ตามรอยพระพุทธบาท

นิทานชาดก (เรื่องที่ 25) กาญจนักขันธชาดก - ชาดกว่าด้วย "ธรรมะอุปมาเสมือนทองคำ"
webmaster - 20/9/09 at 05:58

...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 25 มีชื่อว่า "กาญจนักขันธชาดก" (อ่าน..กาญจะนักขันธะชาดก) โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "ชาวนา" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

กาญจนักขันธชาดก : ชาดกว่าด้วย "ธรรมะอุปมาเสมือนทองคำ"



มูลเหตุที่ตรัสชาดก

......สมัยหนึ่ง ณ พระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี มีชายผู้หนึ่งได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาแล้ว เกิดความเลื่อมจึงทูลขออุปสมบท

บวชแล้วมีกิริยางามและอ่อนน้อม พระเถระผู้ใหญ่จึงเมตตาเอ็นดู ช่วยกันเอาใจใส่อบรมสั่งสอนเป็นพิเศษให้ศึกษาข้อธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พระอาจารย์ล้วนไม่รู้จักประมาณกำลังสติปัญญาของลูกศิษย์ มีแต่ความปรารถนาดีจึงกลายเป็นยัดเยียดคำสอนให้โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ไม่นาน ศิษย์ก็เริ่มท้อแท้ใจเพราะการศึกษาหนักมาก จึงคิดอยากลาสิกขาไปครองเรือนตามเดิม จึงเข้าไปกราบลาพระอุปัชฌาย์ ด้วยท่านไม่อาจรักษาศีลให้ครบถ้วนได้

พระอุปัชฌาย์ ได้ทราบความแล้วก็ให้รู้สึกเสียใจ เมื่อท่านอาจยับยั้งได้จึงพาไปเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอบถามพระอุปัชฌาย์ถึงวิธีการสอน

จากนั้นจึงตรัสว่า พระองค์จะรับเป็นธุระในการสอนให้เอง แล้วตรัสกับพระภิกษุบวชใหม่รักษาศีลเพียง ๓ ข้อ

“จงรักษาทวารทั้งสามไว้ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร คือ ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กระทำกรรมชั่วด้วยวาจา และไม่กระทำกรรมชั่วด้วยใจ จงรักษาศีล ๓ ข้อนี้เท่านั้นเถิด”

ตั้งแต่นั้นมาภิกษุก็ตั้งใจประคับประคองควบคุม กาย วาจา ใจ อย่างเคร่งครัด ๒- ๓ วันต่อมา สามารถเข้าถึงอรหัตผล หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ท่านถึงกับเปล่งอุทานออกมาว่า

“เท่านี้เองหนอ... ศีลตั้งมากมายที่พระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ อ้อมค้อมบอกแก่เราจนเหลือกำลังรับ แท้ที่จริงแล้ว พระพุทธองค์ทรงประมวลไว้เพียง ๓ ข้อ เท่านี้เอง”

เหล่าพระภิกษุต่างสนทนากันในเรื่องนี้ สรรเสริญในความเป็นเอกบุรุษของพระบรมศาสดา ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องแล้ว จึงตรัสเรื่อง กาญจนักขันธชาดก ดังนี้


...ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีชายชาวนาผู้ขยันคนหนึ่ง ได้จับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อถากถางเป็นที่นาของตน ซึ่งที่ดินแห่งนี้เมื่อในอดีต เคยเป็นที่ตั้งบ้านของเศรษฐีผู้มาก่อน

ชายหนุ่มได้ออกไปไถนาทุกวัน วันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาอยู่นั้น ผาลไถ ( เหล็กสำหรับสวมหัวหมูเครื่องไถ) ก็ไปสะดุดติดอยู่กับของแข็งๆ ท่อนหนึ่งในดิน วัวที่เทียมไถไม่สามารถลากต่อไปได้จึงหยุดยืนนิ่งอยู่กับที่

เมื่อแรกเขาคิดว่าเป็นรากไม้ จึงเอามือขุดคุ้ยก้อนดินดู แต่กลับเป็นแท่งทองคำขนาดใหญ่ฝังอยู่ในดิน ทองคำแท่งนี้ เศรษฐีเจ้าของบ้านคนเดิมได้ฝังซ่อนไว้ แล้วอพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่น กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า

ขณะนั้นเพิ่งจะบ่าย ยังมีเวลาเหลืออีกมาก ชาวนาผู้รักงานจึงค่อยๆ ทำงานต่อ แล้วโกยดินกลบท่อนทองคำไว้ดังเดิม จนกระทั่งโพล้เพล้ เขาจึงหยุดทำงาน แล้วย้อนกลับไปยังที่ฝังแท่งทองคำ คุ้ยดินออก ตั้งใจจะแบกกลับบ้าน

แต่ทองมีน้ำหนักมากแบกไปไม่ไหว เขาจึงคิดที่จะแบ่งแท่งทองนี้ออกเป็นสี่ส่วน ส่วนที่ ๑ ขายนำทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ส่วนที่ ๒ ฝังไว้ที่เดิมเก็บไว้ยามขัดสน ส่วนที่ ๓ เป็นทุนค้าขาย ส่วนที่ ๔ ทำบุญให้ทาน

เขาจึงตัดทองคำออกแบกกลับบ้านคราวละท่อนๆ นำไปใช้ตามจุดประสงค์นั้น โดยไม่มีความกังวลว่า ทองคำส่วนที่กลบดินจะสูญหายหรือไม่

แต่เพื่อความไม่ประมาท ชาวนาจึงไม่ปริปากแพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครทราบแม้แต่กับลูกเมีย ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การจับจ่ายภายในบ้าน ก็ยังให้เป็นไปตามปกติ

จนไม่มีใครล่วงรู้เบื้องหลังในความเป็นผู้มั่งมีของเขาเลย เข้าใจเอาเองว่า เป็นเพราะความขยันขันแข็งในการทำงานของเขา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสพระคาถาว่า...

“ นรชนใด มีจิตร่าเริงแล้ว มีใจเบิกบานแล้ว บำเพ็ญธรรมเป็นกุศล เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ นรชนนั้น พึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างได้โดยลำดับ”

ครั้นแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า "ชาวนา" ได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก

๑. ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ ต้องศึกษาอัธยาศัยของผู้รับคำสอนเสียก่อน แล้วพลิกแพลงวิธีการให้เหมาะสม มิฉะนั้น จะกลายเป็นยัดเยียดคำสอน อย่างไรก็ดี ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยฝึกคุณสมบัติ ๔ ประการ คื

( ๑) แตกฉานในการขยายความ ( ๒) แตกฉานในการย่อความ ( ๓) แตกฉานในการพูดโน้มน้าวให้สนใจ ( ๔) มีปฏิภาณไหวพริบ ในการถามและตอบปัญหา

๒. ถ้าต้องการให้งานใหญ่สำเร็จ ต้องรู้จักแบ่งงานเป็นส่วนย่อย

๓. ผู้นำต้องฉลาดในการเก็บความลับด้วย เรื่องบางอย่างบอกใครไม่ได้



ที่มา - kalyanamitra.org