ภาพข่าว..การเดินทางไป ภาคอีสาน-ภาคกลาง วันที่ 1-10 มิ.ย. 2552 (ตอนที่ 3)
webmaster - 12/7/09 at 14:41
« ตอนที่ 1 « ตอนที่ 2 « ตอนที่ 4
(Update 12/07/52)
27. พระธาตุกู่จาน วัดบ้านกู่จาน ต.กู่จาน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร (พบใหม่)
ร่วมทำบุญสร้างโบสถ์ 500 บาท
ประวัติพระธาตุกู่จาน
ตามหนังสือประวัติของวัดเล่าว่า.. เมื่อปี พ.ศ. ๗ หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้วเป็นเวลา ๗ ปี
พระมหากัสสปะจึงได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาแจกจ่ายในดินแดนแถบนี้ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธศาสนา ได้แผ่ขยายลงมาในดินแดนแถบนี้ไม่นาน พระมหากัสสปะ
ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระอุรังคะธาตุ ( หน้าอก ) ไปบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า คือ องค์พระธาตุพนม ในปัจจุบัน
พุทธศาสนิกชนทั้งหลายเมื่อทราบข่าวว่า มีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาแจกจ่าย เหล่าหัวเมืองน้อยใหญ่ต่างก็อยากได้
เพื่อนำไปประดิษฐานยังบ้านเมืองของตนไว้เป็นสิริมงคล และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจต่อไป จึงได้ส่งตัวแทนของเมืองไป
บางหัวเมืองเจ้าเมืองก็จะเดินทางมาด้วยตนเอง เพื่อรับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ทุกคนต่างก็มุ่งตรงไปยังสำนักของพระมหากัสสปะ
แต่หลายเมืองก็ต้องผิดหวังเนื่องจาก พระบรมสารีริกธาตุมีจำนวนน้อย และได้แจกจ่ายไปก่อนหมดแล้ว กลุ่มที่ได้รับส่วนแบ่งไปนั้น ได้แก่ กลุ่มของ
พระยาคำแดง ซึ่งเป็นกลุ่มหัวเมืองฝ่ายเหนือ ส่วนกลุ่มของ พระยาพุทธ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางหัวเมืองฝ่ายใต้
ไม่ได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จึงเดินทางไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระยาคำแดง
พระยาคำแดง เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมาแล้วก็ไม่อยากจะแบ่งให้ใครอีก จึงพูดจาบ่ายเบี่ยงกับพระยาพุทธว่า
เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะให้ เรามาตกลงกันก่อน ถ้าท่านได้ไปแล้วท่านจะเอาไปเก็บรักษาไว้อย่างไรจึงจะเหมาะสม
ส่วนเราจะสร้างเป็นเจดีย์สูงเทียมฟ้า เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
พระยาพุทธจึงพูดขึ้นว่าเราก็เช่นกัน พระยาคำแดงได้โอกาสที่จะบ่ายเบี่ยงก็บอกว่า
ถ้าเช่นนั้นเรามาแข่งกันก่อสร้างเจดีย์ว่าใครเสร็จก่อนกัน แต่ถ้าหากใครแพ้
ต้องยอมเป็นเมืองขึ้นของกันและกันแต่มีข้อแม้อยู่ว่าในการก่อสร้างเจดีย์ครั้งนี้ ต้องใช้คนอย่างมากไม่เกิน ๖ คน
เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว พระยาพุทธจึงได้เดินทางกลับมาประชุมเจ้าเมืองฝ่ายใต้ เพื่อทำการก่อสร้างเจดีย์ตามข้อตกลง
และได้ทำการคัดเลือกเอาเฉพาะคนสนิทที่เป็นช่างที่มีฝีมือ ดังมีรายนามผู้ร่วมก่อสร้างเจดีย์ครั้งนี้ ได้แก่ ๑. พระยาพุทธ ๒. พระยาธรรม ๓.
พระยาแดง ๔. พระยาเขียว ๕. พระยาคำ ๖. พระยาคำใบ ในการก่อสร้างครั้งนี้ไม่ได้ให้ชาวบ้านเข้าไปยุ่งเกี่ยวและขัดขวางเด็ดขาด
กลุ่มของพระยาพุทธ เมื่อทำการก่อสร้างไปได้ครึ่งหนึ่งได้ปรึกษากันว่า
ถ้าพระยาคำแดงไม่ยอมแบ่งพระบรมสาริกธาตุให้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือ หากเราแพ้พระยาคำแดง ในการก่อสร้างเจดีย์ ครั้งนี้
แล้วเราจะเอาอะไรมาประดิษฐานไว้ในเจดีย์ที่กลุ่มของพวกเราสร้างขึ้น หรือว่า พวกเราทั้งหกคนนี้จะขึ้นไปแย่งชิงเอาพระบรมารีริกธาตุมาไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ
สร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ
เมื่อพระยาทั้งหกคน ได้ทำการตกลงกันเช่นนี้แล้วจึงได้ออกเดินทางไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นเมืองของพระยาคำแดง
และเข้าบุกโจมตีเพื่อแย่งชิงเอาพระบรมสารีริกธาตุ โดยไม่ให้กลุ่มของพระยาคำแดงรู้ตัวว่าเป็นกลุ่มใด แต่พระยาทั้งหกหารู้ไม่ว่า
พระยาคำแดงได้วางมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเพื่อคุ้มกันอย่างเข้มแข็ง เมื่อพระยาทั้งหกคนบุกเข้ารบอย่างดุเดือด
แต่ก็ไม่สามารถบุกโจมตีเข้าไปยังที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุได้ เนื่องจากมีกำลังพลน้อยกว่า
ผลปรากฏว่า ในการรบครั้งนี้ฝ่ายพระยาพุทธ ซึ่งมีเพียงหกคนจำเป็นต้องถอยกลับมา
และได้ทราบว่าสมาชิกในกลุ่มของตนเสียชีวิตไปหนึ่งคนแล้ว คือ "พระยาคำ" เป็นอันว่าผู้สร้างพระธาตุกู่จานยังเหลือเพียง ๕ คน
และเมื่อเห็นว่ามีกำลังน้อยกว่าคงสู้ต่อไปไม่ได้แล้ว จึงเดินทางกลับมาเพื่อเตรียมกำลังพลที่จะไปแย่งชิงพระบรมสารีริกให้ได้ต่อไป
ฝ่ายพระยาคำแดง ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดมาบุกโจมตีได้แต่คิดสงสัยอยู่ในใจเท่านั้น
จึงสั่งคุ้มกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุเข้มแข็งมากกว่าเดิม
กลุ่มพระยาพุทธ เมื่อเดินทางกลับมาถิ่นของตน จึงได้ทำการคัดเลือกบุคคลผู้ที่มีฝีมือในการรบอีกครั้ง
โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้าฟันไม่เข้า และเมื่อรวบรวมพลพรรคได้จำนวนหนึ่ง จึงได้มุ่งไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนืออีกครั้ง
เพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุจากพระยาคำแดงเป็นครั้งที่สอง โดยไม่ให้กลุ่มของพระยาคำแดงทราบล่วงหน้า ว่าเป็นกลุ่มใดที่บุกเข้าโจมตีครั้งนี้
แต่กลุ่มของพระยาพุทธก็ได้รับความผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุมายังเมืองของตนได้
เนื่องจากกลุ่มทหารที่เกณฑ์เอาไว้นั้น กลับเสียชีวิตทั้งหมด ที่เหลือและรอดชีวิตกลับมา ล้วนแต่เป็นเจ้าเมือง หรือพระยาทั้งห้าเท่านั้น
เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จก็กลับมายังเมืองของตนเพื่อวางแผนการใหม่ แม้จะต้องเสียกำลังคนสักเท่าไรก็ตาม
จะต้องนำพระบรมสารีริกธาตุมายังเมืองของตนให้ได้ โดยครั้งนี้ วางแผนไว้ว่าจะแบ่งกำลังออกเป็น ๕ ส่วนเท่า ๆ กัน ในส่วนของพระยาพุทธนั้น
ยังไม่เข้าโจมตี แต่จะรอให้พระยาทั้ง ๔ นั้นเข้าโจมตีก่อน แล้วจึงค่อยลอบเข้าโจมตีด้านหลัง
เมื่อได้วางแผนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้คัดเลือกทหารตามจำนวนที่ตนต้องการ แล้วจึงรีบยกกองกำลังขึ้นไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนืออีกครั้ง
และเมื่อไปถึงเมืองของพระยาคำแดงก็รีบบุกเข้าโจมตีทั้ง ๔ ทิศ พร้อมกัน แล้วให้เคลื่อนกำลังไปสมทบกันที่ด้านหน้า
โดยปล่อยให้กองกำลังของพระยาพุทธตั้งทัพรออยู่ด้านหลัง จึงทำให้ทหารของพระยาคำแดงหลงกลกระบวนยุทธ คิดว่าพระยาทั้งสี่นั้นเข้าตีเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น
ก็พากันออกมาตั้งรับด้านหน้ากันหมดไม่ได้ระวังด้านหลัง พระยาพุทธซึ่งคอยทีท่าอยู่แล้ว จึงได้พังประตูด้านหลังเข้าไปยังที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ
ซึ่งได้บรรจุไว้ในผอบทองคำและเขียนอักษรกำกับเอาไว้ ซึ่งพระยาพุทธได้มาทั้งหมด ๖ ผอบ ดังนี้
๑. พระบรมสารีริกธาตุ พระเศียร
๒. พระบรมสารีริกธาตุ พระอุระ
๓. พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระหัตถ์ขวา
๔. พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระหัตถ์ซ้าย
๕. พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระบาทขวา
๖. พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระบาทซ้าย
ในแต่ละชิ้นส่วนของพระบรมสารีริกธาตุนั้น มีขนาดเพียงเท่าเมล็ดงา และพระยาทั้ง ๕ เมื่อทำการ สำเร็จแล้ว
จึงได้พาพลทหารถอยกลับมายังเมืองของตน และหลังจากนั้นจึงทำการก่อสร้างเจดีย์ดังกล่าวจนกระทั่งสำเร็จ พร้อมทั้งนำเอาพระบรมสารีริกธาตุทั้งหกผอบนั้น
ไปประดิษฐานไว้ในเจดีย์เป็นที่เรียบร้อย
แต่ในการสร้างพระเจดีย์ครั้งนี้นั้น จึงเป็นที่คับแค้นใจของเหล่าประชาราษฏร์ส่วนใหญ่ยิ่งนัก เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง
ด้วยเหตุนี้พระยาทั้งห้าจึงได้ปรึกษาหารือกันว่า
พวกเราต้องสร้างใหม่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อที่จะให้ราษฎรในแต่ละหัวเมืองได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง แต่ในการก่อสร้างครั้งนี้
จะต้องสร้างเป็นวิหารเท่านั้น เพื่อเป็นที่เก็บสิ่งของ และจารึกประวัติพระธาตุไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และเรียนรู้
เมื่อประชาชนในหัวเมืองต่าง ๆ ทราบข่าวแล้ว ต่างก็พลอยยินดีปรีดายิ่งนัก ที่จะได้ร่วมสร้างวิหาร และวิหารนั้นจะต้องทำด้วยหิน
แต่หินนั้นจะต้องเป็นหินทะเล เมื่อตกลงกันแล้วพระยาทั้งห้าต่างก็แยกย้ายไปบอกข่าวแก่ประชาชนของตนให้ไปชักลากหินจากทะเล เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างวิหาร
โดยจัดแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ
ฝ่ายพระยาคำแดงหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นโกรธแค้นมากและทราบข่าวว่า ผู้ที่มาแย่งชิงพระสารีริกธาตุเป็นผู้ใด
จึงได้ยกกำลังกองทัพลงมายังหัวเมืองฝ่ายใต้ เพื่อเจรจาขอร่วมสร้างวิหารด้วย เพราะรู้ว่ากลุ่มของพระยาทั้งห้าได้ไปแย่งชิงเอาพระบรมสารีริกธาตุจากตน
แต่พระยาทั้งห้าไม่ยอม จึงได้เกิดการต่อสู้รบกันอีกครั้งอย่างรุนแรง
แต่เนื่องจากกลุ่มพระยาพุทธไม่ได้เตรียมกองกำลังไว้จึงเสียเปรียบ ผลปรากฏว่าพระยาทั้งหมดได้จบชีวิตลงนั้นคือ "พระยาคำแดง"
ได้ถูกพระยาพุทธฟันด้วยทวนคอขาด ( คอกุ้น ) ส่วนพระยาฝ่ายใต้ก็จบชีวิตลงเช่นกัน ศพทั้งหมดได้ถูกเผาและนำไปฝังไว้โดยห่างจากองค์พระธาตุกู่จาน ประมาณ ๒ -
๓ เมตร ทั้ง ๔ ทิศ
สนามรบครั้งนั้นก็คือ ดอนกู่ ในปัจจุบัน อยู่ทิศเหนือติด "บ้านงิ้ว" ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า
เป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาต่าง ๆ และพระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ และยังมีหินเรียงกันเป็นชั้น ๆ อยู่ ( ใบเสมา ) อยู่ทางทิศเหนือของบ้านกู่จาน
และห่างจากองค์พระธาตุกู่จานประมาณ 1 กิโลเมตร
ส่วนศพของพระยาคำแดง ประชาชนชาวเมืองได้ช่วยกันเผา และต่อมาอนุชนรุ่นหลังที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ได้ช่วยกันแกะสลักเป็นเทวรูปคอขาดด้วยหินศิลาแลงทรายละเอียด ยุคสมัยลพบุรี ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเทวรูปคอขาด และได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดสมบูรณ์พัฒนา
บ้านสมบูรณ์พัฒนา หมู่ ๓ ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาภายหลังอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านกู่จาน
และอยู่ทางทิศใต้ของบ้านสมบูรณ์พัฒนา ( เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยกำนันตำบลกู่จาน : นายสมบูรณ์ พอกพูน )
ส่วนข้าวของเงินทองของพระยาคำแดง ซึ่งนำลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ และของพระยาทั้งห้าของหัวเมืองฝ่ายใต้ได้ถูกสาปให้จมธรณี
เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดทำลาย และนำไปเป็นสมบัติส่วนตัว โดยคำสาปนี้จะสลายไปก็ต่อเมื่อพระยาทั้งหมดนั้น ได้กลับมาเกิดใหม่พร้อมกัน
และเมื่อนั้นข้าวของเงินทองทั้งหมดก็จะผุดขึ้นมาอีกครั้ง และได้แบ่งปันเป็นส่วน ๆ จำนวนเดิม ตามที่ได้สะสมเอาไว้ในภพก่อน ๆ
ส่วนชาวเมืองหัวเมืองฝ่ายใต้ ที่พากันไปขนหินทะเลนั้น บางกลุ่มก็ยังถึง และบางกลุ่มก็ไปยังไม่ถึง หรือ บางกลุ่มก็กลับมาถึงครึ่งทาง
และบางกลุ่มได้ทราบข่าวว่า เจ้าเมืองของตนตายก็พากันทิ้งหินทิ้งทรายไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเราเห็นอยู่หลายแห่ง
ดอนกู่ ( กู่ ) ได้เกิดศึกใหญ่มีคนตายมากมายชาวเมืองที่เหลืออยู่ก็พลอยเสียขวัญ จึงพากันอพยพถิ่นฐานไปหาที่สร้างเมืองใหม่
ปล่อยให้พระธาตุกู่จานถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่บัดนั้น จนกลายเป็นป่าทึบตามธรรมชาติเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด หลายชั่วอายุคนที่ไม่อาจนับได้
จนกระทั่งบรรพบุรุษที่เดินทางมาจากบ้านปรี่เชียงหมี มาพบเข้าเห็นว่าทำเลดีเหมาะที่จะตั้งหมู่บ้าน เพราะมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ พื้นดินอุดมสมบูรณ์
จึงได้พากันถากถางป่าเพื่อจะตั้งหมู่บ้าน จนมาพบพระธาตุแต่ไม่ทราบประวัติความเป็นมาของพระธาตุดังกล่าว
หลังจากได้กราบไหว้บูชาแล้ว พวกเราก็ได้มายืนถ่ายภาพร่วมกัน
พร้อมกับเข้าไปกราบไหว้พระประธานเก่าแก่ภายในพระอุโบสถ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ สามเณรถาวร อินกาย เกิดเห็นอภินิหาริย์พระธาตุกู่จานขึ้น
จึงได้เล่าประวัติของพระธาตุกู่จาน เมื่อครั้งการก่อสร้างพระเจดีย์จนสำเร็จได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระยาทั้งห้าก็ได้อธิษฐานไว้ดังนี้
พญาธรรม และ พระยาคำใบ : ชาติหน้าขอให้ได้เป็นพระอรหันต์
พระยาแดง และ พระยาเขียว : ไม่ได้อธิษฐาน หากแต่บุญกุศลที่ทำไว้ก็ส่งผลให้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทิพย์วิมาน มีนางฟ้าแสนหนึ่งเป็นบริวาร
พระยาพุทธ : ไม่ว่าเกิดชาติใดภพใดก็ขอให้ได้มาบูรณะองค์พระธาตุตลอดทุก ๆ ชาติไป
ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นกับ สามเณรถาวร อินกาย ซึ่งมีความเชื่อว่า
ในอดีตกาลเคยร่วมในการก่อสร้างพระธาตุนี้ด้วย และได้เล่าประวัติความเป็นมาให้ได้บันทึกเอาไว้ ตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น
ขอรับรองว่า ข้อความที่ได้เรียบเรียงไว้ข้างต้นนั้น ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นกับ สามเณรถาวร อินกาย เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๒๑ จริง
และประกอบกับได้รับการบอกเล่าจากบรรพบุรุษคนเฒ่าคนแก่สืบต่อกันมา
ความสำคัญต่อชุมชน : เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ สักการะของชาวเมืองยโสธรและจังหวัดใกล้เคียง ทุกๆ ปี ชาวตำบลกู่จานจะนำน้ำอบ น้ำหอมไป
ทำพิธีสรงน้ำพระธาตุในช่วงเช้าของวัน เพ็ญ เดือน 6 ตอนบ่ายจะไปทำพิธีสรงน้ำ "กู่" หลังจากนั้นจะพากันไปที่หนองสระพัง เพื่อนำน้ำที่หนองสระพังมาทำพิธี
สรงน้ำพระธาตุและใบเสมา
ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวนี้ ต้องกระทำเป็นประจำทุกปี มีความเชื่อว่าหากไม่ทำพิธีดังกล่าวแล้วจะทำให้ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล
และได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ความเชื่อนั้นยังคงมี ความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้นเมื่อได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นแล้ว และต้องทำพิธีสรงน้ำพระ ธาตุ, กู่,
ใบเสมา อีกครั้งในปีนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านกู่จานทุกคนรับทราบและจดจำได้ดีจึงได้ถือปฏิบัติพิธีนี้เป็นประจำ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม : องค์พระธาตุกู่จาน กว้าง 5.10 เมตร สูง 15 เมตร ที่ตั้งอยู่กลางลานวัดกู่จาน ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว
จังหวัดยโสธร ซึ่งดูลักษณะแล้วคล้ายคลึงกับองค์พระธาตุพนม ต่างกันเพียงขนาดซึ่งพระธาตุกู่จานมีขนาดเล็กกว่า.
((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))
webmaster - 14/7/09 at 07:51
(Update 14/07/52)
วันที่ 7 มิถุนายน 2552
28. พุทธสถานครองราชย์ ครบ 60 ปี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
ร่วมทำบุญสร้างพระใหญ่ "พระพุทธปิยมงคล" หน้าตักกว้าง 19.19 เมตร 1,000 บาท
เมื่อเดินทางออกมาจากวัดกู่จานแล้ว จึงได้เดินทางต่อไปที่พระพุทธรูปใหญ่อีกองค์หนึ่ง ซึ่งได้จัดสร้างโดยคณะชาวอำเภอเขื่องใน
อันมีพระครูปิยจันทคุณเป็นประธาน เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2549 แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เหลือแต่ฐานบัวที่ช่างกำลังทำงานอยู่
ทั้งนี้ ถือว่ามาพบโดยบังเอิญอีกแล้วค่ะ โดยในขณะที่นั่งฉันเช้าอยู่ในตลาดเขื่องใน มีแม่ค้าผลไม้เข้ามาถามว่าจะไปไหน จึงได้บอกว่ามาสร้างพระกัน
เขาจึงบอกว่าในอำเภอเขื่องในก็มีการสร้างพระใหญ่ด้วยนะ แล้วเขาก็บอกทางไปตามที่ได้มาพบนี้แหละค่ะ หลังจากได้ร่วมทำบุญสร้างพระย้อนหลังกันแล้ว เป็นเงิน
1,000 บาท จึงออกเดินทางต่อไป
29. วัดป่าพระเจ้าใหญ่แสนคำ (พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์)
บ.ธาตุลุ่ม ต.สหธาตุ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี (พบใหม่)
ปิดทององค์พระ
เป้าหมายของเราต่อไป คือตั้งใจจะไปสร้าง "พระหยกใหญ่" กัน แต่ในระหว่างทาง หลวงพี่เห็นป้ายทางเข้า วัดป่าพระเจ้าใหญ่แสนคำ
จึงบอกให้คนขับรถเลี้ยวกลับมาอีก แล้วเข้าไปไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่มาแต่โบราณอีกองค์หนึ่ง
โดยเขามีบันไดให้ขึ้นไปปิดทองคำเปลวที่ด้านบนองค์พระ
30. วัดป่าขันติธรรม บ้านยาง ต.บาง อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ
ร่วมทำบุญสร้างพระแก้วมรกต 3,000 บาท
พระหยก (นำมาจากอินเดีย) หน้าตัก 15 เมตร สูง 18 เมตร สูงรวมฐาน 35 เมตร
เกิดปรากฎการณ์ "พระอาทิตย์ทรงกลด" ตั้งแต่เริ่มต้นจนเต็มวง
เมื่อออกจากวัดนั้นแล้ว รถได้วิ่งมาตามถนนสายหลักจาก อ.เขื่องใน จ.อุบลฯ ลงมาทางอีสานใต้ คือ อ.กันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ
ขณะที่รถวิ่งใกล้จะถึงวัดป่าขันติธรรม จะมองเห็นพระองค์ใหญ่สีเขียวแต่ไกล
จากนั้นได้เดินเข้าไปในศาลา มีเจ้าหน้าที่แนะนำให้ทำบุญใส่ตู้บริจาค พวกเราได้ร่วมกันทำบุญสร้างพระแก้วมรกตที่ทำด้วยหยก 3,000 บาท
ขณะที่ไปถึงนั้นไม่พบหลวงปู่เณรคำ แต่ก็ได้ตั้งจิตอนุโมทนากับท่าน งบในการสร้างประมาณ 150 ล้านบาท โดยสั่งหินหยกมาจากประเทศอินเดีย
ในตอนนี้ เห็นคุณบุ๋มเดินไปที่คนงาน ซึ่งกำลังขัดองค์พระอยู่ข้างบน จึงได้รู้ว่าหลวงพี่ให้นำเงินไปมอบให้คนงาน คนละ 100 บาท จำนวน 10 กว่าคน
คุณบุ๋มเดินกลับมาพร้อมกับชี้มือขึ้นไปบนท้องฟ้า พวกเราจึงแหงนหน้ามองตาม ปรากฏว่าพระอาทิตย์ทรงกลด นับเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก
ตามหนังสือประวัติเล่าว่า ท้าวสักกเทวราชได้มาเข้านิมิตสั่งให้สร้าง
31. รอยพระพุทธบาท วัดภูผาสวรรค์ บ.เสาธงชัย ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ (พบใหม่)
รอยพระพุทธบาทใกล้เคียงกันทั้ง 3 รอย
o รอยแรก กว้าง 33 ซม ยาว 69 ซ.ม.
o รอยคู่ รอยที่ 1 กว้าง 29 ซ.ม. ยาว 62 ซ.ม, รอยที่ 2 กว้าง 29 ซ.ม ยาว 60 ซ.ม
มีก้อนหินเล็กๆ ที่สามารถโตขึ้นได้ กว้าง 18 ซ.ม ยาว 12 ซ.ม
ร่วมทำบุญ 1,200 บาท
ถวายหนังสือตามรอยฯ เล่ม 1 - 4 จำนวน 1 ชุด
สถานที่แห่งนี้ คุณสำราญเป็นผู้นำไป โดยทราบข้อมูลจากอาจารย์ณรงค์มาก่อน ว่าเป็นรอยที่เพิ่งพบใหม่เมื่อปีที่แล้วนี่เอง โดย คุณกัณหา
ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเป็นผู้พบ จากการฝันของตนเอง ซึ่งมีคลิปเสียงเล่าให้ฟังอย่างละเอียด เชิญรับฟังได้แล้วค่ะ
ทางวัดได้สร้างศาลาครอบรอยพระพุทธบาทไว้แล้ว ส่วนภาพทางซ้ายมือของเรา เป็นก้อนหินคล้ายแท่นประทับนั่ง เจ้าอาวาสได้ทำรั้วล้อมไว้แล้วเช่นกัน
ภาพนี้เป็นก้อนหินเล็กๆ ที่สามารถโตขึ้นได้ ทางวัดได้ก่อปูนล้อมไว้ จากเดิมก้อนเล็กนิดเดียว เป็นสีน้ำตาลแก่
แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่พวกเราไม่มีโอกาสได้เห็นรอยพระพุทธบาทตามธรรมชาติ เนื่องจากมีการทาสีทองทับไปแล้วละค่ะ ปัจจุบันทางวัดได้เอากระจกมาครอบไว้
เพื่อป้องกันผู้คนมาขูดขีดหาตัวเลขกัน
คุณกัณหา (ใส่เสื้อสีขาว) และชาวบ้านอีก 2-3 คน ได้มาเล่าประวัติการค้นพบให้ฟัง ถือว่าโชคดีที่วันนี้เป็นวันพระ
ซึ่งเป็นวันที่คุณกัณหามักจะมาถือศีลที่วัดนี้เป็นประจำ จึงได้พบกันโดยบังเอิญพอดี หากมาวันอื่นๆ คงจะไม่พบกันแน่นอนค่ะ
หากท่านผู้อ่านสนใจ กรุณาฟังเสียงเล่าให้จบนะค่ะ จะได้ทราบว่าเมืองไทยนั้นศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ค่ะ รอยพระพุทธบาทได้ปรากฏไปทั่วทั้งแผ่นดิน
น่าปลื้มใจแทนชาวไทยทุกคนนะค่ะ
((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))
webmaster - 17/7/09 at 08:58
(Update 17/07/52)
32. ศูนย์วิปัสสนาพัฒนาคุณธรรม (สำนักสงฆ์วัดดอยเขาแก้วนอ) ต. รุง อ. กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ (พบใหม่)
พบรอยพระพุทธบาทหลายแห่งทั่วบริเวณลานหิน มีรูปร่างเป็นขอบบ่อสูงขึ้นมาเหนือพื้นดิน
รอยพระพุทธบาท กว้าง 28 ซม ยาว 59 ซม สวยงามตามธรรมชาติ
ถวายหนังสือตามรอย เล่ม 4
ร่วมทำบุญ 1,500 บาท
สำหรับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ยังไม่ได้เข้าบัญชี เนื่องจากเพิ่งพบใหม่ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2551 โดย "คณะเว็บแดนพระนิพพาน" เป็นจำนวน 3 แห่ง คือ
1. วัดหนองบัว ต. นนทรี อ.กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี 2. วัดช้างหมอบ ต. แนงมุด อ.กาบเชิง จ. สุรินทร์ และ 3. ที่นี่ แต่กว่าทีมงาน
"คณะตามรอยพระพุทธบาท" จะได้ติดตามไปสำรวจ กาลเวลาก็ล่วงเลยมาปีกว่าแล้วละค่ะ
บริเวณผลาญหินหน้าทางเข้าสำนักแห่งนี้ จะเห็นเป็นขอบบ่อสูงขึ้นจากพื้นดิน ภายในจะมีน้ำขังอยู่ บางบ่อมีการก่ออิฐกั้นไว้โดยรอบ มีรูปร่างทรงกลมบ้าง
เป็นรูปวงรีคล้ายรอยเท้าบ้าง มีมากมายทั่วไปในบริเวณนี้
พวกได้ช่วยกันสำรวจโดยรอบ พบว่ามีการสกัดก้อนหินแถวนั้นมาทำเจดีย์ นับเป็นที่น่าเสียดายที่ท่านไม่พยายามรักษาธรรมชาติไว้ มุ่งแต่บุญกุศลเพียงอย่างเดียว
สถานที่นี้นับเป็นที่วิเศษและยอดเยี่ยม แทบจะไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน เสียดายที่ไปพบช้าเกินไป
ในขณะที่สำรวจอยู่นั้น มีพระเจ้าสำนักได้เดินเข้ามาทักทาย จึงได้ข้อมูลจากท่านมากมาย หลวงพี่ได้ร่วมทำบุญ 1,500 บาท และถวายหนังสือตามรอย เล่ม 4
อีกด้วย หลังจากนั้นท่านได้เดินนำเข้าสำรวจภายในสำนักปฏิบัติธรรม ได้พบรอยพระพุทธบาทเกือกแก้ว และรอยประทับนั่งอีกเป็นจำนวนมาก
หลวงพี่ได้บูชาด้วยการโปรยดอกไม้ สรงน้ำหอมทุกแห่ง จะมองเห็นว่าแต่ละแห่ง คล้ายเป็นฐานของพระเจดีย์
ต่อจากนั้นท่านพาเข้าไปในป่า เดินไปได้สักครู่จะพบโขดหินใหญ่ มองเห็นรอยนิ้วเท้าได้ชัดเจน ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติ หลวงพี่ได้ใช้สายวัดขนาดความกว้าง 28 ซม
ยาว 59 ซม หลังจากนั้นจึงได้เข้าไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
คลิกชมรายละเอียดการสำรวจเมื่อปี 2551 ได้ทีนี่.. http://www.danpranipparn.com/web/pratttas/pratta15mini20.html
วันที่ 8 มิถุนายน 2552
33. ปราสาทภูมิโปน บ้านดม ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
วันรุ่งขึ้น หลวงพี่ได้นำพวกเราล่องลงมาทางจังหวัดสุรินทร์ ระหว่างได้แวะเข้าไปชมโบราณสถาน ตามที่เขาเขียนป้ายบอกไว้ว่าเก่าแก่ที่สุด คือ
"ปราสาทภูมิโปน" หลังจากเดินชมและถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึกแล้ว จึงได้ออกเดินทางต่อไปค่ะ
34. รอยพระพุทธบาท วัดช้างหมอบ บ้านช้างหมอบ ต. แนงมุด อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ (พบใหม่)
รอยพระพุทธบาท กว้าง 78 ซม ยาว 142 ซม
ถวายหนังสือตามรอย เล่ม 4
ร่วมทำบุญกับหลวงพ่อพวง ประมาณ 1,500 บาท
พวกเราเดินทางมาถึงที่นี่เป็นเวลาใกล้หลวงพี่ฉันเพลแล้ว พอลงจากรถเห็นก้อนหินอยู่หน้าโบสถ์ ตามรายงานจากทีมงานเว็บแดนพระนิพพาน
บอกว่าคล้ายพระแท่นธรรมาศน์ หลวงพี่จึงเข้าไปสำรวจ ท่านบอกว่าเหมือนกับที่เคยเห็นที่อื่นมาก่อน มองเห็นเป็นคล้ายรอยประทับนั่งลงไป คุณเต๋อบอกว่า
หลวงพ่อพวง เจ้าอาวาสได้ยกออกมาจากในป่าหลังวัด
หลังจากได้กราบไหว้บูชาแล้ว จึงได้เข้าไปสนทนากับหลวงพ่อพวง ท่านได้เล่าประวัติการค้นพบรอยพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ในมณฑปหลังวัด
พวกเรายังไม่ได้เข้ากราบไหว้ แต่อยากจะสัมภาษณ์ท่านก่อน เพราะเกือบถึงเวลาฉันเพลแล้ว ท่านได้เล่าไว้ลองฟังเสียงท่านดีกว่านะค่ะ
เมื่อได้ฟังท่านเล่าจบแล้ว หลวงพี่จึงได้ถวายปัจจัยทำบุญ 1,500 บาท แล้วขอตัวไปทานอาหารกลางวันก่อน
ครั้นเสร็จสรรพกับอาหารกลางวันที่พวกเราเตรียมกันไปเรียบร้อยแล้ว หลวงพี่ก็ฉันเสร็จแล้ว จึงได้พาพวกเราเดินเข้าไปด้านหลังศาลา ถามพระที่อยู่แถวนั้น
ท่านชี้มือไปทางมณฑปหลังหนึ่ง ภายในมีก้อนหินใหญ่แยกห่างจากกัน 2 ก้อน ตรงกลางมีรอยพระพุทธบาทใหญ่มาก
พวกเราได้นำน้ำมาล้าง เนื่องจากมีฝุ่นขาวที่เขาโรยไว้หาตัวเลขเต็มไปหมด จากนั้นจะเห็นเป็นรอยเท้าได้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่เห็นมีนิ้วเท้า
ถึงอย่างไรก็ตาม รอยพระพุทธบาทลักษณะนี้ พวกเราเคยเห็นที่อื่นมาเยอะแล้ว และมาได้ฟังหลวงพ่อพวงเล่าก็เชื่อมั่นยิ่งขึ้น
หลวงพี่จึงได้เข้าไปทำพิธีบวงสรวง พร้อมทั้งผูกผ้าสีทองประดับบูชาอีกด้วย
ครั้นได้กราบไหว้บูชาแล้ว พร้อมทั้งมองดูฝาผนังที่ถูกเจาะเป็นช่องหน้าต่าง ตามที่หลวงพ่อพวงเล่า ว่าเดิมได้กั้นทึบหมดทุกด้าน
จนกระทั่งล้มป่วยลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อได้ทำให้โปร่งแล้ว อาการป่วยจึงหายเป็นปกติ
ก่อนจะกลับจึงได้ออกมายืนถ่ายรูปมณฑปครอบพระพุทธบาทด้านนอก หลังจากนั้นก็ได้ถวายหนังสือตามรอยเล่ม 4 ซึ่งหลวงพ่อพวงได้เปิดอ่านด้วยความสนใจ
เมื่อเดินออกมาได้เห็นก้อนหินคล้ายหลังเต่า แต่ไม่ทราบว่ารูปภาพหายไปไหน
คลิกชมรายละเอียดการสำรวจเมื่อปี 2551 ได้ทีนี่.. http://www.danpranipparn.com/web/pratttas/pratta15mini21.html
((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))