ตามรอยพระพุทธบาท

(ตอนที่ 29 ย่างกุ้ง) เล่าเรื่องการเดินทางไปเมืองพม่า 14 มกราคม -11 กุมภาพันธ์ 2561
webmaster - 8/3/18 at 16:23

@ ตอนที่ 29-47/1
http://www.tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=1051
@ ตอนที่ 47/2
http://www.tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=1053

สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)

[01]
ตอนที่ ๑ สมเด็จพระมหาสังฆนายกแห่งพม่า
[02] ตอนที่ ๒ สรุปสถานที่สำคัญทั้งประเทศพม่า
[03] ตอนที่ ๓ การจัดอันดับ "ที่สุด" ในทริปนี้
[04] ตอนที่ ๔ สรุปค่าใช้จ่ายในทริปนี้
[05] ตอนที่ ๕ เริ่มต้นการเดินทาง (วันแรก)
[06] ตอนที่ ๖ (จุดที่ 1) พระเจดีย์ไจ้ตาลาน (Kyeik thanlan)
[07] ตอนที่ ๗ (จุดที่ 2) เกาะแชมพู (Shampoo Island)
[08] ตอนที่ ๘ (จุดที่ 3) พระเจดีย์อูซีนะ (UZina)
[09] ตอนที่ ๙ (จุดที่ 4) พระเจดีย์ไจ้เติ๊ก
[10] ตอนที่ ๑๐ (จุดที่ 5) พระเจดีย์ไจ้มุป่อง
[11/1] ตอนที่ ๑๑/๑ (จุดที่ 6) พระเจดีย์ไจ้มะยอว์
[11/2] ตอนที่ ๑๑/๒ (จุดที่ 6) พระเจดีย์ไจ้มะยอว์
[12] ตอนที่ ๑๒ (จุดที่ 7) วัดวินเซนตอยะ (วัดพระนอนใหญ่)
[13] ตอนที่ ๑๓ (จุดที่ 1) พระเจดีย์กันยี
[14] ตอนที่ ๑๔ (จุดที่ 2) พระใหญ่บ้านลิตัก
[15] ตอนที่ ๑๕ (จุดที่ 3) พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ ละมาย
[16] ตอนที่ ๑๖ (จุดที่ 4) รอยพระพุทธบาทเกาะกูด
[17] ตอนที่ ๑๗ (จุดที่ 5) พระพุทธรูปลอยน้ำไจ้คามี
[18] ตอนที่ ๑๘ (จุดที่ 1) พระเจดีย์นอว์ละบู
[19] ตอนที่ ๑๙ พระเจดีย์ซินไจ้
[20] ตอนที่ ๒๐ พระเจดีย์ชเวซายาน
[21] ตอนที่ ๒๑ พระเจดีย์แมลัน
[22] ตอนที่ ๒๒ พระเจดีย์กุสินาเยา
[23] ตอนที่ ๒๓ พระเจดีย์ยะติต่อง
[24] ตอนที่ ๒๔ พระเจดีย์ไจ้ทีโย
[25] ตอนที่ ๒๕ พระพุทธรูปไจ้ปอลอ
[26] ตอนที่ ๒๖ พระเจดีย์ชเวมอดอว์
[27] ตอนที่ ๒๗ พระนั่งไจ้ปุ่น, พระนอนชเวต้าละยอง
[28] ตอนที่ ๒๘ พระเจดีย์เมระมุ, ไจ้คาซาน

[29] ตอนที่ ๒๙ พระนอนเฉ้าทัตยี

[ ตอนที่ 1 ]

(Update 8 มีนาคม 2561)


สมเด็จพระมหาสังฆนายกแห่งพม่า
เยือน "วัดท่าซุง" อย่างเป็นทางการ

...ตามที่ สมเด็จพระมหาสังฆนายก ( สมเด็จพระสังฆราช ) แห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ได้เสด็จเยี่ยมเยียน "วัดท่าซุง" อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 เวลา 14.00 น.


เช้าวันนี้ (7 มี.ค.61) ที่สนามบินดอนเมือง ด้วยการส่งพระสังฆนายก
ประมุขแห่งสงฆ์ สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ กลับมาตุภูมิ
พร้อมทั้งเชิญภาพ "หลวงพ่อพระราชพรหมยาน" (ที่ท่านเจ้าอาวาสวัดท่าซุงถวาย)
อธิบายภาพจากเฟซบุคโดย - Phongthawach Chantabul และ ดร.ศุภาชัย ผ่องสวัสดิ์
(ตามภาพจะเห็นท่านนำหนังสือ "ตามรอย" กลับไปด้วย)


...เนื่องในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ถวายหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่มที่ 4 และหนังสือเล่มเล็กอีก 1 เล่ม ซึ่งรวบรวมรายชื่อพุทธสถานที่สำคัญของพม่าและประเทศอื่นๆ ไว้ทั้งสิ้น

โดยวางจำหน่ายที่ "วิหารสมเด็จองค์ปฐม" วัดท่าซุง และ "บ้านสายลม" เล่มใหญ่ 1 - 4 ราคาเล่มละ 200 บาท ส่วนเล่มเล็ก ราคาเล่มละ 50 บาท (ไม่รวมค่าจัดส่ง) ท่านได้รวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง แต่ละจังหวัด แต่ละประเทศ รวม 4 หมวด คือ

1. พระมหาธาตุเจดีย์
2. พระพุทธบาท
3. พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
4. ต้นศรีมหาโพธิ์


...ผู้ใดที่สนใจหาซื้อได้ตามที่แจ้งนี้ เล่มใหญ่ไว้อ่านรายละเอียด ดังนี้
- เล่มที่ 1 เล่าเรื่องพร้อมประวัติสถานที่สำคัญบางแห่งในประเทศไทย
- เล่มที่ 2 เล่าเรื่องไปสิบสองปันนา ประเทศจีน
- เล่มที่ 3 เล่าเรื่องไปกัมพูชา
- เล่าที่ 4 เล่าเรื่องไปประเทศต่างๆ เช่น พม่า, ศรีลังกา, เวียดนาม, จีน เป็นต้น

ส่วนเล่มเล็กไว้ติดตัวเป็นคู่เมือการเดินทาง พกง่ายสะดวกในการค้นหา จะไปจังหวัดไหนก็ไปกราบไหว้ตามลายแทงนี้ได้เลย ท่านต้องใช้เวลานานถึง 25 ปี กว่าจะรวบรวมมาได้ทั่วชมพูทวีปค่ะ



...ฉะนั้น เนื่องในวโรกาสอันดีและเป็นสิริมงคลแก่วัดท่าซุงเป็นอย่างยิ่ง ที่สมเด็จพระมหาสังฆนายก ( สมเด็จพระสังฆราช ) เสด็จมาเยือนในครั้งนี้ จึงขออนุญาตเล่าเรื่องการเดินทางไปพม่ากันทั้งประเทศเลย พระอาจารย์ชัยวัฒน์บอกว่า

นับเป็นการเดินทาง "ตามเก็บ" หมายถึงท่านเคยไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังตกค้างอยู่หลายแห่ง โดยเริ่มเดินทางครั้งแรกเมื่อปี 2539, 2543, 2545, 2549, 2553 จนถึงปีนี้ 2561 นับเป็นเวลาผ่านไปถึง 8 ปี กว่าจะได้ย้อนกลับไปอีกครั้งหนึ่ง

โดยเฉพาะในบั้นปลายของชีวิตของท่าน อยากจะได้ไปเสริมสร้างบารมีอีกสักครั้ง เป็นการไปให้ครบถ้วนทุกแห่งในพม่า ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง ตะวันตก เหนือ และ ตะวันออก ในขณะที่ท่านทำโปรแกรมการเดินทางนั้น ปรากฏว่ายังมีสถานที่ที่ยังไม่ได้ไปอีกหลายแห่ง

แต่ต้องเดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน ท่านจึงเรียกทริปนี้ว่า "ทริปผู้เกษียณวัย" เพราะใครที่ยังทำงานอยู่คงไม่สามารถลางานได้หลายวัน


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)

วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561

...ท่านผู้จัดจึงตั้งชื่อว่า.. "Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน) ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561" โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเดินทางชี้เป้าและนำทาง นั่นก็คือ Google Map เพื่อบอกระยะทางได้ทั้งประเทศ พร้อมทั้งกำหนดวันและเวลาการเดินทางได้สะดวก

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า พระอาจารย์ชัยวัฒน์ตั้งกำหนดวันกลับเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเป็นการบังเอิญที่ลงตัวพอดีกับที่หลวงพ่อท่านเจ้าคุณ "พระราชภาวนาโกศล" มรณภาพในตอนเช้ามืดของวันที่จะต้องกลับ

ซึ่งตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 ในขณะที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์พักอยู่ที่เมืองมะละแหม่ง อันเป็นวันสุดท้ายของการเดินทางทริปนี้ ท่านกำลังจัดกระเป๋าเพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับพอดี เหมือนกับหลวงพ่อท่านเจ้าคุณฯ โปรดเมตตารอจนถึงวันกลับ นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์จริงๆ

ส่วนที่พระอาจารย์ต้องปิดข่าวการเดินทางนั้น เป็นเพราะต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะครบถ้วน และเป็นการถือเคล็ดด้วย แต่ก็โชคดีที่การเดินทางไปได้ครบทุกแห่งตามรายการ จึงต้องขออภัยทุกท่านแทนพระอาจารย์ชัยวัฒน์ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย..สวัสดีค่ะ


ทีมงานฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 8/3/18 at 17:37

[ ตอนที่ 2 ]

(Update 10 มีนาคม 2561)


สรุปสถานที่สำคัญทั้งประเทศพม่า


...สำหรับการเดินทางทริปนี้ โดยการเช่ารถตู้ 2 คัน จาก "อองซูทัวร์" แม่สอด ผู้โดยสารจำนวน 13 คน (+ 2 คน ไปพบระหว่างทาง = 15 คน)

เริ่มต้นออกทางชายแดนผ่านด่าน "แม่สอด - เมียวดี" แล้วย้อนกลับทางเดิม โดยเริ่มต้นวันแรกที่ "มะละแหม่ง" แล้วลงไปทางใต้ถึง "เมืองละมาย" จังหวัดเย แล้วย้อนกลับขึ้นมาถึง "ย่างกุ้ง"

จากนั้นขึ้นไปทาง "เมืองแปร" (วนขวาทำประทักษิณของประเทศด้วย) ขึ้นเหนือไปถึงทะเลสาบ "อินดอว์ยี" เมืองมิตจิน่า แล้วย้อนกลับลงมาที่ "เมืองมัณฑเลย์" จึงขอแบ่งเป็นแต่ละภาคเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้ (กรุณาดูแผนที่ประกอบด้วย)


@ 1. ภาคใต้
- มะละแหม่ง - ละมาย (รอยพระพุทธบาทเกาะกูด) - ไจ้คามี - มุด่อง - สะเทิม - ไจ้ทีโย -
- (ยกเว้น เมืองเย - ทวาย - มะริด - ตะนาวศรี ที่อยู่ทางใต้สุดนี้เคยไปมาแล้ว)

@ 2. ภาคกลาง
- หงสาวดี - ย่างกุ้ง - แปร

@ 3. ภาคตะวันตก
- รอยพระพุทธบาท ชเวเซทตอว์ มินบู - มร็อกอู (ยะไข่) - พุกาม - โมนยวา - อลองดอว์กัสสปะ (ถ้ำพระมหากัสสปะ)

@ 4. ภาคเหนือ
- ชเวโบ - ทะเลสาบอินดอว์ยี (เมืองมิตจิน่า)

@ 5. ภาคตะวันออก
- มัณฑเลย์ - พินอูลวิน - สีป้อ - รถไฟสายก๊อกเทค (Gokteik) - ทะเลสาบอินเล - ตองยี

@ 6. ภาคพิเศษ
- เนมิดอว์ - ตองอู - สิเรียม - ดาลา - พะสิม - มอว์ตินซุน - บีเลน - พะอ่าน - เมียวดี


....สรุปการเดินทาง 29 วัน หลังจากกลับมาแล้ว รวมสถานที่สำคัญได้ 134 แห่ง (เฉพาะที่ต้องการไปแค่ 95 แห่ง นอกจากนั้นไปพบระหว่างทาง)

ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญมาแต่โบราณ ได้แก่ พระพุทธรูป (อิริยาบถนั่ง ยืน นอน), พระเกศาธาตุ, พระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มีชื่อดังต่อไปนี้

1. พระพุทธรูปประทับนั่ง พระมหามุนี 2 องค์ คือ
- พระมหามุนี (องค์พี่ - อารกันมหามุนี) เมืองยะไข่
- พระมหามุนี (องค์น้อง) เมืองมัณฑเลย์

2. พระพุทธรูปลอยน้ำ 4 องค์ของพม่า คือ
- ไจ้คามี เมืองมะละแหม่ง
- ไจ้ปอลอ เมืองไจ้โท
- ไจ้มุทธอว์ เมืองพะสิม
- ชินมุที เมืองทวาย (เคยไปมาก่อนแล้ว)

3 พระพุทธรูปประทับนั่ง (พิเศษ)
- พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท วัดไจ้มะยอว์ เมืองมะละแหม่ง
- พระพุทธรูปนั่ง 4 ทิศ วัดไจ้ปุ้น เมืองหงสาวดี
- พระพุทธรูปแว่นทอง เมืองแปร
- พระพุทธรูปสมปรารถนา เมืองพุกาม
- พระพุทธรูปเจ้าตอว์ยี เมืองมัณฑเลย์
- พระพุทธรูปมากที่สุด 583,363 องค์ พระเจดีย์สัมพุทเธ เมืองโมนยวา

4. พระพุทธรูปประทับยืนใหญ่
- วัดโพธิตาต่อง (Maha BodhiTah Taung) เมืองโมนยวา

5. พระพุทธไสยาสน์ 3 แห่ง คือ
- เจาทัตยี (พระนอนตาหวาน) ย่างกุ้ง
- ชเวต้าละยอง (พระนอนยิ้มหวาน) หงสาวดี
- วัดเวนเซโตยะ (พระนอนใหญ่ที่สุดในพม่า) มะละแหม่ง

6. พระพุทธรูปที่มี "งู" อยู่ด้วย 3 แห่ง คือ
- วัดพญางู Snake Pagoda (ใกล้เมืองมัณฑเลย์)
- ศาลากลางน้ำ "กัมโบเม็งกะลา" บ้านต่องแต (Twante) เมืองดาลา (Dala อยู่ฝั่งตรงข้ามกับย่างกุ้ง)
- หงสาวดี (ไปเมื่อปี 2562)

7. พระเจดีย์บรรจุ “พระเขี้ยวแก้ว” ครบทั้ง 4 ทิศ ของเมืองพุกาม คือ
- ชเวซิก่อง,
- โลกะนันดา,
- ตันจิต่อง,
- ตุรินต่อง

8. พระเกศาธาตุ แห่งเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม)
- ไจ้ทิโย, ไจ้เกลาสะ, ไจ้ทีซอ, กุสินาโย, เมรัล, นอละบู, ซินไจ้, ซอยกะเปง,

9. สถานที่พบใหม่ คือ พระเจดีย์ชเวคาซาน เมืองย่างกุ้ง, ชเวนัทต่อง เมืองแปร, ยะติต่อง เมืองไจ้โท, ชเวบนทาร์, ไจ้เดโย เมืองบิเลน และมีที่หงสาวดีอีก 2-3 แห่ง เช่น ไจ้กลอนปอน เป็นต้น

10. พระเจดีย์ชเวซานดอว์ (พระเกศาธาตุ) ชื่อเดียวกันครบทั้ง 4 แห่ง คือ
- ชเวซานดอว์ เมืองพุกาม
- ชเวซานดอว์ เมืองแปร
- ชเวซานดอว์ เมืองตองอู
- ชเวซานดอว์ บ้าน Twante เมืองดาลา (อยู่ฝั่งตรงข้ามกับย่างกุ้ง)

11. รอยพระพุทธบาท 3 แห่ง คือ
- รอยพระพุทธบาท เกาะกูด เมืองละมาย จังหวัดเย
- รอยพระพุทธบาท ชเวเซทต่อว์ เมืองมินบู
- รอยพระพุทธบาท บนภูเขามัณฑเลย์

12. พระเจดีย์กลางน้ำที่สวยงาม 3 แห่ง คือ
- พระเจดีย์เยเลพญา (ไจ้หม่อวน) สิเรียม
- พระเจดีย์พองดอว์อู (พระบัวเข็ม) ทะเลสาบอินเล
- พระเจดีย์ชเวมิตซู ทะเลสาบอินดอว์ยี มิตจิน่า


(ภาพเปรียบเทียบ "พระเจดีย์กลางน้ำ" 3 แห่ง)


พระเจดีย์เยเลพญา (ไจ้หม่อวน) สิเรียม


พระเจดีย์พองดอว์อู (พระบัวเข็ม) ทะเลสาบอินเล


พระเจดีย์ชเวมิตซู ทะเลสาบอินดอว์ยี มิตจิน่า


ทีมงาน ฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 10/3/18 at 16:56

[ ตอนที่ 3 ]

(Update 12 มีนาคม 2561)


การจัดอันดับ "ที่สุด" ในทริปนี้


(ยามเช้าเมื่อปี 2553 พระเจดีย์ชเวมิตซู ทะเลสาบอินดอว์ยี เมืองมิตจิน่า)


(ยามบ่ายในปี 2561 หลังจากกลับไปถึง 8 ปี แล้วได้กลับมาบูรณะใหญ่อีก ชื่นใจเหลือเกิน)


1. สวยงามที่สุด - พระเจดีย์ชเวมิตซู ทะเลสาบอินดอว์ยี เมืองมิตจิน่า
2. ไปไกลที่สุด - พระเจดีย์มอดินซุน (พระเกศาธาตุ) เมืองพะสิม
3. เก่าแก่ที่สุด - พระเจดีย์มอดินซุน เมืองพะสิม (สร้างก่อนชเวดากอง)

4. ไปยากที่สุด - พระมหามุนีอารกัน เมืองยะไข่ (ต้องข้ามเทือกเขาอารกันโยมา)
5. ไปลำบากที่สุด - อลองดอว์กัสสปะ (ศพพระมหากัสสปะ) เมืองโมนยวา


(อลองดอว์กัสสปะ ต้องเช่ารถไปต่างหากแล้วนั่งช้างต่อไปอีกด้วย)

6. ตื่นเต้นที่สุด - รอยพระพุทธบาท ชเวเซทตอว์ เมืองมินบู (ต้องนอนกระต๊อบมืดๆ คืนนั้นไม่ได้อาบน้ำกันเลย)

7. โชคดีเป็นที่สุด - รอยพระพุทธบาท ชเวเซทตอว์ และ พิธีล้างพระพักตร์พระมหามุนี (ร่วมงานพิธีทั้งสองแห่ง ปรากฏว่าได้อยู่แถวหน้าชาวพม่านับร้อยนับพันคนที่นั่งรออยู่) - อลองดอว์กัสสปะ ได้นั่งช้างไปแบบบังเอิญ โดยไม่ต้องรอคิวเหมือนชาวพม่าทั่วไป

8. หวาดเสียวที่สุด (รถเกือบเฉี่ยวกัน) ระหว่างเมืองแปรไปพุกาม (มีคนเห็นภาพในอดีตว่าเคยเกิดที่นี่)

9. พระเกศาธาตุอยู่สูงชันที่สุด - พระเจดีย์ซินไจ้, นอละบู, กุสินาเยา, เมรัล, ไจ้เกลาสะ, ไจ้เดโย เมืองสะเทิม


(พระเจดีย์นอละบู (พันธุเสลา) สร้างก่อนพระเจดีย์ไจ้ทีโย 5 วัน เป็นผู้สร้างคณะเดียวกัน)

10. โหดที่สุด - เสียวที่สุด - เหวี่ยงที่สุด - สะบักสะบอมที่สุด - พระเจดีย์นอละบู (ต้องนั่งรถขนหมูขึ้นไป)

11. อัศจรรย์ที่สุด - พระเจดีย์เมรัล เมืองบีลิน (มีก้อนหินคล้าย "อินทร์แขวน" เป็นจำนวนมาก)

12. ผิดหวังเป็นที่สุด - พระเจดีย์ซอยกะเปง เมืองพะอ่าน (พระเกศาธาตุอยู่สูงถึง 700 เมตร ไม่สามารถเดินขึ้นไปได้)

13. ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด - พระเจดีย์ไจ้ตาลาน (บรรจุพระเกศาธาตุ และ พระทันตธาตุ) มะละแหม่ง (พระอาทิตย์ทรงกลดที่นี่)

14. ปาฏิหาริย์ที่สุด - เสริมพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น (ชื่อ Lay Kyune Satkyar Aung) บ.สาตะเพียน (Zar ta pyin) มะละแหม่ง (ได้พบกับหญิงชาวพม่าได้นิมิตบอกไว้ล่วงหน้าว่า วันนี้พวกเราจะมาทำบุญที่นี่)

15. นั่งรถไฟสายสุดเสียวที่สุด (Gokteik) เมืองพินอูลวิน
16. ประทับใจมากที่สุด - นั่งกระเช้าลอยฟ้า ที่พระธาตุอินทร์แขวน


(เลือกมุมที่สวยงามที่สุด บนเทือกเขาอารกันโยมา)

17. วิวสายงามที่สุด - เทือกเขาอารกันโยมา เมืองยะไข่
18. เหมือนที่สุด - หลวงพ่อไจ้ทีซอง เมืองบีลิน (ศพไม่เน่าเหมือนหลวงพ่อฯ วัดท่าซุง)


Credit : burmasite.blogspot.com


ภาพถ่ายเมื่อปี 2553 นับเป็นครั้งแรกที่ได้ทำบุญ
เป็นค่าแผ่นทองคำแท้ 1 แผ่น (550 ดอลลาร์) หุ้มพระเจดีย์ชเวดากอง


(ภาพนี้ปี 2561 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้ทำบุญบูรณะใหญ่อีกครั้งหนึ่ง)

19. ได้รับเกียรติเป็นที่สุด - ชเวดากอง (ประธานฯ ออกมารับเงินทำบุญจำนวน 1,165,000 จ๊าด ในห้อง VIP)

20. บังเอิญเป็นที่สุด - หวยออกเลขท้ายตรงกับจำนวนคน 15 คน และออกจำนวนวัน 29 วันด้วย (รางวัลที่หนึ่ง 309915 ออกงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561, และออกงวดวันที่ 2 มีนาคม 2561 รางวัลที่หนึ่ง 759415 เลขท้าย 29)

21. เมืองพม่าที่สะอาดเป็นที่สุด - เมืองตองยี (Taunggyi) และ พะสิม (Pathein)

22. เหลือเชื่อเป็นที่สุด - พระเจดีย์โบโบยี (Bawbawgyi) เมืองเก่าศรีเกษตร (Sri Ksetra) แปร (หลงทางเข้าไปในเขตอุทยานเมืองเก่า ได้พบกับหัวหน้าช่างซ่อมพระเจดีย์พอดี จึงได้ทำบุญร่วมซ่อมโดยไม่น่าเชื่อ)

23. แปลกที่สุด - ไฟดับเอง 3 ครั้ง (ดับแป๊บเดียวนะ) ที่พักบ้านมุด่อง มะละแหม่ง, ร้านอาหารในตลาดหงสาวดี, วัดพองดอว์อู (ในขณะที่พระอาจารย์เล่าเรื่องประวัติพระบัวเข็มองค์เล็ก คือองค์ที่ 5)

24. พบใหม่มากที่สุด (พระเกศาธาตุ, พระทันตธาตุ)
- 1 พระเจดีย์ชเวคาซาน เมืองย่างกุ้ง (พระเกศาธาตุ 7 เส้น),
- 2 พระเจดีย์บ้านคามู เมืองย่างกุ้ง (ระหว่างสร้างชเวดากอง อัญเชิญ "พระเกศาธาตุ" มาหยุดพักที่นี่ก่อน)
- 3 ชเวนัทต่อง เมืองแปร (พระเกศาธาตุ 1 เส้น),
- 4 ยะติต่อง (อยู่บนยอดเขาใกล้พระเจดีย์ไจ้ทิโย) เมืองไจ้โท (พระเกศาธาตุ 1 เส้น),
- 5 ไจ้เกลาสะ เมืองบีเลน (พระเกศาธาตุ 1 เส้น)
- 6 *ชเวบนทาร์ เมืองบีเลน (พระเกศาธาตุ 1 เส้น)
- 7 ไจ้เดโย เมืองบีเลน (พระเกศาธาตุ 1 เส้น)
- 8 โซกะลิซานดอว์เซน เมืองบีเลน (พระเกศาธาตุ)
- 9 พระเจดีย์บอบอยี อุทยานแห่งชาติศรีเกษตร เมืองแปร
- 10 พระเจดีย์ Shwe Moke Daw (ปะโคะกู) ใกล้พุกาม

- 11 พระเจดีย์ Maw Daw Myin Thar เมืองชเวโบ
- 12 พระพุทธรูปเจ้าตอว์ยี (เก่า) เมืองมัณฑเลย์ (อยู่ใกล้วัดงู)
- 13 พระพุทธรูปเจ้าตอว์ยี (ใหม่) เมืองมัณฑเลย์ (อยู่ในเมือง)
- 14 พระเจดีย์ Shwe Kyat Yat อมรปุระ (สร้างสมัยพระเจ้าอโศก)
- 15 พระเจดีย์ไจ้กะวะ เมืองหงสาวดี (พระทันตธาตุ)
- 16 ไจ้มะกอว์ซานดอว์เซน เมืองหงสาวดี (พระเกศาธาตุ)
- 17 ไจ้มุกะนิงซานดอว์เซน เมืองหงสาวดี (พระเกศาธาตุ)
- 18 ธรรมไต้เจดีย์ซานดอว์เซน เมืองหงสาวดี (พระเกศาธาตุ)
- 19 เต็งสะยัต เมืองหงสาวดี (พระเกศาธาตุ)
- 20 ไจ้กลอนปอน เมืองหงสาวดี (พระเกศาธาตุ)
- 21 ไจ้กะตา เมืองหงสาวดี (พระทันตธาตุ) ยังไม่ได้ไป
- 22 *ชเวบนทาร์ (เดิมชื่อ Kyaik kaw) บ้าน Theinzeik
- 23 ชเวกูนี่ (Shwe GuNi) บ้านเฉ้าคา (Kyaukka) เมืองโมนยวา (Monywa)

25. แสนรู้ที่สุด - ช้างที่ "อลองดอว์กัสสปะ" ก้มลงกราบพระอาจารย์เอง
26. เสียความรู้สึกที่สุด - เจ้าหน้าที่ตามเก็บเงินค่าเข้าชม (บางแห่ง) ทั้งๆ ที่พวกเราทำบุญมากกว่านั้นเสียอีก

27. ปลื้มปิติที่สุด - วันที่จะกลับจากย่างกุ้ง มีหยดน้ำลงมาจากฟ้า 1 หยด, วันเดินทางกลับจากมะละแหม่งก็เช่นกัน ตอนเช้ามีหมอกลงหนามากตลอดทางจนกระทั่งสาย


28. ทำบุญมากที่สุด
- (1) พระเจดีย์ชเวบอดี้ - ทะเลสาบอินเล (สร้างใหม่อลังการ) ทำบุญ 5,000,000 จ๊าด (ถวายเครื่องประดับด้วย)

- (2) พระมหามุนี - มัณฑเลย์ (พระวิหารหุ้มฉัตรใหม่ด้วยทองคำแท้) ทำบุญ 3,231,500 จ๊าด


- (3) พระเจดีย์ชเวมิตซู - ทะเลสาบอินดอว์ยี (ซ่อมใหม่ทั้งหมด) ทำบุญ 1,243,000 จ๊าด

- (4) พระเจดีย์ชเวดากอง - ย่างกุ้ง (ซ่อมพระเจดีย์และบริวารโดยรอบ) ทำบุญ 1,165,000 จ๊าด

- (5) พระเจดีย์มอดินซุน - พะสิม (ซ่อมเจดีย์และฉัตร) ทำบุญ 1,160,000 จ๊าด

- (6) พระเจดีย์โลกะนันดา - พุกาม (ซ่อมเจดีย์ และ หุ่มฉัตรใหม่ด้วยทองคำแท้) ทำบุญ 1,000,000 จ๊าด (ถวายเครื่องประดับด้วย)

- (7) พระมหามุนี - ยะไข่ (พระวิหารทำฉัตรใหม่) ทำบุญ 995,000 จ๊าด (ถวายเครื่องประดับด้วย)

- (8) พระพุทธรูป (ลอยน้ำ) ไจ้ปอลอ - เมืองไจ้โท (พระวิหารทำฉัตรใหม่) ทำบุญ 569,000 จ๊าด (ถวายเครื่องประดับด้วย)

- (9) เสริมพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น (ชื่อ Lay Kyune Satkyar Aung) - บ.สาตะเพียน มะละแหม่ง ทำบุญ 379,000 จ๊าด (ถวายเครื่องประดับด้วย)


....การจัดอันดับ "ที่สุด" คงจะพอสรุปได้แค่นี้ กรุณาติดตามตอน "สรุปค่าใช้จ่ายทริปนี้" ทั้งหมดว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่..สวัสดีค่ะ

ทีมงานฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 12/3/18 at 08:09

[ ตอนที่ 4 ]

(Update 15 มีนาคม 2561)


สรุปค่าใช้จ่ายในทริปนี้


....สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากผู้เดินทาง 15 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,276,848 บาท (เป็นเงินพม่ารวม 52,829,357 จ๊าด) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 29 วัน เงินไทย 520,799 บาท (เป็นเงินพม่า 21,589,414 จ๊าด)
- ค่าเช่ารถตู้, ค่าน้ำมัน, ทิปคนขับรถ
- ค่าเข้าชม (บางแห่ง) จ่ายเป็นดอลลาร์
- ค่าผ่านด่าน
- ค่าที่พัก และ ค่าอาหาร (ร้านอาหาร + เตรียมเสบียงไปเองด้วย)
- ค่าทำวีซ่า
- ถวายสังฆทาน 6 ชุด ก่อนออกเดินทาง เพื่อขอให้ท่านช่วยในการเดินทาง และช่วยเรื่องสุขภาพด้วย)

2. เงินทำบุญรวม 134 แห่ง เงินไทย 695,859 บาท + ถวายพระสังฆราชพม่ามาที่วัดท่าซุง 40,000 จ๊าด (เป็นเงินพม่า 28,794,213 จ๊าด)

- นับเป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสดังนี้ คือ
บูรณะ (พระพุทธรูปใหญ่, พระสาวก, พระเจดีย์และฉัตร, พระวิหาร)
สร้างใหม่ (พระพุทธรูปใหญ่, พระสาวก, พระเจดีย์และฉัตร, พระวิหาร)
นับว่าเป็นการบังเอิญเกือบทุกแห่ง ที่เรียกกันว่า "บุญจัดสรร" นั่นเอง

3. ค่าเครื่องบูชา เงินไทย 59,190 บาท (เป็นเงินพม่า 2,445,730 จ๊าด)
- พานบายศรี,
- ฉัตรเงินฉัตรทอง,
- พุ่มเงินทอง,
- แก้วมณี และหินหลายหลากสี
- น้ำหอม, แผ่นทองคำเปลว
- ผ้าสไบทอง (ปักชื่อคณะตามรอยด้วย)
- ผ้าห่มพระพุทธรูป
- ย่ามถวายพระชาวพม่า


- อัตราแลกเปลี่ยน (พม่า) เมื่อ 13 ม.ค.61 แลกที่เมียวดี 1 บาท : 41.32 จ๊าด
- อัตราแลกเปลี่ยน (ดอลลาร์) แลกที่กรุงเทพ 1 ดอลลาร์ : 32.65 บาท


พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำเงินที่ญาติโยมเคยถวายส่วนองค์ ร่วมทำบุญในครั้งนี้ประมาณ 300,000 กว่าบาท ทั้งที่เคยใส่ย่ามกับท่าน หรือที่โอนเงินเข้าบัญชีก็ดี และผู้ที่ร่วมเดินทางด้วยกันก็ดี

จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันอนุโมทนา "มหาบารมี" โดยพร้อมเพรียงกัน เพราะการเดินทางในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นจังหวะที่ทางวัดกำลังบูรณะเกือบทุกแห่ง (ใบโมทนามีเยอะเหลือเกิน ขนกลับมาแทบไม่หมด)

โดยแบ่งถวายเป็น 2 ประเภท คือร่วม "บูรณะ" ตั้งต้นไว้ที่ 50,000 จ๊าดก่อน และเป็นค่า "แสงสว่าง" เป็นเงิน 20,000 จ๊าด เพื่อบูชาพระธาตุในยามค่ำคืน และถวายส่วนองค์พระชาวพม่าบ้าง (ทุกคนเตรียมเงินทำบุญทุกสกุล คือ เงินไทย, เงินพม่า, เงินดอลลาร์ ไว้พร้อม)

แต่การเดินทางบางแห่งเต็มไปด้วยความยากลำบากและเสี่ยงภัยอันตราย เนื่องจากเป็นทางขึ้นเขาและมีสภาพขรุขระ ถนนบางแห่งเป็นหลุมเป็นบ่อทั้งนั้น

แต่สถานที่เหล่านี้ก็ดี หรือคนพม่าหรือคนมอญก็ดี โดยเฉพาะคนขับรถตู้ของเรา 2 คน ต่างก็มีอัธยาศัยใจคอดี ชาวพม่า และชาวมอญ ชาวกะเหรี่ยง หรือชาวไทยใหญ่ จึงชอบเข้าวัดไหว้พระและนั่งสวดมนต์กันมาก

สถานที่แต่ละแห่งก็มีความสวยงามประทับใจ แต่จะมีความตื่นเต้นเร้าใจขนาดไหน โปรดติดตามชมภาพและอ่านเรื่องราว โดยจะเริ่มเล่าที่ "เมืองมะละแหม่ง" ก่อน แล้วลงไปทาง "ภาคใต้" ของพม่ากันต่อไปนะคะ..สวัสดีค่ะ


ทีมงานฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 13/3/18 at 08:27

[ ตอนที่ 5 ]

(Update 20 มีนาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561


(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม 2561 (แม่สอด - เมียวดี - มะละแหม่ง - มุด่อง)

เริ่มต้นการเดินทางจาก เมียวดี - มะละแหม่ง
...เช้าตรู่วันแรกของการเดินทาง พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต และ "คณะตามรอยพระพุทธบาท" ทั้งหมด 13 ชีวิต ได้ออกเดินทางจากแม่สอดด้วยรถตู้ 2 คัน

โดยมีคุณอองซู และคุณปุ้ย สองสามีภรรยา เจ้าของรถตู้ช่วยทำเอกสารผ่านแดนที่ ด่านตม.แม่สอด-เมียวดี โดยมีจุดหมายแรกที่เมืองเมาะละแหม่ง (Mawlamyine) หรือ มะละแหม่ง - เมาะลำไย - เมาะลำเลิง เมืองหลวงของรัฐมอญ

เวลาประมาณ 07.45 น. ตามเวลาพม่า (ช้ากว่าไทยครึ่งชั่วโมง) คณะตามรอยฯ ก็ได้ออกเดินทางจากด่านเมียวดี วิ่งไปตามถนนสาย เมียวดี-มะละแหม่ง (มีทางแยกไปพะอ่านก็ได้) ซึ่งเป็นทางเลียบเขาอันคดเคี้ยว แต่ไม่สูงมากนัก

รถตู้ 2 คันวิ่งผ่านเมืองเก๊าะกะแล๊ต (Kyaut ka Latt) ช่วงแรกนี้สภาพถนนดีตลอด เพราะคนไทยไปสร้างไว้ แต่หลังจากนั้นก็ต้องเจอสภาพที่กำลังทำถนนยาวตลอด

ระยะทางจากเมียวดีไปมะละแหม่งประมาณ 168 กิโลเมตร สิ่งแรกที่ต้องเจอ เมื่อผ่านเข้าเขตชนกลุ่มน้อย นั่นก็คือ "ด่านเก็บค่าผ่านทาง" ที่ตั้งอยู่เป็นระยะๆ และต้องเจอ "ด่านพม่า" ทั้งประเทศตลอดการเดินทางครั้งนี้

พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ใช้โปรแกรม Google Map ในการวางแผนการเดินทางในครั้งนี้ ทำให้การเดินทางไปแต่ละที่ค่อนข้างรวดเร็ว และสะดวก

ด้วยการใช้วิธี "แชร์" โปรแกรมเส้นทางกันในโทรศัพท์มือถือ (Line) ส่วนซิมพม่าพวกเราก็ได้เตรียมซื้อไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว พร้อมทั้งแลกเงินจ๊าดไว้พร้อม่เช่นกัน

ฉะนั้น การเดินทางครั้งนี้ได้มีการเตรียมเครื่องนอนครบชุด พร้อมเสบียงอาหารเช่น "มาม่า" เป็นต้น อีกทั้งยังเตรียมเครื่องครัวย่อยๆ เช่น หม้อหุงข้าว, กระติกน้ำร้อน, เตาแก๊สปิคนิค, ข้าวสาร และอาหารข้าวต้มสำหรับพระอาจารย์ไปด้วย

แต่พวกเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการกินการอยู่ ขอเพียงแต่อาหารไม่เป็นพิษก็พอ (แต่วันแรกๆ บางคนก็ท้องเสียเหมือนกัน) หรือสถานที่พักแค่ซุกหัวนอนก็พอ เรามุ่งเน้นแต่เรื่องทำบุญเป็นสำคัญ

เดิมคิดว่าพม่ายังไม่ค่อยเจริญ แต่พอไปถึงที่ไหนได้ เขามีพร้อมเกือบทุกอย่างแล้ว เสบียงที่ขนไปเต็มรถ โดยเฉพาะลูกอมขนมเด็ก แจกกันไประหว่างทางอย่างทั่วถึงกัน

เรื่องเสบียงทั้งหลายนี่เป็นภาระใหญ่ ซึ่งต้องตื่นมาจัดกันทุกเช้า จนใกล้วันกลับก็ยังเหลืออีกเยอะแยะ จึงถวายวัดระหว่างทางบ้าง แจกคนยากจนและเด็กๆ บ้าง อีกทั้งให้คนขับรถตู้ 2 คนของเราด้วย

นอกจากนี้ยังมีการลงฃันร่วมกันเป็นค่าใช้จ่ายกองกลาง ในเรื่องอาหารและที่พัก อีกทั้งแบ่งเงินทำบุญใส่ซองไว้พร้อมทำบุญประมาณ 100 แห่ง ทั้งค่าบูรณะ และค่ากระแสไฟฟ้าบูชาพระธาตุด้วย

ส่วนใครจะเติมตอนหลังอีกก็ได้ (ยิ่งถ้าได้เห็นนั่งร้านขึ้นรายรอบพระเจดีย์ อย่างน้อยตัวเลขต้อง 1 ล้านจ๊าดเป็นหลัก ถือว่า "เป็นบุญจัดสรร..เทวัญอนุเคราะห์" เนื่องจากไม่ได้นัดหมาย หรือรู้จักกันมาก่อน)

เพราะพวกเราไปหวังบุญเต็มที่ นอกเหนือจากการกราบไหว้แล้ว บุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือการได้บูรณะ เพราะมีอานิสงส์เหมือนกับได้สร้างนั่นแหละ ช่วยให้บารมีเต็มไปนิพพานได้เร็วพลัน

พระอาจารย์ชัยวัฒน์จึงได้แบ่งหน้าที่ของแต่ละคนไว้ด้วย เช่นในด้านอาหาร, ติดต่อที่พัก, เติมน้ำมันรถ, บันทึกข้อมูล, ถ่ายภาพและวีดีโอ และดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยใช้วิทยุสื่อสารติดต่อกันด้วย

สิ่งที่สำคัญท่านจะเน้นเรื่องการตรงต่อเวลานัดหมายทุกครั้ง (ส่วนเรื่องชุดแต่งกายเป็นเรื่องของโยมเอง) ก่อนเดินทางพระอาจารย์บอกให้เอากระเป๋ากันไปคนละ 1-2 ใบ

แต่พอไปถึงแล้วท่านคงแปลกใจว่า ทำไมโยมถึงแต่งตัวไม่ซ้ำกันแต่ละวัน อิอิ..เป็นความลับคะ..พระอาจารย์.. สวัสดีค่ะ


ทีมงานฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 13/3/18 at 08:52

[ ตอนที่ 6 ]

(Update 25 มีนาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561



(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 (ไจ๊ตาลาน - เกาะแชมพู)

(จุดที่ 1) #พระเจดีย์ไจ้ตาลาน (Kyeik thanlan)

...ในระหว่างทางขบวนรถได้วิ่งผ่านวัด "หลวงพ่อธัมมิยะ" (ออกเสียงพูด "ตัมมิยะ") พระมหาเถระที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือกันมาก แต่ปัจจุบัน ท่านได้มรณภาพไปแล้ว

ซึ่งเมื่อครั้งที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์มาเมื่อหลายปีก่อน ก็ได้เคยกราบนมัสการและถวายทานกับท่านมาแล้ว โดยเฉพาะการกล่าวคำถวายทาน ท่านได้แนะนำให้ต่อท้ายด้วยคำว่า "นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ"


...ตามกำหนดการเดินทางที่ท่านเตรียมไว้ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้แจกให้พวกเราทุกคน โดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อนเลยว่า ท่านจะนำไปสถานที่ใดบ้าง

พวกเราเพิ่งจะรู้ล่วงหน้าก่อนเดินทางเพียงวันเดียวเท่านั้น โดยท่านจะแจ้งให้ทราบไปทาง "Line กลุ่ม" ในตอนเช้ามืดของทุกวัน ท่านจึงให้ชื่อการเดินทางครั้งนี้ให้ถูกกับกาลสมัยว่า

"..Travel Online.." หมายความว่า ผู้ร่วมเดินทางสามารถ "แชร์" เส้นทางและข้อมูลการเดินทางด้วยกันตลอดเวลา

โดยเฉพาะการที่ท่านจะต้องเดินทางช่วงคาบเกี่ยวกับการไปไหว้ "พระธาตุจอมกิตติ - พระธาตุดอยตุง" นั้น ท่านบอกว่ามีความจำเป็นต้องงดการเดินทางในปีนี้

เพราะจะต้องไปร่วมงาน Festival คืองานเทศกาลฉลอง "รอยพระพุทธบาท ชเวเซทตอว์" เมืองมินบู ในวันที่ 21 มกราคม 2561


เนื่องจากรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ น้ำในแม่น้ำที่อยู่ด้านหน้ามณฑป จะท่วมขึ้นมาถึงรอยพระพุทธบาททุกปี ปีหนึ่งจึงจะมีงานเทศการไหว้พระบาทกันครั้งหนึ่ง


ซึ่งจะทำพิธีเปิด (พระอาจารย์เคยไปร่วมพิธีเปิดเมื่อปี 2553 ท่านเล่าว่าเขาจัดงานได้ยิ่งใหญ่มาก จำนวนคนนับพันคน พระภิกษุเป็นจำนวนร้อย ร้านค้าเต็มไปหมด กระต๊อบที่พักก็เรียงรายไปตามริมแม่น้ำ)


พิธีเปิดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม จนถึง วันที่ 17 เมษายน 2561 ทางวัดจึงจะนำฝาครอบปิดรอยพระพุทธบาทไว้ไม่ให้เห็น แล้วจะทำอย่างนี้ไปเป็นประจำทุกปี แต่ละปีเขาจะกำหนด "วันเปิด" ไว้ล่วงหน้า โดยประกาศไปทางเว็บไซด์ท่องเที่ยวของพม่า


...จึงขอเล่าเรื่องกันต่อไปว่า หลังจากแวะฉันเพลที่ร้านอาหารพื้นเมืองริมถนนแล้ว ก็ออกเดินทางต่อ ไปถึงเมืองมะละแหม่งในช่วงบ่าย เดิมหลวงพี่จะไปลงเรือที่ "เกาะแชมพู" ก่อน แต่ปรากฏว่าเขาห้ามผ่านกำลังทำถนนพอดี

พระอาจารย์จึงบอกว่า สงสัยเราจะต้องไปกราบไหว้สถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองก่อน เพราะฉะนั้น จุดหมายแรกที่อยู่ในเมือง นั่นก็คือ พระเจดีย์ไจ๊ตาลาน (Kyaik Thalan Phayar)

Phayar หรือ Paya (พญา) ในภาษาพม่า หมายถึง พระเจดีย์ (Pagoda) บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระทันตธาตุ" เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมะละแหม่งมาแต่ครั้งโบราณ (อ้างอิงตาม "ตำนานพระทันตธาตุ" ในรัฐมอญว่ามี 10 แห่ง)

ตามประวัติเล่าว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1418 (ค.ศ.875) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อว่า "ไจ๊ซานลาน" แปลว่า "เจดีย์สยามพ่าย" ถือเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นที่สุดของเมืองมะละแหม่ง

องค์พระเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงเด่นเป็นสง่า มองเห็นได้แต่ไกล แถมเวลาจะขึ้นก็ทันสมัยด้วย คือมีลิฟท์ช่วยอำนวยความสะดวกอีก ตามตำนาน (พม่า) เล่าว่า เมื่อกองทัพไทยไปตีพม่าแล้วเกิดท้าทายให้สร้างเจดีย์แข่งกัน

พม่าใช้โครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวหลอกทหารไทย จนทหารไทยพ่ายแพ้ต้องถอยทัพกลับเมืองไทย ส่วนเจดีย์ที่กองทัพไทยสร้างค้างเอาไว้แค่ครึ่งองค์นั้น ต่อมาพม่าได้กลับมาบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์ดังเช่นในปัจจุบัน

พระเจดีย์ไจ้ตาลาน บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระทันตธาตุ" ตามประวัติบอกว่า สมัยที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่ไจ้ทิโย ก็ได้เสด็จต่อมา ณ ที่แห่งนี้ด้วย

แล้วพระพุทธองค์ได้ประทานเส้นพระเกศา 1 เส้น หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว "พระควัมปติ" ก็ได้อัญเชิญ "พระทันตธาตุ" จำนวน 33 องค์ มาบรรจุไว้บริเวณเมืองนี้ และได้แบ่งบรรจุไว้ที่นี่ จำนวน 1 องค์

- ความรักของสาวมะเมียะ (พ.ศ.2430 - 2505)

นอกจากนี้ยังมีตำนานอื่นๆ ที่น่าสนใจ หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินบทเพลง “มะเมี๊ยะ” ของคุณจรัล มโนเพชร ที่เล่าโศกนาฏกรรมความรักต่างชนชั้น ระหว่างสาวพม่ากับเจ้าราชบุตรเชียงใหม่ (เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่)


ที่จบลงด้วยการพลัดพราก สาวมะเมี๊ยะจึงบวชเป็นแม่ชีที่วัดไจ้ตาลานแห่งนี้ ดังคำกล่าวว่า "..ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ก็คงไม่ผิดนัก.."

@ อ่านเรื่องราวได้ที่นี่ https://th.wikipedia.org/wiki/มะเมียะ


ภาพจาก OKNation.Net. กู่หรือที่เก็บอัฐิ เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่ ที่วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ ..เจ้าของตำนานรักทางฝั่งไทย


ภาพ "มะเมียะ" จากเว็บไทยวิกิพีเดีย แม้ว่าผู้ว่าเขียนภาพนี้ อาจจะเคยเห็น "มะเมียะ" มาก่อนก็ตาม การศึกษาวิจัยไม่พบว่ามีหญิงสาวชื่อ "มะเมียะ" จึงเข้าใจว่าจะเป็นชื่อที่ผู้เขียนเรื่องนี้ตั้งขึ้นมาใช้ ส่วน "มะเมียะ" ตัวจริงอาจเป็นอีกบุคคลหนึ่ง (ขอบคุณข้อมูลจาก - manager.co.th)

...ต่อจากนั้นจึงได้ร่วมทำบุญกับเจ้าหน้าที่ เพื่อบูรณะพระเจดีย์ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้าแสงสว่างอีก 20,000 จ๊าด (1,000 = 25 บาท โดยประมาณ)

* หมายเหตุ : ปรากฏว่าพวกเราทำบุญที่นี่ไม่มาก แต่หลังจากกลับมาอีกครั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ทางเจ้าหน้าที่บอกว่ากำลังจะบูรณะ พระอาจารย์จึงบอกให้ทำเพิ่มกันอีก ซึ่งจะนำไปเล่าสู่กันฟังในภายหลังนะคะ

หลังจากที่ได้กราบไหว้บูชาแล้ว ก็เดินกลับมาขึ้นรถ ระหว่างนั้นเอง ก็ได้เกิด "พระอาทิตย์ทรงกลด" นับเป็นนิมิตหมายอันดีว่า การเดินทางครั้งนี้น่าจะมีบุญใหญ่รอเราอยู่มากมายมหาศาล....

@ สถานที่แห่งนี้จึงถูกจัดอยู่ใน..อันดับที่ 13 ของทริปนี้ คือ..ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด...สวัสดีค่ะ


ขอบคุณ - ข้อมูลอ้างอิงจากอินเตอร์เนต และ
หนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 4 (หน้า 396 และ 401)

คณะทีมงานฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 15/3/18 at 10:15

[ ตอนที่ 7 ]

(Update 30 มีนาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561



(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 (ไจ๊ตาลาน - เกาะแชมพู)

(จุดที่ 2) #เกาะแชมพู (Shampoo Island)

...เป็นอย่างไรบ้างคะ หลังจากอ่านตอนที่ 1 ผ่านไปเป็นการเรียกน้ำย่อยแล้ว ต่อจากนี้จะพาท่านเปลี่ยนบรรยากาศมาเดินทางทางน้ำกันบ้าง

"คณะตามรอยพระพุทธบาท" เวอร์ชั่นพิเศษ (ผู้เกษียณวัย) ได้เดินทางต่อไปยังเกาะแชมพู สงสัยแล้วสิคะว่า จะเกี่ยวอะไรกับแชมพูหรือครีมนวดผมหรือเปล่า

"เกาะแชมพู" ในภาษาพม่า เรียกว่า "Gaung Sae Kyun Island" หมายถึง "ยาสระผม" หรือ "แชมพูสระผม" สถานที่แห่งนี้พระอาจารย์ชัยวัฒน์ยังไม่เคยไปมาก่อน จึงถูกจัดไว้ในรายการ "สถานที่พบใหม่" ในทริปนี้ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ตามพวกเรามาขึ้นเรือได้เลยค่ะ

เกาะแชมพูตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสาละวิน (Thanlwin River) อยู่ระหว่างเมืองมะละแหม่งกับเมาะตะมะ ถ้าดูตามแผนที่ (Google Map) ข้างบน จะเห็นคำว่า GaungSaeKyun Sandawshin Pagoda ใช้เวลาเดินทางโดยเรือหางยาวข้ามไปประมาณ 20 นาที

พระอาจารย์ชัยวัฒน์และคณะก็ร่วมลงเรือลำเดียวกัน (ตามคอนเซ็ปตที่์ว่า พระอาจารย์ไปไหน ลูกศิษย์ก็ขอไปที่นั่น ลูกศิษย์ก็ขอเกาะชายผ้าเหลืองไปพระนิพพานด้วยนะเจ้าคะ แฮ่ๆๆ)

เรือล่องข้ามแม่น้ำไปเรื่อยๆ คนในเรือก็มีความสุขกับการชมวิวเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปยังอดีต สมัยที่กาลเวลายังผ่านไปอย่างเชื่องช้า มีสะพานสาละวิน หรือ "ตาลวิน" ในภาษาพม่า (Thanlwin Bridge) อยู่เบื้องหลัง

สะพานนี้เรียกอีกชื่อว่า "สะพานมะละแหม่ง" เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในพม่า มีความยาวกว่า 3 กิโลเมตร มีทางรถไฟวิ่งคู่ขนานไปกับสะพาน ยาวสุดลูกหูลูกตาจริงๆ ค่ะ ไม่ได้โม้


ทันทีที่ถึงเกาะแชมพู เราต้องถอดรองเท้าทิ้งไว้ในเรือ เพราะชาวพม่าจะไม่ใส่รองเท้าเข้าวัด ต้องถอดกันตั้งแต่หน้าประตูวัด เพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ ซึ่งเขาถือว่า เป็นที่สำคัญของพระพุทธเจ้า

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อไม่ให้น้องหมาที่พระและแม่ชีที่พักอยู่บนเกาะเลี้ยงไว้มาคาบเอาไป ไม่อย่างนั้นคงต้องมีใครต้องกลับไปเท้าเปล่ากันบ้าง

เมื่อเดินขึ้นไปตรงกลางเกาะมี "พระเจดีย์" และ "บ่อน้ำศักดิสิทธ์" อยู่ด้านหลัง เป็นบ่อที่พญานาครักษา บ่อน้ำเขาล๊อคกุญแจไว้ ส่วนข้างๆ มีช่องให้วักน้ำเขาก็ปิดเสียอีก จึงเข้าไปเอาน้ำมาไม่ได้ ส่วนด้านข้างก็มีรูปภาพสตรีบนหัวมีเศียรพญานาคอยู่ด้วย

หลายคนคงจะสงสัยแล้วใช่มั้ยคะ ว่าทำไมถึงชื่อว่า "เกาะแชมพู" ย้อนไปในสมัยอังวะ ทางราชสำนักพม่าจะนำน้ำบริสุทธิ์ที่ผุดขึ้นเองใน "บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์" ไปใช้ในพิธีสรงสนานของกษัตริย์

ตามประวัติเล่าว่า "พระราชินี" ของชาวมอญได้ทรงล้างพระเกศาด้วยน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว ทรงประสบความสุขสวัสดิมงคล จึงเรียกว่า Gaung Sae Kyun คนไทยเรียกยาก จึงตั้งชื่อใหม่ว่า "เกาะแชมพู" ด้วยประการฉะนี้แล

เกาะแห่งนี้ยังต้อนรับการมาเยือนของบุคคลผู้มีชื่อเสียงอยู่เนืองๆ บ้างก็เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรา และพระราชินีก็เคยเสด็จมาเยือนที่นี่ และพระราชทานพระพุทธรูปไว้ให้ ปัจจุบันยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

นอกจากจะมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีพระเจดีย์สีทองขนาดย่อมบรรจุพระเกศาธาตุ ตั้งอยู่ด้วย "ซานดอว์เซ็น" (Sandawshin Pagoda) เป็นภาษามอญ ไม่มีประวัติว่าบรรจุ "พระเกศาธาตุ" ไว้เมื่อไร และผู้ใดเป็นผู้สร้างไว้

ฉะนั้น ถ้าเห็นคำนี้ที่ไหน หมายถึง พระเจดีย์ที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้า ต่างจากภาษาพม่า ที่จะเรียกว่า "ชเวซานดอว์" (Shwesandaw Pagoda) ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันนั่นเอง

พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำคณะกราบสักการะพระเจดีย์และถวายเครื่องบูชา จากนั้นพาไปชมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่ในอาคารไม้ชั้นเดียวไม่ไกลกันนัก มีเหล็กดัดกั้นไม่ให้คนเข้า

พระอาจารย์จึงถวายน้ำปรุงและแผ่นทองจากด้านนอก และถวายปัจจัยบูรณะ 50,000 จ๊าด ค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด แก่พระภิกษุที่ดูแลบนเกาะแห่งนี้ ก่อนจะกลับมาขึ้นเรือ ท่านได้เดินออกมาส่งด้วย

พร้อมทั้งถวายกล้วยแก่พระอาจารย์ แสดงถึงมิตรจิตมิตรใจอันดีของคนที่นี่ เรือน้อยค่อยๆ ล่องออกจากฝั่ง เกาะแชมพูค่อยๆ ลับหายไปจากสายตา เหลือไว้แต่ความประทับใจที่ไม่อาจลืมเลือน..สวัสดีค่ะ


คณะทีมงานฯ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 20/3/18 at 08:15

[ ตอนที่ 8 ]

(Update 5 เมษายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(ภาพนี้พระอาจารย์ไปครั้งแรกเมื่อปี 2553)


(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 (ไจ๊ตาลาน-เกาะแชมพู-UZina)

(จุดที่ 3) พระเจดีย์อูซีนะ (U Zina Pagoda)
...หลังจากกลับออกจาก "เกาะแชมพู" แล้ว โดยพระอาจารย์ที่วัดตามมาส่ง พร้อมกับมอบกล้วยน้ำว้ามากมาย ให้พวกเราเลี้ยงปลาตรงท่าเรือ แล้วนำกลับมาเพื่อถวายพระอาจารย์ในตอนเช้าด้วย

จากนั้น "คณะตามรอยพระพุทธบาท" นำโดยพระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต ได้เดินทางไปยังพระเจดีย์อูซีนะ (U Zina) ตามประวัติบอกว่าเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้าด้วย

นับว่าเป็นพระเจดีย์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ "เมืองมะละแหม่ง" ซึ่งสร้างเด่นอยู่บนเนินเขาเช่นกัน ส่วนใหญ่จะรู้จักกันแต่ "พระเจดีย์ไจ้ตาลาน" เท่านั้น

อย่าค่ะ! อย่าเพิ่งเบื่อนะคะว่า พามาไหว้พระเจดีย์อีกแล้วเหรอ ตามที่รู้กันนะคะ ถ้ามาพม่า จะเป็นอื่นไปเสียไม่ได้ เพราะพม่าเป็นดินแดนแห่งพระเจดีย์ แต่บริเวณนี้ยังอยู่ในเขต Mon State หรือ "รัฐมอญ" อยู่ค่ะ

โดยเฉพาะที่ "พุกาม" นั้นขึ้นชื่อว่า เป็นอาณาจักรหรือทุ่งทะเลแห่ง "พระเจดีย์" หันไปทางไหนก็เจอ แหม..ยังไม่ทันไร เล่าข้ามไปถึงพุกามซะแล้ว อดใจรอซักนิดนะคะ เก็บพุกามไว้ก่อน แล้วจะเล่าให้ฟังวันหลังค่ะ

...ตัดภาพมาที่ "พระเจดีย์อูซีนะ" นะคะ ด้านหน้าตรงทางเข้าเราจะเห็นสิงห์ตัวใหญ่ นั่งอ้าปากทำหน้าขึงขัง ประดุจผู้พิทักษ์พระเจดีย์ก่อนอย่างอื่นเลย ตามตำนานพม่าเล่าว่า ชื่อ "อูซีนะ" นี้ ตั้งตามขื่อผู้สร้างพระเจดีย์ เป็นชายหนุ่มชื่อว่า "อูซีนะ"

แต่ไม่มีใครรู้ประวัติของเขา บ้างก็ว่า เป็นนักปราชญ์ มีชีวิตอยู่ในสมัย "พระเจ้าอโศกมหาราช" บางตำนานเล่าว่า "อูซีนะ" เป็นหนุ่มชาวบ้านที่ไปหาหน่อไม้ในป่าไผ่ แล้วโชคดีขุดเจอไหข้างในเต็มไปด้วยทองคำ

"อูซีนะ" และภรรยาเลยบุญหล่นทับ กลายเป็นมหาเศรษฐีไปในพริบตา ก็เลยสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ตรงเนินเขาลูกนี้ อันเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ในปัจจุบัน ชื่อเดิมในภาษามอญ เรียกอีกชื่อว่า "ไจ้ปะตัน" (Kyaikpatan)

สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 3 และได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ในปีพ.ศ.2375 และครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2426 ปัจจุบันมีความสูง 112 ฟุต

ในบริเวณพระเจดีย์ยังมีพระพุทธไสยาสน์ ที่มีพุทธลักษณะงดงามอ่อนช้อย และภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอนเจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 อันมี คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ

ซึ่งเทวดาเนรมิตให้ทอดพระเนตร ทำให้ทรงเบื่อหน่ายในกามสุข จึงตัดสินใจออกบรรพชา เพื่อแสวงหาธรรมเพื่อความหลุดพ้นในที่สุด

พระอาจารย์ชัยวัฒน์พร้อมคณะฯ ได้ร่วมทำบุญดังต่อไปนี้..
- บูรณะพระเจดีย์ 50,000 จ๊าด และ
- ร่วมบุญค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด มีพิเศษกว่าที่อื่นนิดนึง ตรงที่ได้
- ทำบุญถวายระฆัง 4 ใบ อีก 2,000 จ๊าด และ
- ซ่อมแซมพื้นลานพระเจดีย์อีก 1,000 จ๊าด

ก่อนกลับได้ถวายผ้าห่มองค์พระประธาน อันมีพระพักตร์งดงามเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ตามแบบฉบับสไตล์มอญ ทริปไหว้พระเจดีย์ทันใจแบบนี้ คนเราส่วนใหญ่คงหาโอกาสทำยาก

ยิ่งที่แปลกๆ และมายากๆ ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ ถึงไม่ได้ไปเอง ก็น้อมจิตโมทนาบุญกับพระอาจารย์และพวกเราได้ค่ะ ยังมีบุญใหญ่ๆ อีกหลายที่ค่ะ

...ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" อีก 2 แห่งในเมืองมะละแหม่ง นั่นก็คือ พระเจดีย์ไจ้เติ๊ก หรือไจ้เซ่ย (Kyaik Thoke) และ พระเจดีย์ไจ้มุป่อง (Kyeik Mupon) โปรดติดตามกันต่อไปนะคะ สวัสดี...ลาก่อนค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 30/3/18 at 08:33

[ ตอนที่ 9 ]

(Update 10 เมษายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 (ไจ๊ตาลาน-เกาะแชมพู-อูซีน่า-ไจเติ๊ก)

(จุดที่ 4) พระเจดีย์ไจ้เติ๊ก (Kyaik Thoke) หรือไจ้เซ่ย
...ขณะนี้ยังอยู่ในเมือง "มะละแหม่ง" ตามคอนเซ็ปต์ของทริปนี้คือ "ทริปไหว้พระเจดีย์ทันใจ" พระอาจารย์ชัยวัฒน์จึงต้องเตรียมวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า

เพื่อให้ได้ไปกราบไหว้พระเจดีย์ที่สำคัญให้ได้ครบถ้วนมากที่สุด โดยเสียเวลาน้อยที่สุด ทุกนาทีจึงถูกใช้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากยังมีสถานที่อีกหลายแห่ง ท่านบอกว่าถ้าพวกเราทำเวลาได้ดีก็สามารถไปได้อีกหลายที่

การใช้ Google Map จึงเป็นทางเลือกที่เข้ากับกาลสมัย ทุกๆ เช้าพระอาจารย์จะส่งโปรแกรมการเดินทางและเส้นทางที่จะใช้ผ่านทางไลน์ โดยไม่มีผู้ใดรู้ล่วงหน้า เพราะท่านถือเคล็ด เพื่อให้การเดินทางราบรื่นปราศจากอุปสรรค

อีกทั้งการใช้ Google Map นั้นดูเหมือนไม่น่าจะยาก แต่ในความเป็นจริง ต้องเรียกว่า "ไม่หมู" เพราะแค่พิมพ์อักษรภาษาอังกฤษผิดไปตัวเดียว อากู๋..ก็อากู๋..เถอะ หาไม่เจอนะขอรับ

การสืบเสาะแสวงหาสถานที่แต่ละแห่ง จึงต้องแลกมาด้วยความวิริยะอุตสาหะของพระอาจารย์ เพื่อให้ลูกศิษย์ได้บุญกันเต็มที่

ส่วนพวกเราเหล่าลูกศิษย์ตาดำๆ นั้นก็ทำตัวเป็นผู้ตามที่ดี เพราะเชื่อมั่นในตัวพระอาจารย์ว่า อย่างไรเสีย จะต้องพาพวกเราไปได้แน่นอน และที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยผิดหวังเลยสักครั้ง

"พระเจดีย์ไจ้เติ๊ก" หรือ "ไจ้เซ่ย" นี้ก็เช่นกัน ในที่สุดเราก็มาถึงจนได้ หมู่เฮาชาวไทยอาจไม่คุ้นหูนัก อ๋อ..ไม่สิ ..เรียกว่า..ไม่เคยได้ยินชื่อเลยจะเหมาะกว่า

แต่ถ้าเป็นชาวมอญจะรู้จักกันดี เพราะเป็นที่ประดิษฐาน "พระเกศาธาตุ" ตั้งแต่สมัยโบราณกาล ตามตำนานเล่าว่า แรกเริ่มเดิมที มีฤาษี 2 ตนเป็นผู้นำ "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้

ต่อมากษัตริย์แห่งอาณาจักรมอญ ไม่ได้ระบุว่าองค์ไหน ได้สร้างพระเจดีย์ครอบไว้ ต่อมาภายหลังก็มีผู้คนอพยพมาตั้งบ้านเรือน จนกลายเป็นบ้านเมืองในที่สุด

สภาพพระเจดีย์ปัจจุบันเป็นสีทองงดงามอร่ามตา ต้องชื่นชมคนของเขาที่ดูแลรักษาพระเจดีย์ทุกแห่งเป็นอย่างดี และมักจะมีการบูรณะอย่างสม่ำเสมอ

พระอาจารย์ชัยวัฒน์จึงได้ร่วมทำบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด และร่วมบุญค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด กับเจ้าหน้าที่ของวัด พร้อมทั้งถวายเครื่องบูชาแด่องค์พระเจดีย์

เมื่อบุญสำเร็จแล้ว จะรออะไรละคะ ชาวคณะก็รีบเก็บข้าวเก็บของพร้อมออกเดินทางต่อ เพื่อแสวงบุญใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้าต่อไป ตามไปด้วยกันเลย..พระเจดีย์ไจ้มุป่อง (Kyaik Mupon) อันเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" เป็นจุดสุดท้ายของวันนั้น..สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 5/4/18 at 09:31

[ ตอนที่ 10 ]

(Update 15 เมษายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 (ไจ๊ตาลาน-เกาะแชมพู-อูซีน่า-ไจเติ๊ก-ไจ้มุป่อง)


(แผนที่ทางไป "พระเกศาธาตุ" ในเมืองมะละแหม่ง)

(จุดที่ 5) พระเจดีย์ไจ้มุป่อง (Kyeik Mupon)

...เรายังอยู่กันที่มะละแหม่งอยู่นะคะ ตามโปรแกรม พระอาจารย์ชัยวัฒน์วางแผนที่จะไปกราบนมัสการ "พระเจดีย์ไจ้มุป่อง" เป็นรายการต่อไป หลังจากที่เคยมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

แต่ด้วยอุปสรรคทางการสื่อสารกับคนขับรถตู้ของเรา ช่วงวันแรกนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจกัน จึงเป็นภาษาไทยปนอังกฤษ ทำให้เรามาปรากฏตัวที่พระเจดีย์อีกที่หนึ่ง

โชคดีที่หนึ่งในคนขับของเราชื่อว่า คุณชัย (Mr. Moe Koung Kin) พอพูดภาษาไทยได้ เพราะเคยมาทำงานที่ฉะเชิงเทราราวๆ 6 ปี เลยเป็นทั้งคนขับรถ ล่ามแปลภาษา และเป็นไกด์ให้เราตลอดทริปด้วย

อีกทั้งเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี อารมณ์ดี มีอะไรก็หัวเราะไว้ก่อน มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และชอบทำบุญคล้ายๆ กับคณะเรา ทำให้ไปด้วยกันได้ดี ส่วนอีกคนก็ดีแต่ยังพูดไทยไม่ได้ จึงต้องคอยเฝ้ารถให้พวกเรา

ช่วงแรกต้องใช้เวลาปรับตัวเข้าหากันนิดหน่อย เพราะต่างยังเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้น พอจะจับทางพระอาจารย์ได้ว่า ต้องการแบบไหน การเดินทางก็เริ่มคล่องตัวมากขึ้นตามลำดับ

ส่วนคนขับรถตู้อีกคันชื่อ "มินโซ" (Mr. Minsoe) เรียกชื่อเขาผิดว่า "มิตซู" อยู่ตั้งนาน ก็มีอัธยาศัยใจคอดีเช่นเดียวกัน มีบุคลิกคล่องแคล่ว ปราดเปรียว ออกจะใจร้อนนิดๆ

แต่ก็ดูแลคณะเราเป็นอย่างดีไม่ขาดตกบกพร่อง แถมยังมีปฏิภาณไหวพริบ ช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้พวกเราได้หลายครั้ง ต้องถือว่า พวกเราโชคดีสุดๆ ที่ "อองซูทัวร์" จัดพนักงานขับรถมาให้ เหมือนกับเทวดาช่วยจัดสรรคนดีมาให้เช่นนี้

ว่าจะเล่าเรื่องพระเจดีย์ไจ้มุป่อง แต่ไหงกลายเป็นเรื่องคนขับรถไปได้ กลับมาเล่าเรื่องของเรากันต่อดีกว่านะคะ อย่างที่บอก การสื่อสารอาจจะเป็นอุปสรรคบ้างนิดหน่อย

การเรียกชื่อสถานที่ต่างกันระหว่างคนไทยและคนพม่าก็ทำให้มีเรื่องขำๆ กันตลอด เพราะกว่าจะคุยกันรู้เรื่อง ก็ต้องออกเสียงกันหลายรอบ

อย่างเช่น "เมืองแปร" ในนิยายผู้ชนะสิบทิศ พม่าออกเสียงว่า "ปะแย" (Pyay), "เมืองสิเรียม" ที่คนไทยคุ้นเคย ที่พม่าเรียกอีกขื่อว่า "ตาลยิน" (Thanlyin), "เมืองพะสิม" ใครจะนึกว่า พม่าเรียกว่า "Pathein"

แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ก็พอจะคลำๆ ไปจนได้ พี่คนขับพาเรามาที่พระเจดีย์แห่งหนึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำ มองเห็นสะพานตาลวิน (สาละวิน) อยู่ไม่ไกลนัก ซึ่งกำลังสร้างเพิ่งเสร็จใหม่ๆ

ตอนแรกนึกว่าคือ "พระเจดีย์ไจ้มุป่อง" ไหนๆ ก็มาถึงแล้ว พระอาจารย์จึงนำคณะเข้าไปกราบไหว้และถวายเครื่องบูชา พร้อมกับล้วงเงินจ๊าดออกมาใส่ตู้บริจาคกันตามอัธยาศัย

นับเป็นบุญที่เทวดาจัดสรรให้เป็นพิเศษ หลายครั้งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ไม่บังเอิญ ทริปนี้จะว่าไป ก็มีแต่กำไร ได้ทำบุญใหญ่กันหลายรายการเลยทีเดียว

หลังจากนั้นพระอาจารย์ได้ใช้ Google Map ตามหา "พระเจดีย์ไจ้มุป่อง" อีกรอบ ก็ไปเจอกับพระเจดีย์อีกแห่งหนึ่ง เป็นพระเจดีย์คู่ ดูจากรูปพรรณสัณฐานแล้ว น่าจะใช่

ตาม "ตำนานพระทันตธาตุ" ของมอญ บอกว่า เป็น "เจดีย์สองพี่น้อง" ขนาดเท่ากันทั้งสององค์ ตั้งเคียงคู่กัน บรรจุพระเกศาธาตุและพระทันตธาตุ

แต่จากที่ถามคนที่ดูแลวัด บอกว่า พระเจดีย์ทั้งสององค์ บรรจุพระเกศาธาตุองค์ละเส้น รวมเป็น 2 เส้น เป็นอันว่า เราก็ได้มากราบไหว้ "พระเจดีย์ไจ้มุป่อง" สมใจปรารถนา

โดยเฉพาะที่สำคัญยืนยันตำนานไว้ นั่นก็คือภาพวาดต่างๆ ที่เล่าถึงประวัติการสร้าง ตลอดถึงการบรรจุพระเกศาธาตุไว้ในพระเจดีย์ทั้งสององค์นี้

จากนั้นพระอาจารย์ได้ร่วมบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด และทำบุญค่าไฟ 20,000 จ๊าด ทำตามอัตราปกติ เพราะยังไม่มีการบูรณะ

บุญวันนี้ยังไม่หมดแค่นี้นะคะ โปรดติดตามตอนต่อไป ใบ้ให้นิดนึงค่ะ ว่ามีเรื่องแปลกแต่จริงเกี่ยวกับพญานาคด้วย แล้วพบกันตอนต่อไปค่ะ สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 10/4/18 at 20:29

[ ตอนที่ 11/1 ]

(Update 20 เมษายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 (ไจ๊ตาลาน-เกาะแชมพู-อูซีน่า-ไจเติ๊ก-ไจ้มุป่อง-ไจ้มะยอว์)


(จุดที่ 6) พระเจดีย์ไจ้มะยอว์ (Kyaikmaraw Pagoda) บ้านไจ้มะยอว์


...สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของ "รัฐมอญ" อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ก็คือ "พระเจดีย์ไจ้มะยอว์" (เขียนได้ 2 แบบ Kyaikmaraw หรือ Kyaikmayaw ก็ได้) อยู่ห่างจากเมืองมะละแหม่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 24 กิโลเมตร

สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ก็คือ "พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท" เอาพระหัตถ์ข้างหนึ่งวางไว้ข้างอาสนะ ท่านั่งเรียบร้อยเหมือนผู้หญิงนั่ง หรือที่เรียกกันว่า "พระพุทธรูปปางจะลุกจะนั่ง"

เล่ากันว่า มีพระนางองค์หนึ่งตั้งใจมาสร้างวัด เมื่อมีคนแนะนำว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าเคยประทับนั่งแบบนี้ พระนางจึงสร้างพระปางจะลุกจะนั่ง (เอนกาย) แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ด้านใน

ต่อมาชาวบ้านเอาโซ่มาล่ามองค์พระไว้ เพราะกลัวว่า จะลุกหนีไป แต่ปัจจุบันนี้ได้เอาออกไปแล้ว

นอกจากพระประธานปางนั่งห้อยพระบาท ที่ไม่เหมือนที่ใดแล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางสมาธิหลายสิบองค์ประดิษฐานรายล้อมองค์พระประธาน รวมทั้งยังมีพระพุทธไสยาสน์อีก 2 องค์อยู่ใกล้ๆ กัน

อีกทั้งภายในวิหารยังตกแต่งประดับประดาด้วยกระจกสี ระยิบระยับไปหมด เป็นศิลปะยุคมอญตอนปลาย สวยงามเกินคำบรรยายจริงๆ ค่ะ

และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวบ้านจะหลั่งไหลมาร่วมงานประจำปีของวัดกันแน่นขนัดไปหมด

พระอาจารย์ชัยวัฒน์เคยมาที่นี่แล้วเมื่อปี พ.ศ.2553 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยในครั้งนั้นมีพระชาวมอญที่ไปสร้างวัดอยู่ที่จ.เพชรบูรณ์ เป็นผู้พามา ท่านบอกว่าวัดนี้ชาวมอญชาวพม่านิยมมาไหว้กันมาก


พวกเราได้ร่วมถ่ายรูปหมู่เพื่อเก็บภาพความประทับใจไว้ในความทรงจำ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ร่วมทำบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด ก่อนที่จะกราบลาและขอพรท่าน เพราะไม่รู้ว่า เมื่อไรจะได้กลับมาเยือนอีกครั้ง

หลังจากที่ไปสืบค้นต่อ พระนางผู้ที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้มีพระนามว่า "พระนางเชงสอบู" (Queen Shin Saw Pu) กษัตริย์หญิงหนึ่งเดียวแห่งราชอาณาจักรมอญ

ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1996-2013 เป็นพระราชธิดาของ "พระเจ้าราชาธิราช" ถือเป็นกษัตริย์ใน "ราชวงศ์ฟ้ารั่ว" องค์สุดท้ายที่ปกครองอาณาจักรมอญ

พระนางทรงเป็นพุทธมามกะที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทำให้ตลอดเวลา 17 ปีในรัชสมัยของพระองค์ พระพุทธศาสนาในเมืองหงสาวดีเจริญรุ่งเรืองมาก

พระองค์ยังได้บริจาคทองคำเท่ากับน้ำหนักของพระองค์ เพื่อหุ้ม "พระเจดีย์ชเวดากอง" อีกด้วย พระเจดีย์ไจ้มะยอว์ยังไม่จบแค่นี้นะคะ

ตอนหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ "พญานาค" ตามที่เคยเกริ่นเอาไว้ค่ะ อดใจรอตอนต่อไปนะคะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 15/4/18 at 19:08

[ ตอนที่ 11/2 ]

(Update 25 เมษายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 (ไจ๊ตาลาน-เกาะแชมพู-อูซีน่า-ไจเติ๊ก-ไจ้มุป่อง-ไจ้มะยอว์)

(จุดที่ 6) พระเจดีย์ไจ้มะยอว์ (Kyaikmaraw Pagoda) บ้านไจ้มะยอว์

...ตามที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วว่า ตอนนี้จะมีเรื่องราวแปลกๆ เกี่ยวกับ "พญานาค" หลังจากเดินชมความวิจิตรตระการตาอลังการงานสร้างของศิลปะแบบมอญที่ "พระเจดีย์ไจ้มะยอว์" จนอิ่มเอมแล้ว

เราได้แวะที่อาคารกึ่งตึกกึ่งไม้หลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ด้านหลังของวิหารใหญ่ เมื่อเข้าไปก็ต้องร้อง ว้าว..ตกตะลึงกับบรรดาของศักดิ์สิทธิ์ที่หาดูยากที่ถูกรวบรวมไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น "พระทันตธาตุ" องค์ใหญ่ และพระธาตุรูปพรรณสัณฐานต่างๆ

นอกจากนี้ยังมี "ไข่พญานาค" หลากหลายขนาด ตั้งวางเรียงรายอยู่ในตู้กระจก มีแก้วบรรจุนม และถาดใส่ผลไม้ ถวายเป็นเครื่องเซ่นไหว้บูชาตามความเชื่อของคนที่นี่

"หลวงน้า" เป็นพระชาวมอญที่ดูแลที่นี่พอพูดภาษาไทยได้นิดหน่อย จึงคุยกันรู้เรื่อง อีกทั้งยังมีเมตตามาก พาเราเดินชมของศักดิ์สิทธิ์ภายในห้องอย่างเป็นกันเอง เหมือนผู้ใหญ่เมตตาต่อลูกหลาน

ทั้งนี้ ท่านได้ทราบเรื่องราวจากพระอาจารย์ชัยวัฒน์ ที่ได้นำภาพเมื่อปี 2553 ประมาณ 2-3 ภาพมาให้ชมด้วย ในตอนนั้นได้พบกับท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ และท่านให้ยืมรถจิ๊ปพร้อมคนขับ เดินทางไปไหว้ตามสถานที่ต่างๆ อีกด้วย

ในตอนนี้ท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่ หลวงน้าองค์นี้จึงต้องมารับแขกท่าน พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า มีผู้นำ "ไข่พญานาค" มาถวายจากย่างกุ้ง ที่อัศจรรย์ก็คือ เมื่อท่านภาวนาคาถาแล้วอธิษฐาน "ไข่พญานาค" จะตั้งขึ้นและเอนลงเอง


(เมื่อปี 2553 พระอาจารย์ได้พบกับเจ้าอาวาสวัดไจ้มะยอว์)

ตามสุภาษิตไทย "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น" งานนี้จึงต้องพิสูจน์ ท่านก็เลยสาธิตให้พวกเราดู เรียกเสียงฮือฮาจากหมู่เฮาชาวไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว พี่บุ๋ม วัชรพล และเจ๊หลี จารุภา ได้ถ่ายคลิปไว้ จะอัศจรรย์แค่ไหน ตามไปดูได้ในคลิปนะคะ

ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อและความศรัทธา ใครใคร่เชื่อเชื่อ แต่อย่างมงาย ใครไม่เชื่อก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าลบหลู่ แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่านนะคะ

นอกจากนี้ยังมีตู้กระจกใส่น้ำไว้ มีก้อนหินลูกเบ้อเร่อลอยน้ำอยู่ ใครไปใครมาก็มายกมือไหว้ เพราะฉะนั้นต้องมีอะไรพิเศษแน่นอน ชาวพม่าที่มุงดูอยู่ก่อนแล้วมีจำนวนมากมาย พวกเราอยากเห็นใกล้ๆ จึงต้องขอมุดเข้าไปดูบ้าง

ปรากฏว่าหินก้อนนี้ มีน้ำหนัก 6 กิโลกรัมแช่อยู่ในน้ำ ดูแล้วไม่ต่างอะไรจากก้อนหินทั่วไป ถ้าเป็นก้อนหินอื่นๆ ก็คงจะจมอยู่ใต้น้ำ แต่ก้อนหินก้อนนี้กลับลอยขึ้นอยู่เหนือน้ำ เบาเหมือนกับสำลีนั่นแหละ สวนทางกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์สุดๆ

จะไม่เรียกว่า "แปลก" ก็ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรดี เอาเป็นว่า ชาวบ้านที่นี่เค้าศรัทธามาก มาดูมาชมกันตลอด ไม่รู้ว่าจะมาเล็งๆ เลขเด็ดเหมือนคนไทยรึเปล่า

แหม..อยากจะมีเวลาสักครึ่งค่อนวัน จะได้อยู่นานๆ แต่อยู่ต่อไม่ได้แล้วค่ะ เพราะตามโปรแกรมยังเหลืออีกที่หนึ่ง ซึ่งเป็นแห่งสุดท้ายของวันนี้ เพราะตอนนี้ก็เริ่มเย็นแล้ว พวกเราต้องรีบไปกันละ

ถ้าบอกขื่อวัด คงต้องร้องอ๋อกันเป็นแถว แต่ขออุบไว้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวไม่ตื่นเต้น แล้วเจอกันตอนต่อไปนะคะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 19/4/18 at 16:55

[ ตอนที่ 12 ]

(Update 30 เมษายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันแรก) วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561 (ไจ๊ตาลาน-เกาะแชมพู-อูซีน่า-ไจเติ๊ก-ไจ้มุป่อง-ไจ้มะยอว์-วัดวินเซนตอยะ)


(พระนอนใหญ่ (ปางปรินิพพาน) ที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองมะละแหม่ง
ภายในจะแบ่งเป็นห้องๆ มีภาพวาดพุทธประวัติ)

(จุดที่ 7) วัดวินเซนตอยะ (Win Sein Taw Ya) บ้านมุด่อง มะละแหม่ง

...แม้ว่าพม่าจะเป็นประเทศเล็กๆ ไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายสมถะ ไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่สิ่งที่ชาวพม่ามีไม่แพ้ชาติใดในโลก คือความศรัทธาอันมากล้นที่มีต่อพระพุทธศาสนา

ดูได้จากพระเจดีย์ และพระพุทธรูปใหญ่ๆ ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในพม่า "พระนอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก" (The World's Largest Reclining Buddha) วัดวินเซนตอยะ ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน


(ด้านหน้าประตูมีรูปปั้นพระพุทธเจ้าเดินบิณฑบาตนำหน้า พร้อมพระสาวกเดินตามเป็นแถว)

"วัดวินเซนตอยะ" บ้านมุด่อง (Mudon) อยู่ห่างจากตัวเมืองมะละแหม่งไปทางทิศใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ตรงทางเข้าวัด จะมีรูปปูนปั้นพระสงฆ์ ขนาดใหญ่กว่าคนจริงเล็กน้อย ประมาณ 200 กว่ารูป ยืนอุ้มบาตรเป็นแถวยาว เป็นจุดนำสายตาไปจนถึงตัววัด


"พระพุทธไสยาสน์ วัดวินเซนตอยะ" จัดเป็นสถานที่สำคัญที่เป็นจุดเด่นของที่นี่ ใครผ่านไปผ่านมาก็ต้องมากราบไหว้ ไม่ว่าจะเป็นชาวมอญในพื้นที่ใกล้เคียง หรือแม้แต่นักท่องเที่ยว ที่มาถึงมุด่องแล้ว ต้องมาไหว้พระและถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก

พระนอนองค์นี้สร้างโดย "หลวงพ่อภัตทันตะ เกสระ" (Baddanta Kethara) พระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวมอญ มีความยาว 170 เมตร สูง 34 เมตร ภายในแบ่งเป็นชั้นๆ ได้ 8 ชั้น


แต่ละชั้นจะมีรูปปูนปั้นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ นรก สวรรค์ และผลแห่งกรรม ใช้เวลาสร้างยาวนานกว่า 20 ปี ภายนอกดูเหมือนจะเสร็จแล้ว แต่การตกแต่งภายในยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ฝั่งตรงข้ามพระนอนองค์ใหญ่ ก็มีพระนอนอีกองค์หนึ่งหันพระพักตร์เข้าหากัน กำลังก่อสร้างค้างอยู่ เนื่องจากหลวงพ่อภัตทันตะ ท่านได้มรณภาพลงเสียก่อน เมื่อปี 2558 สิริรวมอายุได้ 95 ปี 45 พรรษา การก่อสร้างจึงหยุดชะงักลงชั่วคราว


ก่อนหน้าที่ท่านจะมรณภาพ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ร่วมบุญสร้างพระนอนใหญ่ และพระนั่งใหญ่ ที่บ้านลิตักกับท่านถึง 2 ครั้ง

โดยครั้งแรกเมื่อปี 2545 แต่ไม่ได้พบท่าน และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2553 ครั้งนี้ได้พบและสนทนาธรรมกับท่าน ว่ากันว่า ท่านมีชื่อเสียงเรื่องใบ้หวยแม่น เงินที่ใช้สร้างองค์พระส่วนใหญ่ก็มาจากญาติโยมที่มีโชคนำมาถวาย




ตอนที่เราไปถึงเป็นเวลาเย็น โชคดีที่วิหารยังเปิดอยู่ เราจึงมีโอกาสเข้าไปกราบศพท่าน ที่บรรจุอยู่ในโลงแก้ว ศพของท่านไม่เน่าเปื่อย ดูเหมือนคนนอนหลับ

ทางวัดจัดสถานที่ไว้ดีมาก มีรูปปั้นขนาดเท่าองค์จริงนั่งขัดสมาธิตั้งวางไว้ในตู้กระจก ดูแล้วคล้ายมีชีวิตจิตใจ

มีพุทธบริษัทชาวมอญที่ศรัทธาในตัวท่านเดินทางมากราบไหว้ไม่ขาดสาย เพราะท่านจัดเป็นพระนักพัฒนาองค์หนึ่ง นอกจากจะสร้างพระ สร้างวัดแล้ว ยังพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้นอีกด้วย

ก่อนกลับพระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ร่วมบุญบูรณะพระนอน 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด เราได้แต่หวังว่า จะมีผู้มาสานต่อปณิธานของท่าน ในการสร้างพระนอนอีกองค์ที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไปในภายหน้า

บุญในวันแรกบนแผ่นดินพม่าคงต้องปิดท้ายกันที่ "วัดวินเซนตอยะ" โดยนับตั้งแต่พระเจดีย์ไจ๊ตาลาน-เกาะแชมพู-อูซีน่า-ไจเติ๊ก-ไจ้มุป่อง-ไจ้มะยอว์ รวม 7 แห่งด้วยกัน ขอเชิญท่านผู้อ่านโมทนาบุญร่วมกันได้ตามอัธยาศัยนะคะ

พระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าแล้ว คืนนี้คงต้องหาที่พักแถวๆ ในตลาดมุด่อง ซึ่งยังไม่รู้ว่า โชคชะตาจะพัดพานกขมิ้นอย่างเราไปที่ใด แล้วพบกันตอนต่อไปค่ะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 20/4/18 at 20:42

[ ตอนที่ 13 ]

(Update 5 พฤษภาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สอง) วันที่ 15 มกราคม 2561 (พระเจดีย์กันยี)

(จุดที่ 1) พระเจดีย์กันยี (Kangyi Pagoda) บ้านมุด่อง

...การเดินทางวันแรกผ่านไปอย่างเร่งรีบและเรียบร้อยโรงเรียนพม่า ด้วยความที่พวกเราทำเวลากันได้ดีมาก เมื่อวานนี้จึงได้กราบสถานที่สำคัญต่างๆ ได้ครบถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นที่ประดิษฐาน "พระเกศาธาตุ พระทันตธาตุ" และพระธาตุส่วนต่างๆ สมัยมอญเรืองอำนาจ รวมแล้วประมาณ 7-8 แห่ง เสร็จแล้วก็มานอนหมดแรงกันที่โรงแรมแถวๆ ตลาดมุด่อง

ปรากฏว่าอยู่ติดถนน ส่วนฝั่งตรงข้ามเห็นเขากางเต้นท์เหมือนจัดงานบวชหรืองานแต่งงาน เพราะเห็นมีเครื่องขยายเสียงด้วย

เดิมนึกว่าคืนนี้คงหนวกหูเป็นแน่ แต่คาดผิดอย่างแรง เพราะเป็นการจัดงานสวดมนต์ของชาวบ้านมุด่อง นับเป็นประเพณีที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ส่วนค่าใช้จ่ายเขาก็มีการถือขันบอกบุญกัน

ส่วนเรื่องที่พักเดิมจองไว้ราคาแพงมาก เขาถือว่าคนไทยเป็นคนต่างชาติ จึงคิดราคาเป็นยูเอสดอลลาห์ แต่เราก็อยากประหยัดเงินไว้ทำบุญกัน เรื่องกินเรื่องนอนไม่สำคัญเท่า สำคัญเรื่องการบูชาพระพุทธเจ้านี่แหละ

หลังจากต่อรองราคากันพอสมควร ตอนนี้ก็เกือบสองทุ่มแล้ว เตรียมตัวขนของเข้าที่พัก ก็มีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้น ตอนที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์กำลังจะไขกุญแจเข้าห้องอยู่นั้น

จู่ๆ ไฟก็ดับพรึ่บทั้งโรงแรม ประมาณ 5-10 นาทีเห็นจะได้ ตอนนั้นผู้เขียนอยู่ในห้องน้ำชั้นล่างอยู่พอดี ก็แอบนึกในใจว่า "มาวันแรก ก็เจอรับน้องเสียแล้ว"

เจ้าของโรงแรมเองก็ยังงงๆ เพราะปกติไฟไม่เคยมีปัญหา จู่ๆ ก็มาดับแบบนี้ เล่นเอางงทั้งคนไทยคนพม่า ในการเดินทางครั้งนี้ เราเจอเหตุการณ์ไฟดับแบบนี้อีกหลายครั้ง

ภายหลังจึงเข้าใจว่า เป็นลางบอกเหตุอะไรสักอย่าง ตอนนั้นยังไม่รู้ แต่จะเป็นเรื่องอะไรนั้น ต้องติดตามต่อไปนะคะ เพราะตอนนี้รีบขนของเข้าที่พัก จากนั้นก็ออกไปทานอาหารกัน

กลับมาที่เรื่องการเดินทางของเรากันต่อดีกว่าค่ะ ในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่ 2 เราจะเดินทางลงใต้ไปที่ "เมืองละมาย" จังหวัดเย โดยพระอาจารย์ส่งโปรแกรมพร้อแผนที่ให้ทราบกันแต่เช้ามืด

หลังจากรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมจัดไว้ให้เรียบร้อยแล้ว เราก็ออกเดินทางกันต่อประมาณ 2-3 ก.ม. ประเดิมบุญแรกที่ "พระเจดีย์กันยี" (Kangyi Pagoda) อยู่ติดทะเลสาบกันดอยี (Kandawgyi Lake)


ถ้ามาจากเมืองมะละแหม่ง ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร เดิมพระอาจารย์ชัยวัฒน์วางโปรแกรมไว้ในช่วงบ่าย แต่เปลี่ยนใจสลับมาไว้ช่วงเช้าแทน เพราะท่านเห็นว่าอากาศกำลังเย็นสบาย


(พระอาจารย์เคยเดินทางไปกับพระมอญ เมื่อปี 2553)

...พระเจดีย์แห่งนี้บรรจุ "พระเกศาธาตุ" เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในรัฐมอญ ที่สมควรมากราบไหว้

ตามประวัติพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับแรมที่นี่ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก 500 รูป และได้มอบพระเกศาธาตุให้พระฤาษีมีนามว่า "โมง" (Maung) หรือ "มิน" (Min) ที่พำนักอยู่ที่นี่

...พระอาจารย์ชัยวัฒน์เล่าว่า "เมืองมะละแหม่ง" นี้เป็นที่ชุมนุมของบรรดาฤาษีทั้งหก ที่มารวมตัวกัน เพื่อแบ่งพระเกศาธาตุและพระทันตธาตุที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้

ก่อนที่จะแยกย้ายไปอยู่บนเขาตามที่ต่างๆ และตกลงกันว่า จะจุดไฟเพื่อเป็นสัญญาณ ถ้าไฟบนเขาลูกไหนดับ แสดงว่า ได้สิ้นชีวิตแล้ว นอกจากนี้เมืองมะละแหม่งนี้ ยังเป็นที่ๆ มีพระฤาษีอยู่มากที่สุดอีกด้วย

หลังจากได้กราบพระเจดีย์และถวายเครื่องบูชาแล้ว พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ร่วมทำบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีบูรณะใหญ่ และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด

จากนั้นได้พวกเราไปชมวิวทะเลสาบกันดอยี ไหนๆ มาแล้ว ก็ไม่ให้เสียเที่ยว บรรยากาศต้องเก็บให้ครบ

อากาศยามเช้าบริสุทธิ์สดชื่น สูดโอโซนได้เต็มปอด ชาวบ้านใช้ชีวิตแบบสบายๆ ไม่เร่งรีบ เห็นแล้วนึกถึงต่างจังหวัดของบ้านเราสมัยก่อน รู้สึกสงบและผ่อนคลายจนอยากจะหยุดเวลาไว้แค่นี้

แต่ก็ได้แค่คิด เพราะมีจุดหมายต่อไปรออยู่ ส่วนจะเป็นที่ไหน โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 25/4/18 at 06:29

[ ตอนที่ 14 ]

(Update 10 พฤษภาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สอง) วันที่ 15 มกราคม 2561 (พระเจดีย์กันยี-พระใหญ่บ้านลิตัก)

(จุดที่ 2) พระพุทธรูปใหญ่เตตะเมาะ บ้านลิตัก มุด่อง มะละแหม่ง

...หลังจากแวะกราบไหว้ "พระเจดีย์กันยี" เรียบร้อยแล้ว คณะรถตู้ทั้ง 2 คันได้ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยัง "บ้านละมาย" เมืองเย ตามโปรแกรมที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้วางไว้

ในระหว่างทางจู่ๆ ก็เจอบุญใหญ่แบบบังเอิญ พระอาจารย์เห็นพระใหญ่กำลังบูรณะอยู่พอดี เลยให้พี่คนขับเลี้ยวรถแวะทำบุญ บุญใหญ่ๆ อย่างนี้จะรอรีได้อย่างไรใช่มั้ยคะ

อีกอย่างก็ไม่ได้มากันง่ายๆ สมาชิกบางคนต้องลงทุนบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันหลายรอบกว่าจะได้มา เรียกได้ว่า ยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้มา

เพราะโอกาสที่จะได้เดินทางจาริกแสวงบุญทั่วทั้งประเทศพม่าแบบนี้คงไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นจึงต้องเก็บเกี่ยวบุญให้ได้มากที่สุด

มาพม่ารอบนี้ พวกเราทำบุญกันแบบไม่คิดชีวิต ไม่มีคำว่า "เสียดาย" ตอนแรกก็ว่า แลกเงินจ๊าดมาเยอะแล้ว แต่ด้วยความที่ควักทำบุญกันแบบรัวๆ ทั้งที่ก็ทำบุญกองกลางไปแล้ว

แต่พอได้แวะที่ไหน ก็อดทำเพิ่มไม่ได้ ได้ยินคำว่า "ใครจะต่อยอดเพิ่ม" ไม่ได้ มืองี้สั่นควักเงินกันแทบไม่ทัน (ที่สั่นก็เพราะกลัวควักไม่ทันคนอื่นเค้า ฮ่าๆ)

แต่สุดท้ายพระอาจารย์ชัยวัฒน์ท่านจะเป็นผู้ปิดบุญ เพื่อให้ได้บุญกันทั่วถึงทุกคน ใครที่เคยทำบุญกับท่าน แม้ไม่ได้มา ก็สบายใจได้ว่า ได้อานิสงส์ทุกอย่างครบถ้วน

เล่าพอให้เห็นภาพนะคะ กลับมาที่พระนั่งใหญ่ที่กำลังบูรณะกันดีกว่า ย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว พระอาจารย์ชัยวัฒน์เคยได้ร่วมบุญสร้างกับ หลวงพ่อภัตทันตะ เกสระ (ผู้สร้าง "พระนอนใหญ่แห่งวัดวินเซนตอยะ") ที่เราเพิ่งไปกันมาเมื่อวาน



(ภาพร่วมสร้างเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2553)

การได้หวนกลับมาบูรณะอีกครั้ง ก็เหมือนเป็นโชค 2 ชั้น เพราะ "ซ่อม" มีอานิสงส์เช่นเดียวกับ "สร้าง" ยิ่งเป็นพระใหญ่ๆ อานิสงส์ก็ยิ่งมากมายมหาศาล

พม่าชอบสร้างอะไรใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระนั่ง, พระนอน, พระยืน ของเขาอลังการงานสร้างจริงๆ การได้มาทำบุญที่นี่ ก็เหมือนได้เพิ่มพูนบุญบารมีแบบรวดเร็วทันใจ เรียกได้ว่า "อัพเลเวล" แบบก้าวกระโดดกันเลยทีเดียว

พระอาจารย์ชัยวัฒน์ร่วมบุญบูรณะองค์พระ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด เรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางไปต่อค่ะ

ระหว่างทางก็เจอบุญใหญ่รอเราอยู่อีกแล้ว เจ๊มายินตาดี เห็นพระนอนใหญ่กำลังสร้างอยู่ พระอาจารย์ชัยวัฒน์จึงให้เลี้ยวรถกลับไปทำบุญ

พระอาจารย์เลยลงจากรถไปถามรายละเอียดจากชาวบ้าน จึงทราบว่า กำลังสร้างพระนอนตาหวานจำลอง "มะซิคะนะญา"

ตอนไปถึงหลวงพ่อองค์ที่สร้างพระนอนท่านไม่อยู่ อยู่แต่ชาวบ้านที่มาให้ท่านรักษาอาการเจ็บป่วย พอดีเจอชาวบ้านที่พูดไทยได้ พอพวกเค้ารู้ว่า พวกเราเป็นคนไทย ก็เข้ามากราบพระอาจารย์ด้วยความตื่นเต้นดีใจ

คุยไปคุยมา เลยรู้ว่า เคยมาทำงานที่สุราษฎร์ธานีกันทั้งครอบครัว อยู่หลายปีจนพูดไทยได้ ดูแล้วพูดจาซื่อๆ ก็เลยรวบรวมเงินใส่ซองฝากถวายหลวงพ่อร่วมบุญบูรณะ 93,000 จ๊าด และพระอาจารย์ชัยวัฒน์เติมไปอีก 100 ยูเอสดอลลาร์ เพื่อร่วมสร้างทั้งหมดในบริเวณวัดแห่งนี้

ระหว่างนั้นมีคนเห็นพระอาทิตย์ทรงกลด แสดงว่า บุญนี้ไม่ธรรมดา ทำบุญเสร็จแล้วก็มาถ่ายรูปร่วมกัน เวลาย้อนดูทีหลัง จะได้เป็นพุทธานุสติ บุญใหญ่วันนี้ยังมีอีกหลายแห่ง..สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 30/4/18 at 06:26

[ ตอนที่ 15 ]

(Update 15 พฤษภาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สอง) วันที่ 15 มกราคม 2561 (พระเจดีย์กันยี-พระใหญ่บ้านลิตัก-พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ)


(จุดที่ 3) พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ หรือ "วัดใหญ่ละมาย" บ้านละมาย เมืองเย

...ในตอนสายของวันที่ 15 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการเดินทางแสวงบุญในพม่า สมาชิกรถตู้ 13 ชีวิตได้มาถึงสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของรัฐมอญ

"พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ" หรือ "พระเจดีย์วัดใหญ่ละมาย" เป็นอีกแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์มอญ ที่มีผู้คนศรัทธานับถือกันมาก

เพราะเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ตามประวัติเล่าว่า บริเวณนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ คือเคยเกิดเป็น "ม้า" และ "กิ้งก่า" อยู่แถวนี้ด้วย

พระอาจารย์ชัยวัฒน์เคยมาที่นี่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2553 ครั้งนั้นมีพระมอญเป็นผู้พามา เดิมทีพระอาจารย์เข้าใจว่า พระเจดีย์ไจ้ทีซอ (ไจ้ทีละสะ) เมืองเกลาสะ มีแค่แห่งเดียว


...(หมายเหตุ) พระเจดีย์ไจ้ทีซอ (ไจ้ทีละสะ) เมืองเกลาสะ (อันดับที่ 63 ในพม่า ตามหนังสือตามรอยพระพุทธบาทเล่มเล็ก)

พระอาจารย์ขอแจ้งให้ทราบว่า เป็นการบันทึกข้อมูลที่ผิดพลาด ความจริงชื่อ "พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ" มีอยู่ 2 แห่ง คือ "วัดใหญ่ละมาย" และที่ "เมืองบีลิน" ซึ่งจะนำไปเล่าตอนขากลับ

จึงขออัพเดทข้อมูลใหม่ดังนี้ อันดับที่ 63 พระเจดีย์ไจ้ทีซอ เมืองบีลิน ส่วนข้อความ (ไจ้ทีละสะ) เมืองเกลาสะนั้นผิด ความจริงก็คือ "พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ" เมืองบีลิน ซึ่งอยู่บนเขาสูง
ขอเล่าเรื่องต่อไปว่า

แต่หลังจากได้พบกับพระมอญ ท่านบอกว่า ยังมีอีกแห่งหนึ่งที่ชื่อเหมือนกัน นั่นก็คือที่บ้านละมายแห่งนี้ ซึ่งก็ตรงกับตำนาน "พระเกศาธาตุ" ของชาวมอญ ที่บันทึกไว้ว่า

"พระฤาษีเกลาสะ" มีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุไว้ที่ "พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ" บ้านละมาย เมืองเย (อันดับที่ 10 ในตำนานมอญ)

หากท่านใดมีโอกาสมายังบ้านละมาย ก็ควรมาสักการะพระเจดีย์แห่งนี้ครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลค่ะ

เมื่อเข้ามาในบริเวณวัด ก็สัมผัสได้ถึงความสะอาดเรียบร้อยงามตา แสดงว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ภาพชาวบ้านกวาดลานวัดอย่างตั้งอกตั้งใจมีให้เห็นอยู่ทั่วไป

แม้จะไม่ได้มีทรัพย์สินมากมาย แต่คนที่นี่ก็ใช้แรงกายผสานกับแรงศรัทธาแปรเป็นบุญ ท่านผู้อ่านจะลองไปทำบ้างก็ได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์นะคะ วัดบ้านเราจะได้สะอาดสวยงาม แถมได้บุญใหญ่ด้วย

ท่านได้นำเงินกองกลางที่แบ่งจัดสรรไว้แล้ว มาร่วมบูรณะ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด พอดีเหลือบไปเห็นระฆัง ตั้งวางไว้ให้คนได้ร่วมบุญ จึงร่วมบุญถวายระฆัง 13 ใบ (เท่ากับจำนวนสมาชิก) อีก 13,000 จ๊าด

หลังจากกราบไหว้บูชา "พระเกศาธาตุ" และถวายเครื่องบูชาแล้ว ระหว่างเก็บของเพื่อไปที่ต่อไป ปรากฏว่า มีพระอาทิตย์ทรงกลดอีกรอบ นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วตั้งแต่มาพม่ารอบนี้ สาธุๆๆ บุญใหญ่ยังมีต่อนะคะ แต่ใกล้เวลาฉันเพลแล้ว คงต้องแวะหาอาหารใส่ท้องก่อนนะคะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 5/5/18 at 21:04

[ ตอนที่ 16 ]

(Update 20 พฤษภาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สอง) วันที่ 15 มกราคม 2561 (พระเจดีย์กันยี-พระใหญ่บ้านลิตัก-พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ-รอยพระพุทธบาทเกาะกูด)

(จุดที่ 4) รอยพระพุทธบาทเกาะกูด (Kalegauk Island) หมู่บ้านไนเต้า เมืองเย

...หลังจากออกจากพระเจดีย์ไจ้เกลาสะ หรือ "วัดใหญ่เมืองละมาย" แล้ว คณะรถตู้ออกเดินทางต่อไปที่ท่าเรือ เพื่อไปยัง "รอยพระพุทธบาทเกาะกูด"

เนื่องจากเป็นเวลาใกล้จะฉันเพล ชาวคณะ "ตามรอยพระพุทธบาท" จึงแวะรับประทานอาหารพื้นบ้านแถวๆ ท่าเรือที่หมู่บ้านเกาะโด๊ด (Kawdut)

(สภาพเมื่อปี 2553 บ้านหลังคามุงจาก แต่ปัจจุบันนี้เจริญมากขึ้น)


ด้วยความคิดถึงอาหารไทยใจจะขาด ถึงจะได้รับประทานอาหารไทยกันแทบทุกมื้อตั้งแต่มาถึงที่นี่ก็ตาม เราก็ยังโหยหาอาหารไทยกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะ "ไข่เจียว" เมนูโปรด

พม่าเจียวก็ไม่เหมือนคนไทยเจียว พี่ต่ายและพี่แตน เชฟใหญ่จากไอร์แลนด์เลยลงมือเข้าครัวเอง ชาวบ้านที่นี่มีอัธยาศัยดีมาก เพียงแค่เอ่ยปากขอซื้อไข่และขออนุญาตทอดไข่เอง เขาก็อนุญาตด้วยความเต็มใจ แถมยังมายืนดูด้วยความสนใจอีกด้วย

หลังจากผ่านไปอีกหนึ่งมื้อด้วยความเรียบร้อย พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้เจรจาต่อรองราคาเช่าเรือหางยาวกับชาวบ้านอยู่นานกว่าจะลงตัว

เมื่อครั้งที่พระอาจารย์เคยมาเมื่อ 8 ปีที่แล้วราคาถูกกว่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป ราคาเช่าเรือก็ผันแปรไปตามสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น

พระอาจารย์อยากให้เราเก็บเงินไว้ทำบุญ อะไรที่สามารถประหยัดได้ ก็สมควรประหยัด

หลังจากต่อรองสำเร็จแล้ว ยังต้องนั่งรอเรือมารับอยู่พักใหญ่ ได้ขึ้นเรือประมาณ 11.45 น. ตอนแรกตัวแทบไหม้ อย่างที่รู้กันว่า ที่พม่าแดดแรงมาก แล้วยิ่งเป็นเวลาเที่ยง ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

แต่พอขึ้นเรือปุ๊บ แดดร่มปั๊บ เหมือนมีเมฆที่มองไม่เห็นมากางกั้นความร้อนให้ คลื่นลมในทะเลก็ดูจะเป็นใจ ราบรื่นสะดวกทุกอย่าง นั่งกันเพลินๆ ผ่านไปเกือบชั่วโมง เรือก็ถึงฝั่ง หลังจากขึ้นฝั่งแล้ว ต้องเดินต่อไปอีกสักพัก


เมื่อครั้งก่อนพระอาจารย์ชัยวัฒน์มากับพระมอญ เรือพาไปส่งที่ท่าเรือในหมู่บ้านไนเต้า แล้วต้องเช่ารถมอเตอร์ไซด์ของชาวบ้านต่อไปอีก


แต่ปัจจุบัน เรือพามาขึ้นฝั่งที่ใกล้รอยพระพุทธบาทยิ่งขึ้น จึงดูเหมือนจะย่นระยะทางให้ใกล้ขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเดินอยู่ดี

รอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งมองเห็นอยู่บนยอดเขาลิบๆ ต้องเดินขึ้นบันไดไปอีก แต่พอมาถึงศาลาที่อยู่เชิงเขา เล่นเอาหอบกันเลยทีเดียว แต่ยังต้องไปต่อ


ทางขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทอยู่แถวๆ โขดหินใหญ่ข้างบน มีประวัติเล่าว่า เคยมีพระจากที่นี่ไปเรียนที่ศรีลังกา และเจอตำนานของศรีลังกาเล่าว่า

พระอานนท์ได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระพุทธบาท เพื่อให้คนได้บูชากราบไหว้ รวมไปถึงเหล่าพญานาคและเทวดา

พระภิกษุรูปนั้นเมื่อกลับมาแล้ว จึงได้ออกค้นหา ท่านได้อธิษฐานจิตว่า จะใช่รอยพระพุทธบาทจริงหรือไม่ เทวดาก็ได้มายืนยันเนรมิตให้เห็นว่า เป็นของจริง

สมัยก่อนเคยมีนักเดินเรือมาที่เกาะนี้ และคิดจะระเบิดหินก้อนนี้นำลงเรือไปสร้างถนน ปรากฏว่า ระเบิดไม่ทำงานและเครื่องจักรก็ระเบิด เรืออับปางจมลงไป ทิ้งสมอเรือใหญ่ขึ้นสนิมไว้ที่ริมชายหาด

สถานที่นี้จะมีงานฉลองประจำทุกปี ประมาณ 7-8 วัน ตั้งแต่วันพระ 8 ค่ำ ถึงวันพระ 15 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี คนเรือเล่าว่าจะมีชาวบ้านมาร่วมงานกันมาก

(รูปภาพสมัยปี 2553)

ปัจจุบันได้มีการสร้างมณฑปขึ้นมาใหม่ ตอนแรกพระอาจารย์จำไม่ได้ นึกว่าคนละที่ รอยพระพุทธบาทอยู่ลึกลงไปด้านล่าง ทาสีทองเอาไว้ เป็นรอยข้างซ้าย มีลูกกรงกั้นไว้

พระอาจารย์ทำพิธีบวงสรวง สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน สรงน้ำหอม ปิดทอง พร้อมทั้งถวายผ้าทองและดอกบัวแก้ว โดยใช้วิธีผูกเชือกแล้วหย่อนลงไป เหมือนได้ถวายแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ยิ่งทำให้ปลื้มปิติเป็นที่สุด

หลังจากเดินกลับลงมา จะมีกุฏิพระอยู่หลายหลังได้พบกับพระที่ดูแลที่นี่ พระอาจารย์จึงได้ร่วมทำบุญเป็นค่าทำถนนขึ้นมาบนนี้ และค่ากระแสไฟฟ้าอีกประมาณ 70,000 จ๊าด

การมายัง "รอยพระพุทธบาทเกาะกูด" ในครั้งนี้ สำเร็จไปด้วยดี ส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังใจของเรา ที่ตั้งใจดั้นด้นมากราบรอยพระบาทถึงที่ แม้จะยากลำบากแค่ไหน ก็ไม่หวั่น

จะว่าไป ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าสภาพอากาศคลื่นลมไม่อำนวย ก็นับว่าเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต การตามรอยพระพุทธบาทจึงต้องมีกำลังใจเข้มแข็ง และวางอารมณ์ไม่ห่วงในชีวิต จึงจะสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังต้องขอบคุณเบื้องบนที่ท่านช่วยสงเคราะห์ให้การเดินทางครั้งนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เราออกจากเกาะเป็นเวลาบ่ายคล้อยแล้ว

ตามโปรแกรมวันนี้ยังเหลืออีกหนึ่งที่ ซึ่งจะต้องล่องกลับไปตามทางเดิม แล้วไว้ตอนหน้าค่อยเฉลยนะคะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 15/5/18 at 08:57

[ ตอนที่ 17 ]

(Update 25 พฤษภาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สอง) วันที่ 15 มกราคม 2561 (พระเจดีย์กันยี-พระใหญ่บ้านลิตัก-พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ-รอยพระพุทธบาทเกาะกูด-พระพุทธรูปไจ้คามี)


(จุดที่ 5) พระพุทธรูปลอยน้ำ วัดไจ้คามี (Kyaikkami Yele Pagoda)

...หลังจากกลับออกจาก "เกาะกูด" ด้วยใจอิ่มบุญแล้ว เวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง คณะรถตู้ 2 คันได้วิ่งย้อนกลับมาทางเดิม แต่มีทางแยกซ้ายไปที่ "เมืองตันบูซายัค"

เพื่อไปไหว้ "พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณ" ที่สำคัญของพม่า ที่แหลมไจ้คามี (มหาสมุทรอินเดีย) อยู่ห่างจากที่นี่ไปประมาณ 88 กิโลเมตร

บรรดาสมาชิกทั้งหลาย ต่างก็นั่งหลับๆ ตื่นๆ กันเป็นพักๆ ตลอดทาง เพราะเริ่มจะออกอาการอ่อนเพลียจากการเดินทางตลอดทั้งวัน และนี่เป็นโปรแกรมที่สุดท้ายของวันนี้ค่ะ

เรามาถึง "วัดไจ้คามี" ซึ่งอยู่ริมชายทะเล เป็นเวลาพระอาทิตย์ใกล้จะอัสดงแล้ว มองไกลๆ คล้ายๆ ไข่แดง พระเจดีย์ตั้งอยู่กลางทะเล มีทางเดินยาวยื่นออกไป พวกเราต้องรีบวิ่งไปเก็บภาพกัน ก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน เอ้ย..โทษค่ะ..ตกทะเลไป

นับเป็นพระเจดีย์กลางน้ำ (Yele หรือ Yaele) แห่งที่สองของพม่า ซึ่งแห่งแรกอยู่ที่ "เมืองสิเรียม" ที่เรารู้จักกันดี ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เราจะไปไหว้กันภายหลัง


พระเจดีย์กลางน้ำ "ไจ้คามี" งดงามราวกับภาพวาด เสียดายที่มาถึงเย็นไปหน่อย ภาพถ่ายเลยไม่ชัดเจนนัก เราเดินกลมกลืนไปกับคนที่นี่ เพราะใส่ผ้าถุงกันทั้งคณะ

กิจวัตรประจำวันของคนมอญคนพม่าเวลาเย็น ส่วนใหญ่นิยมมาสวดมนต์ที่วัดกัน เป็นภาพที่เห็นทุกวันตอนอยู่ที่นี่ นึกชื่นชมอยู่ในใจ และอยากให้บ้านเราเป็นแบบนี้บ้าง

เราเดินไปตามทางเดินที่ทอดยาวลงไปในทะเล ไปยังวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ผ่านอาคารไม้ที่สร้างเป็นแถวยาว

สำหรับเป็นที่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ และผู้มาปฏิบัติธรรม เล่ากันว่า เหตุที่สร้างวิหารยื่นออกไปในทะเล เพราะว่าบริเวณนี้เป็นจุดที่พระพุทธรูปได้ลอยน้ำมาติดอยู่ตรงจุดนี้

เมื่อมาถึงวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูป จะขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ส่วนผู้หญิงต้องเดินไปเข้าอีกทางหนึ่ง เป็นศาลาอีกหลังที่อยู่ใกล้กัน สามารถมองเห็นพระพุทธรูปที่อยู่ด้านในได้ พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนแท่นสูงหลายองค์ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันทุกองค์

พระพุทธรูปไจ้คามีองค์นี้เป็น 1 ใน 4 พระพุทธรูป "ลอยน้ำ" ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมอญ ที่เก่าแก่มีมาแต่โบราณ ตาม "ตำนานมอญ" ในหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท เล่ม 4" โดย พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต

ซึ่งมีเรื่องเล่าคล้ายตำนานของไทย 4 องค์ คือ หลวงพ่อโสธร, หลวงพ่อวัดบ้านแหลม, หลวงพ่อวัดไร่ขิง, หลวงพ่อวัดบางพลี นับเนื่องเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองก็ว่าได้

ประวัติพระพุทธรูปลอยน้ำ 4 องค์


...สมัย "พระเจ้าอโศกมหาราช" ครองเมืองปาฏลีบุตร ได้ส่งพระราชโอรสคือ "พระมหินทเถระ" ไปประกาศพระศาสนาที่ลังกาทวีป

ในเวลานั้น "พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ" เป็นเจ้าผู้ครองนครอนุราธปุระ พระองค์ได้สร้างพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก

ในจำนวนพระพุทธรูปหลายองค์ มีอภินิหารเกิดขึ้นกับพระพุทธรูป 4 องค์ คือ เกิดมีรัศมีขึ้น และองค์พระก็กระพริบตาได้ด้วย

พระราชาทรงปีติมาก จึงอยากจะนำพระพุทธรูปไปบูชาที่พระราชวัง แต่พระมหินทเถระทูลแนะนำว่า ไม่ควรนำไปบูชาเป็นส่วนพระองค์ อยากให้พระพุทธรูปได้ไปตามที่ท่านปรารถนาจะไป

พระราชาจึงทรงตกลงและตั้งจิตอธิษฐานลอยพระพุทธรูปลงสู่มหาสมุทรอินเดีย เมื่อปีพ.ศ.237 ที่ท่าเรือชมพูโกละ

พระพุทธปฏิมากรได้แสดงอภินิหารอีก มีรัศมีสว่างและกระพริบตา แล้วได้ลอยไปในมหาสมุทรอินเดียอย่างรวดเร็ว

- องค์ที่ 1 ลอยเข้าทางปากอ่าวเบงกอลไปที่ "เมืองพะสิม" มีชื่อว่า "ชเวมุธอว์" (Shwe Moke Htaw)

- องค์ที่ 2 ลอยไปถึงชายทะเล แหลมไจ้คามี "เมืองมะละแหม่ง" มีชื่อว่า "ไจ้คามี"

- องค์ที่ 3 ลอยไป "เมืองทวาย" มีชื่อว่า "ชินโมที"

องค์ที่ 4 หายไปในทะเลนานหลายร้อยปี แล้วลอยไปโผล่ที่ "เมืองไจ้โท้" คือพระพุทธรูป (ไฝเลื่อน) ไจ้ปอลอ (kyaikpawlaw) ทางไปพระธาตุอินทร์แขวน พวกเราจะไปกราบไหว้ในวันต่อไป

ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสี่องค์นี้ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ติดตามไปกราบได้ครบหมดแล้ว สามารถโมทนาบุญย้อนหลังกับพระอาจารย์ได้ค่ะ

ส่วนพระพุทธรูปที่เห็นอยู่ในมณฑปทั้งหมดจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจำลององค์จริงขึ้นมา ส่วนองค์จริงนั้น จะเป็นไม้ มีหน้าตัก 20 นิ้ว ปัจจุบันได้สร้างเจดีย์องค์เล็กครอบไว้ด้านบน

องค์พระก็จะบรรจุไว้ข้างใต้พระเจดีย์ เหตุที่ทำเช่นนี้ เพราะว่าเมื่อปี พ.ศ.2463 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่วิหาร จึงทำเช่นนี้เพื่อให้ปลอดภัย

พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำคณะกราบสักการะและถวายเครื่องบูชา อันมีบายศรี ฉัตรเงินฉัตรทอง แผ่นทอง อัญมณี น้ำปรุง พร้อมทั้งผ้าทอง

และร่วมทำบุญบูรณะ 45,000 จ๊าด ค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด และถวายดอกไม้พร้อมด้วยผ้าห่มองค์พระอีก 5,000 จ๊าด

หลังจากกลับมาขึ้นรถ ถ้ามองไปบนภูเขาสูงแต่ไกล ข้างบนนั้นคือ "้พระเจดีย์ไจ้คำ" (มอจีพญา) อันเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ด้วย แต่เวลาไม่อำนวย จึงตั้งจิตอธิษฐานไปกราบแทน

จากนั้นก็ขึ้นรถกลับเป็นเวลามืดค่ำแล้ว โดยย้อนกลับไปทางเดิม คือผ่าน "บ้านมุด่อง" จนไปถึงเมืองมะละแหม่ง กว่าจะหาที่พักได้ก็ย่ำแย่เหมือนกัน

เอาเป็นว่า..โปรแกรมวันที่ 2 (รวม 5 แห่ง) ก็สำเร็จลงด้วยดี แล้วพบกันตอนต่อไปนะคะ ตอนหน้ามีการผจญภัยบนรถขนหมูเล็กๆ (ทำไมต้องเรียกว่า รถขนหมู?)...แล้วจะมาเฉลยค่ะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 20/5/18 at 08:31

[ ตอนที่ 18 ]

(Update 30 พฤษภาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สาม) วันที่ 16 มกราคม 2561 (พระเจดีย์นอว์ละบู)

(จุดที่ 1) พระเจดีย์นอว์ละบู (Nowrlaboo Taung Pagoda) เมืองปอง (Paung) เมาะตะมะ

...เช้าวันที่ 16 มกราคม 2561 ล่วงเข้าสู่วันที่ 3 ของการเดินทาง คณะรถตู้ออกเดินทางจากที่พักเวลาประมาณ 6.40 น. หลังจากทานอาหารเช้ากันแล้ว

คำนวณระยะทางจากเมืองมะละแหม่งขึ้นไปเมืองปอง ประมาณ 30 นาที (ผู้อ่านคงจะเข้าใจดีว่า เราล่องใต้ไปถึง "ละมาย" ย้อนกลับขึ้นมาที่ "ไจ้คามี" แล้วกลับมาค้างคืนที่มะละแหม่ง)

หลังจากนี้เราจะขึ้นสูงไปเรื่อยๆ ถึงเมืองสะเทิม, หงสาวดี, ย่างกุ้ง นี่เป็นโปรแกรมเดินทางที่ท่านวางแผนไว้แล้ว โดยเฉพาะวันนี้จะต้องมีการขึ้นเขาสูงประมาณ 3 แห่ง (ถ้าดูตามแผนที่จะไปที่พระเจดีย์นอว์ละบู, ซินไจ้ก่อน)

ด้วยเหตุนี้ พระอาจารย์ชัยวัฒน์จึงนัดหมายกับคนขับรถ เพื่อซักซ้อมเส้นทางก่อนออกเดินทาง เพราะท่านก็ยังไม่เคยไปมาก่อน แต่ท่านก็ได้เห็นรูปพระเจดีย์นี้แล้ว

อีกทั้งเป็นการมาตามเก็บที่ตกค้างเมื่อปี 2553 ด้วย จึงต้องเตรียมวางแผนล่วงหน้า เพื่อความปลอดภัย และจะต้องกลับมาให้ทันฉันเพลอีกด้วย


"พระเจดีย์นอว์ละบู" เมืองปอง เป็นเป้าหมายแรกของเราในวันนี้ เป็นไฮไลท์อีกแห่งหนึ่งของการเดินทางทริปนี้ ที่ไม่มีวันลืมเลือน รถวิ่งข้ามสะพานแม่น้ำสะโตง ติดกับอ่าวมะตะบัน ผ่านเมืองเมาะตะมะ

พอไปถึงต้องรอคิวรถหกล้อ ที่จะเป็นราชรถของเราในวันนี้อยู่พักใหญ่ เพราะต้องรอคนเต็มก่อนถึงจะออก ก็เลยเช่าเหมารถในราคา 45,000 จ๊าด เพื่อช่วยประหยัดเวลาให้เร็วขึ้น

"รถหกล้อเปิดประทุน" นี้ คนพม่าใช้ขับขึ้นเขาโดยเฉพาะ มีความเก๋ไม่เหมือนใคร สมรรถนะไม่ต้องพูดถึง สามารถวิ่งไปตามทางคดเคี้ยวบนภูเขาสูงได้แบบสบายใจหายห่วง

ดูไปดูมาก็คล้าย "รถขนหมู" เราเลยเรียกกันเล่นๆ ว่า เป็นการผจญภัยบนรถขนหมู ดีที่คนขับชำนาญเส้นทาง ที่ส่วนใหญ่เป็นโค้งหักศอก โหดยิ่งกว่าทางขึ้นพระธาตุอินทร์แขวน

เขาคงหนวกหูกับเสียงกรีดร้องด้วยความหวาดเสียวของคณะทัวร์คนไทยอยู่เหมือนกัน ส่วนหมู่เฮาชาวไทยก็ลุ้นระทึกว่า เมื่อไหร่จะถึงเสียที เพราะวิ่งขึ้นเขาหลายลูกอยู่เหมือนกัน


...ตามคำบอกเล่าว่า พระเจดีย์แห่งนี้เดิมเรียก "พันธิเศลา" ตามประวัติบรรจุพระเกศาธาตุไว้ 1 เส้น สร้างก่อนพระธาตุอินทร์แขวน 5 ปี โดยผู้สร้างเป็นคณะเดียวกัน

พระเกศาธาตุบรรจุอยู่ในหิน 3 ก้อนที่เทินกันอยู่ มีการทาสีทองทับไว้ มองไกลๆ คล้ายศีรษะพระฤาษี มีความอัศจรรย์คล้ายๆ พระธาตุอินทร์แขวน


พระอาจารย์ชัยวัฒน์ร่วมทำบูญบูรณะ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด ขาลงจากเขายังตื่นเต้นเหมือนเดิม

เสียดายที่มายาก และไม่ได้เป็นที่รู้จักเหมือน "พระธาตุอินทร์แขวน" (ไจ้ทีโย) คนเลยมาไม่เยอะ เป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่จะอยู่ในความทรงจำตลอดไปค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 25/5/18 at 09:05

[ ตอนที่ 19 ]

(Update 5 มิถุนายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สาม) วันที่ 16 มกราคม 2561 (พระเจดีย์นอว์ละบู-ซินไจ้)


(จุดที่ 2) พระเจดีย์ซินไจ้ (Zinkyaik Pagoda) บ้านซินไจ้ เมืองอะเปา



...หลังจากผ่านช่วงเวลาผจญภัยอันน่าตื่นเต้นบน "รถขนหมู" ลงมาจากยอดเขาอย่างปลอดภัยแล้ว ยังไม่ทันได้พักหายใจหายคอ ก็ต้องไปกันต่อ

ดังที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์ท่านมักจะย้ำเตือนอยู่เสมอ เรื่องการรักษาเวลา ยิ่งทำเวลาได้รวดเร็วเท่าไร โอกาสที่จะได้ไปกราบไหว้สถานที่สำคัญได้ครบถ้วนก็มีมากขึ้น

พวกเราเลยติดนิสัยทำอะไรด้วยความว่องไว ทั้งนั่งไว นอนไว เดินไว แล้วก็กินไว เอ๊ย...ม่ายช่าย เกือบจะเอาความลับมาตีแผ่ซะแล้ว

ที่ไวที่สุดคงจะเป็นเรื่องทำบุญไว อันนี้ไวจริงๆ ควักกระเป๋าทำบุญกันไวกว่าแสง เปิดกระเป๋าสตางค์กันแทบไม่ทัน

ความประทับใจ "พระเจดีย์นอว์ละบู" ยังไม่ทันจางหาย เราเดินทางมาไหว้พระเจดีย์สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองมอญ นั่นคือ "พระเจดีย์ซินไจ้" เมืองอะเปา

ทั้งนี้ จะต้องนั่งรถสองแถวรับจ้างหกล้อขึ้นยอดเขาอีกเช่นกัน แต่ถนนหนทางไม่โหดเท่ากับนอว์ละบู นั่งโยกไปโยกมาพอขำๆ สักพัก ก็มาถึงยอดเขาสูง

แต่ต้องเดินขึ้นบันไดต่อไปอีกหน่อย มองลงมาเห็นวิวเบื้องล่างแบบพาโนรามา สวยงามจนสมาชิกบางท่านลืมไปว่า ตัวเองกลัวความสูง

ตามที่ปรากฏใน "คัมภีร์ศาสนวงศ์" อ้างในศิลาจารึก พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองมอญ พร้อมกับพระภิกษุ 20,000 รูป (บางแห่งว่า 500 รูป) และประทานพระเกศาธาตุ 6 องค์ แก่พระฤาษี 6 ตน โดย 2 ใน 6 องค์เป็นพี่น้องกัน

ฤาษีผู้พี่นำพระเกศาธาตุบรรจุไว้ที่ "พระธาตุอินทร์แขวน" หรือ "พระเจดีย์ไจ้ทีโย" (จะเล่าประวัติเพิ่มเติมภายหลัง)

ส่วนฤาษีผู้น้องนำมาบรรจุไว้ที่ยอดเขาซินไจ้ ซึ่งก็คือ "พระเจดีย์ซินไจ้" ในปัจจุบัน เดิมชื่อ "ภูเขาคัชชะคีรี" สถานที่แห่งนี้ยังเป็นจุดที่พระฤาษีทั้งหกมารับ "พระเกศาธาตุ" จากพระพุทธเจ้าด้วย

จึงนับว่ามีความสำคัญ ปัจจุบันว่ากันว่ามี "พญานาคี" (พญานาคเพศเมีย) อารักขาดูแลอยู่ และศักดิ์สิทธิ์มาก หากปรารถนาสิ่งใด ที่ท่านสามารถช่วยได้ ถ้ามาขอพร ก็มักจะสำเร็จ


พระเกศาธาตุ 6 แห่ง (The Chakesadhatuvamsa)

...สำหรับในตำนาน "พระเกศาธาตุ" ในรัฐมอญ มีพระเกศา 15 พระองค์บรรจุไว้ในพระเจดีย์ต่างๆ แต่ในที่นี้จะขอนำมา 6 แห่ง ซึ่งเป็นการประทานให้พร้อมกัน ณ ดินแดนที่ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า 6 สถานที่ ดังนี้

- 1. ฤาษีติสสะกุมาร มีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ซินไจ้ (ฤาษีท่านนี้เป็นพี่ของฤาษีสีหะกุมาร และบนยอดเขา "ซินไจ้" กับยอดเขา "ซอยกะเปน" สามารถมองเห็นกันได้)

- 2. ฤาษีสีหะกุมาร มีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้ซอยกะเปน (ภาษามอญเรียกเป็น "ไจ้ซอยบาง") อยู่ที่ "พะอ่าน" รัฐกะเหรี่ยง

- 3. ฤาษีพุทธญาณะ มีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้ทิโย ภาษามอญเรียกว่า "ไจ้อินเสาะเยอ" หรือรู้จักกันในนาม “พระธาตุอินทร์แขวน” เมืองไจ้โท

- 4. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์กุสินาเยา (กุสินารมย์) บนภูเขาชื่อ "โตคะโรล" เมืองปิเลน ใกล้เมืองสะเทิม

- 5. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุเมื่อปี พ.ศ.119 ไว้ที่ "แมลันเจดีย์" (Maelan) หรือ "นาคะปุบพะ" (เป็นภาษาบาลี) บนภูเขาแมลัน เมืองปิเลน

ปัจจุบันเรียกเป็น "ไจ้เต๋าลองนัด" หรือ "เจดีย์ลูกหิน" อยู่ที่เมืองปิเลน (สถานที่แห่งอย่าได้พลาด เพราะสวยงามยิ่งกว่า "พระธาตุไจ้ทีโย" มาก)

- 6. ฤาษีเกลาสะ มีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุไว้ที่ บนภูเขาเกลาสะ ชื่อว่า "พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ" เมืองปิเลน (ชื่อเหมือนกับที่เมืองละมาย)

ส่วนสองพี่น้อง Belu จาก "ไจ้ทีซอง" (Mani Kondala และ Dewa Kondala) ยังได้รับพระเกศานี้ด้วย บรรดาฤษีทั้งหลายและ belus จึงได้ประดิษฐานพระเกศาธาตุไว้ในก้อนหินใหญ่



("ยอดเขาซินไจ้" เมื่อปี 2553 ท่านมาถึงแล้ว ได้แต่ยืนไหว้อยู่เบื้องล่าง)

เป็นอันว่า "พระเจดีย์ซินไจ้" ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 พระอาจารย์ชัยวัฒน์เคยมาแล้ว แต่ได้แต่กราบไหว้อยู่ข้างล่าง เพราะเวลาไม่อำนวย ประกอบกับต้องขึ้นเขาสูงชัน

...อีกทั้งสมัยนั้นสภาพถนนหนทางยังไม่ดี การมาครั้งนี้เลยจัดเครื่องบูชาถวายเต็มที่ โดยเฉพาะผู้สร้างพระเจดีย์แห่งนี้ คือ เจ้าอาวาสวัดไจ้ทีซอง (Kyite Htee Saung Sayadaw) เมืองปิเลน

ชาวบ้านเรียกกันว่า "ท่านไจ้ทีซองสยาดอว์" เป็นพระเกจิอาจารย์สำคัญของชาวมอญ ขณะนี้ศพของท่านไม่เน่า ไว้จะเล่าภายหลัง

ในช่วงชีวิตของท่านได้บูรณะ "พระเกศาธาตุ" เจดีย์ 9 แห่ง (วัดของท่านนี้ยังมี "พระเกศาธาตุ" บรรจุอยู่ใน "พระเจดีย์ไจ้ทีซอง" อีกด้วย)

ส่วนพระเจดีย์ซินไจ้ เป็นหนึ่งที่ท่านสร้าง โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ เจดีย์ และทำถนนขึ้นไปด้านบน ปัจจุบันเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม สำหรับนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่น

เมืองปิเลนนี้ จึงมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ซึ่งจะต้องกลับมาเก็บทีหลัง ในตอนนี้ขอเก็บที่ยากบนภูเขาสูงๆ กันก่อน

ฉะนั้น ก่อนจะกลับลงมาจากซินไจ้ เพื่อให้สมกับที่รอคอยมาหลายปีกว่าจะได้หวนกลับมาอีก และได้ร่วมทำบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด

เมื่อบุญสำเร็จแล้ว ก็กลับไปขึ้นรถสองแถวรับจ้างที่รออยู่ เพื่อไปฉันเพลที่ร้านอาหารพื้นบ้านแถวๆ นั้น พี่คนขับการันตีว่า..แซ่บเว่อร์

แต่อย่างไรเราก็ไม่พลาดที่จะหยิบน้ำพริกหลากหลายสายพันธ์ุ ที่พกมาจากเมืองไทยติดไม้ติดมือไปด้วย ช่วยให้เจริญอาหารได้อีกเยอะเลยค่ะ

เป็นอันว่า ในช่วงเช้าได้กราบไหว้พระเจดีย์สำคัญถึง 2 แห่ง อยู่บนยอดเขาสูงทั้งคู่ และเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระฤาษีเหมือนๆ กันอีก

ในช่วงบ่ายมีโปรแกรมไปไหว้พระเจดีย์สำคัญอีกหลายแห่ง บอกใบ้อีกนิด เป็นพระเจดีย์ระดับเดียวกับ "พระเจดีย์ชเวดากอง" จะเป็นที่ไหน ติดตามได้ตอนต่อไปค่ะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 30/5/18 at 19:10

[ ตอนที่ 20 ]

(Update 10 มิถุนายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สาม) วันที่ 16 มกราคม 2561 (พระเจดีย์นอว์ละบู-ซินไจ้-ชเวซายาน)

(จุดที่ 3) พระเจดีย์ชเวซายาน (Shwesaryan Pagoda) เมืองสะเทิม

...หากจะเอ่ยถึงพระเจดีย์ที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของพม่า ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะนึกถึง "พระเจดีย์ชเวดากอง" เมืองย่างกุ้ง เป็นลำดับแรก เพราะเป็นพระเจดีย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในพม่า โดยเฉพาะในหมู่นักแสวงบุญชาวไทย

แต่ในตอนนี้ "คณะตามรอยพระพุทธบาท" เฉพาะกิจ (เวอร์ชั่น Special Myanmar) จะพาท่านไปรู้จักกับพระเจดีย์ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันอีกแห่งหนึ่ง

นั่นคือ "พระเจดีย์ชเวซายาน" (Shwe saryan) แห่งเมืองสะเทิม (Thaton) หรือ "เมืองสุธรรมวดี" ตามที่พวกเราเคยได้ยินหลวงพ่อวัดท่าซุงเล่ามานานแล้วว่า

"พระพุทธโฆษาจารย์" ชาวเมืองสุธรรมวดี เดินทางไปแปลพระไตรปิฎกที่ลังกา แล้วนำกลับมาถวายพระเจ้าพังคราช แห่งโยนกนครเชียงแสน พร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุด้วย

ด้วยเหตุว่ามีความสำคัญดังนี้ จึงขอให้ตามมาพร้อมๆ กันเลยนะคะ หลังจากแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ "ร้านอาหารพื้นเมือง" ในตลาดซินไจ้แล้ว

คณะรถตู้ได้มุ่งหน้าไปยัง "เมืองสะเทิม" (คนที่นี่เรียกว่า "ตะโท") อันเป็นเมืองหลวงของชาวมอญในอดีต เพื่อไปกราบ "ชเวซายาน" พระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองกันต่อไป (ดูภาพประกอบจาก "กูเกิลแมพ" ได้เลยค่ะ)

และเป็นจุดนัดพบกับสองสาวชาวพม่า เพื่อนของ"ลิ้นจี่" (คนงานชาวพม่า "ร้านเจ๊มายิน") ที่ฝากของไปให้ที่บ้าน โดยฝากไปกับสองสาวนี้แหละ เพื่อไปให้แม่ของลิ้นจี่

พอไปถึงช่วงบ่ายก็เจอสองสาวหน้าตาเป็นมิตร ยืนยิ้มแฉ่งรอต้อนรับพวกเราอยู่ แม้เพิ่งจะเจอกันครั้งแรก แต่ก็รู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยเหมือนรู้จักกันมานาน ส่งภาษาคุยกันเป็นภาษาไทยปนพม่าเป็นที่สนุกสนานเฮฮากันไป


(ขอบคุณวีดีโอ - คุณอนันต์ เข็มทอง)

...สำหรับประวัติ "พระเจดีย์ชเวซายาน" พระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองสะเทิมนั้นมีว่า...สร้างโดยกษัตริย์ "สุริยาจันทา" ภายในบรรจุสิ่งของสำคัญของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ในกัปนี้ อันมี

- 1. "พระเกศาธาตุ" ของพระกกุสันโธ 8 เส้น,
- 2. "บริขาร" ของพระโกนาคม,
- 3. "บาตรมรกต" ของพระพุทธกัสสป และ
- 4. "พระเขี้ยวแก้ว" หรือ "พระทันตธาตุ" ของพระสมณโคดม 4 องค์


...ขอนำข้อมูลจาก "พระเจดีย์ชเวดากอง" มาเปรียบเทียบด้วย จะเห็นว่ามีสิ่งของสำคัญบรรจุไว้คล้ายๆ กัน ดังนี้

- 1. "ไม้เท้า" ของพระกกุสันโธ
- 2. "เครื่องกรองน้ำ" ของพระโกนาคม
- 3. "ผ้าจีวร" ของพระพุทธกัสสป
- 4. "พระเกศาธาตุ" ของพระสมณโคดม 8 เส้น


...ตามประวัติเล่าต่อไปว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายัง "เมืองสุธรรมวดี" ครั้งแรกในคืนวันเพ็ญของเดือนตุลาคม (Thadingyat) มหาศักราชที่ 105 ขณะพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมอยู่ที่วัดเวฬุวัน ตามคำนิมนต์ของพระมหากษัตริย์เป็นเวลา 4 เดือน

และได้ทรงประทานพระทันตธาตุ 4 องค์ บรรจุไว้ในผอบที่ทำด้วยทองคำ เงิน และทับทิม แล้วทรงประทานชื่อพระเจดีย์ว่า "ชเวซายาน"

"สะเทิม" เป็นเมืองศูนย์กลางของชาวมอญในอดีต สร้างก่อน พ.ศ. 241 มีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 59 พระองค์ มีการติดต่อค้าขาย ใกล้ชิดกับ อินเดีย และลังกา และกลายเป็นศูนย์กลางหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"อาณาจักรสุธรรมวดี" สลายลงเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1057 (พ.ศ.1600) เนื่องจากพระเจ้าอนิรุทธ (อโนรธามังช่อ) กษัตริย์แห่ง"พุกาม" ได้ยกทัพมาตี

พร้อมทั้งกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สมบัติ พระสงฆ์ พระไตรปิฎก กลับไปพุกาม รวมทั้ง "พระเจ้ามนูหา" กษัตริย์แห่งสุธรรมวดี ด้วยความสามารถของชาวมอญนี่แหละ จึงไปสร้างความเจริญใน "อาณาจักรพุกาม" ต่อไป

เป็นอันว่า พวกเราได้กราบนมัสการพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองชาวมอญชาวพม่าอีกแห่งหนึ่ง พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำกล่าวถวายเครื่องบูชา อันมีบายศรี ฉัตรเงินฉัตรทอง ผ้าห่มสไบทอง พวงมาลัยดาวเรือง อัญมณี น้ำหอม เป็นต้น

จากนั้นได้เห็นพระเจดีย์องค์เล็กด้านหลังกำลังบูรณะอยู่พอดี พระอาจารย์เลยร่วมบุญบูรณะทุกอย่าง 100,000 จ๊าด ค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด บุญสำเร็จลงด้วยดี

ในตอนหน้าจะพาท่านผู้อ่านไป "เมืองบีลิน" บอกได้เลยว่า เป็น Unseen ของเมืองพม่า (ดูภาพประกอบจากแผนที่) ห้ามพลาดนะคะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 5/6/18 at 10:57

[ ตอนที่ 21 ]

(Update 15 มิถุนายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สาม) วันที่ 16 มกราคม 2561 (พระเจดีย์นอว์ละบู-ซินไจ้-ชเวซายาน-แมลัน)


("พระเจดีย์แมลัน" เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเช่นกัน)

(จุดที่ 4) พระเจดีย์แมลัน (Maelan San Taw Shin) เมืองบิลิน

...อย่างที่ทิ้งท้ายไว้เมื่อตอนที่แล้ว ว่าจะพาท่านผู้อ่านไปชม Unseen ของพม่า ในตอนนี้คณะตามรอยพระพุทธบาทจะพาท่านขึ้นเขา เพื่อไปกราบนมัสการ "พระเจดีย์แมลัน" เมืองบิลิน

ซึ่งเป็นหนึ่งในหกแห่งที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ที่ทรงประทานแก่พระฤาษีในรัฐมอญ เมื่อครั้งที่เสด็จมายังดินแดนสุวรรณภูมิ พร้อมพระอรหันต์ 500 รูป

คุณอองซู เจ้าของบริษัทอองซูทัวร์ ที่เราใช้บริการ ได้ตามมาเจอพวกเราที่นี่ ตามนัดหมายจากโชเฟอร์ของเรา ซึ่งเป็นลูกน้องของเขา ได้รายงานการเดินทางให้เจ้านายทุกวัน

วันนี้ได้ข่าวว่า ตีรถมาไกลจากแม่สอดเลย คุณอองซูเป็นคนบิลินแท้ๆ จึงคุ้นเคยกับเส้นทางและสถานที่ย่านนี้อย่างดียิ่ง โดยสร้างอาคารที่พักสองชั้นไว้ในวัดนี้ด้วย คุณอองซูได้พาพวกเราไปกราบท่านเจ้าอาวาส และเป็นล่ามแปลภาษาให้พวกเรา

พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ร่วมบุญบูรณะทุกอย่าง 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด ทราบมาว่า ท่านเจ้าอาวาสกำลังอาพาธ และจะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ

พระอาจารย์ชัยวัฒน์และคณะตามรอยฯ จึงถวายปัจจัยส่วนองค์แด่ท่านเจ้าอาวาส 61,000 จ๊าด และเงินไทยอีก 4,000 บาท

หลังจากพระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้กล่าวนำถวายเครื่องบูชาแล้ว คุณอองซูได้พาชมรอบๆ วัด ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูง เห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ของพม่า มองลงมาเห็นแม่น้ำสีออกขุ่นๆ คุณอองซูเล่าว่า คนชอบมาขุดทองกันแถวๆ นี้


...สถานที่นี้อยู่ในอันดับที่ 6 ของตำนาน "พระเกศาธาตุ" ในรัฐมอญ โดยระบุว่า "ฤาษี" ไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ 1 เส้น บรรจุเมื่อปี พ.ศ.119 ไว้ที่ "แมลันเจดีย์" หรือ "นาคะปุบพะ" (เป็นภาษาบาลี)

บนภูเขาแมลัน ปัจจุบันเรียกเป็น "ไจ้เต๋าลองนัด" หรือ "เจดีย์ลูกหิน" อยู่ที่เมืองปิเลน (สมัยปี 2553 พระอาจารย์ยังไปไม่ได้

แต่ท่านได้รับหนังสือประวัติ (ลิ้นจี่ ลูกน้อง เจ๊มายิน แปลเป็นไทยแล้ว) จากเจ้าอาวาส "วัดพระเจดีย์ไจ้ปะแต" เมืองบิลิน ท่านได้บอกทางไว้ด้วย

ปรากฏว่า "พระเจดีย์แมลัน" อยู่ทางเดียวกับทางไป "พระเจดีย์กุสินาเยา (รมย์)" นั่นเอง สมัยนั้นจึงได้แต่ถ่ายรูปซุ้มประตูทางขึ้นไว้เท่านั้น



(ภาพถ่ายทางเข้า "พระเจดีย์แมลัน" เมื่อปี 2553)

ประวัติ พระเจดีย์แมลัน ซานดอว์เซน

...ตามคำแปลในหนังสือประวัติเล่มนี้ที่ได้มามีว่า เดิมพระเจดีย์นี้ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน หมายถึงพระเจดีย์ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่ในป่าเป็นเวลานาน

จนไม่มีชาวบ้านคนไหนรู้เรื่องมาก่อน เพราะกาลเวลาผ่านมานานนั่นเอง ความจริงสถานที่แห่งนี้มีคำว่า "ซานดอว์เซน" ต่อท้ายด้วย นั่นหมายความว่าเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" นั่นเอง ตามประวัติเล่าต่อไปว่า

วันหนึ่งมีคุณปู่ของผู้ใหญ่บ้าน "เรเซาะเลาะ" มาพบซากพระเจดีย์อยู่ในป่าแห่งนี้ คุณปู่ได้ทำการตัดต้นไม้และปรับพื้นที่บริเวณพระเจดีย์ ชาวบ้านทั้งหลายต่างทราบข่าวก็มากราบไหว้บูชากันอย่างมากมาย

พอตกตอนกลางคืน ชาวบ้านจะได้ยินเสียงเหมือนมีคนเยอะแยะมากมาย แต่พอไปดูกลับไม่มีคนเลย และตอนกลางคืนจะมีแสงฉัพพรรณรังสีเกิดขึ้นด้วย

หนังสือเล่มนี้ยังบอก "พระเกศาธาตุ" ตามสถานที่ต่างๆ อีกด้วย (ตอนขากลับพระอาจารย์มาตามเก็บอีกครั้งหนึ่ง)



...พระเจดีย์ที่นี่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด และไม่มีที่ใดเสมอเหมือน "พระธาตุอินทร์แขวน" ที่ว่า "มหัศจรรย์" แล้ว พอมาเจอ "พระเจดีย์แมลัน" ยิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่า จะเรียกว่า เป็น "อุทยานหินพระฤาษี" ก็ไม่ผิดนัก

เพราะมีหินก้อนใหญ่รูปพรรณสัณฐานคล้ายศีรษะพระฤาษี มีพระเจดีย์อยู่ด้านบนคล้ายๆ "ชฎา" วางเกยกันอยู่หลายก้อน บางก้อนเหมือนแตะกันไว้นิดเดียว เหมือนน่าจะหล่น แต่ไม่หล่น สามารถตั้งอยู่ได้ โดยไม่ตกลงมา

นอกจากนี้ ยังมีหินรูปร่างคล้ายคนนอนอยู่ใต้โขดหินใหญ่ คนที่นี่เล่าว่า เป็นร่างของพระที่กลายเป็นหิน มีมานานแล้ว เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ข้างๆ มีก้อนหินเสี่ยงทาย

คุณอองซูเล่าเสริมว่า แต่ก่อนนี้จะเห็นแค่ศีรษะโผล่มาจากหินเท่านั้น พอนานๆ ไปค่อยๆ เห็นร่างเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก

มีเรื่องเล่าว่า มีคนมาขุดทองแถวนี้ และอธิษฐานขอให้ท่านช่วย พอสำเร็จแล้ว ก็กลับมาทำถนนทางขึ้นเขาถวาย

หลังจากเก็บภาพประทับใจมุมโน้นมุมนี้ให้สมกับที่มายากจนหนำใจแล้ว จึงกล่าวคำอำลาและแยกกับคุณอองซูที่นี่ วันนี้ยังเหลือโปรแกรมที่ต้องไปต่ออีก 1 ที่ แล้วเจอกันตอนหน้านะคะ...สวัสดีค่ะ




"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 10/6/18 at 14:45

[ ตอนที่ 22 ]

(Update 20 มิถุนายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สาม) วันที่ 16 มกราคม 2561 (พระเจดีย์นอว์ละบู-ซินไจ้-ชเวซายาน-แมลัน-กุสินาเยา)

(จุดที่ 5) พระเจดีย์กุสินาเยา (KouThiNarYoun) เมืองบิลิน (Bilin)

...ในตอนนี้เรายังตระเวนกราบไหว้พระเจดีย์สำคัญในเมืองบิลิน ในเขตรัฐมอญกันอยู่นะคะ ยังเหลืออีกหนึ่งแห่งที่เราจะไปกันวันนี้ นั่นคือ "พระเจดีย์กุสินาเยา"

คำนี้ถ้าเป็นภาษาไทยก็คือ "กุสินารมย์" นั่นเอง ไม่อยากบอกเลยว่า ต้องขึ้นเขากันอีกแล้ว เพื่อบุญใหญ่ จะให้ขึ้นเขาลงห้วยอย่างไรก็ยอมค่ะ เพราะยังเหลือ "พระเกศาธาตุ" อีกแห่งเดียวในวันนี้

ระหว่างย้อนกลับมาทาง "พระเจดีย์กุสินาเยา" ก็มีโอกาสได้ทำบุญใหญ่กันอีก อย่างที่ทราบกันว่า พม่าเค้าจะตั้งซุ้มบอกบุญเป็นระยะๆ ตามข้างทาง

ใครผ่านไปผ่านมาอยากจะทำบุญ ก็ทำตามจิตศรัทธา ไม่ได้บังคับ จะมีชาวบ้านผลัดกันมาดูแล ช่วยกันถือขันรับบริจาค

พอดีเราผ่านมาเจอซุ้มทำบุญสร้างฉัตร "พระเจดีย์ติสสะมาเนยยะ" เป็นฉัตรประธานและฉัตรบริวาร ทั้งหมด 9 ฉัตร มีฉัตรตั้งวางข้างๆ เป็นตัวอย่างด้วย


ชาวคณะเห็นแล้วอดใจไม่ไหว รีบลงจากรถตู้ รีบควักเงินจ๊าดที่แลกมาร่วมทำบุญ เติมกันไปเติมกันมาได้ยอดทั้งหมด 100,000 จ๊าด ชาวบ้านเค้าดูจะดีใจมากๆ

เพราะนานๆ จะเจอคนใจบุญทำบุญทีละเยอะๆ ยิ่งเป็นคนต่างชาติด้วยแล้ว นานๆ จะมีมาที พอทำบุญเสร็จ พวกเราก็รีบขึ้นรถไปต่อ มัวแต่โอ้เอ้อยู่..เดี๋ยวจะค่ำเสียก่อน

รถตู้สองคันวิ่งตามกันไปเรื่อยๆ ทางขึ้นเขาค่อนข้างสูงชัน แต่ไม่ใช่ปัญหา เพราะเราได้คนขับรถที่ชำนาญทาง จำกันได้มั้ยคะว่า วันนี้เราขึ้นเขากันกี่แห่งแล้ว..?

เริ่มตั้งแต่เช้าไล่มาตั้งแต่ "พระเจดีย์นอว์ละบู" ตามด้วย "พระเจดีย์ซินไจ้" และ "พระเจดีย์แมลัน" โชคดีที่ไม่มีใครเมารถ (หรือว่าเมาจนหายเมาไปแล้วก็ม่ายรู้)


...ตามตำนานพระเกศาธาตุ "พระเจดีย์กุสินาเยา" บนภูเขาโตกะโรล (ลำดับที่ 5) เป็น 1 ใน 6 แห่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานพระเกศาธาตุ 6 เส้นให้แก่พระฤาษี 6 องค์

จากไจ้ทีโย, ซินไจ้, เขาซอยกะเปน, เกลาสะ, กุสินาเยา และแมลัน ในทริปนี้พระอาจารย์ชัยวัฒน์ตั้งใจจะเก็บให้ครบทั้งหกแห่ง ตอนนี้ก็ได้ 3 แห่งแล้ว

สังเกตดีๆ จะเห็นว่า พระเจดีย์ทั้ง 6 แห่ง ล้วนแต่อยู่บนภูเขาสูง โดยเฉาะพระฤาษีที่อยู่ประจำภูเขาซินไจ้ และภูเขาซอยกะเปน (พะอ่าน) จะจุดไฟในเวลากลางคืนเป็นสัญญานในการติดต่อกัน

เมื่อถึงวัด จอดรถเรียบร้อยแล้ว เราต้องเดินขึ้นบันไดไปอีก พระเจดีย์จะอยู่ข้างบน ต้องชื่นชมพี่ๆ ที่ช่วยกันถือเครื่องบูชาขึ้นเขาลงเขากันไม่รู้กี่รอบ เพื่อบุญใหญ่ ให้ทำอะไรก็ยอมค่ะ


ภายในวิหารมีพระเจดีย์องค์เล็ก ประดิษฐานอยู่ตรงกลางบรรจุ "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้า


ด้านข้างคนละฝั่งจะมีรูปปั้น "พระอุตระ" และ "พระโสณะ" ในอิริยาบถนอน อยู่ในวิหารขนาดย่อม เนื่องจากตามประวัติท่านทั้งสองเคยขึ้นมาบนภูเขาแห่งนี้ งานประจำปีจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปี

ตอนที่เราไปเป็นช่วงใกล้จะเย็นแล้ว จึงมีแต่คณะเราที่มาบูชากราบไหว้ เหมือนข้างบนท่านสงเคราะห์ เราจึงได้กราบสักการะบูชา "พระเกศาธาตุ" อย่างใกล้ชิด

ครั้งที่แล้วพระอาจารย์ชัยวัฒน์เคยมาเมื่อปี 2553 โดยมีพระมอญเป็นผู้พามา มาครั้งนี้รู้สึกว่า วัดได้มีการพัฒนา มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ และดูสะอาดสะอ้านขึ้น ก็หวังว่า สถานที่นี้จะอยู่ครบอายุพระพุทธศาสนา 5,000 ปีด้วยเถิด


(ภาพและเหตุการณ์ เมื่อปี 2553)


คนขับรถเก๋ง (ภาพบน : "คนขับ" คือคนที่ใส่เสื้อสีขาวนุ่งโสร่งสีน้ำตาล) ซึ่งเป็นรถที่เจ้าอาวาสวัดธรรมะโลกะ (มะละแหม่ง) ให้ยืมมา

แต่ผู้เขียนเป็นคนออกค่าน้ำมันเอง รถมีสภาพที่ใช้งานได้พอสมควร และสามารถขึ้นภูเขาได้ตามสภาพถนนที่เห็นนี่แหละ สูงชันเกินไปก็ต้องลงเดินบ้าง


เมื่อรถขึ้นมาถึงยอดเขาสูงสุด จะเห็นมีสำนักสงฆ์ตั้งอยู่บนนี้ มีพระและแม่ชีอาศัยอยู่ แม่ชีได้ออกมาต้อนรับ พร้อมกับพาเข้าไปในวิหารหลังใหญ่ โดยเดินขึ้นไปตามบันไดที่เห็นนี้ ภายในวิหารจะเห็นพระเจดีย์กุสินาเยา


นอกจากวิหารใหญ่หลังนี้แล้ว ยังมีรอยพระพุทธบาท (จำลอง) อยู่ด้านข้างภูเขานี้ด้วย บริเวณนี้มีการแกะสลักเข้าไปเป็นอุโมงค์ภายใน สามารถเดินทะลุผ่านเข้าไปจนถึงวิหารหลังเล็กตามภาพที่เห็นนี้


พวกเราเดินลอดเข้าไป แล้วเดินลงบันได เขาเจาะให้เดินไปได้ตลอดจนถึงวิหารหลังเล็ก ภายในถ้ำอุโมงค์แห่งนี้ มีการแกะสลักพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไว้หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เหลือแต่ฐาน องค์พระคงจะถูกขโมยไปบ้างแล้ว



...ขอย้อนกลับมาถึงตอนนี้ พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ร่วมทำบุญบูรณะทุกอย่าง 50,000 จ๊าด ค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด, ถวายปัจจัยส่วนองค์พระ 5 รูปๆ ละ 5,000 จ๊าด และเณร 3,000 จ๊าด

ก่อนกลับได้เดินชมรอบๆ วัด มองเห็นทิวทัศน์บื้องล่างยามเย็นตอนพระอาทิตย์ใกล้จะลับฟ้า สวยสุดๆ แต่ชมได้แป๊บเดียว ก็ต้องรีบลงจากเขาไปหาที่พักในเมืองบิลินก่อนจะมืดค่ำ

การเดินทางในวันที่ 3 (รวมทั้งหมด 5 แห่ง) คงต้องยุติแต่เพียงเท่านี้ แล้วเจอกันตอนต่อไปค่ะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 15/6/18 at 08:56

[ ตอนที่ 23 ]
(Update 25 มิถุนายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561–11 กุมภาพันธ์ 2561

(วันที่สี่) วันที่ 17 มกราคม 2561 (เมืองบิลิน - พระเจดีย์ยะติต่อง)


(เริ่มจากเมืองบิลิน ผ่านเมืองไจ้โท ขึ้นไปยะติต่อง และไจ้ทีโย)

(จุดที่ 1) พระเจดีย์ยะติต่อง (Ya The Taung Pagoda) เมืองไจ้โท (Kyaikhto) **พบใหม่**

...เริ่มต้นเช้าวันที่ 4 ของการเดินทางในพม่า ด้วยข้าวสวยร้อนๆ และกับข้าวแบบไทยๆ ฝีมือกุ๊กชาวบิลิน ที่รีสอร์ทคุณอองซู เจ้าของบริษัททัวร์ที่จัดหารถตู้ให้พวกเรา (ออฟฟิซอยู่ที่นี่)

ความจริงตามโปรแกรมเดิม พระอาจารย์ท่านจัดให้พักที่เมืองสะเทิม (Thaton) แต่ด้วยการทำเวลาของพวกเราได้ดี ทั้งที่ต้องขึ้นภูเขาสูงหลายแห่ง (วันเดียว 5 แห่ง) ทำให้ต้องเลื่อนมานอนที่เมืองบิลิน (Bilin)

จะว่าไปก็เหมือนโชคชะตากำหนดไว้ ย้อนเวลากลับไปเมื่อวาน กว่าที่คณะรถตู้จะลงจากเขามาถึงตัวเมืองบิลินก็เย็นแล้ว นิ่งนอนใจว่าคืนนี้มีที่พักแน่นอน

เพราะพี่ติ๋ม อภิญญา จองผ่านเว็บไซด์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่อยู่เมืองไทย แต่อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง พอไปถึง เจ้าหน้าที่โรงแรมบอกไม่รู้เรื่องการจอง และคืนนี้ห้องพักเต็มหมดแล้ว

ส่วนรีสอร์ตคุณอองซูเพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน ห้องไม่พอให้พวกเราพัก จึงนอนได้เฉพาะเจ๊มายิน ส่วนนกขมิ้นเหลืองอ่อนอย่างเรา เลยต้องระเห็จระเหินไปนอนอีกที่หนึ่ง

ตอนเช้าเลยแวะมารับประทานมื้อเช้าที่รีสอร์ตของคุณอองซู ที่มีครบวงจรทั้งร้านกาแฟ และร้านอาหาร พวกเราจึงได้ช่วยอุดหนุน "มื้อค่ำ" ตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว

ตามโปรแกรมวันนี้คณะนกขมิ้น เอ๊ย! คณะรถตู้มีโปรแกรมจะไปที่ "พระธาตุอินทร์แขวน" หรือที่คนพม่าเรียกว่า "พระเจดีย์ไจ้ทีโย"

ซึ่งเป็น 1 ใน 6 แห่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานพระเกศาธาตุให้พระฤาษี 6 องค์ในเขตรัฐมอญ ตามตำนานพระเกศาธาตุของมอญ

หลังจากเมื่อวานเราไปกันมาแล้ว 3 แห่ง คือ ซินไจ้, แมลัน และกุสินาเยา "ไจ้ทีโย" ก็จะเป็นแห่งที่สี่ (คงเหลือแต่ "เกลาสะ" และ "ซอยกะเปง" เท่านั้นที่เก็บไว้ตอนขากลับ)



(พระเกศาธาตุ "ยะติต่อง" อยู่ในหนังสือประวัติ พระเจดีย์แมลัน)

...แต่เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว พระอาจารย์ชัยวัฒน์ก็มาเสาะหา "พระเจดีย์ยะติต่อง" บรรจุพระเกศาธาตุ ที่อยู่ที่เมืองไจ้โท้นี้ไปด้วยเสียเลย จะเจอมั้ยหนอ? ช่วยกันลุ้นหน่อยนะคะ เพราะท่านก็ยังไม่เคยมา จึงได้ระบุไว้ว่า **พบใหม่**

สำหรับผู้ที่ต้องการมาแสวงบุญที่ "พระธาตุอินทร์แขวน" ต้องมาตั้งต้นที่หมู่บ้านคินปุน (Kinpun Base Camp) จะเห็นรถบรรทุก 6 ล้อรับจ้างจอดเรียงรายอยู่

เพื่อรับคนขึ้นเขา ต้องไปนั่งรอบนรถ พอคนเต็ม ถึงจะออก พวกเราก็ทำตัวเนียนๆ แทรกตัวกลมกลืนไปกับชาวบ้าน ดูไม่ออกว่า คนไหน..ไทย คนไหน..พม่า

จะว่าไป นั่งรถขนหมูบ่อยๆ ก็เริ่มจะชิน ที่นี่เค้าดีอย่าง เป็นรถเปิดประทุน แต่มีหลังคาเปิดปิดได้ เวลาร้อนก็เอาหลังคาลงมา บังแดดบังลมเวลาขึ้นเขา ไอเดียเค้าดีจริงๆ ค่ะ

เมื่อคนเต็มรถแล้ว นั่งหัวสั่นหัวคลอนไปสักพักประมาณ 45 นาที ก็มาถึงสถานียะติต่อง (Ya The Taung หรือ Ra Thi Taung)

คนที่จะขึ้นไป "ไจ้ทีโย" สามารถขึ้นกระเช้าไฟฟ้าได้ที่นี่ เดี๋ยวนี้พม่า 4.0 เค้าทันสมัย ไม่ธรรมดาเลย ไว้ตอนหน้าจะมาเล่าบรรยากาศให้ฟังนะคะ



...พระอาจารย์ชัยวัฒน์เลยสอบถามข้อมูล "พระเจดีย์ยะติต่อง" จากคนขับรถ คนในพื้นที่รู้จักกันดี อยู่บนเขาเลยขึ้นไปอีหน่อย ต้องเหมารถในราคา 20,000 จ๊าด เพื่อประหยัดเวลา ในที่สุดก็มาถึงจนได้

พอเข้าไปในมณฑป จะมีก้อนหินก้อนใหญ่ทาสีทองอร่าม มีพระพุทธรูปปางทรงเครื่องตามแบบชาวมอญ ประทับนั่งอยู่ด้านบน "พระเกศาธาตุ" น่าจะอยู่ในก้อนหินก้อนนี้

ช่วงที่เราไปเป็นตอนเช้า เลยยังไม่ค่อยมีคนมามากนัก จึงมีแต่คณะเราเท่านั้น ที่เป็นชาวต่างชาติ คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักแต่ "ไจ้ทีโย"

เลยไม่ค่อยมีใครหลงมาเท่าไร จะว่าไป ก็เป็นเรื่องดี จะได้รักษาบรรยากาศที่เงียบสงบสันโดษไว้เช่นนี้ต่อไปนานๆ

พอมาถึงแล้ว ไม่รอช้า รีบทำบุญกันก่อนเลย แต่ไม่เจอพระ เลยหยอดปัจจัยใส่ตู้บริจาค เพื่อบูรณะทุกอย่าง 50,000 จ๊าด พร้อมกับถวายเครื่องบูชา เป็นอันเสร็จพิธี

ด้านบนเขา "ยะติต่อง" นี้สามารถเห็นทิวทัศน์ "ไจ้ทิโย" ได้แต่ไกล กล้องพยายามซูมเข้าไปดู "อินทร์แขวน" แต่ก็มองไม่ชัดนัก ได้เห็นแต่กระเช้าลอยผ่านไปมาเรื่อยๆ

ตอนขากลับต้องเดินลง เพราะรถที่มาส่งเรากลับไปก่อนแล้ว ตอนต่อไปจะพาท่านผู้อ่านไป "พระธาตุอินทร์แขวน" หรือ "Kyaiktiyo Pagoda" ฝรั่งเค้าเรียกว่า "Golden Rock" แล้วเจอกันค่ะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 20/6/18 at 08:14

[ ตอนที่ 24 ]

(Update 30 มิถุนายน 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561


(วันที่สี่) วันที่ 17 มกราคม 2561 (พระเจดีย์ยะติต่อง-ไจ้ทิโย)


เริ่มจากพระเจดีย์ "นอว์ละบู" - ซินไจ้ (อยู่ตรงข้ามกับ "ซอยกะเปง" เมืองพะอ่าน จะไปตอนกลับ) -ชเวซายาน-กุสินาเยา-แมลัน-ไจ้ทีโย

(จุดที่ 2) "พระธาตุอินทร์แขวน" หรือ "พระเจดีย์ไจ้ทีโย" (Kyaiktiyo Pagoda) เมืองไจ้ไท (Kyaikhto)

...หลังจากแวะกราบ "พระเจดีย์ยะติต่อง" แบบไม่คาดฝันแล้ว คณะทัวร์บุญ "Special Myanmar Tour" ได้กลับลงมาตั้งหลักที่ "สถานียะติต่อง" (Rathitong Bus Stop)

เพื่อไปที่ Kyaiktiyo Cable Car Station ต่อกระเช้าลอยฟ้าไปยัง "พระธาตุอินทร์แขวน" ภาษามอญ เรียก "ไจ้ทีโย" ที่เห็นอยู่สูงลิบๆ บนยอดเขาไจ้ทีโยโน่น

ซึ่งพวกเราก็ได้มองดูตั้งแต่บนยอดเขายะติต่องแล้ว เคยสงสัยไหมคะว่าคำว่า "ไจ้" ที่เราได้ยินบ่อยๆ แปลว่าอะไร "ไจ้" ในภาษามอญ หมายถึง "พระเจดีย์"

ส่วน"ที" หมายถึง "พระฤาษี" และ "โย" หมายถึง "ที่อยู่บนศีรษะพระฤาษี" รวมแล้วหมายถึง "พระเจดีย์ที่อยู่บนศีรษะพระฤาษี" นั่นเอง


(ภาพวาด : แสดงถึงพระพุทธเจ้าประทานพระเกศาธาตุให้แก่พระฤาษี)

ตามประวัติของที่นี่มีกล่าวไว้ละเอียดมาก หาอ่านได้จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม 4" ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับ "ตำนานพระเกศาธาตุ" ของมอญที่ได้นำมาเล่าตอนนี้ว่า

"พระเจดีย์ไจ้ทีโย" เป็น 1 ใน 6 แห่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานพระเกศาธาตุให้พระฤาษี 6 องค์ ได้แก่

พระฤาษีจากไจ้ทีโย, ซินไจ้, เขาซอยกะเปน, เกลาสะ, กุสินาเยา และแมลัน ซึ่ง "ไจ้ทีโย" เป็นแห่งที่ 4 ที่เราได้มากราบไหว้ในครั้งนี้ ยังเหลือ "เขาซอยกะเปน" และ "เกลาสะ" ซึ่งจะเล่าให้ฟังในภายหลัง

การเดินทางขึ้นเขาในปัจจุบันดีกว่าเมื่อก่อนมาก มีทางเลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนั่งรถบรรทุก 6 ล้อ หรือจะนั่งเสลี่ยงมีคนหาม หรือจะเดินเท้าขึ้นไปก็ย่อมได้

ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตรเท่านั้นเอ๊ง...ฟังแล้วก็ขอบายค่ะ ขอเก็บแรงไว้สำหรับสถานที่ต่อๆ ไปดีกว่า

อย่าลืมนะคะว่า นี่เพิ่งวันที่ 4 เอง ยังต้องไปกันอีกยาวค่ะ อีกอย่างหนึ่งคือ รถเคเบิลคาร์เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เอง เลยต้องลองของใหม่เสียหน่อย

ค่าโดยสารไปกลับคนละ 10 ยูเอสดอลลาร์ (เก็บเฉพาะชาวต่างชาติ) จะจ่ายเป็นดอลลาร์หรือเงินจ๊าดก็ได้ พอดีเราใช้บริการขาขึ้นแค่ขาเดียว เลยเสียแค่คนละ 5 ดอลลาร์

ส่วนพระเขาให้ขึ้นฟรี ไม่เสียสตางค์ วิวข้างบนสวยไปอีกแบบ ถ้าไม่เคย ต้องลองสักครั้ง จะได้รู้ค่ะ



พอขึ้นไปถึง ต้องเดินต่อไปอีกหน่อย พระอาจารย์เคยมาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 พบว่า มีหลายสิ่งเปลี่ยนไปมาก

เมื่อก่อนคนไม่เยอะเท่านี้ หลังๆ รู้สึกว่าจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้คนพลุกพล่าน ไม่เงียบสงบเหมือนเมื่อก่อน

แต่สิ่งหนึ่งยังเหมือนเดิมคือ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจดีย์แห่งนี้ ตอนที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์ลงไปปิดทองที่ก้อนหินสีทองอร่าม ได้อธิษฐานพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของก้อนหินพระเจดีย์

พี่ๆ ผู้ชายที่ลงไปด้วยบอกว่า รู้สึกได้ว่าก้อนหินขยับ พระอาจารย์บอกว่า ก้อนหินนั้นได้ลอยขึ้น พวกผู้หญิงได้แต่สาธุอยู่ข้างนอก เพราะเขาไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปในเขตพระเจดีย์ แค่ได้เห็นอยู่ห่างๆ ก็ปลื้มปิติแล้วค่ะ

ขอย้อนกลับไปนิดนึงนะคะ ก่อนจะถึงก้อนหินพระเจดีย์ จะเจอวิหารด้านขวามือ ภายในมีภาพวาดก้อนหินที่วางอยู่

แสดงให้เห็นว่า ช่องว่างระหว่างก้อนหินกับหน้าผานั้น เดิมจะห่างกันพอตัวไก่ลอดได้ ต่อมาลดลงมาเหลือแค่นกลอดได้ ภายหลังเคยมีคนเอาเชือกมาลอดผ่านได้ ปัจจุบันนี้คงจะมองแทบไม่เห็น

ย้อนความหลังเมื่อปี 2538 พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้มาครั้งแรก ตอนนั้นถนนยังเป็นลูกรัง มีชาวบ้านรับจ้างหามเสลี่ยง แต่ท่านก็เดินขึ้นมาจนถึงข้างบน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ต่อมาปี 2544 ได้เดินทางมาพม่าพร้อมกับหลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว

ครั้งนั้นพระเจดีย์ไจ้ทีโย มีการบูรณะเปลี่ยนฉัตรใหม่ และได้นำฉัตรมาพักไว้ที่พระเจดีย์ชเวดากองชั่วคราว

พอดีกับที่ท่านไปที่ชเวดากองพอดี เลยได้เห็นฉัตรทำด้วยทองคำแท้สวยสดอลังการมาก ท่านเลยร่วมทำบุญสร้างระฆังทองคำเล็กๆ 100 ดอลลาร์

พอเดินออกมา ก็มีละอองฝนโปรยลงมาทันที หลังจากนั้นท่านมีโอกาสได้ไปพม่าอีกหลายครั้ง และทุกครั้งก็ได้ร่วมทำบุญบูรณะตลอด

ส่วนใหญ่จะมีการบูรณะใหญ่ทุก 4 ปี แล้วแต่โอกาสที่จะได้ทำบุญ ขอกราบโมทนาบุญกับพระอาจารย์ย้อนหลังทุกอย่างเจ้าค่ะ

ก่อนกลับพระอาจารย์ร่วมทำบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด แล้วยังเข้าไปทำบุญค่าระฆังเล็กอีกตามอัธยาศัยกัน จากนั้เดินออกมาฉันเพลที่ร้านอาหารแถวๆ นั้น

งานนี้ "พี่ต่าย" และ "พี่แตน" ลงมือเป็น "กุ๊กกิตติมศักดิ์" ทอดไข่ให้พวกเราทานกันอีกแล้ว อิ่มแล้วก็เตรียมตัวเดินทางไปต่อ

คราวนี้เปลี่ยนจากไหว้พระเจดีย์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแห่ง "เมืองไจ้โท" กันบ้าง แล้วเจอกันตอนต่อไปนะคะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 25/6/18 at 08:33

[ ตอนที่ 25 ]
(Update 5 กรกฎาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม 2561 – 11 กุมภาพันธ์ 2561

(วันที่สี่) วันที่ 17 มกราคม 2561 (พระเจดีย์ยะติต่อง-ไจ้ทิโย-ไจ้ปอลอ)


(แผนที่พระพุทธรูป 4 องค์ อยู่ใต้สุดที่ทวาย, ไจ้คามี, ไจ้โท, พะสิม)

(แห่งที่ 3) พระพุทธรูปไจ้ปอลอ (Kyaikpawlaw Buddha Image) เมืองไจ้ไท (Kyaikhto)

...ไหนๆ มาเมืองไจ้โททั้งที สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ก็คือ "พระพุทธรูปไจ้ปอลอ" หรือ "พระพุทธรูปไฝเลื่อน"

หากยังจำกันได้ "พระพุทธรูปลอยน้ำ" ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวมอญ มีด้วยกันทั้งหมด 4 องค์ เหมือนกับเมืองไทย คือ หลวงพ่อโสธร, หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นต้น

ถ้าดูตามแผนที่จะเห็นว่าเป็นเมืองชายฝั่งทะเลทั้งสิ้น (ทั้งเมืองไทยกับพม่า ยกเว้น "เมืองไจ้โท" ที่แผ่นดินงอกออกไป) พระพุทธรูปโบราณทั้ง 4 องค์นี้มีอายุมากกว่า 2,000 ปี

- องค์ที่ 1 พระพุทธรูปชเวมุธอว์ (Shwe Moke Htaw) ปากอ่าวเบงกอล เมืองพะสิม (Pathein หรือ Bassein)

- องค์ที่ 2 พระพุทธรูปไจ้คามี (Kyaikkami) เมืองมะละแหม่ง (Mawlamyine)

- องค์ที่ 3 พระพุทธรูปชินโมที (ShinMokti) เมืองทวาย (Dawei)

- องค์ที่ 4 พระพุทธรูปไจ้ปอลอ (Kyaikpawlaw) เมืองไจ้โท (Kyaikhto)


ประวัติพระพุทธรูปลอยน้ำของพม่า

...ตามประวัติของมอญเล่าว่า พระพุทธรูปทั้งสี่องค์ สร้างในสมัย "พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ" เจ้าผู้ครองนครอนุราธปุระ (ศรีลังกา) สมัยเดียวกับ "พระเจ้าอโศกมหาราช" แห่งเมืองปาฏลีบุตร (อินเดีย)

สมัยนั้นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระราชโอรสคือ "พระมหินทเถระ" ไปประกาศพระศาสนาที่ลังกาทวีป

ในเวลานั้น พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะได้สร้างพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ในจำนวนพระพุทธรูปหลายองค์ มีอภินิหารเกิดขึ้นกับพระพุทธรูป 4 องค์ คือ เกิดมีรัศมีขึ้น และองค์พระก็กระพริบตาได้ด้วย

พระราชาทรงปีติมาก จึงอยากจะนำพระพุทธรูปไปบูชาที่พระราชวัง แต่พระมหินทเถระทูลแนะนำว่า ไม่ควรนำไปบูชาเป็นส่วนพระองค์ อยากให้พระพุทธรูปได้ไปตามที่ท่านปรารถนาจะไป

พระราชาจึงทรงตกลงและตั้งจิตอธิษฐาน ลอยพระพุทธรูปลงสู่มหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.237 (หลังทำสังคายนาครั้งที่ 3 แล้ว) ที่ท่าเรือชมพูโกละ ลังกาทวีป

พระพุทธปฏิมากรได้แสดงอภินิหารอีก คือมีรัศมีสว่างและกระพริบตา แล้วได้ลอยไปในมหาสมุทรอินเดียอย่างรวดเร็ว

องค์อื่นๆ ได้ลอยไปตามกระแสน้ำและไปประดิษฐานตามจุดต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จะมีแต่ "พระพุทธรูปไจ้ปอลอ" ที่ค่อนข้างจะแปลกกว่าองค์อื่นๆ เพราะลอยหายไปในทะเลนานหลายร้อยปี

จนกระทั่งวันหนึ่ง ภรรยามหาเศรษฐีผู้หนึ่งได้ฝันว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ แล้วประทับยืนบนศีรษะของสามีและตนเอง

หลายเดือนต่อมา ในปี พ.ศ.803 ชาวบ้านเมืองไจ้โทได้เห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งประทับอยู่บน "ล้อเกวียนที่ทำด้วยหิน" แล้วลอยน้ำเข้ามายังคลองเล็กๆ ชาวบ้านได้ใช้เชือกมัดดึงขึ้นมา แต่ไม่สำเร็จ

ภรรยาเศรษฐีพอทราบข่าว จึงตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านขึ้นมาประทับบนบก โดยใช้เส้นด้ายมามัดผูกกับพระพุทธรูป แล้วดึงขึ้นมา

ปรากฏว่า สามารถนำขึ้นมาได้ ท่ามกลางความประหลาดใจของทุกคน ภรรยาเศรษฐีเลยสร้างวัดถวายพระพุทธรูปองค์นี้

ครั้งแรกท่านหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แต่พอนานไปก็หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก (ศรีลังกาอยู่ทางทิศตะวันตกของพม่า)

ต่อมามีชาวบ้านมาขยับให้หันกลับไปทิศตะวันออก พอวันรุ่งขึ้นก็หันไปทิศตะวันตกเหมือนเดิมอีก ท้ายที่สุดก็ต้องสร้างวัดใหม่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก

แล้วตั้งชื่อว่า "พระพุทธรูปไจ้ปะลอ" เป็นภาษามอญ แปลว่า "พระพุทธเจ้าผู้เสด็จมาจากทิศตะวันตก" ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น "ไจ้ปอลอ" และทางวัดยังได้เก็บ "ล้อเกวียนหิน" ที่มากับองค์พระไว้เป็นหลักฐานด้วย

นอกจากนี้ ชาวไทยยังนิยมเรียกท่านว่า "พระพุทธรูปไฝเลื่อน" ( Kyaikpawlaw Hmeshindaw) คำว่า "Hmeshin" แปลว่า "ไฝเลื่อน" (Living Mole)

เนื่องจากเกิดปาฏิหาริย์มี "ไฝ" ขึ้นบริเวณพระพักตร์ด้านขวา ชาวบ้านพยายามจะปิดทองคำเปลวทับบริเวณไฝนั้น แต่ก็ปิดไม่ได้ เพราะทองคำเปลวจะหลุดออกมา ดูราวกับว่า ไฝนั้นเคลื่อนที่ไปมาอยู่เสมอ




ได้บูรณะฉัตรบนพระวิหาร เป็นแห่งแรกในทริปนี้

...โชคดีว่า ช่วงที่พวกเรามากำลังมีการบูรณะ "ยอดฉัตร" พระวิหารพอดี ซึ่งทุกๆ 100 ปี ถึงจะบูรณะครั้งหนึ่ง และยิ่งโชคดียกกำลังสอง ที่เราไปถึงก่อนวันยกฉัตร 1 วัน อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น เรียกว่า..บุญจัดสรรโดยแท้

และยังได้เจอกับ "คุณน้ำฝน" ไกด์สาวชาวมอญที่พูดไทยได้ เลยคุยกันคล่อง พอรู้ว่า เป็นบุญใหญ่ ก็เอาเงินมาเติมเงินกองกลางกันใหญ่

รวมแล้วทำบุญบูรณะและยกฉัตรไป 150,000 จ๊าด และเงินยูเอสดอลลาร์อีก 301 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังทำบุญค่าไฟฟ้าอีก 20,000 จ๊าด เรียกว่า ทำกันจนสะใจไปเลย

นานๆ จะเจอบุญใหญ่ประจวบเหมาะแบบนี้ เจ๊หลี จารุภาเลยถอดสร้อยทองคำหนัก .75 สตางค์ ถวายเดี๋ยวนั้น ส่วนเจ๊มายินก็ถอด "จี้ทองคำ" แท้ออกมาถวายเป็นพุทธบูชาด้วยเหมือนกัน

ชาวบ้านดูจะตื่นเต้นกันใหญ่ พวกเราก็พลอยปลื้มปิติไปด้วย เสียงสาธุดังๆ ตามด้วยคำอธิษฐาน "นิพพานะ ปัจจโย โหตุ เม"

ด้วยเสียงดังฟังชัด และด้วยใจที่แน่วแน่มั่นคงในความปรารถนาที่จะขอเกิดเป็นชาติสุดท้ายดังก้องวิหาร ไม่รู้ว่า ชาวบ้านจะเข้าใจหรือเปล่า แต่รอยยิ้มแห่งมิตรภาพที่ส่งให้กัน สามารถแทนคำพูดอีกหลายล้านคำ

พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้กล่าวนำ ถวายเครื่องบูชา และนับเป็นบุญใหญ่ที่ท่านได้มีโอกาสไปปิดทองที่องค์พระแบบใกล้ชิด

ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการมากราบครั้งที่ 2-3 แล้ว จากนั้นท่านได้ปิดทองคำเปลวที่ฉัตรทอง และถวายน้ำสรง พวกเราเหล่าลูกศิษย์เลยพลอยได้อานิสงส์กันถ้วนหน้า

สำหรับ "พระพุทธรูปลอยน้ำ" คู่บ้านคู่เมืองมอญ ที่เราได้ไปกราบก่อนหน้านี้ คือ "พระพุทธรูปไจ้คามี" ถัดจากนั้นก็มาที่ "พระพุทธรูปไจ้ปอลอ" เหลือที่ 'พระพุทธรูปชเวมุธอว์" ที่พะสิมอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งจะเล่าให้ฟังในตอนท้ายๆ


(ภาพ พระพุทธรูปชินโมที เมื่อปี 2557)

...ส่วน"พระพุทธรูปชินโมที" ที่ทวายนั้น เคยไปมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2557 (อ่านย้อนหลังได้ คลิกที่นี่ ) การมาครั้งนี้จึงถือว่า ได้บูชากราบไหว้ครบถ้วนทั้งสี่องค์ อ

สำหรับตอนต่อไป เราจะไปเยือน "หงสาวดี" อดีตเมืองหลวงอันรุ่งเรืองของชาวมอญกันค่ะ แล้วเจอกันตอนต่อไปนะคะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 30/6/18 at 19:55

[ ตอนที่ 26 ]
(Update 10 กรกฎาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2561

(วันที่สี่) วันที่ 17 มกราคม 2561 (พระเจดีย์ยะติต่อง-ไจ้ทิโย-ไจ้ปอลอ-ชเวมอดอว์)

(แห่งที่ 4) พระเจดีย์ชเวมอดอว์ (Shwemawdaw Pagoda) หรือ พระธาตุมุเตา เมืองหงสาวดี (Bago)

...พระเจดีย์ที่มีขื่อเสียงเป็นที่รู้จักอีกแห่งหนึ่งในสมัยมอญเรืองอำนาจ ก็คือ "พระเจดีย์ชเวมอดอว์" หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ "พระธาตุมุเตา"

มีลักษณะคล้าย "พระเจดีย์ชเวดากอง" แต่สูงกว่า ถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในพม่า ถ้าจะวัดเฉพาะตัวเจดีย์สูงถึง 114 เมตร (374 ฟุต) ขณะที่ชเวดากองสูง 98 เมตร (322 ฟุต)

เลยเป็นที่มาของชื่อ "ไจ้มุเตา" มาจากภาษามอญ แปลว่า "เจดีย์จมูกร้อน" เพราะว่ากันว่า พระเจดีย์สูงมาก ชาวพม่าบอกว่า ความสูงถึงสรวงสวรรค์

เวลาแหงนหน้ามอง ต้องเจอกับแสงแดดแรงกล้าเผาจมูกจนแสบร้อน ส่วนชาวพม่านิยมเรียก "พระเจดีย์ชเวมอดอว์" แปลว่า "ทองคำแท่งยาวครึ่งฟุต" ส่วนคนไทยนิยมเรียก "พระธาตุมุเตา"

"พระเจดีย์ชเวมอดอว์" นี้เป็น 1 ใน 5 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพม่า ที่เชื่อกันว่าต้องมาสักครั้งหนึ่งในชีวิต ตำนานพระทันตธาตุ (ฟัน) ในรัฐมอญ (ลำดับที่ 9) บอกไว้ว่าบรรจุพระเกศาธาตุ 2 เส้น, พระทันตธาตุ และพระบรมธาตุน้อยใหญ่

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเจดีย์ชเวมอดอว์, พระเจดีย์ชเวดากอง และพระเจดีย์ไจ้ทีโย ล้วนแล้วแต่เป็นพระเจดีย์ที่สร้างโดยชาวมอญทั้งสิ้น ตั้งแต่ "ย่างกุ้ง" (Rangoon) ลงไปตอนใต้ถึง "สะเทิม" (Thaton)


ประวัติพระเจดีย์ชเวมอดอว์

...ตามตำนานเล่าว่า ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขามัตหุละ ใกล้ลำน้ำยุนชะไล ได้แสดงธรรมโปรดพี่น้องชาวมอญสองคน ชื่อ "มหาศาล" กับ "จุลศาล"

พี่น้องทั้งสองคนอาศัยอยู่ที่เมืองซองดู ใกล้ๆ เมืองหงสาวดี แล้วทรงประทานพระเกศาธาตุ 2 เส้น ตรัสสั่งให้เอาไปประดิษฐานที่ "เขาสุทัศนะ"

สองพี่น้องช่วยกันก่อสถูปขึ้นองค์หนึ่ง สูง 50 ศอก บรรจุพระเกศาธาตุไว้ ล่วงมาถึงสมัย "พระเจ้าอโศกมหาราช" ก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระสถูปนี้ เมื่อปีพ.ศ.238 และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทองคำแท่งยาว 6 นิ้ว ถวายเป็นพุทธบูชา

ต่อมาภายหลัง "พระเจ้าสามล" ผู้สร้างเมืองหงสาวดี ได้เสริมยอดพระเจดีย์เป็น 81 ฟุต และ "พระเจ้าวิมล" พระอนุชา ได้เสริมให้สูงขึ้นอีกเป็น 88 ฟุต

ในปีพ.ศ.1806 "พระเจ้าสโมดาโกซ่า" ได้บูรณะทำให้สูงขึ้นอีก 130 ฟุต แล้วให้ชื่อว่า "ชเวมอดอว์" แปลว่า "ทองคำแท่งยาวครึ่งฟุต" ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

สมัย"พระเจ้าราชาธิราช" ก็ได้บรรจุ "พระเขี้ยวแก้ว" ด้วย มาถึงสมัย"พระเจ้าธรรมเจดีย์" ได้เสริมให้สูงขึ้นอีกเป็น 277 ฟุต

ในสมัย "พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้" ใช้เป็นที่ทำพระราชพิธีเจาะพระกรรณ (หู) เมื่อครั้งขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ที่ตองอู ภายใต้วงล้อมของทหารมอญหลายหมื่นนาย ก็มิอาจทำอันตรายพระองค์ได้ ภายหลังพระองค์ก็ได้ยึด "พะโค" เป็นราชธานีแห่งใหม่ได้สำเร็จ

ในสมัย "พระเจ้าบุเรงนอง" ได้มีการสร้างฉัตรถวายเพิ่มเติมอีกหลายชั้น จนพระเจดีย์สูงขึ้นอีกหลายเท่า และทรงแกะเอามณีที่ประดับมหามงกุฎของพระองค์ พระราชทานให้ไปทำยอดเจดีย์ด้วย

กล่าวกันว่า ก่อนจะออกศึกคราใด จะทรงมากราบนมัสการเจดีย์นี้ก่อนทุกครั้ง ปัจจุบันจุดที่เชื่อว่า พระองค์มาอธิษฐานก็ยังปรากฏอยู่

และ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" เมื่อครั้งยกทัพมาตีพะโค ก็ได้เสด็จมานมัสการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะที่สำคัญคือ "พระพี่นางสุพรรณกัลยา" ด้วย

ต่อมาในสมัย "พระเจ้าโบดอพญา" (ปะดุง) ได้ถวายยอดฉัตรใหม่ และเสริมยอดพระเจดีย์ ให้สูงถึง 297 ฟุต)

พระเจดีย์ประสบกับแผ่นดินไหวถึง 5 ครั้ง ครั้งรุนแรงที่สุดจนทำให้ยอดพระเจดีย์พังทลายลงมา ตามที่ทางวัดได้จารึกไว้ที่ยอดพระเจดีย์เก่านั้นว่า 5 July 1917 (5 กรกฎาคม พ.ศ.2473)

หลังจากบูรณะแล้ว ได้มีการนำปลียอดที่พังลงมามาประดิษฐาน บริเวณลานทางทิศเหนือของพระเจดีย์องค์ใหม่ คนที่มากราบไหว้นิยมนำธูปไปค้ำเอาไว้ เปรียบเสมือนการค้ำชูพระเจดีย์ และเชื่อว่าจะต่อชีวิตให้ยาวออกไปอีก


พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำคณะ กราบนมัสการ และกล่าวถวายเครื่องบูชา พร้อมกับทำบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด

ระหว่างที่ทำพิธี ก็สังเกตเห็นท้องฟ้ามีแสงแปลกๆ แตกต่างจากทุกวัน คล้ายๆ มีแสงพุ่งออกจากก้อนเมฆ ถือว่า เป็นนิมิตหมายอันดี ราวกับว่า ท่านได้ต้อนรับพวกเราสู่เมืองพะโค หรือหงสาวดีอันเก่าแก่

หลังจากถ่ายรูปหมู่ร่วมกันแล้ว พวกเราก็รีบทำเวลาออกเดินทางไปจุดอื่นอีก เพราะบัตรเข้าชมเป็นตั๋วโซน มีอายุ 4 วัน ราคาคนละ 10,000 จ๊าด สามารถเข้าชมสถานที่สำคัญในเมืองพะโคได้ 4 แห่ง

ไหนๆ เสียเงินแล้ว ต้องไปให้คุ้ม ส่วนจะไปไหนต่อ โปรดติดตามต่อในตอนหน้านะคะ ต้องรีบขึ้นรถก่อนค่ะ เพราะตอนนี้เย็นแล้ว เดี๋ยวฟ้าจะมืดเสียก่อน แล้วพบกันตอนต่อไป...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 5/7/18 at 09:46

[ ตอนที่ 27 ]
(Update 15 กรกฎาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2561

(วันที่สี่) 17 มกราคม 2561 (พระเจดีย์ยะติต่อง-ไจ้ทิโย-ไจ้ปอลอ-ชเวมอดอว์-ไจ้ปุ่น-ชเวต้าละยอง)


(เริ่มจากเมืองบิลิน - ไจ้โท - พะโค - ย่างกุ้ง)

(แห่งที่ 5-6) พระเจดีย์ไจ้ปุ่น หรือพระนั่งสี่ทิศ (Kyaik Pun Pagoda) และ พระนอนชเวต้าละยอง (Shwethalyaung Buddha) เมืองหงสาวดี (Bago)

...อย่างที่ทิ้งท้ายไว้เมื่อตอนที่แล้ว การเข้าชมสถานที่สำคัญในหงสาวดี จะต้องซื้อบัตรเข้าชม ที่เรียกว่า "ตั๋วโซน" ราคาใบละ 10,000 จ๊าด มีอายุใช้งาน 4 วัน สามารถเข้าชมได้ 4 แห่ง

เราได้กราบไหว้ "พระธาตุมุเตา" ไปแล้วเป็นแห่งแรก แต่เนื่องจากเวลามีจำกัด พระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าเข้าไปทุกที เราจึงไปไหว้ได้แค่ 2 แห่ง คือ

"พระนั่งสี่ทิศไจ้ปุ่น" และ "พระนอนชเวต้าละยอง" ส่วน "พระราชวังบุเรงนอง" ต้องตัดออกไป

ประวัติเมืองหงสาวดี (Bago)

...ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการแปลพระราชพงศาวดารพม่ามอญจาก "หนังสือรามัญใบลาน" เก็บไว้ในหอหลวง และได้ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวไว้ว่า

...พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึง "เขาสุทัศนะ" ที่ตั้งเมืองหงสาวดีในปัจจุบัน แต่ก่อนยังเป็นทะเลอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นหงส์ทอง 2 ตัว ลงเล่นน้ำอยู่ จึงทรงทำนายว่า

"...สืบไปภายหน้า สถานที่นี้จะเป็นมหานครชื่อว่า "หงสาวดี" และเป็นที่ตั้งพระสถูปเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ พระศาสนาจะรุ่งเรืองตั้งมั่นอยู่ ณ ที่นี้.."

ครั้นพระพุทธองค์ปรินิพพานล่วงไป 1,116 ปี ท้องทะเลตรงนี้ก็ตื้นเขินกลายเป็นแผ่นดิน แล้วเป็นที่ตั้งเมืองหงสาวดีในกาลต่อมา

บางตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาทางอากาศ ถึงทะเลอันเวิ้งว้าง เห็นเกาะผุดขึ้น ก็เสด็จลงประทับ ขณะนั้นมีหงส์ 2 ตัว ป้องปีกนมัสการด้วยกิริยาอาการเคารพ แล้วจึงตรัสทำนายกับพระอานนท์เหมือนดังที่กล่าวแล้ว

แต่ในตำนานทั่วไป เล่าว่า เดิมเป็นเกาะเล็กๆ เรียกว่า "ฮินตากอง" มีเนื้อที่แค่หงส์ 2 ตัวเกาะได้ ตัวเมียเลยขึ้นไปเกาะบนหลังตัวผู้

จนเป็นที่มาของสัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี หรือที่ชาวมอญเรียกว่า "หานตาวดี" (Hanthawaddy) และนิยมสร้าง "เสาหงส์" ไว้ตามวัดวาอารามต่างๆ แม้บนผืนธงชาติมอญ ก็เป็นรูปหงส์

ต่อมาภายหลัง "พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้" ได้ยึดครองและสถาปนาเป็นศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์ตองอู และเจริญถึงขีดสุดในสมัย "พระเจ้าบุเรงนอง" กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรมอญ สมญานาม "ผู้ชนะสิบทิศ" ที่คนไทยรู้จักกันดีนั่นเอง

ขอเล่าย่อๆ แค่นี้ก่อนนะคะ ส่วนที่เราจะไปถัดจากนี้ คือ "พระเจดีย์ไจ้ปุ่น" (Kyaik Pun Pagoda) มีลักษณะเด่นตรงที่ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูป ปางมารวิชัย องค์ใหญ่ 4 องค์ นั่งหันหลังชนกัน 4 ทิศ หมายถึง "พระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ที่ตรัสรู้ไปแล้ว" ในกัปนี้ ได้แก่

- 1. พระพุทธเจ้ากกุสันโธ ทางทิศตะวันออก
- 2. พระพุทธเจ้าโกนาคมโน ทางทิศใต้
- 3. พระพุทธเจ้ามหากัสสปะ ทางทิศตะวันตก
- 4. สมเด็จพระสมณโคดม ทางทิศเหนือ


...พระพุทธรูปทั้งสี่องค์สร้างโดยพระธิดาสี่สาวพี่น้องของกษัตริย์มอญ ที่อุทิศตนแด่พระพุทธศาสนา จึงสร้างพระพุทธรูปแทนตนเอง

พร้อมกับสาบานว่า จะไม่ข้องแวะกับบุรุษเพศ แต่พระธิดาองค์สุดท้องได้อภิเษกสมรส จึงเกิดอาเพศฟ้าผ่าพระพุทธรูปแทนตัวพระนางพังทลายลงมา

ต่อมาได้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ พระพุทธรูปองค์นี้จะมีพระพักตร์แตกต่างจากองค์อื่น เนื่องจากบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาภายหลัง ว่ากันว่า พระพักตร์ท่านดูค่อนข้างเศร้ากว่าองค์อื่น เป็นเรื่องนานาจิตตัง ก็ว่ากันไปค่ะ

เนื่องจากมีเวลาน้อย เรารีบทำเวลากราบไหว้แบบกระชับฉับไว ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น แล้วรีบขึ้นรถตู้บึ่งไปอีกที่นึงทันที ก่อนจะกลับพระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ทำบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด

*** (หมายเหตุ : การมาคราวนี้ยังไม่มีการบูรณะ จึงถวายเงินไว้ล่วงหน้า แต่พระอาจารย์ได้เคยบูรณะแล้วเมื่อปี 2539 ในการมาครั้งแรกของท่าน)

ตอนจะไปขึ้นรถ ก็สวนกับคนไทยที่มาเที่ยวกันเอง สนทนาปราศรัยนิดหน่อยตามประสาคนบ้านเดียวกัน ปกติสถานที่ๆ เราไปจะไม่ค่อยได้เจอคนไทยเท่าไรนัก เพราะส่วนใหญ่จะไปในที่ไม่ค่อยมีกรุ๊ปทัวร์พาไป แต่มีความสำคัญตาม "ตำนานพระเกศาธาตุ" เป็นส่วนใหญ่

ขับรถต่อไปอีกหน่อย ก็จะเจอกับ "พระนอนชเวต้าละยอง" (Shwethalyaung Buddha) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า "พระนอนยิ้มหวาน"

(คนละองค์กับพระนอนตาหวานที่ย่างกุ้งนะคะ) เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับ 2 ของเมืองพะโค รองจาก "พระธาตุมุเตา" มีอายุกว่าพันปี มีความยาว 180 ฟุต

สร้างโดยพระเจ้าเมงกะติปะที่ 1 ในปีพ.ศ.1537 หลังจากมอญตกอยู่ใต้อำนาจพม่า จึงถูกทิ้งร้างมานานกว่า 500 ปี จนต้นไม้ปกคลุมเต็มไปหมด

จนถึงพ.ศ.2449 คณะคนงานสร้างรางรถไฟของอังกฤษได้ค้นพบ และสร้างโรงหลังคาเหล็กครอบองค์พระไว้ ต่อมาได้มีการบูรณะอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ.2491

นอกจากท่านจะมีพระพักตร์ที่งดงามอ่อนหวานแล้ว ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ ปลายพระบาทวางไม่เสมอกัน เนื่องจาก สร้างตามขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันถัดมา

ภายในวิหารพระนอน จะมีรูปภาพแสดงประวัติของพระนอนติดไว้ ตามตำนาน กล่าวว่า มีกษัตริย์องค์หนึ่งที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่กลับไปนับถือรูปปั้นยักษ์

ต่อมาพระโอรสได้พบรักกับหญิงสาวชาวบ้านและพาเข้าวัง นางได้นำพระพุทธรูปติดตัวมาด้วย กษัตริย์ทรงกริ้วมาก และสั่งให้ประหารทั้งสองคน

หญิงสาวจึงตั้งจิตอธิษฐานถึงพระพุทธเจ้า เชือกที่แขวนรูปปั้นยักษ์ก็ขาดลง รูปปั้นยักษ์ตกลงมาแตกกระจาย กษัตริย์จึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา และสร้างพระนอนชเวต้าละยองเพื่อไถ่บาป

พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำคณะกราบนมัสการ และทำบุญบูรณะ 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด หันมามองนาฬิกาอีกที จะค่ำแล้ว ต้องรีบไปก่อนฟ้าจะมืด คืนนี้คงต้องหาที่พักค้างคืนที่หงสาวดี

พี่คนขับรถตู้พาแวะรับประทานข้าวเย็นที่ร้านอาหารไทยที่ว่ากันว่า อร่อยที่สุดในหงสา ก็เจอเรื่องแปลกอีก จู่ๆ ไฟก็ดับ แต่ดับอยู่ไม่นาน ระหว่างทริปนี้เราได้เจอกับเหตุการณ์ไฟดับหลายครั้งหลายครา

ครั้งแรกถ้าจำกันได้ ก็ที่โรงแรมที่เมืองมุด่อง ในวันแรกที่มาพม่า คล้ายๆ เป็นลางบอกเหตุอะไรบางอย่าง ท่านมาเตือนเรื่องอะไรนั้น ต้องติดตามอ่านไปเรื่อยๆ แล้วจะมีเฉลยค่ะ

หลังจากจัดการมื้อเย็นจนอิ่มแปล้..แล้ว คนขับรถได้พาเราตระเวนหาที่พักในตัวเมืองหงสาจนมืด จนมาเจอกับโรงแรมเล็กๆ มีผู้หญิงพูดไทยออกมาต้อนรับ

เป็นอันว่า ลงตัวพอดิบพอดี รีบอาบน้ำเข้านอน เพราะตื่นแต่เช้าทุกวัน พอเอนกายหัวถึงหมอน ก็หลับไม่รู้เรื่องยันเช้า เพราะไหว้พระกันตลอดทั้งวันยันค่ำ สรุปได้ดังนี้

- 1. พระเจดีย์ยะติต่อง
- 2. พระเจดีย์ไจ้ทิโย
- 3. พระพุทธรูป (ลอยน้ำ) ไจ้ปอลอ
- 4. พระเจดีย์ชเวมอดอว์
- 5. พระนั่งสี่ทิศไจ้ปุ่น
- 6. พระนอนชเวต้าละยอง

...แต่ก็หายเหนื่อยค่ะ พระอาจารย์ชมว่า พวกเราทำเวลากันได้ดี (ทั้งๆที่แต่งตัวกันสวยๆ) วงเล็บนี่เติมกันเองนะค่ะ

พรุ่งนี้ตามโปรแกรมที่พระอาจารย์ชัยวัฒน์วางไว้ เราจะไปย่างกุ้งกัน รับประกันบุญใหญ่..ไฟกระพริบ แล้วจะทราบว่า "พระเกศาธาตุ" ที่คนไทยไม่รู้จัก...ยังมีอีกมาก...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 10/7/18 at 09:12

[ ตอนที่ 28 ]
(Update 20 กรกฎาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2561

(วันที่ห้า) 18 มกราคม 2561 (หงสาวดี - ย่างกุ้ง)

...คืนแรกในหงสาวดีของคณะนกขมิ้นน้อยผ่านพ้นไปด้วยดี เผลอแป๊บเดียว การเดินทางมาเมืองพม่าในครั้งนี้ได้ย่างเข้าสู่วันที่ 5 แล้ว

เนื่องจากในแต่ละวันพวกเราทำเวลาได้ดีมาก เลยได้ไปกราบไหว้สถานที่สำคัญได้หลายแห่ง เหมือนมาสัก 10 วัน

ทางโรงแรมมีอาหารเช้าบริการฟรี รวมอยู่ในค่าห้องแล้ว พออาหารตกถึงท้อง เรี่ยวแรงเริ่มกลับมา วันนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปเยือนเมืองหลวงของพม่า ตามไปพร้อมๆ กัน กับเรานะคะ

จากเมืองพะโคไปย่างกุ้ง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณชั่วโมงนิดๆ ฟังดูเหมือนจะไม่ยากอะไรใช่มั้ยคะ แต่ในความเป็นจริง พระอาจารย์ชัยวัฒน์ ท่านต้องวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบรัดกุม

เนื่องจากท่านเคยมาพม่าหลายครั้ง ท่านจึงรู้จักสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศพม่าอย่างทะลุปรุโปร่ง การมาเยือนในครั้งนี้ ท่านได้ใช้ Google Map ในการเลือกเส้นทางการจราจรที่ไม่หนาแน่น

เพื่อประหยัดเวลาให้ได้มากที่สุด เพราะนั่นหมายถึง เราจะได้ไปกราบไหว้สถานที่สำคัญต่างๆ ได้ครบถ้วนนั่นเอง

อย่างที่ทราบกันดีว่า การจราจรในย่างกุ้งติดหนึบยิ่งกว่าตังเม ท่านจึงเลือกที่จะมาไม่ให้ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ ที่ปริมาณรถจะหนาแน่นเป็นพิเศษ

ท่านยังเช็คเส้นทางด้วย Google Map ตลอด เลยหลบหลีกช่วงรถติดได้เยอะทีเดียว (ถ้าดูภาพแผนที่ จากหงสาวดีเข้าย่างกุ้ง จะเห็นว่าท่านใช้เส้นทางนอกเมืองก่อน) แต่ละแห่งที่เราจะไปในวันนี้ล้วนแต่เป็นไฮไลท์ทั้งนั้น

ถ้าเอ่ยถึง "เมืองย่างกุ้ง" คงไม่มีใครไม่รู้จัก แรกเริ่มเดิมทีเป็นหมู่บ้านของชาวมอญ ชื่อว่า "ดากอง" (Dagon) ภาษามอญเรียกว่า "ตะเกิง" หรือ"ตะโก้ง"

"ดากอง" เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ มีศูนย์กลางคือ "พระเจดีย์ชเวดากอง" (Shwedagon Pagoda) ในปีพ.ศ.2298 พระเจ้าอลองพญา ( King Alaungpaya) แห่งพม่า

พระองค์ได้ยกทัพบุกยึดเมืองดากองจากชาวมอญ และเปลี่ยนชื่อเป็น "ยางกอง" แปลว่า "ศัตรูหมดสิ้นสลาย" (Yan Koun) พวกฝรั่งเรียกว่า "แรงกูน" (Rangoon) แต่คนไทยเรียกให้มีความหมายไปว่า "ย่างกุ้ง"

ก่อนที่เราจะถึงพระเจดีย์ชเวดากอง พระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้แวะกราบ "พระเจดีย์เมระมุ" บ้านคามู ตามคำแนะนำของ "คุณชัย" โชเฟอร์ของเรา

โดยคำบอกเล่ากันมา ซึ่งชาวเมืองย่างกุ้งต่างก็รู้จักกันว่า เป็นสถานที่ที่ "พระเกศาธาตุ" ได้มาพักชั่วคราว ระหว่างรอที่จะนำไปบรรจุในพระเจดีย์ชเวดากอง

พอลงจากรถ เห็นพระเจดีย์กำลังเข้าเฝือกอยู่ ชาวคณะไม่รอช้า เปิดกระเป๋าควักเงินจ๊าดมาเติมเงินกองกลางคนละหนุบละหนับ พระอาจารย์ปิดบุญเพิ่มอีก 30,000 จ๊าด รวมแล้วเป็นเงิน 100,000 จ๊าด

โอกาสแบบนี้หาได้ยาก ที่จะมาเจอพระเจดีย์กำลังบูรณะพอดี ซึ่งเป็นครั้งแรกของทุกคนที่ได้มา ตามที่ได้วงเล็บไว้ว่า (พบใหม่) พอได้ทำบุญและถวายเครื่องบูชาแล้วก็ออกเดินทางไปกันต่อค่ะ




พระเจดีย์ไจ้คาซาน" (Kyaikkasan Pagoda)

...ขับรถต่อไปอีกนิด ก็มาถึง "พระเจดีย์ไจ้คาซาน" (Thingangyun Township, Yadanar Rd,Yangon.) เป็นอีกแห่งหนึ่งที่พบใหม่ พระอาจารย์ยังไม่เคยมาเช่นกัน

ตามประวัติสร้างเมื่อ 4th century B.C. (ศตวรรตที่ 4 แห่งคริสตกาล) บรรจุพระเกศาธาตุ 16 เส้น (แต่ชาวบ้านเล่าว่ามีพระเกศาธาตุ 7 เส้น) และพระบรมธาตุอีก 32 องค์

สร้างในสมัยพระเจ้า Sihadipa แห่งเมืองสะเทิม (ไม่แน่ใจว่า "พระเจ้าสีหราชา" หรือไม่ ท่านเป็นผู้สร้าง "โบดาต่อง" ด้วย) ร่วมกับพระ Yasa (ยัสสะ) และพระสงฆ์อีก 7 รูป

ชาวมอญเดิมเรียกกันว่า Kyaik Hasan หมายถึง "พระเจดีย์ของพระ ๘ องค์" (มีรูปปั้นสีทองของท่านอยู่ภายในศาลา) จึงไม่แน่ใจว่าสับสนตัวเลขหรือไม่ เพราะผู้ที่สร้างคือพระยัสสะกับพระสงฆ์อีก 7 รูป


อ้างอิง : http://cgnetwork2006.blogspot.com/2008/01/asia.html

ทางวัดได้รักษาประวัติไว้อย่างดี โดยจะมีภาพวาดเรื่องราวสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทานพระเกศาธาตุ ติดอยู่ให้พุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลังได้รับรู้ ทำให้ศรัทธายังฝังลึกอยู่ในหมู่ชาวพม่าอย่างไม่เสื่อมคลาย

หันมาดูไทยแลนด์แดนสยามของเราบ้าง เรื่องราวเกี่ยวกับตำนานต่างๆ ของพระธาตุเจดีย์และรอยพระพุทธบาทแต่ละที่ นับวันก็จะสูญสลายหายไป

เพราะขาดการรักษาสืบทอดอย่างต่อเนื่อง คนรุ่นใหม่หัวทันสมัยเลยไม่ค่อยจะเชื่อเรื่องตำนานสักเท่าไหร่ ช่างน่าเสียดายจริงๆ (ขอแอบบ่นนิดนึงนะคะ)

ตอนที่ไป ยังไม่มีการบูรณะพระเจดีย์ พระอาจารย์ชัยวัฒน์จึงร่วมทำบุญบูรณะล่วงหน้า 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด

หลังจากกราบไหว้บูชาพระเจดีย์เรียบร้อยแล้ว พอหันมองขึ้นไปบนฟ้า ท้องฟ้าขณะนั้นมีแสงส่องพุ่งขึ้นจากก้อนเมฆดูสวยสดงดงามเป็นพิเศษ คล้ายๆ กับที่ปรากฏที่พระธาตุมุเตา จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการเดินทางแสวงบุญในครั้งนี้

สำหรับตอนต่อไป จะพาท่านผู้อ่านไปกราบนมัสการ "พระนอนที่มีพระพักตร์งดงามที่สุดในพม่า" อดใจรอไว้เจอกันตอนหน้านะคะ...สวัสดีค่ะ


"คณะทีมงานฯ"

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 15/7/18 at 10:53

[ ตอนที่ 29 ]
(Update 25 กรกฎาคม 2561)


Special Myanmar (ทัวร์พม่าพิเศษ 29 วัน)
วันที่ 14 มกราคม – 11 กุมภาพันธ์ 2561

(วันที่ห้า) 18 มกราคม 2561 (หงสาวดี - ย่างกุ้ง)


(วันนี้ 7 แห่ง คือ 1.พระเจดีย์เมระมุ, 2.ไจ้คาซาน, 3.พระพุทธไสยาสน์เฉ้าทัตยี (พระนอนตาหวาน), 4.พระเจดีย์ชเวดอว์เมียต (พระเขี้ยวแก้วจากจีน), 5.ชเวดากอง, 6.สุเล, 7.โบดาต่อง)

(แห่งที่ 3) พระพุทธไสยาสน์เฉ้าทัตยี (Chauk Htat Gyi Reclining Buddha) ย่างกุ้ง (Yangon)

...หากยังจำกันได้ เมื่อวานนี้เราเพิ่งไปกราบนมัสการ "พระนอนชเวต้าละยอง" หรือ "พระนอนยิ้มหวาน" ที่เมืองหงสาวดี(พะโค) กันมาหยกๆ

มาวันนี้ เราจะพาท่านผู้อ่านไปกราบพระนอนที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของพม่า นั่นคือ "พระพุทธไสยาสน์เฉ้าทัตยี" แห่งเมืองย่างกุ้งกันบ้าง

พระนอนองค์นี้มีลักษณะคล้าย "พระพุทธไสยาสน์แห่งเมืองพะโค" แต่มีขนาดสูงใหญ่กว่า มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 70 เมตร

เป็นหนึ่งในพระนอนที่ใหญ่ที่สุดของพม่า และมีพระพักตร์งดงามที่สุดในบรรดาพระพุทธไสยาสน์ทั้งหมด เอกลักษณ์ที่โดดเด่น ก็คือ

"ดวงพระเนตรที่หวานซึ้ง" ดูเหมือนมีชีวิตจิตใจจริงๆ จนได้รับการขนานนามจากคนไทยว่า "พระนอนตาหวาน"

ว่ากันว่า ดวงพระเนตรทำด้วยแก้วอย่างดี สั่งผลิตส่งตรงจากประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งผ้าจีวรก็มีลักษณะอ่อนช้อยพริ้วไหวคล้ายของจริง

ปลายพระบาทมีธรรมจักรอยู่ตรงกลาง และถูกรายล้อมด้วยลายลักษณ์มงคล 108 ประการ สลักเสลาอย่างวิจิตร


ตามประวัติ แรกเริ่มเดิมทีมหาเศรษฐีชาวพม่าชื่อว่า "โบตา" เป็นผู้บริจาคเงินในการก่อสร้างในปีพ.ศ.2442 และเสร็จสมบูรณ์ในปีพ.ศ.2450 ในช่วงแรกพระนอนมีพระพักตร์ค่อนข้างดุดัน

ต่อมาในปีพ.ศ.2493 พระพุทธรูปองค์เก่าถูกรื้อถอนสร้างใหม่ เนื่องจากได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศ

"อูตอง" ช่างฝีมือจากเมืองทวายได้มาควบคุมดูแลการก่อสร้าง และมีพิธีบรรจุพระเนตรในปีพ.ศ.2516

พระอาจารย์ชัยวัฒน์เคยมาที่นี่กับหลวงพ่อท่านเจ้าคุณภาวนาโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุงเมื่อปีพ.ศ.2544 โชคดีที่มาตอนกำลังบูรณะพอดี เลยมีโอกาสร่วมทำบุญด้วย

หลังจากพระอาจารย์ชัยวัฒน์ได้นำกล่าวถวายเครื่องบูชาแล้ว ได้ร่วมบุญบูรณะล่วงหน้า 50,000 จ๊าด และค่าไฟฟ้า 20,000 จ๊าด

หลังจากนั้นก็เตรียมตัวไปไหว้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ในย่างกุ้งกันต่อ ยังมีไฮไลท์รออยู่อีกหลายจุด ไว้เจอกันตอนต่อไปนะคะ


"คณะทีมงานฯ"

วีดีโอ - คุณวัชรพล ศรีขวัญ, คุณเจ (สุทธิรักษ์)
ภาพ - คุณ kesarathip paramita, คุณจารุภา (เจ๊หลี), เจ๊มายิน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


http://www.tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=1051

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 20/7/18 at 13:39

.


webmaster - 20/7/18 at 14:46

.


webmaster - 25/7/18 at 06:49

.