ตามรอยพระพุทธบาท

ภาพข่าว...การเดินทางไป "ภาคกลาง" เมื่อวันที่ 20-25 ก.พ. 2551
webmaster - 26/2/08 at 19:29

ตามรอยพระพุทธบาท "ภาคกลาง"


ตั้งแต่วันที่ 20 - 25 กุมภาพันธ์ 2551


อุทัยธานี - สระบุรี
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 07.00 น. ออกเดินทางจากวัดท่าซุง เพื่ออัญเชิญพระพุทธรูป ขนาดหน้าตัก
30 นิ้ว จำนวน 1 องค์ ไปประดิษฐานภายในมณฑปรอยพระพุทธบาท ณ บ้านโคกดินแดง ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ
จ.สระบุรี (เข้าทาง ซอยอดิเรกสาร 3)



บริเวณนี้เป็นที่ดินส่วนบุคคล ได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทเมื่อ ปี พ.ศ. 2548 คณะตามรอยพระพุทธบาทได้เคย
เดินทางมาสำรวจแล้ว และได้ร่วมทำบุญสร้างมณฑปครอบตั้งแต่ปี 2548 แล้ว ครั้งนี้เพิ่งจะเดินทางมาอีก เพราะ
"เว็บมาสเตอร์แดนนิพพาน" ถ่ายรูปไปให้ดู จึงคิดว่าเป็นรอยพบใหม่ แต่ครั้นได้มาเห็น จึงจำได้ว่าเคยมาสำรวจแล้ว
ตั้งแต่ปี 2548 แต่ตอนนั้นยังไม่ได้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาท ซึ่งเป็นรอยพระพุทธใหญ่มาก แต่ทับซ้อนกันหลายรอย



เมื่อสร้างมณฑปเสร็จแล้ว ก็ยังไม่เคยไปอีกเลย ต่อมาเดือน ม.ค. 51 ได้แวะมาสำรวจอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า
มณฑปสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ทาสี จึงได้นำช่างทาสีไปด้วย เพื่อช่วยกันทาสีมณฑปครอบพระพุทธบาท
(ค่าทาสีประมาณ 5,000 บาท)



ในระหว่างที่ทาสีอยู่ เจ้าของที่ดินได้นิมนต์ไปออกอากาศทาง "วิทยุชุมชน" ชื่อ "มหาสมุทรเรดีโอ"
คลื่นความถี่ 94.40 FM โดยมี คุณอดิเรก ฟองสมุทร เป็นผู้สัมภาษณ์ เป็นเวลา 30 นาที เกี่ยวกับเรื่อง
"รอยพระพุทธบาท"



หลังจากทาสี (สีขาว) มณฑปแล้ว จึงได้ออกไปซื้อสีเหลืองทองมาทาสีฐานพระ จากนั้นได้อัญเชิญพระพุทธรูป
ขึ้นไปวางไว้บนแท่น แล้วช่วยกันห่มผ้าสไบสีทอง โดยมีลูกสาวคนโต (ต๊อบ) ของ คุณบุญชู - คุณมายิน เดียวสุรินทร์
เป็นผู้ถวาย
ต่อจากนั้นก็มาถ่ายรูปร่วมกันภายในมณฑป จะมองเห็นพระประธานสวยเด่นเป็นสง่ามาก มองแล้วปลาบปลื้มใจ เนื่องจากพวกเราจะได้ทำบุญเนื่องในวัน "มาฆบูชา" ที่จะมาถึงพอดี





ก่อนจะกลับก็ได้ถ่ายรูปร่วมกับเจ้าของที่ดิน คือ คุณทัศนีย์ ฟองสมุทร (ใส่เสื้อขาวแขนยาว) นับเป็นเวลา 6 ชั่วโมง กว่าจะเสร็จ จากนั้นก็เดินทางต่อไปที่ วัดพระพุทธบาทน้อย ต.สองคอน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี



ระยะทางจาก รอยพระพุทธบาทพุแค ไป วัดพระพุทธบาทน้อย ประมาณ 12 ก.ม. พวกเราช่วยกัน
ขนพระพุทธรูปลงจากรถ โดยมี คุณเปี๊ยก (สามี คุณอู่วารี) เป็นผู้นำรถกระไปบรรทุกที่บ้านช่างเนียน
(อยู่ใกล้วัดท่าซุง)










ขณะนั้นได้พบรอยพระพุทธบาทแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นนั่นเอง เป็นรอยพระพุทธบาทที่อยู่ในแอ่งน้ำ
ชาวบ้านได้กั้นซีแพคไว้โดยรอบ และนำสังกะสีมามุงไว้ แล้วต่อแป๊บน้ำออกไปใช้ในพื้นที่ แต่เขาไม่ทราบว่าเป็น
รอยพระพุทธบาทซ่อนอยู่ภายในนั้น อันเป็นเส้นผมบังภูเขา ที่ได้ค้นพบมาหลายแห่งแล้ว ในลักษณะเช่นนี้ ที่น้ำจะไม่แห้ง แม้แต่หน้าแล้ง พวกเรารู้คุณค่า จึงได้นำดอกไม้ไปบูชา พร้อมกับสรงน้ำหอม และปิดทอง



ก่อนอื่นขอทำความสะอาด แล้วสักการบูชารอยพระพุทธน้อย (พระพุทธบาทใหญ่ อยู่ที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี)




พระพุทธรูป หน้าตัก 30 นิ้ว องค์ที่ 2 นี้ "เติ้ล" ลูกสาวคนที่ 2 ของคุณบุญชู - คุณมายิน เดียวสุรินทร์ เป็นเจ้าภาพถวาย



หลังจากนั้นก็มายืนถ่ายรูปร่วมกัน ซึ่งเป็นมณฑปอยู่กลางทุ่ง มีไฟป่าไหม้ลุกลามเข้ามา แต่มณฑปไม่เสียหายมาก เพียงแต่กระเบื้องหลังคาแตกนิดหน่อย เพราะต้นไม้ใหญ่ล้มเฉี่ยวเข้ามาที่ชายคาเท่านั้น



ตอนเช้า วันที่ 21 ก.พ. 51 เป็นวัน "มาฆบูชา" จึงได้เดินทางล่องลงมาที่ วัดพระพุทธฉาย จ.สระบุรี
ได้ทำบุญสร้าง พระอุโบสถ กับเจ้าอาวาส เป็นเงิน 3,000 บาท
ขณะที่ไปถึงนั้น ทางวัดกำลังจัดงานพิธีถวายพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน มีคนมารอร่วมงานพิธีกันมากมาย



ปิดทองลูกนิมิต พร้อมกับเอาเงินใส่ตู้บริจาคสร้างพระอุโบสถ




เมื่อพวกเราได้ทำบุญกันแล้ว พร้อมกับถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม 1 แด่เจ้าอาวาส เพราะท่านไม่ได้
พบกับหลวงพี่มาสิบกว่าปี หลังจากได้เคยจัดงานพิธีย้อนยุคที่นี่ เมื่อปี 2537 ท่านก็ดีใจที่ได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นพวกเราก็เดินขึ้นไป ไหว้พระฉาย แล้วได้ถวายผ้าห่มพระนอน โดยการชักรอกขึ้นไป



ด้านข้างพระนอนใหญ่ เป็นผนังถ้ำ จะเห็นพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ของ รัชกาลที่ 5 ด้วย แต่คนที่ขึ้นไปไหว้
ไม่ค่อยสนใจ ว่าตรงบริเวณนี้เป็นที่สำคัญในอดีต มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นมาจารึกลายพระหัตถ์ไว้หลายพระองค์
ส่วนใหญ่คนจะเดินผ่านไปทั้งนั้น น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง (ร. 5 เคยเสด็จมา 4 ครั้ง)




ขณะออกมาจากวัด คุณวัชรพล ศรีขวัญ (บุ๋ม) จึงได้ถ่ายรูปพระอุโบสถบนยอดเขาพระฉาย ได้อย่างชัดเจนแต่ไกล
ในขณะที่กำลังสร้างค้างอยู่ จะใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท



สระบุรี - กาญจนบุรี
ต่อจากนั้นก็เดินทางผ่านปทุมธานี มุ่งสู่ วัดพระแท่นดงรัง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเคยเดินทางไปจัด
"งานจำลองถวายพระเพลิง" เมื่อ วันที่ 30 เม.ย. 39
ทางวัดกำลังบูรณะวิหาร จึงได้ร่วมทำบุญซื้อกระเบื้องหลังคา แล้วเดินเข้าไปภายในวิหารพระแท่น ช่วยกันนำ
ผ้าห่มสีทองถวายคลุมพระแท่น ซึ่งมีผู้บอกว่าเป็นสิ่ง "สมมุติ" ทั้งๆ ที่คนโบราณเชื่อกันว่า เป็น "พระแท่นบรรทมจริง"
ซึ่งมีหลักฐานอยู่ภายในบริเวณนี้





ขณะกำลังบูชา พระโลหิตธาตุ ที่บรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์แก้ว ซึ่งอยู่ใกล้ๆ พระแท่นนั่นเอง เวลานี้ทางวัด
กำลังจะก่อขอบบัว รอบๆ พระแท่น จึงได้ร่วมทำบุญใส่ตู้อีก 500 บาท



จากนั้นก็เดินออกมาหลังวิหารพระแท่น ทางวัดได้สร้างศาลาครอบ "บ่อบ้วนพระโอษฐ์" ซึ่งเป็นหลุมเล็กๆ
ไม่ลึกมากนัก มีน้ำขังอยู่ภายในไม่แห้ง ตักมาอธิษฐานดื่ม น้ำจืดสนิทเย็นชื่นใจ



ทางวัดกำลังสร้างพระเจดีย์ครอบ "พระบรมสารีริกธาตุ" จึงได้เดินเข้าไปภายในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นทรงจตุรมุข
ภายในพระอุโบสถ ได้เข้าไปบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ด้านหน้าพระประธาน แล้วร่วมทำบุญ 1,000 บาท เพื่อร่วมสร้าง
พระเจดีย์



เมื่อเดินออกมาจากพระอุโบสถ ด้านข้างมีวิหารพระสังขจาย เห็นมีประกาศร่วมทำบุญเป็นค่าโลงศพ
จึงเข้าร่วมทำบุญด้วย 100 บาท ขณะนั้นมองเห็นภาพเก่าแก่แขวนอยู่ มีตัวหนังสือบอกว่า เป็นภาพเมื่อ 150 ปีมาแล้ว
นับว่าเป็นภาพที่หาดูยากมาก มีแค่ภาพเดียวเท่านั้น เป็น "วิหารพระแท่น" มีต้นรัง 2 ต้น โน้มกิ่งเข้าหากัน
(ตรงตามพุทธประวัติ) ปัจจุบันต้นรังได้ล้มตายไปหมดแล้ว นักปราชญ์สมัยนี้จึงไม่เชื่อ กลับบอกว่าเป็นของ "สมมุติ"
(สนใจเรื่องนี้ อ่านรายละเอียดได้จาก "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๑")



ทางบ้านเรามีหลักฐานดีกว่าอินเดียทุกอย่าง มีทั้งปล่องพญานาค, สวนนายจุนทะ,และ หินบดยา เป็นต้น



แม้แต่ "เขาถวายพระเพลิง" (มกุฏพันธนเจดีย์) ก็เป็นภูเขาจริงๆ ไม่ได้ก่อขึ้นด้วยอิฐเหมือนอย่างที่อินเดีย



คำว่า "กุสินารายณ์" หรือ "โกสินารายณ์" ก็เป็นคำเดียวกันที่ปรากฏอยู่ในบริเวณนี้มากมาย เช่น "ซากเมือง"
หรือ "สระน้ำ" เป็นต้น มีหลักฐานว่า อยู่ในเมืองไทยอย่างแน่นอน แม้แต่ "ทะนานทอง" ที่ตวงพระบรมธาตุ ก็บรรจุอยู่ที่
"พระประโทนเจดีย์" นี่เอง

"กุสินารา" หรือ "กุสาวดี" อยู่ที่ไหนกันแน่..?


ตาม ตำนานพระธาตุจอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้อ่านพบจากต้นฉบับใบลานอักษรล้านนา แปลโดย
คุณสงวน โชติสุขรัตน์ เมื่อ วันที่ 19 ก.ค. 2515 มีใจความดังนี้
"...ดูกร สัปบุรุษทั้งหลาย เราผู้ชื่อว่า ติสสะมหาเถระ ผู้เป็นศิษย์แห่ง พระมหาโมคคัลลิปุตติสสะเถระ เป็นศิษย์สืบๆ มาแต่ พระมหากัสสปะ มาแล...
ดอยจอมทองนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งเมืองกุสินาราย ไกลประมาณ 27 โยชน์ ฐานะที่นั้น มีเมืองๆ หนึ่ง
ชื่อว่า มหาอังครัฏฐะ ดอยจอมทองนั้น ตั้งอยู่ทิศหรดี แห่งเมืองอังครัฏฐะ ไกลประมาณ 500 วา มีแม่น้ำสายหนึ่ง
ชื่อว่า "ระมิงคนที" (แม่น้ำปิง)
แต่เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ได้เป็น พระยาสุทัสนะ ในเมือง กุสาวดี ราชธานี ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครองเมืองตราบถึง เมืองมหาอังครัฏฐะ เป็นที่สุด..."

เมื่อได้อ่านพบเรื่องนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าในสมัยพุทธกาล สองเมืองนี้อยู่ไม่ไกลกันเลย ใน "มหาปรินิพพานสูตร"
ก่อนที่จะทรงเลือกสถานที่ปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสกับ พระอานนท์ว่า "เมืองกุสินารา" คือ "เมืองกุสาวดี" ในอดีต ซึ่งพระองค์ได้เสวยพระชาติเป็น พระเจ้าสุทัสนะจักรพรรดิราช
ฉะนั้น การที่ พระติสสะมหาเถระ ได้กล่าวถึง "กุสินารา" ก็คือ "กุสาวดี" แสดงว่าอยู่ในเขตประเทศไทย ตรงตาม
พระไตรปิฎกอย่างแน่นอน อีกทั้งท่านเป็นศิษย์ของ พระมหาโมคคัลลิบุตรติสสะมหาเถระ ผู้เป็นประธานทำสังคายนา
ครั้งที่ 3 ณ เมืองปาฏลีบุตร สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณ พ.ศ. 235
พระติสสะจึงเป็นผู้ที่ควรเชื่อถืออย่างแน่นอน ตามหลักฐานที่กล่าวอ้างนี้ ถ้าหลักฐานชิ้นนี้เชื่อถือได้ แสดงว่า
เมืองกุสินารา มิได้อยู่ที่ประเทศอินเดียเลย เพราะห่างไกลกันหลายร้อยโยชน์
(1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร, ระยะทาง 27 โยชน์ = 432 ก.ม.)
สรุปการเดินทางสมัยโบราณ เขาจะไม่อ้อมเหมือนสมัยนี้ที่เป็นทางรถยนต์ การนับระยะทางต้องเป็นทางตรง ฉะนั้น กุสินารา (กาญจนบุรี) กับ อังครัฏฐะ (จอมทอง) จึงมีระยะทางเพียง 432 ก.ม. เท่านั้น เพราะอยู่ในอาณาเขต "ประเทศไทย" ในปัจจุบันนั่นเอง (สมัยนั้นการคำนวณระยะทางของท่าน เป็นแค่ประมาณเท่านั้น อาจจะไม่ตรงตามเทคโนโลยีสมัยนี้ แต่ถือว่าอยู่ไกล้กันก็ใช้ได้แล้ว)




บริเวณนี้ยังมีพระพุทธรูปเก่าองค์หนึ่ง ชื่อว่า "หลวงพ่อดำ" เป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมานานแล้ว





วันที่ 22 ก.พ. 51 หลังจากพักค้างคืนที่บ้าน คุณวารุณี - คุณรัตนา แล้ว จึงออกเดินทางไปที่ ปราสาทเมืองสิงห์
ต.บ้านเก่า อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีซากศพคนโบราณ สมัยสองพันกว่าปีมาแล้ว เป็นชายและหญิง นำมาให้ปลงกันบ้าง





หลังจากนั้นก็เดินทางไปร่วม "งานพิธีวางศิลาฤกษ์" สร้างพระพุทธรูปใหญ่ หนักตัก 20 เมตร (40 ศอก)
โดย ท่านอาจารย์โนรี เจ้าอาวาส วัดหนองหญ้าปล้อง อ.ด่านมะขามเตี้ย เป็นผู้นิมนต์ ได้ร่วมทำบุญกับท่าน
100,000 บาท โดยเป็นหุ้นส่วนกับ ท่านอาจารย์ดง วัดหนองโรง ซึ่งป่วยเป็นอัมพาตที่ รพ.บ้านโป่ง



หลวงพี่ชัยวัฒน์ และ หลวงพี่เล็ก ได้ร่วมกับตอกไม้มงคลทั้ง 9 ภายในหลุม จากนั้นหลวงปู่แผ้ว แห่งวัดกำแพงแสน จ.นครปฐม ประธานในพิธีผู้มีอาวุโสสูงสุด ได้วางแผ่นศิลาฤกษ์ ในเวลาประมาณ 10.39 น.



วันที่ 23 ก.พ. 51 ออกเดินทางไปที่ วัดหนองสองห้อง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เพื่อร่วมสร้างหอระฆัง
เป็นเงิน 1,000 บาท



เจ้าอาวาสเคารพนับถือ หลวงพ่อวัดท่าซุง เหมือนกัน ได้เดินนำไปชม พระอุโบสถ ประดับด้วยกระจกสีเขียวสวยงาม




ภายในพระอุโบสถ พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระประธาน ท่านได้เล่าว่า มี ดร. ท่านหนึ่ง
นำคณะมาจากกรุงเทพฯ ได้อธิษฐานก่อนออกจากบ้านว่า ถ้าสถานที่ใด สมควรจะนำไปถวาย ก็ขอให้มีเหตุ
ขณะที่รถผ่านหน้าวัดนี้ ปรากฏว่าเครื่องยนต์กระตุกถึง 3 ครั้ง



ต่อภายหลัง ประมาณวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่วัดนี้ปรากฏว่าวันนั้นมีฝนตกลงมา
ทั้งๆ ทีไม่มีเค้าว่าฝนจะตกเลย คณะผู้นำถวายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเวียนรอบพระอุโบสถ ทั้งที่ฝนยังตกอยู่
นับเป็นที่อัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง



เมื่อได้รับฟังเรื่องราวจากเจ้าอาวาส นับที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง พวกเราได้ร่วมอนุโมทนากับท่าน หลังจากท่านได้สร้างพระอุโบสถเสร็จแล้ว ยังรอเวลาที่จะตัดลูกนิมิต หลุมกลางในพระอุโบสถเท่านั้น จากนั้นได้เดินทางต่อไป ตามถนนสาย กาญจนบุรี - ราชบุรี (สายใน ด่านมะขามเตี้ย - จอมบึง) ถึง วัดหนองตะคลอง ต.หนองตากยา อ.ท่ามะกา
จ.กาญจนบุรี



ปรากฏว่า พระอุโบสถ สร้างได้วิจิตรบรรจงเช่นกัน จึงได้นำรูปภาพมาเปรียบเทียบ ระหว่าง วัดหนองสองห้อง
กับ วัดหนองตะคลอง ซึ่งมีสถาปัตการสร้างแตกต่างกัน คือ เป็นโทนสีเขียว กับ โทนสีขาว ซึ่ง เจ้าอาวาสวัดหนองตะคลอง
เล่าว่า ท่านได้ไปจำแบบมาจาก วัดร่องขุน จังหวัดเชียงราย แล้วถ่ายภาพมาสร้างให้คล้ายคลึงกัน นับว่าท่านมีความสามารถพอสมควร



กาญจนบุรี - ราชบุรี - เพชรบุรี - หัวหิน
หลังจากได้ร่วมทำบุญ สร้างโบสถ์สีขาว กับท่าน 1,000 บาท แล้วจึงเดินไปที่ ถ้ำจอมพล อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
มีฝูงลิงมารอรับอาหารกันมากมาย พวกเราเลี้ยงกล้วยไข่, ข้าวโพด, ถั่วลิสง เป็นเงิน 500 บาท



ในระหว่างนั้น มีแพะตัวหนึ่งเข้ามาหาอาหารด้วย พวกเราจึงช่วยป้อน เพราะเห็นว่าเชื่องดี เจ้าหน้าที่ได้เล่าว่า
แพะตัวนี้กระโดดลงมาจากรถบรรทุก ในขณะที่ขับถ่ายมาทางถ้ำจอมพล แล้วหลบหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา มันแสนรู้มาก..
นับว่ามีบุญ จึงรอดตายมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ



หลังจากอิ่มทั้งคนและสัตว์แล้ว ซึ่งมีทุกข์ คือ ความหิว เช่นเดียวกับเรา เป็นอันว่า หลังจากเลี้ยงลิงและแพะแล้ว
จึงได้แวะเข้าไปฉันเพลแถวนั้น แล้วออกเดินทางสู่ วัดเขาถ้ำกระปุก จ.เพชรบุรี กันต่อไป โดยเข้าไปกราบไหว้
รอยพระหัตถ์ อยู่ภายในมณฑปเล็ก สถานที่นี้เคยไปหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ เจ้าอาวาสองค์ก่อนย้ายไปแล้ว



ต่อจากนั้น ได้เดินทางล่องใต้ลงไป เพื่อสมทบกับ คณะเจ้าอาวาส วัดท่าซุง เพื่อไปงานพิธียกฉัตร
ณ สำนักสงฆ์ป่าละอู โดยได้แวะที่ วัดหนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ เพื่อร่วมสร้างพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์ใหญ่
ขนาดหน้าตัก 12 เมตร 19 เซ็นต์



คณะได้ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส เพื่อร่วมสร้างพระ เป็นเงิน 5,000 บาท




ทางวัดได้หล่อเป็นรูปหัวใจ เพื่อไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พวกเราได้ปิดทองสรงน้ำหอมกันก่อน พร้อม
ทั้งอธิษฐานขอโรคหัวใจและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จงได้หายไปโดยเร็วพลันเทอญฯ



วันอาทิตย์ที่ 24 ก.พ. 51 นับเป็นวันเวลาอันสำคัญ คณะพระภิกษุวัดท่าซุง และ เจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์ฯ
ได้จัดข้าวสาร น้ำปลา เกลือ เพื่อมอบให้ราษฎรในเขตนี้ ก่อนจะแจกของ ท่านพระครูปลัดอนันต์ ได้เดินลงมา
จากที่พักข้างศาลาหลังใหญ่



ครั้นได้เวลาประมาณ 09.00 น. ประธานในพิธี และ คุณโสภิษฐ์ สดสี ได้เป็นตัวแทนเจ้าภาพจุดธูปเทียน
ที่โต๊ะบวงสรวง



ต่อจากนั้น ได้ทำพิธียกฉัตร "พระพุทธรูปยืนประทานพร" พร้อมกับเปิดอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์




เจ้าอาวาสวัดท่าซุง ได้ปล่อยโคมลอย 9 ลูก ขึ้นสู่ท้องฟ้า




ท่ามกลางความยินดีแก่คณะศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมงานนับร้อยคนเป็นอย่างยิ่ง




หลังเสร็จพิธีแล้ว เด็กนักเรียนในชุดพื้นบ้าน ต่างก็ออกมาร่ายรำ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองอีกด้วย




ต่อจากนั้น จึงเดินขึ้นไปบนศาลา เพื่อมอบวัตถุสิ่งของให้แก่ชาวบ้านในเขตนี้ จำนวนทั้งสิ้น 460 ครอบครัว




เมื่อพระเถระเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพลแล้ว จึงเดินทางกลับ เพื่อแวะนมัสการ
พระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ



หลังจากนั้น จึงถ่ายภาพร่วมกัน จะมองเห็น หลวงปู่ทวด องค์ใหญ่ อยู่เบื้องหลัง เจ้าอาวาสวัดนี้ เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อฯ
เหมือนกัน ปัจจุบันนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามากันมากมาย จะเห็นรถยนต์วิ่งเข้าออกตลอดเวลา...



หัวหิน - กาญจนบุรี - สุพรรณบุรี - อุทัยธานี
เดินทางกลับวนมาออกที่เดิม คือ ผ่าน วัดพระแท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี เพราะเห็นป้ายเชิญทำบุญหล่อ
พระแก้วมรกต และ พระยืน จึงเข้าทำบุญกับเจ้าอาวาส วัดบ้านไร่จิตศรัทธาธรรม อ.ท่ามะกา



ได้ร่วมสร้างพระอุโบสถ วิหาร และ พระพุทธรูป รวมเป็นเงิน 3,000 บาท




ภาพโดยรวมบริเวณ วัดบ้านไร่ฯ ขณะกำลังก่อสร้างพร้อมกันหลายแห่ง




เช้าวันที่ 25 ก.พ. 51 แวะเข้าไปที่ สำนักปู่ฤาษี อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี มีเหล็กไหล และ ข้าวสารหิน มากมาย
แล้วได้ร่วมสร้าง พระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่ไว้ที่นี่ 2,000 บาท



ไก่ป่าตัวนี้ เชื่องเหมือนไก่แจ้ จับและสัมผัสได้โดยไม่วิ่งหนี




ต่อจากนั้น เดินทางกลับวัด โดยแวะที่ บึงฉวาก ของท่านบรรหารฯ ใหญ่โตมโหฬาร นับว่าเป็นที่พักผ่อน
และให้ความรู้ในด้านสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์น้ำ



ซึ่งมีสัตว์น้ำจืดต่างๆ เป็นอันมาก ยืนมองดูเหมือนอยู่ใต้โลกทะเล




ภาพสุดท้าย จากตู้ปลาสีแดงสวยสด เปรียบเสมือนดอกไม้เบิกบานงามสะพรั่ง เพื่อเป็นอภินันทนาการ
ท่านผู้ชมทุกท่าน ที่ติดตามผลงาน "ตามรอยพระพุทธบาท" ตลอดมา
สรุปเงินทำบุญทั้งหมด ประมาณเกือบ 20 แห่ง เป็นเงิน 124,800 บาท ไม่รวมทั้งเงินที่ทำบุญใส่ย่ามที่
สำนักป่าละอู..หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้ถวาย ท่านบัญญัติ เจ้าสำนักไปหมด ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้อ่านข่าวนี้
และผู้ที่ฝากหรือผู้ที่ใส่ย่ามหลวงพี่ชัยวัฒน์ ขอให้ได้อานิสงส์พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร โดยฉับพลันนั้น..เทอญ ฯ



รายงานโดย...ทีมงาน "คณะตามรอยพระพุทธบาท"