การเดินทางไปสระบุรี-น่าน วันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2554
praew - 28/3/11 at 13:33
วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔ (อุทัยธานี - สระบุรี)
๑. วัดพระนอนจักรสีห์ ต. จักรสีห์ อ. เมือง จ.สิงห์บุรี
.....การเดินทางในครั้งนี้ หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้รับกิจนิมนต์เดินทางไปร่วมพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดถ้ำรัตนบุปผา อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในวันที่ ๒๗
มีนาคม ท่านจึงได้ออกเดินทางไปล่วงหน้า เพื่อไปเก็บงานที่ค้างอีกเช่นเคย อีกทั้งท่านได้ทราบว่า วัดพระนอนจักรสีห์ มีการหล่อพระและซ่อมแซมพระนอนอีกด้วย
ท่านจึงได้ออกเดินทางจากวัดหลังจากฉันเช้าแล้ว
ร่วมทำบุญเททองหล่อหลวงพ่อพระนอนจักรสีห์ (จำลอง) ส่วนสุดท้าย (องค์จำลองมีความยาว 7 เมตร)
องค์พระนอนจำลอง และ หลวงพี่ยืนถ่ายรูปกับพระเจ้าหน้าที่ที่วัดพระนอนจักรสีห์ (เจ้าหน้าที่ทำบุญหล่อพระ)
นับเป็นเรื่องบังเอิญพอดีที่ทางวัดได้อัญเชิญส่วนพระเกศพระพุทธรูปยืน (สูง 7 ศอก) ลงมาเมื่อตอนบ่ายสามโมงเย็นวันนี้ คือก่อนที่พวกเราจะมาถึงเพียงไม่นานนัก
พวกเราจึงโชคดีที่ได้มีโอกาสปิดทองเป็นคณะแรก หลวงพี่ดีใจมากที่ได้ปิดทองที่ยอดพระเกศของพระพุทธรูปยืนองค์นี้
หลวงพี่ได้บริจาคเงินร่วมทำบุญ โดยซื้อแท่งทองเหลือง และทำบุญอื่นๆ รวม ๑,๐๐๐ บาท
หลังจากนั้นได้ถ่ายรูปเพื่อจะได้เห็นองค์พระยืนกันเต็มๆ ซึ่งต่อไปจะอัญเชิญไปไว้ที่ข้างๆ วัด
ซึ่งกำลังก่อสร้างเป็น "พุทธมณฑล" ประจำจังหวัดสิงห์บุรี ไว้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมต่อไป
จากนั้นได้เข้าไปกราบองค์พระนอนจักรสีห์ หลวงพี่ได้ถวายผ้าห่มที่พระนอน (ในภาพกำลังชักรอกผ้าห่มขึ้นไปบนองค์พระนอน) ถวายเงินร่วมเป็นค่าปิดทองคำเปลวใหม่
และพวกเราได้ปิดทองที่พระบาทพระนอน (กรมศิลปากรได้บูรณะโดยปิดทองคำเปลวทั้งองค์ พระนอนจักรสีห์มีความยาวทั้งหมด ๔๗ เมตรตั้งแต่พระเศียรถึงปลายพระบาท)
แผนผังในการซ่อมแซมองค์พระนอน ที่กรมศิลปากรวางแผนในการบูรณะครั้งใหญ่
หลังจากได้ทำบุญครบถ้วนทุกอย่างแล้ว ซึ่งรวมทั้งทำบุญก่อสร้าง
"พุทธมณฑล" ประจำจังหวัดสิงห์บุรี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๑๕๐ บาท
สถานที่ก่อสร้างกว้างใหญ่นับสิบไร่อยู่ใกล้วัด พวกเราได้มีส่วนร่วมด้วย
พร้อมกับอนุโมทนาทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก
วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ (สระบุรี - ลพบุรี)
๒. สำนักสงฆ์ฤาษีตาไฟ อาศรมสุวรรณภูมิ อ. หมวกเกล็ก จ. สระบุรี
ระหว่างทางได้แวะร่วมทำบุญสร้างพ่อปู่ชีวกโกมารภัท (องค์ใหญ่มาก) เป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท
๓.วัดถ้ำรัตนบุปผา อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี
- ทำบุญฉลองพระพุทธเจ้าทันใจ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเศียร และยกพระเกศขึ้นประดิษย์ฐานในองค์พระ พิธีบวงสรวง พร้อมรำอวยพรถวายเป็นพุทธบูชา ณ
วัดถ้ำรัตนบุปผา อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี
งานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ณ วัดถ้ำรัตนบุปผา อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔
.....ตามที่หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้รับกิจนิมนต์ให้ไปร่วมงานพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดถ้ำรัตนบุปผา อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมี หลวงพ่อสุรพงษ์
เจ้าอาวาส และ คุณสุชัย (ท้ง) ชินบุตรานนท์ เป็นผู้นิมนต์ หลวงพี่พร้อมคณะได้เดินทางถึงวัดในตอนเช้า
หลังจากนั้นได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนพระเศียร "สมเด็จองค์ปฐม" ทรงเครื่องพระนิพพาน หน้าตัก 4 ศอก
ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้ทำพิธีหล่อแบบวันเดียวเสร็จที่เรียกกันว่า "หลวงพ่อทันใจ" หลังจากได้สร้างพระวิหารเสร็จแล้ว จึงได้นัดหมายเดินทางมาร่วมพิธีกันอีก
หลวงพ่อสุรพงษ์ เจ้าอาวาสวัดถ้ำรัตนบุปผา พร้อมคณะศิษย์ได้ต้อนรับคณะหลวงพี่ชัยวัฒน์
พร้อมได้เตรียมที่จะนิมนต์หลวงพี่ให้เป็นประธานในการสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ก่อนที่จะอัญเชิญขึ้นไปบรรจุไว้บนพระเศียร
คุณประสงค์ จินตนพันธุ์ พร้อมกับคณะภูเก็ต เดินทางมาร่วมงานพิธีนี้ด้วย
หลังจากนั้นได้ยืนถ่ายภาพร่วมกัน หน้าพระวิหารสมเด็จองค์ปฐม
ซึ่งได้สร้างเสร็จแล้วอย่างปราณีตและสวยงามยิ่ง
พระสงฆ์ภายในวัด และที่นิมนต์มาจากต่างวัดก็ได้มาร่วมพิธีกันหลายรูป
สรงน้ำบนรางน้ำแล้วให้น้ำไหลลงไปสรงที่ผอบพระบรมสารีริกธาตุ
หลวงจีนรูปหนึ่งเดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์
โต๊ะบายศรี 2 โต๊ะวางอยู่ด้านหน้าพระวิหาร รอที่จะทำพิธีบวงสรวง
หลวงพี่ชัยวัฒน์เดินไปจุดธูปเทียน โดยมีคุณประสงค์คอยช่วยเหลืออยู่ด้านข้าง
เจ้าอาวาสวัดถ้ำรัตนบุปผาออกไปจุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรีอีกด้านหนึ่ง
ยอดพระเกตุ และผอบพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยวัตถุสิ่งของอันมีค่าต่างๆ
คณะศิษยานุศิษย์ต่างก็ได้เดินทางมาร่วมพิธีกันมากมาย โดยที่บรรยากาศก็ร่มคลึ้มตลอดพิธี
คณะพนักงานโรงงานทำร่ม "ไทยโอเชียน" ร่วมกันฟ้อนรำบวงสรวง
พระสงฆ์ได้ทำพิธีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ เป็นการปิดท้ายก่อนที่จะทำพิธีบรรจุ
หลวงพี่กำลังมอบรางวัลให้แก่คณะนักฟ้อน โดยมีเจ้าภาพเป็นผู้ถวายเงินให้หลวงพี่ก่อน
เครื่องไทยทานที่จะถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดชยันโต
เจ๊รัตนา ชินบุตรานนท์ พร้อมด้วยคุณแม่ได้เข้าไปถวายปัจจัยหลวงพี่
หลังจากนั้นได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยเครื่องบูชาอันมีค่ามากมาย
อัญเชิญยอดพระเกตุขึ้นบรรจุบนพระเศียรพระพุทธรูป
ระหว่างพิธีนี้ เจ้าหน้าที่ได้จุดประทัดเป็นการบูชาด้วย
หลังจากได้ทำพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ได้เปิดเพลงรำวง
พวกเราจึงได้ร่วมกันรำฉลองความสำเร็จกันตามประเพณี
จึงขออนุโมทนาทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ
webmaster - 20/7/11 at 10:52
๔. รอยพระพุทธบาทน้อย ต.สองคอน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
ในตอนบ่าย หลังจากทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว หลวงพี่นำไปที่ วัดพระพุทธบาทน้อย อ.แก่งคอย
พวกเราได้ช่วยกันเปลี่ยนผ้าห่มสไบพระพุทธรูป ซึ่งเป็นของลูกสาวและลูกชายของเจ๊มายินนำมาถวายเมื่อปีที่แล้ว
และได้ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณนี้ แล้วได้กราบไหว้บูชากันต่อไป
หลังจากนั้นได้เดินมาที่บ่อน้ำใกล้ๆ แถวนั้น หลวงพี่บอกว่าภายในเป็นรอยพระพุทธบาทเกือกแก้ว
รูปร่างเหมือนรอยเท้าจริงๆ น้ำไม่แห้ง ชาวบ้านนำท่อน้ำมาต่อลงไปใช้
๕. รอยพระพุทธบาทพุแค บ.โคกดินแดง ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี
ต่อจากนั้น หลวงพี่ได้นำมาไหว้รอยพระพุทธบาทที่ อ.พุแค จ.สระบุรี
พระพุทธรูปองค์นี้ ลูกสาวคุณมายิน เดียวสุรินทร์ เป็นผู้ถวายไว้หลายปีแล้ว
ช่วยกันเปลี่ยนผ้าห่มสไบพระพุทธรูป
จากนั้นช่วยกันทำความสะอาดพื้นรอบพระพุทธบาท
ศาลาหลังนี้ หลวงพี่เคยเป็นเจ้าภาพทาสีศาลาเมื่อหลายปีก่อน
เสร็จแล้วได้ทำพิธีบวงสรวงด้วยเทปเสียงหลวงพ่อ ระหว่างนี้มีฝนโปรยลงมาเม็ดละเอียดมาก
รอยใหญ่ลึกลงไปซ้อนกันหลายรอย เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธบาทสี่รอย
รอยนี้เป็นรอยเล็กอยู่มุนขวาของเรา ชาวบ้านได้ก่ออิฐกั้นไว้รอบๆ
๖. วัดเขาวงพระจันทร์ ต.ห้วยโปง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี
ในการเดินทางครั้งนี้ พี่สำราญได้โทรศัพท์ถามพี่อู่วารี จึงได้ทราบว่าทางวัดเขาวงพระจันทร์กำลังสร้างพระใหญ่ พวกเราจึงเดินทางไปทันที
ก่อนที่จะถึงวัดได้ถ่ายรูปในระยะไกล จะมองเห็นกำลังสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก 45 เมตร สูง 70 เมตร
จากนั้นได้ขับรถเข้าไปในวัด มองเห็นป้ายบอกทางขึ้นเขา จึงได้นำรถเลี้ยวขวาขึ้นไปทันที
ถ่ายรูปโครงสร้างองค์พระในระยะใกล้ และหันหลังกลับมาถ่ายด้านหลัง จะเห็นยอดเขาวงพระจันทร์
ภายหลังหลวงพี่ได้นำญาติโยมจำนวน 300 กว่าคน เพื่อร่วมกันเทคานองค์พระชั้นที่ 59
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันทำบุญคล้ายวันเกิดของท่าน
หลังจากได้แจกเงินให้คนงานก่อสร้างทุกคนแล้ว หลวงพี่ได้ลงมากราบหลวงพ่อฟัก และร่วมทำบุญสร้างพระกับหลวงพ่อฟัก 6,300 บาท ได้ทราบว่าการก่อสร้างองค์พระ
เป็นเจ้าของบริษัทนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ สอบถามกับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงสร้างที่รับน้ำหนักองค์พระเสร็จไป 60 เปอร์เซนต์
ต่อจากนั้นได้เดินชม "พระเขี้ยวแก้ว" ภายในพิพิธภัณฑ์ของหลวงพ่อฟัก
วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๔ (ลพบุรี - นครสวรรค์ - พิจิตร - อุตรดิตถ์)
๗. วัดถ้ำพรสวรรค์ ต.ลำพยนต์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์
วัดนี้มีรอยพระพุทธเกือกแก้ว หลวงพี่เคยนำญาติโยมมากราบเมื่อหลายปีก่อน ครั้งนี้ท่านได้นำคนที่ยังไม่เคยมา จะต้องเดินขึ้นบันไดไปบนเขาเตี้ยๆ
ซึ่งมองเห็นมณฑปครอบพระพุทธบาท ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นทางเข้าถ้ำ
พวกเรากราบไหว้รอยพระพุทธบาท ซึ่งทางวัดได้แต่งรอยเป็นนิ้วเท้าไปนานแล้ว แต่ความจริงเป็นรอยเกือกแก้ว หลังบวงสรวงแล้วได้บูชาด้วยน้ำอบไทย
และปิดทองรอยพระพุทธบาท และนั่งสมาธิกกันสักครู่หนึ่ง
ตอนนี้มีพระกลับมาจากบิณฑบาตแล้ว ท่านได้เปิดให้เข้าไปในถ้ำ ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์
ภายในถ้ำเมื่อเปิดไฟสว่าง มองเห็นพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย ด้านบนเป็นปล่อง อากาศถ่ายเทได้ดี
กราบหลวงพ่อเป้าเขมกาโร ซึ่งประดิษฐานไว้ภายในถ้ำนี้ ท่านเป็นผู้บุกเบิกก่อสร้างถ้ำแห่งนี้
หลวงพี่กราบพระพุทธรูปและหลวงพ่อเป้า แล้วทำบุญใส่ตู้และถวายปัจจัยกับพระเจ้าหน้าที่รวม 600 บาท
จากนั้นได้เข้าไปพบเจ้าอาวาสพูดคุยสนทนา ถวายเงินกับเจ้าอาวาส 1,000 บาท
และถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาท 1 ชุด
๘. วัดหนองกระโดน ต.ทำนบ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
ระหว่างทางขับรถมาเจอป้ายเชิญชวนทำบุญร่วมพิธีหล่อพระเกศ และซุ้มเรือนแก้วพระประธานในพระอุโบสถ จึงได้แวะเข้าไปร่วมทำบุญ 1,000 บาท
และอวยพรเจ้าอาวาสที่มารับปัจจัยจัดงานให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์
๙. วัดศรีมงคล ต.หัวดง อ.เมือง จ.พิจิตร
ร่วมสร้าง "หลวงพ่อเพชรจำลอง" 600 บาท โดยฝากไปทำบุญหลังจากที่เห็นป้ายแล้ว
๑๐. บ่อน้ำทิพย์ บ้านซำบอน ต.นายาง อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ (พบใหม่)
สถานที่แห่งนี้ หลวงพี่ได้รับทราบข้อมูลก่อนแล้ว จากคุณสมชาย ผอ.การท่องเที่ยวอุตรดิตถ์ แต่หลวงพี่ยังไม่ได้มาสำรวจ บังเอิญวันนี้ผ่านมาพอดี
ท่านจึงได้ให้แวะจอดรถไว้ แล้วเดินไปที่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งทางเข้าอยู่ตรงข้ามป้อมตำรวจบ้านซำบอน
บริเวณบ่อน้ำทิพย์อยู่ด้านบนของอ่างเก็บน้ำซำบอนเป็นสวนป่านวมินทร์มหาราช น้ำใสมากไม่แห้งตลอดปี มีการสร้างพระพุทธรูปหน้าตักประมาณ 8 ศอก
ใกล้กับบ่อน้ำทิพย์
เดิมทีมีพระอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ แล้วได้ก่ออิฐล้อมรอบบ่อน้ำไว้ และปิดด้วยสังกสี เพื่อไม่ให้ใบไม้ลงไป พวกเราได้ช่วยกันห่มผ้าสีทองบูชาไว้โดยรอบ
ระหว่างนี้มีฝนปรอยๆ ลงมาด้วย
ถ้าเปิดสังกะสีออกมาจะเห็นบ่อน้ำมีลักษณะเป็นรูปรอยเท้า ภายในมีน้ำใสสะอาด
หลวงพี่ได้จุดธูปเทียนแล้ว จึงได้เปิดเสียงหลวงพ่อบวงสรวง แล้วสรงน้ำหอม ดอกไม้โปรย และนั่งสมาธิด้วย จากนั้นหลวงพี่ได้อธิษฐานเสี่ยงไม้วา
คาดว่าบ่อน้ำทิพย์เป็นรอยพระพุทธบาท และเป็นไปตามคำอธิษฐาน
เสร็จพิธีแล้วได้ตักน้ำทิพย์กลับมาด้วย แล้วเดินออกมาถ่ายภาพที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ
๑๑. วัดพุทธเกษตรเขาโคม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์
หลังจากออกเดินทางมาตามถนนสายอุตรดิตถ์ - แพร่ หลวงพี่ได้เห็นพระเจดีย์มีนั่งร้านตั้งอยู่ จึงได้แวะเข้าไปทำบุญร่วมสร้างพระเจดีย์ 1,350 บาท
หลวงพี่ยืนคุยกับเจ้าอาวาสเพื่อสอบถามข้อมูลรอยพระพุทธบาท
วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๔ (อุตรดิตถ์ - แพร่ - น่าน)
๑๒. วัดพระธาตุปูแจ ต. นาเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่
ร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 9.9 เมตรและร่วมทำบุญสร้างโบสถ์ด้วยรวม 3,200 บาท ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 54
หลวงพี่เคยเข้ามาทำบุญสร้างพระพุทธรูปแล้ว 1 ครั้ง น่าเสียดายว่าต้องรื้อโครงสร้างเดิมที่ผูกเหล็กทิ้งและต้องสร้างใหม่เพราะวิศกรบอกว่าไม่แข็งแรง
เสียค่าใช้จ่ายไปแล้ว 400,000 บาท
ถวายหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" กับเจ้าอาวาสเล่ม 1 จำนวน 1 เล่ม
จากนั้นได้สรงน้ำพระบรมธาตุ ซึ่งบรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระบรมธาตุกระดูกตาตุ่ม" ของพระพุทธเจ้า
เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นที่เคยเสด็จของพระพุทธเจ้า และพระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นกวางมานอนตายอยู่ที่นี่ หลวงพี่จึงได้กลับมาบูชาอีกเป็นครั้งที่ 3
ในชีวิตของท่าน จึงได้ร่วมกันสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้านด้วย จากนั้นได้เดินทางต่อไปจังหวัดน่าน
๑๓. วัดพระธาตุวังคีรี(พระธาตุวังม่วง) ต.น้ำปัว อ.เวียงสา จ.น่าน
พระธาตุแห่งนี้หลวงพี่ยังไม่เคยมา เมื่อได้เห็นป้ายจึงได้แวะเข้ามากราบไหว้ ท่านได้เห็นเด็กชาวไทยภูเขาเป็นจำนวนมาก
จึงได้แจกเงินทำบุญให้กับเด็กที่จะมาบวชเณรจำนวน 30 คน คนละ 20 บาท รวม 600 บาท
เจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่า เดิมบริเวณที่สร้างพระธาตุมีแสงเป็นดวงแก้วใหญ่เสด็จลอยไปมาหากันอยู่ 3 พระธาตุคือพระธาตุวังคีรี พระธาตุดอนชัย พระธาตุจอมแจ้ง
เจ้าอาวาสนำเอาเอกสารประวัติพระธาตุที่เก็บเอาไว้มาให้ดู บันทึกไว้ว่าสร้างโดย นายฮ้อยพะกะหม่อง ปันนะย๊อก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451
ตามประวัติของพระธาตุวังม่วงเล่าว่า ก่อนที่นายฮ้อยพะกะหม่อง ปันนะย๊อก ท่านจะให้มีการก่อสร้างพระธาตุวังม่วงมานั้น
ท่านได้ไปตั้งโรงเลื่อยไม้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับดอยที่จะสร้างพระธาตุนี้ ท่านได้สังเกตเห็นว่า ดอยลูกนี้จะมีลูกแก้วออกมาเล่นแสงทั้งกลางวันกลางคืน
ท่านเห็นว่าดอยลูกนี้เป็นดอยวิเศษ จึงได้คิดสร้างพระธาตุขึ้น เริ่มก่อสร้างในปี ร.ศ.126 (พ.ศ. 2451) ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี
หลังจากท่านให้พรแล้ว หลวงพี่จึงได้เข้าไปกราบไหว้พระเจดีย์ เพราะทราบว่ามีประวัติเก่าแก่มานาน
หลวงพี่ได้ทำบุญสร้างวิหารกับเจ้าอาวาส 2,000 บาท
หลวงพี่ได้มอบหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" กับเจ้าอาวาสเล่ม 1- 4 จำนวน 1 ชุด
๑๔. วัดพระธาตุแช่แห้ง บ.หนองเต่า ต.ฝ่ายแก้ว อ.เมือง จ.น่าน
พระธาตุแช่แห้งนี้เป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และ "พระบรมธาตุข้อมือเบื้องซ้าย" หลวงพี่ทราบข่าวก่อนแล้วว่าทางวัดกำลังบูรณะครั้งใหญ่
ท่านจึงตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในครั้ง จึงได้ร่วมทำบุญบูรณะพระธาตุ 6,000 บาท
สรงน้ำพระบรมธาตุด้วยน้ำอบไทย พวงมาลัย และแผ่นทอง โดยการดึงสายรอกขึ้นไป
พร้อมกับสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้านไปด้วยตลอดพิธี
ระหว่างนี้ฝนฟ้ากำลังตกลงมาปรอยๆ
๑๕. วัดกู่คำ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน
พระธาตุกู่คำก็เป็นอีกสถานที่แห่งหนึ่ง ตามประวัติกล่าวว่า
เป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้าเช่นกัน
พวกเราโชคดีอีก ที่จะมีโอกาสสรงน้ำพระธาตุแบบทางเหนือ ด้วยน้ำอบ
พวงมาลัย และแผ่นทอง สวดอิติปิโสและคาถาเงินล้านพร้อมไปด้วย
๑๖. วัดหัวข่วง ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน
วัดหัวข่วง อยู่ในอำเภอเมืองอีกเช่นกัน คำว่า "หัวข่วง" หมายถึงลานกว้าง วัดหัวข่วงก็คือวัดที่อยู่หน้าลานกว้าง
เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในย่านประวัติศาสตร์ของจังหวัดน่าน ใกล้กับหอคำอันเป็นตำหนักของเจ้าผู้ครองนครน่าน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัด
มีแต่หลักฐานการปฏิสังขรณ์ปี พ.ศ. 2454 โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน
สิ่งสำคัญในวัดนี้คือพระเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทเรือนทอง ฐานล่างทำเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรับฐานบัวลูกแก้ว 2 ชั้น
นอกจากนี้ยังมีเรือนธาตุซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริด หอไตรซึ่งเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงจัตุรมุข ใต้ถุนก่อทึบและธรรมาสน์ทรงสี่เหลี่ยม
ยอดเป็นรูปน้ำเต้าสลักลายลงลักปิดทองประดับกระจก หลวงพี่ได้ร่วมทำบุญบูรณะหอไตร พระเจดีย์ และวิหารใหม่ 1,100 บาท เนื่องจากทางวัดกำลังบูรณะอยู่พอดี
webmaster - 24/8/11 at 16:47
วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔ (น่าน)
๑๗. วัดพระธาตุสวนตาล ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน
สถานที่นี้เป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" จำนวนหนึ่งเส้น ตามประวัติวัดนี้สร้างในเขตพระราชฐานของพระนางปทุมาวดี มเหสีฝ่ายซ้ายของพญาภูเข่ง
เจ้าเมืองน่าน ภายในวัดประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1992
เพื่อแสดงถึงชัยชนะที่พระองค์สามารถยึดเมืองน่านไว้ได้
การเดินทางมาเที่ยวนี้ โชคดีที่ได้สรงน้ำพระธาตุแบบโบราณหลายแห่ง ด้วยการนำน้ำอบไทย พวงมาลัย ดอกไม้สดและแผ่นทองใส่ลงในกระป๋องน้ำ แล้วชักรอกดึงขึ้น
พร้อมกับสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้านอีกเช่นเคย
สรงน้ำเสร็จแล้ว จึงเข้าไปภายในวิหารพระเจ้าทองทิพย์
รูปภาพเก่าแก่ขององค์พระธาตุและพระเจ้าทองทิพย์ก่อนที่จะบูรณะ
ภาพประวัติและป้ายคำบูชาพระธาตุ
๑๘. วัดพระธาตุเขาน้อย ต.ดู่ใต้ อ.เมือง จ.น่าน
ตามประวัติเล่าว่า พระนางปทุมาวดีและเจ้าเมืองน่าน นอกจากสร้างพระธาตุสวนตาลแล้ว ยังได้สร้างพระธาตุไว้บนเขานี้อีกแห่งหนึ่ง มีชื่อว่า พระธาตุเขาน้อย
โดยบรรจุพระเกศาธาตุไว้หนึ่งเส้นอีกเช่นกัน ขณะที่ขึ้นไปบนพระธาตุ พบว่าทางวัดกำลังจะยกช่อฟ้า หลวงพี่จึงได้เข้าไปสรงน้ำปิดทอง และร่วมทำบุญเป็นเงิน 320
บาท
พระธาตุแห่งนี้หลวงพี่เคยนำมากราบไหว้หลายครั้งแล้ว และท่านได้เคยเป็นเจ้าภาพทาสีขาวอีกด้วย
ขณะที่กำลังจะทำพิธีบวงสรวงพระเจดีย์ ช่วงเวลานั้นมีนักศึกษาคณะสัตว์แพทย์ จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ (ปีสุดท้าย) ขึ้นมาท่องเที่ยวบนวัดพระธาตุพอดี
หลวงพี่จึงได้เล่าประวัติ "พระธาตุเขาน้อย" และกล่าวนำคำไหว้พระอธิษฐาน เสร็จแล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึก จากนั้นหลวงพี่ได้ตีกลองเสริมพิธีนี้อีกด้วย
(อ่านประวัติโดยละเอียด "พระธาตุสวนตาล" และ "พระธาตุเขาน้อย" ได้ในหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท")
๑๙. พระพุทธบาทวัดดอนสบเปือ บ.ดอนสบเปือ ต.เปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน
หลวงพี่ได้เดินทางมาฉันเพลภายในวิหาร ที่วัดดอนสบเปือ โดยมีกำนันฉัตรชัย และชาวบ้านดอนสบเปือให้การต้อนรับ
จากนั้นได้กลับมาที่มณฑปครอบพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำน่าน รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ เดิมทีชาวบ้านไปเอามาจากวังพระบาท แล้วเกิดข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง
เมื่อปี 2542 หลวงพี่ผ่านมาพบว่าก้อนหินถูกทิ้งอยู่ริมแม่น้ำ ท่านจึงทำพิธีแก้ไข โดยให้ชาวบ้านนำขึ้นมา แล้วท่านให้ทุนสร้างศาลา
พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ ฉะนั้นหลวงพี่ไม่ได้มาที่นี่ ประมาณ 10 ปีมาแล้ว
หลวงพี่จึงได้ถวายเครื่องสังฆทานไว้ที่วัด 1 ชุด พร้อมกับถวายส่วนองค์ 1,000 บาท กับเจ้าอาวาสวัดดอนสบเปือ
ส่วนอีก 1 ชุดให้ไว้กับกำนันฉัตรชัยเพื่อทำบุญในวันสงกรานต์ พร้อมกับหนังสือตามรอยพระพุทธบาท 1 ชุด พร้อมเงินอีก 6,000 บาท
ต่อมาหลวงพี่ได้เสี่ยงทายว่าควรรื้อวิหารและจะสร้างขึ้นใหม่หรือไม่ ผลการเสี่ยงทายสมควรที่จะรื้อทำใหม่ เสร็จแล้วจึงทำพิธีบวงสรวง
แล้วสรงน้ำหอมและปิดทอง
หลวงพี่เดินลงไปดูที่ท่าน้ำ ปรากฏว่าเส้นทางน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม กำนันฉัตรชัยเล่าว่า วันนี้กำลังนัดให้ชาวบ้านมาปรับปรุงสถานที่ เพื่อจัดงานสงกรานต์
จะมีคนจากที่อื่นมาเป็นจำนวนมากเล่นสงกรานต์ที่นี้
การที่หลวงพี่เดินทางมาในวันนี้ นับว่าเป็นเรื่องแปลก ที่มาตรงกับที่นัดชาวบ้านไว้พอดี ชาวบ้านหลายคนรู้ข่าว จึงมารอต้อนรับกันมากมาย
เพราะส่วนใหญ่ได้เคยพบกับหลวงพี่เมื่อสิบปีแล้ว เวลานี้มีบางคนได้จากโลกนี้ไปแล้ว ในครั้งนั้นหลวงพี่ได้นำคณะเดินทางมากับรถตู้ประมาณ 100 กว่าคัน
สมัยนั้นจึงเป็นที่เล่าลือกันมาก ก่อนกลับกำนันฉัตรชัยถวายน้ำผึ้งมา 4 ขวด
๒๐. วัดพระธาตุเบ็งสกัด บ้านแก้ม ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน
กราบบูชาพระธาตุ สรงน้ำหอม และปิดทอง พร้อมกับถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
๒๑. วัดพระธาตุจอมนาง บ้านถ่อน ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน
ตามประวัติเล่าว่า พระมหาเทวีเจ้านางจอม และสมเด็จเจ้าเมืองธรรมิกราช และชายาแม่เมืองเมง และราชบุตรเจ้าหม่อมน้อย ทรงสร้างพระธาตุจอมนางราว พ.ศ.
1600
กราบบูชาพระธาตุ สรงน้ำหอมปิดทอง ตอนขึ้นไปไม่มีใครอยู่ในพระธาตุเลย
๒๒. วัดวังม่วง ต. เจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน
- ทำบุญบูรณะพระธาตุศรีอุดม 500 บาท
๒๓. พระธาตุจอมพริก บ้านเสี้ยว ต. ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน
สาเหตุที่เรียกว่าพระธาตุจอมพริก เพราะมีต้นพริกที่อาจถือได้ว่าเป็นต้นพริกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่อยู่เคียงคู่บารมีใกล้กับองค์พระธาตุมาตลอด
ตามธรรมชาติแล้วพริกจะเป็นพืชล้มลุกธรรมดา แต่ต้นพริกที่กล่าวถึงเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ตามคำเชื่อของคนสมัยโบราณที่มีอายุมาหลายร้อยปี
ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นโดยทั่วไป
ทำบุญบูรณะพระธาตุและโบสถ์ 3,000 บาท สรงน้ำหอมพระธาตุ โปรยดอกไม้ และปิดทองพระธาตุ พรมน้ำหอมบริเวณต้นพริกและปิดทองตรงศาลพระภูมิด้วย
ถวายผ้าทองที่เหลือทั้งหมดไว้กับเจ้าอาวาส นับว่าโชคดีที่พระธาตุกำลังบูรณะพอดี
ถ่ายรูปกับต้นพริกใหญ่ที่สุดในโลก
วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ (น่าน - แพร่)
๒๔. วัดป่าคอวัง (วังวิโมกข์) บ้านคอวัง ต.ดู่ใต้ อ.เมือง จ.น่าน [/color]
ขณะที่ไปถึงวัดนี้ ทางวัดกำลังสร้างพระอุโบสถ ภาพที่เห็นเป็นพระประธาน รอที่จะอัญเชิญเข้าไป หลังจากสร้างโบสถ์เสร็จแล้ว จึงได้เข้าไปกราบไหว้บูชา
บริเวณนี้มีก้อนหินรูปรอยพระพุทธบาทอยู่ด้วย จึงถือโอกาสกราบไหว้บูชา
จึงได้รวบรวมเงินถวายเพื่อร่วมสร้างพระประธาน(พระแก้วสมใจนึก) ขนาดหน้าตัก 1.59 เมตร สูง 2.60 เมตร แกะสลักหินเขียวจากอิตาลี รูปทรงพระแก้วมรกต
ทรงเครื่องจักรพรรดิ
พร้อมทั้งร่วมสร้างโบสถ์ และขณะนั้นทางวัดกำลังจะบวชพระ จึงได้ร่วมทำบุญรวมทั้งหมด 2,000 บาท
ทางวัดกำลังสร้างพระอุโบสถ จากนั้นลงไปที่สระน้ำ ทำทานให้อาหารปลา ซึ้ออาหารเลี้ยงปลาเป็นเงิน 600 บาท
๒๕. วัดดอนไชยพระบาท ต.นาเหลือง อ.เวียงสา จ. น่าน
๒๖. พระธาตุจอมแจ้ง ต.ไหล่นาน อ.เวียงสา จ.น่าน
กราบไหว้สรงน้ำหอมบูชาพระธาตุ ปิดทอง และโปรยดอกไม้ สวดมนต์อิติปิโส คาถาเงินล้าน และนั่งสมาธิ
พระธาตุมีการเอียงอย่างเห็นได้ชัด ตอนขึ้นไปไม่มีใครอยู่ในวัดเลย
๒๗. พระธาตุพูลแช่ อ.นาน้อย จ.น่าน
พระธาตุแห่งนี้ตามประวัติเล่าว่า เป็นที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ของพระพุทธเจ้า ทางวัดเพิ่งจะทาสีเสร็จ แต่ยังเป็นหนี้อยู่
หลวงพี่จึงได้ร่วมทำบุญบูรณะทาสีพระธาตุ เป็นจำนวนเงิน 3,250 บาท
หลวงพี่นั่งกราบไหว้บูชาภายใต้ต้นมะม่วงโบราณ จากนั้นได้สรงน้ำหอม ปิดทององค์พระธาตุ
หลวงพี่สนทนากับเจ้าอาวาส ตรงบริเวณใต้โคนต้นมะม่วง
ซึ่งเจ้าอาวาสเล่าว่าต้นมะม่วงต้นนี้จะมีรสชาติแตกต่างกัน กิ่งก้านที่ไปทางพระธาตุจะมีรสหวาน ส่วนที่ไม่ได้หันไบทางพระธาตุจะมีรสเปรี้ยว
และหวานอมเปรี้ยว
ตอนขากลับแวะที่ "คอกเสือ" และ "เจดีย์ดิน" เป็นลักษณะของดินที่ถูกธรรมชาติกัดเซาะเป็นเวลานาน
๒๘. พระเจดีย์พระธาตุเชียงของดอยพุ่มแก้ว ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน
จากนั้นได้แวะกราบพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ โดยเศรษฐีเซ เจริญพงษ์ ร่วมทำบุญ 300 บาท
๒๙. วัดพนมขวัญ ต.แม่คำมี อ.เมือง จ.แพร่
ร่วมสร้างเจดีย์พระพุทธเจ้า 28 พระองค์(แก้วสารพัดนึกเฉลิมพระเกียรติ ร. 9) สูง 29 เมตรและร่วมบวชเณรภาคฤดูร้อน 2,000 บาท
ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับเจ้าอาวาส และถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาทเล่ม 1ไว้ด้วย
วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔ (แพร่ - อุทัยธานี)
๓๐. วัดบ้านเหล่า ต.นาจักร อำเภอเมือง จ.แพร่
ร่วมสร้างพระเจดีย์วัดบ้านเหล่าเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปและพระเครื่องบูชา จำนวน 84,000 องค์
รวมเป็นเงิน 2,400 บาท
การเดินทางในปีนี้มีโอกาสได้พบการสร้างพระ สร้างพระเจดีย์หลายแห่ง เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญมายุครบ 84 พรรษา
พวกเราโชคดีที่มีส่วนร่วมเกือบทุกแห่งทั่วประเทศ
พวกเราได้ถวายปัจจัยร่วมสร้าง ซึ่งเจ้าอาวาสได้รับมอบที่ด้านหน้า จะเห็นโมเดลของพระเจดีย์ที่จะสร้าง
๓๑. วัดพงป่าหวาย ต.ปงป่าหวาย อ.เด่นชัย จ.แพร่
ระหว่างเดินทางเห็นป้ายการสร้างพระอีกเช่นเคย จึงได้ขับรถไปตามเครื่องนำทาง GPS เข้าถึงวัดจะเห็นพระเจดีย์มีนั่งร้านค้างอยู่
ร่วมทำบุญยกช่อฟ้าวิหารแก้วและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า และหล่อพระพุทธสิหิงค์หน้าตัก 39 นิ้ว สร้างพระพุทธรูปนอนแกะสลักจากไม้ รวมทำบุญ 3.400
บาท และแจกเงินให้กับช่างแกะสลักไม้อีกคนละ 100 บาท 2 คน
เจ้าอาวาสพาเดินชมพระพุทธรูปที่แกะจากไม้หลายองค์มีทั้งพระยืน และพระนั่ง
ช่างไม้กำลังแกะสลักพระพุทธไสยาสน์
๓๒. วัดดงยาง ต.บ่อทอง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
สถานที่แห่งนี้มีการทำบุญรวมทั้งหมด 2,500 บาท ดังนี้
- สร้างพระอุโบสถ
- สร้างศาลาปฏิบัติธรรม
- สร้างพระใหญ่ขนาดหน้าตัก 9 เมตร เพื่อตัดกรรมเก่า
- เททองหล่อพระพุทธรูปปางมารสะดุ้งทรงเครื่อง
- บวชนาคหมู่สามัคคี สามเณรฤดูร้อน
- สวดพระมาติกาบังสุกุลให้เด็กทารกที่ตายจากการทำแท้ง
- ภัตตาหารเช้า-เพล ถวายพระสงฆ์สามเณร ชีพราหมณ์ ที่ร่วมปฏิบัติธรรม
๓๓. วัดกวางทอง หมู่ 5 ต.บ่อทอง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
ร่วมทำบุญทั้งหมด 1,600 บาท ดังนี้ หล่อพระพุทธชินราชเนื้อเงิน หน้าตัก 59 นิ้ว ไว้ในพระประธานพระอุโบสถ, ยกช่อฟ้าพระอุโบสถ และหล่อพระพุทธโสธร
และอุปสมบทนาคหมู่
ทางวัดกำลังเตรียมที่จะทำพิธีหล่อพระพอดี
๓๔. วัดเนินกรวด จ. พิจิตร
- หลวงพี่ฝากเงินไปทำบุญสร้างระฆัง 600 บาท
๓๕. พุทธอุทยานประวัติศาสตร์ "มหาราชหยกขาว" อ.โพทะเล จ.พิจิตร
ร่วมทำบุญก่อสร้างทั้งหมด จำนวนเงิน 750 บาท เพื่อร่วมสร้าง หลวงพ่อเงินหยกขาว และ เจ้าแม่กวนอิมพันมือหยกขาว ที่แกะสลักมาจากประเทศจีน มูลค่า 200
ล้าน
การก่อสร้างบนเนื้อที่ 158 ไร่สร้างตามโมเดลที่เห็นในภาพ มีมูลค่าการก่อสร้างโดยรวมประมาณ 350 ล้านบาท
โครงการจะประกอบไปด้วย
1.โซนพระหยกขาว
2.โซนพระพุทธรูป เช่น หลวงพ่อเพชร พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร
3.โซนพระเกจิ เช่น สมเด็จโต หลวงปู่ทวด หลวงพ่อเงิน
4.โซนเทพ เช่น พระพิฆเนศวร์ เจ้าแม่กวนอิม พระพรหม
5.โซนเฉลิมพระเกียรติพ่อหลวง
6.ศูนย์ปฏิบัติธรรม
7.ศูนย์การเรียนรู้และข้อมูลทางวิทยาศษสตร์ โซนท่องเที่ยวถ้ำพญาชาละวัน อุโมงค์ปลา น้ำจืด ศูนย์ OTOP สินค้าพื้นเมือง
สรุปเงินทำบุญตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม - 1 เมษายน 2554
รวมเงินทั้งหมด 58,940 บาท
◄ll กลับสู่สารบัญ