นิทานชาดก (เรื่องที่ 18) เภริวาทชาดก - ชาดกว่าด้วย "โทษของการไม่รู้จักประมาณ"
kittinaja - 26/12/08 at 17:57
...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง
ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 18 ชื่อว่า "เภริวาทชาดก" (อ่านว่า เภริวาทะชาดก) จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
เภริวาทชาดก : ชาดกว่าด้วย "โทษของการไม่รู้จักประมาณ"
มูลเหตุที่ตรัสชาดก
......ครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ เชตวันมหาวิหาร
ทรงทราบว่าพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นคนว่านอนสอนยาก จึงตรัสเรียกพระภิกษุรูปนั้นมาซักถาม
ครั้นภิกษุรูปนั้นยอมรับแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงตำหนิแล้วทรงระลึกชาติแต่หนหลังด้วยบุพพเพนิวาสานุสติญาณ ทรงนำ "เภริวาทชาดก" มาตรัสเล่าดังนี้
เนื้อความของชาดก
...ในอดีต สมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติกรุงพาราณสี ทรงโปรดให้มีงานนักขัตฤกษ์เป็นประจำทุก ๆ ปี ครั้งหนึ่งสองพ่อลูกนักตีกลอง
ได้ชวนกันไปแสดงการตีกลองในงานนี้ ด้วยฝีไม้ลายมือการตีกลองของพ่อลูกทั้งสอง ครึกครื้น เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ชมมาก
......นอกจากนี้ เขาทั้งสองยังแสดงท่าร่ายรำประกอบการตีกลองได้แปลกตา ประทับใจ ไม่ว่าจังหวะกลองจะเป็นเช่นไรก็ตาม
ดังนั้นทุกครั้งที่สิ้นเสียงกลองผู้ชมจะปรบมือกันกราวใหญ่พร้อม ๆ กับเงินเหรียญมากมายที่มอบให้เขาสองพ่อลูก
.....ทั้งสอง แสดงการตีกลองไปตลอดคืน จนกระทั่งงานเลิกก็สะพายกลองและถุงย่ามใบใหญ่ที่ใส่เงินกลับบ้าน ลูกชายวัยรุ่นยังไม่หายครึ้มอกครึ้มใจ
จึงรัวกลองตีกระหน่ำมาตามทางด้วยความคะนอง หนทางกลับบ้านของทั้งสองพ่อลูกเป็นทางเปลี่ยว ต้องเดินลัดป่าผ่านเข้าไปในดงโจรไม่มีทางหลีกเลี่ยง
พ่อจึงเตือนลูกว่า
..... เมื่อเจ้าอยากตีกลองก็ตีไปเถิด พ่อไม่ห้าม แต่ให้เลือกตีแต่จังหวะเพลงที่ใช้ในขบวนพิธี และตีเป็นระยะ ๆ อย่าตีกระหน่ำพร่ำเพรื่อ
พวกโจรจะได้หลงเข้าใจว่ากำลังมีเจ้านาย หรือคนใหญ่คนโตเดินทางผ่านมาจะได้รีบหนีไปเสียไกลๆ
.....ลูกชายได้ยินพ่อพูดห้ามปรามแล้ว แต่ก็ไม่เชื่อฟังกลับพูดอวดดีว่า พ่ออย่ากลัวไปหน่อยเลย ฉันจะกระหน่ำกลองให้พวกมันเตลิดหนีไปทั้งหมดทีเดียว
ว่าแล้วก็กระหน่ำตีกลองต่อไป แต่เนื่องจากยังเกรงใจพ่ออยู่บ้าง ในคราวแรกจึงตีจังหวะที่พ่อบอก
.....พวกโจรในย่านนั้น ได้ยินเสียงกลองในจังหวะที่ใช้สำหรับตีประโคมเวลาเจ้านายเดินทางก็ตกใจ กลัวเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ตามมาในขบวนจะมองเห็นพวกตน
จึงซ่อนตัวอยู่ห่าง ๆ ไม่กล้าโผล่หน้าออกมา
.....แต่ครั้งเวลาผ่านไปสักครู่ ลูกชายรู้สึกเบื่อหน่ายจักหวะกลองที่ซ้ำ ๆ อย่างนั้น จึงพลิกแผลงตีจังหวะอื่น ๆ ที่สนุกสนาน ระทึกใจ
เสียงกลองดังลั่นไปทั่วป่าไม่มีเว้นระยะเลย
.....พวกโจรซุ่มฟังอยู่ ได้ยินเสียงกลองจังหวะโลดโผนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนั้นก็เฉลียวใจ คิดว่าคงจะไม่ใช่กลองในขบวนเกียรติยศของเจ้านายเสียแล้ว
จึงได้สะกดรอยตามดู
ครั้นเห็นมีเพียงสองพ่อลูกเดินอยู่ในป่าตามลำพัง โดยมีลูกชายตีกลองเล่นอยู่ก็โกรธจึงพากันวิ่งกรูเข้ามารุมทุบตีสองพ่อลูกเสียสะบักสะบอม
ฐานที่หลอกให้หลงเข้าใจผิด แล้วฉวยเอาถุงยามใส่เงินและทรัพย์สินติดตัวไปจนหมดเสียอีกด้วย
.....เมื่อพวกโจรกลับไปหมดแล้ว ผู้เป็นพ่อก็ค่อย ๆ พยุงร่างกายที่บอบช้ำ คลานเข้าไปหาลูกชายซึ่งมีสภาพเดียวกัน
แล้วกล่าวสั่งสอนด้วยเสียงอันสั่นเครือกระท่อนกระแท่นว่า
..... กลองนั้นตีดี ๆ ก็มีประโยชน์ แต่ไม่ควรตีกระหน่ำไม่หยุดหย่อนเช่นนี้ เพราะถ้าตีพร่ำเพรื่อคึกคะนองเกินไป ก็จะก่อให้เกิดเรื่องเลวร้าย เงินทองวอดวาย
เกือบถึงตายอย่างวันนี้
แล้วพากันซมซานกลับบ้านไปด้วยความยากลำบากแสนสาหัส
ประชุมชาดก
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เภริวาทชาดก จบแล้วทรงประชุมชาดกว่า
ลูกชาย ในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้ว่ายาก
บิดา ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
.....๑. คำตักเตือนสั่งสอนของผู้ใหญ่ ย่อมมีคุณค่าควรแก่การรับฟังเพราะผู้ใหญ่ผ่านโลกมามาก ย่อมมองเห็นการไกล คาดคะเนอะไรมักไม่พลาด ผู้ใหญ่ที่ดี ๆ
มีคุณธรรม ย่อมชักนำเราไปสู่ความสำเร็จ
.....๒. การทำอะไรตามใจตัวเอง ทำตามความคึกคะนอง ไม่รู้จักประมาณ ไม่คำนึงถึงกาลเทศะ ยอมเกิดโทษแน่นอน
ที่มา - kalyanamitra.org
webmaster - 25/5/18 at 07:47
.