นิทานชาดก (เรื่องที่ 17) ติปัลลัตถมิคชาดก - ชาดกว่าด้วย "ความว่านอนสอนง่าย"
kittinaja - 26/12/08 at 17:21
...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง
ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 17 ชื่อว่า "ติปัลลัตถมิคชาดก" (อ่านว่า ติปัลลัตถะมิคะชาดก) จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
ติปัลลัตถมิคชาดก : ชาดกแสดงคุณของ "ความว่านอนสอนง่าย "
มูลเหตุที่ตรัสชาดก
.....ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดพทิรการาม เมืองโกสัมพี ทรงปรารภพระราหุลเถระ ผู้ใคร่ต่อการศึกษา
เรื่องมีอยู่ว่า
สมัยนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่ในอัคคาฬวเจดีย์ เมืองอาฬวี มีอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุและภิกษุณีจำนวนมาก ไปฟังธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน
เมื่อฟังธรรมเสร็จสิ้นแล้ว ภิกษุที่เป็นพระเถระก็พากันไปยังที่พักของตน ส่วนภิกษุหนุ่มและอุบาสกพากันนอนที่โรงฉัน
พอเข้าสู่ความหลับมีภิกษุบางรูปนอนกรน บางรูปนอนกัดฟัน ก่อความรำคาญให้แก่พวกอุบาสก พวกเขาพากันนอนครู่เดียวจึงลุกขึ้นหนีไป
วันต่อมา พวกอุบาสกกราบทูลเรื่องนี้แด่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
" ก็ภิกษุใด นอนร่วมกับอนุปสัมบัน ภิกษุนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ "
แล้วเสด็จไปยังเมืองโกสัมพี ก่อนมีสิกขาบทนี้ สามเณรราหุล มักจะได้รับการสงเคราะห์จากภิกษุให้พักร่วมกุฏิเสมอ
เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้แล้ว จึงไม่มีภิกษุรูปใดอนุเคราะห์แก่เธอ สร้างความเดือดร้อนแก่ "สามเณรราหุล" ท่านจึงเลือกไปอาศัยที่เวจกุฎี (ส้วม)
ของพระพุทธองค์เป็นที่อยู่อาศัยแทน
ครั้นรุ่งเช้า พระพุทธองค์ เสด็จมาถึงเวจกุฎีแล้วไอขึ้น สามเณรราหุลก็ไอขึ้นเช่นกัน พระพุทธองค์จึงทรงทราบความเดือดร้อนเพราะการบัญญัติสิกขาบทนี้
ทรงดำริถึงคราวต่อไปเมื่อสามเณรมีมากขึ้น จะให้ภิกษุปฏิบัติเช่นใด จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์แต่เช้าตรู่ แล้วทรงทำอนุบัญญัติสิกขาบทนี้ว่า
" ตั้งแต่นี้ไป ท่านทั้งหลาย จงให้อนุปสัมบันอยู่ในที่พักของตนได้สองวัน ในวันที่สามให้อยู่ภายนอกเถิด "
ต่อมาเย็นวันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันถึงเรื่องสามเณรราหุลเป็นผู้ตั้งอยู่ในโอวาท เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า
เนื้อความของชาดก
......
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเนื้อสองพี่น้องคู่หนึ่ง มีบริวารแวดล้อมมาก อยู่ในป่าใกล้เมืองราชคฤห์
วันหนึ่ง เนื้อผู้น้องสาวนำเนื้อลูกชายมาฝากให้ศึกษามารยาทของเนื้อกับพี่ชาย เนื้อผู้หลานชาย ได้ศึกษามารยาทของเนื้อกับลุงจนหมดสิ้น
วันหนึ่ง ออกหากินในป่าติดบ่วงนายพราน จึงร้องบอกหมู่เนื้อให้หนีไปบอกมารดา ส่วนมารดารีบไปบอกพี่ชายด้วยความห่วงใย พี่ชายจึงพูดปลอบใจว่า
" น้องหญิง พี่ให้เนื้อหลานชาย ผู้มีกีบเท้า ๘ กีบ เรียนท่านอน ๓ ท่า เรียนมีเล่ห์กลมารยาหลายอย่าง และการดื่มกินน้ำในเวลาเที่ยงคืน
เนื้อนั้น เมื่อหายใจทางจมูกข้างที่แนบติดอยู่กับพื้นดิน ก็จะลวงนายพรานได้ด้วยอุบาย ๖ ประการ "
เล่ห์กลลวงนายพรานด้วยอุบาย ๖ ประการ คือ
๑. นอนตะแคงเหยียดเท้าทั้ง ๔
๒. ใช้กีบเท้าตะกุยหญ้าและดินร่วน
๓. ทำลิ้นห้อยออกมา
๔. ทำให้ท้องพองขึ้น
๕. ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะออกมา
๖. กลั้นลมหายใจไว้
ฝ่ายเนื้อผู้หลานชาย ได้แสดงอาการทำทีเป็นตายแล้ว มีแมลงวันหัวเขียวบินตอมตัวว่อน นายพรานพอเห็นอาการเช่นนั้นเข้าใจว่าเนื้อตายแล้ว
เลยแก้เชือกผูกเนื้อออก หวังจะแล่เนื้อในที่นั้น เดินหักใบไม้ไปมา ฝ่ายเนื้อได้โอกาสจึงลุกขึ้นวิ่งหนีกลับมาได้ ด้วยความปลอดภัย
ประชุมชาดก
.....เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสชาดกจบแล้ว ทรงแสดงอริยสัจ ๔ โดยอเนกปริยายให้ลุ่มลึกยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
พระภิกษุจำนวนมาก ได้ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา บ้างก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ตามแต่กำลังบารมีที่สั่งสมอบรมมา
แล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
ลูกกวางน้อย ได้มาเป็น สามเณรราหุล
แม่กวาง ได้มาเป็น พระอุบลวรรณาเถรี
พญากวาง ได้มาเป็น พระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
๑ . ปกติคนเราถ้าไม่ได้ฝึกสติมาดีแล้ว เมื่อนอนหลับ มักจะมีอาการต่างๆ เช่น กัดฟัน ละเมอ วางมือวางเท้าไม่เรียบร้อย ผมเผ้ารุ่งรัง นอนกรน น้ำลายไหล
เป็นต้น
ภาพเหล่านี้ย่อมไม่น่าดู และเป็นที่รังเกียจแก่ผู้พบเห็น ดังนั้น บางครั้งหากมีความจำเป็นต้องนอนในที่เดียวกับคนอื่น เช่น ในโอกาสไปพักแรมต่างจังหวัด
หรือไปค้างคืนบ้านเพื่อนฝูง จึงควรระมัดระวังให้เรียบร้อย ตั้งแต่ผมเผ้าไปจนถึงเสื้อผ้า และท่านอน
๒ . เมื่อเราได้ร่ำเรียนวิชาจากครูบาอาจารย์แล้ว ควรหมั่นจดจำไว้ อย่าละเลย หลงลืม หมั่นพิจารณาอยู่เสมอ จึงจะมีความรู้แตกฉาน
นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต หรือแม้กระทั่งรักษาชีวิตของตนได้ ดังคำของกวีสุนทรภู่ ที่กล่าวว่า
รู้สิ่งใดที่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
การรักษาตัวรอดในความหายของนักปราชญ์หรือบัณฑิตนั้น หมายถึง รอดพ้นจากภัยพาล หรือความชั่วร้ายทั้งหลาย
มิใช่ในความหมายของการหนีเอาตัวรอดแล้วทิ้งให้ผู้อื่นลำบาก ซึ่งเป็นวิสัยของผู้มีจิตใจคับแคบ
๓ . ศิษย์เมื่อมีความศรัทธา มีความเคารพในครูบาอาจารย์อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว จะมีความเคารพในคำสั่งสอนของท่าน
และปฏิบัติตามคำสั่งสอนโดยไม่โต้แย้งหรือบิดพลิ้ว
ทำให้ครูบาอาจารย์มีความเมตตา เอ็นดู ปรารถนาจะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ที่มา - kalyanamitra.org
webmaster - 24/5/18 at 10:57
.