ตามรอยพระพุทธบาท

ภาพข่าว..การเดินทางไป ภาคอีสาน-ภาคกลาง วันที่ 1-10 มิ.ย. 2552 (ตอนที่ 2)
webmaster - 21/6/09 at 08:08

« ตอนที่ 1 « ตอนที่ 3 « ตอนที่ 4

(Update 21/06/52)


11. วัดธาตุคำ ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (พระธาตุพบใหม่)
• ร่วมทำบุญสร้างพระฯ หน้าตักกว้าง 5.74 เมตร ช่วยกันเทปูน และทำบุญ 1,000 บาท (พบโดยบังเอิญ)
• บูชาพระธาตุ รูปคล้ายระฆังคว่ำ



รถได้วิ่งต่อไปตามริมน้ำโขง มองเห็นฝั่งลาวเป็นช่วงๆ โดยมีเป้าหมายจะไปกราบ "พระธาตุบังพวน" กัน ขณะนั่งฟังหลวงพี่เล่าไปเพลินๆ อยู่ดีๆ หลวงพี่ก็บอกให้หยุดรถอย่างกระทันหัน พวกเรามองตามไปทางด้านขวามือ เห็นช่างกำลังก่อสร้างองค์พระใหญ่อยู่หน้า วัดธาตุคำ ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


คนขับรถของเราก็แสนดี บอกให้เลี้ยวก็เลี้ยวไปทันที บางครั้งเลยไปก็ต้องกลับรถมาอีก ถึงอย่างไรก็ตาม สถานที่นี้ต้องถือว่าโชคดี ที่ได้มาพบโดยบังเอิญอีกแล้วว เป็นบุญพาวาสนาส่ง ลงไปจากรถไปเป็นจับกังดีกว่า สร้างพระพุทธเจ้าด้วยมือของเราเองอีกสักองค์หนึ่ง ว่าแล้วก็รับอาสาขอช่างเข้าไปหิ้วถังปูน หลวงพี่ก็ทำโดยไม่ถือตัว ท่านหิ้วถังปูนใส่น้ำหอม ทองคำเปลว แล้วชักรอกขึ้นไปข้างบน ขอร่วมสร้างด้วยคนนะ พร้อมกันนั้นท่านก็มอบเงินให้ช่างคนละ 100 บาททุกคน แหม..พอเห็นแบงค์ร้อยอย่างนี้ ไม่มีใครหน้าบึ้งสักคน ต่างก็ยิ้มรับด้วยความเต็มใจ


หลวงพี่ท่านมีจิตเมตตา ไปที่ไหนก็ให้เขามีความสุข ถึงแม้ท่านจะมีเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง การนั่งรถแต่ละครั้ง ท่านก็ต้องเอนตัวลงไปนอน เพราะนั่งไม่ไหว ร่างกายย่ำแย่พอสมควร แต่ท่านก็อุตส่าห์อดทนไปสร้างบุญกุศลด้วยตนเอง ทำบุญด้วยแรงกายเท่านั้นยังไม่พอ ท่านเดินไปหาเจ้าอาวาสที่วัดนี้ พร้อมกับร่วมทำบุญด้วยเงินอีก 1,000 บาท เจ้าอาวาสเล่าว่าองค์พระหน้าตักกว้าง 5.74 เมตร หมดเงินไปหลายแสนบาทแล้ว ช่างเขาเอาแพงมาก

หลวงพี่ได้แนะนำพระสายอีสานที่ท่านมีแบบพิมพ์องค์พระ จากนั้นก็ลาท่านเจ้าอาวาสออกมา แต่ขณะที่จะออกมาจากวัด หลวงพี่ได้แลเห็นองค์พระธาตุดำ (แต่ทาสีทอง) รูปคล้ายระฆังคว่ำ จึงได้ขอประวัติทราบว่า เป็นพระธาตุเก่าแก่มาแต่โบราณ ท่านจึงสั่งให้ขึ้นบัญชีพระธาตุเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง



12. วัดพานพร้าว ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
• ร่วมทำบุญ 1,000 บาท เพื่อสร้างศาลาครอบสมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก 4 ศอก
• มีรอยที่พญานาคขึ้น บริเวณกุฎิเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2552



ความจริงตอนนี้เป็นเวลาเย็นแล้ว หลวงพี่กะว่าจะไปพักที่หนองคาย แต่เมื่อออกจากวัดพระธาตุดำเพียงเล็กน้อย ก็มองเห็นป้ายด้านซ้ายมือบอกว่า "ขอเชิญชมรอยพญานาค" หลวงพี่จึงสั่งให้เลี้ยวรถเข้าไปอีก เมื่อเข้าไปถึงภายในบริเวณวัด เห็นมีภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วที่บริเวณกุฏิหลังนี้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ทำเป็นกรอบกระจกกั้นไว้บริเวณที่มีรอยพญานาค


เจ้าอาวาสวัดพานพร้าวได้เข้ามาเล่าว่า นับเป็นที่แปลกประหลาดมาก รอยพญานาคได้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วตรงกุฎิหลังนี้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 และได้เกิดมีรอยขึ้นอีกที่กุฏิหลังใหม่ของเจ้าอาวาส โดยมีรอยเป็นรอยเลื้อยให้เห็นชัดๆ ที่ฝาผนังกุฏิด้านนอก แล้วก็เกิดขึ้นตรงกันอีกด้วย คือมีรอยเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2552 รู้สึกว่าจะเป็นวันพระด้วยนะ


เมื่อหลวงพี่ได้เห็นรอยพญานาค ทั้งรอยเก่าที่กุฏิหลังเก่า และรอยใหม่ที่กุฏิหลังใหม่ของเจ้าอาวาสแล้ว ท่านบอกว่านึกขึ้นได้แล้วละ ว่าเคยมีหนังสือพิมพ์ลงเมื่อปีที่แล้ว และทีมงานก็ได้นำเรื่องนี้ลงในกระทู้เรื่อง "เพราะเหตุใด..จึงมีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นในวันออกพรรษาทุกปี" ในปีที่แล้ว พญานาคได้มาเข้าสิงพระบวชใหม่ด้วย

เจ้าอาวาสวัดพานพร้าวได้เล่าเรื่องการสร้างสมเด็จองค์ปฐมได้ด้านหน้าวัด ริมแม่น้ำโขง แต่ก็ยังเป็นหนี้เขาอยู่ หลวงพี่จึงได้ถวายปัจจัยร่วมทำบุญ 1,000 บาท พอท่านรู้ว่าหลวงพี่มาจากวัดท่าซุง รู้สึกว่าท่านจะดีใจมาก ท่านบอกว่าแบบพิมพ์สมเด็จองค์ปฐม มีพระสายอีสานมาสร้างให้ ตอนเริ่มสร้างได้เปิดเทปหลวงพ่อบวงสรวงด้วย ทำให้ท่านได้รู้จัก "หลวงพ่อวัดท่าซุง" ตั้งแต่ตอนนั้น



วันที่ 4 มิถุนายน 2552


13. พระธาตุขาว ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (พระธาตุพบใหม่)
• เป็นพระธาตุคู่กับพระธาตุคำ สภาพอยู่ในการดูแลของเทศบาล เป็นพระธาตุเก่า



ตามที่ได้เล่าไปแล้วว่า เดิมเป้าหมายของพวกเราจะไปกันที่พระธาตุบังพวน แต่ก็ต้องมาพบเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในระหว่างทาง ทำให้ต้องเพิ่มบัญชี "พระธาตุ" อีก 1 แห่ง นั่นก็คือ "พระธาตุดำ" และ "พระธาตุขาว" อยู่ใกล้กัน โดยมีถนนกั้นกลาง เดิมเรียกว่า พระธาตุคำ (ทองคำ) ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "พระธาตุดำ" ส่วนพระธาตุขาวก็คือ "พระธาตุเงิน"

ตามความหมายก็คือ พระธาตุเงิน - พระธาตุทอง นั่นเอง นับว่าโชคดีที่ได้พบโดยบังเอิญ เพราะตามประวัติเล่าว่า วัดธาตุดำตั้งเป็นวัดเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๑๐๔ สร้างสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ในองค์พระเจดีย์บรรจุพระอรหันตธาตุ

อนึ่ง มีประวัติย่ออีกตอนหนึ่งเล่าว่า ได้มีเจ้าเมืองเชียงใหม่กับเจ้าเมืองน่าน พร้อมด้วยพระราชธิดา 2 พระองค์ มีนามว่า "พระธิดาสี" กับ "พระธิดาลี" เป็นผู้สร้างพระธาตุดำและพระธาตุขาว พร้อมกับบรรจุพระอรหันตธาตุของพระโมคคัลลานเถระและพระสารีบุตรเถระไว้


เมื่อได้อ่านประวัติจากทางวัดแต่โดยย่อแล้ว จึงได้เข้าไปกราบนมัสการองค์พระธาตุขาว ซึ่งอยู่นอกเขตวัดพระธาตุดำ แต่ก็ยังมีทายกของวัดช่วยดูแล (กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว) ซึ่งได้อนุเคราะห์ให้พวกเราเข้าไปกราบไหว้ ให้สรงน้ำหอมปิดทองและห่มผ้าสีทองที่ยอดพระเจดีย์ ที่ขาดสะบั้นตกลงมาตั้งอยู่บนพื้นนานแล้ว (ทายกบอกว่าชาวบ้านนิยมห่มผ้าสีขาว แต่พวกเรามีแต่ผ้าสีทอง)



14. พระธาตุโพนจิกเวียงงัว วัดป่าพระธาตุบุ บ้านโคกป่าฝาง อ.ปะโค อ.เมือง จ.หนองคาย
• ร่วมทำบุญบูรณะองค์พระธาตุ พร้อมกับทำฉัตรใหม่ เป็นเงิน 2,300 บาท
• บูชา สรงน้ำหอม ปิดทอง ถวายพวงมาลัย หลวงพี่ขึ้นไปห่มผ้าสไบทองด้วยตนเอง



พระธาตุแห่งนี้ เดิมไม่มีในโปรแกรม แต่ในระหว่างทาง หลวงพี่นั่งเล่าไปในรถให้ฟังว่า เมื่อปี พ.ศ.19 สมัยพระยาจันทบุรี ผู้ครองนครเวียงจันทร์ ได้มีพระอรหันต์ 5 รูป นำพระบรมสารีริกธาตุที่สำคัญจากกรุงราชคฤห์ 45 องค์ แบ่งมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์บริเวณนี้ 4 แห่ง คือ
1. พระบรมธาตุเขี้ยวฝาง (ฟันกราม) นำไปบรรจุไว้ที่ พระธาตุหอผ้าหอแพ บ้านทรายฟอง สปป.ลาว จำนวน 4 องค์
2. พระบรมธาตุเขี้ยวฝาง (ฟันกราม) นำไปบรรจุไว้ที่ พระธาตุโพนจิก เวียงงัว จำนวน 3 องค์
3. พระบรมธาตุฝ่าพระบาท เบื้องขวา นำไปบรรจุไว้ที่พระธาตุหล้าหนอง จมอยู่กลางแม่น้ำโขง จำนวน 9 องค์
4. พระบรมธาตุหัวเหน่า นำไปบรรจุไว้ที่ พระธาตุบังพวน จำนวน 29 องค์


แต่หลวงพี่บอกว่า ในปัจจุบันนี้นับเป็นเรื่องที่แปลก ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์ จึงไม่รู้ว่าบ้านเมืองของเรายังมีสถานที่สำคัญเก่าแก่มาแต่โบราณอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นพระธาตุร่วมสมัยเดียวกันก็ว่าได้ ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ให้พวกเราได้กราบไหว้บูชา

อีกทั้งตามตำนานพระธาตุพนมกล่าวว่า ในสมัยองค์สมเด็จบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ หลังจากเสด็จไปประทับที่ริมหนองคันแทเสื้อน้ำ (พระธาตุหลวง เวียงจันทน์) แล้วพระองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ ที่นี้ด้วย


ด้วยเหตุนี้ หลวงพี่จึงได้ปีนขึ้นไปห่มผ้าสไบทองด้วยตนเอง เป็นการบูชา "พระบรมธาตุเขี้ยวฝาง" ที่ยังเหลือในเมืองไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งมีประวัติก่อสร้างมานาน 2,500 กว่าปีแล้ว ขณะนั้นท่านเจ้าอาวาสก็ได้เดินเข้ามาให้ข้อมูลต่างๆ ท่านบอกว่ากำลังทำยอดฉัตรใหม่ หลวงพี่จึงรวบรวมปัจจัยร่วมทำบุญกับท่าน เป็นจำนวนเงิน 2,300 บาท นับว่าพวกเรามาได้จังหวะดีเป็นอย่างมาก เพราะโอกาสเช่นนี้หาได้ยากยิ่ง





15. พระธาตุหล้าหนอง (พระธาตุกลางแม่น้ำโขง) อ.เมือง จ.หนองคาย
• ลงเรือไปบูชา สรงน้ำหอม ปิดทอง ถวายผ้าสไบทอง และพวงมาลัย
• เกิดอัศจรรย์มีละอองฝนโปรยปรายลงมาบางเบา หลังจากกลับที่ขึ้นฝั่งแล้ว



รถได้วิ่งออกจากเมืองเก่า "เวียงวัว" หรือ "เมืองโค" ที่คนไทยลืมประวัติไปแล้ว แต่หลวงพี่ท่านยังไม่ลืม จึงได้นำพวกเราเดินทางต่อไปกราบไหว้เป็นจุดที่ 2 ของประวัติศาสตร์ เมื่อไปถึงก็ได้แต่ยืนดูอยู่ริมแม่น้ำโขง มองเห็นฐานพระเจดีย์เอียงจมลงไปในน้ำเสียแล้ว แต่ทางจังหวัดหนองคายได้สร้างพระธาตุจำลององค์ใหม่ พวกเราได้แต่อนุโมทนาและถ่ายรูปไว้เพียงเท่านั้น เพราะมันยังไม่จุใจ

ในขณะนั้น เป็นเวลา 10 โมงกว่าแล้ว เห็นหลวงพี่เดินเข้าไปคุยกับชาวบ้านแถวนั้น สักพักหนึ่งพวกเราต้องอุทานออกมาด้วยความดีใจ เมื่อหลวงพี่บอกว่ากำลังติดต่อขอเช่าเรือ เพื่อลงไปบูชาพระธาตุกลางน้ำ เห็นผู้ชายคนนั้นขับรถมอเตอร์ไซด์เข้าไปในซอยเพื่อตามเจ้าของเรือ

ระหว่างที่รอ พวกเราจึงรีบเตรียมเครื่องบูชา มี ดอกไม้ พวงมาลัย และผ้าห่ม แล้วช่วยกันหิ้วของเดินลงไปทีท่าน้ำ ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าของเรือมาพอดี เขาคิดราคา 500 บาท หลวงพี่ไม่ขัดข้อง เพราะเป็นครั้งแรกของท่านและพวกเราทุกคน จึงขอให้ผู้อ่านติดตามอนุโมทนาทุกวินาทีนะค่ะ


เรือหางยาวลำใหญ่พอสมควร วิ่งฝ่าสายลมออกไป มองดูกระแสน้ำไหลเชี่ยว คิดว่าถ้าเรือจมลงไป คงว่ายน้ำไม่ไหวแน่ ทีมงานของเราถ่ายรูปตลอดเวลา พร้อมทั้งถ่ายรูปพระเจดีย์องค์ใหม่ที่อยู่ริมโขงอีกด้วย


คนขับเรือได้นำเรือวิ่งทำประทักษิณ 3 รอบ ทั้งๆ ที่พวกเราไม่ได้บอก แต่เขาทำตามความศรัทธาของเขาเอง พวกเราจึงพร้อมใจกันสวดอิติปิโส พร้อมกับพนมมือถือผ้าห่มสีทองไว้ด้วย ท่ามกลางเสียงเครื่องเรือที่ดังลั่นไปทั่วท้องน้ำ


เรือขับวนรอบๆ พระเจดีย์ จนเข้าไปถึงใกล้ๆ จะมองเห็นธงที่ปักเอาไว้ คนที่นั่งหัวเรือบอกว่า เขาเป็นคนนำธงมาปักไว้เอง เขาบอกต่อไปอีกว่า ส่วนที่โผล่ขึ้นเหนือน้ำไม่ใช่ยอดเจดีย์ แต่เป็นฐานของพระเจดีย์ สมัยก่อนแม่น้ำโขงไม่ได้กว้างอย่างที่เห็นนี้ พระเจดีย์สมัยนั้นอยู่ริมแม่น้ำ แต่พอกาลเวลาผ่านไปนาน น้ำได้กัดเซาะตลิ่งพังลงไปในที่สุด ปัจจุบันอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 180 เมตร


ตามประวัติเล่าว่า พระเจดีย์องค์นี้ ซึ่งแต่เดิมเคยบรรจุกระดูกพระบาทข้างขวาของพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย (สมัยนั้นเรียกว่า เมืองหล้า) ได้จมลงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เวลาใกล้ค่ำ ปี พ.ศ.2309


เมื่อหัวเรือวิ่งเข้าเทียบที่ฐานเจดีย์ คุณสำราญและคนอยู่หัวเรือได้ช่วยกันจับไว้ แล้วให้หลวงพี่ลงไปห่มผ้าสีทอง มองเห็นน้ำเชี่ยวไหลวน หากพลาดตกลงไป มีหวังจมลงไปในน้ำแน่นอน แต่ในใจก็นึกภาวนาให้หลวงพี่และทุกคนปลอดภัย


ในห้วงเวลาระทึกใจ หลวงพี่และคุณสำราญช่วยกันห่มผ้าจนสำเร็จ แล้วท่านได้บูชาด้วยน้ำหอม โปรยกลีบดอกไม้ และพวงมาลัยเล็กๆ แต่ลมได้พัดปลิวลงแม่น้ำไปหมด


ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าก้อนอิฐมอญก้อนใหญ่ มีลักษณะคล้ายสมัยอยุธยา ก่อนจะกลับลงมาในเรือ หลวงพี่ได้ปีนไปจับเสาธงที่เอียงอยู่ให้ตั้งขึ้น แต่ก็ทำได้ยาก เพราะลมแรง หลังจากนั้น เรือก็วิ่งนำพวกเรากลับมาสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย ในระหว่างนี้ มีละอองฝนโปรยลงมาเบาๆ ตามกระแสลม

ตอนแรกพวกเรานึกว่าน้ำกระเซ็นมาจากหัวเรือ แต่เมื่อขึ้นฝั่งข้ามถนนมาเพื่อไปที่ร้านอาหาร แหงนมองขึ้นไปข้างบน เห็นสายฝนล่องลอยมาได้สักครู่ก็หายไป พวกเรารู้สึกอิ่มเอิมเปรมใจ สมปรารถนาที่ไปไหว้ถึงพระธาตุกลางน้ำ จึงได้สั่งอาหารเพลถวายหลวงพี่ทันเวลาพอดี


ในระหว่างที่นั่งทานอาหารอยู่ริมโขงนั้น มองเห็นชาวบ้านแต่งกายสวยงาม โดยเฉพาะผู้ชายจะเป็นคนตีฆ้องตีกลอง ส่วนผู้หญิงก็ร่ายรำแบบพื้นบ้านไปด้วย พร้อมกับโปรยเครื่องบูชาลงไปข้างล่าง ทราบว่าเป็นวันไหว้พระธาตุกลางน้ำประจำปีของหมู่บ้านนี้.

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


webmaster - 24/6/09 at 10:39

(Update 24/06/52)


16. พระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย


เมื่อพวกเราทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว จึงเดินทางออกมาจากตัวเมืองหนองคาย ย้อนกลับลงมาตามถนนสายอุดรธานี แต่มีทางแยกเลี้ยวขวาไปที่ พระธาตุบังพวน อันเป็นจุดหมายสุดท้ายของการไหว้พระธาตุร่วมสมัย ซึ่งได้ติดตามกราบไหว้จนครบถ้วนทั้ง 3 แห่งแล้ว (แห่งที่ 4 พระธาตุหอผ้าหอแพ ประเทศลาว หลวงพี่ยังค้นหาไม่พบ ใครทราบช่วยแจ้งด้วย)

พระธาตุแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาสำคัญอย่างไร ประชาชนส่วนใหญ่จะรู้จักกันดีว่า หลังจากที่องค์สมเด็จพระบรมครูเสด็จมาจากพระธาตุโพนจิกเวียงงัวแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้เสด็จมา ณ ที่ป่าไม้แป้ง (ไม้ศรีมหาโพธิ) เพื่อโปรดพญานาค ณ ภูเขาลวง (สมัยนั้นเรียกชื่อนี้) ซึ่งมีชื่อว่า "พญาปัพพาลนาคราช" อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำพังพวน

พญานาคราชได้แปลงกายเป็นมนุษย์ แล้วถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์ เมื่อทรงกระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว จึงประทานผ้ากัมพลผืนหนึ่งแก่ปัพพาลนาคราช จากนั้นได้เสด็จไปฉันเพล ณ ที่ใกล้เวินหลอด คนทั้งหลายจึงเรียกที่นั่นว่า "เวินเพล" มาเท่ากาลบัดนี้ (โพนฉัน - โพนเพล ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น "โพนแพง")

เมื่อฉันเพลแล้ว สุกขหัตถีนาคราช เนรมิตเป็นช้างถือดอกไม้มาขอเอารอยพระพุทธบาท พระองค์ได้ย่ำรอยพระบาทไว้ที่แผ่นหินใกล่ริมแม่น้ำ ชั่วเสียงช้างร้องได้ยิน (พระบาทโพนฉัน ตรงข้าม อ.โพนพิสัย) อีกทั้งสมัยต่อมา หลังจากพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานแล้ว ประมาณปี พ.ศ. 19 พระอรหันต์ทั้ง 5 รูป ได้นำพระบรมธาตุส่วนหัวเหน่ามาบรรจุไว้ 29 องค์


นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ผู้ที่เขียนประวัติของวัดในเว็บไซด์ มีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงที่นี้ นับว่าได้เสริมสร้างความเชื่อถือของชาวพุทธ ไม่ทำลายความศรัทธาของคนที่เชื่อถือใน "อุรังนิทาน" หรือ "ตำนานพระธาตุพนม" ที่ได้เล่าเรื่องนี้ไว้

เรื่องการไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงขอบเขตประเทศนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่เขาเรียนจากตำราของชาวต่างชาติ วัตถุโบราณต่างๆ ของไทย จึงคงเหลือแต่ซากปรักหักพัง ที่เขาบอกว่ารักษาเป็นศิลปะไว้

แต่ถ้าเราไปดูโบราณวัตถุในประเทศพม่า เขาจะรักษาไว้ตรงข้ามกับบ้านเรา เขาจะบูรณะปิดทองอย่างสวยงาม ดังเช่นพระเจดีย์ที่เมืองพุกาม ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าของเราเสียอีก เขาไม่ปล่อยไว้ให้ดำๆ ด่างๆ อย่างนี้ เห็นแล้วก็น่าเศร้าใจ ที่เขามองเพียงแค่วัตถุภายนอกเท่านั้น

แต่ไม่มองให้ลึกไปถึงจิตใจว่า การซ่อมแซมด้วยการลงรักปิดทองนั้น จะแลดูสวยงามอร่ามตากว่าที่เห็นในปัจจุบันนี้ ลองเปรียบเทียบระหว่าง พระธาตุจอมกิตติ กับ พระเจดีย์ชเวดากอง ก็แล้วกัน ว่าใครจะสวยงามกว่ากัน ทั้งๆ ที่เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองสำคัญพอๆ กันนั่นแหละ..

เอาละค่ะ..ติเพื่อก่อ..ต่อเพื่อเต็ม..เพียงแค่นี้ก่อน เพราะว่าจะต้องเล่าเรื่องต่อไปอีกว่า การเดินทางครั้งนี้ ได้ไปตามวิถีทางจริงๆ เดิมไม่ได้ตั้งใจว่าจะมาที่นี่ แต่อย่างที่บอกตอนต้นแล้วว่า เดิมจะเลี้ยวรถไปที่วัดป่าโนนวิเวก บ้านเทื่อม อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เพื่อร่วมสร้างพระพุทธรูปปางสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ หน้าตัก 18 ศอก

แต่ทว่ารถเลี้ยวผิดไปอีกทางหนึ่ง จึงได้พบประสบเรื่องราวต่างๆ ดังที่เล่าผ่านไปนี้แหละค่ะ.. คือพวกเราไม่ได้วางแผนว่าจะมากราบพระธาตุโบราณ คือ พระธาตุโพนจิก, พระธาตุหล้าหนอง, พระธาตุบังพวน กันเลย

จึงเป็นอันว่าได้มาครบถ้วน ณ สถานที่นี้แล้ว จึงได้กราบไหว้บูชาพระบรมธาตุส่วนหัวเหน่า 29 องค์ อีกทั้งเคยเป็นสถานที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเคยเสด็จมาประทับอีกด้วย จึงช่วยให้พวกเราเกิดมีความประทับใจ ได้โปรยดอกไม้ สรงน้ำหอม และปิดทอง หลังจากนั้นจึงออกเดินทางต่อไป

17. วัดป่าบ้านค้อ อ.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี


รถได้วิ่งออกมาตามเครื่อง GPS วิ่งลัดตัดทางเส้นใน ผ่านหมู่บ้านต่างๆ จนกระทั่งเห็นพระเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่แต่ไกล หลวงพี่บอกให้เลี้ยวรถเข้าไปทันที เห็นมีป้ายข้างถนนบอกว่า "วัดป่าบ้านค้อ" จึงทำให้นึกถึง พระอาจารย์ทูล ขิปปปัญโญ ที่ท่านเพิ่งจะมรณภาพไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง จึงได้อนุโมทนาการสร้างพระมหาเจดีย์ของท่าน แล้วออกเดินทางต่อไป


18. วัดป่าโนนวิเวก (ทรงเครื่องจักรพรรดิ์ หน้าตัก 18 ศอก) บ้านเทื่อม ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
• ร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูป และ หลวงปู่ปาน-หลวงพ่อ (หน้าตัก 8 ศอก) รวม 4,000 บาท
• ร่วมทำบุญ กับพระที่กำลังทำงาน 400 บาท
• ร่วมทำบุญ กับคนงานอีก 600 บาท
• รวมเป็นเงิน 5,000 บาท



จากวัดป่าบ้านค้อไม่นานก็ออกมาถึงบ้านเทื่อม ซึ่งเป็นถนนสายหลัก อุดรธานี - บ้านผือ แล้วเลี้ยวเข้าไปในวัดป่าโนนวิเวก แต่ไม่พบกับอาจารย์ทองเจ้าอาวาส ท่านไปเข้าปริวานที่บ้านดุง จึงได้ฝากเงินไว้กับพระที่กำลังทำงานอยู่ 4,000 บาท พร้อมกับถวายปัจจัยให้กับพระ 2 รูป และมอบให้ชาวบ้านที่มาช่วยงานอีก รวมเป็นเงิน 1,000 บาท


หลังจากนั้น ช่างภาพได้บันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก เพราะหลวงพี่เคยฝากเงินมาทำบุญร่วมสร้างหลายครั้งแล้ว แต่ท่านก็ยังไม่เคยเดินทางดูงานก่อสร้างเลย พบว่าช่างได้สร้างองค์และพระเศียรเสร็จแล้ว รอแต่ติดเครื่องประดับที่องค์พระ ส่วนฐานที่อยู่สองด้านขององค์พระ อาจารย์ทองจะจัดงานหล่อหลวงปู่ปาน - หลวงพ่อ ภายในพรรษานี้อีกเช่นกัน



19. หลวงพ่อนาค วัดโพธิ์ชัยศรี อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี (พบใหม่)

.......วัดโพธิ์ชัยศรี ตั้งอยู่ที่บ้านแวง ตำบลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ภายในวัดมีบ่อน้ำบ่อหนึ่ง มีรูน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา น้ำใสสะอาดสามารถดื่มกินได้ ความลึกประมาณ ๘๙ เมตร

.......ถ้าถึงฤดูหนาว น้ำในบ่อจะอุ่นผิดปกติ นับตั้งแต่มีการตั้งหมู่บ้านเมื่อราว ๒๐๐ ปีก่อน บรรพบุรุษต่างยืนยันว่า ไม่มีผู้ใดลงมือขุดบ่อน้ำนี้ สันนิษฐานว่า คงมาพร้อมกับวัดโพธิ์ชัยศรี และหลวงพ่อนาค

......ในอดีตบ่อน้ำนี้เคยแห้งมาแล้ว ๔ ครั้ง ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๒, ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๑, ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๐๓ และครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๐ เหตุที่น้ำในบ่อแห้ง เชื่อกันว่า มีสตรีนำผ้าถุง (ผ้าซิ่น) ไปวางไว้ขอบบ่อน้ำ อาจารย์รักษ์ ทองสุวรร ณ(บวชเป็นพระ พ.ศ. ๒๕๒๐) เคยเห็นเหตุการณ์เล่าว่า

ก่อนที่น้ำในบ่อจะแห้งหมด จะมีเสียงดังอยู่ใต้ก้นบ่อ พร้อมกับมีน้ำกระเซ็นขึ้นมาปากบ่อ จึงเดินเข้าไปส่องดูในบ่อ เห็นเป็นฟองเหมือนผงซักฟอกลอยอยู่บนน้ำ สักครู่หนึ่งก็จะหายไป

รุ่งเช้า น้ำในบ่อก็หมด น้ำในบ่อแห่งนี้ปกติจะไม่แห้ง ถ้ามีผู้ทำผิด น้ำจะแห้ง เมื่อน้ำในบ่อแห้งจะมีพิธีไปขอน้ำในลำห้วยกลางทุ่งนา ซึ่งชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมตัวกัน โดยผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านจะกล่าวขอขมาลาโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ต่อจากนั้นทุกคนจะไปตักน้ำในลำห้วยมาคนละขัน เทลงไปในบ่อ วันรุ่งขึ้นจะมีน้ำมาอยู่ระดับ

เดิมภายในบ่อมีศิลาดาดที่ก้นบ่อ เป็นโพรงลึกเข้าไปประมาณ ๓ เมตร โดยรอบมีรูใหญ่ ๆ พอคนคลานเข้าไปได้ ๒ รู รูหนึ่งตรงไปหาพระประธานที่ศาลาการเปรียญ อีกรูหนึ่งตรงไปทางกุฏิเจ้าอาวาส ด้านทิศตะวันออกไปทางลำห้วยกลางทุ่งนา ประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ พอเห็นได้ว่า เวลาครุ (ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ ทาด้วยขี้ชันน้ำมัน) หรือกระแป๋งตักน้ำตกลงไปในบ่อ ถ้าใช้ไม่หยั่งลงไปก้นบ่อค้นหาก็หาไม่พบ

ต่อมามีคนหาปลาที่ลำห้วยเจอกระแป๋งนี้ จึงสันนิษฐานว่า รูก้นบ่อต้องยาวไปถึงลำห้วยแน่ กระแป๋งของคนนั้นจึงมาอยู่ที่ลำห้วยได้ ลำห้วยนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “กุด” มีผีนาคเงือกเฝ้ารักษาเหล็กไหลอยู่ ชาวบ้านเรียกผีนาคเงือกว่า “ปู่หมอน” เคยทำให้เด็กที่เป็นลูกพ่อแม่เดียวกันครอบครัวเดียวกันจมน้ำตาย วันเดียวกัน ๓ คนมาแล้ว ศพไหลขึ้นไปทางเหนือน้ำ

สำหรับพระนาคปรก หน้าตักกว้าง ๑๒ นิ้ว สูง ๑๒ นิ้ว สันนิษฐานว่า สร้างด้วยหินศิลานั้น เพื่ออำพรางองค์จริงที่เป็นทองสำริด ก่อนที่จะสร้างพระนาคปรกขึ้นด้วยทองสำริด ต้องมีการจำลองแบบขึ้นก่อน โดยมีการแกะพระนาคปรกด้วยหินมาก่อน จากนั้นนำพระนาคปรกหินศิลาเป็นตัวอย่าง

ชาวบ้านแวงทุกคนนับถือพระนาคปรกมาก เพราะเคยถูกขโมยไปแล้วถึง ๔ ครั้ง แต่ในแต่ละครั้งก็ได้กลับคืนมาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้ มีพุทธลักษณะสวยงามน่าเลื่อมใส อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนพระเศียร

โดยเฉพาะพระพักตร์มีความละเมียดละไมค่อนข้างจะยิ้มนิด ๆ ตามแบบพุทธลักษณะของพระปางนาคปรก ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านต่างพากันขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้กันว่า “หลวงพ่อนาค” ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยศรี

ที่มา - www.banphue.net


webmaster - 26/6/09 at 16:44

(Update 26/06/52)

20. พระธาตุโพนทอง ริมถนนทางหลวง สายอุดร-สกลนคร ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี (พระธาตุพบใหม่)


"หอพระธรรมชัย" สร้างอยู่ด้านข้างองค์พระธาตุโพนทอง

พระธาตุโพนทองแห่งนี้ ได้หมายเหตุว่าเป็น "พระธาตุพบใหม่" ความจริงเป็นพระธาตุเก่าแก่มาแต่โบราณ เวลารถวิ่งผ่านไปผ่านมา จะได้ยินเสียงบีบแตรรถตลอดเวลา แสดงว่าคนแถวนี้ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก แต่พวกเราเพิ่งจะรู้กันละค่ะ สังเกตให้ดีจะเห็นว่าก้อนศิลาแลงใหญ่แบบโบราณจริงๆ

ความจริงถือว่าเป็นพบโดยบังเอิญ เพราะหลวงพี่ผ่านถนนเส้นนี้มาหลายครั้ง ท่านบอกว่าเพิ่งจะเห็นครั้งนี้ เนื่องจากว่ามีป้ายบอกจากนายกเทศมนตรีว่าจะจัดงานในวันที่ 7 มิ.ย. จึงได้ขับรถวิ่งมาตามป้าย บังเอิญพระธาตุอยู่ข้างถนนด้านซ้ายมือ เห็นคนงานกำลังจัดเตรียมปะรำพิธีอยู่พอดี


พระธาตุจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ให้ดูเครื่องบูชาเซ่นสรวงซิ วางเต็มไปหมด ไม่ว่ารูปปั้นช้างว่าม้าหรือพวงมาลัย ถ้าดูตามภาพแล้วจะเห็นว่า พระธาตุองค์นี้ขลังพอสมควร โดยเฉพาะพวกเราพอไปถึงได้สักพัก ปรากฏว่าฝนตกลงมาพอดี ต้องยืนไหว้กันอยู่ท่ามกลางสายฝน

มหัศจรรย์"พระธาตุโพนทอง" สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุดรธานี


คอลัมน์ สกู๊ปพิเศษ
พฤตินัย มั่งสวัสดิ์


"พระธาตุโพนทอง" เป็นพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ ครั้งสมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ มีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยม ฐานกว้าง 8 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดสูง 10 เมตร ที่ปลายยอดประดับด้วยแก้วสีขาว ส่องแสงเป็นประกายวาววับ เดิมเป็นที่บรรจุอัฐิพระอรหันต์ พร้อมมีการบรรจุพระพุทธรูปทองคำ และเครื่องอันศักดิ์สิทธิ์ไว้ข้างในมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว

พระธาตุโพนทอง เป็นที่สักการบูชาของชาวขอม ในสมัยนั้น ถือเป็น "วัด" ที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีพระพุทธรูปที่โดดเด่นและสวยงามอยู่หลายองค์

มีตำนานเล่าขานว่า สมัยพุทธกาล มีพระอรหันต์ จำนวน 8 รูป เดินทางมุ่งหน้าไปกราบนมัสการอัฐิธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยัง "ภูกำพร้า" (พระธาตุพนม) อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม หลังจากที่เดินทางกลับมา เกิดอาการอาพาธหนัก ท่านรู้ว่า ตนเองจะมรณภาพ จึงได้ปักกลดนั่งสมาธิและได้ดับขันธ์ปรินิพพาน ณ บริเวณที่ก่อตั้งพระธาตุโพนทองแห่งนี้

หลังจากที่พระอรหันต์ ดับขันธปรินิพพาน ได้จัดพิธีฌาปนกิจพร้อมนำอัฐิบรรจุเอาไว้ในพระธาตุ โดยคนสมัยก่อน เคารพและศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก เจ้าเมืองในแต่ละที่ จะเดินทางมาร่วมทำบุญและก่อสร้าง "องค์พระธาตุ" เพื่อบรรจุอัฐิของพระอรหันต์ที่ปรินิพพาน

โดยได้นำเอาพระพุทธรูปทองคำ เครื่องทองสัมฤทธิ์ และของมีค่าต่างๆ นำมาบรรจุไว้ในพระธาตุ โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 7 วัน นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียง ยังได้ก่อสร้างองค์พระธาตุเล็กไว้อีก 2 องค์ ทางทิศตะวันตก ชาวขอมที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น ต่างพากันตั้งชื่อองค์พระธาตุที่บรรจุอัฐิพระอรหันต์ ว่า "พระธาตุโพนทอง" มีความหมายว่า "พระธาตุที่เนินทองคำสูง"

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับพระธาตุโพนทอง คือ เมืองหนองยาง เป็นเมืองขอม แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายเมืองแสน อยู่ทางทิศใต้ของเมืองหนองยาง ฝ่ายเมืองจันทร์อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองหนองยาง ซึ่งเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ และทรัพย์สมบัติในสมัยนั้น

เมืองหนองยาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือห่างออกไป 150 เส้น จากพระธาตุโพนทอง เช่นเดียวกับวัดบ้านโนนโพนสูง วัดบ้านหัน วัดบ้านแหน และวัดนาเมือง วัดเหล่านี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุโดยห่างออกไปประมาณ 80-90 เส้น ในปัจจุบันเป็นวัดที่เก่าแก่ เต็มไปด้วยซากปรักหักพังจำนวนมาก เพื่อรอการบูรณะ

สำหรับวัดบ่อหิน หรือที่เรียกว่า "ขุมเหล็ก" อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุโพนทอง 50 เส้น วัดโนนโพนทองน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไป 50 เส้น วัดโบราณบ้านอีเลี่ยน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ไป 75 เส้น บ่อน้ำส่างโพธิ์ ที่ทำด้วยศิลาแรง ตั้งแต่ครั้งสมัยชาวขอม สร้างพร้อมกับพระธาตุโพนทอง ห่างออกไป 20 เส้น

กระทั่งปีพุทธศักราช 2452 ได้มีการก่อสร้างถนนสายอุดรธานี-สกลนคร โดยถนนได้ตัดผ่านไปบริเวณใกล้ที่ตั้งขององค์พระธาตุโพนทอง แต่ด้วยความโลภของผู้รับเหมา ช่าง และกรรมกร ได้มีการแอบทำลายพระธาตุองค์เล็ก ที่ล้อมรอบพระธาตุองค์ใหญ่ เพื่อเอาทองคำของมีค่า ออกมาจากพระธาตุ ปรากฏว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาองค์พระธาตุโพนทอง ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ กลายเป็นหมีตัวใหญ่ ออกมาอาละวาดกัดผู้รับเหมาและพวกเสียชีวิต

ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ชาวขอมโบราณที่อยู่ใกล้บริเวณพระธาตุโพนทอง จะมารวมตัวกัน เพื่อจุดบั้งไฟบูชาองค์พระธาตุ เป็นประจำทุกปี โดยเชื่อว่าจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นรอบองค์พระธาตุ โดยจะมีลูกแก้วส่องประกายวนเวียนไปรอบองค์พระธาตุ ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ชาวบ้านพากันทำบั้งไฟจุดบูชาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนี้ พระพุทธรูปทองคำ ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆ แต่การเคลื่อนย้าย ทำให้เกวียนใช้บรรทุกหักไปถึง 7 เล่ม ในเวลาเดียวกัน ชาวบ้านหนองนาคำ ได้นำเอาพระพุทธรูปทองคำ จำนวน 3 องค์ใหญ่ หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 100 เซนติเมตรไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีทัศน์ บ้านหนองนาคำ

ส่วนพระพุทธรูป 2 องค์ ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดต่างๆ ให้ชาวบ้านกราบไหว้สักการบูชา ในพื้นที่อำเภอหนองหาน แต่ปัจจุบันไม่มีใครทราบว่าอยู่ที่ใดบ้าง

ทุกวันนี้ พระธาตุโพนทอง ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมใหม่ โดยเทศบาลตำบลหนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้จัดสรรงบประมาณ 1,234,000 บาท ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ รวมทั้งสร้าง "หอพระธรรมชัย" ไว้คู่กับองค์พระธาตุโพนทอง เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจชาวพุทธไว้ตราบนานเท่านาน...

ข้อมูลข่าวสด www.khaosod.co.th
โดยคุณ : ข่าวสด - [ 18 พ.ค. 2005 , 13:16:17 น. ]






เทศบาลตำบลหนองบัว จัดงานประเพณี สัตยาธิษฐาน สืบสานประเพณีไหว้สา พระธาตุโพนทอง
ร่วมสืบทอด และสืบสานประเพณี การสักการบูชาพะธาตุโพนทองให้คงอยู่คู่เมือง


ที่บริเวณพระธาตุโพนทอง ถนนอุดร-สกลนคร ค่ำวานนี้ ( 7 มิ.ย.52 ) นายอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเป็นประธานเปิดงานประเพณีสัตยาธิษฐาน สืบสานประเพณีไหว้สา พระธาตุโพนทอง โดยมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ประชาชนร่วมงานจำนวนมาก

นายชาญวิทย์ กาญจน์วิเศษศรี นายกเทศมนตรีตำบลหนองบัว กล่าวว่า พระธาตุโพนทอง เป็นโบราณสถานที่มีรูปทรงแปดเหลี่ยมเส้นผ่าศูนย์กลางของฐานประมาณ 8-10 เมตร ส่วนสูงจากฐานถึงยอดพระธาตุประมาณ 7 เมตร ก่อสร้างด้วยศิลาแลง มีคำบอกเล่าต่อกันมาว่า ก่อสร้างองค์พระธาตุ เมื่อครั้งอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ เพื่อเป็นสถานที่สักการบูชาของผู้คนสมัยนั้น และปัจจุบัน

พระธาตุโพนทองเป็นสถานที่สักการะบูชาเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ และตำบลสามพร้าว ซึ่งในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ของทุกปีจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ปรากฏบนยอดองค์พระธาตุ กล่าวคือจะมีลูกไฟเหมือนลูกแก้วส่องแสงเป็นประกายวนเวียนรอบองค์พระธาตุ ทำให้พี่น้องประชาชนที่ได้พบเห็นเกิดแรงศรัทธา จึงได้มีการนำบั้งไฟมาจุดถวายเป็นการบูชาพระธาตุโพนทอง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี

การจัดงานครั้งนี้จัดให้มีการประกอบพิธีทางศาสนา เจริญพระพุทธมนต์ และพิธีบวงสรวงพระธาตุโพนทอง การประกวดการแต่งกายชุดไทยพื้นเมือง การร่วมรับประทานอาหารพาแลง ชมการแสดงจินตภาพประกอบการแสดงแสง สี เสียงและวิพิธทัศนาชุดสัตยาธิษฐาน สืบสานประเพณีไหว้สา พระธาตุโพนทอง.

ข้อมูลจาก :: ศรีภูมิ มุลชาภิรมย์ ส.ปชส.อุดรธานี วันที่ :: 8/6/2552
www.udclick.com/home1/index.php


webmaster - 4/7/09 at 10:24

(Update 04/07/52)


วันที่ 5 มิถุนายน 2552


21. รอยพระพุทธบาท วัดถ้ำภูผาแด่น บ.ดงน้อย อ.เมือง จ.สกลนคร (พบใหม่)
• ร่วมทำบุญ 1,800 บาท
• ถวายหนังสือตามรอยฯ เล่ม 1 - 4 จำนวน 1 ชุด



สำหรับข้อมูลสถานที่แห่งนี้ พระอาจารย์ประทักษ์ (อาจารย์ตุ๋ย) อยู่ที่สกลนคร ท่านได้แจ้งให้หลวงพี่ทราบนานแล้ว แต่เพิ่งจะมีโอกาสเดินทางไป พวกเราได้ต้องตามหากันเอง เพราะท่านติดกิจนิมนต์ไปสระบุรี อาศัยเครื่อง GPS ช่วย จึงทำให้สามารถค้นหาด้วยตนเองได้


พวกเราต้องเดินทางเข้าไปไกลพอสมควร กว่าจะถึงรถต้องตกระกำลำบากอีก เพราะหนทางขรุขระมาก ต้องอาศัยฝีมือโชเฟอร์คุณสำราญที่มีประสบการณ์มานาน แต่พวกเรานั่งไปในรถทุลักทุเลพอสมควร แต่ครั้นไปถึงแล้วก็แทบจะหมดแรงอีก เมื่อหลวงพี่ที่อยู่วัดนี้ 3 รูป บอกว่ารอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา แล้วท่านก็เดินนำขึ้นบันไดไปข้างบนกันค่ะ


ต้องเดินเลี้ยวเลาะไปทางป่าเขาตามธรรมชาติ ประมาณ 20 นาทีก็ถึงผลายหินกว้างใหญ่ มองเห็นศาลาครอบพระพุทธบาทแต่ไกล จึงเดินเข้าไปกราบไหว้ข้างใน พบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริง แต่พระท่านบอกว่ารอยชัดเจนแค่ 2 นิ้ว ท่านจึงแต่งให้ชัดเพิ่มขึ้นจนครบ 5 นิ้ว แล้วก็ทาสีทองเคลือบไว้


หลวงพี่บอกว่าได้เห็นรูปที่อาจารย์ตุ่ยส่งไปก่อนแล้ว นึกในใจว่าคงจะเป็นการแต่งนิ้วพระบาทอย่างแน่นอน ต่อเมื่อได้มาเห็นด้วยตัวเองแล้ว ท่านจึงได้กล่าวว่า การแต่งนิ้วพระบาท จะทำให้คนสมัยนี้ไม่เชื่อ คิดว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจำลองไปเลย

จากนั้นพระทั้ง 3 รูป ซึ่งเป็นพระลูกวัด แต่เจ้าอาวาสไม่อยู่ ได้เดินนำไปชมบริเวณอื่นๆ อีก ซึ่งจะมองเห็นว่าเป็นบ่อคล้ายรอยพระบาทมีน้ำขังอยู่ด้วย แต่ทางวัดได้นำอิฐมอญมาก่อรอบขอบบ่อไปแล้ว หลวงพี่บอกว่า ถ้าไปกั้นแบบนี้ อีกหน่อยภายในบ่อจะเน่าเสียหมด

อีกทั้งตามที่ท่านได้เคยสำรวจมาหลายแห่งแล้ว บริเวณลานหินพระบาทนี้ ส่วนใหญ่ภายในจะเป็นถ้ำทะลุกันถึงหมด บางหลุมบางบ่อก็อาจจะเป็นปล่องพญานาคก็ได้ ที่ขึ้นมาไหว้รอยพระพุทธบาท ซึ่งพระท่านก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น หลังจากนั้นก็ได้ถวายปัจจัยร่วมทำบุญ 1,800 บาท พร้อมกับถวายหนังสือตามรอยฯ เล่ม 1 - 4 จำนวน 1 ชุด จากนั้นก็ออกเดินทางต่อไป



22. รอยพระพุทธบาทบ้านห้วยแคน หมู่ 7 บ้านห้วยแคนใหญ่
ต.หนองโขม อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร (พบใหม่)
• ขณะที่บูชา กราบไหว้เสร็จ มีฝนโปรยลงมา
• มีรอยพระพุทธบาทจำลองขนาดใหญ่อยู่ภายในศาลา และมีรอยนิ้วเท้าอยู่ห่างออกไปหน่อย 1 รอย
• ให้หนังสือธรรมะหลวงพ่อฯ กับชาวบ้านที่นำทางมา



พวกเราเดินทางตามข้อมูลของพระอาจารย์ตุ๋ยต่อไป โดยมีเป้าหมายที่ท่านส่งรูปถ่ายมาให้เช่นกัน รถได้วิ่งเข้าไปทางบ้านห้วยแคน แต่กว่าจะหาหมู่ 7 ได้ก็ต้องแวะถามทางก่อน ซึ่งหมู่บ้านห้วยแคนใหญ่ ต.หนองโขม อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร อยู่ลึกเข้าไปในป่า ต้องจอดรถแล้วเดินเข้าไป โชคดีที่มีพระมาสร้างศาลาครอบเอาไว้


แต่เมื่อเข้าไปถึงข้าง ปรากฏว่าเป็นการแกะสลักพระพุทธบาทจำลองเอาไว้ ซึ่งมีลวดลายสวยงามมาก ครั้นได้กราบไหว้บูชาแล้ว จึงขับรถออกไปตระเวณหาอีก เพราะสถานที่นี้ไม่ตรงกับรูปภาพที่ส่งมาให้


คนขับรถขับวนเวียนอยู่ในป่านาน จนกระทั่งเห็นชาวบ้านคนหนึ่งเดินมา จึงได้แวะเข้าไปถามทาง ปรากฏว่าเขาได้อาสานำไป เดินเข้าไปสักเล็กน้อยก็ถึง ปรากฏว่าเห็นเป็นรอยนิ้วเท้าชัดเจน แต่มีขนาดเล็กตรงตามรูปถ่าย ชายคนนำทางบอกว่า เขาเป็นคนก่ออิฐล้อมรอบไว้เอง

ต่อเมื่อได้ถามประวัติความเป็นมา เขาบอกว่าก็เห็นรอยนี้มานานแล้ว พวกเราจึงได้กราบไหว้บูชา แล้วให้หนังสือธรรมะหลวงพ่อฯ กับชาวบ้านที่นำทางมา พร้อมกับขอลาออกเดินทางต่อไป.


webmaster - 6/7/09 at 05:29

(Update 06/07/52)


23. พระธาตุพนม บ.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
• ประทักษิณ 3 รอบ พร้อมบายศรีดอกไม้



ในระหว่างทาง หลวงพี่ได้ตรวจข้อมูลจากอาจารย์ตุ๋ย พร้อมกับวางแผนที่จะไปทาง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ท่านจึงบอกให้แวะไปกราบไหว้ พระธาตุพนม จ.นครพนม ท่านเล่าว่าได้เคยมาครั้งที่แล้วเมื่อปี 2548 แล้วได้บูรณะพระธาตุพนมโดยบังเอิญ

ท่านบอกว่าองค์พระธาตุพนมจะถือเลข 8 เป็นสำคัญ ตามประวัติเล่าว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.8 พระมหากัสสปอัญเชิญพระอุรังคธาตุ คือกระดูกส่วนหน้าอก จำนวน 8 องค์ นำมาบรรจุไว้ในผอบ 8 ชั้น แล้วก็ล้มไปในปี พ.ศ. 2518

จากนั้นทางวัดได้มีการบูรณะทุกๆ 10 ปี ซึ่งหลวงพี่ก็ได้มีโอกาสร่วมบูรณะถึง 2 ครั้งแล้ว คือ ครั้งแรกเมื่อปี 2538 และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2548 ท่านบอกว่าหากมีบุญวาสนาพอ อยากจะมีชีวิตอยู่ถึงปี 2558 เพื่อบูรณะให้ครบ 3 ครั้ง นี่ก็เหลือเวลาอีก 6 ปีเท่านั้น ในชีวิตของท่านที่ได้บูรณะทั้ง 2 ครั้งนี้ ถือว่าไปพบโดยบังเอิญ แต่ครั้งที่ 3 นี้ท่านตั้งใจจะไปร่วมบูรณะเป็นการเฉพาะทีเดียวละค่ะ

หลวงพี่มีความศรัทธาต่อองค์พระธาตุพนมมาก ได้เดินถวายบายศรีพร้อมกับสวดอิติปิโสเวียนรอบองค์พระธาตุพนมจนครบ 3 รอบ เพราะตามประวัติมีพระยาทั้ง 5 นครมาร่วมสร้าง อันมี พระยาสุวรรณภิงคาร (เจ้าเมืองหนองหาร สกลนคร) พระยาคำแดง (เจ้าเมืองอุดรธานี) เป็นต้น ท่านผู้ชมสามารถอ่านรายละเอียดการสร้างพระธาตุพนมได้ที่นี่ค่ะ


ในระหว่างนั้น มีพระเจ้าหน้าที่ของวัดได้อธิบายว่า ตรงบริเวณนี้เดิมเป็นวิหารพระแก้ว สร้างสมัยพระเจ้าโพธิสาร กษัตริย์ล้านช้าง ต่อเมื่อปี 2518 องค์พระธาตุพนมได้ล้มลงมาทับพังไปหมด ทางวัดได้ซ่อมแซมไว้ตามสภาพที่เห็นนี้แหละ

นอกจากนี้ยังมี "เสาอินทขีล" ที่เจ้าพระยาทั้ง 5 นำมาจากเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย และตามที่หลวงพี่ยืนชี้ไปที่หินแกะสลักเป็นรูปม้า ท่านบอกว่าสร้างไว้สมัยนั้นเช่นกัน นับว่าทางวัดยังรักษาโบราณวัตถุเก่าแก่ไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีอายุนานกว่า 2 พันมาแล้ว หลังจากนั้นได้ถ่ายภาพร่วมกัน แล้วขอลาท่านออกเดินทางต่อไป





วันที่ 6 มิถุนายน 2552


24. รอยพระพุทธบ้าน วัดภู่อ่างเงิน บ.เหล่าน้อย ม.4 ต.หนองสูงใต้ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร (พบใหม่)
• ร่วมทำบุญสร้างศาลา 500 บาท
• ให้คนงาน 100 บาท



วันรุ่งขึ้น นับเป็นวันที่ 6 ของการเดินทาง พวกเราได้เดินทางมาตั้งแต่อุดรธานี เลาะเลียบโขงมาทาง อ.สังคม - อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย แล้วก็จะข้ามมาอยู่ทางอีสานตอนใต้ ในระหว่างเดินทาง พวกเราหลายคนที่มิได้เดินทางมาด้วย ได้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อร่วมทำบุญทุกแห่งกับพวกเรา ขอให้ได้ผลบุญมากๆ เช่นกันนะค่ะ


จุดหมายในเช้าวันนี้ อย่างที่เห็นในรูปละค่ะ ท่านอาจารย์ตุ๋ยแจ้งไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า เป็นรอยพระพุทธบาทอยู่ที่ วัดภู่อ่างเงิน บ.เหล่าน้อย ม.4 ต.หนองสูงใต้ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ซึ่งจะต้องจอดรถไว้แล้วเดินขึ้นไปบนโขดหิน จะพบบ่อเล็กๆ สี่เหลี่ยม เหมือนมีคนมาเจาะหินเอาไว้ จะมีน้ำขังตลอด


จากนั้นหลวงพี่และคุณสำราญช่วยกันสำรวจบริเวณนั้น พบว่ามีหลุมมีบ่อหลายแห่ง จนกระทั่งเดินไปพบคล้ายรอยพระพุทธบาทตามรูปภาพที่อาจารย์ตุ๋ยส่งไปให้ ท่านผู้ชมบางท่านคงจะเห็นแล้ว ว่าเป็นรูปรอยเท้าจริงๆ เราตั้งใจไหว้พระพุทธเจ้า คงไม่คิดว่าจะเป็นการงมงายนะคะ


หลวงพี่เล่าว่า ในปัจจุบันนี้ ท่านได้ค้นหารอยพระพุทธบาทตามตำนานพระธาตุพนมครบถ้วนหมดแล้ว ส่วนที่พบใหม่ท่านบอกว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่เกินจากตามตำนาน ซึ่งไม่สามารถแสดงหลักฐานให้ชัดเจนได้ ทั้งนี้อยู่ที่ความเชื่อถือเท่านั้น

หลังจากนั้นท่านก็ออกเดินทางต่อไป เพื่อค้นหารอยพระพุทธบาท ณ วัดภูเก้า บ.คำนางโอก ต.ร่มเกล้า อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร แต่เมื่อเข้าไปถึงแล้ว คุณสำราญไปถามพระที่อยู่ในวัด ปรากฏว่าท่านไม่รู้เรื่อง พวกเราจึงต้องออกเดินทางต่อไป


webmaster - 10/7/09 at 06:27

(Update 10/07/52)


25. วัดพรหมวิหาร บ.สวาท ต.สวาท อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร
• ร่วมทำบุญสร้างพระฯ โดยบังเอิญ 3,000 บาท หน้าตักกว้าง 13 เมตร (26 ศอก) สูง 28 เมตร



ในระหว่างเดินทางที่หลวงพี่จะเข้าไปฉันเพลในอำเภอเลิงนกทา จ.ยโสธร ท่านได้เห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งอยู่สี่แยกกลางถนน ท่านเล่าว่าได้นึกในใจว่า ใครนะดีจัง..ที่มาสร้างอยู่ตรงสี่แยก ทำให้องค์พระเด่นมาก แต่เมื่อพอเข้าไปไกล้ๆ จึงได้รู้ว่า องค์พระนั้นสร้างอยู่ในกำแพงวัด แต่เวลารถวิ่งมาไกลๆ จะเห็นเหมือนพระอยู่ตรงกลางสี่แยก

หลวงพี่บอกว่าพวกเราโชคดีอีกแล้ว จึงได้ให้เข้าไปจอดรถริมถนนข้างวัด เพื่อฉันก๋วยเตี๋ยวมะระก่อน (ขายอยู่ท้ายรถกระบะ) แล้วจึงได้สอบถามจนได้ข้อมูลแล้ว กะว่าจัดการกับอาหารกลางวันเสร็จแล้ว จะได้ไปทำบุญกันอีกโดยที่มิได้มีเป้าหมายมาก่อน


เสร็จสรรพกับอาการริมถนนข้างวัดพรหมวิหารแล้ว ในตอนนี้มีขบวนรถแห่บั้งไฟกันหลายคัน บางคันก็มีนางรำแต่งตัวสวยงาม พร้อมกับเปิดเพลงบรรเลงเสียงอีสานดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น แต่ก่อนจะไปดูการจัดประกวดรถแห่บั้งไฟกัน เราได้เลี้ยวรถเข้าไปในวัดทันที

นับว่าเป็นโชคดีที่ได้พบองค์หนึ่งยืนอยู่ภายในวัดพอดี เมื่อลงไปสอบถาม ปรากฏว่าท่านเป็นเจ้าอาวาส จึงได้ทราบว่าท่านกำลังสร้างพระหน้าตัก 26 ศอก (13 เมตร สูง 28 เมตร) พร้อมด้วยพระอัครสาวก พวกเราจึงได้ร่วมทำบุญกันเป็นเงิน 3,000 บาท

ต่อจากนั้นก็เดินไปดูช่างที่กำลังปั้นลวดลายประดับที่ฐานองค์พระ แล้วยืนถ่ายรูปที่หน้าองค์พระและหน้าพระเจดีย์ภายในวัดพรหมวิหาร เสร็จแล้วออกไปชมขบวนรถแห่บั้งไฟ ตบแต่งเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของภาคอีสาน ซึ่งมีความงดงามแตกต่างกันไป












26. พระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทภูถ้ำพระ บ้านศรีสว่าง ต.ศรีแก้ว อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร (พบใหม่)
• รอยพระพุทธบาท กว้าง 41 ซม , ยาว 61 ซม
• ร่วมทำบุญสร้างศาลาการเปรียญ 1,660 บาท
• มองให้คนงานมุงหลังคาศาลาพระพุทธรูป 200 บาท, ชาวบ้านที่มานั่งคุยด้วย 400 บาท
• ฝากถวายหนังสือตามรอยฯ เล่ม 2, 3, 4 ให้กับ พระอาจารย์ขันติ เจ้าอาวาส



วัดพระพุทธบาทภูถ้ำพระ บ้านศรีสว่าง ต.ศรีแก้ว อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ผู้ให้ข้อมูลคือ อาจารย์ตุ๋ย อีกเช่นเคยละค่ะ สถานที่แห่งนี้มี ท่านอาจารย์ขันติ ขันติพโล เป็นเจ้าอาวาส (เป็นสายพระอาจารย์หนุน วัดป่าพุทธโมกข์ อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ท่านเคยไปรับกฐินรวม 45 วัด เมื่อปี 2548 ด้วย)


แต่ในตอนนี้เราไปถึงวัดไม่เจอใครสักคน จึงต้องเดินหารอยพระพุทธบาทกันเอง นับเป็นเรื่องไม่ยาก เพราะท่านสร้างศาลาครอบเอาไว้แล้ว ภายในเป็นรอยเบื้องขวาตามธรรมชาติ ไม่การตกแต่งแต่อย่างใด ใครจะเชื่อหรือไม่ แต่พวกเราเชื่อ..เพราะเคยเห็นแบบนี้มาหลายแห่งแล้ว


โดยเฉพาะศาลาครอบพระพุทธบาทที่สร้างไว้ หลังคาทำด้วยไม้ shera อย่างดี ข้างบนหลังคาประดับด้วยยอดฉัตรเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ถ้าทางวัดเขาไม่เชือถือ คงไม่บ้าลงทุนทำได้ถึงขนาดนี้ เว้นไว้แต่ถ้าเราไม่เชื่อก็จะเป็นผู้ขาดทุนเองนั่นแหละ..จริงมั๊ยละค๊ะ..?

ว่าแล้วก็เดินทางจะกลับ มีพวกเราคนหนึ่งเดินไปเข้าห้องน้ำ หลวงพี่รออยู่ในรถ ในตอนนี้ เกิดมีคุณป้าที่อยู่ในวัดคนหนึ่งเดินมาพอดี จึงได้ทักทายกันถึงเรื่องรอยพระพุทธบาท คุณป้าบอกว่า ถ้าไม่เชื่อก็ให้ไปถามพระอาจารย์ชัยวัฒน์ ที่วัดท่าซุง โน่น..! โห..คุณป้าเข้าใจโยนไปหาเป้านะค่ะ (อิอิ...)

แหม..คุณป้านะ..คุณป้า จุดใต้ตำตอซะแร้วว ก็พระอาจารย์ชัยวัฒน์ท่านนั่งอยู่ในรถไงล่ะ คุณป้าถึงกับร้องโอ้โฮ..ดีใจจนเสียงหลง ว่าแล้วก็รีบจ้ำอ้าวไปพบหลวงพี่ พร้อมกับเล่าว่าเคยไปงานธุดงค์ที่วัดท่าซุงกับ พระอาจารย์ขันติ แต่วันนี้ท่านไม่อยู่ ท่านไปซื้อหญ้าคามุงหลังคาองค์พระ


จากนั้นก็นำพาพวกเราเข้าไปนั่งในศาลา มีพระภิกษุเฝ้าวัดอยู่รูปหนึ่งด้วย คุณป้าและชาวบ้านอีก 2 คนได้เข้ามานั่งสนทนากับหลวงพี่ แล้วท่านก็ฝากปัจจัยร่วมสร้างศาลาการเปรียญ 1,660 บาท มอบให้คนงานมุงหลังคาศาลาพระพุทธรูป 200 บาท, ชาวบ้านที่มานั่งคุยด้วยอีก 400 บาท

ในตอนนี้ ชาวบ้านได้ชี้ให้ดูรูปภาพรอยพระพุทธบาทที่วางอยู่ใกล้โต๊ะหมู่บูชา ปรากว่าภายในภาพมีเส้นวงกลมเป็นรูป "ธรรมจักร" อีกด้วย ทั้งๆ ที่ของจริงไม่มีลายเส้นธรรมจักรเลย ชาวบ้านเขาเชื่อถือกันมาก โดยเฉพาะคุณป้าคนนี้คุยสนุกแบบธรรมชาติ ชาวบ้านอีกคนเป็นผู้หญิงเช่นกันบอกว่า ชาวบ้านแถวนี้เขาเรียกแกว่า "ยายตลก" ลองฟังเสียงกันเลยดีมั๊ย..คลิกฟังได้เลยค่ะ..






ก่อนจากกัน พระที่ต้อนรับพร้อมกับคุณป้าและชาวบ้านได้เดินนำไปชมสถานที่ต่างๆ ภายในวัด ส่วนภาพที่เห็นหลวงพี่นั่งอยู่ข้างบ่อน้ำทิพย์ จากนั้นก็ร่ำลาเดินทางต่อไป สังเกตได้ว่า คุณป้านั่งพนมมือมีน้ำตาซึมออกมาด้วย น่าเห็นใจถึงความมีน้ำใจที่ใสบริสุทธิ์

ความความซื่อและความจริงใจ ยังมีได้พบเห็นในชนบทอย่างนี้ ที่ต่างกับผู้คนในเมืองหลวง ที่ต่างคุยกันนักกันหนาว่าเป็นผู้มีความเจริญแล้ว แต่จิตใจและกิริยามารยาท นับว่ายังแตกต่างไปจากผู้คนที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญมากนัก ที่เรียกกันว่า "เจริญแต่วัตถุ..แต่จิตใจกลับเสื่อมโทรมลงไป" นี่ว่ากันเฉพาะบางคนนะเจ้าค่ะ คนที่เจริญแล้วทั้งวัตถุและจิตใจคงไม่เดือดร้อน จริงมั๊ยละค่ะ..?

((( โปรดติดตาม ตอนที่ 3 )))