ตามรอยพระพุทธบาท

ใครเป็นผู้สร้าง "พระพุทธชินราช" กันแน่..?
webmaster - 9/2/08 at 13:36

"พระพุทธชินราช" วัดท่าซุง และที่ วัดมหาธาตุ พิษณุโลก ใครเป็นผู้สร้าง..?

พระเจ้าศรีธรรมปิฎก

คงมีใครหลายคนที่เคยเข้าไปกราบ “พระพุทธชินราช” ภายในวิหารร้อยเมตร เมื่อได้เห็นป้ายผู้สร้างที่ฐานองค์พระแล้ว จะเห็นคำที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ จารึกไว้ว่า พระเจ้าศรีธรรมปิฎก และ พระเจ้าศรีทรงธรรม เป็นผู้สร้าง บางคนอาจจะแปลกใจว่า ท่านทั้งสองเป็นใคร...แล้วมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร..?

โดยเฉพาะ พระเจ้าศรีธรรมปิฎก “นักประวัติศาสตร์” หลายท่านต่างก็ให้วินิจฉัยไม่ตรงกัน บางท่านก็บอกว่า คือ พระเจ้าลิไทย ครองกรุงสุโขทัย บางท่านก็บอกว่าเป็น พระเจ้าพรหมมหาราช ครองเมืองเชียงแสน เราเองจึงสับสนไปกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงจำต้องอาศัยอิง พระราชพงศาวดารเหนือ ที่ รัชกาลที่ ๒ ทรงแต่งเมื่อยังดำรงพระเกียรติยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีรับสั่งให้ พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เป็นผู้รวบรวม เมื่อปี
พ.ศ. ๒๓๕๐

"...ในเดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พระเจ้าเชียงแสน ให้เสนาอำมาตย์และมหาอุปราช ตรวจจัดลี้พลโยธาช้างม้าเครื่องสาสตราวุธทุกท้าวพระยา ปืน หอก ดาบ โล่ธนู หน้าไม้ เกาะเหล็ก เกราะเขา แล้วจึงตั้ง พระยาเชียงราย พระยาเชียงลือเป็นแม่ทัพหน้า ตั้ง พระยาเชียงเงิน พระยาเชียงตุง เป็นปีกขวา ตั้ง พระยาเชียงน่าน พระยาเชียงฝาง เป็นปีกซ้าย

เจ้าพสุจกุมาร ให้อุปทูตขึ้นไปฟังข่าวได้รู้อาการทั้งปวงแล้ว พระยาพสุจราชจึงให้กฎหมายไปแก่ พระยาพิไชยเชียงใหม่ ผู้เป็นญาติ พระยาลือธิราชถึงทิวงคต ยังแต่บุตรชายผู้เป็นหลานชื่อ พระพรหมวิธี จึงให้ขับพล เมืองนคร เมืองแพร่ เมืองน่าน เข้าเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด แล้วให้ทหารอาสานั่งด่าน ทาง พระยาพสุจราช ให้รับครัวเข้าเมืองสัชนาลัยทั้งหมด แต่ครัวชายฉกรรจ์ให้อยู่ตั้งรบถอยหลังเข้ามาหาค่าย พระศรีธรรมปิฎกจึงให้ขับพลเข้าเมืองสัชนาไลย ให้ตั้งค่ายหลวงใกล้เมืองสัชนาลัยเป็นระยะทาง ๕๐ เส้น แล้วให้พลทหารโยธาล้อมเมืองสัชนาไลยไว้ จะเข้าเมืองไม่ได้ด้วยข้างในเมืองมีปืนใหญ่ปืนน้อยมาก

พระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าวัดเขารังแร้งรู้เรื่องแล้ว จึงชุมนุมสงฆ์ทั้งหลายว่า อย่าให้เรารบกัน แล้วไปถวายพระพรแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก แล้วเข้าไปห้ามพระยาพสุจกุมาร ทั้งสองพระยาก็ฟังคำพระอรหันต์เจ้า พระยาพสุจกุมารจึงเวน (ถวาย) นางประทุมเทวีราชธิดาให้แก่พระยาศรีธรรมไตรปิฎก ๆ ยินดีนัก ยกทัพกลับไป เมืองเชียงแสน ท้าวพระยาอื่น ๆ ต่างก็ยกกำลังกลับไปบ้านเมืองของตน

พระยาศรีธรรมปิฎก มีพระราชกุมารกับนางประทุมเทวี ๒ องค์ คือ เจ้าไกรสรราช และ เจ้าชาติสาคร เจ้ากุมารทั้งสองมีอานุภาพ รูปงาม และมีใจเป็นกุศล

(หลวงพ่อเคยเล่าว่า...พระเจ้าพรหมมหาราช ยกทัพตีเมืองศรีสัชนาลัย ได้ทั้งสอง ม. คือ ม.เมือง และ ม.เมีย)

พระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตที่พิษณุโลก
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรู้ในพระทัยว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตทางตะวันตก ตะวันออก แล้วเสด็จไปฉันจังหันใต้ต้นสมอ จึงควรไปสร้างเมืองไว้ในสถานที่นั้น จึงตรัสสั่งให้ จ่านกร้อง จ่าการบูรณ์ ให้ทำเป็นพ่อค้าเกวียน นำเกวียนไปคนละ ๕๐๐ เล่ม จากเมืองเชียงแสนมาถึงเมืองน่าน เมืองลิหล่ม พักพลไหว้พระบาทธาตุพระพุทธเจ้าจึงข้าม แม่น้ำตรอมตนิม ข้ามแม่น้ำแควน้อยแล้วจึงถึง "บ้านพราหมณ์" ที่พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตบ้านพราหมณ์ข้างตะวันออก ๑๕๐ เรือน ข้างตะวันตก ๑๐๐ เรือนมีเศษ

เรื่องสร้างเมืองพิษณุโลก
จ่านกร้องกับจ่าการบูรณ์คิดอ่านกันเห็นว่า ที่ดังกล่าวราบคาบทั้งสองฟาก มีบ้านพราหมณ์อยู่ทั้งสองฟาก ควรสร้างเมืองถวายแก่เจ้าของเรา ดังนั้นจึงให้พ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปข้างตะวันตก ตั้งทับประกับเกวียนไว้แล้ว ต่างทำสารบาญชีชะพ่อพราหมณ์ และไพร่พลของตน รวมกันเป็นคนฝ่ายละ ๑๐๐๐ คนทำอิฐ ให้พราหมณ์ชักรอบทิศตั้งเมือง แล้วจึงเป็นหน้าที่ยาว ๕๐ เส้น สะกัดสิบเส้นสิบวา ปันหน้าที่ไว้แก่พราหมณ์ จะได้เท่าใด ไทยจะได้เท่าใด ลาวจะได้เท่าใด

พอได้ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสามขึ้นค่ำหนึ่ง ปีฉลู นพศก เวลาเช้า ต้องกับเวลาเมื่อพระพุทธเจ้าฉันจังหันใต้ต้นสมอ แต่ก่อนเรียก พนมสมอ บัดนี้เรียก เขาสมอแครง จ่านกร้องสร้างข้างตะวันตก จากการบูรณ์สร้างข้างตะวันออก แข่งกันสร้าง ทำอยู่ปีเจ็ดเดือนจึงแล้วรอบบ้าน พราหมณ์ทั้งหลายฟังดูก็รอบ เมื่อทำเมืองแล้วทั้งสองฟาก จึงสั่งชีพ่อพรามหมณ์ให้รักษาเมือง แล้วนำเกวียน และคน ๕๐๐ เล่ม ขึ้นไปเมืองเชียงแสนใช้เวลาเดินทางสองเดือน แล้วถวายรายงานให้พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงทราบ

(หมายเหตุ สถานที่พระพุทธเจ้าฉันภัตตาหาร ปัจจุบันเรียกว่า วัดพระพุทธบาทเขาสมอแครง จ.พิษณุโลก)

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีความยินดียิ่งนัก จึงตรัสสั่งให้ชุมนุมท้าวพระยาทั้งหลาย ยกกำลังไปยังเมืองที่สร้างใหม่ดังกล่าว แล้วตรัสถามชะพ่อพราหมณ์ว่าจะให้ชื่อเมืองอันใดดี ก็ได้รับคำตอบว่า พระองค์เจ้ามาถึงวันนี้ใน ยามพิศณุ จึงได้ชื่อว่า เมืองพิศณุโลก ถ้าจะว่าตามพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตก็ชื่อว่า โอฆบุรีตะวันออก ทางด้านตะวันตกชื่อ จันทบูร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงตรัสสั่งท้าวพระยาทั้งหลาย ชวนกันสร้างพระธาตุ และพระวิหารใหญ่ ตั้งพระวิหารทั้งสี่ทิศ

พระพุทธชินราช วัดศรีมหาธาตุฯ จ.พิษณุโลก




เรื่องสร้างพระชินสีห์ พระชินราช
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้หาช่างได้ บาพิศณุ บาพรหม บาธรรม บาราชกุศล และได้ช่างมาแต่เมืองสัชนาไลย ๕ คน จากเมืองหริภุญไชยคนหนึ่ง ให้ไพร่พลทั้งหลาย ขนดินและแกลบให้แก่ช่าง ช่างประสมดินปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้า ๓ รูปให้เหมือนพิมพ์เดียว และใหญ่น้อยเท่ากัน ครั้นปั้นเบ้าคุมพิมพ์แล้วก็หล่อพระพุทธรูปเป็นอันมาก

วันหล่อนั้นเป็น วันพฤหัสบดี เพ็ญเดือนสี่ ปีจอ ชุมนุมสงฆ์ทั้งหลายมี พระอุบาลี และพระศิริมานนท์ เป็นประธาน หล่อให้พร้อมกันทั้งสามรูป รูป พระศรีศาสดา กับ พระชินสีห์ นั้นทองแล่นเสมอกันบริบูรณ์ ยังแต่ พระชินราช นั้นมิได้เป็นองค์เป็นรูป ช่างทำการหล่อถึงสามครั้งก็มิได้เป็นองค์ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พร้อมทั้งเจ้าปทุมเทวีจึงได้ตั้งสัจอธิษฐาน ร้อนถึงพระอินทร ฯ จึงนฤมิตเป็น "ตาปะขาว" มาช่วยทำรูปพระคุมพิมพ์ปั้นเบ้า แล้วทำตรีศูลย์ไว้ในพระพักตร์เป็นสำคัญ

ครั้นถึงเดือนหนึ่งพิมพ์พระพุทธรูปแห้งแล้ว จึงให้ช่างตั้งเตาจะหล่อพระชินราช แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีเถาะ ตรีศก เวลาเช้า พ.ศ.๑๕๐๐ ทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ พระองค์จึงให้ช่างช่วยกันขุดเกศาพระพุทธรูปนั้น ก็เป็นรูปอันงามบริบูรณ์แล้วทั้งสามพระองค์ ใ ห้เอาไปตั้งไว้ในสถานสามแห่งไว้เป็นที่เสี่ยงทาย ไว้ท่ามกลางเมืองพิษณุโลก

แล้วจึงให้ตั้งพระราชวังฝ่ายตะวันตกเสร็จแล้วจึงให้เอา "สุลเทวี" ลูกพระยาสัชนาไลย ให้ราชาภิเษกด้วย "เจ้าไกรสรราช" ณ เมืองละโว้ แล้วพระองค์กับท้าวพระยาทั้งหลายช่วยกันฉลองวัดวาอาราม และพระพุทธรูปเจ็ดวัน แล้วให้ตั้งบ้านส่วยสัดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ตั้งจ่านกร้อง และ จ่าการบูรณ์ ให้เป็นมหาเสนาซ้ายขวา เสร็จแล้วจึงยกกำลังกลับ เสด็จไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงนครบุรีรมย์

สร้างเมืองเสนาราชนคร
พระเจ้าไกรสรราช สั่งให้อำมาตย์เสนาในให้สร้างเมืองหนึ่งใกล้เมืองละโว้ ทาง ๕๐๐ เส้น แต่งพระราชวังคูหอรบ เสาใต้เชิงเรียงเสร็จแล้วจึงให้อำมาตย์รับเอาดวงเกรียงกฤษณราชกับพระราชเทวีไปราชาภิเษกร่วม เมืองนั้น ชื่อว่า เสนาราชนคร แต่นั้นมา แต่ พ.ศ.๑๕๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้แต่ง เจ้าชาติสาคร ไปกินเมืองเชียงราย พระองค์มีพระชนม์ได้ ๑๕๐ ทิวงคต เมื่อ พ.ศ.๑๕๐๐ แต่นั้นมาเมืองใคร ๆ อยู่มิได้ไปมาหากัน เจ้าชาติสาคร เสวยราชสมบัติแทนสมเด็จพระราชบิดา "เมืองพิไชยเชียงแสน" มาได้เจ็ดชั่วกษัตริย์

อ้างอิง - ประชุมพงศาวดาร หอสมุดแห่งชาติ



พระพุทธชินราช ณ วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี




พระเจ้าศรีทรงธรรม


ส่วน พระเจ้าศรีทรงธรรม นั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เล่าไว้ที่ ดอยอินทนนท์ เมื่อวันที่ ๓๐ ธ.ค. ๒๕๑๖ มีใจความว่า
“...สมัยพระพุทธเจ้ากัสสปทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกเราตั้งดินแดนอยู่ที่นี่ ความจริงแดนของฉันจริงๆ เดิมตั้งอยู่ที่ลำพูนนี่เป็นเมืองเล็กๆ เขตกิตไปถึงเมืองลพบุรี ตอนนั้นยังเป็นชายทะเลอยู่ แล้วไปถึงนครปฐม พ่อเมืองใหญ่ชื่อ ศรีธรรมวราบดี คือ พระอินทร์ องค์ปัจจุบัน พระบรมราชินีชื่อว่า ศิริจันทราราชเทวี คือ พระชายาองค์ปัจจุบันของพระอินทรื

แล้วลูกเมืองก็ชื่อ ศรีทรงธรรม กับ พรรณวดีศรีโสภาค อาณาจักรข้างเหนือไปยันเชียงตุง ยันนะ ไม่ใช่กินเชียงตุงด้วย แล้วเลยไปถึงด้านลาวโน่น ทางใต้ถึงมะริด ทวาย ไม่ใช่เล็กเหมือนกัน อีกเมืองหนึ่ง “ราชาช้าง” กินตั้งแต่เชียงตุงถึงอิมพัน ในอินเดียโน่น เวลานั้นชื่อ พระเจ้าธรรมเสนา พระบรมราชินีชื่อว่า พระนางอินทรมหาปชาบดี

แล้วมีอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า ปทุมวดี พระยาชื่อ แสนหวี (จำสร้อยไม่ได้) ถามว่าทำไมจึงชี่อ “แสนหวี” ตอบว่ามีหวีมาก เรื่องหวีนี่เลือกจริงๆ ยายคนนี้มีหวีเป็นกรุเลย จะไปงานโน้นต้องหวีชนิดนี้ ไปงานนี้ต้องหวีชนิดนั้น อันนี้เขากินเขตในแดนต่อไปถึงญวนทั้งหมด



สามเมืองนี่ เป็นพันธมิตรกัน มีอะไรก็ช่วยกัน ส่วนมากก็ทำการค้าขายกับกสิกรรม ๒ อย่าง เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีความเป็นอยู่เป็นสุข โดยมากอยู่กันโดยธรรม ไม่รุกรานใคร แต่ทว่ามีพวกแขกอาบังนี่นะ อยู่ต่อจากอิมพันออกไป พวกนี้นิสัยไม่ดีเกกมะเหรก ถือว่ามีพวกมากกว่าก็จะมารุกราน เรียกว่า “ชาวปาฐะ” เมื่อมันโกงเราก็รวมกันสู้ ตีกันไปมันสู้ไม่ได้เราก็ยึดเรื่อยไป พอดีแดนนี้หมดเลยได้ “เครื่องจักรพรรดิ” คราวนี้เลยไม่ต้องตี เหาะได้แล้ว ที่นี้ใครๆ ก็มาขอขึ้น

ท่านบอกว่าการเกิดชาตินี้ เป็นการชำระกรรมครั้งสุดท้ายของพวกนี้ทั้งหมด คือพวกถวายเครื่องประดับกับพระพุทธเจ้านี่แหละ จากชาตินี้ก็ยกล้อกันแล้ว คือตายไปแล้ว ไปเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง บางคนก็จะไปนิพพานในชาตินี้บ้าง พวกที่ไปเป็นเทวดาหรือพรหมนะ เกิดอีกชาติเดียวก็นิพพานไม่มีเหลือ เพราะอำนาจการถวายเครื่องประดับเป็นพุทธบูชา...”

เป็นอันว่า พวกเราก็ได้รู้ปูมหลังของทั้งสองพระองค์นี้แล้ว โดยเฉพาะอย่าง พระเจ้าศรีทรงธรรม ภายหลังก็ได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิราช ครอบครองมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต เพราะเหตุนี้ ท่านจึงได้สร้างพระพุทธชินราชไว้ ๒ องค์ ยังดินแดนที่เคยอุบัติทั้งสองสมัย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเกิดของท่าน ด้วยประการฉะนี้...

"ดอยอินทนนท์" อ้างอิงจาก - หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณเฉิดศรี สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา