประมาณ 30,000 ตารางกิโลเมตร
น้ำที่พายุพัดมาท่วมพื้นที่สามหมื่น ตร.กม. ให้ท่วมเฉลี่ยสูง 1 เมตรเท่านั้น เป็นปริมาณน้ำ 30,000 x 1,000 x 1,000 x 1 หรือ สามหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (น้ำ
1 ลบ.เมตร หนัก 1,000 กิโลกรัม นั่นคือ พายุพัดน้ำมา สามสิบล้าน..ล้าน (30,000,000,000,000) กิโลกรัม หรือ 3 หมื่นล้านตัน)
สิบล้อคันหนึ่ง บรรทุกเต็มที่หนักประมาณ 30 ตัน (เกินนั้น เป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่หว้ากอ) สิบล้อ ... หนึ่งพันล้านคัน น้ำเหล่านี้ มาด้วยความเร็ว 200
กม/ชม. ก็ให้คิดว่า รถสิบล้อหนึ่งพันล้านคัน วิ่ง 200 กม/ชม. ผ่านประเทศพม่า ... ใน 48 ชม. จะราบเรียบดีขนาดไหน
ตัวเลข 30,000 ตร.กม.เนี่ย มาจากภาพถ่ายดาวเทียมครับ เป็นพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งประชากรอยู่กันคนข้างหนาแน่น โดยเฉพาะแถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ไม่อยากคิดว่า
ถ้าเฉลี่ย 1 ตร.กม. (400 ไร่) มีคนอยู่กันแค่ 100 คน พื้นที่ที่ถูกนากิสผ่าน ประชาชน 3,000,000 คน ได้รับความเดือดร้อน ตาย 1% .. ก็ 30,000 คนแล้ว
พื้นที่ 30,000 ตร.กม. .. ก็ประมาณว่า ถ้าจาก "สมุทรปราการ" ขึ้นไป ตะวันตกจด "กาญจนบุรี" ตะวันออกจด "นครนายก" พายุนี้กวาดเรียบไปจนถึง
"บ้านหมอ" จ.สระบุรี..(หลับตานึกภาพกันเอาเองนะ..)
พื้นที่ 30,000 ตร.กม. นี้คือ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ราชบุรี กรุงเทพ ปทุมธานี นนทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี อยุธยา
อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ จังหวัดที่ผมว่าๆมานี้ มีคนรวมแล้วกี่คน? ถ้าโดนพายุที่หอบน้ำจากฟ้า ฟาดลงมาด้วยความแรง 200 กม/ชม. ...
จะเหลือคนรอดกี่คน
แม่น้ำอิระวดีเออล้น ท่วมมิดทั้งเมืองเหลืออยู่แค่นี้ นี่คือน้ำลดแล้ว ถ้าตอนพายุเข้า คงมิดหลังคาบ้านทุกหลังแหละ นี่แหละ..ที่ทำให้คนตายเยอะ
คนตายนับหมื่น ยังหาไม่พบอีกก็มากมาย ทรัพย์สินเสียหายหาประมาณมิได้ นี่คือ "ความทุกข์" จริงๆ
แม้แต่วัดวาอารามก็พังเสียหายยับเยิน คงเหลือแต่องค์ปฏิมาที่ยังงามสง่าอยู่นั่นเอง
ผู้ที่รอดตาย บางคนก็บาดเจ็บแสนสาหัส ได้แต่คิดถึงครอบครัว คนที่รัก..ทรัพย์สินที่เสียหาย..ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไปตามกัน
แม้แต่วัวควายก็หนีไม่พ้นความตาย ความตาย..จึงเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน ส่วนชีวิตของเราซิ..ที่ไม่แน่นอน ตามพระพุทธพจน์..
"คนและสัตว์..เกิดมาเท่าไหร่ ตายหมดเท่านั้น" จริงๆ
| |
ความตายได้มาเยือนกับชีวิตทุกคนในโลกนี้ ไม่มีใครหลีกหนีพ้น จะช้า..จะเร็ว..ที่ไหน..เมื่อไร..ไม่มีใครรู้ได้ว่า "มัจจุราช"..หรือ.."มรณภัย"
จะเข้ามาถึงตนเองเมื่อไหร่ จะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็กๆ อย่างนี้ โอ้..ชีวิตที่เกิดมานี้..น่าอนาถเสียเหลือเกิน แต่คนก็ยังอยากเกิดกันอีกมากมาย..แฮะ.
แปลก..แต่จริง..เนอะ !
| |
คำสอนของหลวงปู่เทศก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
คำว่า "มรณานุสสติ" คือ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์นั้น ใครจะพิจารณาอะไรก็ตาม หรือใครจะทำอะไรก็เอาเถิด
ถ้าลงถึงความตายแล้วมันก็หมดเรื่องเท่านั้นแหละ ไม่มีการไปการมาการทำอะไรอีก ชีวิตอันนี้หมดเพียงแค่ความตายเท่านั้น จึงเรียกว่า มันมีที่สิ้นสุดได้
คนเราเกิดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน เรียกว่า เกิดจากธาตุสี่มาประชุมกันเข้าเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กเติบโตเป็นหนุ่มสาว
เป็นคนแก่ขึ้นโดยลำดับ ในที่สุดก็ถึงซึ่งความดับ คำว่า เจริญ ในที่นี้มันไม่ใช่เจริญ หมายความถึงว่า ดำเนินใกล้เข้าหาความตายทุกวันทุกคืนต่างหาก
ที่เราเป็นอยู่เดี๋ยวนี้นั้นมันเจริญไปหาความตายด้วยกันทั้งนั้น
ที่พูดกันว่า เจริญงอกงามขึ้นไปโดยลำดับ แท้จริงแล้วต่างก็เจริญไปหาความตายทั้งสิ้น ชีวิตของมนุษย์เราทั้งหมดรวมทั้งสัตว์ทั้งหลายต้องเป็นอย่างนั้น
สังขารทั้งปวงต้องเป็นอย่างนั้นหมด สังขารที่มีวิญญาณครอง คือ สัตว์และมนุษย์คนเรา ตั้งแต่เกิดขึ้นมาจนกระทั่งวันตายมันเสื่อมไปโดยลำดับ
โดยทั่วไปตั้งแต่เกิดขึ้นมาจนมีอายุ ๒๐ - ๓๐ ปี เขาจึงเรียกว่ามันเจริญขึ้น อันที่จริงมันเสื่อมตั้งแต่เบื้องต้นนั่นแหละ หมายความว่า
มันเปลี่ยนแปรสภาพไปตามลำดับจากเด็กเปลี่ยนไปหาหนุ่มสาว ไปหาแก่ ไปหาชรา มันแปรสภาพไปๆไม่มีเจริญ มีแต่เสื่อมทางเดียว
คนเรานั้นเกิดขึ้นมานับว่าตั้งอยู่ในความประมาทด้วยกันทั้งนั้น คือ ไม่คิดถึงความตาย มัวเมาอยู่ในสิ่งต่างๆ เมาในความเป็นผู้มีอายุชีวิต
เมาในความไม่แก่ เมื่อไม่เห็นความแก่ จนกระทั่งผมหงอก เนื้อหนังเหี่ยวย่น เรี่ยวแรงลดถอย จึงค่อยรู้สึกว่าตนแก่
แต่ถึงขนาดนั้นบางคนยังไม่รู้สึกว่าตนแก่ด้วยซ้ำไป ไม่ทราบว่าตรงไหนมันแก่ เพลินมัวเมาอยู่ในความประมาท
ผู้มีมิตรสหายพวกพ้องญาติพี่น้องทั้งหลาย หรืออยู่กับครูบาอาจารย์ หรืออยู่กับบิดามารดาก็ตาม มันเพลินอยู่กับสิ่งนั้นแหละ
คือความยึดความถือในบุคคลและสิ่งแวดล้อม เลยลืมนึกถึงอายุชีวิตของตน จนกระทั่งถึงเวลาที่แตกดับสลายจากกันไป จึงจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า โอ!
มันแตกสลายดับเสียแล้ว เลยหมดเวลา จึงไม่มีหนทางแก้ไขได้
พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้ว่า "อัปปะมาโท อะมะตัง ปะทัง" ความไม่ประมาทเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย หมายความว่า ผู้ที่พิจารณาความตายอยู่เสมอๆ
ทุกลมหายใจเข้าออก ชื่อว่าเป็นหนทางแห่งความไม่ตาย ความนี้มันยากผู้ที่จะเข้าใจง่ายๆ
ความที่ว่า ไม่ตายนั้น หมายความว่าอย่างไร สำหรับผู้ที่มีสติควบคุมจิตตนได้แล้ว จะเห็นความเสื่อมความสิ้นของตนอยู่ตลอดเวลา
จะเห็นว่าร่างกายมันค่อยสิ้นไปเสื่อมไปชำรุดทรุดโทรม สังขารมันต้องชำรุดทรุดโทรมเป็นธรรมดาของมันไป ในผลที่สุด ก็ต้องแตกสลายดับไปอย่างนี้ ส่วนที่ไม่ตายคือ
จิต จิตไม่มีแก่ไม่มีตาย
ดูซิ คนเราที่ว่าแก่ๆนั้น จิตมันไม่แก่ ร่างกายจะแก่สักเท่าไรก็เอาเถอะ จิตมันไม่แก่หรอก สังเกตดูเวลาฝันซิมันยังเป็นหนุ่มอยู่ตลอดเวลา
ไม่มีแก่เฒ่าชราสักที อันนั้นแหละจิตมันไม่แก่มันไม่ตาย เมื่อจิตมันไม่ตายก็เอาตัวจิตนั่นซีรักษาตัวจิตนั้นไว้ เหตุนั้นท่านผู้ไม่ประมาท
ท่านจึงตั้งสติควบคุมดูแลจิตของตนอยู่เป็นนิจ เมื่อไม่ประมาทควบคุมจิตอยู่มันก็เป็นบทหรือที่ตั้งแห่งความไม่ตาย
พระพุทธองค์ตรัสไว้อีกเหมือนกันว่า "ปะมะโท มัจจุโทปะทัง" ความประมาทเป็นบทหรือที่ตั้งแห่งความตาย คนเราถ้าหากประมาทแล้วจะมัวเมาอยู่กับสิ่งอื่น
ดังอธิบายให้ฟังนั้น มันไม่คิดถึงตนเลย คิดถึงแต่คนอื่นสิ่งอื่น จิตส่งไปภายนอกอย่างที่รักมิตรรักสหาย รักพวกพ้องพี่น้อง รักลูกรักหลาน รักครูบาอาจารย์
รักบิดามารดา อยากให้บิดามารดามีความสุขสบาย อยากให้คนอื่นๆมีความสบาย
ตนเองเลยลืมตัว ไม่คิดถึงตัวของตนเองจะต้องตายเลย ความมัวเมาอย่างนั้นเรียกว่า ความประมาท ยังมิหนำซ้ำ คนเรายังเข้าใจอีกว่า
การล้มหายตายจากของพวกพ้องญาติพี่น้องคนหนึ่งคนใดก็ตาม หากคนนั้นไม่ทุกข์ไม่โศก ไม่ร้องไห้ร้องห่ม เขาถือกันว่าไม่รักกัน ไม่รักญาติรักวงศ์
บางลัทธิธรรมเนียมยังจ้างกันมาร้องไห้ร้องห่มเสียอีก ไม่ร้องไห้จริงๆ ก็แกล้งร้องทำเป็นทุกข์เป็นโศกเอา นั่นแหละความประมาทมันเป็นเช่นนั้น
อันความประมาทนั้นนิยมนับถือกันนักหนา
มีเรื่องเล่าไว้ในพระสูตรว่า มีคนแก่คนหนึ่งไปทำนากับลูกชายทุกๆวัน วันหนึ่งลูกชายไถนาอยู่ถูกงูกัดตาย ผู้พ่อเห็นทีแรกก็เกิดความทุกข์โศกขึ้นมา
ต่อพิจารณาไปๆมาๆก็เลยเห็นว่า เมื่อลูกมาเกิดแกก็ไม่ได้บอกให้ลูกมาเกิด มันหากมาเกิดเองของมันต่างหาก แล้วก็ไม่ได้บอกว่ามาจากไหนกัน
เวลามันจะตายมันก็ไม่ได้บอกเล่าเราว่ามันจะตาย มันหากตายไปเอง อย่างนี้มันไม่ใช่ลูกของเราเสียแล้ว มันเกิดมันตายของมันเองต่างหาก ก็เลยหายจากความโศก
จิตใจยิ้มแย้มแจ่มใส
แต่พอมาคิดถึงภรรยาและลูกสะใภ้ที่อยู่ที่บ้านอีกที เอ! ทั้งภรรยาและลูกสะใภ้นี้จะคิดอย่างไรกันหนอ
พอมีคนเดินผ่านมาแกก็เลยบอกให้คนนั้นช่วยบอกภรรยาและลูกสะใภ้ทางบ้านด้วยว่าวันนี้หากจะส่งข้าวไปให้จงเอาไปแค่ส่วนเดียว
และถ้าจะไปให้พาลูกสะใภ้ไปด้วย(แต่ก่อนเคยส่งไปสองส่วน) ฝ่ายภรรยาได้ทราบดังนั้นก็เอะใจ แต่ก็ได้ทำตามนั้น
พอไปถึงได้เห็นลูกชายที่งูกัดนอนตายอยู่กลางนา แม่ก็พิจารณาเหมือนพ่อว่า เออ! ลูกเราคนนี้เวลามาเกิดมันก็ไม่ได้บอกว่าจะมาเกิด
เวลามันจะตายก็ไม่ได้บอกว่ามันจะตาย หากตายไปเอง สังขาร คือ รูปนามอันนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องแตกต้องดับเป็นธรรมดา
เราจะเศร้าโศกอะไรไม่มีประโยชน์ ก็เลยหายจากความทุกข์โศก ผู้ลูกสะใภ้ก็พิจารณาเช่นนั้นเหมือนกัน เลยต่างคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นปกติธรรมดา
นี่แหละผู้เชื่อฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีอาลัยอาวรณ์ ไม่มีเดือดร้อนในการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ธรรม
ผู้เห็นธรรม ไม่เหมือนกับมนุษย์ปุถุชนพวกเราทั่วไป ที่ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ฟังเฉยๆไม่ได้น้อมนำมาปฏิบัติตาม
ฟังแล้วไม่เข้าใจไม่รู้ลึกซึ้งในธรรมะที่พระองค์ทรงสอนไว้
ที่จริงพระองค์ทรงเทศนาธรรมะไว้มากมายเหลือหลาย เราก็ฟังมาไม่ทราบเท่าไรแล้วแต่ความเข้าใจถึงเรื่องธรรมะมีน้อยเหลือเกิน จึงไม่สามารถจะกลั้นความทุกข์
ความโศกไว้ได้ เมื่อพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจ
อภิณหะปัจจเวกขณะ..เราก็สวดกันอยู่ทุกวันๆ ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา เรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา
สี่อย่างนี้แหละมันไปไหนไม่พ้นหรอก ทุกคนก็ต้องเป็นอย่างนั้น เห็นอยู่ชัดๆแล้วว่ายังอดทุกข์อดโศกไม่ได้ เพราะไม่เข้าถึงธรรมนั่นเอง
ธรรม ๔ อย่างนี้ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เรียกว่า "มหาโจร" มันปล้นเอาความดีของเราไป ท่านเปรียบเทียบอาไว้ว่าเป็นโจรสี่คน
มันไล่ฆ่ามนุษย์คนเรานี่แหละ มนุษย์คนเราก็วิ่งหนีด้วยความกลัว วิ่งกระเซอะกระเซิงไป ไปทางไหนก็ไม่พ้นหนีไปเรื่อยจนถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง
เรือแพก็ไม่มีจะข้ามไปพอเห็นซากอสุภลอยมา
คนนั้นก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เหม็นก็เหม็นทั้งน่าเกลียดน่ากลัวด้วย แต่ความกลัวภัยมีมากกว่าเลยวิ่งลงไปในแม่น้ำนั้น แล้วเอามือหนึ่งกอดเอาซากศพนั้น
อีกมือหนึ่งก็วักน้ำไป จนข้ามน้ำได้ไปถึงฝั่งฟากโน้น พอขึ้นบกได้แล้วก็ผลัดเสื้อผ้าแต่งตัว แล้วก็เดินไปสบาย
พวกเรานี่น่ะกำลังถูกมันไล่อยู่ทุกวัน ความเกิด มันไล่มาแล้ว ความแก่ มันไล่อยู่ทุกวันนี้
แม้เราจะหาเครื่องบำรุงรักษาไว้เพื่อจะเอากำลังหนีจากโจรคนที่ ๒ คือ ความแก่ โดยการทะนุถนอมบำรุงบำเรอสารพัดทุกอย่าง
จะทุกข์ยากลำบากตรากตรำสักเท่าไรก็พยายามรักษา อันนี้เรียกว่าหนีโจรคนที่ ๒ เพื่อเอาตัวรอดแต่มันก็ไปไม่รอด แก่อยู่ทุกวัน
ทีนี้..ความเจ็บความไข้ เรารักษาตัวเองไม่ได้ก็ให้หมอรักษา หากว่าเจ็บหนักๆเข้าก็หมดหนทางเหมือนกัน ไม่มีใครรักษาได้
แม้แต่หมอเองก็ต้องตายเหมือนกัน อันนั้นเรียกว่า "หนีโจรคนที่ ๓"
โจรคนที่ ๔ คือ ความตาย ถ้าหนีพ้นคนที่ ๔ ได้ก็พ้นจากภัย พ้นจากโจรคนที่ ๑ ๒ และ ๓ ไปในตัวด้วย แต่โจรคนที่ ๔ นี้หนีลำบากเหลือเกิน
ไม่มีใครหนีได้สักคนเดียว
คำว่า หนีพ้น จากโจรคนที่ ๔ นั้นก็คือ เห็นตามสภาพตามความเป็นจริงว่า กายนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วในที่สุดต้องแตกสลายเป็นธรรมดา จิตเท่านั้นที่คงอยู่
ถ้าหากว่าเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติควบคุมจิต รักษาจิตอยู่ ไม่ให้มันกระสับกระส่ายวุ่นวาย ไม่ให้เป็นทุกข์เดือดร้อน รักษาจิตอยู่สงบนิ่งได้
อย่างนั้นจึงจะหนีพ้นจากโจรคนที่ ๔ ได้ หรือเรียกว่ารักษาตัวได้ ส่วนร่างกายเป็นเหยื่อของโจรไป
คราวนี้ทำอย่างไรเราจึงจะรักษาตัวให้พ้นจากโจรทั้งสี่นี้ได้ เราก็มาหัดทำอย่างที่เราทำอยู่นี่ล่ะ ทำจิตให้เป็นสมาธิสงบนิ่ง
หัดทำจิตให้มันสงบเสียก่อน ถึงว่าไม่วิเศษวิโสเท่าไรก็เอาเถิด ยากนักที่จะทำจิตให้สงบได้ หากอบรมใจยังไม่ทันได้
เราก็ยังกลัวตายกระสับกระส่ายดิ้นรนเดือดร้อนอยู่ จึงไม่สงบ ยิ่งกว่านั้นอีก ยิ่งกลัวผีกลัวเสือ กลัวอะไรต่างๆ ทั้งๆ
ที่ยังไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านั้นเลย
ผีก็ยังไม่เคยเห็นสักทีแต่ก็กลัวผี เสือก็ยังไม่เคยเห็นตัวมันสักทีแต่ก็กลัวแล้ว ยังไม่เคยเห็นเสือกินคนสักที แต่ก็กลัวเสือมันจะมากินคน
มันมีความกลัวสารพัดทุกอย่าง รวมความเรียกว่า มันกลัวตายนั่นเอง มัวแต่กลัวอยู่จิตมันเลยไม่เกิดความสงบ มันฟุ้งซ่านส่งออกไปนอกตัว
ท่านผู้ไม่ประมาทเมื่อเกิดความกลัวแล้ว จิตของท่านเข้าหาตนเอง ไม่ส่งออกไปข้างนอก ท่านพิจารณาว่า มันเกิดความกลัวตายนั้น อะไรมันตาย
ร่างกายนี้มันตายต่างหาก ตัวใจไม่ตาย (ดังอธิบายให้ฟังแล้ว) รักษาใจให้สงบนิ่งแน่วให้อยู่ปกติ อันนั้นแหละจะพ้นความตาย พ้นได้ด้วยอย่างนี้แหละ
คนเรามีความประมาทอยู่ เพราะเหตุที่ไม่เห็นตนเอง (คือใจ) รักษาเอาแต่ร่างกาย ถือเอากายนั้นเป็นตนเป็นตัว ท่านอุปมาเปรียบเทียบไว้หลายอย่างหลายประการ
เช่น ท่านเปรียบคนประมาทเหมือนอีกากินซากช้าง มีอีกาตัวหนึ่งเห็นซากช้างตายลอยในน้ำก็บินไปเกาะกิน ช้างก็ไหลไปตามกระแสน้ำเรื่อยๆไป
อีกาก็จิกกินเนื้อเพลินไป พวกเพื่อนนกและอีกาอื่นเขากินลูกไม้อยู่บนฝั่งเห็นเข้าก็เรียกกาตัวนั้นว่า
"...มาเถิดเพื่อนเอ๋ย มากินลูกไม้ด้วยกันเถิด อย่าไปชมเชยซากช้างอยู่เลย อีกาก็บอกว่า โอ๊ย! กินช้างอยู่นี้ก็พอแล้ว จากนี้ไปจนตายก็กินไม่หมดหรอก
ข้าไม่ต้องการเร่ร่อนไปหากินที่อื่นอีกแล้ว ในที่สุดซากช้างก็ไหลออกไปสู่ทะเลลึก ไกลจนกระทั่งมองไม่เห็นฝั่ง ซากช้างเปื่อยเน่ามากก็สลายจมในทะเลไป
ทีนี้อีกาไม่ทราบจะไปทางไหน เลยจมน้ำตายไปพร้อมกับซากช้างในที่นั้นเอง"
อุปมาอีกาตัวนั้นเปรียบได้กับมนุษย์ เราเกิดขึ้นมาได้ร่างกายอันนี้แล้ว สมบูรณ์บริบูรณ์ครบทุกประการเลยชื่นชมว่า ร่างกายของตนไม่แก่ไม่เฒ่าไม่ตาย
เลยประมาท ส่วนนกอีกาทั้งหลายที่พากันร้องเรียกอยู่บนฝั่ง เปรียบเหมือนกับธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประกาศอยู่ว่า
นี่ธรรมะของจริงอยู่ตรงนี้ ให้พิจารณาตรงนี้ แต่คนไม่ฟังมัวเมาประมาทเห็นว่าตนของตนนั้นเป็นของจริง ธรรมะเป็นของไม่จริง ครั้นเมื่อแก่เฒ่า
เมื่อกายแตกสลายลงไปจึงหาที่พึ่งไม่ได้ เพราะมัวแต่ไปยึดตนว่าเป็นของตนจริงๆ นั้นเรียกว่าจมลงไปในทะเลลึก
ยังมีธรรมะของพระพุทธเจ้าที่อุปมาเปรียบเทียบหลายเรื่องหลายอย่าง อธิบายเพื่อจะให้เข้าใจชัดเจนถึงเรื่อง มรณานุสสติ ทั้งนั้น แต่พวกเราประมาทละเลยเสีย
ไม่พิจารณาธรรมะ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์อบรมสั่งสอนมามากมายเหลือหลาย ก็เพื่อต้องการให้มีสติระลึกถึงความตายเสมอๆ ทุกคนที่นี่หรืออยู่ที่บ้านก็เหมือนกัน
เมื่อว่าจะแตกจะดับหรือถึงไม่แตกดับก็เอาเถอะ แก่เฒ่าไปแล้วทุกคนต่างแยกย้ายกันไป เวลาจะตายก็ต่างคนต่างตาย ไม่ใช่ตายพร้อมกัน ตายคนละทีกัน
ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นกันแล้ว คราวนี้หมดโอกาสแล้ว เมื่อมีโอกาสได้คบค้าสมาคม ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมการอบรมสั่งสอน
จงพากันทำใจเสียให้เป็นที่พึ่งของตนให้มันได้ หาที่พึ่งของตนให้มันมีขอบเขตมีหลักมีแกน ต่อไปหากแยกย้ายกันไปแล้วก็ไม่มีหนทางทำอย่างนี้ได้อีก
ถึงมีลูกมีหลาน มีบุตรภรรยาสามีก็ตามเถิด เขาก็ช่วยเหลือไม่ได้สักคนเดียว ตนของตนแท้ๆเป็นที่พึ่งของตน
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "อตฺตาหิ อตฺตโนนาโถ" ตนของตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนทั้งหลายเข้าใจว่า ตนเป็นที่พึ่งของตนนั้น
เป็นคนใจแคบไม่เผื่อแผ่กว้างขวาง เห็นแก่ตัว นั่นเข้าใจผิดมากเอาทีเดียว ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย อย่างพระพุทธองค์ของเรา
พระองค์ทรงยอมสละราชสมบัติพร้อมด้วยพระญาติพระวงศ์ และพระราชบุตรอัครมเหสี ทรงบรรพชาอุปสมบทแสวงหาตนเป็นที่พึ่งของตน จึงได้สำเร็จพระโพธิญาณ
ถ้าหาไม่แล้วที่ไหนจะได้เป็นพระพุทธเจ้า
เมื่อได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระญาติพระวงศ์มีพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางยโสธราพิมพาราชเทวีเป็นต้น ก็ได้พระองค์เป็นที่พึ่งมิใช่หรือ
นอกจากนั้นประชาชนทั้งหลายมีพระเจ้าปเสนทิโกศลแคว้นโกศลราช และคนทั่วไปไม่เลือกหน้าก็ได้พระองค์เป็นที่พึ่ง นี่ก็เพราะพระองค์ทรงพึ่งพระองค์เองได้แล้ว
จึงทรงสอนให้คนอื่นพึ่งตนเองได้
เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วยังเหลือแต่พระธาตุและพระฉายาลักษณ์ มนุษย์ผู้เลื่อมใสในพระองค์นานตั้งสองพันกว่าปีแล้ว ยังเอามาเป็นที่พึ่งอยู่จนทุกวันนี้
นี่ก็เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มักน้อย ตนของตนเป็นที่พึ่งของตนนั่นเอง ในสมัยนี้ท่านธรรมปาลอีกคนหนึ่งเป็นผู้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง
ทั้งอดอาหารแม้แต่ตนจะถูกขัดขวางถูกทำร้ายตั้งหลายหนก็ยอม เพื่อแลกเอาพุทธคยามาเป็นของชาวพุทธ แต่ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่สามารถจะสอนคนให้พึ่งตนเองได้
พระพุทธเจ้าทรงฝึกหัดพระองค์ให้เป็นที่พึ่งของพระองค์เองได้ด้วยวิธีต่างๆ จนพึ่งพระองค์เองได้แล้ว จึงทรงนำเอาวิธีอันนั้นมาสอนแก่คนอื่น
คนทั้งหลายฟังแล้วทำตามจนพึ่งตนเองได้ ผู้ที่เข้าใจผิดดังกล่าวแล้วในเบื้องต้นนั้น ถ้าหากมาลงมือทำตามดูก็จะเห็นด้วยตนเอง
ก็จะหายจากความเข้าใจผิดอันนั้นอย่างเด็ดขาด
****************************
webmaster - 5/9/08 at 10:10
คำสอนของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)
"...มรณานุสสตินี่...แปลว่าอะไรเล่า.. ความจริงตายนี่มันตายทุกวินาทีนะ จิตมันเคลื่อนไป ความเสื่อมโทรมของร่างกายเคลื่อนไป
มรณานุสสติกรรมฐานนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ท่านบอกว่า ถ้าเราไปสอน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ หรือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่มีในเรา เข้าใจยาก มันยากจริง ๆ
ถ้าเรามาคิดกันตัวปลายสุด ไอ้ร่างกายของเรานี่มันตายแน่ นี่มันเห็นชัดดีนะ ก็จริงของท่าน เราก็ตาย เขาก็ตาย ในเมื่อตายแล้วมีอะไรบ้างที่เราจะแบกไปได้
นี่เรามานั่งยึดถือว่านี่เป็นของเรา นั่นก็เป็นของเรา สิ่งที่ยังไม่มีอยากให้มีขึ้น ตัณหา แปลว่า ความอยาก
กามตัณหานั้นอยากได้ในสิ่งที่ไม่พึงจะมี ไม่มีให้มันมีขึ้น มีอะไร อยากรัก ยังไม่มีเมียอยากมีเมีย ยังไม่มีผัวอยากมีผัว ยังไม่มีลูกอยากมีลูก
อีตัวเริ่มอยากเริ่มทุกข์แล้ว กลัวจะไม่สมความปรารถนา พอได้เริ่มทุกข์ เพราะว่างานมันเพิ่มขึ้น พอไอ้แอ๊วโผล่เข้ามายุ่งใหญ่เลย นอนไม่หลับแล้ว
หมอก็หมอเถอะ ไอ้ลูกป่วยขึ้นมานอนไม่หลับเหมือนกัน รักษาไม่ได้ไอ้ลูกอ่อน นี่เป็นหมอแค่ไหนก็ลูกอ่อนเหมือนกัน ดีไม่ดีหมอก็อุ้มลูกไปหาหมออื่นอีก
นี่ความจริงเป็นอย่างนั้น นี่เราจะป้องกันความอยากกัน เรื่องอยากนี่เราพูดกันมาตั้งแต่เมื่อวาน
ทีนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า เราจะต้องกัน เราจะต้องดับตัณหา จริง ๆ ให้หาตัวมรณานุสสติ ไอ้ตัวตายเข้ามาเป็นที่ตั้ง เป็นพื้นฐานว่านี่เราตายแล้ว
เราแบกอะไรไปได้บ้าง ก่อนที่เราจะตายมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไอ้ตัวทุกข์นี่เราก็พูดกันมาแล้ว ว่าทุกอย่างในโลกมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ทั้งหมด
ไม่ว่าเงินหรือทอง ของใช้ คนหรือสัตว์ เหมือนกันหมด
ถ้าเราได้เข้ามาแล้วเป็นปัจจัยของความทุกข์ทั้งหมด ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข เพราะมันเพิ่มภาระ และก็เพิ่มความห่วงใย อารมณ์จิตเข้าไปหน่วงเหนี่ยว คนก็ดี
วัตถุก็ดี สัตว์ก็ดี ที่เป็นที่รักของเรา ถ้าบังเอิญตายไป หรือพังไป ใจเราก็ไม่สบาย เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น นี่มันเป็นอาการของความทุกข์
ทีนี้ท่านก็เลยบอกว่า ถ้าเราจะตัดตัณหาทุกอย่าง กามตัณหาก็ดี ที่เราคิดว่าของมันยังไม่มีอยากให้มีขึ้น ภวตัณหาที่มีแล้วอยากให้มันทรงตัว วิภวตัณหา
เมื่อสิ่งเหล่านั้นเคลื่อนไปตามสภาพของมัน ถือเป็นกฎธรรมดา เราก็หาทางต้านทานว่า ร่างกายเราจงอย่าแก่เลย จงอย่าป่วยไข้ไม่สบายเลย จงอย่าเป็นอย่างนั้นเลย
จงอย่าเป็นอย่างนี้เลย มันห้ามไม่ได้
การห้ามไม่ได้มันก็เป็นทุกข์ ทีนี้ก็มานั่งพิจารณาขันธ์ ๕ ท่านบอกดูยาก เราก็นั่งนึกถึงตัวตายกัน นี่เราเกิดมาเพื่อตาย เราไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่
ไอ้สิ่งที่เราจะพึงหาได้โดยชอบธรรม และก็ไม่เป็นโทษ ยังมีถมไป
ทีนี้ตัณหานี่ถ้าตัวต่ำนะ ท่านบอกให้ยับยั้งไว้ อยากได้ในสิ่งที่ไม่มีโทษถือว่ายังมีความเบาอยู่ ใช้ได้ นี่ตัวต่ำ
ถ้าตัวสูงขึ้นไปตั้งแต่อนาคามีขึ้นไปไม่ได้เลย อยากได้อะไรทั้งหมดในโลกถือว่าใช้ไม่ได้ อยากได้แล้วก็เกาะ ถ้าอยากได้มาแล้วไม่เกาะไม่เป็นไร
อยากได้สิ่งนี้เพื่อความสะดวกในการเป็นอยู่แล้ว ก็คิดไว้ด้วยว่ามันจะได้มาหรือไม่ได้มาก็ช่างหัวมัน ถ้ามีโอกาสจะได้มาก็เอาเราจะใช้
ถ้าเป็นโอกาสที่จะพึงได้มาไม่มีก็ตามใจมัน เป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ฝืนความสามารถและไม่ฝืนโอกาส แบบนี้ใจมันสบายตั้งแต่ก่อนจะได้
ทีนี้พอได้มาแล้วเราก็ทราบเลยว่า ไอ้เจ้าตัวนี้นะ มันไม่อยู่กับเรานาน มันอาจจะอยู่นาน แต่เราก็ไม่อยู่กับมัน ไม่มันก็เรา
สักวันหนึ่งจะต้องจากกันและก่อนที่จะจากกันมันจะทรงสภาพอย่างเดิมอยู่ไม่ได้ มันจะมีสภาพเก่า ๆ ทรุดโทรมเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา หาทางพัง
มันไม่ได้เปลี่ยนไปหาทางดี เปลี่ยนไปหาทางพัง เมื่ออยากจะพังก็พัง แก้ไขไม่ได้ แก้ไขได้ก็แก้ไขไป แก้ไขไม่ได้ก็แล้วไป
นี่ความสบายมันก็เกิดขึ้น เวลามันพังไม่ถือเป็นเรื่องหนักใจ เรารู้อยู่แล้วแล้วจิตของเราพร้อมแล้ว ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ
นี่อาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ เราต้องมัดความตายเข้ามาเทียบ นี่เป็นสมถภาวนา ถ้าใครเขาบอกว่า "สมถะ" เก่งหรือ "วิปัสสนา" เก่ง
ต้องบอกต้องเก่งคู่กัน เก่งคนเดียวใช้ไม่ได้ เก่งสมถะเป็น "โลกียฌาน" เดี๋ยวเจ๊ง...เก่ง "วิปัสสนา" อย่างเดียวไม่มี "สมถะ" ไม่มีทางจะใช้อะไรเลย
ท่านบอกว่า ให้นึกถึงความตายเป็นปกติ เรารู้อยู่ว่าเราจะตายเสียอย่างเดียว ถ้าเราไม่ลืมความตาย ความเมามันก็น้อย
อารมณ์ที่จะเกิดตัณหาคือความอยากมันก็เบา มันอาจจะอยากอยู่บ้าง แต่ว่าอยากพร้อมกับปล่อยอยาก ได้มาพร้อมกับอารมณ์ปล่อย มันมีอยู่เสมอ
จะได้มาหรือไม่ได้ก็ไม่หนักใจ หรือโอกาสยังมาไม่ถึง
เมื่อได้มาแล้วเราก็พร้อมใจรู้อยู่แล้วว่ามันจะพัง มันจะต้องเก่า มันจะต้องทรุดโทรม มันจะพังหรือมันจะไม่พัง แต่ขโมยอาจเอาไปเสียก่อนก็ได้
ถ้าอาการอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฎเราก็สบายใจ นี่ถือตัวมรณานุสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐาน
แต่ว่าไอ้ตัวนี้ก่อนที่มันจะเกิด มันแย่เหมือนกันนา กว่าจะหาไอ้ตัวนี้ได้ต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยมีเครื่องมืออันดับแรกหรือทั้ง ๓ อันดับ ก็คือ ศีล
สมาธิ ปัญญา อยู่แล้ว เราจะมานั่งพิจารณาแบบนี้หาความตายเป็นพื้นฐาน เอามาเปรียบเทียบกับอารมณ์ของวัตถุ หรือบุคคลว่ามันเป็นไปตามกฎธรรมดา มันเป็นไปไม่ได้
อยู่ ๆ มันเกิดไม่ได้
มันก็ต้องมีพื้นฐาน คือ เครื่องมือสำหรับใช้ เรียกว่าจะขึ้นบันได จะขึ้นบ้านขึ้นตึกมันต้องมีบันได อยู่ ๆ กระโดดขึ้นไปบนหลังคาตึกน่ากลัวจะไม่สำเร็จ
อันดับแรก เมื่อเรานึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เมื่อนึกถึงความตายแล้วจิตมันก็ยังดิ้นรนอยู่ ไอ้ความทะเยอทะยานของจิต อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากให้มันทรงตัว
อยากจะฝัน มันก็ทรงอยู่ และคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะตายแล้ว ลูกหลานก็ยังจะได้ใช้
ทีนี้วิธีที่จะป้องกัน และจะทำลายอำนาจของตัณหา อันดับแรก ตามที่พูดเมื่อวานนี้ ใช้ศีลครอบมันเข้าไว้ เอาศีลเข้าไปขังตัณหาคือความอยาก
เอาศีลทำลูกกรงครอบตัณหาเข้าไว้ มันอยากได้โน่นอยากได้นี่ ให้มันวิ่งคึ่กคั่ก ๆ เอาไว้ มันโผล่มากัดไม่ได้ อยู่ ๆ
เป็นพระอยากจะมีเมียจะไปมีได้ที่ไหนก็ไม่ได้ ศีลมันค้ำอยู่นี่ ตัณหามันเกิดแล้ว แต่ว่าขังตัณหาไว้ด้วยอำนาจของศีล อยากรัก รักก็รักได้
แต่ก็รักแล้วอย่าไปยุ่งกับใครเขา รักแต่อยู่ในใจยุ่งเข้าอาบัติกินศีล ศีลบกพร่องไม่ได้ อันดับแรกนี้เอาศีลขังตัณหาเข้าไว้
ทีนี้พออยากจะรวย อยากไปค้าขายกับเขาบ้าง จะไปรับจ้างเขาบ้าง ศีลของพระมันบังคับนี่ ศีลบังคับให้พระประกอบอาชีพใด ๆ ไม่ได้ ผิด เป็นไง ขังไว้อีกตัวซิ
ไอ้ตัณหาอยากรวยถูกขังไว้อีกแล้ว ดิ้นโครม ๆ
ทีนี้ตัณหาอีกตัวมาแล้ว อยากจะฆ่า หมอนี่มันพูดไม่ถูกใจ ทำอะไรไม่ถูกใจ ฆ่ามันเสียเถอะ แหม..ฆ่าได้ที่ไหน ศีลขาด นี่ศีลขังตัณหาเสียแล้ว
ตัณหาคืออยากฆ่านะ
ทีนี้ตัณหาตัวหลง ไอ้โน่นก็ดี ไอ้นี่ก็ดี โน่นของกู นี่ก็ของกู ไอ้สิ่งที่ว่าเป็นของกูแบบนี้พระใช้ไม่ได้ ใช้เมื่อไรลงนรกเมื่อนั้น
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ อนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง มีสภาพเป็นปัจจัยของความทุกข์ อนัตตา มันสลายตัว ในเมื่อมันจะพัง
มันมีอะไรเป็นของเรา
ทีนี้ไอ้ความเมาของจิตก็ยังมีอยู่ ก็ดิ้นอยู่ในลูกกรง โผล่มาไม่ได้ก็ช่างมัน เก่งก็เก่งในลูกกรงนะ ไอ้เจ้าศีลตัวนี้ ถ้ามันขังไว้จริง ๆ คือว่า สิกขา ๓
อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา นี่ก็บรรดาพุทธบริษัทที่ประกาศตัวเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจริง ๆ ต้องทรงสิกขา ๓ ประการให้ครบถ้วน ใช้คำว่า อธิ แปลว่า
ยิ่ง คือ เอากันจริง ๆ ไม่ใช่ล้อเล่น หรือว่าหลอกเล่น ถ้าเป็นฆราวาสก็ศีล ๕ หรือว่า ศีล ๘ เป็นเณร ศีล ๑๐ เป็นพระศีล ๒๒๗ ทั้งหมดนี้เราจะรักษาศีลยิ่ง คำว่า
ยิ่ง เขาทำยังไง
๑. เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง
๒. จะไม่ยุให้ใครทำลายศีล
๓. จะไม่ยินดีหรือไม่พอใจเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
นี่รวมความว่า ศีลทั้งหมดที่เรามีอยู่ เราจะไม่ยอมให้มันบกพร่องแม้แต่นิดเดียว ทำลายศีลเราก็ไม่ทำลาย ยุให้ใครทำลายก็ไม่ยุ ไม่ยินดี
เมื่อทำลายแล้วก็ไม่ยินดี อย่างนี้เรียกว่ารักษาศีลยิ่ง
ทีนี้ในเมื่อจิตใจของเราอยู่ในขอบเขตของศีล ลองดูซิว่า ไอ้ตัณหา ความอยากมันจะอยากได้สักแค่ไหน คือว่า มันก็จะทรงตัวอยู่ ข้างในดิ้นคึ่กคั่ก ๆ
มันก็จะดิ้นอยู่เฉย ๆ มันโดดมาทำร้ายใครเขาไม่ได้ ใช่ไหม มันจะมาอย่งไร รักก็รักได้ ในเมื่อเรามีศีลเขาห้ามก้าวก่ายกับความรัก มันก็นึกได้อย่างเดียว
นึกรักแต่แสดงความรักจริง ๆ ไม่ได้ ในด้านกามารมณ์
ทีนี้ความโลภ นึกอยากรวยได้ แต่ทำไม่ได้มันละเมิดศีล ใช่ไหม อยากจะฆ่าเขา นึกได้แต่ทำไมได้ ถ้าไปฆ่าเขา เดี๋ยวศีลขาด ไอ้ตัวหลงคือ โมหะ
ว่านั่นเป็นของกู นี่เป็นของกู ก็นึกได้เหมือนกัน แต่ละสมจริง ๆ ไม่ได้ เพราะศีลบังคับอยู่
นี่เป็นอันว่า อธิศีลสิกขา คือว่า สิกขาบทตัวต้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เรามีศีลเพื่อขังตัณหา เรามีศีลตัวเดียว เราทำลายกิเลสตัณหาไม่ได้
แต่ว่าเราขังความชั่วคือ ตัณหาไว้ได้
คำว่า "ตัณหา" นี่แปลว่า ใฝ่ต่ำ นะ อยากจะไปสวรรค์ ไปพรหม ไปนิพพาน อันนี้ท่านไม่เรียกตัณหานะ มันตัวอยากเหมือนกัน ท่านเรียก ธรรมฉันทะ
มีความพอใจในธรรม พวกคุณต้องรู้ไว้ด้วยนะ เดี๋ยวพวกคุณจะไม่เข้าใจ ถามว่า ไอ้คำว่าอยากนี่มันเป็นตัณหา
ทีนี้อยากไปสวรรค์ อยากไปพรหมโลก อยากไปนิพพาน เป็นตัณหารึเปล่า ถ้าย่องไปตอบว่าเป็นตัณหาเข้านี่มันผิดจังหวะ ต้องระวังไว้ด้วยนะ
ต้องว่าอยากดีไม่ใช่อยากเลว เราอยากไปสวรรค์นี่ คนที่อยากไปสวรรค์เป็นเทวดาได้ ต้องอย่าลืมคุณ... ต้องมี "หิริ" และ "โอตตัปปะ" อายความชั่ว
เกรงกลัวผลของความชั่ว นี่มันดีหรือมันเลว อายความชั่วเราก็ไม่ทำชั่ว เกรงกลัวผลของความชั่วเราก็ไม่ทำชั่ว
ทีนี้จะถือว่าตัณหาเป็นกิเลสเลวไม่ได้ นี่เป็นตัวดี แต่เป็นตัวดีก้าวที่ ๑ อย่าไปนึกว่าแค่สวรรค์นี่เป็นกามาวจร ยังมีผัวมีเมีย มีผู้หญิงผู้ชาย
แล้วอย่าลืมว่าสวรรค์เป็นก้าว ก้าวหนึ่งที่จะเข้าถึงพระนิพพาน ดีกว่าเราก้าวลงนรก...."
***********************