ตามรอยพระพุทธบาท

เล่าเรื่องการเดินทางไปภาคอีสาน วันที่ 20-26 พ.ย. 55
webmaster - 20/11/12 at 05:18

เล่าเรื่องการเดินทางไปภาคอีสาน

ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕


๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ (วัดท่าซุง - อุดรธานี)

1. วัดบุ่งตารอด ต.ยางโกลน อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ หลวงพี่ชัยวัฒน์วางแผนที่จะไป "ทอดกฐินรวมสายอีสาน" ด้วย ท่านจึงได้นำ "คณะตามรอยพระพุทธบาท" ออกเดินทางไปก่อนล่วงหน้า โดยการนัดกับเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยไว้ล่วงหน้าว่าจะปิดบัญชีทำบุญออนไลน์ก่อนกำหนดงาน พร้อมทั้งขอให้ทำดร๊าฟจำนวนเงิน ๒,๒๔๓,๐๐๐ บาท (หวยงวดวันที่ ๑ ธ.ค. ออก ๔๓ ทั้งบนล่างพอดี) ติดตัวไปด้วย เพื่อจะนำไปเบิกที่ธนาคารกรุงไทย สาขาสกลนคร (อีก ๖๖,๐๐ บาท ฝากถวายหลวงพ่อท่านเจ้าคุณฯ ตามไปอีก รวมแล้ว ๒,๓๐๙.๐๐๐ บาท แบ่งเงินได้วัดละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทเศษพอดี ตามที่หลวงพี่ตั้งใจไว้ ซึ่งท่านได้ร่วมทำบุญจากเงินส่วนตัวครั้งนี้ เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทด้วย)

ในตอนเช้าเวลา ๐๗.๐๐ น. หลังอาหารเช้าแล้วจึงได้ออกเดินสายสายนครสวรรค์ - พิษณุโลก - วังทอง - ด่านซ้าย - เลย - บ้านผือ โดยมีเป้าหมายรอยพระพุทธบาท และวัดหลวงพ่อนาค (วัดโพธิ์ชัยศรี) อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ที่ยังตกค้างอยู่นานแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสไปสำรวจอีกครั้งหนึ่ง

ในระหว่างทางได้เห็นป้ายตรงปากทางว่ามี "รอยพระพุทธบาท" จึงขับรถตรงเข้าไป เมื่อมาถึงวัดนี้สอบถามแล้วปรากฏว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจำลอง ทางวัดกำลังจัดงานทอดกฐิน จึงร่วมทำบุญกับทางวัดทุกอย่าง ซึ่งมีการสร้างพระเจดีย์ สร้างกุฏิและอื่นๆ จำนวนเงิน ๑,๐๐๐ บาท



๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ (อุดรธานี)

2. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านติ๋ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

วันที่สองของการเดินทาง เพื่อสอบถามวัดหลวงพ่อนาคแต่หลวงพี่ต้องฉันเพลก่อน จึงได้แวะฉันเพลใกล้ๆ สถานที่รับเลี้ยงเด้กเล็กๆ บ้านติ้ว (อยู่ห่างจากบ้านผือไม่กี่กิโล) หลวงพี่เห็นครูผู้หญิงคนหนึ่งออกมาซื้อกับข้าวสำหรับเด็กทานกลางวัน หลวงพี่เลยขอเป็นเจ้าภาพค่าอาหาร และเจ๊มายินซื้อขนมเลี้ยงเด็กทุกคนด้วย


หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว หลวงพี่จึงเข้าไปในโรงเรียนเห็นเด็กๆ กำลังนั่งทานอาหารกันอยู่พอดี โดยมีถาดหลุมวางอยู่ข้างหน้า ทุกคนมีข้าวเหนียวเป็นหลัก เด็กทุกคนต่างดีใจ (เด็กชายหญิงรวม ๓๗ คน) ที่เห็นมีคนมาเยี่ยมอาจจะเป็นคณะแรกก็ได้


หลวงพี่จึงถามว่าวันนี้เป็นวันอะไร เด็กชายหญิงทุกคนต่างมองหน้ากันแบบงงๆ หลวงพี่บอกว่าวันนี้เป็น "วันพระ" พระจึงได้เข้ามาถึงที่โรงเรียนไง ...!


จากนั้นหลวงพี่ก็ได้แจกขนมและแจกเงินให้เด็กๆ เป็นทาน รวม ๑,๔๐๐ บาท เสร็จแล้วคุณครูก็ให้เด็กทุกคนเข้าแถวกล่าวคำว่า "ขอบคุณ" จากนั้นหลวงพี่และพวกเราต่างก็โบกมืออำลาครูและเด็กๆ ทุกคน หลวงพี่บอกว่าปลื้มใจที่ได้แวะเข้ามาทำบุญทำทานกับเด็กๆ เพราะโอกาสเช่นนี้หายาก อีกทั้งงบประมาณอาหารกลางวันของเด็กก็หมดแล้ว พวกเราจึงได้มาต่อยอด..ต่อลมหายใจ..ต่อชีวิต..ให้พวกเขาชั่วระยะหนึ่ง ก็เป็นบุญมหาศาลแล้วละค่ะ



3. วัดโพธิ์ชัยศรี (หลวงพ่อนาค) บ้านแวง ต.บ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่อนาค" อีกทั้งยังมี "บ่อน้ำทิพย์" ที่ทางสำนักพระราชวังจะต้องนำไปเพื่อที่ทำพิธีสำคัญต่างๆ หลวงพ่อเจ้าคุณพระภาวนาวิมล (อัมพร อโสโก)เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอบ้านผือ ท่านกำลังริเริ่มการก่อสร้างหลวงพ่อนาค โดยหล่อเป็นโลหะองค์ใหญ่มาก หน้าตัก ๔๐ ศอก นับว่าเป็นบุญที่ได้เข้ามาร่วมสร้าง "พระพุทธรูปปางนาคปรก" ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย


ต่อมาหลวงพี่และพวกเราได้เข้าไปถวายร่วมทำบุญกับท่านเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งทางวัดได้ทอดกฐินผ่านแล้วไปแล้วเมื่อวันก่อนนี้ โดยตั้งกองละ ๕,๐๐๐ บาท โชคดีคือ ถือว่าเป็นการทอดกฐินและได้สร้างพระใหญ่เป็นโชคสองชั้นไป หลวงพ่อท่านเจ้าคุณได้มอบหลวงพ่อนาคองค์เล็กๆ มาคนละหนึ่งองค์ด้วย หลวงพี่บอกว่าการที่ไม่ได้แวะมาที่ก่อนด้วยเหตุที่ไม่ทราบว่า ที่นี่มีพระพุทธรูปและบ่อน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ ครั้งได้แวะเข้ามาแล้วยังได้สร้างพระใหญ่ นับว่าฤกษ์การที่เข้ามาถึงวัดนี้ประสบกับบุญใหญ่มากๆ ด้วย


ในขณะที่พวกเราเข้าไปกราบนมัสการและร่วมทำบุญด้วย หลวงพี่ได้นำรูปภาพรอยพระพุทธบาท บ้านผือ เข้าไปสอบถามท่านด้วย ปรากฎว่าท่านพูดถึง "วัดถ้ำจันทรคราส" ซึ่งพวกเราได้ขับรถผ่านมาแล้ว จึงคิดว่าคงจะต้องย้อนกลับไปสำรวจอีกครั้ง


หลังจากที่ได้ทำบุญกับท่านแล้ว หลวงพี่ก็ได้เดินออกมานมัสการ "หลวงพ่อนาค" ที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปหลังใหม่ ซึ่งสร้างอยู่ด้านหน้ามณฑปหลังเก่า ตามภาพจะเห็น "หลวงพ่อนาค" ที่สร้างจำลองไว้ด้วยทองคำ

ประวัติหลวงพ่อนาค

.........หลวงพ่อนาคนี้เป็นพระเก่าแก่องค์หนึ่ง ซึ่งผู้สร้างได้จารึกอักษรไว้ตรงแท่นพระเป็นอักษรตัวธรรม (ไทยน้อย) โบราณ แต่ผู้รักอักษรธรรมโบราณมีสองท่านได้อ่านไว้แล้วบอกกันต่อๆ กันมา (ขณะนี้ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว) มีความว่าสร้างเมื่อ ปี จ.ศ.170 แห่งพุทธกาล ปีจอ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ ยามกลองแลง หัวครูคำวงษาเป็นผู้สร้าง ท่านผู้สร้างคงเป็นพระที่อภิญญาณแน่นอน เมื่อ พ.ศ.2530 พระราชปรีชาญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย (วัดโพธิ์ชัย) ได้อ่านไว้ว่าสร้าง จ.ศ.170 (พ.ศ.1353) เดือน 5 ขึ้น 13 ค่ำ ยามกลองแลง (ฤกษ์เททองเวลา 17.00 น. ถึง 17.30 น.) ปีจอ หัวครูคำวงษา เป็นผู้สร้าง


ส่วนหลวงพ่อนาคองค์ประดิษฐานอยู่บนสุด มีภาพถ่ายเก่าๆ เอาไว้หลายภาพ พร้อมกับมีประวัติไว้เป็นหลักฐานในการที่ถูกขโมยไปแล้วหลายครั่้ง

รูปลักษณะของหลวงพ่อนาคองค์นี้สวยงามน่าเลื่อมใสมาก โดยเฉพาะพระพักตร์ (ใบหน้า) ดูเหมือนว่าองค์ท่านยิ้มนิดๆ อารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลา และในองค์ของหลวงพ่อนาคนั้น มีผู้เล่าต่อๆ กันมาว่า ตรงหัวใจขององค์ท่านเป็นทองคำแท้อยู่ภายใน และมีอัฐิธาตุ(กระดูก) ของพระอรหันต์บรรจุอยู่ภายในนั้นด้วย จึงทำให้องค์ท่านบางครั้งมีรัศมีเปล่งออกมา มีผู้พบเห็นเล่ากันต่อๆมา และมีความศักดิ์สิทธิ์มาก



บ่อน้ำทิพย์

วัดโพธิ์ชัยศรีภายในวัดมีบ่อน้ำบ่อหนึ่ง มีรูน้ำไหลยู่ตลอดเวลา น้ำใสสะอาดสามารถดื่มกินได้ ความลึกประมาณ 89 เมตร ถ้าถึงฤดูหนาวน้ำในบ่อจะอุ่นผิดปกติ มีการตั้งหมู่บ้านเมื่อราว 200 ปี ตั้งแต่นับก่อนบรรพบุรุษต่างยืนยันว่าไม่มีผู้ใดลงมือขุดบ่อน้ำนี้ สันนิษฐานว่าคงมาพร้อมกับวัดโพธิ์ชัยศรีและหลวงพ่อนาค


ในอดีตบ่อน้ำนี้เคยแห้งมาแล้ว 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2472, ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2481,
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2503 และครั้งที่ 4 พ.ศ. 2520


เหตุที่น้ำในบ่อแห้งเชื่อกันว่ามีสตรีนำผ้าถุง (ผ้าซิ่น) ไปวางไว้ขอบบ่อน้ำ

ทองสุวรรณอาจารย์รักษ์ (บวชเป็นพระ พ.ศ.2520) เคยเห็นเหตุการณ์เล่าว่า ก่อนที่น้ำในบ่อจะแห้งหมด จะมีเสียงดังอยู่ใต้ก้นบ่อ พร้อมกับมีน้ำกระเซ็นขึ้นมาปากบ่อ จึงเดินเข้าไปส่องดูในบ่อเห็นเป็นฟองเหมือนผงซักฟอก ลอยอยู่บนน้ำสักครู่หนึ่งก็จะหายไป

รุ่งเช้าน้ำในบ่อก็หมดน้ำในบ่อแห่งนี้ปกติจะไม่แห้งถ้ามีผู้ทำผิดน้ำจะแห้งเมื่อน้ำในบ่อแห้งจะมีพิธีไปขอน้ำในลำห้วยกลางทุ่งนาซึ่งชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียน มารวมตัวกันโดยผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านจะกล่าวขอขมาลาโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายต่อจากนั้นทุกคนจะไปตักน้ำในลำห้วยมาคนละขันเทลงไปในบ่อวันรุ่งขึ้นจะมีน้ำมา อยู่ระดับเดิม

ภายในบ่อมีศิลาดาดที่ก้นบ่อเป็นโพรงลึกเข้าไปประมาณ 3 เมตรโดยรอบมีรูใหญ่ๆพอคนคลานเข้าไปได้ 2 รูรูหนึ่งตรงไปหาพระประธานที่ศาลาการเปรียญอีกรูหนึ่งตรงไปทางกุฏิเจ้าอาวาสด้านทิศตะวันออกไปทางลำห้วยกลางทุ่งนาประมาณ 1 กิโลเมตรเศษพอเห็นได้ว่าเวลาครุ (ภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ทาด้วยขี้ชันน้ำมัน) หรือกระแป๋งตักน้ำตกลงไปในบ่อถ้าใช้ไม่หยั่งลงไปก้นบ่อค้นหาก็หาพบไม่

ต่อมามีคนหาปลาที่ลำห้วยเจอกระแป๋งนี้จึงสันนิษฐานว่า รูก้นบ่อต้องยาวไปถึงลำห้วยแน่ กระแป๋งของคนนั้นจึงมาอยู่ที่ลำห้วยได้ลำห้วยนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า "กุด" มีผีนาคเงือกเฝ้ารักษาเหล็กไหลอยู่ ชาวบ้านเรียกผีนาคเงือกว่า "ปู่หมอน" เคยทำให้เด็กที่เป็นลูกพ่อแม่เดียวกันครอบครัวเดียวกันจมน้ำตายวันเดียวกัน 3 คนมาแล้วศพไหลขึ้นไปทางเหนือน้ำ

ปีพ.ศ. 2509 พระอาจารย์สว่างอยู่กับวัดโพธิ์ชัยศรีได้นิมิตว่า มีผู้มาบอกให้ไปเอาเหล็กไหลในล้ำห้วยนั้น ฝันคืนหนึ่งก็ยังไม่ไปเอา ฝันคืนที่สองก็ไม่ไปเอา ฝันคืนที่สามอีก

เมื่อพระอาจารย์สว่างฝันติดต่อกันหลายคืนเช่นนี้ คิดว่าเจ้าของเหล็กไหลคงจะให้จริงๆ จึงได้กล่าวความฝันให้พ่อตาตุ๊ฟังแล้ว จึงชวนพ่อตาตุ๊ไปด้วยเมื่อตกลงไปกัน แล้วก็เตรียมเครื่องมือไปทำพิธีพอทำพิธีขอ เสร็จแล้วพระอาจารย์สว่างจะเป็นผู้ลงไปเอาพ่อตาตุ๊จึงเอาสายสิญจน์ใหญ่ผูกเอาไว้ หากพระอาจารย์สว่างดำลงไปขึ้นไม่ได้ อาจติดอยู่ในโขดหินในถ้ำนั้น จะได้ช่วยดึงออกมาได้ไม่ให้สายสิญจน์ขาด แล้วพระอาจารย์สว่างก็ดำลงไปในล้ำห้วยนั้นแล้วก็มุดดำน้ำลงไปภายใต้แผ่นหินใหญ่เป็นโพรงเข้าไป

ซึ่งเมื่อดำลงไปอยู่ชั่วอึดใจหนึ่งก็ได้เอาใส่มือให้เลยพระอาจารย์สว่างก็ดำลงไปใหม่เป็นครั้งที่สอง เมื่อโผล่ขึ้นมาก็ได้เหล็กไหลขึ้นมา 4 ก้อน ก้อนหนึ่งพระอาจารย์สว่างกลืนกิน ส่วนเหล็กไหลอีก 3 ก้อนเอาใส่ห่อผ้าเช็ดหน้าแล้วพากันเดินกลับวัด ขณะเดินทางกลับมาวัดจวนจะถึงวัดอยู่แล้ว พระอาจารย์ขึ้นว่าสว่างพูด "ถ้าเราเอาไปขายคงได้หลายเงิน"

อะไร..พอพูดจบไม่รู้มาแย่งเอาเหล็กไหลไปจากมือ จนพระอาจารย์สว่างร้องไห้เสียงดัง พอลุกขึ้นได้ก็จะวิ่งไปที่ลำห้วยโน้นอีก พ่อตาตุ๊ได้คว้าข้อมือพระอาจารย์สว่างเอาไว้ แล้วก็นำตัวมาที่ศาลาวัดโพธิ์ชัยศรี

ขณะนั้น พระอาจารย์ตาอยู่ในโบสถ์จำวัดได้ยินเสียงร้องไห้จึงเปิดประตูออกมาดูพอทราบเหตุถึงได้ทำน้ำมนต์รดให้พระอาจารย์สว่างค่อยหายเป็นปกติแล้วท่านก็ว่าพูดขึ้น "ผีจะหลอกเอาไปกินตอด" ส่วนเหล็กไหลที่พระอาจารย์สว่างกินเข้าไปนั้นได้ทะลุออกกลางกระหม่อม (ศีรษะ) ในต่อเวลามา

สำหรับพระนาคปรกหน้าตักกว้าง 12 นิ้วสูง 12 นิ้วสันนิษฐานว่าสร้างด้วยหินศิลานั้นเพื่ออำพรางองค์จริงที่เป็นทองสำริด ก่อนที่จะสร้างพระนาคปรกขึ้นด้วยทองสำริดต้องมีการจำลองแบบขึ้นก่อนโดยมีการแกะพระนาคปรกด้วยหินมาก่อนจากนั้นนำพระนาคปรกหินศิลาเป็นตัวอย่าง



(หลวงพี่ทำพิธีโปรยดอกไม้สรงน้ำหอมแล้วอธิษฐานขอนำน้ำทิพย์ใส่ขวดกลับมาด้วย)

ชาวบ้านแวงทุกคนนับถือพระนาคปรกมาก เพราะเคยถูกขโมยไปแล้วถึง 4 ครั้งแต่ในแต่ละครั้งก็ได้กลับคืนมาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนักรูปองค์นี้เนื่องจากพระพุทธมีพุทธลักษณะสวยงามน่าเลื่อมใสพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิอยู่ในหงายพระหั ตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลามีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนพระเศียรโดยเฉพาะพระพักตร์มีความละเมียดละไมค่อนข้างจะยิ้มนิดๆตามแบบพุทธลักษณะของพระปางนาคปร กด้วยเหตุนี้ชาวบ้านต่างพากันขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้กันว่า "หลวงพ่อนาค" ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยศรี

นายทูล คำน้อยชาวบ้านแวงตำบลบ้านผือชาวบ้านรู้จักกันในนามของคุณโยมพ่อตุ๊ซึ่งเป็นผู้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อนาคดีกว่าใครเพราะได้รับทราบจากคำบอกเล่าของค นรุ่นเก่าๆได้ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตว่าเดิมที่วัดโพธิ์ชัยศรีแห่งนี้เป็นป่าดงพงชัฏเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยนานาชนิดหนาทึบเต็มไปหมดไม่มีใครทราบว่าเคยเป็นว ัดก่อนมา

ครั้นราวปี พ.ศ. 2100 มีชาวบ้านจากเมืองพานที่อยู่ห่างจากบ้านแวงราว 7-8 กิโลเมตรได้เดินทางมาล่าสัตว์ตรงบริเวณเชิงเขาที่ตั้งพระพุทธบาทบัวบกอำเภอบ้านผือโดยมีนายสีกับนายแสนเป็นหัวหน้า พอมาถึงตั้งสถานที่วัดโพธิ์ชัยศรีแห่งนี้ สมัยนั้นยังเป็นป่าใหญ่มีต้นไม้หนาทึบ พวกพรานล่าสัตว์ได้พากันเดินเข้าไปใกล้ๆ เพื่อดักยิงฝูงนกและสัตว์ป่าที่มีอยู่มากมาย

เผอิญได้พบพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่งมีขนาดหน้าตักราว 4 ศอกสูงราว 6 ศอกสันนิษฐานกันว่าคงสร้างจากเกสรดอกไม้และว่าๆนต่าง (ขณะนี้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ชัยศรี) ทำให้พวกพรานล่าสัตว์ต่างสันนิษฐานว่าสถานที่แห่งนี้ คงเคยเป็นมาวัดก่อน จึงเดินออกจากพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไปรอบๆ บริเวณก็ได้พบใบเสมาที่สกัดจากหินดาดทั้งแท่งที่ใกล้ๆ ใบเสมา ยังมีพระพุทธรูปนาคปรกอีก 2 องค์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้วสูง 12 นิ้วเท่ากันทั้งคู่

นายสี กับ นายแสน ผู้เป็นหัวหน้านายพรานได้ปรึกษากับคณะว่าสถานที่แห่งนี้มีบ่อน้ำดื่มน้ำใช้อุดมสมบูรณ์อีกทั้งยังเป็นที่ราบสม่ำเสมอผิดกับหมู่บ้านที่อยู่เชิงเขาสมควรที่จะอพ ยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ตามแถวนี้ภายหลังจากตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้พาครอบครัวและชักชวนพรรคพวกมาอยู่ด้วยชั่วระยะเวลาไม่นานก็กลายเป็นชุมชนย่อมๆข นาด 100 หลังคาเรือนเศษ

ราวครั้น พ.ศ. 2129 หมู่บ้านแห่งนี้ยังไม่มีวัดที่ใช้ประกอบพิธีประจำหมู่บ้านชาวบ้านทั้งหมดต่างปรึกษาหารือกันที่จะสร้างวัดโดยได้พากันไปตัดไม้มาถากเป็นเสาเลื่อยเป็นฝาใช้หญ้า คามุงหลังคาพอกันแดดกันฝนประกอบเป็นอุโบสถชั่วคราว

แต่ตอนแรกวัดโพธิ์ชัยศรีมีแต่พระพุทธรูปขนาดใหญ่ (หลวงพ่อองค์ตื้อ) และหลวงพ่อนาคเท่านั้นโดยไม่มีพระภิกษุและสามเณรมาจำพรรษาจึงมีสภาพไม่ต่างกับวัดร้างถึงกระนั้นในวันสำคัญทางศาสนาชาวบ้านก็ยังศรัทธามากราบไหว้พระที่วัดแห่ง นี้อยู่เสมอเช่นในวันสงกรานต์ของทุกปีจะนำน้ำอบมาสรงน้ำพระพุทธรูปเป็นสิริมงคลโดยมีหลวงพ่อองค์ตื้อเป็นองค์ประธานร่วมด้วยหลวงพ่อนาคเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้า น

ปีพอ พ.ศ.2134 ถึงมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาบ้างโดยชาวบ้านได้ร่วมใจกันสร้างกุฏิขึ้นหลังหนึ่งเพื่อเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์แต่ในระยะนั้นชาวบ้านยังคงเข้าใจว่าหลวงพ่อนาคเป็น เพียงพระพุทธรูปธรรมดาไม่ต่างจากพระปฏิมากรที่สร้างขึ้นแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชาเป็นพุทธานุสติเท่านั้นจึงไม่ได้เอาใจใส่ใน การรักษาเท่าใดนัก

หลวงพ่อนาคถูกขโมยครั้งแรก

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2395 องค์หลวงพ่อนาคได้หายไปจากวัดโพธิ์ชัยศรีเป็นครั้งแรก คราวนั้นพระสงฆ์ และชาวบ้านมิได้ติดใจเอาความ คงคิดว่าเป็นพระพุทธรูปธรรมดา หายแล้วหายเลย เพราะไม่รู้จะติดตามเอาคืนได้ที่ไหน จึงได้ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปกับกาลเวลา

4 ปีต่อมา ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2399 นายตุ้ย ผู้ปกครองอำเภอบ้านผือ (นายอำเภอ) ในสมัยนั้น ได้ถึงแก่กรรมลง นายอวน ศักดิ์ดี ผู้ใหญ่บ้านแวง ได้ไปช่วยงานศพของนายอำเภอ ระหว่างที่กำลังสาละวนอยู่กับงาน ต้องเดินขึ้นเดินลงที่บ้านนายอำเภอหลายเที่ยว สายตาบังเอิญเหลือบไปเห็น พระนาคปรกสวยงามองค์หนึ่ง ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนโต๊ะหมู่บูชา จึงพยายามเดินเข้าไปชมใกล้ ๆ เพ่งพินิจสังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนแน่ใจว่าพระนาคปรกองค์นี้เป็นหลวงพ่อนาคของวัดโพธิ์ชัยศรี

หลังจากงานศพนายอำเภอตุ้ยผ่านพ้นไป นายอวนก็เรียกลูกบ้านมาประชุม โดยได้เล่าเรื่องต่าง ๆ ที่ตนได้พบเห็นหลวงพ่อนาคให้ชาวบ้านฟัง ในที่สุดทุกคนต่างพร้อมใจกันไปขอหลวงพ่อนาคกลับคืน เมื่อครอบครัวนายอำเภอตุ้ยทราบเรื่องราวต่าง ๆ ว่าหลวงพ่อนาคองค์นี้ ได้มีผู้ขโมยขายให้นายอำเภอ จึงยินยอมคืนหลวงพ่อนาคให้ชาวบ้านแวงโดยดี ผู้ใหญ่อวน และลูกบ้าน พากันดีใจ และอาราธนาหลวงพ่อนาคกลับไปประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัยศรีดังเดิม

หลวงพ่อนาคถูกขโมย ครั้งที่ 2

ในราว พ.ศ.2479 หลวงพ่อนาคได้หายไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ชาวบ้านพากันออกติดตามข่าวว่าใครเป็นผู้ขโมยเอาไป จนสืบทราบว่า มีคนร้าย 2 คน ได้ลักเอาหลวงพ่อนาคไปทางบ้านเหล่าคาม อ.บ้านผือ แล้วจ้างเกวียนของ “นายเผือก” ชาวบ้านเหล่าคามเป็นเงิน 2 บาท ช่วยบรรทุกหลวงพ่อนาคไปที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีระยะทางประมาณ 53 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางนานถึง 3 วัน

พอถึงตัวจังหวัดอุดรธานีแล้ว คนร้ายทั้งคู่ได้ยกหลวงพ่อนาคลงจากเกวียนไว้ที่พื้นดินก่อน เพื่อจะเอาขึ้นรถยนต์นำไปขายที่กรุงเทพ ฯ ความจริงหลวงพ่อนาคมีน้ำหนักเพียง 23 กิโลกรัมเท่านั้น แต่คราวนี้หลวงพ่อนาคได้สำแดงปาฏิหาริย์ บันดาลให้องค์ท่านมีน้ำหนักคล้ายกับ 1,000 กิโลกรัม จนคนร้ายยกไม่ขึ้น แม้จะพยายามช่วยกันยกสักเท่าไหร่ องค์หลวงพ่อนาคก็ไม่มีท่าทีจะขยับเขยื้อน พวกคนร้ายได้เปลี่ยนวิธียก ด้วยการหาเชือกมาผูกองค์หลวงพ่อนาค แล้วเอาไม้สอดหามกัน แม้จะใช้คนสักเท่าไร ก็หามไม่ขึ้น ในที่สุดต่างก็หมดปัญญา

ขณะที่พวกคนร้ายกำลังนั่งพักเหนื่อย เพื่อคิดหาวิธีโยกย้ายหลวงพ่อนาค ไปขายที่กรุงเทพ ฯ ให้ได้บังเอิญมี เศรษฐีผัวเมียคู่หนึ่ง ปลูกบ้านอยู่แถว ๆ นั้น เดินมาพบเห็นเข้า ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นยิ่งนัก จึงได้สอบถามเรื่องราวความเป็นมา พวกคนร้ายบอกว่า กำลังจะนำไปขายที่กรุงเทพ ฯ เท่านั้น แต่มิได้บอกความจริงว่า ขโมยมาจากวัดโพธิ์ชัยศรี

ปกติสองผัวเมียเป็นคนใจบุญอยู่แล้ว ยิ่งเห็นองค์หลวงพ่อนาค ก็เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้น พอทราบความประสงค์ว่าเขาจะเอาไปขายเท่านั้น จึงขอบูชาองค์หลวงพ่อนาค ไว้สักการะที่บ้านตน เป็นจำนวนเงิน 1 ตำลึง (4บาท) คนร้ายก็ตกลงขายให้ ดีกว่าเอาไปไม่ได้เลย พอคนร้ายรับเงินจากสองผัวเมียแล้ว ก็พากันหลบหนีไป สองตายายก็ได้อาราธนาหลวงพ่อนาค ไปประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชาในบ้านของตน

นับตั้งแต่หลวงพ่อนาคไปอยู่ในบ้านสองตายายได้ราว 1 เดือน เศรษฐีสองผัวเมีย และครอบครัว ต่างเป็นโรคนอนไม่หลับ พอหลายวันหลายคืนเข้า สองผัวเมียถึงได้ปรึกษาหารือกันว่า คงจะเป็นเพราะเราปฏิบัติต่อองค์หลวงพ่อนาคไม่ถูกวิธีหรืออย่างไร จึงนำความเรื่องนี้ไปปรึกษากับเจ้าอาวาสวัดโยธานิมิต ซึ่งปกติสองผัวเมียก็ไปทำบุญอยู่เป็นประจำ

เมื่อหลวงพ่อวัดโยธานิมิตได้ทราบรายละเอียดทั้งหมดแล้ว ท่านจึงได้พูดกับสองผัวเมียว่า “พระนาคปรกที่คุณโยมนำมาบูชาที่บ้านนั้น ท่านคงไม่อยากอยู่ที่บ้านของคุณโยม คงอยากอยู่ที่วัดมากกว่า เลยทำให้คุณโยมและครอบครัวนอนไม่หลับ ถ้าไม่คิดอะไรมาก คุณโยมเอามาไว้ที่วัดกับอาตมาก็ได้ โดยคุณโยมบูชามาเท่าไร อาตมาจะจ่ายชดเชยให้ ดีกว่าเอาไว้บ้านแล้วไม่สบาย”

ฝ่ายเศรษฐีสองผัวเมีย คิดทบทวนอยู่นาน ในที่สุดก็ตัดสินใจ เอาหลวงพ่อนาคไปไว้ที่วัดโยธานิมิต นับตั้งแต่นั้นมา ทุกคนในครอบครัวต่างนอนหลับอย่างสุขสบาย

ต่อมาราว พ.ศ. 2494 นายดี ทองสุวรรณ ชาวบ้านแวงได้ถูกคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์ไปประจำอยู่ที่ค่ายหนองประจักษ์ อุดรธานี พอถึงวันสงกรานต์ ช่วงที่นายดี ทองสุวรรณ รับราชการเป็น

ทหารเกณฑ์อยู่นั้น เพื่อน ๆ ได้ชักชวนไปเที่ยวงานสงกรานต์ที่วัดโยธานิมิต เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป และสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ ตามประเพณีภาคอีสาน ครั้นไปถึงวัดโยธานิมิต แล้วก็เดินเข้าไปสรงน้ำพระพุทธรูป และพระภิกษุสงฆ์ จึงได้พบเห็นหลวงพ่อนาค ก็คลับคล้ายคลับคลา ว่าเคยเห็นที่ไหนมาก่อน เมื่อเดินเข้าไปพิจารณาตำหนิต่าง ๆ ใกล้ ๆ ก็แน่แก่ใจว่าเป็น “หลวงพ่อนาค” ที่อยู่วัดโพธิ์ชัยศรีจริง ๆ

พอหลังสงกรานต์ก็ได้ลากลับบ้าน เพื่อจะนำข่าวที่ตนได้พบหลวงพ่อนาค ไปเล่าให้ผู้ใหญ่บ้าน และเพื่อนบ้านฟัง เมื่อชาวบ้านแวงทราบข่าว ต่างพากันดีใจ และตกลงกันว่า จะให้ผู้ใหญ่บ้าน กับลูกบ้านอีก ๕ คน เป็นตัวแทนเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี โดยมุ่งตรงไปที่วัดโยธานิมิตทันที

ครั้นไปถึงวัดโยธานิมิต ชาวบ้านแวงทั้งหมด พากันเข้าไปกราบนมัสการพระเดชพระคุณ เจ้าอาวาสวัดโยธานิมิต ซึ่งท่านเจ้าอาวาส เมื่อเห็นคนต่างถิ่นมาเยือน จึงได้ไต่ถามความประสงค์การมาครั้งนี้

“โยมบ้านอยู่ที่ไหน มาที่วัดมีความประสงค์สิ่งใดหรือ”

ผู้ใหญ่บ้านแวงกราบเรียนว่า “ข้ากระผมกับพวกมาตามหลวงพ่อนาค ที่หายไปหลายปีแล้ว”

พระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาส ได้ถามต่อไป “พระนาคปรกของพวกโยม มีพุทธลักษณะอย่างไร แล้วทำไม ถึงคิดว่า พระนาคปรกมาอยู่ที่นี่”

“องค์พระประทับนั่งอยู่บนลำตัวนาคขดเป็น 3 ชั้น ตรงหัวนาคด้านบนหักนิดหนึ่ง มีคนมาพบว่า อยู่ที่นี่” ผู้ใหญ่บ้านตอบ

เมื่อเจ้าอาวาสได้ฟังแล้ว ก็แน่ใจว่า พระนาคปรกองค์นี้เป็นของชาวบ้านแวงจริง เพราะทุกสิ่งที่เล่ามา ตรงกับความจริงทั้งสิ้น จึงได้พูดต่อไปว่า

“พระนาคปรกองค์นี้ อาตมาได้ซื้อไว้เป็นเงิน 1 ตำลึง (4 บาท) ถ้าโยมอยากได้ จงเอาเงิน 1 ตำลึง มาไถ่คืนเสียก่อน”

ผู้ใหญ่บ้านได้ฟังเช่นนั้น จึงกราบนมัสการว่า “พระนาคปรกองค์นี้ เป็นสมบัติของวัดโพธิ์ชัยศรี กระผมและพวกได้ติดตาม จนหมดเงินหมดทองไปมากมาย เหลือเงินติดตัวอยู่ไม่เท่าไหร่ จะมีก็แค่เงินค่าอาหาร และค่าเดินทางเท่านั้น เมื่อหลวงพ่อไม่ยอมคืนพระนาคปรกให้ พวกกระผมก็จำเป็นต้องไปพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยแจ้งข้อหาว่า หลวงพ่อรับซื้อของโจรไว้ ถ้าถึงตอนนั้น คิดว่า หลวงพ่อคงต้องลำบากแน่ ๆ”

ฝ่ายเจ้าอาวาส โดนไม้ตายของผู้ใหญ่บ้านเช่นนี้ จำเป็นต้องคืนพระนาคปรกให้แต่โดยดี มิฉะนั้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งไม่เหมาะสมกับสมณเพศ เมื่อชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้าน ได้รับพระนาคปรกคืนก็ดีใจ พากันกราบขออภัยที่ล่วงเกินพระเดชพระคุณท่าน และขอบคุณที่ยอมคืนพระนาคปรกให้ ต่อจากนั้น ได้อาราธนาพระนาคปรกกลับคืนสู่วัดโพธิ์ชัยศรีดังเดิม

หลังจากหลวงพ่อนาคปรก กลับคืนมาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยศรีไม่กี่วัน ได้สำแดงปาฏิหาริย์บันดาลให้ นายเผือก เจ้าของเกวียนที่รับจ้างพวกคนร้าย บรรทุกหลวงพ่อนาคไปจังหวัดอุดรธานี เกิดตาบอดอย่างไม่มีสาเหตุ ครอบครัวก็ได้รับความเดือดร้อนในเวลาต่อมา

เมื่อนายเผือกตาบอดอย่างกะทันหัน โดยหาสมมติโรคไม่ได้ จึงได้ระลึกเหตุการณ์ที่ตนไปรับจ้างบรรทุกหลวงพ่อนาคปรก แม้ตนจะไม่ทราบมาก่อน แต่ก็มีส่วนร่วมด้วย ที่ตนต้องตาบอดลงเช่นนี้ คงเป็นเพราะกรรมที่ไปพัวพันด้วยแน่ ท่านจึงลงโทษสถานเบาไม่ถึงแก่ชีวิต พอคิดได้เช่นนั้น นายเผือกได้บอกพวกญาติพี่น้องให้พาตนไปที่วัดโพธิ์ชัยศรี เพื่อไปกราบคารวะขอขมาลาโทษกับหลวงพ่อนาค ที่ตนได้ล่วงเกิน

ครั้นไปถึงวัดโพธิ์ชัยศรี ที่ประดิษฐานหลวงพ่อนาคปรก ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านตนราว 6 – 7 กิโลเมตร ก็นำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปสารภาพผิดทุกอย่าง แล้วกราบขอขมาลาโทษที่ตนได้กระทำกรรมไว้กับหลวงพ่อ (นาค) ก่อนที่จะลากลับไปบ้าน ได้เอาแผ่นทองคำเปลวที่ปิดพระเนตรหลวงพ่อนาค มาปิดที่นัยน์ตาของตน รุ่งขึ้นอีกวัน นัยน์ตาของนายเผือก ก็กลับคืนสู่สภาพเดิม สามารถมองเห็นทุกสิ่งได้ตามปกติ นับเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ยิ่ง

หลวงพ่อนาคถูกขโมย ครั้งที่ 3

ในราว พ.ศ. 2512 หลวงพ่อนาคได้หายไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านแวงได้ช่วยกันสืบจนได้ความว่า มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งมาขโมยเอาองค์หลวงพ่อนาคไป โดยนำรถยนต์มาจอดไว้นอกวัด แล้วลอบเข้าไปอุ้มองค์หลวงพ่อนาคขึ้นใส่รถยนต์ จากนั้นขับมุ่งไปทางจังหวัดอุดรธานี เพื่อนำไปขายให้พวกฝรั่งที่สนามบินอุดรธานี ในราคา 500,000 บาท จุดหมายปลายทางคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา

พอถึงวันนัดหมาย คนร้ายได้นำหลวงพ่อนาค บรรจุลงกล่องกระดาษแข็ง ปิดผนึกอย่างดี พอได้เวลาก็ส่งกล่องบรรจุหลวงพ่อนาคขึ้นเครื่องบิน เพื่อจะนำส่งไปประเทศสหรัฐอเมริกา ทันทีที่กล่องบรรจุหลวงพ่อนาคขึ้นเครื่อง นักบินฝรั่งก็ติดเครื่องเตรียมจะบินขึ้นสู่ท้องฟ้า เสียงเครื่องบินแทนที่จะกระหึ่ม แสดงถึงความพร้อมที่จะทะยานสู่ท้องฟ้า แต่ทว่าสิ่งมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นในบัดดล ล้อเครื่องบินแทนที่จะแล่นไปตามลานบิน กลับสงบนิ่งอยู่กับที่

แม้จะพยายามบังคับเครื่องสักเท่าไหร่ ล้อก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน พวกช่างเครื่องมาสำรวจตรวจเช็คอย่างละเอียดแล้ว สั่งให้ลองบินดูอีกครั้ง ปรากฏว่าทุกอย่างคงมีสภาพเดิม จนฝรั่งหมดปัญญา ยอมยกกล่องบรรจุหลวงพ่อนาคคืนกลุ่มมิจฉาชีพ พอยกกล่องหลวงพ่อนาคลงจากเครื่องบินเท่านั้น เครื่องบินก็บินได้ตามปกติ โดยไม่มีอะไรขัดข้องเลย สร้างความประหลาดใจแก่พวกฝรั่งและคนร้ายอย่างยิ่ง

เมื่อฝรั่งเอาไปไม่ได้ คนร้ายก็นำกลับไปที่บ้านหลังหนึ่ง เตรียมที่จะตัดเศียรไปเท่านั้น พอเครื่องตัดเหล็กจ่อถูกองค์หลวงพ่อนาคครั้งใด ไฟฟ้าเป็นต้องดับหมดบ้านทุกที แม้จะพยายามสักเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อคนร้ายโดนอิทธิฤทธิ์หลวงพ่อนาคเล่นงาน ไม่รู้จะกระทำวิธีอื่นใดอีก เอาไปก็ไม่ได้ ตัดเศียรก็ไม่สำเร็จ วิธีที่ดีกว่านี้ ควรนำฝังดินไว้ก่อน ดีกว่ามีชาวบ้านมาพบเห็นเข้า จะพากันเดือดร้อน

พอคิดได้ดังนั้นก็ช่วยกันยก ปรากฏว่ายกไม่ขึ้นอีก แม้จะพยายามสักกี่หนก็ไม่สำเร็จอีก หลวงพ่อนาคได้เล่นงานคนร้ายจนหมดปัญญา ทุกคนได้ช่วยกันคิดหาหนทางจัดการกับหลวงพ่อนาคอย่างไรดี จนกระทั่งคนร้ายออกความเห็นว่า “ควรนำหลวงพ่อนาคไปฝากที่สถานีวิทยุ 09 อุดรธานี” คนร้ายที่เหลือต่างเห็นด้วย จึงนำเอาองค์หลวงพ่อนาคบรรจุใส่กล่องจนมิดชิด แล้วนำไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ 09 โดยบอกว่า ขอฝากกล่องนี้สักประเดี๋ยว ไปธุระที่ตลาดแล้วจะกลับมาเอา

เมื่อคนร้ายฝากกล่องหลวงพ่อนาคไว้แล้ว ก็พากันหลบหนีไปหมด ปล่อยให้เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ 09 เฝ้าคอยการกลับมาอยู่จนมืด ก็ไม่เห็นเจ้าของกลับมาเอาคืน จนเวลาผ่านไป 3 วัน ก็ยังไม่มีใครมารับเอาคืนไป เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ 09 เลยตัดสินใจเปิดกล่องออกมาดู ปรากฏว่าข้างในมีพระพุทธรูปนาคปรกบรรจุอยู่ แต่ไม่รู้ใครเป็นเจ้าของ หรือเป็นพระของวัดใด จึงได้ประกาศออกทางวิทยุ พร้อมกับบอกพุทธลักษณะให้ทราบ ถ้าใครเป็นเจ้าของ หรืออยู่ที่วัดใด ให้นำหลักฐานมายืนยัน ก่อนจะเอากลับคืนไป

ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอำเภอบ้านผือ ได้ฟังข่าวประกาศเรื่องหลวงพ่อนาคปรก อยู่ที่สถานีวิทยุ 09 อุดรธานี ฟังลักษณะตามประกาศแล้ว ก็ว่าเป็นหลวงพ่อนาค วัดโพธิ์ชัยศรีแน่ ๆ เพราะตอนที่หายไปนั้น ชาวบ้านได้มาแจ้งความไว้แล้ว สารวัตรสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านผือ ได้สั่งให้สิบเวรนายหนึ่ง ไปแจ้งให้นายบัว แวงคำ ผู้ใหญ่บ้านแวงทราบ

นายบัว แวงคำ ก็พาชาวบ้านไปรับหลวงพ่อนาคที่สถานีวิทยุ 09 อุดรธานี พร้อมกับสอบถามว่าใครเอากล่องนี้มาฝาก เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ 09 ตอบว่า มีชายฉกรรจ์ 3 คน หามกล่องนี้มาฝากไว้ เพียงบอกแต่ว่าไปตลาดเดี๋ยวเดียวจะกลับมารับ ต่อจากนั้นก็ไม่กลับมาอีกเลย จนกระทั่งเปิดกล่องถึงทราบว่า เป็นพระพุทธรูป จึงได้ประกาศหาเจ้าของให้มารับพระพุทธรูปนาคปรกองค์นี้คืนไป

เมื่อเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ 09 อุดรธานี ได้สอบถามพุทธลักษณะ และตำหนิต่าง ๆ ของหลวงพ่อนาคปรก ปรากฏว่า ชาวบ้านแวงตอบถูกหมดทุกอย่าง จึงได้มอบหลวงพ่อนาคให้กลับคืนไป ชาวคณะบ้านแวง ได้กล่าวขอบพระคุณทางเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ ๐๙ อุดรธานี แล้วก็อาราธนาหลวงพ่อนาคกลับคืนไปยังหมู่บ้านตน

เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2522 นายพันทหารท่านหนึ่ง ประจำอยู่ในค่ายทหารอุดรธานี ได้ทำปืนของทางราชการหายไปประมาณ 50 กระบอก โดยไม่ทราบว่าผู้ใดได้มาขโมยไป นายพันทหารผู้บังคับบัญชา พยายามสอบสวนทุกคนก็ไม่ได้ความคืบหน้า ก็เลยหันมาพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดู ในเวลานั้น เกิดคิดถึงหลวงพ่อนาค ที่วัดโพธิ์ชัยศรี ที่ตนเคยทราบกิตติศัพท์ถึงความศักดิ์สิทธิ์มาก่อนแล้ว จึงได้เดินทางไปที่วัดโพธิ์ชัยศรี เมื่อไปถึงก็ติดต่อสอบถามคุณโยมพ่อตุ๊ (ผู้ดูแลรักษาหลวงพ่อนาค) ถึงวิธีเสี่ยงทายของหาย ว่าปืนที่หายไปจะได้คืนหรือเปล่า ? ในพิธีเสี่ยงทาย หลวงพ่อนาค บอกว่า ได้คืน ผู้พันทหารถามคุณโยมพ่อตุ๊ว่า “ทำอย่างไรถึงจะได้คืน”

โยมพ่อตุ๊ก็บอกว่า “ผู้พันต้องรับสัจจะปฏิญาณกับหลวงพ่อนาคก่อนว่า จะไม่ลงโทษเขา ผมก็จะบอกให้ ถ้าต้องการไปลงโทษ ผมก็จะไม่บอก”

ผู้พันก็รับปากว่า “ขอให้ได้ปืนคืนเท่านั้นก็พอ ผมจะไม่ลงโทษเขาหรอก” กล่าวจบ คุณโยมพ่อตุ๊ก็เสี่ยงทายกับหลวงพ่อนาค ดูปืนที่หายไปนั้น กองร้อยใดเอาไป โดยเริ่มเสี่ยงทายตั้งแต่กองร้อยที่ 1 ไปตามลำดับ ปรากฏว่า กองร้อยที่ 3 เอาไป แล้วก็เริ่มเสี่ยงทายต่อไป ถามถึงชื่อผู้ที่เอาไป โดยนำเอาชื่อผู้ใต้บังคับบัญชาในกองร้อยที่ 3 ทั้งหมด มาเสี่ยงทายเรียงตามลำดับ จนถึงตัวผู้เอาปืนไป เมื่อรู้ตัวผู้ขโมยพอเป็นที่สังเขป ก็ทำน้ำมนต์ไปให้ทหารในกองร้อยดื่มเรียงตัว ต่อมาทหารผู้ที่เอาปืนไปซ่อนไว้ ก็มาสารภาพว่า “ปืนนั้นผมเอาไปเก็บไว้เอง”

พอผู้พันทหารทราบตัวหัวขโมยก็โกรธ ลืมคำปฏิญาณที่รบไว้กับหลวงพ่อนาค สั่งนำตัวไปจำขังเป็นการลงโทษ ต่อมาผู้พันได้ไปราชการทหารที่จังหวัดเลย บังเอิญถูกงูกัดขา รักษาเท่าไรก็ไม่หาย นับวันแผลมีแต่จะเปื่อย ทำให้นึกถึงคำปฏิญาณที่ให้ไว้กับหลวงพ่อนาค จึงได้นำดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมา แล้วขอน้ำมนต์หลวงพ่อนาคไปประพรม หลังจากนั้นไม่นาน แผลที่ขาก็หายเป็นปกติ

หลวงพ่อนาคถูกขโมย ครั้งที่ 4

เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2530 เวลาประมาณ 02.00 น. ได้มีคนร้ายประมาณ 8 คน ใช้รถยนต์เป็นพาหนะ เข้าไปในบริเวณบ้านแวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โดยจอดรถยนต์ไว้ที่บริเวณบ้านแวง แล้วตรงไปยังวัดโพธิ์ศรี อันเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อนาค และคนร้ายชุดดังกล่าว ได้ตัดกุญแจที่ใส่คล้องประตูโบสถ์ 5 ดอก แล้วเข้าไปงัดประตูเหล็กชั้นใน อันเป็นชั้นที่ ๒ จนพัง แล้วขโมยเอาหลวงพ่อนาคไปจากฐานที่ตั้ง

รุ่งเช้าวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2530 พระเณรในวัดโพธิ์ชัยศรี ตื่นขึ้นมาเข้าโบสถ์ เพื่อจะทำวัตรตามปกติ ก็พบว่า หลวงพ่อนาคได้ถูกคนร้ายลักไปแล้ว จึงได้ให้นายบุญมา พรหมเมศ อายุ 43 ปี ราษฎรบ้านแวง นำความเข้าแจ้งต่อ พ.ต.ท.มนัส เที่ยงธรรม สวญ.สภ.อ.บ้านผือ ว่า เมื่อคืนนี้ เวลาประมาณ 03.00น. มีคนร้าย 4 คน ใช้รถปิ๊กอัพ นิสสัน สีแดง ไม่มีป้ายทะเบียน ลอบเข้าไปในโบสถ์วัดโพธิ์ชัยศรี หมู่ 10 บ้านแวง อ.บ้านผือ ขโมยเอาหลวงพ่อนาค พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอบ้านผือไป ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านมั่นใจว่า คนร้ายยังไม่ได้นำ “หลวงพ่อนาค” ออกนอกเขตอำเภอบ้านผือ จึงนำความมาแจ้งให้ตำรวจรีบติดตามเอาคืนมาให้ได้

หลังจากรับแจ้งว่า “หลวงพ่อนาค” ถูกขโมยไปได้ไม่นาน พ.ต.ท.มนัส สวญ.สภ.อ.บ้านผือ ได้รับแจ้งจากชาวบ้านกาลืม ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ อีกว่า ในคืนเดียวกัน พระอธิการคำห่วง เจ้าคณะตำบล ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทบัวบก ต.เมืองพาน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดโพธิ์ชัยศรี ได้รับแจ้งจากพระสงฆ์ และชาวบ้านกาลืมว่า มีคนร้ายแต่งกายชุดเขียวคล้ายทหาร เข้าไปงัดศาลาการเปรียญ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของวัดบ้านกาลืม แล้วขโมยพระพุทธรูปทั้งหมด ประมาณ 25 องค์ด้วยกัน

หลังจากที่หลวงพ่อนาคได้ถูกขโมยไปแล้ว ทั้งทางราชการ และประชาชนทั่วไป ที่เลื่อมใสศรัทธา ต่างก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้ข่าว และแหล่งที่ซุกซ่อนของหลวงพ่อนาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางราชการอำเภอบ้านผือ ซึ่งมีนายบรรดาศักดิ์ บุญบันดล นายอำเภอบ้านผือ พ.ต.ท.มนัส เที่ยงธรรม สวญ.สภ.อ.บ้านผือ พร้อมด้วยทีมงาน ประกอบด้วย ร.ต.ท.วิเชียร ประภาการ ร.ต.ท.วิสัย พิทักษ์สฤษดิ์ ร.ต.อ.วินันท์ เสียงครวญ และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายนาย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการติดตามข่าวคราว และหาแหล่งที่ซุกซ่อนองค์หลวงพ่อนาค น้ำมนต์ และทำด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือสวมคอ เพื่อป้องกันศัตรู และเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มากราบไหว้ในเวลานั้น

นอกจากนั้น ทางจังหวัดหนองคาย ได้มีท่านพระครูสังฆวิฑิต วัดทุ่งสว่าง ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญยิ่ง ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังความคิด ตลอดจนกำลังทรัพย์ในการติดตามข่าวคราว ความเคลื่อนไหวของคนร้าย โดยขอความร่วมมือจาก ร.ต.อ.วินันท์ เสียงครวญ รอง สวป.สภ.อ.เมืองหนองคาย ได้สืบหาตัวคนร้าย และสืบหาแหล่งที่ซุกซ่อนองค์หลวงพ่อนาค อันเป็นการให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของอำเภอบ้านผืออีกทางหนึ่ง แต่การดำเนินงาน ก็เป็นไปอย่างไม่เปิดเผย เพราะเกรงคนร้ายจะไหวตัว ในที่สุด วันแห่งความปลาบปลื้มปีติยินดีของทางราชการ และประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อนาคก็มาถึง

คือ ในวันที 13 ตุลาคม พ.ศ. 2530 เวลาประมาณ 10.00 น. ร.ต.อ.วินันท์ เสียงครวญ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.เมืองหนองคาย จำนวนหนึ่ง ได้ทำการจับกุมคนร้ายกลุ่มดังกล่าวได้ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองหนองคาย ซึ่งคนร้ายได้มาติดต่อขายพระพุทธรูปหลวงพ่อนาค และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของวัดบ้านกาลืม จึงนำตัวคนร้ายทั้งหมดไปทำการสอบสวนที่ สภ.อ.เมืองหนองคาย แล้วรายงาน พ.ต.อ. ดร.ช่วงชัย สัจจะพงษ์ ผกก.ภ.จ.หนองคายทราบ แล้วรายงานให้ พ.ต.อ.บำรุง สุขพานิช ผกก.ภ.จ.อุดรธานี ทราบตามลำดับ เมื่อคนร้ายได้ให้การรับสารภาพแล้ว จึงนำตัวคนร้ายไปยังบริเวณที่ฝังองค์หลวงพ่อนาค และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของวัดบ้านกาลืม เมื่อขุดเอาพระพุทธรูปทั้งหมดขึ้นจากดินแล้ว ก็ส่งตัวคนร้ายมอบให้เจ้าหน้าที่เมืองอุดรธานี เพื่อดำเนินคดีต่อไป

เมื่อราษฎรบ้านแวง ได้อาราธนาหลวงพ่อนาคกลับมาที่วัดโพธิ์ชัยศรี นายจรวย ยิ่งสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้ทราบเรื่องการติดตามหลวงพ่อนาค และพระพุทธรูปของวัดบ้านกาลืม และสามารถจับกุมคนร้ายได้ทั้งแก๊ง จึงได้ไปตรวจหลวงพ่อนาค พร้อมกับพระพุทธรูปวัดบ้านกาลืม พร้อมทั้งกล่าวชมเชยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ติดตามพระพุทธรูปคืนมาได้ โดยใช้เวลาเพียง 15 วัน ด้วยเหตุนี้ ทางอำเภอบ้านผือ ทั้งทางราชการและประชาชน ได้จัดงานฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ได้อาราธนาหลวงพ่อนาคแห่ไปรอบอำเภอบ้านผือ เพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป

หลังจากแห่รอบเมืองแล้ว ชาวบ้านแวงก็ปรึกษากันว่า คงจะทำพิธีบายศรี (ทำขวัญ) ถวายแด่องค์หลวงพ่อนาค เพราะเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ทันใดนั้นเอง หลวงพ่อนาคได้นิมิตเข้าสิงคุณโยมพ่อตุ๊ (นายทูล คำน้อย) ซึ่งไม่เคยเป็นคนทรงมาก่อน แต่เป็นผู้ที่ปรนนิบัติดูแลองค์หลวงพ่อนาคในวัด โดยนายทูลทำน้ำมนต์ และทำด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือสวมคอ เพื่อป้องกันศัตรู และเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มากราบไหว้ในเวลานั้น

หลวงพ่อนาค ได้ถูกขโมยไปถึง 4 ครั้งแล้ว แต่ด้วยพุทธานุภาพแห่งองค์หลวงพ่อนาค ก็สำแดงปาฏิหาริย์แก่ผู้เคารพเลื่อมใสศรัทธาได้ประจักษ์ ทุกครั้งที่ถูกขโมยไป ก็จะได้กลับคืนมา เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนสืบไป


ที่มา - http://luangpornak.siam2web.com//?cid=541410



ก่อนจะกลับท่านบอกให้หลวงพี่และพวกเราเข้าไปรับมอบวัตถุมงคล ต่อจากนั้นจึงเข้าไปบริเวณหลังวัด ซึ่งกำลังสร้างแบบพระองค์ใหญ่ พร้อมกับแจกเงินรางวัลให้แก่ช่างทุกคนด้วย

(โปรดติดตามตอนต่อไป "วัดถ้ำจันทรคราส")


webmaster - 21/11/12 at 06:51

4. วัดถ้ำจันทรคราส บ้านนาอ่าง ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

หลังจากที่ได้เดินทางไปทำบุญสร้างพระใหญ่ คือสร้างหลวงพ่อนาคองค์ใหญ่กันแล้ว ซึ่งพวกเราที่ร่วมเดินทางบางคนก็เพิ่งเข้าใจ เพราะในตอนแรกได้ยินหลวงพี่บอกว่าจะไป "วัดหลวงพ่อนาค" จนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นวัดหลวงพ่อนาค (ที่เป็นพระสงฆ์) ครั้นเมื่อมาถึงวัดพวกเราจึงได้ทราบความหมายว่าเป็น "หลวงพ่อนาค (ปรก)" นั่นเอง


ตอนนี้ขอเล่าเรื่องต่อไปว่า หลวงพี่ได้พยายามสืบถามรอยพระพุทธบาทที่นี่ ตามที่ คุณมนตรี คงอุทัยกุล เป็นผู้แจ้งมาทางอีเมล์ (ซึ่งยังติดต่อกันไม่ได้) จึงได้ย้อนกลับไปทางเดิม คือ วัดถ้ำจันทรคราส การเข้ามาที่วัดนี้เพื่อมาดูให้หายสงสัย พบว่าเป็น "พระพุทธบาทจำลอง" ที่แกะสลักอย่างสวยงาม และทราบว่าทางวัดจะหล่อ "หลวงพ่อนาค" เนื้อทองสัมฤทธิ์หน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้ว ๙ เซนติเมตร สูง ๓ เมตร ๙๐ เซนติเมตร เพื่อเป็นพระธานในศาลาปฎิบัติธรรมหลังใหม่ หลวงพี่จึงได้ร่วมทำบุญสร้างพระและศาลา รวมเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท เจ้าอาวาสจึงได้มอบเงินบังบด ซึ่งเป็นลักษณะของดินที่กลายเป็นหิน



๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ (อุดรธานี - สกลนคร)

5. วัดป่าศรีสุธาทิพย์ บ้านหนองเม็ก ต.หนองเม็ก อ.หนองหาน จ.อุดรธานี


วันนี้ได้ขับรถเพื่อจะไปที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ระหว่างทางผ่านมาถึงบ้านหนองเม็ก เจอป้ายสร้างวิหาร "เจดีย์มหาวาปีศรีมงคล" จึงรีบเข้าไปทำบุญทันที ได้ถวายเงินกับเจ้าอาวาส จำนวนเงิน ๒,๐๐๐ บาท



6. วัดถ้ำสุมณฑา บ้านผาสุข ต.ผาสุข อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี

หลังจากแวะที่ภูผาเหล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร กันแล้ว โดยขับรถขึ้นไปบน "วัดถ้ำพวง" แวะชมสังเวชนียสถาน ๔ แห่งบนเทือกเขาแล้ว มีคุณป้าท่านหนึ่งบอกว่าที่วัดถ้ำสุมณฑาก็มีรอยพระพุทธบาท หลวงพี่จึงได้บอกให้พวกเราขับรถไปทันที มองเห็นวิหารสร้างอยู่บนยอดเขาแต่ไกล จึงขับรถขึ้นไปบนเขา ได้พบหลวงพ่อเจ้าอาวาสกำลังเดินตรวจงานของท่านอยู่พอดี


หลวงพี่ได้เข้าไปกราบนมัสการท่านในวิหาร ซึ่งได้สร้างพระประธานหินอ่อนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ สวยงามมากมาย จนประเมินค่าหาประมาณไม่ได้ เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา พวกเราตามเข้าไปกราบท่านและร่วมทำบุญกับท่านทุกอย่าง ๑,๐๐๐ บาท


และเมื่อสอบถามท่านเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท ท่านบอกว่าเป็นรอยจำลองอยู่บนยอดเขา หลวงพี่และพวกเราจึงไม่ได้ขึ้นไปสำรวจ หลังจากกลับมาแล้วได้พบประวัติในเว็บไซด์ต่างๆ เห็นว่าประวัติวัดถ้ำสุมณฑามีความสำคัญมาก จึงขออนุญาตนำมาลงให้อ่านกัน



วัดถ้ำสุมณฑา


........วัดถ้ำสุมณฑา อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของตำบลผาสุก อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี โดยวัดนั้นถูกก่อตั้งแม่ ปี พ.ศ. 2504 ถูกค้นพบจริงๆ โดยหลวงปู่เหรียญชัยสมัยเป็นสามเณรได้เดินธุดงค์มาพบสถานที่และได้ใช้เป็นที่นั่งสมาธิ ถึงกระนั้น หลวงปู่ก็ได้กลับลงมาจากวัดแห่งนี้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 หลวงปู่ได้กลับมาอีกครั้งและได้ให้ชาวบ้านสร้างวัดขึ้นมาใหม่ได้บูรณขึ้นใหม่เรื่อย ๆ จนมาถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันวัดถ้ำสุมณฑาได้กลายเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจ ปฏิบัติธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนาโดยตรง เวลามีงานบุญประจำปีต่างๆก็ใช้วัดถ้ำสุมณฑาแห่งนี้เป็นที่จัดงาน ไม่เพียงแต่คนในชุมชนเท่านั้นเข้ามาฟังธรรม คนนอกพื้นที่ต่างจังหวัดก็ได้มาฟังธรรมจากหลวงปู่เป็นประจำ

ตำนานนางสุมณฑา


(มณฑปรูปปั้นพระนางสุมณฑา)

........บนเทือกเขาภูพาน ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบะยาวอยู่ทางทิศประจิม ของหมู่บ้านผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี เป็นดินแดนศักสิทธิ์ที่ชาวบ้านเล่าขานกันมาแต่โบราณกาล มีถ้ำลึกลับซึ่งเชื่อว่าเป็นเมืองของคนบังบดลับแลโบราณเรียกว่า "ถ้ำเม็ง" หรือ "ถ้ำเกวียนหัก" วันดีคืนดีวันพระเดือนหงายเต็มดวง บางทีจะมีเสียงผู้คนพูดคุยและหัวเราะกันชัดถ้อยชัดคำด้วยสำเนียงภาษาครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพ บางคืนมีลำแสงประหลาด สาดประกายออกมาจากบริเวณนั้น และบางครั้งก็มีเสียงฆ้อง กลอง เสียงพิณและเสียงแคนบรรเลง แว่วดังให้ได้ยินกันเสียงเยือกเย็นไพเราะ..เสนาะหู

ส่วนที่มาของชื่อ "ถ้ำสุมณฑา" นั้นได้มีการกล่าวถึงในวรรณคดี "อีสานล้านช้าง" ว่าพญากุมภัณธุ์ยักษ์ ออกไปหาอาหารบนเทือกเขาแห่งหนึ่งบนเขาภูพาน ได้เห็นพระนางสุมณฑา ซึ้งเป็นธิดาเดียวของพระยาขอม ผู้ครองเมืองจานนครราช


วันนั้นพระนางร้อนรุ่มพระทัยไม่เป็นสุขอยู่ในตำหนักปรารถนาจะเสด็จประพาสป่า เที่ยวเล่นจึงพร้อมด้วยบริวารสนมกำนัลติดตามไป พระนางก็บรรทมพักผ่อนอยู่ป่านั้นเอง ครั้นพญายักษ์ผ่านมาพบเข้าก็คิดจะจับนางสนมกินเป็นอาหารแต่เมื่อเข้าใกล้ได้ เห็นสิริโฉมของพระนางสุมณฑาเข้าจึงได้มีจิตปฎิพัทธ์รักใคร่เปลี่ยนใจไม่กินนางสนม แต่เป่ามนต์ให้หลับและลักลอบอุ้มเอาพระนางสุมณฑาพามาซ่อนไว้ในถ้ำที่ยอดภูผาหักแห่งนี้


เมื่อพระนางสุมณฑาตื่นขึ้นมาจากบรรทมรู้ตัวว่าอยู่ ในหมู่ล้อมของยักษ์บริวารพญายักษ์ พระนางตกใจกลัวยิ่งนักได้แต่สวดมนต์ภาวนาร่ายคาถาตามคัมภีร์พระเวทย์ลัทธิพราหมณ์ อ้อนว้อนเทวดาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงดลบันดาลให้ร่างกายของพระนางร้อน เหมือนเปลวเพลิง มิให้พญายักษ์เข้าใกล้ได้ กุมภัณธุ์พญายักษ์ก็มิอาจเข้าใกล้ถึงกายของพระนางสุมณฑาได้จึงเพียงนั่งนอน เฝ้าอยู่หน้าถ้ำพร้อมกับบริวารยักษ์ คอยเก็บหาอาหารผลไม้ มาอุปัฎฐากให้พระนางสุมณฑาด้วยจิตใจจงรักภักดีมิได้ขาด


พระบิดาของพระนางสุมณฑาส่งทราบข่าวจึงให้เท้าทั้ง 6 เป็นเหล่าบุตรของมเหสีรองออกตามหาพระธิดา จนได้มาพบจึงทำศึกสู้รบกันเพื่อแย่งพระนาง แต่ก็ไม่สามารถชนะยักษ์ได้พระยาขอม จึงบัญชาท้าวทั้ง 3 ของมเหสีหลวงมีพระนามว่า "พระศรีโหร์ พระสังข์ทอง" และพระสังข์สินชัยไป ติดตามเอาพระนางกับคืนมาให้ได้ ท้าวทั้งสามเป็นผู้มีฤทธิ์มีอำนาจก็ได้ทำศึกสู้กับพญายักษ์ต่างไม่มีใครแพ้ชนะ จนเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหล้าทั้ง 2 ฝ่าย


เมื่อพญายักษ์เผลอหลับไปพระสังข์สินชัยลอบเข้าไปพาพระนางสุมณฑาหนีกลับไปเมืองขอม ลำน้ำที่พระสังข์สินชัยพาพระนางล่องหนียักษ์นั้น ผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวกันมาว่าคือ "ร่องน้ำสงคราม" เป็นแม่น้ำสายเดียวในประเทศไทยที่ยังคงความใสสะอาดบริสุทธิ์ ต้นลำน้ำไหลลงมาจากภูผาลมทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านผาสุกอยู่

ด้านหน้าของวัดถ้ำสุมณฑาห่างจากหน้าวัดประมาณ 3 กิโลเมตร ออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอส่องดาว ทอดยาวไปถึงปากน้ำชัยบุรีแล้ว ไหลลงรวมกับน้ำโขงสู่ทะเลร่องแม่น้ำสงคราม คือร่องรอยไพร่พลของพระสังข์สินชัยและพญายักษ์ที่วิ่งรุกไล่กันขึ้นลงตีนเขาและยอดเขา ทำสงครามแย่งพระนางสุมณฑากันได้เกิดกลายเป็นร่องน้ำ จึ่งเรียกชื่อ "แม่น้ำสงคราม"


หน้าผาชันสูงใหญ่มหึมาหน้า "ถ้ำสุมณฑา" ที่เห็นประจักษ์ตาอยู่เดี่ยวนี้ ว่ากันว่าเป็นเพราะอิทธิ์ฤทธิ์ลูกศรของพระสังข์สินชัย ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์กลับชาติมาเกิดในสมัยนั้น แผลงไปถูกหินยอดเขาจนแตกทลาย ก้อนหินใหญ่หักโค่นหล่นลง คงเหลือแต่หน้าผาสูงใหญ่เป็นหน้าผาชันของภูผาหัก อันสวยงามแห่งเทือกเขาภูพานที่ตั้งของวัดผาสุการาม หรือ "วัดถ้ำสุมณฑา" ในปัจจุบัน


ข้อมูลโดย : ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี
ภาพ : กรมการท่องเที่ยว



๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ (สกลนคร)

7. พระพุทธบาทบ้านซ่งน้ำพุ ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร

สถานที่แห่งนี้หลวงพี่เคยมาเมื่อ ๕-๖ ปีที่แล้ว การกลับมาอีกครั้งนี้เลยเข้ามาทำความสะอาดกราบไหว้บูชาอีกครั้ง ถึงแม้รอยจะไม่ชัดเจนนัก แต่อานุภาพยังเหมือนเดิม เพราะตอนที่ทำความสะอาดก้อนหินนี้ได้ยินเสียงฟ้าคำราม ทั้งที่แดดเปรี้ยงตลอดเวลา



(เมื่อมาถึงก็พบเด็กนักเรียนหญิงสองคนกำลังเดินผ่านมาพอดี ได้แจกขนมให้เป็นทาน)


บริเวณนี้ชาวบ้านถือว่าเป็น "โบราณสถาน" ที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "ศาลปู่ตา" เดิมเป็นป่ารกทึบ ชาวบ้านไม่มีใครกล้าเข้ามาหาหน่อไม้ เพราะเล่าลือกันว่าผีดุหรือเจ้าที่แรงเป็นต้น


แต่ต่อมาประมาณปี ๒๕๔๘ หลวงพี่พร้อมด้วยท่านอาจารย์หนุนได้มาสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทที่อยู่กลางทุ่งนา พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธรูปมาไว้ที่นี่ด้วย ในขณะทำพิธีบวงสรวงและพระสงฆ์ ๖-๗ รูปเจริญพระพุทธมนต์ เนื่องในงานพิธีฉลองมณฑปอยู่นั้น ปรากฏว่าอากาศมืดครึ้มทันที พร้อมกับเสียงฟ้าคำรามและฟ้าแลบแปลบปลาบอยู่ตลอดเวลา


หลังจากนั้นไม่นานท่านอาจารย์หนุนพร้อมด้วยชาวบ้านแถวนั้น จึงได้ถากถางป่าบุกเข้าไปในบริเวณศาลปู่ตา แล้วจึงได้พบกับก้อนหินที่เห็นในภาพนี้ พร้อมกับพบรอยเท้าและรอยอื่นๆ บนก้อนหิน แต่รอยก็เลือนลางมองแทบไม่รู้ว่าเป็นอะไร ถึงอย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านไปนานหลายปี หลวงพี่ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับจุดธุปเทียนบูชากราบไหว้ เพื่อจะได้มาบอกกล่าวบรรพบุรุษของชาวหนองหาร ก่อนที่จะถึงวันทอดกฐินที่วัดโพนนาแก้ว


ทั้งนี้ เพื่อขอบารมีปู่ย่าตายายและบรรพบุรุษที่นี่ให้ท่านช่วยให้การจัดงานได้ผ่านพ้นไปด้วยดี จนกระทั่งได้ยินเสียงฟ้าคำรามอีกครั้ง ในระหว่างที่พวกเรากำลังทำความสะอาดก้อนหินนี้ เหมือนจะเป็นการบอกกล่าวให้พวกเรารับรู้ หรือเป็นสักขีพยานในการสร้างบุญกุศลในครั้งนี้ ก่อนจะกลับจึงได้เปิดน้ำพุให้พุ่งขึ้นมา แล้วดื่มกินแบบธรรมชาติเพราะอากาศกำลังร้อนอบอ้าวเหลือเกิน


ซึ่งเป็นน้ำพุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีประมาณ ๓ บ่อ ชาวบ้านทำเป็นก็อกน้ำไว้ปิดเปิด จะมีน้ำไหลพุ่งตลอดเวลาไม่มีวันหมด ในตอนนี้หลวงพี่จึงตัดสินใจที่จะนำคณะที่มาทอดกฐิน เพื่อจะเดินทางมาที่นี่ เพราะว่าได้ยินเสียงฟ้าคำรามเป็นเหตุนั่นเอง ซึ่งวันรุ่งขึ้นหลังกลับมาจากล่องเรือที่หนองหารแล้ว จึงได้นำคณะหลายสิบคนกลับมาที่นี่อีกครั้ง ปรากฏว่าอากาศร่มเย็นสบาย

......หมายเหตุ ในตำนานพระธาตุพนม หรือ "อุรังคธาตุนิทาน" เล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่นี่ แต่ตำนานในตอนนี้ได้ถูกตัดออกไปนานแล้ว บ้านซ่งน้ำพุ ที่อยู่ริมหนองหาน จ.สกลนคร เป็น "น้ำพุ" ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับ "พระขรรค์" ของ "เจ้าสุรอุทกกุมาร" สิ่งอัศจรรย์ ๒ ประการนี้เกิดขึ้นในวันที่ประสูติ ชาวเมืองจึงเรียกว่า “ทรงน้ำพุ” จึงขอนำรายละเอียดจาก "นิทานเรื่องฟานด่อน" มาให้อ่านกันดังนี้

ความเป็นมา "บ้านซ่งน้ำพุ"


........จำเดิมมีศาสนาพุทธเจ้ากัสสปเจ้า เมืองสกลนครปรากฎนามว่า "เมืองหนองหารหลวง" ซึ่งมีอดีตนิทานแห่งองค์สัมมาสัมพุทธโคดมบรมครูเจ้าของเรา เมื่อศาสนาพระเจ้ากัสสป ขุนขอมราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัฐนคร ได้พาครอบครัวบ่าวไพร่ของตน มาสร้างเมืองขึ้นที่ริมหนองหารหลวง ตรงท่านางอาบ สมมุตินามว่าเมืองหนองหารหลวง

ขุนขอม ได้เป็นเจ้าเมืองขึ้นกับเมืองอินทปัฐนคร ขุนขอมมีราชบุตรคนหนึ่งชื่อ "สุรอุทกกุมาร" คือ เมื่อวันประสูติมีอัศจรรย์บังเกิดขึ้นมี "น้ำพุ" เกิดขึ้นในที่ใกล้กับเมืองนั้น บิดาจึงให้ นามว่า "ซ่งน้ำพุ" ต่อมาพอพระชนม์ของ เจ้าสุรอุทก จำเริญวัฒนาครบ 15 พรรษา ขุนขอมผู้ เป็นบิดาถึงแก่กรรม

ฝ่ายกรมการราษฎร พร้อมกันเชิญเจ้าสุรอุทกขึ้นเป็นเจ้าเมือง สมมุตินามว่า พระยาสุรอุทก พระยาสุรอุทกปกครองบ้านเมือง ต่อมามีบุตรชายสององค์ องค์พี่ปรากฏนามว่า "เจ้าภิงคาร" องค์น้องปรากฏนามว่า "เจ้าคำแดง"

ในวันหนึ่งพระยาสุรอุทกมีคำสั่งให้เสนาข้าราชการ จัดรี้พลโยธาออกตรวขอาณาเขตบ้านเมืองของตน ครั้นตรวจไปถึงปากน้ำ "มูลนที" (น่าจะเป็นแม่น้ำมูล-ทีมงานตามรอยฯ) ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเขตอินทปัฐนคร เสนาข้าราชการทูลชี้แจงว่า ที่นี้เป็นที่แบ่งเขตเมืองหนองหารหลวงกับเมืองอินทปัฐนคร ตามลำน้ำมูลนทีจรดดง พระยาไป ขุนขอมซึ่งเป็นบิดาของพระองค์ กับเจ้าเมืองอินทปัฐนครได้มอบอำนาจให้ "ธนมูลนาคราช" เป็นผู้รักษาอาณาเขตต่อไป

พระสุรอุทกทรงพิโรธว่า ปู่กับบิดามอบอำนาจให้ธนมูลนาคราช ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานรักษาอาณาเขตบ้านเมืองยังไม่สมควร พระยาสุรอุทกชักพระบันธ์คู่กำเนิด ออกแสดงฤทธิ่ไต่ไปบนห้วงน้ำมูลนที และแกว่งพระขันธ์แสดงฤทธิ์ข่มขู่ ธนมูลนาคราชโกรธก็แสดงฤทธิ์แสดงตนให้พระยาสุรอุทกเห็นเป็นอัศจรรย์ต่าง ๆ นานาเช่นกัน

ในขณะนั้นการแสดงฤทธิ์ต่างคนต่างไม่หยุดหย่อน ท้อถอยซึ่งกันและกัน พระยาสุรอุทกก็ยกรี้พลโยธากลับบ้านเมืองของตน ฝ่ายธนมูลนาคราชก็ยังไม่ลืมความโกรธ จึงจัดกำลังโยธาเพื่อนงูทั้งหลายที่อยู่ในอำนาจของตน ติดตามพระยาสุรอุทกไปถึงหนองหารหลวง สำแดงฤทธิ์พลโยธาทั้งหลายให้เป็น "ฟาน" (เก้ง) เผือกขาวงามบริสุทธิ์ ทุกตัวเดินผ่านเมืองไปที่โพธ์สามต้น ชาวเมืองทั้งหลายเห็นจึงนำเหตุ ขึ้นกราบเรียนพระยาสุรอุทก

พระยาสุรอุทกไม่มีความตรึกตรองอย่างหนึ่งอย่างใด สั่งให้นายพรานทั้งหลายไปช่วยกันล้อมจับเป็นมาถวาย ถ้าจับไม่ได้ให้จับตาย นายพรานรับคำสั่งแล้วพร้อมทั้งราษฎรหลายคนติดตามไปจน โพธิ์สามต้น จึงพบฝูงฟานเผือก นายพรานจัดคนเข้าล้อมฝูงนาคที่สำแดงตัวเป็นฟาน ฟานต่าง หลบหนีกำบังหายตัวไป ยังอยู่แต่ธนมูลนาคราชตัวเดียว ธนมูลนาคราชทำทีหลอกล่อนายพราน กับกำลังโยธาเข้าไปในป่า

พอถึงหนองบัวสร้างนาคาฟานก็ทำทีเป็นเจ็บขา นายพรานกับพวกก็เข้าล้อมจะจับเอาเป็นก็ไม่ได้ จึงยิงด้วยหน้าไม้อันมีลูกปืนผสมด้วยยาพิษ ลูกปืนถูกฟานเผือกเข้าที่สำคัญ ธนมูลนาคราชคิดว่าจะสู้รบกับพลไม่รู้เดียงสาก็เสียฤทธิ์ จึงสูบเอาดวงจิตออกจากกาย ฟานเผือกก็ถึงแก่ความตาย พอฟานเผือกตายแล้ว พระยานาคก็ทำฤทธิ์ให้ร่างกายฟานเผือกใหญ่โตเท่ากับช้างสาร

ฝ่ายนายพรานเห็นได้ที ก็ให้กำลังโยธาเจ้ายกหามเอาซากศพฟานเผือก ยกก็ไม่ไหวโดยความ หนักเกินประมาณ นายพรานก็จัดกำลังเข้าลากเอาศพฟานเผือกลงมาทางโพธิ์สามต้น ครั้นถึงริม หนองหารหลวง จะชักลากซากศพฟานเผือกสักเท่าใดก็ไม่ไหวจริง ๆ นายพรานจึงใช้ม้าเร็วนำเหตุไปกราบเรียนพระยาสุรอุทก พระยาสุรอุทกมีคำสั่งให้เอาเนื้อมาถวาย นายพรานพร้อมโยธาและพลเมืองโดยมากเข้าเถือเนื้อฟานเผือก 3 วัน 3 คืน ก็ไม่หมด เนื้อฟานยังงอกทวีขึ้นเสมอจนคนในเมืองได้รับประทานทั่วกัน

ฝ่ายพระยาสุรอุทกได้รับประทานเนื้อฟานเผือก ก็มีความยินดีปรีเปรมเกษมสุข เพราะเป็นเนื้อที่มีรสหวานอร่อยดีกว่าเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ฝ่ายพระยานาคเมื่อรวบรวมกำลังโยธาได้แล้วก็ยังไม่หายความโกรธ พากันทำฤทธิ์มุดลงไปในน้ำหนองหารหลวง พอเวลากลางคืนคนในเมืองนอนสงัดเงียบดี พระยานาคกับกำลังรี้พลขุดแผ่นดิน เมืองให้ล่งลงเป็นน้ำเจือหนองหารหลวง พระยานาคก็ตรงเข้าจับพระยาสุรอุทกได้ ก็พารี้พลผูกด้วยบ่วงบาศก์พันธนาการ ชักลากลงไปที่ธนนที (แม่น้ำโขง-ทีมงานตามรอยฯ)

พระยานาคพารี้พลชักลากพระยาสุรอุทก เลี้ยยไปงอมาคดไปอ้อมมา เพื่อจะทรมานร่างกายให้พระยาสุรอุทกถึงแก่ความตายโดยลำบากเวทนา พอถึงแม่น้ำโขงพระยาสุรอุทกก็ถึงแก่มรณภัย พระยานาคก็เอาศพพระยาสุรอุทกไปถวายเจ้าเมืองอินทปัฐ ซึ่งเป็นเชื้อสายวงศ์เดิม

ฝ่ายเมืองหนองหารหลวง เจ้าภิงคาร เจ้าคำแดง กับญาติวงศ์ข้าราชการ ชาวประชาชนซึ่งรู้สึกตัวก่อนจมน้ำ ก็ต่างคนต่างว่ายน้ำออกไปอาศัยอยู่ตาม เกาะดอนกลางหนองหาร (ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เกาะดอนสวรรค์) ซึ่งเหลือจากกำลังนาคทำร้ายไม่หมด เจ้าภิงคารเจ้าคำแดงก็พาญาติวงศ์ บ่าวไพร่ขี่แพข้ามมาตั้งพักพลกำลังโยธา อยู่ที่โพนเมือง ริมหนองหารหลวงข้างทิศใต้

ย้ายเมืองหนองหารหลวง

เจ้าภิงคาร เจ้าคำแดง พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ ไปตรวจหาชัยภูมิที่จะตั้งบ้านสร้างเมือง เห็นว่า "คูน้ำลอดเชิงชุม" เป็นที่ชัยภูมิดี และเป็นที่ประชุมรอยพระพุทธบาทด้วย เจ้าภิงคารจึงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า

"ข้าพเจ้าจะพาครอบครัวมาตั้งบ้านสร้างเมืองขึ้นที่ภูน้ำลอดนี้ เพื่อปฏิบัติรอยพระพุทธบาทด้วย ขอให้เทพยดาผู้มีฤทธิ์ จงช่วยอภิบาลบำรุงให้บ้านเมืองวัฒนาถาวรต่อไป"

ในขณะนั้นมีพญานาคตัวหนึ่ง ชื่อว่า "สุวรรณนาคราช" ซึ่งเป็นผู้รักษารอยพระพุทธบาท ทำฤทธิ์เกล็ดเป็นทองคำผุดขึ้นมาจากพื้นพสุธาดล อภิเศกให้เจ้าอภิงคารเป็นเจ้าเมืองหนองหารหลวง ให้พระนามว่า "พระยาสุวรรณภิงคาร" ก็ได้ราชาภิเษกกับ "พระนางนารายณ์เจงเวง ราชธิดาของเจ้าเมืองอินทปัฐนคร เป็นเอกมเหสี พระยาภิงคารได้ครองบ้านเมืองโดยสวัสดิภาพ

หนทางที่พระยาธนมูลนาคราช ชักลากพระยาสุรอุทกลงไปหาแม่น้ำโขง น้ำโขงนั้นก็กลายเป็นคลองน้ำไหลจากหนองหารหลวงตกแม่น้ำโขง คนทั้งหลายจึงเรียกคลองนั้นว่า คลองน้ำกรรม (หรือที่เรียกกันว่า "ลำน้ำก่ำ") เพราะพระยานาคทรมานทรกรรมพระยาสุรอุทก ให้ถึงแก่มรณะภัยที่นั้น ส่วนหนทางที่นายพรานกับชาวเมืองชักลากศพฟานเผือกลงมา ก็กลายเป็นคลองน้ำไหลตกลงในหนองหารหลวง คนทั้งหลายเรียกคลองนั้นว่า "คลองน้ำลาก"

ฝ่ายเมืองหนองหารน้อย ไม่มีผู้ครองบ้านเมือง เสนาอำมาตย์จึงทำพิธีอธิษฐานเสี่ยงราชรถ หาผู้ครองบ้านเมืองต่อไป รถอันเทียมด้วยม้ามีกำลังก็พามาสู่หนองหารหลวง ราชรถเข้าไปเกยที่วังเจ้าคำแดง เสนาอำมาตย์จึงทูลเชิญเจ้าคำแดงไปเป็นเจ้าเมืองหนองหารน้อย (อุดรธานี) เมืองหนองหารน้อยกับเมืองหนองหารหลวง จึงเป็นไมตรีพี่น้องกัน


ที่มา - http://kanchanapisek.or.th/kp8/culture/sgk/file1/l5.html

(โปรดติดตามตอนต่อไป "วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร")


webmaster - 13/12/12 at 17:48

คลิปวีดีโอ สารคดีจังหวัดสกลนคร



24 พฤศจิกายน 2555

8. วัดพระธาตุเชิงชุม ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

......หลวงพี่ได้นัดกับคณะต่างๆ เพื่อที่จะมาร่วมกันสักการบูชาพระธาตุเชิงชุมกันก่อน เพราะถือว่าเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองหาร หรือว่า "เมืองสกลนคร" นั่นเอง หลังจากที่ได้นำเรื่องราวในอดีตมาเล่าสู่กันฟังแล้ว จะเห็นว่า "พระยาสุวรรณภิงคาร" ได้มาตั้งบ้านเมืองตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนกระทั่งปัจจุบันนี้กาลเวลาผ่านไป ๒ พันกว่าปี ก็ยังไม่มีเหตุการณ์บ้านเมืองที่จะล่มจมอีก นับว่าการย้ายเมืองมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น เป็นเพราะอยู่ใกล้กับรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์นั่นเอง การอุปภัมถ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา จึงทำให้ประชาชนมีแต่ความสันติสุข บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีภัยพิบัติที่ร้ายแรงแต่ประการใด

โดยเฉพาะพวกเราที่ได้นัดหมายกันมาก่อน ว่าจะมาพบกันที่พระธาตุเชิงชุมในเวลาก่อนเที่ยง เพื่อจะลงเรือชมทะเลสาปหนองหารอันกว้างใหญ่ พร้อมอยากที่จะชมปรากฏการณ์ที่ร่ำลือมาตั้งแต่ คุณคำรณ หว่างหวังศรี นักข่าวจากช่อง 3 ที่ได้พบพานพญานาคในหนองหารแห่งนี้ พวกเราจึงอยากจะมาเที่ยวและพิสูจน์ความจริงกันด้วย

แต่ทว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ พวกเรากลับเปลี่ยนใจกระทันหัน โดยนัดเจอกันตอนเช้าก่อน ทั้งนี้หลวงพี่ก็ได้เข้าไปที่วัดพุทธโมกข์ เพื่อจะไปดูการจัดเตรียมสถานที่ ทั้งเครื่องกฐินของหลวงพี่ที่ฝากมาก่อนหน้านี้ และของคุณก๋วยเจ๋ง-คุณหลี ซึ่งมีถังคูลเลอร์น้ำเป็นต้น เมื่อพบว่าสิ่งของมาครบหมดแล้ว หลวงพี่จึงเปลี่ยนแผนโดยนำคณะที่มาร่วมสมทบ พาไปกราบไหว้สถานที่สำคัญๆ ในตัวเมืองสกลนครก่อน (พระธาตุดุม, พระธาตุนารายณ์เจงเวง) ก่อนที่จะไปลงเรือในเวลาเที่ยงตรง ซึ่งท่าเรือก็อยู่หลังวัดพระธาตุเชิงชุมนั่นเอง

ทั้งนี้ด้วยความไม่ประมาท เมื่อวันศุกร์หลังจากที่พวกเราเดินทางมาถึง จึงตรงเข้าไปเบิกเงินที่ธนาคารก่อน พร้อมกับหอบหิ้วเงินสดจำนวน ๒,๒๔๓,๐๐๐ บาทเอาไว้ในรถ จากนั้นก็เข้าไปดูสถานที่พักของญาติโยม ปรากฏว่าจองเต็มหมด จึงถามทางเพื่อเข้าไปที่ท่าเรือริมหนองหาร โดยหลวงพี่ขอให้พระอาจารย์ประทักษ์ (ตุ๋ย) ติดต่อขอเช่าเรือลำใหญ่เอาไว้ พร้อมกับติดต่อเรือหางยาวไว้สำรองอีกด้วย เพื่อจะเดินทางในวันเสาร์ที่ ๒๔ พ.ย. ๕๕ เวลา ๑๒.๐๐ น. ซึ่งวันศุกร์ที่ ๒๓ ขณะมาถึงนี้ หลวงพี่บอกว่ากลางวันอากาศร้อนเหลือเกิน เป็นห่วงคนที่ไปจะลำบาก โดยเฉพาะเป็นเวลาเที่ยงตรงที่เรือจะออก


แต่พอถึงวันที่ ๒๔ ปรากฏว่าอากาศกลับร่มคลึ้มตั้งแต่ตอนเช้า แล้วยังโชคดีมากที่ทางวัดจัดการแห่กฐินพระราชทานพอดี จึงได้ร่วมในพิธีแห่ และจะมีการทอดในตอนบ่าย พวกเราได้ทำกิจกรรมงานบุญโดยมิได้นัดหมาย ถือเป็นบุญใหญ่มาก หลวงพี่มารอตั้งแต่เช้า
โดยแวะฉันเช้าที่ร้านใกล้ๆ พระธาตุเชิงชุม ปรากฏว่าฝีมือดีมาก พากเราจึงบอกให้คณะที่ติดตามมาภายหลังให้แวะเข้าไปลองทานดูบ้าง หลังจากนั้นคณะต่างๆ ที่นัดหมายไว้ก็เริ่มเดินทางมาถึงจุดนัดพบที่พระธาตุเชิงชุม มีคณะกองทุน ๒ รถตู้ เป็นต้น


เมื่อคณะต่างๆ เดินทางมาครบถ้วนแล้ว ยังขาดแต่คณะคุณก๋วยเจ๋ง-คุณหลี ก็ไม่เป็นไร จึงชักชวนเข้าไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ พร้อมทั้งนำผ้าสไบทองห่มรอบองค์พระธาตุ และหลวงพี่ได้เข้าไปเขียนชื่อ "คณะตามรอยพระพุทธบาท" ไว้ด้วย


จากนั้นจึงเข้าไปในวิหารข้างองค์พระธาตุ เพื่อเข้าไปที่ประตูอุโมงค์ ภายในจะเห็นยอดพระธาตุองค์เดิม ซึ่งมีการสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบไว้ มองเข้าไปจะเห็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณมากมาย หลวงพี่ได้โปรยดอกไม้และสรงน้ำหอม พร้อมกับโปรยแผ่นทองเข้าไปบูชาด้วย


หลังจากนั้นพวกเราจึงเดินออกมาด้านนอก เห็นขบวนแห่กฐินพระราชทาน โดยมีวงโยธวาทิต และขบวนฟ้อนรำหางนกยูง มีพระเจ้าหน้าที่ของวัดเดินมาติดต่อกับหลวงพี่ ขอให้ญาติโยมเข้าไปถือย่ามพระราชทาน พวกเราทุกคนดีใจจึงได้เข้าไปร่วมขบวนทันที


นับว่าเป็นความโชคดีโดยบังเอิญ ทั้งที่ไม่รู้กำหนดการมาก่อน พวกเราปลาบปลื้มใจเป็นอันมาก ได้พากันเดินตามขบวนแห่ไปครบทั้งสามรอบ


ท่ามกลางอากาศที่ร่มเย็นสบายๆ มีความสุขที่ได้ยินเสียงเพลงปลุกใจ พร้อมกับลีลาร่ายรำของแม่บ้านชาวสกลนคร ที่แต่งกายอยู่ในชุดภูไทสวยงาม มองเห็นผู้ชายแต่งชุดนักมวยโบราณ ต่างร่ายรำหางนกยูงพร้อมด้วยท่าเต้นที่แปลกตา





คำบูชาองค์พระธาตุเชิงชุม (รอยพระพุทธบาท)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (สวด ๓ จบ)

มะหาวาปี ปุเร สุวัณณะภิงคาระ ราเชนะ ฐาปิตัง จะตุพุทธะปาทะ วะลัญชัง สิระสา นะมามิ

......ข้าพเจ้าขอถึงซึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ขอน้อมกราบรอยพระพุทธบาทขององค์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคม พระกัสสปะ พระโคตมะ
และพระศรีอริยเมตไตรย์ ที่จะมาตรัสรู้และประทับรอยพระพุทธบาทในอนาคตกาล ด้วยระลึกนึกถึงพระคุณ
อันหาประมาณมิได้ ทรงเสียสละสั่งสมบารมีนับชาติมิถ้วน เพื่อตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศ
ธรรมนำเวไนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ พร้อมกราบพระธรรม และพระอริยสงฆ์

ด้วยอานิสงส์ผลแห่งบุญที่ข้าพเจ้าได้กระทำในวันนี้ ขอเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมอย่างไร ขอข้าพเจ้ามีส่วนรู้ตามธรรมของพระองค์ แม้ต้องเกิดอยู่ในภพชาติใดๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนา ได้พบสัตบุรุษผู้รู้ธรรมอันประเสริฐมีกรรมสัมพันธ์ที่ดี ได้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร และเป็นสัมมาทิฏฐิทุกชาติไป มีโอกาสฟังธรรมและประพฤติธรรมจนเป็นปัจจัยให้เจริญด้วยสติและปัญญาญาณ

ตามส่งชาตินี้และชาติต่อๆ ไปจนถึงพระนิพพานในกาลอันควรเทอญ ด้วยกรรมใดที่ได้ล่วงเกินต่อ พระพุทธ
พระธรรม พระอริยสงฆ์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในอดีตชาติก็ตาม ปัจจุบันชาติก็ตาม ขอกราบอโหสิกรรม
ทั้งหมดทั้งสิ้น ขอผลบุญจงสำเร็จแด่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง ท่านเจ้ากรรมนายเวรตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบ ในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านทั้งหลายดังกล่าวนามมานั้น จงมีแต่ความสุขๆ ทุกท่านเทอญ








9. พระธาตุดุม ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร


หลังจากกราบไหว้องค์พระธาตุเชิงชุมแล้ว หลวงพี่ก็ได้นำมากราบไหว้ "พระธาตุดุม" ซึ่งตามประวัติบอกว่าบรรจุ "กระดุม" ของพระพุทธเจ้า นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวสกลนคร


ลักษณะดั้งเดิมเป็นพระปรางค์ก่ออิฐ ๓ หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีร่องรอยของคูน้ำล้อมรอบเห็นได้ชัด ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ ปัจจุบันลักษณะคงเหลือเพียงพระปรางค์องค์เดียว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกับ "พระธาตุนารายณ์เจงเวง"


แต่องค์ปราสาทเล็กกว่าพบทับหลังทั้ง ๔ ด้าน ด้านทิศเหนือเป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ นอกจากนี้ยังมีภาพเทวดาทรงพาหนะเหนือหน้ากาลประกอบด้วยสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง สิงห์ และลายใบไม้ม้วน การกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ศิลปะเขมรแบบบาปวน

10. พระธาตุนารายณ์เจงเวง ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร

สถานที่แห่งนี้ตามประวัติพระธาตุพนม หรืออุรังคนิทานเล่าว่า เป็นสถานที่บรรจุ "พระอังคารธาตุ" ของพระพุทธเจ้า


วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง สร้างขึ้นพร้อมกันกับ "พระธาตุนารายณ์เจงเวง" หรือ "อรดีมายานารายณ์เจงเวง" โดยชื่อนี้ตั้งชื่อตามผู้สร้าง คือ พระนางนารายณ์นาเวง พระมเหสีของพระยาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหารหลวง โดยคณะของพระนางที่เป็นสตรีแห่งเมืองหนองหารหลวง ได้มีการแข่งขันกับกลุ่มบุรุษชาวเมืองหนองหานน้อย เพื่อสร้างพระธาตุไว้รอรับพระมหากัสสป ซึ่งนำ "พระอุรังคธาตุ" ไปบรรจุยังดอยภูกำพร้า (พระธาตุพนม) โดยตกลงกันว่าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างพระธาตุเสร็จก่อนดาวเพ็กขึ้น (ดาวประจำเมือง) ฝ่ายนั้นจะเป็นผู้ชนะ


ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า เมื่อพระมหากัสสปเถระและบริวารเดินทางมาถึงเมืองหนองหานหลวง กลุ่มสตรีชาวเมืองหนองหานได้ทูลขอแบ่งอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระมหาเถระมิได้อนุญาตด้วยผิดวัตถุประสงค์ที่พระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ก่อนปรินิพพาน ว่าให้นำอุรังคธาตุไปประดิษฐานบรรจุเจดีย์ที่ภูกำพร้า (พระธาตุพนม)

แต่เพื่อมิให้เสียศรัทธา พระมหากัสสัปะเถระจึงให้พระอรหันต์รูปหนึ่งไปนำ "พระอังคารธาตุ" (ขี้เถ้าปนเศษกระดูก) จากที่ถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์แห่งนี้ จึงนับว่าพระธาตุนารายณ์เจงเวงเป็นโบราณสถานที่สำคัญของเมืองสกลนคร


ส่วนฝ่ายชายที่สร้างพระธาตุเสร็จไม่ทัน เพราะเสียรู้กลอุบายของฝ่ายหญิงที่ทำดาวเพ็กหลอกขึ้นสู่ท้องฟ้า ปัจจุบันก็ยังสร้างค้างอยู่แค่ฐานเท่านั้น เรียกกันว่า "พระธาตุภูเพ็ก" สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๒๒ เมตร ที่บ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ห่างจากตัวเมืองสกลนครทางรถยนต์ ๓๗ กิโลเมตร โดยมาทางถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ สายนครพนม – อุดรธานี ถึงกิโลเมตรที่ ๑๓๘ เลี้ยวซ้ายเข้าไปทางถนนลาดยางผ่านบ้านนาหัวบ่อ เข้าถึงเชิงภูเขาและเดินขึ้นบันไดอีก ๔๙๑ ขั้น ถึงตัวปราสาท


webmaster - 15/12/12 at 10:11

11. วัดดอนสวรรค์ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

หลังจากที่ได้เดินทางไปกราบไหว้สถานที่สำคัญทั้งสองแห่ง หลวงพี่ฉันเพลและพวกเราทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว จึงได้เดินทางไปที่ท่าเรืออยู่ริมสวนสมเด็จฯ หลังพระธาตุเชิงชุม เพื่อไปเกาะดอนสวรรค์ที่อยู่กลางบึงหนองหาร ตามเวลาที่นัดหมายไว้ประมาณเที่ยงตรง ต้องจอดรถไว้ริมถนนแล้วเดินเข้าไปที่ท่าเรือ โดยมีเรือใหญ่บรรจุคนได้ประมาณ ๕๐ คนรออยู่ ส่วนเรือหางยาวพระอาจารย์มนูญ พร้อมด้วยชาวบ้านดอนเสาธงนำมาเสริมอีก ๙ ลำ


หลวงพี่เป็นผู้จัดให้คนลงเรือ เป็นไปตามที่ได้จองเอาไว้ ใครจองเอาไว้ก่อนก็ให้ลงเรือใหญ่ เพื่อความยุติธรรม และไม่ได้ลำเอียงแต่อย่างใด ให้ความเสมอภาคกับทุกคน ส่วนคนที่แจ้งภายหลัง เมื่อเรือใหญ่เต็มแล้วจึงจัดให้ลงเรือหางยาว


มีหลายคนได้นำเงินค่าเรือมาให้ ซึ่งหลวงพี่ไม่ได้คิดค่าเรือ เพราะท่านตั้งใจจะเหมาให้ไปกันทุกคน ตามที่พระอาจารย์ประทักษ์ (ตุ๋ย) ติดต่อไว้ให้ เรือใหญ่ค่าเช่า ๒,๕๐๐ บาท ส่วนเรือหางยาว ๙ ลำ เขาไม่ได้คิดค่าเช่าเรือ แต่หลวงพี่ก็มอบค่าน้ำมันเรือโดยฝากไว้กับพระอาจารย์มนูญ ๕,๐๐๐ บาท


(ขอบคุณภาพจาก "ไทยรัฐ")


ทางเจ้าหน้าที่ของเรือใหญ่ได้เตรียมชูชีพไว้สำหรับทุกคน วันนี้นับว่าเป็นเรื่องแปลก ถึงแม้จะเป็นเวลาเที่ยงวัน อากาศกลับร่มคลึ้มสบายๆ ลมพัดเย็นๆ ทุกคนรู้สึกสดชื่นที่จะได้มีโอกาสล่องเรือชมหนองหารกันในวันนี้



โดยมีเป้าหมายไปที่ เกาะดอนสวรรค์ ก่อนแล้วจึงวนรอบเกาะ ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงภาพนี้จะมองเห็นศาลาที่อยู่ริมน้ำ ส่วนเรือหางยาวมีคุณเอก จากคณะบ้านก๋ง นั่งคนเดียวเพื่อคอยถ่ายรูป


(ขอบคุณภาพจาก "ไทยรัฐ")

ช่วงนี้มีหลายคนตื่นเต้นเพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า มีคนเห็นพญานาคกันหลายคณะ มีการรายงานข่าวตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ คลิกที่นี่


เมื่อทุกคนเดินขึ้นมาจากเรือแล้ว บังเอิญมีพระรูปหนึ่งที่เคยอยู่ที่นี่ ท่านได้อธิบายสถานการณ์ช่วงนี้ให้ฟังว่า ระหว่างนี้ยังไม่มีพระภิกษุมาอยู่อาศัยประจำ เพราะทางจังหวัดต้องการจะเคลียพื้นที่นี้ก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข้อพิพาทในการถือกรรมสิทธิ์กัน แต่พวกเราคงไม่เกี่ยว เพราะตั้งใจมาเที่ยวเพียงอย่างเดียวนะคะ


พวกเราพากันเดินชมบริเวณด้านหน้าวัด ซึ่งมีศาลาหลังใหญ่และมณฑปพระพุทธบาท พร้อมทั้งเห็นมีต้นไม้ใหญ่ล้ม ส่วนใหญ่จะเป็นต้นยางใหญ่หลายต้น แต่ก่อนนี้ท่านอาจารย์หนุนเคยมาจัดงานปริวาสเป็นประจำทุกปี


จากนั้นได้เดินเข้าไปที่มณฑปกราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาทจำลอง ส่วนประวัติที่มีการเล่าว่า เดิมพระพุทธเจ้าประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่นี่ก่อน หลังจากนั้นพญานาคได้อัญเชิญไปไว้ที่พระธาตุเชิงชุม เรื่องประวัติเหล่านี้ ภายหลังได้กราบเรียนถามพระอาจารย์หนุน ท่านบอกว่าพระพุทธเจ้าได้เหยียบพระบาทไว้ที่พระธาตุเชิงชุมตรงนั้นแหละ ไม่ได้มีการย้ายรอยพระพุทธบาทแต่อย่างใด


เป็นอันว่า หลวงพี่ชัยวัฒน์เข้าใจถูกต้องตามตำนานวัดพระธาตุเชิงชุมแล้ว ตอนนี้ท่านได้ทำความสะอาดพร้อมทั้งกราบไหว้บูชาด้วยดอกไม้ น้ำหอม และทองคำเปลว หลังจากนั้นทุกคนก็เข้าไปบูชาเช่นเดียวกัน แล้วเดินออกไปที่ศาลาหลังใหญ่


พระท่านได้ให้พรแล้วเดินกลับมาที่ท่าเรือ ท่านได้ทักทายกับคนขับเรือหางยาวทั้ง ๙ ลำ พร้อมทั้งขอบใจทุกคนที่ได้นำเรือหางยาวมาช่วยเสริม



ก่อนจะกลับก็มาถ่ายภาพหมู่รวมกันไว้เป็นที่ระลึก



ต่อจากนั้นก็ลงเรือเพื่ออ้อมให้รอบเกาะดอนสวรรค์ โดยนัดหมายกับเรือหางยาวให้ไปเจอกันที่บริเวพญานาคขึ้นมาให้คนเห็น เพราะพวกเราได้เตรียมกระทงมาบูชาด้วย เมื่อเรือมาถึงจุดนัดหมาย ซึ่งคนขับเรือใหญ่บอกว่า ตรงบริเวณนี้แหละที่่เคยเห็นพญานาคกัน จากนั้นหลวงพี่ก็ได้ทำพิธีลอยกระทง โดยมีเรือหางยาวมารออยู่ครบทุกลำ เป็นที่สังเกตว่า แม้เรือใหญ่จะหยุดนิ่งเฉยๆ แต่ก็ไม่ต้องทอดสมอ เพราะเรือไม่ไหลไปตามกระแสน้ำ นับว่าเป็นเรื่องแปลกมาก


หลังจากเสร็จพิธีกันแล้ว เรือก็ออกวิ่งไปเรื่อยๆ แต่พอวิ่งมาได้สักระยะหนึ่ง ปรากฏว่าเรือวิ่งช้าลง คนขับเรือใหญ่บอกหลวงพี่ว่า จะขอหยุดเรือเพื่อสะบัดสาหร่ายที่อาจจะเกาะอยู่ที่ใบจักร จากนั้นเรือก็ถอยหน้าถอยหลัง แล้วออกเดินทางต่อไป


พอเรือออกวิ่งมาได้ระยะหนึ่ง ได้เสียงร้องบอกว่าเห็นพญานาคอยู่ด้านท้ายเรือ ทุกคนต่างก็เฮโลเดินไปด้านหลังจนเรือเอียงไปทันที แม้แต่ผู้บันทึกเองก็ยังเห็นเกลียวคลื่นที่อยู่ไกลออกไป เกลียวคลื่นน้ำนั้นสูงเป็นโค้งครึ่งวงกลม ประมาณ ๔-๕ โค้ง ซึ่งไม่ใช่คลื่นของเรืออย่างแน่นอน บางคนก็เห็นเป็นลำตัวที่ดำแวววาว

ส่วนคนที่นั่งเรือหางยาว โดยเฉพาะคุณหลีบอกว่า ช่วงนั้นตนนั่งอยู่บนเรือหางยาว มองเห็นลำตัวยาวอยู่ข้างลำเรือใหญ่ เฮียที่เป็นสามีเจ๊จูบอกว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่เรือจะติดสาหร่าย เพราะช่วงนี้น้ำลึกมาก ขนาดว่าเรือไปจอดที่เกาะยังไม่เห็นมีอะไร อาจจะเป็นเพราะท่านมาอยู่ใกล้ๆ นั่นเอง ในขณะที่พวกเราตั้งใจจะมองหาออกไปไกลๆ ที่ไหนได้..ท่านแอบมาอยู่ใกล้เรานั่นเอง...

คลิปวีดีโอ กบนอกกะลา ตอน ตลุยดอนสวคค์





webmaster - 16/12/12 at 10:27

(Update 20 ธันวาคม 2555)


12. พระพุทธบาท บ้านซ่งน้ำพุ ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร


หลังจากที่ไปล่องเรือชมหนองหารกันแล้ว หลวงพี่ก็ได้ชักชวนพวกเราร่วมทำบุญกับท่านอาจารย์มนูญ สำนักบ้านดอนเสาธง ที่ได้นำเรือหางยาวมาช่วยเสริม ๙ ลำ จากนั้นหลวงพี่จึงได้นำคณะทั้งหมดกลับมาที่ "บ้านซ่งน้ำพุ" อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่ายังพอมีเวลา ก่อนที่จะไปร่วมงานพิธีเททอง ณ วัดพุทธโมกข์ ในเวลา ๒ ทุ่มโดย ประมาณ


เนื่องจากบ้านซ่งน้ำพุอยู่ห่างจากวัดพุทธโมกข์ประมาณ ๑๕ ก.ม. เท่านั้น พวกเราจึงได้นำรถเข้าไปจอดที่บริเวณ "ศาลปู่ตา" ซึ่งหลวงพี่ได้มาสำรวจไว้ก่อนเมื่อวานนี้ วันนี้จึงไม่ลำบากในการหาที่จอดรถ ญาติโยมต่างก็เดินมาล้อมกันที่บ่อน้ำพุ พร้อมกับเปิดน้ำพุให้ทุกคนได้ดื่มกิน บางคนก็นำใส่ขวดกลับมาด้วย


เมื่อได้ลิ้มรสน้ำพุมหัศจรรย์อันเป็นสิ่งมงคล ที่เกิดในวันประสูติพร้อมด้วยพระขรรค์ของ "พระยาสุรอุทก" กันแล้ว ซึ่งพระองค์เป็นพระราชบิดาของ "พระยาสุวรรณภิงคาร" เจ้าเมืองหนองหารหลวง (สกลนคร) หลวงพี่จึงนำไปที่รอยพระพุทธบาทกลางทุ่งนา ท่านได้บอกว่าถึงแม้รอยจะไม่ชัดเจน แต่อานุภาพหาประมาณไม่ได้ เนื่องด้วยตากแดดตากฝนอยู่นานแล้ว หลวงพี่จึงมอบทุนให้สร้างศาลาครอบไว้ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๘


โดยเฉพาะที่สำคัญตาม "ตำนานพระธาตุพนม" ได้กล่าวถึงบ้านซ่งน้ำพุ หรือ "บ้านทรงน้ำพุ" ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปที่พระธาตุเชิงชุมแล้ว ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จมาที่นี่ด้วย เสียดายที่หลักฐานตรงนี้ถูกตัดออกไป


เมื่อได้ทำพิธ๊กราบไหว้บูชากันแล้ว โดยถวายพานบายศรีไว้ ๑ พาน อีกพานหนึ่งจะนำไปถวายไว้ที่รอยพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในบริเวณ "ศาลปู่ตา" ที่อยู่ห่างกันประมาณ ๕๐ เมตรเท่านั้น คุณบำรุง และคุณน้อย ภรรยา จากสวรรคโลก เป็นผู้จัดทำกระทงที่หนองหาร และบายศรี ๒ พาน ที่บ้านซ่งน้ำพุ


หลังจากหลวงพี่ได้เล่าประวัติความเป็นมาแล้ว จึงเดินทางกลับไปที่ วัดป่าสามัคคี อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ซึ่งอยู่ก่อนถึงวัดพุทธโมกข์ แค่ไม่กี่กิโล เพื่อให้ญาติโยมรับประทานอาหารเย็นกัน หลังจากนั้นได้มีการทำบุญบำรุงวัดป่าสามัคคี โดยมี พระสมุห์ประทักษ์ (อ.ตุ๋ย) ธัมมธโร เป็นเจ้าอาวาส และชาวบ้านวัดป่าสามัคคีให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ต้องขออนุโมทนความมีน้ำใจไมตรีไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ

13. วัดพุทธโมกข์ อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร


ต่อจากนั้นจึงเดินทางไปพักค้างคืนที่วัดพุทธโมกข์ เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. หลวงพ่อเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล (พระครูปลัดอนันต์) พร้อมด้วยหลวงพ่อโอ หลวงพี่ชัยวัฒน์ และพระอาจารย์หนุน ได้ทำพิธีหล่อพระ ๓ องค์ คือ สมเด็จองค์พระปฐม หน้าตัก ๔ ศอก หลวงปู่ปาน และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน โดยมีช่างเนียน-ช่างประเสริฐ เป็นช่างหล่อ


ก่อนพิธีเททองมีการทำพิธีบวงสรวงก่อน จากนั้นประธานในพิธีคือ ท่านเจ้าคณะภาค และท่านเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร ได้ทำพิธีเททอง โดยมีพระเถรานุเถระเจริญชัยมงคลกถาตลอดพิธี


























หลังจากเสร็จพิธีเททองกันแล้ว พวกเราก็ช่วยกันปล่อยโคมลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ต่อจากนั้นก็คงอำลาขอเข้านอน ซึ่งศาลาหลังใหญ่หรือทุกแห่งในวัด เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาค้างคืน พระสงฆ์ก็เดินทางมาค้างคืนกันหลายสิบรูป ส่วนฆราวาสบางคณะก็ออกไปค้างคืนในตัวเมืองสกลนครบ้าง และพักตามรีสอร์ทที่อยู่ใกล้ๆ กันบ้างตามอัธยาศัย



25 พฤศจิกายน 2555 (งานทอดกฐิน)


ตอนเช้าวันนี้ พระสงฆ์ฉันเช้า และญาติโยมทานอาหารเช้ากันแล้ว ก็เริ่มมีการจัดเตรียมงานทอดกฐินกันต่อไป โดยมีเจ้าภาพมาร่วมงานกันมากมาย เมื่อคืนนี้นอนเต็มศาลาไปหมด





















คลิปวีดีโอ "งานทอดกฐิน ณ วัดพุทธโมขก์"



14. วัดพระพุทธบาทน้ำทิพย์ ต.สร้างค้อ อ.ภูพาน จ.สกลนคร


หลวงพี่ได้เคยมาที่นี่หลายครั้งแล้ว และได้ถวายปัจจัยร่วมสร้างพระพุทธรูป หน้าตัก ๑๘ ศอก แบบพระพุทธชินราช ปางมารวิชัย แต่ก็ไม่เคยเจอเจ้าอาวาสสักครั้งเลย ฉะนั้น เจ้าอาวาสที่นี่ได้ไปหาหลวงพี่ก่อนงานกฐิน จึงได้นัดกันไว้ว่าขากลับจากงานกฐิน ๒๓ วัด จะแวะกราบรอยพระพุทธบาท และร่วมทำบุญกับวัดสร้างฐานพระพุทธรูปที่ยังค้างอยู่


ในขณะที่พวกเราเดินทางมาถึง พระที่นี่แจ้งว่าเจ้าอาวาสไปธุระที่อื่นกำลังเดินทางกลับมา พวกเราจึงขอไปกราบไหว้ที่รอยพระพุทธบาทที่อยู่ตรงข้ามกับสำนักสงฆ์กันก่อน


ช่วงนี้คุณก๋วยเจ๋ง-คุณหลี ได้นำเครื่องบูชามาด้วย จึงช่วยให้พวกเราทุกคนได้มีดอกไม้โปรย น้ำหอม และทองคำเปลว จากนั้นหลวงพี่ก็ได้นำน้ำในรอยพระพุทธบาทประพรมให้พวกเราทุกคน พร้อมทั้งกระเป๋าสตางค์เพื่อให้เงินไหลมาเทมาเหมือนกันที่ไหลผ่านรอยพระพุทธบาทนี้


จากนั้นก็ออกมาพบกับเจ้าอาวาส และได้พบกับคณะอื่นๆ ที่เดินทางผ่านมาด้วย ช่วยกันทำบุญสร้างพระใหญ่กัน รวมเงินทำบุญ ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยเครื่องไทยทานที่คุณก๋วยเจ๋ง-คุณหลี พร้อมด้วยคณะ จึงขออนุโมทนาสาธุ..กับทุกท่านด้วยค่ะ






webmaster - 20/12/12 at 13:34

26 พฤศจิกายน 2555 (มหาสารคาม - ขอนแก่น - ชัยภูมิ)

15. พระพุทธมิ่งเมือง (พระยืนองค์แม่) วัดสุวรรญาวาส ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม


พระพุทธมิ่งเมือง วัดสุวรรณาวาส เป็นพระพุทธรูปทรงอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ เป็นปูชนียะวัตถุที่ควรแก่การเคารพสักการบูชายิ่ง แต่ชาวบ้านทั่วไปจะนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อพระยืน" เป็นพระพุทธรูปที่พึ่งทางใจของชาวพุทธ เป็นที่เคารพบูชาของชาวมหาสารคามและพุทธศาสนิกชนทั่วไป


พระพุทธรูปองค์นี้เป็นปางสรงน้ำ มีความสูงตลอดองค์ 4 เมตร กว้าง 1 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยขอมก่อนยุคสุโขทัย พระพักตร์หันไปทางทิศใต้ เป็นพระพุธรูปที่ท้าวลินทอง เจ้าครองเมืองคันธวิชัยในสมัยจุลศักราช 147 (1328) สร้างขึ้นเพื่อทดแทนคุณมารดา(นางบัวคำ) ถือเป็นปูชนียะวัตถุเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองตามประวัติที่หาได้จากใบเสมาที่ฝังอยู่ใกล้พระยืน ได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติในปี 2478


พวกเราได้มาถึงสถานที่นี่โดยบังเอิญ ในขณะที่กำลังฉันอาหารเช้าอยู่ในตลาดนั้น หลวงพี่นึกขึ้นได้ว่าเคยมาที่นี่เมื่อหลายปีก่อนแล้ว ครั้งนั้นได้แวะไหว้พระยืนที่ฝังอยู่ใต้โคนโพธิ์ก่อน แล้วจึงได้แวะมาไหว้พระยืนที่นี่ แล้วเกิดปาฏิหาริย์ คือมีฝนโปรยลงมาชั่วขณะหนึ่งในขณะที่ท้องฟ้าแจ่มใส ครั้งนี้หลวงพี่จึงแวะกราบพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอกันทรวิชัย ด้วยการกราบไหว้บูชาและทำบุญใส่ตู้บำรุงวัดตามอัธญาศัย ประมาณ ๕๐๐ บาท

16. พระพุทธมงคลเมือง (พระพุทธยืนมงคล หรือพระยืนองค์พ่อ) ต. โคกพระ อ.กันทาวิชัย จ.มหาสารคาม


ประวัติพระยืน พระพุทธมิ่งเมือง และพระพุทธมงคลเมือง

.......พระพุทธมิ่งเมือง (วัดสุวรรณาวาส) และพระพุทธมงคลเมือง (วัดพุทธมงคล) ทั้งสององค์ทรงอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ เป็นปูชนียวัตถุที่ควรแก่การสักการบูชายิ่งทั้งสององค์นี้ ชาวบ้านมักนิยมเรียกกันว่า “หลวงพ่อพระยืน”

พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้เป็นปางสรงน้ำมีความสูงตลอดองค์ประมาณ 8 ศอก กว้าง 2 ศอก พระเนตรและเนื้อองค์พระสร้างด้วยศิลาแลงอย่างดี เป็นพระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยขอม ก่อนยุคสุโขทัย หลวงพ่อพระยืนทั้งสององค์ผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างกันประมาณ 1.250 เมตร

หลวงพ่อพระยืนทั้งสององค์เป็นปูชนียวัตถุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ตามตำนานหรือประวัติที่หลักฐานยืนยันจากใบเสมาที่ฝังอยู่ใกล้องค์พระได้เขียนเป็นอักษรขอมว่า สร้างปี ฮวยสง่า พุทธศักราช 1399 ปัจจุบันอักษรที่ปรากฏอยู่ใบเสมาเลอะเลือนไปมากแล้ว


ตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมา เดิมทีดินแดนแถบนี้ขอมได้ครอบครองมาก่อน ต่อมาทางนครเวียงจันทร์ มีอำนาจเข้าครอบครองจากขอม มีเจ้าผู้ปกครองโดยอิสระเรียกว่า “เมืองกันทาง” หรือ “เมืองคันธาธิราช” ก่อนปีมะเส็ง จุลศักราช 147 (ปี พ.ศ. 1328) ผู้ครองเมืองคนสุดท้ายมีนามว่า “ท้าวลินจง”

ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น“หลวงบริเวณ” มีภรรยาชื่อ “บัวคำ” ปกครองราษฎรหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา หัวเมืองต่างๆ ส่งส่วยขึ้นต่อเมืองคันธาธิราช ที่หลวงบริเวณปกครองอยู่เป็นประจำ ท้าวลินจงมีบุตรชายคนเดียวชื่อว่า “ท้าวสิงห์โต” หรือ “ท้าวลินทอง” บุตรชายของท้าวลินจง เป็นผู้มีจิตใจโหดเหี้ยม หากท้าวลินจงจะให้บุตรเป็นผู้ปกครองเมืองแทนตน ก็เป็นการไม่เหมาะสมจะเป็นเหตุให้ราษฎรผู้อยู่ใต้ปกครองได้รับเดือดร้อน

เนื่องจากขาดความเมตตา ความนี้ได้ทราบถึงท้าวลินทองผู้บุตรจึงมีความโกรธแค้นบิดาเป็นอย่างยิ่งจึงได้ตัดพ้อต่อว่าบิดาต่างๆ นาๆ แล้วบังคับให้บิดาตั้งตนเป็นผู้ครองเมืองแทน ผู้เป็นบิดาไม่ยินยอมท้าวลินจงจึงถูกท้าวลินทองผู้เป็นบุตรจับขังทรมานด้วยการเฆี่ยนทุบตี ใช้มีดกรีดตามเนื้อตัว เพื่อบังคับให้บิดายกเมืองให้แก่ตน บิดาก็หาได้ยอมไม่ บิดาได้รับการทรมานต่อไปด้วยการขังในห้องมืด ห้ามข้าว ห้ามน้ำ มิให้ผู้ใดเข้าเยี่ยมเด็ดขาด นอกจากมารดาเพียงผู้เดียว

แต่ห้ามมิให้นำเอาอาหารและน้ำเข้าไปให้บิดา มารดาได้ทัดทานอ้อนวอนอย่างใดท้าวลินทองก็หาได้ฟังไม่ ด้วยความรัก และความห่วงใยสามีนางจึงทำอุบายนำข้าวน้ำ โดยเอาผ้าสะใบเฉียง ชุบข้าวบดผสมน้ำนำไปเยี่ยมสามีได้ดูดกินประทังชีวิตไปวันๆ แต่หาได้พ้นสายตามของบุตรไม่ ท้าวลินทองจึงห้ามมารดาเข้าเยี่ยมอีกต่อไป

ท้าวลินจงอดข้าว อดน้ำได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนถึงแก่ความตายในที่สุดก่อนที่จะสิ้นลมปราณท้าวลินจงได้ตั้งจิตอธิษฐานกล่าวฝากเทพยดาผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมผู้สถิตอยู ่ ณ พื้นธรณีนั้นว่า

“......ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ของข้าพเจ้าเพื่อหวังความสงบสุขของบ้านเมืองอันเป็นที่ตั้งอาศัยของข้าพเจ้า แต่เหตุการณ์ในชีวิตกลับมีการเป็นไปได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส ขอให้เทพยดาฟ้าดินผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดในที่สุขเถิด และขอให้มนุษย์มีจิตใจโหดเหี้ยมดุร้าย ทารุณ ขาดคุณธรรม พูดจาโกหกหลอกหลวง ไม่สัตย์ซื่อนับแต่นี้ไปข้างหน้าจะเป็นผู้ใดก็ตาม หากเป็นเจ้าเมืองนี้แล้วขออย่าให้มีความสุขความเจริญเลย ขอให้ประสบแต่ความวิบัติ ความพินาศ ฉิบหาย ขอให้เกิดความเดือดร้อนหายนะต่างๆนานาเถิด....”

เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็สิ้นลมหายใจเมื่อท้าวลินจงถึงแก่ความตายแล้วนางบัวคำผู้เป็นมารดาจึงได้ต่อว่าท้าวลินทองผู้บุตรว่าทรมานบิดาของตนถึงแก่ความตาย ท้าวลินทองไม่พอใจเกิดโทษะจริตกอปรด้วยโมหะจริตจึงฆ่ามารดาของตนอีกคนหนึ่ง เมื่อท้าวลินจงกับนางบัวคำตายแล้วท้าวลินทองจึงได้ปกครองเมืองคันธาธิราชสืบมา

นับแต่ท้าวลินทองปกครองเมืองคันธาธิราช เป็นต้นมา บ้านเมืองมีแต่ความระส่ำระสายไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ได้รับแต่ความเดือดร้อน ท้าวลินทองเองก็รู้สึกไม่สบายกายใจไม่เป็นอันกินอันนอน ทั้งที่มีทรัพย์มากมายก่ายกอง จึงหาโหรมาทำนายทายทัก โหรทำนายว่าท้าวลินทองได้ทำบาปกรรมมหันตโทษผลกรรมจึงทำให้เดือดร้อนเป็นผลมาจากการอธิษฐานจิตอันแน่วแน่ของบิดาที่ได้สาปแช่งเอาไว้ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจกอปรกั บมาตุฆาตฆ่ามารดาตนเอง

ทั้งนี้การจะล้างบาปกรรมได้ก็โดยการสร้างพระพุทรูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญเพื่อทดแทนพระคุณบิดาและมารดาพระพุทธรูปองค์หนึ่งสร้างอุทิศเพื่อทดแทนพระคุณมารดาสร้างที่นอกเขตกำแพงเมืองทางทิศอุดร ผินพระพักตร์ไปเบื้องทักษิณทิศ คือพระพุทธมิ่งเมือง ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส (ปัจจุบัน) อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม



เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้สร้างพระพุทธรูปยืนขึ้นอีกองค์หนึ่งเพื่อทดแทนพระคุณบิดาโ ดยสร้างขึ้นในกำแพงเมืองผินพระพักตร์ไปเบื้องทักษิณทิศ คือ พระพุทธมงคลเมืองที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพุทธมงคล(ปัจจุบัน) อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อท้าวลินทองได้สร้างพระพุทธรูปทั้งสององค์เสร็จแล้ว ความเดือดร้อนกระวนกระวายใจก็มิได้เบาบางลง ท้าวลินทองก็ได้ล้มป่วยลงอย่างกะทันหัน

พอดีมีโหรมาจากเมืองพิมายเดินทางผ่านมาและขอเข้าพบและทำนายดวงชะตาชีวิตของท้าวลินทอง โหรได้ทำนายว่าท้าวลินทองจะตายภายใน เร็ววัน ท้าวลินทองได้ยินถึงกับบันดาลโทสะสั่งประหารชีวิตโหรทันที แต่พวกข้าราชการที่ปรึกษาได้ขอชีวิตโหรไว้

โหรจึงทำนายไปว่าหากท้าวลินทองสร้างพระพุทธรูปปางพุทธไสยาสน์ด้วยทองคำหนักเท่าตัวขึ้นอีกองค์หนึ่ง ความทุกข์ร้อนที่มีอยู่จะบรรเทาเบาบางลง ท้าวลินทองก็ได้สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ด้วยทองคำตามคำทำนายของโหรขึ้น แล้วจึงสร้างพระอุโบสถขึ้นครอบองค์พระไว้


แต่ด้วยบาปกรรมของท้าวลินทองเป็นมหันตโทษคือมาตุฆาต ปิตุฆาต จึงไม่สามารถสร้างให้สำเร็จได้ ท้าวลินทองก็ได้ถึงแก่ความตาย แต่ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจท้าวลินทองก็ได้อธิษฐานว่า “พระพุทธรูปทองคำอย่าให้คนพบเห็นเป็นขาด หากผู้ใดมีเคราะห์กรรมได้พบเห็นขอให้ผู้นั้นล้มป่วยพินาศฉิบหายและให้ถึงแก่ความตาย” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีผู้ใดกล้ำกลายเขตพระอุโบสถ (พระพุทธรูปทองคำ) นั้นเลย

กาลล่วงเลยมานานจนเกิดเป็นป่าร้างต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ พระพุทธรูปทองคำจึงไม่มีใครพบเห็น ถ้าผู้ใดชะตากรรมถึงฆาตพบเห็นก็จะเกิดอาเพศป่วยไข้ถึงแก่ความตายความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เล่าลือ ตราบเท่าทุกวันนี้ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าว คณะสงฆ์อำเภอกันทรวิชัย ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นสำนักปฏิบัติธรรมและตั้งชื่อว่า วัดพระพุทธไสยาสน์ (หรือวัดดอนพระนอน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธรูปทองคำหรือ "พระพุทธไสยาสน์" หลักฐานที่ปรากฏชัดเจน คือ การศึกษาจากใบเสมาที่ปรากฏในสถานที่ดังกล่าว


ปัจจุบันนี้ "พระพุทธรูปองค์พ่อ" พระบาทท่านจมอยู่ตรงโคนต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์เกิดขึ้นมาในภายหลังได้ห่อหุ้มส่วนพระบาทเอาไว้หมด จากนั้นจึงร่วมทำบุญใส่ตู้ตามอัธยาศัย ๕๐๐ บาท แล้วนำดอกไม้ธูปเทียนนั้นกราบไหว้บูชาต่อไป จากนั้นได้ออกเดินทางต่อไป ระหว่างทางหลวงพี่บอกให้แวะที่ "วัดพระพุทธไสยาสน์" ปรากฏว่าบริเวณวัดเป็นป่าไม้ร่มเย็นดีแต่เงียบเหงาไม่มีใครอยู่ในวัดเลย พวกเราได้เข้าไปกราบพระนอนปูนปั้นองค์เล็กอยู่ในศาลา จากนั้นออกเดินทางต่อไป

17. รอยพระพุทธบาทในป่าลึก อ.ชนบท จ.ขอนแก่น



เช้าวันนี้หลวงพี่ได้สั่งให้เตรียมอาหารเพลไปด้วย หลังจากเตรียมแสบียงมาแล้ว ได้แวะซื้อเต่าเพื่อมาปล่อยเนื่องจากมีผู้ร่วมทางเกิดเดือนนี้ถึง ๓ คน โดยซื้อเต่าที่บริเวณพระพุทธยืนมงคลโชคดีที่คุณสุรศักดิ์ อุบาลี จากอยุธยา นำรถปิ๊คอัพไปด้วย จึงช่วยกันขนของได้โดยสะดวก แม้แต่กระติกน้ำแข็ง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ


ก่อนถึงรอยพระพุทธบาทมีหนองน้ำที่ใหญ่พอสมควร พวกเราช่วยกันปล่อยจนเสร็จเรียบร้อย หลังจากปิดทองที่หลังเจ้าเต่าทุกตัว จากนั้นก็เข้ามาถึงรอยพระพุทธบาทเพลพอดี หลวงพี่ฉันเพลแล้ว จึงเริ่มพิธีกราบรอยพระพุทธบาท


พวกเราได้ทำการบูชาด้วยการทำความสะอาดบริเวณสถานที่ และที่รอยพระพุทธบาททุกรอยด้วย สำหรับสถานที่นี้ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด เพราะต้องเข้าไปในป่าลึกมาก ห่างจากหมู่บ้านไกลพอสมควร ต้องอาศัยความจำจากหลวงพี่และคุณพี่สำราญ รอยพระพุทธบาทแห่งนี้แปลกกว่าที่อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่รอยจะลึกลงไป แต่สำหรับที่นี่จะนูนขึ้นมาแล้วมีขอบคล้ายฐานดอกบัวรองรับด้วย


หลังจากทำความสะอวดโดยรอบแล้ว โดยเก็บผ้าห่มรอบพระพุทธบาทเดิมที่หลวงพี่เคยมาห่มเมื่อปีที่แล้ว จากนั้นพวกเราได้ช่วยกันห่มด้วยผ้าสไบทองผืนใหม่ และหลวงพี่ได้เสียสละผ้าจีวรของท่าน โดยการนำไปขึงเป็นเพดานกางกั้นรอยพระพุทธบาท ถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยผ้าจีวร

คล้ายกับที่ "ท่านพระมหากัสสป" ได้บูชาพระเจดีย์ทองคำของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ทรงพระนาม "พระพุทธกัสสป" ด้วยผ้าห่มของตนเองในชาติก่อน เพราะความยากจนไม่มีผ้าอะไรที่จะมีค่าเท่ากับผ้าของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ผลบุญอันยิ่งใหญ่ได้ส่งผลให้ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งท่านได้ประกาศบุพกรรมของท่านหลังจากสิ้นอาสวะกิเลสแล้ว


เมื่อได้ทำพิธีกราบไหว้บูชาเสร็จแล้ว คุณอิฏฐ์ได้ถวายหนังสือคอมพิวเตอร์แก่หลวงพี่ เนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิด ซึ่งใกล้เคียงกับวันเกิดของ "น้องติ๋ว" และ "น้องตึ๋ง" ด้วย

18. พระใหญ่ชัยภูมิ ต.นาฝาย อำเภอเมือง จ.ชัยภูมิ

หลังจากแยกกันกับคณะของน้องติ๋วและน้องนนท์แล้ว คณะที่เหลือคือ นายดาบรอดและน้องหนิง (อุไรวรรณ) ก็แวะที่พระใหญ่ชัยภูมิ นับเป็นโชคดีที่มาหลายครั้งไม่เคยพบกับเจ้าของโครงการนี้เลย ครั้งนี้ได้มีโอกาสพบกับท่านอาจารย์ทิพากร เจ้าของโครงการสร้างพระใหญ่ จึงได้รวมเงินทำบุญกันมากมาย ๑๕,๐๐๐ บาท ทั้งที่ผ่านมาหลายวันเงินก็เริ่มร่อยหรอไปแล้ว










ท่านอาจารย์ทิพากรได้นำไปดูการขุดลงไปที่พื้นศิลาแลง เพื่อเทปูนลงไปทำเป็นฐานราก งานที่ล่าช้าเพราะไปเจอหินใต้พิ้นดินนี่เอง ซึ่งตั้งใจจะสร้างให้เสร็จทันปี ๒๕๖๑ เพื่อให้ทันก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยท้าวสักกเทวราชเป็นผู้สั่งให้สร้างเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประเทศ



19. รอยพระพุทธบาท สำนักสงฆ์โสกหอย ต.หนองบัวบาน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ

หลังจากนั้นได้ออกเดินทางล่องลงมาที่แห่งนี้ เนื่องจากหลวงพี่เคยมาสร้างพระใหญ่ หน้าตัก ๑๕ ศอก เป็นองค์แรกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาก็ได้ไปสร้างทางภาคใต้ที่ วัดแหลมสน อ.หลังสวน จ.ชุมพร และภาคตะวันตกที่ วัดเขาดินเหนือ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี และภาคเหนือที่วัดพระร่วง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้เหมือนกันหมด ชื่อว่า "พระพุทธพรชัยมงคลมุนี"


ขณะที่ไปถึงพบว่าทางสำนักกำลังจะทอดกฐินวันรุ่งขึ้น จึงได้ร่วมทำบุญทอดกฐินเป็นเงิน ๘,๕๐๐ บาท เพราะทางวัดกำลังสร้างศาลาและพระประธาน พร้อมด้วยพญานาคพอดี สถานที่นี้มีรอยพระพุทธบาท ๒ รอย และแท่นประทับนอน พวกเราโชคดีเลยได้ทอดกฐินเป็นวัดสุดท้าย


ตอนที่อยู่ในศาลา พี่มายินมองเห็นรูปปั้นพญานาค จึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนฝันเห็นพญานาค มีรูปลักษณะที่เห็นนี่แหละ แต่ในฝันเห็นเป็นจำนวนมากเต็มห้องไปหมด มีลักษณะเป็นสีเขียวผสมทอง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะพี่มายินไม่เคยเห็น และยังไม่เคยมาที่สำนักแห่งนี้มาก่อนเลย


ท่านอาจารย์อดุลย์ เจ้าสำนักจึงบอกว่าเดิมคิดว่าจะปั้นเป็นสีทองทั้งองค์ แต่เมื่อฝันเป็นสีเขียวเช่นนี้ แสดงว่าท่านคงไปเข้าฝันเพื่อบอกให้ทราบ จึงตัดสินใจปั้นเป็นสีเขียวผสมทองนี่แหละ โดยปั้นองค์ใหญ่อยู่ด้านหน้าศาลา ส่วนองค์เล็กจะสร้างไว้ให้ญาติโยมบูชา


จากนั้นได้เดินไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาท ซึ่งได้พบตั้งแต่มาสร้างพระใหญ่ที่วัดบ้านหลักศิลา เมื่อปี ๒๕๔๘ (อยู่ห่างกันประมาณ ๘๐๐ เมตร แต่เวลานี้ได้ทำทางเข้าคนละด้าน)


ในปี ๒๕๔๘ ท่านอาจารย์หนุนได้มาช่วยสร้างพระใหญ่ด้วย หลังจากทำพิธีที่พระใหญ่แล้ว ท่านได้นำมาที่รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ ปรากฏว่าเกิดเหตุอัศจรรย์ "พระอาทิตย์ทรงกลด" กว้างใหญ่สวยงามมาก อีกทั้งมีแสงสีเกิดขึ้นเป็นพิเศษที่ไม่เคยเกิดที่ไหนมาก่อน นั่นก็คือมีแสงฉัพพรรณรังสีส่องลงเป็นลำแสง ในลำแสงก็มีเกล็ดระยิบระยับลอยลงมาด้วยนานเป็นชั่วโมง หลังจากนั้นหลายปีหลวงพี่เพิ่งจะมีโอกาสกลับมาอีกในครั้งนี้


ส่วนภาพนี้ก้อนหินก้อนนี้เพิ่งได้เห็น เป็นคล้ายแท่นบรรทม มีก้อนหินลักษณะเหมือนหมอนด้วย มองดูสวยงามตามธรรมชาติ




ในตอนนี้ พอดีเป็นเวลาฉันเพล โชคดีที่พวกเราซื้อเตรียมไว้แล้ว จึงได้ไปจัดอาหารที่ศาลาหลังเก่า พระที่วัดท่านก็ฉันเพลพอดี จึงได้ทำอาหารเพลถวายพระอีกหลายรูป พร้อมกับหลวงพี่ได้ถวายส่วนองค์ท่านอีกทุกรูป



20. รอยพระพุทธบาท วัดบ้านหลักศิลา ต.หนองบัวบาน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ


พวกเราได้นำรถย้อนกลับออกไปเข้าทางวัดบ้านหลักศิลา ได้เข้าไปกราบรอยพระพุทธบาทที่อยู่ในศาลา เสร็จแล้วไปดูพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นองค์แรก ชื่อว่า "พระพุทธพรชัยมงคลมุนี" หลวงพี่ได้มอบเงินให้ท่านอาจารย์อดุลย์ เพื่อช่วยบูรณะทาสีองค์พระใหม่และซ่อมแซมฐานที่ชำรุด เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท


ระหว่างที่เข้าไปในวัดบ้านหลักศิลา ปรากฏว่าไม่พบท่านเจ้าอาวาส หลวงพี่จึงฝากเรื่องการซ่อมพระพุทธรูปไว้กับฆราวาสที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน


พระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญมาก ในขณะทำพิธีเมื่อปี ๒๕๔๘ ปรากฏว่ามีพระอาทิตย์ทรงกลดด้วย ในครั้งนั้นมีเจ้าภาพร่วมบุญ กองละ ๕,๐๐๐ บาท


ในตอนนั้นรีบเร่งในการสร้าง ช่างทิดแก้วจึงทาแค่สีรองพื้น แล้วยังไม่ได้ทาสีจริงอีกเลย ด้วยเหตุนี้หลวงพี่จึงได้มอบหมายให้พระอาจารย์อดุลย์ช่วยซ่อมป้ายชื่อที่หล่นลงมา พร้อมทั้งทำป้ายชื่อพระพุทธพรชัยมงคลมุนีใหม่ ถ้าเงินยังไม่เพียงพอ หลวงพี่จะจัดส่งไปเพิ่มเติมภายหลังอีก


ในขณะที่เดินสำรวจ ปรากฏว่ามีเมฆลอยมาบังพระอาทิตย์ ทำให้ถ่ายภาพไม่แจ่มใส อย่างไรก็ตามนับว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นองค์แรกประจำภาคอีสาน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประเทศ การซ่อมแซมครั้งนี้คงจะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ชาวอีสานด้วย


ซากต้นตะเคียนเก่าแก่อยู่ภายในวัดบ้านหลักศิลา มีผู้นำเครื่องแต่งกายสตรีชุดไทยมาถวายไว้ด้วย หลวงพี่ยืนมองดูอยู่นานบอกว่า "เสียดายมองไม่เห็นตัวเลขสักตัวเลย"


ก่อนจะออกจากหมู่บ้าน ท่านอาจารย์อดุลย์ได้นำมาแวะที่หลักศิลา ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ พร้อมตั้งชื่อหมู่บ้านไว้ตามที่มีหลักศิลาอยู่ด้วย

รวมยอดเงินทำบุญ ตั้งแต่วันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน 2555 เป็นเงิน 117,900 บาท เพื่อทุกท่านได้อนุโมทนาร่วมกัน เพราะการเดินทางครั้งนี้ นับเป็นบุญใหญ่ได้สร้างได้ซ่อมพระใหญ่หลายองค์..สวัสดีค่ะ

 ll กลับสู่สารบัญ