การเดินทางไป "หลวงพระบาง" วันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2553 (ตอนที่ 2 จบ)
praew - 26/2/10 at 07:52
((( ตอนที่ 1 คลิกที่นี่ )))
6 กุมภาพันธ์ 2553
เดินทางด้วยรถ ไปที่บ้านผานม ชุมชนไทลื้อที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของหลวงพระบาง และมีชื่อเสียงในเรื่องผ้าทอ และไปต่อที่ท่าเรือ
เพื่อลงเรือเดินทางสู่ ถ้ำติ่ง
ระหว่างเรือล่องไปตามแม่น้ำโขง สามารถชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งจะพบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาว ที่มีทั้งปลูกผักริมฝั่งแม่น้ำโขง
ล่องเรือหาปลา หาสาหร่าย ร่อนทองคำ เป็นต้น และระหว่างเรือล่องไปตามแม่น้ำโขง มองเห็นเสาปูนเป็นขั้นๆ ส่วนบนสุดสีแดง อีกอันสีเขียว
เสาปูนดังกล่าวเรียกว่า คอนน้ำ เป็นขั้นบันไดเพื่อลดการรับน้ำหนักของน้ำที่กระแทกเสาปูน ทำหน้าที่ช่วยจัดระเบียบการเดินเรือไม่ให้ชนกันโดย สีแดง
หมายถึง เรือที่แล่นขึ้นเหนือ(ทวนน้ำโขง)ให้ขับเรือชิดซ้าย สีเขียว หมายถึง เรือที่แล่นลงใต้(ตามน้ำโขง)ให้ขับเรือชิดขวา โดยสามารถชมแม่น้ำ 2 สี
ระหว่างแม่น้ำโขง (สีอ่อน) กับ แม่น้ำคาน (สีเข้ม) แม่น้ำ 2 สีเป็นทางยาวพอสมควรกว่าจะผสมกันเป็นเนื้อเดียว
เมื่อล่องเรือถึงถ้ำติ่ง ก็ได้ทราบความเป็นมา จากไกด์ท้องถิ่นว่า ถ้ำติ่ง มีประวัติความเป็น มาจากคำว่า "หินติ่ง" ที่หมายถึงหินงอกหินย้อย
ถ้ำติ่งแต่เดิมใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจในหมู่ผู้ที่อยู่อาศัยในแถบลุ่มแม่น้ำโขงดั้งเดิมที่ยังนับถือผีบรรพบุรุษโดยใช้เป็นที่เซ่นไว้ บูชา
ผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ หรือนัยหนึ่งคือ ถ้ำติ่งมีความสำพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำโขง
เป็นที่เชื่อกันว่า ประชาชนชาวลาวได้อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเป็นกลุ่มแรกในราวกลางศตวรรษที่ 8 ซึ่งภายหลังได้อพยพลงไปทางใต้ของประเทศจีน
จนกระทั่งภายหลังศาสนาพุทธได้เข้ามาในพื้นที่นี้
ในศตวรรษที่ 16 ศาสนาพุทธได้ถูกนำมาใช้เป็นศาสนาประจำชาติ โดยพระบรมวงศ์ษาณุวงศ์ ของลาว จากนั้นถ้ำติ่งจึงได้รับเป็นราชูปถัมภ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปี
ค.ศ. 1975 ในทุกๆ ปีเจ้ามหาชีวิต และประชาชนชาวหลวงพระบางได้เข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงวันปีใหม่ลาว
ช่างพื้นถิ่นได้ถูกเกณฑ์เข้ามาใช้ในการทำองค์พระพุทธรูป องค์พระแกะสลักทั้งหลายในถ้ำเริ่มขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 18 และศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
ชมพระพุทธรูปขนาดต่างๆ มากมายกว่า 4,000 องค์ ที่ถูกค้นพบในถ้ำติ่ง ได้ถูกนำมาประดิษฐานไว้โดยมีผู้นำมาบูชา ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้
บ้างปั้นจากยางไม้ แล้วนำมาทาด้วยน้ำยาเคลือบมันสีแดง หรือดำแล้วจึงปิดทองทับอีกครั้ง เป็นส่วนน้อยที่แกะสลักจากเขาสัตว์ หรือหล่อจากทองเหลือง
หรือเป็นเซรามิกปางต่างๆ ส่วนใหญ่มี 3 ปางที่สำคัญ เช่น ปางเรียกฝน เป็นลักษณะยืนแขนทั้งสองข้างเหยียดลง ปางแม่พระธรณีเป็นพยาน
เป็นองค์พระนั่งแขนข้างหนึ่งเหยียดลงและ ปางสมาธิ เป็นองค์พระนั่งพร้อมพระหัตถ์ทั้งสองบ้างประสานกันบนตัก ปางห้ามญาติ องค์พระยืนพร้อมเหยียดแขนทั้ง 2 ข้าง
ไปข้างหน้า และปางใสยาสน์ซึ่งเป็นปางที่ไม่พบบ่อยนัก
หลวงพี่ชัยวัฒน์ ได้นำคณะพวกเราถวายพระพุทธรูป ผ้าห่มสไปทอง ถวายพระเจดีย์ และพระพุทธรูป ที่ถ้ำติ่งแห่งนี้ด้วย
หลังจากนั้น คณะพวกเรา ก็เดินทางต่อไปบริเวณทางขึ้นถ้ำเทิง หรือ ถ้ำชั้นบน เป็นบันใดคอนกรีตทอดรยะทางประมาณ 300 เมตร ขึ้นสู่บริเวณถ้ำ
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และพระพุทธรูปขนาดเล็กอีกประมาณ 1,500 องค์ ปากทางจะมีโต๊ะตั้งจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน
และให้เช่าไฟฉายเป็นเงินบริจาคเพียงเล็กน้อย และรูปด้านขวา จะเห็นภาพคล้ายหน้าคน ซึ่งภาพนี้ ไกด์ท้องถิ่น เป็นผู้ถ่ายภาพ
หลวงพี่ชัยวัฒน์ ได้นำคณะพวกเรา ห่มผ้าสไปทอง ถวายพระเจดีย์ ซึ่งมืดมาก จะต้องใช้ไฟฉายเข้าช่วย สำหรับผู้หญิง ที่ไม่สามารถขึ้นไปได้
ก็บูชากันข้างล่าง ปิดทอง สรงน้ำอบ กันตามสมควร เป็นที่ปราบปลื้มใจกันอย่างมาก
หลังจากชมถ้ำติ่งแล้วนำท่านล่องเรือสู่ มายังฝั่งตรงข้ามถ้ำติ่ง เพื่อรับประทานอาหาร
เดินทางกลับ ผ่านบ้านช่างไห ชุมชนริมแม่น้ำโขงที่มีอาชีพหลักในการต้มเหล้า ว่ากันว่าเหล้าขาวของที่นี่รสชาติดีมาก แทบทุกครัวเรือนจึงมีอาชีพในการต้มเหล้า
praew - 28/2/10 at 08:11
เดินทางสู่ น้ำตกตาดกวางสี เป็นน้ำตกหินปูนสูงราว 70 เมตร มี 2 ชั้น บางช่วงมีสายน้ำไหลตามผาคล้ายกับม่าน
เนื่องจากเป็นน้ำตกหินปูนจึงทำให้น้ำของน้ำตกแห่งนี้ใสและมีสีเขียวมรกต อยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบาง ประมาณ 30 กิโลเมตร สองข้างทางผ่านหมู่บ้านลาวสูง
(ม้ง) หลายแห่ง
เป็นน้ำตกที่สวยงาม โอบล้อมด้วยป่าใหญ่บรรยากาศร่มรื่น กว่าจะถึงเล่นเอาแทบแย่ เกือบถอดใจตั้งหลายหน แต่พี่มายิน ถึงกับ เมารถ แต่ในที่สุดถึงจนได้
ในภาพจะเห็นได้ว่า มีฝรั่งมาขอถ่ายรูปกับหลวงพี่ฯ สังเกตในภาพให้ดี หลังจากที่ถ่ายภาพแล้ว เพื่อน ๆ ของเขา มาดูที่รูป พอใจภาพเป็นอย่างมาก
ถึงกับยกมือไหว้ หลวงพี่ น่าปลื้มใจ จริง ๆ
praew - 2/3/10 at 14:51
วัดพระบาทใต้ (วัดเวียด) หรือเรียกกันว่า วัดญวณ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงด้านทิศใต้ของหลวงพระบาง ห่างจากวัดธาตุหลวงประมาณ 200 เมตร ทางไปน้ำตกตาดกวางซี
เดิมวัดนี้เป็นวัดโบราณเก่าแก่กว่า 500 ปีแล้ว ในอดีตตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นในด้านทิศใต้คู่กับวัดพระบาทเหนือ
จากหลักฐานร่องรอยที่พบเห็นเชื่อว่าสร้างในรัชสมัยพระเจ้าสามแสนไท เนื่องจากการบูรณะวัดในปีพ.ศ. 2503 สภาพวัดได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเกือบทั้งหมด
ส่วนใหญ่เป็นศิลปะจีน+เวียดนาม มีเจ้าอาวาสเป็น ชาวเวียตนาม และชาวบ้านที่ถวายปัจจัยร่วมบูรณะส่วนใหญ่มีเชื้อชาติเดียวกัน จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
วัดเวียด (มากจากคำว่าเวียดนามนั่นเอง) หรือเรียกอีกชื่อว่า "วัดญวน"
จุดเด่นของวัดนี้ คือ รอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานริมแม่น้ำโขง ณ.บริเวณนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ตกดินได้สวยงาม ทางด้านหลังวัด
ลวดลายของอุโบสถ แบบ จีน เวียตนาม ซึ่งเขียนแบบ เสตนซิล และ พระพุทธเจ้าปาง ประสูติ ด้านหลังของวัด
นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของหลวงพระบาง
หลวงพี่ได้นำผ้าไปห่มองค์พระ ซึ่งงานนี้ต้องขอโมทนากับพี่ก๋วยเจ็ง และพี่หลี ได้จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องบูชาต่าง ๆ มาอย่างครบถ้วน
หลังจากนั้น พวกเราก็ได้รวบรวมถวายปัจจัย โดยที่พี่ก๋วยเจ๋งเป็นตัวแทนในการนำถวายในครั้งนี้ ซึ่งเจ้าอาวาส ท่านเป็นคนเวียดนาม
ได้สวดมนต์ให้พวกเราฟัง ทั้ง 3 ภาษา ดังที่ได้ตั้งใจไว้ และหลวงพี่ชัยวัฒน์ ได้สอบถามท่านเจ้าอาวาส ถึงเมื่อปี 2541 ที่ได้เคยมากราบไหว้ครั้งหนึ่งแล้ว
เรื่องรอยพระพุทธบาท ณ ที่นี้
((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))
praew - 4/3/10 at 07:55
จากนั้นได้เดินต่อไป เพื่อนมัสการพระธาตุหมากโม หรือวัดวิชุนราช
วัดวิชุนราช ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองหลวงพระบาง ถนนวิชุนราช ในบรรดาวัดทั้งหมดของเมืองหลวงพระบางเป็นต้องยกให ้วัดวิชุน
ในความแปลกที่พระธาตุเจดีย์ รูปโค้งมนเหมือนผลแตงโม และ เจดีย์รูปทรงแปลกตานี้เอง ที่กระทรวงแถลงข่าว และวัฒนธรรมของลาวยกให้มีความสำคัญ ความโดดเด่น
ของวัดวิชุน แม้เพียงนั่งรถผ่านไปถนนวิชุนราชก็ จะแลเห็นเจดีย์รูปแตงโมผ่าครึ่งนี้สะดุดตา
วัดแห่งนี้ เจ้าชีวิตวิชุนราช โปรดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๐๔๖ ได้ตั้งชื่อวัดตามพระนาม ของพระองค์ เมื่อสร้างสำเร็จก็ได้อัญเชิญ
พระบางจากวัดมโนรมย์มาประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุน วัดนี้มีความสำคัญด้วยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญหลายองค์ เช่น ในปี พ.ศ.๒๐๖๖
พระเจ้าโพธิสารอมรินทราธิราช ทรงแต่งราชทูตไปขออัญเชิญพระแซกคำจากพระเมืองเกษเกล้ามาประดิษฐานคู่กับพระบาง
ทางเชียงใหม่ได้แต่งให้พระเทพมงคลเถระเป็นผู้นำมาพร้อมด้วย พระไตรปิฎก ๖๐ คัมภีร์มาด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๖๘ พระเจ้าโพธิสารราชทรงผนวชที่วัดนี้ ในปีพ.ศ.๒๐๙๑ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้อัญเชิญ พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร ( พระแก้วมรกต )
กับพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ( พระแก้วขาว ) หรือพระจันทรรัตนะ จากเมืองเชียงใหม่มาพร้อมพระองค์แล้วประดิษฐานไว้ที่วัดนี้
วัดนี้ยังเป็นวัดที่กระทำสัตย์ระหว่างเจ้าองค์นกและเจ้าอินทโสม ( พระอนุชาเจ้ากิ่งกิสราช ) ที่รบเพื่อแย่งชิงเมืองหลวงพระบางกัน
เจ้าอินทโสมได้รวบรวมไพร่พลจากเมืองแพร่ เมืองล่า เมืองพงมาตั้งพลอยู่ที่เมืองงอยลำน้ำอูเพื่อชิงเอาเมืองคืน
เมื่อเจ้าองค์นกทราบจึงปรึกษากับเสนาบดีและทรงเห็นว่าถ้ารบกันไพร่พลก็จะล้มตาย และความสัมพันธ์ฉันญาติ ก็จะสิ้นไป
จึงนิมนต์พระราชาคณะขึ้นไปเชิญเจ้าอินทโสมลงมาเจรจากัน พร้อมทั้งให้สัตย์ว่าจะไม่ทำร้ายกันที่ภายในสิม วัดวิชุน
ปี พ.ศ.๒๓๗๐ เจ้าพระยาราชสุภาวดี ( สิงห์ สิงหเสนีย์ ) แม่ทัพของสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ปราบกบฎเจ้าอนุรุธได้แล้วอัญเชิญพระบางไปไว้ที่กรุงเทพฯ ปีพ.ศ.๒๓๘๒
สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งเจ้าราชวงศ์สุกเสริมเป็นพระเจ้าล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ซึ่งได้ทรงอัญเชิญพระบางกลับมาหลวงพระบางทางบก
เมื่อมาถึงบ้านเชียงแมนก็กระทำพิธีเฉลิมฉลอง ๙ วัน ๙ คืน
แล้วจึงนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่สิมวัดวิชุน และทรงตั้งพิธีรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ถวายสัตย์ต่อหน้าพระบางตลอดสมัยที่เป็นเมืองขึ้นของสยาม ปี พ.ศ. ๒๔๓๗
สมเด็จพระเจ้าสักรินทร์ทรงอัญเชิญ พระบางไปประดิษฐานไว้ที่วัดใหม่สุวรรณภูมาราม
ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่หลังจากที่มีการรวมแขวงเวียงจันทน์, พวน, หัวพัน, หัวของแล้ว
ก็เห็นว่าสถานที่นี้คับแคบเกินไปสำหรับการประกอบพิธี จึงย้ายที่ประกอบพิธีไปกระที่วัดวิชุนดังเดิม ปี พ.ศ.๒๔๓๙
สมเด็จพระเจ้าสักรินทร์ทรงรื้อวัดวิชุนหลังเก่าที่ชำรุดลงเสีย แล้วทรงปฎิสังขรณ์ ใหม่ทั้งหลังตามแบบเก่า เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าสุพรรณรังสี
พระรัชทายาทที่สิ้นพระชนม์และเคยบวชเป็นสามเณรที่วัดนี้
และ ภายในพระอุโบสถของวัดวิชุน ด้านหลังของพระประธานมีโบราณวัตถุที่เก็บรวบรวมมาจากวัดร้างต่างๆ ในหลวงพระบาง เช่น พระพุทธรูปสำริด ไม้จำหลัดลวดลายต่างๆ
พระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรัก ปิดทองเท่าคนจริงจำนวนมาก
พวกเราได้ยืนถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึกพอสมควร
คณะพวกเราได้เข้าไปที่พระอุโบสถ โดยเจ้าอาวาส ซึ่งมีอายุกว่า 80 ปี ได้ออกมาต้อนรับ ซึ่งมีคุณรัตนา เป็นตัวแทนในการนำถวายครั้งนี้
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 (หลวงพระบาง - กรุงเทพฯ)
เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสวัสดิภาพ ในเวลา 10.15 น. จึงขออนุโมทนผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย แม้การเดินทางในครั้งนี้
จะเตรียมการไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ยากลำบากในการเตรียมการพอสมควร ครั้นถึงเวลาเดินทางทุกอย่างก็ราบรื่น หัวหน้าทัวร์นำไปได้ครบถ้วน
พวกเราช่วยกันทำเวลาได้ทุกรายการ สมหวังทุกอย่าง หลวงพี่ชัยวัฒน์ฝากอนุโมทนาทุกคน ทั้งที่ร่วมเดินทางก็ดี หรือไม่สามารถเดินทางไปได้ก็ดี
ก็ยังฝากปัจจัยไปร่วมทำบุญ จึงได้ทำบุญสมใจค่ะ
โดยเฉพาะคุณรัตนาได้นำบายศรีดอกไม้สดไปถึง 4 ชุด และคุณก๊วยเจ๊งและคุณหลีก็ได้นำเครื่องบูชา พร้อมกับนำย่ามไปถวายพระชาวลาว รวมแล้วประมาณ 50 ใบ
ถือว่าได้ทำบุญกันอิ่มเอมเปรมใจ และสำคัญที่สุดในครั้งนี้ ตามที่หลวงพี่บอกว่า ท่านได้เดินทางไปครั้งแรกเมื่อปี
2541ยังไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปห่มผ้าที่บนพระธาตุพูสี ครั้งนี้ท่านได้ขึ้นไปห่มผ้าด้วนตนเอง พวกเราทุกคนและชาวต่างชาติที่ขึ้นไปในเย็นวันนั้น
ต่างก็แหงนมองแล้วต่างก็ชื่นใจเช่นกันค่ะ.