ครั้นได้อธิษฐานตามความปรารถนากันแล้ว พระทั้ง ๔ รูป คือ ผู้เขียน, ท่านประทักษ์, ท่านสุพจน์, ท่านน้อย และทีมงาน จึงเดินทางไปพักค้างคืนที่
วัดป่าสันติวนาวาส บ.หนองกุง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เจ้าสำนักนี้มีชื่อว่า ท่านประพล อติพโล
วัดนี้เป็นพระสายท่านอาจารย์หนุนเช่นกัน
◄ll กลับสู่ด้านบน
((((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป วันที่ 2 เม.ย. 2551 )))))))
webmaster - 1/4/08 at 22:54
(Update วันที่ 2 เม.ย. 2551)
ร้อยเอ็ด - มหาสารคาม - กาฬสินธุ์
ณ วัดป่าสันติวนาวาส ในตอนเช้าวันที่ ๑๖ มี.ค. ๔๘ ก่อนจะออกเดินทาง ทางวัดกำลังสร้างพระเจดีย์อยู่สูง ๓๐ เมตร
ภายในประดิษฐานสมเด็จองค์ปฐม จึงทำบุญร่วมสร้าง ๓,๔๐๐ บาท พร้อมสังฆทาน ๔ ชุด แล้วเดินทางไปสืบหา ลานหินร่อง พอดีมาถึงหน้า
วนอุทยานโกสัมพี อ. โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม จึงเข้าไปไหว้พระพุทธรูปองค์หนึ่ง ที่เรียกกันว่า พระมิ่งเมือง
พระพุทธรูปองค์นี้เป็น ปางขอฝน ซึ่งจะมีเพียงครึ่งองค์ช่วงบน ส่วนช่วงล่างได้ก่อปูนยึดติดไว้กับพื้น ตามประวัติชาวบ้านเล่ากันว่า
เดิมเมืองนี้แห้งแล้งมาก เมื่อพระพุทธ เจ้าเสด็จมา ชาวบ้านจึงทูลขอฝน พระพุทธองค์ทรงเปลี่ยนผ้าอาบน้ำฝน แล้วทรงยกพระหัตถ์ชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า
ฝนก็ตกลงมาทันที
ต่อมาชาวเมืองได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ คร่อมตรงที่พระพุทธเจ้าประทับยืน เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พวกเราจึงได้มีโอกาสถวายผ้าสไบทอง
สรงด้วยน้ำหอมและปิดทอง แล้วจึงสืบหาสถานที่อื่นต่อไป
สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ผู้อ่านจะเริ่มสังเกตได้ว่า ผู้เขียนได้พบพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณที่สำคัญๆ ต่อไปก็ยังได้พบกับความศักดิ์สิทธิ์กันอีก
ขอให้ติดตามกันต่อไป ในระหว่างนี้ กำลังสอบถามชาวบ้านว่า ลานหินร่อง ต. ดอนกลาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม อยู่ที่ไหนกันแน่..
จึงให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลตำบล และนายก อบต.ดอนกลาง นำทางเข้ามาประมาณ ๓ กิโลเมตร ถนนเพิ่งลาดยางเสร็จพอดี
ตามข้อมูล คุณอชิระ (ซ้ง) ได้ข่าวมาจาก "ห้องข่าว ๑๐ โมงเช้า ทางทีวีช่อง ๕" เมื่อ วันที่ ๕ พ.ย. ๒๕๔๗
พบรอยเท้าคนโบราณที่ก้าวเดินไปตามลานหินร่องนี้ ผู้เขียนจึงถามว่า ทำไมเรียกว่า หินร่อง นายก อบต. บอกว่าบริเวณลานหินนี้มีแอ่งน้ำเล็กๆ เต็มไปหมด
เนื้อที่ประมาณ ๒ ตารางกิโลเมตร ส่วนหนึ่งได้มีพระสายธรรมยุตมาตั้งเป็นสำนักสงฆ์แล้ว
เจ้าหน้าที่ได้นำมาที่ลานหิน แล้วชี้บอกว่ามีรอยย่างก้าว ๔ รอย เป็นรอยนิ้วเท้าเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ที่นักโบราณคดี นักธรณี วิทยา
รวมทั้งสื่อมวลชน ได้มาทำสารคดีกันแล้ว ถ้ายังเห็นเป็นน้ำเซาะตามธรรมชาติ คงจะเสียสติไปแล้วนะ เพราะแต่ละรอยขนาดเท่ากันทั้งเบื้องขวาและซ้าย คือ
กว้างประมาณ ๑๔ ซ.ม. ยาว ๔๔ ซ.ม.
นับว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนธรรมดาทั่วไป เพราะลานหินกว้างใหญ่ แต่ทำไมรอยเท้าจึงปรากฏเพียงแค่ ๔ รอยเท่านั้น อยู่กลางลานหิน ทั้งๆ
ที่ยังมีพื้นหินพอที่จะเดินอีกไกล จึงมีปัญหาว่าแล้วจุดเริ่มต้นเดินละมาจากไหน และไปสิ้นสุดกันตรงไหน
นี่เป็นปริศนาของเราที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าเป็นภูตผีปีศาจละ หากมาเดินแบบนี้โดยไม่เห็นตัว คงจะวิ่งหนีกันแน่ ถ้ายังงั้นบุคคลใดกันแน่
ที่สามารถจะเดินให้เห็นรอยก็ได้ ไม่ให้เห็นรอยก็ได้ ทั้งนี้ ถ้าตามความเชื่อของคนไทย คงจะพูดเหมือนกันว่า หากเป็นรอยพระพุทธบาทจริง
ต้องมีรอยธรรมจักรกลางฝ่าพระบาท
แต่ที่นี่ได้สำรวจตรวจดูแล้ว เห็นรอยเท้าและนิ้วเท้าชัดเจน แต่ไม่เห็นมีอะไรตรงกลางเท้าเลย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นรอยของใครกันแน่
นับว่าเป็นปริศนาของคนที่เชื่อ และเป็นที่สงสัยของคนที่ไม่ค่อยจะเชื่อ
แล้วมีคำถามต่อมาว่า ผู้เขียนละเข้าใจว่าเป็นรอยของใคร แต่ถ้าจะย้อนถามผู้อ่านบ้างละ ว่าได้ไปอ่านหนังสือรวมเล่ม ๑ - ๓ ที่ผ่านมาแล้วหรือยัง
เพราะในรูปภาพทั้งหมดนั้น จะเป็นข้อมูลให้ตัดสินใจได้ว่าเป็นของผู้ใดกันแน่
แต่คิดว่าคนโบราณ ถ้าเป็นคนธรรมดา คงเหยียบหินให้เป็นรอยไม่ได้ นอกจากผู้ที่มีบุญญาธิการเท่านั้น แล้วเดินมาตั้งไกลสามารถเหยียบให้เห็นเพียงแค่ ๔
รอย นี่ก็แปลก เอาละ...จะแปลกยังไงก็ยังมีข้อมูลอีกนิด
คือก่อนที่จะกลับมีผู้รับเหมาสร้างถนน เส้นนี้เข้ามาคุยด้วยบอกว่า ตนเองได้ยินชาวบ้านเล่าว่า เคยมีพระภิกษุนำญาติโยมมาขอหวยที่นี่
ในขณะที่นั่งทำพิธีกันอยู่นั้น แต่ละคนก็แสดงอาการเหมือนกับว่ายน้ำ ผู้เขียนได้ยินเล่าดังนั้น จึงบอกว่าโบราณเขาเรียกว่า ว่ายบก
โดยเฉพาะพวกนิยมลอบไปขุดขโมยของโบราณที่ มักจะมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกกระแสน้ำพัดไป
อานุภาพ "พระพุทธรูปยืน" สมัยโบราณ ๒ องค์
ตอนนี้ขอเดินทางต่อไป เพื่อจะไหว้พระพุทธรูปยืนสำคัญที่ วัดพุทธมงคล บ้านสระ ต.คันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
รถเข้ามาจอดภายในวัดแล้ว จึงเดินเข้าไปพบป้ายบอกว่า เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สูง ๔ เมตร ศิลปะทวาราวดี สลักจากหินทรายสีแดง
เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม
มีพุทธลักษณะเช่นเดียวกับ "พระพุทธรูปมิ่งเมือง" วัดสุวรรณาวาส ตำนานกล่าวว่า พระพุทธรูปทั้งสององค์ สร้างขึ้นในเวลาเดียวกัน
เมื่อครั้งที่อำเภอกันทรวิชัยเกิดฝนแล้ง ผู้ชายได้สร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง ส่วนผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนมงคล เมื่อสร้างเสร็จแล้ว
ได้ทำการฉลองอย่างมโหฬาร นับแต่นั้นเป็นต้นมา ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
นี่เป็นข้อความที่บอกไว้ ส่วนองค์พระพุทธรูปยืน มิได้อยู่ในวิหารเหมือนที่อื่นๆ แต่กลับยืนอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ คือถูกฝังจมอยู่ที่โคนโพธิ์
หมายถึงองค์พระมีอยู่ก่อน ภายหลังต้นโพธิ์ขึ้นมาโอบล้อมไว้นั่นเอง ต้นโพธิ์ก็ใหญ่โตมาก แสดงถึงกาลเวลาผ่านไปนานแล้ว
เมื่อได้ถวายผ้าห่มและร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาสแล้ว จึงเดินทางไปที่พระพุทธรูปยืนอีกองค์หนึ่ง คือ พระพุทธมิ่งเมือง
ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณกิโลเมตรเศษ ในระหว่างที่รถจะเลี้ยวเข้ามาใน วัดสุวรรณาวาส ปรากฏมีละอองฝนปรอยลงมาที่กระจกหน้ารถทีละหยด ๓ หยด
ทั้งที่ไม่มีเค้าว่าฝนจะตก พอเข้ามาถึงมณฑป พระพุทธมิ่งเมือง ฝนก็โปรยลงมาอีกนิดหน่อย (ตามภาพอาจจะเห็นเม็ดฝนไม่ชัด
แต่ถ้าขยายภาพจะเห็นได้ชัดเจน)
วัดนี้พระสายท่านอาจารย์หนุน ชื่อว่า ท่านสุรชัย นาถปุญโญ วัดป่าอนุรักษ์ ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย
เป็นผู้เล่าประวัติพระพุทธรูปยืนทั้งสององค์ให้ฟังว่า ตามหลักฐานยืนยันได้จากใบเสมาที่ฝั่งอยู่ใกล้พระ จารึกเป็นอักษรขอมว่า สร้างปี ฮวยสะง่า (ปีระกา)
พุทธศักราช ๑๓๙๙
ปัจจุบันยังมีตัวอักษรปรากฏอยู่ที่ใบเสมา แต่ก็เลอะเลือนมากแล้ว ตามคำบอกเล่าสืบทอดกันมาว่า ที่เดิมแถบนี้ขอมได้ครอบครองมาก่อน
ต่อมาทางนครเวียงจันทน์มีอำนาจครอบครองจากขอม มีเจ้าเมืองปกครองอิสระ เรียกกันว่า เมืองกันทาง หรือ เมืองคันธาธิราช
ตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ซึ่ง หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) ได้กล่าวไว้ว่า เมืองคันธาธิราชตั้งขึ้นเมื่อปีมะเส็ง
จุลศักราช ๑๔๗ (ปี พ.ศ. ๑๓๒๘) เมืองนี้ตั้งอยู่นานนับพันปี จนถึงผู้ครองเมืองคนสุดท้าย มีนามว่า ท้าวลินจง มีมเหสีชื่อว่า
บัวคำ ต่อมามีโอรสคนหนึ่งชื่อว่า ท้าวลินทอง
พระโอรสองค์นี้มีนิสัยดุร้าย ต่อมาได้ข่าวว่าพระบิดาจะไม่ให้ตนขึ้นครองเมืองต่อ จึงจับขังทรมานด้วยวิธีการต่างๆ จนพระบิดาสิ้นพระชนม์
แต่ก่อนที่จะสิ้นใจไปพระองค์ได้สาปแช่งไว้ และพระมารดาก็ได้ต่อว่า ท้าวลินทองไม่พอใจ จึงสั่งฆ่าพระมารดาอีกคนหนึ่ง
หลังจากท้าวลินจงกับพระนางบัวคำสิ้นพระชนม์แล้ว ท้าวลินทองก็ได้ปกครองเมือง คันธาธิราชสืบมา แต่ประชาราษฎร์ได้รับแต่ความเดือดร้อน
โทรหลวงจึงแนะนำว่า พระ องค์ได้ทำบาปทำกรรมมหันตโทษ และเป็นผลจากการอธิษฐานจิตของพระบิดาที่ได้สาปแช่งเอาไว้ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจ
ควรที่จะสร้างพระพุทธรูป เพื่อทดแทนบาปกรรมที่กระทำไว้
ดังนั้นท้าวลินทองจึงได้สร้างพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ ขึ้นไว้เพื่อทดแทนคุณบิดาและ มารดา พระพุทธรูปยืนที่ วัดบ้านสระ
สร้างเพื่ออุทิศให้พระบิดา มีชื่อว่า พระพุทธมงคล ส่วนพระพุทธรูปยืน วัดสุวรรณาวาส สร้างอุทิศเพื่อพระมารดา ชื่อว่า
พระพุทธมิ่งเมือง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า คงจะเล่าไว้เพียงแค่นี้ จึงได้เข้าไปบูชาสักการะด้วยผ้าห่ม แล้วพบป้ายคำจารึกข้างองค์พระว่า
เดิมพระพุทธรูปองค์นี้จมอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน ต่อมานายอำเภอและเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย พร้อมด้วยบรรดาข้าราชการ พ่อค้าประชาชนทั้งหลาย
ร่วมกันสร้างพระมณฑป แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๓
◄ll กลับสู่ด้านบน
((( โปรดติดตามตอนที่ 2 วันที่ 9 เม.ย. 2551 คลิกที่นี่
)))