นิทานชาดก (เรื่องที่ 27) เสยยชาดก - ชาดกว่าด้วย "คบคนที่ประเสริฐก็ย่อมประเสริฐ"
webmaster - 20/11/09 at 08:17
...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง
ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 27 มีชื่อว่า "เสยยชาดก" (อ่าน..สัยยะชาดก) โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "พระเจ้ากังสมหาราช" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ
โอกาสนี้ด้วย
เสยยชาดก : ชาดกว่าด้วย "คบคนที่ประเสริฐก็ย่อมประเสริฐ"
มูลเหตุที่ตรัสชาดก
....พระศาสดาเมื่อประทับอยู่
ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภอำมาตย์ของพระเจ้าโกศลคนหนึ่งจึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า เสยยังโส เสยยะโส อะโหสิ ดังนี้.
........ได้ยินว่า...อำมาตย์ผู้นั้นมีอุปการะเป็นอันมากแก่พระราชา ได้เป็นผู้จัดสรรพกิจทั้งปวงให้สำเร็จ. พระราชาทรงพระดำริว่า
อำมาตย์นี้มีอุปการะเป็นอันมากแก่เรา จึงได้ประทานยศใหญ่โตแก่อำมาตย์นั้น อำมาตย์พวกอื่นอดทนอำมาตย์นั้นไม่ได้ ก็คอยส่อเสียดยุยงพระราชาทำลายอำมาตย์นั้น.
........พระราชาทรงเชื่อคำของอำมาตย์เหล่านั้น มิได้ทรงพิจารณาโทษ รับสั่งให้จองจำอำมาตย์ผู้มีศีลนั้น
ผู้หาโทษมิได้ด้วยเครื่องจองจำคือโซ่ตรวนแล้วให้ขังไว้ในเรือนจำ.
อำมาตย์นั้นตัวคนเดียวแท้อยู่ในเรือนจำนั้น อาศัยศีลสมบัติได้เอกัคคตาจิตแน่วแน่ในอารมณ์เดียว พิจารณาสังขารทั้งหลายก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล.
ครั้นในกาลต่อมา พระราชาทรงทราบว่าอำมาตย์นั้นไม่มีโทษ จึงรับสั่งให้ถอดเครื่องพันธนาการคือโซ่ตรวน แล้วได้พระราชทานยศอันยิ่งใหญ่กว่ายศครั้งแรก.
อำมาตย์คิดว่าจักถวายบังคมพระศาสดา จึงถือเอาของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นเป็นอันมากไปยังพระวิหาร บูชาพระตถาคตถวายบังคมแล้วนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
พระศาสดาเมื่อจะทรงกระทำปฏิสันถารกับอำมาตย์นั้น จึงตรัสว่าเราตถาคตได้ยินว่า ราชทัณฑ์อันหาประโยชน์มิได้ เกิดขึ้นแก่ท่านหรือ?
อำมาตย์กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชทัณฑ์อันหาประโยชน์มิได้เกิดขึ้นแล้ว
แต่ข้าพระองค์ได้กระทำประโยชน์จากสิ่งที่หาประโยชน์มิได้นั้น ข้าพระองค์นั้นนั่งอยู่ในเรือนจำแล้วทำโสดาปัตติผลให้เกิดขึ้นแล้ว.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อน..อุบาสก มิใช่ท่านเท่านั้น ที่นำเอาประโยชน์มาจากสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย
ก็นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์มาจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเหมือนกัน อันอำมาตย์นั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้
:-
เนื้อความของชาดก
.....ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี
พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตนั้น พอเจริญวัยก็เล่าเรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกศิลา
เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ดำรงอยู่ในราชสมบัติ มิได้ทรงยังทศพิธราชธรรมให้กำเริบ ครองราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ บำเพ็ญทาน รักษาศีล ๕
รักษาอุโบสถกรรม
ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้หนึ่งของพระองค์ก่อการประทุษร้ายขึ้นภายในพระราชวัง. ข้าราชบริพารที่เป็นบาทบริจาริกาเป็นต้น จึงกราบทูลแก่พระราชาว่า
อำมาตย์ผู้โน้นก่อประทุษร้ายในภายในพระราชวัง พระราชาทรงสืบสวนแล้วทรงทราบได้ตามสภาพ จึงรับสั่งให้พาอำมาตย์นั้นมาเฝ้าแล้วตรัสว่า
จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้มาอุปัฏฐากเราเลย แล้วทรงถอดยศเสีย. อำมาตย์นั้นไปอุปัฏฐากพระเจ้าสามันตราชองค์อื่น
(เรื่องทั้งปวงได้กล่าวไว้ในมหาสีลวชาดกในหนหลังนั่นแหละ)
แม้ในชาดกนี้ พระราชานั้นทรงทดลองถึง ๓ ครั้ง จึงเชื่อคำของอำมาตย์นั้น ทรงดำริว่าจักยึดราชสมบัติในเมืองพาราณสี
จึงพร้อมด้วยบริวารอันใหญ่หลวงประชิดราชอาณาเขตของพระเจ้าพาราณสี.
นายทหารผู้ใหญ่ของพระเจ้าพาราณสีประมาณ ๗๐๐ นาย รู้ประพฤติเหตุนั้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ
ได้ยินว่าพระราชาองค์โน้นคิดว่าจักยึดราชสมบัติในเมืองพาราณสี จึงตีชนบทเข้ามา พวกข้าพระองค์จักไปในชนบทนั้นนั่นแหละ แล้วจักจับพระราชาองค์โน้นมา.
พระเจ้าพาราณสีตรัสว่า เราไม่มีการกระทำกรรมด้วยราชสมบัติที่ได้ด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น พวกท่านอย่ากระทำอะไรๆ เขา.
พระราชาโจรเสด็จมาล้อมพระนครไว้.
อำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระราชาอีกทราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าทรงกระทำอย่างนี้ พวกข้าพระองค์จะจับพระราชาโจรนั้น.
พระราชาตรัสว่า อย่าได้กระทำอะไรๆ พวกท่านจงเปิดประตูเมืองทุกประตู พระองค์เองทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ประทับนั่งบนบัลลังก์ในท้องพระโรง.
พระราชาโจรโบยตีพวกมนุษย์ที่ประตูทั้ง ๔ เข้าเมืองได้แล้วขึ้นยังปราสาทให้จับพระราชาผู้แวดล้อมด้วยอำมาตย์ ๑๐๐ คน
จองจำด้วยโซ่ตรวนทั้งหลายแล้วให้ขังไว้ในเรือนจำ.
พระราชาประทับนั่งในเรือนจำนั่นแล ทรงแผ่เมตตาไปยังพระราชาโจร ทรงยังฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น.
ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของพระเจ้าพาราณสีนั้น ความเร่าร้อนจึงเกิดขึ้นในกายของพระราชาโจร. พระสรีระกายทั้งสิ้นของพระราชาโจรนั้น
เป็นประหนึ่งถูกคบเพลิงในยมโลกลวกลน. พระราชาโจรนั้นถูกมหันตทุกข์ครอบงำจึงตรัสถามว่า มีเหตุอะไรหนอ.
อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า พระองค์ให้จำขังพระราชาผู้มีศีลไว้ในเรือนจำ ด้วยเหตุนั้น ทุกข์อันนี้จักเกิดขึ้นแก่พระองค์.
ราชาโจรนั้นจึงเสด็จไปขอขมาพระโพธิสัตว์ ตรัสว่าราชสมบัติของพระองค์ จงเป็นของพระองค์เถิด แล้วทรงมอบราชสมบัติแก่พระเจ้าพาราณสีนั้นแล
แล้วทูลว่าตั้งแต่นี้ไปข้าศึกของพระองค์จงเป็นภาระของหม่อมฉัน ให้ลงอาญาแก่อำมาตย์ผู้ประทุษร้ายแล้วเสด็จไปยังพระนครของพระองค์เอง
พุทธภาษิตจากชาดก
พระโพธิสัตว์ประทับนั่งบนบัลลังก์ซึ่งยกเศวตรฉัตรขึ้นแล้วในท้องพระโรงอันอลงกต เมื่อจะทรงปราศัยกับหมู่อำมาตย์ที่นั่งห้อมล้อมอยู่ จึงได้ตรัสคาถา ๒
คาถาแรกว่า :-
ผู้ใดคบหากับบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนอันประเสริฐด้วย เราสมานไมตรีกับพระยาโจรคนเดียว
ก็ปลดเปลื้องท่านทั้งหลายผู้ต้องโทษได้ทั้งร้อยคน
เพราะฉะนั้น บุคคลคนเดียวสมานไมตรีกับโลกทั้งมวล สิ้นชีพแล้วก็พึงเข้าถึงสวรรค์ ท่านชาวกาสิกรัฐทั้งหลาย จงฟังคำของเรานี้เถิด
พระมหาสัตว์พรรณนาคุณของภาวนา อันประกอบด้วยเมตตาแก่มหาชนอย่างนี้ แล้วทรงสละเศวตรฉัตรในพระนครพาราณสี อันกว้างใหญ่ถึง ๑๒ โยชน์
แล้วเสด็จเข้าป่าหิมพานต์บวชเป็นฤๅษี ครั้นบวชแล้วก็ยังฌานให้เกิดขึ้น เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมจึงได้เกิดขึ้นในพรหมโลก
พระศาสดาทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว ทรงตรัสพระคาถาที่ ๓ ว่า พระเจ้ากังสมหาราชครอบครองราชสมบัติเมืองพาราณสี
ได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว ก็ทรงสละทิ้งธนูและลูกศรเสีย เข้าถึงความสำรวมในศีล คือบวช ก็แหละครั้นบวชแล้วก็ยังฌานให้เกิดขึ้น เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อม
จึงได้เกิดขึ้นในพรหมโลก
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาผู้เป็นโจรในครั้งนั้น ได้เป็น "พระอานนท์" ในบัดนี้
ส่วนพระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.