ตามรอยพระพุทธบาท

การสร้างสมเด็จองค์ปฐม (ทรงเครื่องพระนิพพาน) ณ วัดสิริเขตคีรี (ตอนที่ 6)
kittinaja - 9/7/08 at 16:51

« l 1 l 2 | | 3 | 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »


ทอดกฐินปีที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๔๔)


ในตอนนี้คงจะเป็นการเล่าเรื่องงานพิธีทอดกฐิน (ปีที่ ๒) ณ วัดพระร่วงผดุงธรรม เมื่อ วันที่ ๓๑ ต.ค. ๒๕๔๔ ผู้เขียนขอเรียก สั้น ๆ ว่า “วัดพระร่วงฯ” การที่เรียก “พุทธอุทยาน” นั้น เพราะยังไม่ได้ตั้งเป็นวัด แต่การที่เรียก “วัด” ล่วงหน้าก่อนนั้น เพราะกำลังสร้างพระอุโบสถ และอยู่ในระหว่างการขอตั้งเป็นวัด ทอดกฐินปีนี้ได้ไปอีกหลายแห่ง ดังนี้

ทอดกฐิน ปีที่ ๒ ๓๐ ต.ค. - ๑ พ.ย. ๔๔
๑. วัดจุฬามณี อ.เมือง จ.พิษณุโลก
๒. วัดพระพุทธบาทเขาสมอแครง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
๓. วัดจันทโรภาส ต.วังไม้ขอน อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
๔. พุทธอุทยานพระร่วงผดุงธรรม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
๕. วัดพระธาตุเขาแก้ว ต.แม่มอง อ.เถิน จ.ลำปาง
๖. วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ ต.เถิน อ.เถิน จ.ลำปาง
๗. วัดพระบาทแม่วะ ต.แม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง
๘. วัดเขาวังเจ้า กิ่ง อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ท่านผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวมาถึง งานทอดกฐิน ปีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๑ พ.ย. ๔๓ เพื่อสร้าง พระจุฬามณี จบไปแล้ว ได้มีการวางศิลาฤกษ์, แผ่นดวงเมือง, แผ่นดวงชะตาของผู้ร่วมงาน และการทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งทรัพย์สินที่มีค่า ถวายไว้เป็นพุทธบูชามากมาย โดยมีคณะเจ้าภาพทั่วไป รวมทั้งสิ้น ๑๑๐ กอง
ตอนนี้จะขอเล่าเรื่องต่อไปอีก คือว่าหลังจากที่กลับมาแล้วได้ข่าวว่า มีคนถูกหวยกันหลายคน เพราะเลขท้าย ๒ ตัวออก ๑๑ ตรงกับวันที่ทอดกฐิน คือวันที่ ๑๑ แล้วก็เดือนพฤศจิกายน นับเป็นเดือนที่ ๑๑ พอดี อีกทั้งจำนวนเจ้าภาพเป็นตัวเลข ๑๑๐ กองอีกด้วย

นับว่าโชคดีที่ได้ลาภกันพอสมควร แต่ที่โชคดีที่สุดก็คือ งานก่อสร้าง พระจุฬามณี และ สมเด็จองค์ปฐม “ปางประทับรอยพระพุทธบาท” สูง ๙ ศอก เดิมทีคิดว่าคงจะต้องใช้เวลาสร้าง ๓ ปี จึงจะแล้วเสร็จ แต่เมื่อมีผู้มีจิตศรัทธา รับเป็นเจ้าภาพกันมากมาย

ทำให้ต้องปรึกษากับพระวันชัยว่า ต่อไปงานทอดกฐิน ปีที่ ๒ เราควรจะสร้าง มณฑปพระร่วงเจ้า และหล่อพระบรมรูปของ พระร่วงโรจนฤทธิ์ และ พระนางวิสุทธิเทวีอัครมเหสี เพื่อไว้เป็นอนุสรณ์ ณ ดินแดนศรีสัชนาลัยแห่งนี้

ในปีที่ ๒ นี้ จึงมีการสร้างเพิ่มเติม จากที่คิดไว้เดิม พร้อมกับปรับปรุงเรื่องสถานที่ และไฟฟ้ากับน้ำประปา เพื่อรองรับจำนวนคนที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี หลังจากทอดกฐินปีที่ ๑ เสร็จแล้วก็เริ่มงานก่อสร้างทันที เงินทุนที่คณะเจ้าภาพได้ไปจัดหากันมาแต่ละกอง ต่างก็ขอจองเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง ๑๘๑ กอง รวมที่นำมาถวายเพิ่มเติมในวันนั้นอีก ๕๒ กอง

งานทอดกฐิน ณ ศรีสัชนาลัย ปีที่ ๒ นี้ ผู้จัดได้มีกิจกรรมพิเศษหลายอย่าง เพื่อ ให้ทุกคนได้มีอานิสงส์ครบถ้วนทั้งปี ๒๕๔๔ คือก่อนงาน วันวิสาขบูชา และ วันอาสาฬหบูชา ได้จัดงานพิธีหล่อพระพุทธรูป สมเด็จองค์ปฐม “ปางประทับรอยพระพุทธบาท” และหล่อพระบรมรูป พระร่วงโรจนฤทธิ์ กับ พระนางวิสุทธิเทวีอัครมเหสี

ความจริงการหล่อรูป “พระร่วง” ในลักษณะนี้คือ “ทรงเครื่องกษัตริย์” ยังไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ส่วนใหญ่เขาจะสร้างเป็น แบบคล้ายพระพุทธรูปทรงเครื่องพระร่วงไปเมืองจีน คือปั้นในลักษณะยืนและสวมหมวกแบบชาวจีน ที่เขาเรียกกันว่า “พระร่วงรางปืน” ผู้ที่นิยมสะสม “พระเครื่อง” จะรู้จักกันดี

ฉะนั้น การที่จะหล่อทรงเครื่องกษัตริย์ ผู้เขียนจึงต้องศึกษา แล้วนำแบบอย่างมาให้ ช่างประเสริฐ ปั้น เมื่อหล่อพระรูปแล้ว ปรากฏว่าสวยงามพอสมควร พอที่จะเป็นคำตอบที่ ผู้เขียนได้กล่าวทิ้งท้ายไว้เมื่องานทอดกฐินปี ที่ ๑ ว่า... “เมืองอะไรเอ่ย...ที่เป็น ๒ ม.”

ปรากฏว่ามีหลายท่านที่ทราบแล้ว แต่ก็มีบางท่านที่ยังไม่ทราบ จึงขอเฉลยตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพรหมยาน เล่าไว้ว่า ในสมัยที่ พระเจ้าพรหมมหาราช ยกทัพมาตีเมืองศรีสัชนาลัยนั้น ได้ใช้วิธีล้อมเมืองเอาไว้ จนกระทั่งพระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยนั้นเห็นว่า ลูกสาวเจ้าเมืองเคยเป็นเนื้อคู่ ของพระเจ้าพรหมมหาราชมาแต่ชาติก่อน จึงแนะนำเจ้าเมืองยกลูกสาวให้พระเจ้าพรหม จึงได้ ๒ ม. คือทั้ง “ม..เมือง” และ “ม..เมีย”

สมัยต่อมา พระเจ้าพรหมมหาราช ก็ได้กลับมาเกิดเป็น พระร่วงโรจนฤทธิ์ ทรงครองเมืองนี้อีก ด้วยเหตุนี้เอง จึงคิดว่าพวกเราน่าจะสร้าง พระบรมราชานุสาวรีย์ไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณความดีของท่านไว้ ณ สถานที่นี้ต่อไป

ฉะนั้น การเตรียมงานก่อสร้างมณฑป ทางด้านพระวันชัยก็ออกแบบการสร้างไป ทางด้านผู้เขียนก็ออกแบบการสร้างพระบรมรูปของท่านทั้งสอง ทางญาติโยมก็เป็นเจ้าภาพคอย เป็นทัพหลังที่ต้องหาทุนหนุนเนื่องกันไป จนถึงวันงานที่จะมาถึง ทุกคนก็เตรียมพร้อมทั้งกายและใจ โดยมีการประสานงานไว้ล่วงหน้า ทั้งผู้จัดงานและผู้ร่วมเดินทางทั้งหลาย

ในวันอังคารที่ ๓๐ ต.ค. ๔๔ คณะผู้เขียนจากวัดท่าซุง และที่มาสมทบจาก คณะแหม่ม (หาดใหญ่) รวมทั้งหมด ๕๐ คน จะต้องเดินทางก่อน ๑ วัน พร้อมทั้งนำเครื่อง กฐินที่จะต้องไปถวาย มีพระพุทธรูปเป็นต้น (ส่วนธรรมาสน์และกลอง ๒ ใบนำไปก่อนแล้ว) โดยมี โยมแสวง ศรีปัญญาธรรม และ ลูกชายช่วยกันบรรทุกไปในรถกระบะ เพื่อไป เตรียมงานล่วงหน้า ในระหว่างทางได้แวะที่ วัดจุฬามณี อ.เมือง จ.พิษณุโลก และ รอยพระพุทธบาทเขาสมอแครง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

สถานที่ทั้งสองแห่งนี้ ผู้เขียนเคยเล่าประวัติไปแล้ว เพราะเคยนำญาติโยมไปกราบไหว้บูชากันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ การที่มาครั้งนี้อีกก็เพื่อนำคนอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยมา เมื่อทุกคนได้สักการะกันแล้ว จึงออกเดินทางต่อ ไปทาง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ไม่แน่ใจว่า ฉันเพลที่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือไม่



ทอดกฐินวัดจันทโรภาส สวรรคโลก

แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะยังจำได้ว่า พวกเราได้ไปทอดกฐินที่ วัดจันทโรภาส อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย พร้อมทั้งร่วมกันถวายพระพุทธรูปหน้าตัก ๓๐ นิ้ว (คณะคุณลัดดา เล็งเลิศผล เป็นเจ้าภาพ) และถวายเงินสมทบทุน สร้างศาลาการเปรียญ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่ง ทางด้านเจ้าอาวาสคือ หลวงน้าภักดี ท่านดีใจมาก จึงได้เลี้ยงขนมจีนแก่ญาติโยมกัน

ปรากฏว่าได้อิ่มกันทั้งกายและใจ เห็นบอกว่าขนมจีนอร่อยมาก แม้จะเป็นเวลายามบ่ายแล้วก็ตาม แต่ก็ทานกันได้กันดี หลังจากนั้นจึงออกเดินทางไปที่ วัดพระร่วงผดุงธรรม เพื่อช่วยกันจัดสถานที่ และจัดทำกระทงกัน แต่ก่อนจะเข้าไปก็ได้แวะที่ อุทยานหนองน้ำ ทุ่งแม่ระวิง ซึ่งอยู่ห่างไม่ไกลกันนัก สามารถมองเห็นพระจุฬามณีได้แต่ไกลๆ

ความจริงถ้าหากมองดูในระยะไกลเช่นนี้ จะเห็นเพียงแค่พระเจดีย์ตั้งอยู่บนเขาเท่านั้น เพราะด้านล่างพระจุฬามณีเราจะมองไม่เห็น เนื่องจากถูกต้นไม้ปิดบังอยู่ พระเจดีย์ห้ายอดสีขาว จึงอยู่เหนือยอดไม้ ที่เหมือนกับลอยอยู่บนเนินเขาข้างหน้า โดยมียอดเขาที่สูงใหญ่อีกลูกหนึ่งสีเขียว เป็นฉากอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการบังเอิญที่ผู้เขียนมีความใฝ่ฝันมานานแล้ว

พระเจดีย์สีขาวจึงเด่นอยู่ในท่ามกลางยอดไม้เขียวขจีบนเนินเขา ในขณะที่ยืนดูอยู่บนสะพานข้ามหนองน้ำทุ่งแม่ระวิงนั้น ท่ามกลางสายลมโชยมาเบา ๆ พอที่จะระงับดับความร้อนในยามบ่ายนั้นได้ ผู้เขียนได้ชี้มือให้พวกเราดูต่อไปว่าหากสร้างพระอุโบสถกันเสร็จแล้ว เราจะมองเห็นได้เด่นชัดเจนสวยงามยิ่งกว่านี้

แต่ถ้าจะให้ชัดเจนแน่นอน เราควรจะไปดูใกล้ ๆ กันดีกว่า เพราะว่าหลังจากเดินชมทิวทัศน์รอบ ๆ ทุ่งแม่ระวิงกันแล้ว พบว่าทางนี้เขาก็เตรียมจัด งานลอยกระทง เหมือนกัน โดยเริ่มมีการแข่งขันพายเรือ (แต่ไม่ยาว) เป็นเรือสั้น ๆ ขนาดฝีพายสิบกว่าคน หลังจากนั้น ชาวบ้านที่มาเที่ยวงานที่นี่แล้ว ภายหลังเขากลับไปเล่าให้ฟังว่า

ในขณะที่ วัดพระร่วงฯ จัดงานลอยกระทงกันนั้น เมื่อมีการจุดพลุและปล่อยโคม ลอย คนที่อยู่ทาง ทุ่งแม่ระวิง จะมองเห็นสวยงามมาก โดยเฉพาะ โคมลอย จะมองคล้าย พญานาคสองตัวพันกัน ส่วนชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำไกลออกไปจากวัดก็ได้เล่าให้ฟังเช่นกันว่า โคมลอยตามขึ้นไปเป็นแถวคล้าย พญานาค เหมือนกัน

และงานทอดกฐินปีที่ ๒ นี้ เกิดมีปรากฏการณ์พิเศษเกิดขึ้น คือหลังจากปล่อย กระทงสวรรค์ ๒ กระทง และ กระทงพระเคราะห์ อีก ๑ กระทง ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าไปแล้ว ลูกโป่งนับสิบ ๆ ลูกก็พากระทงลอยมาทางนี้ แต่มีกระทงอันหนึ่งลอยตกลงมาที่หนองน้ำ ทุ่งแม่ระวิงแห่งนี้ ปรากฏว่าเป็น กระทงพระเคราะห์ ที่พวกเราบูชาพระเคราะห์ทั้ง ๑๐๘ ได้อธิษฐานร่วมกันให้ลอยไป

ความจริงจะต้องลอยกันในน้ำ แต่เมื่อเราจัดงานพิธีบูชาพระจุฬามณีกัน จึงต้องใช้ลูกโป่งให้ลอยไป กระทงสวรรค์ คือกระทงเงินกระทงทองก็ลอยผ่านไปได้ แต่ กระทงพระเคราะห์ กลับตกลงมาลอยอยู่ในน้ำตามประเพณีเดิม เหมือนกับจะรู้ถึงความประสงค์ ของเจ้าของกระทงฉะนั้น

แล้วก็ยังมีเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่ง ที่โคมลอยถูกปล่อยขึ้นไปสู่ท้องฟ้านับร้อยโคม แต่มีโคมหนึ่งที่ไม่ยอมไปตามความประสงค์ของเรา คือลอยขึ้นไปแล้วกลับตกลงมาสู่พื้น ถ้าตกลงมาตรงที่อื่นก็ไม่เป็นไร แต่นี่ดันกลับตกลงมาบนหลังคา “ศาลา ๗ วัน” ซึ่งมุงด้วยแฝกทั้งสิ้น แล้วก็ตกลงมาซ้ำตรงที่เดิมด้วยนะ โดยครั้งแรกตกลงบนเต้นท์ตรงนี้เองแหละ แล้วต้องช่วยกันดับวุ่นวายไปหมด

นี่ก็เป็นเรื่องที่พวกเราไม่ทราบมาก่อน แต่พอจะทราบได้ในภายหลัง คือพอจะเฉลยปริศนานี้ได้ เพราะหลังจากสร้างพระจุฬามณีเสร็จแล้ว จึงได้หาสถานที่สร้างพระอุโบสถ ต่อมาก็ได้สร้างตรงบริเวณที่โคมลอยชอบตกลงมาตรงนี้แหละ นี่คือเป็นคำตอบในที่สุด

เรื่องราวเหล่านี้ ถ้าหากไม่ประสบเองยากที่จะยอมรับได้ โดยเฉพาะผู้เขียน ไม่เคยมั่นใจตนเองเลย เพราะเรื่องการก่อสร้างเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ใครคิดจะทำกันได้ง่าย ๆ ในสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อยังอยู่ ท่านเคยบอกว่าบางแห่งแค่ห้องส้วม ยังทำไม่สำเร็จเลย แล้วเราจะมั่นใจตัวเองได้อย่างไร

แม้แต่ที่นี่เราก็ไม่ได้ตั้งใจ จะสร้างให้ใหญ่ให้โต มันเป็นไปตามบุญตามกรรมตามธรรมชาติกัน ดังจะเห็นว่า งานพิธีทอดกฐิน ปีที่ ๒ ญาติโยมก็เดินทางมาร่วมงานอีกเช่นเคย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ตรงกับวันหยุด คือเป็น วันพุธที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ ปลายเดือนด้วย แล้วก็เป็นวันสุดท้ายของฤดูกาลทอดกฐินด้วย

แต่พอ เจ๊รัตนา (เจ้าของร่มลีโอ) และ คณะช่วยกันนับเงิน ตั้งแต่รอบเช้าถึงรอบบ่าย โดยมีเจ้าภาพทยอยเข้ามาสมทบกันเรื่อย ๆ ปรากฏว่าได้เงินประมาณ ๔,๙๘๓,๖๓๔ บาท ขาดอีกหมื่นกว่าบาทก็จะได้ ๕ ล้าน เกือบเท่ากับยอดเงินกฐินปีที่ ๑ หากรวมยอดเงินกันทั้งสองปี รวมแล้วคงจะได้ ๑๐ ล้านกว่าบาท

ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมค่าเครื่องกฐิน (คุณ นิพัทธา อมาตยกุล ถวายพระพุทธรูปและ คุณโกวิท ถวายธรรมาสน์) ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีก คนที่มาในงานต่างก็ปลื้มใจกันทุกคน เพราะมาปีนี้ได้เห็นสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น คือมีพระมณฑปเล็ก ๆ ทาสีขาว ๒ หลัง อยู่ ระหว่างทางขึ้นไปบนพระจุฬามณี บันไดทางขึ้นก็ได้ปั้นเป็นรูปพญานาคไว้ทั้งสองด้าน คือ ทางด้านมณฑป และอีกด้านหนึ่งทางทิศตะวันออก จะเป็นบันไดทางขึ้น ๓ ช่องทาง มีพญานาคเจ็ดเศียรอยู่ตรงทางขึ้น แล้วก็ได้ทาสีขาวเหมือนกันหมด

มณฑปทั้งสองหลังสร้างเสร็จทันงานกฐินพอดี ส่วนรูปปั้นของพระร่วงเจ้า กับพระมเหสี รวมทั้งพระพุทธรูป “ปางประทับรอยพระพุทธบาท” ที่ได้ทำพิธีเททองบ้านช่างประเสริฐและช่างเนียนนั้น ท่านวันชัยก็ได้อัญเชิญมาแล้ว ฉะนั้นในวันงานผู้ที่มาร่วมงานทุกคน จึงมีโอกาสได้เห็นก่อนว่า องค์พระพุทธรูป และ พระร่วงเจ้า กับ พระแม่เจ้า มีรูปร่างลักษณะอย่างไร

ครั้นถึงเวลาพิธีเททองในตอนบ่าย ก็ได้ทำพิธีเททองเฉพาะ ยอดพระเกตุมาลา และ พระคฑา ของพระร่วงเจ้า และ พระสังข์ ของพระแม่เจ้าเท่านั้น อากาศก็ไม่ร้อนมาก พอถึงจังหวะพิธีเททองก็ร่มครึ้มทันที นับว่าเป็นเรื่องแปลกมากทีเดียว ญาติโยมที่มาร่วมพิธีได้เข้ามาถวายทองเครื่องประดับกันอีกมากมาย รวมแล้วน่าจะถึงกิโลนะ นับว่าเป็นที่น่ายินดีอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนคณะเจ้าภาพกฐินรวม ๒๐๐ กว่าคณะ เจ้าหน้าที่ก็ได้ประกาศชื่อให้ส่งตัวแทนเข้ามา ๓ คน เพื่อรับแผ่นทองเงินนาค นำไปหลอมในเบ้า ฝ่ายพระภิกษุสามเณรก็มากันหลายสิบรูปต่างช่วยกันเททองลงในเบ้า บรรยากาศ พิธีเททองก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลังจากที่ โยมปราโมทย์ ณ ระนอง จาก คณะกองทุน เป็นตัวแทนในการจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา ท่ามกลางญาติโยมทั้งหลาย ที่นั่งพนมมืออยู่รายรอบในปะรำพิธี

ในเวลาตอนเย็น หลังจากเสร็จพิธีทอดกฐินและพิธีเททองแล้ว จึงได้อัญเชิญพระบรมรูปของ พระร่วงโรจนฤทธิ์ และ พระนางวิสุทธิเทวี มาไว้ในมณฑปทันที เมื่อมองภาพรวมทั้งหมด จะเห็นพระจุฬามณีสูงเด่น ระหว่างมณฑปทั้งสองที่อยู่ด้านล่าง โดยมีบันไดนาคอยู่ท่ามกลาง สถานที่ทั้งหมดเป็นสีขาวตัดกับสีเขียวของต้นไม้ได้อย่างชัดเจน

เป็นอันว่า งานทอดกฐินปีที่ ๒ นี้ เป็นงานพิธีเททอง ก็ได้ผ่านไปด้วยดี ถ้าจะเล่า ก็คงจะคล้ายกับปีที่ ๑ จึงได้เล่าคลุกเคล้ากัน ไปเรื่อย ๆ ว่า พอถึงตอนเย็นก็รับประทานอาหารกัน โดยมี คณะสัมมาปฏิบัติ, คณะ ศิษย์ท่าชัย และปีนี้มี คณะแม่จำเนียร (เจ้าเก่าวัดท่าซุง) มาเลี้ยงข้าวต้มอีกด้วย


webmaster - 30/10/09 at 16:06

ในตอนกลางคืน ถือว่าเป็น งานพิธีฉลองสมโภช ปีที่ ๒ การจัดงานก็คล้ายกับ งานที่ผ่านมา คือมีการปล่อยโคมลอย การฟ้อนรำจากคณะเด็กนักเรียน การร้องเพลงปลุกใจ และการรำวง “ลอยกระทง” กัน โดยก่อนหน้านั้นมีการอ่านบทกลอน จากคณะสัมมาปฏิบัติ ซึ่งประพันธ์โดย อาจารย์วิบูลย์ มีชู จากจังหวัดพิษณุโลกมีใจความว่า...

“..ปวงข้าเจ้าเหล่าศิษย์จิตอภิวาท
แทบเบื้องบาทยุคลมงคลเศียร
องค์สมเด็จพระปฐมบรมเธียร
พระผู้เพียรผ่านภพจบเวียนวน

พระต้นวงศ์องค์สัมมาพุทธะ
พระวิริยะล้ำเลิศประเสริฐผล
พระนำทางปัญญาปรานีชน
สำนึกล้นพระกรุณาแผ่บารมี

น้อมอัญชลีวีรกษัตริย์ขัตติยราช
พระเปรื่องปราชญ์แหลมคมสมศักดิ์ศรี
สุโขทัยศรีสัชนาราชธานี
พระภูมีพระร่วงเจ้าร่มเกล้าไทย

พระสุขุมลุ่มลึกศึกต้นเหตุ
ชอบอาเพศยอมสยบจบเงื่อนไข
ด้วยบุญญานุภาพปราบเกรียงไกร
ภัยน้อยใหญ่มลายสิ้นถิ่นเปรมปรีดิ์

บำรุงศาสน์ราชกิจประสิทธิ์ศักดิ์
ราษฎร์จงรักพรักพร้อมน้อมเกศี
พระส่งเสริมนักปราชญ์ราชกวี
เฉกมณีรัตนะประดับเวียง

เดือนสิบสองน้ำนองท้องตลิ่ง
เรไรหริ่งร้องระงมประสมเสียง
มโหรีอ้อล้อซอคลอเคียง
ดุจเผดียงเสียงสวรรค์บันเทิงแด

กระทงน้อยลอยคงคาชลาสินธุ์
บนเมฆินลอยโคมโลมดวงแข
ลมพัดพาคล้อยเคลื่อนเดือนลับแล
เนตรชะแง้แปรหายปลายฟ้าไกล

รอยอดีตกรีดความหลังฝังใจมั่น
ราตรีนั้นพลันฟื้นคืนมาใหม่
คือลูกหลานก่อนเก่าล้วนเผ่าไทย
รวมร่วมใจกลับถิ่นดินแดนเดิม

เฉลิมฉลองถวายกฐินรินรอบสอง
ล้วนพี่น้องเผ่าพงศ์ดำรงเริ่ม
ต่างจับจองเป็นเจ้าภาพปลาบปลื้มเผดิม
แล้วแต่งเติมต่อบุญหนุนหลักชัย

ร่วมหลอมหล่อก่อนองค์ปฐมแก้ว
เททองแล้วองค์ประธานตระการใส
ปางประทับรอยพระพุทธบาทยองใย
เหลืองอุไรอร่ามเรืองประเทืองจินต์

หล่อสมเด็จพระร่วงเจ้าเนาที่นี้
ปฐพีศรีสัชนาพนาถิ่น
พร้อมพระแม่วิสุทธิเทวีฉวีประทิน
งามยลยินปิ่นนครขจรไกล

สร้างมณฑปบรรจบครบสองหลัง
พร้อมทั้งไฟฟ้ากระจ่างสว่างไสว
อานิสงส์ส่งเสริมเติมนอกใน
บันเทิงใจใฝ่ธรรมนำชีวัน

สามสิบเอ็ดตุลาฟ้าสดใส
ดิถีเพ็ญนวลใยให้สุขสันต์
ลอยกระทงลอยโคมโสมผ่องพรรณ
พรายพร่างชั้นนภาบูชาจุฬามณี

น้อมประณตวันทนาใต้ฝ่าพระบาท
อภิวาทบาทบงสุ์พระชินสีห์
พระปัจเจกพระอรหันต์ สกทา อนาคาโสดามี
พระร่วงเจ้า พระทรงศรีวจีพร

ไทยคลาดแคล้วแผ้วศัตรูหมู่อมิตร
ทศพิธอำนวยอวยสโมสร
ศาสนายืนยงคงสถาพร
พสกนิกรสามัคคีสุขีเทอญ...”


*************

จากนั้นก็เป็นการแสดงฟ้อนรำ จากคณะเด็กนักเรียน สลับกับการฟ้อนรำทำเพลง แล้วก็ทำพิธีปล่อยกระทงสวรรค์ และโคมลอยขึ้นไปเป็นระยะ ๆ อย่างที่บอกไปแล้วว่า มีโคมลอยลูกหนึ่งที่มีคนเอามาขายในวัด อาจจะไม่ได้มาตรฐาน ร่วงหล่นลงมาบนหลังคามุงแฝก โชคดีที่มีคนปีนขึ้นไปดับไฟได้ทัน

แต่มีหลายคนพูดกันว่า ความจริงน่าจะไหม้ เพราะหล่นลงมาสัมผัสถึงหลังคาแล้ว คนที่ปีนขึ้นไปดับนั้น ดับแค่ไฟที่ไหม้โคมเท่านั้น แต่ไฟกลับไม่ไหม้ที่หลังคา ปกติหญ้าแฝกจะเป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดี เพียงแค่ถูกเปลวไฟนิดเดียว ก็ลามไปทั่วถึงกันแล้ว พวกเราที่ยืนดูอยู่ก็โล่งใจไปได้ นึกว่า“ศาลา ๗ วัน” จะใช้งานไม่ครบ ๓ ปีเสียแล้ว

พอเหตุการณ์ผ่านไป งานพิธีสมโภชที่หยุดชะงัก เพียงครู่เดียวก็เริ่มกันต่อ โดยการแสดงของเด็ก ๆ ในชุด ระบำดอกบัว ซึ่งเป็นการประจวบเหมาะที่ คุณแสงเดือน (ตุ๋ม) จะได้กล่าวบทกลอนของ นางนพมาศ เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมัยนั้น ว่าเมื่อมีเทศกาลงานทอดกฐิน ชาวเมืองจะมาพร้อมเพรียงกัน เพื่อชมการละเล่นต่าง ๆ ชาวเมืองสุโขทัยจึงมีแต่ความสุขสำราญ เพราะตั้งอยู่ในศีลธรรมเป็นอันดี ไม่ได้มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

เพราะเหตุว่าคนสมัยนั้นมีคุณธรรมสี่ ประการ องค์พระภูบาลประทานประชา ให้ทุกคนเร่งศึกษา และน้อมนำมาปฏิบัติตน คุณธรรมอยู่กับใคร ชีวิตวิไลประเสริฐเลิศล้น คุณธรรมอยู่กับปวงชน ส่งผลให้ชาติบ้านเมืองวัฒนา

ประการแรก คือความจริงใจ สัจจะคงไว้ทั้งใจวาจา กอปรกิจกรรมนานา ล้วนมี คุณค่าให้ความเป็นธรรม
ประการสอง คือการข่มใจ มิให้อ่อนไหว ผิดพลาดถลำ ความดีที่ช่วยกันทำ ล้วน นำสังคมชีวิตสดใส
ประการสาม ทำใจทำตนอดออมอดทน และยอมอดกลั้น ไม่ล่วงความดี ดึงดันยึดมั่น ในความสัตย์สุจริตใจ
ประการสี่ ละวางความชั่ว มิเห็นแก่ตัว ห่วงประโยชน์ชาติไว้เพื่อชาติ เจริญก้าวไกล ผองไทยร่มเย็นล้วนเป็นมงคล ฯ

นี่ก็เป็นเนื้อเพลง “คุณธรรมสี่ประการ” ที่พวกเราได้ร่วมกันร้องเพื่อกระตุ้นเตือนใจ ไว้กับผู้บริหารบ้านเมืองสมัยนี้ ที่แต่เดิมผู้ใดปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ผู้นั้นก็คงจะเป็นที่รักใครของประชาชนโดยแท้

แม้แต่ศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง ยืนยันให้เราเห็นว่า ถ้าผู้ปกครองประเทศยึดมั่น ในคุณธรรมแล้ว บ้านเมืองจะก้าวหน้า ประชาชนจะมีความสุข สมกับพุทธศาสนภาษิตที่ว่า

“ถ้าพระราชาเป็นผู้ทรงธรรม ราษฎร์ทั้งปวงก็เป็นสุข” ดังนี้

นี่ก็เป็นการจัดงานในวันนั้น ได้มีการบรรยายประวัติการลอยกระทงบ้าง บางปีก็เล่าประวัติพระร่วงบ้าง เป็นต้น ถือว่าเป็นการสนุกสนานกันตามประเพณี มีบางคนถามว่าจัดงานแบบนี้ มีการร้องรำทำเพลงไม่ผิดศีลเหรอ ผู้เขียนก็ถามว่าจะไปผิดตรงไหนละ งานพิธีฉลองสมโภชเขาก็ต้องมีการรื่นเริงกัน เราไม่ได้เลี้ยงเหล้าเลี้ยงสุรา ไม่ได้ฆ่าสัตว์มาเลี้ยงกันสักหน่อย ศีลมันจะขาดได้ยังไง

นี่เราทำกันตามโบราณประเพณี ถือว่างานที่เตรียมกันมานาน ด้วยความเหน็ดเหนื่อย บัดนี้ก็สำเร็จสมความปรารถนา พวกเราก็มาร่ายรำครื้นเครงกันด้วยความสามัคคี มีแต่ประโยชน์ไม่เกิดโทษอะไร เพราะแม้แต่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คราวใดที่มนุษย์ทำบุญทำกุศลกันมาก คราวนั้นเหล่าเทพอัปสรก็พากันร่ายรำ เพื่ออนุโมทนาชื่นชมยินดีด้วย

เป็นอันว่า งานที่ผ่านมาคราวนั้น หากจะเล่าย้อนหลังมันก็คงจะมีอีกมาก จึงขอเล่าสรุปว่า งานปีที่ ๒ ผ่านไปด้วยดี ทั้งงาน พิธีทอดกฐิน พิธีเททองหล่อพระ และพิธีฉลองสมโภช แต่ก่อนที่จะทำพิธีบวงสรวงกัน ผู้เขียนได้เกริ่นถึงงานปีที่ ๓ และกล่าวคำอนุโมทนากับคำอธิษฐาน มีใจความว่าดังนี้...



อนุโมทนากถา

“รวมความว่า ปีที่ ๓ ของการจัดงาน ญาติโยมทั้งหลายขอเชิญมาร่วมพิธีสมโภชกัน ซึ่งจะเป็นการทำ พิธียกฉัตร บนพระจุฬามณี พร้อมทั้งร่วมกันทำพิธีบวงสรวงใหญ่ทั้ง ๘ ทิศ เพื่อกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ และรอยพระพุทธบาททั่วทั้งชมพูทวีป ถือว่าเป็นพิธีการสักการบูชาเป็นการสรุปรวมทั้งหมด

ทั้งนี้ ได้เคยทำพิธีรวมภาคไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ณ วัดพระแท่นดงรัง ได้มีการจัดบายศรีไหว้เพียง ๔ ทิศ แต่ครั้งนี้จะเป็นพิธีที่ใหญ่กว่านั้น คือไหว้ทั้ง ๘ ทิศ ซึ่งแน่ละ..เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า งานปีที่ ๓ นี้ จะต้องเฉลิมฉลองด้วยชุดแต่งกายที่สวยงาม คำว่าสวยงามนั้ไม่ได้เป็นการแต่งเพื่ออวดกัน

แต่ที่ใช้คำนี้ก็เพื่อว่า เป็นคำสมมุติขึ้นว่า เราจะแต่งถวายเป็น “พุทธบูชา” เท่านั้น เพื่อ เป็นการเทิดทูนพระเกียรติคุณ ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุก ๆ พระองค์ ที่เราได้เกิดทันพระองค์ท่าน และที่ได้เกิดร่วมสมัย หรือว่าเกิดในชาติที่พระองค์ยังเป็นหน่อเนื้อพระบรมพงศ์โพธิสัตว์อยู่ก็ดี โดยมีองค์ สมเด็จองค์ปฐม บรมครูทรงเป็นประธานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง

ในครั้งนี้ จะเป็นการไหว้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ พระคุณของพระองค์ปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งใดในชมพูทวีปนี้ พวกเราก็จะตั้งเครื่องพิธีบูชาให้ครบถ้วน รวมทั้งขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นพรหมกันทีเดียว โดยมีการทำรูปพระเจดีย์องค์เล็ก ๆ พร้อมทั้งเขียนชื่อพระธาตุแต่ละแห่ง ว่าบรรจุส่วนไหนของพระองค์บ้าง

เป็นอันว่า ชาตินี้เราจะไปกราบให้ครบถ้วน คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราก็ถือโอกาสตั้งเครื่อง พิธีกราบไหว้ ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งเหมาะที่จะใช้อำนาจสัจจอธิษฐานตั้งความปรารถนาในสิ่งที่ ต้องการ อาจจะมีผลมากมายมหาศาล เพราะเป็นดินแดนของพระโพธิสัตว์เจ้าที่เคยสร้างสมบารมีมาแล้วในด้านของ สัจจะวาจา หรือที่ เรียกกันว่า “วาจาสิทธิ์” นั่นเอง ผลที่เราทำเราพูดกันนี้ คิดว่าคงจะศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยเช่นกัน

จึงขอขอบคุณและอนุโมทนาท่านที่มาร่วมงานทุกท่าน ตลอดถึงผู้ที่ช่วยการงานทุกด้าน ทั้งแรงกายและทุนทรัพย์ ตลอดถึงที่พัก คิดว่าปีหน้าคงจะมาร่วมงานกันอีกนะ จึงต้องจัดเตรียมที่พักไว้เต็มที่ หวังว่าบุญกุศลที่ได้ร่วมบำเพ็ญด้วยกันนี้ คงจะเป็นจริยาวัตรสัมมาปฏิบัติร่วมกันมากับ ท่านสัมพเกษีโพธิสัตว์ มานับชาติไม่ถ้วน

จนถึงปัจจุบันชาตินี้ ก็ยังได้ย้อนกลับมาสถาปนาดินแดนในอดีต ที่อาจจะเคยบังเกิด ร่วมสมัยมากับ พระร่วงเจ้า และ พระแม่เจ้า ก็เป็นได้ จึงขอให้พรทุกท่านที่จะต้องเดินทางกลับในเย็นวันนี้ และที่จะอยู่รอร่วมงานให้ครบถ้วนตามพิธีการแต่โบราณกาล หวังว่าทุกท่านคงเต็มเปี่ยมด้วยบุญบารมีที่สร้างสมมาดีแล้ว

จึงขอผลานุภาพของคุณพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันมีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน พระอริยเจ้าทุกพระองค์ ตลอดถึงคุณของเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ในแว่นแคว้นนี้ พร้อมทั้งครูบาอาจารย์เจ้าทั้งหลาย คือหลวงปู่ปานและหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ท่านปู่ท่านย่า ท่านแม่ ตลอดถึงท้าวมหาราชทั้ง ๔ โปรดได้กำจัดอุปัทวภัยอันตราย แม้แต่ผู้ที่ปองร้ายก็หาทำอันตรายได้ไม่

ด้วยอำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย ขอให้พวกเราเหล่าพุทธบริษัท จงพบแต่ความสุขสวัสดี มีความร่มเย็นเป็นสุขด้วยลาภผล อันหามาได้ด้วยความสุจริต ที่ไหลหลั่งเหมือนกระแสน้ำ พร้อมทั้งคุณธรรมอันสูงส่ง จงได้หลั่งไหลเข้ามาในจิตใจ ให้ใสบริสุทธิ์จนปราศจากทุกข์ คือ ความสกปรก เป็นการดับความเร่าร้อนในดวงจิต เพื่อเข้าถึงความปภัสสรได้โดยง่าย และ ฉับพลันทันใดนั้นเทอญ...”

ในคืนนั้น กว่าจะเลิกงานก็เข้านอนกันดึกพอสมควร ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องเช็คชื่อรถทุกคันที่จะเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น สำหรับผู้ที่เดินทางกลับไปในคืนนั้นก็มีมากมายเช่นกัน ต่างก็มีนัดกันว่าปีหน้าจะต้องกลับมาร่วมงานให้ครบทั้ง ๓ ปีต่อไป



ศรีสัชนาลัย - เถิน


เช้าวันนี้เป็น วันพฤหัสบดีที่ ๑ พ.ย. ๒๕๔๔ เวลา ๐๖.๐๐ น. ทางวัดก็เลี้ยงข้าวต้ม พร้อมกับมอบข้าวกล่องให้แก่รถทุกคัน น่าเห็นใจคณะแม่ครัวที่จะต้องรับภาระหนัก แต่ทุกคนก็เต็มใจเพื่อบุญกุศลในฐานะเจ้าของบ้าน ส่วนแขกที่ไปเยือนก็ปลื้มใจ พร้อมกับชื่นชมอาหารการกินว่าอร่อย แล้วก็มีพอเพียงสำหรับทุกคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีหลายคนที่แปลกใจ ในขณะเข้ามาภายในบริเวณวัด เมื่อได้เห็นต้นไม้หลายต้นในวัด ปรากฏว่าออกลูกเป็น “กล้วยน้ำว้า” เหมือนกันหมดทุกต้น ครั้นเข้าไปใกล้ ๆ จึงรู้ว่ามีคนเอามาแขวนไว้ เพื่อเป็นอาหารเสริมในยามว่าง หลายคนมองแล้วอดขำไม่ได้ ที่เห็นต้นไม้ออกลูกเป็นกล้วยน้ำว้า

นับว่ามีความคิดเข้าท่าดี เพราะบางทีเดินไปเดินมาในวัด หิวตรงไหนก็ปลิดกล้วยลงมากินได้ทันที แล้วก็มีขวดน้ำดื่มวางกองอยู่ใต้ต้นไม้พร้อมอยู่แล้ว และจะเข้าห้องน้ำตรงไหนก็เข้าได้ทันที เพราะทำไว้ชั่วคราวทุกจุด เรียกว่าสะดวกสบายทุกอย่าง

ครั้นได้เวลาออกเดินทาง หลังจากรับประทานข้าวต้มตอนเช้าแล้ว ขบวนรถปีที่ ๒ นี้ไม่ได้นับ แต่คิดว่าคงจะหลายสิบคัน ได้ออกเดินทางจากวัดพระร่วงสู่ อ.เถิน จ.ลำปาง ทางถนนสายทุ่งเสลี่ยม ระหว่างทางผ่าน วัดพระธาตุเขาแก้ว ต.แม่มอก อ.เถิน ผู้เขียนเห็นช่างกำลังก่อสร้างวิหาร จึงบอกให้รถหยุด แล้วชักชวนพวกเราร่วมกันทำบุญ เป็นจำนวนเงินประมาณ ๖,๐๐๐ กว่าบาท

แหม...ทำบุญแบบไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน ไม่รู้ว่าผลบุญจะสนองเมื่อไร อยากจะให้ผลปัจจุบันนี้เลยนะ เพราะหลวงพ่อเคยบอกว่า คนที่ถูกรางวัลที่ ๑ เกิดจากผลบุญจากที่ไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน แต่ก็อย่าหวังอะไรมากนักนะ อยากให้หวังรางวัลที่ ๑ ในทางธรรมะมากกว่า เพราะ โลกุตรธรรม ถือว่าเป็นธรรมที่สุดยอดของพระพุทธศาสนา เมื่อใครได้ไปแล้ว ก็เหมือนกับถูกรางวัลที่ ๑ นั่นเองแหละ

เอาละ..คุยกันไป ระหว่างเดินทางสู่ อ.เถิน จ.ลำปาง รถวิ่งเลี้ยวไปเลี้ยวมาระหว่างทางบนเขา บางครั้งวิ่งเร็วไม่ได้ เพราะต้องรอรถบัสที่ร่วมขบวนมาด้วย จนกระทั่งมาถึงทางแยกสายเอเซีย รถวิ่งผ่านเถินเลี้ยวไปทางลี้สักเล็กน้อย พอถึงทางแยกจึงเลี้ยวขวาเข้าไปทาง วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์ อ.เถิน จ.ลำปาง

ในขณะที่ไปถึง ท่านเจ้าอาวาสกำลังสร้างศาลาการเปรียญ จึงได้ร่วมทำบุญเป็นจำนวนเงิน ๑๐,๑๐๐ บาท แล้วก็พาเดินชมรอบบริเวณวัด บางคนก็ขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา บางคนก็ขึ้นไม่ไหว จึงรออยู่ข้างล่าง ถึงเวลาเพลแม่ชีนิมนต์ให้ฉันเพล

ผู้เขียนและพระที่ร่วมทางไปด้วย จึงได้ฉันภัตตาหารเพล ในระหว่างนั้นเห็นมีพวกเราหลายคนเข้าไปหาเจ้าอาวาส ผู้เขียนคิดว่าพวกนี้คงจะรู้แกวอะไรสักอย่าง สักครู่ก็เดินออกมาทำท่าทางดีใจ ในมือถืออะไรสักอย่าง เหมือนกับได้ของสำคัญมาอย่างนั้นแหละ คนที่ยังไม่ได้จึงเดินเข้าไปขอมั่ง ปรากฏว่าได้ พระใบมะขามพิจิตร ซึ่งเป็นพระทำด้วยตะกั่ว องค์เล็กจิ๋ว เสร็จแล้วท่านก็เดินมาที่ผู้เขียน ขณะที่นั่งฉันเพลเรียบร้อยแล้ว

ความจริงผู้เขียนก็เคยได้มาแล้ว แต่ท่านคงอยากจะให้อีก จึงยื่นมือออกมาคอยรับ ในขณะที่ท่านคายพระออกมาจากปากของท่าน ปรากฏว่าเป็นกำมีหลายองค์ ผู้เขียนยกมือไหว้ขอบคุณท่าน แล้วก็แจกจ่ายให้แก่พระ และบางคนที่ยังไม่ได้บ้าง

หลังจากนั้นก็ลาท่าน เดินทางย้อนกลับออกมา มีหลายคนที่ไม่ได้ เพิ่งมารู้ทีหลัง ต่างบ่นว่าเสียดายที่ไม่รู้มาก่อน เรื่องอย่างนี้มันบอกกันไม่ได้ดอกนะ ต้องใช้การสังเกต หมายถึงต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณเอาเอง

เป็นอันว่าคนที่ได้ก็อิ่มใจ คนที่ไม่ได้ก็เหี่ยวไปเป็นธรรมดา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ภายหลังทราบข่าวว่าย่องกลับไปอีกหลายคนเหมือนกัน จึงขอผ่านไปนะ เพราะจะต้องย้อนกลับไปทางกำแพงเพชร ระหว่างทางจึงได้เข้าไปที่ วัดพระบาทแม่วะ ต.แม่วะ อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นวัดที่เคยแวะมาแล้วเช่นกัน

การที่ต้องพามาย้อนกันอีก เป็นเพราะบางคนยังไม่เคยมา รถได้เข้าไปจอดมากมายภายในวัด มีพระออกมาต้อนรับ ทราบว่าทางวัดกำลังสร้างซุ้มประตูทางเข้าพระเจดีย์ จึงได้ร่วมกันทำบุญรวมเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท หลังจากกราบไหว้รอยพระพุทธบาท และพระเจดีย์ที่สร้างใหม่แล้ว พวกเราจึงออก เดินทางต่อไป

แล้วได้แวะเป็นสถานที่สุดท้าย คือ วัดเขาวังเจ้า อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร พระเจดีย์บนเขาวังเจ้าจะต้องเดินขึ้นบันไดไป นับว่าสูงพอสมควร ไม่ได้นับขั้นบันไดว่ามีกี่ขั้น เพราะเจ้าหน้าที่บันทึกไว้ย่อเหลือเกิน มีบันทึกแต่เพียงว่าได้ร่วมสร้างหอระฆังบนพระเจดีย์นี้ เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท เท่านั้น แล้วก็จบเพียงเท่านี้

รวมความว่า งานทอดกฐินปีที่ ๒ นี้ ที่วัดพระร่วงฯ ได้เงิน ๔,๙๘๓,๖๓๔ บาท และ ถวายตามวัดต่าง ๆ ตามที่เล่าผ่านไปนี้อีกประ มาณ ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับผ้าไตรจีวรและ ของที่เป็นบริวารอีกมากมาย จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้

ตอนต่อไปคงจะเป็น “งานพิธีทอดกฐิน ปีที่ ๓” ซึ่งจะเป็นการรวมพิธีบายศรีทั้งแปดทิศ จึงคิดว่าท่านผู้อ่านที่ไม่มีโอกาสไปร่วมพิธีด้วย คงจะได้ทราบรายละเอียดกันต่อไป..สวัสดี.

« l 1 l 2 | | 3 | 4 l 5 l 6 l 7 l 8 l »