เล่าเรื่องการเดินทางไปภาคอีสาน - ลาว (สุวรรณเขต) 5 - 8 เม.ย.56
webmaster - 23/5/13 at 22:23
เล่าเรื่องการการเดินทางไปภาคอีสาน - ลาว (สุวรรณเขต)
เมื่อวันที่ 5 - 8 เมษายน 2556
๕ เมษายน ๒๕๕๖ (วัดท่าซุง - ชัยภูมิ - ขอนแก่น)
......การเดินทางไปภาคอีสานในครั้งนี้ เนื่องจากหลวงพี่ชัยวัฒน์ได้รับกิจนิมนต์ไปงานพิธีเททองหล่อพระ ณ วัดศรีสันติธรรม (วัดป่าคำบง) บ้านโคกสี ต.ชุมพร
อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด โดยพระอาจารย์คำจร เป็นผู้นิมนต์ ตอนแรกหลวงพี่ปฏิเสธว่าไปไม่ได้ เพราะกำลังเตรียมตัวจะไปเยอรมัน
แต่ภายหลังท่านเห็นว่าพวกเราพอไปกันได้ เพราะเป็นวันฉัตรมงคลสามารถหยุดงานติดต่อกันได้ถึงวันจันทร์
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ตัดสินใจเดินทางไปในงานครั้งนี้ ในระหว่างเดินทางท่านคิดถึงคณะชัยภูมิ จึงได้แวะเยี่ยมคณะชัยภูมิที่บ้านคุณหมีและน้องใหม่
ซึ่งเป็นลูกชายของคุณแม่อุไรวรรณ (พึงพิศ) คิดบรรจร เมื่อท่านไปถึงมีคณะชาวชัยภูมิมารออยู่หลายคน เช่น คุณนิยม คิดบรรจง (น้องชายคุณพึงพิศ)
ต่างก็ดีใจร่วมทำบุญกับท่าน พร้อมกับถวายเครื่องบูชารอยพระพุทธบาทมากมาย เช่น ฉัตร พุ่มเงินพุ่มทอง เป็นต้น
ซึ่งมีคณะผู้ร่วมเดินทางติดตามก็คือ คณะนายดาบรอด - คุณอุไรวรรณ (หนิง) จากระยอง, คณะคุณสุรศักดิ์ - คุณนนทยา จากอยุธยา, คณะคุณติ๋ว (การบินไทย)
มีคุณอิฏฐ์, คุณวันทนา (แม่ของอิฏฐ์), คุณเอมอร, คุณเบญจ์ ส่วนรถของหลวงพี่ก็มีคุณมายิน, คุณสำราญ และคุณบุ๋ม เป็นต้น รวมแล้วเกือบ ๒๐ คน
มีการนัดหมายเจอกันระหว่างทางแถว อ.หนองไผ่ จ.ขอนแก่น และมีโปรแกรมกลับมาวันจันทร์ที่ ๘ โดยมีหลวงพี่เป็นผู้นำไปทุกแห่งตามที่ท่านเห็นสมควร
และนับเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝันสำหรับพวกเราทุกคน ที่หลวงพี่นอกจะเซอร์ไพรส์ท่านอาจารย์คำจรแล้ว ท่านยังเซอร์ไพรส์พวกเราอีกด้วย
นั่นก็คือพาไปไหว้พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุวรรณเขต แห่งประเทศลาวอีกด้วย ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็โปรดติดตามอ่านกันต่อไปนะคะ
๑. โบราณสถานโนนศิลาเลข อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
หลังจากนั้นจึงได้ออกเดินทางต่อไป ในขณะที่รถวิ่งไปตามเส้นทาง อ.มัญจาคีรี ท่านได้เห็นศาลาหลังหนึ่ง
ภายในมีหลักศิลาจารึกเก่าแก่ ท่านจึงบอกให้แวะเข้าไปดู เป็นใบเสมาที่มีการแกะสลักมาแต่โบราณ มีอายุมานานนับเป็นพันปี
บริเวณนี้เรียกว่า "โบราณสถานโนนศิลาเลข" พวกเราจึงเข้าไปปิดทองและสรงน้ำหอม
(ภาพนี้และข้อมูลจาก m-culture.in.th)
เดิมลักษณะเป็นเนินดินสูงจากระดับพื้นประมาณ 2 เมตร และมีใบเสมาหินทรายสีแดงวางราบกับพื้นจำนวน 5 ใบ
มีร่องรอยการสลักลายยังไม่เสร็จสมบูรณ์สันนิษฐานว่าน่าจะเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
๖ เมษายน ๒๕๕๖ (ขอนแก่น - ร้อยเอ็ด)
๒. วัดรอยพระพุทธบาทนาคำข่า บ้านนาคำข่า ต.บึงงาม อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด
วันนี้หลวงพี่ได้เมตตามาพวกเรามากราบไหว้รอยพระพุทธบาท ถือว่าเป็นการแถมให้พวกเราได้บุญใหญ่ ก่อนที่จะไปร่วมพิธีเททองหล่อพระกัน
แต่สถานที่นี้ท่านไม่ได้มานานแล้ว จำต้องแวะสอบถามชามบ้านหลายครั้ง
ฉะนั้นกว่าจะเข้ามาได้ใช้เวลานานพอสมควร เพราะจะต้องขับรถวิ่งเข้าไปในหมู่บ้าน แต่หลวงพี่ก็บอกว่าจะเห็นยอดพระเจดีย์ที่หลวงปู่ศรี มหาวีโร
สร้างไว้อยู่บนยอดเขา ทำไปทำมาพวกเราก็ไม่ได้เห็นเพราะเข้าคนละทางกับที่หลวงพี่เคยมา
เมื่อเข้าไปถึงวัดแล้วได้พบกับเจ้าอาวาส ท่านได้ถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาท ๑ ชุด และหนังสือรวบรวมรายชื่อตามรอยเล่มเล็กอีกหนึ่งเล่ม
พร้อมเครื่องไทยทานที่คณะของคุณหลีและก๋วยเจ๋ง มอบไว้ให้ ๑ ชุด ร่ม ๑ อัน (ของไทยโอเชี่ยนถวายไว้) และกล่องยาของคณะคุณติ๋ว ๑ กล่อง
หลวงพี่และพวกเราได้ถวายปัจจัยรวมเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท
จากนั้นจึงได้สรงน้ำรอยพระพุทธบาท พร้อมถวายเครื่องบูชาที่คณะของคุณหมีจากชัยภูมิมอบไว้ให้ เช่นฉัตร พุ่มเงินพุ่มทอง จากนั้นโปรยดอกไม้
ถวายผ้าสไบไว้ที่ศาลาครอบพระพุทธบาทเป็นพุทธบูชา
๓. พระมหาธาตุเจดีย์ชัยมงคล ผาน้ำย้อย (ว้ดถ้ำผาน้ำทิพย์) ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด (หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เป็นผู้สร้าง)
ต่อจากนั้นหลวงพี่ได้พาคณะมากราบพระมหาธาตุเจดีย์ชัยมงคล ที่ผาน้ำย้อย
เดินขึ้นไปชั้นบนสุดเพื่อกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ
พวกเราได้ทำบุญใส่ตู้กันตามอัธยาศัย ประมาณ ๒,๐๐๐ บาท
กราบไหว้รูปเหมือนหลวงปู่ศรี มหาวีโร ซึ่งอยู่ชั้นล่าง ส่วนเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ชั้นบน
ตอนขากลับมีรถบริการรับส่งไปถึงที่จอดรถด้วย
๔. วัดศรีสันติธรรม (วัดป่าคำบง) บ้านโคกสี ต.ชุมพร อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด
คณะพระสงฆ์สายอีสาน อันมีพระอาจารย์หนุน และอาจารย์คำจร เจ้าอาวาสได้มาต้อนรับหลวงพี่พร้อมคณะ รู้สึกท่านอาจารย์คำจรจะปลื้มใจมาก
เพราะหลวงพี่ไปแบบเซอร์ไพรส์ คือไม่ได้บอกล่วงหน้า
เมื่อท่านได้เห็นหลวงพี่จึงเข้าไปกราบด้วยความดีใจจนน้ำตาไหล จากนั้นหลวงพี่ได้ถวายเงินทำบุญ ซึ่งเป็นส่วนองค์ของท่านและที่ญาติโยมร่วมทำบุญด้วย เป็นเงิน
๒๐,๐๐๐ กว่าบาท
งานนี้หลวงพี่ได้รับกิจนิมนต์เป็นประธานหล่อสมเด็จองค์ปฐม "ปางจักรพรรดิ" โดยเริ่มพิธีบวงสรวงเวลา ๑๘.๒๙ น.
พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าอาวาส, เจ้าคณะตำบล, เจ้าคณะอำเภอ จากนั้นหลวงพี่ชัยวัฒน์ และพระอาจารย์หนุน เป็นประธานในการบวงสรวง
และเป็นประธานในการเททองหล่อองค์พระ
ในขณะทำพิธีบวงสรวง โดยเปิดเทปเสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน เสร็จแล้วหลังจากพระอาจารย์หนุนกล่าวอัญเชิญเป็นสำเนียงอีสานนั้น
เกิดปรากฏการณ์คือมีลมพัดเข้ามาภายในบริเวณพิธีตลอดเวลา นับตั้งแต่นั้นอากาศที่ร้อนอบอ้าวก็กลับเย็นสบายจนถึงวันเดินทางกลับ
นับว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์จริงๆ หลังเสร็จพิธีแล้วหลวงพี่บอกว่า ตอนแรกท่านยืนหันหลังเข้าสู่โต๊ะบายศรี รู้สึกว่าลมพัดเข้ามาภายในโบสถ์เหมือนพัดลมตัวใหญ่
ท่านจึงคิดว่าคงจะมีใครเอาพัดมาตั้งให้ พอหันกลับไปที่ไหนได้ ลมพัดเข้ามาเต็มที่เลย
เมื่อเสร็จจากการทำพิธีบวงสรวงแล้วก็เริ่มพิธีเททองหล่อองค์พระเลย โดยมีผู้ถวายทองมาจากวัด คือคุณแสงชัย (เอก) และครอบครัวจากระยอง
และยังมีคนมาถวายที่ในงานอีกด้วย เพราะมองดูแล้วคนมาร่วมงานเยอะมาก มองไปทางไหนก็เต็มไปหมด จนต้องนั่งล้นออกมาจากเต้นท์กัน
หลวงพี่ชัยวัฒน์เตรียมทองคำที่มีโยมถวายมาหล่อที่เบ้าพร้อมพระอาจารย์หนุน ส่วนนายดาบรอดถอดสร้อยขัอมือ ๑ บาทร่วมหล่อด้วย คุณมายินเดินเข้าไปถอดสร้อยคอทองคำ
๑ บาทร่วมหล่อด้วยเช่นกัน
หลังจากนั้น ท่านเจ้าคณะจังหวัดเพึ่งเดินทางมาถึง พระอาจารย์คำจรจึงได้อาราธนาท่านเข้าไปบรรจุแผ่นทองใต้ฐานพระในพระอุโบสถ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลกถา
ท่านเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวสัมโมทนียกถาสรุปความว่า ถึงแม้ท่านจะมีเหตุขัดข้องให้เดินทางมาล่าช้าก็ตาม แต่ใจของท่านก็มาถึงแล้ว
พวกเราฟังแล้วก็ชื่นใจที่ท่านได้เมตตามาร่วมงาน หลังจากนั้นเจ้าภาพถวายไทยทาน เสร็จแล้วพระสงฆ์ให้พร เป็นเสร็จพิธี
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
webmaster - 15/7/13 at 15:59
(Update 15 กรกราคม 2556)
๗ เมษายน ๒๕๕๖ (ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - สุวรรณเขต ลาว)
๕. รอยพระพุทธบาทคีรีวิมุติ สำนักสงฆ์ป่าหินตั้ง บ้านโคกกลาง ต.หนองสูง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร (พบใหม่)
...สถานที่แห่งนี้ความจริงไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน เนื่องจากตอนนี้หลวงพี่เลิกติดตามรอยพระพุทธบาทแล้ว เว้นไว้แต่พอที่ท่านจะไปได้เท่านั้น
ครั้นเดินทางมาถึงบริเวณนี้ ในขณะที่พวกเราขับรถมาเจอป้าย "รอยพระพุทธบาทคีรีวิมุติ สำนักสงฆ์ป่าหินตั้ง" อย่างไม่ตั้งใจ
หลวงพี่จึงบอกให้ขับรถเข้าไปทันที ทั้งที่มีป้ายบอก แต่ต้องสอบถามเส้นทางมาตลอด
ในขณะนั้นเจอบ้านของผู้ใหญ่บ้านพอดี ผู้ใหญ่บ้านจึงให้ลูกบ้านช่วยนำทางมาให้ ซึ่งเป็นจังหวะที่เจ้าอาวาสไม่อยู่ ลักษณะของรอยพระพุทธบาทไม่เข้ารูปทรงมาก
แต่จากการอธิษฐาน กลับเป็นเรื่องที่เข้าตา ท่านอธิษฐานใช้ไม้วาแบบสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย
เนื่องจากรอยนี้อยู่บนก้อนหินที่เป็นรูปตั้ง ต้องปีนขึ้นไปดูจึงเห็นได้ จึงช่วยกันนำผ้ามาบูชารอยพระพุทธบาทโดยการห่มผ้ารอบหินตั้ง
แล้วบวงสรวงด้วยเสียงของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน โปรยดอกไม้และสรงน้ำหอม
จากนั้นฝากทำบุญด้วยเครื่องไทยทานหนึ่งชุด พร้อมอาสนะและร่ม ถวายหนังสือตามรอยเล่มหนึ่ง เล่มใหญ่หนึ่งเล่ม และถวายปัจจัยร่วมไปด้วย ๒,๐๐๐ บาท
ฝากโยมที่นำมาด้วยไว้ให้เจ้าอาวาส
๖. รอยพระพุทธบาทวัดถ้ำนกแอ่น บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
หลวงพี่ท่านตั้งใจจะเดินทางไปสร้างพระใหญ่ที่บนภูมโนรมย์ (ในตัวจังหวัดมุกดาหาร) อีกครั้ง หลังจากที่เคยไปทำบุญมาแล้วเมื่อ ๒ ปีก่อน
ท่านจึงพาพวกเราแวะกราบรอยพระพุทธบาทกันก่อน เนื่องจากมีพวกเราบางคนยังไม่เคยไปนั่นเอง
วันนี้โชคดีที่อากาศปิด คือไม่มีแดดตั้งแต่เช้า อากาศไม่ร้อน กลับหนาวเสียด้วยซ้ำ พระพุทธบาทรอยนี้เคยมาเมื่อสองปีที่แล้ว
เป็นเรื่องแปลกที่เจ้าอาวาสได้สร้างเพิงที่มุงบังครอบรอยพระพุทธบาทเสร็จพอดีเมื่อสองวันที่ผ่านมา
ทำให้พวกเราได้รวมทำบุญคันธกุฏีของพระพุทธเจ้าอย่างไม่ตั้งใจ
จากนั้นจึงได้ถวายผ้าห่มสไบ พร้อมฉัตรครอบรอยพระพุทธบาท จากคณะชัยภูมิที่ฝากมาร่วมทำบุญ แล้วจึงสรงด้วยน้ำหอม ปิดทอง พร้อมกับสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน
ตามลำดับไป
เมื่อกราบรอยใหญ่เสร็จก็มากราบที่รอยเล็ก ที่เจ้าอาวาสจะไม่ค่อยเปิดเผยให้ใครรู้ แต่จะบอกกับคนที่เข้าใจในเรื่องนี้เท่านั้น ท่านจึงจะพามากราบไหว้
หลังจากกราบไหว้เสร็จ ได้ถวายปัจจัยไทยทานพร้อมร่ม อาสนะที่รองนั่งและร่ม ตลอดจนได้ถวายปัจจัยอีก ๙,๐๐๐ บาท เพื่อร่วมสร้างพระจุฬามณี และถวายส่วนองค์อีก
๑,๐๐๐ บาท
เสร็จแล้วพวกเราได้ถวายเพลกับหลวงพี่ที่นี่ เป็นข้าวเหนียวไก่ย่างที่ซื้อมาจากตลาดและผลไม้ ขนม และอื่นๆ อีกมากมาย
พวกเราทุกคนชอบบรรยากาศแบบนี้เป็นอย่างมาก มีความสุขที่ได้ทำบุญและพักผ่อนไปในตัวด้วย
๗. พระธาตุโพน แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว (พบใหม่)
.......พระธาตุแห่งนี้ หลวงพี่ตั้งใจว่าจะมาสอบถามข้อมูลการเดินทางไปพระธาตุอิงรังเท่านั้น ที่แนวชายแดนมุกดาหาร
บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำไทยลาวแห่งที่สองที่ญี่ปุ่นมาสร้างให้ เพราะท่านมีโครงการจะมาบวงสรวงและทำบุญวันเกิดที่ "พระธาตุพนม" ปี ๒๕๕๘
หลังจากนั้นท่านจะนำคณะเดินทางต่อไปที่ "พระธาตุอิงรัง"
ฉะนั้น ในปี ๒๕๕๘ ถ้าหากมีคนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก อาจจะไม่สะดวก่ในการเดินทางออกไปที่ประเทศลาวเท่าที่ควร ท่านจึงถือโอกาสมาหาข้อมูลก่อนไว้ล่วงหน้า
แต่เมื่อได้มาพบคุยกับเจ้าของทัวร์ ท่านจึงตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพือไปดูให้รู้แน่ด้วยตนเองดีกว่า จึงเหมารถตู้ข้ามไปที่พระธาตุโพนและพระธาตุอิงรัง
โดยใช้บริการทัวร์ของ "คนรุ่นใหม่การท่องเที่ยว"
รถตู้มีสภาพใหม่พอสมควร วิ่งข้ามสะพานไปในเวลาบ่ายแล้ว แต่คนขับรถบอกว่ากลับมาทันก่อนค่ำ รถวิ่งไปประมาณ ๖๐-๗๐ กิโลก็ถึง "พระธาตุโพน"
ซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่มานาน นับว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาวลาวมาในอดีต แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ โดยเห็นรอบองค์พระธาตุ
จะมีสิ่งของแก้บนวางไว้เต็มไปหมด โดยมีพระภิกษุ ๒ - ๓ รูปนั่งทำพิธีให้
ตามประวัติของวัดจารึกไว้ว่า พระธาตุโพนสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พ.ศ. ๒๓๖ แต่ย้งไม่ทราบว่าบรรจุพระบรมธาตุส่วนไหนของพระพุทธเจ้า
พวกเราได้ทำพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ถวายฉัตรและสรงน้ำด้วยของหอมพร้อมกับปิดทองที่องค์พะธาตุ พร้อมกับสวดอิติปิโส พร้อมกับคาถาเงินล้าน ทำบุญกันตามอัธยาศัย
ประมาณ ๑,๐๐๐ บาท
webmaster - 15/7/13 at 17:06
๘. พระธาตุอิงรัง (อิงฮัง) แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว
...หลังจากกราบไหว้บูชากันเสร็จแล้ว คนขับรถจึงได้พาย้อนกลับมาที่ "พระธาตุอิงรัง" ชาวลาวเรียกว่า "อิงฮัง" เมืองสุวรรณเขต เรียกว่า "สะหวันนะเขต"
สะหวันนะเขตมีชื่อและตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า แขวงสะหวันนะเขต ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นแขวงที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเป็นอันดับ
๒ รองจากนครเวียงจันทน์ โดยตั้งอยู่ส่วนกลางของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวลาวลุ่มเผ่าไทดำ กะเลิง กะตัง ลาเว้ ปาโก
ถือเป็นแขวงที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด
พระธาตุอิงฮัง เป็นพระธาตุคู่แฝด หรือพระธาตุพี่น้อง กับพระธาตุพนมของประเทศไทย ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีชาวลาวจะจัดงานใหญ่
เช่นเดียวกันกับที่ชาวไทยจัดงานนมัสการพระธาตุพระพนมในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ องค์พระธาตุอิงฮังมีความสูง ๒๕ เมตร มีประตูทางเข้า ๔ ด้าน
ภายในนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ "ส่วนกระดูกสันหลัง" ของพระพุทธเจ้า ด้านฐานล่างนั้นมีการเจาะเป็นช่องประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ
สถานที่นี้จึงเชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาทรงฉันภัตตาหารเพล บริเวณใต้ "ต้นฮัง" หรือต้นสาละที่นี่
ประวัติพระธาตุอิงรัง
รจนา โดย อาจารย์โสม พระไชยะมงคุน(สายัน ดงแดง)
(mblog.manager.co.th/normally/th-110317)
.........พระธาตุอิงรัง เป็นพระธาตุที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และโบราณคดีลาวอีกแห่งหนึ่งของลาว ทั้งเป็นเจดีย์องค์ศักดิ์สิทธิ์
สักการะบูชา คู่บ้านคู่เมืองมาแต่สมัยโบราณ พระธาตุลูกนี้ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศ คืออยู่ที่แขวงสะหวันนะเขด ห่างจากตัวเมืองคันทะบูลี
ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ติดกับบ้านทาดอิงฮังเลย ซึ่งถือกันมาแต่โบราณกาลว่า ประชาชนบ้านนี้
เป็นผู้อุปการะพระธาตุโดยตรงมาแต่สมัยพระไชยะเชษฐาธิราชเจ้า ทรงประทานเป็นข้าโอกาสมาแต่ ค.ศ. ๑๕๖๗ โน้น นับแต่พระธาตุลูกนี้ประดิษฐานขึ้นมา
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอนนั้นเห็นว่า ยังขาดวรรคขาดตอนและหาที่ยุตินั้น ยังไม่ทันได้ข้อมูลอันจะแจ้งแน่นอน
หลักฐานทางตำนาน
ตำนานพระธาตุอิงรังนี้ติดพันกับตำนานอุรังคธาตุมาตลอด ที่อ้างถึงความเก่าแก่ของพระธาตุ คือ สร้างในประมาณ ๒๕๐ ปี หลังจากพุทธกาลล่วงแล้ว
คือก่อนคริสตศักราชประมาณ ๒๐๔ ปี ทั้งนี้ก็เพราะว่าพวกท่านมีหลักฐานว่า พระโสณะ กับพระอุดตะระ สมณทูตทางพุทธศาสนาจากอินเดีย
ได้นำเอาศาสนาพุทธมาเผยแผ่ที่นี้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๖ (๒๐๔ ก่อน ค.ศ.) ก่อนศาสนาพราหมณ์ลัทธิฮินดูอีก เท่าที่ผ่านมาในหลายสมัย นับแต่องค์พระธาตุเกิด
หนังสือที่ยืนยันความเป็นมาต่าง ๆ ของพระธาตุองค์นี้ ได้แก่ตำนานอุรังคธาตุเท่านั้น ที่เห็นว่าพอเป็นหลักฐานทางตำนานได้กว่าตำนานอื่น ๆ
ตำนานอุรังคธาตุฉบับย่อ ที่พระเทพ รัตนโมลี
เจ้าอธิการวัดพระธาตุพนมเอามาอ้างอิงถือว่าเป็นฉบับที่อ่านง่ายแจ่มแจ้งฉบับหนึ่งที่ได้ยืนยันถึงการเผยแผ่พุทธศาสนา เข้ามาในสุวรรณภูมิประเทศ
กล่าวไว้ดังนี้ จำเดิม แต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๖ ปี เศษ ๗ เดือน เดือน ๑๒ ขึ้นวันพุธ นักขัตฤกษ์ ชื่อว่า กัตติกา ยามนั้น ยังมีพระกัสสปะเจ้า
และพระอรหันต์ ๕๐๐ เป็นประธาน
ยังยืนยันว่าพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาเมืองสุวรรณภูมิครั้งแรก (ตำอิด) นั้นก่อนคริสตกาล ๕๓๔ ปี *
* ตำนานพระธาตุพนม ฉบับของพระอาจารย์เทพ รัตนโมลี เจ้าอาวาส วัดพระธาตุพนมนี้
ท่านได้ยืนยันว่าเป็นฉบับที่เก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดเท่าที่พระอาจารย์องค์นี้ได้ศึกษามา
พระธาตุอิงฮัง ตอนนี้เนื้อเรื่องค่อนข้างยาว เพราะ
......ในบรรดาตำนานพระธาตุอิงรัง ที่คัดย่อออกมาจากตำนานอุรังคธาตุนั้น เห็นว่ามีหลายฉบับเท่าที่ได้เอามาอ่านเทียบเคียงกันแล้ว เช่น
ตำนานอุรังคธาตุฉบับพิสดาร ที่รวบรวมโดยท่านอาจารย์จำปา แก้วมะนี อาจารย์สิลา วิระวงส์ ตำนานพระธาตุอิงรังฉบับย่อ ของท่านอาจารย์มหาจัน อินทุพิราด
พร้อมทั้ง ตำนานพระธาตุอิงรัง ซึ่งรวบรวมโดยอาจารย์เสถียร ด้ายมนวงส์
ในตำนานที่กล่าวมาข้างบนนี้เห็นว่ามีอันผิดเพี้ยนขาดเกินกันบ้าง ทางความหมายและทางสังกาด(จุลศักราช?) จึงพอตีความได้ว่า พวกท่านอาจารย์ทั้งหลาย
ท่านมีศรัทธาเพื่อจุดประสงค์ในทางเดียวกัน ต่างแต่เพียงการถ่าย (ทอด) มาแต่ละครั้งนั้น อาจมิได้ถ่ายตามฉบับเดิมพอเท่าใด บางที่ก็พอเอาเป็นหลักฐานได้
แต่บางที่ก็พูดเหลือเชื่อ หรือแต่งแต้มขึ้นเกินไป หรือตัดตอนออกในประโยคใดที่ตนไม่เข้าใจหรือว่าตนเองไม่ชอบ(บ่มัก) ก็เพิ่มตัดไปตามอำเภอใจ
จึงขาดในการรักษาเค้าเดิมไว้
อันนี้เป็นของธรรมดา ในการเขียนประวัติแบบโบราณของนักปราชญ์อาจารย์รุ่นก่อน แต่ครั้งนี้ได้คัดย่อเอาตำนานอุรังคธาตุที่กล่าวพออ่านสบายบ้างของท่านอาจารย์
มหาบุนตุ้ม สีบับพา หนึ่งในบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางตำนานอุรังคธาตุ และ พระธาตุอิงรังแขวงสะหวันนะเขดปัจจุบัน ได้ปรารภเรื่องพระธาตุอิงรัง
และพระธาตุองค์อื่น ๆ ในสองฝั่งแม่น้ำโขงตอนกลาง ว่าดั่งนี้
.
.........พระอรหันต์ทั้งสามเป็นศิษย์สานุศิษย์ของพระมหากัสปะเถระเจ้า ปลูกศิษย์ทั้งสามให้เป็นศาสนทายาทไว้
เพื่อสืบต่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในบรรดาประเทศสุวรรณภูมิ พระอรหันต์ทั้งสามจึงถูกส่งมาจากกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย มาอยู่เมืองสุวรรณภูมิ ได้แก่
เมืองจันทะบูลี(เมืองเวียงจันทน์ปัจจุบัน) พระอรหันต์ทั้งสามมีชื่อว่า
๑. พระมหาพุทธลักขิตะ นำเอาเจ้ารัตนกุมาร และเจ้าจุลละรัตนกุมาร สองพี่น้อง ที่เมืองอินทะปะถานคร ประเทศกัมพูชาปัจจุบันมาบวช
แล้วไปอยู่ริมเมืองฟากฝั่งแม่น้ำโขงตะวันออกที่ท่าหอแพ สามเณรเชื้อเจ้าเมืองเขมรได้เรียนวิปัสสนากัมมฐาน โดยหมื่นกางโรงเป็นผู้อุปถา
ก(พ่อออกค้ำ-อุบาสกผู้ดูแล)
๒. พระมหาธัมมลักขิตะ นำเอาเจ้าสุวรรณะผาสาดกุมาร และเจ้าจุลละสุวรรณะผาสาดกุมาร สองพี่น้องที่เป็นเชื้อเจ้า เมืองจุลละนีพรหมทัต(๒)
มาบวชเรียนวิปัสสนากัมมฐาน อยู่ที่โพนจิก(โนนต้นจิก) เวียงงัว ใต้ห้วยคุคำ โดยหมื่นกางโรงเป็นผู้อุปถาก (พ่อออกค้ำ)
(๒) เมืองจุลละนี พรหมทัต ในตำนานพงศาวดารพื้นบ้านพื้นเมืองลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง เช่น ตำนานอุรังคธาตุ ตำนานพระธาตุหลวง
ตำนานขุนบูรม พงศาวดารลาว
ฯลฯ กล่าวไว้ว่า ได้แก่เมืองเชียงขวางปัจจุบัน แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านให้ความเห็นว่า คือเมืองพิมาย ในจังหวัดโคราช
ประเทศไทย.
๓. พระมหาสังคะ ลักขิตะ นำเอาเจ้า สังตวิดชะกุมาร ที่เมืองหล้า หนองคาย มาบวชเรียนวิปัสสนากัมมฐาน โดยคือ น้าเลี้ยง แม่นม
เป็นผู้อุปถาก(แม่ออกค้ำ)
สามเณรเจ้าทั้งห้าเมื่อเรียนวิปัสสนากัมมัถฐานกับพระอาจารย์ทั้งสามอย่างต่อเนื่องแล้ว
ครั้นอายุถึงคราวอุปสมบท(ยี่สิบเอ็ดพรรษา)เป็นภิกขุแล้ว ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งห้าองค์ พระอาจารย์ทั้งสามจึงนำเอาสานุศิษย์ทั้งห้าไปสู่กรุงราชคฤห์
เพื่อนำเอาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คือ
๑. พระบรมสารีริกธาตุ ๒๙ องค์
๒. พระบรมสารีริกธาตุ ฟัน ฝาง ๗ องค์
๓. พระบรมสารีริกธาตุ ฝ่าเท้าขวา ๙ องค์
พระอรหันต์ทั้งแปดองค์นำเอาพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงราชคฤห์กลับมาทางเมือง
คอนราด(๓) และพักแรมอยู่ที่นั้น.
ครั้นวันต่อมา พระอรหันตเจ้าที่เป็นอาจารย์ทั้งสามองค์จึงสั่งศิษย์ทั้งห้าไว้ดั่งนี้
- พระบรมสารีริกธาตุหัวเหน่า ให้เอาไปประดิษฐานไว้ที่ภูเขาหลวง (ได้แก่ธาตุหลวงเวียงจันทน์)
โดยคือพระยาจันทบูรีประสิทธิศักดิ์พร้อมด้วยพระมเหสีเป็นผู้อุปถัมภ์ สร้างฝาอุโมงค์ไว้ทั้งสี่ด้าน ด้านละห้าวา หนาสองวา สูงสี่วาสามศอก
-พระบรมสารีริกธาตุฝ่าเท้าขวา ให้นำเอาไปประดิษฐานไว้ที่เมืองหล้า หนองคาย น้าเลี้ยง แม่นม พร้อมชาวเมืองเป็นฝ่ายอุปถัมภ์
สร้างเป็นอุโมงค์กว้างด้านละสองวาสองศอก สูงสามวา(๔)
-พระบรมสารีริกธาตุเขี้ยวฝาง สามองค์ ให้นำไปประดิษฐานไว้ที่โพนจิก เวียงงัว คือ ท่าพระบาทโพนสัน เมืองพระบาทโพนสัน เขตบริคำไซ ปัจจุบัน
-พระบรมสารีริกธาตุเขี้ยวฝางสี่องค์ ให้นำไปประดิษฐานไว้ที่ท่าหอแพ ได้แก่ ธาตุบังพวน เมืองเวียงคุก แขวงหนองคาย ประเทศไทย ปัจจุบัน
หมื่นกางโรงเป็นผู้อุปถัมภ์
ครั้งนั้น พระอรหันต์วัดป่าใต้ มหาพุทธวงศา(๕) และวัดป่าโพนเหนือน้ำบึง(๖) มหาหัสดี เข้าสู่นิพพานเรียงวันเรียงคืนกัน(ไล่เลี่ยกัน?)
พระอรหันต์ทั้งห้าไปคารวะศพพระอรหันต์ทั้งสอง แล้วทำพิธีถวายพระเพลิงร่วมกับพระยาจันทบูรีประสิทธิศักดิ์
แล้วเอาพระอัฐิธาตุของพระอรหันต์ทั้งสององค์ประดิษฐานไว้กับที่ คือ วัดป่ามหาพุทธวงศา และวัดป่าโพนเหนือนำบึง
เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอรหันต์ทั้งห้าก็นิวัติลงสู่เมืองศรีโคตรบอง ที่ป่าไม้รวกเหนือพระธาตุพนม เพื่อขอบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุรังคธาตุที่ภูกำพร้า
ต่อจากพระยาสุมิตตะธรรมวงศา
(๓) ได้แก่เมือง นครราชสีมา ประเทศไทย ปัจจุบัน
(๔) พระธาตุหล้า หนองคาย พังลงตลิ่งโขงจมน้ำแล้ว ที่ท่าวัดธาตุ เมืองหนองคาย ปัจจุบัน
ในขณะเดียวกันนั้น พระอรหันต์ทั้งห้าได้ผลัดเปลี่ยนกันเทศนาเล่าชาติปางก่อนของตนเอง
และความเป็นมาของพระยาสุมิตตะธรรมวงศาแต่ชาติปางก่อนถึงปัจจุบันอย่างถี่ถ้วน เมื่อพระยาได้รับรสพระธรรมนั้นแล้ว
ก็ชื่นชมพระทัยเป็นอย่างมากในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุรังคธาตุที่ภูกำพร้าเป็นครั้งแรก (เทือตำอิด)
เมื่อทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุรังคธาตุภูกำพร้าสำเร็จแล้ว พระยาสุมิตตะธรรมวงศา ก็ปรารถนาอยากทอดพระเนตรต้นไม้รังที่ว่า
พระองค์คราวเป็นพระยาศรีโคตรบองได้อุ้มเอาบาตรไปทอดถวายพระพุทธเจ้าที่นั่งอิงต้นไม้รังนั้นอยู่ที่ใดกันแน่ ?
พระอรหันต์ทั้งห้านำหน้าขบวนแห่พระยาไปถึงต้นไม้รังดังกล่าว เมื่อพระยาสุมิตตะธรรมวงศาทอดพระเนตรแล้วก็ทรงมีศรัทธายิ่งนัก
เห็นควรสร้างสถูปเจดีย์ไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาต่อ ๆ ไป
พระยาสุมิตตะธรรมวงศาเจ้าผู้ครองเมืองเอกราช ตั้งอยู่ป่าไม้รวกเหนือพระธาตุพนม เมืองธาตุพนม แขวงนครพนม ประเทศไทย เดี๋ยวนี้
พร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้งห้าสร้างพระธาตุอิงรังขึ้นครั้งแรก ลักษณะเป็นอุโมงค์เหมือนกันกับพระธาตุพนม เป็นรูปสี่เหลี่ยม ย่อมุม ส่งดวงปี?
ทางกว้างทั้งสี่ด้าน สองวาสองศอก สูงจากพื้นถึงยอดสุดสามวา.
เมื่อสร้างสำเร็จ พระอรหันต์ทั้งห้าก็กลับไปสู่เมืองราชคฤห์ นำเอาพระบรมสารีริกธาตุกระดูกสันหลังพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้แล
ฯลฯ
ต้นเค้าและต้นกำเนิดของการสร้างพระธาตุอิงรัง
.........เมื่ออิงใส่ตามตำนานสี่ฉบับ ที่กล่าวมาข้างบนนั้น มาตรวจเทียบเคียงกันแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาสาระเกือบเท่า ๆ กัน แต่เมื่อมาดูทางศักราชแล้ว
เห็นว่า ผิดต่างกันประมาณร้อย ๆ กว่าปี พระธาตุอิงรังสร้างมาประมาณ ๓๐๐ ปีหลังพระพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพาน คือ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ ถึง พ.ศ. ๓๐๐ (ตกใน ๓๐๖
ถึง ๒๔๓ ก่อน ค.ศ.) หลักฐานมีความแน่ชัดเพียงใดขอเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการก่อสร้างพระธาตุองค์อื่น ๆ มาเทียบเคียงกันดั่งนี้
- ชาวอินเดียโบราณอพยพเข้ามาสู่สุวรรณภูมิประเทศครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ครองเมือง ปาตลีบุตร ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๖ ถึง
พ.ศ. ๒๒๗ (ก่อน ค.ศ. ๓๒๕ ถึง ๓๑๖)
- ใน พ.ศ. ๖๐๐ (ค.ศ. ๕๗) โกณทัญญะพราหมณ์ได้นำเอาศาสนาพราหมณ์ลัทธิศีวนิกายเข้ามาอาณาจักรฟูนัน
แล้วแผ่ขยายสู่เขตที่เป็นประเทศสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดในเวลาต่อมา
- พระโสณะ กับ พระอุตตระ ได้นำเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามาเผยแผ่ในสุวรรณภูมิประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ (หรือ ๓๐๗ ก่อน ค.ศ.)
ตามพระราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียทรงแต่งตั้ง
- อิงตาม "ตำนานอุรังคธาตุ" ของท่านอาจารย์คำจำปา แก้วมะนี ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารพิสดารฉบับหนึ่งที่กล่าวถึงการสร้างพระธาตุหลวง
พระธาตุพนม พระธาตุศรีโคตรบูร และพระธาตุอิงรัง กล่าวไว้ว่า พระธาตุทั้งสามองค์ได้สร้างหลังการเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามาสุวรรณภูมิเล็กน้อย
คือประมาณ พ.ศ. ๒๐๐ ๓๔๓ ก่อน ค.ศ.
- พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ได้เริ่มสร้างมาแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเผยแผ่พุทธศาสนา เข้ามาสุวรรณภูมิประเทศประมาณ ๓๐๐ ก่อน ค.ศ.
แล้วพระเจ้าไชยะเชษฐาธิราช กษัตริย์อาณาจักรล้านช้างได้มาปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม ดั่งที่เห็นประจักษ์ปัจจุบัน ลงแรก ก่อรึก เดือนอ้ายเพ็ง(สิบห้าค่ำ) จ.ศ.
๙๒๖ ค.ศ. ๑๕๖๖
เมื่อพิจารณาดูประวัติการเผยแผ่ศาสนาฮินดูลัทธิศิวะเทพ และศาสนาพุทธเข้ามาสุวรรณภูมิประเทศ
พร้อมทั้งประวัติพระธาตุองค์สำคัญในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางที่ได้กล่าวมานี้ จึงพออนุมานได้ว่าต้นกำเนิดของพระธาตุอิงรังตกในระหว่าง พ.ศ. ๓๐๐ (หรือ ๒๐๐
กว่าปีก่อน ค.ศ.) ซึ่งตรงกันกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียเผยแผ่พุทธศาสนาเข้ามาสุวรรณภูมิประเทศ.
คราวนั้น คือตกในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบองรุ่งเรือง โดยคือ พระเจ้าสุมิตตะธรรมวงศา(๗) เป็นผู้ครองราชย์สมบัติแห่งแคว้นศรีโคตรบอง ดังนั้น
พระธาตุอิงรังได้สร้างขึ้นพร้อม ๆ กันกับ พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ พระธาตุพนม พระธาตุโพ่น และพระธาตุองค์อื่นๆที่จัดอยู่ในยุคเดียวกัน(๘)
(๗) นักประวัติศาสตร์หลายท่านตั้งคำถามขึ้นว่า พระเจ้าสุมิตตะธรรมวงศา เป็นกษัตริย์เชื้อชาติใด ตามความเห็นของท่านอาจารย์สิลา
วิระวงศ์ และท่านอาจารย์จำปา แก้วมะนี และท่านอาจารย์มหาบุนตุ้ม สีบับพา ซึ่งทั้งสามท่านเป็นผู้ศึกษาตำนานอุรังคธาตุละเอียดมาก่อนแล้ว
ให้ความเห็นตรงกันว่าพระเจ้าสุมิตตะธรรมวงศาเป็นกษัตริย์ขอม ไม่ใช่มอญ เม็ง ม่าน หรือไต แต่ประการใด แต่ยังมีผู้ตั้งคำถามขึ้นมาเรื่อย ๆ ว่า
พระเจ้าสุมิตตะธรรมวงศาแห่งราชวงศ์สุมิตตะ องค์ที่เท่าใดแน่ที่ครองราชย์ในสมัยก่อสร้างพระธาตุอิงรังในยุคเริ่มต้นแท้ ๆ นั้น ?
(๘) ในตำนานพระธาตุโพ่นกล่าวไว้ว่า พระธาตุอิงรัง พระธาตุพนม พระธาตุเชียงชุม(เชิงชุม)เริ่มสร้างขึ้นในเมื่อวันพุธ ตอนค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๑๑๖
พระธาตุอิงรังในความเห็นทางโบราณคดี (ศตวรรษที่ ๑ ถึง ๑๓)
........พระธาตุอิงรัง เริ่มสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบองรุ่งเรือง คือประมาณศตวรรษที่ ๒ ก่อน ค.ศ.
ซึ่งในคราวนั้นตกในสมัยรัชกาลของพระเจ้าสุมินทะราชได้วางรากฐานการสร้างขึ้นตามความแนะนำพระเถราจารย์ชาวอินเดีย เมืองกุฉินาราย
เมื่อสร้างเสร็จบริบูรณ์แล้วเพื่อเป็นเครื่องหมายแทนสถานที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่ป่าไม้รัง แล้วเอาพระสารีริกธาตุมาบรรจุไว้.
แต่ในตำนานทั้งหลายที่กล่าวมาข้างบนนั้น คือเพื่อจุดประสงค์ให้เป็นตัวแทนที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้า คราวพระองค์เสด็จมาเยี่ยมพระยาศรีโคตรบอง
ในเรื่องดังกล่าวผู้เขียนตำนานมีจุดประสงค์โน้มเหนี่ยวจิตใจประชาชน ให้เห็นความสำคัญในปูชนียสถานแห่งนี้มากขึ้น
จึงผูกเรื่องทั้งเรื่องพัวพันกับพระพุทธเจ้า.
.....ตามประวัติที่ได้นำมาเล่าไว้แต่เพียงแค่นี้ ส่วนความเห็นทางโบราณคดีนี่ก็ฟังทะแม่งๆ แล้วแต่ความเชื่อกันนะ
ส่วนพวกเรามีปัญญาน้อยจึงเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาจริง จากนั้นหลวงพี่จึงไปสนทนาหาข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ชาวลาว
พร้อมกับมอบหนังสือตามรอยพระพุทธบาทเล่มเล็กหนึ่งเล่ม แล้วได้รวบรวมเงินทำบุญเป็นจำนวนเงิน ๒,๐๐๐ บาท จากนั้นได้ทำพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
สรงน้ำหอมและโปรยดอกไม้ ตามธรรมเนียมแบบปฏิบัติที่มีมาในพระไตรปิฎก เสร็จแล้วปิดทององค์พระธาตุกันทุกคน
(โปรดติดตาม "ตอนจบ" ต่อไป)
webmaster - 16/7/13 at 09:59
(Update 16 กรกราคม 2556)
๘ เมษายน ๒๕๕๖
๙. พระใหญ่ วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ อ.เมือง จ.มุกดาหาร
......จากหลักฐานการสร้างจากแผ่นศิลา ได้กล่าวว่า คนของ ท่านขุนศาลาและพระอาจารย์บุ นันทวโร เจ้าอาวาสวัดมโนภิรมย์ บ้านชะโนด
และผู้สร้างวัดลัฎฐิกวัน เป็นผู้สร้าง และถือเป็นที่สำหรับการจำพรรษา และปฏิบัติธรรมกัมมัฎฐานของพระภิกษุ ได้สร้างพระธาตุรูปทรงแปดเหลี่ยมหนึ่งองค์
พร้อมสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง และพระอาคารเพ็ญ ที่เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กไว้องค์หนึ่ง และสร้างกุฏิสำหรับพระสงฆ์อีกหลังหนึ่ง
โบราณสถานและโบราณวัตถุ ใน วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์
1. พระธาตุภูมโนรมย์ เป็นพระธาตุทรงแปดเหลี่ยมมีเอวเป็นฐานหักเชิงเป็นรูปแปดเหลี่ยมรัศมีประมาณ 2.5 เมตรเป็นรูปทรงปลีแบ่งเป็น 3
ท่อนคือเป็นลักษณะปริศนาธรรม ตามความหมายแรกเป็นนรกภูมิ ฐานที่สองเป็นโลกภูมิซึ่งมาก และสุดท้ายเป็นสวรรค์ภูมิ ความสูง 4.5 เมตร
2. พระอังคารเพ็ญ เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กสร้างพร้อมพระพุทธบาท เพื่อให้ครบคือพระธาตุ พระพุทธรูปและพระบาทตามความเชื่อของผู้สร้าง
3. บันทึกการสร้างวัดจำนวน 1 แผ่น ติดอยู่หลังของพระอังคารเพ็ญ
4. รอยพระพุทธบาทจำรอง เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดเล็ก ซึ่งสร้างขึ้นจากหินทราย มีความกว้าง 80 เซนติเมตร ความยาว 1.8 เมตร
สร้างเป็นลักษณะลอยตัวสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 90 เซนติเมตร เมื่อปีพุทธศักราช 2525 เจ้าคณะอำเภอเห็นว่าวัดดังกล่าวเป็นวัดร้าง จึงได้มอบหมายให้
เจ้าคณะอำเภอพระครูอุดมธรรมรักษ์ (หลวงตายอด) ได้มีการบูรณะบำรุงรักษาและป้องกันการทำลายโบราณสถานดังกล่าว และยังมีโครงการสร้างพระพุทธสิงห์สองจำลอง.
ที่มา - mukdahannews.com/news-23-05-51pumano.htm
(แบบจำลองจาก mukdahan.go.th)
ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พร้อมคณะกรรมการติดตามความคืบหน้า โครงการจัดสร้างพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา
ซึ่งแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 80
.........ความคืบหน้าโครงการจัดสร้างพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ อำเภอเมือง
จังหวัดมุกดาหารในขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 80 คาดว่าจะเสร็จในปี 2557
โดยมีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา นำโด ยนายสกลสฤษฏิ์ บุญประดิษฐ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ร่วมกับพระรัตโนภาสวิมล เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานในการประชุม
เพื่อรับทราบผลความคืบหน้าของการก่อสร้างพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติฯ และเป็นการร่วมกันหารือแนวทางในการจัดสร้างและการดำเนินการในอนาคต
นอกจากนี้ ยังเป็นการรับทราบรายรับรายจ่ายและเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ในการจัดสร้างพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติฯ
ซึ่งยอดเงินบริจาคในการสร้างพระพุทธรูปล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม เป็นจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 52 ล้านบาท มาจากการรับบริจาค การให้เช่าบูชาเหรียญ 100 ปี
หลวงปู่จาม มหาปุญโญ การเปิดจองเสาพระพุทธรูป การเปิดจองมวยเกศาและจากโครงการสารธรรมะ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (หลวงปู่จาม)
รวมไปถึงยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 45 ล้านบาท ในการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดอุดรธานี
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมาโดยเป็นเงินสนับสนุนโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำหรับความคืบหน้าในการจัดสร้างพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างฐานดอกบัว
ซึ่งเป็นฐานที่ใช้รองรับองค์พระพุทธรูป และมีการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 80 ซึ่งพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติฯ 84 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย จีวรกลีบเรียบ ก่ออิฐถือปูน พ่นสีฉาบองค์พระสีขาว
โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 39.99 เมตร และสูง 59.99 เมตร สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนจังหวัดมุกดาหารและนักท่องเที่ยว รวมไปถึงเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนทางแขวงสะหวันนะเขต
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย
ที่มา - radio.prd.go.th/mukdahan/ewt_news.php?nid=2409&filename=index
เป็นอันว่า หลวงพี่เคยมาที่นี่ครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว แล้วหลวงพี่ได้พบกับนายช่างสมชัย ซึ่งเป็นวิศวกรโครงการและคุมการก่อสร้างทั้งหมด
ซึ่งเมื่อสองปีที่แล้วพึ่งเริ่มวางเสาเอกและก่อสร้างฐานล่าง ปีนี้สร้างมาถึงชั้นที่ ๔ เป็นชั้นรับโครงสร้างฐานขององค์พระ
หลวงพี่เดินทางมาครั้งนี้ ตั้งใจจะมาร่วมบุญอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่ได้นัดกับคุณสมชัยไว้ล่วงหน้า แต่ก็กลับเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ได้พบกับคุณสมชัยพอดี
คุณสมชัยบอกว่าความจริงวันนี้ตั้งใจจะเข้าไปที่ตัวจังหวัด แต่ปรากฏว่าที่นี่มีคนแจ้งว่ารถปูนไม่มา คุณสมชัยจึงต้องรีบมาที่นี่ด่วน
ครั้นมาถึงแล้วจึงได้พาคณะเดินดูการก่อสร้าง และได้เล่าถึงเรื่องการก่อสร้างว่า พระองค์นี้สร้างทั้งสามส่วนคือ ฝ่ายที่อยู่เมืองบาดาล
ฝ่ายมนุษย์ที่กำลังก่อสร้างอยู่นี้ และฝ่ายข้างบนสวรรค์ซึ่งมาทำภาพให้คุณสมชัยดู
ขณะนี้กำลังก่อสร้างถึงช่วงหน้าอกแล้ว คุณสมชัยต้องนุ่งขาวห่มขาว และรักษาศีลแปด ตลอดมาเกือบสองปี และที่นี่คนงานจะหยุดงานทุกวันพระแปดค่ำและสิบห้าค่ำ
เคยคิดจะทำงานในวันพระ แต่ต้องมีเหตุขัดข้องให้ทำไม่ได้ทุกครั้ง
คนงานที่นี้จะกินเหล้า หรือทำอะไรที่ผิดศีลห้าไม่ได้ จะมีเหตุให้เกิดอุบัติเหตุตลอด
คุณสมชัยจะต้องบนบานศาลกล่าวต่อพ่อปู่ที่ดูแลสถานที่นี่ตลอดเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง
ส่วนคุณอุไรวรรณ (หนิง) ที่ร่วมเดินทางมาจากระยองก็ได้ฝันล่วงหน้ามาก่อน และตรงกับความฝันอย่างน่าอัศจรรย์ใจ คือก่อนที่จะเดินทางมาที่นี่
คุณหนิงไม่ทราบว่าหลวงพี่จะพามาที่นี่ แต่คุณหนิงได้ฝันเห็นมีรถเคลนใหญ่ และมีการขนปูนขึ้นสร้างองค์พระ
จึงแปลกใจว่าหลวงพี่จะพาไปงานหล่อพระที่สร้างด้วยโลหะ แต่ทำไมเราฝันเห็นเป็นพระปูน
ครั้นมาถึงแล้วจึงได้เห็นว่าภาพที่ฝันนั้นตรงกับสถานที่นี้ทุกอย่าง คุณหนิงเล่าไปในขณะที่น้ำตานองหน้าด้วยความปลื้มใจ พวกเราได้ฟังก็ประทับใจกันไปด้วย
จากนั้นจึงรวบรวมเงินทำบุญสร้างพระได้ ๑๐,๐๐๐ บาท และเงินช่วยเหลือคนงานอีก ๕,๐๐๐ บาท โดยฝากไว้กับนายช่างสมชัยเหมือนกับที่เดินทางมาครั้งแรกนั้นแหละ
สรุปการเดินทางตั้งแต่วันที่ ๕ - ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖
เงินทำบุญทั้งหมด ๕๕,๐๐๐ บาท
สถานที่ท่องเที่ยว ๑ แห่ง
สร้างพระและหล่อพระ ๒ แห่ง
รอยพระพุทธบาท ๓ แห่ง
พระธาตุเจดีย์ ๓ แห่ง
ระยะที่เดินทาง ๑,๖๖๖ กิโลเมตร
<< กลับสู่สารบัญ