ตามรอยพระพุทธบาท

ถ้ำเขาเงิน (จปร.๑๐๘) จ.ชุมพร 19 กุมภาพันธ์ 2554 (ตอนที่ 3)
praew - 28/3/11 at 11:08

ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 4




วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554

☺.....สำหรับสถานที่แห่งนี้เป็นเขาสูงติดอยู่ริมแม่น้ำหลังสวน ภายในมีถ้ำใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เดิมเป็นเขตของ "วัดถ้ำเขาเงิน" ต่อมาทางการได้ตกแต่งเป็นสวนสาธารณะ แล้วจึงให้ชื่อว่า “สวนสมเด็จย่า” ทิวทัศน์ในบริเวณนี้ จึงมีความสวยงามตามธรรมชาติมาก

ประการที่สำคัญ คือภายในถ้ำแห่งนี้จะมีพระปรมาภิไธยย่อ “จปร ๑๐๘” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อยู่ที่ข้างผนังถ้ำ ส่วนภายนอกจะมีพระเจดีย์เก่าๆ องค์หนึ่งอยู่ที่หน้าถ้ำ ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำที่คดเคี้ยวไปมา ถ้ามองไปจะเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนแต่ไกล โดยมีสายน้ำที่เขียวสดใสไหลเชี่ยวอยู่พอสมควร

เมื่อเดินเข้าไปที่ฐานพระเจดีย์ จะเห็นป้ายจารึกเป็นลายมือแบบคนสมัยก่อนว่า...

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกโดยลำดับ ถึงเมืองหลังสวนเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ ประทับแรมที่พลับพลาตำบลบางขันเงิน

ครั้นถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม เสด็จพระราชดำเนินมาทางชลมารค ขึ้นมาตามลำดับถึง วัดถ้ำเขาเอนนี้ มีพระเจดีย์ที่ทำค้างอยู่ที่ชะง่อนศิลาหน้าถ้ำ ได้ทรงนมัสการแล้ว ทรงดำริว่า ควรจะสถาปนาพระเจดีย์ขึ้นไว้ให้เปนที่ระฤก ถึงการที่ได้เสด็จมาประพาสถึงตำบลนี้ และจะได้เปนที่สักการะบูชาของพุทธสาสนิกชนสืบไปสิ้นกาลนาน จึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจรูญราชโภคากร ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์นี้ขึ้นไว้ และให้เปลี่ยนนามถ้ำนี้ใหม่ ให้เรียกว่าถ้ำเขาเงินต่อไป...”


ลายมือที่จารึกไว้ยังมีต่อพอจะได้ใจความอีกว่า...

“ต่อมาผู้ว่าราชการพร้อมด้วยกรมการได้ลงมือก่อพระเจดีย์ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๑ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๑ (สมัยก่อนนับเดือนเมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่) สิ้นพระราชทรัพย์ ๔ ชั่ง ๓๖ บาท ๒๖ อัฐ แล้วได้ทำการฉลองในวันที่ ๒๖ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จาฤกประกาศพระบรมราชูทิศไว้ในแผ่นศิลาติดไว้ที่ฐานพระเจดีย์นี้ เพื่อเป็นที่มหาชนผู้มานมัสการได้อนุโมทนาในพระราชกุศลผล บุญราสีนี้ ฯ”


หลังจากทานอาหารเช้าที่วัดแหลมสน จากนั้นเดินทางไปไหว้พระเจดีย์ ที่ ถ้ำเขาเงิน


พระเจดีย์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่อยู่ด้านหน้าถ้ำเขาเงิน (ริมแม่น้ำหลังสวน)
และพระพุทธรูปเก่าแก่ ที่อยู่ภายในถ้ำเขาเงิน



หลวงพี่ชัยวัฒน์ ได้เล่าถึงประวัติพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในถ้ำเขาเงิน และประวัติความเป็นมา
ในคราวที่พระองค์เสด็จประพาสมาที่เมืองหลังสวน



ชมลายแกะสลัก พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ๑๐๘ ที่ภายในถ้ำ






หลังจากได้ฟังคำบรรยาย จากหลวงพี่ชัยวัฒน์ เป็นที่อิ่มอกอิ่มใจกันแล้ว ก็ได้ทยอยเดินออกจากถ้ำเข้าเงิน
เพื่อมากราบไหว้เพื่อกราบไหว้พระเจดีย์สมัยรัชการลที่ 5




หลังจากเปิดเสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อ "พระราชพรหมยาน" บวงสรวงแล้ว
หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้เดินไปโปรยดอกไม้และสรงน้ำหอมที่องค์พระเจดีย์




ดังจะเห็นได้ว่าสมัยรัชกาลที่ ๕ เมืองหลังสวนมีฐานะเทียบเท่ากับจังหวัด คือมีผู้ว่าราชการ แต่ในปัจจุบันนี้ชุมพรเป็นตัวจังหวัดไปแล้ว ซึ่งจะมีน้ำท่วมในตัวเมืองบ่อยๆ เพราะเป็นที่ลุ่มกว่าตัวเมืองหลังสวน

การกลับมายังบ้านเกิดอีก จึงรู้สึกดีใจที่ได้พาคณะมาในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง อันเป็นที่เสด็จประพาสของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ร.ศ.๑๐๘ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก

อีกทั้งพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างเสริมเติมต่อพระเจดีย์จนแล้วเสร็จ พวกเราจึงถือว่าโชคดีที่ได้ตามเสด็จมากราบไหว้และอนุโมทนาถึง ณ ที่นี้ ซึ่งนับวันจะหาได้ยากมาก ที่พระองค์จะทรงสร้างไว้เป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสคราวนั้น สถานที่แห่งนี้จึงเป็นจุดสำคัญของเมืองหลังสวน นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันนี้

การที่พวกเรามาถึงในคราวนี้ นับเป็นเวลาผ่านไปได้ร้อยกว่าปีแล้ว พระเจดีย์องค์นี้ จึงอยู่ในสภาพเก่าแก่พอสมควร พวกเราจึงได้ถวายผ้าห่มขึ้นไปบูชา พร้อมทั้งปิดทองและสรงน้ำอบไทยด้วยความเคารพ หลังจากจุดประทัดเป็นการบูชาแล้ว จึงได้เดินมาถ่ายรูปหมู่ที่บันได ทางขึ้นที่หน้าถ้ำ

ประวัติการเสด็จประพาสของรัชกาลที่ ๕
วันที่ ๑๐ สิงหาคม รัตนโกสินทร ๒๒ ศก ๑๐๘

(เรียบเรียงโดย พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต)


เรือพระที่นั่งอุบลบุรพทิศ ทอดที่ปากน้ำ เมืองหลังสวน

.......จากจดหมายเหตุการเสด็จประพาสหัวเมืองทางใต้ คราว ร.ศ.๑๐๘ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จโดยทางเรือพระที่นั่งอุบลบุรพทิศ เมือวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๑๐๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) พร้อมด้วยพระราชโอรส สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี และข้าราชบริพารฝ่ายใน

.......เรือพระที่นั่งแล่นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ออกไปทางสมุทรปราการ เกาะหลัก จนไปถึงเขาช่องกระจก จากนั้นก็ถึงเมืองชุมพร เมื่อวันที่ ๑๓ แล้วเสด็จผ่านไปทางเกาะสมุย จนกระทั่งถึงนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ยะลา และเมืองปัตตานี เป็นลำดับ แล้วเสด็จกลับขึ้นมาถึงเมืองสุราษฎร์ธานี ไชยา และเมืองหลังสวน

.......โดยเรือพระที่นั่งอุบลบุรพทิศวิ่งผ่านถึงแหลมคันทุลี และทอดประทับแรมอยู่ที่นี้ถึง ๑๐ ทุ่ม จึงออกเรือพระที่นั่ง เมื่อมาถึงก็ได้ทอดสมอหน้าเมืองหลังสวน (บริเวณหน้าอ่าวปากน้ำ หลังสวน) ตามบันทึกได้เล่าว่า...


วันที่ ๙ เวลาเช้า ๒ โมง ทอดสมอที่น่าเมืองหลังสวน แลเห็นแหลมประจำเหียงข้างเหนือ แหลมบังมันเขาพะสงข้างใต้ เปนแหลมขอบเหมือนหนึ่งอ่าวกว้างๆ ที่ตรงกลางที่เปนเมืองหลังสวนมีเขาซับซ้อนกันมาก บางเขาล้มไม้ เหลืออยู่บ้างโปร่งๆ ทำไร่เข้า ดูเปนพื้นเขียวสดงาม น้ำแม่น้ำหลากแดงลงมาในทเลจนถึงที่เรือจอด

พระยารัตนเศรษฐี พระจรูญราชโภคากร พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ พระอัษฎงคตทิศรักษา(๙) ลงมาหาในเรือ ได้ลงมาคอยอยู่ที่ปากน้ำสี่คืนมาแล้ว เวลาเที่ยวง ๒๕ มินิตขึ้นบก เรือทอนิครอฟต์ลากตามร่อง ขึ้นข้างเหนือสิบแปดมินิตถึงปากช่องลำน้ำ เขาปลูกพลับพลาไว้สองหลัง หลังนอกมีช่อฟ้าใบรกา แต่ไม่ได้แวะขึ้น เรือที่ลงมารับบันทุกเข้าของแลนำร่อง มีเรือโขนอย่างบ้านนอกสองลำ โขนทาสีเขียนลายมีผ้าน่าและภู่ด้ายดิบ ผูกธงแดงเล็กๆ ตรงกับภู่ขึ้นมาข้างน่าท้ายข้างละสองคัน ลำหนึ่งอยู่ใน ๒๕ - ๒๖ พาย เห็นจะเปนเรือแข่ง

ที่ปากน้ำมีบ้านเรือนคนหลายสิบหลัง ปลูกมะพร้าวในหมู่บ้านมาก ระยะทางตอนนี้มีที่ว่างเปนป่าโกงกางเข้าไป จนถึงเขาตกน้ำมีศาลเจ้า ต่อนั้นไปเมื่อถึงน่าเขาแห่งใด ก็มีบ้านเรือนเปนหย่อมๆ มีต้นมะพร้าวเปนระยะ ขึ้นไปไม่สู้ห่างกัน ประมาณสัก ๔๐ มินิต ตั้งแต่นั้นไปก็มีสวนทุเรียน ลางสาด หมาก มะพร้าว รายไปตลอดจนถึงพลับพลา ไม่ใคร่จะเว้นว่าง ดูต้นผลไม้งามตลอดทาง บ้านเรือนก็ไม่ใคร่จะมีเว้นว่าง แน่นหนากว่าทุกเมือง เดิมคิดว่าจะขึ้นเดิรที่บางยี่โร แต่ครั้นเมื่อเข้าไปในลำน้ำได้หน่อยหนึ่งฝนก็ตกไม่หยุด รื้อแล้วรื้อเล่าจนถึงซ่าก็มี

ไปสองชั่วโมงกับ ๒๕ มินิตถึงบางยี่โร มีบ้านเรือนปลูกติดต่อกัน ไปตามริมน้ำเปนตลาดยาว ต้องเลยไปทางเรือ มีวัดตามระยะทางขึ้นมาห้าวัด บ่าย ๓ โมง ๔๕ มินิตถึงพลับพลาบางขันเงิน อยู่ในสามชั่วโมงกับ ๒๐ มินิต ที่ซึ่งทำพลับพลานี้เปนที่สวนราษฎร พระหลังสวนซื้อตกแต่งขึ้นเปนพลับพลา อยู่ใต้บ้านพระหลังสวนลงมาทางบกเดิรประมาณ ๒๐ เส้น พื้นที่ข้างด้านน่าเปนที่แจ้ง หญ้าขึ้นแน่นเหมือนสนามที่ช่วยปลูกกว้างใหญ่

ตัดทางเดิรตกแต่งเข้าเปนสนามหญ้า ปลูกเปนที่พักเจ้านายข้าราชการสี่หลัง โรงเลี้ยงสองหลัง ตะพานที่ฉนวนทำเปนสามทาง อย่างกระไดทองกระไดเงินกระไดนาก ตลิ่งสูงสักสิบศอก พลับพลาหลังน่าทำเปนจตุรมุขโถง ดาดสีมีช่อฟ้าใบรกา หลังในเปนจตุรมุขกั้นผากระแชง มีมุขกระสันชักติดกับหลังนอก มีหลังเล็กๆ แซกตามรักแร้อีกสี่หลัง ตกแต่งหุ้มดาดลาดปูผ้าขาวผ้าแดงผ้าดอก มีเครื่องเฟอรนิเช่อต่างๆ คือเตียงนอนตู้โต๊ะเก้าอี้ตามสมควร

ข้างหลังพลับพลาลงไปมีสวนทุเรียนและลางสาดเปนพื้น ต้นไม้อื่นมีบ้าง ตัดทางบันจบให้ลดเลี้ยวเปนชั้นเชิง ที่หญ้าหนาก็ไว้เปนที่หญ้า ตัดวงประจบเข้าเปนรูปกลมรูปรี เปนแฉกดาวตามที่สมควรจะเปนได้ ที่เปนโคกเนินสูง ก็แต่งให้เปนรูปกลมบ้างเปนลอนบ้าง ปูหญ้าเพิ่มเติมให้เขียวเต็มที่หว่างลายหญ้าปลูกต้นโกรตน ต้นหมากเล็กๆ ต้นกล้วยเปนหมู่ๆ มีเรือนข้างในหลังย่อมๆ อยู่ในสวนสี่หลัง มีเครื่องใช่สอยคือน้ำโคมกระโถนทุกหลัง แต่เรือนเหล่านี้ไม่มีคนจะอยู่

ที่กลางสวนทำเปนโรงแปดเหลี่ยม ปูหญ้าเปนขอบ กลางเปนพื้นดินทุบเรียบเหมือนพื้นเรือนแขกในเมืองยะวา ตั้งโต๊ะเก้าอี้เปนที่นั่งเล่น ตามโคนต้นไม้ใหญ่ก็ทำเก้าอี้ไม้ไผ่รอบ บางต้นก็ทำเปนกรงปล่อยนก มีนกยุง นกหว้า นกเงือก นกเปล้า ไก่ฟ้า ตามต้นไม่มีชนี ลิง กัง ผูกไว้ แขวนและติดกล้วยไม้ต่างๆ ทั่วไปทุกแห่ง รอบบริเวณพลับพลากั้นรั้วใบตาลยาวประมาณสักสามเส้น

การที่ตกแต่งทั้งปวง เปนทำตามอย่างพลับพลาเมื่อครั้งไปไทรโยค ซึ่งพระอัษฏงค์ไปได้ฟังคำเล่ามา แต่ที่นี่ได้เปรียบที่เปนสวนเดิม มีต้นผลไม้กำลังเปนผล ทุเรียนเต็มทุกๆ ต้น ลางสาดก็มีแต่ยังอ่อน ดูเปนที่สนุกสนานเหมือนกับจะให้อยู่หลายๆวัน แต่ฝนตกพรำอยู่เสมอไม่ขาด พื้นแผ่นดินเปนโคลนเดิรได้แต่เฉพาะที่โรยทรายเปนทาง

เวลาเย็นออกจากพลับพลาไปตามทางถนน ซึ่งเขาตัดตั้งแต่บางยี่โรขึ้นมาจนถึงบ้าน ประมาณ ๖๕ เส้น ทางกว้าง ๘ วาโรงทรายเม็ดใหญ่ แต่ฝนตกมากนักไม่วายเปนโคลน ตามสองข้างทางมีเรือนโรงติดๆ กันประมาณ ๑๔ ? ๑๕ หลัง แต่ดูโรเรไม่สู้เปนที่ค้าท่าขายอันใด เจ้าของว่าได้ล่อนักแล้วก็ไม่ติด เพราะราษฎรสันโดษเสียเหมือนอย่างเมืองพัทลุง ปลายถนนเปนบ้านพระหลังสวน

ภูมที่กว้างใหญ่มีกำแพงล้อมรอบมีตึกใหญ่ยาว ๘๐ ฟิตเปนสี่มุขหลังหนึ่ง ตึกสำหรับทำครัวข้างหลังยาวใหญ่อีกหลังหนึ่ง เนื่องเปนหมู่เดียวกัน ตึกกงสีสองชั้นอยู่ข้างซ้ายตึกใหญ่อีกหลังหนึ่ง ตึกแปดห้องเปนที่ว่าความและเล่นบิลเลียด สองชั้นอยู่ริมประตูบ้านหลังหนึ่ง หลังตึกมีกำแพงรอบเปนสวนไม่ดอกไม้ผล ดูเปนที่สบายดีทั้งบ้าน กลับมาพลับพลาเวลาพลบ

เมืองหลังสวนนี้ ฉันไม่คิดคเนใจว่าจะมีผู้คนเรือกสวนแน่นหนามากถึงเพียงนี้เลย ดูแปลกกับเมืองอื่นๆ ถามดูจำนวนคนก็ว่ามีถึงหมื่นหกพันเศษ ที่ทำสำมโนครัว คนชุมพรที่แตกมาเกลี้ยกล่อมไว้ได้ถึงห้าสิบครัว แต่จีนมีสองร้อยเศษ ลำน้ำขึ้นไปสองวันถึงพะโต๊ะปากทรงซึ่งเปนที่ทำแร่ดีบุก เปนท่าขึ้นที่จะเดิรข้ามไปเมืองระนองทางคืนหนึ่งถึงปลายน้ำตกจากเขา ที่นาในพื้นเมืองได้เข้าไม่พอกิน ต้องซื้อเข้ากรุงเทพฯ

ที่สวนเปนการทำง่ายอย่างยิ่ง ทุเรียนนั้นจะเรียกว่าสวนฤๅจะเรียกว่าป่าก็เกือบจะได้ เพราะเจ้าของไม่ต้องทำนุบำรุงอันใด ปลูกทิ้งไว้กับพื้นราบๆ ไม่ต้องยกร่อง เพราะน้ำไม่มีท่วม และขุดลงไปที่ไหนมีน้ำในแผ่นดินทั่วทุกแห่ง ว่าเมื่อปีกลายนี้เปนอย่างน้ำมาก ก็ท่วมเพียงแปดชั่วโมงเท่านั้น เจ้าของสวนต้องเปนธุระแต่เวลาที่ทุเรียนมีผลต้องไปเฝ้า เมื่อแก่เก็บขายได้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อไป

เดิรไปข้างไหนคงจะเห็นต้นทุเรียนและได้กลิ่นทุเรียนอยู่เสมอๆ จำหน่ายออกจากเมืองขายไปจนถึงบ้านแหลมเมืองเพ็ชรบุรี ทุเรียนที่เนื้อหนาว่ามีน้อย ที่เนื้อบางอย่างทุเรียนเมืองนครมีมาก ดูลูกย่อมๆ แต่นักเลงกินเขาชมกันว่ารสดีมันมาก หมากมะพร้าวเปนสินค้าไปจำหน่ายกรุงเทพฯ นอกนั้นก็มีไต้หวายกระแชงเหมือนเมืองอื่นๆ แต่มาดเรือและไม้กระดานไม่มี เพราะไม่ใคร่จะมีที่ป่า ลูกค้าที่หาบของไปขายทางเมืองระนอง มีทุเรียนกวนเปนต้น ขากลับรับด้ายผ้าของต่างประเทศเข้ามาจากเมืองระนองก็มีอยู่มาก

ฉันเห็นว่าที่จริงก็ดูเปนเมืองมั่งคั่งผู้คนมาก เจ้าเมืองสมควรจะเปรพระยาได้ จึงให้สัญญาบัตรเปนพระยาจรูญราชโภคากร และตั้งหลวงพิพิธสุวรรณภูมิ์เปนพระกาญจนดิฐบดีด้วย

วันที่ ๑๐ ก่อนกินเข้าไปที่สวนพระยาจรูญ อยู่ใต้บ้านลงมาหน่อยหนึ่ง ปลูกมะพร้าว หมาก พลู กาแฟ มังคุด มะไฟ เงาะ และต้นผลไม้เมืองจีนต่างๆ ทั้งกานพลู จันทน์เทศ ทุเรียนลางสาดนั้นเปนพื้นสวน เวลาบ่ายลงเรือขึ้นไปตามลำน้ำ น้ำเชี่ยวหนักขึ้นไปทุกที จนพอที่จะเรียกว่าเรี่ยวว่าแก่งได้ แต่แปลกันกับข้างไทรโยค แม่น้ำนั้นดูค่อยๆ สูงขึ้นไป มีที่น้ำเชี่ยวน้ำอับ แต่ในแม่น้ำนี้ไม่มีที่น้ำอับ มีแต่เชี่ยวมากเชี่ยวน้อย แลเห็นน้ำสูงได้ในระยะใกล้ๆ

เรือไฟทอนิครอฟต์ลากขึ้นไปสองชั่วโมงกับ ๔๕ มินิตถึงน่าถ้ำเขาเอ็น เปนถ้ำเสมอพื้นตลิ่ง ที่ต้องขึ้นนั้นขึ้นตลิ่งมิใช่ขึ้นเขา แต่ศิลาน่าผาชันสูงใหญ่ดูงามดี ทีสามถ้ำด้วยกัน ถ้ำกลางตรงน่าไม่สู้กว้างใหญ่ ปากถ้ำเปิดสว่าง มีพระพุทธรูปโตบ้างย่อมบ้าง ปิดทองใหม่ๆ หกองค์ พระศิลาพม่าของพระยาระนองและพระยาหลังสวนมาตั้งไว้ ๒ องค์ ได้จารึกอักษร (๑๐) ตามที่เคยจารึกไว้ที่ผนังถ้ำ และให้สร้างพระเจดีย์ซึ่งทำค้างอยู่ที่ชง่อนศิลาน่าถ้ำองค์หนึ่ง

ถ้ำอีกสองถ้ำนั้นอยู่บนไหล่เขาสูงขึ้นไป ถ้ำหนึ่งฉันไม่ได้ไปดู เขาว่ากว้างเท่าๆ กันกับถ้ำล่าง เปนแต่ลึกเข้าไป อีกถ้ำหนึ่งต้องเดิรเลียบเขาห่างตลิ่งเข้าไปหน่อยหนึ่ง ปากถ้ำแคบในนั้นมืด ได้ไปมองดูที่ปากช่องจะไม่โตกว่าถ้ำกลางมากนัก แต่เปนคั้งค้าวจอกแจกไปทั้งถ้ำ เวลาเย็นเสียแล้วจึงได้รีบกลับมา

ขาล่อง ๕๐ มินิตเท่านั้นถึงพลับพลา ขึ้นเดิรบกจากพลับพลามาตามถนน อยู่ข้างเปนหล่มเปนโคลนมาก ฟากถนนข้างรอมน้ำเปนสวน มีเรือนเปนระยะห่างๆ ฟากข้างในเปนทุ่งนา ผ่านวัดด่านมาวัดหนึ่ง แล้วจึงถึงวัด(ตะ)โหนด ซึ่งพระครูธรรมวิจิตรอยู่ ได้แวะถวายเงินพระสงฆ์ประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วลงมาบาง(ยี่)โร มีซุ้มทำด้วยไม้หมากทั้งต้น ปลายเสายังมียอดอยู่ ไขว่ไม้เปนตาชะลอมประดับด้วยกล้วยไม้ พวกจีนที่ตลาดจุดประทัดตีม้าล่อรับ ตลาดเปนโรงสองแถวไปตามลำน้ำ ทางแคบยิ่งกว่าสำเพ็ง และเปนโคลนเลอะเทอะไม่ได้เข้าไปเห็น

แต่เขาว่าเวลาเช้าตลาดออกเวลาเดียว มีคนขายของสดอยู่ในวันละ ๗๐ - ๘๐ คน พวกที่อยู่บางขันเงินก็ลงมาจ่ายตลาดบางยี่โร เดิรตั้งแต่พลับพลามาจนถึงตะพานน้ำครึ่งชั่วโมงตรงๆ เปนอย่างเดิรช้าเพราะติดโคลน แต่กระนั้นยังต้องมารอเรืออยู่อีกเจ็ดมินิตจึงได้มาถึง ล่องลงมาชั่วโมงเศษเล็กน้อย เวลาทุ่ม ๒๕ มินิตถึงเรืออุบลบุรพทิศ

.......วันที่ ๑๑ สิงหาคม ร.ศ.๑๐๘ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ กำหนดออกจากเมืองหลังสวน แวะเกาะพิทักษ์ แหลมกรวด สามร้อยยอด เพราะต้องพักผ่อนให้เรือเล็กได้รับฟืนที่เมืองชุมพร กำหนดจะถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม...


ที่มา - paknamlangsuan.com (ความบางตอนจาก.. พระราชหัตเลขาฉบับที่ ๔)


ประวัติเมืองหลังสวน


☺......อำเภอหลังสวน ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดชุมพร ประมาณ 76 กิโลเมตร พื้นที่รวมประมาณ 935 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอละแม จังหวัดชุมพร

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดระนอง


อำเภอหลังสวนในสมัยโบราณเป็นพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยของป่าประเภทสมุนไพร
สัตว์ป่า เรือสินค้าที่มาแวะหลังสวนมีจำนวนมากตลอดทั้งปี โดยสามารถใช้เส้นทางน้ำจากภายนอกเหนือ
เข้าไปได้จนถึงตัวเมือง แต่ปัจจุบันลำน้ำที่เป็นเส้นทางคมนาคมดังกล่าว เปลี่ยนทางเดินเริ่มตื้นเขิน
กลายเป็นหนองน้ำ สภาพของเมืองจึงเริ่มเปลี่ยนไป

จากการสอบถามนักวิชาการท้องถิ่น เช่น นายกฤษณะ ฉายากุล ได้ทราบว่าเมืองหลังสวนเป็นเมืองที่มีความสำคัญ นับแต่สมัยโบราณ เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาส ปรากฏหลักฐาน พระปรมาภิไธยย่อ จปร. ระบุปี ร.ค. 108 สลักบนผนังถ้ำเขาเงิน (ถ้ำเขาเอน) และพระเจดีย์บนชะง่อนหินข้างทางเข้าถ้ำเขาเงิน ซึ่งโปรดฯ ให้สร้างในคราวเดียวกับที่เสด็จประพาสชุมพร พ.ศ. 2432

นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่อำเภอหลังสวนเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีความสำคัญ ดังนั้นจึงปรากฏบ้านเรือนในลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังคงเหลือเค้าเดิมหลายแห่ง กระจายอยู่ในเขตตำบลแหลมทราย ตำบลท่ามะพลา และตำบลพ้อแดง

หลังสวนเป็นชุมชนโบราณมีฐานะเป็นชุมชนท่าเรือข้ามคาบสมุทร และชุมชนเกษตรกรรมสมัยต้นประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนาการของเมืองคู่กับเมืองชุมพรในฐานะเป็นเมืองบริวารสืบต่อมาในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยเป็นเมืองในเส้นทางยุทธศาสตร์การรบระหว่างสยามและพม่า

ในพ.ศ. 2399 หลังสวนเริ่มเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นหัวเมืองจัตวาที่ขึ้นตรงกับ ราชสำนักกรุงเทพฯ เนื่องจากการพัฒนาการจัดเก็บภาษีในลักษณะเหมาเมืองของเจ้าเมืองสายตระกูล ณ ระนอง คือ พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ทำการพัฒนาเมืองด้วยการ ขยายการผูกขาดอากรดีบุกเข้าไปในเมืองที่ขึ้นกับชุมพร ได้แก่ เมืองท่าแซะ เมืองตะโก และ เมืองหลังสวน

เมืองหลังสวน เริ่มเจริญขึ้นจนกลายเป็นหัวเมืองจัตวาที่ขึ้นตรงกับราชสำนักกรุงเทพฯ จนถึง พ.ศ. 2420 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อกรมการเมืองทำน้ำกระแช่กินกันเองและซ่องสุมกันเป็นโจรอั้งยี่ปล้นสะดม ที่เรียกว่า “ยี่หินหัวควาย” หรือ “ยี่หินศีรษะกระบือ” ทำให้ราชกสำนักกรุงเทพฯ ต้องแต่งตั้งพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) จางวางเมืองระนอง มาเป็นผู้จัดการเมืองหลังสวน จนกระทั่งเหตุการณ์สงบลง จึงมอบกิจการของตระกูลที่เมืองหลังสวนแก่เจ้าเมืองหลังสวน พระจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เป็นผู้ดูแลและจัดการโดยตรง

ในสมัยพระจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เป็นเจ้าเมืองหลังสวนนั้น ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการต่าง ๆ ในเมือง อาทิ การปฏิรูปภาษีแบบ เหมาเมือง การปักปันเขตแดนระหว่างเมืองหลังสวน แขวงเมืองขึ้นเมืองหลังสวนกับเมืองชุมพร และระนอง การส่งเสริมการค้า การทำเหมืองแร่ด้วยการจัดตั้งโรงภาษีและการชักชวนชาวจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำกินในเมืองหลังสวน อันก่อให้เกิดการพัฒนาของเมืองอย่างมาก

ผลประโยชน์ของเมืองหลังสวนที่ต้องส่งแก่ราชสำนักกรุงเทพฯ ในแต่ละปี ได้แก่ ส่วย แร่ดีบุก เงินอากรค่านา ภาษีอากรดีบุก ภาษีฝิ่น อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย และเงินค่าน้ำ ซึ่งนับแต่เมืองพระจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองหลังสวนการจัดเก็บภาษีอากรส่งแก่พระคลังระหว่าง พ.ศ. 2421 – 2430 เพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 108 ชั่ง เป็นปีละ 229 ชั่ง ณ ตำลึง ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว และใน พ.ศ. 2429 เมืองหลังสวนเริ่มต้นเก็บภาษีชนิดอื่นเพิ่มขึ้น อาทิ ภาษีศุลกากร ภาษีสุกรตาย และเงินผูกปี้จีน เป็นการเพิ่มพูนรายได้แก่ราชสำนักมากกว่าแต่ก่อน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จพระพาสเมืองหลังสวน ใน พ.ศ. 2427 ทรงกล่าวถึงความเจริญของเมืองนี้ว่า “ตั้งแต่พระยารัตนเศรษฐี” จางวางเมืองระนองมาจัดการครั้งก่อนบ้านเมืองเรือกสวนไร่นา การค้าขายเจริญขึ้นโดยมาก ราษฎรตั้งหน้าทำมาค้าขายเพราะเป็นเมืองที่พึ่งจะรื้อบำรุงใหม่ พระยารัตนเศรษฐีและพระหลังสวนก็ตั้งหน้าแต่จะบำรุงบ้านเมือง และราษฎรให้มีความสุข ความเจริญขึ้นอย่างเดียว ให้ออกทุนสร้างถนน สร้างสวน สร้างตึกและโรงเรือนตลาดในเมืองหลังสวน

หลังสวนยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผลเกษตรกรรม “สองฝั่ง ลำน้ำนั้นมีสวนเรียงรายขึ้นมาทั้งสองฟาก ตั้งแต่บางยี่โรขึ้นไปมีสวนแน่นหนาทั้งสองฝั่ง เป็นสวนทุเรียน หมาก มะพร้าว ลางสาด เป็นต้น สวนทุเรียน หมากเป็นใหญ่มีโดยมาก ลำน้ำเมืองหลังสวนนี้ดูงามด้วยต้นไม้ แลเห็นเขากั้นลำน้ำเป็นตอน ๆ เขาที่ริมน้ำและตกน้ำมีหลายแห่ง”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองทรงจัดตั้งมณฑลชุมพรขึ้นเมือง พ.ศ. 2439 โดยทรงมุ่งหมายให้เป็นมณฑลทำนุบำรุงการค้า โดยรวมเมืองชุมพร หลังสวน ไชยา และกาญจนดิษฐ์ เป็นมณฑลชุมพร เมื่อ 12 ตุลาคม 2439 ในช่วงนี้เมืองหลังสวนได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอหลังสวน อำเภอสวี อำเภอพะโต๊ะ เป็นช่วงที่การค้าในเมืองหลังสวนมีความเจริญอย่างมาก

ปริมาณการส่งสินค้าเข้าและออกสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเมืองกาญจนดิษฐ์ ทั้งยังเป็นเมืองเดียวในมณฑลชุมพรที่การทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของเมือง ซึ่งกิจการเมืองแร่ดีบุกในช่วงนี้ได้มีการสำรวจและให้สัมปทานแก่ชาวตะวันตกและชาวจีนเป็นจำนวนมาก

ใน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยน คำว่า เมือง เป็น จังหวัด เมืองหลังสวนจึงกลายเป็นจังหวัดหลังสวน และเมื่อสยามตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในวันที่ 31 มีนาคม 2468 รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกมณฑลชุมพร ทำให้จังหวัดหลังสวนมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชุมพร ในชื่อของอำเภอขันเงิน และเปลี่ยนเป็นอำเภอหลังสวน ตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2481 สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

คือในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เปลี่ยนอำเภอขันเงินเป็นอำเภอหลังสวนมาจนถึง ปัจจุบัน เหตุผลที่เปลี่ยนชื่อใหม่เพราะประชาชนนิยมเรียกกันเป็นส่วนมาก และเพื่อรักษาประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นเมืองมาแต่โบราณกาลไว้ ส่วนขันเงิน เป็นตำบลหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอหลังสวน

ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาล และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลหลังสวน เมื่อพุทธศักราช 2483 ตั้งอยู่ที่ตำบลหลังสวนริมฝั่งแม่น้ำหลังสวนด้านทิศตะวันตก มีเนื้อที่ 1.5 ตารางกิโลเมตร

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตเทศบาลตำบลหลังสวนจากเดิม 1.5 ตารางกิโลเมตร เป็น 10.12 ตารางกิโลเมตร

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลหลังสวนเป็นเทศบาลเมืองหลังสวน โดยมีแนวเขตและแผนที่ตามเดิมตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลและพระราช กฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบล

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2547 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลขันเงินรวมกับเทศบาล เมืองหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จากเดิมเนื้อที่ 10.12 ตารางกิโลเมตร เป็น 16.73 ตารางกิโลเมตร



ขอบคุณข้อมูลจาก - www.lnsc.coj.go.th/system/LANGSUAN.HTM


praew - 28/3/11 at 11:15

☺.....หลังจากนั้น เดินทางไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาท ณ เขาพริก ซึ่งเมื่อ สองปีที่แล้วได้เป็นข่าวทาง นสพ.มติชน มีรายละเอียดดังนี้

Matichon Online | วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 | เวลา 13:51:29 น

ข่าวพบ"รอยพระพุทธบาท"กลางป่า ชาวชุมพรแห่กราบไหว้วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 13:51:29 น.

...... เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 13 พฤษภาคม นายศิชาญ พรชญานนท์ หรือ “ผู้ใหญ่แดง” อดีตผู้ใหญ่บ้านแหนบทองคำ 2 ปีซ้อน หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร เดินทางเข้าพบผู้สื่อข่าวพร้อมแจ้งว่า มีชาวบ้านพบรอยพระพุทธบาทจำลองประทับอยู่บนหินทรายขนาดใหญ่ กลางป่าบนเขาพริก บ้านช่องไทรราษฎร์พัฒนา หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร

จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบชาวบ้านเป็นจำนวนมากกำลังเดินทางไปจุดที่พบรอยพระพุทธบาทจำลองดังกล่าวซึ่งอยู่ห่างถนนสายเอเซีย 41 ประมาณ 1 กม.และห่างบ้านของ นายนพดล มณฑิราช ส.อบต.ทุ่งคา หมู่ที่ 9 ประมาณ 100 เมตร โดยต้องเดินขึ้นไปบนเขาพริกอีกประมาณ 100 เมตร

เมื่อไปถึงจุดดังกล่าว พบชาวบ้านนั่งล้อมลงรอบก้อนหินทรายสีแดง ขนาดกว้างยาวประมาณ 1.5 X 1.5 เมตร หนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม ซึ่งฝังอยู่ใต้ต้นไม้ขนาดใหญ่ เมื่อสังเกตบนหินก้อนดังกล่าวพบรอยบุ๋มลงไปจากผิวหน้าของหินประมาณ 1.5 เซนติเมตร

โดยรอยบุ๋มดังกล่าวมีลักษณะคล้ายรอยเท้ามนุษย์ ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร รอบๆ รอยดังกล่าวมีดอกไม้ธูปเทียนและเหรียญเงินชนิด 1 บาท 5 บาท และ 10 บาท ที่ชาวบ้านวางลงไปเป็นจำนวนมาก

นายศิชาญ กล่าวว่า สมัยที่ตนเป็นผู้ใหญ่บ้านเคยทราบจากผู้สูงอายุในพื้นที่ว่าบนเขาพริกมีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่บนก้อนหิน และคนในรุ่นก่อนเรียกรอยพระพุทธบาทดังกล่าวว่า "พ่อปู่" ทุกวันพระที่ดวงจันทร์เต็มดวง จะมีคนเห็นลำแสงสว่างออกมาจากก้อนหิน แต่ยังไม่เคยมีโอกาสเดินทางขึ้นไปตรวจสอบ เมื่อมีโครงการปลูกป่าบนเขาพริก ก็ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันสำรวจ แต่ก็หาไม่พบรอยพระพุทธบาท

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีคณะตามรอยพระพุทธบาทจาก จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ที่ จ.อุทัยธานี เดินทางเข้ามาสำรวจโดยละเอียดจึงพบรอยพระพุทธบาทดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเหมือนที่พบที่วัดถ้ำน้ำลอด อ.ปะทิว จ.ชุมพร และที่วัดถ้ำขุนกระทิง ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร

จากนี้จะนำเรื่องรายงานให้นายอำเภอเมืองชุมพร และ นายก อบต.ทุ่งคา เพื่อหาแนวทางพัฒนาจุดดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของ ต.ทุ่งคา ซึ่งจะรวมเอาจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของวัดพระใหญ่ริมถนนสายเอเซีย 41 และมองเห็นอ่าวทุ่งคา-สวีได้อย่างชัดเจนเอาไว้ด้วย ส่วนในเบื้องต้นคงจะร่วมกับชาวบ้านหาเงินมาสร้างศาลาครอบก้อนหินที่มีรอยพระพุทธบาทจำลองเอาไว้ก่อน” นายศิชาญ กล่าว


☺....ต่อมารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" ก็ได้มาถ่ายทำออกทางทีวีสีช่อง 7 โดยได้ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 และ 16 กรกฎาคม 2552





ภูเขาพริก บ้านช่องไทร ต.ทุ่งคา อ.เมือง จ.ชุมพร



หลวงอาวิชา (พระครูวิชัยธรรมคุณ) เจ้าอาวาสวัดถ้ำสำเภาทอง และหลวงพี่ชัยวัฒน์ วัดท่าซุง
ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่แดง และสอบถามเรื่อง การดูแลรักษารอยพระพุทธบาท




ผู้สูงอายุ และผู้ที่สุขภาพไม่ดี ต่างก็มีความมานะในการที่จะมากราบไหว้บูชา รอยพระพุทธบาทแห่งนี้


ชาวบ้านที่นี่ให้การต้อนรับและจัดเลี้ยงผลไม้ และน้ำดื่ม





คุณศิชาญ พรชญานนท์ (ผู้ใหญ่แดง) ปัจจุบันเป็นสมาชิก อบต.ทุ่งคา ได้เล่าเหตุที่ได้มาพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ และได้ให้คุณลุง ผู้ดูแล เล่าถึงว่า ได้อธิษฐาน จากการที่หัวเข่าบวมไปไหนไม่ได้ ขอให้หัวเข่าหาย จะขึ้นมาปฎิบัติดูแล จึงเกิดเหตุอัศจรรย์ทำให้สามารถเดินได้เป็นปกติ ในขณะที่อายุกว่า 82 ปีแล้ว จึงต้องมาดูแลรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ และมีผู้ใหญ่แดงที่เป็นผู้ส่งข้าวห่อให้เป็นประจำ ขอโมทนาสาธุด้วย



หลวงพี่ได้ร่วมทำบุญตั้งต้นเป็นเงิน 5,000 บาท เพื่อเป็นทุนบูรณะ ดูแล รอยพระพุทธบาทแห่งนี้
และพวกเราได้ร่วมทำบุญกันอย่างสนุกสนาน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 16,000 บาท
และได้มอบให้กับ ผู้ใหญ่แดง ไว้ดูแลต่อไป






รอยพระพุทธบาทข้างขวา มีขนาดกว้างประมาณ 25 ซ.ม. ยาวประมาณ 55 ซ.ม.


หลวงพี่ได้บวงสรวง และบูชารอยพระพุทธบาท ด้วยแผ่นทองคำ ดอกไม้และสรงน้ำหอม
หลังจากนั้น ก็ให้ทุกท่าน ได้กราบไหว้บูชากันต่อไป



พญาเต่าหิน อยู่สูงเหนือรอยพระพุทธบาทขึ้นไป ประมาณ 100 เมตร
ขนาดกว้งประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 1.50 เมตร มีลักษณะเหมือนกับที่
รอยพระพุทธบาทบนเขา ณ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี



แท่นหินที่มีรอยพระพุทธบาท มีจอมปลวกอยู่ใกล้ๆ ด้านทิศตะวันออกของแท่นหิน




ต่อจากนั้นเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวัน ณ วัดถ้ำสำเภาทอง ร่วมทำบุญทอดผ้าป่า


คุณก๋วยเจ๋ง และ คุณหลี เป็นผู้จัดเตรียมผ้าป่า สำหรับทอดถวายในวันนี้



ป้าโมทย์ เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระ







ได้ร่วมถวายผ้าป่า เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 60,000 บาทถ้วน




และร่วมทำบุญถวายพระทุก ๆ องค์ด้วย เป็นที่ปลาบปลื้มใจกันทั่วหน้า





เดินทางมาไหว้ อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ณ หาดทรายรี ปากน้ำชุมพร





สรุปชุมพรในอดีต


........มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงปัจจุบัน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการด้านต่าง ๆ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ชุมพรดังต่อไปนี้

๑. เมืองชุมพร : เส้นทางเสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ไทย ประวัติศาสตร์เมืองชุมพรมีหลักฐานการเสด็จของพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ สำคัญ ดังนี้

เมืองชุมพรเส้นทางเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้และหัวเมืองมลายูสมัย รัชกาลที่ ๕
........หัวเมืองปักษ์ใต้ในเส้นทางเสด็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมายถึงหัวเมืองที่อยู่ด้านชายทะเลอ่าวสยาม คือมณฑลชุมพร มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี และหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ได้แก่ หัวเมืองชายทะเลอ่าวเบงกอล มณฑลภูเก็ต

ส่วนหัวเมืองมลายูประเทศราช ได้แก่ เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไม่เคยปรากฏว่ามีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดเสด็จประพาสมาก่อน จนถึงสมัย รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ๒ ครั้ง เสด็จไปเมืองสงขลา ปี พ.ศ. ๒๔๐๑ และ เมืองปัตตานี ใน ปี พ.ศ. ๒๔๐๖

สมัยรัชกาลที่ ๕ เสด็จภาคใต้และแหลมมลายูหลายครั้ง ในครั้งแรก เสด็จประพาสสิงคโปร์ และชวาปี ร.ศ. ๘๙ (พ.ศ.๒๔๑๓) ทรงประพาสเมืองสงขลา ต่อมาเสด็จไปอินเดีย ร.ศ. ๙๐ (พ.ศ. ๒๔๑๔) ประพาสหัวเมืองฝั่งตะวันตก และ ข้ามคาบสมุทรมลายู ลงเรือที่สงขลา ต่อมาเสด็จประพาสทางใต้อย่างต่อเนื่องในปีต่อไปนี้

ร.ศ. 107 (พ.ศ. 2431) ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2432)
ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2433) ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441)
ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442) ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443)
ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) และ ร.ศ.124( พ.ศ. 2448)


เมืองชุมพร เป็นเมืองเก่าแก่แห่งหนึ่งของแหลมมลายู เป็นประตูสู่ภาคใต้ ในช่วง ๑๐๐ ปีที่แล้ว แม้ว่าการคมนาคมจะยากลำบาก แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองชุมพรทุกครั้งที่เสด็จประพาสภาคใต้ เสด็จเทียบเรือที่ปากน้ำชุมพร หรือปากน้ำหลังสวน ชุมพรเป็นเมืองที่เสด็จผ่านไปยังเมืองทางภาคใต้ พระองค์ทรงห่วงใยดูแลทุกข์สุขราษฎรชาวชุมพรอยู่ตลอดมา

เส้นทางเสด็จประพาสชุมพรปรากฏตามหลักฐาน สถานที่ และปีที่เสด็จ
......รัชกาลที่ ๕ เสด็จ เมืองหลังสวน ร.ศ.๑๐๗ (พ.ศ.๒๔๓๑) ร.ศ.1๑๐๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) และร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ในอดีตมีท่าเทียบเรือและหมู่บ้านประมงขนาดเล็ก รัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งเมืองหลังสวนเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร ต่อมาเป็นจังหวัดสังกัดมณฑลชุมพร

ปรากฏถึงเรื่องราวของเมืองหลังสวน ด้านอาชีพและความเป็นอยู่ของราษฎรเมืองหลังสวน มีการเก็บผลไม้เป็นสินค้าส่งขาย เช่น รางสาด ทุเรียน แต่การทำนาปลูกข้าวมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค ที่ปากน้ำหลังสวน เป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าแร่ดีบุกที่สำคัญแหล่งหนึ่ง

หลักฐานการเสด็จเมืองหลังสวนในครั้งแรก ปรากฏว่ามีเรือชื่อ “เรือมะเขือยำ” ปี ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ.) ๒๔๓๒ เสด็จทางเรือเส้นทางแม่น้ำหลังสวนไปยังถ้ำเขาเงิน ตำบลท่ามะพลา ทรงจารึกอักษรย่อพระปรมาภิไธย จปร. ภายในถ้ำเขาเงิน หน้าถ้ำมีเจดีย์เก่าโปรดให้สร้างเจดีย์ต่อจากเจดีย์องค์เก่า มีจารึกอักษรการบูรณะ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ และเสด็จประพาสวัดโตนด อำเภอหลังสวน


ขอบคุณบทความสรุปจาก - sk77k.212cafe.com



((( โปรดติดตามตอนต่อไป คลิกที่นี่ วันที่ 16 - 17 กุมภาพันธ์ 2554 ตอนที่ 1 )))

((( โปรดติดตามตอนต่อไป คลิกที่นี่ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 (วันมาฆบูชา) ตอนที่ 2 )))


((( โปรดติดตามตอนต่อไป คลิกที่นี่ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 ตอนที่ 4 )))


webmaster - 3/6/17 at 08:00

.