นิทานชาดก (เรื่องที่ 10) มหิฬามุขชาดก - ผลการเสี้ยมสอน
webmaster - 9/7/08 at 15:20
...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง
ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 10 ชื่อว่า "มหิฬามุขชาดก" (อ่านว่า มหิฬามุขะชาดก) จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
มหิฬามุขชาดก : ชาดกว่าด้วย "ผลการเสี้ยมสอน"
มูลเหตุของชาดก
......ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร นครสาวัตถี มีชาวเมืองราชคฤห์สองคนเป็นเพื่อนกัน ได้พากันมาบวชในบวรพุทธศาสนา
คนหนึ่งบวชในสำนักพระบรมศาสดา ส่วนอีกคนหนึ่งบวชในสำนักพระเทวทัตที่ตำบลคยาสีสะ ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูสร้างถวาย
อย่างไรก็ตาม ภิกษุทั้งสองสหายยังคงไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ วันหนึ่ง ภิกษุที่เป็นศิษย์ของพระเทวทัตกล่าวกับเพื่อนว่า
นี่แนะท่าน ! อย่าได้ออกบิณฑบาตให้ลำบากลำบนเลย ดูซิ เดินเสียเหงื่อไหลไคลย้อยเชียว ซ้ำบางวันยังได้ไม่พอฉันเสียอีก
มาฉันด้วยกันที่สำนักของพระเทวทัตดีกว่า
พระเจ้าอาชาตศัตรูทรงให้จัดภัตตาหารในวังมาถวายถึง ๕๐๐ สำรับทุกวัน ล้วนแต่มีรสเลิศอย่างจะหาที่ไหนเทียมไม่ได้เชียวแหละ
แรกๆ ที่ได้รับคำเชิญชวนจากเพื่อน ภิกษุนั้นก็บ่ายเบี่ยง แต่เมื่อได้ไปเห็นและถูกคะยั้นคะยอบ่อยเข้าๆ จึงร่วมฉันอาหารด้วย ต่อมาก็ไปฉันเป็นประจำ
เมื่อฉันแล้ว จึงกลับมายังเวฬุวันมหาวิหารเป็นปกติ เพื่อนพระภิกษุทั้งหลายต่างพากันซักถาม ภิกษุรูปนี้จึงกล่าวว่า
เราไปฉันอาหารที่สำนักของพระเทวทัตก็จริงอยู่ แต่พระเทวทัตไม่ได้เป็นคนให้เรานี่ เราฉันอาหารของผู้ที่มีจิตศรัทธานำมาถวาย ไม่เห็นจะผิดอะไร
เพื่อนพระภิกษุจึงพากันว่ากล่าว แล้วนำตัวไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงสอบถามได้ความเป็นจริงแล้ว จึงทรงตำหนิว่า
ดูก่อนภิกษุ เธอมาบวชอยู่ในสำนักของเราซึ่งสอนให้ละกิเลส ซึ่งสอนให้ละกิเลส นำตนให้พ้นจากกองทุกข์
แล้วทำไมจึงไปฉันอาหารในสำนักของพระเทวทัตซึ่งเป็นคนทุศีลด้วยเล่า
ถึงแม้เธอจะอ้างว่าได้รับอาหารจากเพื่อนหรือจากคนที่เขามีศรัทธาถวายให้ ไม่ได้รับจากพระเทวทัตก็ฟังไม่ขึ้นหรอก
เพราะอาหารนั้นได้มาเพราะการกระทำอันมิชอบของพระเทวทัต
คนเราเมื่อคบกันไปนานเข้าๆ ความคิดอ่านก็จะไปในทางเดียวกัน คนคนดีก็จะเป็นคนดี คบคนชั่วก็จะพลอยชั่วไปด้วย เหมือนเมื่อครั้งที่เธอเกิดเป็นช้างชื่อ มหิฬามุข
เมื่อชาติก่อนโน้น
แล้วพระพุทธองค์ทรงนำ มหิฬามุขชาดก มาตรัสเล่า ดังนี้
เนื้อความของชาดก
.....ในอดีตกาล ณ นครพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตมีช้างพระที่นั่งชื่อ พลายมหิฬามุข เป็นช้างที่งดงาม สงบเสงี่ยมเรียบร้อย อยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด
พระองค์จึงโปรดปรานมาก
ต่อมามีโจรกลุ่มหนึ่งได้มาปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ไม่ไกลจากโรงช้างนัก ทุกๆ คืนในเวลาดึกสงัด พวกโจรจะวางแผนปล้นสะดมชาวบ้านชาวเมือง ปรึกษาหารือกันต่างๆ
เป็นต้นว่า
จะขุดอุโมงค์อย่างไร จะซ่อนตัวที่ไหน จะข่มขวัญหรือฆ่าเจ้าทรัพย์อย่างไร ครั้นเมื่อปล้นกลับมาแล้ว จะเลี้ยงฉลองกันด้วยสุราอาหาร
ต่างพูดถึงการปล้นราวกับไปสร้างวีรกรรมมา จากนั้นจะวางแผนปล้นฆ่ากันต่อไป เป็นเช่นนี้ทุกคืน
พลายมหิฬามุขได้ฟังพฤติกรรมที่ทารุณโหดร้ายอยู่ทุกคืนๆ ก็สำคัญผิดคิดว่าเขาต้องการสอนให้ตนทำเช่นนั้นด้วย จึงได้เปลี่ยนกิริยาอาการตามไป
เริ่มแสดงท่าทางเกะกะเกเรขึ้นเรื่อยๆ ใช้งวงหวดซ้ายป่ายขวาบ้าง เห็นใครเดินเข้ามาใกล้ ก็จะเข้าทำร้าย แม้แต่ช้างด้วยกันยังไม่ละเว้น
จนกระทั่งในวันหนึ่งที่หลายมหิฬามุขตกมันก็ยิ่งแสดงอาการเกะกะเกเรอย่างน่ากลัว ถึงกับพังโรงช้างจนพินาศ เมื่อควาญช้างเข้าห้าม ก็ใช้งวงจับฟาดกับพื้นจนตาย
แล้วยังอาวละวาดไล่ฆ่าควาญช้างอื่นๆ อีกหลายคน
ความได้ทราบถึงพระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงวิตกกังวลยิ่งนัก เพราะตามปกติแล้ว ช้างเป็นสัตว์ที่มีกตัญญูสูง การฆ่าควาญช้างที่เลี้ยงตนมา ช้างจะไม่ทำเด็ดขาด
เว้นเสียแต่มันจะตกมันจนครองสติไม่อยู่ จำอะไรไม่ได้เท่านั้น
แต่พลายมหิฬามุขเป็นช้างสงบเสงี่ยมเรียบร้อยมาก ถึงมันจะตกมันก็ไม่น่าจะร้ายกาจถึงเพียงนั้นได้
พระองค์จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์บัณฑิตผู้หนึ่งไปตรวจดูอาการของพลายมหิฬามุข
ท่านบัณฑิตตรวจดูแล้ว ก็เห็นว่าเป็นปกติดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใดๆ จึงได้เรียกประชุมควาญช้างทั้งหมด เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น
พลายมหิฬามุขอยู่ในวังตั้งแต่เล็กแต่น้อย เป็นช้างที่ว่านอนสอนง่าย ไม่เคยดื้อดึงเลยสักครั้งเดียว แล้วอยู่ดีๆ ทำไมถึงกลายเป็นช้างที่โหดเหี้ยมไปได้
ต้องมีคนคอยเสี้ยมสอนแน่ๆ พวกเจ้าที่อยู่ในนี้คงจะรู้ จงบอกมาเดี๋ยวนี้ บัณฑิตคาดคั้นถาม
ไม่มีใครสอนจริงๆ ท่าน ควาญช้างทั้งหลายต่างตอบเป็นเสียงเดียวกัน อำมาตย์บัณฑิตจึงรุกต่อ
พวกเจ้าไม่เห็นมีอะไรผิดสังเกตบ้างเลยรึ
ไม่มีจ๊ะท่าน ทุกอย่างเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เคยให้น้ำ ก็ให้เหมือนเดิม ถึงเวลาอาบน้ำก็อาบ เวลาฝึกก็ฝึก เวลานอนก็นอน อ้อ
แต่หมู่นี้
พอตกกลางคืนจะมีเสียงหนวกหูน่ารำคาญเหลือเกิน ควาญช้างผู้หนึ่งสาธยาย
อำมาตย์บัณฑิตซักถามได้ความว่าเป็นเสียงโจรที่มาซ่องสุมอยู่ใกล้ๆ จึงเชื่อว่าพลายมหิฬามุขมีนิสัยเปลี่ยนไปเพราะได้ฟังถ้อยคำของพวกโจร
ครั้นตกเวลากลางคืน ท่านบัณฑิตได้มาพิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง แล้วกราบทูลให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ พระองค์จึงมีรับสั่งให้จับโจรกลุ่มนั้นมาลงโทษ
แล้วทรงปรึกษากับอำมาตย์บัณฑิตว่า
พลายมหิฬามุขฟังถ้อยคำของพวกโจรจนเป็นช้างเกเรไปแล้ว ท่านบัณฑิตคิดว่ามีทางใดบ้าง ที่จะทำให้กลับเป็นช้างที่ดีดังเดิมได้
อำมาตย์บัณฑิตกราบทูลเสนอแนะว่า
ขอเดชะ โดยนิสัยของพลายมหิฬามุขนั้น จะเชื่อฟังคำสั่งสอนเสมอ การที่จะให้กลับเป็นช้างที่ดีได้นั้น
ควรจะเชิญผู้ทรงศีลทั้งหลายไปสนทนาธรรมใกล้โรงช้างนั้น
เมื่อพลายมหิฬามุขได้ฟังบ่อยเข้าๆ จิตใจจะโอบอ้อมอารี กลับเป็นช้างที่ดีดังเดิมได้ พระเจ้าข้า
พระเจ้าพรหมทัตจึงโปรดให้กระทำตามคำแนะนำของอำมาตย์บัณฑิต พลายมหิฬามุขเมื่อได้ฟังถ้อยคำสนทนาของผู้มีศีลทั้งหลาย เป็นต้นว่า
ควรมีความเมตตากรุณา ควรโอบอ้อมอารี มีความสำรวม ฯลฯ พลายมหิฬามุขได้ฟังธรรมอยู่เป็นประจำเช่นนั้นก็กลับเป็นช้างที่มีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยดังเดิม
พระเจ้าพรหมทัตทรงดีพระทัยมาก จึงได้พระราชทานรางวัลมากมายแก่อำมาตย์บัณฑิตผู้นั้น
ประชุมชาดก : สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
พลายมหิฬามุข ได้มาเป็นพระภิกษุรูปนี้
พระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้น ได้มาเป็นพระอานนท์
อำมาตย์บัณฑิต ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
(๑.) การคลุกคลีใกล้ชิดกับคนพาลเป็นโทษอย่างยิ่ง ฉะนั้นไม่ว่ากาลไหนๆ ควรหลีกให้ห่างไกลจากคนพาล และไม่คบคนพาลโดยเด็ดขาด สำหรับคำว่า คบ นั้น ได้แก่
การมีพฤติกรรมต่อไปนี้
๑ . มีการไปมาหาสู่กัน
๒ . หมั่นเข้าไปนั่งใกล้ ( ตีสนิท )
๓ . มีความจริงใจรักใคร่กันจริง
๔ . เลื่อมใสนับถือ
๕ . เป็นเพื่อนร่วมคิดเห็น
๖ . เป็นเพื่อนร่วมกินร่วมอยู่
๗ . ร่วมถ่ายทอดความประพฤติ
(๒.) ลักษณะของคนพาล ได้แก่
๑ . ชอบคิดเรื่องชั่วต่ำเป็นปกติ
๒ . ชอบพูดชั่วต่ำเป็นปกติ
๓ . ชอบทำชั่วต่ำเป็นปกติ
(๓.) โทษของการคบคนพาล มีโดยย่อดังนี้
๑ . ทำให้พลอยแปดเปื้อนเป็นมลทิน ทั้งจะติดความเป็นพาลและมีวินิจฉัยเสียตามไปด้วย
๒ . ทำให้ถูกติเตียน ถูกมองในแง่ร้าย และไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนทั่วไป
๓ . ทำลายประโยชน์ของเรา ก่อให้เกิดความหายนะ การงานล้มเหลวเพราะคนพาลชอบก้าวก่ายงานของผู้อื่น
๔ . ภัยทั้งหลายจะไหลเข้ามาหาเรา เพราะคนพาลเป็นอัปมงคล อยู่ที่ไหนก็มีแต่เรื่องเดือดร้อน เราจึงพลอยได้รับความเดือนร้อนไปด้วย
๕ . ทำให้เราเอาตัวไม่รอด คุ้มตัวเองไม่ได้
๖ . มีอบายภูมิเป็นที่ไป โบราณท่านว่า ผ่านสุนัขให้ห่างศอก ผ่านวอก ( ลิง ) ให้ห่างวา ผ่านพาลา ( คนพาล ) ให้ห่างร้อยโยชน์ พันโยชน์ หมื่นโยชน์
แม้อำมาตย์บัณฑิตในอดีตกาลเมื่อพิจารณาเห็นโทษของการคบคนพาลว่ามีมากมายยิ่งนัก จึงอธิษฐานจิตว่า
ขอข้าพเจ้า อย่าพึงได้เห็น อย่าพึงได้ยินคนพาล แม้แต่คำว่า คนพาลอยู่ที่โน้น อย่าพึงอยู่ร่วมกับคนพาล อย่าพึงทำ
และอย่าพึงพอใจการสนทนาปราศรัยกับคนพาลเป็นอันขาด
ที่มา - kalyanamitra.org
webmaster - 13/5/18 at 05:49
.