.....เริ่มต้นของเช้าวันที่ ๒๓ ต.ค. ๔๑ พวกเรานัดพบกันที่หน้าร้านครัวชัยนาท จำนวนรถตู้, รถเก๋ง,
รถกระบะ รวม ๓๐ คัน เมื่อพร้อมกันแล้ว จึงออกเดินทางไปตาคลีที่ ถ้ำเขาภูคา
ระหว่างนั้นมีละอองฝนลงมาเล็กน้อย
...ครั้นถึงวัดแล้ว จึงได้ไปรวมกันที่ศาลา การเปรียญ แล้วช่วยกันนำสิ่งของที่จะถวาย เมื่อ ได้ทราบจากเจ้าอาวาสว่า จะทอดกฐินวันที่ ๒๕ นี้
พวกเราจึงถวายผ้าไตรจีวรไว้ทอดกฐิน แล้ว ได้ถวาย พระเนตร ซึ่งทำด้วยนิลแท้จากเมือง กาญจน์โดย คุณบอลลูน เป็นผู้จัดทำ มี คุณรัตนา เจ้าของโรงงานทำร่มลีโอเป็นเจ้าภาพ
พร้อมด้วยคณะศิษย์ทั้งหลายร่วมกันสมทบทุน
...ต่อจากนั้น จึงได้ขึ้นไปบนถ้ำ ซึ่งเจ้าอาวาสได้สร้าง พระพุทธรูปนอน ๙ ศอก ค้างไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้
ผู้เขียนได้ขอรับทำพระเนตรมาถวาย เมื่อทำเสร็จแล้วจึงได้นำมาถวายในครั้งนี้
....สำหรับถ้ำเขาภูคานี้ ผู้เขียนเคยเดินทางมาทอดผ้าป่าตั้งแต่สมัยยังเป็นฆราวาสอยู่ เมื่อปี ๒๕๑๙ เนื่องจากเคยเป็นสถานที่ปฏิบัติ ธรรมของ หลวงปู่สงฆ์ และ หลวงปู่บุดดา มาก่อน
ปัจจุบันนี้ทางวัดจึงได้ปั้นรูปของท่านไว้ ตรงที่หลวงปู่ทั้งสองเคยนั่งกรรมฐาน
เจ้าอาวาสเล่าว่า เขาลูกนี้ในปลายสมัย รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริจะสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ - นครสวรรค์
แต่ระเบิดเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ ความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงเห็นเป็นเรื่องแปลก จึงสั่งให้ยุติไม่ให้ทำ ลายเขาลูกนี้ แล้วพระราชทานนามว่า
เขาภูคา แปลว่า ภูเขาอันเป็นโภคสมบัติของแผ่นดิน
สถานที่นี้เป็นที่สงัดและวิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา จึงเป็นที่จาริกของพระธุดงค์ สมัยก่อน เช่น หลวงปู่โต, หลวงปู่มั่น,
หลวง ปู่ฝั้น, หลวงปู่สงฆ์, หลวงปู่บุดดา, หลวงปู่ สิม, หลวงพ่อโอภาสี, หลวงพ่อเดิม เป็นต้น
ก่อนที่จะพบรอยพระพุทธบาท ชาวบ้านจะเห็นแสงสว่างขึ้นบริเวณนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไร จึงได้ถามพระธุดงค์องค์หนึ่ง ท่านว่าสงสัยจะมีรอยพระพุทธบาท
ต่อมาได้มีพระธุดงค์มาจากสุพรรณบุรี ได้ทราบเรื่องและให้ชาวบ้านชี้ ตำแหน่งที่เห็นแสงสว่าง แล้วออกค้นหาแต่ก็ไม่พบ
ครั้นอิ่มหนำสำราญบานใจ แล้วจึงได้กราบลาเจ้าอาวาสและญาติโยมทั้งหลาย เพื่อเดินทางต่อไป ณ
รอยพระพุทธบาทไพศาลี จ.นครสวรรค์ โดย คณะลูกสัมพเกษี ได้นำ
รอยพระพุทธบาทจำลองไปถวาย พร้อมกับเงินทำบุญของพวกเราอีก ๑๐,๕๐๐ บาท
...การเดินทางมาคราวนี้ เป็นการมาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนำคนที่มิได้มาคราวที่แล้ว มากราบไหว้ให้ครบถ้วน แล้วก็นำบายศรีมาบูชาอีกเช่นเคย
เสร็จพิธีแล้วจึงเดินทางต่อไป ที่เขาเหล็ก เพื่อขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาท ซึ่งผู้เขียนได้เดินทางมาคราวที่แล้ว แล้วมีพระ อาทิตย์ทรงกลด
จึงต้องนำคณะมาอีกครั้งหนึ่ง
...แต่มาครั้งนี้มีคนมากเกือบ ๓๐๐ คน จึงต้องให้รถขึ้นไปส่งบ้าง และที่เดินขึ้นก็มีหลาย คน กว่าจะเสร็จพิธีก็มืดค่ำพอดี ต้องเดินคลำ ทางลงมา
แต่อาศัยเจ้าหน้าที่ช่วยกันประคอง จึงทำให้กราบไหว้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ฉะนั้น กว่าจะเดินทางไปถึงที่พัก คือ ที่ วัดเพชรวนาราม จ.เพชรบูรณ์ เวลาเกือบ ๓ ทุ่มไปแล้ว
โดยมีคณะศิษย์หลวงพ่อรอ ต้อนรับอยู่นานแล้ว คือ คุณพิทยา - สุวภา นิยมไทย พร้อมทั้งชาวเพชรบูรณ์มี
คุณสุจิต เป็นผู้ประสานงาน ร่วมกันติดต่อที่พัก และจัด เลี้ยงอาหารค่ำ และอาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น พร้อม
ทั้งแจกข้าวกล่องเป็นอาหารกลางวันในรถอีกด้วย
วันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไป ก็ได้ทำบุญกับท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ จำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อร่วมทอดกฐินกับวัดที่ท่านอุปถัมภ์อยู่ ๒ วัด แล้วจึงเดินทางต่อไป ณ รอยพระพุทธบาทหินลาด อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ได้ทำบายศรีบวงสรวงแล้ว จึงถวายเงินเพื่อสร้างศาลา ๒๔,๑๐๐ บาท
...วันนี้เป็นวันที่ ๒๔ ต.ค. ๔๑ นับเป็นวัน ที่สองของการเดินทาง จุดต่อไปก็เดินทางย้อนกลับไปที่ วัดพระธาตุขามแก่น จ.ขอนแก่น ได้เล่าประวัติตามที่เคยลงธัมมวิโมกข์ไปแล้ว ว่าเป็นสถานที่บรรจุ พระอังคารธาตุ (กระดูกผสมเถ้าถ่าน) ของพระพุทธเจ้า ได้ถวายเงินทำบุญไว้ที่นี่ เพื่อร่วมสร้างซุ้มประตูของวัด เป็นเงิน
๑๐,๗๐๐ บาท
พวกเราก็ได้จัดทำพิธีสักการบูชาด้วย บายศรีดอกไม้ ของหอมทั้งหลาย และผ้าห่มพระเจดีย์ พร้อมทั้งฟ้อนรำถวายอีกด้วย
เพื่ออธิษฐานขอท่านช่วยเรื่องอาณาเขตประเทศนี้ แล้วจึงออกเดินทางไปที่วัดพระบาทภูพานคำ เขื่อนอุบลรัตน์
จ.ขอนแก่น
ถึงเวลาประมาณ ๕ โมงเย็นเศษ จึงเดิน ขึ้นบันได ๑,๐๐๐ กว่าขั้น จึงจะถึงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเรามองเห็นข้างล่างแต่ไกล
แต่กว่าจะขึ้นมาถึงก็หมดแรงกัน ไปหลายคน เพราะมีท่านผู้สูงวัยหลายท่านที่ ร่วมเดินทางไปด้วย ส่วนใหญ่เป็น คณะถาวร และ คณะกองทุน ก็มีคุณโยมประดับวงศ์
และ โยมปราโมทย์ เป็นต้น ซึ่งทุกคนมีความอดทนสูง สามารถพิชิตความสูงไว้ได้ด้วยชัยชนะ
ในขณะนั้น เป็นเวลาพระอาทิตย์ใกล้ จะตกดินแล้ว บางคนจึงได้เห็นภาพสวยงาม ตามธรรมชาติ ลมพัดเย็นสบาย
อากาศสดชื่น เพราะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มองไปข้าง หน้าจะเห็นทิวทัศน์สวยงาม คือท้องน้ำและ ขุนเขาไกลสุดสายตา เหลียวกลับมาบางคนกำลังทยอยกันขึ้นมา
แต่ก็น่าเสียดายที่พระอาทิตย์ลับขอบ ฟ้าไปแล้ว จึงย้อนกลับเข้าไปในศาลา ซึ่งเป็นฐานของพระประธานองค์ใหญ่ แล้วจึงเดินกลับ ลงมาทางบันไดเดิม
...สักครู่หนึ่งก็จะเป็นทางแยกไปกราบรอยพระพุทธบาท จะเห็นมณฑปครอบแต่ไกล ชั้นบนภายในจะเป็นพระบาทจำลอง ซึ่งสร้างคร่อมรอยพระพุทธบาทจริงไว้ (ปัจจุบันปี
๒๕๕๓ ทางวัดได้บูรณะใหม่ให้คงเหลือแต่รอยพระพุทธบาทจริงแล้ว)
พวกเราจึงไม่รอช้า ต่างก็พากันมุดเข้าไปใต้ถุน เพื่อกราบไหว้ของจริงกัน โดยมีเจ้าหน้าที่จัดเตรียมบายศรีรออยู่แล้ว ครั้นทำพิธีบวงสรวงเสร็จ
จึงกลับลงมาทานอาหารเย็น และพักค้างคืนที่วัดพระบาทภูพานคำ โดยมี คุณชุมพล เวสสบุตร
เป็นผู้ประสานงานไว้ล่วงหน้า แต่ในวันเดินทางไม่อยู่ เพราะต้องไปต่างประเทศ
สำหรับเครื่องกฐินนั้น คณะลูกสัมพเกษี คือ
คุณหลี และ คุณก๊วยเจ๋ง เป็นผู้จัดนำมา โดยมี คุณแมว (รัศมี) และสามีร่วมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีทั้งผ้าไตรจีวร ผ้าขาว สีย้อมผ้า บาตร กลด มุ้ง อาสนะ ย่าม ไฟ ฉาย
มากมายหลายอย่าง รวมมูลค่าที่นำไป ถวายครั้งนี้ทุกแห่งทั้ง ๓ วัน นับเป็นเงินหลายแสนบาททีเดียว จึงขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
.....ต่อจากนั้น เจ้าอาวาสก็เล่าประวัติโดยย่อว่า ในสมัยก่อนแถบนี้เป็นถิ่นทุรกันดารมาก เป็นที่สัญจรมาพักแรมของพระธุดงค์ทั้งหลาย
จากเทือกเขาดงพญาเย็นมาถึงภูพานคำ แล้วเดินธุดงค์ต่อเรื่อยไปจนถึงฝั่งลาว ในเวลานั้น มีพระอาจารย์บุญพร้อมคณะ ได้เดินทางมาหยุดพักที่นี่
แล้วได้แสวงหาน้ำดื่มและน้ำใช้มาบริโภค ได้แลเห็นเป็นแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง แต่มีต้นไม้เกิดขึ้นและมีน้ำซึมออก มาเรื่อยๆ มีสัตว์ป่ามาอาศัยกินน้ำตรงนั้น
....เมื่อท่านได้เห็นดังนั้น จึงให้ลูกศิษย์โกยเอาดินออก เลยได้เห็นเป็นรอยเท้าคนใหญ่ มาก จึงสันนิษฐานว่าจะต้องเป็นรอยพระพุทธ บาท
ชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันขึ้นมากราบไหว้บูชา ท่านเลยเอาไม้มาทำเสาแล้วมุงหลังคาครอบไว้ และในปีนั้นเองก็ได้มีแสงสว่างเกิดขึ้นในตอน กลางคืน
มีลักษณะเหมือนมีคนจุดไฟ บริเวณ นั้นจะสว่างจ้าอยู่ตลอด ๗ วัน
ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ ต.ค. ๔๑ ผู้เขียนก็ได้เดินขึ้นไปกราบรอยพระบาทอีกครั้งหนึ่ง
แล้วลงมาฉันเช้าเพื่อออกเดินทางล่องลงมาทางจังหวัดชัยภูมิ โดยมีการนัดไว้กับ คุณพึงพิศ, คุณเย็นจิตร, คุณนิยม
คิดบรรจง พร้อมทั้งคณะชาวชัยภูมิ ผู้เป็นศิษยานุศิษย์ ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อมานานแล้ว
ขบวนรถได้วิ่งเรียงตามหมายเลขทั้ง ๓๐ คัน จนเข้ามาถึง วัดพระบาทภูแฝด ในเวลา ๑๐.๐๐ น.
จึงได้เข้าไปทำพิธีบวงสรวงภายใน พระมณฑป พร้อมทั้งเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ในขณะที่เดินทางผ่านชัยภูมิ เวลา นั้นยังไม่รู้จักสถานที่นี้
แต่มีพระอาทิตย์ทรง กลดตลอดเวลา จึงคิดว่าน่าจะเป็นนิมิตหมาย ที่ดี เพราะคำว่า ชัยภูมิ แปลว่า
ผืนแผ่นดินที่มีชัยชนะ ชื่อจังหวัดนี้จึงเป็นมงคลมาก
เนื่องจากจังหวัดนี้ เป็นที่รองรับฝ่าพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์มา แล้ว และยังมีอีกแห่งที่เราจะไป อ.เทพสถิต ซึ่งเป็น พระพุทธบาท ๔
รอยเช่นกับสถานที่นี้ แต่มี ลักษณะแตกต่างกันไป และบริเวณรอยพระ พุทธบาทภูแฝดนี้ มีบ่อน้ำทิพย์อยู่ใกล้ๆ เห็น พวกเราหลายคนตักน้ำขึ้นมาอธิษฐานดื่มกัน
...พวกเราต่างก็ลงจากรถ แล้วแยกย้าย กันเดินชมสถานที่ ส่วนผู้จัดทำบายศรี ต่าง
ก็นำบายศรีของตนไปตั้งไว้ทั้ง ๔ แห่ง เพราะบริเวณนี้จะมีรอยพระพุทธบาทที่มีลักษณะไม่ เหมือนที่อื่นที่เคยพบมา คือเป็นบ่อน้ำใสๆ
แต่ถ้าดูให้ดีที่ขอบบ่อจะมีรูปร่างเหมือนเท้าคน
แต่ละบ่อจะมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน บางคนไม่ทันสังเกตก็คิดว่าเป็นบ่อน้ำธรรมดา เมื่อได้อธิบายชี้ชัดทุกคนจึงเข้าใจว่า เป็นรอย
พระพุทธบาทเกือกแก้วลอยน้ำ แต่ละรอยก็จะ มีบ่อน้ำทิพย์รูปทรงกลมอยู่ข้างๆ บ่อน้ำที่มีรูป ทรงเป็นรอยพระพุทธบาทเหมือนกับเรือสำเภา ทุกรอย
...ในระหว่างนี้ เจ้าอาวาสได้เล่าประวัติ ให้ฟังว่า รอยพระบาทได้ถูกพบมานานแล้ว โดยคนป่าคนดงที่มาล่าเนื้อ เห็นรอยพระบาท ก็ไม่รู้คิดว่าเป็น รอยคนใหญ่
ก็บอกต่อๆ กันไป ได้มีคนเคยไปนมัสการที่พระพุทธบาท สระบุรีมาเห็นเข้า เขาบอกว่าเป็นรอยเท้าของ ผู้มีบุญ จึงคิดว่าเป็นรอยพระพุทธบาท
ชาวบ้านรู้ดังนั้นก็คิดว่า รอยพระบาทนี้ ถ้าพบเห็นที่ไหนก็จะสร้างความเจริญให้กับ ที่นั่น ทางราชการก็จะมาดูแล ทำให้ไม่มีสัตว์ ให้ล่า ไม่มีที่ทำมาหากิน
จึงคิดทำลายรอย พระบาท โดยเอาไฟเผาบ้าง เอาขวานถากบ้าง
...สมัยนั้น ได้มีคนชื่อ ขำ ตอนเป็น เด็กอายุ ๗ ขวบ ได้ตามบิดามาเที่ยวป่า ถูก ห้ามไม่ให้บอกใคร
โยมขำเก็บเป็นความลับ อยู่นานถึงอายุ ๖๐ ปี จึงบอกหลวงพ่อคูณ ต่อมาก็เกิดมีปาฏิหาริย์ คือมีแสงสว่างในวัน พระกลางเดือนหลายครั้ง แล้วก็ลอยวนไปวน
มาในบริเวณนี้ เรื่องราวก็มีแค่นี้แหละ
ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดตั้งพานบายศรีไว้ทั้ง ๔ รอย เพื่อได้ทำพิธีสมโภชพร้อมกันทีเดียว
เป็นการเปิดเผยให้รู้กันทั่วไป คือทั้งรอยในพระ มณฑป และรอยข้างนอกอีก ๓ รอย ซึ่งแม้ แต่แม่ชีที่อยู่ในวัดได้พูดว่า อยู่ที่นี่มานานแล้ว
แต่ไม่รู้ว่ารอยข้างนอกก็เป็นรอยพระบาท คิด ว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์ธรรมดา จึงรู้สึกดีใจมาก
...เพราะฉะนั้น หลังจากพิธีบวงสรวงแล้ว พวกเราจึงเฉลิมฉลองด้วยการร้องรำทำเพลงกัน อย่างสนุกสนาน
เนื่องจากเป็นสถานที่สุดท้ายของการเดินทางในครั้งนี้ พวกเราได้รับความสะดวก คล่องตัวและปลอดภัยทุกประการ หลังจากนี้ก็จะต้องแยกย้ายกันกลับ
แล้วก็เป็นเวลาค่ำมืดพอดี
...แต่ทุกคนก็ไม่ลืมที่จะนำน้ำทิพย์ทั้ง ๔ แห่ง ใส่ขวดเพื่อนำติดตัวกลับไปเป็นที่ระลึกด้วย ใน ขณะนั้นโชเฟอร์รถตู้ได้มาขอให้ไปพรมน้ำมนต์ ที่รถ
จึงเอาน้ำจากบ่อน้ำทิพย์รวมกันทั้ง ๔ รอย นั้น พรมให้กับรถตู้คันนั้น ส่วนรถคันอื่นๆ ก็ขอบ้าง จึงต้องเดินพรมกันทั่วไปเกือบทุกคัน ในระหว่างนั้น
พลันสายตาเหลือบไปเห็น แสงสีเขียวเป็นดวงไฟ วิ่งหายลับไปกับยอดไม้ชั่ว แวบเดียวเท่านั้น เลยไม่ทันได้บอกใคร เพราะ หลังจากนั้น รถทุกคันก็วิ่งกลับออกไป
...จึงเป็นอันว่า การเดินทางในครั้งนี้ ก็ได้มา สรุปกันที่วัดพระบาทเขายายหอม ซึ่งได้ถวายเงิน เจ้าอาวาสจำนวน ๓๖,๑๐๐
บาทเพื่อสร้างศาลา พร้อมทั้งถวาย พระวันชัย ติดมุ้งลวดในศาลาที่ วัดพระร่วงอีก
๕๑,๑๐๐ บาท การทำบุญครั้งนี้ ถ้าจะนับตั้งแต่วันเดินทางรวม ๙ วัด เป็นกฐิน ๔ วัด เป็นผ้าป่า ๕ วัด
รวมทั้งสิ้น ๓๔๘,๗๓๐ บาท