นิทานชาดก (เรื่องที่ 13) มหาสีลวชาดก - ชาดกว่าด้วย "การปรารภความเพียร"
webmaster - 25/11/08 at 10:33
...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง
ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 13 ชื่อว่า "มหาสีลวชาดก" (อ่านว่า มหาสีละวะชาดก) จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
มหาสีลวชาดก : ชาดกว่าด้วย "การปรารภความเพียร"
มูลเหตุที่ตรัสชาดก
....ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ เชตวันมหาวิหาร ได้ทรงทราบว่าในเวลานั้น
มีพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเมื่อระยะแรกบวช ก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างน่าสรรเสริญอีกด้วย
แม้ว่าพระภิกษุรูปนี้ จะตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างดี แต่ก็ยังไม่มีมรรคผลใดๆ ปรากฏให้เห็น จึงบังเกิดความท้อถอย เบื่อหน่ายคลายความเพียร
ประพฤติปฏิบัติธรรมย่อหย่อน ครองเพศสมณะไปวันๆ หนึ่งอย่างแกนๆ เหมือนคนสิ้นหวังในชีวิต
พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณสุดที่จะประมาณปรารถนาจะประทานกำลังใจในการปฏิบัติธรรม จึงตรัสเรียกพระภิกษุรูปนั้นมาซักถาม แล้วทรงให้สติว่า
เมื่อมีโอกาสได้มาบรรพชาในพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาเดียวในโลกที่เปี่ยมไปด้วยสาระประโยชน์ สามารถนำสรรพสัตว์ทั้งหลายออกจากกองทุกข์ได้
จึงไม่ควรเลยที่เธอจะย่อหย่อน คลายความเพียรเสียเช่นนี้
บัณฑิตในกาลก่อนโน้น แม้จะสิ้นสูญราชสมบัติแล้ว ก็ยังตั้งมั่นอยู่ในความเพียร ไม่ท้อถอยจนกระทั่งภายหลังสามารถกลับไปครองราชสมบัติได้อีก
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสนุสสติญาณ นำ มหาสีลวชาดก มาตรัสเล่า ดังนี้
เนื้อความของชาดก
....ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตพระองค์หนึ่งทรงมีพระนามว่า
"พระมหาสีลวราช" พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถมาก ทรงสำเร็จศิลปศาสตร์ทุกแขนง เมื่อมีพระชันษาเพียง ๑๖ พรรษา
พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณา ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระกุมาร ครั้นเมื่อได้ครองราชสมบัติแล้ว ก็ทรางปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยธรรม
ทรงเป็นพระธรรมราชาของพสกนิกรทั้งปวง
พระองค์ทรงโปรดการทำทานยิ่งนัก ทรงให้สร้างโรงทานไว้ถึง ๖ แห่ง คือที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ที่กลางพระนคร และที่ประตูพระราชวัง
เพื่อเป็นทานแก่คนยากจนไร้ที่พึ่ง คนกำพร้า และคนเดินทาง ซึ่งเหน็ดเหนื่อย หิวโหยผ่านมา จะได้มีข้าวปลาอาหารรับประทาน
ในครั้งนั้น มีอำมาตย์ชั่วคนหนึ่ง เห็นพระราชามีน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา พระราชอัธยาศัยก็อ่อนโยนไม่โปรดปรานการรบราฆ่าฟัน
จึงคิดเหิมเกริมถึงขนาดบังอาจลักลอบเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นในหลายครั้งหลายครา จนมีผู้มากราบทูลฟ้องร้อง
และพระองค์ก็ทรงทราบด้วยพระองค์เอง ถึงแม้ว่าการกระทำเช่นนี้มีความผิดถึงขั้นประหาชีวิต แต่พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยกรุณา ไม่ทรงประสงค์จะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
จึงเพียงทรงว่ากล่าว แล้วขับไล่ไปเสียจากพระนคร
เมื่ออำมาตย์ชั่วผู้นั้นถูกขับไล้ออกจากเมือง ก็โกรธแค้นพระเจ้ามหาสีลวราชยิ่งนัก เขาขนทรัพย์สินและพาลูกเมียเดินทางออกจากกรุงพาราณสี
ไปพึ่งบารมีพระราชแห่งแคว้นโกศล
โดยที่อำมาตย์ผู้นี้เป็นคนมีฝีมืออยู่แล้ว และยังหมั่นเพียรทำการงานเต็มความสามารถ แสดงความจงรักภักดีอย่างออกนอกหน้า
ในไม่ช้าก็เป็นที่ไว้วางพระราชฤทัยของพระเจ้าโกศล
วันหนึ่ง ขณะที่อำมาตย์ทั้งหลายเข้าเฝ้าประชุมปรึกษาเรื่องราชการงานเมืองอยู่นั้น อำมาตย์ชั่วเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงกราบทูลพระเจ้าโกศลว่า
พระพุทธเจ้าข้า กษัตริย์เมืองพาราณสีอ่อนแอราวอิสตรี ถึงแม้ราชสมบัติในเมืองจะมีมากมาย แต่ก็เปรียบเสมือนรวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง
หากพระองค์มีพระราชประสงค์เมืองพาราณสีแล้วไซร้ เพียงยกกำลังทหารไปเล็กน้อย ก็อาจยึดเมืองได้โดยง่ายพระเจ้าข้า
พระเจ้าโกศลทรงสดับฟังแล้ว ก็ไม่ทรงเชื่อสนิทนัก เพราะทรงเห็นว่าอำมาตย์ผู้นี้ เคยรับราชการในเมืองพาราณสีมาก่อน จึงตรัสสำทับว่า
ที่เจ้าพูดอย่างนี้ เจ้าจะเข้ามาสอดแนมเมืองโกศลหรืออย่างไร..?
หามิได้พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลด้วยความจริงใจ หากพระองค์ไม่ทรงเชื่อ
ก็ทรงทดลองส่งทหารที่ไว้วางพระทัยปลอมเป็นโจรไปปล้นหมู่บ้านชายแดนเมืองพาราณสีดูสักครั้ง
เมื่อทหารปลอมพวกนี้ถูกจับตัวไปเฝ้าพระเจ้ามหาสีลวาราชแล้ว ทรงมั่นพระทัยได้เลยว่า แทนที่จะได้รับโทษกลับจะได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์
แล้วปล่อยตัวกลับมาอีกด้วย
เพราะพระเจ้ามหาสีลวราชทรงขลาดกลัว เกรงว่าพวกพ้องของโจรที่ถูกจับตัวไว้จะตามมาแก้แค้น จึงมักต้องเอาใจโจรเสมอ พระเจ้าข้า อำมาตย์ชั่วกราบทูล
พระเจ้าโกศลไม่ทรงเชื่อนัก แต่ทรงห็นอำมาตย์กราบทูลอย่างแข็งขัน ก็ทรงคิดว่าจะทดลองดู จึงส่งทหารกลุ่มหนึ่งปลอมเป็นโจรไปปล้นหมู่บ้านชายแดนเมืองพาราณสี
เหตุการณ์ก็เป็นจริงอย่างที่อำมาตย์ชั่วกราบทูล
เพราะเมื่อโจรปลอมของพระเจ้าโกศลถูกจับตัวไปถวายพระเจ้ามหาสีลวราชแล้ว พระองค์ทรงซักถามคนเหล่านั้นว่า
เหตุใดพวกเจ้าจึงพากันมาปล้นทรัพย์สินของชาวบ้าน ทำไมไม่คิดที่จะทำมาหากินโดยสุจริตเล่า..?
พวกข้าพระพุทธเจ้ายากจน ไม่มีที่ดิน ไม่มีทรัพย์สินเงินทองจะลงทุนทำมาค้าขายอะไร จึงต้องปล้นเขากินอย่างนี้ พวกโจรปลอมกราบทูล
พระราชารับสั่งว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุไรจึงไม่พากันมาหาเราเล่า ต่อแต่นี้ไปเบื้องหน้า พวกเจ้าอย่ากระทำเช่นนี้เลยนะ พระราชทานพระราชทรัพย์
ส่วนพระองค์แก่คนเหล่านั้น แล้วปล่อยตัวไป. คนเหล่านั้นพากันไปกราบทูล ประพฤติเหตุนั้นแด่พระเจ้าโกศล.
แม้จะทรงทราบเรื่องถึงขนาดนี้ พระเจ้าโกศลก็มิอาจจะทรงยกกองทัพไป ทรงส่งคนไปให้ยื้อแย่งในท้องถนนอีก.
แม้พระเจ้าพาราณสีก็คงยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ แก่คนเหล่านั้น แล้วทรงปล่อยตัวไปอยู่นั่นเอง.
ที่นั้น พระเจ้าโกศลจึงทรงทราบว่า พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ดีเกินเปรียบ จึงทรงยกพลพาหนะเสด็จออก ไปด้วยหมายพระทัยว่า จักยึดราชสมบัติเมืองพาราณสี.
ก็ในครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสี มีนักรบผู้ยิ่งใหญ่อยู่ประมาณพันนาย ล้วนแต่กล้าหาญอย่างเยี่ยม ใครๆ ไม่อาจทำลายได้เลย
แม้ถึงช้างที่ซับมันจะวิ่งมาตรงหน้า ทุกนายก็สู้ไม่ถอย
แม้ถึงสายฟ้าจะฟาดลงมาที่ศีรษะ ทุกนายก็ไม่สะดุ้งหวาดเสียว ล้วนแต่สามารถจะยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปมาถวายได้ ในเมื่อพระเจ้าสีลวมหาราช ทรงพอพระราชหฤทัย.
นักรบเหล่านั้นฟังข่าวว่า พระเจ้าโกศลยกทัพมา พากันเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ ข่าวว่า พระเจ้าโกศลหมายพระทัยว่า
จะยึดครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ยกกองทัพมา
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายของพระราชทานพระบรมราชานุญาต ยกไปจับองค์โกศลราชเฆี่ยนเสีย มิให้รุกล้ำล่วงรัฐสีมาของข้าพระพุทธเจ้า ได้ทีเดียว.
พระเจ้าพาราณสีทรงห้ามว่า พ่อทั้งหลาย ฉันไม่ต้องการให้คนอื่นลำบากเพราะฉันเลย เมื่อพระเจ้าโกศลอยากได้ราชสมบัติ ก็เชิญมายึดครองเถิด
พวกท่านทั้งหลาย อย่าไปต่อสู้เลย.
พระเจ้าโกศลกรีฑาพลล่วงรัฐสีมา เข้ามายังชนบทชั้นกลาง. พวกอำมาตย์สูรมหาโยธา ก็พากันเข้าเฝ้าพระราชา พร้อมกับกราบทูลเช่นนั้น อีกครั้งหนึ่ง.
พระราชาก็ทรงห้ามไว้เหมือนครั้งแรก นั่นแล.
พระเจ้าโกศลยกพลมาตั้งประชิดภายนอกพระนครทีเดียว พลางส่งพระราชสาสน์ มาถึงพระเจ้าสีลวมหาราชว่า จะยอมยกราชสมบัติให้ หรือจักรบ.
พระเจ้าสีลวมหาราชส่งพระราชสาสน์ ตอบไปว่า เราไม่รบกับท่าน เชิญยึดครองราชสมบัติเถิด.
พวกอำมาตย์พร้อมกันเข้าเฝ้าพระราชาอีกครั้งหนึ่ง กราบทูลว่า ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยอมให้ พระเจ้าโกศลเข้าเมืองได้
จะพร้อมกันจับเฆี่ยนเสีย ที่นอกพระนครนั่นแหละ.
พระราชาก็ทรงตรัสห้ามเสียเหมือนครั้งก่อน มีพระกระแสรับสั่งให้เปิดประตูเมืองทุกด้านแล้ว ก็ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ในท้องพระโรง
พร้อมด้วยอำมาตย์พันนาย.
พระเจ้าโกศลเสด็จเข้าสู่กรุงพาราณสี พร้อมด้วยพลและพาหนะมากมาย. มิได้ทอดพระเนตรเห็น ผู้ที่จะเป็นศัตรูตอบโต้ แม้สักคนเดียว
ก็เสด็จสู่ทวารพระราชวัง แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จขึ้นสู่ท้องพระโรง อันประดับตกแต่งแล้ว
ในพระราชวังอันมีทวารเปิดไว้แล้ว มีพระกระแสรับสั่งให้จับพระเจ้าสีลวมหาราช ผู้ปราศจากความผิด ซึ่งประทับนั่งอยู่นั้นพร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งพัน พลางตรัสว่า
พวกเจ้าจงไป มัดพระราชานี้กับพวกอำมาตย์ เอามือไพล่หลัง มัดให้แน่น แล้วนำไปสู่ป่าช้าผีดิบ ขุดหลุมให้ลึกเพียงคอ เอาคนเหล่านี้ฝังลงไปแค่คอ
กลบเสียไม่ให้ยกมือขึ้นได้สักคนเดียว.
ในเวลากลางคืน พวกหมาจิ้งจอกมันพากันมาแล้ว จักช่วยกันกระทำกิจที่ควรทำแก่คนเหล่านี้เอง. พวกมนุษย์ทั้งหลายฟังคำอาญาสิทธิ์ของโจรราชแล้ว
ก็ช่วยกันมัดพระราชา และหมู่อำมาตย์ ไพล่หลังอย่างแน่นหนา พาออกไป.
แม้ในกาลนั้น พระเจ้าสีลวมหาราชก็มิได้ทรงอาฆาตแก่โจรราช แม้แต่น้อยเลย. ถึงบรรดาอำมาตย์แม้เหล่านั้น ที่ถูกจับมัดจูงไปทำนองเดียวกัน
ก็มิได้มีสักคนเดียว ที่จะชื่อว่า บังอาจทำลายพระดำรัสของเจ้านายตน. ได้ยินว่า บริษัทของพระเจ้าสีลวมหาราชนั้น มีวินัยดีอย่างนี้.
ครั้งนั้น ราชบุรุษของโจรราชพวกนั้น ครั้นพาพระเจ้าสีลวมหาราช พร้อมด้วยอำมาตย์ไปถึงป่าช้าผีดิบแล้ว ก็ช่วยกันขุดหลุมลึกเพียงคอ
จับพระเจ้าสีลวมหาราชลงหลุมอยู่ตรงกลาง จับพวกอำมาตย์ที่เหลือแม้ทุกคน ใส่ในหลุมสองข้าง เอาดินร่วนๆ ใส่ทุบจนแน่น แล้วพากันมา.
พระเจ้าสีลวมหาราชตรัสเรียกพวกอำมาตย์ พระราชทานโอวาท ว่า พ่อคุณเอ๋ย พวกเจ้าทุกคน จงเจริญเมตตาอย่างเดียว อย่าทำความขุ่นเคืองในโจรราช.
ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืน ฝูงหมาจิ้งจอกต่างก็คิดมุ่งจะกัดกินเนื้อมนุษย์ พากันวิ่งมา พระราชาและหมู่อำมาตย์เห็นฝูงหมาจิ้งจอกนั้นแล้ว
ก็เปล่งเสียงเป็นเสียงเดียวกันทีเดียว.
ฝูงหมาจิ้งจอกต่างกลัว พากันหนีไป. ครั้น มันเหลียวกลับมาดู ไม่เห็นมีใครตามหลังมา ก็พากันกลับมาใหม่.
พระราชาและหมู่อำมาตย์ก็ตะเพิดมันด้วยวิธีนั้น.
พวกมันพากันหนีไปถึง ๓ ครั้ง หันมาดูอีก รู้อาการที่คนเหล่านั้นแม้แต่คนเดียว ก็ตามมาไม่ได้ จึงสันนิษฐานว่า คนเหล่านี้จักต้องถูกฆ่าแล้ว
จึงกล้าย้อนกลับไป ถึงคนเหล่านั้น จะทำเสียงเอะอะอีก ก็ไม่หนีไป.
จิ้งจอกตัวจ่าฝูง รี่เข้าหาพระราชา ตัวที่เหลือก็พากันไปใกล้พวกอำมาตย์ พระราชาทรงฉลาดในอุบาย ทรงทราบอาการที่หมาจิ้งจอกนั้นมาใกล้พระองค์
ก็ทรงเงยพระศอขึ้น เหมือนกับให้ช่องที่มันจะกัดได้ พอมันจะงับพระศอ ก็ทรงกดไว้ด้วยพระหนุอย่างแน่นหนา ประดุจทับไว้ด้วยหีบยนต์.
หมาจิ้งจอกถูกพระราชาผู้ทรงพระกำลังดุจช้างสาร กดที่คอด้วยพระหนุอย่างแน่นหนา ไม่สามารถจะดิ้นหลุดได้ ก็กลัวตาย จึงร้องดังโหยหวน.
ฝูงหมาจิ้งจอกบริวารได้ยินเสียงนายของตนแล้ว พากันคิดว่า ชะรอย จิ้งจอกผู้เป็นนายจักถูกชายผู้นั้นจับไว้ได้ จึงไม่อาจเข้าใกล้หมู่อำมาตย์
ต่างก็กลัวตาย พากันหนีไปหมด.
เมื่อหมาจิ้งจอกถูกพระราชากดไว้แน่นหนาด้วยพระหนุ เหมือนกับไว้ด้วยหีบยนต์ ดิ้นรนไปมา ทำให้ดินร่วนที่ทุบไว้แน่นๆ หลวมตัวได้
ทั้งมันเองก็กลัวตาย จึงเอาเท้าทั้ง ๔ ตะกุยดินที่กลบพระราชาไว้.
พระองค์ทรงทราบอาการที่ดินหลวมตัวแล้ว ก็ทรงปล่อยหมาจิ้งจอกไป. พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยกำลังกายดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยกำลังใจ โคลงพระองค์ไปมา
ก็ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นมาได้ ทรงเหนี่ยวปากหลุมถอนพระองค์ขึ้นได้ เหมือนวลาหกต้องกระจายด้วยแรงลม
ฉะนั้น ดำรงพระองค์ได้แล้ว ก็ทรงปลอบหมู่อำมาตย์ ทรงคุ้ยดินช่วยให้ขึ้นจากหลุมได้ทั่วกัน พระองค์มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม ประทับอยู่ในป่าช้าผีดิบ นั่นเอง.
สมัยนั้น พวกมนุษย์เอาศพไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ แต่ทิ้งตรงที่คาบเกี่ยว แดนยักษ์ ๒ ตน. ยักษ์ทั้ง ๒ ตนนั้น ไม่อาจแบ่งมนุษย์ที่ตายแล้วนั้นได้
เกิดวิวาทกัน แล้วพูดกันว่า เราทั้งสองไม่สามารถแบ่งกันได้ พระเจ้าสีลวมหาราชพระองค์นี้เป็นผู้ทรงธรรมพระองค์นี้ จักทรงแบ่งพระราชทานแก่เราได้
พวกเราจงไปสู่สำนักของพระองค์ แล้วก็จับมนุษย์ผู้ตายแล้วนั้นที่เท้าคนละข้าง ลากไปถึงสำนักของพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ
ขอพระองค์จงทรงแบ่งร่างมนุษย์ผู้ตายนี้ แก่ข้าพระองค์ทั้งสองด้วยเถิด.
พระเจ้าสีลวมหาราชรับสั่งว่า ดูก่อนยักษ์ผู้เจริญ เราจะช่วยแบ่งร่างมนุษย์นี้ให้ท่านทั้งสอง แต่เรายังมีร่างกายไม่สะอาด ต้องอาบน้ำก่อน.
ยักษ์ทั้งสองก็ไปเอา น้ำที่อบไว้สำหรับโจรราช มาด้วยอานุภาพของตน ถวายให้พระเจ้าสีลว มหาราชสรง แล้วไปเอาผ้าสาฎกของโจรราช
ที่พับเก็บไว้เป็นผ้าทรงของท้าวเธอ มาถวายให้ทรง แล้วไปนำเอาผอบพระสุคนธ์ อันปรุงด้วยคันธชาต ๔ ชนิด มาถวายให้ทรงชะโลมองค์ แล้วไปเอาดอกไม้ต่างๆ
ที่เก็บไว้ในผอบทองและผอบแก้ว มาถวายให้ทรงประดับ.
ครั้นพระเจ้าสีลวมหาราชทรงประดับดอกไม้ แล้วประทับยืน. ยักษ์ทั้งสองก็กราบทูลถามว่า ข้าพระองค์ต้องทำอะไรอีก พระเจ้าข้า.
พระเจ้าสีลวมหาราชทรงแสดงพระอาการว่า พระองค์หิว. ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำโภชนาหารที่เลิศรสนานาชนิด ที่เขาจัดเตรียมไว้สำหรับโจรราชมาถวาย.
พระเจ้าสีลวมหาราชทรงสนานพระกาย แต่งพระองค์ ทรงเครื่องเรียบร้อยแล้ว ก็เสวยพระกระยาหาร
ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำน้ำดื่มที่อบแล้ว กับพระเต้าทองพร้อมทั้งขันทอง ที่เขาจัดไว้สำหรับโจรราช มาถวายให้ทรงดื่ม.
ครั้นทรงดื่ม บ้วนพระโอษฐ์และชำระพระหัตถ์แล้ว ก็พากันไปนำพระศรี (ใบพลู) อันปรุงด้วยคันธชาต ๕ ประการ ที่จัดไว้สำหรับโจรราช
มาถวายให้ทรงเคี้ยว เสร็จแล้วก็ทูลถามว่า จะให้ข้าพระองค์ทั้งสองกระทำอะไรอีก พระเจ้าข้า.
รับสั่งว่า จงไปนำพระขรรค์อันเป็นมงคล ที่เก็บไว้บนหัวนอนของโจรราชมา.
ยักษ์ทั้งสองก็ไปนำมาถวาย.
พระเจ้าสีลวมหาราชทรงรับพระขรรค์ ทรงตั้งซากศพนั้นให้ตรง ทรงฟันกลางกระหม่อม ผ่าแบ่งเป็นสองซีก พระราชทานแก่ยักษ์ทั้งสองคนละเท่าๆ กัน.
ครั้นแล้วทรงชำระพระขรรค์เหน็บไว้ที่พระองค์.
ฝ่ายยักษ์ทั้งสองกินเนื้อมนุษย์แล้ว ก็อิ่มเอิบดีใจ พากันทูลถามว่า ข้าพระองค์ทั้งสองต้องทำอะไรถวายอีก.
พระเจ้าสีลวมหาราชทรงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าทั้งสองจงแสดงอานุภาพ พาเราไปไว้ใน ห้องสิริไสยาศน์ของโจรราช และพาหมู่อำมาตย์เหล่านี้ไปไว้ที่เรือนของตนๆ
เถิด.
ยักษ์ทั้งสองรับกระแสพระดำรัส แล้วพากันปฏิบัติตามนั้น.
ครั้งนั้น โจรราชบรรทมหลับ เหนือพระแท่นสิริไสยาศน์ ในห้องอันทรงสิริงดงาม.
พระเจ้าสีลวมหาราชก็ทรงเอาแผ่นพระขรรค์ ประหารพระอุทรโจรราช ผู้กำลังหลับอย่างลืมตัว. ท้าวเธอตกใจตื่นบรรทม
ทรงจำพระเจ้าสีลวมหาราชได้ด้วยแสงประทีป เสด็จลุกจากพระยี่ภู่ ดำรงพระสติมั่น ตรัสกับพระเจ้าสีลวมหาราชว่า
มหาราชะ ยามราตรีเช่นนี้ ในวังปิดประตู มีผู้รักษากวดขัน ทุกแห่งไม่มีว่างเว้นจากเวรยาม พระองค์เสด็จมาถึงที่นอนนี้ได้อย่างไรกัน?
พระเจ้าสีลวมหาราช ตรัสเล่าถึงการเสด็จมาของพระองค์ ให้ฟังทั้งหมดโดยพิสดาร.
โจรราชสดับเรื่องนั้นแล้วสลดพระทัยนัก ตรัสว่า มหาราชะ ถึงหม่อมฉันจะเป็นมนุษย์ ก็มิได้ทราบซึ้งพระคุณสมบัติของพระองค์เลย
แต่พวกยักษ์อันกินเลือดเนื้อของคนอื่น หยาบคายร้ายกาจ ยังรู้ถึงพระคุณสมบัติของพระองค์.
ข้าแต่พระจอมคน คราวนี้ หม่อมฉันจะไม่คิดประทุษร้ายในพระองค์ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเช่นนี้อีก พลางทรงจับพระขรรค์ ทำการสบถ กราบทูลขอขมากับพระเจ้าสีลวมหาราช
เชิญให้เสด็จบรรทมเหนือพระยี่ภู่ใหญ่ พระองค์เองบรรทมเหนือพระแท่นน้อย.
ครั้นสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์อุทัยแล้ว ก็ให้คนนำกลองไปเที่ยวตีประกาศ ให้บรรดาเสนาทุกหมู่เหล่า และอำมาตย์ พราหมณ์ คฤหบดี ประชุมกัน
ตรัสสรรเสริญพระคุณของพระเจ้าสีลวะ
เปรียบเหมือนทรงชูดวงจันทร์เพ็ญในอากาศ ขึ้นข้างหน้าของคนเหล่านั้น ทรงขอขมาพระเจ้าสีลวะ ท่ามกลางบริษัทนั้น อีกครั้งหนึ่ง.
ทรงเวนคืนราชสมบัติ ตรัสว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป อุปัทวันตรายที่เกิดแต่โจรผู้ร้าย อันจะบังเกิดแก่พระองค์ หม่อมฉันขอรับภาระกำจัด
ขอพระองค์ทรงเสวยราชย์ โดยมีหม่อมฉันเป็นผู้อารักขาเถิด แล้วทรงลงอาญาแก่อำมาตย์ผู้ส่อเสียด รวบรวมพลพาหนะ เสด็จไปสู่แว่นแคว้นของพระองค์.
ฝ่ายพระเจ้าสีลวมหาราชทรงประดับด้วยราชอลังการ ประทับนั่งเหนือกาญจนบัลลังก์ มีเท้ารองด้วยหนังชะมด ภายใต้พระเศวตฉัตร์
ทอดพระเนตรดูราชสมบัติของพระองค์ ทรงพระดำริว่า
สมบัติอันโอฬารปานนี้ และการกลับได้คืนชีวิตของอำมาตย์ทั้งพันคน แม้นเราไม่กระทำความเพียร จักไม่มีเลยสักอย่างเดียว แต่ด้วยกำลังของความเพียร
เราจึงได้คืนยศนี้ ซึ่งเสื่อมไปแล้ว และได้ให้ชีวิตทานแก่อำมาตย์หนึ่งพัน.
บุคคลไม่ควรสิ้นหวังเสียเลย ควรกระทำความเพียรถ่ายเดียว เพราะผู้ที่กระทำความเพียรแล้ว ย่อมสำเร็จผลอย่างนี้.
แล้วตรัสคาถานี้ ด้วยสามารถแห่งอุทาน ความว่า :-
บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงหวังอยู่ร่ำไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราประจักษ์ด้วยตนเองว่า ปรารถนาอย่างใด ก็ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว ดังนี้.
พระโพธิสัตว์ ครั้นตรัสว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมดา ผลแห่งความเพียรของท่านผู้สมบูรณ์ด้วยศีลทั้งหลาย ย่อมสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ ดังนี้
ทรงเปล่งอุทานด้วยคาถานี้ ทรงกระทำบุญทั้งหลายตลอดพระชนม์ แล้วก็เสด็จไปตามยถากรรม ด้วยประการฉะนี้.
พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสเทศน์อริยสัจ ๔ แล้ว
ในเมื่อจบอริยสัจ ๔ ภิกษุผู้มีความเพียรย่อหย่อน ก็ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล.
ประชุมชาดก
อำมาตย์ชั่วในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระเทวทัต ในบัดนี้
อำมาตย์หนึ่งพันได้มาเป็น พุทธบริษัท
ส่วนพระเจ้าสีลวมหาราชได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.
ที่มา - 84000.org
webmaster - 19/5/18 at 06:28
.