เนื่องจากการเดินทางไปจังหวัดเชียงรายในคราวนี้ นับเป็นปรากฏการณ์พิเศษ ที่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย พร้อมด้วยคณะภิกษุสงฆ์จากวัดอื่นๆ และวัดท่าซุง
อันมีพระครูปลัดอนันต์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้เดินทางร่วมกันมากมาย ทั้งคณะศิษย์รุ่นอาวุโส
ที่เคยร่วมเดินทางไปกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ นับตั้งแต่ครั้งแรก จนถึงคณะศิษย์รุ่นปัจจุบันนี้ ได้รวมตัวกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ทั้งที่บางท่านสังขารไม่อำนวยให้ ก็ยังอุตส่าห์สละเวลา และความทุกข์ยากลำบากต่างๆ เพื่อได้ไปกราบนมัสการปูชนียสถานสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
อันเป็นสถานที่บรรพบุรุณของเราชาวไทยได้สร้างไว้
ภัยพิบัติ
หลวงพ่อพระครูปลัดอนันต์, หลวงพี่ชัยวัฒน์ พร้อมด้วยคณะฯ กำลังกราบนมัสการหลวงพ่อดาบส
เพราะฉะนั้น การไปครั้งนี้ นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่พระพุทธศาสนาใกล้จะถึง "ยุคอภิญญาใหญ่"
อีกทั้งเกณฑ์ชะตาของโลกอาจจะประสบกับภัยพิบัติก็เป็นได้ จึงได้เตรียมคำอธิษฐานเอาไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เพื่อขอให้พ้นจากภัยธรรมชาติทั้ง
๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ครั้นถึงต้นเดือนมกราคม บังเอิญไปตรงกับที่ หลวงพ่อดาบส
ท่านเล่าไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า
"... อาจารย์ศักดา อยู่ที่ดอยสะเก็ด ได้ขึ้นไปบนเทวสภา ท้าวมหาพรหม ได้มาบอกว่าให้หาถ้ำเป็นที่หลบภัย
เพราะโลกจะประสบกับภัยพิบัติ เช่นแผ่นดินไหว น้ำท่วม เป็นต้น โดยเฉพาะประเทศไทยในแต่ละภาค อาจจะประสบภัยธรรมชาติด้วย
อาจารย์ศักดาก็ถามท้าวมหาพรหมว่า จะให้ไปหาถ้ำได้ที่ไหน ท้าวมหาพรหมบอกว่า พรุ่งนี้จะมีคนมาบอก ครั้นวันรุ่งขึ้น เมื่ออาจารย์ศักดาไปที่โรงเจของท่าน
ปรากฏว่ามีพระธุดงค์มารออยู่แล้ว ได้บอกท่างที่จะไปถ้ำนั้นให้ทราย ตรงตามที่ท้าวมหาพรหมบอกไว้ทุกประการ เรื่องนี้หลวงปู่ท่านเล่าตามคำของอาจาย์ศักดาว่า
เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น ท้าวมหาพรหมบอกว่า คงจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนักหรอก ใกล้ๆ นี้แหละ...จะเป็นปีนี้ ๒๕๔๐ ถึงปี ๒๕๔๒ อาจจะภายใน ๓ ปีนี้แหละ...ฯ"
ครั้นถึงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๐ จึงได้มีโอกาสรับฟังโอวาทจากท่าน พระครูปลัดอนันต์ได้กราบเรียนถามท่าน ถึงเหตุการณ์บ้านเมืองต่อไปในภายภาคหน้า
ท่านบอกว่า คงจะมีเหตุตั้งแต่ปีนี้ ไปจนถึงปี ๒๕๔๗ คือนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้วนับย้อนลงมา
แต่เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว จึงได้เข้าไปกราบลาท่าน แล้วปรารถเรื่องนี้ ท่านบอกว่า ไม่เป็นไร เพราะพระและเทวดาคงจะช่วยปกปักรักษาไว้บ้าง ฉะนั้น
ควรที่พวกเราพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะได้เป็นหยดน้ำหยดน้อยๆ แค่เพียงหยดหนึ่ง ที่จะได้ช่วยราดรดบนกองเพลิงที่กำลังลุกไหม้
เพื่อช่วยสร้างความเยือกเย็นให้เกิดแก่ชาวโลกไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเหตุที่ว่าเราจะไปสร้างบุญกุศลใหญ่ นั่นคือการไปบูชาความดีขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และบูชาคุณความดีพ่อแม่ของเรา
ที่เคยสร้างชาติสร้างแผ่นดินกันมาแล้ว
จึงเป็นอันว่า ความกตัญญูกตเวทีของพวกเราในครั้งนี้ คงจะได้แผ่เมตตาจิตไปให้ชาวโลก มีความร่มเย็นเป็นสุขในภายภาคหน้า
ถึงแม้จะมีความร้อนแรงจากเปลวเพลิง คือการทำบาปกรรมธรรมอันลามก แต่ความเย็นของหยดน้ำ คือผลบุญที่พวกเราได้ไปบำเพ็ญร่วมกัน
เป็นการกลั่นออกมาจากน้ำใจที่ใสสะอาด พร้อมทั้งอานุภาพของคุณพระรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก คงจะกระจายความเย็น
คือความสุขและความสงบไปบ้าง
ฉะนั้น การเดินทางในโอกาสนี้ จึงมิได้ไปในเครื่องแบบชุดขาว คือผู้ทรงศีล แต่เป็นการไปในชุดฉลองชัยชนะ คือใครจะแต่งชุดอะไรก็ได้ให้ออกเป็นชาวเหนือ
จะเป็นชุดที่โพกหัวก็ได้ หรือชุดที่ไม่ต้องโพกหัวก็ได้ เพื่อสมมุติเหตุการณ์ตอนที่กองทัพกู้ชาติของ พระเจ้าพรหมมหาราชรบชนะขอมดำ และเมื่อคนไทยเป็นอิสรภาพมีความสุขแล้ว จึงได้มาฉลองเอกราชอธิปไตย
และเทอดพระเกียรติพระเจ้าพรหมบรมกษัตริย์ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นนักรบผู้แกล้วกล้าสามารถ
พิธีกรรมในครั้งนี้ จึงจำเป็นต้องแต่งกายให้สวยงาม พร้อมทั้งเครื่องประดับตกแต่งให้งามวิจิตร ทั้งหญิงและชาย เพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งเกษมศรี
แสดงถึงความอยู่ดีกินดีมีความสุขของคนไทยในสมัยนั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นพิธีการ "ตัดไม้ข่มนาม" นั่นเอง
ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปเกือบสองพันปีมาแล้ว อาจจะไม่สมจริงสมจังนักก็ตามที แต่เราก็ทำกันไปด้วยความศรัทธา ไม่จำเป็นต้องเหมือน ๑๐๐ %
เพราะบางคนอาจจะแต่งไม่เหมือนกัน ขอจงอย่านำมาอวดหรือแข่งขันกัน
ฉะนั้น ใครจะแต่งหรือไม่แต่งก็ตามทีขอให้ตั้งใจว่าทำเพื่อเป็นพุทธบูชา และบูชาบรรพบุรุษของเราก็เพียงพอ ทุกคนได้บุญเหมือนกันหมด แต่ถ้าท่านคิดมากเกินไป
ว่าแต่งแบบนี้ไม่ถูกบ้าง หรือแต่งอย่างนี้ไม่ควรบ้าง เป็นต้น บุญคงหดหายไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเราเพียงแต่สมมุติกันเท่านั้น
เนื่องจากชุดบางชุด จำเป็นต้องนำมาแต่งเช่นชุดของ "ชาวไทยเขิน" ก็ต้องมีผ้าประดับบนศรีษะ อันเป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่าของเขาไม่ถือว่าเป็นการสวมหมวก
เพราะเป็นเพียงเครื่องประดับบนหัวเท่านั้น เมื่อเข้าไปในเขตวัด จึงไม่ถือว่าเป็นโทษแต่ประการใด ถ้าไม่อย่างนั้น พวกกระเหรี่ยง วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม คงจะเป็นโทษกันทั้งหมู่บ้านแล้ว เพราะนั่นเขาก็โพกหัวเข้าวัดเหมือนกัน
พิธีกรรมในครั้งนี้ จึงมีการสะดุดก่อนล่วงหน้า และเจ้าหน้าที่จัดงานก็พบกับอุปสรรคในการจัดหาเครื่องแต่งกายมากมายอย่างไม่เคยเจอมาก่อน
สับสนวุ่นวายตลอดจนถึงวันงานแสดงให้เห็นถึงพิธีการ "ตัดไม้ข่มนาม" ในครั้งนี้จะมีผลดีต่ออนาคตของคนไทยสมัยต่อมาอย่างแน่นอน
แต่จะต้องพบกับอุปสรรคบ้างเป็นธรรมดา แล้วจึงจะรุ่งโรจน์โชตนาการ ไปจนถึงยุค "ชาวศรีวิลัย" ในที่สุด
เพราะจุดเด่น หรือหัวใจของพิธีกรรมในครั้งนี้ อยู่ที่เครื่องแต่งกายเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นการแก้เคล็ด ที่ชะตาของประเทศอาจจะประสบกับความทุกข์ยาก
จึงจำเป็นต้องสมมุติเหตุการณ์ ตอนที่เราพ้นจากการเป็นทาสขอมแล้ว เรามีความสุขอุดมสมบูรณ์ มีความมั่งมีศรีสุขร่ำรวยไปด้วยแก้วแหวนเงินทอง
มีความมั่งคั่งเกษมศรี มีความปลอดภัยจากข้าศึกศตรู
โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ ที่หลวงพ่อบอกไว้ว่า เคยเกิดในสมัยเชียงแสนเกือบทั้งสิ้น เมื่อมาเกิดกันในสมัยนี้อีก หากเราจะประสบกับภัยที่จะเกิดขึ้น
หรือจะทำให้ยากจนลง เราก็จะสามารถแก้ไขให้บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง จึงได้มีการแต่งกายให้เห็นถึงความเป็นเศรษฐี มีความร่ำรวยไปด้วยเพชรนิลจินดา
เพื่อเป็นการตัดไม้ข่มนาม ตามเหตุผลดังที่กล่าวมานั่นเอง
ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ไม่เป็นไรขอให้ย้อนกลับไปตอนที่พระเจ้าพรหมจะยกทัพไปรบกับขอม หลวงพ่อเล่าว่า ท่านก็แต่งกายด้วยเครื่องประดับอย่างสวยงาม
ทั้งแม่ทัพ นายกองและเหล่าทหารทั้งหลาย แสดงความมั่นใจในชัยชนะ เพื่อเป็นการข่มขวัญข้าศึกไปในตัว ท่านก็บอกว่าเป็นการ "ตัดไม้ข่มนาม"
จึงขอให้ทุกท่านโปรดทราบว่า การทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ เขาจึงให้ระวังเรื่อง "ปาก" และ "กิริยามารยาท"เป็นสำคัญ
แล้วต้องทำด้วยความเคารพจริงๆ แต่บางคนก็ดันไปเรี่ยไรระหว่างงานก็มี และบางครั้งก็กังวลเรื่องปัจจัยจนเกินไป จึงทำให้พิธีกรรมสะดุดไปบ้าง
ผลออกมาจะทำให้เราไม่ราบเรียบเท่าที่ควรจิตใจของเราจึงไม่รวมเป็นหนึ่งกันจริง เพราะมัวแต่ห่วงใยเรื่องที่ยังไม่จำเป็น
คงจะลืมไปว่า ในขณะทำพิธีนั้น เรากำลังอยู่เฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย
อันมีหลวงพ่อผู้เป็นองค์ประธานในพิธีพร้อมทั้งหลวงปู่ทั้งหลาย ตลอดจนถึงบูรพกษัตริยาธิราชและบรรดาเทพไท้เทวาทั้งหลาย บางคนจึงนั่งหันข้างให้บ้าง
ลุกออกไปในระหว่างพิธีบ้าง คุยกันในระหว่างนั้นบ้าง เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ก่อนงานผู้จัดงานจะไม่พูดเรื่อง"พิธีกรรม"ในรายละเอียด เพราะมิฉะนั้น จะทำให้ผู้ไม่เข้าใจไปดูหมิ่นดูแคลน ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เป็นการตัดรอนผลที่จะกระทำไปในที่สุด เสียผลทั้งตนเองและผู้อื่นไปด้วย จึงรอให้ถึงเวลาเสียก่อน เมื่อนั้นภาพเหตุการณ์ทุกอย่าง จึงเป็นคำตอบได้ดีที่สุด
ในงานแต่ละภาค ที่ได้ไปจัดพิธีกรรมผ่านมาแล้ว ไม่ว่าทางภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอิสาน ภาคกลาง และงานรวมภาคที่วัดพระแท่นดงรัง
ทุกคนจะไม่ทราบรายละเอียดพิธีกรรม แต่ให้ไปรู้เอาในวันงานเลย แต่สำหรับงานนี้ ทั้งที่ไม่เปิดเผยในรายละเอียด แต่มีคนเอาไปพูดเอาไปถามกันมากเกินไป
จึงทำให้คนจัดพิธีกรรมมีอุปสรรคในการหาสิ่งของที่จะมาเข้าร่วมพิธี เรียกว่าเสียเคล็ดไปก่อนบ้างแล้ว
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นเช่นนี้ เห็นท่าว่าจะไม่ดีแน่ จึงได้บน หลวงปู่ ๕ พระองค์
เพื่อขอให้ท่านช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บไว้ และบนท้าวมหาชมภู
เพื่อขอให้ท่านช่วยป้องกันเรื่อง"พิธีกรรม" มิให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก
แต่ก็นับว่ายังโชคดี อาศัยที่บรรดาท่านพุทธบริษัทส่วนใหญ่ มีความเข้าใจในพิธีกรรม จึงทำให้สามารถจัดงานผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้
อาศัยพระบารมีขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา และครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อีกทั้งได้กำลังใจจากท่านเจ้าอาวาส ตลอดถึงเพื่อนภิกษุทั้งหลาย และญาติโยมพุทธบริษัททุกท่าน
ทั้งรุ่นอาวุโสที่เคยเคารพนับถือท่านมาตั้งแต่ยังมิได้อุปสมบท และคณะศิษย์รุ่นต่อมา เป็นต้น
ถึงแม้จะยากลำบากเพียงใด แม้จะมีอุปสรรคแค่ไหน นับตั้งแต่คณะผู้จัดเดินทางไปล่วงหน้าตั้งแต่คืนวันที่ ๑๔ เพื่อไปเตรียมงาน และสถานที่ทั้งสองแห่ง
คือจัดสถานที่ที่วัดพระธาตุจอมกิตติ แล้วจึงได้ขึ้นถึงวัดพระธาตุดอยตุง ประมาณเกือบ ๕ ทุ่ม ของคืนวันที่ ๑๗
มาถึงปรากฏว่ามีคนมานอนพักอยู่ก่อนแล้ว ประมาณหลายสิบคน มีคณะของ อาจารย์สันต์ ภู่กร คุณสัมพันธ์
จ.พิษณุโลก จำนวน ๓ รถตู้ คณะพระวันชัย จ.สุโขทัย ๑ รถตู้ คณะพระเอกชัย จ.เชียงใหม่ ๑
รถตู้ คณะอาจารย์โอ๋ ๔ คน คณะพระวันชัย ๑ รถตู้
คืนนั้นอากาศบนดอยตุง ก็เย็นพอสมควร ทางวัดไม่ทราบเรื่องเลยว่าคณะของเราจะไปกัน ทั้งที่บางคนที่ไปก่อนเมื่อปลายปีที่แล้วก็ทราบเรื่อง
แต่ไม่ได้แจ้งให้ หลวงพ่อฝ้าย ทราบ ท่านจึงไม่อยู่ในวันนั้น และดีที่ อาจารย์โอ๋ไปที่นั่นบ่อยๆ จึงได้ช่วยนำกุญแจมาให้ไว้ก่อน ส่วน คุณนที(บัง)
ก็เตรียมเสบียงขึ้นไปไว้ประกอบอาหารทานกันในตอนเช้า
เมื่อไปถึงก็อยากจะหาที่นอน ดันไปเคาะห้องผิด กลายเป็นห้องของพระที่นั่น ท่านก็ได้ช่วยเปิดห้องให้พวกเราได้พักกัน จึงได้ทราบว่าโทรศัพท์ที่นั่นเสีย
มิน่าโทรมาหลายครั้งก็ไม่ติด นึกว่า "ผู้การอังกูรรัตน์" ให้เบอร์ผิดเสียแล้ว
รู้สึกว่าน้ำที่นั่นเย็นดีเหลือเกิน ทั้งๆที่มีเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ก็ไม่ค่อยจะอุ่น เพราะความเย็นสูงมากกว่า พระทั้ง ๔ องค์ และญาติโยม
ที่ติดตามไปประมาณ ๔๐ คน ก็ได้นอนพักผ่อน หลังจากเหน็ดเหนื่อยกันมาจากการจัดสถานที่บนพระธาตุจอมกิตติ และไปประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ทั้งที่
แม่จันและที่เชียงแสน โดยการติดต่อของ คุณป๋อง(สกุลวุธ) และภรรยาคือ คุณหนูที่อยู่เชียงใหม่
แต่ที่จะต้องเหน็ดเหนื่อยกันก่อน ก็คือ คุณนทีและคณะ ที่จะต้องตื่นก่อน นอนทีหลังเพื่อช่วยหาเสบียงเอาไว้เป็นกำลัง เมื่อทุกคนทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว
ก็เดินทางไปรอท่านเจ้าอาวาสที่นั่น แต่ปรากฏว่าพอถึงเช้าวันที่ ๑๘ ทั้งที่ได้เตรียมการณ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไว้พร้อมแล้ว
เพื่อรอรับสถานการณ์อันจะเกิดขึ้น นั้นคือขบวนรถที่จะขึ้นมาบนดอยตุง ประมาณไว้ ๑๕๐ คัน โดยรถเล็กเหล่านั้น ได้ทยอยกันขึ้นมาตลอดตั้งแต่ ๗ โมงเช้า
เมื่อจำนวนรถเริ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่จึงได้จัดที่จอดรถไว้ ณ บริเวณวัดพระธาตุ แล้วเดินอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร จึงจะถึงองค์พระธาตุ
ทั้งได้กำชับเจ้าหน้าที่ ถ้ารถนำขบวน "อุทัยธานี" มาถึง นั่นคือคณะของท่านเจ้าอาวาส ขอให้ขึ้นไปถึงองค์พระธาตุได้เลย
เมื่อคณะของท่านมาถึง ปรากฏว่าผ่านไปไม่ได้เลย เนื่องจากรถที่มาถึงก่อนหน้านั้น ได้จอดเต็มไปหมด
ท่านจึงต้องเดินขึ้นกันไปพร้อมทั้งคณะผู้ติดตามอีกหลายท่าน แต่มีบางคณะที่มีอายุ ไม่สามารถจะเดินไปถึงได้ ก็ต้องขออภัย เพราะจำนวนรถและคนมากเหลือเกิน
แต่มีเรื่องเล่าที่ไม่น่าเชื่อ จะถึอเป็นเรื่องอัศจรรย์ก็ว่าได้ เพราะก่อนที่จะเดินทางมานั้น ดร.โสทรซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับตำรวจภูธรแม่จัน ได้โทรศัพท์มาเตือนถึงที่วัด ขอให้เลื่อนเวลาไปอีก
จึงได้ตอบท่านว่าคงจะไม่ได้เสียแล้ว เพราะได้แจ้งกำหนดงานออกไปหมดแล้ว ว่าจะทำพิธีบวงสรวงเวลา ๐๘.๓๐ น. ท่านรีบขัดจังหวะว่า ขอให้ท่านฟังผมก่อน
ผมว่าท่านขึ้นไปทำพิธีไม่ทันอย่างแน่นอน
เมื่อวันที่ ๑๖ จึงได้ไปพักที่วัดถ้ำผาจม ท่านอาจารย์วิชัยพร้อมด้วยคณะต้อนรับดีมาก
หลังจากแม่ชีเลี้ยงอาหารเช้าพวกเราแล้ว ก็เดินทางไปที่แม่จัน ผ่านทางเข้าไปวัดพระธาตุดอยตุง เห็นหมอกปกคลุมตั้งแต่ข้างล่างไปจนถึงยอดเขา
ส่วนบนถนนก็มีฝุ่นเต็มไปหมด เลยไม่รู้ว่าหมอกหรือฝุ่นกันแน่ รถทุกคันจึงต้องเปิดไฟหน้า เพราะมองไม่ค่อยเห็นทาง รู้สึกหนักใจมาก
แต่ก็มั่นใจในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุ และเรามีความเคารพเทวดา นับตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อเดินทางมา ไม่เคยมีอุปสรรคเลย
◄ll กลับสู่ด้านบน
งานพิธีบวงสรวง ณ พระธาตุดอยตุง
| |
วันเสาร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๐ เวลาเช้าของวันนี้ บนยอดเขาลมแรงมากผิดปกติ รถเล็กบางคันเริ่มทยอยกันเข้ามา จึงได้ถามว่าเดินทางขึ้นมาสะดวกไหม
เขาตอบว่าสะดวก แต่คนขับรถสองแถวพูดกันว่า วันนี้แปลกมาก ที่ไม่มีหมอกเลย...!
จึงทำให้คิดว่า เราโดนความเย็นของลมเสียดีกว่า ที่จะพบกับอันตรายจากหมอก เพราะท่านคงจะสงเคราะห์พวกเรา พัดพาเอาหมอกให้กระจายออกไปจากพื้นที่
ช่วยให้แสงอาทิตย์ได้ส่องลงมา เพื่อช่วยทำให้อากาศอบอุ่นขึ้น พวกเราจึงมีความสะดวกและปลอดภัย มีความสุขใจขึ้น ทั้งนี้
เป็นด้วยอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุ ตลอดถึงผู้ปกปักรักษาเขตนี้ ที่เราเดินทางมาด้วยความเคารพและมีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างจริงใจ
ในขณะที่รอท่านเจ้าอาวาสนั้น ญาติโยมที่เดินทางมาถึงก่อน บางท่านก็เริ่มแต่งกายแบบไทยล้านนา มี ศ.ดร.ปริญญา
คณะคุณต๋อย, คุณต้อย และเพื่อนๆจากการบินไทย เป็นต้น จึงมีคนเข้ามาขอถ่ายรูปบ้าง คงจะเห็นแปลกดีที่ปีนี้มีผู้แต่งกายแตกต่างกันไป
ส่วนคณะทำบายศรี อันมี โยมน้อยที่อยู่เชียงราย แม่ชีเล็ก, และ มณเฑียรได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อน
โดยมีโยมที่เป็นพยาบาลขับรถมารับของ ต่างก็เข้ามาช่วยกันจัดของบนโต๊ะบวงสรวง เพื่อให้ทันเวลาที่ได้นัดหมายไว้
ในปีนี้ก็มีการจัดห่มผ้าพระเจดีย์เป็นกรณีพิเศษ คือคุณน้อยได้ช่วยเย็บผ้าห่มเจดีย์ โดยแบ่งออกเป็นสององค์ พร้อมกันนั้น คุณสุพัฒน์ จากจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้เตรียม "ตุงตะขาบ" ผืนใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์ของ"ดอยตุง"มาปักไว้เป็นพุทธบูชาอีกด้วย
ต่อจากนั้น คณะของ คุณนราธิป ก็ได้นำผ้ามาห่มไว้ที่ฐานข้างล่างอีกด้วย
เรียกว่าปีนี้ห่มผ้าเจดีย์เป็นกรณีพิเศษ คือห่มแยกเป็น ๒ องค์ข้างบน และห่มล้อมไว้ที่ฐานรวมทั้งสององค์
ส่วนเรื่องเครื่องขยายเสียง และการบันทึกภาพวีดีโอ ก็มีคณะของ คุณปรีชา, คุณสุพัฒน์,
คุณลือชัยในปีนี้เป็นกรณีพิเศษอีกเช่นกันที่ คณะของคุณปรีชาอุตส่าห์นำรถบรรทุกอุปกรณ์ต่างๆ เดินทางกันมาก่อนล่วงหน้าถึง ๓ คัน
ครั้นถึงเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. เศษ พระครูปลัดอนันต์ พร้อมทั้งคณะได้เดินทางมาถึง
เมื่อท่านพักเหนื่อยสักครู่หนึ่ง จึงได้เริ่มพิธีโดยการอ่านประวัติพระธาตุดอยตุง ประมาณ ๓๐ นาที โดยมีใจความว่าดังนี้
◄ll กลับสู่ด้านบน
ประวัติพระธาตุดอยตุง
หลวงพ่อพระครูปลัดอนันต์กำลังเล่าประวัติพระธาตุดอยตุง
ตามที่ทราบกันมาแล้วว่า พระบรมธาตุดอยตุง นี้เป็นสถานที่สำคัญ อันเป็นเขตแดนของแคว้นโยนกบุรี
เนื่องจากเป็นสถานที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาพร้อมกับพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย โดยเสด็จมาประทับที่ "ดอยน้อย" ก่อน คือที่ พระธาตุจอมกิตติ เมื่อพรรษาที่ ๑๖ ต่อมาได้เสด็จมาที่
"ดอยตุง" นี้เมื่อพรรษาที่ ๒๐
พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ที่เป็นลูกหลานของหลวงพ่อ คงจะทราบประวัติความเป็นมาจากท่านบ้างแล้ว ณ โอกาสนี้ อยากจะเพิ่มเติมจาก พงศาวดารโยนก บ้าง จาก ตำนานพระธาตุดอยตุง บ้าง
เพื่อพวกเราคนไทยจะได้ทราบว่าเจาผู้ครองนครแว่นแคว้นโยนกนี้ มีการสืบเชื้อพระวงศ์กันมาอย่างไร และเคยอาศัยอยู่ที่ดินแดนไหนกันมาก่อน เพราะราชวงศ์นี้
ก็ได้สืบราชสมบัติมาจนถึงสมัย พระเจ้าพรหมมหาราชและสืบสันตติวงศ์ต่อจนมาถึงปัจจุบันนี้
ตามประวัติขอนำมาเล่าโดยย่อว่า
สมัยพระเจ้าสิงหนวัติ
สมัยนั้น พระเจ้าสิงหนวัติซึ่งเป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าเทวกาลผู้ครองนครราชคฤห์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "นครไทยเทศ" พระองค์เป็นโอรสองค์เล็ก จึงได้นำเอาเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย
กราบทูลลาพระราชบิดามาสร้างเมืองใหม่ ณ อาณาเขตนี้ ส่วนพระเชษฐาผู้ทรงพระนามว่า ภาทิยะก็ได้ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ซึ่งพระเจ้าภาทิยะองค์นี้แหละ คือพระราชบิดาของ
พระเจ้าพิมพิสารซึ่งพุทธบริษัททุกท่านคงจะรู้จักพระองค์ได้เป็นอย่างดี
เมื่อสมเด็จพระมหามุนีได้สำเร็จพระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้วได้ ๑๕ พรรษา จึงเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเทศน์โปรดพระประยูรญาติด้วย "มหาเวสสันดรชาดก" แล้ว ครั้นพรรษาที่ ๑๖ พระองค์เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วก็เสด็จมายังแว่นแคว้นโยนก
โดยเสด็จมาประทับที่ดอยน้อยนี้
พระเจ้าสิงหนวัติ จึงได้กราบทูลขออาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
ให้ไปฉันภัตตาหารภายในพระราชวัง ครั้นฉันภัตตาหารเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนาในกาลนั้น พระยาช้างต้นได้ยินเสียง และเห็นฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ
ขององค์สมเด็จพระพิชิตมารก็ตกใจกลัว จึงได้วิ่งออกจากโรงช้าง ร้องส่งเสียงแล่นสะเทือนก้องทั่วโยนกบุรี
เมื่อนั้นพระพุทธองค์จึงทรงพยากรณ์ว่าจำเนียรกาลแต่นี้ไปภายหน้า จะมีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง จักมาสร้างเมืองขึ้น ตรงที่พระยาช้างไปหยุดยืนอยู่นั้น
ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง ให้ชื่อว่า "เมืองช้างแล่น" นานไปคนจะเรียกเพี้ยนไปว่า "เมืองเชียงแสน" มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ สมัยพระเจ้าพันติราช
สมัยต่อมา พระเจ้าพันติราชกุมารหรือพระเจ้าคันธกุมาร เสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา
บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข หลังจากนั้นอีกไม่นานประมาณพรรษาที่ ๒๐ องค์สมเด็จพระธรรมสามิสตร์ พร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลายก็ได้เสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง ณ
ที่ ดอยตายะสะ บัดนี้ เรียกว่า ดอยตุงซึ่งเป็นที่อยู่แห่ง ปู่เจ้าลาวจก หรือ "ลาวจักราช"
ผู้เป็นต้นวงศ์ของกษัตริย์ลานนาไทยทั้งหลาย อันมี พ่อขุนเมงราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
ครั้นภายหลังสถานที่นี้ จึงเป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูป ซึ่งประดับประดาด้วย "ธงตะขาบใหญ่" คนทั้งหลายจึงเรียกว่า "ดอยธง" นานมาก็แปรไปเป็น
"ดอยตุง" แต่บางตำนานเรียกว่า "เกตุบรรพต" ในเวลานั้น องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จลงมาจากนภากาศ
ประทับยืนอยู่เหนือก้อนหินก้อนหนึ่ง แล้วทรงมีพุทธบัญชาว่า
"อานันทะ ดูก่อนอานนท์ บ้านเมืองที่นี้ต่อไปภายหน้าจักรุ่งเรือง และเป็นที่ตั้งพระศาสนาของตถาคต ตราบ ๕,๐๐๐ พระวัสสา
เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว จงให้พระมหากัสสปเถระ นำเอาพระรากขวัญข้างซ้ายมาบรรจุไว้ที่นี่..."
สมัยพระเจ้าอชุตราช
เมื่อพระเจ้าพันติราชเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าอชุตราช พระราชโอรสก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นลำดับมา
พร้อมทั้งอัครมเหสีผู้มีพระสิริรูปลักษณะโสภางมายิ่งนัก ทรงพระนามว่า พระนางปทุมวดี
อันเป็นเวลาเดียวกันที่เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานพอดี
แต่นั้นมาล่วงได้ ๓ ปีถึงปีมะแม วันเพ็ญ เดือน ๕ พระมหากัสสปเถรเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐
องค์เป็นบริวาร ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย และพระบรมสารีริกธาตุใหญ่น้อยอีก ๕๐๐ องค์ บรรจุไว้ในผะอบแก้วมาถวายแด่พระเจ้าอชุตราช
ผู้เป็นเจ้าเมืองโยนกนาคนคร พระบาทท้าวเธอทรงดีพระทัย จึงพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ทำการสักการบูชาในโยนกบุรีเป็นเวลา ๗ วัน
แล้วจึงได้อัญเชิญขึ้นไปสู่ดอยตายะสะแห่งนี้
โดยที่พระราชาได้ทรงสร้างผอบเงินและผอบทอง เพื่อสวมซ้อนผอบแก้วไว้ แล้ววางในมณฑปทองคำ ตั้งบนกูบช้าง ทรงตั้งสัตยาธิษฐานขอบารมีสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
หากพระบรมสารีริกธาตุนี้สมควรจะประดิษฐาน ณ ที่ใด ขอโปรดให้ช้างทรงนี้นำไป พระยาคชสาร ออกเดินจากเมืองเชียงแสนไปเรื่อยๆ โดยพระเจ้าอชุตราช และ
มังรายนราชโอรส เป็นผู้ประคองพระมณฑป ช้างพาเดินขึ้นไปหยุดบนดอยตุง
เมื่อช้างคู้เข่าหมอบลงที่พื้นนั้น พระราชาได้โปรดให้ตั้งขบวนแห่อัญเชิญเครื่องบูชาสักการะพระมหากัสสปเถระพร้อมทั้งพระอรหันต์อีก ๕๐๐ รูป
ทำการเจริญพระพุทธคุณ ในขณะนั้นตรงกับฤดูหนาว เดือนยี่ หมอกปกคลุมบริเวณทั้งหมด แต่วันนั้นด้วยบุญญาภินิหาร บันดาลให้อากาศปลอดโปร่ง มีแสงแดดไม่มีหมอกเลย
(พวกเราประสบตรงกับเวลาและเหตุการณ์พอดี)
ในขณะนั้น พระเจ้าอชุตราชจึงได้รับสั่งให้ "ปู่จ้าวลาวจก"มาหา แล้วพระราชทานทองคำ พันกหาปนะ
พร้อมกับตรัสว่า เราจักได้นำเอาพระบรมธาตุเจ้ามาบรรจุไว้ในยอดดอยนี้ เมื่อนั้น พระมหากัสสปะได้อัญเชิญมณฑปทองคำที่ประดิษฐานผอบแก้ว ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เหนือหินก้อนนั้น
อันเป็นที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับในสมัยที่ทรงพระชนม์อยู่
พระมหาเถระจึงอธิษฐานขอให้พระบรมธาตุจมลงไปในหินนั้น ในกาลนั้น พระบรมธาตุเจ้าก็เปล่งฉัพพรรณรังสีส่องสว่างไปทั่ว แล้วก็จมลงไปในก้อนหินนั้นลึกประมาณ ๘
ศอก เมื่อสร้างสถูปครอบแล้ว จึงได้ประดับด้วยธงตะขาบใหญ่ เหตุฉะนี้ ดอยนี้จึงมีนามปรากฏว่า "ดอยธง" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สถานที่แห่งนี้ จึงถือว่าเป็น "ปฐมเจดีย์" ในโยนกลานนาไทยประเทศ บรรดากษัตริย์ขัตติยวงศ์ ซึ่งได้ครองเมืองโยนกสืบๆกันมา
ย่อมกระทำสักการบูชาและปฏิบัติบำรุงพระบรมธาตุสืบมา ไม่ขาดสาย หมู่ลาวจกทั้งหลาย ก็มอบตนเป็นผู้อุปฐากพระบรมธาตุสืบต่อกันมา
ฝ่ายว่าพระมหากัสสปะและพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อเสร็จภาระตามพระพุทธบัญชาแล้ว จึงได้กลับไปสู่เมืองราชคฤห์ ต่อมาได้ไปจำพรรษา ปิปผลิคูหา หลังจากนั้น ๗ เดือน ในยามเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตมาฉันแล้ว ก็เข้าไปอำลาพระยาอชุตราช แล้วก็ไปสู่ เมืองวิเทหรัฐ (ปัจจุบันนี้หลวงพ่อบอกว่าอยู่แถวเชียงตุง) แล้วก็เข้าไปสู่
ดอยเวฬุบรรพต นั่งสมาธินิพพานในวันพุธยามเช้า มีดอยล้อมไว้ ร่างกายไม่เน่าตราบเท่าถึงศาสนาพระศรีอาริย์
ส่วนพระเจ้าอชุตราชก็เสด็จกลับสู่ราชนิเวศน์ แล้วกระทำบุญให้ทาน รักษาศีล มิได้ขาด ไม่ประมาทในราชธรรม ๑๐ ประการนานได้ ๑๐๐ พรรษาจึงสวรรคต
ในขณะที่มีพระชนมายุได้ ๑๒๐ พรรษา พระราชโอรสทรงพระนามว่า มังรายนราชกุมาร จึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ
ในขณะที่พระศาสดาปรินิพพานไปได้ร้อยปีพอดี
สมัยพระเจ้ามังรายนราชครั้งนั้น ยังมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถระกับพระอริยสงฆ์ ๕๐๐ องค์เป็นบริวาร ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุใส่โกศแก้ว จำนวน ๑๕๐ พระองค์ มาจาก
ถ้ำสัตตบรรณคูหา อันเป็นสถานที่ทำสังคายนา ณ เมืองราชคฤห์ มาถวายพระเจ้ามังรายนราช พระบาทท้าวเธอทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง
จึงโปรดให้ช่างสร้างโกศเงินโกศทองคำ เข้าสวมโกศแก้วอีกซ้อนกันเป็นชั้นๆ แล้วก็ตกแต่งเครื่องบูชาทั้งหลาย เป็นต้นว่าข้าวตอกดอกไม้ บุปผามาลัย จุณจันทร์
พร้อมด้วยการประโคมดนตรี เป็นการสักการะจนครบถ้วน ๗ วัน
ในวันที่ ๘ แห่งการสมโภชพระบรมธาตุนั้น พระเจ้ามังรายนราช ผู้เป็นหน่อเนื้อพระบรมพงศ์โพธิสัตว์ จึงได้ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย
จัดตั้งกองเกียรติยสแล้ว อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ่นสู่พระมณฑปแล้วแห่แหนขึ้นสู่ดอยตุงแห่งนี้ กระทำประทักษิณ พระบรมธาตุองค์เดิม ๓ รอบ
แล้วก็ยกเอาโกศพระบรมธาตุขึ้นตั้งเหนือศิลาก้อนนั้น
พระมหาวชิรโพธิเถระ และพระเจ้ามังรายนราช พร้อมกันอธิษฐานให้โกศที่บรรจุพระบรมธาตุนั้นจมลงไป เป็นดังเช่นที่พระมหากัสสปเถระอธิษฐานไว้นั้น ยามนั้น
พระบรมสารีริกธาตุก็เปล่งรัศมี ๖ ประการรุ่งเรืองส่องสว่างไปทั่วเมืองโยนกบุรี แล้วก็มุดจมลงไปในก้อนศิลานั้นลึกได้ ๗ ศอก
รวมพระบรมธาตุแห่งพระพุทธเจ้า ที่ได้เคยสถิตย์ ณ กรุงราชคฤห์ทั้งสิ้น ซึ่ง พระเจ้าอชาตศตรู
เป็นผู้ได้รับส่วนแบ่ง หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงได้ทรงอัญเชิญมาจากกรุงกุสินารา แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าพระอริยสาวกทั้งหลาย ที่ได้ทรงทราบว่า
ในอนาคตกาลนั้น ประเทศไทยจะเป็นดินแดนที่รักษาพระพุทธศาสนาไว้ครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี ทั้งนี้ เป็นด้วยอำนาจบุญวาสนาของชาวไทยด้วย
จึงเป็นเหตุให้พระบรมสารีริกธาตุ ได้ทยอยเข้ามาประดิษฐานไว้ในยอดดอยแห่งนี้รวม ๖๕๐ พระองค์
ส่วนพระเจ้ามังรายนราช เมื่อพระบาทท้าวเธอทรงบรรจุพระบรมธาตุแล้ว ก็ทรงโปรดให้ช่างก่อเป็นเจดีย์ครอบไว้ เป็นดังพระเจ้าอชุตราชกระทำไว้นั้นทุกประการ
คือพระเจดีย์ที่เห็นอยู่ด้านทิศใต้ แล้วก็เอาทองจังโกหุ้มไว้ ใส่ยอดฉัตรหมากชมพูทองคำกับบัวระมวล แล้วก็กระทำบุญให้ทานเป็นการเฉลิมฉลองได้ ๓ เดือน
ถึงเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันวิสาขบูชาพอดีก็ให้พวกมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัว เป็นผู้รักษาพระบรมธาตุแห่งนี้
แล้วกำหนดเขตแห่งพระบรมธาตุนั้นไว้ เป็นที่อภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย ห้ามมิให้ทำร้ายสัตว์เป็นอันขาด หากผู้หนึ่งผู้ใดฝ่าฝืน
หรือกระทำอนาจารในเขตพระธาตุนี้ ได้ชื่อว่าเป็นการหมิ่นประมาท แล้วท่านก็สาบแช่งเอาไว้ตามประเพณีที่เคยกระทำมา
หลังจากนั้น พระองค์ก็อยู่ปฏิบัติรักษาศีล ภาวนา และอุปัฏฐากพระอรหันต์ทั้งหลายตามสมควรแล้ว ก็เสด็จกลับไปสู่ราชนิเวศน์ ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลาย
จึงได้กลับคืนยังเมืองราชคฤห์ ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พุทธศักราช ล่วงแล้ว ๑๕๐ ปี
ตามตำนานเล่าเสริมว่า นอกจากได้สร้างพระเจดีย์ใหม่ไว้แล้ว
พระเจ้ามังรายนราชก็ยังได้ทรงปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์เดิมอีกด้วยจากนั้นมาก็ไม่ปรากฏหลักฐานอะไร จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๐
ท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย พร้อมด้วยคณะศรัทธาชาวพุทธ ได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์
กาลต่อมา ปี พ.ศ.๒๔๙๙ นางทองคำ ฮั้นตระกูล จากจังหวัดพะเยา ได้เป็นเจ้าภาพลงรักปิดทองพระเจดีย์ทั้ง ๒
องค์ ครั้งถึงปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงได้มีการบูรณะองค์พระธาตุครั้งใหญ่ จนถึง พ.ศ.๒๕๑๔ ถึง พ.ศ.๒๕๑๖ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จ
โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงองค์พระเจดีย์กันใหม่ดังที่เห็นปรากฏจนทุกวันนี้
สมัยพระองค์เกิง
และยังได้ความรู้เพิ่มเติมไปอีก โดย พงศาวดารโยนกเล่าเสริมว่า ในปี พ.ศ.๒๑๘ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์ในการทำสังคายนา ครั้งที่ ๓ พระมหาโมคคัลลีบุตรติสสะเถระจึงได้ส่งพระสมณฑูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ มีอยู่สายหนึ่งคือ พระมหารักขิตเถระ กับคณะของท่าน ได้นำพระพุทธศาสนามาสู่โยนกประเทศนี้
ตามพงศาวดารบันทึกไว้ว่า พระเถระได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุ ๙ พระองค์ มาถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองนครโยนกบุรี มีพระนามว่า พระองค์เกิง พระองค์จึงทรงให้จัดแบ่งพระบรมธาตุออกเป็นสามส่วน แล้วสร้างพระเจดีย์ประดิษฐานไว้ที่ดอยตุง จำนวน ๖ องค์ อีก ๓ องค์
นั้นให้นำไปบรรจุไว้ ณ ตำบลภูกวาวแล้วได้ทำการฉลองพร้อมกันในวันพุธ เพ็ญเดือน ๔ ปีมะเมีย พุทธกาล ๒๒๙
ขอย้อนกล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้ามังรายนราชกันต่อไป ตามตำนานเล่า พระองค์เสวยราชสมบัติต่อจากพระเจ้าอชุตราช
ซึ่งตรงกับที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปีพอดี พระองค์ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์องค์ใหญ่ทรงนามว่า พระองค์เชือง และได้ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา องค์น้อย ทรงนามว่า พระองค์ไชยนารายณ์
ได้ไปสร้างเมืองใหม่ให้นามว่า เมืองไชยนารายณ์ ต่อมาภายหลังก็กลายเป็น "เมืองเชียงราย"
ไป
ในหนังสือเรื่อง ฤาษีทัศนาจรภาคเหนือ หลวงพ่อได้เล่าตามที่มีผู้มาบอกต่อไปว่า
พระเจ้ามังรายนราชเสวยราชสมบัติได้ ๓๗ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๐ ถึง พ.ศ. ๑๓๗ จึงสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ ๘๙ พรรษา แล้วก็มีการสืบสันตติวงศ์ต่อมาจนถึงสมัย
พระเจ้าพังคราช ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าพรหมมหาราช โดยนับตั้งแต่พระเจ้าสิงหนวัติผู้เป็นต้นวงศ์
มาจนถึงสมัยพระเจ้าพังคราช รวมทั้งสิ้น ๓๗ รัชกาลด้วยกัน ซึ่งในเวลานั้นมีพระอรหันต์มาก พระราชาทุกพระองค์เป็นผู้ทรงธรรม ไหว้พระสวดมนต์กันอยู่ตลอดเวลา
◄ll กลับสู่ด้านบน
โอวาทของหลวงพ่อที่ดอยตุง
สำหรับสมัยพระเจ้าพังคราช คงจะต้องไปรับฟังกันที่พระธาตุจอมกิตติ แล้วหลวงพ่อได้เล่าไว้ในสมัยที่มาพระธาตุดอยตุง เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ต่อไปอีกว่า
"ลูกบางคนน้ำตาไหล บางคนมีการสะอื้นบางคนมีอาการซึม พ่อคิดว่า ความรู้สึกของลูกในเวลานั้น
คงจะพบกับคภาพความเป็นจริงที่เรามีส่วนร่วมในการบูชาพระบรมสารีริกธาตุบนดอยตุง ซึ่ง พระเจ้าอชุตราช และ พระเจ้ามังรายมหาราช
นำมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่ลูกเห็นอยู่เวลานี้ เป็นเจดีย์ที่เขาสร้างขึ้นภายหลัง
สำหรับเจดีย์องค์เดิมอยู่ภายในเป็นทองคำทั้ง ๒ องค์ และในเจดีย์ทองนั้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่กษัตราธิราชเจ้าทั้งสองพระองค์ คือพระเจ้าอชุตราช
พระราชบิดา กับพระเจ้ามังรายมหาราช ราชโอรสนำมาบรรจุที่นี่ การบูชาคราวนั้นเป็นงานยิ่งใหญ่มาก ขณะนี้ลูกบางคนมีอำนาจธรรมปีติ
ที่เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านไปอยู่นิพพานมีความสุข ฉะนั้นอารมณ์ของลูกทั้งหลาย จงอย่าให้มีอารมณ์เป็นทุกข์
มีอย่างเดียวคือ "ธรรมสังเวช"
ธรรมสังเวชตอนไหน..ตอนที่เราเลวเกินไป จะว่าเลวเกินไปก็ไม่ถูก เพราะการบรรลุธรรม ต้องอาศัยความดีพอสมควร เขามีกำหนดเวลาเช่น "สาวกภูมิ"
ต้องบำเพ็ญบารมีมาแล้ว ๑ อสงไขยกำไรแสนกัป เป็นต้น แต่พวกเราย่องมาถึง ๑๖ อสงไขย กับแสนกัปแล้ว ก็แสดงว่าเราเอาดีบ้าง ทำถูกบ้าง ทำผิดบ้าง เป็นของธรรมดา
การผิดมาในกาลก่อนถือว่าเป็นครูในสมัยนี้ ชาตินี้ อย่าให้ผิดต่อไป.." ก็ขอนำโอวาทท่านมากล่าวไว้เพียงแค่นี้
ต่อไปจะเริ่มทำพิธีบวงสรวง จึงขอให้ทุกท่านตั้งใจอาราธนาบารมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์
พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย อันมี พระมหากัสสปะเถระ และ พระมหาวชิรโพธิเถระเป็นต้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบ ๆ
กันมา อันมี หลวงปู่ป่าน, ครูบาเจ้าศรีวิชัย, หลวงปู่ชุ่ม ผู้สร้างทางขึ้น และหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน เป็นที่สุด
เทพพรหมทั้งหลาย ทั้งที่ปกปักรักษาอาณาเขตนี้ พระมหากษัตริย์แห่งโยนก และลานนาไทยทั้งหลาย อันมี พระเจ้าอชุตราชเป็นต้น ตลอดถึงบรรพบุรุษของชาวไทยลาวที่ได้สืบเนื่องจากตระกูล
ปู่จ้าวลาวจักราชเป็นต้น ขอได้โปรดเสด็จมาอนุเคราะห์พวกเราเหล่าพุทธบริษัท เพื่อให้เป็นไปตามที่ได้ตั้งใจอธิษฐานไว้
สมตามความมุ่งมาดปราถนาทุกประการเทอญ ฯ
หมายเหตุ
หลวงพี่ชัยวัฒน์กราบนมัสการหลวงปู่ชัยวงศ์ ณ วัดพระบาทห้วยต้ม เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๐
หลวงพ่อและหลวงปู่ชัยวงศ์ได้มาทำพิธียกฉัตร เมื่อวันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๒๐ หลวงปู่วงศ์เป็นผู้จัดหาฉัตรมาสวมยอดพระเจดีย์
แล้วหลวงปู่ได้บรรจุพระธาตุข้าวไว้ในนั้นด้วย ความจริงตั้งใจจะเชิญญาติโยมที่ทราบเหตุการณ์มาเล่าประวัติในปัจจุบันให้ฟังกัน แต่เสียดายที่เวลาไม่พอ
แต่ขอนำเรื่องเล่าจาก "บันทึกชาโดว์ เล่ม 6 มาไว้ให้อ่านดังนี้
".......หลวงพ่อท่านและหลวงปู่วงศ์ได้ทำพิธียกฉัตรเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2520 หลวงปู่วงศ์เป็นผู้จัดหาฉัตรมาสวมยอดพระเจดีย์
ท่านได้บรรจุพระธาตุข้าวไว้ในนั้นด้วย มีพวกเรา 10 กว่าคนเท่าที่จำได้ มีพี่ชอ คุณเนียร คุณแอ๊ยุพดี จักษุรักษ์ ข้าพเจ้า พี่เหม่เลิศลักษณ์ ศรีสิงหสงคราม
เอ๊าะ..อายุธ นาครทรรพ เด็กหนุ่ม นั่งรถตู้ไปรับหลวงปู่ที่วัดจามเทวี ลำพูนนอนที่กองพันสัตว์ต่างเชียงใหม่ 1 วัน
.......รุ่งขึ้นเช้าไปเชียงรายนอนที่วัดเม็งราย ถึงวัดเม็งรายเย็นแล้วฝนตกอีกด้วยจึงทำอะไรไม่ได้ รุ่งขึ้นอีกวันคือวันที่ 4 พ.ค. 2520
จึงทานข้าวแต่เช้านำฉัตรและบายศรีเครื่องบวงสรวงขึ้นดอยตุง โดยเปลี่ยนรถเป็นรถ 2 แถวเจ้าถิ่นนำขึ้นไป เพราะรู้และชำนาญทาง ทางยังขรุขระฝุ่นตลบไปหมด
ทางแคบด้วยขึ้นลงชันมากกว่านี้เวลารถลงเขาเขาจะขับเร็วมากเพื่อจะได้มีกำลังส่งเมื่อรถขึ้นเขา ดีว่าข้าพเจ้านั่งรถคันเดียวกับหลวงปู่วงศ์จึงไม่กลัวเท่าไร
.......ถึงวัดเชิงดอยตุงหลวงปู่วงศ์นั่งไหว้ตั้งนาน แล้วหาพะองคือบันไดที่เป็นไม้ไผ่ยาว ๆ ต้นเดียวแล้วเจาะรูเอาไม้เสียบเล็ก ๆ พอเหยียบขึ้นไปได้
หาและทำที่นั่นแหละ แล้วเอาขึ้นรถไปถึงยอดดอย ใกล้ ๆ จะถึงสูงชันคนต้องเดินรถพาขึ้นไม่หมด ถึงเจดีย์แล้วหลวงปู่ก็ขึ้นบันไดเองถึงยอดเจดีย์
เป็นว่ายอดตันไม่มีรูให้เอาฉัตรเสียบได้ ผู้ชายจัดการทางเจดีย์ ผู้หญิงข้าพเจ้า พี่ชอ คุณเนียร ประกอบบายศรีทำด้วยกระดาษทอง
......ข้าพเจ้าทำเองที่บ้านใส่ปี๊ปไป กระทงก็ระดาษทองหมด ดอกไม้ก็ใช้ดอกไม้แห้งประดับตัวบายศรี ส่วนกระทงเอาดอกไม้สด จัดไม่ทันเสร็จดีพวกผู้ชายบอกลงไปก่อน
ฉัตรใส่ไม่ได้ ต้องไปหาช่างทำเป็นหมวกสวมเอา ถึงเชียงรายมืดแล้ว ช่างเหล็กก็แน่ทำทั้งคืน
เช้ามืดคณะล่วงหน้าไปก่อนตื่นแต่เช้ามืดไปรับหมวกที่เขาทำฉัตรติดไว้ขึ้นดอยตุง
.......จัดการไม่ทันเสร็จคณะหลวงพ่อท่านก็ไปถึง จึงช่วยกันใหญ่ หลวงปู่มหาอำพัน บุญ-หลง วัดเทพศิรินทร์ไปพร้อมหลวงพ่อท่าน
ได้เอาทองคำเปลวไปติดฉัตรและแบ่งให้ข้าพเจ้า พี่ชอได้ติดด้วย ขณะที่พวกผู้ชายเอาฉัตรปีนขึ้นไปติดบนยอดเจดีย์
อากาศเป็นใจคือลมพัดเอาก้อนเมฆมาบังวิวข้างล่างไม่ให้เห็นความสูงจากยอดเจดีย์ลงไปที่เชิงเขา ไม่ต้องกลัวความสูง
.......สวมฉัตรและห่มผ้าเจดีย์ 2 องค์เรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อท่านทำพิธีบวงสรวงแล้วนำเดินเวียนเทียนรอบเจดีย์ด้วย คณะหลวงพ่อท่านเสร็จแล้วกลับเลย
คณะล่วงหน้าไปก่อนกลับทีหลัง คือนอนที่วัดเม็งรายอีก 1 คืน รุ่งขึ้นไปส่งหลวงปู่ชัยวงศ์ที่วัดท่าน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
หลวงปู่เอาบายศรีกระดาษทองไว้บูชาที่วัดท่าน นอนที่นั่นอีก 1 คืนจึงได้กลับกรุงเทพฯ
.......ด้วยความเป็นปลื้มสุดขีด เห็นรูปเจดีย์พระธาตุดอยตุงมีฉัตรสวยงามที่ไหนก็นึกปลื้มใจมากทุกครั้ง ว่าเราได้ร่วมทำด้วย
หลวงพ่อท่านบอกว่าการยกฉัตรพระธาตุดอยตุงกับพระธาตุจอมกิตินั้น เพื่อแก้เคล็ดหรือป้องกันไม่ให้คอมมูนิสต์ หรือต่างชาติยึดครองแผ่นดินของเราได้
จึงรอดปลอดภัยเป็นไทยจนทุกวันนี้...
◄ll กลับสู่ด้านบน
webmaster - 1/4/08 at 22:50
เริ่มพิธีบวงสรวง
ขอวกกลับมาเล่าเรื่องต่อไปว่า.. เมื่อท่านพระครูปลัดอนันต์ได้เป็นประธานในการจุดธูปเทียนที่โต๊ะบวงสรวงแล้ว อาจารย์ยกทรง เป็นผู้เปิดเทปบวงสรวงเช่นเคย โดยมีญาติโยมทั้งหลาย
นั่งล้อมบริเวณลานองค์พระธาตุเต็มไปหมดแทบจะหาช่องว่างไม่ได้เลย
หลังจากหลวงพ่อนำบูชาพระรัตนตรัยแล้ว อาจารย์ยกทรงกล่าวนำคำขอขมาแบบพิเศษ คือ แบบทางเหนือโดยทั่วไป เรียกว่า "วันทาหลวง" เป็นการขอขมาครบถ้วน
ทั้งพระบรมธาตุและพระบาท โดยพระครูปลัดอนันต์และพระสงฆ์พร้อมอุบาสกอุบาสิกา ได้ยกพานธูปเทียนแพขึ้น แล้วกล่าวคำขอขมาพร้อมกัน
เมื่อวางพานขอขมาที่บนฐานพระเจดีย์แล้ว ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย นำกล่าวคำ "นมัสการวาทพระธาตุดอยตุง" ดังนี้
ข้าพเจ้า เหล่าลูก มังรายราช
อภิวาท น้อมถวาย พุ่มบายศรี
ของบูชา พระสารี ริกธาตุ
ของสมเด็จ พระธรรมราช ทรงสวัสดิ์
บูชาพระ กัสสปเลิศ ธุดงควัตร
อัญเชิญอัฏ ฐิรากขวัญ บันเหินมา
รวมพระ บรมธาตุ ห้าร้อยองค์
ถวายพงศ์ ภูวรินทร์ ปิ่นนาถา
อติชาต ศัตรู ผู้ปรีชา
อาราธนา สถิตไว้ ใต้ดอยนี้
ขอกราบเบื้อง บาทบงสุ์ พระทรงฉัตร
ปิ่นรัฐ โยนก นครศรี
รังสฤษดิ์ พระอาราม รูจี
ให้โยธี มิลักขุ ดูแลวัด
ปวงข้า ขอประณต วันทนา
พระมหา วชิรโพธิ์ อรหัต
พร้อมฤาษี ห้าร้อยองค์ ทรงศีลพัตร
อัญเชิญรัต นะธาตุ ประยาตมา
ถวายเจ้า จอมวัง มังรายราช
บรมธาตุ ร้อยห้าสิบ สังขยา
ภูบดินทร์ ยินดี ปรีดา
ฐาปนา พระธาตุไว้ ใต้ดอยธง
ทรงสร้าง พระเจดีย์ เจ็ดศอก
ภายนอก ประดับแก้ว เรืองระหง
ครอบบน มหาธาตุ พุทธองค์
พระจอมพงศ์ สมโภช เก้าสิบวัน
ลูกถวาย อภิวาท พระทรงชัย
พระผู้เป็น จอมใจ จอมขวัญ
อัญชลี หมู่พรหม และเทวัญ
ทุกองค์ ทุกชั้น ทุกวิมาน
อภิวันท์ ทุกท่าน ผู้มีคุณ
เกื้อหนุน พระธาตุเจ้า ทุกสถาน
ขออัญเชิญ รับเครื่อง นมัสการ
ที่ลูกหลาน น้อมถวาย บูชา
ขอทุกองค์ จงโปรด โมทนา
เมตตา ปกปัก รักษา
คุ้มครอง กายใจ และวาจา
ให้ข้า มั่นอยู่ ในความดี
ทุกข์โศก โรคภัย จงหายหมด
ปรากฏ แต่พร ทั้งสี่
หวังใด ได้สม สวัสดี
แต่นี้ จวบจนนิพพานเทอญ ฯ
ในขณะที่กล่าวคำนมัสการนั้น ทุกคนต่างก็กล่าวพร้อมเพรียงกัน ได้จังหวะจะโคนไปด้วยกัน เสียงดังกังวาลไปทั่วทั้งดอยตุง
สร้างความปีติยินดีที่ได้กล่าวคำสรรเสริญต่อหน้าองค์พระบรมธาตุเป็นอย่างยิ่ง ฟังแล้วจับอกจับใจเป็นที่สุด
เสียงกระหึ่มไพเราะเยือกเย็นไปทั่วเข้ากับบรรยากาศที่สดชื่นในยามเช้าของวันนั้น
เมื่อทุกคนกล่าวคำนมัสการจบแล้ว พระครูปลัดอนันต์จึงเข้าไปด้านในองค์พระเจดีย์แล้ว เริ่มพิธีโปรยข้าวตอกดอกไม้ และสรงน้ำหอมรอบองค์พระธาตุทั้งสอง
พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ปี่พาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ มหาชัยแล้วให้ญาติโยมได้กราบไหว้บูชาองค์พระธาตุ เป็นอันเสร็จพิธี
ในงานนี้ มีผู้บริจาคเป็นจำนวนเงินเกือบสองแสนบาท จะนำไปถวายเจ้าอาวาสดอยตุงในปีหน้า สำหรับวัตถุมงคลที่ระลึก พระครูปลัดอนันต์ได้นำลูกปัดประคำเล็ก ๆ
ให้ญาติโยมทั้งหลายได้นำเอาไปไว้บูชา แต่ของมีจำนวนไม่พอกับญาติโยม หากผู้ใดที่ยังไม่ได้ก็อย่าได้เสียใจ เพราะเราได้ไปร่วมพิธีกันในวันนั้น
ก็นับว่าเป็นมหากุศล ถึงท่านที่ไม่ได้เดินทางไปด้วย หากพึงอนุโมทนาร่วมกัน ก็คงจะเกิดผลบุญมหาศาลเช่นเดียวกัน
เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. พระครูปลัดอนันต์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ รวม ๕ รูป ได้ฉันภัตตาหารเพลที่นั่น โดยมีคุณป๋องและคุณหนู เป็นเจ้าภาพ ได้ขนเสบียงอาหารนำมาให้
๓๐ ชุด แต่คณะผู้จัดสถานที่จำเป็นต้องเดินทางล่วงหน้าไปก่อน จึงมิได้อยู่ฉันร่วมด้วย ต้องขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
คณะที่ล่วงหน้ามาก่อน ก็มีคณะโยมน้อยเพื่อมาจัดเตรียมบายศรี คณะเครื่องเสียง คณะที่จะมาแต่งตัว และคณะจัดริ้วขบวน ส่วนคุณสุพัฒน์ อ.นฤมล
ได้รออยู่ก่อนแล้ว เพื่อจัดเตรียมสิ่งของบางอย่างให้พร้อม เมื่อคณะใหญ่มาถึงจะได้ไม่ขาดตกบกพร่องไป
ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทางวัดและชาวบ้านเป็นอย่างดี
ความจริงการเตรียมงานนี้ ได้วางแผนกันมานานแล้ว เพราะนับตั้งแต่ได้เดินทางไปภาคเหนือ เพื่อฟื้นฟูรอยพระพุทธบาท ๔ พระองค์ เมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ พฤศจิกายน
๒๕๓๖ ได้เคยเดินทางมาทำพิธีที่นี่แล้ว แต่ยังขาดที่วัดพระธาตุดอยตุง จึงคิดว่าปี ๒๕๔๐ จะกลับไปอีกครั้งหนึ่ง
แต่ถ้าพิธีกรรมยืดไปถึงค่ำมืด เกรงจะเกิดอันตรายในตอนขากลับลงมา จึงได้ย้อนกลับไปทำพิธีกรรมเป็นพิเศษรวมกันที่วัดพระธาตุจอมกิตติ
ซึ่งคงจะเป็นเพียงครั้งเดียวแค่นี้ เพราะยังมีที่อื่นอีก ๒-๓ แห่ง คิดว่าปี พ.ศ.๒๕๔๒ คงจะได้ครบถ้วนทุกภาคของประเทศ แล้วจะยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
สำหรับเรื่อง "พิธีบวงสรวง ณ วัดพระธาตุดอยตุง" ก็คงจะต้องยุติไว้ก่อน
ซึ่งจะต้องรอไปพบกับเรื่องราว "พิธีบวงสรวง ณ วัดพระธาตุจอมกิตติ" ในฉบับหน้า หวังว่าทุกท่านที่ร่วมเดินทางไป หากมีการทำหรือพูด..ขาดตกบกพร่องไป
ก็ขอได้โปรดให้อภัยด้วย...สวัสดี
◄ll กลับสู่ด้านบน
webmaster - 9/4/08 at 23:02
ตอนที่ ๒
งานพิธีฉลองชัย "ตัดไม้ข่มนาม"
ณ อาณาจักรโยนกนครเชียงแสน (พระธาตุจอมกิตติ)
........เมื่อฉบับที่แล้วนั้น ได้เล่าเรื่องการเดินทางไปทำพิธีบวงสรวงสักการบูชา ณ วัดพระธาตุดอยตุง
หลังจาก พระครูปลัดอนันต์ทำพิธีเสร็จแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันกลับลงมา
เพื่อรับประทานอาหารกลางวันกัน ส่วนใหญ่คณะรถบัสจะสั่งอาหารกล่องไปทานกันบนรถ เนื่องจากเกรงว่าจะไปไม่ทันตามกำหนดเวลา
เหตุการณ์ในวันนั้น มีความรู้สึกว่าพวกเราที่เป็นลูกหลานหลวงพ่อทุกคน ต่างพร้อมเพรียงกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความกระฉับกระเฉง คล่องตัวกันดีมาก
ทั้งผู้จัดรถก็มีความกลมเกลียวกันดีทุกคณะ ทั้งผู้โดยสารต่างก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเช่นกัน จึงมีความสะดวกและมีความปลอดภัยทุกประการ
เมื่อเรามีความสามัคคีกัน มีระเบียบวินัยที่ดี และตรงต่อเวลาอย่างนี้ ทำให้สามารถจัดงานได้บรรลุผลตามเป้าหมายทุกอยาง การรวมตัวกันมากมายอย่างนั้น
มิใช่เป็นของง่ายเพราะเป็นการรวมพลัง ที่จะช่วยกันอธิษฐานจิตให้ชาติบ้านเมืองได้พ้นจากภัยพิบัติ อันอาจจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติก็ดี
หรือภัยจากผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อประเทศชาติก็ตามที
ภาพเหตุการณ์ในวันนั้น จากการจัดตั้งขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะ แล้วเคลื่อนขบวนกันไป ให้ดูเหมือนกับอดีตกาลที่ผ่านมานานนับพันปี
ที่มีการจัดแถวกองเกียรติยศ เพื่อรวมพลกันกอบกู้เอกราช ทุกคนที่จิตใจที่ไม่หวั่นไหวต่อข้าศึกศัตรู เมื่อรู้ว่าจะต้องทำศึกสงคราม
มีความคึกคะนองที่จะได้ออกสู่สมรภูมิ
แต่ในครั้งนี้ อาจจะแตกต่างกันไป เพราะเรารวมพลกันในด้านของความดี แล้วทำจิตใจ ไม่หวั่นไหวต่อข้าศึกศัตรู คือกิเลส หรือความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ
ภาระกิจใด ๆ ที่เราตั้งใจไว้ เราก็ได้ปฏิบัติภาระกิจนั้น สำเร็จครบถ้วนทุกประการ ซึ่งเป็นผลงานของพวกเราทุกคน
ส่วนที่บางท่านมีความเห็นว่า น่าจะรวบรัดให้เร็วกว่านี้ หรือผู้จัดไม่สังเกตคนนั่งฟังว่าพลิกท่านั่งหลายครั้งแล้ว และบางท่านก็มีความคิดว่า
ใกล้เวลาจะค่ำน่าจะยุติได้แล้ว เป็นต้น
คำชี้แจง
อาตมาจึงขอเรียนชี้แจงให้ทราบ เพราะในวันงาน อาจจะมีหลายท่านที่เหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง และผ่านจากการเดินขึ้นวัดพระธาตุดอยตุงมาแล้ว
บางคนก็ต้องอดทนกับความหิวกระหาย อีกทั้งก็ไม่ทราบว่า งานจะต้องเสร็จพิธีในเวลาใกล้ค่ำ เหล่านี้เป็นต้น จึงต้องขออภัยทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้
ที่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
ด้วยเหตุเพราะว่าพิธีกรรมคราวนี้
๑. เป็นการสมโภชพระเจดีย์
๒. เป็นฉลองอายุพระพุทธศาสนา
๓. เป็นการเทอดพระเกียรติคุณพระเจ้าพรหมมหาราช
๔. เป็นการจัดงานย้อนอดีตที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยจัดมาแล้ว ๓ - ๔ ครั้งคือ มีการถวาย "ช้างพลายประกาย" แล้ว ถวาย "เครื่องราชกกุฏภัณฑ์จำลอง"
และการถวาย "พระเจดีย์องค์เล็ก" เป็นต้น แล้วจึงรวบรัดจัดงานทั้งหมดมากระทำในวันเดียวกันให้เสร็จไปเลย
ฉะนั้น งานพิธีต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จำเป็นต้องใช้เวลา เพราะจำเป็นต้องเล่าประวัติความเป็นมาให้ทราบ เพื่อคนที่มาภายหลังจะได้ฟังแล้วเข้าใจ
ส่วนคนเก่าก็จะได้ย้อนความจำกันอีกครั้ง อีกทั้งมีผู้เสนอการฟ้อนรำ และการแสดงรำดาบ รำพลองไฟ การตีกลองสะบัดชัย เป็นต้น และตามประเพณีของชาวเหนือ
ก็จะต้องมีการจุด "พลุพิธี"และ "โคมลอย"เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ด้วยเหตุนี้ จำต้องรอให้ถึงเวลาค่ำมืดเสียก่อน จึงจะทำพิธีได้ครบถ้วน
แต่บางท่านอาจจะมีข้อแย้งว่า ทำไมไม่บอกกันให้ทราบก่อน เพื่อจะได้เตรียมตัวไว้ให้พร้อม อาตมาก็ขอแจ้งให้ทราบว่า ในการทำพิธีกรรมอย่างนี้ หรือที่ผ่าน ๆ
มานั้น เป็นการทำพิธีแบบ "โบราณกาล" ซึ่งมิได้หมายความว่าคิดดัดแปลงขึ้นมาเอง แต่เป็นการกระทำของคนสมัยก่อนโน้นเป็นแบบอย่าง
เนื่องจากแต่ก่อนนี้ การเดินทางไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อย่างเช่นรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี เป็นต้น จะต้องเดินผ่านป่าผ่านดง
มีอันตรายจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ คนสมัยนั้นเขาจะถือเคล็ดคือไม่พูดกันก่อนว่าจะไปไหนเมื่อถึงเวลาเขาจะรู้กัน แล้วเขาก็เดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ
อาตมาก็จำเป็นต้องรักษาธรรมเนียมเก่าๆ ไว้ อีกทั้งได้ประสพการณ์จากที่ได้ผ่านงานมาแล้ว ถ้าไม่รักษาเคล็ดอันนี้ไว้ จะเกิดการยุ่งยากก่อนงานมากทีเดียว
จะหาสิ่งของต่าง ๆ หรือบุคคลที่จะมาร่วมงาน จะมีเรื่องที่ยุ่งยากมาก และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือจะต้องป่วยไข้ไม่สบายเสียก่อน
ดังตัวอย่างสำหรับงานที่ผ่านมานี้ มีคนป่วยไข้ไม่สบายหลายคน โดยเฉพาะหัวหน้าคณะ คือ "ท่านเจ้าอาวาส" ปรากฏว่ากลับมาถึงแล้วท้องเดินอย่างหนัก
ถึงกับต้องให้น้ำเกลือกัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม งานก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็ประทับใจ แม้จะเหน็ดเหนื่อยปานใดก็ตาม นั่นคือจุดหมาย
เพราะหวังให้คนเร่งรัดบุญบารมีที่จะเต็มเร็วขึ้น
ในตอนนี้ก็ขอย้อนเล่าถึงงานต่อไปว่า ครั้นถึงใกล้เวลาที่นัดหมายกัน คือเวลา ๑๔.๓๐ น. ขบวนรถบัสและรถตู้เริ่มทยอยกันเข้ามา
โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเชียงแสนมาอำนวยความสะดวกให้ เจ้าหน้าที่ของเราก็เตรียมจัดสิ่งของ และแผนผังในการจัดริ้วขบวนตามที่ได้วางแผนกันไว้แล้ว
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ช่วยกันขนของมาจากวัดก่อนก็มี คณะคุณหมอสุรพงษ์ (อู๊ด).คณะเอ.ไอ.เอ, คณะพุฒตาล และ คุณหมู - คุณนก เป็นต้น ส่วน คุณอธิก ก็เป็นเจ้าภาพน้ำดื่ม และ คณะรวมใจภักดิ์ โดย อ.วิชชุ มาช่วยกันจัดขบวนในภายหลัง
ส่วนคณะทำบายศรีนอกจากมี โยมน้อย, แม่ชีเล็ก, มณเฑียร แล้วก็ยังมีทุเรียน, เล็ก, เอ, อุ๋ม, คุณวิชัย และ อ.โอ๋ มาช่วยเสริมอีกหลายคน โดยมี คุณเครือวัลย์
ซึ่งเป็น พยาบาลไปช่วยขนของกันมาจากวัด ต่างก็ช่วยกันเตรียมอยู่บนลานพระธาตุ
ผู้ที่แต่งกายเป็นชาวเหนือ ก็เข้ามาเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยมี คุณสุทธิลักษณ์ เป็นผู้ให้ยืมชุดบ้าง นอกนั้นก็ได้หาเช่ามาจากที่อื่นด้วย
สำหรับท่านที่หาชุดมาเอง ก็ได้แต่งตัวตั้งแต่อยู่บนรถ ส่วนท่านที่ต้องการมาแต่ง แต่ไม่มีชุดแต่งก็ต้องขออภัยด้วยที่จัดหาได้ไม่ครบทุกคน
เมื่อขบวนรถของท่านเจ้าอาวาสมาถึงแล้วขบวนที่ ๑ จัดโดย คณะคุณนราธิปขบวนที่ ๒ เป็นขบวนพระ จัดโดย
คณะพุฒตาลและขบวนที่ ๓ เป็นขบวนหลวง จัดโดย คณะ อ.วิชชุ
ทั้งนี้โดยมี คณะหมออู๊ดเป็นผู้ลำเลียงของมาส่งให้ โดยมี พระชัยวัฒน์ คุณอธิก คุณสนิท (ตุ๊) อ.สมพร คุณดรุณ คุณพรเทพ และคุณเอกเป็นผู้ประสานขบวนทั้งหมด
สำหรับช้างพลายประกายแก้วจำลองนั้น คุณประสงค์, คุณกรลดาและชาวภูเก็ต นำมาร่วมพิธี
ส่วนช้างตัวเล็กนั้น คุณสุพัฒน์ ได้ไปหาซื้อมาจากเชียงใหม่ อ.นฤมล
ก็ได้ตัดเย็บธงช่อช้างและหาตุงมาประดับรอบองค์พระธาตุ
ส่วนเครื่องราชกกุฏภัณฑ์จำลองก็เช่นกันซื้อมาแล้วก็ให้ อ.สมพร นำไปแก้ไขใหม่ แล้วให้ปิราณี ลูกสาว
"ช่างเนียน" ปิดทองและประดับเพชรให้อย่างสวยงาม โดยมี ต๋อย ที่อยู่ภายในวัด ช่วยตบแต่งพานรองให้สวยงาม
พุ่มเงินและพุ่มทอง มีคุณวันเพ็ญและ คณะคุณเครือพรรณเป็นเจ้าภาพ ส่วนฉัตรเงินและฉัตรทองนั้น มี คุณวิมาลี และ คุณประพัฒน์ ทีปะนาถ เป็นเจ้าภาพ
สำหรับกรวยดอกไม้นั้น โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคมช่วยจัดหามาให้ อีกทั้งให้ยืมโซฟา สปอร์ตไลท์
และเครื่องใช้อื่น ๆ อีก ให้เด็กนักเรียนมาช่วยเลี้ยงน้ำ และยืนโปรยข้าวตอกดอกไม้ต้อนรับอยู่สองข้างทาง ในระหว่างที่ขบวนทั้งหมดผ่านไป
ขบวนที่ ๑
เมื่อขบวนที่ ๑ ซึ่งเป็น "ขบวนราษฎร์"ผ่านไป โดยการนำของชาวบ้านบรรเลงมองเซิง
เริ่มแถวแรกเป็นการอัญเชิญ "ตุงไต"และเสลี่ยงพุ่มผ้าป่า (จัดทำโดย คณะคุณต๋อยแล้วมีผู้มาร่วมปักธนบัตรกันเยอะแยะ) และขนาบด้วยการถือตุงทั้งสองข้าง ต่อจากนั้นจะเป็นผู้ถือป้าย "เวียงโยนกบุรีศรีเชียงแสน"มีผู้ติดตามร่วมขบวนมากมาย
ต่อไปเป็นแถวของผู้ถือป้าย "เวียงไชยนารายณ์"คือชื่อเมือง "เชียงราย"เก่านั่นเอง ปัจจุบันเรียก "ปงเวียงชัย" อันเป็นเมืองของพระยาเรือนแก้ว
พระราชบิดาของ พระนางแก้วสุภาพระมเหสีของพระเจ้าพรหมมหาราช
แล้วตามด้วยการถือเสลี่ยงบายศรี ๔ คน พร้อมขนาบด้วยตุงทั้งสองข้าง มีประชาราษฎร์ แต่งกายสวยงามเดินตามเป็นขบวนอีกเช่นกัน
แถวต่อมาเป็นของผู้ถือป้าย "เวียงไชยปราการ"ตามประวัติเล่าว่า
เมื่อพระเจ้าพรหมมหาราชขับไล่ขอมออกไปจากเมืองโยนกบุรีแล้ว จึงทรงให้พระเจ้าพังคราชพระบิดาปกครองเมือง ส่วนพระองค์ขับไล่บอมไปจนได้เมืองอุมงคเสลา
(คือเมืองฝางปัจจุบันนี้) จากขอมได้ แล้วเปลี่ยนชื่อ "เมืองอุมงคเสลา" เป็น "เวียงไชยปราการ"
(หมายเหตุแต่หลวงพ่อบอกว่า เมืองอุมงคเสลาคือ
เมืองหริภุญไชยหรือเมืองลำพูนนั่นเอง คิดว่าเมื่อขอมดำขบายอาณาเขตมาถึงเมืองฝางแล้ว จึงได้ใช้ชื่อว่า
"อุมงคเสลา" เหมือนกัน)
แถวต่อมาเป็นแถวของ "เวียงพางคำ" ซึ่งชื่อของเมืองนี้ ได้ตั้งตามเหตุที่ "พรหมกุมาร" คล้องช้างพางคำ (คือกระดึงทองคำ) ได้แล้วให้ชื่อเมืองนั้นว่า
"เวียงพางคำ" อันเป็นบริเวณที่ตั้งค่ายฝึกซ้อมพลทหาร และสร้างสมเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง
แถวต่อมาเป็นชื่อ "เวียงสีทวง" อันเป็นเมืองที่พวกขอมขับไล่ให้ไปอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นริมแม่น้ำสาย ทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งโยนกนคร
แล้วขอมเข้าจัดการเมืองเป็นใหญ่ในนครโยนกและแว่นแคว้านทั่วไป
เมื่อขบวนแต่ละเมืองผ่านไป ก็ปิดท้ายขบวนด้วยการถือร่มทอง ๒ คน แล้วตามด้วยขบวนอัญเชิญผ้าห่มเจดีย์ และผ้าตุง ๕ เมตร พร้อมด้วยชาวประชาทั้งหลาย
ซึ่งได้เดินขึ้นไปก่อนตามถนนประมาณ ๗๐๐ เมตร จึงจะถึงบริเวณลานพระเจดีย์ เมื่อหัวขบวนเดินขึ้นไปแล้ว ท้ายขบวนจะอยู่เชิงเขา ประชาชนทั้งหมด
ได้แหวกแถวออกทั้งสองข้าง เพื่อต้อนรับขบวนที่ ๒ และขบวนที่ ๓ ที่จะเดินผ่านไป
ขบวนที่ ๒
ขบวนที่ ๒ เป็นขบวนพระ โดยมีผู้อัญเชิญป้ายอักษร "คณะศิษย์พระราชพรหมยาน" นำขบวน
ขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะที่ ๒ เป็น"ขบวนพระ"มีชาวบ้านตีฆ้องอุยและกังสดาล นำขบวน โดยมี
อ.นฤมลและ จารุณีเป็นผู้ถือป้าย "คณะศิษย์พระราชพรหมยาน"แล้วพระครูปลัดอนันต์เป็นผู้อัญเชิญพานธูปเทียนแพนำขบวนทั้งหมด
ท่านพระครูปลัดอนันต์ และท่านพระครูวัดโขงขาว ผู้นำขบวนเดินถือพานธูปเทียนแพ
ตามด้วยขบวนอัญเชิญ ฉัตรทอง ฉัตรเงิน, ธงชาติไทยและ ธงธรรมจักรเป็นการอัญเชิญเสด็จของ สมเด็จองค์ปฐม ผู้เป็นองค์ประธานของงานทุกภาค ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเสลี่ยงดอกบัวแก้ว
มีผู้กั้นกางเศวตฉัตรถวายแด่พระพุทธองค์ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐเลิศทั้งไตรภพ
พระบรรจงอัญเชิญรูปพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พร้อมด้วยผู้ถือ พุ่มทองพุ่มเงิน พระไพบูลย์อัญเชิญรูปหลวงปู่ (พระสุปฏิปันโน) พร้อมด้วยผู้ถือ
พุ่มเงินพุ่มทอง
ศ.ดร.ปริญญาเป็นผู้อัญเชิญรูปท่านท้าวมหาราช พร้อมด้วย บัวเงินบัวทอง
แล้วติดตามด้วย "คณะศิษย์อาวุโส"ทั้งชายหญิง อันมี จ่าประมวล, จ่าปัญญาและคณะพุทธบริษัททั้งหลาย
ขบวนที่ ๓
ขบวนนี้เป็น "ขบวนหลวง"มีขบวนของผู้อัญเชิญ ธงช่อช้าง(ธงสามเหลี่ยม) นำขบวน ๑๒ คน ติดตามด้วย ขบวนตุง อีก ๘ คน และผู้อัญเชิญเสลี่ยง ช้างพลายประกายแก้ว(เล็ก) ๔ คน ขนาบด้วยธงช้างอีก ๒ คน
ต่อไปเป็นขบวนนายทหารองค์รักษ์ ๘ คน ซึ่งเป็นผู้อัญเชิญ "เครื่องราชกกุฏภัณฑ์จำลอง"คือพระมหาพิชัยมงกุฏ, พระแสงขรรค์ธารพระกร (ไม้เท้า), พัดวารวิชนี, พระแส้จามรี, ฉลองพระบาท
(รองเท้า) เป็นต้น
แล้วต่อด้วยเสลี่ยง ช้างพลายประกายแก้ว (ใหญ่)ต่อจากนั้นจึงเป็นเสลี่ยงเจ้าเมือง และมเหสี โดย
คุณอนันต์ และ คุณแสงเดือนได้อัญเชิญพานบายศรี (จัดทำโดย
คณะพระวันชัย จ.สุโขทัย) ซึ่งติดตามด้วยขบวนชุดฝ่ายในถือร่มทองและถือขันดอกไม้ แล้วตามด้วยขบวนชุดฟ้อนรำ
เป็นต้น
ขบวนอัญเชิญเสลี่ยงเจ้าเมือง มีคุณอนันต์ เป็นผู้แต่งกายสมมุติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ทั้งขบวนที่ ๑ ขบวนที่ ๒ และขบวนที่ ๓ ต่างก็แต่งกายกันด้วยความสวยสดงดงาม ทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะ อ.ยกทรงสังสัยจะเปิดเซฟสร้อยคอทองคำออกมาทั้งหมดเลย ส่วนบางคนก็ประดับด้วยเพชรนิลจินดา แลดูงดงามระยิบระยับ
ตามที่ได้นัดหมายกันมาหลายท่าน
ขบวนอัญเชิญเสลี่ยง ซึ่งมีคุณแสงเดือน พร้อมพันธุ์ เป็นผู้แต่งกายสมมุติเป็นพระมเหสี
เมื่อ "ขบวนพระ" และ "ขบวนหลวง" เดินผ่านระหว่างกลางของขบวนที่ ๑ ซึ่งกำลังยืนประนมมืออยู่ทั้งสองข้างทาง เป็นการตั้งแถวรอรับเพื่อแสดงความเคารพ
แล้วขบวนที่ ๑ จึงกลับมาเข้าแถวรวมกันเหมือนเดิม เดินปิดท้ายขบวนไปจนถึงบริเวณลานพระธาตุ
ครั้นขบวนที่ ๒ และขบวนที่ ๓ เดินมาถึงปะรำพิธีแล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้จัดรูปและเครื่องสักการะทั้งหลาย ขึ้นประดิษฐานยังที่โต๊ะหมู่บูชา
ส่วนผ้าห่มก็นำไปห่มที่พระเจดีย์ธงช่อช้างและตุงก็นำไปปักไว้รอบ ๆ องค์พระธาตุและกำแพงด้านนอก
ผู้ที่แต่งกายในชุดล้านนาช่วยกันอัญเชิญเสลี่ยง "พานพุ่มเงิน - พุ่มทอง" อย่างสวยงาม
อีกทั้งมีการผูกผ้าประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ไว้ที่ประตูกำแพงด้านใน และที่เต้นท์ปะรำพิธีอย่างสวยงาม
แต่ละคนก็แยกย้ายกันนั่งอยู่ในปะรำพิธีส่วนที่เหลือก็แบ่งออกไปนั่งรอบองค์พระเจดีย์ แต่ที่ไม่สามารถขึ้นมาก็มีอีกหลายท่าน เพราะคนมากมายเหลือเกิน
แต่ก็สามารถจะได้ยินเสียงไปทั่วบริเวณนั้น
ครั้นถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. จึงได้เริ่มพิธีอันสำคัญ โดยได้เล่าประวัติ พระธาตุจอมกิตติต่อจากประวัติ
พระธาตุดอยตุงแต่ก็ได้อัญเชิญ "โอวาทของหลวงพ่อ"มากล่าวถึงก่อน แล้วจึงจะเชิญ คุณอนันต์และคุณแสงเดือน มาอ่านต่อไป.
◄ll กลับสู่ด้านบน
webmaster - 18/4/08 at 00:07
โอวาทของหลวงพ่อ
นับตั้งแต่สมัย พระเจ้าสิงหนวัติมาจนถึงรัชสมัย พระเจ้าพังคราชครองโยนกบุรีศรีเชียงแสน มีอาณาเขตบริเวณเมืองเชียงแสน ถึงแคว้นพะเยา ได้สืบพระราชสมบัติติดต่อกันมา ๓๗ รัชกาล
ซึ่งหลวงพ่อบอกว่าเป็น พ.ศ.๙๐๐ พอดี ไม่มีการขบถ ไม่มีทรยศ ไม่มีการแย่งชิงความเป็นใหญ่ซึ่งกันและกัน
แล้วหลวงพ่อท่านก็กล่าวต่อไปว่า
"...ตอนนี้ พ่อขอพูดเรื่องประเพณีนิยมของคนไทยหรือระเบียบวินับ คนไทยที่เป็นไทยจริง ๆ นั้นเป็นผู้รักธรรม ประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔
แต่ทว่าอาศัยความดีของคนไทย เราจึงต้องขยับขยายพื้นที่ออกไปให้กว้าง ให้พอกับคนจำนวนมาก สมัยพระเจ้าพังคราชนี่ เรามีประชาชนประมาณ ๑ แสนคนเท่านั้น
แต่กำลังคนที่จะรวมเป็นกองทัพจับอาวุธสู้ได้ คือตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ถึง ๖๐ ปี ได้ประมาณ ๓ หมื่นคนเท่านั้น
จงจำไว้ให้ดีว่า "ลูกรัก" ของพ่อทุกคนเป็นคนไทย จงอย่าทำใจเป็นทาส ทำใจของเราให้ทรงไว้ซึ่งความเป็นอิสรภาพ คือความเป็นไท
สิ่งที่จะสร้างความสุขให้แก่ลูก อย่าลืมว่าชีวิตของพ่อ...ไม่นานนัก...พ่อก็ตาย...!
เวลานี้พ่อมีอายุใกล้ ๗๐ ปีเข้าไปแล้ว ดูพระราชาทั้งหลายเหล่านั้นท่านก็ตาย ความ ตายของพ่อก็มีจริง พ่อรู้ตัวว่าพ่อจะตาย ฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอยาง
วิชาความรู้ที่พ่อให้ลูก...ลูกของพ่อทุกคน...พ่อมีความรัก....
อย่าลืมนะ...! ว่าพ่อรักลูกทุกคน แต่ลูกจงระวังนะ คนอีกพวกหนึ่งที่เขาไม่ใช่ไท เขามีใจเป็นทาส เขาคอยเข้ามาทำลายความสามัคคี
มันมีอยู่อีกประการหนึ่งสังคหวัตถุที่จะยึดเหนี่ยวน้ำใจซึ่งกันและกันไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาความรู้
คือ มโนมยิทธิที่พ่อให้ไว้ ต้องรักษาไว้ด้วยชีวิตจิตใจของลูก จับไว้เฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์
ตลอดถึงงานสาธารณะ ประโยชน์ต่าง ๆ
แล้วหลวงพ่อก็ฝากคำพูดที่น่าประทับ ใจไว้อีกว่า
"ถ้าพ่อตายแล้ว.. ลูกทุกคนยังทำกิจนี้อยู่ ก็ชื่อว่าลูกยังเกาะชายจีวรของพ่ออยู่..."
ประวัติเมืองโยนกบุรี
เมื่อพระเจ้าพังคราชเสด็จขึ้นครองราชย์ ในปีที่ ๒ ในขณะมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา พ.ศ.๙๐๒ ก็มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เนื่องจากมีพวก "ขอมดำ" หรือพวก
"มอญ" อาศัยอยู่ที่ หริภุญไชยสมัยนั้นเรียกว่าเมืองอุมงคเสลา
ขอมดำนี้ในสมัยนั้นมีอำนาจมาก ปกครองตั้งแต่เมือง "อุมงคเสลา" ลงไปทางใต้ จนถึง "ทวารวดี" นครปฐม ซึ่งในดินแดนนั้น ก็มีคนไทยอาศัยอยู่เกลื่อน
เป็นหย่อมๆ เรียกว่า "พวกไทยทวาลาว" ตกเป็นเมืองขึ้นอยู่ในอำนาจของขอมบ้าง โดยเสียภาษีเป็นทองหรือพืชผล ให้กับพวกขอมดำ
ขณะนั้น "พวกขอมดำ" เห็นว่าทางเมืองเชียงแสน มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลา ธัญญาหาร มีแหล่งน้ำสำคัญเป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
ประชาราษฎร์ก็อยู่ดีกินดีมีความสุข บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ว่างเว้นจากการทำศึกสงครามมาหลายรัชกาล มัวแต่ตั้งหน้าทำมาหากินกัน
จึงมิได้ตระเตรียมการป้องกันประเทศไว้ให้พอเพียง
เมื่อมีเหตุการณ์คับขันเกิดขึ้น คือพวกขอมดำ ซึ่งเวลานั้นมีกำลังความสามารถมาก ได้ยกกองทัพเข้ามาประชิดติดพระนคร ก็ยากที่จะต่อต้านกำลังข้าศึกศัตรูได้
ผลที่สุดความเป็นเอกราชที่รักษามานานนับเกือบพันปี ก็ต้องสูญสิ้นอิสรภาพไปในบัดนั้น
การยกทัพมาในความครั้งนั้น ได้ยกทัพขยายอาณาเขตมาทางเหนือจะเข้าตีโยนกนครพระเจ้าพังคราชได้แต่งทัพไปรับที่เมืองพะเยา
ส่วนทางเมืองโยนกได้จัดให้คนขนย้ายทรัพย์สิน มีค่าต่าง ๆ ไปซ่อนไว้ตามถ้ำ บริเวณหุบเขา "ดอยตุง" และ "แม่สาย"
ทัพไทยตีประวิงเวลาไว้ ๑ เดือน ทัพขอมดำรุกไล่มาถึงเมืองโยนกนคร ไทยจึงยอมแพ้ เป็นอันว่า ขอมดำชนะไทยได้แต่เมืองเปล่า และผู้คนอีกเล็กน้อย
พระยาขอมดำได้ขับพระเจ้าพังคราชให้ไปอยู่ที่ "เวียงสีทวง"หรือ "วังสีทอง"บริเวณแม่สาย ให้เนื้อที่ทำกินไว้แสนไร่นอกนั้น เขตที่อื่นเป็นของขอมดำ และกำหนดให้ส่งส่วย ทองคำปีละ ๒๐ ชั่ง
เวียงสีทวงจึงนับว่าเป็นที่สำคัญ คือ เป็นสถานที่ประสูติของพรหมกุมาร
ไทยได้อพยพไปอยู่เวียงสีทอง มีสันทราย เป็นแดนกั้น ตั้งแต่แม่น้ำโขงถึงแม่น้ำกก ในปีแรกคนไทยลำบากมาก ต้องเตรียมพื้นที่ทำกินใหม่
และยังต้องร่อนทองให้ได้ปีละ ๒๐ ชั่ง เพื่อส่งส่วยขอม คนไทยอยู่ที่นั่นได้ ๑ ปี พระราชเทวีก็ประสูติราชกุมารองค์แรกพระนามว่า "ทุพภิกขะ" หรือ
"ทุกขิตกุมาร" ซึ่งแปลว่า "ผู้เกิดมาในท่ามกลางความทุกข์"
ในปีต่อมาได้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาแนะนำเกี่ยวกับวิธีทำ "ทองคำ" โดยใช้ แร่เพรียงไฟ แร่ทองแดง แร่ดีบุกและ สารปากนกแก้วมาหลอมรวมกันเป็นทองคำ
ทำให้คนไทยพ้นจากความลำบาก ที่ต้องไปเสียเวลาร่อนทองเพราะแร่พวกนี้หาได้ไม่ยาก และทำเสร็จสิ้นได้ในเวลาไม่กี่วัน และคนไทยก็มีทองใช้เหลือเฟือ
แม้จะต้องไปแอบทำตามถ้ำเพื่อไม่ให้ขอมเห็นคนไทยได้ร่วมกันทำมาหากิน ในไม่ช้าพื้นดิน บริเวณนั้นก็อุดมสมบูรณ์
◄ll กลับสู่ด้านบน
พระราชประวัติพระเจ้าพรหมมหาราช
ครั้นอยู่ต่อมาได้อีก ๓ ปี พระมเหสีของพระเจ้าพังคราช ก็ได้ประสูติพระราชกุมารอีกพระองค์หนึ่ง ในวันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ (เดือน ๔ ไทย) ปีมะเส็ง
ในเวลารุ่งแจ้ง พระราชกุมารองค์นี้มีผิวพรรณผุดผ่องและสิริรูปลักษณะงดงามดุจดั่งพรหม จึงให้ชื่อว่า "พรหมกุมาร"
(ในตอนนี้ หลวงพ่อบอกว่า ก่อนที่จะมาเกิดนั้น ท้าวผกาพรหมไปเชิญ ท่านสัมพเกษี พรหมให้ลงมาเกิดพร้อมกับพรหมอีก ๒๕๐ องค์ เพื่อช่วยกู้ชาติไทยให้ปลอดตัยจากความเป็นทาส)
ครั้นพรหมกุมารเจริญวัย มีชนมายุได้ ๗ ปี ชอบเล่นยุทธวิธี จึงอ้อนวอนขอพระราชบิดาให้ช่างทำเครื่องศาสตราวุธทั้งหลาย และเริ่มซ้อมเพลงอาวุธ ชอบการรบ
จึงเอาสหชาติทั้ง ๒๕๐ คน มาเล่นร่วมกัน พออายุเกือบ ๑๐ ปี เริ่มใช้สมอง
กราบทูลพระราชบิดาให้ขุดบ่อเป็นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งจะได้ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ได้
เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ ปี มีเทวดามาเข้าฝันบอกว่า วันรุ่งขึ้นให้ไปที่แม่น้ำโขง จะมีช้างเผือก ๓ เชือก ถ้าจับได้เชือกที่ ๑ ได้ จะเป็นจ้าวโลก
ถ้าจับเชือกที่ ๒ ได้ จะปราบชมพูทวีปได้หมด ถ้าจับเชือกที่ ๓ ได้จะปราบขอมได้หมด พอตอนสาย พรหมกุมารไปดักช้างตามความฝัน แทนที่จะเห็นช้างก็กลับเป็น
"งูหงอนแดง" ตัวขาวโพลนใหญ่โตมาก พรหมกุมารกับเพื่อน ๆ คิดว่าเรามาคอยช้าง แต่นี่เป็นงูหงอน ก็ไม่เอา
ตัวที่สองมาเป็นงูหงอนแบบเดียวกันอีก แต่ขนาดย่อมลงไปหน่อยก็ปล่อยไปอีก ตัวที่สามก็มาแบบเดียวกันอีก ก็เลยตัดสินใจกระโดดจับคองูหงอน
ก็กลายเป็นช้างเผือกขาวโพลนเดินทวนน้ำมาได้ ภายหลังตั้งชื่อว่า "ช้างพลายประกายแก้ว"เพราะสีใสดังแก้ว
แต่คนทั่วไปเรียกว่า "ช้างพานคำ หรือพังคำ" เหตุที่เอาทองคำหนักพันหนึ่ง มาตีเป็นกระพังทองคำล่อช้างขึ้นจากแม่น้ำ และสถานที่ช้างทวนน้ำ
ขึ้นมานั้นได้ชื่อว่า "บ้านควาญทวน"อยู่เหนือสบรวกขึ้นไปเล็กน้อย
พรหมกุมารมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปี ก็ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรส และหลังจากได้ช้างเผือกมงคลมาแล้ว จึงทูลขอให้พระราชบิดาเลิกส่งส่วยขอม
และให้ชาวเมืองฝึกกำลังอาวุธให้พร้อม ขุดคูขังน้ำ แล้วก็ได้ดัดแปลงหมู่บ้าน
ให้เป็นเมืองชื่อว่า "เวียงพางคำ"ครั้นเตรียมการรบเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มงดส่งส่วยให้ขอม
ฝ่ายพระยาขอมดำเห็นว่างดส่งส่วย จึงได้ให้เกณฑ์ทัพใหญ่ขึ้นมาปราบ ไทยก็เตรียมทัพยกไปตั้งมั่นที่ "ทุ่งสันทราย"และได้เห็นพรหมกุมารและช้างทรงก็ตกใจกลัว หมู่ช้างของขอมก็แตกตื่น
ในตอนนี้ หลวงพ่อท่านได้เล่าว่า
"เจ้าขอมดำมันรู้ว่าเราแข็งเมือง ก็จัดแจงยกกองทัพมาปราบเรา หวังเผด็จศึกให้สิ้นซากไป ฝ่ายคนไทยพร้อมอยู่แล้วนี่ ก็จัดกองทัพยกออกไปทันที
การยกกองทัพไปคราวนั้น มี"ช้างพลายประกายแก้ว" นำทัพ
พรหมกุมารประทับนั่งทรงเครื่องแม่ทัพสวยงาม สง่าผ่าเผยมาก สำหรับพระราชบิดา ประทับบนหลังช้างอีกเชือกหนึ่ง มีเศวตฉัตรกั้น เป็นจอมทัพ
มีแม่ทัพนายกองแต่งตัวสวย ๆ เป็นการ "ตัดไม้ข่มนาม"ข่มกำลังใจกันไปในตัวเสร็จ "พลทหาร"
ใช้เกราะเงินแกมทอง "นายทหาร" ใช้เกราะทอง "แม่ทัพ" ใช้เกราะทองประดับเพชร มันเป็นการสง่าผ่าเผย ทำให้ข้าศึกครั่นคร้าว เป็นจิตวิทยาอันหนึ่ง
แล้วพรหมกุมารจึงประกาศว่า
"การรบคราวนี้ จึงจึกถึงการรบคราวก่อน เราแพ้เขา ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ไปรุกรานเขา ขอมดำยกทัพมารุกรานเราเอง เราแพ้เขา เขาใช้อำนาจทำกับเรายังไง
ถ้าเราแพ้คราวนี้ ก็หมายถึงว่า คนทุกคนต้องตายอย่างทรมาน เพราะว่า เขาโกรธเราในฐานะที่เราแข็งเมือง
ฉะนั้น ขอทุกคนจงรบเพื่อชัยชนะ แต่อย่ามีความประมาท ข้อสำคัญที่สุดคือระเบียบวินัย ฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา สั่งยังไงทำตามโดยเคร่งครัด
เราจะชนะข้าศึกได้ คำว่าแพ้จะไม่มีสำหรับคนไทย..."
พอจบคำประกาศของพรหมกุมาร ก็มีเสียงโห่ร้องกึกก้องขึ้นมาทั้งแผ่นดิน สะเทือนไปหมด พร้อมกันนั้นก็มีฝนตกลงมาเป็นฝอยแสงแดดจ้า เป็นเวลาเที่ยง
ละอองฝนตกลงมาในอากาศ แสดงว่าบรรดาเทวดาพรหมทั้งหลายให้พร
เมื่อความมหัศจรรย์เกิดขึ้นอย่างนั้น ทำให้กำลังใจของคนไทยทั้งหมดก็มีความคึกเพราะ เห็นว่าเทวดาช่วยเรา เราจะเห็นว่าในเวลานั้น
การแต่งกายเป็นชายทั้งหมด แต่จริง ๆ เป็นผู้หญิงตั้งเยอะ จับดาบ ๒ มือ และมีอาวุธสารพัด
เมื่อเห็นกองทัพขอมดำเข้ามาใกล้ พรหมกุมารจึงให้สัญญาณโจมตีข้าศึกทันที รุกไล่เข้าไปถึงประตูเมืองโยนกนคร ตอนนี้พระมเหสีที่ติดตามไปเป็นทหารด้วย
เสียท่าข้าศึกตอนเข้าประตูเมือง ถูกข้าศึกแอบใช้หอกแทงสิ้นพระชนม์อยู่ข้างประตูเมือง
พรหมกุมารเห็นดังนั้น ยิ่งมีความโกรธแค้นมากขึ้น จึงขับไสช้างประกายแก้วบุกฆ่าฟัน พวกขอมดำล้มตายเป็นอันมาก พวกขอมดำแตกหนีลงมาทางใต้
กองทัพได้ติดตามขับไล่ขอมดำ เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ก็ได้มาพักอยู่ทีบ้าน "ยั้งทัพ" แล้วเคลื่อนไปรวมพลที่บ้าน "ชุมพล"
แล้วได้ลุกไล่ตีขอมต่อไปอีกนานถึง ๑ เดือน ก็มาถึงเมืองกำแพงเพชร ท่านปู่พระอินทร์ เห็นว่าจะทำบาปมากเกินไป จึงให้วิษณุกรรมเทพบุตรมาทำให้ทหารทั้งหมด
รวมทั้งพรหมกุมารเองก็หมดกำลังใจ พวกขอมพ่ายแพ้ จึงหนีกระจายลงไปทางใต้
เป็นอันว่า พระเจ้าพรหมมหาราชได้ขยายอาณาจักรของโยนกนคร จากพะเยาลงมาถึงกำแพงเพชร เมื่อยกทัพกลับไปแล้ว ก็อัญเชิญพระราชบิดาขึ้นเสวยราชสมบัติ
ให้พี่ชายเป็นมหาอุปราชแทนที่ตัวท่านจะเป็น แล้วเปลี่ยนนามพระนครใหม่ว่า "เมืองชัยบุรี"
บ้านเมืองแห่งโยนกนครก็เป็นสุขต่อไป เพราะขอมสิ้นปจากแผ่นดินไทยแล้ว เวลานั้น พระเจ้าพังคราชมีพระชนมายุ ๔๒ พรรษา รวมเวลาที่เป็นทาสขอมอยู่นานถึง ๒๒
ปี คนไทยลืมตาอ้าปากได้มีความสุข ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๙๒๔ ที่คนไทยได้เป็นอิสรภาพมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ส่วนพระเจ้าพรหมนั้นได้ลงมาสร้างราชธานีใหม่ ทางทิศใต้ ใกล้ลำน้ำกก ให้ชื่อว่า"เวียงไชยปราการ"นอกจากนี้พระเจ้าพังคราช ยังให้เชื้อพระวงศ์ปกครองเมืองใหญ่สำคัญอีก ๒ เมือง คือ เมืองพางคำกับเมืองไชยนารายณ์ ซึ่งเคยเป็นราชธานีเก่า สมัย พระองค์ไชยนารายณ์
(โอรสพระเจ้ามังรายนราช) ปัจจุบันนี้เป็นเมืองร้าง ที่เรียกว่า "ปงเวียงชัย" ห่างจาก "ศาลากลางจังหวัด" ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร
ในปี พ.ศ.๙๕๖ พระพุทธโฆษาจารย์ชาวเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม) ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่
ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวายพระเจ้าพังคราช พระองค์ได้ทรงแบ่งส่วนหนึ่งให้แก่ พระยาเรือนแก้วเจ้าเมืองไชยนารายณ์ เพื่อบรรจุในพระมหาเจดีย์ คือที่ "พระธาตุจอมทอง"
ลักษณะภายในองค์พระธาตุ
ส่วนภายในให้ขุดดินลึกลงไป ๕ วา ทำผนังศิลาแลงกันน้ำ แล้วบุด้วยทองคำ ตรงกลางตั้งเป็นกระถางทองคำขนาดใหญ่บรรจุน้ำไว้แล้วทำเรือสำเภาทองคำ
และทำมณฑปเป็นที่ประดิษฐานผอบแก้ว ผอบทอง ผอบเงิน ผอบนาค และผอบงาช้าง เป็นชั้น ๆ
เมื่อบรรจุแล้วก็สร้างเจดีย์ขึ้น ทำทองคำแผ่น คือรีดเป็นแผ่น ๆ แปะหุ้มภายนอกขององค์พระเจดีย์ ตั้งแต่ยอดลงมาถึงฐานเต็มองค์ ดังนั้น
เจดีย์องค์เดิมที่บรรดาลูกหลานเห็นเป็นทองอร่ามอยู่ในองค์ปัจจุบัน นั่นเป็นความจริง ต่อมา พระเจ้าผาเมืองทรงสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ทับเข้าไว้ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
ในตอนนี้ขอแทรกจาก"พงศาวดารโยนก" เล่าว่า พระพุทธโฆษาจารย์ได้มาสู่แว่นแคว้นนี้ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีพุทธศักราช ๙๕๖
ได้นำพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๑๖ องค์ ส่วนหนึ่งได้นำไปบรรจุไว้เรียกว่า "ธาตุเจ้าจอมทอง"อ.เมือง
จ.เชียงราย อีกส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่ดอยน้อยแห่งนี้ พระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จใน วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน
๖ตรงกับ วันวิสาขบูชาแล้วทำพิธีสมโภช โดยมีพระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธาน
พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เล่าต่อไปว่าเวลานั้น พระพุทธโฆษาจารย์ท่านชี้จุดบนดอยน้อยนี้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ ณ ที่นี้
(ท่านเสด็จยืนประทับอยู่ตรงที่สร้างศาลาไว้ แล้วจึงเสด็จออกมาตรงกลางพระเจดีย์) ทรงอธิษฐานให้เส้นพระเกศาของพระองค์หลุดติดพระหัตถ์มา ๓ เส้น
เป็นสถานที่พระพุทธพยากรณ์
เมื่อทรงเสยพระเกศาแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงฝังเส้นพระเกศา โดยการอธิษฐานให้จมลงไปบนยอดดอยน้อยนั้น แล้วทรงพยากรณ์ว่า
"เขตแดนนี้ ต่อไปจะมีนามว่า โยนกนคร จะมีความเจริญรุ่งเรือง จะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ครบ ๕,๐๐๐
ปี..."
เวลานั้นทุกคนทราบเรื่องก็ดีใจ ประกอบกับความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากอยู่แล้ว ในด้านทาน ศีล ภาวนา ครบถ้วน
ต่อมาได้มีการบูรณะและก่อสร้างเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง และในสมัยพระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของ พระเจ้าเมงราย ก็ได้ทรงบูรณะแสนขึ้นใหม่ จากซากเมืองร้างเดิม
พร้อมทั้งบูรณะองค์พระธาตุจอมกิตติ ให้เรียบร้อย
เสียใหม่
สมัยพ่อขุนผาเมือง
ใน ตำนานพระธาตุจอมกิตติยังเล่าไว้อีกว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า
มีพระอัฐิของพ่อขุนผาเมือง บรรจุอยู่ในบริเวณพระบรมธาตุจอมกิตตินี้เอง โดยเล่าว่าหลังจากตีเมืองสุโขทัยได้จากขอมแล้ว ให้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ครองกรุงสุโขทัย
ส่วนท่านก็ขึ้นมาครองเมืองเชียงแสนได้ประมาณ ๓ ปี ก็ให้ช่างต่อฐานพระธาตุ และเสริมยอดพระธาตุเสียใหม่ โดยเพิ่มเหนือคอระฆังเป็นรูปกลีบมะเฟืองหรือ
"ปลี" สัญลักษณ์ของ "พระมหามงกุฏ"กษัตริย์ไทยสมัยโน้น เพิ่มลูกแก้วด้านล่างของพระมหามงกุฏ ๒ ลูก
และเพิ่มลูกแก้วตอนบนอีก ๑ นอกจากนี้ยังได้อัญเชิญพระบรมธาตุขึ้นไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์อีก ๑๓ องค์ ไม่ทราบว่าท่านได้มาจากไหน
ต่อมา พ.ศ. ๒๒๓๗ เจ้าฟ้าเฉลิมเมืองพร้อมด้วยคณะศรัทธาเมืองเชียงแสน ร่วมกันปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และ ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองเชียงแสน กลายเป็นสมรภูมิระหว่างไทยกับพม่าครั้งหนึ่ง พ.ศ.๒๓๔๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ครั้งนี้
ทหารไทยได้เผาเมืองเชียงแสนเสีย เพื่อมิให้เหลือเป็นที่มั่นของข้าศึกต่อไป แล้วอพยพครอบครัว ไปอยู่กันที่อื่นทั้งหมด
ในสมัยต่อมาที่พระเครื่องรางของขลังเฟื่องฟู มีพวกนักขุดค้นหาของเก่าอันมีค่า พากันมุดพงหญ้าเข้าไปงัดแงะ จนพระบรมธาตุทรุดเซลง เกือบจะล้มลงมาอยู่แลัว
ก็พอดีกรมศิลปากรเข้ามารักษาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลานั้น พระครูสังวรสมาธิวัตรวัดเพลงวิปัสสนา กรุงเทพ
พร้อมด้วยคณะชาวอำเภอเชียงแสนทั้งหลาย จึงช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ โดยมี พระครูวิกรมสมาธิคุณ เป็นเจ้าอาวาส มาจนกระทั้งปัจจุบันนี้
อีกทั้งได้มีการสร้างพระอุโบสถใหม่ และสร้างแผ่นทองคำบุรอบองค์พระธาตุไว้ ดังที่เห็นกันในปัจจุบันนี้
ขอย้อนกล่าวถึงในบั้นปลายของชีวิตพระเจ้าพังคราช ได้เสด็จไปเจริญสมณธรรม ที่วัดปากน้ำคำ ใกล้ ๆ บริเวณ วัดพระธาตุผาเงา ในปัจจุบันนี้
ทรงฌานสมาบัติจนทิวงคต ก็ไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๑ แต่ปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านไปนิพพานแล้ว) ส่วนพระเจ้าทุกขิตะได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ต่อใน พ.ศ.๙๖๕
และพระราชโอรสพระนามว่า พระองค์มหาวรรณ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อมาในปี พ.ศ.๙๗๐ ณ นครโยนกเชียงแสนหรือเวียงชัยบุรี
ส่วนเมืองไชยปราการ พระเจ้าพรหมมหาราชครองราชสมบัติ มีอาณาเขตถึงเมืองกำแพงเพชร หลังจากได้อภิเษกสมรสกับธิดาพระยาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนารายณ์
พระนามว่าพระนางแก้วสุภา ทรงมีพระโอรสด้วยกัน พระนามว่า เจ้าไชยสิริกุมารและได้ขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อ พ.ศ.๙๗๕
และในสมัยที่ทรงขับไล่ขอมดำไปถึงกำแพงเพชร ทรงได้พระธิดาเจ้าเมืองเชลียง (เขตเมืองสวรรคโลก) เป็นชายาอีกด้วย
พระเจ้าพรหมมหาราชมีราชโอรสและธิดาหลายพระองค์ พระโอรสองค์ใหญ่ พระนามว่า "เจ้าเดือนแจ่มฟ้า"ได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ในปี พ.ศ.๙๗๕ ราชสมบัติจึงได้ตกแก่พระโอรสองค์รองคือ "เจ้าไชยศิริ"
หลวงพ่อเล่าว่า พระเจ้าพรหมมหาราชทรงปกครองบ้านเมืองสงบสุข มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงเจริญสมณธรรม ได้ฌาณสมาบัติ เวลาทิวงคตก็ไปเป็นพรหมตามเดิม
ตามพงศาวดารบอกว่า พระองค์ทรงพระประชวรทิวงคต เมื่อมีพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา ในปี พ.ศ. ๙๗๕
แล้วหลวงพ่อท่านได้สรุปว่า
"ต่อมาภายหลังลูก ๆ ของพระเจ้าพรหมมหาราชเก่งไม่เท่าพ่อ ก็เลยเสียเอกราชให้แก่ไทยใหญ่ แต่ก็ไทยเหมือนกัน แล้วราชวงศ์เชียงแสนก็ถอยหลังลงมาทางใต้
เป็นต้นตระกูลของพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยา และเวลานี้ ราชวงศ์จักรีก็เป็นราชวงศ์ของเชียงแสนอยู่นั่นเอง นี่คนแก่ซึ่งไม่ใช่พ่อนะ
ท่านเล่าให้ฟังต่อ ๆ กันมา
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก
สำหรับ พงศาวดารชาติไทยโดย พระบริหารเทพธานีได้เล่าเสริมว่า ในปีที่พระเจ้าทุกขิตราชสวรรคตไปแล้วนั้น พระเจ้าพรหมมหาราช ได้เสด็จลงมาสร้างเมือง พิษณุโลกสร้างพระพุทธรูป ๓ องค์ คือ พระพุทธชินราชพระพุทธชินศรี
และพระศรีศาสดาจึงได้เฉลิมพระนามว่า"พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"
แล้วโปรดให้ เจ้าไกรสรราชพระราชโอรสได้อภิเษกกับ นางสุลเทวีพระราชธิดาพระยาศรีสัชนาลัย ให้เสด็จลงไปครองเมืองละโว้ ต่อมา พระเจ้าสายน้ำผึ้งพระราชโอรสเจ้าไกรสรราช ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระองค์
ก็เสด็จไปครองเมือง เสนาราชนครที่ปากน้ำแม่เบี้ยใต้ "วัดพนัญเชิง"
เขตทิศใต้ของเมืองจึงลงมาจรดปากน้ำเจ้าพระยา ในปีนั้น พระเจ้าพรหมมหาราชก็ได้เป็นใหญ่ในอาณาเขตโยนกเชียงแสน สมดังหนังสือพงศาวดารเหนือ ว่า
"พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"
หากท่านใดที่ยังเข้าใจว่าเป็น พระเจ้าลิไทยนั้น ก็คงจะทราบความจริงตามหลักฐานดังกล่าวนี้
ซึ่งหลวงพ่อเองท่านก็ยืนยันว่าพระบริหารเทพธานีสันนิษฐาน ถูกต้องแล้ว ดังนี้
พระเจ้าพรหมมหาราชทรงเป็นกษัตริย์ที่กล้าหาญในการรบ และทรงพระปรีชาสามารถในทางธรรมะอย่างแตกฉาน ทรงมุ่งในกิจการพระศาสนา
สร้างวัดและสร้างพระเป็นจำนวนมาก ทรงบำเพ็ญพระจริยวัตรเช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย หวังสร้างพระบารมีเพื่อบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จนได้เฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"
ประวัติเมืองพิษณุโลก
พระองค์ได้โปรดให้สร้างเมืองใหม่ใกล้แม่น้ำน่าน เนื่องจากเวลาเสด็จเข้าเมืองเป็นยาม "พิษณุ" จึงให้ชื่อเมืองว่าพิษณุฤกษ์ และเพื่อเป็นการชำระหนี้กรรมที่ได้ทรงนำทัพขับไล่ ฆ่าขอมดำเป็นจำนวนมาก จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปสำคัญ ๓ องค์นั้น
ไว้เป็นอนุสรณ์ ณ เมืองพิษณุฤกษ์
ส่วนหลวงพ่อได้เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า
"เมืองพิษณุโลกนี้ เดิมเขาเรียกว่า "เมืองสองแคว"เพราะว่าบ้านเมืองอยู่สองฝั่งลำแม่น้ำ
ท่านผู้เฒ่าเคยเล่าให้ฟังว่า ที่เรียกว่า "พิษณุโลก" ก็เพราะว่าในสมัยหนึ่ง มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งอยากจะตั้งเมือง แต่ไม่แน่ว่าจะตั้งตรงไหน
บังเอิญเดินไปพบฤาษีขี้บอกว่าตรงนี้ดี ถ้าสร้างเมือง ละก้อ...ตรงนี้ดี
เขามีพังพอนกับอะไรกัดกัน ไอ้สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น สัตว์ที่มีกำลังมากวิ่งหนีสัตว์ที่มีกำลังน้อย เขาว่ากันอย่างนั้น เมื่อชี้ที่ให้แล้ว
ก็เตรียมการจะตั้งเมือง ก็ปรากฏว่าชี้ที่เสร็จ ท่านฤาษีก็หายไป ท่านผู้รับฟังก็เลยทึกทักเอาว่า ท่านผู้บอกนี้เป็น วิษณุกรรมเทพบุตรนายช่างของพระอินทร์ จึงได้มอบขื่อเมืองนี้ว่า "พิษณุโลก"มีความหมายว่า "พิษณุฤกษ์" คือ "พิษณุเทพบุตร" เป็นผู้ให้ฤกษ์
ชื่อเรียกตามเดิมเขาเรียก "พิษณุฤกษ์" แต่นาน ๆ ก็เลยเพี้ยนเป็น "พิษณุโลก" ไป.
ผู้สร้างเมืองกำแพงเพชร
ในขณะนั้นบ้านเมืองยังเจริญรุ่งเรืองปกติสุขมาจนถึง พ.ศ.๙๘๖ เมื่อพระเจ้าไชยสิริ เสวยราชย์ได้ ๑๑ ปี ก็มีเจ้าเมืองสุธรรมวดี เชื้อสายไทยอาหม ไทยใหญ่
ยกทัพข้ามแม่น้ำคงมาตีเมืองไชยปราการ พระเจ้านรธากษัตริย์ เมืองสุธรรมวดี คือเมืองสะเทิม
ยกไพร่พลมามากและมีกำลังเหนือกว่าไทย เพราะมีปืนใหญ่มาด้วย ทำให้กองทัพไชยปราการไม่สามารถ จะต้านทานกำลังได้
พระเจ้าไชยสิริโปรดให้อพยพไพร่พล หนีมานครโยนก แต่ไม่สามารถจะข้ามแม่น้ำกกมาได้ เพราะเป็นฤดูน้ำท่วมฝนตกหนัก ดังนั้น พระองค์จึงพากันหนีไปทางตะวันออก
ล่องใต้ไปทางผาหมื่น จ.แพร่ จนถึงบริเวณพระเจ้าพรหมมหาราชทรงเคยไล่ตีขอมไปถึงที่นั่น คือบริเวณเมืองแปปซึ่งขณะนั่นเป็นเมืองร้าง
เมื่อทรงเห็นวาชัยภูมิดี จึงสร้างเมืองใหม่ให้ชื่อว่า กำแพงเพชรตามเหตุที่พระอินทร์
ทรงให้ไพร่พลของพระเจ้าพรหมอ่อนกำลังลง ไม่สามารถรุกไล่ขอมดำต่อไปได้ ประดุจเหมือนกำแพงมากั้นไว้ ฉะนั้น ทั้งทรงขนานพระนามใหม่ว่า "พระเจ้าไชยสิริเชียงแสน"
และในเวลาต่อมา เชื้อพระวงศ์ได้ขยับขยายจากเมืองแปป ลงมาทางใต้ถึงดินแดนแคว้นสุวรรณภูมิและสืบเชื้อพระวงศ์กัน ต่อมาเป็นต้นตระกูลของพระเจ้าอู่ทอง
ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในที่สุด
ส่วนเวียงไชยปราการนั้น ต่อมากลายเป็นเมืองร้าง แต่นั้นมามหากษัตริย์เจ้าทั้งสองเมือง พี่น้องกัน ต้องพลัดพรากจากกันไปไกล
เมื่อพระเจ้าสุธรรมวดียกทัพเข้าเวียงไชยปราการ มิได้พบผู้คนและทรัพย์สินนอกจากเมืองร้างจึงต้องยกทัพกลับไป
เวียงหนองล่ม
ฝ่ายทางเมืองโยนกเชียงแสน หลังจากพระองค์มหาวรรณแล้ว ราชโอรส คือ พระองค์มหาชัยชนะเป็นกษัตริย์ต่อมาครองราชย์ได้ พ.ศ.๑๐๘๘ พระองค์มหาชัยชนะครองราชย์ได้ ๘ ปี เวียงโยนกนครถูกน้ำท่วมใหญ่
ตำนานว่าประชาชนกินปลาตะเพียนเผือก
แต่ปลาเป็นพิษทำให้เกิดโรคระบาดล้มตายหมด กระแสน้ำจากแม่กกไหลหลากเข้าไปตามร่อง "แม่น้ำลาก"ใน
อ.แม่จัน จนท่วมท้น ตลอดทั้งเวียงโยนกนคร จึงล่มจมน้ำแต่นั้นมาสถานที่นั้นได้ชื่อว่า "เวียงหนองล่ม"จนทุกวันนี้
เวียงปรึกษา
ส่วนชาวเมืองที่อพยพหนีน้ำทัน ก็ได้ร่วมใจกันสร้างเมืองใหม่ริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของโยนกนครเดิม
ให้ชื่อเมืองใหม่ว่า"เวียงปรึกษา"แต่งตั้ง "ขุนลัง"เป็นเจ้าเมืองปกครอง ในพ.ศ.๑๐๙๗ แต่นั้นมาได้สิ้นกษัตริย์วงศ์ สิงหนวัติผู้สืบเชื้อสายมาจากกรุงราชคฤห์ รวมกษัตริย์ครองราชสมบัติในนครโยนกเชียงแสนรวม ๔๔ รัชกาลด้วยกัน
เป็นอันว่า เรื่องราวก็มาจบลงเพียงแค่นี้ในโอกาสนี้ขอนำคำสรุปจากหลวงพ่อ ถือว่าเป็นคติธรรมที่ท่านพูดไว้สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่
คติธรรมของหลวงพ่อ
"...พ่อมานั่งนึก ๆ ดูนะว่าพวกเราที่กำลังนั่งรวมกันอยู่ที่นี่ ดีไม่ดีก็จะเกิดในสมัยเชียงแสน หรือสมัยพระเจ้าพังคราชตอนโน้นก็ได้
ดีไม่ดีก็เป็นนักรบบ้าง นักรักบ้าง แล้วก็มานั่งป๋อหล๋อ...! กันอยู่ที่นี่ก็ได้...ใครจะไปรู้...!
ถ้าเวลานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ หรือว่าบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านชอบซุกซิก เราก็อาจจะถามท่านได้ว่า
พวกเราที่กำลังนั่งฟังอยู่ เวลานี้เกิดทันสมัยนั้นบ้างหรือเปล่า เป็นนักรบบ้างหรือเปล่า ดีไม่ดีท่านก็จะชี้หน้าว่าคนนั้นเป็นคนนี้ คนนี้เป็นคนนั้น ๆ
เป็นต้น
ในขณะที่หลวงพ่อพูดนั้น บางท่านอาจจะคิดว่า เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น คงจะไม่มีโอกาสได้เกิดร่วมสมัยก็เป็นได้ อย่าลืมว่าสมัยนั้น
กองทัพกู้ชาติของพระเจ้าพรหมมีนับหมื่นนับแสน พวกเราที่มาภายหลังอาจจะเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นก็ได้ ดังที่หลวงพ่อเคยพูดไว้ เมื่อตอนไปเหนือเมื่อวันที่ ๒
พฤศจิกายน ๒๕๑๙ มีใจความว่า
"คนส่วนมาก ที่มานั่งจ๋ออยู่ที่นี่บ้าง ยังไม่มาบ้าง ตายไปแล้วบ้าง ไปอยู่ที่พรหมบ้าง อยู่เทวดาบ้าง พวกนี้พอใจในความเป็นพระพุทธเจ้า นั่งไปนั่งมา
บูชาไปบูชามา นึก เอ...กูเป็นพระพุทธเจ้าก็ดีนี่หว่า...สวยดีนี่..! เลยไปกัน ไม่ได้ ต้องมานั่งติดแหง๋แก๋อยู่นี่แหละ...! เขาเรียกว่า...
"โรครักความเป็นพระพุทธเจ้า"
แต่ก็ดี..โรครักความเป็นพระพุทธเจ้านี้ ก็เป็นปัจจัยให้พวกเราไม่ต้องลงอบายภูมิกันมากว่าพันชาติเศษแล้ว นี่เราก็ขี้เกียจตกนรกกันมานานแล้วนะ
ใครจะขยันชาตินี้ก็ตามใจ
แต่ว่าหลังจากการสร้างบาป เราก็ทำบุญกันอย่างหนัก เรื่องการถอดเครื่องประดับบูชาพระรัตนตรัย เราก็ทำกันมามาก การส่งเสริมพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
เราก็ทำกันมามาก สร้างวัดวาอารามก็ทำกันมามาก การสงเคราะห์กับบุคคลผู้ตกทุกข์ได้ยาก เราก็ทำกันมาก
สมถะและวิปัสสนา
ฉะนั้น เราจึงหลักบาปกันได้ เพราะอาศัยการเจริญกรรมฐานช่วย ถ้าหากว่าเราจะให้ทาน หรือรักษาศีลอย่างเดียว กำลังใจยังไม่มั่นคงนัก
ส่วนที่จะช่วยคุมกำลังใจไม่ให้ลงนรกไปได้คือ สมถะและ วิปัสสนาบุญบารมีทั้งหลายเหล่านี้ เราทำกันมานับเป็นอสงไขยกัป ไม่ใช่เวลาเล็ก น้อย เมื่อเราทำกันมามาก ความดีก็มีมาก
การสั่งสมตัวก็มีมาก
ฉะนั้น การศรัทธาปสาทะ คือความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พวกเราจึงมีความมั่นคง ในเมื่อจิตมีความมั่นคงอยู่ในด้าน"อนุสสติ"ตามที่กล่าวนี้มา การเป็นสัตว์นรก ย่อมไม่มีสำหรับพวกเรา แต่ใครอย่าประมาทนะ ประมาทเมื่อไหร่...ลงเมื่อนั้น..!
แล้วหลวงพ่อท่านก็สรุปว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเหนือเป็นแดนที่เราผูกพันกันมาก เพราะเป็นที่อยู่อาศัยกันมาเดิม ถึงแม้ว่าความเป็นไทยในปัจจุบัน เราก็ใช้กำลังห้ำหั่นกับข้าศึก
เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ และปวงชนชาวไทย เรามีปริมาณของคนน้อย
พวกเรามาจากไหน..?
พวกเรามาจากกรุงราชคฤห์มหานครกับเมืองสาวัตถีคนสองเผ่านี้เข้าทางสายเหนือของประเทศไทย เข้ามาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้น ประมาณก่อนพุทธกาล ๒,๐๐๐ ปีเศษ
เราจะพูดกันไปว่าพวกราชคฤห์เป็น "พวกแขก" ความจริงไม่ใช่ สมัยโน้นไม่ใช่แขกครอง แต่พวก ไทยอาหมครอง
เมืองเวสาลี สาวัตถี กับราชคฤห์นี่ เป็นเมืองที่มีคนไทยมาก ในสมัยนั้น
กรุงราชคฤห์กับกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นราชวงศ์เดียวกัน
คำสรุปของหลวงพ่อตอนนี้ ก็เป็นหลักฐาน ยืนยันกับพงศาวดารที่นำมากล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้ว ซึ่งพอจะสรุปให้ลงกันไปได้ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้
แต่ก็เป็นไปแล้วว่า "ราชวงศ์จักรี"ในบัดนี้ ก็เป็นเชื้อสายเดียวกันกับกรุงราชคฤห์ นั่นเอง
จะเป็นไปได้หรือไม่ก็ตาม ในเมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้มีโอกาสทรงอุปถัมภพระพุทธศาสนา ในสมัยที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพระชนม์อยู่ และในบัดนี้
พระมหากษัตริย์ไทยที่ได้สืบสันตติวงศ์มาตั้งแต่ "ราชวงศ์เชียงแสน" และ "ราชวงศ์เชียงแสน" ก็สืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าสิงหนวัติซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์เล็กร่วมอุทรกับพระราชบิดาของพระเจ้าพิมพิสาร
พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาหลังจากพระพุทธองค์ทรงดับขันธ์ไว้ในดินแดนแห่งนี้ เพื่อให้สถิตย์สถาพรอยู่ในหัวใจของชาวไทยตลอดกาล ๕,๐๐๐
พระพรรษาต่อไป
เพราะฉะนั้น พระบรมสารีริกธาตุต่างๆ ที่สำคัญดังกล่าวนี้ จะสังเกตได้ว่า พระอรหันต์ ท่านอัญเชิญมาจาก กรุงราชคฤห์ทั้งสิ้น หรือชื่อดั้งเดิม "นครไทยเทศ"คงจะเป็นเพราะท่านทราบดีว่าคนไทยสองกลุ่มนี้ ได้เคยสืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกัน
ถึงแม้จะแยกย้ายกันมาอยู่ห่างไกลกัน คนละเขตประเทศก็ตาม ก็ต้องนำกลับมาให้เจ้าของเดิม คือ "ชาวไทย" อีกนั่นเอง จึงขอฝาก "ประวัติศาสตร์ชาติไทย"ไว้แต่เพียงแค่นี้
แล้วหลวงพ่อก็สรุปลงธรรมะอีกว่า
"ทำไมประเทศจึงต้องมีกษัตริย์ คำว่า"กษัตริย์"นี่เขาแปลว่า "นักรบ"กำลังใจของคนไทยทั้งหมดอยู่ที่หัวหน้า ถ้าหัวหน้าขี้แย คนไทยก็ขี้แย ถ้าหัวหน้าเอาจริง ขอให้เอาจริง สักอย่างเดียว
คนไทยทั้งชาติจะลุกขึ้นจับดาบสู้
อย่างเช่นเวลานั้นที่พรหมกุมารเป็นหัวหน้านำคนไทย แม้เพียงส่วนน้อย น้อยกว่าขอมมาก ถูกขอมย่ำยีอย่างหนัก ต้องแอบซุ่มซ้อมรบกัน เมื่อหัวหน้าเอาจริง
เราก็สามารถขับไล่ขอมออกจากเขตไทยได้ แถมขยายอาณาเขตออกไปอีก เป็นอันว่า พระเจ้าพรหมมหาราชตายไป เกิดเป็นพรหมตามเดิม
เห็นไหมลูก...! รบกันเกือบตาย ขยายเขตแดนออกไป ร่ำรวยกัน เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ผลสุดท้ายก็ตายหมด ตายแล้วขนอะไรไปได้บ้าง
แม้แต่หนวดเส้นเดียวก็เอาไปไม่ได้ ที่ลูกรักของพ่อมีความต้องการธรรมะ หวังพระนิพพาน...พ่อพอใจ เราไปนิพพานกัน ดีกว่า นอนสบายให้มันเป็นสุข เราเหนื่อยกัน
มาแล้วเกินกว่า ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป..."
ท่านก็จบด้วยการชวนลูกหลานไปนิพพาน ซึ่งท่านผู้เป็นประธานก็ได้ไปรออยู่ก่อนแล้ว ในตอนนี้เรายังมีสังขารอยู่ ถ้อยคำของท่านย่อมสร้างกำลังใจ
เราเดินทางไปไกลกันครั้งนี้ ก็หวังการบูชาตามที่ท่านแนะนำ คิดว่าการรวมพลังใจกันมากมายในครั้งนี้ คงจะไม่มีใครคิดจะเกิดกันอีกต่อไป
แต่ท่านผู้อ่านจะเกิดอีกหรือไม่นั้น ก็ยังไม่มีปัญหา สำคัญตอนนี้หน้ากระดาษหมดแล้ว จำต้องขออำลาไปก่อน ไว้ตอนหน้าจะพบกับประวัติพระเจดีย์องค์เล็กที่หลวงพ่อสร้างไว้ จึงขอให้ติดตามอ่านกันในฉบับหน้า...สวัสดี
◄ll กลับสู่ด้านบน
webmaster - 27/4/08 at 11:57
ตอนที่ ๓ (ตอนจบ)
ท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามเรื่องนี้ คงจะพอจำได้ว่า ผู้เขียนได้ลำดับเรื่องจากตั้งแต่พิธีการบวงสรวง ณ วัดพระธาตุดอยตุง และตอนที่ ๒ เป็นการเล่าเรื่องพิธีการบวงสรวงณ วัดพระธาตุจอมกิตติ ซึ่งได้ลำดับความมา ถึงตอนที่ขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะขึ้นไปถึงบนลานพระเจดีย์แล้ว
สำหรับขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะทั้ง ๓ ขบวนนั้น ในขณะที่กำลังเคลื่อนแถวขบวนไปตามทางขึ้นบนเนินเขานั้น เมื่อมองจากด้านหลังขบวนแล้ว
รู้สึกมีความสวยสดงดงามตระการตา นับตั้งแต่ "ขบวนพระ"อัญเชิญเสลี่ยงสมเด็จองค์ปฐม
และอัญเชิญรูปหลวงพ่อและหลวงปู่ พร้อมทั้งรูปท้าวมหาราช
ขบวนต่อไปคือ "ขบวนหลวง"ซึ่งนำหน้าด้วยขบวนอัญเชิญธงและตุง
ธงช่อช้างได้โบกสะบัดดูเกรียงไกรและสง่างมาเหลือเกิน ติดตามด้วย "ขบวนราษฎร์"
ซึ่งมีสาวงามถือป้ายแต่ละเมือง แล้วอัญเชิญเสลี่ยงพุ่มผ้าป่า พุ่มบายศรี พุ่มดอกไม้ ขนาบด้วยผู้ถือตุงทั้งสองข้าง
ผู้ร่วมขบวนต่างก็แต่งกายหลายหลากสีสมมุติกันว่าเป็นชาวเชียงแสนเก่า สวยสดงดงามทั้งหญิงและชาย
เดินเป็นแถวยาวเหยียดเคลื่อนไปตามทางระหว่างต้นไม้อันเขียวขจี ทุกคนเดินพนมมืออัญเชิญเครื่องสักการะ
เพราะเป็นการให้เกียรติต่อสถานที่ที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับ การจัดขบวนกองเกียรติยศในครั้งนี้ พวกเราได้จัดทำอย่างสมพระเกียรติเป็นที่สุด
ต่อมาจึงได้เริ่มบรรยายประวัติพระธาตุจอมกิตติ และพระราชประวัติพระเจ้าพรหมมหาราช สำหรับตอนนี้จะได้ต่อเนื่องกับตอนที่แล้ว อันเป็นตอน "ประวัติการสร้างพระเจดีย์" (องค์เล็ก)
ประวัติการสร้างพระเจดีย์ (องค์เล็ก)
(พระเจดีย์องค์เล็กพร้อมกับฉัตร ซึ่งวางอยู่ด้านหน้าพระธาตุจอมกิตติ เพื่อรอทำพิธียกฉัตร)
พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ พร้อมด้วยคณะผู้ติดตามหลายท่าน ซึ่งเวลานี้ได้มานั่งอยู่ในที่นี้หลายท่าน ได้เดินทางมาทำพิธีกรรม ณ สถานที่นี้เป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๗อันเป็นวันพระ ตรงกับวันกลางเดือน ๙ พอดี
โดยปรารภเหตุที่ พ่อขุนผาเมืองได้มาบอก ท่าน พ.ต.อ. (พิเศษ)
ม.ร.ว.พงศ์พูนเกษม เกษมศรีว่าให้ทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำประทักษิณพระบรมสารีริกธาตุ
ทั้งนี้เพื่อต้องการจะให้พระบารมีขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ และพระบารมีของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งมีพระราชจริยาวัตรเช่นเดียวกับกษัตริย์สุโขทัย
เป็นพิธีการที่จะช่วยยับยั้งเหตุร้ายจากการนองเลือด ช่วยให้น้ำใจผ่ายบริหารจะไม่เป็นทาส จะมีโอกาสค่อย ๆ ดีขึ้น บ้านเมืองจะมีสันติสุข
แต่หลวงพ่อขอกว่าเวลานั้น เห็นว่าเวลายังไม่สมควร ถ้ามีฉัตรไปประดับบนยอดพระเจดีย์ ก็มอบให้เป็นเรื่องของกษัตริย์ไป เพราะก่อนทำพิธีนี้ พ่อขุนผาเมืองมาแนะนำหลวงพ่ออีกว่า ถ้าจะอธิษฐานเรื่องของชาติบ้านเมืองต้อง เอากษัตริย์นำเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ
ฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้เสด็จมา หลวงพ่อจึงเอาคนที่เคยเป็นกษัตริย์ มาในกาลก่อนทำประทักษิณแทน
"...ในขณะเวียนเทียนให้ตั้งใจนึกถึงบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ พรหม เทวดา และบรรพบุรุษทั้งหมด
ขอให้ปกปักรักษาเผ่าไทยให้เป็นอิสรภาพ ปราศจากความเป็นทาส คิดว่าให้ศัตรูของประเทศชาติ จงพินาศสลายตัวไป ให้ไทยเป็นไท ใครคิดคดทรยศต่อคนไทย
ขอให้บุคคลคนนั้นฉิบหายบรรลัยไป.."
ในตอนนี้ คุณรัฐฎา (ม่ำ)มาเล่าเสริมว่าหลังจากนั้นอีก ๓ ปี
พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธียกฉัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้ จึงได้มีการจัดพิธีกรรมแบบเดียวกับที่ท่านได้กระทำไว้แล้ว
โดยสมมุติการแต่งกายแบบกษัตริย์ เพื่อทำพิธีกรรมในเรื่องของประเทศชาติ เพราะสภาวะบ้านเมืองในตอนนั้นกับตอนนี้ กำลังจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน
อาจจะหนักกว่าก็เป็นได้
"หลังจากเวียนเทียนเสร็จแล้ว คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ก็นำเงินที่เหลือจากการเดินทางมาถวายหลวงพ่อ
ท่านจึงประกาศว่า เงินนี้ทั้งหมด ขอทำ "หมวก"ที่เรียกว่า "หมวก" เพราะอะไร
เพราะมีท่านองค์หนึ่งมายืนอยู่ข้างหลัง บอกให้เราช่วยกัน ถ้าประเทศชาติบรรเทาความทุกข์ มีความสงบเรียบร้อย ขอให้ทุกคนช่วยกันทำ "หมวก"มาสวมไว้บนยอดเจดีย์
ไอ้ศัพท์นี้เคยเรียกว่า "ฉัตร"แต่พอท่านเรียก "หมวก" เข้ามาเท่านั้น
นึกชื่อปัจจุบันไม่ออกว่าเขาเรียกว่าอะไร...คนอื่นถามว่า ทำบุญอีกได้ไหม..? รวมกันไปรวมกันมาปรากฏว่าได้เงิน ๙,๔๐๑ บาท รวมกับเงินที่ คุณเสริมศรื เกษมศรีบอกว่ามีอยู่แล้ว ๔ หมื่นบาท รวมเป็น ๕ หมื่นบาท สำหรับทำฉัตร ๙ ชั้น..."
นี่...เป็นเรื่องที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเล่าไว้ในหนังสือ"เชียงแสน"
แต่ภายหลังก็มีเหตุขัดข้องเรื่องระเบียบของทางกรมศิลปากร หลวงพ่อพร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ในสมัยนั้น จึงได้ร่วมกันจัดสร้างพระเจดีย์องค์เล็กนี้แทน
เป็นการจำลองจากพระเจดีย์องค์ใหญ่ เพื่อสำหรับประกอบพิธีในการยกฉัตรนั่นเอง
โดยก่อนที่หลวงพ่อจะทำพิธียกฉัตรนั้นท่าน พล.ร.อ.จิตต์ สังขดุลย์เป็นผู้นำยอดฉัตรเข้าไปที่พระราชวัง
เพื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในยอดฉัตรนั้น ซึ่ง คุณสุมิตร
(เล็ก) มาเล่าเสริมอีกว่า พระองค์ได้ทรงปิดทองยอดฉัตรด้วย แล้ว ท่านเจ้ากรมเสริมจึงได้ไปรับกลับมา
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้อัญเชิญ "ยอดฉัตร" วางไว้บนโต๊ะบายศรี ก่อนที่จะทำพิธีบวงสรวง)
แล้วจึงได้อัญเชิญพระเจดีย์พร้อมด้วย ฉัตรมากระทำพิธี ณ สถานที่แห่งนี้ โดยมีหลวงพ่อและ หลวงปู่พระสุปฏิปันโนรวม ๗ องค์คือ หลวงปู่คำแสนใหญ่วัดสวนดอก
หลวงปู่คำแสนเล็กวัดดอนมูล หลวงปู่ชุ่มวัดวังมุย
หลวงปู่ธรรมไชยวัดทุ่งหลวง หลวงปู่ชัยวงศ์วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และ หลวงปู่พระมหาอำพันวัดเทพศิรินทร์
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๘คือเมื่อ ๒๒ ปีที่ผ่านมานี้
สถานที่นี้จึงเป็นสถานที่ทำพิธียกฉัตร เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ชายแดนทางภาคเหนือ แล้วจึงได้ไปทำพิธียกฉัตรอีกเช่นกันทางชายแดนภาคใต้ นั่นก็คือที่
วิหารน้ำน้อยอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๙
เป็นพิธีการปักตรึงเขตแดนเอาไว้ทั้งเหนือและใต้ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
แผ่นดินไทยจึงได้สงบสุขและทรงความเป็นเอกราชไว้จนถึงบัดนี้ ดังจะเห็นว่าเวลานั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายเข้ามาทางประเทศเพื่อนบ้านของเรารอบด้าน
ประชาชนในแต่ละประเทศ ต้องประสบชะตากรรมอย่างน่าเวทนา แต่ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยไปได้
เราจึงยังรักษาอธิปไตยไว้ได้ตลอด
ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากพิธีกรรมต่างๆ ที่หลวงพ่อและหลวงปู่ทั้งหลาย ได้กระทำไว้ ณ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และพุทธสถานเกือบทุกแห่ง จึงมีส่วนช่วย
ควรที่พวกเราเหล่าลูกหลานของท่าน ที่ได้ทันในสมัยท่านก็ดี หรือ ที่ติดตามในภายหลังก็ดี จะได้มาร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์
และมาย้อนรำลึกถึงความหลังกันอีกครั้งหนึ่ง
ไปหาซื้อพระเจดีย์
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ กำลังหมุนแกนยอดฉัตรเข้าไปให้แน่น จะเห็นว่าท่านทำด้วยมือของท่านเอง)
แต่ก่อนที่จะถึงพิธีการนั้น ขอย้อนกล่าวถึงรายละเอียดการจัดสร้างพระเจดีย์องค์นี้ คุณยุพดี(แอ๊ะ)
จักษุรักษ์เล่าว่า ได้เดินทางไปหาซื้อเจดีย์กับ คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ซึ่งเป็นภรรยาท่าน
พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์โดยมีผู้ร่วมสมทบทุนในภายหลังกันมากมาย
ได้เดินทางไปหาเจดีย์ที่มีซุ้มสี่ทิศ หล่อด้วยปู่นซิเมนต์ หาไปถึงเมืองกาญจน์ จนไปได้ที่นครปฐม แล้วนำมาที่บ้านสายลม ช่วยกันทาสีปิดทองคำเปลว
และเขียนรูปเทวดาไว้ที่ซุ้มละหนึ่งองค์ทั้งสี่ด้าน ยอดเจดีย์กำกลวงด้านในเพื่อในแกนฉัตรสวมลงไปได้
ส่วน "ฉัตร"ได้สั่งทำที่ร้านแถวเสาชิงช้า เป็นฉัตร ๙ ชั้น ทำด้วยเหล็กหล่อ
แล้วพวกเราก็ช่วยกันปิดทองทำเปลวอีกเช่นกัน