ตามรอยพระพุทธบาท

(ตอนจบ) เล่าเรื่องไป "เมืองพม่า" วันที่ 11 ก.พ.- 2 มี.ค. 2553 (ตอนที่ 4)
webmaster - 13/7/10 at 06:20

ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3



สารบัญ (เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)

01.
เดินทางไปทาง "ภาคเหนือ" ของพม่า
02. ประวัติพระเจดีย์ชเวมิตซุ ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
03. เที่ยวชมพระพุทธรูปและพระเจดีย์สำคัญ ริมทะเลสาบอินดอยี
04. เดินทางไปเมืองมิตจินา
05. เที่ยวชมเมืองมิตจินา
06. ก่อนกลับแวะเที่ยวชม "เมืองปินอูลวิน" และมัณฑเลย์



01

เดินทางไปทาง "ภาคเหนือ" ของพม่า วันที่ ๒๔ - ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓


วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (โมรู - อินตอว์ยี)
๔๕. พระเจดีย์ยานอ๋องเมียน เมืองโมเยี้ยน
๔๖. พระเจดีย์กลางน้ำชเวมิตซุ (Shwe Myitzu) ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา (Myitkyina)

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (อินตอยี - มิตจินา)
๔๗. พระพุทธรูป (จักสานด้วยไม้ไผ่) บ้านหนึ่งเหลา ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๔๘. รูปปั้นแม่ม่ายและลูก ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๔๙. พระเจดีย์ม๊อกสุมะ ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๕๐. วัดเมษเสยา เมืองมิตจินา

วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มิตจินา)
๕๑. วัดธรรมรักขิตะวอนโต เมืองมิตจินา

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มิตจินา - มัณฑเลย์)
๕๒. พระพุทธสีหไสยาสน์ วัดละเยาโตมูทยา เมืองมิตจินา
๕๓. พระเจดีย์ วัดโลกะมันอ๋อง เมืองมิตจินา
๕๔. พระพุทธรูปยืน วัดยานโตมูพญา เมืองมิตจินา
๕๕. พระเจดีย์ วัดอันโตเชน (พระทันตธาตุส่วนกรามด้านขวา)
๕๖. พระเจดีย์อองยานอ๋องเส เมืองมิตจินา

วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (มัณฑเลย์ - ย่างกุ้ง)
๕๗. พระพุทธรูป "มหามุนีพญา" เมืองปินอูลวิน (PYIN OO LWIN)
๕๘. วัดมหานันทะคู (ถ้ำน้ำตก) เมืองปินอูลวิน
๕๙. วัดมหาอัญชุกัน เมืองปินอูลวิน
๖๐. วัดจุละมุริยะมันสุ่น พระพุทธรูป ๔ ทิศ เมืองปินอูลวิน
๖๑. วัดพระงู (โมยพญา) บ้านปะเลย เมืองมัณฑเลย์



วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (โมรู - อินดอว์ยี)

๔๖. พระเจดีย์ชเวมิตซุ ทะเลสาบอินดอว์ยี เมืองมิตจินา (myitkyina)


......ผู้เขียนขอเล่าต่อไปเลยจากตอนที่ 3 ว่าหลังจากซ่อมรถเสร็จแล้ว ในตอนบ่ายจึงได้ออกเดินทางจากเมืองโมรู (Moluu) มาถึงเมืองโมเยี้ยน (Mohnyin) เพื่อเหมารถสองแถวในหมู่บ้านนี้ ซึ่งเป็นรถรับจ้างหลายสิบคัน

ในขณะที่ไปถึงจะมีบรรทุกผู้โดยสารเต็มจนล้นไปถึงบนหลังคาทุกคัน มีรถบางคันก็วิ่งสวนกลับมาจากทะเลสาปอินดอจี มีทั้งชาวบ้านและภิกษุสามเณรนั่งเบียดเสียดกันเต็มไปหมด ส่วนบางคนที่ใบหน้ายังคาดผ้ากันฝุ่นอยู่ ซึ่งมองดูแปดเปลื้อนไปหมด


(สภาพรถโฟล์วิลสองแถว ต้องพักเติมน้ำแถวลำห้วย เครื่องร้อนจัดมาก สภาพรถเมื่อ ๓๐ ปีก่อน)

ในตอนนี้พวกเราก็มีผิดพลาดกันเล็กน้อย คือความจริงรถทัวร์ของเราได้เตรียมรถสองแถวไว้ให้แล้ว เพราะค่ารถทัวร์เขาคิดเหมาค่ารถสองแถวไปด้วย แต่เนื่องจากมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ร่วมโดยสารมากับรถทัวร์คันเดียวกันเคยมาแล้ว แกก็ไม่รู้พาพวกเราไปเหมารถอีกต่างหาก อีกอย่างหัวหน้าทัวร์ติดต่อรถช้ามาก พวกเรากลัวว่าจะมืดค่ำระหว่างทางเสียก่อน จึงตัดสินใจเช่ารถไปกันเอง สภาพรถไม่มีแอร์ไม่มีพัดลม ต้องมีผ้ากันฝุ่นปิดจมูกไปด้วย

ค่าเช่ารถรวมแล้ว ๒๐,๐๐๐ จ๊าด (พระ ๒ องค์ๆ ละ ๘,๐๐๐ จ๊าด ส่วนคนที่นั่งหลังรถคนละ ๔,๐๐๐ จ๊าด) เส้นทางเต็มไปด้วยฝุ่นและถนนขุรขระมาก (ความจริงไม่น่าใช้คำว่าถนน เพราะสภาพเป็นทางเกวียนมากกว่า) ยิ่งช่วงที่ต้องขึ้นเขา ฝุ่นบนถนนจะหนาเป็นศอก ฝุ่นฟุ้งหนาทึบแทบมองไม่เห็นอะไรเลย วิ่งสวนกันแบบไม่ยั้ง ไม่สนใจว่าผู้โดยสารจะเป็นยังไง ขอให้ข้าได้วิ่งทำความเร็ว (ขับแบบรถแข่งแรลลี่ยังไงยังงั้น) เพื่อจะได้ย้อนกลับมารับผู้โดยสารอีก

ระหว่างนั่งรถไปบางช่วงเครื่องร้อน จะต้องแวะตักน้ำในแอ่งน้ำข้างทางเติมหม้อน้ำ รถสั่นคลอนไปทั้งคันเพราะความเก่านั่นเอง คนขับบอกว่าเขาวิ่งผ่านหมู่บ้านนี้แล้ว ที่เห็นทิวเขาสูงเบื้องหน้าจะต้องข้ามไป ในช่วงข้ามเขานี่แหละแสนโหด รถวิ่งสวนกันฝุ่นตลบ ใครไม่มีผ้าปิดฝุ่นไปด้วย จะต้องหายใจเอาฝุ่นเข้าเต็มปอด โชคดีที่ผู้เขียนเตรียมไปด้วย รถลงจากเขาแล้วนึกว่าจะถึง แต่เปล่า..คนขับบอกว่ายังอีกไกล เพราะจะต้องผ่านหมู่บ้านไปอีก ๘ หมู่บ้านจึงจะถึง....!



(สภาพกระเป๋าเดินทางที่อยู่บนหลังคา แล้วหิ้วลงมาไว้ในห้องพัก (มุงจาก) ปรากฏว่าฝุ่นเต็มไปหมด)

นับว่าน่าเห็นใจเหมือนกัน เพราะเทศกาลไหว้พระธาตุชเวมิตซุ จะมีเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น คุณวัชรพล (ปุ๋ม) ต้องขึ้นไปนั่งบนหลังคา โดนรถกระแทกเสียก้นแทบพังไปเลย (ใครเป็นริดสีดวงไม่ควรไปเด็ดขาด) เพราะท้ายรถกระบะต้องเสียสละให้ผู้หญิงนั่งกัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมงครึ่ง ยังอุตส่าห์ถ่ายรูปกระเป๋าที่อยู่บนหลังคาไว้ด้วย หลังจากช่วยกันปัดฝุ่นแล้วขนมาถึงกระต๊อบที่พักแล้ว โชคดีได้หนุ่มพม่าคนหนึ่งช่วยขนกระเป๋าให้เป็นอย่างดี


รถวิ่งออกมาจากหมู่บ้านในเวลาเย็น ผ่านทุ่งนาป่าเขาจนถึงหมู่บ้านทะเลสาปอินดอจี รถวิ่งฝ่าความมืดมองเห็นแสงสว่างแต่ไกล จึงทราบว่าใกล้ถึงสถานที่จัดงานเทศกาลแล้ว ปรากฏว่าถึงพระเจดีย์ชเวมิตซุเวลา ๑๙.๑๕ น. เนื่องจากไปช่วงงานเทศกาลกราบไหว้พระเจดีย์ ผู้คนจึงเยอะมาก มีร้านค้าขายของเต็มไปหมด พวกเราได้เข้าหาเช่าที่พักชั่วคราว ทั้งหลังคาและฝากั้นมุงด้วยจาก เป็นห้องแถวยาวเหยียด

ห้องแบ่งขนาดเล็กๆ พอคนนอนได้แค่หนึ่งหรือสองคนเท่านั้น ค่าที่พัก ๑๒,๐๐๐ จ๊าด ช่วงนี้คนแย่งกันหาที่พัก เพราะกระต๊อบเขามีไม่มาก บางคณะต้องเข้าไปนอนเบียดกันนับสิบคน ภายในห้องมีใบจากกั้นไว้เท่านั้น ฟากที่ปูไว้เวลาเดินจะเสทือนไปทั่วถึงกัน ประตูห้องไม่มีนะ ต้องหาผ้าปิดกั้นเอาเอง


เวลากลางคืนหลังจากต้องเดินไปอาบน้ำที่ไกลมาก ต้องเดินฝ่าฝูงชนท่ามกลางแสงสว่างที่ไม่ค่อยพอนัก พวกฆราวาสต่างหาอาหารรับประทานกันเอง เวลา ๒๑.๐๐ น. เสร็จเรียบร้อยแล้วก็เดินไปกราบพระเจดีย์ ซึมซับบรรยากาศที่ใช้เวลามายากและไกล ทรมานสังขารพอสมควรแต่ก็คุ้มค่ามาก สายลมจากทะเลสาบพัดโชยเย็นพอสบาย รู้สึกอิ่มใจทดแทนความอ่อนเพลียไปได้

ระยะทางเดินไปกราบพระเจดีย์ประมาณ ๘๐๐ เมตร อากาศเย็นแต่ไม่หนาวมาก ผู้คนชาวพม่าชาวจีนทั้งหญิงชาย ต่างมาไหว้กันเต็มลานพระเจดีย์ ท่ามกลางกลิ่นธูปและควันเทียน จึงกลับมาเข้าที่พักเวลาประมาณ ๒๓.๓๐ น. ต้องเดินผ่านห้องพักคนอื่นไปที่ห้องส้วมอยู่ด้านหลังส่งกลิ่นโชยดีจัง (ส้วมขุดแบบโบราณมองเห็นวิวชัดเจน) กลับมานอนมือก่ายหน้าผาก คิดว่าสถานที่นี้ในชีวิตนี้ไม่นึกว่าจะมาถึง..ดีใจจัง..!

พรุ่งนี้จะมองดูให้รอบ..ให้คุ้มค่ากับที่มาไกล เพราะกลางคืนมองอะไรไม่เห็นชัดนัก พวกเรากว่าจะมาทั้งทีก็ยาก จึงตั้งใจจะกราบให้ครบ ๓ ครั้ง คืนนี้ก็ได้กราบไป ๑ ครั้งแล้ว ท่ามกลางแสงไฟจากเครื่องปั่นที่สว่างไสวรอบองค์พระธาตุ กลางคืนมีของกินของใช้วางขายเหมือนงานวัดบ้านเราสมัยก่อน เช่นข้าวเกรียบแผ่นใหญ่ๆ กำลังปิ้งอยู่เป็นต้น คนพม่าเดินกันขวักไขว่ มีทั้งพระสงฆ์องค์เณรและแม่ชีแต่งสีชมพู ส่วนชาวบ้านก็มากมายหลายพันคน

งานเทศกาล (Festival) ครั้งนี้ เป็นงานประจำปีที่เขาจัดกันมานาน จนรู้กันทั่วประเทศ จะมีประชาชนเดินทางมาจากเมืองอื่นๆ ทั่วไป และผู้ที่นับถือศาสนาพุทธที่มาจากชายแดนจีน (เมืองมิตจินาติดกับชายแดนจีน) จากเอกสารที่ผู้เขียนมีข้อมูลอยู่แล้ว ว่าจะมีงานเทศกาลที่ไหนบ้าง คนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้ เพราะแม้แต่ผู้เขียนเองที่เดินทางมาหลายครั้ง เพิ่งจะเห็นเอกสารนี้จากเจ้าหน้าที่ Information ที่เขาแจกให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไปในกรุงย่างกุ้ง



งานเทศกาลที่น่าสนใจ

เดือนมกราคม

- เทศกาลทามาเน (Htamane Festival) หรือ งานฉลองการเก็บเกี่ยว จัดขึ้นทั่วประเทศ
- งานเฉลิมฉลองเจดีย์อนันดา (Ananda Pagoda) เมืองพุกาม (Began)
- งานเฉลิมฉลองรอยพระบาทชเวสิตตอว์ (Shwe-set-taw) เมืองมินบู (Minbu) มลฑลมะกวย (Magway)
- งานเฉลิมฉลองพระมหามุนี (Mahamuni Pagoda) เมืองมัณฑเลย์
- งานเฉลิมฉลองเจดีย์ชเวอูมิน (Shwe Oo Min Pagoda) รัฐฉาน (Pinyada Shan State)
- งานเทศกาล Kachin Manao หรือ เทศกาลฉลองรัฐคะฉิ่น เมืองมินจีนา (Myintkyina)

เดือนกุมภาพันธ์
- งานเฉลิมฉลองเจดีย์มอตินซุน (Maw-tin-sone Pagoda) เมืองพะสิม มณฑลอิระวดี
- งานเฉลิมฉลองเจดีย์อินดอยี (Indawgyi Pagoda) รัฐคะฉิ่น
- งานเฉลิมฉลองเจดีย์ปินยาดา (Pinyada Cave Pagoda) รัฐฉาน
- งานเทศกาลตรุษจีน

เดือนมีนาคม
- งานเฉลิมฉลองเจดีย์ชเวดากอง (Shwe-dagon Pagoda) กรุงย่างกุ้ง
- งานเฉลิมฉลองเจดีย์ชเวมอดอว์ (Shwe-mawdaw Pagoda Bago) เมืองหงสาวดี (พะโค)
- งานพิธีฉิ่นปิ้ว (Shinpyu Ceremonies) หรือ งานบวชเณร จัดขึ้นทั่วประเทศ

เดือนเมษายน
- งานเทศกาลติงจัน (Thingyan Water Festival) หรือ งานวันสงกรานต์ จัดขึ้นทั่วประเทศ
- งานวันปีใหม่พม่า จัดขึ้นทั่วประเทศ
- งานฉลองโปปานัด (Popa Nats Spirits) ที่บริเวณเขาโปปา (Mount Popa)

เดือนพฤษภาคม
- งานวันฉลองกาซง (Kason Fullmoon Day) หรือ วันวิสาขบูชา จัดขึ้นทั่วประเทศ
- งานเทศกาลกระบวนแห่ตองโย (Taung-yo ) ที่เมืองปินยาดา (Pinyada) รัฐฉาน

เดือนมิถุนายน
- งานเทศกาลนายง (Nayon Festival of Tipitaka) หรือ งานสอบพระไตรปิฎกของพระภิกษุสงฆ์ จัดขึ้นทั่วประเทศ

เดือนกรกฎาคม
- งานวันวาโส (Waso) หรือ วันเข้าพรรษา

เดือนสิงหาคม
- งานฉลองตองปะยอนนัต (Taungpyone Nats Spirit) เมืองมัณฑเลย์

เดือนกันยายน
งานฉลองพองดอว์อู (Phaung Daw Oo) หรือ งานขบวนแห่เรือและแข่งเรือ ทะเลสาบอินเล

เดือนตุลาคม
- เทศกาลตาดิงยุต (Thadingyut Festival of Lights) หรือ งานฉลองโคมประทีป (ออกพรรษา) จัดขึ้นทั่วประเทศ
- เทศกาลจ๊อกเซ (Kyaukse Elephant Dance Festival) หรือ เทศกาลช้าง เขตจ๊อกเซ (Kyause) เมืองมัณฑเลย์
- งานฉลองเจดีย์ชเวซิกอง (Shwezigon Pagoda) เมืองพุกาม

เดือนพฤศจิกายน
- เทศกาลตาซองดิน (Tazaungdine Festival of Lights) จัดขึ้นทั่วประเทศ
- งานฉลองเจดีย์ไจทิโย (Kyaikhtiyo Pagoda) พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจโท่ (Kyaikhto) รัฐมอญ
- เทศกาลดอกไม้ไฟเมืองตองยี รัฐฉาน
- เทศกาลกาเตียนทินกัน หรือ เทศกาลทอผ้า ตะซาวง์โมง จัดขึ้นทั่วประเทศ

เดือนธันวาคม
- งานฉลองเทียน ๙.๐๐๐ เล่ม ที่เจดีย์โกทัตจี เมืองย่างกุ้ง
- วันปีใหม่คะยิ่น
- วันคริสต์มาส


แหล่งข้อมูล : หนังสือคู่มือนักเดินทางฉบับพกพา เมียนมาร์ หนังสือในเครือ เที่ยวรอบโลก

ll กลับสู่สารบัญ



02.

ประวัติพระเจดีย์ชเวมิตซุ ทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (อินตอยี - มิตจินา)

๔๗. พระพุทธรูป (จักสานด้วยไม้ไผ่) บ้านหนึ่งเหลา ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๔๘. รูปปั้นแม่ม่ายและลูก ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๔๙. พระเจดีย์ม๊อกสุมะ ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา
๕๐. วัดเมษเสยา เมืองมิตจินา

Kachin State

.....Kachin State is the northernmost state of Myanmar. It is bordered by China to the north and east; Shan State to the south; and Sagaing Division and India to the west. It lies between north latitude 23? 27' and 28? 25' longitude 96? 0' and 98? 44' . The area of Kachin State is 34,379 sq. miles. The capital of the state is Myitkyina. Other important towns include Bhamo.

Kachin State has Myanmar’s highest mountain, Hkakabo Razi, at 5889 meters in height, forming the southern tip of the Himalayas, and Myanmar’s largest lake, Indawgyi Lake. Hkakabo Razi is Southeast Asia's highest mountain, located in the northern Myanmar state of Kachin. The peak is enclosed within Hkakabo Razi National Park.

It is entirely mountainous and is characterized by broad-leaved evergreen rain forest, a sub-tropical temperate zone from 8,000 ft. to 9,000 ft. Indawgyi Lake is the largest inland lake in Southeast Asia. It is located in Mohnyin Township in the Kachin State of Myanmar.

The lake measures 8 miles east to west, and 15 miles north to south. There are over 20 villages around the lake. The predominant ethnic groups living in the surroundings of the lake are the Shan and the Kachin, who mainly practise agriculture.


......ในตอนเช้าวันนี้ ผู้เขียนกับพระสุวรรณและปุ๋มได้เดินไหว้พระเจดีย์กันแต่เช้ามืด เพื่อทำสถิติไหว้เป็นครั้งที่ ๒ กะว่าขากลับจะมาไหว้ให้ครบเป็นครั้งที่ ๓ เสร็จแล้วก็เตรียมลงเรือไปเที่ยวในทะเลสาปอินดอจีต่อไป (ตามโปรแกรมเป็นวัดที่มี พระพุทธรูป (จักสานด้วยไม้ไผ่) บ้านหนึ่งเหลา ริมทะเลสาบอินดอยี ) ซึ่งสามารถชมองค์พระเจดีย์ชเวมัตสุได้โดยรอบ โดยมีลักษณะเหมือน "พระเจดีย์กลางน้ำ เมืองสิเรียม" ที่อยู่กลางแม่น้ำ แต่ที่นี่อยู่กลางทะเลสาปและมีขนาดใหญ่กว่า "ทะเลสาปอินเล" อีกด้วย



(ภาพพระเจดีย์กลางน้ำ เมืองสิเรียม นำมาเปรียบเทียบกับพระเจดีย์กลางน้ำ ทะเลสาปอินดอจี)


ตอนเช้าพอสว่างดีแล้วรีบตื่นขึ้นมา เพื่อไปกราบไหว้เป็นครั้งที่ ๒ แล้วกลับมาทานอาหารเช้า เวลา ๐๖.๓๐ น.หัวหน้าทัวร์จัดให้ลงเรือไปในทะเลสาบอินดอร์ยี ซึ่งเป็นเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นพอดี ทิวทัศน์บรรยากาศยามเช้าสดชื่น ร่างกายได้พักผ่อนพอหายเหนื่อยดีแล้ว ออกมายืนริมทะเลสาป ได้มองดูอย่างเต็มตา..เต็มอิ่ม..เต็มใจ..ตามที่ตั้งความปรารถนามานาน ได้ยินเสียงเครื่องเรือดังก้องระงมเต็มท้องน้ำไปหมด เห็นเรือวิ่งไปมาไม่ขาดระยะ เพราะนักท่องเที่ยวต่างก็หาโอกาสในยามเช้าเช่นกัน


ท่าเรือมีหลายแห่ง แต่ละแห่งมีนับสิบลำ ฉะนั้นพวกเราจึงค่อยสบายใจ มองไปไกลๆ ยังเห็นพระเจดีย์อยู่ท่ามกลางสายหมอกบางๆ เวลา ๐๗.๐๐ น. นั่งเรือประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงสถานที่แห่งแรก ช่วงที่นั่งเรือมีนกนางนวลบินมากินอาหารที่พวกเราส่งขึ้นไป เป็นเวลาที่บรรยากาศสวยงามและสงบเงียบตามธรรมชาติ


บัดนี้ความฝันได้กลับกลายเป็นความจริง ผู้เขียนไม่นึกว่าจะมาอยู่ ณ ที่นี้ได้ เหมือนฝันจริงๆ ที่มองเห็นทะเลสาปไกลสุดสายตา ความนึกคิดระหว่างนั่งเรือรอคนอื่นๆ เสียงที่เจ้าของโรงแรมในย่างกุ้ง ได้บอกผู้เขียนไว้ตั้งแต่เดือนมกราคมว่า พระเจดีย์แห่งนี้จะมีทางคนเดินไปเฉพาะเดือน ก.พ. - มี.ค เท่านั้น อีกทั้งยังมีทางที่เทวดาเดินอีกด้วย และน้ำจะลดลงมาตามที่เห็นในภาพนี้แหละ พ้นจากงานเทศกาลน้ำก็ท่วมทางเดินเหมือนเดิม

จุดนี้แหละที่เป็นจุดสนใจตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนพยายามวางแผนการเดินทางมาตั้งแต่เดือนมกราคม หลังจากรู้ว่ามีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นี้ด้วย ทั้งๆ ที่เดินทางสำรวจทั่วประเทศพม่ามาหลายปี แต่ไม่มีใครบอก เพิ่งจะรู้จากเจ้าของโรงแรม และเป็นการบังเอิญจริงๆ ที่แกมาเฉพาะวันนั้น วันหลังก็ไม่เห็นแกมาโรงแรมอีกเลย ถือว่าโชคดีจริงๆ



(ภาพบรรยากาศยามเช้าบริเวณริมทะเลสาบอินดอยี)


ผู้เขียนขอให้ปุ๋มถ่ายทางเดินให้ต่อเนื่องจนถึงองค์พระเจดีย์ เพื่อให้ท่านผู้ชมที่ไม่มีโอกาสไปจะได้เห็นชัดเจน จะมีคนเดินไปมาทั้งวันและคืนตลอดงานเทศกาลอย่างนี้ไม่ขาดสาย แล้วนึกภาพต่อไปว่า อีกไม่กี่วันน้ำก็จะท่วมทางเดินเหมือนเดิม บริเวณพระธาตุก็จะเหมือนกับอยู่กลางทะเลสาปอีกเป็นเวลานานต่อไป


ก่อนจะเดินทางไปไกลจากที่นี่ คนขับเรือหางยางได้ขับวนรอบองค์พระธาตุ เพื่อให้พวกเราได้ชื่นชมโดยรอบ สวยงามเหมือนพระเจดีย์กลางน้ำ เมืองสิเรียม แต่ที่นี่ไปยากและหนทางลำบากกว่ากันหลายร้อยเท่า ทั้งที่พักและที่อาบน้ำ เรื่องอาหารพื้นบ้านของเขาก็ต้องระมัดระวัง


เรือได้วิ่งวนรอบใช้เวลาไม่นานนัก แล้วก็วิ่งออกมาห่างไกล เห็นฝูงนกนางนวลบินโฉบไปโฉบมา ผู้หญิงที่เคยมาได้ซื้ออาหารนกมาด้วย ส่วนพวกเราไม่เคยมาจึงไม่เตรียมมาเลย แต่โยมเขารู้เขาก็แบ่งให้ จึงสนุกกับการโยนขึ้นไปให้นกบินโฉบไป ต้องอาศัยจังหวะการโยน และความสามารถของนกด้วย


พระเจดีย์ชเวมิตซุนี้ พระสุวรรณบอกว่าได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว แต่เพิ่งจะรู้ว่าอยู่ที่นี่ ท่านก็เพิ่งจะเดินทางมาเหมือนกัน ผู้เขียนจึงอยากจะเล่าประวัติความเป็นมาก่อน ซึ่งได้ข้อมูลมาเป็นภาษาพม่า แต่ก็ได้คุณมายิน เดียวสุรินทร์ นำไปให้ "ลิ้นจี่" ซึ่งเป็นลูกจ้างมาจากพม่าช่วยแปลให้ เพื่อจะได้รู้ซึ้งถึงความสำคัญของสถานที่นี้ ดังนี้

ภาพประวัติพระเจดีย์ชเวมิตซุ ทะเลสาปอินดอจี เมืองมิตจิน่า



อธิบายภาพประกอบ (ภาพที่ ๑ - ๑๘)

ภาพที่ ๑
......พระพุทธเจ้าตรัสสั่งพระอานนท์พุทธอนุชาไว้ว่า ให้พระอานนท์มาที่อินดอว์ยี แล้วสร้างพระเจดีย์ตรงนี้ ต่อมาพระอานนท์ได้เดินทางมาพร้อมกับพระสงฆ์




ภาพที่ ๒
......พระเถระชื่อ "อุนยีตู" และชาวบ้านได้นั่งเรือไปกลางแม่น้ำ พระอุนยีตูท่านได้อธิษฐานเสี่ยงทายจะสร้างพระเจดีย์ ด้วยการโยนก้อนหิน ๓ ก้อนลงไปในน้ำ แล้วใช้ไม้เท้าปักลงไปตรงก้อนหินพอดี เพื่อสร้างพระเจดีย์ตรงสถานที่นี้



ภาพที่ ๓
......ปีของพม่า ปี ๑๒๓๐ ในสมัยพุทธกาล มีพระเถระชื่อ "นิสิเปตะละ วิเนยะเกรู้กะ อันยายะวาตี มหาเถสยาดอว์ อเชนตอปีตะ" ( ชื่อย่อๆ ของพระเถระชื่อ "อุตอปีตะ" ) มีฆราวาสชื่อ ตุ๊วันนาปาปาต๊ะ มาสร้างศาลาไว้แล้วได้ถวายแด่พระสงฆ์ ต่อมามีโยม ๔ คน พร้อมพระสงฆ์ได้มานั่งปรึกษากันที่ศาลาจะสร้างพระเจดีย์ต่อไป


ภาพที่ ๔
......ปี ๑๒๓๐ วันออกพรรษา พระเถระชื่อ "อุตอปีตะ" นั่งเรือไปตามแม่น้ำอิระวดี เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่พระเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง มาบรรจุไว้ที่พระเจดีย์ ท่านได้อธิษฐานว่าถ้าได้พระบรมสารีริกธาตุมา ๕ พระองค์ ขอให้สร้างพระเจดีย์ได้สำเร็จ



ภาพที่ ๕
......ปี ๑๒๓๐ แม่น้ำชื่อ "อินดอว์ยี" ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ มีคนอธิษฐานว่าขอให้มีทางเดินไปพระเจดีย์ได้ เพราะพระเจดีย์อยู่กลางแม่น้ำ ระยะทางยาว ๒๗๖ ก.ม. มีทางเดินไปได้ ๒ ทาง คนเดิน ๑ ทาง เทวดาเดิน ๑ ทาง
(หมายเหตุ : ตามที่ผู้เขียนไปเห็นน่าจะ ๑ กิโลเมตรเศษเท่านั้น เพราะพม่านับระยะทางเป็นไมล์)


ภาพที่ ๖
......พระอุตอปิตะและชาวบ้าน ๔ คน ได้ทำพิธีบวงสรวงขออนุญาตสร้างพระเจดีย์ที่กองทรายกลางแม่น้ำ





ภาพที่ ๗
......วันต่อมาพระอุตอปิตะ (ก่อนที่จะมาบวชท่านชื่อ "อุตาเอ") ได้เห็นสถานที่ตรงกองทรายอันเป็นที่สร้างพระเจดีย์ เห็นเป็นรูปร่างครึ่งวงกลมลอยขึ้นมาแล้วก็หายไป พระเถระก็เข้าใจว่าท่านอนุญาตให้สร้างเจดีย์ได้




ภาพที่ ๘
......ปี ๑๒๓๐ วันเสาร์ที่ ๑๑ มีนาคม ปี ๑๘๖๙ เวลา ๕ โมงเช้า มีชาวบ้านและผู้หลักผู้ใหญ่ ๖ หมู่บ้านมารวมกันทำบุญ เพื่อปักหลักเขตที่จะสร้างพระเจดีย์ โดยใช้ไม้เงินไม้ทองปักหลัก
(หมายเหตุ : ปี ๑๘๖๙ คงจะเป็น "คริสศักราช" ตรงกับ พ.ศ.๒๔๑๒ )



ภาพที่ ๙
......๑ ปี ๑๒๓๑ วันพฤหัสที่ ๑๓ พฤษภาคม ปี ๑๘๖๙ วันที่ ๒๒ เม.ย. เวลา ๑๑ โมงเช้า มีชาวบ้านและผู้ใหญ่มากมายไปหมดมาช่วยกันก่อสร้างพระเจดีย์




ภาพที่ ๑๐
......ปี ๑๒๓๑ วันพฤหัสที่ ๑๒ พฤษภาคม เวลา ๑๑ โมงเช้า พระสงฆ์และชาวบ้านทั้งหลาย ช่วยกันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่กลางพระเจดีย์




ภาพที่ ๑๑
......พระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในผอบทองคำ แล้วประดิษฐานไว้บนเรือทอง พร้อมด้วยแก้วแหวนเงินทองบรรจุไว้ในยอดพระเจดีย์





ภาพที่ ๑๒
......ปี ๑๒๓๑ วันที่ ๒ มิถุนายน เวลา ๖ โมงเย็น พระอุตอปิต๊ะเป็นประธานมีชาวบ้านและผู้ใหญ่มากมาย มาทำพิธีปักไม้ไว้ตรงกลางพระเจดีย์ เพื่อจะสร้างยอดพระเจดีย์ให้สูงขึ้น




ภาพที่ ๑๓
......ปี ๑๒๓๑ วันพฤหัสที่ ๘ กรกฎาคม เข้าพรรษา เวลา ๖ โมงเย็น สร้างยอดพระเจดีย์เพิ่มขึ้น ๕ ชั้น และสร้างยอดสูงขึ้นไปอีก ๙ ชั้น





ภาพที่ ๑๔
......พระเจดีย์สร้าง๕ เดือนเสร็จ คนสร้างตอนกลางวัน เทวดาสร้างตอนกลางคืน





ภาพที่ ๑๕
......ปี ๑๒๖๕ พระสงฆ์ชื่อ "อุตะมะตามี๊" ได้มาดูแลสถานที่นี้ แล้วได้สร้างพระเจดีย์องค์เล็กอีก ๔ องค์ ล้อมรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่





ภาพที่ ๑๖
......ปี ๑๓๐๘ มีรูปร่างลักษณะเป็นแบบนี้






ภาพที่ ๑๗
......ปี ๑๓๒๐ มีรูปร่างลักษณะเป็นแบบนี้






ภาพที่ ๑๘
......ปี ๑๓๓๐ มีรูปร่างลักษณะเป็นแบบนี้








ปัจจุบัน ปี 2553 ยอดฉัตรเป็นอัญมณี
ที่มีค่ามาจากธรรมชาติ มีรูปร่างลักษณะสวยงามแบบนี้




(แผ่นวีซีดีที่ผู้เขียนซื้อมาจากเจ้าหน้าที่บริเวณพระเจดีย์
จะมีงูมาไหว้พระเจดีย์ แล้วขดตัวเหมือน "อุณาโลม" อีกด้วย
)



ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


webmaster - 13/7/10 at 10:40

03.

๔๗. พระพุทธรูป (จักสานด้วยไม้ไผ่) บ้านหนึ่งเหลา ริมทะเลสาบอินดอร์ยี เมืองมิตจินา


เรือได้วิ่งไปตามสายน้ำเรียบสงบ ท่ามกลางสายหมอกจางๆ หมู่นกนางนวลยังตามไปเรื่อยๆ บางครั้งเห็นนกเป็ดน้ำว่ายเล่น เรือวิ่งสวนกับบางลำที่เพิ่งกลับมา ทำให้มีกระแสคลื่นเล็กน้อย จนกระทั่งเรือของเราวิ่งเข้าไปเทียบท่า ไม่นึกว่าจะมีหมู่บ้านอีกมากมายริมทะเลสาบแห่งนี้ แต่ที่แปลกอย่าง..ไม่เห็นมีเรือหาปลาเหมือนอย่างบ้านเรา..!


เมื่อลงจากเรือแล้วต้องเดินเข้าไปอีก ๗๐๐ เมตร เข้าไปในวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีพระพุทธรูปชื่อว่า "หนี๋พญา" เป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งในเขตนี้ (จักสานด้วยไม้ไผ่) ทางวัดให้ขึ้นไปสรงน้ำและปิดทองพระพุทธรูปได้ เสร็จแล้วจึงได้ถ่ายรูปกับคณะชาวพม่าที่มาด้วย ร่วมทำบุญเป็นค่าปิดทององค์พระ ๗,๐๐๐ จ๊าด และจ่ายค่าเรือ ๙,๐๐๐ จ๊าด



ท่านเจ้าอาวาสได้แจกภาพองค์พระ และนิมนต์ร่วมฉันน้ำชาตามธรรมเนียมพม่า ตอนนี้มีคณะอื่นๆ เข้ามากราบไหว้กันมาก ทางวัดได้เตรียมการต้อนรับไว้เต็มที่ เพราะงานเทศกาลเช่นนี้ นักท่องเที่ยวจะมาทางเรือกันมาก ซึ่งงานเทศกาลไหว้พระธาตุชเวมิตซุ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

๔๘. รูปปั้นแม่ม่ายและลูก ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา


เรือได้วิ่งย้อนกลับมาทางเก่า แสดงว่าจุดแรกที่ไปเขาไปไกลก่อน แล้วกลับมาแวะสถานที่ ๒ ต่อไป ซึ่งเป็นศาลาตั้งอยู่บนที่สูงริมน้ำ เรือลำอื่นๆ เขาก็แวะเหมือนกันทุกลำ พวกเราเดินขึ้นบันไดสูงหน่อย เข้าไปในศาลาภายในเป็นรูปปั้นของบรรพบุรุษที่เคยสร้างความเจริญไว้ที่นี่


เมื่อขึ้นมาอยู่ข้างบนจึงถ่ายรูปลงมาข้างล่าง จะมองเห็นเรือหางยาวกำลังวิ่งไปมาอยู่ในทะเลสาบ ส่วนอีกภาพหนึ่งจะเห็นริมอ่าวยาวไกลออกไป


จากนั้นก็เดินลงมาแวะที่ศาลาอีกหลังหนึ่ง ภายในจะเห็นรูปปั้นแม่ม่ายและลูก ตามประวัติเล่าว่าเทวดามาเข้าฝันบอกแม่ม่ายว่า ให้ไปบอกชาวบ้านว่าน้ำจะท่วม ชาวบ้านทั้งหลายต่างไม่เชื่อ เมื่อน้ำท่วมจึงหนีไม่ทัน แผ่นดินได้ล่มจมลงไปกลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งเรื่องราวเหมือนกับที่ "ทะเลสาบเชียงแสน" เช่นกัน แต่แม่ม่ายก็สามารถหนีรอดพ้นจากความตายมาได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนเมืองโยนกเชียงแสนก็สูญหายกลายไปเป็นทะเลสาบจนถึงปัจจุบันนี้



สำหรับสถานที่นี้มีแม่ม่ายและลูกพร้อมทั้งกระบือได้รีบวิ่งหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา ก่อนที่น้ำจะท่วมหมู่บ้านทั้งหมด กลายมาเป็นทะเลสาบอินดอยี ซึ่งมองแล้วไม่น่าเชื่อเลยว่า สมัยก่อนทะเลสาบแห่งนี้จะเป็นผืนแผ่นดินที่มีคนอาศัยมากมาย แต่ความเป็นอนิจจังมันไม่เที่ยง โลกถึงได้วิบัติไปเป็นเช่นนี้ จึงได้ร่วมทำบุญ ๑,๐๐๐ จ๊าด แล้วเดินไปลงเรือ เพื่อจะได้ล่องกลับไปแวะสถานที่แห่งอื่นอีกต่อไป

๔๙. พระเจดีย์ม๊อกสุมะ ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา


บริเวณที่จอดเรือเขาทำสะพานไม้ไว้ด้วย จึงสามารถก้าวเดินขึ้นลงเรือได้ง่าย ช่วงนี้อากาศร่มคลึ้มมีแสงสว่างส่องลงมาจากก้อนเมฆด้วย เราได้พบชาวบ้านบางคณะเดินกลังมาลงเรือ


สถานที่สุดท้ายในการแวะอยู่ไม่ไกลเท่าใดนัก ระหว่างนั่งเรือสามารถมองเห็นยอดพระเจดีย์ได้แต่ไกล แต่ต้องเดินผ่านร้านค้าที่วางอยู่ทั้งสองด้าน แล้วเดินผ่านซุ้มประตูขึ้นบันไดเพราะอยู่บนเนินเขา ตามประวัติเล่าว่า พระเจดีย์ม๊อกสุมะเก่าแก่กว่าพระเจดีย์กลางน้ำชเวมิตซุ


คงจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะขณะที่เดินขึ้นไปถึง ผู้เขียนมองเห็นลานพระเจดีย์มีฝนตกลงมาเล็กน้อย คงจะตกก่อนหน้าที่เราจะมาถึง ทั้งๆ ที่เรานั่งเรืออยู่ไม่ไกลนัก แต่ทำไมฝนตกลงมาเฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น


ในขณะนั้นได้มีปรากฏการณ์พระอาทิตย์แผ่รัศมี อากาศครึ้ม ร่มเย็น เป็นพระเจดีย์สร้างที่สร้างในสมัยพุกาม ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีล่วงมาเล้ว ผู้เขียนจึงเกิดมีศรัทธามากขึ้นจึงได้เข้าไปสรงน้ำ ปิดทอง และทำทักษิณาวัตร ๓ รอบ


จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นิมนต์เข้าไปภายในศาลา ผู้เขียนจึงได้ทำบุญกับเจ้าหน้าที่เป็นเงิน ๕,๐๐๐ จ๊าด พร้อมกับออกไปยืนถ่ายรูปด้านหน้าพระเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก


หลังจากนั่งเรือไปสถานที่ครบทั้ง ๓ แห่งแล้วได้กลับมาที่พระเจดีย์กลางน้ำชเวมิตซุอีกครั้งหนึ่ง เพี่อมาสักการบูชาครั้งที่ ๓ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะกลับ ระหว่างเดินทางอากาศยังร่มคลึ้ม ไม่เหมือนกับเมื่อตอนเช้าที่อากาศยังแจ่มใส


รูปภาพต่อไปนี้จะเป็นการถ่ายภาพทุกระยะ นับตั้งแต่อยู่ห่างไกล จนกระทั่งใกล้จะถึงพระเจดีย์


ผู้เขียนขอให้คนขับเรือไปจอดลงที่ใกล้พระเจดีย์ แล้วเดินรอบๆ บริเวณนี้


ผู้คนยังเดินขวักไขว่ มองเห็นธูปเทียนที่จุดวางเต็มไปหมด


นับว่าเป็นสถานที่สำคัญจริงๆ คนที่เดินทางส่วนใหญ่มาจากที่ไกลกันทั้งนั้น


ภาพซุ้มเล็กที่เห็นไกลๆ นั่นเป็นมณฑปพระอุปคุต


เริ่มเดินห่างมาจากพระเจดีย์ เพื่อจะได้เห็นทางเดินไปได้ชัดเจน จะเห็นเรือจอดอยู่ใกล้ๆ ซุ้มประตู


ในตอนนี้ ท่านผู้อ่านจะสังเกตระดับน้ำได้ว่า น้ำแห้งลงมาอยู่แค่ทางเดินนิดเดียวเท่านั้น จะไม่สูงหรือต่ำไปกว่านั้น ได้ระดับพอเหมาะพอดีอะไรเช่นนี้


นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คนเราไม่สามารถจะไปปรับระดับน้ำในทะเลสาบให้พอเหมาะพอดีกับทางที่จะเดินไปได้ ว่าแล้วก็เดินกลับมาเข้าที่พัก เพื่อเตรียมขนกระเป๋าเดินกลับไปทางเมืองมิตจิน่าต่อไป

๕๐. วัดเมษเสยา เมืองมิตจินา

พวกเราได้กลับมาพักค้างคืนที่วัดเมษเสยา ซึ่งยังอยู่ห่างไกลเมืองมิตจิน่า หลังจากเดินทางมาจากทะเลสาบอินดอยี กลับมาถึงวัดเมษเสยาใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง ได้ร่วมทำบุญกับทางวัด ๗,๐๐๐ จ๊าด ไม่มีรูปภาพเพราะยังเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางนั่นเอง (ไม่ได้กลับทางเดิมคือทางเมืองโมกอน แต่ใช้เส้นทางขึ้นไปทางเมืองมิตจิน่า ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะฉิ่น)

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


webmaster - 14/7/10 at 05:19


webmaster - 14/7/10 at 06:43

เที่ยวชมพระพุทธรูปและพระเจดีย์สำคัญ ริมทะเลสาบอินดอยี



ท่านเจ้าอาวาสได้แจกภาพองค์พระ และนิมนต์ร่วมฉันน้ำชาตามธรรมเนียมพม่า ตอนนี้มีคณะอื่นๆ เข้ามากราบไหว้กันมาก ทางวัดได้เตรียมการต้อนรับไว้เต็มที่ เพราะงานเทศกาลเช่นนี้ นักท่องเที่ยวจะมาทางเรือกันมาก ซึ่งงานเทศกาลไหว้พระธาตุชเวมิตซุ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

๔๘. รูปปั้นแม่ม่ายและลูก ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา


เรือได้วิ่งย้อนกลับมาทางเก่า แสดงว่าจุดแรกที่ไปเขาไปไกลก่อน แล้วกลับมาแวะสถานที่ ๒ ต่อไป ซึ่งเป็นศาลาตั้งอยู่บนที่สูงริมน้ำ เรือลำอื่นๆ เขาก็แวะเหมือนกันทุกลำ พวกเราเดินขึ้นบันไดสูงหน่อย เข้าไปในศาลาภายในเป็นรูปปั้นของบรรพบุรุษที่เคยสร้างความเจริญไว้ที่นี่


เมื่อขึ้นมาอยู่ข้างบนจึงถ่ายรูปลงมาข้างล่าง จะมองเห็นเรือหางยาวกำลังวิ่งไปมาอยู่ในทะเลสาบ ส่วนอีกภาพหนึ่งจะเห็นริมอ่าวยาวไกลออกไป


(รูปปั้นแม่หม้ายที่ทูนของบนศีรษะพร้อมกับลูกและกระบือ)

จากนั้นก็เดินลงมาแวะที่ศาลาอีกหลังหนึ่ง ภายในจะเห็นรูปปั้นแม่ม่ายและลูก ตามประวัติเล่าว่าเทวดามาเข้าฝันบอกแม่ม่ายว่า ให้ไปบอกชาวบ้านว่าน้ำจะท่วม ชาวบ้านทั้งหลายต่างไม่เชื่อ เมื่อน้ำท่วมจึงหนีไม่ทัน แผ่นดินได้ล่มจมลงไปกลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งเรื่องราวเหมือนกับที่ "ทะเลสาบเชียงแสน" เช่นกัน แต่แม่ม่ายก็สามารถหนีรอดพ้นจากความตายมาได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนเมืองโยนกเชียงแสนก็สูญหายกลายไปเป็นทะเลสาบจนถึงปัจจุบันนี้



สำหรับสถานที่นี้มีแม่ม่ายและลูกพร้อมทั้งกระบือได้รีบวิ่งหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา ก่อนที่น้ำจะท่วมหมู่บ้านทั้งหมด กลายมาเป็นทะเลสาบอินดอยี ซึ่งมองแล้วไม่น่าเชื่อเลยว่า สมัยก่อนทะเลสาบแห่งนี้จะเป็นผืนแผ่นดินที่มีคนอาศัยมากมาย แต่ความเป็นอนิจจังมันไม่เที่ยง โลกถึงได้วิบัติไปเป็นเช่นนี้ จึงได้ร่วมทำบุญ ๑,๐๐๐ จ๊าด แล้วเดินไปลงเรือ เพื่อจะได้ล่องกลับไปแวะสถานที่แห่งอื่นอีกต่อไป

๔๙. พระเจดีย์ม๊อกสุมะ ริมทะเลสาบอินดอยี เมืองมิตจินา


บริเวณที่จอดเรือเขาทำสะพานไม้ไว้ด้วย จึงสามารถก้าวเดินขึ้นลงเรือได้ง่าย ช่วงนี้อากาศร่มคลึ้มมีแสงสว่างส่องลงมาจากก้อนเมฆด้วย เราได้พบชาวบ้านบางคณะเดินกลังมาลงเรือ


สถานที่สุดท้ายในการแวะอยู่ไม่ไกลเท่าใดนัก ระหว่างนั่งเรือสามารถมองเห็นยอดพระเจดีย์ได้แต่ไกล แต่ต้องเดินผ่านร้านค้าที่วางอยู่ทั้งสองด้าน แล้วเดินผ่านซุ้มประตูขึ้นบันไดเพราะอยู่บนเนินเขา ตามประวัติเล่าว่า พระเจดีย์ม๊อกสุมะเก่าแก่กว่าพระเจดีย์กลางน้ำชเวมิตซุ


คงจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะขณะที่เดินขึ้นไปถึง ผู้เขียนมองเห็นลานพระเจดีย์มีฝนตกลงมาเล็กน้อย คงจะตกก่อนหน้าที่เราจะมาถึง ทั้งๆ ที่เรานั่งเรืออยู่ไม่ไกลนัก แต่ทำไมฝนตกลงมาเฉพาะบริเวณนี้เท่านั้น


ในขณะนั้นได้มีปรากฏการณ์พระอาทิตย์แผ่รัศมี อากาศครึ้ม ร่มเย็น เป็นพระเจดีย์สร้างที่สร้างในสมัยพุกาม ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีล่วงมาเล้ว ผู้เขียนจึงเกิดมีศรัทธามากขึ้นจึงได้เข้าไปสรงน้ำ ปิดทอง และทำทักษิณาวัตร ๓ รอบ


จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นิมนต์เข้าไปภายในศาลา ผู้เขียนจึงได้ทำบุญกับเจ้าหน้าที่เป็นเงิน ๕,๐๐๐ จ๊าด พร้อมกับออกไปยืนถ่ายรูปด้านหน้าพระเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก


หลังจากนั่งเรือไปเที่ยมชมสถานที่ครบทั้ง ๓ แห่งแล้ว จึงเดินลงมาที่สะพานมีชาวบ้านเต็มไปหมด เรือวิ่งสู่ทะเลท่ามกลางท้องน้ำที่กว้างใหญ่ ประมาณ ๓๐ นาทีเรือได้กลับมาส่งที่พระเจดีย์กลางน้ำชเวมิตซุอีกครั้งหนึ่ง เพี่อมาสักการบูชาครั้งที่ ๓ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะกลับ ระหว่างเดินทางอากาศยังร่มคลึ้ม ไม่เหมือนกับเมื่อตอนเช้าที่อากาศยังแจ่มใส


รูปภาพต่อไปนี้จะเป็นการถ่ายภาพทุกระยะ นับตั้งแต่อยู่ห่างไกล จนกระทั่งใกล้จะถึงพระเจดีย์


ผู้เขียนขอให้คนขับเรือไปจอดลงที่ใกล้พระเจดีย์ แล้วเดินรอบๆ บริเวณนี้


ผู้คนยังเดินขวักไขว่ มองเห็นธูปเทียนที่จุดวางเต็มไปหมด


นับว่าเป็นสถานที่สำคัญจริงๆ คนที่เดินทางส่วนใหญ่มาจากที่ไกลกันทั้งนั้น


ภาพซุ้มเล็กที่เห็นไกลๆ นั่นเป็นมณฑปพระอุปคุต


เริ่มเดินห่างมาจากพระเจดีย์ เพื่อจะได้เห็นทางเดินไปได้ชัดเจน จะเห็นเรือจอดอยู่ใกล้ๆ ซุ้มประตู



ในตอนนี้ ท่านผู้อ่านจะสังเกตระดับน้ำได้ว่า น้ำแห้งลงมาอยู่แค่ทางเดินนิดเดียวเท่านั้น จะไม่สูงหรือต่ำไปกว่านั้น ได้ระดับพอเหมาะพอดีอะไรเช่นนี้ นึกถึงที่เจ้าของโรงแรมที่ย่างกุ้งบอกว่า นอกจากมีทางคนเดินแล้ว ยังมีทางที่เทวดาเดินอีกด้วย ผู้เขียนจึงได้มองเห็นป้ายชี้ไปอีกประมาณ ๑๐ เมตร เขาเขียนบอกว่าเป็นทางเทวดาเดิน เสียดายที่ปุ๋มไม่ได้ถ่ายป้ายบอกไว้



ภาพนี้เกือบตกไป ทำข้อมูลเสร็จแล้วเพิ่งจะเห็น จึงนำมาลงให้ทราบระยะทาง
จากฝั่งไปสู่พระเจดีย์ ว่ามีระยะทางไม่ถึงกิโลเมตร (ประมาณ ๘๐๐ เมตร)


(เดินกลับมาจากพระเจดีย์แล้ว จะต้องผ่านร้านค้าต่างๆ และร้านอาหารมากมาย)

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คนเราไม่สามารถจะไปปรับระดับน้ำในทะเลสาบให้พอเหมาะพอดีกับทางที่จะเดินไปได้ ว่าแล้วก็เดินกลับมาเข้าที่พัก เพื่อเตรียมขนกระเป๋าเดินกลับไปทางเมืองมิตจิน่าต่อไป


ภาพสุดท้ายที่ทะเลสาบอินดอยี ผู้เขียนอยากให้เห็นสภาพของรถโดยสารที่จอดรถเต็มไปหมด รถคันเดิมที่เรานั่งกันมาหายไปแล้ว เราจึงต้องหารถคันอื่น โชคดีที่ได้น้ำใจชาวพม่าที่ทัวร์มาจากย่างกุ้งด้วยกัน ต่างช่วยเหลือขนกระเป๋าไปรอที่รถ พวกเราจึงได้นั่งรถกลับได้อย่างสะดวกสบาย

๕๐. วัดเมษเสยา เมืองมิตจินา

พวกเราได้กลับมาพักค้างคืนที่วัดเมษเสยา ซึ่งยังอยู่ห่างไกลเมืองมิตจิน่า หลังจากเดินทางมาจากทะเลสาบอินดอยี กลับมาถึงวัดเมษเสยาใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง ได้ร่วมทำบุญกับทางวัด ๗,๐๐๐ จ๊าด ไม่มีรูปภาพเพราะยังเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางนั่นเอง แต่ชาวพม่าที่ไปกับเราไม่เห็นเขาบ่นอะไร บางคนเอาลูกเล็กๆ ไปด้วย การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เหมือนวิถีชีวิตของคนไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน คนพม่ายังมีความอดทนสูง เพราะกินง่าย..อยู่ง่าย...นอนง่ายนั่นเอง จึงจะไปถึงสถานที่แห่งนี้ได้


เวลานุ่งผ้าถุงก็เหมือนกันเขาก็ง่ายๆ ผู้ชายนุ่งโสร่งผู้หญิงนุ่งผ้าถุง เขาก็เอามาขมวดไว้ ไม่เห็นเขาต้องมีเข็มขัด เวลาลงจากรถจะเห็นเขาสะบัดชายผ้านุ่ง เพื่อขมวดไว้ที่เอวเหมือนให้แน่นขึ้นเท่านั้นเอง เวลาเข้าจะเข้าห้องน้ำ ไม่เห็นเขาเดือดร้อนอะไร รถจอดแวะข้างทางตรงไหนก็ได้ จะมีคนรถคอยชี้นิ้วบอกเท่านั่น ว่าผู้ชายไปทางนี้ ผู้หญิงไปทางนั้น



(ภาพสมัยโบราณ "พระเจดีย์ชเวมิตซุ" กลางทะเลสาบอินดอยี จาก : wikimedia.org ชมภาพเพิ่มเติมที่นี่)

คิดว่าสภาพความยากลำบากเช่นนี้ ถ้าเป็นคนไทยสมัย ๗๐-๘๐ ปีก่อน คงไม่มีใครบ่นกัน ในตอนนั้นเมืองไทยยังไม่เจริญ จะไปไหนก็ต้องเดินกันไป เป็นอันว่าได้รถกลับแน่นอนแล้ว จึงได้เริ่มออกเดินทาง แต่ไม่ได้กลับทางเดิม คือทางเมืองโมกอน แต่ใช้เส้นทางขึ้นไปทางเมืองมิตจิน่า ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น เราจะได้ไปถึงเมืองมิตจินาเสียที....

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


webmaster - 14/7/10 at 08:11

04.

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (เดินทางไปเมืองมิตจินา)

๕๑. วัดธรรมรักขิตะวอนโต เมืองมิตจินา


เช้าวันนี้เวลา ๐๖.๐๐ น. ออกจากวัดเมษเสยาแล้วมาฉันเช้าที่ตลาด พวกฆราวาสก็ลงจากรถไปทานปาท่องโก๋กับกาแฟ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดมากนัก จากนั้นก็ออกจากหมู่บ้าน อันเป็นเส้นทางคนละเส้นกับขามา ระหว่างทางเริ่มพบกับการสร้างสะพาน รถไม่สามารถข้ามไปได้เลย


ฉะนั้นการเดินทางช่วงนี้ต้องใช้เวลานานมาก ทั้งที่มีระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตรเท่านั้น มีการทำสะพานเป็นช่วงๆ พวกคนประจำรถบัสทั้งสองคัน ต้องนำจอบมาขุดดินถมทาง หรือไม่ก็ต้องนำไม้แผ่นใหญ่มาวางให้รถวิ่งผ่านไปบ้าง


ช่วงที่เห็นในภาพนี้เป็นช่วงที่หนักที่สุด รถจำเป็นต้องคลานลงไปน้ำ โดยมีคนเดินนำหน้าหาร่องน้ำ ต้องใช้ความสามารถของคนขับด้วย จนกลายเป็นรถดำน้ำไปแล้วนะเนี่ย..


ส่วนผู้โดยสารก็ต้องคอยขึ้นรถและลงรถตลอดเวลา เพื่อให้รถมีน้ำหนักเบา (ในภาพจะเห็นท้องรถต่ำเกยกับรางรถไฟ เขาต้องหาแผ่นไม้มาเสริมล้อหลัง) จนกระทั่งถึงเวลาเพล พระต้องฉันเพลกันในรถ ท่านผู้อ่านได้เห็นสภาพทุลักทุเลเช่นนี้ คงจะนึกออกว่ามันยากลำบากแค่ไหน จนผู้เขียนยอมแพ้ ขอให้คนรถคนหนึ่งมีหนวดที่คอยบริการระหว่างเดินทาง เรียกกันว่า "คุณหนวด" ให้ติดต่อหาซื้อตั๋วรถไฟกลับมัณฑเลย์


เวลา ๑๕.๐๐ น. ถึงเมืองมิจิน่าเข้าพักที่ วัดธรรมรักขิตะวอนโต ซึ่งอยู่ภายในเมืองหลวง เป็นวัดใหญ่มีคนและพระที่เดินทางกลับมาจากทะเลสาบอินดอยีเข้ามาพักกันมากมาย ส่วนใหญ่เป็นรถสองแถวที่เข้ามาจอดส่งคน


วัดนี้เหมือนกับเป็นศูนย์กลางของผู้ที่จะเดินทางไปไหว้พระเจดียชเวมิตซุ ก่อนจะไปหรือก่อนจะกลับ ต้องมาแวะพักที่นี่กันก่อน ส่วนพระที่นั่งอยู่ข้างๆ เป็นพระจีน (แต่เป็นฝ่ายเถรวาทเหมือนเรา) เพิ่งเดินทางกลับมาเช่นกัน ปรากฏว่าท่านต้องไปที่เขตชายแดน เพื่อจะข้ามไปในเขตประเทศจีน ยังต้องเดินไปอีกไกล

คืนนี้ท่านจะพักที่นี่ก่อนเช่นกัน ส่วนญาติโยมที่มาด้วยเต็มรถสองแถวพักที่ศาลาใหญ่ ท่านพอฟังภาษาไทยได้ สำเนียงออกเสียงอีสานเหมือนคนที่เมืองเชียงรุ่ง ท่านบอกว่าอยู่เมืองเคะ กลางคืนผู้เขียนได้ถวายเงินดอลลาร์ ท่านก็ได้ถวายเงินหยวนให้ไว้เป็นที่ระลึกต่อกัน

ช่วงนี้ญาติโยมต่างเดินลงไปอาบน้ำที่แม่น้ำกัน เห็นเขาไปอาบน้ำกันง่ายๆ โดยเฉพาะคนรถผู้ชายเพียงแค่นุ่งโสร่งตัวเดียวแค่นั้นเอง ตอนนี้ผู้เขียนจึงให้คุณหนวด หัวหน้าทัวร์ไปจองตั๋วรถไฟ ระหว่างเมืองมิตจินา - มัณฑเลย์ รถไฟจะออกเวลา ๑๒.๓๐ น.ของวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ถึงประมาณ ๗-๘ โมงเช้า

ค่าโดยสารเขาคิดเราในราคาคนต่างชาติ (๒ คนๆ ละ ๒๘ ดอลลาร์) รวม ๕๖ ดอลาร์ ส่วนพระสุวรรณ (ราคาคนในประเทศ) ๑๐,๐๐๐ จ๊าด ราคาถูกหน่อย (นี่..ดูน้ำใจของทางการพม่า เขาคิดในราคาชาวต่างประเทศเป็นดอลลาร์เลยนะเนี่ย) ทิปให้คุณหนวด ๔,๐๐๐ จ๊าด ต้องทิปให้ลูกน้องคุณหนวดเพราะตามมาขออีก ๒,๐๐๐ จ๊าด ค่าจ้างมอเตอร์ไซด์ไปสถานีรถไฟ ๑,๐๐๐ จ๊าด

ระหว่างที่พักอยู่ในวัดนี้ ได้พบกับพระพม่าที่มาจากย่างกุ้งอีก ๔-๕ รูป จึงเอากาแฟและนมข้นตราหมีมาให้ฉันกัน ปรากฏว่าท่านฉันกันหมดสิ้น เพราะเดินทางมาเหนื่อย และก็ไม่เคยได้ลิ้มรสกาแฟจากเมืองไทย ผู้เขียนได้ทำบุญถวายพระองค์ละ ๕,๐๐๐ จ๊าด รวมเป็น ๒๐,๐๐๐ จ๊าด, ทำบุญกับพระจีน ๒๐ ดอลลาร์ ถือว่าเป็นการทำบุญฉลองความสำเร็จ ที่เดินทางไปไหว้ได้อย่างปลอดภัยและสำเร็จลุล่วงไปสมความตั้งใจทุกประการ.

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))


webmaster - 15/7/10 at 06:32

05.

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (เที่ยวชมเมืองมิตจินา)

๕๒. พระพุทธสีหไสยาสน์ วัดละเยาโตมูทยา เมืองมิตจินา


เวลา ๐๖.๐๐ น.ตื่นเช้าแล้วเตรียมอาหารกระป๋องที่เหลือกลับมา คงช่วยให้มีชีวิตอยู่อีกวันหนึ่ง ปุ๋มทำข้าวต้มด้วยกาต้มน้ำที่นำไปด้วย เสร็จแล้วก็ฉันเช้ากันทันที เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญในเมืองมิตจินากันต่อไป พวกเราได้ว่าจ้างรถสามล้อเครื่อง ๑ คัน ออกเดินทางไปที่แห่งแรกคือ วัดพระนอน (วัดละเยาโตมูทยา)


เมื่อเข้าไปในวัดไม่เจอใครเลย จึงไม่ทราบขนาดความยาวของพระนอน แต่เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงในเมืองมิตจินา ได้ทำบุญใส่ตู้บริจาค ๓,๐๐๐ จ๊าด


พยายามถ่ายไว้หลายรูป เพราะโอกาสจะไปอีกนั้นคงยาก จะเห็นว่างดงามทุกมุมจริงๆ ถ่ายภาพทั้งด้านนอกให้มองเห็นพระวิหาร แล้วเข้าไปถ่ายภายในให้เห็นองค์พระชัดๆ สวยงามทั้งพระพักตร์ได้สมสัดส่วนเช่นกัน



๕๓. พระเจดีย์ วัดโลกะมันอ๋อง เมืองมิตจินา


นับว่าเป็นวัดที่สร้างจำลองสถานที่สำคัญในประเทศพม่า ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดละเยาโตมูพญา จึงได้ยืนถ่ายรูปหน้าซุ้มประตูก่อน


มองดูภายในวัด เห็นพระเจดีย์สีทองอร่ามตา จึงได้เข้าไปสรงน้ำปิดทอง พร้อมทั้งทำบุญทุกอย่าง ๓,๐๐๐ จ๊าด



๕๔. พระพุทธรูปยืน วัดยานโตมูพญา เมืองมิตจินา


วัดที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันบริเวณนี้ ประมาณ ๓ วัดอย่างที่เห็นนี่แหละ ผู้เขียนเห็นเขากำลังก่อสร้างต่อเติมอาคารด้านหน้าพระพุทธรูปยืน จึงได้รีบเข้ามาเพื่อขอมีส่วนร่วมครั้งนี้ด้วย


พร้อมทั้งเข้าไปยืนถ่ายรูปที่ด้านหน้าพระยืน และร่วมทำบุญ ๕,๐๐๐ จ๊าด มาเที่ยววัดแถวนี้ เลยได้บุญครบถ้วน คือได้ไหว้ทั้งพระนอนและพระยืน จากนั้นรถสามล้อเครื่องก็นำไปที่อื่นต่อไป.



๕๕. พระเจดีย์ วัดอันโตเชน เมืองมิตจินา


วัดนี้ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญที่สุดในเมืองมิตจินา ภายในเป็นที่ประดิษฐาน "พระทันตธาตุส่วนกรามด้านขวา" ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศจีนได้ ๕๙ ปีมาแล้ว แต่เขาไม่ได้นำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์ใหญ่ เพียงแต่บรรจุไว้ภายในพระเจดีย์องค์เล็กๆ อยู่ภายในศาลามีประตูเหล็กป้องกันไว้อย่างแน่นหนาแข็งแรง สามารถให้ผู้เข้าชมกราบไหว้มองเห็นได้อย่างชัดเจน


นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ด้วย ได้เข้าไปกราบไหว้บูชาองค์พระธาตุสีทองสวยงาม อีกทั้งได้ถ่ายรูปร่วมกับเจ้าหน้าที่ของวัดด้วย ซึ่งมีอัธยาศัยไมตรีเป็นอย่างดียิ่ง


ระหว่างนี้มีโยมคนหนึ่งเข้ามากราบไหว้ที่เท้าผู้เขียน เมื่อรู้ว่าเป็นพระมาจากประเทศไทย เขาดีใจที่ไม่เคยมีพระไทยเดินทางมาไกลเช่นนี้ ผู้เขียนจึงได้ร่วมทำบุญไว้บูรณะเป็นเงิน ๑๓,๐๐๐ จ๊าด


พระสุวรรณกำลังแปลภาษาพม่าให้ผู้เขียนฟัง หลังจากสนทนากับเจ้าหน้าที่ของวัดแล้ว จึงได้ออกมายืนถ่ายรูปที่ซุ้มประตูหน้าวัด เพื่อให้เห็นทิวทัศน์อันสวยงาม.



๕๖. พระเจดีย์อองเสยานอ๋อง เมืองมิตจินา


สถานที่สำคัญอันเป็นที่สุดท้ายของโปรแกรม นับว่าเป็นวัดใหญ่และสวยงามยิ่งในเมืองมิตจินา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะฉิ่น และที่สำคัญเป็นต้นแม่น้ำอิระวดีอีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า พวกเราไม่สามารถเดินทางไปชมต้นกำเนิดแม่น้ำสองสาย ที่ไหลมารวมกันแล้วเกิดเป็นแม่น้ำอิระวดี จนกระทั่งไหลผ่านไปจนถึงเมืองย่างกุ้ง


ก่อนจะเข้าไปกราบไหว้พระเจดีย์ ผู้เขียนและพระสุวรรณได้ยืนถ่ายรูปที่ซุ้มประตูด้านหน้า เพื่อจะได้เห็นบริเวณโดยรอบเสียก่อน


ในตอนนี้ได้พบกับท่านเจ้าอาวาส ท่านได้มาอธิบายถึงการสร้างภายในวัด ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นว่ามีพระพุทธรูปอยู่มากมายหลายสิบองค์เต็มไปหมด


ท่านบอกว่าพระพุทธรูปทุกองค์มีเจ้าภาพ ผู้เขียนจึงได้ร่วมทำบุญด้วยดังนี้ ร่วมสร้างพระเจดีย์ ๑๐,๐๐๐ จ๊าด ถวายให้พระอีกรูปที่ช่วยนำทาง ๒,๐๐๐ จ๊าด


จากนั้นได้มอบให้โยมที่เฝ้าดูแลสถานที่ซึ่งเป็นโยมพ่อของเจ้าอาวาสด้วย ๓,๐๐๐ จ๊าด แจกให้คนงานที่กำลังทำงานก่อสร้างอีก ๖ คัน รวมเป็นเงิน ๖,๐๐๐ จ๊าด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ จ๊าด


คุณปุ๋มพยายามถ่ายรูปให้ครบถ้วน จะเห็นองค์พระประทับนั่งอยู่เรียงรายเต็มไปหมด มองดูแล้วน่าจะนับเป็นร้อย มีญาติโยมศรัทธาสร้างไว้เป็นจำนวนมาก


อีกด้านหนึ่งจะมองเห็นรูปพระสงฆ์ปูนปั้นเดินบิณฑบาตเป็นแถวยาวเหยียด พวกเราต้องใช้เวลาเดินชมอยู่นานพอสมควรแล้ว จากนั้นรถสามล้อเครื่องได้กลับมาส่งที่ วัดธรรมรักขิตะวอนโต เพื่อเตรียมตัวกลับไปขึ้นรถไฟ



ก่อนจะกลับคุณปุ๋มได้ยืนถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสมาอีกหรือไม่


ผู้เขียนก็ขอยืนถ่ายรูปที่ด้านหน้าศาลาหลังใหญ่ เพราะยังสร้างไม่เสร็จ โดยขอมีส่วนร่วมในการทำบุญครั้งนี้ด้วย


จากนั้นก็ได้ร่ำลาญาติโยมที่ร่วมเดินทางมากับรถบัส ซึ่งเขายังมีโปรแกรมที่จะเดินทางไปเที่ยวที่ชายแดนประจีนต่อ อีกหลายวันคงจะกลับ แต่ถ้ากลับไปทางเดิมอีกคงไม่ไหว เพราะสภาพรถบัสชอกช้ำเป็นอย่างมาก


ครั้นได้เวลา ๑๑.๒๐ น. ผู้เขียนได้มาฉันเพลที่ตรงข้ามสถานีรถไฟ เพื่อเตรียมขึ้นรถไฟกลับมัณฑเลย์ ถ่ายภาพที่ด้านหน้าสถานีรถไฟเมืองมิตจินา แล้วไปนั่งรอที่ภายในอาคารของสถานีรถไฟ ซึ่งมีรถไฟเข้าออกตลอดเวลา สามารถเดินทางขึ้นเหนือต่อไปได้อีก ส่วนพวกเราจะต้องล่องลงใต้กลับไปเมืองมัณฑเลย์


จากนั้นรถไฟขบวนพิเศษต้นทางได้เข้ามาเทียบชานชลา ผู้เขียนและคุณปุ๋มได้นั่งที่นั่งชั้นหนึ่ง ซึ่งมีเบาะปรับเอนได้อย่างสบาย มีรถนอนและรถเสบียงร่วมขบวนไปด้วย เวลา ๑๒.๓๐ น. รถไฟออกตรงเวลาดีมาก

ระหว่างที่รถไฟวิ่งตลอดทางนั้น เจอโยมผู้หญิงชาวไทยใหญ่ถวายเครื่องดื่มกระป๋อง สนทนากันตลอดทาง และยังมีโยมที่เคยบวชเป็นพระแล้วเรียนจนเป็นด็อกเตอร์ทางศาสนาและสังคม ร่วมสนทนาในการเดินทางไปย่างกุ้งครั้งนี้ด้วย.

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตาม "ตอนจบ" ต่อไป )))


webmaster - 16/7/10 at 09:27

06.

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (เมืองมิตจินา - มัณฑเลย์)



.....รถไฟวิ่งมาทั้งคืน ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างหรือไม่ก็ไม่รู้ เพราะนอนหลับๆ ตื่นๆ มองอะไรไม่เห็น รถไฟจะหยุดพักตามสถานีใหญ่ มีแม่ค้าขายของบนรถไฟเหมือนบ้านเรา อีตาดอกเตอร์สั่งข้าวผัดจากตู้เสบียงแล้วนอนหลับกรนคร้อกๆ ไปอย่างสบาย จนกระทั่งสว่างช่วงเช้าจึงได้สั่งข้าวผัดจากตู้เสบียง นั่งฉันเสร็จรถเข้าสถานีรถไฟมัณฑเลย์พอดีเวลา ๐๗.๓๐ น. ตั้งแต่รถไฟออกเวลา ๑๒.๓๐ น. ลองนับกันเองว่านั่งมากี่ชั่วโมง ระยะทาง ๔๘๗ ไมล์ ยังดีกว่านั่งรถบัสใช้เวลาเกือบอาทิตย์

๕๗. พระพุทธรูป “มหามุนีพญา” เมืองปินอูลวิน (Pyin oo lwin)


ต่อจากนั้นได้เหมารถแท็กซี่ ๖,๐๐๐ จ๊าด จากสถานีรถไฟไปสถานีขนส่ง เพื่อจองตั๋วรถทัวร์เดินทางต่อไปย่างกุ้ง ๔ ที่นั่งๆ ละ ๑๐,๐๐๐ จ๊าด รถออกเวลา ๑๙.๐๐ น. ยังมีเวลาทั้งวันจึงหาเช่ารถในสถานีขนส่งเพื่อเดินทางต่อไปที่เมืองปินอูลวิน (Pyin oo lwin) ก่อนที่จะมาขึ้นรถกลับในเวลาตอนเย็น ค่าเหมารถ ๕๐,๐๐๐ จ๊าด ก่อนจะมาถึงสถานที่แห่งแรกนี้ รถเสียตลอดทาง กระทั่งต้องยื่นคำขาดว่า ถ้าเสียจะเปลี่ยนรถ จึงค่อยมาถึงสถานที่แห่งแรกได้ ถนนสายนี้ลาดยางเป็นอย่างดี สามารถวิ่งไปสู่เมืองสีป้อ และเมืองลาโช ซึ่งผู้เขียนเคยไปมาแล้วเมื่อปี ๒๕๔๓


โชคดีที่โชเฟอร์ซ่อมรถได้ ไม่งั้นก็ต้องเสียเวลาไปไหนไม่ได้ เพราะรถขึ้นไปเสียบนภูเขา รถวิ่งสั่นคลอนๆ แต่ยังเก่งที่ขึ้นเขาได้ คนขับได้พาไปแวะฉันเพลที่ร้านอาหารข้างถนน ตอนหลังผู้เขียนเริ่มมีอาการท้องเสีย จนต้องบนหลวงพ่อห้าพระองค์ช่วย แล้วเดินทางไปที่แห่งแรก ซึ่งจะต้องเดินขึ้นไปบันไดบนภูเขาสูง ข้างบนเป็นยอดเขาที่มีลานไม่กว้างมากนัก


เพื่อกราบไหว้ พระพุทธรูป “มหามุนีพญา” ที่อยู่ภายในพระเจดีย์สีทองท่ามกลางศาลาหลายหลัง เมืองปินอูลวินเป็นเมืองที่ฝรั่งชอบมาท่องเที่ยวกันมาก ส่วนคนไทยจะมีน้อย ส่วนใหญ่จะมาแค่มัณฑเลย์ แล้วขึ้นไปเที่ยวเมืองพุกามกันเลย


หลังจากได้กราบไหว้พระเจดีย์แล้ว จึงได้ทำบุญใส่ตู้บริจาค ๓,๐๐๐ จ๊าด แล้วเดินกลับลงมาทางบันได เพื่อขึ้นรถไปที่อื่นอีก



๕๘. วัดมหานันทะคู (ถ้ำน้ำตก) เมืองปินอูลวิน


รถได้วิ่งออกไปนอกเมืองไกลพอสมควร จนมาถึงถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งมีน้ำตกไหลลงมาที่หน้าถ้ำ มีนักท่องเที่ยวมากันมาก บางคนก็ไปอาบน้ำตกกัน ต้องจอดรถแล้วเดินผ่านร้านค้าขายของป่า เหมือนกับที่บ้านเราที่ขายของหน้าบริเวณน้ำตก ก่อนถึงหน้าถ้ำจะมีรูปปั้นพระเดินบิณฑบาตเป็นแถวๆ โดยมีพระพุทธเจ้าเดินนำหน้า


มีทางเดินเข้าไปที่หน้าถ้ำ ละอองน้ำตกไหลลงมากระทบ ความเย็นโชยมาทำให้คลายร้อนไปได้บ้าง มีผู้ใหญ่ชอบนำเด็กๆ มาที่นี่กันมาก เพราะมีที่เล่นน้ำตก ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด


ภายในถ้ำจัดทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีพระเจดีย์ พระมหามุนีจำลอง สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ภาพพุทธประวัติต่างๆ ตลอดจนที่กราบไหว้บูชา


สำหรับสถานที่นี้น่าท่องเที่ยวมาก เพราะเป็นถ้ำที่ลึกไปไกล แต่เขาทำให้ได้ประโยชน์ มีแสงไฟสว่างตลอดทาง มีทั้งรูปปูนปั้น รูปวาดพุทธประวัติต่างๆ จึงได้ร่วมทำบุญกับเจ้าหน้าที่เป็นเงิน ๔,๐๐๐ จ๊าด


ก่อนจะกลับได้เข้าไปกราบพระมหามุนี (จำลอง) ซึ่งมีความสวยงามเหมือนองค์จริงเช่นกัน ผู้เขียนได้ขึ้นไปปิดทองเป็นองค์พระด้วย หลังจากนั้นก็เดินขึ้นบันไดไปส่วนบนของถ้ำ มองเห็นพระพุทธรูปวิจิตรงดงามไปหมด





๕๙. วัดมหาอัญชุกัน เมืองปินอูลวิน


โชเฟอร์ขับรถปุเลงๆ กลับมาในเมืองอีก เพื่อไปชมวัดอีกแห่งหนึ่งที่สวยงาม ซึ่งมีรูปทรงลักษณะพระเจดีย์คล้ายกับ "พระเจดีย์ชเวดอว์" ที่กรุงย่างกุ้ง


ซึ่งทำเป็นอาคารสร้างเป็นหน้ามุข ๔ หน้า ด้านบนหลังคาทำเป็นเจดีย์รูประฆังคว่ำ ในมหาวิหารมีพระพุทธรูปทั้ง ๔ ทิศ ปางเดียวกัน จึงได้ทำบุญใส่ตู้บริจาค ๕,๐๐๐ จ๊าด


เมื่อผู้เขียนกลับมาถึงวัดแล้ว เพิ่งจะนึกได้ว่าสถานที่นี้เคยไปมาแล้วเมื่อปี ๒๕๔๓ ในตอนนั้นเรียกชื่อพระพุทธรูปหยกขาวองค์นี้ว่า "พระมหาอานชุกานดา" อันเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่อัญเชิญมาจากมัณฑเลย์ มีประวัติเล่าไว้ใน หนังสือตามรอย เล่มที่ ๔ ดังนี้ว่า

......ประวัติเดิมเล่าว่า เป็นพระพุทธรูปที่พ่อค้านำมาจากมัณฑเลย์เพื่อไปที่เมืองจีน ครั้นนำ มาถึงตรงตำแหน่งที่สร้างวัดแห่งนี้ พระก็หล่นลงมา ถึงแม้เอารถเครนมายกก็ไม่ขึ้น พอชาวบ้านขอซื้อพระองค์นี้ไว้ จึงสามารถยกขึ้นได้อย่างอัศจรรย์ภายใน ๖ ชั่วโมงเท่านั้น


......ต่อมาจึงได้มาสร้างเป็นวัด ในระหว่างนั้นก็เกิดแสงรัศมีขึ้นบนเขา และภายในคืนนั้นก็มีงูตัวใหญ่เลื้อยเข้ามาในวัด พระมหาอานชุกานดาทำด้วยหยกขาว มีแสงทะลุเข้าไปข้างในได้ วัดแห่งนี้สร้างโดยเงินของชาวบ้านร่วมกัน เป็นเงิน ๓๐๐ กว่าล้านจ๊าด ใช้เวลาสร้าง ๑ ปี ที่เมเมี้ยวนี้มีคนรวยมาก เพราะเส้นทางจากเมเมี้ยว สามารถทะลุไป เมืองตาลีฟู ประเทศจีนได้




๖๐. วัดจุละมุริยะมันสุ่น พระพุทธรูป ๔ ทิศ เมืองปิลอูลวิน


หลังจากนั้นได้ล่องกลับมาแถวที่ วัดจุละมุริยะมันสุ่น ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ ทิศ ปางประทับนั่งต่างๆ กัน




พระประธานประจำแต่ละทิศ มีพุทธลักษณะสวยงามแตกต่างกัน จึงได้ถ่ายรูปไว้ครบทุกทิศ


ยังมีพระเจดีย์องค์เล็กภายในบรรจพระบรมสารีริกธาตุ ไม่ทราบว่าส่วนไหน จึงได้ร่วมทำบุญ ๕,๐๐๐ จ๊าด




๖๑. วัดพระงู (โมยพญา) บ้านปะเลย เมืองมัณฑเลย์


สถานที่แห่งนี้ถือเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมาก จะมีรูปงูพันพระพุทธรูปวางจำหน่ายอยู่ในเมืองมัณฑเลย์ ผู้เขียนได้เห็นรูปแล้วก็อยากจะมาเห็นด้วยตาตนเอง วันนี้โชคดีที่ยังมีเวลาเหลือ คนขับรถกลับมาใกล้ถึงตัวเมืองมัณฑเลย์เกือบ ๕ โมงเย็นแล้ว จึงได้แถมให้พวกเราเป็นแห่งสุดท้าย


โดยการนำมาแวะที่วัดพระงูแห่งนี้ ซึ่งมองเห็นงูเหลือมขนาดใหญ่ ยาว ๒ เมตรขึ้นไป กำลังนอนขดตัวอยู่ข้างฐานองค์พระถึง ๓ ตัว ตอนนี้มีเด็กนักเรียนเข้ามามุงเต็มไปหมด ต้องรอจนคนน้อยแล้วเดินเข้าไปเอาเงิน ๑,๐๐๐ จ๊าดวางไปที่บนตัวงูเหลือมตัวหนึ่ง (ตามที่เห็นเขาทำกันก่อน)
ทำบุญ ๕,๐๐๐ จ๊าด


ผู้เขียนลองทำใจกล้าเอามือไปลูบบ้าง รู้สึกว่าหนังเหี่ยวๆ เย็นๆ เหมือนจับคนแก่ แล้วมองดูว่าหัวงูอยู่ตรงไหน ปรากฏว่าแอบมุดซ่อนอยู่ จึงรู้สึกโล่งใจไปได้บ้าง


จากนั้นได้ยืนถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำองค์พระพุทธรูป แล้วร่วมทำบุญสร้างศาลาหลังใหญ่ ๕,๐๐๐ จ๊าด


ก่อนจะกลับได้มายืนถ่ายรูปที่ศาลายังสร้างไม่เสร็จ ตอนนี้รีบทำเวลากัน เห็นมีโอกาสจึงได้อาบน้ำกันก่อน แล้วรีบกลับมาที่สถานีขนส่งมัณฑเลย์ทันเวลาพอดี เวลา ๑๙.๓๐ น. รถออกจากมัณฑเลย์ถึงกรุงย่างกุ้ง ๐๖.๐๐ น.

Snake Pagoda of Myanmar



by...atlasobscura.com

.....Officially called Yadana Labamuni Hsu-taungpye Paya, this Myanmar pagoda is generally known by another name: Hmwe Paya, or the "Snake Pagoda." This out-of-the-way pagoda near Mandalay is distinguished by the large pythons who live happily coiled around the Buddha statue within.

The temple was founded in 1974 when a Buddhist monk was tending the old pagoda. Inside, the monk found two large pythons wrapped around a statue of Buddha. The monk dutifully carried the snakes out to the jungle and returned to clean the pagoda. Within a day the snakes were back, and a third had joined. Each time, the monks would carry the snakes out to the jungle, and each time they would return. Eventually the monks came to see the snakes as holy, possibly the reincarnated souls of monks who used to tend to the pagoda. The monks stopped removing the snakes and instead began taking care of them.


They take such nice care of them, in fact, that it makes sense that the snakes like to hang around the pagoda. The two pythons currently in residence are fed a pot of milk and three eggs every five days as well as a small amount of goat meat. Every morning at 11:00 a.m., the snakes are lovingly washed by the monks in a bath filled with flower petals. They are sometimes even dried with money left as an offering at the pagoda.

Each year, thousands of the faithful make a pilgrimage to the temple, and the walls of the pagoda are lined with photos of families visiting the semi-holy serpents. Some depict toddlers happily bathing alongside the snakes. They snakes have never been know to injure anyone and seem quite happy to be touched by the visitors.


Though the original pythons have died, new snakes have since been donated by faithful followers. The original snakes can still be seen in the pagoda, albeit in a taxidermied state. Considering the level of care the snakes receive, the snakes no doubt lived a long and happy life.




วันที่ ๑ - ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ (ย่างกุ้ง - กรุงเทพฯ)


....รถทัวร์วิ่งมาตามถนนลาดยางสี่เลนอย่างดี ผ่านเมืองหลวงพม่าแห่งใหม่ จนถึงย่างกุ้งแล้วกลับมาพักที่ วัดแดทดอยชัน วัดเดิมที่เคยมาพักอีก ๑ คืน ทำบุญที่วัดนี้อีก ๑๓,๐๐๐ จ๊าด เพราะว่ามาพักมากที่สุด โดยถวายให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสบ้าง ให้รางวัลเด็กในวัดบ้างเป็นต้น



(ภาพวาดในอาคารสนามบินเม็งกาลาดอน กรุงย่างกุ้ง)

เวลา ๑๔.๐๐ น. วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ได้จัดการกับเครื่องกระป๋องที่นำมาตั้งแต่วันแรก จนหมดสิ้นทั้งกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว คุณปุ๋มได้นำภาพถ่ายและของที่ระลึกที่ซื้อมาจากสถานที่ต่างๆ ยัดไปแทนจนเต็มไปหมด


(ขณะนั่งรออยู่ในสนามบิน ได้พบกับพระและคณะที่มาจากเมืองไทย)

จากนั้นพระสุวรรณได้เรียกแท๊กซี่ไปที่ "สนามบินนานาชาติเม็งกาลาดอน" เดินทางด้วยสายการบินพม่าแอร์เวย์ เครื่องบินออกเวลา ๑๖.๓๐ น. ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา ๑๘.๓๐ น. โดยสวัสดีภาพและปลอดภัยสมความปรารถนาทุกประการ จึงขออนุโมทนาผู้ร่วมบุญทุกท่าน ตลอดถึงท่านผู้อ่านทั้งหลายที่ติดตามมาตั้งแต่ตอนที่ ๑ ขอให้ทุกท่านได้สมความปรารถนาทุกประการเช่นกัน..ขอเจริญพร..เม็งกาลาบา..สวัสดีทุกคน.

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( จบบริบูรณ์ )))


webmaster - 3/8/10 at 09:14

(Update 03-08-53)