๓. ขอให้ได้ของดีเลิศประเสริฐยิ่ง นั่นคือ พระนิพพาน...
รอยพระพุทธบาทกลางดง จ.นครราชสีมา
เริ่มพิธีบวงสรวงบายศรี ณ รอยพระพุทธบาทกลางดง เป็นแห่งแรก
ตอนเช้าของวันนั้น ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ครบ ๑ ปีแล้ว สำหรับผู้ที่เคยร่วมเดินทางไปด้วย
คงจะหวลระลึกนึกถึงบรรยากาศในขณะนั้นได้ เป็นอย่างดีว่า ตามแผนการที่วางไว้นี้ ได้ประกาศ ให้ทราบทั่วถึงกัน เพื่อทุกคนจะได้เตรียมปฏิบัติ
ตามข้อกติกาที่ตกลงไว้นี้
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะวางแผนไว้ เป็นอย่างดีแล้ว หลังจากทานข้าวต้มเช้า ณ วัดมิตรภาพ
พวกเราก็ได้ร่วมกันทำบุญ รวมเป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ บาท แล้วทั้ง ๓๐๐ ชีวิตก็เริ่มเดินทาง
ไปยังจุดแรก คือ รอยพระพุทธบาท ณ กลางดงจ.นครราชสีมา จึงมีรถตู้หลายคันต้องผจญกับ อุปสรรค
นั่นก็คือถนนทางเข้ามีสภาพขรุขระ ทั้งที่ คณะหมอยิ้ม ปรับปรุงไว้บ้างแล้ว
เพราะฉะนั้น รายการทำบุญหลังจากพิธี บวงสรวงแล้ว พวกเราจึงร่วมกันสมทบทุนเป็น จำนวนเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าทำถนนให้ มีสภาพดีกว่านี้
ส่วนพระพุทธรูปปางคันธาระ ขนาดหน้าตัก ๓๐ นิ้ว ที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ไว้ใต้ต้นไม้ใกล้รอยพระพุทธบาทนั้น มีมูลค่า ๑๖,๕๐๐ บาท เมื่อรวมกับเงินค่าทำถนน
เป็นเงิน ๔๓,๕๐๐ บาท
ส่วนเรื่องการพบรอยพระพุทธบาทนั้น ได้ค้นพบโดย หมอยิ้ม เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๙ ซึ่งตรงกับ
ปีกาญจนาภิเษก พอดี ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่คณะศิษย์หลวงพ่อฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสทำพิธีสมโภชรอย
พระพุทธบาท แต่ต้องรอเวลาเกือบ ๒ ปี กว่าจะ ได้ไปกัน เพราะตอนแรกสภาพถนนยังแย่กว่านี้ เมื่อคณะพวกเราร่วมกันทำบุญกลับมาแล้ว ต่อมา หมอยิ้ม ได้มาบอกว่าได้ทำถนนให้มีสภาพ ดีกว่าเดิมแล้ว
เมื่อออกจากที่นั้นแล้ว จึงได้เดินทางต่อไปที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีพี่ชายของ ซ้ง (อชิระ) และ
ปุ้ย (ชวการ) พร้อมกับ คุณชุมพล
เวสสบุตรทำงานอยู่โรงไฟฟ้าน้ำพอง เป็นผู้ประสานงานกับทางวัด แต่กว่าจะไปถึงที่นั่นคือ
ศูนย์ปฏิบัติธรรมสาขาของหลวงพ่อจรัล ก็เป็นเวลา ๑๔.๐๐ น. เศษแล้ว หลังจากทานอาหาร กลางวันกันแล้ว ก่อนจะออกเดินทางต่อไป พวก
เราก็ได้ถวายผ้าป่า เป็นเงิน ๑๖,๗๕๐ บาท
ครั้นออกมาจากขอนแก่นแล้วก็เดินทางผ่านเขื่อนอุบลรัตน์ โดยมีรถของเจ้าหน้าที่ทำบาย ศรีและจัดสถานที่ล่วงหน้าไปก่อน ขณะที่จะถึงจุด หมายปลายทาง
เจ้าหน้าที่ของเราก็ได้ยืนบอกทาง อยู่ข้างถนน เพื่อป้องกันมิให้รถคันอื่นๆ วิ่งเลยไป
รอยพระพุทธบาท หนองบัวลำภู
เวลา ๑๖.๐๐ น. เศษ ขบวนรถทั้งหมดก็ได้มาถึง รอยพระพุทธบาท ณ หนองบัวลำภู
ซึ่งอยู่ท่ามกลางป่าเขาเช่นเดียวกับรอยพระพุทธบาท ณ กลางดง ซึ่งมีสภาพอยู่เดิมๆ ไม่มีการตกแต่งแต่อย่างใด ยังรักษารอยพระพุทธบาทให้เห็นเป็นธรรมชาติ
ดูแล้วทำให้เกิดธรรมปีติเป็นอย่างยิ่ง
พวกเราทุกคนก็เช่นเดียวกัน ย่อมยังความปลาบปลื้มใจที่ได้พบเห็น จึงช่วยกันจัดทำบายศรี เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาอันสูงค่า พร้อม
ทั้งร่วมกันบริจาคเงินแก่สำนักสงฆ์แห่งนี้ เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท อีกทั้งเครื่องไทยทานทั้งหลาย อันมี
พระพุทธรูป ตาลปัตร ผ้าห่ม ผ้าปูนั่ง เป็นต้น โดย มี คณะลูกสัมพเกษี เป็นผู้จัดนำไปถวายทุกแห่ง
เมื่อทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาแล้ว จึงได้ เดินทางไปค้างคืนที่ วัดป่าดอนหายโศก จ.อุดรธานี
หลังจากทานอาหารค่ำกันแล้ว จึงได้ร่วมทำบุญกับท่านเจ้าอาวาส เป็นเงิน ๓๐,๑๐๐ บาท พอตอนเช้าทานข้าวต้มแล้ว
ก็ออกเดินทางต่อไปที่ วัดพระพุทธบาทแม่แส อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ทำบุญ ๑๐,๐๐๐ บาท
แล้วจึงออกเดินทางไป จังหวัดหนองคาย
ประวัติพระธาตุบังพวน
ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า การเดินทางไปภาคอีสานครั้งที่ ๒ นี้
ถือว่าเป็นการมาสืบต่อจากครั้งที่แล้วเมื่อปี ๒๕๓๘ จึงขอย้อนเล่าเรื่อง การเดินทางไปที่ วัดพระธาตุพนม
แล้วได้เล่าถึง ประวัติการสร้างว่า เป็นที่บรรจุ พระอุรังคธาตุ
คือพระบรมสารีริกธาตุส่วนยอดอก ๘ องค์ ที่ พระมหากัสสป เป็นผู้อัญเชิญมาหลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว
โดยมีเจ้าพระยา ทั้ง ๕ เป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๘
ในตำนาน อุรังคธาตุ นั้น ยังได้กล่าวถึงพระอรหันต์ ๕ องค์ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุหัวเหน่า จำนวน ๒๙ องค์
มาประดิษฐานไว้ ณภูเขาลวง คือที่ วัดพระธาตุบังพวน นี้ เมื่อ
พ.ศ. ๑๙ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทราบว่านอกจากพระธาตุ พนม จ.นครพนม และพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนครแล้ว ก็ยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
ควรที่จะมาทำพิธีสักการบูชาให้ครบถ้วน เพราะมี ประวัติเกี่ยวเนื่องถึงกัน แต่ครั้งนั้นไม่สามารถ จะมาได้ต้องรอเวลาถึง ๓ ปี
จึงจะมีโอกาสเดินทางมาครั้งนี้ได้
เพื่อให้พวกเราทุกคนได้ทราบว่า พระธาตุบังพวนแห่งนี้ เป็นพุทธสถานที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทย ร่วมสมัยเดียวกับพระธาตุพนม
นับเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อันเป็น ศักดิ์เป็นศรีที่น่าภาคภูมิใจของชาวจังหวัดหนองคายมาช้านาน
สถานที่นี้นอกจากจะเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุหัวเหน่าแล้ว เมื่อสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จ พระพิชิตมารบรมศาสดาก็ได้เคยเสด็จมายัง ณ สถานที่นี้
ตามโบราณพุทธประเพณีแห่งพระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระพุทธกกุสันโธ พระพุทธโกนาคม และ
พระพุทธกัสสป แล้ว ทรงทราบด้วยพระพุทธญาณว่า พระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้น ได้นำเอาพระ
บรมธาตุของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ไปประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุพนม หลังจากถวายพระเพลิงแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์ จึงได้เสด็จมาทางอากาศลงประทับที่ เวียงจันทน์
คือที่ ริมหนองคันแทเสื้อน้ำ (บัดนี้คือ พระธาตุหลวง
นครเวียงจันทน์) แล้วเสด็จมาเมืองหนองคายที่ โพนจิกเวียงงัว ณ ที่นั้นมีพญานาคชื่อว่า ปัพพาละ เพราะเหตุที่ประดับสังวาลย์คอด้วยแก้วประพาฬ จึงได้เนรมิตเป็น ตาผ้าขาว เข้ามารับ
บาตรและอาราธนาพระพุทธเจ้ามา ณ ภูเขาลวง คือพระธาตุบังพวนนี้ เพื่อถวายภัตตาหารแด่ พระองค์
ภายใต้ร่มไม้ป่าแป้ง (ต้นโพธิ์)
ครั้นทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงประทานผ้ากัมพลผืนหนึ่งแก่พญาปัพพาลนาคราช แล้วเสด็จไปประทับรอยพระบาทที่ "โพนฉัน
เวียงจันทน์ และ เวินปลา จ. นครพนม จากนั้นจึงได้เสด็จไปที่ พระธาตุพนม จ.นครพนม, พระธาตุอิงรัง สุวรรณเขต, พระธาตุเชิงชุม สกลนคร แล้วก็เสด็จกลับสู่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี
ครั้นถึง พ.ศ.๘ พระมหากัสสป ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ ณ พระธาตุ พนม
แล้วจึงเดินทางกลับสู่กรุงราชคฤห์ ในกาล เวลาต่อมา ท่านจึงได้มอบหมายให้ศิษย์ที่เป็น พระอรหันต์ ๓ องค์ คือ พระพุทธรักขิต
พระธรรมรักขิต และ พระสังฆรักขิต มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองหนองคาย
โดยได้มาตั้งสำนักสงฆ์ที่บ้านหนองกก อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
แล้วได้สอนธรรมปฏิบัติอยู่ที่นั้น จนได้ศิษย์อีก ๕ องค์เป็นพระอรหันต์ คือ พระมหารัตนะ กับ พระจุลรัตนะ ราชบุตรของพระยาจุลอินทปัตถ์ พระมหาสุวรรณปราสาท กับ
พระจุลสุวรรณปราสาท ราชบุตรของพระยาปุตตจุลณี พรหมทัต พระสังขวิชา ราชบุตรพระเจ้าสุริยวงศา
รวมความว่า พระอรหันต์ทั้ง ๕ องค์นั้น ความจริงก็คือพระราชนัดดา คือเป็นหลานของพระยาทั้ง ๕ ซึ่งเป็นผู้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนม
แล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้กลับมาบวชเป็นพระภิกษุ เพื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา ผลที่สุดด้วยอานิสงส์นั้น
ก็ได้กลับมาเกิดเป็นบุตรของลูกตัวเอง และได้ออกบวชตั้งแต่เป็นสามเณร จนสามารถจบกิจขั้นสูงสุด หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว
ต่อมาพระอาจารย์ทั้ง ๓ และศิษย์ทั้ง ๕ รวมเป็นพระอรหันต์ ๘ องค์ ได้เดินทางไปกรุง ราชคฤห์ เพื่อไปขอรับพระบรมสารีริกธาตุจากพระมหากัสสป
ครั้นได้พระบรมสารีริกธาตุจากพระมหาเถระแล้ว พระอาจารย์ทั้ง ๓ จึงได้ มอบหมายให้ศิษย์ทั้ง ๕ องค์นั้น นำมาประดิษฐานไว้ ณ ร่มไม้ป่าแป้ง
คือใต้ต้นโพธิ์บนภูเขาลวง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับฉันภัตตาหารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน
ครั้งนั้น พระยาจันทบุรี เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ได้ทรงทราบว่า มีพระอรหันต์ได้อัญ
เชิญพระบรมสารีริกธาตุมา จึงเสด็จมาพร้อมกับ พระมเหสีทั้ง ๓ คือ พระนางอินทสว่างรัตนเกศี พระนางมงคลทปาลัง
และ พระนางมงคลกตัญญู พร้อมทั้งข้าราชบริพารและประชาราษฎร์ทั้งหลาย เพื่อกระทำสักการบูชาพระบรมธาตุ
จึงได้รับสั่งให้หล่อเป็นรูปสิงห์ทอง ๔ ตัว หนักตัวละ ๑ หมื่นตำลึง แล้วให้นำสิงห์ทอง ๔ ตัวนั้นมารวมผินหลังกันเข้าหันหน้าออกตัวละทิศ แล้วเอาทองคำหนัก
๒ หมื่นตำลึงมาหล่อเป็นอูบ รูปเจดีย์แล้วประดับด้วยแก้ว ในขณะนั้น พระ อรหันต์ทั้ง ๕ องค์ จึงพร้อมกันอธิษฐานว่า
หากว่าพระบรมธาตุจะสถิตประดิษฐาน อยู่ที่ภูเขาลวงนี้ตลอด ๕ พันปี ขอแผ่นปฐพีนี้ จงแยกออกเป็นหลุมลึก ๘ วา กว้างด้านละ
๑๐ วา ทั้ง ๔ ด้านนั้นเถิด..
ทันใดนั้น ด้วยอำนาจแห่งการตั้งสัจจาธิษฐาน แผ่นดินก็แยกออกทันที พระยาจันทบุรีจึงตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ก่ออุโมงค์ด้วยหิน แต่หินที่ก่อนั้นไม่พอ
ขณะนั้น พญาปัพพาลนาคราช ได้จำแลงเพศเป็นชีปะขาวถือไม้วัด ซึ่งยาวเท่าตัวนาคเดินเข้ามาบอกว่า
หินของเรากองไว้มากมายทางด้านทิศตะวันตก พวกท่านจงไปเอามาก่อให้เสร็จเถิด พวกท่านจงเอาไม้วัดนี้ วัดไปได้ถึง ๑,๐๐๐ ช่วง ของไม้อันนี้
ก็จะพบกองหินนั้น...
คนทั้งหลายบอกว่า ไม้วัดอันนี้ยาวนัก เราไม่ไปเอาดอก ชีปะขาวจึงทำให้ไม้นั้นสั้น ลงมาเหลือแค่ ๒ วา แล้วก็หายไปต่อหน้า โดยทิ้งไม้วัดเอาไว้
คนเหล่านั้นเห็นเป็นอัศจรรย์ พระอรหันต์จึงได้บอกว่า "ชีปะขาว" คือ พญาปัพพาลนาคราช
อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาลวงนี้แหละ เขามาช่วยเราแล้ว จึงให้คนเหล่านั้น นำไม้มาวัดตามที่ชีปะขาวแนะนำก็ได้พบหินแค่ ๓ ก้อน
ครั้นพากันหามมาทั้ง ๓ ก้อน หินก็มีเพิ่มมาอีก ๖ ก้อน จะนำมาเท่าไรก็ไม่รู้จักหมดสิ้น ในที่สุดการก่อสร้างอุโมงค์ก็สำเร็จ
พระยาจันทบุรีจึงได้ตรัสสั่งให้เอาแผ่นเงิน ๓ แผ่นปูรองพื้น เอาแผ่นทองคำปูทับอีก ๓ แผ่น แล้วเอาสิงห์ทอง ๔ ตัว ตั้งไว้บนแผ่นทองคำหันหน้าไป ทั้ง ๔ ทิศ
เอาอูปทองคำรูปเจดีย์ตั้งบนหลังสิงห์
แล้วบรรจุสิ่งของมีค่าไว้อีกมากมาย เพื่อบูชาพระบรมธาตุ ส่วนหัวเหน่า ๒๙ องค์ ซึ่งได้ บรรจุไว้ในขวดไม้จันทน์ ๑๐ องค์ บรรจุในขวด แก้วผลึก ๑๐ องค์
และบรรจุในผอบทองคำ ๓ ตลับๆ ละ ๓ องค์ แล้วเอาหินก้อนใหญ่ปิดปาก อุโมงค์ กลบดินเสมอระดับดินเดิม การก่อสร้างทั้งหมดจึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๑๙
สมัยต่อมา พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง พระองค์ทรงมีความ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ทรงตั้งมโนปณิธานขอเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในภายภาคหน้า จึงได้เสด็จมาสร้างพระเจดีย์ครอบอุโมงค์ไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๙ แล้วตั้งชื่อพระเจดีย์นี้ว่า
พระธาตุบังพวน แล้วได้มอบหมายให้มีผู้ดูแลสถาน ที่นี้นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งถึง วันเสาร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๑๓ เวลา ๐๔.๓๐ น. องค์พระธาตุก็หักพังทลายลงมา
กรมศิลปากรได้เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์ จนถึงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๒๐ สมเด็จพระสังฆราช (วัดราชบพิตร)
ได้เสด็จมาบรรจุพระอุรังคธาตุองค์ใหม่ เพิ่มไว้ในพระเจดีย์ ตอนบน
ครั้นถึงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ฯ
ได้เสด็จมายกฉัตรสู่ยอดพระเจดีย์ อันมีพระเถรานุเถระ พร้อมด้วยข้าราชการ และบรรดาประชาชนทั้งหลาย เดินทางมาร่วมงานครั้งนี้กันอย่างมากมาย
เป็นอันว่า พระเจดีย์องค์นี้ ได้เป็นศรีสง่า แห่งแว่นแคว้นมานานนับพันปี ควรที่พวกเราจะได้พากันกราบไหว้ด้วยความเคารพ โดยการจัดเครื่องบายศรีบวงสรวง
เพื่อเป็นการสักการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย อันมีพระอรหันต์ทั้ง
๕ ที่ได้เป็นผู้อัญเชิญพระบรมธาตุส่วนนี้มา
พร้อมด้วยผู้ร่วมสร้างทั้งหลาย นับตั้งแต่ ต้นจนกระทั่งปัจจุบันนี้ อันมีพระยาจันทบุรี เป็นต้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เทพพรหมทั้งหมด
รวมทั้งผู้ที่ปกปักรักษาอาณาเขตนี้ ซึ่งมีพญาปัพพาลนาคราช เป็นต้น ขอได้โปรดเสด็จมาเป็นสักขีพยาน ณ สถานที่นี้
เพื่อทรงพระมหากรุณาสงเคราะห์บรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ที่ได้เดินทางมาในครั้งนี้ และผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนภาคอีสานตอนกลางนี้
ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล และเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ และ พละ
คือขอให้มีอายุครบอายุขัย ไม่ตายด้วยอุปัทวันตรายทั้งปวง วรรณะ ขอให้สุขภาพแข็งแรง มีผิวพรรณผ่องใส
สุขะ คือขอให้มี ความสุขทั้งโลกียทรัพย์ และโลกุตรทรัพย์ พละ
คือขอให้มีกำลังกายและกำลังใจ สามารถฝ่า ฟันอุปสรรคอันตรายไปได้ จวบจนกระทั่งข้ามถึงฝั่งแห่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้เถิด
อนึ่ง โลกจะถึงภัยพิบัติด้วยธรรมชาติก็ดี หรือภัยจากอาวุธร้ายแรงก็ดี ขอให้ผู้มีศีลธรรมทั้งหลาย จงปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ เหล่านั้น
ขอให้พุทธศาสนาจงรุ่งเรือง ขอให้ชาติจงพ้นภัยจากผู้ไม่หวังดี และขอให้สถาบันพระมหากษัตริย์ จงวัฒนาถาวรตลอดกาลนานเทอญ ฯ
ครั้นได้ร่วมกันอธิษฐานดังนี้แล้ว ผู้ร่วมพิธีกรรมทุกท่าน ต่างก็สงบจิตสงบใจไปตามกระแสเสียงของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ตามที่ท่านได้กล่าวชุมนุมเทวดา
เพราะรู้ถึงความสำคัญของสถานที่นี้ ตามที่ได้เล่าประวัติความเป็นมาทุกคน จึงบูชาสักการะด้วยความเคารพ
เพราะถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย
ฉะนั้น ไม่ว่าสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ประดิษฐานอยู่ ณ ที่ไหนของประเทศไทย คณะตามรอย พระพุทธบาท
จึงได้เดินทางไปกราบไหว้บูชา เพื่อขอความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเหล่านั้น ได้โปรด คุ้มครองป้องกันภัย ให้คนดีมีศีลธรรมทั้งหลาย ได้ช่วยกันรักษาชาติ
พุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้จรรโลงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป
หลังจากพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว ทางวัดก็ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ณ ภายใต้ร่มไม้ พวกเราต่างก็ทานด้วยความเอร็ดอร่อย พอจะมีเรี่ยวแรงต่อไป
จึงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์และสิ่งของไว้ในพระพุทธศาสนา เป็นเงิน ๓๒,๕๐๐ บาท
แล้วขบวนรถเกือบ ๔๐ คัน ก็เริ่มเดินทางไป อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ตรงไปยังที่ รอยพระพุทธบาทหลังเต่า
ที่อยู่กลางป่าภูพาน ซึ่งจะ ต้องให้สามเณรนำทางไป ใช้เวลาเดินเท้าประ มาณเกือบ ๑ ชั่วโมง เดิมคิดว่าคงจะไปกันไม่มาก
เพราะเห็นมีผู้สูงวัยหลายคน แต่ผลที่สุด ก็ไปได้หมดทุกคน
รอยพระพุทธบาทหลังเต่า จ.อุดรธานี
เมื่อทุกคนเดินเข้าไปถึง ได้เห็นสภาพ เดิมๆ ตามธรรมชาติแล้วก็ปลาบปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง
ลืมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าลงไปสิ้น จึงได้ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณรอยพระพุทธบาท เหมือนกับได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ เช่นเดียวกับพระอานนท์ฉะนั้น
มองดูแต่ละคนแล้ว ถึงแม้บางคนจะ แสดงอาการอ่อนล้า เพราะอากาศร้อน ด้วยการ นำพัดออกมาช่วยบรรเทา แต่ทุกคนก็มีใบหน้า ยิ้มแย้มสดชื่น แสดงถึงความเข้มแข็ง
ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทุกคนมีความภูมิใจที่ ได้เดินเท้าเข้ามาในป่า ซึ่งยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เพราะเป็นสถานที่สงวนพันธุ์สัตว์ป่า
จึงเหมือนกับได้ออกมาปฏิบัติ ธุดงค์ เพื่อถวายเป็น พุทธบูชา
ไปด้วย
หลังจากได้กราบไหว้บูชาเป็นที่เอิบอิ่มใจแล้ว ทุกคนก็ได้สัมผัสกับรอยพระพุทธบาทด้วยตนเอง คือฝ่ามือทั้งสองข้างและหน้าผากของทุกคน
ที่ได้หมอบกราบอย่างสุดชีวิตและจิตใจ ด้วยเศียรเกล้าของข้าพระบาททั้งหลาย ที่ได้ซบลงไปแทบฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์ เหมือนกับพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
ในขณะ ที่ทรงยื่นฝ่าพระบาทให้พวกข้าพระพุทธเจ้าได้กราบไหว้บูชา
ฉะนั้น แม้พระองค์จะได้เสด็จไป ณ แห่งหนตำบลใดในแว่นแคว้นสุวรรณภูมินี้ ใน ชีวิตนี้ หลังกึ่งพุทธกาล ข้าพระบาททั้งหลาย
ผู้เป็นเผ่าพงศ์แห่งวงศ์ศากยะของพระองค์ ก็ ได้อุตส่าห์บากบั่น ยอมสละความสุขทุกอย่าง ในโลกนี้ เพื่อขอยกย่องเชิดชูรอยพระพุทธบาท ของพระองค์
ที่ได้ทรงสถิตไว้ในชมพูทวีป ได้ ปรากฏแก่ชาวโลก เพื่อค้ำจุนชาวพุทธทั้งหลายตลอดพุทธันดรนี้เทอญ
แต่ละคนจะอธิษฐานตามนี้หรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงเวลาก็ต้องเดินทางกลับมายังที่เดิม เพื่อ ส่งสามเณรที่ช่วยนำทางให้ คือ วัดป่าบ้านใหม่ แล้วได้ถวายปัจจัยให้แก่พระภิกษุสามเณรทั้ง หลาย จำนวนเงิน ๕,๐๐๐
บาท จุดหมาย ปลายทางต่อไป คือ วัดพุทธบาทบัวบก ซึ่งจะต้องไปทานอาหารเย็นและค้างคืนที่นั่น
โดยมี คุณลดาวัลย์ พรรณวิเชียร เป็นผู้ประสานงาน
พระเจดีย์พุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี
เมื่อถึงที่พักและรับประทานอาหารเย็นกันแล้ว พวกเราก็ช่วยกันจัดสถานที่ พร้อม
กับจัดบายศรีไว้ด้านหน้าพระเจดีย์ที่ครอบรอยพระพุทธบาทบัวบก ในขณะที่จะนั่งลงไปบน เก้าอี้ เพื่อเล่าประวัติพระพุทธบาทบัวบกนั้น
พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นขอบฟ้าทาง ด้านทิศตะวันออก มีลำแสงค่อย ๆ พุ่งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า ในขณะนั้นเป็นเวลาเย็น ประมาณ ๑๘.๓๐ น. พระอาทิตย์เริ่มตกดินแล้ว
แต่ก็ยังไม่มืด ผู้เขียนจึงได้เล่าประวัติไปพลางว่า...
ตามที่ได้เล่าประวัติไว้ที่ วัดพระธาตุบังพวน ว่าดินแดนภาคอีสานนี้ ณ อาณาจักรศรีโคตรบูร
ได้เป็นสถานที่องค์สมเด็จพระชินสีห์เคยเสด็จมาขณะยังทรงพระชนม์อยู่ นับตั้งแต่พระธาตุพนมแล้วได้มาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ พระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร
สมัยนั้นเรียกว่า เมืองหนองหารหลวง อันมี พระยาสุวรรณภิงคาร
เป็นผู้ครองเมือง ส่วนพระอนุชามีนามว่า พระยาคำแดง ได้เสด็จไปครอง เมืองหนองหารน้อย ปัจจุบันนี้อยู่ ในเขต อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
ฉะนั้น เมืองทั้งสองนี้ จึงเหมือนกับเป็นเมืองพี่เมืองน้อง พระธาตุเชิงชุม เป็นโบราณ
สถานที่สำคัญของสกลนครอย่างไร.. พระพุทธบาทบัวบก ก็เป็นโบราณสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของชาวอุดรธานีเช่นกัน
นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่เคารพบูชาของชาวอุดรธานีมานาน นักโบราณคดีคือ รศ.ศรีศักร
วัลลิโภดม ได้สันนิษฐานไว้ในหนังสือ อีสานแอ่งอารยธรรม ว่า
ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวถึงแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขาภูพานนี้ว่า เป็นที่อยู่ของพญานาค ชื่อ สุวรรณนาคราช
และ พุทโธปาปนาคราช ซึ่งแต่เดิมหนีจาก หนองแส
(ตาลีฟู) มาตามลำน้ำโขง แล้วมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้
ต่อมาเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้มาประทับรอยพระพุทธบาท ณ พระธาตุเชิงชุม
แล้วจึงได้เสด็จกลับคืนมาประทับที่ ภูกูเวียน ทรงเปล่งรัศมีให้เข้าไปในเมืองนาคปู่เวียน ขณะ นั้น
สุวรรณนาคราช ได้เห็นพระรัศมี จึงออก มาจากแม่น้ำขึ้นไปสู่บนยอดเขา แล้วพ่นพิษ ออกมาเป็นควัน
เขาลูกนั้นก็มืดมัวไปทั้งสิ้น
ภาพปรากฏการณ์ลำแสงพุ่งสู่ท้องฟ้า ณ พระพุทธบาทบัวบก จ.อุดรธานี
พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตเป็นเปลวไฟ ทำให้สุวรรณนาคราชกระเด็นไปในน้ำปู่เวียน เปลวไฟได้ผุดแต่พื้นน้ำขึ้นมาไหม้เมืองนาค ตลอดไปถึงหนองบัวบาน
ซึ่งเป็นที่อยู่ของ พุทโธปาปนาคราช นาคทั้งหลายมาล้อมภูกูเวียนนั้นไว้ แล้วพ่นเปลวไฟขึ้นไปหาพระพุทธองค์
แต่เปลวไฟนั้นก็พุ่งกลับคืนมาไหม้นาคทั้งหลาย แล้วกลับไปบังเกิดเป็นดอกบัวบูชาพระตถาคตเป็นที่อัศจรรย์ จากนั้นจึงทรงสั่งสอนหมู่ นาคเหล่านั้น
ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ตลอดไป
และใน ตำนานพระพุทธบาทภูควายเงิน เล่าว่า สถานที่นี้เป็นที่อยู่ของ มลินทนาคราช ผู้เป็นน้องของ พุทโธปาปนาคราช คือหลังจากที่
ตนเองเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ขอให้ พระพุทธเจ้าไปโปรดน้องด้วย ต่อมามลินทนาค ราชได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว มีความปรารถนาจะ บวช แต่พระพุทธเจ้าตรัสห้ามไว้
แล้วได้ประทาน รอยพระพุทธบาทลงบนแผ่นหินภูเขาบัวบก มีบาลีว่า
มลินทะนาคราชา ยะจิตโต โคตมะ พุทธเชษฐัง ปาทะวะรัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
ย้อนมา ตำนานอุรังคธาตุ ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า พญานาคเหล่านี้เป็นผู้รักษาเมืองพาน ต่อมาเมื่อ
พระบารถ มายุ่งเกี่ยวกับ นางอุษา
ซึ่งเป็นราชธิดาของเจ้าเมืองพาน พญานาคก็ช่วยเจ้าเมืองพานจับพระบารถมัดไว้ แต่พระกิดนารายณ์ก็มาช่วยไว้ได้
ปัจจุบันชาวบ้านเรียกบริเวณตอนหนึ่งของเทือกเขานี้ว่า เมืองพาน มีโขดหินที่เรียกว่า หอนางอุษา - คอกม้าพระ บารถ ดังที่พวกเราบางคนได้เดินไปชมมาแล้ว และเรียกเขาภูพานลูกหนึ่งว่า ภูกูเวียน
ส่วนคำว่า บัวบก เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดตามป่า มีหัวและใบคล้ายใบบัว
ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ผักหนอก บัวบกนี้ คงจะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท หรือคำว่า
บัวบก อาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง ก็ได้
สำหรับมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ พระอาจารย์ศรีทัต ได้รื้อมณฑปเก่าเดิม ออก
แล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้าง รอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธ บาทเดิมไว้ภายใน องค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ วันขึ้น ๑๓ ถึง ๑๕
ค่ำ เดือน ๓ จะมีงานนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี ในปัจจุบันนี้มี ท่านพระครูพุทธบทบริรักษ์
เป็นเจ้าอาวาส
ตามประวัติพระธาตุพนมเล่าต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระศาสดาประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ อุดรธานีแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปทางหลวงพระ บาง และเสด็จไปสู่
ดอยนันทกังรี ซึ่งเป็นที่อยู่ ของนางนันทยักษ์ แล้วจึงเสด็จกลับกรุงสาวัตถี
(ข้อความต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนจะได้เล่าต่อไป เป็นเรื่องที่เล่าผิดพลาดไป เพราะหลังจากนั้นอีก ๗ วันต่อมา
ผู้เขียนได้เดินทางไปที่ประเทศลาว จึงได้ทราบว่าเรื่องที่เล่าไว้ที่วัดพระบาทบัวบกในตอนนั้น เป็นเรื่องประวัติของ วัดพระธาตุจอมศรี
(พระธาตุพูสี) ซึ่งอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง)