ตามรอยพระพุทธบาท

(Update ภาคอีสาน 2548 ตอนจบ) หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม 4 (ตอนที่ 2)
webmaster - 9/4/08 at 06:40

◄ll ย้อนอ่าน ตอนที่ 1 คลิกที่นี่
◄ll ย้อนอ่าน ตอนที่ 3 คลิกที่นี่



สารบัญ

(เลือก "คลิก" อ่านได้แต่ละตอน)


01.
รอยพระพุทธบาทบ้านดานเม็ก
02. น้ำตกคำเตย
03. กาฬสินธุ์ - มุกดาหาร - นครพนม
04. ได้บูรณะพระธาตุพนมโดยบังเอิญ
05. นครพนม - คำม่วน (ประเทศลาว)
06. สกลนคร - ชัยภูมิ




ร้อยเอ็ด - มหาสารคาม - กาฬสินธุ์


เป็นอันว่าพวกเราได้สักการบูชา "พระพุทธรูปยืน" เก่าแก่มานานนับพันปีครบถ้วนทั้งสององค์แล้ว จึงได้ลาท่านสุรชัยออกเดินทาง เพื่อค้นหารอยพระพุทธบาทที่ วัดพุทธสถานภูปอ ต.ภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ตามข้อมูลที่ พระถาวร (คำ) จ.สกลนคร เป็นผู้แจ้งไว้ว่า พบรอยพระพุทธบาทอยู่ทางทิศตะวันออกของพระนอนองค์ใหญ่บนเขาภูปอ

แต่พอไปถึงจะต้องขึ้นเขาไปอีก จึงไม่มีเวลาพอต้องขอผ่านไปก่อน แล้วจึงเดินทางต่อไป ตามข้อมูลอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว คือที่ บ้านดานเม็ก อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ด้วยการไปสอบถามโยมที่จะนำทางเข้าไป ท่านสุพจน์ เป็นผู้ให้ข้อมูล จึงพาไปหาเจ้าของโรงน้ำแข็ง สอบถามทางแล้วได้ออกเดินทางเข้าไปทันที

(เจ้าของโรงน้ำแข็งกำลังเล่ารายละเอียด)...............................(แล้วให้คนนำทางเข้าไปในป่าลึก "บ้านดานเม็ก")


คนงานของเจ้าของโรงน้ำแข็งได้นำเข้าไปในป่าแห่งหนึ่งที่ บ้านดานเม็ก เป็นป่าที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย บริเวณนี้จะมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนลานหินเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อเข้าไปดูแล้วพบว่า ที่นี่ไม่เหมือนกับที่เคยเห็นมาก่อน คือมีลักษณะลวดลายเป็นอักขระโบราณ และมีลายเป็นกรอบรูปคล้าย "พระสมเด็จนางพญา"


พวกเราทุกคนตื่นเต้นและดีใจ ที่ได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ก็มีรอยถูกสกัดไปบ้างเป็นบางแห่ง ตอนนี้ได้สำรวจไปทั่ว พบว่ามีรอยพระพุทธบาทเล็กๆ คู่หนึ่ง รอยเฉพาะเบื้องซ้ายและขวา แต่อยู่ห่างกันใหญ่มาก


อีกรอยหนึ่งที่สำคัญไปกว่านี้ คือ รอยเบื้องซ้ายที่มีลายลักษณ์คล้ายกับที่ช่างศิลปเขาวาดหรือทำไว้ ที่เรียกว่า “มงคล ๑๐๘ ประการ” อยู่เต็มฝ่าพระบาท นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่ได้พบ มองเห็นนิ้วเท้าพอจะรู้ว่าเป็นรอยพระบาทด้านซ้าย อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

แต่ถ้ายังมีคนสงสัยอีก ว่าจะเป็นรอยที่เกิดจินตนาการเอาเองหรือเปล่า แหม..ถ้าเจอคนประเภทนี้บ่อยๆ คงจะปวดหัวน่าดู คงไม่รำคาญนะ เพราะอยากจะอธิบายให้เข้าใจว่า สถานที่แต่ละแห่งที่ไปนี้ ไม่ใช่ผู้เขียนไปทึกทักเอาเป็นรอยพระพุทธบาทไปเสียทุกแห่ง แต่นี้ มีชาวบ้านเขานับถือกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่นี่เจ้าของโรงน้ำแข็งเขาก็เข้าไปกราบไหว้อยู่เสมอ ดังที่ได้เห็นศาลพระภูมิตั้งอยู่ในบริเวณนั้น


เอาละ..คงอธิบายเพียงแค่นี้ จะเสียเวลาคนที่เข้าใจดีอยู่แล้ว จะหาว่าทำให้เปลืองหน้ากระดาษเปล่าๆ ต่อไปนี้จะไม่พูดอีกแล้ว คงจะเล่าต่อไปอีกว่า ยังมีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นอีก คือหลังจากออกจากดานเม็กแล้ว พระที่นำทางได้พาไปค้างคืนที่ วัดถ้ำเงิน บ.คำบก ต. แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์


ขณะพักแรมกันในศาลา ผู้เขียนได้เดินออกมา เห็นโขดหินใหญ่อยู่หน้าศาลา จึงได้ลองเดินขึ้นไปดู ปรากฏว่าพบรอยพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ คือไม่รู้กันมาก่อนนั่นเอง แม้แต่พระในวัดนี้ก็ตาม พบว่ามีพระพุทธบาทหลายรอยทั้งซ้ายและขวา


ในคืนนั้นก็ได้ทำบุญกับพระหลายรูป อันมี พระจำนงค์ เจ้าอาวาสวัดถ้ำเงิน และ พระยงยุทธ ที่จะนำไปในวันพรุ่งนี้ด้วย รวมเป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมสังฆทาน ตอนเช้าวันที่ ๑๗ มี.ค. ๔๘ ชาวบ้านได้หุงข้าวต้มมาถวายพระ แล้วเล่าว่าตนเองอยู่ที่นี่มาหลายสิบปีแล้ว เคยเห็นดวงไฟลอยขึ้นเป็นสีเขียวๆ ด้วย


ส่วนเจ้าอาวาสก็เล่าว่า มีพระบางรูปจะมาปักกลดใกล้ๆ ถ้ำเงินไม่ได้ จะต้องมีการย้ายออกมาไปคืนนั้นทันที คิดว่าบริเวณนี้คงเป็นที่สำคัญ จึงได้เดินไปที่ถ้ำเงินเห็นเป็นรูเล็กๆ ที่ทะลุเข้าไปในโขดหินใหญ่ ปากถ้ำมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ คืบ ลึก ๑ ฟุต แล้วยังมีรอยพระหัตถ์ประทับอยู่บนหินถ้ำเงินอีกด้วย


หลังจากทำพิธีบวงสรวงบายศรีกันแล้ว พระยงยุทธได้นำไปที่ ห้วยสังเคียบ (ตาดน้ำย้อย) บ.เหล่าภูพาน ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ต้องเดินไปตามริมห้วยบ้าง ไหล่เขาบ้าง ลัดเลาะไปตามอ่างเก็บน้ำ เดินประมาณ ๑ ชั่วโมง จึงจะถึงบริเวณที่เรียกว่า “ตาดเมย”


ชาวบ้านที่นำทางมาด้วยบอกว่า แถวนี้มีรอยเมย หรือรอยกระทิงอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในระหว่างที่ค้นหากันอยู่นั้น แทนที่จะได้พบรอยเมยอย่างเดียว กลับได้พบรอยพระพุทธบาทเกือกแก้วเบื้องซ้ายโดยบังเอิญ พอจะหายเหนื่อยกันบ้าง เพราะเดินถือเครื่องบูชากันไปด้วยความลำบาก คงไม่เสียเวลาเปล่านะ จึงพอมีเรี่ยวแรงเดินกลับไป


ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีรอยพระพุทธบาทอีกหลายแห่ง ตามบัญชีที่ ท่านประทักษ์ ส่งมาให้ แล้วก็มีรายการของ ท่านสุพจน์ อีกด้วย จึงช่วยให้พบรอยพระพุทธบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรวมกับข้อมูลจากในหนังสือพิมพ์ ข้อมูลจาก คุณซ้ง - ปุ้ย ที่พบจากห้องข่าวช่อง ๕ และจากในอินเตอร์เน็ต เป็นต้น


นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ - ๒๕๔๙ เป็นเวลาสิบกว่าปีนี้ ในขณะนี้นับจำนวนพระธาตุ ๖๐๐ กว่าแห่ง ส่วนรอยพระพุทธบาทได้ ๔๐๐ กว่าแห่ง ผู้เขียนกำลังลุ้นจะให้ครบ ๕๐๐ แห่ง ในครั้งนี้ โดยเฉพาะทางภาคอีสานพบรอยพระพุทธบาทมากกว่าภาคอื่นๆ

(ขอพักเหนื่อยนั่งฉันเพลในกระต๊อบกันก่อน............................จากนั้นก็เดินหารอยพระพุทธบาทกันต่อ)


ฉะนั้นพอรถขึ้นไปถึงบนเทือกเขาภูพาน ในเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน ท่านประทักษ์ก็นำเข้าไปที่ บ้านแก้งกะอาม ต.ผาเสด็จ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ พอจอดรถแล้วเดินเลี้ยวซ้ายเข้าไปที่แก้งกะอาม พลันก็มีฝนโปรยลงมาเป็นเม็ดใหญ่ๆ ตกลงมากระทบใบไม้แห้งเสียงดังเหมาะแหมะๆ แล้วก็โปรยลงมาเรื่อยๆ


ทั้งที่ขณะเริ่มเข้าหน้าร้อน แล้วก็ผ่านมาจากที่อื่นๆ ก็ไม่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ ครั้นได้ลองนับลำดับรอยพระพุทธบาทที่ผ่านมาทั้งหมด ปรากฏว่าที่ แก้งกะอาม นับเป็นลำดับที่ ๕๐๐ แห่งพอดี มิน่าถึงได้มีฝนโปรยลงกระทันหัน คือเป็นจังหวะเดียวกับที่พวกเราเดินเข้าไป


เวลานั้นน้ำแห้งจึงได้พบรอยพระพุทธบาทเกือกแก้ว ทั้งซ้ายและขวาอยู่กลางลานหินหลายรอย จึงได้สักการบูชาแล้วเดินทางไปที่ ธุดงคสถานจ้อก้อ บ.สร้างแก้วน้อย ต.สร้างค้อ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ต้องเดินขึ้นไปบนยอดเขา เดิมก้อนหินพระบาทอยู่ข้างล่าง พอมีการสร้างถนน จึงต้องสกัดแล้วยกขึ้นมาไว้บนนี้


สำหรับพระพุทธบาทรอยนี้ ในระหว่างเดินขึ้นเขาก็มีฝนโปรยลงมาอีกเหมือนกัน นับเป็นก้อนหินใหญ่พอสมควร มีรอยเดิมอยู่บ้าง แล้วมีการแต่งนิ้วเท้าภายหลัง เป็นรอยเบื้องขวา กว้าง ๓๖ ซ.ม. ยาว ๘๒ ซ.ม. เด็กสองคนที่นำทางขึ้นมาเล่าว่า ข้างบนนี้ผีดุกลางคืนไม่กล้าขึ้นมา บางทีเห็นเป็นงูใหญ่ก็มี แต่บนยอดเขาสูงนี้ก็ยังมีสำนักสงฆ์อยู่ด้วย


ในวันนั้นไม่พบพระรูปใดเลย จึงให้รางวัลเด็กนำทาง ๒ คน แล้วเดินลงมาประมาณ ๑๐ นาที จึงจะถึงที่จอดรถไว้ แล้วก็ดีใจที่ได้พิชิตยอดภูจ้อก้อเป็นผลสำเร็จ (ภูจ้อก้อแห่งนี้ เป็นคนละแห่งกับวัดภูจ้อก้อของ หลวงปู่หล้า) เพราะค้างตั้งแต่ปีที่แล้ว ในปีนี้ใกล้จะปิดบัญชี จำต้องแข็งใจเก็บให้หมด


ขณะที่เขียนอยู่นี้เป็นช่วงเข้าพรรษาปี ๒๕๕๐ จะพยายามเรียบเรียงภายในประเทศให้หมด แล้วจะเขียนเรื่องที่ไปประเทศต่างๆ ต่อไป คิดว่า หนังสือรวมเล่ม ๔ น่าจะเป็นเล่มจบ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่จบนะ ยังต้องไปอ่านต่ออาทิตย์หน้าตอนไปถึง น้ำตกคำเตย บ.บ่อแก้ว อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 18/4/08 at 15:49

(Update 18 เม.ย. 2551)


น้ำตกคำเตยอยู่ใกล้ถนน ห่างจาก "ภูจ้อก้อ" ไม่กี่กิโลเมตร ได้พบรอยพระพุทธบาทเกือกแก้วด้านขวา ๒ รอย อยู่ในลำธารข้างสะพาน เดินข้ามต่อจากนั้นก็ไปที่ น้ำตกตาดทอง ต. หนองผือ อ.เขาวง จ.กาฬสินธิ์ ก่อนทางลงไป น้ำตกมีป้ายเขียนบอกว่า “เต่าทอง ๓ พี่น้อง”



ปรากฏว่าเป็นก้อนหินรูปเต่า ๓ ก้อนเรียงกัน จากนั้นก็เดินลงไปที่น้ำตก แต่ไม่เห็นมีน้ำตกสักหยด เพราะเป็นหน้าแล้ง น้ำจึงไม่ตกมาให้เห็นเลย แต่ก็เป็นผลดีในการสำรวจ สามารถตรวจดูได้ทั่วลานหิน จึงพบรอยเกือกแก้วข้างซ้าย ๑ รอย ส่วนรอยอื่นๆ ก็ไม่ชัดเจน


<
เมื่อกราบไหว้บูชากันแล้ว จึงกลับออกมาได้นิดหน่อยก็เข้าไปที่ วัดป่าศิลาอาสน์วนาราม ซึ่งอยู่ใกล้กับน้ำตกตาดทอง ด้านหน้าวัดมี ศาลเจ้าพ่อตาดทอง อยู่ด้วย จึงเข้าไปถามพระที่อยู่ในวัดท่านบอกว่า บริเวณลานหินนี้เคยเป็นน้ำตกเก่า มีถ้ำอยู่ข้างล่าง


พวกเราทั้งพระและฆราวาส จึงช่วยกันสำรวจทั้งที่ไม่มีข้อมูลมาก่อน คือไม่มีรายการเดินทางสำหรับสถานที่นี้ แต่ที่แวะเข้ามาเพราะชื่อแปลกดี แล้วก็เห็นมีศาลเจ้าพ่ออยู่ด้วย จึงทำให้สงสัยว่าจะมีรอยพระพุทธบาทหรือไม่ ปรากฏว่าพบได้จริงๆ พระที่วัดบอกนึกว่าเป็นหลุมธรรมดาจึงไม่ได้สนใจ ผู้เขียนจึงอธิบายลักษณะพระพุทธบาทเกือกแก้วให้ท่านเข้าใจ เป็นรอยเบื้องขวาขนาดใหญ่ กว้าง ๔๕ ซ.ม. ยาว ๑๑๕ ซ.ม. พระรูปนี้เป็นชาวจันทบุรีได้บอกอีกว่า ข้างบนเขานี้ยังมีรอยพระพุทธบาทอีก แต่ต้องเดินข้ามเขาไปเป็นกิโล อีกทั้งยังเคยเห็นดวงไฟลอยไปมาในบริเวณนี้ด้วย

ความจริงรอยพระพุทธบาทแห่งนี้เกือบตกสำรวจไปแล้ว จึงถือว่าโชคดีที่จะได้บันทึก เข้าไว้ในทำเนียบรอยพระพุทธบาททั่วชมพูทวีปต่อไป ตอนนี้ก็เกิน ๕๐๐ แห่งไปแล้ว คงจะไม่หมดเพียงแค่นี้ เพราะยังมีต่อที่อยู่ริมลำห้วยข้างร้าน สวนอาหารริมธาร บ้านกุดตูม อ.เขาวง สถานที่นี้ ท่านถาวร (คำ) เป็นผู้พบ


รอยพระพุทธบาทอยู่ในลำห้วยเล็กๆ มีชื่อว่า ห้วยวังชุม โขดหินที่มีรอยพระบาทก็มี ลักษณะคล้ายหัวเต่า หน้าแล้งจะอยู่สูงเหนือน้ำ เป็นรอยเกือกแก้วขวา กว้าง ๓๐ ซ.ม. ยาว ๗๘ ซ.ม. ลึก ๓๐ ซ.ม. ภรรยาเจ้าของร้านบอกว่า

สมัยก่อนตอนเด็กๆ ยายเคยเล่าให้ฟังว่า ได้ยินเสียงฆ้องกับเสียงกลองดังขึ้นในบริเวณนี้ และเวลาหน้าน้ำฝนจะมาแรง ก้อนหินจะมีเสียงดังเตือนขึ้นก่อน หรือจะมีงูว่ายไปตามน้ำก่อนไม่เกิน ๒ วัน น้ำก็จะมามากจริงๆ

ต่อเมื่อถามว่า โยมไม่รู้หรือว่าก้อนหินนี้มีความสำคัญอย่างไร โยมก็บอกว่าไม่รู้ จึง ได้อธิบายให้เข้าใจกันว่า อย่าโยนสิ่งของลงไปข้างล่าง เพราะเป็นรอยพระพุทธบาทเกือกแก้ว พยายามรักษาให้สอาดไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้ แล้วจะมีแต่ความเจริญ หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปพักค้างคืนที่ วัดป่าภูน้อย ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ. กาฬสินธุ์ ท่านจะเด็ด เป็นเจ้าอาวาส เคยอยู่ที่วัดท่าซุงมาก่อน ได้พบรอยพระพุทธบาทใหม่ ไม่นานมานี่เอง คืนนั้นได้ร่วมทำบุญกับท่าน ๒,๐๐๐ บาท


รุ่งเช้าวันที่ ๑๘ มี.ค. ๔๘ จึงได้ไปที่รอยพระพุทธบาทที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่บนเขาไม่สูงมากนัก เป็นรอยที่อยู่บนลานหินตามธรรมชาติ แต่ท่านจะเด็ดได้ ให้ช่างมาแต่งนิ้วเท้าและธรรมจักร เป็นรอยที่ใหญ่มาก กว้าง ๑๐๐ ซ.ม. ยาว ๒๐๐ ซ.ม. เป็นรอยเบื้องขวา ด้านข้างมีพระพุทธรูปแกะสลักด้วยศิลาองค์หนึ่งอยู่ด้วย


ในเช้าวันนี้อากาศข้างบนแจ่มใสลมแรง จึงได้ออกเดินทางต่อไปที่ วัดถ้ำบ่หลบ ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ เดิมสถานที่นี้ไม่มีอยู่ในโปรแกรม บังเอิญไปพักที่ถ้ำเงิน แล้วได้พบพระ รูปหนึ่งท่านบอกอยู่ที่นี่มีรอยพระพุทธบาท และมีรอยเท้าสัตว์มากมาย ขณะที่ไปถึงไม่พบพระอยู่ภายในวัดเลย


จึงเดินขึ้นไปบนข้างผนังหินกันเอง ข้างหลังห้องน้ำพระเห็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาใหญ่มาก ตะแคงอยู่ริมผา ลักษณะไม่มีรอยนิ้ว แล้วได้เดินต่อไปอีกก็ได้พบเป็นรอยเกือกแก้วเบื้องซ้ายอีกรอยหนึ่ง และมีบ่อน้ำอยู่กลางลานหินหน้าวัด แต่ถ้ามองไกลไปอีก จะเห็นก้อนหินก้อนหนึ่งวางเทินอยู่อีกก้อนหนึ่ง คล้ายที่ ภูพระบาท (บัวบก) อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี...

◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 12/5/08 at 23:17

(Update 13 พ.ค. 2551)


กาฬสินธุ์ - มุกดาหาร - นครพนม



จากนั้นก็เดินทางต่อไปที่ ห้วยหมากไฟ บ.คำฮี ต.โพนราม อ.เมือง จ.มุกดาหาร ท่านถาวร หรือ "อาจารย์คำ" เป็นผู้นำไปพบรอยพระพุทธบาทเกือกแก้วอยู่บนลานหินกลางลำห้วย ในตอนนี้น้ำแห้ง จึงมองเห็นน้ำขังอยู่ในรอย ซึ่งเป็นเบื้องขวาสวยงามตามธรรมธาติ ไม่มีการแต่งเติมเสริมต่อให้ผิดแผกไปจากเดิม


มองดูแล้วชื่นใจ เป็นรอยใหญ่ได้สัดส่วน ปลายแหลมเหมือนหัวเรือสำเภา รอยเกือกแก้วส่วนใหญ่มักจะพบอยู่ตามลำน้ำ เวลาหน้าน้ำก็จะไหลผ่านออกไป เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่ในเขตนั้นๆ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้ทรงอนุเคราะห์ไว้

ในเขต อ.เมือง จ.มุกดาหาร ยังมีอีก แห่งหนึ่งที่อยู่ในลำห้วย ที่เรียกกันว่า ลานสาวผ่อง บ้านหนองหอย อาจารย์คำเล่าว่า ที่บ่อน้ำทิพย์มีน้ำเย็นใสสะอาดนี้ เวลามีงานพิธีสำคัญ ทางจังหวัดมุกดาหารจะนำบายศรีมาสักการบูชา เพื่ออัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไปทำพิธีต่างๆ แต่ ก่อนนี้เวลาเจ้าเมืองเป็นอะไร ต้องมาเอาน้ำไปจากที่นี้ นี่เป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณ


ท่านได้เล่าต่ออีกว่า บริเวณนี้ยังมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งเป็นต้นตะเคียน มีสายย้อยลงมาคล้ายสายพิณ พอถึงวันสำคัญจะมีเสียงเหมือนมีคนดีดพิณ เป็นเสียงดนตรีไพเราะมาก มัน เหมือนเสียงดีดพิณของพระอินทร์ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ เป็นความหมายอย่างนั้นนะ

ด้วยเหตุนี้ ทำไมบริเวณนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อเมื่อพวกเราได้สำรวจแล้วจึงพบว่า ที่นี่มีรอยพระพุทธบาทหลายแห่ง แต่ถ้ามาหน้าน้ำคงมองไม่เห็นนะ พระพุทธบาทที่อยู่ตามลำห้วยลำธาร จะไหว้ได้เฉพาะหน้าแล้งเท่านั้น


ครั้นได้เข้าไปที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ พบว่าเป็นแอ่งน้ำตื้นๆ น้ำใส พอจะมองเห็นเป็นรอยเท้าได้รางเลือน เหมือนกับที่ บ้านน้ำพุ ต.หลุบเหลา อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่มีฟองน้ำผุดขึ้นมา จึงได้เห็นเป็นรอยพระพุทธบาทเช่นกัน นี่ก็เป็นเส้นผมบังภูเขาที่ซ่อนเร้นมานาน

พวกเราจึงได้ตีปริศนากันออกว่า ความศักดิ์สิทธิ์มิได้อยู่ที่น้ำขังตามธรรมชาติ แต่เป็นเพราะว่าแอ่งเล็กๆ เหล่านี้มีรอยพระพุทธบาทซ่อนเร้นอยู่ แล้วก็เหมือนกับอีกแห่งหนึ่งที่พบใหม่ คือที่ วัดถ้ำบ่อน้ำทิพย์ จ.สุราษฎร์ธานี

เดิมคิดว่าเป็นแค่ ."บ่อน้ำทิพย์" ตามที่ทางวัดเขียนป้ายบอกไว้อยู่ภายในถ้ำ แต่เวลาผ่านไปนานหลายปี คุณศราวุธ ราชบุรี ได้ไปพบแล้วบอกว่า เวลานี้น้ำในบ่อแห้งไป ปรากฏว่า มีรอยพระพุทธบาทอยู่ที่ปากบ่อนี่เอง ความลับจึงเปิดเผยออกมาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำอยู่ที่ตรงนี้เอง

จึงขอบันทึกเพิ่มเติมไว้ตรงนี้เลยว่า มีรอยพระพุทธบาท ๒ แห่ง ที่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ใกล้กัน ขอย้อนกลับมาที่ ลานสาวผ่อง ในตอนนี้มีหญิงสาวชาวบ้าน ๒ คน อยู่แถวนี้ แต่คงไม่ผ่องตามชื่อนะ จึงได้พูดให้เธอเข้าใจว่า ความสำคัญซ่อนอยู่ในแอ่งน้ำนี้แหละ เป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา จึงมีอานุภาพต่างๆ แม้ในเวลาหน้าแล้งน้ำก็ไม่แห้ง

พวกเราทุกคนดีใจที่ได้ค้นพบความจริง ที่ซ่อนเร้นมานานนับพันปี ต่างก็นั่งคุยกันไป ในรถด้วยความประทับใจ จนกระทั่งเข้ามาถึง ในเมืองมุกดาหาร อาจารย์คำบอกว่าเจ้าภาพเป็นเจ้าของห้องอาหาร ช้อนเงิน และ ธารจินดารีสอร์ท จะถวายภัตตาหารเพลพระภิกษุทั้ง ๕ รูป และเลี้ยงอาหารพวกเราอีกด้วย


หลังจากทานอาหารกลางวันกันแล้ว จึงอำลาเจ้าภาพพร้อมกับขออนุโมทนาด้วย แล้วออกเดินทางต่อไป รถได้เลี้ยวเข้าไปตามป้ายบอกทางไป แก่งกะเบา ต.โป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.นครพนม จึงได้เห็นนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำเต็มไปหมด ต้องแอบหลบสำรวจกัน

นับเป็นแม่น้ำโขงที่กว้างใหญ่ โรงเรียนปิดเทอมเด็กๆ ชอบมาเล่นน้ำกัน เดินไปที่ริมน้ำได้พบรอยพระพุทธบาทใหญ่ๆ รวม ๕ รอย มีน้ำขังอยู่ด้วย แต่ก็สกปรกเต็มไปด้วยขยะเช่นถุงพลาสติก ที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้เต็มไปหมด

จึงได้แค่เดินสำรวจเท่านั้น แล้วรีบเดินทางต่อไปที่ บ้านคับพวง ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต้องเดินเข้าไปในป่าละเมาะ จะพบรอยพระพุทธบาทอยู่บนลานหิน ๒ รอย เป็นรอยเกือกแก้วข้างซ้าย และรอยธรรมดาเห็นนิ้วหัวแม่เท้าชัด ตามข้อมูล "อาจารย์ตุ๋ย" เล่าว่า


แต่ก่อนนี้มีพระท่านเคยมาธุดงค์แถวนี้ ได้พบรอยพระพุทธบาทมีนิ้วชัด แล้วเล่าเรื่องนี้ให้ "อาจารย์แก้ว" ฟัง ต่อมาอาจารย์แก้วก็ได้มาถึงที่นี่ แต่ก็ไม่พบรอยที่เห็นนิ้วเท้า จึงได้อธิษฐานที่รอยนี้ว่า ถ้าเป็นพระพุทธบาทจริงขอให้ฝนตก ปรากฏว่าฝนตกลงมาปรอยๆ ทันที

เมื่อเป็นดังนี้คงไม่เป็นที่สงสัย แล้วรอยพระพุทธบาทก็มีลักษณะเหมือนกับที่เห็นมาแล้วทุกแห่ง จึงได้ถวายเครื่องบายศรีและดอกไม้ดาวเรือง จากนั้นก็จะเดินทางไปที่ บ้านแก่งโพธิ์ ต.น้ำก่ำ ซึ่งอยู่ใกล้กับพระธาตุพนม ท่านตุ๋ยนัดพบกับชาวบ้านแก่งโพธิ์ไว้ที่นั่น

◄ll กลับสู่ด้านบน




ได้บูรณะพระธาตุพนมโดยบังเอิญ



".......ในระหว่างที่รถวิ่งเข้าไปในตลาด "พระธาตุพนม" ผู้เขียนได้เห็นองค์พระธาตุมีไม้นั่งร้านอยู่รายรอบ จึงนึกขึ้นมาได้ทันทีว่าปีนี้เป็น ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ พระธาตุพนมมีส่วนเกี่ยวข้องกับเลข ๘ มานาน ผู้เขียนได้เคยจัดงานที่นี่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ มีผู้ร่วมเดินทางนับพันคน

........บัดนี้ครบเวลา ๑๐ ปีพอดี ทั้งที่ลืมไปแล้ว แต่พอได้เห็นภาพไม้นั่งร้านอีก พลันก็นึกถึงเหตุการณ์เมื่อสิบปีก่อนนี้ พวกเราได้ร่วมกันถวายปัจจัยบูรณะองค์พระธาตุพนม ซึ่งได้บรรจุพระบรมธาตุ "ส่วนหน้าอก" ของพระพุทธเจ้าจำนวน ๘ องค์ ที่ พระมหากัสสปเถระ นำมาบรรจุ ไว้เมื่อ พ.ศ. ๘ แล้วก็ล้มไปเมื่อปี ๒๕๑๘

........เมื่อเข้าไปถึงได้พบผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งผู้เขียนได้เล่าให้ท่านฟังถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ว่าครั้งก่อนได้พบกับ ท่านดอกเตอร์มหาสม ผู้ช่วยเจ้าอาวาส (ปัจจุบันท่านมรณภาพไปแล้ว) ท่านได้เล่าว่าพระธาตุพนมเกี่ยวพันกับเลข ๘ พวกเราคณะศิษย์หลวงพ่อฯ ที่ไปในปี ๒๕๓๘ ซึ่งตรงกับวันแรม ๘ ค่ำด้วย

ในครั้งนี้ก็เช่นกันอาถรรพณ์เลข ๘ ก็ ตามมาอีก ดลจิตใจให้พวกเราได้ผ่านมาในปี ๒๕๔๘ ทั้งที่ไม่รู้มาก่อนล่วงหน้าว่าทางวัดจะทำการบูรณะ คณะของเราได้ออกเดินทางแบบ คนไม่รู้เรื่องมาตั้งแต่วันที่ ๑๔ มี.ค. ๔๘ แวะที่โน่นที่นี่ไปตามปกติ จนกระทั่งถึงพระธาตุพนมแห่งนี้ ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า วันที่ไปถึงนะ ตรงกับวันที่ ๑๘ พอดีอะไรเช่นนี้

แล้วเวลาที่เอาผ้าสไบทองขึ้นไปห่มรอบ องค์พระธาตุพนมก็เช่นกัน ยังมีอานุภาพอย่างไม่น่าเชื่อ คือพระรูปนี้ก็มีใจอารีเปิดประตูองค์ พระธาตุให้เห็นถึงด้านใน ตามปกติจะไม่มีใครได้เห็นกัน ในขณะนั้นพวกเราช่วยกันเอาม้วนผ้าขึ้นไป ทั้งที่ผ้าม้วนนี้มีการตัดแบ่งไปห่มใน ที่ต่างๆ ผ่านมาแล้ว จึงไม่รู้ว่าจะห่มองค์พระธาตุพนมพอหรือไม่


ในขณะที่ดึงผ้าไปโอบล้อมจากด้านหลังมาถึงข้างหน้านั้น ผู้เขียนกับพระรูปนี้ช่วยกัน จับปลายทั้งสองด้านให้มาผูกกันที่ประตูขององค์พระธาตุ บางคนที่แหงนดูอยู่ก็ช่วยกันลุ้นว่า ชายผ้าจะมาถึงกันหรือไม่

ท่ามกลางนาทีระทึกใจ ในตอนนั้นได้พบกับ คุณสุกิต กาญจนวลีกุล พร้อมภรรยา และบุตรชายมาจากกรุงเทพฯ จึงได้ชวนเดินแห่ผ้าห่มรอบองค์พระธาตุด้วยกัน แล้วร่วมบูรณะ รวมเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท นับเป็นบุญวาสนาจริงๆ ที่ชีวิตนี้ได้มีโอกาสบูรณะใหญ่ เป็นการบังเอิญทั้งสองครั้งด้วยนะ


แล้วบังเอิญในตอนสุดท้ายนี้ก็คือ ชายผ้าทั้งสองด้านสามารถดึงมาผูดมัดด้วยกันไว้ที่หน้าประตูด้านในได้พอดิบพอดี นี่เป็นเรื่องที่ปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานแค่ไหน คงฝังอยู่ในความทรงจำตลอดไป

เรื่องนี้ก็ผ่านไปยังมีเหตุการณ์สำคัญที่จะพบในวันนี้กันอีก เมื่อออกมาจากพระธาตุ พนมแล้ว ซึ่งเป็นสถานที่มีจริงตาม ตำนานพระธาตุพนม หรือ อุรังคนิทาน ที่นักโบราณคดียอมรับนับถือ ชาวไทยได้รู้จักประวัติพระธาตุพนมได้ดี จนมีความเคารพนับถือกันทั่วประเทศ คงเพราะเหตุแห่งตำนานนี้ที่เป็นหลักฐานดีที่สุด

แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง สถานที่สำคัญที่อื่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จ กลับไม่ปรากฏให้คนไทยได้รู้เห็นเป็นเหมือนพระธาตุพระพนม ฉะนั้น คณะตามรอยพระพุทธบาท มีหน้าที่จะต้องไปรื้อฟื้นสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จทุกแห่งให้ปรากฏแก่ชาวโลก นั่นก็คือ บ้านซ่งน้ำพุ

นอกจาก บ้านซ่งน้ำพุ ที่อยู่ริมหนองหาน จ.สกลนคร (เป็นน้ำพุที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับพระขรรค์ของ เจ้าสุรอุทกกุมาร สิ่งอัศจรรย์ ๒ ประการนี้เกิดขึ้นในวันที่ประสูติ ชาวเมืองจึงเรียกว่า “ทรงน้ำพุ” ตามที่ผู้เขียนได้เล่าผ่านไปแล้ว ซึ่ง ตำนานอุรังคนิทาน บางเล่มได้ตัดเรื่องตอนนี้ไป ส่วนตำนานพระธาตุเชิงชุมก็ไม่อธิบายว่า "บ้านซ่งน้ำพุ" อยู่ตรงไหน

ปัจจุบันนี้ผู้คัดลอกหรือเรียบเรียงตำนาน ส่วนใหญ่จะกล่าวเฉพาะเรื่องของสถานที่ตน เองเพียงแห่งเดียว จะไม่กล่าวอ้างอิงไปถึงที่อื่น ภายหลังทำให้ผู้ที่ศึกษาค้นคว้า ไม่สามารถจะติดตามให้ละเอียดได้

พระพุทธบาทบ้านแก่งโพธิ์

ตัวอย่างเช่น สถานที่กำลังจะไปนี้ ตามที่อาจารย์ตุ๋ยนัดกับญาติโยมไว้ คอยไปคอยมากันหลายวันแล้ว คือกว่าจะมาถึงต้องแวะโน่นแวะนี่ จำต้องเลื่อนเวลามาถึงตลอดทาง แต่เมื่อถึงญาติโยมต่างดีใจช่วยกันทำความสะอาดรอยพระพุทธบาทรอไว้แล้ว

รถได้วิ่งถึง บ้านแก่งโพธิ์ ต.น้ำก่ำ ไม่ไกลเท่าใดนัก จากพระธาตุพนมไปทางทิศตะวันตก รอยพระพุทธบาทอยู่ใกล้สะพานข้าม แม่น้ำก่ำ ต้องจอดรถแล้วเดินลงไป ในขณะนั้น หน้าแล้งน้ำแห้งมีแก่งหินมากมาย แต่ก็ยังมีน้ำไหลอยู่บ้าง จึงเป็นที่พักผ่อนของชาวบ้าน ต่างก็มานั่งกินนั่งดื่มกันในเวลาเย็น


ในบริเวณรอยพระพุทธบาท ญาติโยมที่มารอต้อนรับสิบกว่าคน ช่วยปัดกวาดแล้วปูเสื่อไว้ ถ้าเป็นหน้าน้ำเราคงไม่ได้มานั่งเช่นนี้ มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า ขณะที่ทำความสะอาดได้เห็นเลข ๗ และเลข ๕ อยู่ในรอยพระพุทธบาทด้วย ภายหลังได้ตามขึ้นไปแล้วก้มลงดูเลขทะเบียนรถ ปรากฏว่าตรงกันแทบไม่น่าเชื่อ

เรื่องนี้ก็เป็นประสบการณ์ของแต่ละคนนะ ใครอ่านแล้วจะคิดอย่างไรก็ช่าง เพราะเธอก็ไม่ได้เห็นเลขทะเบียนรถมาก่อนแล้วถึงจะเล่า นี่เธอเล่าไว้ก่อนที่จะขึ้นไปเห็นทะเบียนรถ แล้วก็บูชากันไม่ได้หวังร่ำหวังรวย ทุกคนหวังแค่บุญกุศลเท่านั้น จึงขออนุโมทนาที่ได้ต้อนรับ แม้จะต้องรอคอยกันนาน

จึงได้ถามโยมคนหนึ่งว่า แล้วที่บ้านแก่งโพธิ์นี้ ต้นโพธิ์เดิมไปไหนแล้วละ โยมบอกว่าเดิมต้นโพธิ์อยู่แถวนี้ เมื่อมีการสร้างสะพานจึงต้องตัดโค่นทิ้งไป ต่อเมื่อถามว่า แล้วใครเคยเห็นดวงไฟลอยแถวนี้บ้าง ปรากฏว่ามีโยมเคยเห็นเป็นดวงแก้ว แต่คิดว่าลอยไปพระธาตุพนม ผู้เขียนจึงบอกว่าคงจะเป็นที่นี่มากกว่านะ


ในตอนกลับมาแล้ว จึงได้รับเอกสารที่ ส่งมาจาก ท่านถาวร (คำ) ตามตำนานฉบับดั้ง เดิมเล่าว่า...

“ครั้งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาทางอากาศ แล้วได้ลงประทับที่ ดอยกะปะณะคีรี หรือ ภูกำพร้า(พระธาตุพนม) ในราตรีนั้น วิษณุกรรม เทพบุตรลงมาอุปฐากพระพุทธองค์อยู่ตลอดรุ่ง กาลนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผ้าแล้วเอาบาตร ห้อยไว้ที่หง่าหมากทัน (ไม้พุทรา) ไม้ป่าเป้ง (ไม้โพธิ์) ต้นหนึ่ง ทางทิศตะวันตก แล้วเสด็จ ลงไปสู่ริมแม่น้ำที่นั้นเพื่อชำระพระบาท

ขณะนั้นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระ อินทร์ก็กระด้างแก่นแข็ง พระอินทร์เห็นเหตุ ดังนั้น ก็เสด็จลงไปสู่ป่าหิมพานต์ นำเอาน้ำแต่สระอโนดาตและไม้สีฟันมาถวาย พระพุทธองค์ทรงชำระพระบาทแล้วก็ทรงบาตร ผินพระพักตร์ไปสู่ทิศตะวันออก เสด็จไปประทับอิงต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต อยู่ใต้ปากเซ) ทรงทอดพระเนตรเมืองศรีโคตรบอง เพื่อจะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองนั้น...”

(หมายเหตุ คำว่า “ไม้โพธิ์” ในประวัติ พระธาตุบังพวนเรียกว่า “โพธิ์ห้อยบาตร”)

เรื่องราวมีเพียงแค่นี้ แต่ก็มีค่ามหาศาล ที่ทำให้รู้ว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมา ชำระพระบาทถึงแม่น้ำแห่งนี้ เช่นเดียวกับที่ บ้านซ่งน้ำพุ ทั้งสองแห่งนี้ แม้ว่าในตำนาน จะไม่ระบุชัดว่าประทับรอยพระพุทธบาทไว้ก็ ตาม แต่ของจริงที่เป็นหลักฐานยังปรากฏอยู่ ใครเล่าจะรู้คุณค่าก็แล้วแต่ปัญญาของแต่ละคน


เมื่อได้ทำพิธีบวงสรวงบายศรีกันแล้ว จึงได้อำลาญาติโยมที่แสนดี แต่เสียดายที่เพิ่ง จะรู้ภายหลังว่า เลขหวยงวดนั้นออก ๕๗ พอดี จึงไม่รู้ว่าใครจะโชคดีกันบ้าง เรื่องนี้คงไม่สำคัญ ประเดี๋ยวจะหาว่ากราบเพื่อหวังโชคลาภกันอีก รีบเดินทางต่อไปดีกว่า เพราะตอนนี้เย็นมากแล้ว


".......แต่กว่าจะถึง วัดมหาธาตุ ต.ในเมือง อ. เมือง จ.นครพนม ก็เป็นเวลามืดค่ำแล้วได้ทำ บุญร่วมซ่อมพระอุโบสถ ๑,๐๐๐ บาท และองค์ พระธาตุก็เพิ่งซ่อมเสร็จ จึงขอร่วมอนุโมทนา กับเจ้าอาวาสไปด้วยเลย เพราะเป็นวัดที่สำคัญ เก่าแก่อยู่ริมแม่น้ำโขง

........เช้าวันที่ ๑๙ มี.ค. ๔๘ หลังจากกราบ ไหว้พระธาตุกันแล้ว จึงออกไปฉันเช้าและจัด เตรียมอาหารเพลไปด้วย เพราะตามแผนที่วาง ไว้ ในวันที่จะข้ามไปแขวงคำม่วน ประเทศลาว ทางด่านท่าแขก เนื่องจากได้รับข่าวว่า เพิ่งจะ พบถ้ำใหม่และจะไปไหว้รอยพระพุทธบาทด้วย

........ฉะนั้น การเดินทางไปภาคอีสานครั้งนี้ นอกจากมี อาจารย์ตุ๋ย, อาจารย์คำ, ก็ยังมี อาจารย์น้อย รับอาสาเป็นผู้นำทางไปลาวด้วย พระสงฆ์ ๔ รูปและฆราวาส ๖ คน รวมเป็น ๑๐ คนพอดี แต่ก่อนที่จะออกเดินทาง ได้แวะ เข้าไปไหว้พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวนคร พนม ณ วัดโอกาส กันก่อน

นั่นก็คือ พระติ้ว และ พระเทียม ตามประวัติเล่าว่า ลอยน้ำมาตั้งแต่สมัยศรีโคตรบูรณ์จึงได้กราบไหว้และสรงน้ำปิดทอง เพื่ออธิษฐานขอพรให้พวกเราได้เดินทางโดยสวัสดิภาพปลอดภัย และสำเร็จตามที่ปรารถนาทุกประการ.

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนไป "ลาว" เป็นตอนจบ )))))))


webmaster - 26/5/08 at 12:05

(Update 26 พ.ค. 2551)


ภาคอีสาน วันที่ 14 - 22 มีนาคม 2548 (ตอนจบ)

นครพนม - คำม่วน (ประเทศลาว)




ทางขึ้นถ้ำพระทอง หนองปาผา ประเทศลาว

เมื่อเตรียมเรื่องหนังสือเดินทาง แล้วก็เสบียงอาหารและสิ่งของที่จะบูชาเสร็จแล้ว จึง ช่วยกันหิ้วของสัมภาระลงเรือข้ามไปทันที แล้ว เช่ารถตู้ฝั่งลาวเดินทางไปที่ ถ้ำพระทอง บ้านหนองปาผา แขวงคำม่วน

ในระหว่างทางผ่านบริเวณเทือกเขา มีหินก้อนหนึ่งเป็นแท่งสี่เหลี่ยมตามธรรมชาติ เขาว่าเป็นเสาหินสำหรับคล้องช้างใน อาณาจักรล้านช้าง เรียกว่า “หลักอูบช้าง” บริเวณนี้จึงเป็นที่เลี้ยงช้าง คำว่า “ล้านช้าง” น่าจะเป็นที่ บริเวณนี้ด้วย


รถตู้ได้นำพวกเราชมทิวทัศน์มาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงบริเวณ "ถ้ำพระทอง" พอเดินลงมาจากรถ มีลมพัดกรรโชกมาทันที มองเห็นชาวบ้านเพิ่งมุงหลังคาหญ้าแฝกยังใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะขายของป่า เช่น น้ำผึ้ง และ ผาเลือด เป็นต้น มีนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างประเทศด้วย เพราะถ้ำแห่งนี้เพิ่งค้นพบใหม่ ทางลาวได้ถ่ายทำเป็น สารคดีเผยแพร่ไปทั่วโลก พวกฝรั่งจึงสนใจกัน อาจารย์คำก็ได้ดูสารคดีนี้ด้วยจึงเล่าว่า

ถ้ำพระทองแห่งนี้ เดิมไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน แต่เมื่อสองปีที่แล้ว ชาวบ้านเห็นค้าง คาวบินออกมา จึงได้ปีนขึ้นไปสำรวจ ปรากฏ ว่าพบของโบราณมีค่ามากมาย เช่นพระพุทธ รูปทองและเงินสมัย พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง เมื่อสี่ห้าร้อยปีที่ผ่านมา ถึงแม้ภายในถ้ำจะไม่มีผู้ใดอาศัย แต่มองดูสะอาดเรียบร้อยเหมือนกับมีคนทำอยู่เสมอ

เมื่อมองไปที่ยอดเขานี้จะเป็นรูปหัวช้าง ตามปกติส่วนใหญ่ถ้ำจะอยู่เชิงเขาด้านล่าง แต่ที่นี่ถ้ำอยู่ระหว่างกลางเขา จึงมองเห็นบันได ไม้ที่เขาพาดเอาไว้สูงชัน มีสองอัน คือทางขึ้นและทางลง ใครกลัวความสูงคงจะหมดสิทธิ์

แต่ก็ต้องแข็งใจปีนกันขึ้นไป หากมอง ลงมาจะเห็นเบื้องล่างของถ้ำเป็นหนองน้ำใหญ่ เหมือนกับที่ ถ้ำธารลอด บ้านเรา อาจารย์คำเล่าว่า เดิมมีคนเห็นปาผาใหญ่ คือตะพาบน้ำ แต่ปัจจุบันได้หายไปแล้ว ก่อนจะขึ้นบันได มีคนคอยเก็บเงิน เมื่อขึ้นไปแล้วเขาก็ห้ามถ่ายภาพ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีภาพภายในถ้ำให้ได้ ชมกัน จึงเล่าไปตามความทรงจำว่า ภายในถ้ำ มีพระพุทธรูปทองคำองค์เล็กๆ และที่นิยมสร้าง ในสมัยล้านช้างก็คือ "พระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก" มองดูแล้วหาค่ามิได้จริงๆ แต่ที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ผู้เขียนได้สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ คนหนึ่งนั่งทับบนแผ่นโลหะที่เขาปิดช่องลมอยู่

จึงขอให้พระอีสานของเราช่วยเจรจาให้เขาช่วยลุกขึ้นหน่อย พอเขาลุกขึ้นก็ได้เปิดฝาโลหะแผ่นนั้นออก ปรากฏว่าพื้นถ้ำทะลุลงไปมองเห็นหนองน้ำอยู่เบื้องล่าง แต่ที่แปลกก็คือ ว่ารอยทะลุลงไปนั้น เป็นรูปรอยเท้าใหญ่มาก น่าเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่ถูกประทับจนทะลุลงไปนั่นเอง

น่าเสียดายที่ไม่สามารถถ่ายภาพไว้ได้ จึงได้แค่บันทึกไว้ในทำเนียบพระพุทธบาทว่า ถ้ำพระทองนี้ก็มีรอยพระพุทธบาทด้วย ต่อจาก นั้นก็ปีนกันลงมา การเดินทางครั้งนี้มี เจ๊หย่ง (ภรรยาคุณทนงฤทธิ์) ร่วมไปด้วย เขามีกฎระเบียบให้ผู้หญิงต้องนุ่งผ้าถุงขึ้นไป จะยากลำบากแค่ไหนในการปีนขึ้นบันได ต้องไปถามเจ๊หย่งกันเองนะ


หลังจากปีนป่ายลงมาแล้ว ได้เวลาฉันเพลพอดี จึงนั่งฉันอาหารกันที่ร้านของชาวบ้าน แล้วออกเดินทางต่อไป ตามถนนสายคำม่วน - เวียงจันทน์ แต่ยังไม่ถึงเวียงจันทน์ มีทางแยก ไปเขตหินบูน เรียกว่าหลักกิโลเมตรที่ ๒๐ ได้แวะพักที่จุดชมวิวบนยอด “ภูผาม่าน” ซึ่งมองเห็นเทือกเขาสลับซับซ้อนสวยงาม

ต่อจากนั้นก็เดินทางต่อไปถึง บ้านนาพวก ต.นาหิน เขตหินบูน แขวงคำม่วน ต้องจอดรถตู้ไว้ แล้วจ้างเรือไปต่อ แต่ไปเย็นมาก แล้วจึงหาเรือไม่ได้ ต้องไปหาเรือที่อื่น ๒ ลำ กว่าจะตกลงราคากันได้ก็เจอพิษของพวกนี้เข้า จนได้นั่งเรือหางยาวประมาณ ๑ ชั่วโมง จึง จะถึง วัดบ้านแคน เขตหินบูน มีชาวบ้านมา รอต้อนรับมากมาย แต่ก็เป็นธรรมเนียมไปแล้ว คือฉลองกันจนเดินโซซัดโซเซอยู่ภายในวัด


รวมระยะเวลานั่งรถตู้ ๔ ชั่วโมง นั่ง เรือหางยาวหัวจรวดอีก ๑ ชั่วโมง วัดบ้านแคน นี้อยู่ริมแม่น้ำ ต้องไปทางเรือเท่านั้น ได้พักค้าง คืนแล้วทำบุญกับเจ้าอาวาส ๑,๕๐๐ บาท วัดนี้พระอาจารย์หนุนเคยมาธุดงค์ที่นี่ จึงได้ไปไหว้ รอยพระพุทธบาทที่มีนิ้วเท้าชัดเจนอยู่ภายในถ้ำ

ต่อมาอาจารย์น้อยได้มาสร้างพระพุทธ รูปที่นี่ จึงรู้จักทางดีบอกว่าจะต้องนั่งเรือไปอีก ๑ ชั่วโมงกว่า แล้วต้องเดินไปที่ถ้ำอีกไกล พระ พุทธบาทอยู่ภายในถ้ำลึกต้องเดินลุยน้ำเข้าไปอีก พวกเราได้ฟังแล้วแทบหมดแรง อย่าว่าแต่ไปต่อ เลย เท่าที่เดินทางมาทั้งวันนี่ก็ทรหดอยู่แล้ว


ในตอนเช้าวันที่ ๒๐ มี.ค. ๔๘ จึงต้อง เดินทางกลับ ชาวบ้านขับเรือมาส่ง ขากลับนั่ง เรือประมาณ ๒ ชั่วโมง เพราะน้ำแห้งลงไป เรือจึงวิ่งเกยตื้นอยู่เสมอ พอใกล้จะถึงบางคน ต้องลงเดินลุยน้ำกันขึ้นมา โชเฟอร์รถตู้ไปกับ พวกเราด้วย จึงขับรถกลับมาส่งที่ท่าแขก



นครพนม - หนองคาย


เป็นอันว่า พระพุทธบาทถ้ำบ้านแคน จึงไม่สามารถจะเดินทางไปถึงได้ แต่ก็ได้บันทึกไว้ในหนังสือรวมเล่ม ๑ แล้ว จากนั้นก็เดินทางกลับมาฝั่งไทย แล้วเดินทางต่อไปที่ บ้านธาตุ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เข้าไปหาพระพุทธบาทที่อยู่ในป่า พบบ่อน้ำทิพย์อยู่บนก้อนหินคล้ายตะพาบ และพระพุทธบาทเกือกแก้วเบื้องขวา รอยใหญ่มาก

อาจารย์ตุ๋ยเล่าว่าเคยคุยกับคนแถวนี้ว่า ถ้าเป็นที่มีรอยพระพุทธบาท จะต้องเป็นที่ศักดิ์ สิทธิ์ บางครั้งมีแสงลอยขึ้นในวันพระ จะเป็นที่เฮี้ยน ใครจะมาเอาอะไรไปไม่ได้ เขาก็เลย เล่าตรงนี้ให้ฟังว่าเป็นหินตะพาบ เคยมีคนเข้ามาขุดเอาของแถบนี้ เกิดอาเพศต่างๆ มากมาย ชาวบ้านจึงกลัวไม่ค่อยกล้าเข้ามา ต่อมาผมก็เลยเข้ามาค้นหาจนพบ

บริเวณนี้เป็นป่าโปร่ง ไม่มีวัดไม่มีบ้านอาศัยอยู่เลย หลังจากสักการบูชาแล้ว จึงเดินทางไปที่ บ้านโพนแดง ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม พบก้อนหินมีรูปร่างมนกลมข้าง บนแบนราบ มีลายเส้นตากผ้าจีวร และมีร่องรอยคล้ายพระพุทธบาทอยู่ในป่าเช่นกัน


ชาวบ้านเคารพนับถือมาก พากันมาบูชากราบไหว้เป็นประจำทุกปี เรียกว่า “หินกระโตก” แปลว่าถาดข้าว แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นก้อนหิน อะไร เพียงดูเหมือนกับถาดข้าว ต่อเมื่อได้ชี้แจงและเสี่ยงทายกันแล้ว จึงได้เข้าใจว่าเป็นพระ แท่นที่ประทับนั่ง
สถานที่นี้อาจารย์ตุ๋ยได้นัดชาวบ้าน แถวนี้ให้นำทางเข้ามา หากมาเองคงจะหายาก เพราะต้องจอดรถแล้วเดินอ้อมหนองน้ำเข้าไป ในราวป่าจนสุดทาง จึงจะพบก้อนหินใหญ่นี้อยู่ ในป่าทึบ สภาพภายในป่าแห่งนี้มีหนองน้ำ กว้างใหญ่ เป็นธรรมชาติที่สร้างสรรไว้เงียบ สงบร่มเย็นดี ในใจคิดอยากให้พระสายอีสาน มาตั้งสำนักแถวนี้


แต่ก็ไม่ไหวเพราะไกลกันเหลือเกิน คงได้แต่นำผ้าห่มสไบทองบูชารอบๆ แล้วอำลาโยมที่ช่วยนำทางมา โยมผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า ช่วงนี้อากาศร้อนอบอ้าว อยากอธิษฐานให้ฝนตกสักที กลับมาแล้วอาจารย์ตุ๋ยได้โทรไปสอบถาม ปรากฏว่าฝนตกลงมาจริงๆ หลังจากพวกเรากลับไปแล้ว

ในตอนนี้เดินทางกลับมาค้างคืนที่ วัดพุทธโมกข์ อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร แต่ได้แวะที่ วังสะโน บ้านกลาง กันก่อน อาจารย์ตุ๋ย บอกว่ามีก้อนหินรอยพระพุทธบาทอยู่ในห้วย แถวนี้ แต่หน้าแล้งไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย ก้อนหินเป็นศิลาแลง รอยจึงไม่ชัดเจน แต่อาจารย์ตุ๋ย บอกว่าเมื่อก่อนเห็นชัดเป็นรอยเบื้องซ้าย ชาวบ้านว่าเป็นรอย “ปู่ฟื้ม”หาปลาแม่น้ำโขง

พิชิตยอดเขาสูง "ภูลังกา"


คืนนั้นได้ทำบุญกับ ท่านอาจารย์หนุน แล้ว ตอนเช้าวันที่ ๒๑ มี.ค. ๔๘ นับเป็นวัน ที่แปดของการเดินทาง ลำดับต่อไปที่ค้างสำรวจตั้งแต่ปีที่แล้ว เรียกว่า สาละครึ บนยอดเขา ภูลังกา บ้านทุ่งเจริญ ต.นางัว อ.บ้านแพง จ.นครพนม นับว่าโหดที่สุดเท่าที่เคยผ่านมา

แต่นับว่าเป็นโชคดีที่บังเอิญนัดไว้กับ พระที่จะนำทางเมื่อปีที่แล้ว ในคราวนี้กลับติด ต่อกับท่านไม่ได้ จึงต้องไปหาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ซึ่งเป็นชาวบ้านแถวนี้ที่ทำงาน กับอุทยานฯ จึงมีความชำนาญและช่วยอำนวย ความสะดวกให้กับพวกเราเป็นอย่างดี ถ้าหาก เป็นไปตามแผนเดิม เราต้องขึ้นกันไปเอง คง จะลำบากมากกว่านี้หลายเท่า

เมื่อติดต่อประสานงานกับชาวบ้านที่จะนำทาง ๒ คนแล้ว เราก็เตรียมเสบียงอาหาร ขึ้นไป พร้อมทั้งช่วยกันหอบหิ้วสิ่งของที่จะไป บูชาด้วย เช่น บายศรีและผ้าห่มสีทอง ดอกไม้โปรยและน้ำอบ เป็นต้น ก่อนจะขึ้นคนนำทางได้เอาสิ่งของทั้งหมด รวมลงไปในถุงพลาสติกใหญ่ แล้วตัดเถาวัลย์ผูกมัดเป็นสายคล้องไหล่ นี่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นจริงๆ

เมื่อขับรถไปจอดไว้ที่ วัดถ้ำผามนต์ แล้วเริ่มเดินเท้าเข้าไปในเวลา ๐๘.๐๐ น. เป็น ทางขึ้นเขาโดยตลอด เพราะภูลังกาเป็นยอดเขาที่สูงมาก แต่ก่อนพระสายหลวงปู่มั่น มักจะนิยมธุดงค์เข้ามาถึงที่นี่ ภูลังกาย่อมเป็นที่รู้จัก กันดีในสายพระธุดงค์ เพราะสมัยก่อนมักมีภัยอันตรายจากไข้ป่าและสัตว์ร้ายมากมาย

ฉะนั้น ใครที่ขึ้นไปพิชิตยอดภูลังกาได้ ถือว่าได้ผ่านศึกหนักมาแล้วนั่นเอง จะสามารถ ไปยอดเขาที่ไหนได้ทุกแห่งในประเทศไทย แต่ ทำไมผู้เขียนจึงสนใจอยากจะขึ้นไปล่ะ เพราะ ถ้าไม่ได้ยินเขาเล่า ว่าข้างบนยอดสุดมีรอยพระพุทธบาทที่มีรอยนิ้วชัดเจน เป็นรอยก้าวย่าง เดินไปประมาณ ๗ - ๘ ก้าว แล้วละก็คงจะไม่กระเสือกกระสนให้ลำบากอย่างนี้ นอนอยู่ที่วัดสบายๆ ดีกว่า

แต่นี่เดินกันมาตั้งนานแล้ว กว่าจะถึง ยอดเขาเดินกันประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่งเองนะ แหม..ฟังดูแล้วเหมือนกับจะง่าย อยากให้มาลอง กันมั่ง จะได้รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร ถึงอย่างไรก็ตาม คุ้มค่าจริงๆ สำหรับการเดินทางครั้งนี้

เพราะว่าระหว่างทางได้พบรอยพระพุทธ บาทในลำห้วยหลายรอย เริ่มเดินทางเวลา ๘ โมงเช้า กว่าจะถึงยอดเขาเวลา ๑๐.๓๐ น. จึง ต้องฉันเพลกันก่อน แต่ผู้อ่านอย่าเพิ่งคิดว่าถึง ยอดสุดแล้วนะ ยังๆ ยังไม่ถึงหรอก อย่าเพิ่งดีใจเหมือนพวกเรา ยังต้องเจอศึกหนักที่แสนโหด ยิ่งไปกว่านี้อีกหลายเท่า


ขอบรรยายภาพตอนที่นั่งฉันเพลกันก่อนนะว่า ตรงนี้เป็นสถานที่วิเศษอย่างไร แต่ความจริงตรงนี้เกือบถึงยอดสาละครึอยู่แล้วละ รูปร่างของยอดเขานี้เป็นหินสองก้อนที่ติดกัน ดูไกลๆ มีลักษณะกลมมน แต่ข้างล่างเป็นช่อง ทะลุออกไปได้ ช่องหินนี้คล้ายซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ ธรรมชาติสร้างสรรให้สวยงาม เป็นเช่นนั้นจริงๆ ความเหน็ดเหนื่อยแทบจะหาย ไปสิ้นทีเดียว

แต่ทว่าแทบจะหมดแรงไปอีก เมื่อเขาบอกว่ายังจะต้องปีนโขดหินนี้ขึ้นไปอีก จึงจะพบรอยพระพุทธบาทดังกล่าว แต่เวลานี้บันได ไม้ที่เขาทำไว้ผุกร่อนไม่สามารถขึ้นไปได้ อาจเกิดอันตรายร่วงหล่นลงมาได้ พวกเราได้ฟังก็รู้สึกใจหาย เสียดายที่อุตส่าห์ขึ้นกันมาเกือบตาย อีกนิดเดียวใกล้จะถึงอยู่แล้ว แต่ก็โชคร้ายที่บันไดผุไปหมด

ในขณะที่นั่งฉันข้าวกันอยู่นั้น พลันก็มีความหวังขึ้นมาอีก เมื่อเห็นโยมสองคนที่นำทางมา ได้นำมีดของตนเองไปตัดไม้ไผ่ แล้ว ช่วยกันผูกมัดทำเป็นบันไดทางขึ้นชั่วคราว ทั้งที่ไม่มีเชือกติดตัวมาด้วยนะ แต่ก็สามารถเหลาผิวไม้ไผ่มาผูกแทนเชือกได้

เมื่อลองขยับดูแล้วเห็นว่าแข็งแรงดี จึงช่วยกันปีนช่วยกันจับดึงขึ้นไปทีละคน ทั้งพระ และโยมขึ้นไปหมด พร้อมกับช่วยกันส่งของด้วย คงเหลือแต่ "บุ๋ม" กับ "ปุ้ย" สองคน เพราะเป็นโรคกลัว ความสูง กับน้ำหนักตัวมากเกินไป จึงต้องรออยู่ข้างล่าง

ตอนกลับลงมาเล่าให้ฟังทีหลังบอกว่า แหงนมองพวกเราปีนขึ้นไปแล้วหวาดเสียวแทน เพราะว่าไม้ที่ทำบันไดวางพาดอยู่บนโขดหิน โดยมีต้นไทรอยู่เพียงต้นเดียวเท่านั้น ที่มีรากให้มือเกาะพอที่จะเหนี่ยวตัวเองขึ้นไปได้ ถาม ว่าถ้ารากไม้หลุด หรือบันไดเอียงออกไป จะทำไง อ๋อ..ตอบไม่ยาก คงตกลงมาไม่เหลือนะ

อย่าบรรยายมากไป..ยังหวาดเสียวอยู่นะ อยากให้ดูภาพที่บันทึกไว้ใน DVD ดีกว่า ได้แจกกันไปหลายชุดแล้ว ใครต้องการก็มารับไปได้ไม่ต้องเสียเงิน ขอให้เอาไปดูก็พอใจแล้ว บนโขดหินยอดสุดนี้ ที่ข้างล่างเป็นช่องคล้ายซุ้มประตูโบสถ์ (เจ้าหน้าที่บอกว่าสมัยก่อนเคยมี พระพุทธรูปที่ทำด้วยไม้หลายองค์ ส่วนรอยที่อยู่ข้างบนยอดสุดนี้ แต่ก่อนไม่เคยมีใครขึ้นไป เห็นกันเพิ่งจะค้นพบเมื่อปี ๒๕๔๖ นี่เอง)


โขดหินสองก้อนข้างบนนี้อยู่แนบชิดกันกลายเป็น “สาละครึ” มีลานกว้างไม่มากนัก มองดูทิวทัศน์ข้างล่างได้โดยรอบ ยังสามารถมองเห็นฝั่งลาวตรงข้ามแม่น้ำโขงได้ชัดเจน จึงลืมความเหน็ดเหนื่อยและความหวาดเสียวไปได้ ชั่วขณะหนึ่ง

เมื่อทุกคนปีนขึ้นมาครบแล้ว คุณทนงฤทธิ์ได้บันทึกภาพไว้ทันที ปรากฏว่าเป็นรอยเท้าประทับอยู่บนหินจริงๆ ตามที่เขาเล่าไว้ มีนิ้วเท้าครบทั้ง ๘ รอย เป็นรอยก้าวย่างข้างขวา และซ้ายเดินสลับกัน แล้วหยุดเป็นรอยคู่อยู่ที่ ริมหน้าผา เหมือนกับเดินไปแล้วหยุดลอยขึ้นไปบนอากาศฉะนั้น รอยเท้าทั้งหมดกว้าง ๑๐ ซ.ม. ยาว ๒๕ ซ.ม. นับเป็นที่อัศจรรย์จริงๆ


เป็นอันว่า ได้กราบไหว้สมหวังแล้วก็ปลอดภัย แต่ก็หนักหนาสาหัสเอาการ ตอนเดินกลับลงมาอีกทางหนึ่ง ถึงแม้จะได้พบรอย พระพุทธบาทอีกหลายรอย รวมทั้งหมดประมาณ ๒๐ รอยก็ตาม ด้วยความที่เหน็ดเหนื่อย และอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้ทุกคนดื่มน้ำกันไปจนหมด กว่าจะเดินกลับลงมาอีก ๓ ชั่วโมง พวกเราคอแห้งกระหายน้ำกันทุกคน

คนนำทางได้นำกลับลงมาถึงวัด ต่างคนต่างวิ่งเข้าไปหาน้ำกันดื่มกัน ปรากฏว่าวันนั้น ดื่มน้ำกันเอร็ดอร่อย แล้วก็นอนแผ่หรากันที่ศาลาวัด ในตอนนี้ไม่มีภาพถ่าย ไม่มีการบันทึกวีดีโอ เพราะทุกคนต่างนอนหมดแรงกัน

ครั้นนอนพักเอาแรงกันชั่วครู่หนึ่ง ได้ให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่นำทางแล้ว จึงออกเดินทางต่อไปที่ ดานชมพูทอง บ.โนนจำปา อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย ขณะนั้น พระอาจารย์หนุน เดินทางมาร่วมสมทบด้วยเล่าว่า ขณะที่ออกมาจาก วัดพุทธโมกข์ ฝนตกลงมาตลอดทาง ทั้งที่ยัง ไม่ถึงหน้าฤดูฝน

ในตอนนี้มีพระรวมกันหลายรูป จึงช่วยกันสำรวจพบรอยพระพุทธบาทอยู่บนดานหิน ใหญ่มากถึง ๔ รอย ท่านถาวรเล่าว่า พระมาอยู่ที่นี่เคยเห็นแสงขึ้นตรงต้นกะบก สว่างไปหมดทั่วบริเวณนี้ เป็นต้นกะบกคู่อยู่ระหว่างก้อนหินพระบาท


ต่อมามีชาวบ้านคนหนึ่งมาจากสุรินทร์ มาทำไร่แถวนี้ไม่กี่วัน แล้วบุกรุกเข้ามาถึงที่นี่ ภายหลังลูกสาวคนเล็กตาย ลูกสาวคนโตก็ตาย เลยหนีหายไปไม่กลับมาอีก แล้วเคยมีคนสร้างบ้านอยู่ตรงนั้น ตอนหลังหลงเข้าไปในป่าด้านโน้น ข้างในเป็นบ้านเป็นเมืองหมดเลย เป็น เมืองลับแล แล้วก็วันศีลวันพระจะมีเสียงดนตรี เสียงพิณประโคมแถวนี้ เวลาหน้าฝนฟ้าจะผ่าลงมาที่ดานตรงนี้เท่านั้น

รอยพระพุทธบาทตอนแรกพบกันแค่ ๓ รอย ที่อยู่บนหินก้อนเดียวกันนี้ เป็นรอยที่ใหญ่มาก ไม่สามารถจะวัดได้ ตามปกติไม่ค่อยจะได้พบเห็นรอยใหญ่ๆ เช่นนี้ แต่ที่นี่ไม่มีรอย นิ้วเท้านะ ขณะนั้นมีพระรูปหนึ่งท่านอยู่ที่นี่มานานแล้ว ได้มาเล่าให้ฟังว่า ตนเองเคยเห็นแสงสว่างเป็นสีรุ้งพุ่งขึ้นตรงต้นไม้ใหญ่ใน เวลากลางคืน ตรงกับวันออกพรรษาพอดี แล้ว ก็มีญาติโยมเห็นกันหลายคน

เมื่อถามว่าแสงพุ่งขึ้นแล้วไปลงตรงไหน ท่านบอกว่าไปลงตรงถ้ำที่อยู่ใกล้ๆ นี้ แล้วก็เคยเห็นดวงแก้วลอยออกมาจากถ้ำด้วย เหตุนี้เองผู้เขียนจึงอยากจะลงไปสำรวจ และในขณะนั้น ท่านถาวรก็ขุดคุ้ยพบรอยพระบาทอีก อยู่ บนก้อนหินอีกด้านหนึ่ง รวมกันเป็น ๔ รอย

จึงได้กราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าครบทั้ง ๔ พระองค์ พระพุทธบาทก็มีขนาดไล่เลี่ยกัน พอดี เป็นรอยเบื้องขวา ๑ รอย เบื้องซ้าย ๒ รอย และเกือกแก้วอีก ๑ รอย นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พอถึงตอนนี้ท่านอาจารย์หนุน กับท่านถาวรพูดขึ้นว่า มิน่าละตอนที่ออกมาจากวัดพุทธโมกข์ฝนตกลงมาทันที แล้วก็มีฟ้าคำรามอีกด้วย

ผู้เขียนเลยบอกว่า ความจริงตอนนี้ภาค อีสานแห้งแล้งมาก อยากจะให้ฝนตกลงมาด้วย ฉะนั้น จะเป็นด้วยอานิสงส์แห่งการบูชาพระ พุทธบาทหรือไม่ เพราะว่าได้สรงด้วยน้ำหอม จึงดลบันดาลให้มีความร่มเย็นเป็นสุข สมัยก่อน จึงนิยมสรงน้ำพระพุทธบาทกันเป็นประเพณี


แต่ปัจจุบันนี้เสื่อมหายไปหมด ผู้เขียนไปที่ไหนก็พยายามแนะนำให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็มีหลายแห่งเริ่มทำกันแล้ว บุญส่วนนี้น่าจะมีผลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลด้วย ผู้เขียนจึงชักชวนเพื่อนพระภิกษุทุกองค์ให้เข้าไปนั่งรวม กันบนกระต๊อบ รวมทั้งพระเจ้าอาวาสที่นี่ด้วย

หลังจากนั้นก็ได้ทำบุญเป็นสังฆทานชุดใหญ่ ๖ ชุด พร้อมถวายปัจจัยพระภิกษุทุกองค์ รวมเป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท เป็นการทำบุญปิดท้ายรายการ เพราะใกล้จะถึงวันเดินทางกลับแล้ว จากนั้นก็อำลาพระภิกษุทุกรูป ทั้งที่ร่วมเดินทางมาหลายวัน และที่ตามมาสมทบวันนี้

◄ll กลับสู่ด้านบน




สกลนคร - ชัยภูมิ


ในคืนนั้นได้มาพักค้างคืนที่ วัดพระธาตุฝุ่น บ้านคำเจริญ ต.ค้อใต้ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร สำหรับสถานที่แห่งนี้ คุณโยมลัดดา นภาลัย เป็นผู้แนะนำ ซึ่งค้นพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ โดย ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลังจากพักผ่อนนอนหลับกันพอแล้ว รุ่งขึ้นเป็นวันที่เก้าของการเดินทาง ตรงกับวันที่ ๒๒ มี.ค. ๔๘ เป็นวันที่จะเดินทางกลับ นับ ลำดับที่ ๔๘ แล้วจึงได้ทำบุญกับวัด ๕๐๐ บาท ให้แม่ชีอีก ๑๐๐ บาท แล้วจึงไปนมัสการองค์พระธาตุที่อยู่ภายในบริเวณวัดกัน

ในตอนเช้าวันนี้ ปรากฏว่าฝนตกลงมาตลอด มีเสียงฟ้าร้องฟ้าคำรามด้วย ทั้งที่ยังเป็นหน้าร้อนอยู่ แต่ก็ร่มเย็นเป็นสุขดี เมื่อหลวงปู่มั่นค้นพบพระเจดีย์เก่าแก่นี้แล้ว ซึ่งสร้างสมัยเดียวกับพระธาตุพนม ต่อมาท่านได้ให้ หลวงปู่ขาว เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์ ปัจจุบันวัดนี้จึงเป็นพระสายธรรมยุต

เมื่อเห็นว่าฝนยังไม่หายตกจะต้องรีบกลับ จำต้องบูชาสักการะท่ามกลางสายฝน ด้วย การห่มผ้าสไบรอบองค์พระธาตุ จากนั้นก็เดินทางต่อไปทางจังหวัดอุดรธานี ในระหว่างทางเห็นป้าย วัดศรีมหาธาตุ ต.โนนยา อ.หนองหาน จ.สกลนคร จึงบอกให้แวะเข้าไปทันที

ครั้นเดินเข้าไปแล้วจึงจำได้ ว่าเคยเข้ามากราบไหว้ไปแล้ว ชื่อว่า พระธาตุนาหลวง แต่เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว จึงได้บูชาพระธาตุและห่มผ้าสามสีที่ต้นโพธิ์ใหญ่ด้วย แล้วออกเดิน ทางต่อไปตามเป้าหมายสุดท้าย ซึ่งเป็นที่สำคัญมากที่ คุณสมพร (เพื่อนคุณวรวิทย์ที่อยู่เชียง ใหม่) แจ้งไว้ว่าอยู่ที่ เขาน้อย (เขาแก้วพิสดาร) บ.ดงลาน ต.วะตะแบก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

พูดถึงจังหวัดชัยภูมินี้ ผู้เขียนต้องเดินทางมาหลายครั้งแล้ว พบรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดนี้หลายแห่งแล้ว สมกับคำว่า ชัยภูมิ คือ เป็นแผ่นดินที่มีชัยชนะนั่งเอง จึงมีเหตุให้แผ่นดินนี้เป็นที่รองรับฝ่าพระบาทของผู้มีชัยชนะ คือ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามากมายหลายแห่ง

โดยเฉพาะเมื่อได้ติดต่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดงลาน และลูกชายผู้ใหญ่บ้านกับเพื่อนแล้วรวม ๓ คน ก่อนขึ้นไปบนเขา คุณดิเรก (ผช.ผู้ใหญ่ บ้าน) กล่าวยืนยันว่า ตนเองเคยเห็นดวงไฟสีเขียวสว่าง ลอยไปมาตามทิวเขาบริเวณนี้ เรียกว่า เขาพนม ที่อยู่ติดกับเขาน้อย เวลาประมาณ ๕ ทุ่มเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันพระพอดี


ชาวบ้านค้นพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ มานานแล้ว เคยมีพระภิกษุมาอาศัยบนเขาน้อย ตอนนั้นโด่งดังมาก คุณดิเรกได้เล่าพร้อมกับ ชี้มือไปที่เขาน้อยว่า "รอยพระหัตถ์" จะอยู่ด้านล่าง ส่วน "รอยพระพุทธบาท" อยู่ระหว่างกลางเขา แล้วชี้มือไปที่ "เขาพนม" บอกว่ามี "บ่อน้ำทิพย์" ด้วย ซึ่งผู้เขียนก็เสียดายไม่มีเวลาไปที่เขาพนม

ฉะนั้น จึงได้เดินเท้าเข้าไปที่ "เขาน้อย" ทันที เนื่องจากเป็นเวลาบ่ายมากแล้ว เมื่อเดินเข้าไปสักพักหนึ่งก็จะถึงเชิงเขา มองเห็นรอย พระหัตถ์ขนาดใหญ่ได้แต่ไกล จึงปีนป่ายขึ้นไป บนก้อนหินนี้ ซึ่งมีรูปร่างแบนราบตะแคงอยู่ ไหล่เขา มีรอยฝ่าพระหัตถ์อยู่ตรงกลาง เป็นร่อง ลึกมาก เข้าไปมองดูใกล้ๆ จะเห็นร่องนิ้วครบห้านิ้ว นิ้วมือมีลักษณะเหมือนกับวันทยาหัตถ์ คือสี่นิ้วเหยียดตรง และหัวแม่มืองอเข้ามาเล็ก น้อย ด้านข้างมีตัวหนังสือเขียนว่า “มาเห็น ๕ ต.ค. ๒๘” แสดงว่าพบกันมานาน ๒๐ ปีแล้ว

พวกเราเดินขึ้นมาถึงรอยพระพุทธหัตถ์ ประมาณ ๒๐ นาที แต่ยังไม่ถึงยอดเขา หลัง จากได้สรงน้ำและปิดทองแล้ว จึงเดินขึ้นเขาต่อไปอีก ได้พบรอยพระพุทธบาทอยู่ทั่วไป มีทั้ง รอยธรรมดาและเกือกแก้ว ส่วนใหญ่ตะแคงอยู่ ข้างโขดหิน รวมแล้วประมาณ ๒๐ รอย มีตัว หนังสือเขียนไว้อีกว่า “พบเมื่อ ๑๒ พ.ย. ๒๘”

บนเขาน้อยนี้ จึงมีรอยพระพุทธหัตถ์อยู่ข้างล่าง ส่วนข้างบนเต็มไปด้วยรอยพระพุทธบาท ซึ่งมีลักษณะตะแคงเหมือนกันหมด ต้องโหนตัวปีนป่ายด้วยความยากพอสมควร ถ้ามองดูลงไปข้างล่าง แต่ก็ยังไม่หวาดเสียวเท่ากับที่ ภูลังกานะ

ขณะที่อยู่บนเขาน้อย ชาวบ้านนำทางขึ้น ไป แล้วก็ลงมาอีกทางหนึ่ง จึงมีโอกาสสำรวจได้ทั้งยอดเขา เดินไปไหว้ไป โปรยดอกไม้และ ปิดทองตลอดทาง ระหว่างนี้พบหินรูปเต่าด้วย พอเอาแผ่นทองไปปิดที่ลูกตา มองดูเหมือนของ จริงเลย ตอนนี้คุณทนงฤทธิ์บันทึกภาพไปที่ ต้นลาน ซึ่งมีใบลักษณะคล้ายต้นตาล บ้านนี้จึง มีชื่อว่า บ้านดงลาน

สมัยโบราณนิยมเอาใบลานไปจารเป็นตัวอักษรธรรมสำหรับพระเทศน์ บ้างก็นำไปทำตาลปัตร บางแห่งก็ใช้ทำหมวกทำกระเป๋า หรือเอาไปมุงหลังคาบ้าน จึงแปลกที่ต้นลาน ขึ้นที่ภูเขาลูกนี้ ซึ่งมีทั้งรอยพระหัตถ์และรอยพระพุทธบาท ที่มีลักษณะตะแคงอยู่บนโขดหินเหมือนกันหมด

ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่า สถานที่แห่งนี้เดิมที อาจจะเป็นที่แสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตก็เป็นได้ จึงมีความประทับใจกลับมา รวมเวลา ๙ วัน สถานที่ ๕๐ แห่ง นับว่า คุ้มค่ากับการเดินทาง ได้ทำบุญทั้งสิ้น ๖๑,๑๐๐ บาท และค่าใช้จ่ายอีก ๒๓,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๘๔,๑๐๐ บาท

จึงเป็นอันสรุปได้ว่า การเดินทางไปภาค อีสานครั้งนี้ เพื่อเก็บสถานที่ค้างตั้งแต่ปีก่อนๆ แต่ก็ยังไม่ครบถ้วน จะต้องเดินทางรอบหน้าในเดือพฤษภาคมอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า ตอนรวมภาค ขอให้ทุกท่านติดตามกันต่อไป ซึ่งส่วน ใหญ่จะเหลือแต่ที่ยากลำบากกันทั้งนั้น ฯ

◄ll กลับสู่ด้านบน

((((((( โปรดติดตามตอนย้อนไปทาง "ภาคเหนือ" ปี 2547 คลิกที่นี่ ll► )))))))