ตามรอยพระพุทธบาท

งานพิธีกาญจนาภิเษก ในหลวงครองราชย์ครบ 50 ปี วัดท่าซุง วันที่ 1 พ.ค. 39
webmaster - 24/8/10 at 09:03

งานพิธีกาญจนาภิเษก

ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ณ วัดท่าซุง

เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙



*** เชิญชมคลิปวีดีโอ งานพิธีกาญจนาภิเษก ***

นับตั้งแต่ได้จัดงานฟื้นฟู รอยพระพุทธบาท เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อเป็นการแนะนำพุทธสถานที่คู่บ้านคู่เมืองไทยตลอดมา จึงทำให้เป็นที่สนใจแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนต่างพากันเดินทางไปกราบไหว้บูชา เพราะเป็น เนื้อนาบุญที่สูงเลิศ ควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ "การไหว้พระพุทธบาท" ไว้เป็นประเพณีสืบต่อไป

การเล่าเรื่องย้อนรอยไปในอดีตกาล เพื่อจำลองเหตุการณ์วันปรินิพพาน ตามที่ได้ จัดงานไปแล้ว เรียกว่า "งานรวมภาค" เมื่อ วันอังคารที่ ๓๐เมษายน ๒๕๓๙ ณ วัดพระแท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี ก็ได้ผ่านสายตาท่าน ผู้อ่านไปแล้วถึง ๗ ตอน สำหรับตอนนี้ก็จะเล่าเรื่องราวกันต่อไปว่า...

ครั้นถึง วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ จึงได้มาจัด งานพิธีกาญจนาภิเษก ขึ้นที่วัดท่าซุง เป็นการจัด "งานรวมภาค" อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่องค์พระประมุขของชาติ



เจ้าหน้าที่กำลังจัดขบวนแถวหน้าพระอุโบสถ

แต่ก่อนอื่นขอเล่าตอนที่จะกลับมาจาก วัดพระแท่นดงรัง แล้วมาค้างคืนที่วัดท่าซุงนั้น คณะผู้ร่วมเดินทางส่วนใหญ่จะต้องรับข้าวกล่องซึ่งเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารตอนเย็นนี้ได้แก่ คณะบ้านทับกระดาน จ.สุพรรณบุรี อันมี คุณประเทือง - คุณเสน่ห์ ขำแผลง เป็นต้น

ส่วนคณะเจ้าหน้าที่ดำเนินงาน จะต้องเก็บสิ่งของที่ใช้ในพิธีกันก่อน ซึ่งกว่าจะเสร็จ เรียบร้อย เดินทางกลับมาถึงวัดประมาณเกือบ ตี ๒ ในระหว่างนั่งรถกลับมา ๑๐ กว่าคันนั้น รถบางคันเกือบจะสวัสดีกับต้นไม้ข้างถนนเสีย แล้ว เพราะความเหน็ดเหนื่อยกันตลอดทั้งวัน

แต่ก็รอดปลอดภัยกลับมาได้ แล้วเข้าพัก ผ่อนหลับนอนกันได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงประมาณ
ตี ๔ ก็ต้องตื่นขึ้นมาช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ สำหรับทำพิธีในวันรุ่งขึ้นที่ พระบรมราชานุสาวรีย์หน้าพระวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร โดยมี พระมานพ พระประเสริฐ และ พระรื่น จ.พิจิตร เดินทางกลับมาช่วยกันผูกผ้าไว้ก่อนหน้าแล้ว

สำหรับในพระวิหารที่พระสงฆ์จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหารเพลด้านหน้าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น หลวงพี่โอ ก็ได้ให้ เจ้าหน้าที่จัดเตรียมปูลาดอาสนะไว้พร้อมแล้ว ส่วนผู้รับหน้าที่จัดทำอาหารถวายพระสงฆ์ก็มี จ่าประมวล และ คุณสัมฤทธิ์ ราชอินทร์ พร้อม ด้วย จ่าปัญญา และ คุณบังเอิญ อ่องคล้าย เมื่อจัดเตรียมสถานที่พร้อมแล้ว ทุกคนจึงได้มาทานอาหารเช้ากันที่ สวนไผ่ ในระหว่างนั้น จะเห็นผู้ที่แต่งกายทั้งชายและหญิง ต่างก็อยู่ในชุด สมัยรัตนโกสินทร์ มากมายหลายคน



ขบวนรถบรรทุก "กลองสะบัดชัย" จากภาคเหนือ

หลังจากทาน "ข้าวต้มเช้า" โดยฝีมือของ แม่จำเนียร เจ้าเก่าแล้ว ทุกคนก็รู้สึกกะปลี้กะเปล่ากลับคืนมาอีก แม้จะเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้ากันมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ที่กาญจนบุรี แต่ ก็ปลื้มใจที่งานผ่านพ้นไปด้วยดี จนเป็นที่ประทับใจของพระเถรานุเถระทั้งหลาย อันมี เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น ท่านถึงกับกล่าวว่าอยากจะให้พวกเราไปจัดงานที่นั่นกัน ทุกปี ขอน้อมรับด้วยความยินดี แต่คงจะไม่มีโอกาสแล้ว เพราะการจัดงานไม่ใช่ของง่าย

จึงขอกลับมาเล่ากันต่อไปว่า เมื่อวานนี้พวกเราที่ได้แต่งกายย้อนยุคไปในสมัยพุทธกาล แต่วันนี้ได้ย้อนกลับมาถึงสมัยปัจจุบัน ทำให้ดูสีสันงดงามแตกต่างกันไปแบบไทย ๆ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ดูยิ้มแย้มแจ่มใสกันทุกคน ครั้นถึงเวลา ๐๗.๐๐ น. ทุกคนจึงมา พร้อมกันที่บริเวณหน้าพระอุโบสถ เพื่อร่วมกันจัดขบวนแห่อัญเชิญพระบรมฉายาทิสลักษณ์ พร้อมทั้งเครื่องราชสักการะทั้งหลาย

เจ้าหน้าที่ได้จัดขบวนเป็น ๒ ขบวน ด้วยกันดังนี้ คือ ขบวนที่ ๑ ขบวนประชาราษฏร์ แบ่งขบวนแถวกันแต่ละภาค โดยเริ่มตั้งแต่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาค ตะวันออก ภาคตะวันตก และ ภาคกลาง เพื่อร่วมกันอัญเชิญเครื่องราชสักการะ

ขบวนที่ ๒ เป็นแถวขบวนหลวง มี การอัญเชิญพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ รัชกาล ที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งได้จัดทำรูปภาพโดย คุณอนุสสรณ์ ปานประสิทธิ์กุล

ขบวนที่ ๑ "ขบวนประชาราษฎร์" เริ่มขบวนจาก "ภาคเหนือ"



ขบวนแถวเดินอัญเชิญเครื่องราชสักการะแบบทางภาคเหนือ



ขบวนทางภาคเหนือ โดยการนำของท่านครูบาพรชัย และชาวบ้านวัดพระบาทสี่รอย



ขบวนทางภาคใต้ ด้วยเครื่องแต่งกายชาวใต้

ครั้นเจ้าหน้าที่จัดรูปขบวนเสร็จเรียบร้อย แล้ว จึงให้สัญญาณเริ่มเดินออกจากหน้าพระ อุโบสถ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนหน้าวัด โดยมีรถบรรทุก "กลองเทวดา" พร้อมด้วยคณะดนตรีพื้นบ้าน "สะล้อซอซึง" บรรเลงนำขบวนไปตลอดทาง สำหรับ "กลองเทวดา" นั้น นำลง จากรถไม่ทัน จึงจำเป็นต้องบรรเลงกันบนรถบรรทุกนั้นเลย

ต่อจากนั้นจะเป็นผู้ถือป้ายอักษรคำว่า"คณะศิษย์พระราชพรหมยาน" และผู้ถือป้าย"ภาคเหนือ" ซึ่งเป็นคณะ วัดพระพุทธบาทสี่รอย จ.เชียงใหม่ และคณะต่างๆ จากจังหวัด ใกล้เคียง เดินถือเครื่องราชสักการะแบบทาง เหนือ มีทั้งพานพุ่มดอกไม้ พานบายศรี ร่มเงินร่มทอง พัดหางนกยูง และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อแถวขบวนทาง "ภาคเหนือ" ผ่าน พ้นไปแล้ว ต่อไปจะเป็นขบวน "ภาคใต้" ซึ่งมีผู้ถือป้ายอักษรคำว่า "ภาคใต้" เดินนำขบวน แล้วมีทั้งหญิงและชายแต่งกายอยู่ในชุดประจำ"ภาคใต้" ซึ่งเดินทางมาจากสุราษฎร์ธานี และ ภูเก็ต หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นต้น

นอกจากจะมีผู้แต่งกายชุดไทยประจำภาค คือ ภาคเหนือ และ ภาคใต้ แล้ว ผู้ที่เดินทางมาจาก ภาคอีสาน ก็ไม่เบา แต่ละคนอยู่ในชุดผ้าไหมภูไทจากสกลนคร เดินถือป้าย อักษรคำว่า "ภาคอีสาน" พร้อมทั้งมีผู้เดินถือเครื่องราชสักการะต่างๆ เช่น พานธูปเทียนแพและ ช่อหางนกยูง เป็นต้น

ต่อไปก็เป็นขบวน ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งอยู่ในชุดไทยสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งหญิงและชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ให้ความสำคัญกันในวันนี้ นับเป็นกรณีพิเศษ ถึงแม้จะมีผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่ทุกคน ก็เดินเทิดพระเกียรติด้วยความเคารพ แสดงถึงความจงรักภักดีต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างมั่นคงไม่เสื่อมคลายตลอดไป



ขบวน "ภาคอีสาน" เดินต่อแถวจากขบวน "ภาคใต้"





ต่อไปจะเป็นขบวนแถวของ "ภาคตะวันออก"



ขบวนแถวของ "ภาคตะวันตก"



คณะกลองยาวร่ายรำนำขบวน "ภาคกลาง"



โดยมีผู้ถือเสลี่ยง "พานพุ่มเงิน" คือเป็นเงิน (ธนบัตร) จริงๆ



ขบวนแถวจาก "ภาคกลาง" เป็นภาคสุดท้ายของขบวนที่ ๑



ต่อไปเป็นขบวนที่ ๒ คือ "ขบวนหลวง"



ผู้อัญเชิญพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"รัชกาลที่ ๑" และ "รัชกาลที่ ๕"



ขบวนอัญเชิญพระบรมฉายาทิสลักษณ์ "ในหลวง" ของเรา


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ (พ.ศ.๒๕๓๙)สถานที่ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นทางราชการก็ดี และรัฐวิสาหกิจก็ดี หรือจะเป็นทางด้านเอกชนก็ดี ต่างก็มีการรวมตัวกันทำกิจกรรม เพื่อจัดงาน อันเป็นมิ่งมหามงคล เป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์เป็นปีที่ ๕๐

ด้วยเหตุนี้ ทางวัดท่าซุงของเรา อันมี พระครูปลัดอนันต์ เป็นเจ้าอาวาส จึงได้ปรึกษาหารือกันว่า สถานที่ต่างๆ เขาก็จัดงานกันทั้งนั้นโดยเฉพาะวัดของเรา ในสมัยที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เคยเสด็จพระราชดำเนินมาหลายวาระ

พวกเราจึงควรจะกระทำกิจกรรมนี้ เพื่อ ร่วมกันจัดงานถวายพระพรชัยมงคล ในนาม "คณะศิษย์หลวงพ่อพระราชพรหมยาน" จึงได้ เลือกเอา วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เป็นวัน จัดงาน เพราะเป็นเวลาที่เสร็จงานจาก วัดพระ แท่นดงรัง และท่านเจ้าอาวาสจะเดินทางกลับ มาจากสหรัฐอเมริกาวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๙ถึงแม้ร่างกายจะยังปรับสภาพไม่ดีพอ แต่ท่าน ก็ยังอุตส่าห์มาเป็นประธานของงานตลอดเวลา

ขบวนแถวทั้งหมดเดินมาถึงหน้าพระวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร


ฉะนั้น จึงอาจจะมีบางท่านที่ไม่ทราบ เรื่องนี้ จำต้องขออภัยท่านทั้งหลายด้วย ที่ไม่ สามารถจะบอกกล่าวทาง "ธัมมวิโมกข์" ได้ ทัน ผู้เขียนจึงขอถ่ายทอดบรรยากาศในวันนั้นพร้อมทั้งมีรูปภาพประกอบไปด้วย เพื่อช่วยให้ผู้อ่านทั้งหลายได้ร่วมอนุโมทนากัน

ครั้นขบวนที่ ๑ ขบวนประชาราษฎร์อันมี "คณะศิษย์พระราชพรหมยาน" ทั่วทุกภาคต่างก็อัญเชิญเครื่องราชสักการะ พร้อมทั้งแถว

ขบวนที่ ๒ ขบวนหลวง เป็นการอัญเชิญ พระบรมฉายาทิสลักษณ์ ล้นเกล้าของชาวไทยครบทั้ง ๓ รัชสมัย คือสมัยต้น สมัยกลาง และสมัยปัจจุบัน ดังนี้คือ

นับตั้งแต่ รัชกาลที่ ๑ เป็นปฐมบรมจักรีวงศ์ แล้วได้สืบสันตติวงศ์มาถึงกลางรัชสมัย คือในสมัย รัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบันสมัยนี้ คือ รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระองค์จึงได้ทรงรับการยกย่องว่า เป็นพระมหากษัตริย์ที่ได้ทรงครองราชสมบัติยาว นานกว่าบรรดาบุรพกษัตริย์ทั้งหลายในกาลก่อนนับว่าเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีของคนไทย โดย เฉพาะ ณ วัดท่าซุง ของเราแห่งนี้ ควรที่จะ ได้จัดงานพิธี "กาญจนาภิเษก" ในฐานะที่พระองค์เคยเสด็จมาประทับ นับเป็นอนุสรณ์สถาน แห่งหนึ่ง ที่พระองค์ได้เคยเสด็จมาเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ ณ สถานที่นี้







เมื่อ ขบวนที่ ๑ ขบวนประชาราษฎร์ เดินเข้ามาถึงด้านพระวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร โดยที่มีเสียงของ กลองยาว ยังบรรเลงกันอยู่ นั้น ทุกคนจึงรู้สึกครึกครื้นร้องไชโยโห่ฮิ้วกันมาตลอดทาง มองเห็น ธงชาติไทย พร้อมกับ ธงครบ ๕๐ ปี เป็นขบวนแถวยาวเหยียด ได้โบกสะบัดไปมาอยู่สองข้างของขบวน

แล้วติดตามด้วย ขบวนผ้าตุง ซึ่งจะมีแต่เฉพาะ ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน เท่านั้นส่วนผู้เดินอยู่ในขบวนทั้งหมด จะเห็นมีผู้แต่ง กายชุด "ไทยเหนือ" และ "ไทยอีสาน" ซึ่งมีความสวยสดงดงามแตกต่างกันไป ส่วนภาคอื่นๆ นั้น จะเห็นผู้ที่แต่งกายอยู่ในชุดไทย สมัยรัตนโกสินทร์ กันหลายคนผู้ชายจะนุ่ง "ผ้าม่วง" หรือที่เรียกว่าชุด ราช ปะแตน ส่วนผู้หญิงก็แต่งชุดไทยกันหลายคน

พอขบวนแต่ละภาคเดินเข้ามาด้านหน้า พระบรมราชานุสาวรีย์ แล้วทุกคนใน ขบวนที่ ๑ ต่างก็แยกแถวออกสองข้าง แล้วยืนหันหน้าเข้าหากัน ต่างก็พนมมือถวายความเคารพต่อ ขบวนที่ ๒ ซึ่งอัญเชิญ พระบรมฉายาทิสลักษณ์ "สามมหาราช" เดินเข้ามาระหว่างกลางขบวน แถวที่ ๑ นั้น ทุกคนจึงสามารถมองเห็นซึ่ง กันและกันด้วยความชื่นชม

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จึงได้จัดให้มายืนเป็นแถวหน้ากระดาน โดยแบ่งกลุ่มกันไปแต่ละภาค (ตามรูปภาพประกอบ) ส่วนบริเวณ หน้าพระราชานุสาวรีย์ก็ได้ประดับด้วยผ้าสีน้ำเงินและสีเหลือง พร้อมกับธงต่างๆ คือ "ธง ไตรรงค์" "ธงครบ ๕๐ ปี" "ธง ๓ มหาราช" (คุณแสงเดือนจัดมา) และผ้าตุง พร้อมทั้งป้าย "ทรงพระเจริญ" และ "๕๐ ปีที่ครองราชย์"


เมื่อขบวนแถวยืนตามตำแหน่งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว โดยมี ภาคเหนือ ภาค ใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันตก ภาค ตะวันออก ซึ่งในแต่ละภาคจะเห็น ชุดฟ้อนรำของแต่ละภาคด้วย ทุกคนยืนหันหน้าไปทาง พระบรมราชานุสาวรีย์ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๘ นาฬิกาเศษ อากาศในวันนั้น อาจจะร้อน สักหน่อย เพราะท้องฟ้าแจ่มใส แต่พวกเรา ก็ไม่ย่อท้อ จิตใจจดจ่อต่อกิจกรรมที่จะกระทำ ในครั้งนี้ เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อไป

การเริ่ม งานพิธีกาญจนาภิเษก ในครั้งนั้น พวกเราก็มีการร้อง เพลงชาติ กันก่อนตามเสียงเทป เพื่อเป็นการเปิดงานอันเป็นมหามงคลนี้ เสมือนกับกำลังอัญเชิญ "ธงชาติไทย" ขึ้นบนยอดเสาฉะนั้น



พิธีถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติ


ครั้นทุกคนทำความเคารพธงชาติแล้ว "ผู้จัด" ได้ออกมาข้างหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์เพื่อที่จะกล่าวขั้นตอนในการกระทำพิธี โดยมี ผู้รับฟังทั้งหลายทุกภาคร่วมเป็นสักขีพยาน...

"ต่อไปนี้จะเป็นพิธีถวายราชสดุดีเทิด พระเกียรติและพระมหากรุณาธิคุณของ พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในอภิลักขิตสมัยใน วโรกาสที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปีที่ ๕๐ ที่เรียกกันว่า “กาญจนาภิเษก”

งานนี้จึงได้มีการจัดขบวนแห่อัญเชิญ พระบรมฉายาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้เป็นองค์พระปฐม แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และพระบรมฉายา ทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ผู้สืบสันตติวงศ์มาจนถึงรัชกาลที่๕ ถือว่าเป็น พระบรมอัยกาธิราชเจ้า ของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน

ซึ่งหลังจากนี้ไปก็จะเป็นพิธีถวายพระพรชัยมงคลของพสกนิกร ในนาม คณะศิษย์พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ทั่วทุกภาค โดยจะมีผู้แทนของแต่ละภาค ออกมาเป็นตัวแทนถวายเครื่องราชสักการะ

เมื่อกล่าวถวายพระพรเป็น ภาษาท้อง ถิ่น ของแต่ละภาคจบแล้ว ขอให้นำเครื่องราชสักการะ ออกมาวางไว้ที่โต๊ะข้างหน้าลานพระ บรมรูป หลังจากนั้นจะมีการแสดง ฟ้อนรำ ถวายพระพร ๔ ภาค โดยการแสดงสลับกันไป แต่ละภาค ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และ ภาคอีสาน เป็นลำดับไป

ต่อจากนั้นก็จะมีการร้องเพลงหมู่พร้อม กันอีกครั้ง เพื่อเป็นการถวายพระราชสดุดี และ สรรเสริญพระบารมี จบแล้วก็จะมี พิธีเจริญพระ พุทธมนต์ ของพระภิกษุสงฆ์วัดท่าซุง ที่วิหาร ๑๐๐ เมตร แล้วถวายภัตตาหารเพล ถวาย เครื่องสังฆทานและปัจจัยไทยทานทั้งหลาย

เพื่อเป็นการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระราชกุศล ที่พวกเราทุกคนได้บำเพ็ญทั้งหมดนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราช จักรีวงศ์ทุกๆ พระองค์ด้วย แล้วพระสงฆ์ให้พร เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นขอให้ญาติโยม ทุกท่านรับประทานอาหารกลางวันกัน ก่อนจะ กลับก็ขอให้ไปชมรอบๆ บริเวณวัดด้วยนะ

แต่ก่อนที่จะถึงขั้นตอนของงานพิธีตาม ที่เกริ่นมาให้ทราบก่อนนั้น จะขอนำ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มา แต่พอสังเขป แล้วจะสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ที่พอจะค้นคว้ามาได้ แต่จะเป็นจริงอย่างไร ก็ขอฝากไว้ให้อยู่ในวิจารณญาณของท่านทั้งหลายด้วย...


webmaster - 30/8/10 at 16:37

พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพล อดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดีจักรี นฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงมีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์ เจ้าภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระ บรมเชษฐา ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และ พระบาท สมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

พระองค์ทรงพระราชสมภพในราชสกุล "มหิดล" อันเป็นสายหนึ่งใน พระบรมราชจักรีวงศ์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเป็นพระโอรสใน พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จ พระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า

ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ใน มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด๎ ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ ปี ๖ เดือน ๔ วัน ก็ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อ วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ สืบแทนสมเด็จพระบรม เชษฐาธิราช ซึ่งเสด็จสวรรคตโดยกระทันหัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสืบ สันตติวงศ์จากอดีตพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทั้งหลาย เพื่อที่จะได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย กิจ อันยังคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่ปวงประ ชาชนชาวไทยสืบต่อไป ซึ่งทวยราษฎร์ทั้งหลาย ต่างตระหนักและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เป็นด้วยเหตุว่าสมเด็จพระบรม ราชชนกเสด็จสวรรคต ในขณะที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุเพียง ๑ พรรษา กับอีก ๙ เดือนเท่านั้น จึงตกเป็นพระราชภาระใน สมเด็จพระบรมราชชนนี ที่จะทรงอภิบาล พระราชโอรสและพระราชธิดา ทั้งสามพระองค์ ตามลำพัง

แต่ด้วยเดชะพระบารมีแห่ง สมเด็จพระ ศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระปรีชาสามารถ อย่างยิ่ง ทรงอภิบาลรักษาพระราชโอรส พระ ราชธิดา ให้ทรงพระเจริญงามพร้อมด้วยพระ ราชจริยวัตร และสมบูรณ์ด้วยพระสติปัญญา สมพระอิสริยยศและความหวังของปวงชน

ครั้นต่อมาก็ได้เข้าสู่พระราชพิธีราชาภิเษก สมรสกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระ ธิดาคนโตของ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรี สุรนาถ กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓

ต่อมาวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งพระ บรมราชจักรีวงศ์ โดยทรงเปล่ง พระปฐมบรม ราชโองการ ดังนี้ว่า...

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อ ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม...”

หลังจากนั้น มีพระบรมราชโองการโปรด เกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาสมเด็จพระราชินี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ทรงมีพระราช โอรสและพระราชธิดาด้วยกัน รวมทั้งสิ้น ๔ พระองค์

ในระหว่างที่ทรงครองราชสมบัตินั้น ล้น เกล้าทั้งสองพระองค์ ได้บำเพ็ญพระราชกรณีย กิจอันเป็นคุณประโยชน์นานัปการ ทั้งในด้าน การสังคมสงเคราะห์ ด้านการสาธารณสุข ด้าน การส่งเสริมอาชีพ การหาแหล่งน้ำ เป็นต้น พระองค์ทรงประกอบ สังคหวัตถุ ๔ ประการ ทรงบำเพ็ญ ทศพิธราชธรรม ดุจดั่ง พระมหาสมมติราช อันเป็นคุณสมบัติสำหรับ พระมหากษัตริย์ทั้งหลายที่ได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็น "พระเจ้าธรรมมิกราช" อย่างแท้จริง

สำหรับพระราชกรณียกิจในด้านพระ พุทธศาสนา ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกยอยกพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ทรง บำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนพระองค์ไว้เป็นแบบอย่าง ในฐานะทรงเป็น "พุทธมามกะ" ดังเช่นกับบุคคลอื่นผู้เกิดบนผืน แผ่นดินไทย ภายใต้ร่มเงาของผ้ากาสาวพัสตร์จึงได้เสด็จออก ทรงผนวชเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ นับเป็นเวลา ๑๕ วัน

และที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น พระ องค์ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และ ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะที่ "วัดท่าซุง" แห่งนี้ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึง วาระ ดังนี้คือ...

ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องในพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารี ริกธาตุ และทรงเททองหล่อรูป หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา

และครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายนพ.ศ. ๒๕๒๐ เนื่องในพระราชพิธีตัดลูกนิมิตณ พระอุโบสถใหม่ พระองค์ได้ทรงปฏิสันถาร สนทนาธรรมกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และ ได้นิมนต์หลวงพ่อเพื่อทรงสนทนาธรรม และออกเดินทางเยี่ยมเยียนทหารตำรวจชายแดน ในที่หลายแห่งและหลายวาระ

จนกระทั่งต่อมาทรงมีพระราชประสงค์ ให้ตั้ง ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ขึ้นที่วัดท่าซุง เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ อีกทั้งได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งเป็นกองทุน พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของต่างๆ เช่น เครื่องบันทึกเทป เพื่อเผยแพร่ธรรมะไว้อีกด้วย..." การถวายราชสดุดียังไม่จบ ไว้พบกันในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่องนี้...สวัสดี.

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))))))



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 7/9/10 at 14:52

(Update7/09/53 )



ผู้เขียนได้ย้อนเล่าเรื่องการจัด งานพิธีกาญจนาภิเษก ณ วัดท่าซุง เมื่อวันพุธที่ ๑พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งในวันนั้นเมื่อ ๒ ปีก่อน จะตรงกับ "วันแรงงาน" และเป็นวัน พระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ แต่เป็นปี ๘ สอง หน วันวิสาขบูชา จึงต้องเลื่อนไปอีก ๑ เดือน

เพราะฉะนั้น การจัดงานสำคัญในวัน นั้น จึงถือว่าเป็นวันอุดมมงคลที่จะได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง เนื่องในอภิลักขิตสมัยเป็นวโรกาส ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้น เถลิงถวัลยราชสมบัติ นับเป็นปีที่ ๕๐ จึงเป็นที่ปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นล้นพ้นของประชาชน ชาวไทย ต่างก็ร่วมใจกันจัดงานเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ทั่วทั้งแผ่นดิน

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ หรือที่เป็นบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้งหลายใน ปางก่อน ก็ยังปรากฏอยู่ในดวงใจของคนไทยเพราะเป็นสถาบันหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยและเทศโดยทั่วไป


ดังจะเห็นเป็นสำคัญว่า ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ จะมีปรากฏการณ์พิเศษบนท้องฟ้าหลายวาระ เหมือนจะบอกกล่าวถึงความเป็นพระเจ้าธรรมมิกราช แห่งพระองค์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เพราะเป็นด้วยเหตุแห่งความปรารถนา "พระโพธิญาณ" เพื่อทรงต้องการ เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลนั้น

ครั้นถึงปีที่ทรงขึ้นครองราชย์ครบ ๕๐พรรษา จึงมีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นด้วยบุญบารมีของพระองค์ นั่นก็คือ "พระอาทิตย์ทรงกลด" ได้เปล่งรัศมีเป็นแสงสีหลายประการ งามตระ การตาอยู่เหนือขอบฟ้าหลายวาระ เสมือนกับจะเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญพระบารมี ที่กว้าง ใหญ่ไพศาลอันหาประมาณมิได้ฉะนั้น

เป็นอันว่า พวกเราผู้เป็นพสกนิกรของพระองค์ที่ได้เกิดมาในชาตินี้ และได้มีโอกาส อาศัยอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ จึงสมควรที่จะได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดี เพื่อความสามัคคีที่ดีต่อกันในระหว่าง คณะศิษย์ ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ทั่วทุกภาคของประเทศ

เมื่อทุกคนมีจิตใจตรงกันเช่นนั้นแล้ว จึงได้เดินทางมาร่วมงานกัน หลังจากเสร็จงานที่ วัดพระแท่นดงรังแล้ว ต่างก็มาเข้าแถวที่หน้าพระอุโบสถ แล้วช่วยกันจัดขบวนแห่อัญเชิญเครื่องราชสักการะและพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๙ โดยจัดเป็น ขบวนแต่ละภาคอย่างสมพระเกียรติแด่พระองค์





ขบวนแต่ละภาคได้มายืนถวายพระพรอยู่ด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์
ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าพระวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตร



ครั้นขบวนที่ ๑ ซึ่งเป็น "ขบวนราษฏร์" และขบวนที่ ๒ จะเป็น "ขบวนหลวง" ได้เดินเข้ามาถึงบริเวณวิหารแก้ว ๑๐๐ เมตรแล้ว จึงจัดรูปขบวนใหม่เป็นเรียงแถวหน้ากระดาน ด้านหน้าจะมีผู้ยืนถือป้ายอักษรของแต่ละภาค

พวกเราทุกคนและทุกภาคของประเทศจึงได้มายืนรวมกัน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ เพื่อที่จะได้ทำพิธีถวายพระพรชัยมงคลกันต่อไป ถึงแม้แสงแดดจะแผดเผา แต่ก็หาทำให้พวกเรา
ย่อท้อไม่ ต่างก็ตั้งใจรับฟัง "ผู้จัด" กล่าวคำ ถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ แด่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้เล่าถึง พระราช ประวัติของพระองค์ นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และได้มาจบลงในตอนที่แล้วว่า...

พระองค์ได้เคยเสด็จมาวัดท่าซุงถึง ๒ ครั้ง คือครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องในพระราชพิธีบรรจุพระบรม สารีริกธาตุ และทรงเททองหล่อรูปหลวงพ่อ ปาน และต่อมาได้เสด็จอีกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๐ เนื่องในพระราชพิธีตัดลูกนิมิต ณ พระอุโบสถ

ภายหลังทรงปรารภให้หลวงพ่อตั้ง ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ ได้ทรงพระราชทานทรัพย์สิ่งของมามากมาย เพื่อ ทรงเริ่มต้นเป็น "กองทุน" ซึ่งต่อมาพวกเราก็ได้ มีโอกาสร่วมกันสมทบทุนโดยเสด็จพระราชกุศลร่วมกับพระองค์ แล้วตั้งชื่อว่า "กองทุนมูลนิธิ หลวงพ่อปาน - หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร" นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

พระเดชพระคุณหลวงพ่อพร้อมด้วยคณะศิษย์ทั้งหลาย จึงได้จัดเตรียมวัตถุสิ่งของ อันมีข้าวสาร น้ำตาล เกลือ เสื้อผ้า และเวช ภัณฑ์ต่างๆ เป็นอันมาก ออกเดินทางไปทั่วทุกภาคของประเทศ พร้อมทั้งมอบ วัตถุมงคล ให้แก่ทหารตำรวจชายแดนอีกด้วย

ในสถานที่บางแห่งก็ได้ตั้ง ธนาคารข้าว บางทีก็หาทุนช่วยขุดบ่อน้ำให้ราษฎร หรือตั้ง โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร แล้วตั้งชื่อว่า "โรงเรียนราชานุเคราะห์"ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่นั้น เพราะเป็นการริเริ่มของพระองค์

หลวงพ่อและคณะศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ จึงได้ปฏิบัติภารกิจต่อประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการสนองพระ ราชดำริของพระเจ้าแผ่นดิน ที่ได้ทรงห่วงใย พสกนิกรของพระองค์เป็นที่สุด เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ยากที่จะพรรณนาให้หมดสิ้นได้ น้ำพระทัยที่ทรง มีความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระองค์ จึงมีมากล้นยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร

พระราชจริยวัตรดังที่กล่าวนี้ บุคคล ธรรมดาสามัญยากที่จะกระทำได้ ถ้ามิใช่วิสัย ของ พระโพธิสัตว์เจ้า ทั้งหลาย ดังที่หลวงพ่อ เคยถวายพระพรไว้ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๐ คือเมื่อเกือบ ๒๐ ปีล่วงมาแล้ว ใน ตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสถามหลวงพ่อว่า...

“เขาพูดกันว่าผมปรารถนาพุทธภูมิ เป็นความจริงไหมครับ..?”

หลวงพ่อท่านก็ถวายพระพรว่า

“เรื่องปรารถนาพุทธภูมินี่..พระองค์ ปรารถนามานาน..เท่าที่ทราบ..พระองค์ปรารถนา มานาน..แต่เวลานี้บารมีก็เป็น "ปรมัตถบารมี" แล้ว ก็เหลืออีกเพียง ๕ ชาติ และที่พระองค์ ปฏิบัติมานี่มันเลยแล้ว..ไม่ใช่ไม่สำเร็จ..!

"พุทธภูมิ" นี่ต้องบำเพ็ญบารมีกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์เป็น "วิริยาธิกะ"วิริยาธิกะนี่..ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขย กำไรแสนกัป นี่บำเพ็ญบารมีมาเกิน ๑๖ อสงไขย แล้ว "แสนกัป" อาจจะยังไม่ครบ จึงต้องเกิดอีก ๕ ชาติ”

ในขณะนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ตรัสถามหลวงพ่อว่า “พระเจ้าอยู่หัวก็ดี หม่อมฉันก็ดี ก็มี ความเคารพในพระคุณ พระราชวงศ์จักรี อยู่ ตลอดเวลา ที่ท่านสามารถจะทรงความเอกราชไว้ได้ ก็อยากจะทราบว่าทั้งสองคนนี่..จะทรง ชาติกับศาสนาไว้ได้ไหม..?”

หลวงพ่อได้ถวายพระพรว่า “ก็ได้..ประเทศเราไม่มีเกณฑ์จะต้องตกเป็นเหยื่อคอมมิวนิสต์”

แล้วพระองค์ก็ตรัสถามอีกว่า “ฉันทั้งสองคนนี่ ทั้งพระเจ้าอยู่หัวด้วย และฉันด้วย จะต้องตายเพราะการที่เขามุ่งจะ ฆ่าไหม..?”

พอตรัสถามตรงนี้ หลวงพ่อท่านบอกว่า พระก็ดลใจให้ตอบว่าดังนี้... “ก็ในเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี่ เป็นนักรบฝีมือดีมาจากสุโขทัย และการมาเกิด คราวนี้ ต้องการจะเกิดเพื่อจรรโลงให้คงอยู่ให้ ชาติมีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วเรื่องอะไร..ที่ ต้องมาตายเพราะเรื่องคมอาวุธล่ะ..ถ้าจะเจ็บตายเอง..เป็นเรื่องธรรมดา และต้องตายด้วย เรื่อง "คมอาวุธ" อันนี้ไม่มี..!”

พระเจ้าเดือนเด่นฟ้า

เมื่อหลวงพ่อเล่ามาถึงตอนนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ครั้งอดีตว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ ได้เคยเกิดกับ พระราชบิดาพระองค์เดียวกันถึง ๒ ครั้ง และมี พระนามคล้ายๆ กันทั้งสองครั้ง คือ

ครั้งแรกได้เคยเกิดในสมัย สุวรรณภูมิ เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๔๖ เป็นพระโอรส องค์แรกของ พระเจ้าตวันอธิราช มีพระนามว่า "พระเจ้าเดือนเด่นฟ้า"

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๙๐๐ เศษ ก็ได้มาเกิด ในสมัย เชียงแสน อีกครั้งหนึ่ง มาเป็นพระ โอรสองค์ใหญ่ของ พระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่ง พระราชบิดาพระองค์นี้ก็คือ พระเจ้าตวันอธิราช องค์เดิมนั่นเอง ครั้งนี้มีนามว่า "เจ้าเดือนแจ่ม ฟ้า" แต่ได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

พระราชสมบัติจึงได้ตกแก่พระโอรส องค์รองคือ พระเจ้าไชยสิริ ซึ่งเชื้อพระวงศ์เชียง แสนพระองค์นี้แหละ ได้มีสายสัมพันธ์สืบสันตติวงศ์ แล้วดำรงความเป็นกษัตริย์มาจนกระทั่งถึง พระราชวงศ์จักรี ในปัจจุบันนี้

(พระเจ้าไชยสิริ นี้ หลวงพ่อบอกว่าคือ หลวงปู่ธรรมไชย วัดทุ่งหลวง ส่วน พระเจ้าทุกขิตะ พี่ชายของพระเจ้าพรหมฯ นั้นได้แก่หลวงปู่คำแสน (เล็ก) วัดดอนมูล สำหรับ พระเจ้าพรหมมหาราช คงไม่ต้องบอกกันนะ)

นับว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย มี การสืบทอดเชื้อสายมานานนับพันปี ควรที่พวก เราชาวไทยจะได้ภูมิใจไว้เป็นอย่างยิ่ง แล้วควรช่วยกันดำรงไว้ให้มั่นคง เพราะเราเป็นชาติที่ ยิ่งใหญ่ และมีเกียรติมีศักดิ์ศรีมาก่อน ขอวิงวอนอย่าเอาชาติบ้านเมืองไปขายใครก็แล้วกัน

สำหรับหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุ ได้แก่ กระเบื้องจาร ที่ขุดได้จากซากเมือง คูบัว จ.ราชบุรี ก็ได้ยืนยันว่า พ่อกับลูกคู่นี้ ทรงเป็นหน่อเนื้อพระบรมพงศ์พระโพธิสัตว์ทั้งสองพระ องค์ ได้ตั้งความปรารถนา "พุทธภูมิ" ประเภท วิริยาธิกะ คือจะต้องบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระ พุทธเจ้า ใช้เวลา ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป จึงจะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

โดยเฉพาะในสมัยสุวรรณภูมินั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งสองพระองค์นี้ ได้ทรงบำเพ็ญ พระบารมีร่วมกัน โดย พระเจ้าตวันอธิราช กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมินี้ ได้ทรงวาง รากฐานการสร้างพระบารมีไว้ให้พระราชโอรส ของพระองค์ ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ต่อไปในภายภาคหน้า

พระองค์ได้สร้างบ้านแปลงเมืองให้เจริญรุ่งเรือง พร้อมกับปรับปรุงกองทัพไว้รับมือกับ
ข้าศึก ทั้งทางบกและทางน้ำให้เข้มแข็งอยู่เสมอส่งเสริมอาชีพของประชาราษฎร พร้อมทั้งได้ จัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อสงเคราะห์ประชาชน

ส่วนในทางด้านพระพุทธศาสนา พระองค์โปรดให้มีการสร้างวัดและโรงเรียนปริยัติ ธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณร โดยมี พระโสณะ พระอุตตระ เป็นประธานฝ่ายพระสงฆ์ มีการ มอบ "พัดยศ" สำหรับผู้สอบบาลีได้

ต่อมาก็มีการแต่งตั้งพระสงฆ์ไทยขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระองค์แรกของเมืองไทย จนได้สืบต่อวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ มาจนถึงบัดนี้ อีกทั้งพระองค์ได้เสด็จประพาสไปยังนานาประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และที่อยู่ห่างไกลออกไป ส่วนภายในประเทศอาณาเขตของพระองค์ ก็ได้เสด็จเยี่ยมเยียน ราษฎรไปตามหัวเมืองต่าง ๆ อีกด้วย

ซึ่งพระราชจริยวัตรของพระเจ้าตวันอธิราชนี้ มีลักษณะที่ทรงปฏิบัติคล้ายกับพระราชจริยวัตรของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเจ้ากรุงสยาม ทุกประการ

ฉะนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีในด้าน พระศาสนา เช่น พิธีกวนข้าวทิพย์ การสวดมนต์ หรือการนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน ตลอดถึงพิธีกรรมต่างๆ ตามโบราณราชประเพณี เรามีการสืบทอดวัฒนธรรมอันเป็น มรดกไทย มานานนับพันปี แต่ที่เราไม่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ เป็นเพราะประวัติศาสตร์ช่วงนี้ขาดหายไป แต่ เมื่อเราได้พบ กระเบื้องจาร เหล่านี้ จึงได้รู้เรื่องความเป็นไทยในอดีต จากบรรพบุรุษของ เราที่ได้จารึกไว้

เพราะฉะนั้น บ้านเมืองที่มีความมั่นคง มาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นเพราะมีการวางรากฐาน ทั้งในด้านการเมือง การทหาร และการปกครอง โดยวางแผนให้คนไทยมีระเบียบวินัยที่ดี อันมี สถาบันหลักทั้ง ๓ คือชาติ ศาสนา และพระ มหากษัตริย์ เพื่อเป็นโซ่ยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ ตลอดมา

ซึ่งหลังจาก พระเจ้าเดือนเด่นฟ้า ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ก็ทรงมีพระราช หฤทัยที่จะดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของ สมเด็จพระราชบิดา ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็น พระโพธิสัตว์ เช่นเดียวกัน และก่อนที่ พระโสณะ จะนิพพาน ก็ยังได้พยากรณ์ไว้อีกว่า

"พระเจ้าเดือนเด่นฟ้าจะมาเกิดที่ "กรุงเทพมหานคร" เมื่อนั้น "สุวรรณภูมิ" จะฟื้นชื่อ มีคนรู้ทั่ว.."

และยังมี คำทำนายโบราณ ที่สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส พยากรณ์เหตุการณ์พระพุทธศาสนา "หลังกึ่งพุทธกาล" ไว้ว่า...

“ดูก่อนอานนท์..ตถาคตสงสารสัตว์เป็น ล้นพ้น ที่มีอายุขัยอยู่ใกล้ยุคกึ่งสมัย คือในหลัง พุทธกาลนี้ แต่ในเวลานั้น จะมี "พระมหากษัตริย์ธรรมิกราช" ผู้เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง จะเกิดภายในอุปถัมภ์ของ "พระมหาเถระ โพธิสัตว์" พระโพธิสัตว์สองพระองค์นั้น จะเสด็จ เข้ามาบำรุงพระพุทธศาสนาของตถาคต สมณ ชีพราหมณ์จะตามเสด็จเป็นอันมาก ในระยะนี้ จะเป็นยุค "ชาวศรีวิไล” ดังนี้

เป็นอันว่าเหตุการณ์ในอดีตได้มาหยุดอยู่ ที่ปัจจุบันนี้ ที่ได้ทราบปูมหลังของพระโพธิสัตว์
ทั้งสองพระองค์ ซึ่งเราพอจะทราบกันดีแล้วว่า มีพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง หลังจากที่ได้รับ อาสามาลงมาเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา และหลังจากที่จะได้ลาพระโพธิญาณแล้ว ก็ได้ บรรลุคุณธรรมขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา จึง มีสัญญาว่าจะต้องทำกิจในฐานะพุทธภูมิก่อน

ครั้นได้ปฏิบัติภารกิจจนครบถ้วนแล้ว จึงขอลาเข้าสู่พระนิพพาน เป็นการสิ้นสุดยุติใน การเกิดอีกต่อไป คงเหลือแต่พระโพธิสัตว์เจ้า พระองค์นี้เท่านั้น ที่พระองค์จะทรงลาจากพุทธ ภูมิหรือไม่..ก็ยังคงทิ้งไว้เป็นปริศนากันต่อไป

เพราะฉะนั้น เนื่องในวาระดิถีอันเป็น ศุภมงคลนี้ ที่พระองค์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราช สมบัตินานกว่าบรรดาพระมหากษัตริย์ไทยใน อดีต ขอให้พวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ได้อวยชัย เป็นการถวายพระพรชัยมงคล เพื่อ แสดงความจงรักภักดี

ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง อย่าได้มีอุปสรรคอย่างใดมากล้ำกลาย เพื่อทรงบำเพ็ญ พระปรมัตถบารมี ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป อันเป็นประโยชน์สุขต่อปวงชนชาวไทย เพราะได้อาสาเพื่อลงมาจรรโลงประเทศไทย ในฐานะ "พระประมุขของชาติ" ตลอดไป

แผ่นทองคำจารึก


แต่สำหรับพวกเราคงจะต้องอาศัยถ้อยคำของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ที่ท่านได้จารึก
คำพยากรณ์เป็น "แผ่นทองคำ" ฝังไว้ใต้พื้น พระอุโบสถ วัดท่าซุง เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๐ มีใจความดังนี้ว่า...

“เราพระมหาวีระ..มีพระราชานามว่า “ภูมิพล” เป็นผู้อุปถัมภ์ ร่วมด้วยพุทธศาสนิก ชนส่วนใหญ่ สร้างวัดนี้ไว้เป็นพุทธบูชา เมื่อศักราชล่วงไปได้ ๒๗๐๐ ปีปลาย จะมีพระเจ้าธรรมิกราชนามว่า “ศิริธรรมราชา” สืบเชื้อสายมาจากเชียงแสนบวกสุโขทัย ร่วม กับพระอรหันต์ จะมาบูรณะวัดนี้ สืบพระศาสนา ต่อไป คณะเราขอโมทนาด้วย แต่อยู่ช่วยไม่ได้ เพราะไปพระนิพพานหมดแล้ว...”

รวมความว่าการกล่าวคำ "ถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีเพียงแค่นี้ ส่วนถ้อยคำสุดท้ายจะเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจกันหรือไม่ไว้ติดตามกันต่อไป


ถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติรวม ๔ ภาค



คณะศิษย์ที่เป็นตัวแทน "ภาคเหนือ" ถวายพระพรเป็นภาษาชาวเหนือ

สำหรับเหตุการณ์ในวันนั้น ท่ามกลางอากาศที่แจ่มใส ทุกคนต่างก็แต่งกายอยู่ในชุดไทยหลายแบบ หลายหลากสี บางคนก็อยู่ในชุดสีขาว ทั้งหญิงและชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่างก็ตั้งใจฟังคำ "ถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติ" ด้วยความเคารพ

หลังจากจบถ้อยคำแล้ว จึงประกาศให้ตัวแทนของแต่ละภาคเดินออกมาข้างหน้า เพื่อที่จะกล่าวถวายพระพรกัน โดยเริ่มตั้งแต่ ภาคเหนือ ได้แก่ อาจารย์อำไพ สุจนิล พร้อมด้วยคณะชาวเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวแทนคณะศิษย์ทางภาคเหนือทั้งหมด ปรากฏว่า คณะอาจารย์อำไพ ได้ออกมากล่าวถวายพระพรเป็นสำเนียงชาวเหนือ..แต้ ๆ เลยเจ๊า..!

ถ้าท่านผู้อ่านดูตามรูปภาพนี้แล้ว จะ เห็นว่าผู้ที่กำลังยืนถือเครื่องราชสักการะอยู่นั้น จะเป็นพานพุ่มดอกไม้เงินดอกไม้ทอง หรือร่มเงินร่มทองก็ดี เป็นงานฝีมือที่ประดิษฐ์ด้วย ความประณีตสวยงาม ตามแบบลักษณะของ ทางภาคเหนือ ที่ยังมีการรักษาศิลปหัตถกรรมอันเป็นโบราณประเพณีนี้อยู่

เพราะฉะนั้น ในการจัดงานครั้งนั้น ซึ่งมีด้วยกันสองแห่ง คือ งานรวมภาค ณ วัด พระแท่นดงรัง และ งานพิธีกาญจนาภิเษก ณ วัดท่าซุง ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทาง ภาคเหนือ โดยเฉพาะ ท่านครูบาพรชัย วัด พระบาทสี่รอย พร้อมด้วยชาวเชียงใหม่ทั้งหลาย ต่างก็จัดทำสิ่งของเหล่านี้มาร่วมงานกันเต็มที่



ตัวแทนคณะศิษย์ "ภาคใต้" ถวายพระพรเป็นภาษาชาวใต้

ส่วนตัวแทนจาก "ภาคใต้" ก็ไม่เบาพากันเดินออกมา.."อู้คำเมือง..!" อ้อ..ขอโทษ นะ คำว่า "อู้คำเมือง..!" นั้น เป็นของชาวเหนือ เพราะถ้าเป็นคำของ "ชาวใต้" เขาก็ต้องบอกว่า.."แหลงต้าย..!" ใช่ไหมล่ะ?

แต่ก่อนที่ผู้เป็นตัวแทนของคณะศิษย์ "ภาคใต้" จะเดินออกมาข้างหน้านั้น ต้องรอ ให้ผู้เป็นตัวแทนของคณะศิษย์ "ภาคเหนือ" อัญเชิญเครื่องราชสักการะ เช่น พานธูปเทียน แพ เป็นต้น นำไปวางไว้บนโต๊ะบูชา อันเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมฉายาทิสลักษณ์ทั้ง ๓ มหาราชนั้นก่อน

เมื่อผู้แทนของคณะศิษย์ "ภาคเหนือ" เดินกลับมาเข้าที่เดิมแล้ว จึงถวายบังคมด้วยความเคารพอย่างพร้อมเพรียงกันทุกคน เป็นการเสร็จสิ้นการถวายพระพรของภาคเหนือ

ต่อไปก็เป็นตัวแทนของ "ภาคใต้" ผู้ที่เตรียมคำถวายพระพรมาแล้ว คือ อาจารย์สมพร แห่งศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ซึ่งเป็น "ชาว ใต้" ขนานแท้และดั้งเดิม ก็ได้เดินออกมามีพาน ธูปเทียนแพอยู่ในมือ พร้อมทั้งผู้ที่ถือพุ่มเงิน และพุ่มทองอีกด้วย

เสียงสำเนียงของชาวใต้ก็ได้ดังก้องไปทั่วบริเวณนั้น เพื่อแสดงถึงพลังแห่งความมี น้ำใจของคนใต้ แม้จะอยู่ห่างไกลแค่ไหน ก็ยัง อุตส่าห์เดินทางมาร่วมพิธีนี้ได้ แต่จะกล่าวว่า อย่างไรบ้างนั้น จำไม่ได้เสียแล้ว รู้แต่ว่าประ ทับใจจังโห..! ก็แล้วกันนะ..จะบอกห๊าย..ย..!



คณะครูและนักเรียนจาก จ.สกลนคร ถวายพระพรเป็นสำเนียงอีสาน

ครั้นคณะศิษย์จาก ภาคใต้ ได้กล่าวคำถวายพระพรแล้ว ผู้เป็นตัวแทนก็ได้นำพานธูปเทียนแพไปวางไว้บนโต๊ะบูชา และได้เดิน กลับมาเข้าแถวตามเดิม แล้วชาวใต้ทุกคนที่ยืน อยู่ด้านหลัง ต่างก็ถวายความเคารพพร้อมกัน

ต่อจากนั้นก็จะเป็นผู้เป็นตัวแทนของ ภาคอีสาน หลังจากที่รับฟังการ "แหลงใต้" ผ่านไปแล้ว เราก็มารับฟังการ.."เว้า..!" ของ ชาวอีสานกันบ้าง โดยจะออกมากัน ๒ คณะคือ "คณะอีสานตอนบน" และ "คณะอีสาน ตอนล่าง" ซึ่งรวมทั้ง "คณะอีสานตอนกลาง" ด้วย

สำหรับผู้ที่ออกมาเป็นคณะแรกได้แก่ คณะครูและนักเรียนจากจังหวัดสกลนคร แล้ว ได้กล่าวคำถวายพระพรโดย อาจารย์สงวนศรี พรหมสาขา ณ สกลนคร ซึ่งได้กล่าวคำเป็นสำเนียงของ "ชาวอีสานตอนบน" จนทำให้คณะ ศิษย์ภาคต่างๆ รับฟังแล้ว ต่างก็มีความซาบ ซึ้งพอสมควร

ส่วนผู้ที่ยืนถือเครื่องราชสักการะอยู่ ด้านหลังนั้น ทั้งหญิงและชาย จะแต่งกายด้วยผ้าไหมที่สวยงาม ชุดนี้เขาเรียกว่า "ชุดบูชา พระธาตุ" ที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของชาวสกลนครสมัยโบราณ สำหรับชุดนี้ได้เคยแสดง หน้าพระที่นั่งมาแล้ว ณ พระตำหนักภูพาน ราชนิเวศน์ จ.สกลนคร



คณะครูและนักเรียนจาก จ.ศรีสะเกษ กล่าวคำถวายพระพร

เมื่ออาจารย์สงวนศรีกล่าวจบแล้ว ผู้ แทนคณะทุกคนต่างก็นำเครื่องราชสักการะไป วางไว้บนโต๊ะบูชา แล้วกลับมาถวายบังคมโดย พร้อมเพรียงกัน หลังจากนั้นก็จะเปิดโอกาส ให้ตัวแทนของคณะศิษย์ "ภาคอีสานตอนล่าง" ซึ่งเป็นการรวมทั้งภาค "อีสานตอนกลาง" ด้วย โดย "คณะหมูยอ" อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

เมื่อ คุณพงศ์พร และ อาจารย์ณรงค์กล่าวถวายพระพรในนามของ "ภาคอีสาน" ทั้งหลายแล้ว ทุกคนต่างก็น้อมใจไปตามกระแสเสียง เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินของชาวไทย

ครั้นอัญเชิญพานพุ่มไปวางไว้แล้ว คณะศิษย์ "ภาคอีสาน" ทั้งหมดก็ถวายบังคมพร้อม กัน จากนั้น คุณแสงเดือน พร้อมพันธุ์ ในนาม ของคณะศิษย์จาก ภาคกลาง ก็ได้ออกมากล่าว



ผู้แทนคณะศิษย์จาก "ภาคกลาง" กล่าวคำถวายพระพร

เป็นอันว่า การถวายพระพรเนื่องในปี กาญจนาภิเษกครั้งนี้ พวกเราชาวไทยทั่วสาร ทิศ ที่เป็นตัวแทนของคณะศิษยานุศิษย์วัดท่าซุง ต่างก็ได้มาร่วมกันกล่าวคำถวายพระพรเป็น ภาษาพื้นเมืองครบทั้ง ๔ ภาค เครื่องราชสักการะทั้งหลาย ที่ได้ถูกอัญเชิญไปวางไว้บนโต๊ะบูชา โดยพวกเราใน นามคณะศิษย์ของ หลวงพ่อพระราชพรหมยานทั่วทุกภาค เริ่มตั้งแต่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และ ภาคกลาง อันเป็นภาคสุดท้าย ที่ได้รวมทั้ง ภาคตะวันตก และ ภาคตะวันออก ไปด้วย



คณะลูกหลานของหลวงพ่อฯ ได้วางพานพุ่มไว้บนโต๊ะบูชา

จึงนับเป็นการรวมพลังครั้งใหญ่กันอีกครั้ง ดังที่เรียกกันว่า งานรวมภาค เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น ที่จะได้จัด งานพิธีกาญจนาภิเษก กันไปแต่ละแห่งเพื่อที่จะให้ประชาชนชาวไทยภายใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาทของพระองค์ ได้มีโอกาสจัดกิจกรรม ร่วมกัน เพราะถือเป็นวาระศุภมงคลของคนไทย ทั้งชาติ ที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทยนี้ ควร ที่จะได้สนองพระมหากรุณาธิคุณแด่องค์พระประมุขของชาติบ้าง

ฉะนั้น เมื่อตัวแทนของแต่ละภาค อัน มีตัวแทนของ ภาคกลาง เป็นภาคสุดท้าย ที่ได้นำพานธูปเทียนแพ เพื่อเป็นการขอขมากรรมพร้อมทั้งวางพานพุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เปิดโอกาสให้ทุกคนที่เดินทางมาจากทุกภาคเข้าไปวางพานพุ่มของตนเองบ้าง


สำหรับเครื่องราชสักการะที่วางอยู่นั้นจึงเปรียบเสมือนดวงใจของคนไทยทุกคน ที่ ได้อัญเชิญมาจากแดนไกลในแต่ละภาค แต่ละ จังหวัดของประเทศไทย แม้จะเหนื่อยยากลำบากแค่ไหน พวกเราก็ได้มารวมกัน ณ วัดท่าซุง แห่งนี้แล้ว จึงนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ที่พวกเราได้เป็นส่วนหนึ่งของคนไทยทั้งชาติ ที่ได้มีโอกาสช่วยกันจรรโลงชาติ พระศาสนา และพระ มหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นเครื่องผูกมัดยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ตลอดไป จะทำให้ประเทศชาติทรง ความเป็นเอกราชและอธิปไตยไว้ยั่งยืนนาน

((((((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))))))



◄ll กลับสู่ด้านบน


webmaster - 13/9/10 at 07:03

(Update 13-09-53)