การสร้างสมเด็จองค์ปฐม (ทรงเครื่องพระนิพพาน) ณ วัดสิริเขตคีรี (ตอนที่ 2)
webmaster
-
11/6/08 at 15:56
«
l 1 l
2
l
3 l
4
l
5 l
6 l
7 l
8 l
»
ตอนทอดกฐินปีที่ ๑ สร้างพระจุฬามณี ปี ๒๕๔๓
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ อันเป็นปีที่ ๑ ของการทอดกฐินเพื่อสร้าง
พระจุฬามณี
โดยมีญาติโยมขอรับเป็นเจ้าภาพกันประมาณ ๑๑๐ กอง ทั้งกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด พวกเราจึงได้จัดเตรียมงานกันอย่างเต็มที่ เผื่อว่าจะมีคนเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ประการแรกสำคัญคือซองกฐินที่จะต้องแจกจ่ายไปตามเจ้าภาพ
คุณเกวลิน ชำนาญช่าง
จ.พิษณุโลก รับอาสาจัดพิมพ์ถวายให้ทั้งสามปี ส่วนเรื่องอาหารการกิน
คณะสัมมาปฏิบัติ
จ.พิษณุโลก และ
คณะท่าชัย
รับเลี้ยงอาหารฟรีเช่นกัน สำหรับสถานที่พักก็ได้อาศัยไปตามบ้านเรือน และที่
ร้านทองสุภาภรณ์
ตลอดถึงตามโรงแรมต่างๆ ในสวรรคโลกอีกด้วย โดยมี
เจ๊เฮียง และ คุณชบา
ช่วยประสานงาน
แต่ก็ต้องหนักใจในเรื่องสถานที่จัดงาน เพราะภายในสำนักแม้แต่ไฟฟ้าก็ยังต้องใช้ เครื่องปั่นไฟเอง และที่สำคัญคือสถานที่รับกฐิน เฉพาะศาลาปฏิบัติธรรมคงไม่เพียงพอ
พระวันชัย ฐานวโร
เจ้าสำนักฯ จึงต้องทำศาลาชั่วคราว ด้วยการเอาไม้ยูคาลิปตัสมาทำเสา แล้วมุงหลังคาแบบทรงไทยด้วยหญ้าคา และเอาฟางข้าวมาปูพื้น พร้อมทั้งใช้เสื่อปูทับอีกที คิดว่าคงใช้งานได้ถึงสามปี
แล้วก็หันกลับมาดูเรื่องห้องน้ำก็ยังไม่พอเพียงอีกเหมือนกัน จึงต้องจัดทำชั่วคราว ด้วยวิธีเอาคอห่านมาวางไว้เป็นแถว แถวละ ๒๐ - ๓๐ ห้อง กระจายอยู่ ๒ - ๓ จุด แล้วมุงหลังคาและกั้นห้องด้วยสังกะสีทั้งหมด รวมได้ร้อยกว่าห้อง นับว่าเพียงพอสำหรับงานนี้ ส่วนน้ำก็ใช้วิธีใส่ไว้ในถังสองร้อยลิตร วางไว้ที่หน้าห้องน้ำเป็นระยะๆ เพื่อไว้ใช้ไว้อาบก็ได้
เมื่อเตรียมการเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็นัดหมายทอดกฐินเป็น วันเสาร์ที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๔๓ ซึ่งเป็น
วันลอยกระทง
พอดี โดยมีผู้แจ้งความประสงค์จะร่วมเดินทางกันพอสมควร ส่วนคณะผู้เขียนก็ขอออกเดินทางไปล่วงหน้าก่อนในวันที่ ๑๐ โดยหยุดแวะเป็นสถานที่แรก ณ พระเจดีย์เก่า
วัดต้นจันทร์
อ.เมืองเก่า จ.สุโขทัย ซึ่งผู้เขียนได้เล่าผ่านไปแล้วว่าเป็นวัดที่
ท่านพ่อขุนศรีเมืองมาน
เป็นผู้สร้าง
ความจริงผู้เขียนเคยมาแล้ว แต่การที่จะมากราบไหว้อีกนั้น เป็นเพราะต้องการให้คนที่ไม่เคยมาได้มีโอกาสมากราบไหว้ โดยเฉพาะ
คณะแหม่ม
ที่เดินทางมาจากหาดใหญ่ เพื่อมาร่วมสมทบที่วัดท่าซุงจำนวนรถตู้ ๒ คัน รวมกับพวกเราซึ่งมี
คุณปรีชา พึ่งแสง
เป็นผู้บันทึกวีดีโอ พร้อมทั้งคณะเจ้าหน้าที่ ตามรอยพระพุทธบาท และญาติโยมในวัดมี
คุณแสวง ศรีปัญญาธรรม
ช่วยขนพระพุทธรูปไปด้วย รถรวมแล้วประมาณ ๘ คัน
เมื่อได้กราบไหว้พระเจดีย์เก่าแก่ภายในวัดต้นจันทร์ เพื่อเป็นการรำลึกนึกถึงที่พระ เดชพระคุณหลวงพ่อฯ เคยบวชอยู่ที่นี่เมื่อชาติปางก่อนแล้ว พวกเราประมาณเกือบห้าสิบคนก็ออกเดินทางไปฉันเพลที่หน้า
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ซึ่งมีทั้งไก่ย่างและส้มตำและอาหารอื่นๆ อีกเยอะแยะให้เลือกทาน
การเดินทางมาที่จังหวัดสุโขทัยในขณะที่จะมีงานลอยกระทงนั้น หากได้เข้ามาในเขต นี้แล้ว จะเห็นบรรยากาศที่สวยงาม เพราะตลอดเส้นทางทั้งสองข้างถนน จะมองเห็น ชาวบ้านประดับกระทงไว้หน้าบ้านของตนเองอย่างวิจิตรตระการตา มีรูปแบบหลายลักษณะและหลายหลากสี ถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นจริงๆ นับว่าเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ที่ทางจังหวัดได้อนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยม
โดยเฉพาะภายในอุทยานประวัติศาสตร์ ทางการท่องเที่ยวก็ได้ร่วมกับทางจังหวัด จัดงานลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่ มีการแสดงแสงสีและเสียงเพื่อย้อนอดีตกาลสมัย
พระร่วงเจ้า
ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างสนใจใคร่มาเยี่ยมชมกันอย่างคับคั่ง แต่พวกเราก็ได้แค่แวะผ่านเข้าไปเท่านั้น คงจะมีคุณปรีชาย่องกลับมาบันทึกภาพวีดีโอไว้ให้พวกเราได้ชมกันในภายหลังเท่านั้น
เมื่อแวะรับประทานอาหารกลางวันที่หน้าอุทยานฯ จนอิ่มหนำสำราญกันแล้ว จึงได้เดินทางต่อไปที่
พุทธอุทยานพระร่วง ฯ
โดยมีคณะท่าชัยและคณะพิษณุโลกให้การต้อนรับ บางคนถึงกับบอกว่า นับตั้งแต่ปีที่แล้วได้ยืนอยู่บนเนินเขา เพื่อมองดูขบวนรถจากข้างล่าง ขณะวิ่งอยู่บนถนนจะเข้ามาภายในสำนักนั้น จะเป็นขบวนรถยาวเหยียดอย่างเป็นระเบียบ เห็นแล้วอดที่จะปลื้มใจจนน้ำตาไหลเสียมิได้
ความจริงพวกเราทุกคนก็ปลื้มใจเช่นกัน ที่เจ้าภาพมีความพร้อมเพรียงกันดี ช่วยกันจัดสถานที่ต้อนรับไว้สวยงาม ถึงแม้จะเป็นเพียงศาลาชั่วคราว แต่ก็ยังมีความปราณีต บางคน เล่าว่าในขณะที่กำลังทำศาลาอยู่นั้น จะมีพระอาทิตย์ทรงกลดด้วย ผู้เขียนจึงตั้งชื่อว่า ศาลา ๗ วัน เพราะทำแค่เพียง ๗ วันก็สำเร็จแล้ว พร้อมทั้งจัดทำพานกฐินสำเร็จรูปอย่างสวยงามไว้ประมาณ ๓๐ ชุด
ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าภาพแต่ละกองได้เข้าไปถวายพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นตัวแทนของ สำนัก โดยมีเพื่อนพระภิกษุหลายรูปเดินทางมาร่วมงานกัน การเตรียมการจัดงานเป็นเดือนๆ จึงนับว่ามีการพร้อมพอสมควร สำหรับผู้เขียนก็ได้ขอให้
เฮียฮง กับ คุณปราณี
เป็นผู้ทำ
แผ่นดวงชะตา
เพื่อให้เจ้าภาพนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ร่วมทำบุญทุกคน ไว้เขียนดวงชะตาของตนเองลงในแผ่นนี้ แล้วนำมาบรรจุไว้ใต้ฐานองค์พระพุทธรูป
ปางประทับรอยพระพุทธบาท
อันประดิษฐานอยู่ภายในพระจุฬามณี
ทั้งนี้ เพื่อเป็นความหมายว่า "ดวงชะตา" ของเราอยู่ภายใต้ฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ ส่วนพระพักตร์เป็นของ
สมเด็จองค์ปฐม
การทำพิธีอย่างนี้ก็เพื่อเป็นเคล็ดพิธีว่า เราจะไม่กลับมาเกิดอีก ขอฝากดวงชะตาชาตินี้ไว้ใต้ผืนแผ่นดินนี้เป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปจะไม่มีชะตาชีวิตอย่างนี้อีกแล้ว
ตัวอย่างแผ่นทอง ดวงชะตา"
แผ่นดวงชะตาที่ทำนี้ต้องใช้เป็นจำนวนมาก ถ้าจำไม่ผิดคิดว่าประมาณเกือบ ๒ หมื่นแผ่น โดยมี
คุณจรรยา แซ่ปึง
และเพื่อนร่วมกันเป็นเจ้าภาพด้วย อีกทั้งได้ทำ
แผ่นดวงชะตาของประเทศไทย
ด้วยหินอ่อนขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร และ
แผ่นศิลาจารึก
บอกวันเวลาที่ทำพิธีอีกเช่นกัน เพื่อบรรจุไว้ใต้ฐานพระ ซึ่งมี
คุณสัมพันธ์ กันฟัก
จากพิษณุโลก เป็นผู้จัดทำ
วัตถุสิ่งของทั้งหมดที่เตรียมไว้นั้น จะบรรจุพร้อมกับผอบ และเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้นับเป็นแสนๆ องค์ โดยมี
คุณภัทราภรณ์ (เปา)
พร้อมทั้ง
คุณสุวิทย์
กับภรรยาเป็นผู้มอบให้ พร้อมกันนี้ทาง
คุณหมอสุรพงษ์ (อู๊ด)
ก็ได้นำบาตรศิลา ๔ ใบ และผอบศิลาอีก ๑ ใบมาถวายด้วย
ส่วน
พระวันชัย
ก็ให้ช่างทำเจดีย์ศิลาไว้บรรจุเช่นกัน สำหรับผู้เขียนได้ขอให้
ท่านนพดล
วัดพระบาทเตาะเมาะ ช่วยแกะสลักหินเป็นรูปธรรมจักรกับกวางหมอบ เมื่อเสร็จแล้ว
อาจารย์อำไพ สุจนิล
ได้รับอาสาเป็นผู้นำมาไว้ที่นี้ ส่วนระฆังใบใหญ่ก็ได้จัดซื้อจากสวรรคโลก ราคา ๑๑,๐๐๐ บาท นี่ก็เป็นการเตรียมงานไว้คร่าวๆ
เหตุที่สร้างพระจุฬามณี
ส่วนเหตุที่จะต้องสร้างพระจุฬามณีนี้ ผู้เขียนได้แจ้งไปในซองกฐินว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้เขียนดำริว่าเราได้ไปกราบไหว้รอยพระพุทธบาทและพระเจดีย์มาทั่วทุกภาคของประเทศแล้ว ต่อไปเราจะสร้างเองบ้างละ จึงได้ปรึกษากับพระวันชัย และคณะท่าชัย, คณะจังหวัดสุโขทัย, คณะพิษณุโลก, พร้อมกับคณะศิษย์หลวงพ่อฯ หลายจังหวัด
ต่างก็มีความเห็นว่า ควรจะร่วมมือกันจัดสร้างปูชนียสถานที่สำคัญแห่งนี้ไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งแผ่นดินของท่านเป็นครั้งสุดท้าย โดยประดิษฐานไว้ที่ตรงหัวใจของประเทศ เพราะเคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อน นั่นก็คือ
เมืองศรีสัชนาลัย
อันเป็นสมัยที่พระเดชพระคุณท่านเคยเป็น
พระร่วงโรจนฤทธิ์ ผู้มีวาจาสิทธิ์
ทั้งนี้ เพื่อให้สมกับคำว่า รุ่งโรจน์ พร้อมไปด้วย ฤทธิ์ ในกาลต่อไป
ฉะนั้น ทางภาคเหนือก็มีพระธาตุจอมกิตติแล้ว ภาคใต้ก็มีพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ ภูเก็ตแล้ว ยังเหลือแต่ตรงหัวใจของประเทศนี้แหละ ที่น่าจะมีอะไรเป็นสิริมงคลบ้าง จึงได้ลงมติจัดงานพิธีดังนี้
ปีที่ ๑ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันเสาร์ที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๔๓ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธีวางศิลาฤกษ์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ปีที่ ๒ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๕๔๔ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธีเททอง
ปีที่ ๓ จะจัดงานพิธีทอดกฐิน วันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๔๕ (วันลอยกระทง) เพื่อทำพิธียกฉัตรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
นี่ก็เป็นแผนงานที่จัดเตรียมไว้ทั้งสามปี คิดในใจว่าภายใน ๓ ปี หากพระจุฬามณียังไม่เสร็จ เราก็ขอเป็นหนี้ต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะสร้างให้มากมาย หวังเพียงแค่พระพุทธรูปและพระจุฬามณีสำเร็จก็พอแล้ว เพราะฉะนั้นในปีแรก จึงได้ตั้งคำถามไว้ว่า เมืองอะไรเอ่ย...ที่เป็น ๒ ม. ของพ่อ..?
ความจริงมีคนทราบดีอยู่แล้ว แต่การเล่าเรื่องคงจะนำไปเฉลยไว้ตอนกฐินปีที่ ๒ ส่วนในตอนนี้เป็นการเริ่มงานในปีแรก จึงต้องเดินทางไปล่วงหน้า เมื่อไปถึงแล้วจึงได้ แยกย้ายกันช่วยงานตามจุดต่างๆ เช่นการทำ
กระทงบูชาพระเคราะห์ และ กระทงสวรรค์
เป็นต้น ส่วนบายศรีเป็นภาระหน้าที่ของคณะท่าชัย บางคนก็ไปช่วยปูเสื่อภายในศาลา และจัดโต๊ะเก้าอี้ของเจ้าหน้าที่ประจำตามจุดต่างๆ
สำหรับผู้เขียนก็มีหน้าที่เดินไปเดินมา คือเดินทักทายญาติโยมตามร้านอาหารต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้เลี้ยงผู้ที่มาช่วยงาน ซึ่งมีมากมายหลายอย่างเกินที่จะบรรยาย เสียดายที่มาเดินในตอนเย็นนะเนี่ย แต่ก็ไม่เป็นไรอาหารจะอร่อยแค่ไหน ต้องไปถามคนที่เคยได้ลองลิ้มชิมรสกันมาแล้ว
ผู้เขียนเดินชมไปเรื่อย ๆ ผ่านร้านอาหารต่างๆ ซึ่งได้มุงหลังคาด้วยหญ้าคาเช่นกัน เป็นแถวเรียงรายรอบเชิงเขา จนถึงร้านสุดท้ายก็เป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เป็นงานทอจากผ้าพื้นเมือง และเครื่องประดับต่างๆ อีกมากมาย เพราะแถวนี้เขามีชื่อเสียงโดยเฉพาะเรื่องเครื่องทอง ญาติโยมที่เป็นสตรีคงจะทราบดีอยู่แล้วนะ
ต่อจากนั้นก็เดินมาดูที่จะสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ จัดทำด้วยฝีมือของ
เฮียฮง
อีกเช่นเคย เมื่อเห็นว่าจัดเตรียมสถานที่ไว้พร้อมแล้ว เช่น เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนที่พัก, เจ้าหน้าที่แจกคูปองรับเครื่องกฐิน , เจ้าหน้าที่รับแผ่นทอง, อิฐเงิน - อิฐทอง, พระบรมธาตุ, เป็นต้น ตามจุดต่างๆ พร้อมแล้ว
ก่อนที่จะกลับก็ได้ขึ้นตรวจการสร้างพระจุฬามณี ปรากฏว่าช่างได้สร้างทันงานพอดี คือเทพื้นข้างล่างและข้างบนเสร็จแล้ว ส่วนภายในตรงกลางก็ได้ขุดหลุมลึกลงไปเกือบ ๒ เมตร เป็นห้องสี่เหลี่ยมเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องบูชาอันมีค่าต่างๆ โดยการปูผ้าสีทองไว้ที่ผนังรอบๆ ห้อง
จากนั้นก็ได้เดินไปกราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาทเกือกแก้ว ซึ่งประดิษฐานอยู่ข้าง จุดที่จะสร้างพระจุฬามณี เดิมที่นี้คิดว่าเป็น บ่อน้ำพระร่วง ตามที่ชาวบ้านแถวนี้เคยเอ่ยถึงมานานแล้ว ต่อมาภายหลังได้พิจารณาอีกครั้ง เห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทเกือกแก้ว ซึ่งทางสำนักได้กั้นไว้ด้วยรั้วเหล็ก ในงานทอดกฐินปีที่ ๒
ท่านอาจินต์
เดินกลับลงมาบอกผู้เขียน ว่ามีกลิ่นหอมโชยออกมาจากรอยพระพุทธบาท ซึ่งเรื่องนี้
คุณแสงเดือน พร้อมพันธุ์ (ตุ๋ม)
ก็ได้ประสบกลิ่นหอมมาตั้งแต่ปีแรกแล้ว
คุณตุ๋มได้เล่าให้ฟังภายหลังว่า หลังจากเสร็จงานกฐินแล้ว (ตอนเช้าหลังจากที่พวกเราเดินทางไปน่าน) ได้ไปที่รอยพระพุทธบาท พร้อมทั้งตักน้ำขึ้นมาอธิษฐาน ปรากฏว่ามีกลิ่นหอมโชยขึ้นมาด้วย นับเป็นเรื่องแปลกมาก และยังมีอีกหลายคนที่ได้กลิ่นหอมเช่นนี้
นี่ก็เป็นเกร็ดต่างๆ จากสถานที่นี้ที่ผ่านมาหลายปี ผู้เขียนอาจจะเล่าได้ไม่ครบ ถ้วน แต่ก็พยายามจะเล่าไปตามที่นึกได้ว่า หลังจากนั้นจึงกลับที่พักเพื่อพักผ่อนหลับนอนต่อไป เพื่อเตรียมเรี่ยวแรงไว้สู้กับงานในวันรุ่งขึ้น แต่ความจริงก็มีญาติโยมเดินทางมาถึงแล้วหลายคณะ เช่น
โยมอนงค์
จาก อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ แล้วที่เดินทางมาในตอนกลางคืน ตลอดเกือบทั้งคืนอีกหลายคณะ
ในตอนเช้า วันที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๔๓ อันเป็นวันงานที่สำคัญมาถึง เจ้าหน้าที่ได้ขน บายศรีมาเตรียมไว้บนโต๊ะหน้าศาลา ๗ วัน แล้วได้ทำพิธีบวงสรวงในเวลา ๙ โมงเช้า จากนั้นก็มีญาติโยมที่มากับรถตู้และรถส่วนตัว อีกทั้งรถบัสจากวัดก็มาถึง โดยมี
หลวงพี่โอ
เป็นผู้นำพร้อมทั้งพระวัดท่าซุงอีกหลายองค์
ส่วนผู้เขียนก็นั่งอยู่ในปะรำพิธี โดยมีญาติโยมที่เป็นเจ้าภาพกฐินแต่ละกองได้รวบ รวมนำมาถวาย แล้วก็ออกไปรับคูปองถวายพานเครื่องกฐิน ในขณะจะเริ่มพิธีถวายผ้ากฐินนั้น ถ้าจำไม่ผิดจะเป็น
คุณโยมประดับวงศ์ นิลประสิทธิ์
จากคณะกองทุน เป็นประธานจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา จากนั้น
คุณทนงฤทธิ์ สีทับทิม
เป็นผู้กล่าวนำถวายผ้ากฐิน
เมื่อคณะเจ้าภาพเข้าไปถวายผ้ากฐินแล้ว ต่างก็เดินมาสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ เสร็จแล้วบางคนก็ออกไปชม
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
กัน จนถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. ได้หยุดพักเพื่อฉันภัตตาหารเพล แล้วก็มีการถวายผ้ากฐินต่อไปในเวลาบ่าย จนครบเจ้าภาพทุกคณะที่ได้จองไว้ทั้งสามปี.
«
l 1 l
2
l
3 l
4
l
5 l
6 l
7 l
8 l
»