หนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม 1 (ตอน 1) ประวัติการสร้างวิหารน้ำน้อย
webmaster - 11/2/08 at 22:27
◄ll ตอน 2 ภาคอีสาน ปี 2538
◄ll ตอน 3 ภาคกลาง ปี 2538
◄ll ตอน 4 งานรวมภาค ปี 2539
ตามรอยพระพุทธบาท รวมเล่ม ๑
สารบัญ
01. ถ้อยแถลง
02. ตามรอยพระพุทธบาท ภาคเหนือ ปี 2536
03. ตามรอยพระพุทธบาท ภาคใต้ ปี 2537
04. รอยพระพุทธบาท ๕ แห่ง
05. "ลอยกระทง" เพื่อวัตถุประสงค์อะไร..?
06. ประวัติการลอยกระทง
07. คำนมัสการลายลักษณ์พระพุทธบาท
08. ประวัติการสร้าง "พระวิหารน้ำน้อย" อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
01
ถ้อยแถลง
หนังสือรวมเล่มนี้ได้จัดพิมพ์เพื่อรวบรวม เรื่องราว การตามรอยพระพุทธบาท ตามที่ได้ เคยเล่าไปแล้วใน ธัมมวิโมกข์ ฉบับรายเดือน ทั้งนี้
เพื่อวัตถุประสงค์ให้ญาติโยมทั้งหลายทราบ ว่าสถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า มีทั้งใน ประเทศไทยและต่างประเทศ ที่รวมเรียกกันว่า สกลชมพูทวีป นี้
ตามที่อาตมาได้ไปกราบไหว้มาแล้วทั้ง พระบรมธาตุ, พระพุทธบาท, ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ และ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนถึง ปี ๒๕๔๘
นับเป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้ว ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น พม่า, ลาว, กัมพูชา, เวียตนาม, อินเดีย, ลังกา, และ สิบสองปันนา เป็นต้น
บัดนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งได้เคย จัดพิมพ์เป็นเล่มเล็กๆ มาแล้ว แต่นั่นก็เป็นเพียง แค่ระบุแต่สถานที่เท่านั้น ซึ่งถือว่ายังไม่สมบูรณ์
แบบจริงๆ เพราะเหตุว่ายังมีอีกมากมาย โดย เฉพาะพระเจดีย์ที่อยู่ในเมืองไทย เช่นที่ กรุงเทพ มหานคร เป็นต้น แต่เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด และ
ส่วนใหญ่ก็ทราบกันดีอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องลงไป เฉพาะ ภูเขาทอง วัดสระเกศ เท่านั้น หวังว่า ทุกท่านคงจะเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญจะเน้นเฉพาะที่
เก่าแก่มาแต่โบราณจริงๆ เท่านั้น
โดยเฉพาะสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาก่อน เพราะไม่แต่พระองค์จะประทับรอยพระพุทธบาทเท่านั้น บางแห่งพระองค์ก็ทรงประทานเส้นพระเกศาไว้ให้อีกด้วย
ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงจาก ตำนานพระเจ้าเลียบโลก, ตำนานพระธาตุพนม, และหนังสือบันทึก ประวัติท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย
และในที่บางแห่งก็มีตำนานเป็นของตัวเองอยู่ด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธบาทที่นอกเหนือตำนานไปแล้วทั้งสิ้น
ฉะนั้น หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์แก่ ท่านผู้อ่านมิใช่น้อย เพราะเปรียบเสมือนแผนที่ ในการเดินทาง สร้างบารมี แล้วแต่จะเลือกกันไปที่ไหนในชีวิตนี้
ซึ่งมีให้เลือกมากมาย อีกทั้ง ยังมีแผนผังไว้ด้วย เพื่อจะช่วยให้รู้ว่า พระเกศาธาตุ, พระบรมสารีริกธาตุ, และพุทธบริขาร ของพระพุทธเจ้าทั้งพระวรกาย
ได้ไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ที่ไหนบ้าง
จึงหวังว่าทุกท่านคงจะมีความพากเพียรพยายาม เพราะทุกอย่างไม่เกินความสามารถของ เราไปได้ ถ้าเราปรารถนาจะสร้างสมอบรมบารมี
ให้ครบถ้วนสมบูรณ์บริบูรณ์อย่างรวดเร็ว เพื่อความฝันอันสูงสุด คือ อมตมหานฤพาน ที่ กุลบุตรกุลธิดาทั้งหลายต้องการสถานที่สำคัญเหล่านี้
อันเป็นสถานที่พระโพธิสัตว์เจ้า และผู้ปรารถนาพระสาวกทั้งหลาย ได้ถือเป็นที่บำเพ็ญบารมีมาตลอดกาลนานนับไม่ถ้วนแล้ว
และส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงพระนิพพานไปแล้วมากมาย
เป็นอันว่าไม่จำเป็นต้องรอกันหลายพุทธันดร เพียงแค่ขวนขวายแสวงหาตามที่กล่าวมานี้ ความฝันของท่านทั้งหลายก็เป็นจริงขึ้นมาได้
และจะสามารถเข้าถึงแก่นธรรมอันวิเศษได้ในชาติปัจจุบันทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีรอยจริงเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย นั่นก็คือ..พระพุทธบาทได้ปรากฏขึ้นบนพื้นดินที่
เรียกว่า พระพุทธบาทดิน เมื่อปลายปี ๒๕๔๖ ที่มิใช่ปรากฏอยู่บนก้อนหินดังที่เคยพบเห็นมาก่อน ที่เรียกว่า รอยที่เป็นอดีตกาล แต่นี่เห็นเป็น รอยปัจจุบัน
ซึ่งมีให้กราบไหว้ทั้งเหนือและใต้ ของแผ่นดินสยามประเทศนี้
นั่นก็คือ...ณ ที่กลางทุ่งนา บ้านนาโพธิ์ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย (มีเพียง ๑ รอย และเป็น เบื้องขวา มีวงธรรมจักรและลายก้นหอยพร้อมสรรพ)
นับว่าสวยงามที่สุดในโลกก็ว่าได้ ใน ปัจจุบันยังพอให้เห็นได้อยู่ชัดเจน (ข่าวจาก นสพ.ข่าวสด และ ช่อง ๙ เดือนตุลาคม ๔๖)
และรอยที่ ๒ ที่ปรากฏอยู่บนพื้นดิน คันนาบ่อกุ้งของชาวบ้าน ต.ปากนคร อ.เมือง จ. นครศรีธรรมราช เป็นรอยก้าวเดิน ๓ ก้าว ขนาดใหญ่โตมากกว่ารอยคนธรรมดา รวม
๖ รอยทั้งซ้ายและขวา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าภาย หลังน้ำท่วมรอยเหล่านี้ ก็เลือนหายไปหมดสิ้น แล้ว จึงเหลือแต่ความทรงจำที่นำมาเล่าไว้เพียง แค่นี้เอง
(ข่าวจาก นสพ.เดลินิวส์ ธ.ค. ๔๖)
เพราะฉะนั้นก่อนที่ท่านจะพบกับเรื่อง เล่าทั้งหลายเหล่านี้ ผู้เขียนจะขอนำรายชื่อ สถานที่ต่างๆ ทั้งหมด เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ กำหนดจดจำไว้
โดยจะแยกเป็นหมวดหมู่เริ่ม จากในประเทศแล้วก็จะเป็นต่างประเทศ ดังนี้
๑. พระบรมธาตุ ๖๗๕ แห่ง
๒. พระพุทธบาท ๕๕๕ แห่ง
๓. ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ ๙ แห่ง
๔. พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๘๖ แห่ง
ส่วนการเล่าเรื่องตามรอยพระพุทธบาทในครั้งนี้ คงจะไม่สามารถรวมได้หมด เนื่อง จากมีเรื่องราวมากมาย การรวมเล่มนี้จึงถือเป็น รวมเล่ม ๑ คือเริ่มตั้งแต่ปี
๒๕๓๖ จนถึงปี ๒๕๔๒ ซึ่งรวบรวมเนื้อหาสาระที่น่าอ่านมาก คิดว่าเล่มนี้หากเป็นที่สนใจ คงจะได้มีโอกาส รวบรวมเล่มที่ ๒ และที่ ๓ อีกก็เป็นได้
แต่ที่รวบรวมทั้งหมดนี้เป็นเรื่องภายในประเทศเท่านั้นนะ ยังมีเรื่องราวที่ประเทศอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนพยายามจะเล่าให้ครบ ถ้วน
แต่ก็ขอให้อ่านรวมเล่ม ๑ ไปก่อนก็แล้ว กัน หากสนใจก็ช่วยกันนำไปเผยแพร่ หรือว่า มีข้อคิดเห็นประการใดแจ้งกลับมาด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่มีผู้เริ่มต้น ในการคิดจัดทำรวมเล่ม หนังสือเล่มนี้คงจะไม่ ปรากฏแก่สายตาท่านผู้อ่านทั้งหลาย ผู้ที่เป็น
แรงบันดาลใจในเรื่องนี้ คงจะเป็น คุณต้อย และ คุณติง สามีผู้ล่วงลับไปแล้ว, คุณมงคล-กฤษณา จากการบินไทย, พ.อ.หญิงรัตนา เอื้อบุณยะนันท์ คุณเรวิทย์
สมัครพันธุ์, คุณณัฐพร และครอบ ครัว ธีรเนตร ที่ได้บริจาคทุนเป็นการเริ่มแรก ต่อมาก็มี คณะลูกหลานหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ที่ได้ส่งปัจจัยมาเป็นค่าพิมพ์
หนังสือ ตามที่เคยลงรายชื่อใน ธัมมวิโมกข์ รวมแล้วประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งยังไม่พอเพียงที่จะพิมพ์หนังสือซึ่งมีจำนวน ๔๔๐ หน้า
ถ้าหากมีทุนเพิ่มขึ้นกว่านี้ อาจจะได้ลงภาพสีสวยๆ ให้มากกว่านี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เล่มแรกอาจจะไม่สมบูรณ์แบบก็จริง แต่บุญที่ เป็น ธรรมทาน
คงจะสมบูรณ์บริบูรณ์แก่ ผู้ที่ได้ร่วมบริจาคแล้วทุกท่าน...ทุกคนเทอญฯ
พระชัยวัฒน์ อชิโต
๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๘
◄ll กลับสู่ด้านบน
02
ตามรอยพระพุทธบาท ภาคเหนือ ปี 2536
วัดพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ชมคลิปวีดีโอ ภาคเหนือ ปี 2536 คลิกที่นี่
ต่อไปนี้เป็นการเล่าเรื่องการเดินทางไปกราบไหว้ รอยพระพุทธบาท และ พระบรมธาตุเจดีย์ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ หลังจากที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระราชพรหมยาน ได้มรณภาพไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้เขียนพร้อมกับพระภิกษุวัดท่าซุงได้เดินทางไปฉลองพระพุทธรูปที่ วัดทุ่งหลวง
โดยการนิมนต์ของเพื่อนๆ ที่ทำงานเก่าคือ สยามกลการ
ในตอนนั้นก็ได้มีโอกาสเดินทางขึ้นไปกราบไหว้พระบาทสี่รอย ซึ่งสมัยนั้นถนนหนทางยังไม่สะดวกเหมือนปัจจุบันนี้ เมื่อขึ้นไปพบกับ ท่านครูบาพรชัย
ทราบว่ากำลังบูรณะพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทที่ ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้สร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๒ ต่อมาเพื่อนๆ
ที่ไปด้วยจึงได้ขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน เพื่อสมทบทุนบูรณะพระวิหาร
นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่บัดนั้นมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ พวกเราก็ได้ไปร่วมงาน กันมากมาย นับเป็นครั้งแรกที่วัดพระบาทสี่รอย ได้มีการทอดกฐิน
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ แล้วสืบต่อจนเป็นประเพณีถึงสมัยนี้ ซึ่งตามความเชื่อถือก็ได้อาศัยคำบอกเล่าของ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ณ
วัดถ้ำผาปล่อง เมื่อ วันที่ ๑๘ มิ.ย. ๒๕๒๘ โดยพิมพ์เรื่องนี้ไว้ ในหนังสือ พุทธาจารานุสรณ์ ที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖
ประวัติพระพุทธบาทสี่พระองค์
..เมืองไทยนี้ พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมา แต่ว่าสมัยนั้นพวกเราทั้งหลาย บางคนก็อาจจะไม่ได้มาเกิดทางเชียงใหม่ก็ไม่ได้เห็น
แม้ได้เห็นได้ปฏิบัติก็หลงลืมไป เพราะว่าอายุคนมันสั้นพลันตาย เมื่อตายไปแล้วมันก็ลืม เกิดมาใหม่ก็หลงไปอีก จะเห็นได้ว่าในเขตเชียงใหม่นี้ยังมี
พระบาทสี่รอย อยู่เขตอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ แต่ว่าลึกเข้าไปในภูเขา
..หลวงปู่ผู้เทศน์ไปดูแล้ว ไปกราบไปไหว้มันเป็นก้อนหินก้อนใหญ่ ก้อนใหญ่ขนาดเท่าก้อนหินที่เป็นถ้ำนี่แหละ พูดง่ายๆ ว่าที่เป็นถ้ำผาปล่อง
ที่เราได้มานั่งภาวนานี่แหละ...! แต่มันไม่เป็นปล่องอย่างนี้ มันเป็นก้อนหินสี่เหลี่ยมขึ้นไปอยู่ข้างริมแม่น้ำ
..พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในแผ่นดินที่เรา ท่านทั้งหลายมาเกิดนี้ องค์แรกคือพระพุทธเจ้า กกุสันโธ ได้มาตรัสรู้ในโลก
ท่านก็มาประทานเหยียบรอยพระบาทไว้ในยอดหินก้อนนั้นน่ะ ยาวขนาด ๑๒ ศอกขนาดนั้น พระพุทธเจ้ากกุสันโธก็โปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายนำพระสาวก
อุบาสกอุบาสิกาไปสู่นิพพาน
..เมื่อหมดศาสนาพระพุทธเจ้ากกุสันโธแล้ว ศาสนาพระพุทธเจ้าโกนาคมโน ก็มาตรัสมาสอนรื้อขนสัตว์ไปอีก ก่อนนิพพานท่านก็มาเหยียบไว้ที่พระบาทแม่ริมนี้
เป็น รอยที่สองลดลงมา คือคนสมัยนั้นก็เรียกว่า มันกำลังหดลงไม่ได้ใหญ่ขึ้น (ตัวเล็กลง) เมื่อพระพุทธเจ้า โกนาคมโนนิพพานไปพร้อมด้วยสาวกแล้ว
ศาสนธรรมคำสอนท่านหมดไป ก็มาถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสโป มาตรัสรู้ ท่านก็มาเหยียบไว้ได้ สามรอย ละ
..เมื่อศาสนาพระพุทธเจ้ากัสสโปหมดไปแล้ว มาถึงศาสนาพระพุทธเจ้าของเราใปัจจุบัน นี้ ให้ชื่อว่าพระพุทธเจ้าโคตมโคตร พระพุทธเจ้าโคดมมาตรัสรู้
ก่อนที่ท่านจะนิพพานก็มาเหยียบรอยพระบาทไว้ในหินก้อนเดียวกัน จึงให้ชื่อว่า พระบาท ๔ รอย
..รอยพระบาท เป็นราชาศัพท์เหมือนพระเจ้าแผ่นดิน เท้า นี่ท่านก็ไม่เรียกว่า เท้า ไม่ว่า ตีน ก็ว่า พระบาท ฝ่าละอองธุลีพระบาท นั่นแหละ
ทีนี้พระพุทธเจ้าก็เรียกว่ารอยพระบาท เหยียบไว้ได้ ๔ พระองค์
..คือในโลกนี้แผ่นดินนี้ ยังเหลืออยู่อีกพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ที่เราทุกคนได้ยินได้ฟังกันมาจนชินหูแล้วก็มีว่า ยังมี
พระศรีอาริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้เป็นองค์สุดท้าย เมื่อตรัสรู้แล้วโปรด เวไนยสัตว์แล้วก็มาเหยียบไว้อีก เหยียบทีนี้น่าดูจะใหญ่ คือว่าเหยียบเต็มเลยก็คล้ายๆ
กันกับว่าเหยียบปิดเลย ละลายหินก้อนนั้น...
ตำนานวัดพระพุทธบาทสี่รอย
ส่วนในหนังสือ ประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทสี่รอย ภายในเล่มนั้น เริ่มต้นเป็น คำปรารภ ของ อ.เชิดชาย ธีรัทธานนท์ อดีต ผช.ผบ.ทบ.๒)
สรุปความว่าได้ เป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่ ตามที่ พระพรชัย ปิยวัณโณ เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้คัดลอกมาจากคำที่ จารึกใน ใบลาน เก่าแก่มาก เป็นภาษาเหนือ
โดยได้แปลเป็นภาษาไทยกลาง เพื่อความเข้าใจของผู้อ่านทั่วไป แต่ในที่นี้จะขอนำมาโดยย่อ ตามตำนานได้เล่าว่า
เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ พร้อมด้วยพระสาวก ๕๐๐ องค์ ได้เสด็จจารึกมายังประเทศนี้
โดยแวะฉันภัตตาหารอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ ซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า เวภารบรรรต
ขณะประทับอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงทราบว่าบนเทือกเขาแห่งนั้น ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มาประทับอยู่ บนก้อนหินก้อนใหญ่แล้วทั้ง ๓
พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระพุทธกัสสปและต่อไป พระศรีอาริย์ ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้
และจักประทับรอยพระพุทธบาททั้งสี่รอยนี้ให้เป็นรอยเดียวกัน แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับรอยพระบาทซ้อนรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์นั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานล่วงแล้วประมาณ ๒๐๐๐ วัสสา เทวดาทั้งหลายต้องการ จะให้ พระพุทธบาทสี่รอย ปรากฏแก่คนทั้ง หลาย จึงเนรมิตเป็น รุ้ง
(เหยี่ยว) ตัวใหญ่ บินโฉบลงมาเอาลูกไก่ของชาวบ้านที่อยู่เชิงเขา นั้น แล้วก็บินกลับขึ้นไปสู่ยอดเขา
ชาวบ้านผู้นั้นก็โกรธมาก จึงตามขึ้นไปแต่ก็ไม่เห็น รุ้ง ตัวนั้น เห็นแต่รอยพระพุทธบาทสี่รอย
จึงได้ลงมาบอกเล่าแก่ชาวบ้านทั้งหลายต่างก็พากันขึ้นไปสักการบูชามากมาย แต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่า พระบาทรังรุ้ง (รังเหยี่ยว)
ในสมัยนั้น พระยาเม็งราย ครองเมืองเชียงใหม่ ได้ทราบข่าวจึงเสด็จขึ้นไปกราบไหว้บูชา พระราชบุตรพระราชนัดดาที่สืบราชสมบัติต่อมา
ก็ได้เสด็จขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาททุกๆ พระองค์ หลังจากนั้น พระบาทรังรุ้งจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น พระพุทธบาทสี่รอย
รอยพระพุทธบาท สมเด็จพระกกุสันโธรอยแรกเป็นรอยใหญ่ยาว ๑๒ ศอก รอยพระบาทของ สมเด็จพระโกนาคม เป็นรอยที่ ๒ ยาว ๙ ศอก รอยพระบาทของ สมเด็จพระพุทธกัสสป
เป็นรอยที่ ๓ ยาว ๗ ศอก รอยพระบาทของ สมเด็จองค์ปัจจุบัน เป็นรอยที่ ๔ รอยเล็กสุดยาว ๔ ศอก
เมื่อมาถึงสมัย พระยาธรรมช้างเผือก ผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ๕๐๐ คน ก็ขึ้นไปกราบสักการบูชาพระพุทธบาทสี่รอย
และได้สร้างพระวิหารครอบไว้ชั่วคราว โดยแต่เดิมถ้าใครจะดูรอยพระพุทธบาทบนหินก้อนใหญ่ ต้องใช้บันไดพาดขึ้นไป หรือปีนขึ้นไปดู
ซึ่งก็คงจะขึ้นได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น
ดังนั้น พระยาธรรมช้างเผือก จึงรับสั่งให้สร้างแท่นยืนคล้ายๆ นั่งร้านรอบๆ ก้อนหิน ก้อนนี้ เพื่อที่ผู้หญิงจะได้เห็นรอยพระพุทธบาท ด้วย
และได้สร้างหลังคาชั่วคราวมุงไว้ ต่อมาในสมัย พระชายาเจ้าดารารัศมี ก็ได้ขึ้นไปกราบ นมัสการพระพุทธบาทสี่รอย
และได้มีพระราชศรัทธาก่อสร้างวิหารเป็นพุทธบูชาไว้ ๑ หลังด้วย
ครั้นถึงสมัย ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านได้ขึ้นไปสร้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาทไว้ใหม่ และใช้ปูนฉาบบางๆ
เคลือบรอยพระพุทธบาทนั้น เพื่อรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมตลอดไป
ต่อมาในสมัยปัจจุบันนี้ อันมี ท่านครูบาพรชัย เป็นเจ้าอาวาส เมื่อเห็นพระวิหารที่ท่านครูบาเจ้าฯ ได้สร้างไว้นานแล้วกำลังทรุดโทรมลงไป
จึงคิดที่จะซ่อมแซมพระวิหารหลังนี้ ในขณะที่กำลังรื้อหลังคาพระวิหารนั้น พวกเรา คณะศิษย์หลวงพ่อฯ ก็ได้ขึ้นไปพอดีแล้ว
ได้มีส่วนร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหาร ครอบรอยพระพุทธบาทและสถานที่อื่นๆ อีก จนมีความสวยสดงดงามดังที่เห็นกันในเวลานี้
โดยได้จัดงานพิธีบวงสรวงสักการบูชา เพื่อเป็นการฉลองสมโภชรอยพระพุทธบาท ณภาคเหนือ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๐ พ.ย.๒๕๓๖
แล้วทำพิธีถวายผ้ากฐินเป็นครั้งแรกของวัดเช่นกัน (สมัยครูบาพรชัยเป็นเจ้าอาวาส) เป็นจำนวนเงินประมาณสามแสนบาทเศษ ต่อมา ครูบาพรชัย
ก็ได้มาอัญเชิญรูปเหมือนหลวงพ่อ และพระพุทธรูปอีก ๓ องค์เพื่อไปประดิษฐานไว้ ณ ที่นั้น จึงได้เดินทางไป อีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๑ มิ.ย. ๒๕๓๗
แล้วได้จัดบายศรีไปบวงสรวงเป็นการฉลองสมโภชด้วย
ในสมัยปัจจุบันนี้ หลังจากที่ได้ร่วมกันฟื้นฟูโบราณสถานที่สำคัญทางภาคเหนือแล้ว ปรากฏว่าได้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
ต่างก็เดินทางไปกราบนมัสการด้วยความเคารพ หลังจากที่ ได้ขึ้นไปพบแล้ว ก็มีความปลาบปลื้มใจที่เมืองไทยยังมี ปูชนียสถาน
ไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาลเมื่อไปฟื้นฟูรอยพระพุทธบาททางภาคเหนือ ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ แล้วก็ต้องเดินทางไปภาคใต้ ในปี ๒๕๓๗ และไป ภาคอีสาน เมื่อปี ๒๕๓๘
ซึ่งจะเล่าเป็นลำดับต่อไป แต่ในตอนนี้จะขอนำเรื่องราวที่กล่าวถึง พระพุทธบาทสี่รอย จ.เชียงใหม่ แต่ได้มาปรากฏอยู่ในหนังสือ อุรังคนิทาน คือ
ตำนานพระธาตุพนม จ.นครพนม ได้เล่าตอนที่พระพุทธองค์ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ พระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร แล้วตรัสกับเจ้าพระยาสุวรรณภิงคาร
เจ้าผู้ครองนครนี้ว่า
...รอยพระพุทธบาทอันพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ประดิษฐานซ้อนกันไว้บนภูเขาสูงนั้นเพื่อหมายเมืองในชมพูทวีปว่าเป็นมงคลตั้งแต่ปฐมกัป
ด้วยเหตุว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ประทานไว้ในที่อื่น นอกจากชมพูทวีปนี้เท่านั้น
ดูก่อน พระมหาบพิตรพระราชสมภารรอยพระบาท ณ ชมพูทวีปนั้น อันมีในเมือง
โยนกนครเชียงใหม่ ดอยลูกนี้ชื่อว่า ดอยผารังรุ้ง เป็นรูป สำเภา งามยิ่งนัก พระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์ เสด็จไปฉันข้าวที่นั้น
แล้วก็เหยียบซ้อนรอยยุดกัน (ลดลงไม่เสมอกัน) ไป โดยลำดับที่ก้อนหินเป็นรูป สำเภา นั้น ทั้ง ๓ พระองค์
ตถาคตไปบิณฑบาตในเมืองแพร่ อันเป็นโบราณประเพณีบิณฑบาตแห่งพระพุทธ เจ้าทั้งหลายมาแต่ก่อน ชาวแพร่ทั้งหลายเอาข้าว และปลาเวียนไฟ (ปลาตะเพียนหางแดง)
มาใส่ บาตร พระตถาคตรับเอาข้าวบิณฑบาตแล้วขึ้นไป ดอยสุเทพ ดอยไชย แล้วจึงขึ้นไป ดอยผารังรุ้ง เห็นปลาบ่า ปลาเวียนไฟมีอยู่ในรอยพระบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง
๓ พระองค์
ตถาคตก็ไม่ฉันปลาอันชาวแพร่ใส่บาตรมานั้น จึงได้อธิษฐานให้ปลามีชีวิตขึ้นทุกตัวไว้ในที่นั้น ปลาทั้งหลายเหล่านั้น ยังเป็นรอยไม้หีบปิ้ง
(ไม้ตับย่างปลา) อยู่ทุกตัวจนตลอดสิ้นภัทรกัป... (ปลาเหล่านี้คงจะมีลายเป็นรอยปิ้งไฟ มาจนถึงบัดนี้) องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับเจ้าเมือง
หนองหารหลวง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้แก่ สกลนคร ต่อไปอีกว่า
...คนทั้งหลายที่อยู่ในเมืองนั้น เห็นปลาเหล่านั้นก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ มีความ เคารพยำเกรงไม่บริโภคปลาที่มีชื่อนั้น
แม้ว่าจะได้มาด้วยเหตุใดๆ ก็ปล่อยเสียจนหมดสิ้น ตถาคตฉันข้าวแล้ว ยังมีพญานาคตัวหนึ่งอยู่รักษาในที่นั้น ได้นำเอาน้ำมาให้ฉันแล้ว ขอ
เอายังรอยพระบาทไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชา ตถาคตจึงยำ (เหยียบ) ซ้อนรอยพระบาทลงไว้ โดยลำดับ
ขนาดรอยพระบาทของ พระกกุสันโธ ยาว ๓ วา (๑๒ ศอก) กว้าง ๑ วา (๔ ศอก) รอยพระบาท พระโกนาคม และ พระกัสสป ยาวและกว้างโดยลำดับ รอยของตถาคต ยาว ๑ วา
กว้าง ๒ ศอก สั้นกว่าทุกพระองค์ และพระศรีอาริยเมตไตรย ที่จักมาภายหน้านั้น จักได้เหยียบทับลงไป ณ ที่นั้นแล..
ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องการประทับรอยพระพุทธบาทของพระองค์ทางภาคเหนือ เพื่อให้เจ้าเมืองทางภาคอีสานได้ทรงรับทราบ
ปรากฏว่าจากในตำนานทั้งสองนี้ โดยเฉพาะขนาดรอยพระพุทธบาท เมื่อนำมาเปรียบเทียบแล้ว ได้บันทึกไว้ตรงกัน อย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ ทั้งได้รับความรู้เรื่องของ
ปลา และ ก้อนหิน ที่เป็นรูป เรือสำเภา เพิ่มเติมอีกด้วย
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ที่ค้นคว้าเรื่องรอยพระพุทธบาทพอจะทราบกันว่า ยังมีพระ พุทธบาทสี่รอย (รังรุ้ง) ที่อยู่ เมืองหาง ใกล้แม่น้ำคง (สาละวิน)
ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ใกล้ ชายแดนไทยติดกับ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่อันเป็นเส้นทางที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดินทัพจะไปรบกับพม่า
แต่ก็ได้สวรรคตก่อนในระหว่างทาง ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ฉะนั้น ผู้เขียนจึงได้พยายามติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ก็ไม่สามารถจะเข้าไปได้ เนื่องจากบริเวณชายแดนด้านนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย
ความปลอดภัยยังไม่มี จึงได้ แต่เล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไว้ เพราะใน ตำนาน พระเจ้าเลียบโลก ได้กล่าวถึงสถานที่นี้ไว้ว่า รอยพระพุทธบาทมีขนาดต่างกัน
ดังนี้
รอยที่ ๑ พระกกุสันโธ ยาว ๗ ศอก
รอยที่ ๒ พระโกนาคม ยาว ๖ ศอก
รอยที่ ๓ พระพุทธกัสสป ยาว ๕ ศอก
รอยที่ ๔ พระสมณโคดม ยาว ๔ ศอก
ส่วนปลายพระบาทนั้นเสมอกัน ต่างกัน แค่ส้นพระบาทเท่านั้น ทำให้เห็นถึงความแตก ต่างกันระหว่างพระพุทธบาทสี่รอยที่อำเภอแม่ริม
กับพระพุทธบาทสี่รอยที่เมืองหาง ประเทศพม่า ได้อย่างชัดเจน แต่ที่เมืองหางนั้นเหมือนกับที่ อ.ขุมยวม จ.แม่ฮ่องสอน และพระพุทธบาทหมอนอิง เชียงรุ่ง
สิบสองปันนา
เป็นอันว่า พระพุทธบาทสี่รอยนี้ มิได้มีเฉพาะแค่นี้ ยังมีที่อื่นอีกหลายแห่ง ซึ่งจะ เล่าต่อไปเรื่อยๆ ในตอนนี้ขอยุติการเล่าเรื่องทาง ภาคเหนือ
ไว้แต่เพียงแค่นี้ก่อน จะ ได้นำเรื่องราวทาง ภาคใต้ อันเป็นสถานที่ สำคัญๆ มาเล่ากันต่อไป...
สาเหตุที่จะต้องเดินทางไปภาคใต้นั้น เป็นเพราะว่าหลังจากกลับมาจาก ภาคเหนือ แล้วมีญาติโยมหลายคนที่ไม่ได้ไปด้วย ต่างก็มาถามว่าเมื่อไรจะจัดไปอีก
ผู้เขียนจึงคิดว่าเรากลับมาแล้ว ไม่อยากจะจัดงานย้อนอีก ควรจะเดินหน้าไปที่ ภาคใต้ กันต่อไป
◄ll กลับสู่ด้านบน
03
ตามรอยพระพุทธบาท ภาคใต้ ปี 2537
ประวัติรอยพระพุทธบาทที่ ๕ ณ นัมทานที
(เกาะแก้วพิสดาร
จ.ภูเก็ต)
ชมคลิปวีดีโอ ภาคใต้ ปี 2537 คลิกชม ตอนที่ 1
และ ตอนที่ 2
ต่อไปนี้จะขอนำ ประวัติรอยพระพุทธ บาทที่ ๕ ณ นัมทานที มาเสนอต่อผู้อ่านเป็นลำดับต่อไป
เพราะเห็นว่ากาลสมัยนี้เป็นฤดูกาลทอดผ้ากฐิน อันเป็นประเพณีนิยมมาแต่โบราณกาลของคนไทยที่เป็นพุทธมามกะ
ส่วนวันสุดท้ายของการถวายผ้ากฐิน คือวันเพ็ญเดือน ๑๒ อันเป็นวันสำคัญที่ชาวไทยทั้งหลาย
รวมไปถึงคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ต่าง ก็ยังยึดมั่นในประเพณี การลอยกระทง แต่จะถูกวัตถุประสงค์หรือไม่
ผู้เขียนก็ได้เคยลง บทความพิเศษ ไปแล้ว
ฉะนั้น นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ อันเป็นปี รณรงค์วัฒนธรรมไทย คอลัมน์นี้ก็ได้ค้นคว้า
หาความรู้มาให้ท่านอ่านกัน พร้อมทั้งก็ได้จัด กิจกรรมต่างๆ เช่นการเดินทางไปฟื้นฟู รอยพระพุทธบาท ณ เกาะแก้วพิสดาร
จ.ภูเก็ต พร้อมทั้งได้ร่วมกันจัดงานพิธี ลอยกระทง เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗
สำหรับปีนี้ งานลอยกระทง จะตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ เนื่องในโอกาสนี้ ผู้เขียน
จึงขอรวบรวมบทความนี้เพื่อท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้ทบทวนชี้แจง และช่วยกันเผยแพร่ความรู้นี้แก่ผู้อื่นต่อไป เพื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริงที่สุด
ในที่นี้ ผู้เขียน อยากจะเสนอแนะหน่วยงานต่างๆ ที่มุ่งการจัด งานลอยกระทง
จะเป็นระดับชาติหรือระดับจังหวัดก็ดี นอกจากจะมุ่งเอาวัฒนธรรมประเพณีที่ดี ที่มีความสวยงามแล้ว อยากจะให้ทุกหน่วยงานของรัฐ
หรือเอกชนก็ดี ควรมุ่งเอาบุญกุศลเป็นหลักด้วย
มิฉะนั้น..ลูกหลานไทยที่เกิดในภายหลังอาจจะเข้าใจไม่ตรงประเด็น คิดว่าเป็นเรื่องของพราหมณ์ คือ ลอยบาปหรือ ลอยเคราะห์เพราะความเป็นจริงแล้ว การลอยกระทง ได้ถือประเพณีนี้กันมานานแล้ว โดยเฉพาะสมัยกรุงสุโขทัยนางนพมาศเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในสมัยนั้น ตามโบราณราชประเพณีส่วนใหญ่ที่ความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
จึงขอให้ทุกท่านโปรดติดตามได้ในบัดนี้
สำหรับประวัติความเป็นมาเรื่อง รอยพระพุทธบาทที่ ๕ นี้มีความสำคัญมาก เพราะนักค้นคว้าประวัติศาสตร์
ต่างก็ค้นคว้าหากันมานานแล้ว โดยเฉพาะประเทศต่างๆ เช่น พม่า ลังกา ต่างก็อ้างว่าอยู่ในประเทศของตน บาง คนก็เข้าใจว่าอยู่ในประเทศอินเดียก็มี
ต่อมาเมื่อได้พบหลักฐานจาก กเบื้องจาร ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินบริเวณ
บ้านคูบัว จังหวัด ราชบุรี ทำให้เราได้รู้ความจริงว่า รอยพระพุทธบาทที่ ๕
หรือตามประวัติที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ประทานรอยพระพุทธบาทนี้ไว้ให้ พญานาคราช
ทั้งหลายได้สักการบูชานั้น ไม่ได้อยู่ที่ประเทศไหนตามที่เข้าใจกัน ความจริงอยู่ในปรเทศไทยนี่เอง
อีกทั้งความเชื่อถือของชาวใต้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ต่างก็มีความเคารพเลื่อมใส พากัน ไปกราบไหว้บูชาอยู่เสมอมา ทั้งได้ประสบพบกับความ พิสดารอีกนานัปการ คนที่ไม่มี ]ความเคารพต่างก็ประสบภัยพิบัติกันไปแล้วหลายราย โดยเฉพาะวัตถุสิ่งของที่นั่น
แม้แต่ทรายเม็ดเดียวยังเอากลับมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราพอจะสรุปกันเพียงผิวเผินได้ว่า ถ้าไม่ใช่ของจริงแล้วไซร้ คงจะไม่มีอะไรเป็นที่อัศจรรย์อย่าง
แน่นอน
นิราศถลาง
ขอนำบทกลอนที่บรมครูผู้มีชื่อเสียงอย่าง ท่านสุนทรภู่ ได้พรรณนาการเดินทางมายัง ดินแดนปักษ์ใต้ในสมัยอดีต เมื่อเกือบ ๒๐๐ ปี ที่ผ่านมา
โดยบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นบทกลอนจะขอนำมาเฉพาะตอนที่ไปกราบรอยพระพุทธบาท ดังนี้...
...มาประมาณโมงหนึ่งถึงพระบาท
ที่กลางหาดเนินทรายชายสิงขร
พี่ยินดีปรีดาคลายอารมณ์
ประณมกรอภิวาทบาทบงสุ์
จุดธูปเทียนบุปผาบูชาพร้อม
รินน้ำหอมปรายประชำระสรง
แล้วกราบกรานคลานหมอบยอบตัวลง
เหมือนพบองค์โลกนาถพระศาสดา
พี่พบต้องมองและพระลายลักษณ์
เหมือนประจักษ์จริงจังไม่กังขา
มีทั้งร้อยแปดอย่างกระจ่างตา
เป็นดินฟ้าพรหมอินทร์สิ้นทั้งปวง
◄ll กลับสู่ด้านบน
04
รอยพระพุทธบาท ๕ แห่ง
แต่ก่อนที่ถึงเรื่องราวทั้งหลายต่อไป จะขอ ย้อนกล่าวถึงรอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่งเสีย ก่อน ความจริงรอยพระพุทธบาทในประเทศไทย ยังมีอีกมาก
แต่เท่าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกจนเป็น ที่ยอมรับของท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนั้น มีปรากฏอยู่ในพระบาลีดังนี้ คือ :-
๑. สุวรรณมาลิก (ลังกา)
๒. สุวรรณบรรพต (สระบุรี)
๓. สุมนกูฏ (ลังกา)
๔. โยนกปุระ (เชียงใหม่)
๕. นัมทานที (ภูเก็ต)
ข้อความในวงเล็บนั้น ผู้เขียนลงเอาไว้เพื่อความเข้าใจตามที่ได้ค้นคว้ามา ซึ่งจะหาอ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ ธัมมวิโมกข์ ฉบับ ที่ ๑๕๖, ๑๖๓, ๑๖๔ (ปี ๒๕๓๗) ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะรอยพระพุทธบาทที่ ๕ นัมทานที ซึ่งได้ยืนยันไว้เป็นหลักฐานจากหนังสือ
พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ์อ่านคำจารึกโดย พระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต) วัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ มีใจความตามสำนวนสมัยเมื่อสอง พันห้าร้อยกว่าปีมานี้เองว่า...
บุญมุนี อยู่ถ้ำฤษี ผู้นำพุทธ สู่เกาะ คนชาวน้ำ หมู่คนน้ำ เกาะแก้ว เข้ากราบไหว้ ห้อมล้อม พุทธสอนมาก
หมู่คนขอรอยตีนไว้ ชายทเล พุทธเหยียบดิน ทำให้ใหญ่กว่า ๓ เท่า เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย พุทธพัสสา ๒๒...
ถ้าใช้สำนวนในปัจจุบันอ่านได้ดังนี้
พระปุณณะ อยู่ถ้ำฤษี (เขางู จ.ราชบุรี) ผู้นำพระพุทธเจ้า สู่เกาะคนชาวน้ำ (ชาวเล) หมู่คนน้ำ
เกาะแก้ว เข้ากราบไหว้ ห้อมล้อม พระพุทธเจ้าสอนมาก หมู่คนขอรอยพระบาท ไว้ที่ชายทะเล...
ท่านเจ้าคุณพระราชกวี ได้วินิจฉัยเรื่องนี้ ไว้อีกว่า
เท่าที่ปรากฏรอยตีนพุทธนี้ ย่อมทรงแสดงให้เห็นหลักฐาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระองค์ว่า ได้เสด็จตั้งแต่ใต้สุดถึงเหนือสุดของ ดินแดน สุวัณณภูมิ จึงเสด็จเพื่อทรงเหยียบ แสดงรอยพระบาทเป็นประจักษ์พยานไว้ สัจจพันธ์คีรี
(จังหวัดสระบุรี) และที่ เกาะแก้ว(เกาะแก้วพิสดาร?) หรือ นิมมทานที (ไทยว่า..นัมมะทา) ซึ่งเป็นที่เลื่องลือมานาน กระทั่งถึงต่างประเทศคือลังกาและชมพูทวีป เพราะคำใน
อรรถกถา ยืนยันอยู่
อรรถกถาปุณโณวาทสูตร
ในตอนนี้ตามความใน อรรถกถาปุณโณวาทสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ได้กล่าวไว้ว่า
เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีได้ตรัสเรียกพระอานนท์มาสั่งว่า
อานันทะ..ดูก่อนอานนท์ พรุ่งนี้พวกเราจะเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านพ่อค้าในแคว้นสุนาปรันตะ เธอจงให้สลากแก่ภิกษุ ๔๙๙
รูป..
เมื่อพระอานนท์รับพระพุทธบัญชาแล้วจึงได้ประกาศแก่ภิกษุทั้งหลาย และในวันนั้นพระกุณฑธานเถระ
จับได้สลากเป็นองค์แรกในตอนเช้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะเกิดร้อนขึ้นมา
พระองค์ทรงพิจารณาแล้วทราบว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจะเสด็จไป แคว้นสุนาปรันตะ ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก
จึงรับสั่งให้ วิษณุกรรมเทพบุตร เนรมิตเรือนยอด ๕๐๐ หลัง สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๔ มุข (จตุรมุข)
ของพระอัครสาวกทั้งสองมี ๒ มุข ที่เหลือมี มุขเดียว พระศาสดาทรงเข้าสู่เรือนยอด และ พระสาวก ๔๙๙ รูป ต่างเข้าสู่เรือนยอด ๔๙๙ หลังตามลำดับ
โดยมีเรือนยอดว่างอยู่หลังหนึ่ง เรือนยอดทั้ง ๕๐๐ หลังนั้นลอยไปในอากาศ
ครั้นถึงภูเขาชื่อสัจจพันธ์ แล้วทรงหยุดเรือนยอดไว้ในอากาศ ทรงเทศน์โปรดท่าน สัจจพันธ์ฤาษีจนสำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงได้เข้าสู่เรือนยอดที่ว่างหลังนั้น
ตามเสด็จไปพร้อมกับพระภิกษุทั้งหลายมายังหมู่บ้านพ่อค้า (เพชรบุรี) ที่เป็นน้องชายพระปุณณะ
ต่างก็ได้ถวายทานเป็นอันมากแด่พระภิกษุทั้งหลาย อันมีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน
เมื่อพระศาสดาประทับในที่นั้น ๒-๓วัน จึงได้เสด็จไปโปรด นัมทานาคราช ซึ่งตาม
ในจารึกกเบื้องจารได้บอกว่า พระศาสดาได้ เสด็จโปรด คนน้ำ ที่เกาะแก้ว โดยประทับ ไว้ทำให้ใหญ่กว่า ๓ เท่า
ท่านเจ้าคุณพระราชกวี วินิจฉัยคำว่า นาค กับ น้ำ
นั้นออกเสียงใกล้เคียงกัน และใน อุทานวรรค ตรัสว่าเป็น
คนทะเล ซึ่งในเวลานี้ปรากฏว่า คนน้ำ หรือว่า ชาวเล ยังมีอยู่ ๕ กลุ่ม เช่นที่ หาดราไวย์
เป็นต้น ใครจะลองไปถามประวัติแกดูบ้างก็ได้ เผื่อแก อาจจะจำได้บ้าง แต่ต้องพูดภาษาเขาได้นะ
แต่ตามที่ทราบว่า สมัยก่อนพวกนี้จะรับจ้างพายเรือรับส่งคนไปกราบรอยพระพุทธบาทต่อมาชาวบ้านแถวหาดราไวย์ สามารถใช้เรือหางยาวแทน
แกจึงเลยตกงานไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถไปหาเงินมาซื้อเรือหางยาวแข่ง กับชาวบ้านได้ จึงต้องไปดำน้ำหากุ้งหาปลามา ขายแทน
แต่บางคนก็มีกับเขาเหมือนกันนะ
ตามความในพระไตรปิฎกกล่าวต่อไปว่าเมื่อพระศาสดาทรงออกจากที่นั้นแลัวก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์ คือที่
สระบุรีนี่เอง ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบ เหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสดๆ ฉะนั้น
ต่อจากนั้นก็เสด็จไปถึงพระเชตวันทีเดียว
เรื่องนี้ตามที่วินิจฉัยไว้แล้วว่า รอยพระพุทธบาททั้ง ๒ แห่งนี้ มิได้อยู่ที่อินเดียแน่นอน แต่ถ้าจะคิดว่ารอยพระบาท ณ นัมทานที อยู่ที่ลังกา
ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเสด็จมาถึง สุนาปรันตะ สิ้นระยะทาง ๓๐๐ โยชน์ หรือ ๔,๘๐๐ ก.ม.
ก็จะต้องย้อนกลับไปกลับมาหลาย ครั้ง ทั้งที่ลังกาก็ไม่ปรากฎว่าพบรอยพระบาท ที่อยู่ริมทะเลอย่างนี้มาก่อน มีแต่รอยที่ปรากฎอยู่ ตามภูเขาเท่านั้น เช่น
รอยพระพุทธบาทบนยอด เขาสุมนกูฏ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น รอยพระบาททั้งสองแห่งนี้จะต้องอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ถ้าเชื่อว่ารอยพระพุทธบาทที่สระบุรีเป็นของจริง
รอยพระพุทธบาทที่ภูเก็ตก็ต้องเป็นของจริงเช่นกัน โดยเฉพาะความพิสดารเล่ากันไม่หวาดไม่ไหว เล่าลือกันจนไม่มีใครกล้าไป แต่ที่ไปกันได้เพราะอาศัย
ความตั้งใจจริง หรือที่เรียกกันว่า เอาชีวิตเป็น เดิมพันกันทีเดียว เพราะถ้ายังรักตัวกลัวตาย หรือชอบความสนุกสนาน ก็คงจะไม่ได้ไปยืน อยู่ ณ
ที่นี้เป็นแน่แท้
โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ สมัยโบราณก็มีความเชื่อว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่ ๕ ที่ได้ประทับไว้ ณ ริมฝั่งน้ำนัมทา ตามที่ นางนพมาศ เป็นผู้คิดประดิษฐ์ กระทง ให้ มีลักษณะเป็นรูป ดอกบัว เพื่อเป็นเครื่อง บูชาสักการะลอยไปบูชารอยพระพุทธบาท โดยฝากไปกับ พระแม่คงคา
ซึ่งเรื่องวัตถุประสงค์ ในการลอยกระทงนี้ กำลังถูกลอยหายไปกับกระแสน้ำเหมือนกัน ผู้เขียนจึงขอตั้งหัวข้อ ไว้ดังนี้ว่า..
◄ll กลับสู่ด้านบน
05
"ลอยกระทง"
เพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
สำหรับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จะมีความเกี่ยวข้องกับประเพณี ลอยกระทง ได้ อย่างไร
จะมีเหตุผลเป็นประการใด ขอให้ท่าน ผู้อ่านทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณไปด้วย เพราะ จะได้อ้างเหตุอ้างผลไปตามหลักฐานพยาน ส่วน จะเชื่อหรือไม่
จะเป็นความจริงแค่ไหน เราต้อง ไปพิสูจน์กัน อย่าหลับหูหลับตาอ้างเอาแต่ความ คิดของตนเอง มิฉะนั้น...เราจะไม่รู้คุณค่าว่า
เรามีของดีอยู่ในประเทศไทยอีกมากมาย
เมื่อพูดถึงการ ลอยกระทง คนไทย ทุกคนแม้แต่ลูกเด็กเล็กแดงก็รู้จักกัน โดยเฉพาะ
ประเทศไทยมีการรักษาประเพณีนี้มานานแล้ว แต่รูปแบบการจัดงานในปัจจุบันนี้ มีเทคโนโลยี สมัยใหม่เข้ามามาก จึงมีการจัดแสดงแสงและ สีเข้ามาประกอบ
ทำให้เกิดบรรยากาศอันดีที่ จะทำให้ผู้ชมต้องย้อนกลับไปในภาพอดีตอีก ครั้งหนึ่ง แต่ถ้าจะสืบสาวราวเรื่องความเป็นมา ต่างๆ เช่นถามว่า...
ประวัติการ ลอยกระทง มีความเป็น มาอย่างไร? ลอยเพื่อวัตถุประสงค์จะบูชาอะไร? และ นางนพมาศ เป็นใคร? มีประวัติความ เป็นมาอย่างไร? ถึงได้คิดประดิษฐ์กระทงให้มีลักษณะเป็นรูปทรง ดอกบัว อย่างนี้..?
ชาวไทยทุกคนที่เคย ลอยกระทง มาแล้ว นับตั้งแต่เล็กจนโต ต้องอดหลับอดนอนไม่รู้สักกี่ครั้ง
อาจจะเคยรู้คำตอบได้เป็นอย่างดี แต่คงจะมีไม่น้อยที่ลอยแล้วไม่รู้ว่าลอยเพื่ออะไรกันแน่....เพียงแต่ขอให้ได้รับความสนุกสนาน หรือชมความสวยสดงดงาม
จากการจัดประกวดกระทง หรือประกวด นางนพมาศ เท่านั้น
ก็พอใจ โดยเฉพาะผู้เขียนเอง เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๕๓๖ บังเอิญได้ยินคำตอบทางโทรทัศน์ จาก ดอกเตอร์ ท่านหนึ่งว่า ลอยกระทง เพื่อลอยเคราะห์..ลอยโศก
แล้วกัน..!
สำหรับ ภาพประกอบการศึกษา ก็เหมือนกัน ซึ่งไว้ใช้ในการสอนเด็กนักเรียนเรื่อง การลอยกระทง โดยได้อธิบายไว้ในภาพวาดหลายประเด็น เช่น เพื่อบูชาและขอขมา พระแม่คงคา
เพื่อบูชา รอยพระพุทธบาท ใน นาคพิภพ และเพื่อบูชา
พระอุปคุต เป็นต้น
พลิกประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ในตอนนี้ ผู้เขียน ก็ไม่มีความรู้อะไรแต่ก็อยากจะ รณรงค์วัฒนธรรมไทย ต่อไป
ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นใย ในวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยบางคนที่กำลังจะถูกย่ำยีเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ซึ่ง ผู้เขียน มีเจตจำนงที่จะฟื้นฟูประเพณี ลอยกระทง เพื่อให้ตรงกับความประสงค์ของโบราณราชประเพณี
ที่สืบต่อกันมานานหลายชั่วคนแล้ว ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามผสม ผสานกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
เพราะว่าวัฒนธรรมไทยย่อมผูกพันกับสถาบัน ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ มานานแล้ว
โดยเฉพาะประเพณีลอยกระทงนี้เป็นประเพณีที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ย่อมเป็นที่รู้จักไปในนานาประเทศ แม้กระทั่งเพลง ลอยกระทง
ฝรั่งบางคนยังร้องได้เลย..!
จึงนับเป็นที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เรามีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เพราะมีแต่ประเทศ ไทยเท่านั้น ที่ยังรักษารูปแบบประเพณีนี้มานาน แล้ว
ซึ่งประเทศอื่นๆ ไม่มีประเพณีเช่นนี้มา ก่อนเลย อีกทั้งรอยพระพุทธบาทที่อยู่กลางทะเล ก็มีอยู่ในประเทศไทยแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ นางนพมาศ คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูป ดอกบัว
นั้น ก็เป็นการบ่งบอกเอาแล้วว่า เพื่อบูชา รอยพระพุทธบาท เป็นแน่แท้...
เพราะ ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์เฉพาะผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นดังจะสังเกตได้ว่า
พระพุทธรูปปางลีลา ทุกองค์ มักจะนิยมสร้างเป็นรูป "ดอกบัว"
ไว้เพื่อรองรับฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ฉะนั้น เพื่อให้ สมเหตุสมผลตามข้อวินิจฉัย ผู้เขียนจึงใคร่ขอ
นำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยมา ยืนยันเป็นคำเฉลย จากคำถามที่ตั้งไว้ว่า...
เราลอยกระทงเพื่อบูชาอะไรกันแน่..?
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน อันเป็นพระราชนิพนธ์ของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยในเรื่องนี้เอาไว้ว่า...
..สมมุติว่าเอาโคมนั้นลอยไปตาม ลัทธิพราหมณ์ ที่พอใจลอยอะไรๆ จัดอยู่เช่นกับลอยบาป..ล้างบาป
จะถือว่าเป็น ลอยเคราะห์ลอยโศก อย่างใดไปได้ดอกกระมัง การก็ตรงกันกับ ลอยกระทง
บางทีสมมติว่าลอยโคมข้อความตาม กฎมณเฑียรบาล มีอยู่แต่เท่านี้
ส่วน พระราชพิธี ซึ่งได้ประพฤติอยู่ในปัจจุบันนี้ นับว่าเป็น
พระราชพิธีพราหมณ์ มิได้เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธศาสนาสืบมา การที่ยกโคมขึ้นนั้น ตามคำโบราณกล่าวว่า ยกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม
คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม
แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนา ก็กล่าวว่าบูชา พระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี
ในดาวดึงสพิภพ และบูชา พระพุทธบาท ซึ่งได้ปรากฏอยู่ ณหาดทราย เรียกว่า
นะมะทานที อันเป็นที่ ฝูงนาคทั้งปวง
สักการบูชาอยู่...
สมัยกรุงศรีอยุธยา
จากหนังสือ คำให้การขุนหลวงหาวัด มีใจความว่า...
...ในสมัย สมเด็จพระเอกทัศราชา ครองกรุงศรีอยุธยา ครั้งถึงเพ็ญเดือน ๑๑ ออกพระวรรษา
พระองค์เสด็จทรงประทีปเสด็จอยู่บนเรือขนาน แล้วถวายธูปเทียนดอกไม้ และกระทงกระดาษตามเทียนและเรือต่างๆ เป็นอัน มาก
แล้วพระองค์อุทิศถวายพระพุทธบาทใน นัมทานที แล้วก็ลอยกระทงอุทิศส่งไปเป็นอันมากเต็มไปทั้งแม่น้ำ
แล้วจุดดอกไม้เพลิงที่ริมคงคาต่างๆ เป็นอันมาก...
ส่วน คณะทูตชาวลังกา ที่เคยเข้ามาขอพระสงฆ์ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าบรมโกฏฐ์
เมื่อ พ.ศ.๒๒๙๓ ได้บันทึกไว้เป็น จดหมายเหตุ ถึงข้าราชการไทยได้อธิบายเรื่องนี้ว่า
...พระราชพิธีอันนี้ทำเพื่อการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (ซึ่งบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์) ในดาวดึงสพิภพ และบูชารอยพระพุทธ บาท ซึ่ง พญานาค ได้กราบทูลอัญเชิญสมเด็จพระพุทธองค์ให้ทรงประดิษฐานไว้เหนือหาดทราย ฝั่งแม่น้ำนัมทานที
◄ll กลับสู่สารบัญ
praew - 13/9/08 at 19:34
สมัยกรุงสุโขทัย
สำหรับหลักฐานชิ้นนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นต้นกำเนิดประเพณีนี้ ผู้เขียนจึงขอนำเอกสารที่บันทึกไว้โดยท่านเจ้าของเรื่องโดยตรง นั่นก็คือ...
หนังสือเรื่อง นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
นั่นเอง โดยได้บรรยายพระราชพิธีต่างๆ ในราชสำนัก ซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลายสมัยนั้นได้แนะนำไว้
และได้พรรณนาสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นไว้ว่า...
...เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ ๑๘๓๐ พรรษา นครสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูลสุขด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไพร่ฟ้าหน้าใส
(ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ไพร่ฟ้ากำลังหน้า แห้ง เพราะของแพงจาก...ค่าเงินบาทลอยตัว) พลเมืองมีความสุขสบาย มีวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงามโดยถ้วนหน้า
พระมหากษัตริย์ก็ปกครองโดยธรรม ทรงไว้ซึ่ง ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ทรง พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า มีถนนหนทางที่งามสะอาด
และทรงสร้างปราสาทราชมณเฑียร สถานอันงามวิจิตรมีจตุรมุขทั้ง ๔ ด้าน ด้านหน้านั้นมีพระที่นั่งมุขกระสันติดเนื่องกันกับสนามมาตยา หน้ามุขเด็จขนานนามต่างๆ
เป็นทั้งมณฑปพระพุทธรูปและเทวรูป ตึกตำแหน่งเรือนหลวงเรือนสนมกำนัลเหล่านี้ ล้วนวิจิตรไปด้วยลายปูนปั้น ลายจำหลักวาดเขียนลงรักปิดทองแลอร่ามตา
มีพระแท่นที่ฉากกั้น เครื่องปูลาดอาสนบัลลังก์กั้นเศวตฉัตรห้อยย้อยด้วยระย้า ประทีปชวาลาเครื่องชวาลา เครื่องราชูปโภคงามยิ่งนัก...
นอกจากนั้นยังกล่าวถึง วัดมหาธาตุ เทวสถาน ราชอุทยาน ไม้ดอกนานาชนิด ผลไม้ ไร่นาที่ทำกิน
ผาสุขสบายถ้วนหน้า ปราศจากพาลภัยอันตรายจากโจรผู้ร้าย มีการละเล่น ขับ พิณดุริยางค์ มีการประกวดร้อยกรองทำนองอันไพเราะ
เห่กล่อมชาวนครให้ชื่นชมสมสวาทตราบเท่าเข้าแดนสุขาวดี
นอกจากนี้นางยังได้กล่าวถึงความประพฤติของนางสนม ซึ่งมีทั้งประพฤติดีและชั่ว เช่นสามัญชนทั้งหลาย กล่าวถึงพระเกียรติคุณและพระราชจริยาวัตรขององค์
สมเด็จพระร่วงเจ้า เป็นการกล่าวเฉลิมพระเกียรติ ด้วยความจงรักภักดีอย่างสูงสุด และกล่าวถึงตระกูลต่างๆ
ว่า ฝ่ายทหารมี ๔ ตระกูล ฝ่ายพลเรือนก็มี ๔ ตระกูล
ความรู้ในทางโลก ได้กล่าวถึงชาติและภาษาต่างๆ กล่าวถึงการแบ่งอาณาเขตในชมพูทวีป ส่วนในทางศาสนาได้กล่าวถึงพุทธศาสนาศาสนาพราหมณ์
และลัทธิศาสนาอื่นบ้าง เป็นต้น สำหรับเรื่องการ ลอยกระทง ได้มีพรรณนาไว้ดังนี้...
ประวัติการลอยกระทง
สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น มีพระราชพิธี จองเปรียง ในวันเพ็ญเดือน ๑๒เป็นนักขัตฤกษ์
ชักโคม ลอยโคม ประชาชนพลเมืองชายหญิงต่างตกแต่ง โคมชัก โคมแขวน
โคมลอย ทุกตระกูลทั่วทั้งพระนครเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงสักการะ พระจุฬามณี
บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ส่วนพระสนมกำนัลฝ่ายใน ก็ทำโคมลอยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปต่างๆ ประกวดกัน เพื่อถวายให้ทรงอุทิศบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำ นัมทานที แต่ นางนพมาศ พระสนมเอกของ พระร่วงเจ้า นั้น ได้ประดิษฐ์โคมลอย (คือกระทง) อย่างงดงามเป็นพิเศษ
สมเด็จพระร่วงเจ้าทอดพระเนตรเห็นโคมงามประหลาดของนางนพมาศ ก็ทรงพอพระทัยมาก จึงรับสั่งให้ถือเป็นประเพณีว่า ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ นี้ ให้ประดิษฐ์ โคมลอย เป็นรูป ดอกบัว ไปสักการบูชารอยพระพุทธบาท ณ ฝั่งแม่น้ำนัมทานที
ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อ เรียกว่า ลอยกระทงทรงประทีป
หลังจากนั้น พระมหากษัตริย์ก็ถวาย ดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวงแล้วทรงทอด
ผ้าบังสุกุลจีวร ถวายพระภิกษุสงฆ์ บรรดาขุนนางและประชาราษฎร์ก็ดำเนินตามพระยุคลบาท
เป็นที่สนุกสนานกันทั่วหน้า เมื่อพระร่วงเจ้าทรงลอยกระทงแล้ว ลงเรือพระที่นั่งประพาสชมแสงจันทร์ และเสด็จทอดพระเนตรโคมไฟ โปรดให้ นางนพมาศ โดยเสด็จด้วย ทรงรับสั่งให้นางผูกกลอนให้ พวกนางบำเรอขับถวาย
เมื่อทรงสดับบทกลอนแล้ว จึงรับสั่งถามว่าที่ต้องการให้พวก เจ้าจอมหม่อมห้ามมาด้วยนั้น เห็นว่าจะได้ประโยชน์อย่างใด..? นางก็กราบทูลสนองว่า
เพื่อเปิดโอกาสให้นาง เหล่านั้น ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณที่ สวยงาม ได้ออกหน้าสักครั้งหนึ่ง ก็จะชื่นชมยินดีมีความสุข
และจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอยู่ไม่รู้วาย บรรดาเครื่องอาภรณ์ที่ได้ทรงโปรดพระราชทานไปแล้วนั้น ก็จะได้มีโอกาสตกแต่งกันในครั้งนี้
ครั้นได้ทรงสดับดังนั้นก็ทรงพอพระทัยในคืนต่อมาก็ทรงโปรดให้บรรดานางในได้ตามเสด็จโดยทั่วหน้ากัน และเป็นประเพณีนับแต่นั้นมา...
ประวัตินางนพมาศ
ตามประวัติ นางนพมาศ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ บิดามีนาม โชตรัตน์
มีบรรดาศักดิ์ว่า.. ออกพระศรีมโหสถ ยศกมเลศ ครรไลยหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์
มีเกียรติยศยิ่งกว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งปวง รับราช การในฐานะเป็นปุโรหิต ณ กรุงสุโขทัย
มี หน้าที่บังคับบัญชากิจการตกแต่งพระนคร มี การทำพระราชพิธี ๑๒ เดือน เป็นต้น
ส่วนมารดาชื่อ นางเรวดี เมื่อนางจะตั้งครรภ์นั้น ฝันว่าได้เยี่ยมพระบัญชรสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
ชมแสงจันทร์จนตกใจตื่น แม้ พระศรีมโหสถก็ฝันว่า ได้เห็นดอกไม้นานาพันธุ์แย้มบานเกสรอยู่สะพรั่งในมิใช่ฤดูกาล และมี กลิ่นหอมระรื่นตลบอบอวล
ความฝันทั้งสองนี้พยากรณ์ว่า จะได้บุตรเป็นหญิง จะมีวาสนาพรั่งพร้อมไปด้วยสติปัญญาและเกียรติยศ เป็นที่พึ่งแก่วงศ์ญาติทั้งหลาย ครั้นถึงวันจันทร์
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญ กลางเดือน ๓ ปีชวด อันเป็นเวลาที่ภาคพื้นอากาศปราศจากเมฆ พระจันทร์ทรงกลดแสง ประภัสสร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน กาลนั้น
นางก็คลอดจากครรภ์มารดา
หมู่ญาติมิตรทั้งหลายก็นำเครื่องทองชนิดต่างๆ มาทำขวัญ เช่น ดอกไม้ทอง สนอบเกล้าทอง จุฑาทอง ประวัตรทอง กุณฑลทอง ธุรำทอง วลัยทอง ของ ๗
สิ่งนี้เฉลิมขวัญท่านบิดาจึงให้นามว่า นพมาศ (มีผู้แปลว่า ทองเนื้อเก้า)
แล้วอาราธนาพระมหาเถรา นุเถระ ๘๐ องค์ จำนวน ๗ วัด มาเจริญพระพุทธมนต์ในบท มงคลสูตร รัตนสูตร
และมหาสมัยสูตร จนครบ ๗ วันแล้วอัญเชิญ พราหมณาจารย์ ผู้ชำนาญในไตรเพทอีก ๖๐ คน
มากระทำพิธีชัยมงคลอีก ๓ วัน เพื่อสมโภชธิดาผู้เกิดใหม่ให้มีความสวัสดิมงคล เสร็จแล้วก็ถวายไทยธรรมแก่พระ เถระ ด้วยไตรจีวรกับของที่เป็นบริวารทั้งหลาย
และสักการะหมู่พราหมณ์ด้วยทรัพย์เป็นอันมาก ในการเลี้ยงดูนางเมื่อเยาว์วัย บิดามารดาก็ได้ คัดเลือกเอาแต่ผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดในวิชา ต่างๆ
ให้เป็นผู้ดูแล พี่เลี้ยงก็จะสอนให้ร้อย กรองให้วาดเขียน เป็นต้น
ครั้นจำเริญวัยอายุได้ ๗ ปี บิดาก็ให้ศึกษาวิชาต่างๆ เป็นต้นว่า อักษรไทย อักษรสันสกฤต ภาษาบาลี พอแปลได้ เรียนคัมภีร์ไตรเพท แต่งกลบทกลอน กาพย์ โคลง
ฉันท์และลิลิต เรียนตำรับโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์และตำราพยากรณ์ จนอายุได้ ๑๕ ปี ก็มีความ ชำนิชำนาญเฉลียวฉลาด รู้คดีโลกและคดีธรรม
นับเป็นสตรีนักปราชญ์ได้ผู้หนึ่ง นางนพมาศจึงเป็นยอดหญิงสุโขทัย ที่มีความเฉลียวฉลาดในวิชาการต่างๆ มีความชำนาญในด้านภาษา วรรณคดี การขับร้อง ดนตรี
บทกวีต่างๆ และมีรูปโฉมงดงามอีกด้วย จนเป็นที่ยกย่องสรรเสริญกันโดยทั่วไป มีความตอนหนึ่งที่ท่านได้บันทึกชีวิตส่วนตัวไว้ว่า...
...วันคลอดจากครรภ์มารดา พื้นอากาศก็ปราศจากเมฆ พระจันทร์ก็ทรงกลดแสงประภัสสร รัศมีขาวเจือสีเหลืองอ่อน เสวยฤกษ์บุษยวันเพ็ญ เดือน ๓ ปีชวด
ประกอบกับมีฉวีวรรณเรื่อเรืองเหลือง ประดุจชโลมลูบด้วยแป้งสารภีทั่วทั้งกรัชกาย จึงให้นามข้าน้อยนี้ว่า... นพมาศ
จากความงามทั้ง ๓ ประการของนางคือ งามรูปสมบัติ งามทรัพย์สมบัติ และปัญญาสมบัติ
จึงทำให้ชาวเมืองสุโขทัยต่างก็สรรเสริญทุกเช้าค่ำ กิตติศัพท์นี้ก็แพร่หลายเล่าลือต่อๆกันไป จนมีทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่ง
ได้ผูกกลอนสรรเสริญนางนพมาศขึ้นไว้ ๓ บท
ตำแหน่งพระสนมเอก
อันกลอนทั้ง ๓ บทนี้ บรรดาหญิงชายทั้งหลาย ต่างก็พากันขับร้องและดีดพิณยลโฉม คุณความดีของนางอยู่โดยทั่วไป จนแม้พนัก งานบำเรอพระเจ้าแผ่นดินก็จดจำได้
จนกระ ทั่งถึงวันหนึ่งได้ขับเพลงพิณบทนี้บำเรอถวาย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นได้ทรงสดับก็พอ พระทัยแล้วสอบถามว่า เป็นความจริงหรือแกล้ง
สรรเสริญกันไปเอง
ท้าวจันทรนาถภักดี ผู้เป็นใหญ่ฝ่ายในได้กราบทูลว่าเป็นความจริง นางอายุได้ ๑๕ ปี
ควรจะได้เป็นพระสนมกำนัลอยู่ในพระราชฐาน สมเด็จพระร่วงเจ้า จึงมีรับสั่งให้นำนางนพมาศ
เข้ามาเป็นพระสนมอยู่ในพระราชวัง เพื่อเป็น เกียรติยศแก่ ออกพระศรีมโหสถ ผู้บิดา ท้าวจันทรนาถฯ
รับพระราชบัญชาก็มาแจ้งให้ พระศรีมโหสถทุกประการ
เมื่อพระศรีมโหสถได้ทราบดังนั้น ก็ รู้สึกอาลัยธิดายิ่งนัก แต่ก็ได้ทราบมาแล้วแต่ ต้นว่า นางนี้เกิดมาสำหรับผู้มีบุญ จึงยินยอม ตามพระราชประสงค์
และจะได้เลือกหาวันอัน เป็นมงคล เพื่อนำธิดาของตนขึ้นทูลถวายต่อไป นับตั้งแต่นั้นมาชีวิตของนาง จึงได้หันเหเข้ามา อยู่ในแวดวงของสตรีผู้สูงศักดิ์
เพื่อสนองพระ เดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายในพระราช สำนัก
ครั้นถึงวันอันเป็นมงคล พระศรีมโหสถได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ และเชิญพราหมณ์มาทำพิธีให้เป็นสวัสดิมงคล แล้วเชิญหมู่ญาติมิตรมาประชุม
นางนพมาศก็ทำการเคารพหมู่ญาติมิตรทั้งหลายนั้น บรรดาญาติมิตรต่างก็พากันอวยชัยให้พรแก่นางนพมาศนานาประการ
นกเบญจวรรณ ๕ สี
แต่ก่อนที่นางจะเข้าไปเป็นบาทบริจาริกาในพระราชสำนักนั้น พระศรีมโหสถ ผู้เป็นบิดาได้ตั้งปัญหาถาม
เพื่อจะทดลองสติปัญญาความสามารถของนางว่า...
นกเบญจวรรณอันประดับด้วยขน ๕ สี เป็นที่งดงามอยู่ในป่าใหญ่ ครั้นมนุษย์ดักเอามา ได้ก็นำมาเลี้ยงไว้ในบ้านจนเป็นที่รัก เพราะมี ขนสีงามถึง ๕ สี
ก็เจ้าเป็นมนุษย์เมื่อเข้าไปอยู่ในพระราชฐาน จะประพฤติตนให้บรรดาคนทั้งหลายรักใคร่เจ้า เช่น นกเบญจวรรณ
ได้หรือไม่?...
นางนพมาศก็ตอบว่า
ลูกสามารถจะประพฤติตนให้เป็นที่รักใคร่แก่บุคคลเหล่านั้น โดยยึดสุภาษิต ๕ ประการ เช่นเดียวกับสีของ นกเบญจวรรณ ทั้ง๕ คือ:-
ประการที่ ๑ จะเจรจาถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน มิให้เป็นที่รำคาญระคายโสตผู้ใด
ประการที่ ๒ จะกระทำตนให้ละมุนละม่อม ไม่เย่อหยิ่งจองหอง ทั้งจะตกแต่งร่างกายให้สะอาดและสุภาพเรียบร้อย
ประการที่ ๓ จะมีน้ำใจบริสุทธิ์สะอาดไม่อิจฉาพยาบาทปองร้าย หรือดูหมิ่นดูแคลนผู้ใด
ประการที่ ๔ ถ้าปรากฏว่าผู้ใดเมตตารักใคร่โดยสุจริตใจ ก็จะรักใคร่มีไมตรีตอบมิให้เกิดการกินแหนงแคลงใจได้
ประการที่ ๕ ถ้าได้เห็นผู้ใดทำความดีความชอบในราชการ และทำถูกต้องขนบธรรมเนียมทั้งคดีโลกคดีธรรม
ก็จะจดจำไว้เป็นเยี่ยงอย่างแล้วประพฤติและปฏิบัติตามสิ่งที่ดีนั้น ถ้าได้กระทำอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องมีผู้เอ็นดูรัก ใคร่ ขอท่านบิดาอย่าวิตกเลย...
พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย เมื่อได้ฟังถ้อยคำนางนพมาศดังนั้นแล้วก็ชื่นชมยินดีชวนกันสรรเสริญอยู่ทั่วไป ลำดับ ที่ ๒
พระศรีมโหสถได้ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า
ข้อปฏิบัติให้มีผู้เมตตา ๑๒ ประการ
การที่จะเข้าไปอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินนั้นจะสามารถประพฤติตนให้ถูกพระราชอัธยาศัยในขัตติยประเพณี ซึ่งมีอยู่ในตระกูลอันสูงศักดิ์ได้หรือไม่
เพราะสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระอัครมเหสีถึง ๒ พระองค์ และนางพระสนมกำนัลอีกเป็นอันมาก เจ้าจะกระทำตนให้ทรงพระเมตตาได้หรือ?...
นางนพมาศตอบว่า ลูกสามารถกระทำได้ แต่ใจหาคำนึงว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระเมตตาหรือไม่แต่ว่าจะอาศัยสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
เป็นเครื่องช่วยเหลือให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเมตตาเองกล่าวคือ:-
๑. จะอาศัย ปุพเพกะตะปุญญะตา ซึ่งได้สร้างสมมาแต่ชาติก่อนสนับสนุน
๒. ตั้งใจจะประกอบความเพียรอย่างสุดความสามารถ ไม่เกียจคร้านในราชกิจการงานทั้งปวง
๓. จะใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งผิดและชอบ แล้วเว้นไม่กระทำสิ่งที่ผิด มุ่งแต่จะประพฤติในสิ่งที่ชอบ
๔. จะใช้ความพินิจพิจารณา สอดส่องให้รู้พระราชอัธยาศัย แล้วจะประพฤติให้ต้องตามน้ำพระทัยทุกประการ มิถือเอาใจตัวเป็นประมาณ
๕. จะประพฤติและปฏิบัติการงานโดยสม่ำเสมอ ไม่ทำงานลุ่มๆ ดอนๆ
๖. จะรักตัวของตัวเองยิ่งกว่ารักผู้อื่น
๗. จะไม่เกรงกลัวผู้ใดให้ยิ่งไปกว่าเจ้านายของตนเอง
๘. จะไม่เข้าด้วยกับผู้กระทำผิด
๙. จะเพ็จทูลข้อความใดๆ ลูกจะกราบทูลแต่ข้อความที่เป็นจริงเท่านั้น
๑๐. จะไม่นำพระราชดำริอันใด ที่เป็นความลับออกเปิดเผยเป็นอันขาด
๑๑. จะวางใจให้มั่นคงต่อกิจการงานทั้งปวง ไม่โลเลและแชเชือน
๑๒. จะจงรักภักดีต่อองค์สมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวโดยไม่เสื่อมคลาย
คุณสมบัติ ๗ ประการ
อนึ่ง ลูกเป็นคนใหม่เพิ่งจะเข้าไปถวายตัว ยังหารู้ขนบธรรมเนียมสิ่งใดไม่ ฉะนั้นเพื่อสามารถปฏิบัติการงานในหน้าที่ให้ลุล่วงไปจนได้
ลูกจึงจะวางวิธีของลูกไว้ดังนี้
๑. ในขั้นต้น ลูกจะต้องระวังรักษาตัวกลัวต่อความผิด ไม่ทำอะไรวู่วามลงไป
๒. จะต้องคอยสังเกตผู้ที่โปรดปรานคุ้นเคยพระราชอัธยาศัย ว่าประพฤติและปฏิบัติอย่างไร จักได้จดจำนำมาปฏิบัติต่อไป
๓. เมื่ออยู่นานไป ได้รู้เช่นเห็นช่องในกิจการบ้างแล้ว ก็จะได้พากเพียรเฝ้าแหนมิให้ขาดได้
๔. เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสใช้การงานแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะตั้งใจกระทำให้ดีที่สุด สมพระราชหฤทัยประสงค์ให้จงได้
๕. ต่อไปถ้าได้เห็นว่าทรงพระเมตตาขึ้นบ้างแล้ว แม้สิ่งใดจะมิได้ทรงรับสั่งใช้แต่สามารถจะกระทำได้ ก็จะกระทำโดยมิได้คิดเหนื่อยยาก เลย
๖. เมื่อตระหนักแน่แก่ใจว่าทรงโปรดอย่างใดแล้ว ก็จะได้ชักชวนคนทั้งหลาย ให้ช่วย กันกระทำในสิ่งที่ชอบพระราชอัชฌาสัย
๗. เมื่อได้กระทำดังนี้แล้ว หากจะไม่ทรงพระเมตตา ก็จะไม่น้อยเนื้อต่ำใจอย่างใด จะนึกเพียงว่าเป็น อกุศลกรรม ที่ได้กระทำไว้แต่ปางหลังเท่านั้น
และจะคงกระทำความดีอยู่เช่นนั้นโดยมิเสื่อมคลาย... แล้วนางได้ยกอุทาหรณ์นิทานเรื่อง นกกระต้อยตีวิด
และเรื่อง ช้างแสนงอน มาเล่าประกอบด้วย พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรทั้งหลาย
ต่างได้ฟังก็มีความยินดีใน สติปัญญาของนางเป็นอันมาก และพากันสรร เสริญอำนวยพรอยู่ทั่วกัน...
การกระทำเพื่อความมีชื่อเสียง
ในวาระสุดท้ายท่านบิดาได้ตั้งปัญหาถามต่อไปว่า...
ลูกจะคิดสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างไร ให้ตนเองมีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดิน?...
นางนพมาศก็ตอบว่า
อันจะกระทำการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน จนมีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลือนั้นสำหรับสตรีกระทำได้ยากนัก ถ้าเป็นบุรุษอาจจะกระทำได้หลายประการ เช่น
ทำการรณรงค์สงคราม ทำกิจการงานพระนคร ในสิ่งที่ยากลำบากให้สำเร็จได้ด้วยดี หรือวินิจฉัยถ้อยความให้เป็นไปโดยยุติธรรม
หรือจะหาของวิเศษอัศจรรย์มาทูลเกล้าถวาย เหล่านี้เป็นต้น
แต่ราชการฝ่ายสตรีที่สำคัญก็คือราชการ ในพระราชวัง ซึ่งก็ตกเป็นพระราชภาระของพระอัครมเหสีทั้งสองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใน
ส่วนตัวของลูกก็จะมีแต่ความจงรักภักดี ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณด้วยความกตัญญูกตเวทีอันสะอาดบริสุทธิ์
แม้ในการนั้นหากจำเป็นจะต้องเสียทรัพย์สินส่วนตัวมากเพียงใด หรือแม้ถึงกับจะต้องเสียสละเลือดเนื้อหรือชีวิตก็ดี
ก็เต็มใจอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณโดยมิได้อาลัย
อนึ่ง ในการปฏิบัติให้ทรงพระเมตตานั้นลูกปรารถนาที่จะให้ทรงโปรดปรานแต่ในความดีของลูกเท่านั้น การที่จะใช้เสน่ห์เล่ห์กลเวทมนตร์คาถา และกลมารยาต่างๆ
เพื่อให้ทรงเมตตาโปรดปรานนั้น ลูกจะละเว้นไม่ประพฤติเป็นอันขาด หรือแม้ลูกจะได้ดีมียศถาบรรดา ศักดิ์เพียงใดก็ดี ก็จะยิ่งกระทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
จะไม่กำเริบใจว่าทรงรักใคร่แล้วเล่นตัว หรือกดขี่เหยียดหยามผู้อื่น...
แล้วนางได้ยกอุทาหรณ์นิทานเรื่อง นางนกกระเรียนคบนางนกไส้ช่างยุ มาประกอบด้วย
ในที่สุดนางก็สรุปว่า...
อันนิทานที่ยกมาเล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ฟังจำไปสอนใจตนเองว่า อย่าประพฤติเป็นคนต้นตรงปลายคด และการคบมิตรก็ต้องคบที่เป็นกัลยาณมิตร
นักปราชญ์จึงจะสรรเสริญ
อันว่าการคิดถูกและคิดผิด พูดจริงและ พูดเท็จ ใจซื่อและใจคด ยั่งยืนและโลเล เรียบ ร้อยและเล่นตัว สุภาพและดีดดิ้น
ปกติและ มารยา มักตื่นและมักหลับ มีสติและหลงลืมอุตสาหะและเกียจคร้าน ทำดีและทำชั่ว หรือกัลยาณมิตรและบาปมิตร
บรรดาของคู่กันเหล่านี้ จะประพฤติอย่างหนึ่ง และละเสียอย่างหนึ่งเช่นนี้ ลูกก็สามารถจะเป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในแผ่นดินได้...
พระศรีมโหสถและบรรดาญาติมิตรผู้นั่งฟังอยู่ ณ ที่นั้นก็แซ่ซ้องสาธุการอยู่ทั่วกัน ในคืนนั้น
นางเรวดีผู้มารดาก็ได้ให้โอวาท แก่นางอีกเป็นอันมาก กล่าวคือ..มิให้ตั้งอยู่ใน ความประมาท ให้เคารพแก่ผู้ควรเคารพ
ให้ประพฤติจริตกิริยาในเวลาเฝ้าแหนหมอบคลานให้เรียบร้อย ให้แต่งกายเรียบร้อยงามสะอาดต้องตาคน ประพฤติตนให้ถูกใจคนทั้งหลายฝากตัวแก่เจ้าขุนมูลนาย
คอยระวังเวลาราชการอย่าให้ต้องเรียกหรือต้องคอย ต้องหูไวจำคำให้ มั่น อย่าถือตัวหยิ่งจองหอง ให้เกรงกลัวอัครมเหสี ทั้งสอง เป็นต้น
นางนพมาศก็รับคำเป็นอันดี
ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันศุกร์เดือน ๑๒ ขึ้น๑๐ค่ำ จุลศักราช ๖ ปีมะโรง ฉ ศก อันเป็นเวลา ที่นางมีอายุนับปีได้ ๑๗ ปี นับเดือนได้ ๑๕ ปี กับ ๘ เดือน ๒๔ วัน
นางเรวดีผู้มารดา ได้ให้แต่งกายอันประดับด้วยอาภรณ์นานาชนิดมาคำนับลาบิดาและบรรดาญาติแล้วขึ้นระแทะ ไปกับมารดา
มีบ่าวไพร่ติดตามไปพอสมควรเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง นางเรวดีได้นำไปยังจวน ท้าวจันทรนาถภักดี และ
ท้าวศรีราชศักดิ์โสภา ซึ่ง เป็นใหญ่ในชะแม่พระกำนัล เพื่อนำขึ้นเฝ้า สมเด็จพระร่วงเจ้า
อันมีพานข้าวตอกดอกมะลิ พานข้าวาร พานเมล็ดพันธุ์ผักกาด พานดอก หญ้าแพรก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย
สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงรับและมีพระราชปฏิสันถารกับนางเรวดีพอสมควร และพระราชทานรางวัลพอสมควรแก่เกียรติยศ
แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้นางนพมาศเข้ารับราชการในตำแหน่งพระสนม นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา...
ฉะนั้น ด้วยคุณความดีที่นางได้นำมาเป็นหลักปฏิบัติดังกล่าวนี้ ต่อมานางนพมาศได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ตำแหน่งพระสนมเอก จึงได้รับการยกย่องเชิดชูว่า เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทย ที่สืบทอดวัฒนธรรมและจริยประเพณี เพื่อผูกพันกับสถาบันชาติศาสนา
และพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการจัด ริ้วขบวนแห่นางนพมาศ ลอยกระทงทรงประทีป จุดดอกไม้เพลิง
เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ณ ริมฝั่งน้ำนัมทา โดยยึดถือเป็นประเพณีประจำ ชาติไทยกันตลอดมา
ผู้เขียนได้ลำดับประวัติ รอยพระพุทธบาท และ การลอยกระทง
มาจนถึงประวัติความเป็นมาของ นางนพมาศ
ก็เพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลประกอบไปด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อันพอที่จะสรุปได้ว่าการลอยกระทงนั้น เป็นการลอยเพื่อบูชา
รอยพระพุทธบาทณ นัมทานที แต่เพียงประเด็นเดียวเท่านั้นซึ่งมีความเกี่ยวพันกันมา อันเป็นปริศนามานานหลายร้อยปีแล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของการจัด กิจกรรม ตามรอยพระพุทธบาท เพื่อฟื้นฟู ประเพณี ลอยกระทง และฟื้นฟูประเพณีการ สักการบูชา พระจุฬามณี ตลอดถึงการสร้าง
พระพุทธรูป ปางประทับรอยพระบาท ณ นัมทานที ขนาดสูง ๙ ศอก และสร้างป้าย จารึก ประวัติรอยพระพุทธบาท เพื่อไว้เป็น อนุสรณ์ ณ เกาะแก้วพิสดาร จ.ภูเก็ต
กันต่อไป (ปัจจุบันนี้ ปี พ.ศ.๒๕๔๓ ได้สร้างไว้อีกองค์ หนึ่งที่ วัดพระร่วง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย)
ในฐานะที่ได้ร่วมกันทำหน้าที่ รณรงค์วัฒนธรรมไทย โดยการจัดงานพิธีลอยกระทงในวันพฤหัสบดีที่ ๑๗
พฤศจิกายน ๒๕๓๗ เพื่อสมโภชรอยพระพุทธบาท ที่มีอายุกาลครบถ้วน ๒,๕๖๐ ปีพอดี อีกทั้งเป็นการเปิดเผย ให้ชาวโลกรู้ว่า การที่เราลอยกระทงมาตั้ง ๗๐๐ กว่าปี
ด้วยการฝากพระแม่คงคาตลอดมา
บัดนี้ เราได้ไปลอยถึงที่อันประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้อย่างแท้จริงแล้ว จึงเป็นการรณรงค์ให้ชาวไทยทั้งหลายได้ทราบว่า รอยพระ พุทธบาทแห่งนี้
มีความเกี่ยวข้องกับประเพณี ลอยกระทง อันเป็นเส้นผมบังภูเขากันมานานแล้ว
ฉะนั้น ในนามคณะศิษยานุศิษย์ทั่วทุกภาคของพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันไปจัดงาน พิธีลอยกระทง เพื่อ บูชารอยพระพุทธบาท ณ
เกาะแก้วพิสดารและ พิธีลอยกระทงสวรรค์ เพื่อบูชา พระเกศแก้ว และ พระเขี้ยวแก้ว บนพระจุฬามณีเจดียสถาน
ณ แหลมพรหมเทพ เพื่อคงไว้ เป็นแบบอย่างของการอนุรักษ์โบราณราชประเพณีนี้
อันมีความสัมพันธ์กับรอยพระพุทธบาทหวังให้อนุชนรุ่นหลังได้ช่วยกันสืบสาน รอย ไทย ไว้คงอยู่คู่เมืองไทยตลอดไป...
ข้อสรุป
ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้ที่ได้นำมาอ้างอิง หวังว่าคงจะเป็นคำตอบที่ชัดเจน พอที่จะสรุป ฟันธง ลงไปได้จากคำถามที่ว่า..
ลอยกระทง เพื่อวัตถุประสงค์อะไร...? ก็คงจะลอยเพื่อบูชา รอยพระพุทธบาทที่ ๕ ณ นัมทานที
แต่เพียง ประเด็นเดียวเท่านั้นที่เป็นคำตอบ
รวมความว่า พระราชพิธีนี้เรียกว่า การลอยพระประทีป พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงเรือพระที่นั่งทรงพระภูษาขาว
เครื่องราชอาภรณ์ล้วนแต่ทำด้วยเงิน แล้วก็ล่องลงไปตามลำน้ำ นอกจากนี้ ยังมีขบวนแห่เรือการละเล่นต่างๆ และขบวนเรือผ้าป่า เพื่อนำไปทอดตามอารามต่างๆ
แล้วมีการจุดดอกไม้เพลิงเป็นการเฉลิมฉลองอีกด้วย
สำหรับเรื่องรอยพระพุทธบาททั้ง ๕ แห่งนี้ ผู้เขียนใคร่ขอ รณรงค์วัฒนธรรมไทย อีก เรื่องหนึ่ง
ซึ่งกำลังจะสูญหายไปจากความนิยม ไทยสมัยใหม่ ถ้าหากผู้ที่ได้ศึกษาเรื่อง มงคล ๑๐๘ ประการ ในฝ่าพระบาท
หรือที่เรียกว่า ลายลักษณ์พระบาท ซึ่งเป็นศิลปกรรมยุคโบราณ คนสมัยก่อนได้นำมาผูกเป็นบทกลอน
ในปัจจุบันนี้บางวัดยังท่องกันอยู่ แต่ส่วนใหญ่กำลังจะสาบสูญไปแล้ว คณะอาจารย์สันต์ ภู่กร
(เริ่มท่องเป็นประจำ) ผู้เขียนจึงได้นำต้นฉบับเก่าๆ ทั้งของภาคกลางและภาคใต้ ที่นิยมท่องกันสมัยนั้นมาเทียบเคียง พร้อมกับตรวจทานกับคัมภีร์ พุทธปาทะลักขณะ ซึ่งจารึกไว้เป็นภาษาบาลี จึงได้แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง โดยมีใจความคล้าย ทำนองเสนาะ
ll กลับสู่ด้านบน
คำนมัสการ
ลายลักษณ์พระพุทธบาท
(ตั้ง นะโม ๓ จบ)
ข้าพเจ้าขอบังคม พระพุทธบาทบรม ทั้งคู่เรืองรอง, สิบนิ้วของลูก ต่างธูปเทียนทอง นัยเนตรทั้งสอง ต่างประทีปทูลถวาย, ผมเผ้าเกล้าเกศ ต่างดอกปทุมเมศ
บัวทองพรรณราย, วาจาเพราะพร้อง ต่างฆ้องกลองถวาย ดวงฤทัย มั่นหมาย ต่างรสสุคนธา,
พระบาททศพล ทั้งคู่เลิศล้น ปรากฏรจนา มีกงจักรแก้ว เพริศแพร้วทอตา กงกำโสภาดวงดุมเพลาทอง, มงคลงามสรรพ ร้อยแปดประดับ บาทบงสุ์ทั้งสอง,
ทั่วทั้งไตรภพ มีครบทุกช่อง ลายลักษณ์เรืองรอง ทุกห้องเฉิดฉันท์,
มีทั้งฉัตรแก้ว พระขรรค์เลิศแล้ว หอกทองไพพรรณ, มีนางชูแว่น อ้อนแอ้นเอววัลย์ มือถือบุษบัน สอดสร้อยสังวาลย์, มีปราสาทราชวัง แท่นทิพย์เตียงตั่ง
เกยแก้วสุริยกาญจน์, เฉิดฉายพรายแพรว เขนยเกยแก้ว พัดใบตาลโบกแล้ว พัดหางยูงทอง, มีมงกุฏรัตน์ พัชนีโบกปัด บาตรแก้วแววว่อง, ดวงแก้วมณี รัศมีขาวผ่อง
กระออมเงิน กระออมทอง กระออมแก้วแววไว, ยังมีถาดทอง ถาดเงินเรืองรอง ถาดแก้วประไพ, มีวิมานพระอิศวร พระนารายณ์เลิศไกร เทวาไสวเข้าเฝ้าวันทา,
มีป่าหิมพานต์ ต้นพฤกษาสาร ตระการรจนา, มีผลแก่อ่อน แซมซ้อนบุปผา ครุฑธิราชปักษา อยู่ป่าฉิมพลี, มีพญาไก่แก้ว นกกระเรียนเลิศแล้ว กินรากินรี,
คาบพวงมาลา ร่ายรำงามดีการะเวกโนรี แขกเต้าเขาขัน, หงษ์เหินสกุณาภุมรีภุมรา งามตาสารพัน, มีพญานกกระหิตวิจิตรแดงฉันท์ ยูงทองลาวัลย์
สีสันเฉิดฉาย,มีพญาไกรสร ช้างแก้วกุญชร ม้าแก้วเพริศพราย, ราชสีห์ย่างเยื้อง เสือเหลืองเรียงรายนาคราชผันผาย นางโคคลาไคล, ให้ลูกกินนมเคล้าเคลียน่าชม
ละเมียดละไม,
มีจักรพรรตรา เสนาเกรียงไกร ถือธงทิวไสว ดูงามยรรยง, มีฉ้อฉกามา สิบหกชั้นฟ้า พระอินทร์จำนง, แสนสาวชาวสวรรค์ เทวัญล้อมองค์ เข้าเฝ้าเป็นวง
ยังแท่นทิพย์วิมาน, มีพรหมโสฬส สิบหกชั้นปรากฏ ล้วนแก้วแกมกาญจน์,ประดับมุขทุกชั้น โบกบันสิงห์หาญ พระพรหมชมฌาน ทุกชั้นพรหมา,
มีทั้งพระอาทิตย์ พระจันทร์เรืองฤทธิ์ชักรถไคลคลา, เวียนรอบราศี รัศมีรุ่งฟ้า ดวงดาวดารา ประดับเมืองสวรรค์, ทวีปใหญ่ทั้งสี่ทวีปน้อยนั้นมี
นับได้สองพัน, มีจักรวาลเวียน พิศเพียนอนันต์ เขาพระสุเมรุเรืองฉันท์ หลักโลกโลกา, มีเขาสัตตภัณฑ ์ ล้อมรอบเจ็ดชั้นเขาแก้วนา, มีสีทันดร อยู่หว่างบรรพตา
มีเจ็ด คงคา สายสินธุ์แสงใส,
มีเขาไกรลาศ เงินยวงเดียรดาษ ขาวผ่องประไพ, มีเจ็ดสระศรี ชลธีหลั่งไหล บัวบานไสวดูงามเบญจพรรณ, มีมหาสมุทรทัย ลึกล้ำ กว้างใหญ่ มัจฉาอนันต์,
ปลาเงินปลาทอง ลอยล่องตามกัน มังกรผายผัน จระเข้เหรา, มีทั้งเต่าทอง ดำผุดลอยล่อง ในท้องคงคา, มีสำเภาแก้ว พรายแพรวทอตา สำเภาเงินโสภา สำเภาทองบรรจง
มีสิ้นไตรภพ พรรณนามาจบ ลายลักษณ์พระองค์, มีสิ้นทุกสิ่ง งามยิ่งยรรยง ในพื้นบาทบงสุ์ พุทธบาทบาทา, พระศรีสรรเพชญ์พระพุทธเจ้าเสด็จ โปรดโลกโลกา,
มีดอกบัวทอง ทั้งสองโสภา ผุดจากพสุธา รองรับบาท บงสุ์, ทุกย่างพระบาท ปวงดอกปทุมมาศ มิได้ คลาดทุกสถาน, ที่ใดไม่สบาย พระพายพัดพาน หอบเอาสุคนธาน
นมัสการพระองค์,
หอบเอาทรายแก้ว นวลละอองผ่องแผ้วมาโปรยปรายลง, ให้ทางราบรื่น ในพื้นบาทบงสุ์พระพุทธเจ้าเสด็จลง โปรดโลกหญิงชาย, ยามเยื้องยุรยาตร ปวงดอกปทุมมาศ
อันตรธานหาย, จึงได้ประจักษ์ ลายลักษณ์ทั้งหลาย เหยียบย่ำ ทำลาย จะเป็นโทษนักหนา,
พระศาสดาเจ้า เสด็จเข้านิพพาน สิ้นแล้วตัณหา, ยังแต่รอยบาทบงสุ์ อันทรงพระกรุณาบรรจบครบห้า ประดิษฐานโดยมี, พระบาทหนึ่งปรากฏ อยู่เหนือบรรพต
สุวรรณมาลี, พระบาทสองนั้น อยู่ สุวรรณคีรี
ใกล้สระบุรีศรีพระนคร, พระบาทสามนั้นโสต อยู่เขา สุมนกูฏ ลังกาบวร, พระบาทสี่ทศพล อยู่บน
สิงขร ฝ่ายเบื้องอุดร โยนกบุรี, พระบาทห้า ประดิษฐานอยู่ริมชลธาร นัมทานที,
เป็นที่วันทา นาคาธิบดี มัจฉาภุมภีร์ เข้าไหว้แน่นอนันต์,
พระบาทห้าแห่ง พระพุทธเจ้าสำแดง ย่างเหยียบไว้นั้น, เป็นที่วันทา เทวาทุกชั้น มนุษย์คนธรรพ์ ครุฑธิราชอสุรา, ลายลักษณ์เลิศไตร บูชาเข้าไว้
หญิงชายถ้วนหน้า, เช้าค่ำ ไก่ขัน ทุกวันเวลา อุตส่าห์ภาวนา เป็นนิจนิรันดร์, ใครว่าลายลักษณ์ ได้บุญมากนัก แปดหมื่นสี่พัน, เหมือนได้พบองค์
พระผู้ทรงธรรม์ พรรณนามานั้น หวังเข้านิพพาน.
อะหัง วันทามิ ทูระโต, อะหัง วันทามิ ธาตุโย, อะหัง วันทามิ สัพพะโส, สาธุ..สาธุ.. อนุโมทามิ, นิพพานะ ปัจจะโย โหตุฯ
เป็นอันว่า การเดินทางไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ภาคใต้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ กาลเวลาได้ผ่านพ้นไปครบ ๓
ปีพอดี จึงได้มีโอกาสย้อนกลับมาเล่าทบทวนความทรงจำกันอีกครั้ง สำหรับการจัดงานในคราวนั้น นอกจากจะแวะที่จังหวัดภูเก็ตแล้ว รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๑๘
พวกเราก็เดินทางต่อไปที่ วัดถ้ำเสือ จ.กระบี่ หลังจากทอดผ้าป่ากับ
ท่านอาจารย์จำเนียร แล้ว จึงเดินทางไปฉันเพลและทอดผ้าป่าที่จังหวัดตรัง จนกระทั่งไปถึง
วิหารพระพุทธมงคลบพิตร ต. น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในเวลาเย็น
ครั้นอัญเชิญรูปหล่อ หลวงปู่ปาน และ หลวงพ่อ
ขึ้นประดิษฐานบนพระวิหารแล้ว จึงได้ทำพิธีบวงสรวง เพื่อเฉลิมฉลองเป็นการสมโภช เนื่องในโอกาสที่ได้บูรณะพระวิหารเป็นครั้งแรก
โดยมีผู้ร่วมสมทบทุนเป็นเงินทั้งสิ้นเกือบสองแสนบาท แล้วจึงค้างคืนที่หาดใหญ่
ในวันที่ ๑๙ ขบวนรถบัสและรถเล็ก จึงเดินทางต่อไปที่ วัดมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช หลังจากจัดขบวน
แห่ผ้าขึ้นธาตุ ตามประเพณีของชาวใต้แล้ว จึงได้เริ่มพิธีบวงสรวง และร่วม
สมทบทุนเพื่อบูรณะพระเจดีย์ที่กำลังซ่อมแซม อยู่ในขณะนั้น ครั้นรับประทานอาหารกลางวัน กันเสร็จต่างก็เดินทางกลับ พร้อมกับพระพิรุณ
ก็เทกระหน่ำตามหลังมาพอดี (เงินทำบุญทุกแห่งรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑ ล้านบาทเศษ)
ในที่สุด ผู้เขียน จึงต้องขอขอบคุณและอนุโมทนาท่านทั้งหลาย ที่ได้ร่วมเดินทางไปในครั้งนั้น พร้อมทั้งคณะศิษย์ของหลวงพ่อ ชาวใต้ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน นับตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ พัทลุง ตรัง หาดใหญ่ สงขลา
และนครศรีฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ ต้องขออภัยที่มิได้เอ่ยนามเลย ต่างก็ได้มารวมตัวสมานสามัคคีกัน ด้วยน้ำใจไมตรีเป็นอย่างดี ได้ช่วยจัดเลี้ยงอาหารแล้วก็สถานที่พัก
ให้ความสะดวกทุกๆ อย่าง และ จุดเริ่มต้นตรงนี้นี่เอง ต่อมาภายหลังคณะศิษย์ หลวงพ่อภาคใต้ จึงได้มีโอกาสมารวมตัวกัน ต้อนรับท่านพระครูปลัดอนันต์
พร้อมคณะครู ฝึกมโนมยิทธิ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จน กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ จึงขออานิสงส์แห่งความดี ที่ทุกท่านได้กระทำแล้วนี้
จงเป็นปัจจัยแห่งความสมบูรณ์พูนสุขทุกเมื่อ ตลอดกาลเป็นนิจ นิรันดร์เทอญ... สวัสดี.
ll กลับสู่สารบัญ
webmaster - 28/7/10 at 10:32
หนังสือประวัติการสร้าง
วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร (พระวิหารน้ำน้อย)
ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
คำนำ
หนังสือเล่มนี้ อาตมาขอร้องให้ท่านชัยวัฒน์ ช่วยเรียบเรียงประวัติความเป็นมาในการสร้าง พระวิหารน้ำน้อย
เพื่อให้สาธุชนทราบสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เข้าใจ เพิ่ม ศรัทธาในการรู้ค่าของ พระวิหารน้ำน้อย มากขึ้น เรื่อง ที่เกี่ยวข้องก็คือ...
๑ พระสุปฏิปันโน หลายรูปมาพร้อมกัน
๒. พระพุทธเจ้าที่คนไทยได้ศรัทธาสร้างขึ้น เป็น พระพุทธรูปทองคำ
๓. พระพรหม มาขอร้องให้หลวงพ่อนำลูกศิษย์ ไปสร้าง
๔. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัย
ลักษณ์ฯ ได้เสด็จมาในพิธีนี้
ความสำคัญสิ่งนี้ ถือว่าเป็นประวัติของ พระวิหารน้ำน้อย
ที่ท่านชัยวัฒน์เรียบเรียงจากหลวงพ่อพระราชพรหมยาน และลูกศิษย์ที่อยู่ในเหตุการณ์ มาเล่าสู่ท่านทั้งหลาย ที่อยู่ในภายหลังให้ได้รับทราบ
ส่วนขณะนี้ได้ล่วงเลยมา ๒๕ ปี วิหารได้ทรุดโทรม ลงมาก และปี ๒๕๔๓ น้ำท่วมใหญ่ ผู้คนล้มตายกันหลาย ร้อยคน พระวิหารถูกน้ำท่วม พระพุทธเจ้า
และรูปหลวงปู่ปาน และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน มีปัญหาจะทรุดโทรม ลงตามลำดับ
คณะลูกศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน เล็งเห็นความสำคัญในเหตุ ๔ ประการข้างต้น จะสูญหายและลบ เลือนไปในอนาคต จึงคิดร่วมกันจะบูรณะเป็นครั้งใหญ่
เพื่อจะได้แข็งแรงและทรงสภาพอยู่ชั่วชีวิตของเรา เพื่อจะได้ เป็นประวัติศาสตร์ และมิ่งขวัญของคนไทยสืบไป
ฉะนั้น การบูรณะครั้งนี้ จะได้อานิสงส์หลายประการ คือ...
๑. พุทธบูชา ซึ่งพระรัตนตรัย
๒. สร้างวิหารทาน ให้ผู้เลื่อมใสได้ใช้เป็นสถานที่ ปฏิบัติธรรมด้วย
๓. เป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ และ สังฆานุสสติ
๔. ได้ชื่อว่าเป็นลูกที่ดีของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ว่ารักษาศาสนสมบัติของพระพุทธศาสนาไว้ได้
พระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ
๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๔
ประวัติการสร้างพระวิหาร
เรียบเรียงโดย..พระชัยวัฒน์ อชิโต (ลิขสิทธิ์เป็นของวัดท่าซุง)
เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ ท่านพระครูปลัดอนันต์ พทฺธญาโณ พร้อมด้วยคณะศิษย์ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้เดินทางไปทำพิธีบวงสรวง ณ
วิหารพระพุทธมหามงคลบพิตร ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตามที่เคยเดินทางไปเป็นประจำ ทุกปี เพื่ออนุเคราะห์บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททางภาคใต้
หลังจากเสร็จงานแล้วก็เดินทางกลับ ทุกคนมารออยู่ในห้องรับรองภายในสนามบินหาดใหญ่ ระหว่างนั้นคณะชาวหาดใหญ่และสงขลา ที่มาส่งได้ปรารภว่า ในปีหน้า (๒๕๔๔)
อยากจะพิมพ์หนังสือประวัติ พระวิหารน้ำน้อย เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่มาร่วมงาน จึงได้เริ่มทำบุญกันเดื๋ยวนั้นทันที ๑๐,๐๐๐ บาท
ต่อมาท่านเจ้าอาวาสก็ปรารภซ้ำอีกว่า อยากจะให้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่งความจริงผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะถนัดนัก
แต่เพื่อเป็นการรักษาประวัติความเป็นมาไม่ให้สูญหายไป จึงได้เริ่มรวบรวมเรื่องราวที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เล่าไว้ และที่ ม.ล.วรวัฒน นวรัตน
บันทึกไว้บ้าง เป็นต้น ตามที่ได้ค้นคว้า จากหนังสือต่างๆ ปรากฏว่า หลวงพ่อเดินทางไปปักษ์ใต้หลายครั้ง หลายวาระด้วยกัน นับตั้งแต่ชุมพร
สุราษฏร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง นครศรีธรรมราช และพัทลุง เป็นต้น
แต่เหตุการณ์สำคัญที่จะนำมาเล่าครั้งนี้ คงจะต้องย้อน กลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่จะต้องจารึกไว้เป็นประวัติว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ
พร้อมด้วยคณะศิษย์ ได้เดินทาง โดยเครื่องบินมาลงที่ภูเก็ต โดยมี ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ผู้อำนวยการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่ ในสมัยนั้น เป็นผู้รับรอง
พร้อมทั้งจัดรถออกเดินทางไปในที่หลายแห่ง จนกระทั่งมาถึงหาดใหญ่เมื่อ วันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๗
แล้วได้ค้างคืนที่บ้านพักรับรองที่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดไว้
พบกับท่านพระพรหม
คืนนั้น ในขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่ในห้องนอนของท่าน พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้เล่าว่า...
...ขณะที่ใจสบาย ทำท่าว่าจะหลับ ก็ปรากฏว่าพบชาย คนหนึ่งมานั่งอยู่ที่ปลายเตียง เลยเท้าลงไป เป็นผู้ชาย ยกมือขึ้น
แตะปาก ท่าทางดี เหมือนกับคนธรรมดา จึงได้ถามว่าเป็นใคร แกชี้มือขึ้นไปข้างบน แล้วก็บอกว่ามาจากพรหมขอรับ
ถามว่า ถ้ามาจากพรหมแล้วแต่งตัวแบบนี้เพื่อประโยชน์อะไร ทำไมไม่แสดงกายเป็นพรหม แล้วก็เมื่อตอนกลางวันก่อนที่จะเข้ามานะ ไปรับที่นอกเมือง
เห็นพระพุทธรูปอยู่บนศีรษะนั่นเป็นท่านหรือ..?
ความจริงเข้าใจว่าเป็นเทวดา เพราะแต่งตัวแบบเทวดา มีเครื่องประดับแพรวพราว และมีสีสันวรรณะไม่ใช่ลักษณะ ของพรหม ท่านก็เลยบอกว่า คนที่ไปรับน่ะ
เป็นเทวดาขอรับ แต่ผมนี่เป็นพรหม เป็นคนละคนกับบุคคลนั้น จึงได้ถามท่านว่า มาทำไม แล้วพระที่แสดงลอยอยู่เหนือศีรษะเทวดานั้นหมาย ความว่ายังไง...
ไม่ทราบความหมาย..?
ท่านก็บอกว่า ที่แสดงให้ปรากฏก็เพราะว่า ในเขตของ จังหวัดสงขลามีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ทำด้วยทองคำทั้งองค์
ไม่มีส่วนผสมอย่างอื่น คือไม่ใช่แกนทองแดงแล้วเอาทองคำหุ้ม หน้าตักกว้างประมาณ ๒ เมตร หรือ ๓ เมตร จำไม่ถนัด เพราะ
เวลาพูดนี่ไม่ได้บันทึกไว้ ก็เลยถามท่านว่าไปแสดงให้ปรากฏ ทำไม...แสดงว่าบ้านเมืองนี้เจริญหรือประการใด..?
ท่านบอกไม่ใช่ขอรับ ผมเห็นว่าคณะของท่านที่มานี่ เป็นคณะที่มีศรัทธามาก เวลานี้พระพุทธปฏิมากรแทนองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
มีทองมีน้ำหนักบอกไม่ถูก (ท่านบอก เหมือนกัน ทั้งองค์ ทั้งฐานน้ำหนักเท่าไร แต่ก็ไม่บอก) บอกว่า เวลานั้น
ที่กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งหลัง ปรากฏว่าเขาเอาพระองค์ นี้มาฝัง เกรงว่าพม่าพวกมีใจอธรรมจะนำทองคำเป็นประโยชน์ ส่วนตน
อย่างที่อยุธยามันยังหลอมเอาทองคำไปกินเสีย มีน้ำ หนักตั้งหลายพันชั่ง
แต่ว่าพระองค์นี้มีน้ำหนักยิ่งกว่าพระองค์นั้น สำหรับทองคำ เพราะว่าพระองค์นั้นภายในเป็นทองสัมฤทธิ์
ข้างนอกเป็นทองคำ แต่ว่าองค์นี้เป็นทองคำล้วน เวลานี้ยังอยู่ตรงนั้น ฝังอยู่ตรงไหน บอกไม่ได้ บอกอันตรายจะเกิดแก่ทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา
แล้วก็เลยถามว่า ไปแสดงให้ปรากฏเพื่อประโยชน์อะไร
ท่านก็บอกว่า ตั้งใจจะให้คณะที่มาด้วยกันช่วยกันสร้างเจดีย์ทับพระพุทธรูปองค์นั้น เพราะฝังไว้ในดินลึกประมาณ ๕ วา เวลานั้น ใช้คนประมาณ ๓๐๐ คนเศษ
นำพระมาแล้วก็บรรจุพระไว้ สร้างเครื่องล้อมป้องกันไว้อย่างดี แล้วทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับกษัตริย์ ก็มีอยู่มาก
ท่านถามว่าจะทำได้ไหม ก็เลยถามว่าเจดีย์ใหญ่ไหม ท่านบอกว่าไม่ต้องใหญ่ สูงประมาณ ๓ วาก็ได้ แต่ให้ฐานครอบ พระเข้าไว้ คนจะได้ไม่ข้ามไปข้ามมา
ก็เลยบอกว่าเวลานี้สร้างวัด ยังเป็นหนี้เขามาก ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ให้ช่วยกันมาสร้างที่ตรงนั้นก็แล้วกัน ไม่รีบไม่ร้อน
ที่จะให้มา เที่ยวคราวนี้ ที่ยอมรับเขาก็เพราะว่า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เจ้าเข้าดลใจ ทั้ง ๆ ที่ร่างกายของท่านไม่ดีท่านก็ยอมรับ
ความจริงแล้วไม่ได้ตั้งใจจะไป เห็นว่าประโยชน์มันน้อย ในการท่องเที่ยว นอนดีกว่า แต่เมื่อเขาถามเข้าจริงๆ ก็ไม่ทราบว่า เป็นเพราะอะไร
ตัดสินใจยอมรับเอาเฉยๆ มาดูหมายกำหนด การแล้วก็หายใจไม่ออก วันทั้งวันไม่มีเวลาหยุด คิดว่าคงจะไป พับจุดใดจุดหนึ่ง บังเอิญมันก็ไม่พับ เป็นมหัศจรรย์
เรื่องนี้แปลก มาก เดินทางทั้งวัน กลางคืนก็นอนน้อยที่สุด อย่างดีก็หลับไม่เกิน ๒ ชั่วโมง เช้าก็เดินทางต่อไป แต่ก็ไปได้ทุกจุด
นี่เห็นจะเป็นอำนาจพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ พรหมานุภาพ เทวดานุภาพ และครูบาอาจารย์ ตลอดจนพ่อแม่ เก่าๆ ที่สร้างผืนแผ่นดินไทย
ช่วยผยุงกายของอาตมาไปได้กระมัง คิดอย่างนี้..ก็เป็นอันรับปากกับท่านพรหมว่า สิ่งเหล่านี้คงไม่หนัก
แต่ทว่าจะขอปรึกษาหารือกับบรรดาท่านพุทธบริษัท มีท่าน พลอาศตรี ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ ก่อน ถ้าพร้อมใจกันเมื่อไร
แล้วก็วัดท่าซุงเสร็จเมื่อไรก็จะมาทำให้ เพราะของไม่โตนัก แต่ว่าหนักใจเรื่องที่ดินเจ้าของอาจจะเอาแพง เพราะเขาอยู่ในย่านของความเจริญมาก
ท่านยกมือไหว้ด้วยความดีใจแล้วก็กลับไป...
เริ่มก่อสร้างพระวิหาร
เป็นอันว่า ขอนำเรื่องที่พระเดชพระคุณท่านเล่าไว้เพียง แค่นี้ ในเวลาต่อมาท่านก็ได้เดินทางไปพิสูจน์ตามที่พระพรหม บอกไว้
ในขณะที่เดินทางมาถึงสามแยกควนเนียง พร้อมทั้งได้ เปลี่ยนจากการสร้างเจดีย์เป็นวิหารแทน ในตอนนี้ ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ได้เล่ารายละเอียดไว้ว่า...
...เมื่อหลวงพ่อรับปากพรหมองค์นี้แล้ว พรหมก็บอก จุดที่อยู่ให้ หลวงพ่อพาพวกเราไปดู ก็พบว่าจุดที่ตั้งตรงกับที่
บอกไว้ทุกประการ แม้แต่เลขที่หลักกิโลเมตร คณะหลวงพ่อ จึงมั่นใจมาก เกิดความศรัทธา ตกลงกันว่าจะสร้างวิหารเล็กๆ คลุมพื้นดินตรงจุดนั้น
พวกเราจึงลงจากรถเข้าไปติดต่อเจ้าของที่ดินชื่อ นางกิ้มไล่ ชูโตชนะ เพื่อจะขอซื้อที่ดินบริเวณนี้ ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินไม่ยอมขาย
แต่ยินดีที่จะให้หลวงพ่อก่อสร้างพระวิหารได้ตามต้องการ และจะขอนำที่ดินดังกล่าวทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง เมื่อตกลงเรื่องที่ดินเรียบร้อยแล้ว
หลวงพ่อจึงแบ่งงานดังนี้
(๑) พลอากาศโท ม.ร.ว. เสริม และ คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มคณะศิษย์จากส่วนกลาง รับบริจาค จากผู้มีศรัทธาได้เงินจำนวนประมาณ ๒๐๐,๐๐๐
บาท
(๒) นายมนตรี ตระหง่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในสมัยนั้นพร้อมด้วย นายเจริญจิตร ณ สงขลา ปลัดจังหวัด สงขลา เป็นหัวหน้ากลุ่มชาวสงขลา
รวบรวมเงินได้ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ บาท
(๓) ร้อยตรี ม.ล.วรวัฒน นวรัตน ผู้อำนวยการการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่ เป็นผู้ประสานงานทั่วไป โดยมี นายช่างจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกระบี่
คือ นายณรงค์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นผู้ออกแบบ และ นายปลั่ง ขาวบาง เป็นผู้ ควบคุมคนงานก่อสร้าง
การก่อสร้างครั้งนี้ ใช้เงินเฉพาะการซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ส่วน แรงงานและการขนส่ง ได้อาศัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เขต ๓
การก่อสร้างวิหารจึงใช้เงินน้อยกว่าปกติ รวมแล้วเพียง ๒๔๐,๐๐๐ บาท คือเงินจากส่วนกลาง ๒๐๐,๐๐๐ บาท และเงินจากจังหวัด สงขลาเพียง ๔๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น
ส่วนที่เหลือทางคณะศิษย์ หลวงพ่อมิได้ติดตามผล และมิได้เกี่ยวข้องด้วยประการใด
และหลวงพ่อได้สั่งไว้ว่า ก่อนจะเริ่มงานก่อสร้าง หลวงพ่อจะไปบวงสรวงพรหมผู้คุ้มครององค์พระพุทธรูปทองคำใต้ดิน วันที่มีพิธีบวงสรวง หลวงพ่อฯ พร้อมกับ
หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง หลวงปู่ธรรมชัย วัดทุ่งหลวง หลวงปู่ชัยวงศ์ วัดพระบาทห้วยต้ม ได้เดินทางไปร่วมพิธีด้วย
หลวงพ่อฯ ได้ให้หลวงปู่ทั้งสามตรวจดูพระพุทธรูป ข้าพเจ้าแปลกใจที่เห็น หลวงปู่ธรรมชัย องค์เดียวลงนั่งยอง ๆ ดู แต่หลวงพ่อและหลวงปู่องค์อื่นๆ
ยืนดูสักครู่ เมื่อการตรวจดู เสร็จสิ้นลง หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า เมื่อสักครู่ หลวงปู่ธรรมชัย ถูกนังเลงดีเล่นตลก คือ "พรหม" ท่านเอามือมาแกล้งปิด
หลวงปู่ธรรมชัยยืนดูไม่เห็น ท่านจึงต้องนั่งลงดูจึงเห็น
หลวงพ่อเล่าประวัติให้พวกเราฟังว่า พระพุทธรูปทองคำ องค์นี้ "ปางมารวิชัย" ทำด้วยทองคำเนื้อเก้า คือบริสุทธิ์เกือบ
๑๐๐ % มีขนาดเล็กกว่าพระพุทธรูปทองคำที่ วัดไตรมิตร กรุงเทพฯ ประมาณ ๑ ศอก สมัยก่อนได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่ พระอุระ คือที่หน้าอกขององค์พระ
และสามารถถอดออกมา แล้วประกอบกันได้ถึง ๙ ชิ้น สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย มีรวม ๓ องค์ เป็นชุดเดียวกัน องค์ที่ ๓ ปัจจุบันจมอยู่ในแม่น้ำโขง (เรียกกันว่า
พระเจ้าล้านตื้อ)
ในตอนนี้ ผู้เขียนจะขอเพิ่มเติมเรื่องราวตามที่ คุณสุนิสา วงศ์ราม ได้ค้นคว้ามาจากนักประวัติศาสตร์
เพื่อเป็นการยืนยันคำกล่าวของท่านพอจะสรุปได้ว่า พระพุทธรูปทองคำ วัดไตรมิตร องค์นี้ สร้างในสมัยสุโขทัยยุคกลาง
ประมาณรัชสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๘๖๐) ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ เมตรเศษ องค์พระถอดออกได้เป็น ๙ ชิ้น
เพิ่งจะรู้ว่าเป็นพระทองคำแท้เมื่อ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๘ (ในขณะที่อัญเชิญองค์พระขึ้นบนวิหาร แรงกระแทกทำ ให้ปูนที่พอกเอาไว้กระเทาะออก)
สำหรับปูนที่พอกองค์พระไว้ แน่นหนาถาวร เป็นลักษณะอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า เพื่อป้องกันพม่าทำลายยึดเอาทองคำไปเป็นสมบัติ และถูกปูน
ห่อหุ้มซ่อนไว้ไม่มีใครทราบนานถึง ๑๘๘ ปี
ขอวกกลับมาถึงเรื่องของเราต่อไปว่า เมื่อการก่อสร้างดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง พลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ได้ถวายพระ พุทธรูปทองสัมฤทธิ์
(แบบพระพุทธชินราช) ให้เป็นพระประธานในพระวิหารนี้ หลวงพ่อถวายชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธมหามงคลบพิตร
ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับพระทองคำ ที่ฝังอยู่ใต้ดิน
ในครั้งนี้คณะหลวงพ่อได้เดินทางไปพร้อมกับ หลวงปู่สิม และ หลวงปู่ธรรมชัย เพื่อทำพิธีอัญเชิญพระพุทธ รูปขึ้นประดิษฐานบนพระวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕
พฤษภาคม ๒๕๑๙
ในวันที่อัญเชิญพระประธานขึ้นไปบนแท่นในวิหารนั้น หลังจากหลวงพ่อทำพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว ท่านได้เล่าว่า
เมื่อสักครู่นี้ พรหมท่านขยับเลื่อนองค์พระใต้ดิน ให้เข้ามาอยู่ ใต้พระประธาน ซึ่งอยู่ในวิหารเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้
เพราะจุดที่ฝังพระไว้ใต้ดิน ไม่สามารถตอกเสาเข็มลงไปได้ อาจทำให้เกิด อันตรายต่อพระพุทธรูปใต้ดิน หรือห้องใต้ดินที่คนสมัยก่อน สร้างเอาไว้ได้
พระพุทธรูปองค์นี้ สร้างสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการทำพิธีตรึงแผ่นดินไทยไว้ ทิศเหนือที่เชียงแสน ทิศใต้ที่ สงขลา เลยเขตนี้ออกไปไม่แน่นอน
ยามใดไทยถอยอำนาจลง ก็แยกตัวออกไปเป็นประเทศอื่น แต่ว่าสมัยต่อไปภายหน้าพวก ดังกล่าวนี้ คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เป็นต้น
และดินแดนเหนือเชียงรายขึ้นไป จะกลับมารวมกับไทยอีก ทั้งนี้ เพราะเขาเห็นว่าไทยรวย จะมาช่วยกันใช้เงินของไทย ฉะนั้น
ต่อไปถึงสมัยที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว พระพุทธรูปทองคำองค์นี้ จะขึ้นมาอยู่บนพื้นดินให้คนสักการบูชา
เมื่องานก่อสร้างพระวิหารเสร็จลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เพื่อทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุใน พระเกศมาลาของพระพุทธรูป เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ส.ค. ๒๕๑๙
พระสงฆ์ที่ร่วมพิธีในวันนั้น นอกจากหลวงพ่อแล้ว ยังมีพระสุปฏิปันโน อีก ๗ รูป คือ หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร, หลวงปู่บุดดา ถาวโร, หลวงปู่ชุ่ม
โพธิโก, หลวงปู่ชัยวงศ์, หลวงปู่กล่อม วัดบุปผาราม, หลวงปู่มหาอำพัน และ หลวงปู่ธรรมชัย ธัมมชโย อีกด้วย
พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาพร้อมตลับ
ส่วนเรื่อง พระบรมสารีริกธาตุ ที่บรรจุนั้น คุณโยม จันทร์นวล นาคนิยม ได้เล่าไว้ว่า...
หลวงพ่อท่าน ก็คิดๆ ว่า จะเอาพระบรมสารีริกธาตุ จากไหน วันหนึ่งก็เดินไปเดินมาอยู่ในกุฏิ ก็มองไปเห็นห่อผ้า ผูกริบบิ้นสีเหลือง
อยู่บนชั้นที่วางเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ หลวงพ่อท่านก็ไปหยิบเอามาดู แล้วออกมาถามว่าเป็นของใคร เมื่อทุกคนไม่ทราบ ท่านก็เอาเข้าไปในกุฏิ
แก้ห่อผ้าออกดูก็ พบตลับเงินเป็นรูปเหลี่ยมๆ ราวห้าหรือหกเหลี่ยม เป็นตลับ เงินฉลุลวดลายสวยงาม
เมื่อเปิดฝาตลับดูในนั้น จะมีของรูปกลมๆ คล้ายนาฬิกา ใส่กระเป๋าแบบคนโบราณใช้ มีหูหรือห่วง ใส่กับสร้อยก็ได้ สองข้างของรูปวงกลมนั้น จะเป็นหินใสๆ
มองเห็นข้างในนั้น จะมีพระบรมสารีริกธาตุ ๑๐ กว่าองค์ สวยงามมาก เมื่อหลวงพ่อ เปิดดูก็พบพระบรมสารีริกธาตุหลายสี มีสีทับทิม ๔-๕ องค์ สี งาช้าง สีอิฐ
และสีขาว สวยจริงๆ องค์ที่ใหญ่ที่สุดเกือบเท่าเม็ดถั่วเขียว ทั้งหมดหลวงพ่อถวาย