ตามรอยพระพุทธบาท

การเดินทางไปภาคอีสาน 24 มิ.ย - 5 ก.ค 2554 (ตอนที่ 1)
webmaster - 29/7/11 at 14:39

 ตอนที่ 2


การเดินทางไปภาคอีสาน

ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน - ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔



วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ (อุทัยธานี - เพชรบูรณ์)

๑. วัดพระพุทธบาทชนแดน ต.ชนแดน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์

......การเดินทางในทิปนี้ หลวงพี่มีเป้าหมายไว้หลายวัน ทั้งนี้เพื่อเก็บงานที่คั่งค้างอยู่ทางภาคอีสาน โดยเฉพาะท่านตั้งใจจะเดินทางไปร่วมงานพิธีเททองหล่อพระประธาน ณ วัดธรรมยาน อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงได้ออกเดินทางในวันแรก โดยมุ่งไปตามถนนสายชนแดน



เมื่อไปถึงวัดแรก คือ วัดพระพุทธบาทชนแดน เนื่องจากไม่เคยแวะมาก่อน เพราะทราบว่าเป็นรอยจำลอง


ครั้งนี้หลวงพี่ตั้งใจจะขึ้นไปกราบไหว้ นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่สุด คือได้บุญที่กราบไหว้แล้ว ยังได้บุญที่จะได้ร่วมบูรณะมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทบนเขานี้อีกด้วย ก่อนจะขับรถขึ้นไปบนเขาน้อย จึงได้ถวายเงินร่วมบุญด้วย ๑,๕๐๐ บาท สถานที่แห่งนี้เดิม "หลวงพ่อทบ" ได้สร้างเอาไว้ ช่างได้เล่าว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจำลองที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทจริงเอาไว้นานแล้ว


ตอนนี้ได้มีการรื้อมณฑปเก่าเพื่อสร้างใหม่ หลวงพี่บอกว่าพวกเรามาครั้งนี้โชคดีเหลือเกิน
นอกจากทำบุญกับวัดไปแล้ว หลวงพี่ยังได้มอบเงินให้แก่ช่างทุกคนที่กำลังทำงานอีกด้วย


๒. วัดวังชมพู ต.วังชมพู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์


จากนั้นได้ขับรถมุ่งสู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างทางผ่านวัดวังชมพู เห็นป้ายเชิญชวนร่วมสร้างพระ
จึงได้แวะร่วมทำบุญหล่อพระ ๑๐๘ องค์ ถวายเงินเจ้าอาวาส ๒,๐๐๐ บาท



จากนั้นได้ให้เงินเด็กนักเรียน ๒๘ คนๆ ละ ๒๐ บาท รวม ๕๖๐ บาท (เป็นเด็กนักเรียนที่มาช่วยจัดสถานที่ให้วัด)


สร้างพระพุทธรูปใหญ่ "พระพุทธมหาธรรมราชา" อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์


หลวงพี่เดินทางไปดูงานการสร้าง "พระพุทธมหาธรรมราชา" เพราะได้โอนเงินทำบุญเมื่องานวันเกิด (๒๙ พ.ค. ๕๔) โดยมีผู้เดินทางมาร่วมงานวันเกิดทำบุญรวมทั้งสิ้น ๖ พันกว่าบาท ปรากฏพบว่ากำลังก่อสร้างฐานรากชั้นสองแล้ว ณ พุทธอุทยานเพชบุระ



นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดสร้าง "พระพุทธมหาธรรมราชา" เฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพระพุทธมหาธรรมราชาจำลององค์ใหญ่ จะหล่อด้วยทองเหลือง ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑.๙๘๔ เมตร น้ำหนักประมาณ ๖๐ ตัน ประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานเพชปุระ (เนื้อที่ประมาณ ๑๖ ไร่)

กำหนดประกอบพิธีหล่อชิ้นส่วนองค์พระชิ้นส่วนแรก ซึ่งเป็นฐานบัวรองรับยอดพระเกศ ขนาดความสูง ๑.๒๖ เมตร ในวันฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ จังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๔ จังหวัดเพชรบูรณ์ได้กำหนดประกอบพิธีหล่อปลายยอดพระเกศทองคำ น้ำหนัก ๘๔ บาท และพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีหล่อปลายยอดพระเกศทองคำและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

หมายเหตุ : สาเหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้ มีนามว่า "พระพุทธมหาธรรมราชา" ซึ่งองค์จริงอยู่ที่วัดไตรภูมิ จ.เพชรบูรณ์ พระวรกายสวมใส่เครื่องประดับของกษัตริย์นักรบสมัยโบราณ ชาวบ้านจึงพากันเรียกขานว่า "พระพุทธมหาธรรมราชา"



วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๔ (เพชรบูรณ์ - ชัยภูมิ)

๓. วัดธรรมยาน ต.นาเฉลียง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์


วันนี้เดินทางล่องลงมาที่วัดธรรมยาน เพื่อร่วมพิธีหล่อพระ ดังนี้ ๑. สมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก ๔ ศอก ปางจักรพรรดิ ไว้เป็นพระประธานในโบสถ์ ๒. สมเด็จพระสมณะโคดม หน้าตัก ๓ ศอก ๓. พระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร















๔. รอยพระพุทธบาทบ้านนาฝาย อ.เมือง จ.ชัยภูมิ (พบใหม่)

รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ท่านผู้อ่านคงได้เห็นวงเล็บว่า (พบใหม่) นั่นหมายความว่า หลังจากที่หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้พิมพ์หนังสือ "รายชื่อรอยพระพุทธบาทและพระธาตุเจดีย์" ออกมาแล้ว สรุปได้ว่ามีรอยพระพุทธบาท ๖๔๓ แห่ง และพระธาตุ ๗๔๓ แห่ง พิมพ์จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม แจกจ่ายไปทั่วประเทศ เนื่องในงานวันเกิดของท่าน เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔

แต่หลังจากพิมพ์ออกมาเพียงไม่กี่วัน ในวันนี้ก็มีเหตุให้พบใหม่อีกจนได้ นั่นก็คือ หลังจากเสร็จงานพิธีหล่อพระที่วัดธรรมยานแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินทางไปจังหวัดชัยภูมิ เพื่อไปแวะเยี่ยมคณะศิษย์หลวงพ่อฯ ต่างก็มารออยู่ที่ ร้านสังฆทาน "คิดมงคล" ของคุณหมี และน้องใหม่ (ลูกชายทั้งสองของคุณอุไร คิดบรรจง ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว)

ในระหว่างนี้มีคุณพี่ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า ตนเองเป็นคนบ้านนาฝาย ได้ฝันเมื่อคืนนี้ คือก่อนที่หลวงพี่จะเดินทางมา ได้ฝันเห็นตัวเองเคยวิ่งเล่นตอนเด็กๆ จึงย้อนนึกถึงที่ตนเองเคยเห็นคล้ายรอยเท้าใหญ่มาก อยู่แถววัดโนนดู่พัฒนา ด้วยเหตุนี้หลวงพี่จึงขอให้นำไป



ซึ่งทางเข้าวัดโนนดู่พัฒนา มีอยู่ ๔ รอย คณะคุณหมีเป็นผู้นำไป จึงได้เดินสำรวจในบริเวณนี้ ปรากฏว่ามีหลายรอย
รอยที่ ๑ กว้าง ๖๖ ซม. ยาว ๑๗๖ ซม.
รอยที่ ๒ กว้าง ๑๔๘ ซม. ยาว ๒๗๐ ซม.
รอยที่ ๓ กว้าง ๘๘ ซม. ยาว ๑๕๙ ซม.
รอยที่ ๔ กว้าง ๘๔ ซม. ยาว ๑๖๘ ซม.


แต่รอยที่คุณพี่ผู้หญิงเห็นนี้ ปัจจุบันมีพระมาอยู่อาศัยใกล้ๆ วัดโนนดู่พัฒนา ท่านได้ก่อปูนล้อมรอบไว้


หลวงพี่ได้ให้พวกเราห่มผ้าสีทองบูชาไว้โดยรอบ จากนั้นเดินเข้าไปสำรวจในป่าหลังวัด


โดยมีหลวงพ่อที่เฝ้าอยู่นำทางไป ตอนหลังจึงทำบุญกับท่านที่ดูแลรักษา ๕๐๐ บาท


หลวงพี่ได้พบรอยพระพุทธบาทในป่าหลังวัดอีกหลายรอย ส่วนใหญ่เป็นรอยไม่ชัดเจน




หลังจากนั้นเป็นเวลาเย็นพอดี จึงได้ลาคณะชัยภูมิออกเดินทางต่อไป




วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ (ชัยภูมิ - ขอนแก่น)

สร้างพระพุทธรูปใหญ่ชัยภูมิ "ปางถวายข้าวมธุปายาส" อ.เมือง จ.ชัยภูมิ


การสร้างพระใหญ่ชัยภูมินี้ เป็นโครงการที่เริ่มทำมาหลายปีแล้ว หลวงพี่ได้บอกบุญร่วมทำบุญไปหลายครั้งแล้ว เดิมมีโครงการที่จะสร้างกันที่วัดสระหงส์ ต่อมาได้ข่าวว่ามีการย้ายมาสร้างใหม่ที่นี่ หลวงพี่จึงได้เดินทางมาดูการก่อสร้าง อีกทั้งได้มีการโอนเงินมาทำบุญประมาณ ๖,๐๐๐ กว่าบาทแล้ว เมื่องานวัดเกิดของหลวงพี่


พอมาถึงเจ้าหน้าที่เปิดศาลาพอดี จึงโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าไปกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุต่างๆ มากมาย โครงการก่อสร้างพระใหญ่นี้ เป็นพระพุทธรูปปางถวายข้าวมธุปายาส หล่อด้วยทองเหลือง สูงประมาณ ๑๙๙ เมตร ส่วนฐานกว้าง ๙๙ เมตร


นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นประกอบอีกหลายอย่าง เช่น สังเวชนีสถาน ๔ ตำบล คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนาและปรินิพพาน จะต้องใช้งบประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท โดย "มูลนิธิพระใหญ่ชัยภูมิ"



๕. รอยพระพุทธบาทผาหัวนาค มอหินขาว ต. ท่าหินโงม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ (พบใหม่)


รอยพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ภายใน "วนอุทยานแห่งชาติมอหินขาว" ได้ทราบข้อมูลจากคณะชัยภูมิ โดยแจ้งข่าวให้ทราบว่ามีรอยพระพุทธบาทอยู่บนมอหินขาว ซึ่งจะต้องจอดรถไว้แล้วเดินต่อไปที่ "ผาหัวนาค"


เมื่อเดินเข้าที่หน้าผาสูงชัน บริเวณนี้จะเห็นเป็นรอยเท้าเล็กๆ มีขนาดกว้าง ๑๔ ซม. ยาว ๒๙ ซม.


มีผู้สร้างศาลาเล็กๆ ครอบไว้ พวกเราได้นำพวงมาลัยและเครื่องบูชาที่ "คณะชัยภูมิ" ถวายมาวางไว้โดยรอบ


ระหว่างนี้มีชาวบ้านขึ้นมาท่องเที่ยว จึงได้ชักชวนให้ร่วมพิธีบวงสรวงกราบไหว้บูชาด้วยกัน


ก้อนดินที่ก่อตัวเป็นรูปลักษณะแตกต่างกัน ทางอุทยานตั้งชื่อไว้แต่ไม่ได้จดมาเล่ากัน


ตอนนี้หลวงพี่กลับมานั่งฉันเพลใกล้สำนักงานอุทยานฯ หลวงพี่ได้เห็นพระพุทธรูปอยู่บนหินก้อนนี้
ท่านจึงได้เดินมากราบไหว้ และพิจารณาหินก้อนนี้ พร้อมกับสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระแท่นที่ประทับนั่ง



ท่านจึงได้อธิษฐานเสี่ยงไม้วา ปรากฏว่าเป็นไปตามนั้น จึงได้สักการบูชาด้วยการสรงน้ำหอมและปิดทอง


๖. รอยพระพุทธบาทบ้านโซ่ง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น


สถานที่แห่งนี้หลวงพี่เคยไปเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ท่านได้พวกเราบางคนที่ไม่เคยมากราบไหว้อีกครั้งหนึ่ง จึงได้ถือโอกาสวัดรอยพระพุทธบาท มีขนาดกว้าง ๔๐ ซม. ยาว ๑๐๕ ซม. อีกทั้งมีชาวบ้านได้นำทางมาคนหนึ่ง หลวงพี่จึงได้มอบเงินให้ไว้คอยดูแลรักษา จำนวนเงิน ๑,๓๐๐ บาท (ช่วยดูแลแทนประมาณ ๑ ปี)



พร้อมกันนี้ก็ได้ถวายเทียนพรรษาไว้ที่นี่ด้วย ๓ คู่ ที่คณะชัยภูมิถวายไว้ จากนั้นได้สรงน้ำรอยพระพุทธบาท ถวายพวงมาลัยและผ้าทองรอบฐานบัว



วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ (ขอนแก่น - มหาสารคาม)

๗. รอยพระพุทธบาทภูถ้ำ บ้านน้ำซับ ต.แวงน้อย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น (พบใหม่)

ในระหว่างนี้ยังติดต่อทางโทรศัพท์กับ คุณหมี (ชัยภูมิ) ได้แจ้งข้อมูลว่ามีรอยพระพุทธบาทที่ไหนบ้าง การเดินทางครั้งนี้ ถึงแม้หลวงพี่จะพิมพ์หนังสือรายชื่อ "พระธาตุ-พระบาท" ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังได้พบใหม่อยู่เรื่อยๆ ตอนนี้ได้พบใหม่ 2 แห่งแล้ว คือ ที่ "บ้านนาฝาย" และที่ "มอหินขาว"

ช่วงนี้คุณหมีบอกว่ายังมีอีกแห่งหนึ่ง คือที่ "ภูถ้ำ" บ้านน้ำซับ พวกเราจึงนัดหมายกับ "คณะชัยภูมิ" อีกครั้งหนึ่ง โดยนัดหมายให้นำทางเข้าไป เพราะรอยพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ในป่า จะต้องเข้าไปค้นหาอีกครั้ง เนื่องจากคนที่นำทางไม่ได้มาหลายปีแล้ว


เช้านี้มีฝนตกลงมาปรอยๆ จึงต้องเดินถือร่มเข้าไป คนนำทางบอกให้เรารออยู่ในป่า ส่วนตัวเขาเข้าไปค้นจนเจอ


ปรากฏว่าโชคดีที่ได้พบถึง ๒ รอย เป็นรอยเท้าตรงบริเวณหน้าผาทางน้ำผ่าน และรอยเกือกแก้วอยู่ต่ำลงมา


ที่เป็นรอยเท้า กว้าง ๑๖ ซม. ยาว ๓๙ ซม. ส่วนรอยที่เป็นเกือกแก้ว กว้าง ๓๕ ซม. ยาว ๘๘ ซม.


ทางเข้าไปที่รอยพระพุทธบาท เดินทางมาจากตัวตลาดแวงน้อย
แล้วเลี้ยวเข้าทางข้างวัดน้ำซับ คณะของคุณหมี (ชัยภูมิ) เป็นผู้นำทาง







หลังจากทำพิธีกราบไหว้บูชาเสร็จแล้ว ต้องรีบออกมาเพื่อนิมนต์หลวงพี่ไปฉันเพล จากนั้นจึงได้ย้อนกลับไปที่ "รอยพระพุทธบาทบ้านโซ่ง" อ.ชนบท จ.ขอนแก่น อีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นทางผ่านพอดี อีกทั้งคณะชัยภูมิก็ยังไม่เคยมา






ถ่ายภาพร่วมกับ "คณะชัยภูมิ" ก่อนจะเดินทางต่อไป


๘. วัดพระพุทธบาทหินลาด บ้านหนองตับเต่า ต.ป่าปอ อ. บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น


หลวงพี่นำคณะของคุณหมี (ชัยภูมิ) ไปกราบรอยพระพุทธบาท มีรอยพระพุทธบาทบนลานหินจำนวนมาก


มีพระพาไปกราบรอยพระพุทธบาทที่เกิดขึ้นใหม่ ร่วมทำบุญเททองหล่อพระปางนาคปรก ๑,๐๐๐ บาท


รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ หลวงพี่เคยมาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นรอยใหญ่ใกล้ทางน้ำไหล


ในบริเวณนี้มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และมีหลุมใหญ่ที่มีน้ำขังอีกหลายแห่ง


ระหว่างนี้มีพระบวชใหม่อยู่ที่วัดนี้รูปหนึ่ง ได้ชักชวนนำไปไหว้รอยพระพุทธบาท


ท่านบอกว่าท่านเป็นผู้พบใหม่ ๒ - ๓ รอยบริเวณนี้ พวกเราจึงโชคดีที่ได้กราบไหว้


๙. วัดป่าประชาฯ จ.มหาสารคาม


ตอนนี้หลวงพี่ได้นัดพบกับพระอาจารย์อารี วัดป่าเทพนิมิต จ.นครพนม


ท่านได้นำมาพบกับเจ้าอาวาส วัดป่าประชาสามัคคี จึงได้ร่วมทำบุญสร้างพระเจดีย์ ๑๐,๐๐๐ บาท


รอยพระพุทธบาทหินแก้ว ที่มีรูปลักษณะแตกต่างกัน มีทั้งรอยเดี่ยวและรอยคู่ ยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน


หลุมใหญ่ภายในวัด ชาวบ้านเคยขุดพบแก้วมณีนาคาได้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันไม่มีแล้วจึงใช้เต้นท์คลุมไว้


ช่วงตอนดึกเจ้าอาวาสได้ทำพิธีอัญเชิญแก้วมณีนาคามาได้มากมาย


วัตถุสิ่งของเหล่านี้ แล้วแต่ความเชื่อแต่ละคน ไม่ควรหมกมุ่นจนเกินกำลัง มุ่งธรรมปฏิบัติสำคัญกว่า



ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 29/7/11 at 16:03

วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ (มหาสารคาม - กาฬสินธ์)

๑๐. รอยพระพุทธบาทท่าคันโท อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธ์



มีลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทเกือกแก้วคู่ มีความกว้างยาวเท่าเทียมกัน หลวงพี่เคยมาเมื่อปีที่แล้ว


ตอนนั้นจอดรถไว้แล้วต้องปีนขึ้นเขา แต่คราวนี้หาทางเข้าที่หมู่บ้าน จนสามารถนำรถขึ้นไปถึงบนเขา


โดยขอให้คุณป้า ๒ คนนำทาง หลังจากกลับออกมาแล้วจึงให้รางวัลชาวบ้านสองคนที่นำทาง ๔๐๐ บาท


กราบไหว้บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน บนนี้มีพระพุทธรูปอยู่ด้วย



๑๑. รอยพระพุทธบาท วัดแสงประทีป บ้านดงบัง ต.ดงสมบูรณ์ อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธ์


ออกเดินทางต่อไปสู่มุกดาหาร รถวิ่งผ่านวัดแสงประทีป จึงได้แวะเข้าไปกราบรอยพระพุทธบาทที่อยู่ริมน้ำ


หลวงพี่ได้ร่วมทำบุญสร้างซุ้มประตู ๓,๐๐๐ บาท และถวายส่วนองค์เจ้าอาวาสอีก ๔๐๐ บาท




วันที่ ๒๙. มิถุนายน ๒๕๕๔ (กาฬสินธ์ - มุกดาหาร)

๑๒. วัดป่าราชพฤกษ์ บานขุมขี้ยาง ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธ์


ระหว่างเดินทางพบว่าทางวัดกำลังสร้างพระพุทธรูป หน้าตัก ๒๐ ศอก ด้านล่างเป็นอาคาร ๒ ชั้น


นอกจากทำบุญกับเจ้าอาวาสแล้ว หลวงพี่ได้แจกเงินให้คนงานก่อสร้างทุกคน รวมทั้งสิ้น ๕,๐๐๐ บาท


ตอนนี้ได้นัดพบกับท่านอาจารย์อารี เพื่อนำไปสนทนาเรื่องพญานาคกันที่บ้านญาติโยมคนหนึ่ง อันเป็นที่มาของแก้วมณีนาคา คุณป้าได้เล่าถึงพิธีการบวงสรวงพญานาคว่า จะต้องใช้ผลไม้ ๙ อย่าง ยกเว้น มังคุด และพุทรา


ภาพถ่ายที่บ้านคุณป้า ภาพนี้จะเห็นลำตัวพญานาคที่พาดอยู่บนสันเขื่อนกั้นน้ำ และภาพที่แปลกๆ อีก























วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๔ (มุกดาหาร - อุบลราชธานี)

๑๓. รอยพระพุทธบาท วัดภูมโนรมย์ อ.เมือง จ.มุกดาหาร (พบใหม่)

.....เรื่องการที่จะไปสร้างพระใหญ่นี้มีเหตุการณ์บังเอิญ คือได้เจอภรรยาของนายช่างที่สร้างพระใหญ่ ที่ร้านอาหารในเส้นทางผ่านมาที่ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร โดยเมื่อวานนี้ได้แวะทานอาหารกลางวัน เจ้าของร้านอาหารทราบว่าหลวงพี่จะเดินทางไปทำบุญสร้างพระใหญ่ที่ วัดภูมโนรมย์ เจ้าของร้านจึงบอกว่า สามีของแกเป็นนายช่างก่อสร้างอยู่ที่นั่น พร้อมทั้งโทรติดต่อเพื่อให้หลวงพี่ได้ไปพบและรู้จักกัน ชื่อ นายช่างสมชัย ทองเนื้อห้า เป็นคนปักษ์ใต้

วันนี้ตอนเช้าเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. จึงได้ออกเดินทางไปบนเขา เพราะวัดนี้อยู่บนเขาริมแม่น้ำโขง การสร้างพระใหญ่บนยอดเขานี้ จึงทำให้มองเห็นเด่นยิ่งขึ้น แต่ก่อนที่จะขึ้นไปบนเขา ทราบข่าวมีการสร้างส่วนพระเศียรอยู่ริมถนนทางไปธาตุพนม และทราบว่านายช่างก่อสร้างคือ "ทิดแก้ว" ที่เคยบวชพระอยู่ที่วัดป่าพุทธโมกข์ จ.สกลนคร ซึ่งรู้จักกับหลวงพี่เป็นอย่างดี เคยนำแบบพิมพ์พระ ๑๕ ศอก ไปสร้างที่ชุมพร อุทัยธานี และที่สุโขทัยมาแล้ว

แต่พอไปถึงปรากฏว่าฝนตกไม่สามารถเท "พระเมาลี" (มวยผม) ได้ จำเป็นต้องขับรถขึ้นไปบนเขาก่อน โดยนัดแนะกับช่างว่าจะกลับมาเทปูนในตอนบ่าย จากนั้นก็นำหลวงพี่ขึ้นไปบนเขา วัดภูมโนรมย์



ภาพวิวบนยอดเขาเช้านี้อากาศยังมืดคลึ้ม โชคดีบนนี้ฝนไม่ตก แต่ต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง ถนนลาดยางตลอด รถได้เข้าไปจอดบนลานวัด แล้วเดินขึ้นไปบนศาลาเพื่อชมวิว หลวงพี่ได้โทรแจ้งกับนายช่าง (เป็นสามีเจ้าของร้านอาหาร) แล้วนายช่างได้เดินลงมาจากสถานที่สร้างองค์พระ และได้นั่งเล่ารายละเอียดในการก่อสร้างให้หลวงพี่ฟัง


นายช่างสมชัยได้นำหลวงพี่และพวกเราเดินขึ้นไปบนยอดสุด ซึ่งมีการปรับพื้นที่เพื่อสร้างฐานพระ


หลวงพี่จึงได้ฝากเงินร่วมทำบุญผ่านนายช่าง เพื่อสร้างพระพุทธรูปหน้าตัก ๔๐ เมตร
เป็นเงิน ๑๑,๐๐๐ บาท พร้อมกับแจกเงินให้แก่ช่างที่ขับรถแม็กโคด้วย


ซึ่งเป็นโครงการสร้างของทางจังหวัดมุกดาหาร เนื่องในวโรกาสในหลวงมีพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา
อันเป็นโครงการของจังหวัดที่ใช้เงินบริจาคของประชาชนกับเงินงบประมาณแผ่นดินรวมกัน ๑๒๐ ล้านบาท


ด้วยเหตุนี้หลวงพี่จึงได้ทำพิธีบวงสรวงอธิษฐานขอบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพื่อให้การสร้างได้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี เพราะนายช่างบอกว่าผู้ว่าราชการเคยคิดสร้างพระใหญ่บนยอดเขานี้ผ่านไป ๕ คน เป็นเวลาถึง ๒๐ ปีแล้ว จึงได้เริ่มสร้างกันเสียที


บนเขานี้เดิมมีพระเจดีย์เก่าแก่อยู่บนยอดเขามานานแล้ว ต่อมาจึงได้สร้างเป็นวัดและมีการบูรณะ พร้อมทั้งยังมีรอยพุทธบาทอยู่ในมณฑป หลวงพี่สันนิษฐานว่าคงจะสร้างรอยจำลองครอบรอยเดิม เพราะนายช่างได้เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์บนสถานที่แห่งนี้ด้วย จนนายช่างเกิดมีความศรัทธา เลิกสุรายาเมา หันมาปฏิบัติธรรม แล้วตั้งใจจะสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ให้สมบูรณ์แบบที่สุด ด้วยเหตุนี้ หลวงพี่จึงสั่งให้เพิ่มบัญชีรายชื่อสถานที่แห่งนี้ เพื่อนำเข้าทำเนียบรายชื่อ "รอยพระพุทธบาททั่วชมพูทวีป" ไปด้วย ตามที่วงเล็บไว้ว่า "พบใหม่" นั่นเอง


รูปแบบแผนผังองค์พระและบริเวณโดยรอบ ที่เรียกกันว่า "โมเดล"


หลวงพี่ได้เห็นแบบโครงสร้างองค์พระแล้ว จึงได้แนะนำนายช่างว่า ควรจะยกองค์พระให้สูงขึ้นอีก


หลังจากนั้นได้มอบรางวัลให้นายช่างกับเจ้าหน้าที่เสมียนแล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึก


ช่วงบ่ายเวลา ๑๓.๐๐ น. จึงได้เดินทางย้อนกลับไปสถานที่ก่อสร้างส่วนพระเศียรอีกครั้งหนึ่ง


พบว่าช่างกำลังเทปูนพระเมาลี (มวยผม) ขององค์พระไปบ้างแล้ว จึงได้โทรศัพท์ติดต่อกับอาจารย์แก้ว
ซึ่งขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ไซด์งาน แต่พวกเราก็ช่วยกันผสมปูนแล้วเข็นรถฝ่าดินโคลนเทพระเมาลีถึง 5 เบ้า


หลวงพี่จึงได้ฝากเงินให้กับคนงานที่นี่ ๔ คนๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท โดยให้ทำงานเป็นค่าแรงตลอด ๕ วัน


ส่วนเงินรางวัลนี้ได้แจกให้คนงานเป็นพิเศษ ๑,๕๐๐ บาท เมื่อวานให้เงินคนงานที่หล่อเศียรพระไปแล้ว ๘๐๐ บาท เรื่องนี้จึงพอสรุปให้เข้าใจได้ว่า ในตอนเช้าที่ตั้งใจจะไปเทส่วนพระเศียรก่อนนั้น เกิดฝนตกเสียก่อน จึงคิดว่าเรายังทำไม่ถูกต้อง ควรจะขึ้นไปทำพิธีส่วนฐานล่างก่อน ถึงจะกลับมาทำพิธีส่วนบนสุดได้ นี่เป็นความเห็นของหลวงพี่นะค่ะ เป็นอันว่าสำเร็จทุกอย่างที่ได้ทำพิธีอย่างครบถ้วน


๑๔. พระพุทธบาท ๔ รอย วัดดานขุมคำ บ้านตาลใหม่ ต.ดอนตาล อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร


ตอนบ่ายได้ออกเดินทางล่องลงมาทางอุบลราชธานี ระหว่างนี้ได้แวะเข้าไปที่วัดดานขุมคำ


หลวงพี่เคยมาเมื่อหลายปีก่อน พบรอยพระพุทธบาทถึง ๔ รอย แต่ตอนนี้ได้พบเหลืออยู่แค่รอยเดียว
และมีการทำตกแต่งนิ้วเท้ารอยพระพุทธบาทให้มีความสวยงามไปแล้ว แต่ยังเห็นบ่อน้ำทิพย์อยู่ในศาลา


เจ้าอาวาสองค์เก่าได้ลาสิกขาบทไปแล้ว จึงได้ทำบุญกับผู้รักษาการเจ้าอาวาส ๕๐๐ บาท


พร้อมทั้งได้มอบหนังสือ "รวมรายชื่อพระบาทและพระธาตุ" ๑ เล่ม



◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 1/9/11 at 09:04

(โปรดติดตาม "ตอนที่ 2" ต่อไป)