ตามรอยพระพุทธบาท

การเดินทางไป "ภาคอีสาน" วันที่ 8-16 พฤษภาคม 2553
webmaster - 7/6/10 at 08:12

สารบัญ

1.
เล่าเรื่องเดินทาง วันที่ 8 - 9 พ.ค. 53
2. เล่าเรื่องเดินทาง วันที่ 10 พ.ค. 53
3. เล่าเรื่องเดินทาง วันที่ 11 พ.ค. 53 (Update 9/6/53)
4. เล่าเรื่องเดินทาง วันที่ 12 พ.ค. 53 (Update 10/6/53)
5. เล่าเรื่องเดินทาง วันที่ 13 พ.ค. 53 (Update 14/6/53)
6. เล่าเรื่องเดินทาง วันที่ 14 พ.ค. 53 (Update 16/6/53)
7. เล่าเรื่องเดินทาง วันที่ 15 พ.ค. 53 (ตอนจบ) (Update 17/6/53)



ตามรอยพระพุทธบาท "ภาคอีสาน"

ตั้งแต่ วันที่ ๘ - ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓


.......สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ คงต้องใช้คำว่า "ตามรอยพระพุทธบาท" เพราะหลวงพี่ชัยวัฒน์มีข้อมูลอยู่ในมือหลายแห่ง บางแห่งมีผู้แจ้งพบรอยพระพุทธบาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ นับเป็นเวลาหลายปีทีเดียว กว่าหลวงพี่จะได้ไปเคลียงานให้เสร็จสิ้น ทั้งที่ท่านได้บอกว่าจะเลิกงานตามรอยพระบาทแล้ว เพราะสังขารร่างกายเริ่มอ่อนล้าลงตามวัย แต่ก็ยังมีผู้แจ้งข่าวมาเรื่อยๆ พร้อมทั้งส่งข้อมูลแภาพถ่ายมาให้อย่างต่อเนื่อง

......ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ หลวงพี่ได้ชักชวนพวกเราไม่กี่คนวางแผนเส้นทางการเดินทาง พร้อมทั้งหลวงพี่ได้รับกิจนิมนต์จาก พระอาจารย์อารี วัดป่าเทพนิมิต อ. นาแก จ. นครพนม เพื่อเป็นประธานในการเทองค์พระใหญ่ หน้าตัก ๓๐ เมตร เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ แต่หลวงพี่ไม่สามารถเดินทางไปได้ เนื่องจากติดงานสงกรานต์ที่วัดท่าซุง แต่ท่านก็ตั้งใจจะไปร่วมเทองค์พระในครั้งนี้ อีกทั้งจะได้สำรวจรอยพระพุทธบาทที่คั้งค้างทางภาคอีสานอีกหลายแห่งไปด้วยกัน


๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (อุทัยธานี - ชัยภูมิ - อำนาจเจริญ)

.....เวลา ๑๕.๕๐ น. เดินทางถึง "ร้านคิดมงคล" จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสังฆทานของคุณแม่อุไร (พึงพิศ) คิดบรรจง ปัจจุบันนี้คุณแม่อุไรได้เสียชีวิตไปแล้ว เหลือแต่ลูกสองคนคือ "น้องใหม่" กับ "น้องหมี" เจ้าของบ้านและญาติมิตรได้รอต้อนรับคณะหลวงพี่เป็นอย่างดี

.....หลวงพี่ได้สนทนาเรื่องการบอกบุญ ที่มีคนอ้างว่าชื่อ "ตามรอยพระพุทธบาท" ที่ชัยภูมิ ซึ่งหลวงพี่ไม่เคยรู้เรื่องเลย จากนั้นน้องหมีได้ถวายเครื่องบูชามากมายหลายอย่าง มี ผ้าไตร น้ำอบ เสื่อ แผ่นทอง ฉัตรเงิน ฉัตรทอง ฉัตรครอบรอยพระพุทธบาท เป็นต้น และญาติโยมที่มารอต้อนรับได้ถวายปัจจัยกับหลวงพี่ด้วย

.....เวลา ๑๖.๕๐ น. ออกเดินทางต่อไปทางจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อไปสำรวจรอยพระพุทธบาทแจ้งไว้ทางอีเมล์ ในระหว่างเดินทางฟ้าปลอดโปร่ง แสงแดดจ้าแต่กลับมีฝนตกและรุ้งขึ้นด้วย



๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (อำนาจเจริญ)

๑. รอยพระพุทธบาท "ภูเกลิ้ง" บ้านภูเขาขาม หมู่ ๖ ต.คึมใหญ่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ (พบใหม่ ลำดับที่ 608)
๒. วัดป่าสระหลวงภูเขาขาม ต.คึมใหญ่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ


.......พวกเราได้เริ่มนับหนึ่งกัน ณ สถานที่แห่งนี้ เดิมหลวงพี่คิดว่าต้องขึ้นภูเขาสูง เพราะข้อมูลที่มีผู้แจ้งทางอีเมล์นั้นได้บอกไว้นานแล้ว ดังนี้

วันพุธ ที่ 30 พฤษภาคม 2550
"พบรอยเท้าคนโบราณ"
Posted by น้ำใสไหลรินริน , ผู้อ่าน : 255 , 16:04:11 น.
หมวด : ท่องเที่ยว


คุณตา ธเนศ บุญช่วย จาก "แสงแก้วนิวส์เปเปอร์" เล่าให้ฟังพร้อมนำภาพถ่ายรอยเท้ามนุษย์โบราณมาให้ดู พร้อมเล่าให้ฟังว่า ภรรยาผู้ใหญ่คำผัน สารคณา หมู่ที่ ๖ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ไปเก็บเห็ดแล้วพบเข้า ดังภาพข้างล่าง จ่ะ !


รอยดังกล่าว ที่พบนี้อยู่บนก้อนหินแข็ง ซึ่งโดยรอบๆจะมีก้อนหินน้อยใหญ่ รูปร่างแปลกๆอยู่เป็นอันมาก ชาวบ้านเรียกภูแห่งนี้ว่า "ภูเกลิ้ง" อยู่ที่หมู่ ๖ บ้านภูเขาขาม ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

คุณตา ธเนศ บุญช่วย เล่าว่าบน "ภูเกลิ้ง"แห่งนี้ เป็น ซูเปอร์มารเก็ตของชาวบ้าน และสัตว์เลี้ยงมาชั่วนาตาปี แต่ไม่ใครสังเกตุเห็น เพิ่งมาพบเห็นและเป็นข่าวมาเล่าให้ฟังนี้แหละ สำหรับขนาดของรอยเท้านั้น ได้รับการบอกเล่าว่า ใหญ่กว่า คนธรรมดาประมาณ ๒ นิ้ว ปัจจุบันมีประชาชนสนใจไปเที่ยวชมทุกวันนะ


ที่มา - คุณชวการ ชาญกนกรัชต์ แจ้งข่าวทางอีเมล์



บ้านคึมใหญ่----ผ่านบ้านดอนไร่---มาถึงบ้านภูเขาขาม

......นี่เป็นข้อมูลที่ระบุชื่อบุคคลเอาไว้ หลวงพี่จึงตั้งหลักด้วยการมุ่งเข้าไปสืบหาบุคคลที่มีชื่อนี้ก่อน คือ คุณลุงธเนศ บุญช่วย ด้วยการแวะสอบถามทางจากชาวบ้าน เพราะต้องเข้าไปจากถนนใหญ่ลึกมาก สภาพเป็นถนนลาดยาง + ลูกรัง โชคดีมีฝนตกและหายไปใหม่ๆ ทำให้เดินทางสบายเหมือนพระมาโปรดพรมน้ำมนต์ให้

......จนกระทั่งพบบ้านของ คุณลุงธเนศ บุญช่วย หลวงพี่ได้เข้าไปอธิบายและย้อนบอกเรื่องที่คุณลุงได้เคยนำเรื่องนี้ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเรื่องการพบรอยพระพุทธบาท คุณลุงจึงนำทางพาไปพบชาวบ้านที่เจอรอยพระพุทธบาท ๒ คนคือ คุณป้าบัว ธงชัย อายุ ๖๘ ปี และ คุณวิไลวรรณ จันทร์จวง อายุ ๔๗ ปี ซึ่งมีบ้านอยู่แถวนั้น และเป็นภรรยาของผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายคำผัน สารคณา ตามข่าวที่แจ้งไว้ในอีเมล์พอดี

.....หลวงพี่ได้ชักชวนนั่งคุยกันใต้ต้นไม้หลังบ้านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งข้างหลังเป็นที่นาโล่งแจ้ง ลมพัดผ่านเย็นสบายๆ ไม่ต้องไปหาพัดลมที่ไหน แล้วคุณป้าทั้งสองคนเล่าว่าเมื่อปี ๒๕๕๐ ก่อนที่จะพบรอยเท้าบนหินดังกล่าวนี้ ได้ชักชวนกันออกไปหาเห็ดแถวภูเขาเกลิ้ง (ปัจจุบันจะตัด ล.ลิง ออกเป็น "ภูเขาเกิ้ง") เวลาประมาณเที่ยงวันก็ได้พบรอยแปลกประหลาดนี้ จากนั้นก็เป็นข่าวไปทั่วทั้งหมู่บ้าน

.....พวกเราได้ฟังต่างก็สนใจอยากจะไปเห็นของจริง ก่อนออกเดินทางหลวงพี่ได้ฉันเพลก่อน โดยจัดที่ฉันอาหารกันแถวนี้เลย เพราะพวกเราเตรียมซื้ออาหารกลางวันมาพร้อมแล้ว ผู้ใหญ่คำพัน สารคนา ซึ่งเป็นสามีของคุณวิไลวรรณ จันทร์จวง ต่างช่วยกันปูเสื่อภายใต้ต้นไม้กอไผ่แถวนั้น นับว่าเป็นบรรยากาศลูกทุ่งจริงๆ เย็นสบายแบบอิสานบ้านเฮา มีชาวบ้านแถวนั้นมาร่วมทานข้าวกับคณะของเราด้วย พวกเราได้แบ่งอาหาร ผลไม้ แซนด์วิช เป็นต้น ทุกคนทานกันอย่างเอร็ดอร่อยไม่เหลือเลย ได้ความรู้สึกที่มีความสุขจริงๆ

.....หลังจากอิ่มหมีพีมันกันแล้ว ลุงธเนศและป้าบัวได้มานั่งรถไปกับหลวงพี่ โดยมีผู้ใหญ่บ้านและภรรยานั่งรถเครื่องนำหน้าไป แต่ได้แวะไปทำบุญที่ วัดป่าสระหลวงภูเขาขาม ต.คึมใหญ่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ โดยเจ้าอาวาสบอกว่า จะสร้างพระพุทธรูปไว้ที่แถวรอยพระพุทธบาท หลวงพี่และพวกเราจึงได้ร่วมทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท พร้อมกับถวายผ้าไตรจีวรอีกด้วย เพราะเห็นว่าท่านอยู่ในป่าห่างไกลจากความเจริญพอสมควร



.....รถมอเตอร์ไซด์ผู้ใหญ่บ้านนำมาถึงบริเวณป่าไม่ไกลหมู่บ้านนัก ไม่ใช่เป็นภูเขาสูงอย่างที่คิด ถ้าขึ้นเขาสูงตอนเที่ยงวันอย่างนี้ คงเป็นลมกันก่อนจะขึ้นไปถึงแน่ๆ โชคดีที่มองเห็นป้าย "ภเขาเกิ้ง - ภูเขาขาม" อยู่เบื้องหน้า ลุงธเนศเล่าว่า ถนนทางเข้ามาจนถึงบริเวณนี้ ทำจากงบของอบต.คึมใหญ่ เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย

.....พวกเราจอดรถไว้ใต้ต้นไม้ แล้วเดินเลี้ยวซ้ายเข้าไปในป่า เดินผ่านพลาญหินไปประมาณ ๒๐๐ เมตร ป้าบัวและพี่วิไลวรรณเดินนำทางไป แล้วชี้ไปข้างหน้ากลางป่าเขา บอกว่ารอยเท้าอยู่ตรงที่มีตาข่ายล้อมไว้ ซึ่งอยู่บริเวณทางน้ำไหลผ่าน แต่ขณะที่ไปถึงอากาศแห้งแล้งมาก ถึงแม้จะมีฝนตกในวันเดินทางพอดี แต่อากาศเที่ยงวันยังร้อนระอุ ทำเอาพวกเราคอแห้งกระหายน้ำไปตามกัน


.....แต่ความกระหายยังไม่เท่าความอยากที่จะได้ไปเห็น เพราะได้เห็นรูปภาพจากหลวงพี่แล้ว รอยเท้าที่เป็นรอยนิ้วบนหินตามธรรมชาตินี้...ยากที่จะได้เห็น และก็ไม่ได้พบบ่อยมากนัก จึงได้รีบสาวเท้าก้าวเดินตามไป อีกไม่ไกลก็ถึงรอยพระพุทธบาท ซึ่งคุณปุ๋มก็ไม่สามารถจะถ่ายได้ชัดเจน เนื่องจากผู้มีศรัทธาท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ ได้มอบทุนให้ทำตาข่ายกั้นไว้ เพื่อป้องกันรักษาให้รอยพระพุทธบาทได้มีสภาพเดิมๆ

.....หลังจากได้ทำความสะอาดแล้ว เวลาเที่ยงตรงทำพิธีบวงสรวง และอธิษฐานเสี่ยงทายไม้วา ผลปรากฏว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริง รอยพระพุทธบาทเบื้องขวา มีความยาว ๒๘ เซ็นต์ กว้าง ๑๐ เซ็นต์ เป็นเรื่องน่าแปลก ที่ตอนทำพิธีบวงสรวงเป็นเวลาเดียวกันกับที่ป้าบัวและพี่วิไลวรรณไปพบรอยพระพุทธบาทพอดีเหมือนกัน



ลุงธเนศใส่เสื้อสีส้ม ส่วนผู้ใหญ่บ้านใส่เสื้อสีฟ้า ป้าบัวและพี่วิไลวรรณอยู่ด้านข้างค่ะ


.....หลวงพี่จึงให้พี่สำราญนำฉัตรที่ "น้องหมี และ น้องใหม่" ถวายมา ปรากฏว่าแขวนบูชารอยพระพุทธบาทได้พอเหมาะพอดี พร้อมกับถวายกรวยเงินกรวยทอง และนำผ้าสไบทองห่มไว้โดยรอบด้วย เสร็จพิธีแล้วจึงถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ขากลับได้เดินไปดูก้อนหินคล้าย "เต่าหินยักษ์" ตัวใหญ่มาก แล้วแยกย้ายกันเดินทางกลับ หลวงพี่ได้มอบของที่ระลึกให้ คือมอบหนังสือตามรอยฯ เล่ม ๑ ให้คุณลุงธเนศ และพวกเรามอบปัจจัยให้แก่ป้าบัวด้วย.



(เชิญชม "คลิปวีดีโอ" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)


◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 7/6/10 at 08:14


๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (อำนาจเจริญ - มุกดาหาร)

๓. รอยพระพุทธบาท "ภูฮัง" บ้านนาคำน้อย ๒ หมู่ ๖ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร
๔. รอยพระพุทธบาท "ร่มธรรมบรรพต" (วัดภูฮัง ๔) บ้านร่มเกล้าหมู่ ๓ ต.ร่มเกล้า อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
๕. รอยพระพุทธบาท "ภูผาแดง" บ้านหนองนกเขียน หมู่ ๔ ต.ร่มเกล้า อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
๖. รอยพระพุทธบาท "วัดภูด่านสูง" (วัดหนองลำดวน) ม. ๙ ต. โชคชัย อ. นิคมคำสร้อย จ. มุกดาหาร
๗. วัดภูเก้า (ใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าภูผาแดง) บ.คำนางโคก ต.ร่มเกล้า อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
๘. รอยพระพุทธบาท "วัดถ้ำนกแอ่น" บ้านห้วยทราย ม. ๙ ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ. มุกดาหาร




๓. รอยพระพุทธบาท "ภูฮัง" บ้านนาคำน้อย ๒ หมู่ ๖ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร (พบใหม่ ลำดับที่ 609)

.....ตามความเป็นจริงแล้ว ดังที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่า เรื่องการค้นหารอยพระพุทธบาทุ หลวงพี่มีข้อมูลก่อนการเดินทางอยู่ในมือแล้ว แต่ตอนนี้จะเริ่มมีข้อมูลเพิ่มมาอีก แบบกระทันหันไม่ทันรู้ตัว เนื่องจากว่าระหว่างเดินทางเมื่อวานนี้หลวงพีได้โทรศัทพ์แจ้งไปทาง "ทิดแก้ว" (เจ้าของแบบพิมพ์พระใหญ่) เรื่องที่จะไปเทองค์พระที่วัดของพระอาจารย์อารีย์ วัดป่าเทพนิมิต อ.นาแก จ.มุกดาหาร จะไปถึงประมาณวันที่ ๑๒ พ.ค.

.....ปรากฏว่าในคืนนั้นท่านอาจารย์ประทักษ์ (ตุ๋ย) จ.สกลนคร ทราบข่าวจากพระอาจารย์อารี ว่าหลวงพี่เดินทางมาถึงมุกดาหารแล้ว ท่านจึงได้โทรศัพท์หาหลวงพี่ บอกว่ายังมีรอยพระพุทธบาทอยู่ที่ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร ขอให้หลวงพี่ย้อนกลับมาประมาณ ๒๐ กว่ากิโลเท่านั้น

.....และขอเลื่อนการเดินทางไปเทองค์พระใหญ่ออกไปอีก ความจริงเมื่อปีที่แล้ว หลวงพี่เคยมาสำรวจแถวนี้บ้างแล้ว ตามที่ท่านอาจารย์ตุ๋ยแจ้งข้อมูลไปให้ทราบ แต่หลวงพี่ก็หาพบบ้างไม่พบบ้าง ถือว่ายังมีงานค้างอยู่ ท่านจึงถือโอกาสเคลียงานแถวนี้ให้เสร็จสิ้นไปทีเดียวกันเลย


ด้วยเหตุนี้ เช้าวันที่ ๑๐ พ.ค. พวกเราจึงต้องย้อนกลับไปตามจุดนัดพบ แล้วเลี้ยวขวาตรงข้ามสถานีตำรวจคำป่าหลาย เข้าไปตามป้ายบอก "วัดพระบาทภูฮัง" (ภูรัง = ภูเขาที่มีต้นรัง) ระยะทาง ๕ ก.ม. ถึงบ้านนาคำน้อย ๒ จึงได้พบท่านอาจารย์ตุ๋ย และสามเณรน้อยองค์หนึ่งที่มาด้วยกำลังนั่งฉันเช้าอยู่ในศาลา โดยมีชาวบ้านหญิงชายมาถวายอาหารกันหลายคน

เมื่อได้พบกันแล้ว ท่านอาจารย์ตุ๋ยบอกว่าต้องตีรถมาจาก อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เพิ่งมาถึงตอนตี ๕ นี่เอง พอมาถึงก็ไม่เจอใคร เจ้าอาวาสก็ไม่อยู่ รอจนถึงเวลาสว่างแล้ว จึงได้เคาะระฆังส่งสัญญาณบอกชาวบ้านแถวนั้น เมื่อชาวบ้านที่อยู่ตามป่าเขาบริเวณนั้นได้ยิน จะเป็นที่รู้กันว่าต้องนำอาหารมาถวายพระกัน นี่เป็นประเพณีที่เขามีน้ำใจกับพระสงฆ์ในถิ่นทุรกันดาร


หลังจากนั้นทายกของวัดนี้พร้อมกับชาวบ้านหลายคน ได้เดินนำทางไปข้างหลังวัด มองเห็นศาลาหลังหนึ่ง ภายในมีรอยหลายรอย แต่เท่าที่มองเห็นเป็นร่องน้ำ มีลักษณะเป็นหลุมกลมเล็กๆ แต่ที่เด่นชัดคือรอยพระพุทธบาทใหญ่ (ประเภทไม่มีรอยนิ้ว) อยู่รอยหนึ่ง โดยมีฉัตรใหญ่สีทองแขวนห้อยอยู่บนเพดานหลังคา

สำหรับสถานที่แห่งนี้ เดิมชาวบ้านได้พบเห็นมานานแล้ว แต่พอกาลเวลาผ่านไปนานๆ สภาพวัดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง รอยพระพุทธบาทก็ถูกดินและใบไม้ปกคลุม ภายหลังไม่มีใครรู้ว่ารอยพระพุทธบาทนั้นอยู่ที่ไหน หลวงพี่จึงขอให้ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟัง


(ภาพนี้จะเห็นงูยังอยู่ในรอยพระบาท)

ชาวบ้านคนนี้เล่าว่า ตนเป็นลูกของ พ่อพิมษ์ ศรีจันดา ปัจจุบันคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้ว พ่อพิมษ์ ศรีจันดา ได้มาพบรอยพระพุทธบาทตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ขณะมาเลี้ยงควายแถวนี้ ต่อจากนั้นก็เงียบหายไป ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๕ มีพระมาตั้งสำนักสงฆ์ ปีพ.ศ. ๒๕๒๒ อาจารย์พยุงได้นั่งสมาธิเห็นว่ารอยพระพุทธบาทอยู่ตรงนี้จึงไปหาดูก็เจอมีดินกลบอยู่

ในขณะที่พวกเราไปถึง มองเห็นงูตัวน้อยอยู่ในรอยนี้ด้วย จึงได้ทำความสะอาดบริเวณนั้น หลังจากหลวงพี่ทำพิธีบวงสรวง เพื่ออธิษฐานให้อาณาเขตนี้ จงเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนาตลอด ๕,๐๐๐ ปีแล้ว จึงได้โปรยดอกไม้ สรงน้ำหอม และถวายผ้าสีทอง และฉัตรเงินฉัตรทองที่ถวายมาจากชัยภูมิด้วย


ส่วนงูน้อยก็ไม่ยอมถอยไปไหน พวกเราได้ถ่ายรูปกับชาวบ้านเป็นที่ระลึกแล้ว ท่านอาจารย์ตุ๋ยได้นำไปสำรวจรอยพระพุทธบาทตามข้อมูลของท่านต่อไป ก่อนจะกลับหลวงพี่และคณะได้ทำบุญร่วมสร้างทุกอย่าง ๒,๐๐๐ บาท (ศาลาครอบรอยพระพุทธบาท, สร้างองค์พระหน้าตัก ๕ เมตร) โดยฝากไว้กับทายกของวัดพระบาทภูฮัง



๔. รอยพระพุทธบาท "ร่มธรรมบรรพต" บ้านโคกร่มเกล้า หมู่ ๓ ต.ร่มเกล้า อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร (พบใหม่ ลำดับที่ 610)

เช้าวันนี้ถือเป็นนิมิตดี คืออากาศไม่ร้อน ท้องฟ้ามืดคลึ้ม อากาศเย็นสบาย การเดินทางสะดวก เนื่องจากมีผู้ทำอีสาณให้เขียวขึ้นมาได้จริงๆ ดูจะเจริญกว่าภาคอื่นๆ ไปแล้ว ถึงแม้รถจะวิ่งไปตามถนนลาดยางก็ตาม แต่ก็ต้องวิ่งผ่านถนนลูกรังไปในขณะที่จะเข้าไปถึงรอยพระพุทธบาท บางแห่งสูงชันต้องใช้เกียร์โฟร์วิลขยับขึ้นไป พวกเรานั่งรถตามรถกระบะท่านอาจารย์ตุ๋ยที่มาพร้อมกับสามเณรต่อไป ท่านได้แวะที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านชื่อว่า "ผู้ใหญ่ทองดา ชัยแสง" ได้นั่งรถเครื่องซ้อนเอาภรรยาคือ นางธุลี ชัยแสง นำทางไปด้วย


สำหรับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ในป่าบนเชิงเขา ต้องเข้าทางด้านหลังของสำนักสงฆ์ "ร่มธรรมบรรพต" พระอาจารย์ตุ๋ยเล่าว่า เมื่อ ๒ ปีก่อน ได้มาเข้าปริวาสที่หลังวัดแห่งนี้ แล้วได้มาพบรอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนเชิงเขา อยู่บนหน้าผาสูง มองลงไปจะเห็นทิวเขาอยู่เบื้องล่าง แต่วันนี้อากาศไม่ปลอดโปร่ง เพราะสายฝนโปรยปรายลงมาเรื่อยๆ


จึงขอเล่าเหตุการณ์พิเศษว่า ในขณะเดินทางอากาศก็ปกติดี แต่หลังจากขับรถมาทางด้านหลังสำนักสงฆ์ จะพบศาลาหลังหนึ่ง เดิมมีพระอาศัยอยู่ จึงให้ชื่อว่า "วัดภูฮัง ๔" แต่ตอนนี้ร้างไปแล้ว พอเลี้ยวรถเข้ามามีฝนปรอยลงมาทันที และฝนค่อยตกหนักขึ้น พร้อมทั้งมีฟ้าร้องคำราม เสียงดังครืนครานตลอดเวลา ขณะกราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาททั้งสองรอยแรก และรอยที่ห่างออกไป พอกราบไหว้บูชาเสร็จฝนหายเป็นปลิดทิ้งเลย นับว่าอัศจรรย์จริงๆ


หลังจากกราบไหว้บูชาเสร็จแล้ว นึกว่ามีอยู่เพียงแค่นี้ แต่ที่ไหนได้เขาพาเดินกลับมาอีกด้านหนึ่ง มองไปข้างหน้าจะเห็นโขดหินใหญ่


โชคดีจริงๆ ได้ไปกราบอีกรอยหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก (รอยนี้ "พระอาจารย์เจ๊ก" มาพบในขณะนั่งสมาธิ และได้เห็นดวงไฟลอยขึ้นมา เป็นรอยพระพุทธบาทรอยเล็ก แต่สวยสดงดงามตามธรรมชาติมาก)


หลวงพี่จึงสั่งให้คุณปุ๋มถ่ายรูปไว้โดยรอบ เพราะสังเกตได้ว่าน่าจะเป็นก้อนหินที่ประทับนั่งก่อน แล้วจึงประทับรอยพระพุทธบาทเอาไว้


พวกเราทุกคนรู้สึกตื่นเต้น ต่างก็ปีนขึ้นไปถึงข้างบน ได้ช่วยกันทำความสะอาดปัดกวาดเครื่องบูชาที่เก่าๆ ออกไป แล้วจึงได้เห็นรอยนิ้วได้ชัดเจน


หลังจากกราบไว้บูชาเสร็จแล้ว ผู้ใหญ่บ้านพร้อมภรรยาได้นำทาง โดยการย้อนออกมาจากด้านหลังสำนักสงฆ์ "ร่มธรรมบรรพต" แล้ววิ่งผ่านไร่ยางพารา และไร่มันสัมปะหลังกันต่อไป แต่ต้องวิ่งลึกเข้าไปในป่าเรื่อยๆ ซึ่งชาวบ้านได้หักร้างถางพงเป็นไร่ไปหมดสิ้นแล้ว ทำจนกระทั่งชนภูเขากันไปเลย



๕. รอยพระพุทธบาท "ภูผาแดง" บ้านหนองนกเขียน หมู่ ๔ ต.ร่มเกล้า อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร (พบใหม่ ลำดับที่ 611)


ขณะนี้เป็นเวลา ๑๐.๐๐ น. ผู้ใหญ่บ้านควบรถเครื่องลัดเลาะไปตามทางลูกรัง ซึ่งรถ Adventure ของเรายังตามไม่ทัน แต่รถกระบะท่านอาจารย์ตุ๋ยนำหน้าไปก่อน ฝุ่นไม่มีเลย เพราะฝนช่วยนั่นเอง เดินทางต่อไปถึงภูเขาที่เห็นเบื้องหน้า เรียกกันว่า "ภูผาแดง" ระยะทาง ๓ กิโลเมตร

เราขับรถไปได้ค่อนทางต้องจอดทิ้งไว้ แล้วเดินเท้าต่อ ฝนเพิ่งหยุดตก ถนนก็แคบ เป็นหลุมเป็นบ่อ มองเห็นภูผาแดงข้างหน้า แต่ผู้ใหญ่บ้านที่นำไปบอกว่า ที่บริเวณนี้เป็นไร่ของตนเองที่อยู่ติดกับภูเขา แต่รอยเท้านี้อยู่ตรงเชิงเขา ได้พบเห็นกันมานานแล้ว จากนั้นสองสามีภรรยาก็เดินนำหน้าต่อไป


(มองภาพไกลตรงตำแหน่งที่มีรอยเท้าอยู่ จะเห็นเณรตัวเล็กเดินเร็วกว่าไปถึงก่อนใคร)

ตอนนี้ใกล้เพลแล้ว พวกเรารู้สึกหนักใจ เพราะไม่ได้เตรียมอาหารเพลมาด้วย เหมือนกับทุกๆ วันที่เคยจัดซื้อในตลาดไว้ก่อน เนื่องจากนึกไม่ถึงว่าจะเข้ามาในไร่ในป่าลึก จะออกไปหาซื้ออาหารคงไม่ทัน แต่หลวงพี่บอกว่าไม่เป็นไร หากไม่ทันจริงๆ เอาเสบียงเครื่องกระป๋องที่เราเตรียมมาจากวัดออกจัดการได้เลย พวกเราได้ยินค่อยอุ่นใจขึ้นมาบ้าง


พวกเราโชคดีถึงแม้จะใกล้เพลแล้ว แต่อากาศตอนนี้ยังดีมากไม่มีแดดเลย รอยพระบาทอยู่ที่เชิงเขา (ก้อนหินที่ผาเป็นสีแดงลูกรัง จึงเรียกว่า "ภูผาแดง") ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า รอยเท้านี้มีพระธุดงค์มาพบก่อนแล้ว ได้ไปบอกชาวบ้านต่างก็มาดูกัน นายทองดาก็มาดูตอนอายุ ๑๕ ปี ตอนนี้ ๕๕ ปี นับเป็นเวลา ๔๐ ปี


ตอนที่พบใหม่ๆ รอยเท้าเห็นชัดเจนมาก มีรอยนิ้วและรอยปลิ้นขึ้นที่ขอบเท้า มีขนาดใหญ่มาก พวกเราวัดได้ความกว้าง ๔๓ ซ.ม. ยาว ๘๗ ซ.ม. แต่ปัจจุบันนี้รอยลางเลือนไปมาก เนื่องจากมีพระมาทุบก้อนหินที่ขอบๆ พระบาท เพื่อนำไปเป็นมวลสารวัตถุมงคล นับว่าเป็นการกระทำตามความเชื่อที่ขาดวิจารณญาณเป็นอย่างมาก



(ภาพถ่ายไกลๆ จะเห็นรูปร่างของก้อนหิน มีลักษณะกว้างแบนเรียบ อยู่ในป่าเป็นธรรมชาติจริงๆ)

ในขณะที่หลวงพี่ก้มลงกราบนั้น มีเหตุอัศจรรย์ฟ้าร้องคำรามเสียงดังลั่น จากนั้นได้ถ่ายภาพกันเป็นที่ระลึก ซึ่งคุณปุ๋มพยายามถ่ายภาพให้เห็นทุกแง่ทุกมุม จะเห็นรอยหินปลิ้นที่ยังพอเหลืออยู่บ้าง เสร็จพิธีแล้วจึงไปฉันเพลที่ห้างนา
เพราะถ้าออกไปที่ถนนใหญ่ระยะทาง ๑๕ ก.ม. ฉันเพลไม่ทัน จึงนำเสบียงเป็นอาหารกระป๋อง พอเหมาะพอดีสำหรับพระ ๒ องค์ เณร ๑ องค์ และฆราวาสที่ติดตาม พร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านสอยมะม่วงที่ขึ้นอยู่ข้างกระต๊อบมาให้ทานกันอีกด้วย ปรากฏว่ารสชาติอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ



๖. รอยพระพุทธบาท "วัดภูด่านสูง" (วัดหนองลำดวน) ม. ๙ ต. โชคชัย อ. นิคมคำสร้อย จ. มุกดาหาร (พบใหม่ ลำดับที่ 612)

.....สภาพบรรยากาศที่เช่นนี้ คงยากที่จะลืมเลือนได้ เพราะเป็นเหมือนกับได้ออกธุดงค์ไปกับหลวงพี่จริงๆ เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปเอาไว้ เพราะช่างภาพของเราก็หิวเหมือนกัน เครื่องกระป๋องต่างๆ มีข้าวกระป๋องและอาหารกระป๋องหมดเรียบ นับว่าช่วยเซฟชีวิตเอาไว้ได้ไปมื้อหนึ่ง


เมื่อร่างกายมีเรี่ยวแรงดีแล้ว อดีตผู้ใหญ่บ้านและภรรยาที่แสนดี ต่างก็มีน้ำใจขับรถเครื่องนำไปเป็นที่สุดท้าย เพราะบอกว่าที่นั่นก็มีรอยพระพุทธบาทเหมือนกัน แต่พอรถวิ่งเข้าไปกลับไม่เจอเจ้าอาวาส พบแต่คุณพี่ผู้ชายคนหนึ่ง บอกว่าเป็นทายกวัดที่นี่ จึงสอบถามเรื่องรอยพระพุทธบาท ปรากฏว่าอยู่ภายในศาลาแห่งนี้ ซึ่งทางวัดได้ก่อปูนกั้นทำลูกกรงล้อมรอบไว้ พร้อมทั้งนำลวดหนามมากั้นและล็อคกุญแจไว้ ทำให้พวกเราไม่สามารถเข้าไปได้


ทายกชาวสุพรรณบุรีผู้ใจดี จึงอาสาปีนเข้าไปข้างในช่วยทำความสะอาดให้ จึงมองเห็นรอยพระพุทธบาทได้อย่างชัดเจน เป็นรอยพระบาทที่ใหญ่มาก เป็นรอยที่ไม่มีนิ้วเท้า แต่มีคนไปแกะสลักให้มีนิ้วเท้า นับว่าเป็นการทำดีที่ไม่ถูกดีจริงๆ พวกเราส่งเครื่องบูชาเข้าไปถวาย มีฉัตรครอบรอบพระบาท กรวยเงิน และกรวยทอง ทายกคนนี้เล่าว่า ก่อนจะพบรอยพระบาท มีลูกศิษย์คนหนึ่งของ "หลวงปู่เสถียร" หรือ "หลวงปู่นอย" ฝันว่ามีรอยพระบาท ประมาณปี ๒๕๔๘ จึงค้นพบรอยพระพุทธบาท



๗. รอยพระพุทธบาท "วัดภูเก้า" บ.คำนางโคก ต.ร่มเกล้า อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร (พบใหม่ ลำดับที่ 613)


ความจริงสถานที่แห่งนี้ หลวงพี่เคยเดินทางมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2552 แต่ก็หารอยพระบาทไม่พอ จนกระทั่งต้องให้ท่านอาจารย์ตุ๋ยนำมานี่แหละ วัดภูเก้าอยู่ใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าภูผาแดง เป็นพระสายธรรมยุติ จะต้องเดินขึ้นทางข้างศาลาหน้าวัด ขึ้นเขาสูงมากใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เดินผ่านหน้าผามีพระนอนองค์ใหญ่ทาสีทอง หลวงพี่ได้แวะพักและเข้าไปกราบ จากนั้นก็เดินลงไปทางหลังเขาอีกไกล ในไม่ช้าก็ถึงกุฏิหลังหนึ่งอยู่กลางป่า ด้านหน้ากุฏิมีบ่อน้ำทิพย์หลายบ่อ จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดภูเก้า"


สถานที่นี้ท่านอาจารย์ตุ๋ยได้แจ้งหลวงพี่ พร้อมกับถ่ายภาพส่งไปให้นานแล้ว แต่ก็เพิ่งจะได้มาสำรวจ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับสถานที่อื่นที่มีรอยพระพุทธบาทเช่นกัน คือ มีหลุมมีบ่อมากมาย บางหลุมก็มีน้ำขัง บางหลุมก็กลม บางหลุมก็มีลักษณะคล้ายรอยพระพุทธบาท



๘. รอยพระพุทธบาท "วัดถ้ำนกแอ่น" บ้านห้วยทราย ม. ๙ ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ. มุกดาหาร (พบใหม่ ลำดับที่ 614)


รถ Adventure ผจญภัย "ตามรอยพระพุทธบาท" มีหน้าที่เดินทางค้นหาไปทั่วทุกภาคของประเทศ ถ้าจะนับเริ่มแรกเมื่อปี ๒๕๓๖ - ๒๕๕๓ นับเวลาเท่ากับอายุของคน ตอนนี้มีอายุได้ ๑๗ ปีแล้ว ติดตามเท่าไรก็ยังไม่หมดสักที สำหรับสถานที่นี้ก็เหมือนกัน เมื่อรถเข้าไปถึงแล้วเดินขึ้นบันได ซึ่งมองเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีทองอยู่ข้างบน ท่านเจ้าอาวาสวัดถ้ำนกแอ่นได้ออกมาต้อนรับ


ท่านมีชื่อว่า พระอาจารย์วิรุฬห์ รวิวัณโน (อาจารย์แก้ว ที่ได้ลาสิกขาแล้ว พร้อมกับอาจารย์หลอด มาหล่อพระและได้พบรอยพระพุทธบาทเป็นคนแรก เมื่อปี ๒๕๕๐) ท่านได้เดินนำขึ้นไปบนศาลาแล้วเดินต่อไปเข้าไปในป่าด้านหลังวัด บนนี้จะเห็นผลาญหินใหญ่ มีพระพุทธรูปองค์เล็กวางอยู่พร้อมเครื่องบูชามากมาย


ท่านเล่าว่าบริเวณนี้มีคนเห็นดวงไฟลอยไปในยามค่ำคืนอยู่เสมอ เมื่อก่อนนี้มีพระมาอาศัยอยู่ แต่ก็อยู่ไม่ได้ บางองค์ก็ถูกผีหลอก บางองค์ก็มีเหตุให้ต้องไปเสียเป็นส่วนมาก เนื่องจากสถานที่นี้เจ้าที่แรงมาก ท่านเองก็ต้องอดทน จนกระทั่งได้พบกับรอยพระพุทธบาท แต่ท่านเป็นพระสายธรรมยุติ ได้แต่เก็บความเชื่อไว้ในใจ แต่ก็อาจจะยังไม่เต็มร้อย ต่อเมื่อได้พบกับหลวงพี่และได้รับทราบข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะการเสี่ยงทายก็ได้เห็นชัดเจน จึงทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว


หลวงพี่จึงได้ทำพิธีบวงสรวงกราบไหว้บูชา และเสี่ยงทายไม้วา (เจ้าอาวาสตื่นเต้นกับการเสี่ยงทายไม้วาเป็นอย่างมาก แม้หลวงพี่ยังขนลุกเลยเป็นที่อัศจรรย์) เป็นรอยพระบาทที่ไม่มีนิ้ว ขนาดของพระบาท กว้าง ๓๕ ซ.ม. ยาว ๗๔ ซ.ม. จึงได้โปรยดอกไม้และปิดทองเป็นการบูชา


หลังเสร็จพิธีกำลังจะเดินกลับ หลวงพี่วิรุฬห์ได้พาไปดูรอยพระบาทอีก ๒ รอย ซึ่งท่านได้ปกปิดเอาไว้ หลังจากที่ได้พบแล้ว ซึ่งมีลักษณะสวยงามตามธรรมชาติมาก หลวงพี่เล่าว่าก่อนจะพบ มีเสียงมาบอกให้ไปดูและมีดวงไฟลอยขึ้น


หลวงพี่ได้มาค้นพบเองเมื่อประมาณปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒ เป็นรอยพระบาทคู่เกือกแก้ว ขนาดของรอยพระบาทใหญ่ กว้าง ๑๗ ซ.ม ยาว ๔๒ ซ.ม รอยเล็ก กว้าง ๑๔ ซ.ม ยาว ๒๙ ซ.ม ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก ก่อนจะกลับหลวงพี่ได้ถวายหนังสือตามรอยฯ เล่ม ๑-๔ พร้อมด้วยย่าม ๑ ใบ และทำบุญทุกอย่าง ๑,๐๐๐ บาท


จากนั้นท่านได้พาเดินกลับลงมาที่ศาลาข้างล่าง แล้วชี้ภาพไปที่ข้างฝาศาลา จะเห็นรูปถ่ายจาก google มีผู้ส่งมาจากเมืองนอกบอกว่า ฝรั่งได้มองภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณนี้แล้วพบว่า มีลักษณะเป็นดวงตา จมูก มองดูภาพรวมแล้วคล้ายกับว่า วัดนี้อยู่ตรงปากพญานาคพอดี แล้วพวกเราได้กราบลาท่าน ตอนขากลับมีฝนตกลงมาด้วย.



(เชิญชม "คลิปวีดีโอ" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)

◄ll กลับสู่สารบัญ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


webmaster - 9/6/10 at 06:48


(Update 09-06-53)

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓

๙. วัดป่าเทพนิมิต ต. นาคู่ อ. นาแก จ. นครพนม
๑๐. พระพุทธบาท "วัดถ้ำพระฤาษี" บ้างวังเวียง ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์
๑๑. สำนักสงฆ์ "พระพุทธบาทน้ำทิพย์" ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร
๑๒. พระพุทธบาท "วัดดอยเทพเนรมิต" (เขื่อนน้ำอูน) บ้านนาเชือก ต. แร่ อ.พังโคน จ. สกลนคร (พบใหม่ ลำดับที่ 615)




๙. วัดป่าเทพนิมิต ต. นาคู่ อ. นาแก จ. นครพนม (มุกดาหาร - นครพนม)

.....วันที่ ๑๐ พ.ค. หลวงพี่เดินทางจากมุกดาหารมาถึง อ.นาแก จ.นครพนม ไม่ได้ไปทางพระธาตุพนม แต่ไปยืนที่สะพานข้าม "บ้านแก่งโพธิ" ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ตามที่เคยเดินลงไปไหว้รอยพระพุทธบาทที่อยู่กลางลำน้ำก่ำ (ใกล้สะพาน) มาแล้ว เมื่อปี ๒๕๔๘ ซึ่งตอนนั้นน้ำแห้งเดินลงไปได้ แต่ปัจจุบันนี้มีการสร้างเขื่อนน้ำก่ำ จึงทำให้บริเวณนี้มีน้ำขึ้นสูง ไม่สามารถมองเห็นรอยพระพุทธบาทได้เหมือนเดิมแล้ว



(พระพุทธรูปใหญ่ หน้าตัก ๓๐ ศอก สร้างเป็นองค์ที่ ๒ (องค์แรกสร้างที่ วัดหัวถนน ต.สะเดา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา)


ตอนเช้าวันที่ ๑๑ พ.ค. นี้ หลวงพี่เดินทางไปฉันเช้าที่วัดป่าเทพนิมิต ได้พบกับท่านอาจารย์อารีและท่านผู้กำกับสถานีตำรวจนาแกให้การต้อนรับ โดยภรรยาและลูกสาวของท่านผู้กำกับ พร้อมด้วยชาวบ้านช่วยทำกับข้าวถวายหลวงพี่และเลี้ยงพวกเราด้วย หลังจากท่านฉันเช้าแล้ว พวกเราได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุทำบุญสร้างพระ มีรายละเอียดดังนี้
- หลวงพี่ทำบุญ ๑๕,๐๐๐ บาท
- คุณมายิน - คุณบุญชู เดียวสุรินทร์ และครอบครัว ๑๑,๔๐๐ บาท
- คุณนารี และ คุณสายสมร พร้อมครอบครัว ๑๐,๖๖๐ บาท
- หลวงพี่แจกคนงานก่อสร้างองค์พระ ๑,๘๐๐ บาท
รวมเป็นเงิน ๓๘,๙๖๐ บาท


เวลา ๐๘.๐๐ น. หลวงพี่ได้จุดธูปเทียนบวงสรวง โดยพระอาจารย์อารีได้เตรียมไว้แล้ว มีการสมาทานศีลก่อน แล้วหลวงพี่ได้ปีนขึ้นไปเทองค์พระ พระสงฆ์สวดชยันโตตลอดเวลา โดยมีชาวบ้านมาเข้าแถวร่วมเทปูนด้วย ความจริงเขาเทกันไปแล้ว แต่ทางวัดได้ขอให้ช่างก่ออิฐช่วงหน้าอกองค์พระ เพื่อให้หลวงพี่ได้มีโอกาสได้เทปูนด้วยมือของท่าน ท่ามกลางอากาศที่ปลอดโปร่ง พระอาจารย์อารีบอกว่า ความจริงอากาศครึ้มมาได้สองสามวันแล้ว


ส่วนการส่งถังปูนซีเมนต์ขึ้นไปนั้น พวกเราได้ยืนส่งถังปูนกันข้างล่าง แล้วนำมาแขวนไว้ที่ตะขอพ่วง จากนั้นกดสวิชมอเตอร์ใช้รอกชักดึงขึ้นไปทางช่องใต้ฐานพระ ตามที่เห็นในรูปภาพนี้แหละ นับว่าเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาจริงๆ



หลวงพี่ได้ขึ้นไปเทองค์พระเสร็จ ประมาณ ๑๐ โมงเศษ ท่านจึงไปกราบรอยพระบาทที่ "สำนักสงฆ์จอมศรีเทพสถิต" ซึ่งพระอาจารย์อารีแจ้งว่าพบรอยพระพุทธบาทใหม่ แต่ก็ไปไม่ได้เพราะต้องเดินขึ้นเขาไปอีกไกล เกรงว่าจะกลับมาฉันเพลไม่ทัน จึงต้องยกเลิกไป



(หลังจากขึ้นไปเทปูนบนองค์พระ มีเจ้าหน้าที่อบต.ท่านหนึ่งช่วยทำความสะอาดเท้าให้หลวงพี่)

เมื่อฉันเพลที่วัดป่าเทพนิมิตแล้ว หลวงพี่ได้สนทนากับญาติโยมเป็นที่สนุกสนาน มีโยมบอกว่า
ท่านคุยสนุกไม่อยากให้ท่านกลับ พอหลวงพี่ลากลับโยมบอกว่า “คิดฮอดหลายเด้อ..!”




๑๐. "รอยพระพุทธบาท" วัดถ้ำพระฤาษี บ้างวังเวียง ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ (นาแก - นาคู)

......สำหรับสถานที่นี้อีกเช่นกัน คือมีการลงข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว ปรากฏว่ามีชื่ออยู่ในบัญชี หมายถึงหลวงพี่เคยเดินทางไปสำรวจมาแล้วหลายปี แต่ที่เป็นข่าวเนื่องจากมีการพบรอยใหม่ จากพระที่มาเป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่ ส่วนองค์ก่อนได้ไปอยู่ที่อื่นแล้ว รายละเอียดที่เป็นข่าวใน น.ส.พ.เดลินิวส์ : วันอังคาร ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๓ มีดังนี้

พบรอยพระพุทธบาทกลางลานหิน
วนอุทยานภูแฝก กาฬสินธุ์ อายุกว่า 1,100 ปี



เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายไพรโรจน์ เพชรสังหาร วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ได้เข้าตรวจสอบรอยพระพุทธบาท บริเวณลานหิน ในวัดถ้ำพระฤาษีวิปัสนาธรรม บ้านวังเวียง ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ที่ตั้งอยู่กลางวนอุทยานภูแฝก โดยมี พระอาจารย์น้อย ถิรวโส เจ้าอาวาสวัดป่าถ้ำพระฤาษี นายพิพิธ ภาระบุญ นายอำเภอนาคู และชาวบ้านจำนวนมากเดินทางมาเฝ้าสังเกตุการณ์

พระอาจารย์น้อย ถิรวโส เจ้าอาวาสวัดป่าถ้ำพระฤาษี อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พบรอยพระพุทธบาท และสิ่งมีค่าอื่น ๆ หลายรายการโดยบังเอิญ ขณะทำวิปัสสนาอยู่บริเวณลานหิน จึงได้นำน้ำมาลาดดู พบเป็นรอยที่เด่นชัด จึงแจ้งไปยังอำเภอนาคูให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายมาดู รวมทั้งสำนักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด ได้เข้ามาทำการตรวจสอบ และชี้ชัดว่า เป็นโบราณสถานจริง แต่โบราณสถานแห่งนี้ กลับยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนใด ๆ เลย

ด้าน นายไพโรจน์ เพชรสังหาร วัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า รอยพระพุทธบาทที่พบนั้น มีขนาดความยาว 60 ซม. กว้าง 30 ซม. นิ้วเท้าทั้ง 5 เรียงเท่ากัน น่าจะมีอายุประมาณ 1,100 ปี เป็นลักษณะขนาดเท่ากันกับที่พบก่อนหน้าที่ที่บริเวณภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้ว เบื้องต้นได้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อดำเนินการดูแลรักษาตามมาตรการรักษาความปลอดภัย การให้ความรู้กับชาวบ้านในการดูแลรักษามรดกมีค่านี้ไว้ให้ดี ป้องกันการมาทำลายจากผู้ไม่หวังดี.


น.ส.พ.เดลินิวส์ : วันอังคาร ที่ 30 มีนาคม 2553

......รถได้วิ่งตามถนนสายนาแก - นาคู ท่านอาจารย์ตุ๋ยได้แวะรับท่านอาจารย์สุพจน์ที่วัดป่าโคกกลาง อ.เต่างอย จ.สกลนคร บรรยายกาศวันนี้อากาศเริ่มร้อนอบอ้าวเหมือนเดิม หลังจากมืดครึ้มมาได้สองวัน ซึ่งบางช่วงฝนตกลงมาบ้าง รถวิ่งเข้ามาในวัดพระฤาษี พบกับเจ้าอาวาสองค์ใหม่ เป็นคนภาคกลาง แต่มาอยู่ที่นี่ได้ ๓-๔ ปีแล้ว


หลวงพี่ได้เล่าเรื่องที่ท่านเคยมาสำรวจที่นี่แล้ว แต่ได้พบกับพระรูปก่อน จึงได้ถวายหนังสือตามรอยพระบาท เล่ม ๑-๔ พร้อมกับย่าม ๑ ใบ และทางวัดกำลังสร้างศาลาและอื่นๆ อีกมาก จึงได้ร่วมทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท ต่อจากนั้นท่านได้เดินนำไปสำรวจรอยพระพุทธบาท ซึ่งเจ้าอาวาสท่านได้บอกว่า รอยนี้เป็นรอยที่พบใหม่ พวกเรามองเห็นศาลาที่ถูกลมพัดลงล้มพังลงไป ท่านบอกว่ากำลังจะวางศิลาฤกษ์สร้างใหม่

แต่กรมศิลปากรไม่อนุญาต ทั้งๆ ที่ทางวัดเพิ่งแจ้งเรื่องให้เป็นเขตดูแลของกรมศิลปากร แต่พอกรมศิลปากรเป็นเจ้าของ ตามกฏหมายเจ้าอาวาสจึงหมดสิทธิ์ด้วยเหตุฉะนี้ หลวงพี่บอกว่าท่านรู้เรื่องแบบนี้ เคยเห็นมาหลายแห่งแล้ว ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ท่านก็เสียใจเหมือนกัน แต่จำเป็นต้องทำให้เป็นข่าว เพราะตอนแรกที่ท่านมาอยู่ใหม่ๆ ชาวบ้านไม่ค่อยต้อนรับ ท่านจึงทำเรื่องให้เป็นเขตของกรมศิลปากร ทางจังหวัดจึงเข้ามาดูแลด้วย


หลวงพี่ได้เข้าไปสำรวจ แต่น้ำขังมองเห็นรอยพระพุทธบาทไม่ชัดเจน พวกเราได้เข้าไปทำความสะอาด พร้อมกับนำฉัตรที่ "น้องหมี-ใหม่" ถวายมาจากชัยภูมิ จากนั้นหลวงพี่, เจ้าอาวาส, หลวงพี่ตุ๋ย, หลวงพี่สุพจน์ ได้ทำพิธีบวงสรวง


เสร็จพิธีแล้ว เจ้าอาวาสได้เดินนำไปที่รอยพระพุทธบาทที่เห็นชัดเจนเป็นรอยนิ้วเท้า ปรากฏว่าเป็นการแกะสลักมาแต่โบราณแล้ว พร้อมทั้งมีการแกะสลักไว้ตามหินใกล้ๆ บริเวณนั้นอีก ซึ่งกรมศิลปากรนำก้อนหินไปพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่ามีอายุเก่าแก่มาก ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างรูปปั้นพญานาคกำลังเลื้อยอยู่บนผลาญหินหลายตัว


ต่อจากนั้น ได้เดินขึ้นไปบนก้อนหินใหญ่ มีพระองค์ก่อนปลูกกุฏิอยู่หลังหนึ่งนานแล้ว ปรากฏว่าอยู่สูงกว่ารอยพระบาท จึงเป็นเหตุให้อยู่ไม่ได้ เนื่องจากขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ ตามรูปภาพจะเห็นน้ำขังในรอยพระพุทธบาท (เกือกแก้ว) ซึ่งหลวงพี่ได้เคยมาสำรวจในบริเวณนี้แล้ว



๑๑. สำนักสงฆ์ "พระพุทธบาทน้ำทิพย์" ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร (นาคู - กุดบาก - เขื่อนน้ำอูน)


(ภาพจาก : buddhapoem.com)


พวกเราออกเดินทางต่อไป โดยมีจุดมุ่งหมายที่ "เขื่อนน้ำอูน" (ตามข้อมูลล่าสุดจากหลวงพี่ตุ๋ยบอกว่า ท่านได้ทราบจากพระที่อื่นว่า ต้องลงเรือไปที่เกาะกลางเขื่อนน้ำอูนมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ๗ รอย) ในระหว่างทางได้แวะทำบุญสร้างพระพุทธรูปใหญ่ หน้าตัก ๙ เมตร ๙๙ เซ็นติเมตร (เกือบ ๒๐ ศอก) ซึ่งหลวงพี่ได้เคยร่วมทำบุญมา ๒-๓ ครั้งแล้ว ตั้งแต่เริ่มสร้างฐานใหม่ๆ ในตอนนี้ได้ทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท



๑๒. พระพุทธบาท "วัดดอยเทพเนรมิต" (เขื่อนน้ำอูน) บ้านนาเชือก ต. แร่ อ.พังโคน จ. สกลนคร (พบใหม่ลำดับที่ 615)


......หลังจากได้ทำบุญสร้างพระ (นับเป็นการสร้างพระใหญ่องค์ที่ ๒) ในครั้งนี้แล้ว จึงได้ออกเดินทางต่อไปบ้านน้ำอูน กว่าจะหาทางเข้าไปในเขื่อนน้ำอูนได้ จะต้องขับรถเข้าไปถามหลายแห่ง โชคดีที่น้ำในเขื่อนแห้ง จึงขับรถเข้าไปถึงวัดดอยเทพเนรมิต ซึ่งอยู่บนเขาได้โดยสะดวก


ถึงแม้เป็นเวลาเย็นมากแล้ว แต่ได้รับความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อเจ้าอาวาส โดยให้ยืมเรือล่องไปที่เกาะแห่งหนึ่งภายในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พระและสามเณรที่วัดช่วยกันนำเรือออกไปอย่างรวดเร็ว เพื่อแข่งเวลากับพระอาทิตย์ที่กำลังจะลับสู่ขอบฟ้าไป


เรือวิ่งไปตามกระแสในยามเย็น ท่ามกลางอากาศพัดผ่านสบายๆ ประมาณ ๓๐ นาที เรือก็ได้เข้าไปเทียบเกาะ ปรากฏว่าบนเกาะนี้มีพระมาอาศัยอยู่ ๑ องค์ เดินขึ้นไปบนเกาะพบผู้ชาย ๒ คน แกมาหาหลวงตา แกเล่าว่าโทรศัพท์มาหาหลวงตาๆ ไม่รับสาย แกเป็นห่วง แกเลยขับเรือมาดู


เรือวิ่งไปถึงริมเกาะภูล้านแล้ว พระได้ดึงเชือกเรือเพื่อให้หลวงพี่และพวกเราลงมาจากเรือ ต่อจากนั้นต้องเดินข้ามโขดหินเพื่อขึ้นไปที่รอยพระพุทธบาท ซึ่งพอมองเห็นหลังคาศาลาแต่ไกล


นับว่าโชคดีที่พอรู้ว่าพวกเรามาสำรวจรอยพระพุทธบาท แกชี้บอกรอยพระบาทบางรอยให้ ซึ่งมีใบไม้ปกคลุมหนาทึบไปหมด ซึ่งเป็นรอยตามธรรมชาติงดงามกว่าทุกรอยที่ได้พบ คณะเราได้พบแค่ ๓ รอย เวลาก็มืดค่ำเสียก่อน กราบไหว้บูชาเสร็จก็ต้องรีบนั่งเรือกลับ ระหว่างมืดมากต้องใช้ไฟฉายส่องนำทางตลอด



เกาะแห่งนี้ไม่ใหญ่มากนัก จึงใช้เวลาเดินสำรวจไม่นาน แต่ความมืดเข้ามาเร็วเหลือเกิน เวลาขณะนี้เกือบ ๑๙.๐๐ น. แล้วแต่ก็ยังไม่มืดมากนัก พวกเราต่างก็เร่งค้นหา ซึ่งมีใบไม้ปกคลุมอยู่ ถ้าเป็นรอยใหญ่ก็พบเห็นได้ง่าย


หลังจากพบแล้วก็รีบกราบไหว้ พร้อมกับสรงน้ำหอมปิดทองและโปรยดอกไม้ที่เตรียมมาด้วย


สถานที่แห่งนี้นับลำดับที่ ๖๑๕ นับว่ามีจำนวนมากเหลือเกิน และการเดินทางระหว่างนี้ยังพบต่อไปเรื่อยๆ


พอกลับถึงวัดเจ้าอาวาสมาคอยอยู่ที่ท่าน้ำ โดยการใช้ไฟฉายส่องชี้ตำแหน่งให้ เรือจึงสามารถกลับมาถูก เนื่องจากทางวัดยังไม่มีไฟฟ้า เพียงใช้แต่พลังแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) เท่านั้น ท่านได้บอกว่ายังมีรอยอีกแห่งหนึ่ง จึงได้รีบพาคณะเราไปดู ซึ่งอยู่ในป่าริมน้ำต้องเดินเท้ากันไปอีก มืดก็มืดห่างไกลประมาณ ๑ ก.ม.


รอยพระบาทนี้แปลกมาเลยเป็นรอยประเภทไม่มีนิ้ว แต่ตรงกลางฝ่าพระบาทมีรอยขีดบนหินเป็นรูปร่างปลา ไม่ใครเห็นที่ไหนมาก่อน ตอนหลวงพี่พูดว่าพระพุทธองค์คงเคยเสวยพระชาติเป็น "พญาปลา" แล้วอาศัยอยู่ในบริเวณลำน้ำอูนแห่งนี้มาก่อน เสียงฟ้าก็ร้องคำรามขึ้นมาทันที รอยพระบาทนี้มีใต้ต้นไทรขึ้นอยู่ใกล้ๆ ด้วย ได้กราบไหว้บูชาเสร็จเดินทางกลับ โชคดีที่พวกเราก็นำไฟฉายไปด้วย


หลวงพี่ถวายหนังสือตามรอยพระพุทธ เล่ม ๑ พร้อมกับร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส คือหลวงพ่อพระสุดใจ อนุตโล ประมาณ ๑,๐๐๐ บาท ส่วนพระพระและเณรและคนขับเรือ หลวงพี่และคุณมายินได้มอบให้ตั้งแต่อยู่ในเรือแล้ว รวมแล้วประมาณ ๒,๕๐๐ บาท กว่าจะออกมาจากวัดเวลา ๒ ทุ่มกว่าแล้ว พวกเราต้องเปลี่ยนกันขับรถไปจนถึงอุดรธานีเป็นเวลาดึกมากแล้ว เนื่องจากพวกเราคนหนึ่งต้องเดินทางกลับอย่างกระหันทัน เพราะมีข่าวว่าน้องสาวกำลังป่วยหนักนั่นเอง.

◄ll กลับสู่สารบัญ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


webmaster - 10/6/10 at 05:51


(Update 10-06-53)

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (เมืองอุดรธานี - สร้างคอม - ศรีธาตุ)

๑๓. รอยพระพุทธบาท "บ้านดงมะกรูด" ต.หนองไฮ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี (พบใหม่ ลำดับที่ 616)
๑๔. พระธาตุปู่คำ ต.บ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี
๑๕. วัดเวฬุวัน ต.บ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี
๑๖. รอยพระพุทธบาท "วัดโพธาราม (ภูน้ำทิพย์)" ต.คำค้อ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี (พบใหม่ ลำดับที่ 617)




๑๓. รอยพระพุทธบาท "บ้านดงมะกรูด" ต.หนองไฮ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี (พบใหม่ ลำดับที่ 616)

ในตอนเช้าวันที่ ๑๒ พ.ค. ได้ไปส่งพวกเราคนหนึ่งขึ้นเครื่องบินกลับที่สนามบินอุดรธานี อีกทั้งได้ร่วมทำบุญใส่ตู้บริจาคภายในสนามบิน ชนิดที่เรียกว่าได้ทำบุญ-ทำทานกันเต็มที่ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปถึงแต่ละวัดที่อยู่ห่างไกล มีทั้งสร้างพระนอนใหญ่และสร้างวัด บางตู้บริจาคก็เป็นการสงเคราะห์บุคคลผู้ยากไร้และผู้พิการเป็นต้น


พวกเราโล่งใจที่การเดินทางเป็นไปตามแผน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขได้ นับเป็นวันที่ห้าของการเดินทาง ข้อมูลรอยพระพุทธบาทยังไม่หมด ท่านอาจารย์ตุ๋ยและท่านอาจารย์สุพจน์นัดให้ไปพบกันที่ วัดป่าดงมะกูรด อยู่ห่างตัวเมือง ๒๐ กว่ากิโล แต่รอยพระพุทธบาทไม่ได้อยู่ในวัด ต้องอ้อมไปทางหลังวัด รอยพระพุทธบาทอยู่บนผลาญหิน ภายในรอยเท้าเป็นหลุมมีน้ำขัง ๒ หลุม ขนาดความยา ๑๗๔ ซ.ม. ลึก ๓๙ ซ.ม. กว้าง ๖๔ ซ.ม. พบเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

แหล่งข้อมูลนี้ "ทิดแก้ว" ได้เคยแจ้งมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนพระอาจารย์ตุ๋ยได้ส่งรูปภาพและวัดขนาดมาให้ด้วย หลวงพี่ได้ตรวจดูแล้วพบว่า มีผู้แกะสลักรอยนิ้วเท้าไว้ด้วย แต่ก็ยังคงมีร่องรอยเดิมเหลืออยู่ น่าจะมีการสร้างศาลาไว้ด้วย เนื่องจากพบก้อนอิฐเก่าๆ วางอยู่แถวนั้น อีกทั้งบริเวณนี้ก็ยังมีหลุมมีบ่อเล็กๆ อีกหลายแห่ง


ภาพแรก : ด้านหลังพุ่มไม้เป็นทางลงไปหลังวัดป่าดงมะกรูด จะมองเห็นกุฏิปลูกไว้ในป่าด้านล่าง ส่วนที่เรายืนอยู่นี้บนผลาญหินสูงขึ้นมา และมีทางลงไปกุฏิด้วย พบหลุมที่มีน้ำขังคาดว่าเป็น "บ่อน้ำทิพย์" แต่ลักษณะก็มองคล้ายรอยพระพุทธบาท หลวงพี่บวงสรวง สรงน้ำ ปิดทอง แล้วออกเดินทางต่อไป

๑๔. พระธาตุปู่คำ ต.บ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี


ข้อมูลก่อนหน้านี้หลวงพี่ได้ข่าวจากโทรทัศน์ ระหว่างเดินทางเข้าไปสอบถามชาวบ้านที่ ต.บ้านโคก อ.สร้างคอม แต่คนแถวนั้นก็ไม่มีใครรู้จัก หลวงพี่จึงบอกว่าน่าจะไปสอบถามกับพระ ท่านอาจจะรู้เรื่องดีกว่าฆราวาส จึงได้ไปสอบถามที่วัดเวฬุวัน ซึ่งอยู่ในบ้านโคกนั่นเอง

แต่พอถามท่านว่ารู้จัก "พระธาตุปู่คำ" ไหม ท่านบอกไม่รู้จัก รู้แต่เพียงว่ามี "พระธาตุร้าง" แห่งหนึ่งแต่ไม่รู้ชื่อ จึงขอให้ท่านนำทางไป รถวิ่งออกไปตามทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน พบพระรูปหนึ่งนั่งอยู่ในบ้าน พวกเราจอดรถไว้แล้วหลวงพี่เดินตามพระรูปนั้นไป เดินไปประมาณ ๑๐๐ เมตร ท่านนำเข้าไปที่พระธาตุร้างแห่งนี้ พอหลวงพี่ได้เห็นป้ายคำว่า "พระธาตุปู่คำ" พวกเราถึงกับตื่นเต้นดีใจกันทุกคน เพราะนึกไม่ถึงว่าจะตามหาจนพบนั่นเอง

๑๕. วัดเวฬุวัน ต.บ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี


(ภาพแรก : ภาพถ่ายที่ "พระธาตุปู่คำ ภาพต่อมา : ถ่ายภาพหมู่ที่หน้าโบสถ์วัดเวฬุวัน)

สภาพเป็นพระธาตุร้าง คือเห็นเป็นกองดินเก่าๆ หลวงพี่จึงสรงน้ำและโปรยดอกไม้ พร้อมกับห่มผ้าสีทองฝากไว้กับต้นไม้ที่อยู่ด้านข้าง อีกทั้งได้ร่วมทำบุญส่วนรวม ๕๐๐ บาท และถวายส่วนองค์ ๑๐๐ บาท พร้อมย่าม ๑ ใบ นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่แวะถาม อบต.บ้านโคก ก็ยังไม่รู้จัก ถามใครก็ไม่มีใครรู้เรื่องเลย เป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง

หลังจากนั้นได้กลับมาส่งท่านเจ้าอาวาส วัดเวฬุวัน เห็นโบถส์กำลังบูรณะ จึงได้ร่วมทำบุญกับท่าน ๖๔๐ บาท ท่านได้เล่าว่าภายในโบสถ์มี "พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์" ประจำหมู่บ้าน หลวงพี่จึงให้พวกเรานำห่มผ้าสไปพระซึ่งคุณหมี-ใหม่ จากชัยภูมิถวายมา พร้อมกับถวายส่วนองค์แก่ท่านอีก ๑๐๐ บาท

๑๖. รอยพระพุทธบาท "วัดโพธาราม (ภูน้ำทิพย์)" ต.คำค้อ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี (พบใหม่ ลำดับที่ 617)


พวกเราเดินทางจากอุดรธานี สู่ อ.สร้างคอม แล้วก็ต้องย้อนกลับมาทาง อ.ศรีธาตุ โดยนัดพบกับพระที่แจ้งข้อมูลอีกรูปหนึ่ง คือ พระอาจารย์จอนสัน กันตสีโร จากวัดโพธิ์ธาชัย อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี (ในภาพท่านกำลังยืนคุยกับหลวงพี่) ส่วนอีกภาพหนึ่งท่านได้นำมาที่ศาลาครอบรอยพระพุทธบาท ณ วัดโพธารามภูน้ำทิพย์ (ในภาพท่านพระครูฯ เจ้าคณะอำเภอศรีธาตุ) ท่านเป็นประธานสงฆ์ที่วัดโพธารามฯ นี้ และท่านเล่าว่าก่อนหน้านี้ เคยเห็นดวงไฟลอยขึ้นในเวลากลางคืนด้วย


สถานที่แห่งนี้ ถึงแม้อาจารย์จอนสันไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ท่านได้มาสร้างพระพุทธรูปที่วัดนี้ เมื่อปี ๒๕๕๑ มีวันหนึ่งเกิดมีแสงสว่างลอยเข้ามาข้างหน้า ท่านตกใจจึงได้ค้นหาบริเวณนี้ แล้วได้พบรอยพระพุทธบาทมีดินถมทับอยู่ ต่อมาท่านเจ้าคณะอำเภอทราบเรื่อง จึงได้ให้ช่างสร้างศาลาครอบไว้ มีการทารัก (สีดำ) ไว้โดยรอบ


หลวงพี่ก็ได้แนะนำว่าควรปล่อยไว้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่หลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอฯ ไม่ให้รับการตอบรับสักเท่าไร จึงได้ทำพิธีบวงสรวง สรงน้ำ ปิดทอง บูชาพระบาท พร้อมกับทำบุญกับพระอาจารย์จอนสัน ๒,๐๐๐ บาท (ก่อนหน้านี้ได้ทำบุญกับพระอาจารย์ตุ๋ย ๕,๐๐๐ บาท และถวายสามเณร ๑๐๐ บาท)


พระอาจารย์จอนสันเล่าว่า เดิมรอยพระพุทธบาทอยู่บนโขดหินใหญ่แห่งนี้ มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมอยู่ ๒ ต้น เวลามานั่งกราบก็ร่มรื่นลมพัดเย็นสบาย แต่นี่ท่านมาสร้างศาลาครอบไว้ แล้วก็ตัดต้นไม้ใหญ่ไป ๑ ต้นด้วย จึงทำให้ภายในร้อนอบอ้าว


น่าเสียดายที่เจ้าของท้องถิ่นไม่ค่อยคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ มุ่งแต่งานก่อสร้างอย่างเดียว ซึ่งไม่ค่อยเข้ากับบรรยากาศที่อยู่โดยรอบ เพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่า และชาวบ้านมีการทำไร่มันและสวนยางอยู่โดยรอบ ต้องนั่งรถวกไปเวียนมา กว่าจะเข้ามาถึงก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง


จึงคิดว่าคณะสงฆ์น่าจะช่วยกันรักษาผืนป่าธรรมชาติเหล่านี้ไว้เป็น "พุทธอุทยาน" จะดีกว่า ถ้าจำเป็นที่จะสร้าง ควรสร้างศาลาโปร่งๆ มีพื้นที่พอนั่งกราบไหว้ได้ ไม่ควรมีงานปูนเข้ามามาก มิฉะนั้นจะเอาปูนไปตบแต่งรอยพระพุทธบาทอีก ควรจะรักษารูปแบบเดิมๆ อีกทั้งไม่ควรเอาสีอะไรมาทาในรอยพระพุทธบาท เวลากราบไหว้ก็ไม่ควรนำเศษสตางค์โยนใส่ลงไป ควรรักษาทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ ไม่ควรใส่รองเท้าขึ้นไป แล้วก็บูชาด้วยดอกไม้ สรงน้ำหอม ก็เพียงพอแล้วละค่ะ.



(เชิญชมคลิปวีดีโอที่ "เขื่อนน้ำอูน" และ "ท่าคันโท ตอนที่ 1" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)

◄ll กลับสู่สารบัญ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


webmaster - 14/6/10 at 06:17


(Update 14-6-53)


๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (ศรีธาตุ - วาริชภูมิ - ท่าคันโท)

๑๗. รอยพระพุทธบาท (อยู่ในสวนยาง นายประคอง วิชาถิตย์) "บ้านดงสว่าง" อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร (พบใหม่ ลำดับที่ 618)
๑๘. วัดผาเทพนิมิต และ สำนักสงฆ์ดอยน้ำทิพย์ บ้านดงสว่าง อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร
๑๙. วัดดอยน้ำทิพย์ ต.นิคมน้ำอูน อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร
๒๐. รอยพระพุทธบาท วัดแสงประทีป บ้านดงบัง ต.ดงสมบรูณ์ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธิ์ (พบใหม่ ลำดับที่ 619)
๒๑. รอยพระพุทธบาท บนเขาบ้านท่าคันโท อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธิ์ (พบใหม่ ลำดับที่ 620)




๑๗. รอยพระพุทธบาท (อยู่ในสวนยาง นายประคอง วิชาถิตย์)
บ้านดงสว่าง อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร (พบใหม่ ลำดับที่ 618)


....ก่อนจะเล่าเรื่องการเดินทางต่อไป เมื่อวานนี้ต้องเดินทางจาก อ.ศรีธาตุ ผ่านวังสามหมอ เพื่อย้อนกลับไปที่วาริชภูมิ เนื่องจากพระอาจารย์ตุ๋ยบอกว่า ยังมีรอยพระพุทธบาทที่อยู่ในป่าสวนยางของชาวบ้านดงสว่าง อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร ทั้งๆ ที่เมื่อวันก่อนพวกเราก็ได้เดินทางผ่านเขื่อนน้ำอูนมาแล้ว

....แต่เพื่อการเก็บงานให้หมดสิ้นไปเลย จำเป็นต้องเสียเวลาย้อนกลับไปอีก แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย จะลำบากเพียงไร พวกเราก็ไม่ย่อท้อ ยอมเหน็ดเหนื่อยทุกอย่าง เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาให้ชาวไทยได้รับทราบว่า เมืองไทยของเรามีสิ่งที่สุดประเสริฐ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล (แล้วแต่ความเชื่อด้วยนะ ถ้าเชื่อว่านั่นเป็นรอยหินตามธรรมชาติก็คงช่วยไม่ได้ละค่ะ)

....เรามาคุยกับคนที่เชื่อก็แล้วกันนะคะว่า ในวันนี้นอกจากจะเดินทางไปสำรวจต่อ (หมายถึงเมื่อวานก็ผ่านทางสวนยาง "บ้านดงสว่าง" แล้ว แต่เนื่องจากเป็นเวลานาน และสภาพสวนยางคล้ายๆ กัน ทำให้ท่านอาจารย์ตุ๋ยสับสนเล็กน้อย) จึงต้องย้อนกลับมาอีกครั้ง โดยมีโปรแกรมจะไปเอา "น้ำทิพย์" ที่วัดผาเทพนิมิต อีกด้วย ซึ่งหลวงพี่รู้ข่าวมานานหลายปีแล้ว ว่าสามารถละลายนิ่วได้เป็นอย่างดี


เช้านี้เหมือนกันทุกวันที่พี่สำราญเข้าเวรขับรถ (ส่วนคุณบุ๋มจะผลัดเวรตอนช่วงบ่าย) ขับย้อนออกมาจากตัวเมืองวาริชภูมิ หลังจากฉันเช้าและหาขวดโพราลิส เพื่อเตรียมไว้ใส่น้ำทิพย์กันแล้ว รถได้ขับเลี้ยวเข้าไปในสวนยาง "บ้านดงสว่าง" ข้อสังเกตได้ว่าจะต้องเข้าไปทางป้ายที่บอกว่า "ภูลาดขาม-ภูแง้ว" แต่เข้าไปลำบากมาก เพราะอยู่ไกล และเป็นทางลูกรังที่จะต้องเลี้ยวไปเลี้ยวมาในสวนยางพาราตลอด


จนกระทั่งเข้ามาในสวนยางของ นายประคอง วิชาถิตย์ แต่ไม่พบเจ้าของ พบแต่ลูกชาย จึงได้สอบถามและขอเข้าไปไหว้ เพราะมองเห็นเขามุงหลังคาคลุมรอยพระพุทธบาทเอาไว้ จึงได้ทำพิธีบวงสรวง สรงน้ำ โปรยดอกไม้ ผูกผ้าสีทอง บูชารอยพระพุทธบาท


หลังจากถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้ว จึงเดินไปที่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างประมาณ ๑๐๐ เมตรเท่านั้น ได้พบคุณประคองกลับมาจากตลาดพอดี หลวงพี่ได้ปรารภว่าอยากจะทำศาลาคลุมให้แข็งแรงกว่านี้ ท่านจึงได้มอบเงินจำนวน ๑๒๐๐ บาท ให้คุณประคอง เพื่อที่จะนำเสาปูนมาเปลี่ยน และนำสังกะสีมามุงหลังคาใหม่

๑๘. วัดผาเทพนิมิต บ้านดงสว่าง อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร

.....ตามข้อมูลจากเว็บ thaitambon.com เล่าว่าสถานที่แห่งนี้ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นวัดที่มีบ่อน้ำทิพย์ (น้ำแร่) เพราะเป็นน้ำดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และเชื่อว่ารักษาโรคต่างได้ด้วยเมื่อดื่มน้ำทิพย์จากวัดนี้เป็นประจำ โดยมีหลวงปู่บุญพินเป็นเจ้าอาวาส



เมื่อจอดรถไว้แล้ว มองเห็นแท็งน้ำใหญ่ที่ทางวัดปั้มขึ้นมารอไว้ สำหรับใครก็ได้ที่อยากจะมานำไปไว้ดื่ม โดยทางวัดไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่หลวงพี่อยากจะลงไปเอาน้ำถึงที่จุดกำเนิดเลย และเพื่อจะตรวจดูว่าเป็นรอยพระบาทที่อยู่ในบ่อน้ำหรือไม่ เนื่องจากท่านเคยมีประสบการณ์ ที่เคยเห็นบ่อน้ำไม่แห้งแม้แต่หน้าแล้ง แต่พอมองลงไปก้นบ่อ จะเห็นเป็นรอยพระพุทธบาทลางๆ อยู่ในน้ำ

พวกเราได้เดินลงบันไดไปข้างล่าง จะมองเห็นหน้าผาใหญ่ ทางวัดสร้างพระพุทธรูปปางปาไลยกะไว้ด้านบน ส่วนด้านล่างจะเห็นบ่อน้ำทิพย์ มีรั้วสังกะสีกั้นอยู่โดยรอบ หลวงพี่เดินไปดูลักษณะบ่อน้ำ มีรูปร่างเป็นวงรีคล้ายรอยเท้าคนจริๆ ด้วย น้ำได้ผุดขึ้นมาจากใต้ดินตามธรรมชาติ หลวงพี่ได้บวงสรวงด้วย "บทสักเค" และสรงน้ำหอมโปรยดอกไม้ ก่อนที่จะนำน้ำมาใส่ถังโพลาริส แล้วคุณบุ๋มและ "คุณหนวด" (โชเฟอร์ของท่านอาจารย์ตุ๋ย) ช่วยแบกขึ้นไป

๑๙. วัดดอยน้ำทิพย์ ต.นิคมน้ำอูน อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร


เนื่องจากเป็นเวลาใกล้เพล พวกเราได้เห็นป้ายบอกทางเข้าไป "วัดดอยน้ำทิพย์" มาตั้งแต่ตอนแรกแล้ว จึงอยากจะสำรวจดูอีกแห่งหนึ่งด้วย พร้อมทั้งได้เวลาฉันเพลที่นี่พอดี แต่เข้าไปไม่พบใครในวัดเลย ต้องหาที่จัดอาหารถวายพระทั้ง ๓ รูปกัน

หลังจากทานอาหารกันเสร็จแล้ว โชคดีที่ได้พบ คุณลุง-คุณป้าและหลาน ที่ได้ขับรถมาจากตัวเมืองอุดรธานี เพื่อจะมานำน้ำทิพย์ที่นี่ไปดื่มกิน ทั้งสองท่านเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่พวกเราว่า มีผู้น้ำจากที่นี่ไปตรวจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าเป็นน้ำที่มีคุณค่า คือมีแร่ธาตุหลายอย่างที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตัวเองจะต้องขับรถมานำน้ำไปดื่มเป็นประจำทุกเดือน โดยนำแกลลอนน้ำขนาด ๕ ลิตร มาเต็มรถปี๊คอัพ

ส่วนแหล่งต้นน้ำไม่สามารถเดินไปได้ เพราะอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๑ ก.ม. คุณลุงได้ถวายปัจจัยกับหลวงพี่ด้วย ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พร้อมทั้งถวายแกลลอนน้ำขนาด ๕ ลิตร นำน้ำที่นี่มาอีก ๕ แกลลอน ซึ่งทางวัดได้ต่อท่อน้ำไว้ให้คนนำออกไปได้อย่างสะดวก

โดยเฉพาะน้ำทิพย์ที่วัดนี้ ท่านอาจารย์สุพจน์บอกว่า เจ้าอาวาสได้ดื่มรักษาจนโรคนิ่วหายไปเลย ซึ่งมีผลเหมือนกับน้ำทิพย์ที่ "วัดผาเทพนิมิต" เช่นกัน (ถ้าใครคิดว่างมงาย ลองไปสืบถามข้อมูลนี้จากคนอีสานแถวนั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปหลายปีแล้ว แต่หลวงพี่เพิ่งจะมีโอกาสมาถึงเสียที)

๒๐. รอยพระพุทธบาท วัดแสงประทีป บ้านดงบัง ต.ดงสมบรูณ์ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธิ์ (พบใหม่ ลำดับที่ 619)

รถกระบะของพระอาจารย์ตุ๋ยวิ่งนำหน้าอีกเช่นเคย ตอนนี้ออกมาจากถนนลูกรังอย่างแน่นอน เป็นอันว่า สมหวังและเสร็จสิ้นภารกิจแถวนี้แล้ว ถ้ามองย้อนหลังกลับไปทาง "เขื่อนน้ำอูน" แล้วเสียดายที่สำรวจรอยพระพุทธบาทที่ "ภูโล้น" ยังไม่หมด เพราะเป็นเวลามืดค่ำเสียก่อน แต่ก็ไม่เป็นไรถือว่าได้พบรอยพระพุทธบาทเพิ่มเติม จากข้อมูลเดิมอีกหลายแห่ง


รถวิ่งไปตามถนนลาดยางผ่าน อ.วังสามหมอ จนมาถึงเขต อ.ท่าคันโท ซึ่งหลวงพี่มีนัดกับคนนำทางไว้ก่อนแล้ว โดยนัดพบกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอท่าคันโท แต่ก่อนที่จะถึงตัวเมือง พวกเราได้พบกับรอยพระบาทอีกแห่งหนึ่งโดยบังเอิญ คือระหว่างรถวิ่งผ่าน "บ้านดงบัง" ได้มองเห็นป้ายบอก "รอยพระพุทธบาท" อยู่ด้านหน้าศาลาหลังหนึ่งภายในวัดแสงประทีป ซึ่งอยู่ริม "เขื่อนลำนำปาว"


พวกเราได้จอดรถไว้แล้วเดินทางที่ศาลาหลังนั้น ภายในมีรอยพระบาท ซึ่งมีรอยแกะสลักนิ้วเท้าชัดเจน หลวงพี่ได้สอบถามท่านเจ้าอาวาสแล้ว ท่านบอกว่ามีพระมาแกะจากรอยเดิมซึ่งไม่ชัดเจนนัก ปัจจุบันได้สึกไปแล้ว หลวงพี่และคณะได้กราบบูชารอยพระพุทธบาท แล้วทำบุญกับเจ้าอาวาส ๕๐๐ บาท

๒๑. รอยพระพุทธบาท "บนเขาบ้านท่าคันโท" อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธิ์ (พบใหม่ ลำดับที่ 620)

หลวงพี่ได้เดินทางมาถึงที่นัดพบตามเวลา ๑๕.๐๐ น. โดยมีผู้แจ้งข่าวรอยพระพุทธบาทแห่ง คือ คุณอำนาจ แก่นแก้ว จากกำแพงเพชร แจ้งไว้นานแล้วเมื่อปี ๒๕๕๐ คุณอำนาจต้องขับรถมากับภรรยาและลูกจากกำแพงเพชร แล้วแวะที่ อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม โดยนัดพับกับ คุณรุ่งณวี เนื่องมัจฉา และ พระอาจารย์เกียติก้อง ติกขวีโร วัดศรีอินทราวาส บ้านนาฝาย


หลังจากได้พบและทักทายกันแล้ว ได้ซื้อน้ำขวดใส่ถังใหญ่ที่อยู่ในรถกระบะพระอาจารย์ตุ๋ย เนื่องจากอากาศร้อนอบอ้าว หิวน้ำกันบ่อย จากนั้นขับรถย้อนกลับมาทางเดิมที่เราผ่านมา ห่างจากตัวอำเภอไม่มากนัก แล้วรถของคุณอำนาจเลี้ยวขวาเข้าไปในป่า โดยมีเป้าหมายบนภูเขาแห่งหนึ่งไม่สูงมากนัก ต้องจอดรถไว้แล้วเดินขึ้นเขาไป


การเดินขึ้นไปตามทางขึ้นเขาธรรมชาติ ซึ่งไม่มีใครทำไว้เลย ต้องเดินหาทางกันไปเอง แต่ป่าไม่รกมากนัก เพราะยังเป็นหน้าแล้ง อาศัยแง่หินเหยียบขึ้นไปช่วงสูงชัน เดินประมาณไม่ถึง ๒๐ นาทีก็ถึงบนเขา ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ แต่เป็นป่าโปร่งมีต้นไม้ใหญ่อยู่บ้าง มองเห็นชาวบ้านหญิงชายหลายคนกำลังเดินเก็บเห็ดในป่า นึกว่าอยู่กันแถวนี้ แต่ที่ไหนได้มาจากมหาสารคามกับพระอาจารย์เกียรติก้องนั่นเอง ทราบว่านำรถขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง


เมื่อหลวงพี่ถามถึงท่านอาจารย์ พี่ผู้หญิงกลุ่มนั้นได้ชี้มือบอกว่าอยู่ทางโน้น ขณะเดินไปได้ยินเสียงคนนำหน้า บอกว่าได้เห็นพระหลายรูปกำลังทำความสะอาดรอยพระบาทกันอยู่ ส่วนหลวงพี่ก็เดินแวะตรวจดูระหว่างทางไปด้วย เห็นมีร่องรอยคล้ายรอยพระบาทอยู่หลายแห่ง


คุณอำนาจและคุณรุ่งได้พาไปพบกับกลุ่มพระสงฆ์ ๑๐ กว่ารูป ที่กำลังเดินอยู่ใกล้ศาลาหลังเล็กๆ ภายในมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง หน้าตัก ๓๐ นิ้ว บริเวณโดยรอบมอบเห็นร่องหลุมเต็มผลาญหินไปหมด มองดูแล้วนับว่าอัศจรรย์ใจจริงๆ เลย บริเวณโดยรอบที่พบรอยพระบาทตามสุมทุมพุ่มไม้ก็มีอีกหลายแห่ง


นับว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่สำคัญมากแห่งหนึ่งที่เคยพบมา จะเรียกว่าเป็น "ชุมนุมพระพุทธบาท" ก็ว่าได้ เพราะตามที่พระและฆราวาสช่วยกันขุดคุ้ยดินออกมา ท่านบอกว่านับได้ถึง ๗๐ รอย ซึ่งอาจจะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็เป็นได้


พระอาจารย์เกียรติก้องเป็นผู้พบเห็น และได้มาสร้างศาลาพร้อมนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ที่นี่ เมื่อประมาณ ๒-๓ ปีมาแล้ว นับจำนวนพระภิกษุที่เดินทางมารอพบกันที่นี่ ทั้งหมดรวม ๑๕ รูป สามเณรอีก ๒ รูป และมีฆราวาสชายหญิงประมาณ ๑๒ คน


หลังจากได้จัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนแล้ว (พวกเราไม่ได้มีโอกาสทำความสะอาด เพราะพระเณรที่มาถึงก่อน ได้ช่วยกันทำความสะอาดไว้เป็นอย่างดีแล้ว) จึงได้เปิดเทปบวงสรวงหลวงพ่อฯ แล้วหลวงพี่ได้ขอให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์บท "อิติปิโส พาหุงฯ" และ "คาถาเงินล้าน" ท่ามกลางบรรยากาศในป่ายามเย็น ลมพัดผ่านสบายๆ


เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสมโภชที่ได้มีโอกาสมาถึงเป็นครั้งแรก อีกทั้งพระเณรก็มีหลายรูป นับว่าหาโอกาสเช่นนี้ได้ยาก จึงได้ทำบุญถวายพระอาจารย์เกียรติก้องและถวายพระเณรองค์ละ ๑๐๐ บาท รวมทั้งหมด ๓,๕๐๐ บาท และหนังสือตามรอยพระพุทธบาทเล่ม ๒, ๓, ๔ (เล่ม ๑ ท่านมีอยู่แล้ว) พร้อมย่าม ๑ ใบให้พระอาจารย์เกียรติก้องด้วย


หลังจากที่ได้สรงน้ำ โปรยดอกไม้ และปิดทอง พร้อมทั้งนำผ้าสีทองขึ้นสู่ยอดธง เพื่อเป็นการบูชา "รอยพระพุทธบาทเกือกแก้ว" (ทรงเครื่องพระนิพพาน) ที่เป็นประธาน ๒ รอยนี้ ซึ่งมีขนาดรอยซ้าย-ขวา กว้างยาวใกล้เคียงกันมาก รอยแรกกว้าง ๒๗ ซ.ม. ยาว ๗๐ ซ.ม. รอยที่สองกว้าง ๒๖ ซ.ม. ยาว ๗๑ ซ.ม.


ระหว่างนี้เป็นเวลาเย็นพอดี การที่หลวงพี่นัดพบเวลา ๑๕.๐๐ น. ถือว่าเป็นเวลาเหมาะกับการเดินขึ้นเขา แต่พวกเราก็นึกไม่ถึงว่าจะพบกับรอยพระพุทธบาทที่มีจำนวนมากอย่างนี้ ถือว่าคุ้มค่าทีเดียวสมกับการรอคอย ซึ่งกว่าจะมีโอกาสนัดพบกันได้ และกว่าจะมายืนอยู่ ณ สถานที่นี่ ต้องถือว่าวันเวลามาถึงแล้วนั่นเอง


ฉะนั้น การบรรยายอาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้าง ต้องขออภัยเป็นอย่างสูง ทั้งพระภิกษุสงฆ์และสามเณร และที่จะต้องขอขอบคุณและอนุโมทนา ในการเตรียมนัดพบกันระหว่างหลวงพี่กับพระอาจารย์ พร้อมทั้งพระบางองค์ที่เคยรู้จักกับหลวงพี่และอาจารย์ตุ๋ยมาก่อนแล้วบ้าง ทุกคนที่ได้พบเห็นกันต่างก็ดีใจ เพราะเราเป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน



ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะแยกย้ายเดินทางกลับ ซึ่งพระอาจารย์เกียรติก้องก็ให้ข้อมูล "รอยพระพุทธบาท" ที่อื่นต่อไป จึงได้ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก แล้วก็ขอขอบคุณและอนุโมทนา ท่านพระอาจารย์พร้อมด้วยพระสงฆ์องค์เณร และชาวบ้านนาฝาย ต.กุดปลาดุก อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม


ทั้งนี้ด้วยการประสานงานของ คุณอำนาจ แก่นแก้ว ที่อยู่กำแพงเพชร และคุณรุ่งณวี ที่อยู่มหาสารคาม งานการสำรวจจึงได้ผลเกินคาด จึงขอให้ทุกท่านได้สมปรารถนาทุกประการในชาติปัจจุบันนี้เทอญ..สาธุ.




(เชิญชมคลิปวีดีโอที่ "ท่าคันโท ตอนที่ 2" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)


◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


webmaster - 16/6/10 at 08:59


(Update 16-6-53)


๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (ท่าคันโท - บ้านฝาง - ชนบท - มัญจาคีรี)


๒๒. รอยพระพุทธบาท วัดป่าสังเวชธรรมาราม บ้านดอนดู่ ต.หนองบัว อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น (พบใหม่ ลำดับที่ 621)

.....หลังจากได้แยกย้านกันเดินทางกลับ รถกระบะของท่านอาจารย์ประทักษ์ (ตุ๋ย) และท่านอาจารย์สุพจน์พร้อมด้วย ดช.เก่ง น้องตัวเล็กอีกคนหนึ่งที่เพิ่งสึกจากสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งหลวงพี่ตุ๋ยได้มีความคิดที่จะบวชสามเณรภาคฤดูร้อนทุกปี เป็นการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ แถวบ้าน อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ซึ่งชาวบ้านแถวนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา จะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพระศาสนาตั้งแต่เยาว์วัย จึงถือโอกาสบอกบุญท่านผู้ใจบุญทั้งหลาย หากมีโอกาสปีหน้าท่านจะจัดบวชเณรภาคฤดูร้อนอีก ท่านใดสนใจสามารถสอบถามมาทางอีเมล์ได้เลยค่ะ

ขอกลับมาเล่าเรื่องกันต่อไป จากการบันทึกของคุณวัชรพล (บุ๋ม) บอกว่า ท่านอาจารย์ตุ๋ยยังไม่กลับวัด แต่อยากจะนำหลวงพี่ไปอีกที่หนึ่ง ตามข้อมูลที่เพิ่งได้รับจากท่านอาจารย์เกียรติก้องบอกว่า ยังมีรอยพระพุทธบาทที่ท่านรู้จักอีกแห่งหนึ่งที่ อ.ชบท จ.ขอนแก่น อีกทั้งหลวงพี่ยังมีสถานที่ตกค้างมาตั้งแต่ปีที่แล้ว นั่นก็คือ วัดป่าสังเวชฯ (วัดหนองงูเหลือม) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ท่านอาจารย์ตุ๋ยแจ้งไว้นานแล้ว


ฉะนั้นก่อนจะเดินทางไป อ.ชนบท จ.ขอนแก่น หลวงพี่ได้แวะที่วัดป่าสังเวชธรรมารามก่อน โดยอาศัยเส้นทาง อ.บ้างฝาง - อ.หนองเรือ ไปถึงวัดในตอนสายของวันที่ ๑๕ พ.ค. ซึ่งใกล้ที่จะมีกำหนดกลับวัดแล้ว รถเลี้ยวขวาเข้าไปภายในวัด เห็นกำลังสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หน้าตักเกือบ ๖ เมตร มีป้ายเชิญชวนร่วมทำบุญด้วย


ท่านอาจารย์ตุ๋ยเดินเข้าไปหาหลวงพ่อเจ้าอาวาส แล้วชักชวนกันเดินเข้าไปทางหลังวัด จะเห็นเป็นหลุมอยู่ข้างทางแต่ไกล ด้านข้างมีสระน้ำอยู่ด้วย หลวงพี่ได้เข้าไปสำรวจแล้วช่วยกันขุดคุ้ยดินที่ไหลมาทับถมอยู่บ้าง เป็นรอยพระพุทธบาท กว้าง ๖๔ ซ.ม. ยาว ๑๔๗ ซ.ม. ซึ่งบริเวณนี้เป็นทางที่น้ำไหลผ่าน


ส่วนด้านข้างมีถ้ำเป็นที่อาศัยของงูเหลือมหลายตัว ซึ่งมีรูถ้ำเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ผลาญหิน ดังที่เห็นในภาพขวามือของท่าน บนผลาญหินท่านได้สร้างซุ้มพระพุทธรูปและเจดีย์องค์เล็กๆ ไว้ ชาวบ้านที่มาด้วยบอกว่า ตนเองเคยแอบเข้าไปในถ้ำ มองเห็นงูเหลือมตัวใหญ่อยู่ภายในหลายตัว


หลวงพ่อเจ้าอาวาสเล่าว่า ท่านเคยเห็นดวงไฟลอยขึ้นมาในบริเวณนี้ ๒ ครั้ง หลวงพี่ก็ได้แนะนำให้ทำศาลาเล็กๆ คุลมไว้ พร้อมได้ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาสเป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท และถวายย่าม ๑ ใ บหนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๑ อีกด้วย ก่อนที่จะทำพิธีบวงสรวง สรงน้ำ ปิดทองกันต่อไป


สำหรับสถานที่แห่งนี้ เมื่อปีที่แล้วก็เดินทางผ่านเส้นนี้ แต่หลวงพี่ลืมดูข้อมูล จึงทำให้พลาดโอกาสไป คล้ายกับว่ามีเหตุให้ท่านอาจารย์ตุ๋ยต้องนำมาด้วยตนเอง พร้อมกับการเดินทางสถานที่สุดท้ายตามข้อมูลที่ได้รับจากท่านอาจารย์เกียรติก้อง ส่วนหลวงพี่ยังมี "รอยประทับนั่ง" ที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ อีกแห่งเดียวท่านก็กลับวัดแล้ว



(เชิญชม "คลิปวีดีโอ" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)


๒๓. รอยพระพุทธบาท บ้านโซ่ง หมู่ที่ ๑ ต.ห้วยแก อ.ชนบท จ.ขอนแก่น (พบใหม่ ลำดับที่ 622)

.....รถได้วิ่งย้อนกลับมาทางขอนแก่น แล้วเลี้ยวไปทาง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ท่านอาจารย์ตุ๋ยได้แวะเข้าไปในหมู่บ้านโซ่ง เพื่อหาคนนำทางชื่อ นายฉลอง บัวพวงชน ทั้งนี้ได้นัดหมายทางโทรศัพท์ไว้แล้ว ตามคำแนะนำของท่านอาจารย์เกียรติก้อง ซึ่งท่านบอกว่ารอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จะมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่น นั่นก็คือเป็นรอยนูนขึ้นมา


ลุงฉลองได้นำเข้าไปในป่าโปร่ง รถต้องวิ่งเลี้ยวไปเลี้ยวมาแทบจะหาบ้านคนไม่ได้เลย คงจะบอกเล่าไม่ได้ว่าระยะทางเท่าไร เข้าไปทางไหนของหมู่บ้าน บอกได้แต่เพียงว่าต้องอาศัยความจำของคุณลุงที่ได้เคยเข้ามากับท่านอาจารย์เกียรติก้อง เพื่อร่วมสร้างศาลาครอบพระพุทธบาทกับท่าน รถวิ่งเข้าไปในป่าอย่างไม่มีป้ายบอก ซึ่งเป็นทางลูกรัง วิ่งเข้าไปนานประมาณเกือบ ๓๐ นาที จะเห็นศาลาสังกะสีแต่ไกล


(ภาพถ่ายด้านหน้าหลวงพี่กำลังฉันเพลภายในศาลา ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นการถ่ายด้านหลังศาลา)

ครั้นไปถึงก็เป็นเวลาฉันเพลพอดี พวกเราได้จัดเตรียมสำรับกับข้าวให้หลวงพี่ทั้งสามองค์ โดยการซื้อเสบียงมาจากตลาดไว้แล้ว แต่หลวงพี่ตุ๋ยกับหลวงพี่สุพจน์ได้จัดเตรียมกระติ๊บข้าวเหนียวมาทุกวัน เพราะท่านถนัดของท่านอย่างนั้น


หลังจากท่านฉันเสร็จแล้วก็ได้มองดูพระบาทอย่างเต็มตา พบว่ารอยพระพุทธบาทเป็นรูปนูนสูง คล้ายรองเท้าฟองน้ำจริง และมีหินรูปลักษณะคล้าย "เต่า" อยู่บริเวณใกล้เคียง และมีรอยพระพุทธบาทอื่นๆ อยู่บริเวณใกล้เคียงนับได้ ๕ รอย (รวมทั้งรอยที่ถูกพระพุทธรูปทับอยู่ด้วย)


คุณบุ๋มได้พยายามถ่ายรูปแง่ทุกมุม แต่เสียดายที่ไม่สามารถจะลงได้หมด เพราะกลัวว่าท่านผู้อ่านจะโหลดกันยาก จึงคัดเลือกมาลงเฉพาะที่ชัดเจนสวยงามตามธรรมชาติ หลวงพี่สำรวจแล้วบอกว่า สถานที่แห่งนี้มีลักษณะเหมือนกับที่ "ภูผักแพว" ต.ช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี


คือก้อนหินมีรูปร่างเป็นรอยเท้า แต่เป็นรอยนูนขึ้นเด่นชัด ส่วนด้านล่างจะเห็นเป็นรอยริ้วคล้ายชายอาสนะ หลวงพี่จึงบอกว่ารอยพระพุทธบาทแห่งนี้ เป็นรอยที่มีฐานรองรับด้วย หมายความว่ารอยพระพุทธบาทวางอยู่บนฐานคล้ายดอกบัวนั่นเอง


หลวงพี่จึงได้จุดธูปเทียนบวงสรวง พร้อมทั้งสรงน้ำ โปรยดอกไม้ และปิดทอง รอยพระพุทธบาทแห่งที่นี้นับว่าสวยงาม และมีลักษณะของหินที่เป็นนูนต่ำหาได้ยาก โชคดีที่ยังไม่มีใครมาทาสีให้เลอะเทอะ คงปล่อยไว้ตามธรรมชาติ นับว่าท่านอาจารย์เกียรติก้องได้อนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณรุ่งก็เคยมาที่นี่เหมือนกัน


จากนั้นได้ย้อนกลับออกมาส่งคุณลุงฉลองที่หมู่บ้าน แล้วออกเดินทางกันต่อไปทาง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น


๒๔. รอยพระพุทธบาท วัดป่าบุญนิมิต (ภูวัด) บ้านคำน้อย หมู่ ๔ ต.คำแดน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น (พบใหม่ ลำดับที่ 623)


รถวิ่งไปตามถนนลาดยางมุ่งหน้าสู่จุดหมายสุดท้าย ตามข้อมูลที่ท่านอาจารย์ตุ๋ยได้รับจากคนงานที่เคยไปร่วมสร้างพระพุทธรูปกับท่าน แต่ได้มามีภรรยาที่บ้านคำน้อยแห่งนี้ รถได้แวะเข้าไปหมู่บ้าน แล้วคนงานสองคนนี้ได้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์นำเข้ามาในวัด พบเห็นผลาญหินใหญ่มีกุฏิอยู่หลังหนึ่ง ต้องเดินข้ามสะพานไม้เล็กๆ ไป


ทั้งนี้จะเห็นเป็นรอยเท้าใหญ่ที่ทาสีทองไว้ด้านล่างโขดหิน ซึ่งเป็นช่องของผลาญหินมีสะพานไม้ข้าม รอยพระพุทธบาทเป็นรอยลักษณะตั้งฉากกับพื้นดิน ส่วนข้างบนผลาญหินอีกก้อนหนึ่งก็มีลักษณะคล้ายรอยพระพุทธบาทเช่นกัน


หลวงพี่ได้เปิดเสียงหลวงพ่อบวงสรวง แล้วได้สรงน้ำ ปิดทอง พร้อมทั้งได้ร่วมทำบุญกับพระอาจารย์ตุ๋ย และพระอาจารย์สุพจน์ องค์ละ ๕,๐๐๐ บาท เพื่อให้ท่านนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงวัด อีกทั้งมองให้กับคุณหนวด คนขับรถของท่าน รวมทั้งหนูน้อยตัวเล็ก ดช.เก่ง ด้วย รวมเป็นเงินทั้งหมด ๑๖,๕๐๐ บาท ถือว่าได้ทำบุญเป็นการปิดท้ายรายการในครั้งนี้


จากนั้นท่านได้เดินไปที่ป้ายที่ทางวัดเขียนบอกว่าไว้ "บ่อน้ำดึกดำบรรพ์ศักดิ์สิทธิ์" มองเห็นบ่อน้ำเล็กใหญ่อยู่เต็มผลาญหินเต็มไปหมด บางแห่งก็มองลงไปมีน้ำขังอยู่ ภายในจะมีรูปร่างคล้ายรอยเท้าด้วย ซึ่งจะพบเห็นเหมือนกับสถานที่อื่นๆ ที่มีรอยพระพุทธบาทเช่นนี้


สำหรับสถานที่นี้ความจริงถ้าเข้ามาทาง บ้านฝาง - หนองเรือ จะง่ายกว่า หมายถึงออกจากวัดป่าธรรมสังเวชฯ แล้วเลี้ยววิ่งต่อไปที่หนองเรือ แล้วเลี้ยวเข้าไปทางนี้จะใกล้กว่ามาก พอมาถึงแล้วจึงรู้ว่าเราวิ่งอ้อมไปอ้อมมา เป็นอันว่าหลวงพี่ได้โปรยดอกไม้และสรงน้ำหอม แล้วร่ำลาหมู่คณะที่ติดตามกันมานานหลายวัน ถ้าหากท่านไม่ได้ร่วมเดินทางมาด้วย หลวงพี่คงจะเคลียงานไม่หมด อีกทั้งคงไม่ได้พบเพิ่มเติมอีกหลายแห่งเช่นนี้


นับว่าท่านอาจารย์ตุ๋ยและอาจารย์สุพจน์ ทางภาคอีสานนี้ได้มีส่วนช่วยสืบหารอยพระพุทธบาทมากมายหลายร้อยแห่ง นับเป็นเวลาที่ผ่านมานานหลายปี โดยการสำรวจแล้วส่งภาพถ่ายมาให้ก่อนทุกแห่ง จากนั้นหลวงพี่จึงจะเดินทางมาสำรวจภายหลัง การเดินทางในครั้งนี้ หลวงพี่จึงได้มีโอกาสสืบหาจนพบครบถ้วนทุกแห่ง อีกทั้งได้ร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูปและศาลาคลุมไว้หลายแห่ง ซึ่งจะได้เล่าเป็นการสรุปในวันสุดท้ายต่อไป.



(เชิญชม "คลิปวีดีโอ" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตาม "ตอนจบ" ต่อไป )))


webmaster - 17/6/10 at 05:50


(Update 17-6-53 ตอนจบ)


๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (มัญจาคีรี - หนองบัวแดง)


๒๕. รอยพระพุทธบาท "พุทธอุทยานป่าหินงาม" (วัดเต่าใหญ่) ต.หนองบัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ (พบใหม่ ลำดับที่ 624)


.....ประวัติ "วัดพุทธอุทยานป่าหินงาม" (วัดเต่า) ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ แต่ก่อนเรียกพนักหินแตก เพราะมีก้อนหินขนาดใหญ่แตกระหว่างกลางเป็นสอนซีกคนเดินผ่านได้ มีเนื้อที่ 20 ไร่ เป็นที่ของพ่อเวิน-แม่หนม ประทุมแก้ว ได้มีศรัทธาบริจาคให้เป็นพุทธสถานแด่พระธุดงธ์ ในปี พ.ศ. 2542 โดยสร้างเสนาสนะ แต่ไม่ถาวรถวาย และอยู่ได้หนึงปี ก็ไม่มีพระอยู่จำรรษาอีกเลยวัดจึงร้าง ทางเจ้าภาพจึงขอยกถวายให้เจ้าคุณพระศีลวราลังการ รองเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ (วัดผาเกิ้ง) เป็นผู้ดูแล

.....จนกระทั่งในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 หลวงพ่อรองเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ (วัดผาเกิ้ง) จึงได้นิมนต์พระครูสังฆรักษ์สีลวัณตะ (ครูบาพเยาว์) รักขิตะธัมโม วัดห้วยหว้า ตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มาพำนักในทึ่แห่งนี้โดยได้สร้างเสนาสนะพออยู่อาศัยถวายให้ และได้ตั้งชื่อว่า "พุทธอุทยานป่าหินงาม" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อครูบาพเยาว์ได้มาพำนักที่แห่งนี้ ก็ได้นิมิตเห็นเต่าใหญ่มาขออยู่ด้วย เพราะเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรมาตั้งแต่อดีตชาติ ในที่ตรงนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน และมีเต่า กระดองเต่าที่เก่าแก่แตกบ้าง สมบูรณ์บ้างก็มีเลื่อนกลาดมากมาย

(ภาพข้อมูล : wattao.net)



....วันที่ ๑๕ นี้คงเป็นวันสุดท้ายของการเดินทาง วันที่ ๑๖ หลวงพี่จะเดินทางกลับวัดแล้ว หลังจากคณะพระอาจารย์ประทักษ์กลับไปแล้ว พวกเราต้องวิ่งรถไปคันเดียว รู้สึกคิดถึงและเงียบเหงาพอสมควร แต่ก็ต้องจำใจจากกัน เพื่อจะไปค้นหาอีกสถานที่แห่งเดียวเท่านั้น

ในขณะที่มุ่งหน้าจะไปทางหนองบัวแดง ระหว่างนั้นได้เห็นพระใหญ่อยู่ทางขวามือ เสียงหลวงพี่จากข้างหลังบอกว่า เลี้ยวรถเข้าไปร่วมทำบุญกันหน่อย เพราะทางวัดเต่าใหญ่ยังสร้างไม่เสร็จ หลวงพี่จึงเดินเข้าไปในวัด เพราะได้ยินเสียงเทปหลวงพ่อดังไปทั่วบริเวณวัด ภายในวัดเป็นโขดหินมีต้นไม้ร่มคลึ้ม ท่านเจ้าอาวาสคือ ท่านครูบาพเยาว์ได้เข้ามาทักทาย


บริเวณนี้จะมีสัตว์ต่างๆ อยู่ในกรง เช่นกระต่ายและลิงเป็นต้น ท่านคงอนุรักษ์ไว้ด้วยเมตตาธรรม มีชาวบ้านมาท่องเที่ยวกันอยู่เสมอ จากนั้นท่านได้นำไปที่ลานหินใหญ่มีพระพุทธรูป "ปางปาลิไลยกะองค์ใหญ่อยู่ด้านหน้า จะเห็นบ่อน้ำอยู่ใกล้ๆ


เมื่อหลวงพี่เข้าไปสำรวจและพวกเราได้เห็นแล้ว ต่างก็มีความเห็นว่ามีลักษณะน่าจะใช่รอยพระพุทธบาท เพียงแต่ไม่มีรอยนิ้วเท้าเท่านั้น เป็นคล้ายรองเท้าฟองน้ำ ท่านบอกว่าน้ำที่ขังอยู่ในรอยก็ไม่เคยแห้ง ได้วัดขนาดความยาว ๑๑๙ ซ.ม. กว้าง ๙๖ ซ.ม.


แต่ท่านครูบาฯ ก็ยังไม่แน่ใจ คงเก็บความสงสัยไว้มานานแล้ว หลวงพี่จึงได้บวงสรวง สรงน้ำ ปิดทอง และเสี่ยงทาย ผลปรากฏว่าท่านมีความมั่นใจขึ้น อีกทั้งท่านได้เคยเห็นแสงไฟในบริเวณนี้มาก่อน โดยเฉพาะมีชาวบ้านอีก ๓ - ๔ คน มาร่วมพิธีนี้ด้วย



ในจำนวนนี้เป็นผู้ถวายที่ดินอีกด้วย ต่างก็เล่าว่าเคยเห็นดวงไฟในยามค่ำคืนเช่นกัน หลวงพี่จึงได้ถวายหนังสือ
ตามรอยพระพุทธบาท ๑ ชุด (๔ เล่ม) และแนะนำให้จัดงานประจำปีในการบูชารอยพระพุทธบาทด้วย


หลังจากถ่ายภาพร่วมกันแล้ว ท่านครูบาฯ ได้ขอตัวไปรับแขก เนื่องจากมีชาวบ้านมาถวายสังฆทาน ท่านได้มอบหมายให้พระเลขานำไปชมบริเวณสระน้ำ พอได้เวลาเพลทางวัดได้จัดอาหารถวายหลวงพี่ ฉันเสร็จแล้วจึงออกเดินทางต่อไป



รอยเท้าไดโนเสาร์ บ้านโนนตูม ต.วังชมภู อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

ข่าวพบรอยเท้าไดโนเสาร์พันธุ์ซอโรพอดและคาร์โนซอร์กว่า 80 รอย บนลานหินริมตลิ่งน้ำชี อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ คาดมีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกกว่า 200 ล้านปี


......การค้นพบร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่คาดว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลกครั้งนี้ เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม ที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยมี ผศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผอ.พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายทวีศักดิ์ วงษ์ศรีชา ผู้ช่วยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชัยภูมิ ร่วมกันแถลงข่าว

ผศ.ดร.เศาวนิตกล่าวว่า หลังชาวบ้านพบรอยเท้าไดโนเสาร์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 บริเวณลานหินริมตลิ่งลำชี บ้านโนนตูม ต.วังชมภู อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ จากนั้นคณะสำรวจ พร้อมด้วยนายศุภโชค หาญกุดเลาะ ชาวบ้านโนนตูม ได้พาคณะเข้าตรวจสอบ พบรอยเท้าไดโนเสาร์ไม่ต่ำกว่า 80 รอย บนลานหินทรายพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร

จากการจำแนกเบื้องต้น โดยปรึกษากับ ดร.โยอิชิ อะซูมา ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์ จากพิพิธภัณฑ์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และ ศ.ต่ง จือหมิง จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ลูเฟง สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า รอยเท้าที่ปรากฏมี 3 ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นแนวทางเดินของรอยเท้าทรงกลมมนคล้ายรอยเท้าของช้าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 44 เซนติเมตร จำนวนไม่ต่ำกว่า 17 รอย คาดว่าเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด หรือไดโนเสาร์สี่เท้าขนาดใหญ่กินพืช

ลักษณะที่ 2 เป็นแนวทางเดินของรอยเท้า 3 นิ้ว คล้ายเท้านก ขนาด 28x30 เซนติเมตร จำนวนไม่ต่ำกว่า 15 รอย คาดว่าเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์คาร์โนซอร์ หรือไดโนเสาร์สองเท้าขนาดใหญ่กินเนื้อ

ส่วนลักษณะที่ 3 เป็นแนวทางเดินของรอยเท้า 2 กีบคล้ายเท้าควาย รอยเท้าหลัง ขนาด 18x20 เชนติเมตร จำนวนไม่ต่ำกว่า 29 รอย รอยเท้าหน้า ขนาด 10x20 เซนติเมตร จำนวน 19 รอย ลักษณะที่ 3 นี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นรอยไดโนเสาร์หรือสัตว์เลื้อยคลานประเภทใด คาดว่าเป็นรอยเท้าสัตว์ชนิดใหม่ที่น่าจะยังไม่เคยพบมาก่อน

ผศ.ดร.เศาวนิต กล่าวว่า รอยเท้าทั้งหมดพบอยู่บนหินที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า "หมวดหินน้ำพอง" ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีให้อายุอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 210 ล้านปีก่อน ความสำคัญของรอยเท้าดังกล่าวจึงอยู่ที่คาดว่าเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ซอโรพอด และคาร์โนซอร์ที่มีอายุเก่าที่สุดในโลก เพราะรอยเท้าที่พบในแหล่งอื่นอยู่ในยุคจูราสสิก อายุประมาณ 200-146 ล้านปีก่อน

ที่มา - wutthi.com




ในระหว่าง พวกเราได้เห็นป้ายบอกทาง "รอยเท้าไดโนเสาร์" จึงได้แวะถามชาวบ้าน แล้วจึงนำรถเข้าไปทางบ้าน
โคกสง่า แล้วนำรถจอดไว้ริมตลิ่งลำชี เดินลงไปที่ลำห้วยมีน้ำไหลผ่าน จึงเหมือนกับได้แวะพักผ่อนในยามร้อน


หลังจากได้สำรวจรอยเท้ากันแล้ว หลวงพี่จึงได้ลงสรงน้ำ น้ำเย็นสบาย พวกเราก็ลงอาบด้วย อาบเสร็จชาวบ้านมาพอดี จึงขึ้นมาจากน้ำแล้วออกเดินทางต่อไป



(เชิญชม "คลิปวีดีโอ" ภาพอาจจะสั่นไหวไปบ้างต้องขออภัยด้วย)




๒๖. รอยประทับนั่ง "สำนักสงฆ์ป่าพนังสลักได" บ้านนาเจริญ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ (พบใหม่ ลำดับที่ 625)



(ภาพนี้มีผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ส่งข่าวมาทางอีเมล์ เมื่อ 20 มี.ค. 2553)



รถได้วิ่งไปตามถนนสายหนองบัวแดง-ภักดีชุมพล โดยมีเป้าหมายแวะที่วัดบ้านนาเจริญก่อน หลังจากหลวงพี่ได้แจ้งไว้หลายวันแล้วกับเจ้าอาวาสคือ ท่านอาจารย์สิทธา ท่านจึงได้นำไปที่เป้าหมายทันที โดยลงจากรถชี้มือไปที่ภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูเขียว


สำนักสงฆ์ป่าพนังสลักไดนี้อยู่ในป่าบริเวณเทือกเขาที่ว่านี้แหละ แต่ไม่ได้ขึ้นเขาอะไรมากนัก เพียงแค่จอดรถไว้ที่ลานหน้าพระพุทธรูปยืนที่เห็นนี้ แล้วเดินเข้าป่าละเมาะไปประมาณ ๕๐๐ เมตร ก็จะเห็นป้ายจารึกและศาลาครอบรอยประทับนั่งอยู่กลางป่า


ท่านอาจารย์สิทธาเล่าว่า เดิมท่านครูบาพเยาว์อยู่ที่สำนักแห่งนี้ ส่วนก้อนหินรอยประทับนั่งอยู่โคนใต้ต้นไม้แถวนี้ ต่อมามีพระอาจารย์รูปหนึ่งจากกรุงเทพฯ ได้มาอัญเชิญขึ้นบนแท่นแล้วสร้างศาลาครอบไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙


นับว่าเป็นร่องรอยที่ยังเป็นธรรมชาติอยู่จริงๆ คือมีรอยคล้ายประทับนั่งอยู่ด้วย หลวงพี่ได้ให้ห่มผ้าสีทองที่เหลืออยู่บูชาที่ฐาน มองดูแล้วสวยงามอร่ามตามาก ช่างภาพได้ถ่ายภาพทุกด้าน ทั้งด้านข้างและด้านหลัง


จากนั้นได้ทำพิธีบวงสรวง สรงน้ำ ปิดทอง โปรยดอกไม้ แล้วได้ทำบุญกับพระอาจารย์สิทธา ๑,๐๐๐ บาท





๒๗. รอยพระพุทธบาท วัดนาเจริญ บ้านนาเจริญ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ


พวกเราได้ขับรถย้อนกลับมาที่วัดนาเจริญอีก เจ้าอาวาสได้นำไปที่ก้อนหินขนาดไม่ใหญ่มาก ท่านได้นำมาจากในป่าแล้วหล่อปูนยึดเอาไว้ แล้วได้สร้างศาลาเป็นที่ประดิษฐาน แต่หลวงพี่ไม่ได้นำเข้าอันดับรอยพระพุทธบาท เพราะเป็นก้อนหินไม่ใหญ่มากนัก อาจจะถูกเคลื่อนย้ายไปที่อื่นได้


หลวงพี่ได้สรงน้ำ ปิดทอง โปรยดอกไม้ แล้วออกเดินทางกลับ แต่ก็ยังไปไม่ถึงวัดเพราะมืดค่ำเสียก่อน วันรุ่งขึ้นท่านได้แวะซื้อผ้าจีวรแถวตากฟ้า แล้วเดินทางกลับถึงวัดในวันที่ ๑๖ จึงขอยุติเล่าเรื่องการเดินทางไว้แต่เพียงแค่นี้

.......พร้อมทั้งขอสรุปการเดินทางตั้งแต่วันที่ ๑๒- ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ นับเป็นเวลา 8-9 วัน ได้พบรอยพระพุทธบาท ๑๐ แห่ง, รอยประทับนั่ง ๑ แห่ง, บ่อน้ำทิพย์ ๒ แห่ง, และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๑ แห่ง, สร้างพระใหญ่ ๑ แห่ง ทำบุญด้วยจำนวนเงินหลายหมื่นบาท จึงขออนุโมทนาผู้ร่วมงานตลอดจนถึงท่านผู้อ่านที่ติดตามมาตลอดทุกตอนไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ.

◄ll กลับสู่สารบัญ