ตามรอยพระพุทธบาท

เล่าเรื่องไป "เมืองพม่า" วันที่ 11 ก.พ.-2 มี.ค. 2553 (ตอนที่ 3)
webmaster - 5/7/10 at 16:46

◄ll ตอนที่ 1| ตอนที่ 2 | ตอนที่ 4 ll►



สารบัญ (เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)

01.
ประวัติพระเจดีย์กะเลงอ่อง
02. ประวัติพระเจดีย์เมรัล
03. สรุปรายชื่อสถานที่ต่างๆ
04. เล่าเรื่องเดินทางไปมัณฑเลย์
05. เล่าเรื่องเดินทางไปเมืองโมก็อก (Mogok)
06. เล่าเรื่องเดินทางไปเมืองกะตา (Ka-Tha)
07. เมืองกะตา - เมืองโมเยี้ยน (Mohnyin) (Update 12-07-53)



.......ผู้เขียนได้ทิ้งช่วงไปหลายวัน กว่าจะได้เล่าเรื่องการไป "เจาะลึก" ประเทศพม่า เพื่อรอคุณวัชรพล (ปุ๋ม) ศรีขวัญ จัดพิมพ์ข้อมูลเดินทาง แล้วส่งให้คุณสุภาวดี (แพรว) พรประสิทธิ์กุล เป็นผู้จัดภาพลงเวป อีกทั้งต้องค้นหาข้อมูลและแปล "หนังสือประวัติ" แต่ละแห่ง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากๆ เพราะเขาเขียนเป็นภาษามอญบ้างภาษาพม่าบ้าง จึงขอรับรองว่าท่านจะยังไม่เคยเห็น หรือเคยรู้เคยอ่านประวัติอดีตใน "อาณาจักรมอญ" แห่งนี้มาก่อนอย่างแน่นอน

ฉะนั้นก่อนที่ผู้อ่านจะได้ติดตามเรื่องราวต่อไป ซึ่งล้วนแต่เป็นสถานที่ที่คนไทยแทบจะไม่เคยไปถึง หรืออาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป เพราะมันไกลแสนไกลและไปยากจริงๆ และกว่าจะแปลกันได้ ความจริงก็อยากให้ท่านสุวรรณ สุวัฒโณ ที่เป็นภิกษุชาวมอญร่วมเดินทางไปด้วย แต่ก็รอไม่ไหวเพราะจะต้องรีบไปจำพรรษาที่ วัดสิริเขตคีรี อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย จึงจำเป็นที่จะต้องเล่าเรื่องไป "พม่า" ให้จบเสียก่อน

ก่อนอื่นจะขอย้อนตอนที่ 2 เพราะได้มีผู้แปลประวัติ "พระเจดีย์ซานดอว์เซน" บ้านกะเลงอ่อง และประวัติ "พระเจดีย์แมรัล" แปลเสร็จแล้วมีเจ้าของร้านคอมฯ ในตัวเมืองพิจิตร ช่วยพิมพ์ส่งมาให้เรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณและอนุโมทนา คุณมายิน เดียวสุรินทร์ ที่ช่วยร่างคำแปลกับ "ลิ้นจี่" ลูกน้องในร้านอาหาร บ้านอยู่ที่เมืองตะโท (สะเทิม) ช่วยแปลให้เป็นผลสำเร็จ ท่ามกลางความยากแต่ก็สนุกสนานในการแปลมาเป็นภาษาไทย แต่ก็ได้ใจความเกิดมีความศรัทธายิ่งขึ้นเมื่อได้อ่านผ่านไปแล้ว

นับว่าบรรพบุรุษของชาวมอญทั้งหลายในเขตนั้น ต่างก็ได้อนุรักษ์ประวัติความเป็นมาไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งได้บูรณปฏิสังขรณ์สถานที่สำคัญเหล่านี้ ซึ่งนับเวลาผ่านมาหลายพุทธันดร ยังสามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆ มาแต่โบราณ แม้แต่ชื่อบุคคลและชื่อเมืองหรือชื่อของสถานที่ ถึงแม้จะมีไม่ยาวมากนัก แต่ก็ทรงคุณค่ามหาศาล ซึ่งจะมีความสำคัญในอดีตอย่างไร ผู้เขียนใคร่ขอย้อนที่เล่าผ่านไปเมื่อตอนที่ 2 ซึ่งได้เล่าผ่านไปนับ ลำดับที่ 8 คือ "พระเจดีย์ซานดอว์เซน" บ้านกะเลงอ่อง เมืองทวาย ประเทศเมียนม่าร์


เดินทางเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2553 ณ พระเจดีย์ซานดอว์เซน บ้านกะเลงอ่อง เมืองทวาย



ภาพทางอากาศ : จะเห็นหลังคาบันไดทางขึ้นไปจนถึงบนยอดเขาสูง "พระเจดีย์ซานดอว์เซน" บ้านกะเลงอ่อง

พระเจดีย์ซานดอว์เซน เจ้าหน้าของวัดเล่าว่า เป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ 4 พระองค์ องค์ละ 3 เส้น รวมทั้งหมด 12 เส้น ตามตำนานเล่าว่าเป็นประเพณีที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะต้องเสด็จมาประทานพระเกศาธาตุไว้ ณ สถานที่นี้ ซึ่งผู้เขียนขอนำประวัติที่แปลเสร็จแล้ว ตามหนังสือประวัติเรียกชื่อเต็มสถานที่นี้ว่า "พระเจดีย์กะเลงอ่องซู่ตองบีซานดอว์เซน" ดังนี้

01.

ประวัติ "พระเจดีย์กะเลงอ่องซู่ตองบีซานดอว์เซน"

สมัยพระพุทธกกุสันโธ

ตามเนื่อเรื่องได้เล่าย้อนไปถึงตอนสมัยพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ผ่านไปแล้ว 3 พระองค์ คือ พระพุทธกกุสันโธ, พระพุทธโกนาคม, พระพุทธกัสสป สมัยที่ พระพุทธเจ้ากกุสันโธ อุบัติขึ้นในโลก พระองค์ได้เสด็จสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย จนกระทั่งเสด็จโปรดมาถึงอาณาเขตนี้ สมัยนั้น "เมืองกะเลงอ่อง" มีชื่อว่า "เมืองเวเม่ตะกร้าตอง" มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองทรงพระนามว่า "พระเจ้าเคมา" ซึ่งเป็นหน่อเนื้อพระโพธิสัตว์ เพราะสมัยต่อมาเจ้าเมืองพระองค์นี้ ได้กลับมาเกิดเป็นสมเด็จพระสมณโคดมพุทธเจ้า

สมเด็จพระพุทธกกุสันโธทรงเห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต ณ อาณาจักรแห่งนี้ พระองค์จึงได้ทรงประทาน "พระเกศาธาตุ 3 องค์ เพื่ออนุเคราะห์พระเจ้าเคมาและชาวเมืองทั้งหลาย จะได้สร้างเป็นพุทธสถานไว้เป็นที่กราบไหว้ เพื่อสั่งสมบุญบารมีให้เป็นเนื้อนาบุญสืบต่อไป พระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระโอวาทและสงเคราะห์พระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงเสด็จกลับ ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงปรินิพพานไปตามกาลเวลา

สมัยพระพุทธพระโกนาคม

ครั้นสมัยต่อมาผ่านไปหนึ่งพุทธันดร พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระโกนาคม" ได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ได้เสด็จมาที่ "เมืองกะเลงอ่อง" อีกเช่นกัน พระองค์ท่านได้ประทานพระเกศาธาตุ 3 องค์ ไว้กับมหาเศรษฐี 2 ท่าน มีชื่อว่า "ตุ๊มานะ" และ "ตุ๊บอกา" เมืองกะเลอ่องสมัยนั้นมีชื่อว่า "เมืองกิริเวปลา" หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปยังแว่นแคว้นของพระองค์ต่อไป

สมัยพระพุทธกัสสปะ

จนถึงกาลสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระพุทธกัสสปะ" พระองค์เสด็จโปรดชาวโลกทั้งหลาย จนได้เสด็จมาถึงเมืองกะเลงอ่อง ในสมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระโอรสองค์หนึ่ง มีนามว่า "โบ๊เดสาระ" พระราชบุตรองค์นี้ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาได้ออกบวชเป็นพระฤาษี พระพุทธกัสสปะจึงได้ทรงประทานพระเกศาธาตุไว้กับพระฤาษี 3 องค์ (พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุสมัยพระพุทธกัสสปะชื่อว่า "พระเจดีย์มเหตะระ" ชื่อเดิม "พระเจดีย์กะเลงอ่อง")


สมัยพระสมณโคดม

กาลเวลาผ่านไปอีกหนึ่งพุทธันดร พระเจดีย์แห่งนี้ได้ล่วงมาแล้วถึง 3 พุทธันดร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานส่วนสำคัญสูงสุดบนพระเศียรของพระพุทธเจ้ามาแล้วถึง 3 พระองค์ ซึ่งไม่มีสถานที่ใดที่ประเสริฐเลิศเช่นนี้ สมัยนั้นเมืองกะเลงอ่อง มีชื่อว่า "เมืองเวตาวันน่าต๊องโก" ครั้นถึงสมัยพุทธกาลนี้พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า "พระสมณโคดม" ได้อุบัติขึ้นในโลกแห่ง "ภัทรกัป" นี้ พระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ สถานที่นี้ตามพุทธประเพณีอีกเช่นกัน

ซึ่งเมืองกะเลงอ่องสมัยพระพุทธเจ้า "พระสมณโคดม" นั้นมีชื่อว่า "เมืองวิมิต๊ะ" สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จโปรดมาถึงดินแดนแห่งนี้ เสมือนได้ย้อนกลับมาบ้านเก่าเมืองเดิมของพระองค์ เพราะว่าสมัยพระพุทธกกุสันโธอุบัติขึ้นในโลก พระโพธิ์สัตว์ได้บังเกิดเป็น "พระเจ้าเคมา" เป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินนี้มาแล้ว ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้ทรงประทานพระเกศาธาตุไว้ 3 พระองค์

องค์ที่ 1 ประทานไว้กับมหาเศรษฐีชาวเมืองนี้มีชื่อว่า "ต๋าป้าต้าเกวงปะติ๊" ต่อมาได้ออกบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า
องค์ที่ 2 พระพุทธองค์ได้ประทานพระเกศาธาตุองค์นี้ไว้กับเทพบุตรองค์หนึ่ง มีชื่อว่า "ดูลักก๊ะ"
องค์ที่ 3 พระพุทธองค์ได้ประทานพระเกศาธาตุองค์นี้ไว้กับยักษ์ตนหนึ่ง มีชื่อ "โกงบายะคะ"

ในตอนนั้น องค์สมเด็จพระสมณโคดมได้ตรัสพยากรณ์ไว้กับบุคคลทั้ง 3 โดยตรัสกับพญายักษ์ก่อนว่า เมื่อได้พระเกศาธาตุของพระองค์แล้ว ในขณะที่ตถาคตยังไม่ปรินิพพาน ท่านจะได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้เป็นกษัตริย์ มีชื่อ "พระเจ้าพานมะยาสะ" อยู่จังหวัดตะโท (ปัจจุบันคือ เมืองสะเทิม ในแผ่นที่พม่าเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า "ThaTon" ผู้เขียนชอบอ่านว่า "ท่าตอน" อยู่เสมอ)

แล้วได้ตรัสกับเทวดาต่อไปว่า ถ้าตถาคตเข้านิพพานไปได้ 1 ปี เทพบุตรที่ชื่อ "ดูลักก๊ะ" นี้จะกลับมาเกิดเป็นลูกของกษัตริย์ที่เคยเกิดเป็นยักษ์ เทพบุตรดูลักก๊ะได้เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองนี้ มีชื่อว่า "พระเจ้านุระดี" และได้ตั้งชื่อพระเจดีย์นี้ว่า "กะเลงอ่อง"

สมัยพระเจ้านุระดี

ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้านุระดี (ที่เคยเป็นเทพบุตรองค์นี้) จะได้ปรึกษากับพระสงฆ์เป็นจำนวนมากว่า มีพระเกศาธาตุ 3 องค์ จะนำไปบรรจุไว้ที่ยอดพระเจดีย์ มีชาวบ้านนำสิ่งของมีค่ามาถวายรวมไว้อย่างมากมาย ขณะที่กำลังบรรจุพระเกศาธาตุและของมีค่านั้น ปรากฎว่าได้มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น คือมี "แสงฉัพพรรณรังสี" ปรากฏให้เห็นด้วย

และเวลามีงานทำบุญประจำปีทุก "เดือนมีนาคม" จะมีแสงฉัพพรรณรังสีมาปรากฏให้เห็นทุกปี วัตถุสิ่งของมีค่าต่างๆ เช่น แก้วแหวนเงินทองของมีค่า และเพชรนิลจินดาที่มีผู้ถวายเป็นพุทธบูชาบรรจุไว้นั้น มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้นจำนวน 33 กิโลกรัม กับ 2 ขีด



(ระยะทางระหว่างเมืองสะเทิมและเมืองกะเลงอ่อง)

สมัยต่อได้มีพระอริยสงฆ์ผู้มีฤทธิ์จำนวน 5 รูป ได้เหาะมาทางอากาศแล้วลงมากราบไหว้บูชาพระเจดีย์กะเลงอ่อง ท่านเหาะมาจาก "เมืองกานดายะไต" ได้กราบไหว้บูชาแล้วท่านก็ได้เหาะไป "เมืองตะโท" (สะเทิม) ท่านได้ไปสั่งสอนธรรมะอยู่ 1 ปี แล้วก็เหาะกลับไปเมืองกานดายะไต ท่านเหาะมาที่เมืองกะเลงอ่อง เมื่อเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 22 เหาะมาที่เมืองตะโท (สะเทิม) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 22 แล้วก็เหาะกลับวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 23

รายชื่อพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงฤทธิ์ทั้ง 5 รูป มีดังนี้

1. พระอเชนตอบีต๊ะ มะเท
2. พระอเชนเนียนะ มะเท
3. พระอเชนวิสายะ มะเท
4. พระอเชนโกติต๊ะ มะเท
5. พระอเชนไต๋ต๊ะ มะเท


คำแปล "ซานดอว์เซน" แปลว่า พระเกศาธาตุ
คำแปล "ซู่ตองบี แปลว่า ขออะไรได้ทุกอย่าง
คำแปล "ต่อง" แปลว่า ภูเขา
คำแปล "มะเท" แปลว่า พระอริยสงฆ์


รวมคำแห่งความหมาย "พระเจดีย์กะเลงอ่องซู่ตองบีซานดอว์เซน"
แปลว่า "พระเกศาธาตุบนภูเขากะเลงอ่อง จะขออะไรก็ได้สมหวังทุกอย่าง"




02.

ประวัติพระเจดีย์เมรัล ซานดอว์เซน



ตามคำแปลในหนังสือประวัติที่ผู้เขียนได้มามีว่า เดิมพระเจดีย์นี้ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน หมายถึงพระเจดีย์ถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่ในป่าเป็นเวลานาน จนไม่มีชาวบ้านคนไหนรู้เรื่องมาก่อน เพราะกาลเวลาผ่านมานานนั่นเอง ความจริงสถานที่แห่งนี้มีคำว่า "ซานดอว์เซน" ต่อท้ายด้วย นั่นหมายความว่าเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" นั่นเอง ตามประวัติเล่าต่อไปว่า

วันหนึ่งมีคุณปู่ของผู้ใหญ่บ้าน "เรเซาะเลาะ" มาพบซากพระเจดีย์อยู่ในป่าแห่งนี้ คุณปู่ได้ทำการตัดต้นไม้และปรับพื้นที่บริเวณพระเจดีย์ ชาวบ้านทั้งหลายต่างทราบข่าวก็มากราบไหว้บูชากันอย่างมากมาย พอตกตอนกลางคืนชาวบ้านจะได้ยินเสียงเหมือนมีคนเยอะแยะมากมาย แต่พอไปดูกลับไม่มีคนเลย และตอนกลางคืนจะมีแสงฉัพพรรณรังสีเกิดขึ้นด้วย พระเจดีย์นี้เป็นที่บรรจุพระเกษาธาตุของพระพุทธเจ้า

ในหนังสือประวัติ "พระเจดีย์แมรัล" มีเพียงเท่านี้ เพราะอยู่บนภูเขาสูงมาก ผู้เขียนไม่สามารถเดินทางไปถึง จึงได้แต่เพียงถ่ายรูปทางขึ้นไว้เท่านั้น นอกจากนี้ในหนังสือประวัติยังมี "แผนที่สถานที่สำคัญแห่งอื่นอีกที่บรรจุพระเกศาธาตุ" นับว่าเป็นลายแทงขุมทรัพย์อันประเสริฐจริงๆ

(แผนที่แสดงตำแหน่งสถานที่ประดิษฐาน "พระเกศาธาตุ" ณ อาณาจักรมอญในอดีต)


เมื่อตอนที่แล้ว (ตอนที่ 2) ผู้เขียนได้เคยนำรายชื่อ "พระเกศาธาตุ" ในรัฐมอญ (เมืองเมาะละแหม่ง) และในรัฐกะเหรี่ยง (เมืองพะอ่าน) มาลงให้อ่านกันไปแล้ว ในตอนนี้ขอย้อนเอามาให้อ่านกันอีกครั้ง ซึ่งรายชื่อสถานที่อาจจะไม่ตรงกันบ้าง ด้วยคำพูดและสำเนียงที่แตกต่างกัน เพื่อท่านผู้อ่านสนใจในด้านนี้ จะได้มีข้อมูลไว้ศึกษาเปรียบเทียบกันต่อไป ดังนี้



(ภาพวาด : แสดงถึงพระพุทธเจ้าประทานพระเกศาธาตุให้แก่พระฤาษี)

ตำนาน "พระเกศาธาตุ" ในรัฐมอญ

ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า ในสุวรรณภูมิ (รัฐมอญ) มีพระเกศา ๑๕ พระองค์บรรจุไว้ในพระเจดีย์ต่างๆ ดัวนี้

๑. พระเจ้าติสสะธรรมะสีหะราชา มีพระเกศาธาตุ ๒ เส้น บรรจุเมื่อปีพ.ศ.๑๑๘ ยังไม่ทราบว่าบรรจุอยู่พระเจดีย์องค์ไหน

๒. ติสสะกุมาร มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์สินไจ้ บนภูเขาคัชชะคีรี มีพญานาคดูแลรักษา เป็นพญานาคเพศเมีย (ผู้เขียนไปมาแล้ว)

๓. ฤาษีสีหะกุมาร มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้ซอยกะเปน (ภาษามอญเรียกเป็น "ไจ้ซอยบาง") อยู่ที่พะอ่าน

๔. ฤาษีพุทธญาณะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้ทิโย ภาษามอญเรียกว่า "ไจ้อินเสาะเยอ" หรือรู้จักกันในนาม พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจ้โท (ผู้เขียนไปมาแล้ว)

๕. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์กุสินาเยา (กุสินารมย์) บนภูเขาชื่อ "โตคะโรล" เมืองปิเลน ใกล้เมืองสะเทิม (ผู้เขียนไปมาแล้ว)

๖. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุเมื่อปี พ.ศ.๑๑๙ ไว้ที่ "แมรัลเจดีย์" หรือ "นาคะปุบพะ" (เป็นภาษาบาลี) บนภูเขาแมรัล ปัจจุบันเรียกเป็น "ไจ้เต๋าลองนัด" หรือ "เจดีย์ลูกหิน" อยู่ที่เมืองปิเลน (ไปไม่ได้ มีรูปและหนังสือประวัติด้วย)

๗. ฤาษีอัลละกัปปะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น และพระบรมธาตุ ๘ องค์ บรรจุเมื่อ ปีพ.ศ.๑๑๓ ไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้ปะแต บนส้มเคภูเขา อยู่ที่เมืองตองซ่น (ผู้เขียนไปมาแล้ว)

๘. ฤาษีกัปปะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุเมื่อปีพ.ศ. ๑๑๔ ไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้มอระอิ บนภูเขาชื่อ "มอระอิ" เมืองเมาะลำเลิง (ปัจจุบันอยู่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยง ต..ตะนอทะ เมืองเมียวดี ต้องเข้าทาง อ.พบพระ จ.ตาก) (ผู้เขียนไปมาแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 หลังจากกลับมาจากพม่าแล้ว )

๙. ฤาษีนาระทะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุเมื่อปีพ.ศ. ๑๑๔ไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้มอระอะ บนภูเขาชื่อ "อะโรนเทนโปดอพญา" ไม่ทราบเมือง (ปัจจุบันอยู่ใกล้ภูเขามอระอิ แต่ต้องเข้าไปทาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก)

๑๐ .ฤาษีเกลาสะ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ เมืองละมาย รัฐเย (ผู้เขียนไปมาแล้ว)
หมายเหตุ : พระเจดีย์ "ไจ้เกลาสะ" นี้ยังมีอีกแห่งหนึ่งตามลายแทง (ตามรายชื่อในหนังสือตามรอย เล่ม 1 หน้า 13 ลำดับที่ 63 พระเจดีย์ไจ้ทีซอ (ไจ้ทีละสะ) เมืองเกลาสะ) ผู้เขียนเพิ่งทราบว่าเป็นคนละแห่งกัน เป็นอันว่าจะต้องแยกเป็น 2 แห่ง คือ พระเจดีย์ไจ้ทีซอ และ พระเจดีย์ไจ้เกลาสะ

๑๑. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์มอจีพญา บนภูเขาไจ้คามี อยู่ใกล้กับพระเจดีย์กลางน้ำ ไม่ทราบเมือง (ปัจจุบัน คือ พระเจดีย์ไจ้คำ เมืองไจ้คามี) (ผู้เขียนไปมาแล้ว)

๑๒. พญาสุตโตดนัจปรจีเนานาคราช (พญานาค ๒ พี่น้อง) มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้กะรดแตต ไม่ทราบเมือง

๑๓. ฤาษีไม่ทราบชื่อ มีพระเกศาธาตุ ๑ เส้น บรรจุไว้ที่ พระเจดีย์ไจ้โตยะนะ บนภูเขาชื่อ "โตยะนะ" ไม่ทราบเมื่อง

(หมายเหตุ : นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ซื้อแผ่น VCD มาจากย่างกุ้ง ซึ่งเป็นการร้องเล่าเรื่อง "พระเกศาธาตุ" ตามสถานที่ต่างๆ หากได้แปลเสร็จแล้ว จะนำมาประกอบเป็นความรู้อีกครั้งหนึ่งด้วย)


◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


webmaster - 7/7/10 at 05:57

03.

สรุปรายชื่อสถานที่ต่างๆ


รวมความว่า สถานที่ตกค้างที่ได้เคลียไปแล้ว พอสรุปได้ง่ายๆ ดังนี้ คือ....
๑. รอยพระพุทธบาท "ชเวเซ็ทตอว์" เมืองมินบู อยู่ใกล้เมืองแม็กเว (ชาวพม่าเรียก "มะกรวย") เลยไปทางเมืองแปร ก่อนถึงเมืองพุกาม ไปครั้งแรกปี ๒๕๔๓ (ค้างมานาน ๑๐ ปี ได้ไปสมหวังแล้ว)
๒. พระเจดีย์ซานดอว์เซน เมืองกะเลงอ่อง จังหวัดทวาย อยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า (ได้รับข้อมูลปี ๒๕๔๕)
๓. รอยพระพุทธบาทเกาะกูด จังหวัดเย (ลงบัญชีไว้นานแล้วแต่เพิ่งจะได้ไป)
๔. พระเจดีย์ชเวมิตสุ ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา (สถานที่นี้ยังไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ในระหว่างพักในย่างกุ้ง เจ้าของสถานที่พักมาให้ข้อมูล)


ฉะนั้น ก่อนที่ผู้เขียนจะเล่าเรื่องการเดินทางไป "เจาะลึก" ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมาร์ จะขอนำลำดับสถานที่ที่ยังเหลือค้างอยู่จากตอนที่ ๒ มาลงไว้ก่อนดังนี้

เดินทางไปทาง "ภาคเหนือ" ของพม่า วันที่ ๒๐ - ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ย่างกุ้ง - มัณฑเลย์)
๒๙. สะพานไม้อูเบ็งกะตา เมืองอมรปุระ (เคยไปมาแล้ว)
๓๐. พระเจดีย์สัมพุทเธ เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
๓๑. พระเจดีย์บนยอดเขามัณฑเลย์ เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
๓๒. พระมหามุนี เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มัณฑเลย์ - โมก็อก)
๓๓. วัดพองดอร์อู บ้านเทมชูชั่น เมืองโมก็อก (MOGOK) มัณฑเลย์
๓๔. วัดนาคาเยา เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
๓๕. วัดพระอุปคุต เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
๓๖. พระมหามุนีจำลอง เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
๓๗. พระเจดีย์ชเวกูจี เมืองโมก็อก มัณฑเลย์
๓๘. พระเจดีย์ทอง วัดซันดอว์จี เมืองโมก็อก มัณฑเลย์

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (โมก็อก - มะอู)
๓๙. วัดตะเกาพญา เมืองตะเกา มัณฑเลย์
๔๐. พระพุทธรูปไม้สัก วัดนันเฌย์ยอ บ้านนันเฌ มัณฑเลย์
๔๑. วัดสิริมังคลา เมืองมะอู มัณฑเลย์

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มะอู - โมรู)
๔๒. พระเจติยะ เมืองกะตา จังหวัดสกาย
๔๓. วัดซ่วยกู๋จี เมืองกะตา จังหวัดสกาย
๔๔. พระเจดีย์โลกะมัญจะ เมืองโมรู จังหวัดสกาย

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (โมรู - อินตอยี)
๔๕. พระเจดีย์ยานอ๋องเมียน เมืองโมเยี้ยน
๔๖. พระเจดีย์ชเวมิตสุ (อยู่กลางน้ำ) ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา (Myitkyina)

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (อินตอยี - มิตจินา)
๔๗. พระพุทธรูป (จักสานด้วยไม้ไผ่) บ้านหนึ่งเหลา ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๔๘. รูปปั้นแม่ม่ายและลูก ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๔๙. พระเจดีย์ม๊อกสุมะ ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๕๐. วัดเมษเสยา เมืองมิตจินา

วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มิตจินา)
๕๑. วัดธรรมรักขิตะวอนโต เมืองมิตจินา

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มิตจินา - มัณฑเลย์)
๕๒. พระพุทธสีหไสยาสน์ วัดละเยาโตมูทยา เมืองมิตจินา
๕๓. พระเจดีย์โลกะมันอ๋อง ว้ดโลกะมันอ๋อง เมืองมิตจินา
๕๔. พระพุทธรูปยืน วัดยานโตมูพญา เมืองมิตจินา
๕๕. วัดอันโตเชน (พระทันตธาตุส่วนกรามด้านขวา) อัญเชิญมาจากประเทศจีนได้ประมาณ ๕๙ ปี เมืองมิตจินา
๕๖. พระเจดีย์ยานอ๋องเส เมืองมิตจินา

วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มัณฑเลย์ - ย่างกุ้ง)
๕๗. พระพุทธรูป "มหามุนีพญา" เมืองปินอูลวิน (PYIN OO LWIN)
๕๘. วัดมหานันทะคู (ถ้ำน้ำตก) เมืองปินอูลวิน
๕๙. วัดมหาอัญทูกัน เมืองปินอูลวิน
๖๐. วัดจุละมุริยะมันสุ่น พระพุทธรูป ๔ ทิศ เมืองปินอูลวิน
๖๑. วัดพระงู (โมยพญา) บ้านปะเลย เมืองมัณฑเลย์



........ลำดับที่ ๒๙ - ๓๒ ถ้าท่านผู้อ่านเห็นลำดับสถานที่ต่างๆ แล้ว คงจะเห็นคำในวงเล็บว่า "เคยไปมาแล้ว" นั้น เพื่อจะให้รู้ว่าเป็นสถานที่เดิมที่ได้ลงบัญชีสำรวจไปนานแล้ว สำหรับการเดินทางครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะไปสำรวจเพิ่มเติม หลังจากกลับมาจากทางภาคใต้ของพม่าแล้ว วันที่ ๑๘ - ๑๙ ก.พ. ได้กลับมาพักที่ วัดแดทดอนซัน ในเมืองย่างกุ้ง

แต่ก่อนที่จะเข้าที่พักได้ไปที่สำนักงาน "ชเวไจ้ซีทัวร์" เพื่อชำระค่ารถทัวร์ที่จะเดินไปที่ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจิน่า ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือเกือบสุดประเทศ เหมือนกับเชียงใหม่ของไทย เหลือแค่เชียงรายก็เหนือสุดแล้ว คืออยู่เลยเมืองมัณฑเลย์ขึ้นไปอีก จากเมืองมิตจิน่าก็ขึ้นไปเหนือสุดแค่เมืองพูตาโอ (Pu-ta-o) เท่านั้น



04.

เล่าเรื่องเดินทางไปมัณฑเลย์


วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ย่างกุ้ง - มัณฑเลย์)
๒๙. สะพานไม้อูเบ็งกะตา เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
๓๐. พระเจดีย์สัมพุทเธ เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
๓๑. พระเจดีย์บนยอดเขามัณฑเลย์ เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)
๓๒. พระมหามุนี (องค์น้อง) เมืองมัณฑเลย์ (เคยไปมาแล้ว)

กำหนดการเดินทาง วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ผู้เขียนและพระสุวรรณ สุวัณโณ, คุณวัชรพล (ปุ๋ม) ได้ออกจาก วัดแดทดอนซัน หลังจากนอนพักฟื้นเอาแรงอยู่ ๒ วันเต็มๆ ได้ไปรอขึ้นรถที่ข้างพระเจดีย์ชเวดากองตามนัดหมาย แต่กว่าจะรวมคนจนครบ รถทัวร์ "ชเวไจ้ซี" ได้ออกจากย่างกุ้งเวลา ๒๐.๓๐ น. ไปร่วมสมทบกับรถทัวร์อีกคันหนึ่ง ได้วิ่งตามถนนลาดยางสี่เลนซ์เป็นอย่างดี (เกินความคาดหมาย เดิมคิดว่าสภาพถนนยังไม่ดี เพราะเคยนั่งรถไปครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๕๔๕)

รถบัสใหญ่คนนั่งไม่เต็มรถ มองเห็นภายในรถเป็นชาวพม่าทั้งสิ้น ทุกคนนอนหลับๆ ตื่นๆ ไปถึง "เมืองเนปีดอร์" เมืองหลวงใหม่ประมาณตี ๒ ได้ แวะเข้าห้องน้ำ กว่าจะถึงมัณฑเลย์ก็เป็นเวลา ๙.๐๐ น. โดยก่อนหน้านั้นได้ฉันเช้ากันบนรถ โชคดีที่เตรียมอาหารกระป๋องมาด้วย

เมืองเนปีดอว์ เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ ๒ อย่างคือ Naypyitaw หรือ Naypyidaw แต่ตามหลักภาษาศาสตร์ของพม่าให้ออกเสียงว่า "เนปีดอว์" มีคำแปลตรงตัวว่า "ราชธานี" ตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Kyatpyae ของเมืองปินมนา (Pyinmana) ในภาคมัณฑเลย์

ปินมนาอยู่ห่างจากเมืองมัณฑเลย์ประมาณ ๖ ชั่วโมงโดยทางรถยนต์ และห่างจากกรุงย่างกุ้งประมาณ ๙ ชั่วโมง ในตอนแรก คนทั่วไปเรียกเนปีดอว์ว่า "เมืองปินมนา" เนื่องจากปินมนาอยู่ใกล้ที่สุดและยังไม่มีชื่อเป็นทางการ จนรัฐบาลพม่าได้ประกาศในวันกองทัพเมื่อ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้เรียกว่า "เนปีดอว์"

๒๙. สะพานไม้อูเบ็งกะตา แห่งอมรปุระ (Amarapura)


(ภาพและข้อมูล : tripdeedee.com)

เมืองอมรปุระเป็นเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองมัณฑะเลย์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ สะพานอูเบ็ง (U-Bein) สร้างโดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในสมัยพระเจ้าโบดอพญา ที่ชื่ออูเป็งสะพานนนี้เป็นสะพานไม้สักที่สร้างข้ามทะเลสาบเตาง์ตะมัน (Toungthamon) ประมาณ ๑ กิโลเมตร วัสดุบางส่วนก็นำมาจากกรุงอังวะด้วยโดยสะพานนี้สร้างเพื่อเป็นทางเชื่อมไปสู่เจดีย์จ๊อกตอยี

• สะพานอูเบ็ง : สะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก
• สะพานอูเบ็ง เป็นสะพานที่ยาวถึง ๒ กิโลเมตร ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน ทางตอนใต้ของเมืองอมรปุระ มุ่งตรงไปสู่เจดีย์เจ๊าต่อจี อยู่อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ พระเจ้าปุดงโปรดฯให้ขุนนางนามว่า “อูเบ็ง” เป็นแม่กองงานสร้างสะพานแห่งนี้ โดยใช้ไม้สักที่รื้อจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะจำนวน ๑,๒๐๘ ต้น


ถึงแม้จะมีจุดมุ่งหมายจะไปที่ทะเลสาปอินดอยี เมืองมิตจินา แต่บริษัททัวร์มีโปรแกรมแวะไปตามสถานที่ต่างๆ คือ เริ่มแรกไปชม "สะพานไม้อูเบ็งกะตา" ไกล้เมืองมัณฑเลย์ ท่ามกลางบรรยากาศในยามสาย ได้มาแวะฉันเพลที่นี่ด้วย ตามภาพจะเห็นรถทัวร์สีเขียวอ่อนจำนวน ๒ คัน


เนื่องจากผู้เขียนเคยมาแล้ว จึงไม่ได้เดินไปชมสะพาน คนที่ลงจากรถส่วนใหญ่จะเดินไปชมสะพานไม้สักที่เก่าแก่ แต่ผู้เขียนได้แวะเข้าไปในวัดแถวริมท่าน้ำทำบุญ 2,000 จ๊าด แล้วเดินไปฉันเพลในร้านอาหารริมทะเลสาปตามที่เห็นในภาพนี้แหละ

๓๐. พระเจดีย์สัมพุทเธ เมืองมัณฑเลย์


หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว รถทัวร์ได้นำไปที่ "พระเจดีย์สัมพุทเธ" ในเมืองมัณฑเลย์ ผู้เขียนได้ทำบุญ ๒,๐๐๐ จ๊าด เพราะเคยมาหลายครั้งแล้ว เป็นที่จารึกพระไตรปิฎก ซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือตามรอย เล่มที่ ๔


ทางเดินเข้าผ่านซุ้มประตูสวยงาม ภายในจะเห็นรูปแบบแผนผังของพระเจดีย์ ที่จารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ผู้เขียนเข้าไปกราบพระประธานด้านหน้าพระเจดีย์องค์ใหญ่ แล้วทำบุญใส่ตู้ ๒,๐๐๐ จ๊าด


แผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฎก และพระเจดีย์ทั้งหมดที่อยู่ภายในวัดแห่งนี้


๓๑. พระเจดีย์บนยอดเขามัณฑเลย์


(ภาพและข้อมูล : oceansmile.com)

.......เมืองมัณฑเลย์ เป็นอดีตเมืองหลวง และเมืองใหญ่อันดับที่สองของพม่า ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี ห่างจากย่างกุ้งไปทางทิศเหลือ ๗๑๖ กิโลเมตร ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.๑๘๕๗ โดยพระเจ้ามินดง ตั้งชื่อตามภูเขามัณฑเลย์ ที่อยู่ใกล้เคียง

• มัณฑะเลย์ฮิลล์ : คำว่า “มัณฑเลย์” เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “มันดูลา” หรือ “มันดาลา” ซึ่งหมายถึงวงล้อแห่งพลังอำนาจ หรือมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ และยังเชื่อว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จมาโปรดสัตว์ที่ภูเขาแห่งนี้ พร้อมทั้งมีพุทธทำนายว่าจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา อันเป็นสาเหตุให้พระเจ้ามินดงทรงย้ายราชธานีมาอยู่ใต้ร่มเงาภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

• จุดแรก : วิหารบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นพระบรมธาตุที่ขุดพบที่แคว้นคันธารราษฎร์ ในประเทศอินเดีย มีอักษรจารึกว่าเป็นของพระเจ้ากนิษกะมหาราช ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์ในกษัตริย์ ๘ พระองค์ของอินเดียที่ได้รับแบ่งพระบรมสารีริกธาตุหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารา แต่ภายหลังไม่มีความสำคัญต่อชาวมุสลิมที่ปกครองแคว้นคันธารราษฎร์ รัฐบาลอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมที่ปกครองอินเดียจึงมอบให้พุทธสมาคมแห่งพม่าในปี พ.ศ. 2451 ต่อมามีฤาษีตนหนึ่งชื่อ “อูขันตี” ซึ่งชาวพม่าเคารพนับถือ รวบรวมศรัทธาพุทธศาสนิกชนสร้างวิหารบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนี้ขึ้น แต่เนื่องจากได้รับเงินบริจาคมากถึง ๗๐๐,๐๐๐ รูปี จึงนำเงินไปสร้างปูชนียสถานอื่นๆเพิ่มเติมบนภูเขาแห่งนี้

• จุดที่สอง : เมื่อเดินขึ้นเกือบถึงยอดเขา มีพระพุทธรูป “ชเวยัตดอร์” ประทับยืนขนาดใหญ่ปิดทองทั้งสององค์ ทางพม่าเรียกว่า “ปางพยากรณ์” ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าดินแดนนี้เจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนาและไม่ไกลกันยังมีรูปปั้นยักขินีที่ตัดเต้านมถวายพระพุทธเจ้า เพื่อแสดงเจตนาว่าชายหน้าจะเกิดเป็นชายเพื่อบวชในพุทธศาสนา ซึ่งพระเจ้ามินดงทรงเชื่อว่ายักขีนีคือชาติปางก่อนของพระองค์นั่นเอง

• จุดที่สาม : บนยอดเขามัณฑะเลย์ มีวิหาร “ซูตองพญา” รูปทรงคล้ายมณฑปครอบพระมหามัยมุนี ภายใต้วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสป และพระสมณโคดม รอบวิหารมีระเบียงสำหรับชมทัศนียภาพเมืองมัณฑะเลย์ และสามารถมองเห็นแม่น้ำอิระวดี พระบรมมหาราชวัง และ วัดกุโสดอว์




ภาพจากด้านล่างภายใน "พระเจดีย์สัมพุทเธ" ด้านหลังจะมองเห็นพระเจดีย์อยู่ยอดเขามัณฑเลย์


รถทัวร์ได้จอดที่ด้านหน้าภูเขาแห่งนี้ (มัณฑเลย์ฮิลล์) พนักงานรถทัวร์คนหนึ่งพอพูดภาษาไทยได้บ้างบอกว่า ให้เราขึ้นรถสองแถวขึ้นเขาต่อไป (ค่ารถขึ้นเขาคนละ ๓,๐๐๐ จ๊าด) หลังจากนั้นก็เดินขึ้นบันไดไปบนลานพระเจดีย์


สถานที่แห่งนี้อีกเช่นกัน สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์มินดง ผู้เขียนเคยมาหลายครั้งแล้ว หลังจากกราบไหว้พระประธานแล้ว จึงได้เข้าไปทำบุญกับเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนเงิน ๒,๐๐๐ จ๊าด


ต่อจากนั้นได้เดินออกไปสรงน้ำพระเจดีย์องค์ใหญ่ จะมองเห็นวิวด้านล่างคือ เมืองมัณฑเลย์


จากนั้นได้เดินลงมาแวะมากราบ "รอยพระพุทธบาท" บริเวณเชิงเขา ซึ่งยังมองเห็นเป็นธรรมชาติ



๓๒. พระมหามุนี (องค์น้อง) เมืองมัณฑเลย์

.......เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. ได่เข้ามาแวะพักค้างคืนที่ วัดสอนศาสนา (ใกล้ๆ วัดพระมหามุนี) ซึ่งมีสภาพเหมือนกับที่เราไปพักในศาลาตามวัดต่างๆ ในเมืองไทยนั่นเอง ต้องปูเสื่อนอนรวมกันเป็นแถวๆ ในศาลา ผู้ชายก็ต้องอาบน้ำรวมกัน ส่วนคนที่มากับรถบัสจะช่วยหุงข้าวทำอาหารกันบริเวณนั้น ซึ่งเขาจอดซื้อไม้ฟืนมาไว้แล้ว ข้าวสารเขาก็เอามาเอง เพียงแค่ซื้อกับข้าวมาทำเท่านั้น




เวลา ๑๘.๓๐ น. เดินเข้าไปที่วัดพระมหามุนี แวะเข้าไปทำบุญกับเจ้าหน้าที่ ๓,๐๐๐ จ๊าด


ผู้เขียนได้เข้าไปสวดมนต์และทำสมาธิ ประมาณ ๑๐ นาที จึงเดินชมภายในวิหาร ประวัติบันทึกไว้ว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ เมตร เป็นที่ยอมรับกันว่า มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่ง


ภาพถ่ายเมื่อปี ๒๕๔๕ พระวิหารและพระมหามุนี (องค์พี่)

“มหามุนี” แปลว่า “มหาปราชญ์” หล่อขึ้นในราว พ.ศ. ๖๘๘ โดยชาวยะไข่ (ชนกลุ่มน้อยในรัฐอาระกัน) ทางทิศตะวันตกสุดของพม่าติดกับประเทศอินเดีย ซึ่งมีจำนวน ๒ องค์ องค์พี่ยังอยู่ที่เมืองยะไข่ (องค์เล็กกว่า) ปัจจุบันต้องบินไปลงที่เมืองสิตทวย แล้วนั่งเรือประมาณ ๖ ชั่วโมงไปที่เมือง MRAUK-U (เมืองมร็อกอู) จากนั้นนั่งรถสองแถวอีกประมาณ ๑๐ ก.ม. จึงจะเห็นพระวิหารแต่ไกลซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเก่า ชื่อว่า "ธัญญวดี"


ต่อมาเมื่อ พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่ายกทัพไปตีเมืองยะไข่ได้ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์น้องนี้ มาประดิษฐานที่เมืองมัณฑเลย์ เมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยการถอดออกเป็นชิ้นๆ แล้วขนข้ามภูเขาอาระกันโยมา บริเวณแถวเมืองแม็กเว (มะกรวย) นั่นเอง


มีตำนานเล่ากันว่า พระพุทธเจ้าทรงประทานลมหายใจให้พระมหามุนี เป็นตัวแทนสืบทอดพระศาสนา จึงเชื่อกันว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้มีลมหายใจจริง จึงต้องมีพิธีล้างพระพักตร์ให้ทุกเช้า ซึ่งพิธีนึ้ก็ยังคงดำรงอยู่มาตราบจนถึงปัจจุบันนี้ (อ่านรายละเอียดได้ใน "หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่มที่ ๔)

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอน "เมืองมัณฑเลย์ - เมืองโมก็อก" ต่อไป )))


webmaster - 8/7/10 at 05:42

05.

เล่าเรื่องเดินทางไปเมืองโมก็อก (Mogok)


๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

๓๓. วัดพองดอร์อู บ้านเทมชูชั่น เมืองโมก็อก (MOGOK) จังหวัดมัณฑเลย์


.....รถทัวร์ (สไตล์ชาวพม่า) จำนวน ๒ คัน ประมาณ ๖๐ กว่าคน เดินทางออกจาก "วัดสอนศาสนา ๒๕๕๐" ตอนตี ๓ รถวิ่งขึ้นมาทางเหนือของเมืองมัณฑเลย์ ต้องวิ่งไปตามถนนลาดยางบนภูเขา เส้นทางวกไปวนมาเหมือนกับไปแม่ฮ่องสอนยังไงยังงั้นแหละ แต่ฝีมือคนขับรถทัวร์ขนาดใหญ่ จะมีความชำนาญมาก สามารถตีวงเลี้ยวหักข้อศอกได้อย่างแม่นยำ แต่เวลามองดูลงไปที่หุบเขาเบื้องล่างรู้สึกหวาดเสียวพอสมควร บางครั้งต้องหยุดการเดินทางในช่วงที่เป็นสะพานบ่อยมาก


เนื่องด้วยเป็นเส้นทางระหว่างภูเขา ในระหว่างทางจึงหาร้านอาหารไม่ได้เลย จนถึง "บ้านตะเปยเจียน" คนขับรถเห็นศาลาหลังหนึ่งข้างถนน จึงได้จอดรถแล้วขนเสบียงอาหารที่เขาหุงเตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ กว่าลูกทัวร์จะได้ทานข้าวก็เป็นเวลา ๑๒.๓๐ น. จากนั้นออกเดินทางต่อไป จนเวลาบ่าย ๑๓.๓๐ น. ถึงซุ้มประตูเมือง RUBY (พม่าเรียกว่าเมืองโมก็อก) Welcome to "RUBYLAND" ตามประวัติเล่าว่า....


(ภาพจาก petchchompoo.com)


(Ruby Buddha พระพุทธรูปประดับอัญมณี)

ณ หุบเขาแห่งหนึ่งในเมือง Mogok (อยู่ห่าง ๒๐๐ กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมันฑเลย์) ได้รับผลผลิต "อัญมณี" ที่สวยที่สุดในโลกกว่าพันปี นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ได้ค้นพบเพชรพลอยแห่งนี้เป็นครั้งแรกมากกว่า ๖,๐๐๐ ปีที่แล้ว


รถได้แวะให้ลงถ่ายรูปกันก่อนที่ด้านหน้าโรงแรมผีเสื้อ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างหุบเขาจริงๆ ถึงแม้แอร์ในรถจะเย็นสบายๆ แต่เริ่มจะพบกับอากาศที่หนาวเย็นกว่าซะแล้ว หลังจากนั้นรถได้วิ่งเข้าไปในเมืองโมก็อก แล้วเข้าไปในวัดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นวัดของชาวไทยใหญ่ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น อุณหภูมิแตกต่างกว่ากันมาก ทางวัดมีพระเณรได้เตรียมผ้านวมให้เป็นอย่างดี


ต่อจากนั้นได้แยกย้ายกันไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งมีท่านสุวรรณ สุวัณโณ เป็นผู้นำทาง พร้อมทั้งชวนคนที่นั่งรถบัสมาด้วย ซึ่งเป็นชาวเมียวดี (ตรงข้ามแม่สอด) จำนวน ๔ คนร่วมเดินทางไปด้วย


วัดพองดอว์อู ทะเลสาปอินเล (ภาพจาก sanookholiday.com)

จุดแรกก็เป็นวัดที่สวยงามแห่งหนึ่ง วัดพองดอร์อู (วัดพระบัวเข็ม) บ้านเทมชูชั่น พระพุทธรูปมีลักษณะเหมือนกับที่ วัดพองดอร์อู ที่ทะเลสาปอินเล มีการปิดทองกันองค์พระบัวเข็มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ


หลังได้จากปิดทองสรงน้ำหอมแล้ว จึงได้มาร่วมทำบุญกับเจ้าหน้าที่เป็นเงิน ๔,๐๐๐ จ๊าด แล้วเดินชมพระบรมสารีริกธาตุต่างๆ ภายในตู้กระจก เจ้าหน้าที่ภายในวัดซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ สามารถพูดไทยได้เป็นอย่างดี บอกว่าทางวัดได้สร้างผอบบรรจพระบรมธาตุด้วยเงินแท้ ผู้เขียนจึงขอมีส่วนร่วมนี้ด้วย


ตามที่กล่าวไปแล้วว่า เมืองโมก็อกนี้เป็นเมืองอัญมณีที่มีชื่อเสียงของพม่า ซึ่งมีลักษณะสวยสดงดงามและมีค่ามาก จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก พระเจดีย์ตางเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะต้องนำเพชรพลอยที่เหมืองแห่งนี้ เพื่อนำไปประดับองค์พระพุทธรูปหรือบนยอดฉัตรมาแล้วทั้งสิ้น


(ภายในห้องหนึ่งจะมีรูปเจ้าอาวาสองค์แรกที่สร้างวัดนี้ จากนั้นได้ออกมาถ่ายรูปมณฑปพระ)

โดยเฉพาะพระเถระชาวพม่าตามที่เห็นในรูปภาพนี้ พระสุวรรณบอกว่าเคยได้ยินชื่อเสียงท่านมานานแล้ว เขาเรียกกันว่า "หลวงพ่อโมก็อก" กระดูกเป็นพระธาตุ เพิ่งได้มาเห็นในวันนี้เอง ท่านมรณภาพไปนาน ๕๐ ปีกว่าแล้ว ท่านเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกสร้างวัดแห่งนี้ พร้อมกับนำชื่อเสียงและความเจริญมาสู่เมืองโมก็อกนี้ด้วย



(ภาพ "หลวงพ่อโมก็อก" เส้นผมและกระดูกเป็นพระธาตุจาก thisismyanmar.com) อ่านเรื่องราวของท่านได้ คลิกที่นี่


๓๔. วัดนาคาเยา เมืองโมก็อก เมืองมัณฑเลย์


รถสองแถวที่เช่าไว้ได้พาพวกเราวิ่งออกไปนอกตัวเมืองหน่อยหนึ่งไปถึงวัดนาคาเยา ได้เห็นภาพและฟังชื่อแล้วคงจะเดาได้ เพราะคำว่า "นาคา" คงหมายถึง "พญานาค" นั่นเอง จึงได้ยืนถ่ายรูปตรงที่เขาปั้นรูปพญานาคไว้ก่อน


จากนั้นได้เดินมาอยู่มุมสูง เพื่อให้คุณวัชรพลถ่ายภาพลงไปเบื้องล่าง จะเห็นว่าวัดอยู่บนภูเขาสูง มองเห็นเมืองโมก็อกที่อยู่เบื้องล่างระหว่างหุบเขา บ้านเมืองมีความเจริญพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ มีอาชีพค้าขายอัญมณีกัน


ก่อนจะเดินทางต่อไป ท่านสุวรรณได้เจรจากับท่านเจ้าอาวาส เพื่อขอร่วมทำบุญด้วยเป็นเงิน ๑,๐๐๐ จ๊าก จากนั้นออกเดินทางต่อไป ทั้งนี้แล้วแต่คนขับรถเขาจะพาไป ซึ่งเขาจะรู้ว่าควรพานักท่องเที่ยวอย่างพวกเราไปไหนบ้าง

๓๕. วัดพระอุปคุต เมืองโมก็อก มัณฑเลย์


ปรากฏว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมสระน้ำกลางเมืองโมก๊อก ภายในมณฑปประดิษฐานรูปปั้นพระอุปคุต จึงได้เข้าไปกราบไหว้และทำบุญ ๑,๐๐๐ จ๊าด


พร้อมกับได้ยืนถ่ายรูปกับคณะที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันเป็นที่ระลึก คงจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ได้พบกันและร่วมเดินทางทำบุญด้วยกัน เพราะโอกาสจะเดินทางไปอีกนั้นแสนยาก เนื่องจากหนทางไกลและลำบากพอสมควร ผู้เขียนได้รับน้ำใจจากชาวพม่าผู้ร่วมเดินทางเป็นอย่างดี เขามีความเคารพนับถือพระไทยมาก โดยเฉพาะเวลานั่งรถไปไหน เขาเห็นพระพุทธรูปจะยกมือไหว้ตลอดทาง เสียดายพูดภาษากันไม่ค่อยรู้เรื่อง สงสัยอะไรต้องให้ท่านสุวรรณเป็นล่ามให้

บางครั้งท่านไม่อยู่ ผู้เขียนต้องอาศัยภาษาใบ้เอาเอง โดยเฉพาะจะรีบไปห้องน้ำจนลืมคำว่า "เอ็งตา" คงจะปวดเกินไปละมั้ง จึงบอกพวกโยมในรถพร้อมกับออกเสียงว่า "ฉู่ๆๆ" นั่นแหละ เขาจึงนึกออกแล้วบอกว่า "เอ็งตาๆ" ต่างหัวเราะกันเป็นที่สนุกสนานกันไปในรถ บางทีเขาก็เตรียมอาหารปิ่นโตไปให้ด้วย นับว่าเป็นหนี้บุญคุณชาวย่างกุ้งเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

๓๖. วัดพระมหามุนี (จำลอง) เมืองโมก็อก มัณฑเลย์


พวกเราผ่านวัดไปหลายแห่งแล้ว คนขับรถสองแถวคงจะพาไปทั่ว ตอนนี้ก็นำเข้าไปวิหารใหญ่ มองดูแล้วยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระมหามุนี



จึงได้ร่วมทำบุญใส่ตู้บริจาค ๑,๐๐๐๐ จ๊าด และทำบุญสร้างวิหารกับเจ้าอาวาสอีก ๒,๐๐๐ จ๊าด


๓๗. พระเจดีย์ชเวกูจี เมืองโมก็อก มัณฑเลย์


ผู้เขียนได้เข้าไปปิดทององค์พระ พร้มกับร่วมทำบุญใส่ตู้บริจาค ๑,๐๐๐ จ๊าด จะเห็นว่าพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองไปทั่วดินแดนแห่งนี้ มีวัดวาอารามสวยงามมากมาย มองไปทั่วเมืองจะเห็นพระเจดีย์ หรือยอดมณฑปสูงเด่นอยู่ท่ามกลางเมืองโมก็อก เกินความคาดคิดไปอย่างมากมาย


เดิมคิดว่าดินแดนที่อยู่ห่างไกลของพม่า พระพุทธศาสนาคงเจริญไปไม่ถึง แต่ที่ไหนได้ในระหว่าง จะมองเห็นพระเจดีย์อยู่เรียงรายทั้งสองข้างทาง บางครั้งรถจะหยุดเมื่อเห็นมีหญิงสาวชาวพม่ายืนถือขันบอกบุญอยู่ข้างทาง ผู้เขียนได้ร่วมทำบุญหลายครั้ง จนไม่สามารถจะจดจำไว้ได้ นี่บันทึกไว้เฉพาะที่ลงจากรถเท่านั้น

๓๘. พระเจดีย์ทอง วัดซันดอว์จี เมืองโมก็อก มัณฑเลย์


จุดสุดท้ายที่คนขับรถจะพาไปไหว้ คงจะเป็นสถานที่แห่งนี้แน่นอน เพราะมองเห็นอยู่ภายในรถ นับตั้งแต่เข้ามาในเมืองนี้ เพราะเป็นพระเจดีย์สีทองสูงเด่นกว่าที่อื่น เขาจึงเก็บสถานที่สำคัญสวยงามไว้เป็นที่สุดท้าย


ผู้เขียนและพระสุวรรณเดินเข้าไปภายในพระเจดีย์ จะเห็นว่าพระประธานสวยงามมาก หลังจากกราบไหว้บูชาแล้วจึงได้ทำบุญ ๒,๐๐๐ จ๊าด


(ภาพเมืองโมก็อกจาก mogok-rubies.com)


หลังจากนั้นก็เดินทางกลับไปพักในวัด ต้องจ่ายค่าเหมารถคนละ ๔,๐๐๐ จ๊าด รวมทั้งหมด ๓ คน เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ จ๊าด จ่ายค่าอาหารอีก ๒,๐๐๐ จ๊าด กลับมานอนอย่างสบายใจที่ได้กราบไหว้จนครบถ้วนแล้ว.

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอนไป "เมืองกะตา (Ka-Tha)" ต่อไป )))


webmaster - 9/7/10 at 14:40

06.

เล่าเรื่องเดินทางไปเมืองกะตา (Ka-Tha)

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (เมืองโมก็อก - เมืองกะตา)

๓๙. วัดตะเกาพญา เมืองตะเกา มัณฑเลย์


.....เช้ามืดวันนี้ออกเดินทางกันตั้งแต่ตี ๓ อีกเช่นเคย โยมผู้หญิงชาวพม่าต้องเตรียมปิ่นโตมาให้เหมือนเดิม เสียงเพลงคาราโอเกะที่โชเฟอร์ชอบเปิด เห็นจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องกัน ต่างก็นอนหลับกันต่อไปในรถ ขอเล่าก่อนรถออกสักนิด คนประจำรถบัสจะเดินเก็บเงินทำบุญให้แก่วัดที่เราพัก ได้เท่าไรก็ไม่รู้ส่งถุงปลาสติกให้แก่คนวัดที่มารออยู่ จากนั้นก็ออกเดินทางกันได้

ผู้เขียนหรือคนอื่นคงไม่รู้เรื่องว่ารถไปทางไหน ตอนแรกนึกว่าไปต่อ แต่พอสว่างแล้วจึงมองเห็น รถได้แวะจอดที่ร้านค้า จำได้ว่าคุ้นๆ เหมือนกับที่เราผ่านไปเมื่อวานนี้ ถามไปถามมาจากท่านสุวรรณ พร้อมทั้งดูแผนที่ไปด้วย จึงได้รู้ว่าย้อนกลับออกมาจากเมืองโมก็อก แล้วจะพบทางแยกที่จะไปต่อนั่นเอง


หลังจากนั้นก็พบทางวิบากตลอด อย่างชนิดว่าไม่เคยเจอมาก่อน ทางใต้ที่ไปเมืองเมาะละแหม่งเมื่อหลายวัน นับว่าแย่แล้วยังไม่เท่ากับครั้งนี้เลย ลองดูภาพถ่ายจะเห็นว่าไม่ใช่ทางรถทัวร์นะเนี่ย นี่มันเป็นทางวัวควายเดินกันแท้ๆ เพราะพ่อเจ้าประคุณรถบรรทุกวิ่งเสียสะพานพังไปหมด รถทัวร์ดีๆ อย่างนี้จึงข้ามสะพานไม่ได้

ทีมงานรถบัสทั้งสองคันมารวมกัน เปิดใต้ท้องรถขนจอบและไม้กระดาน แหม..นี่เขาเตรียมพร้อมมาเสร็จสรรพกันเลยนะ ว่าแล้วก็เดินแบกจอบกันไปเป็นแถว แล้วช่วยกันทำทางให้รถผ่านไปให้ได้ ส่วนพวกเราก็ต้องลงเดินกันอย่างที่เห็นนี่แหละ


ถึงแม้จะผ่านวิกฤติไปได้แล้ว อย่านึกว่ามีเพียงแค่นี้นะ ยังเจออีกหลายสิบสะพาน รถต้องวิ่งลงข้างล่างอย่างนี้ น่าสงสารรถเหมือนกัน จนกระทั่งเดินทางมาถึงวัดตะเกาพญา ทราบว่าเดิมเป็นแค่ซากพระเจดีย์เก่า ภายหลังได้เห็นความสำคัญจึงได้บูรณะใหม่ ภาพเดิมที่เป็นแบบแปลน ภายหลังได้สร้างเสร็จอย่างที่เห็นนี้แหละ จึงได้ทำบุญใส่ตู้บริจาค ๑,๐๐๐ จ๊าด เพื่อมีส่วนร่วมย้อนหลังกับเขาด้วย


ความจริงภายในพระเจดีย์เขามีภาพถ่ายเดิมเอาไว้ พร้อมกับเล่าประวัติในการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ แต่หาภาพในคลังไม่เจอ คงเอามาเล่าไว้เพียงแค่นี้ ศิลปะการก่อสร้างมองดูคล้ายกับทางเมืองพุกาม จึงได้ทราบว่าสมัยนั้น อาณาจักรพุกามได้แผ่มามีอิทธิพลทางด้านนี้ด้วย

๔๐. พระพุทธรูปไม้สัก วัดนัมเฌย์ยอ บ้านนัมเฌ มัณฑเลย์


ประมาณช่วงบ่าย ๓ โมง รถก็ได้วิ่งไปตามถนนลูกรัง ซึ่งมีทั้งหลุมและบ่อตลอดทาง โดยเฉพาะเวลาเจอสะพานที่ชำรุด จะต้องเดินลงจากรถกันก่อน ในตอนนี้ก็เช่นกัน เดิมไม่มีโปรแกรมจะแวะวัดนี้หรอก แต่คราวนี้รถมาเสียระหว่างทาง จำเป็นต้องจอดซ่อมกันอยู่นาน พวกเราจึงได้เดินกันมาถึงวัดแห่งนี้ ซึ่งมีพระพุทธรูปไม้สักอยู่ภายในศาลา จึงได้เดินเข้าไปกราบไหว้และร่วมทำบุญด้วย


พระเณรเข้ามากราบไหว้ (ท่านั่งกราบไม่เหมือนบ้านเรา) ปรากฏว่าเจ้าอาวาสมีสามเณรถึง ๔๐ รูป ส่วนพระมีแค่ ๓ รูป ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูกันเป็นภาระที่หนักมาก เจ้าอาวาสได้นิมนต์ไปนั่งฉันน้ำชาภายในกุฏิ ซึ่งมีสภาพอย่างที่เห็นนี่แหละ เป็นวัดที่ห่างไกลความเจริญมาก



เห็นแล้วน่าสงสาร เณรบางองค์ขี้กลากขี้เกลื้อนขึ้นเต็มหัวไปหมด มองแล้วน่าเวทนา แต่ก่อนอื่นขอสรงน้ำก่อน เพราะมีหลายคนเมื่อวานไม่ได้อาบน้ำกันเลย พวกเณรตัวเล็กๆ ช่วยตักน้ำมาให้อาบ ค่อยชื่นใจหายเหนื่อย จากนั้นถึงได้ขึ้นไปบนกุฏิ สามเณรเข้ามากราบไหว้ พร้อมกับสนทนากับเจ้าอาวาส ฟังแล้วก็อยากทำบุญมากๆ แต่ก็ทำได้แค่ ๑๓,๐๐๐ จ๊าด ถวายไว้เป็นส่วนองค์บ้างส่วนรวมบ้าง จากนั้นก็ขอลาท่านเพื่อออกมาดูว่ารถซ่อมเสร็จแล้วหรือยัง

๔๑. วัดสิริมังคลา เมืองมะอู มัณฑเลย์

......จากนั้นรถได้ซ่อมเสร็จแล้วออกเดินทางต่อ กว่าจะถึงที่พักก็เป็นเวลาค่ำมืด ไม่สามารถจะนำภาพมาให้ชมได้ เพียงแค่บันทึกไว้ว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดใหญ่พอสมควร กำลังมีการก่อสร้างกุฏิวิหารหลังใหม่ จึงได้ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาสเป็นเงิน ๕,๐๐๐ จ๊าด



๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

๔๒. พระเจติยะ เมืองกะตา (Ka-Tha) จังหวัดสกาย



คลิกขยายภาพ


(แผนที่เส้นทางที่ต้องเลี้ยวขวาไปเมืองโมก็อก แล้วย้อนกลับมุ่งสู่เมืองกะตา ด้วยเส้นทางที่โหดทุรกันดารยิ่ง)


.....คณะทัวร์ออกจากวัดสิริมังคลา เวลา ๐๔.๐๐ น. เดินทางขึ้นเหนือมาเรื่อยๆ แล้วได้มาแวะฉันเช้าที่เมืองนาอูล และฉันเพลที่ท่าเรือกะตา ซึ่งเป็นเมืองท่าติด "แม่น้ำเอยาวดี" แม่น้ำเส้นเดียวกับที่ไหลผ่านกรุงย่างกุ้ง คนไทยจะเรียกว่า "แม่น้ำอิระวดี" ผู้เขียนกับพระสุวรรณได้มายืนถ่ายรูป ระหว่างที่รอรถบัสขึ้นเรือข้ามไปฝั่งโน้น ซึ่งแม่น้ำช่วงนี้กว้างใหญ่มาก มีรถของชาวพม่ามาข้ามฝั่งกันมากมาย


หลังจากนั้นก็ลงเรือเล็กข้ามฟาก จึงสามารถถ่ายภาพรถทัวร์ที่อยู่บนเรือใหญ่ได้ ระหว่างนี้มีพระอาทิตย์ทรงกลดด้วย เมืองนี้คงมีความสำคัญในอดีตมาก่อน อันเป็นเมืองท่าอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ


มองจากหัวเรือไปฝั่งข้างหน้า ไม่รู้ว่าชื่อวัดอะไร หรือเมืองอะไร เพราะเป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น ข้ามฝั่งมาแล้วจึงไปยืนถ่ายรูปอยู่ริมแม่น้ำอิระวดี


คณะที่ข้ามฝั่งต่างแยกย้ายกันไป บางคณะก็นั่งรถสามล้อถีบ บางคณะก็เหมารถสองแถวไปเที่ยวกันในตลาด ส่วนผู้เขียนกับบุ๋มอยู่กันสองคน พระสุวรรณท่านไปกับโยมด้วย จึงเดินกันไปไหว้พระเจดีย์ที่อยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งมีลักษณะการสร้างสมัยเมืองพุกาม ได้ทำบุญใส่ตู้บริจาค ๑,๐๐๐ จ๊าด

๔๓. วัดซ่วยกู๋จี เมืองกะตา (Ka-Tha) จังหวัดสกาย


หลังจากนั้นได้เดินย้อนกลับมา ผ่านท่าเรือเล็กแล้วเดินไปที่ วัดซ่วยกู๋จี อยู่ติดแม่น้ำเอยาวดีเหมือนกัน ทำบุญใส่ตู้ ๑,๐๐๐ จ๊าด ถ้าหากจะย้อนดูแล้ว ไม่ว่าไปทางบ้านไหนเมืองไหน จะเห็นพุทธสถานเต็มทั่วเมืองพม่าไปหมด


ผู้เขียนกับบุ๋มต่างเข้าไปกราบไหว้ แล้วออกมายืนถ่ายรูป จากนั้นท่านสุวรรณนั่งรถเครื่องมาตาม ตอนนี้โชคดีมีคนขับรถเครื่องมันงก จากวัดไปในตลาดที่รถบัสจอดรออยู่ไม่ไกลเท่าไร แต่มันคิดค่ารถเสียหลายพันจ๊าด จึงต้องยอมเสียค่าโง่เพื่อตัดความรำคาญ

๔๔. พระเจดีย์โลกะมัญจะ วัดโมรู เมืองโมรู จังหวัดสกาย


รถบัสสองคันเดินทางติดตามกันต่อไป มองดูแผนที่แล้วยังอีกไกล กว่าจะถึงทะเลสาปอินดอจี ระหว่างนี้รถได้วิ่งเข้าไปพักค้างคืนที่ วัดโมรู มาถึงก็เกือบ ๑๘.๐๐ น. แล้ว จึงถ่ายรูปไม่ค่อยชัดเพราะมืดแล้ว ได้ทำบุญกับทางวัด ๕,๐๐๐ จ๊าด

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตาม "เมืองโมเยี้ยน (Mo-Hnyin)" ตอนต่อไป )))


webmaster - 12/7/10 at 08:16

07.

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (เมืองกะตา - เมืองโมเยี้ยน)


๔๕. พระเจดีย์ยานอ๋องเมียน เมืองโมเยี้ยน (Mohnyin)
(ดูแผนที่ประกอบด้านบน)


เวลา ๐๖.๐๐ น. ก่อนคณะทัวร์จะออกเดินทาง หลวงพี่ทำบุญกับวัดอีก ๓,๐๐๐ จ๊าด เนื่องจากทางวัดจัดห้องพักเป็นสัดส่วนให้เป็นอย่างดี แล้วออกมาฉันเช้าในตลาดโมรู สภาพตลาดบ้านเขาก็เหมือนบ้านนอกเราในอดีต ๓๐ ปีก่อน ลองนึกวาดภาพกันเองก็แล้วกัน


หลังจากออกมาจากหมู่บ้านแล้ว เริ่มเจอเส้นทางหฤโหดสำหรับรถบัสมาก เพราะรถไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ เนื่องจากสะพานชำรุด จำต้องวิ่งลงมาที่ทางเบี่ยงซึ่งเป็นหลุมลึกมาก แต่ก็เหมือนกับโชคบันดาล ได้รถแม็คโคช่วยขุดดินมาเสริมให้


ต้องใช้เวลานานพอสมควรรถจึงวิ่งต่อไปได้ ประมาณ ๘ โมงกว่าๆ ก็เข้าเขตรัฐกะฉิ่น (Kachin State) ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งทางตอนเหนือของพม่า มีเมืองมิตจิน่าเป็นเมืองหลวง นี่เรานั่งรถมาตั้งหลายวัน เพิ่งเริ่มจะเข้าเขตเองหรือนี่ โอย....!


อย่าเพิ่งโวยวายเลยนะ ลงไปแวะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันก่อน เพราะคนถ่าย (คุณปุ๋ม) เพิ่งมีโอกาสให้เขาถ่ายบ้าง จะเห็นมีผ้ามีหมวกใส่ นั่นหมายความว่าแอร์สู้ฝุ่นไม่ได้ เพราะถนนมันไม่ได้ลาดยาง ฝุ่นเลยลอดช่องเข้ามาหาเราจนได้


ระหว่างนี้รถเกิดมีปัญหารถยางแตกอีก ต้องเปลี่ยนยางล้อหน้า แล้วจะไปหาอู่ที่ไหนในบ้านป่าอย่างนี้ ขอโทษที..ไม่ต้องไปหาที่ไหน เพราะชาวพม่าเขาไม่ง้ออู่ข้างถนนอย่างบ้านเราหรอก เขาซ่อมเองกันได้ เครื่องไม้เครื่องมือก็มีอยู่พร้อม ว่าแล้วก็สบัดโสร่ง ๒-๓ ตลบ แล้วขมวดไว้ที่พุงอย่างง่ายๆ



ก่อนเพลช่วงลงรถเพื่อข้ามสะพาน ได้แวะไปดูรหัสวิดน้ำเข้านา เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแท้ๆ ในขณะที่รถยางแตกต้องเปลี่ยนยางใช้เวลานานมาก จึงเดินไปชมวัดที่อยู่ใกล้ๆ กลับมาจึงต้องฉันเพลในรถ


ถึงแม้บ้านเมืองจะยังไม่เจริญ แต่วัดวาอารามงดงามไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ชาวบ้านอยู่ห่างไกลความเจริญ เพราะเส้นทางระหว่างมัณฑเลย์ - เมืองมิตจิน่า ส่วนใหญ่จะเป็นรถบรรทุกสินค้า แต่ชาวบ้านจะเดินทางด้วยรถไฟกันมากกว่า แต่เขาก็สร้างวัดได้อย่างอลังการ


พระเจดีย์ที่ต้องแวะเข้าไปไหว้ โดยไม่มีในโปรแกรมนี้ชื่อว่า "พระเจดีย์ยานอ๋องเมียน" เมืองโมเยี้ยน ผู้เขียนเข้าไปทำบุญ ๓,๐๐๐ จ๊าด แล้วกลับมาปรากฏว่ารถยังซ่อมไม่เสร็จ จึงต้องฉันเพลในรถ โชคดีที่เตรียมอาหารกระป๋อง แม้จะต้องแบกไปมาหลายวัน แต่ก็ช่วยชีวิตไว้ได้ในยามทุกข์ยาก

อยากจะขอบคุณเจ้าภาพเครื่องกระป๋อง คือคุณอภิญญา (ติ๋ม) นาคสวัสติ์ และคุณมายิน เดียวสุรินทร์ คุณสุภาวดี (แพรว) พรประสิทธิ์กุล ที่ถวายเครื่องบูชามาด้วย อีกทั้งเจ้าภาพที่ทำบุญด้วยเงินไทยและดอลลาร์ทุกคนด้วย นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เดินทาง คุณเจี๊ยบและน้องชาย บริษัท 99 ทัวร์ ได้ช่วยจัดซื้อตั๋วเครื่องบินให้ ทุกคนให้ความสะดวกทุกอย่าง

.....ในตอนหน้าก็จะเล่าถึงตอนสำคัญ เพราะเป็นสถานที่ตั้งใจไว้แล้ว ซึ่งไม่คาดคิดเลยว่า จะเจอสภาพถนนหนทางที่ห่างไกลและลำบากสุดๆ ในชีวิต..!.

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอน "พระเจดีย์ชเวมัตชุ ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิดจินา" ต่อไป )))