ตามรอยพระพุทธบาท

นิทานชาดก (เรื่องที่ 32) นันทิวิสาลชาดก - ชาดกว่าด้วย "การใช้วาจาไพเราะ"
webmaster - 20/9/10 at 08:01

...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง

ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 32 มีชื่อว่า "นันทิวิสาลชาดก" (อ่าน..นันทิวิสาละชาดก) เป็นเรื่องของการกล่าววาจา โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "พญาโคโพธิสัตว์" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

.....This story is a fable about "Buddha" While still a Bodhisat. He has to perform the prestige of each nation. Is a true story that occurred. Then spoke told these deeds. Which in many Tripitaka on. At this will be cartoon chapters No.32 called "Nanthi-wisal Jataka" The come into the Buddha "Cow Paya"

นันทิวิสาลชาดก : ชาดกว่าด้วย "การใช้วาจาไพเราะ"



มูลเหตุที่ตรัสชาดก

......ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีภิกษุ ๖ รูป เรียกว่า "พระฉัพพัคคีย์" เป็นผู้ที่ไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรม ชอบก่อกวน กลั่นแกล้ง หาเรื่องทะเลาะวิวาท พูดจาข่มขู่ เสียดสีภิกษุอื่นๆ อยู่เสมอ

จนกระทั่งความทราบถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงกล่าวตำหนิโทษพระฉัพพัคคีย์ แล้วตรัสให้โอวาทว่า

“ผู้กล่าววาจาหยาบคาย ย่อมนำความฉิบหายมาให้ตนเอง เพราะเขาย่อมไม่เป็นที่พอใจของใครๆ แม้แต่สัตว์เดียรัจฉานก็ตาม” แล้วพระพุทธองค์ทรงนำ นันทิวิสาลชาดก มาตรัสเล่าเป็นอุทาหรณ์ ดังนี้....


เนื้อความของชาดก

......กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยของพระเจ้าคันธาระ ครองเมืองตักกศิลา แคว้นคันธาระ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคนามว่า นันทิวิสาล

เป็นโคมีรูปร่างสวยงาม มีพละกำลังมาก มีพราหมณ์คนหนึ่งได้เลี้ยงและรักโคนั้นเหมือนลูกชาย โคนั้นคิดจะตอบแทนบุญคุณการเลี้ยงดูของพราหมณ์ในวันหนึ่ง ได้พูดกะพราหมณ์ว่า

"พ่อ...จงไปท้าพนันกับโควินทกเศรษฐีว่า โคของเราสามารถลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่ม ที่ผูกติดกันให้เคลื่อนไหวได้ พนันด้วยเงินหนึ่งพันกหาปณะเถิด"

พราหมณ์ได้ไปที่บ้านเศรษฐีและตกลงกันตามนั้น นัดเดิมพันกันในวันรุ่งขึ้น ในวันเดิมพัน พราหมณ์ได้เทียมโคนันทิวิสาลเข้าที่เกวียนเล่มแรก

เพื่อลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มผูกติดกันซึ่งบรรทุกทราย กรวดและหินเต็มลำ แล้วขึ้นไปนั่งบนเกวียน เงื้อปฏักขึ้นพร้อมกับตวาดว่า "ไอ้โคโกง โคโง่ เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้"

ฝ่ายโคนันทิวิสาลเมื่อได้ยินพราหมณ์พูดเช่นนั้น ก็คิดน้อยใจว่า
"พราหมณ์เรียกเราผู้ไม่โกง..ว่าโกง ผู้ไม่โง่..ว่าโง่..!"

จึงยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว โควินทกเศรษฐีจึงเรียกให้พราหมณ์นำเงินหนึ่งพันกหาปณะมาให้แล้วกลับบ้านไปฝ่ายพราหมณ์ผู้แพ้พนันเงินหนึ่งพันกหาปณะ ปลดโคแล้วก็เข้าไปนอนเศร้าโศกเสียใจอยู่ในบ้าน

ส่วนโคนันทิวิสาลเห็นพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจเช่นนั้น จึงเข้าไปปลอบและกล่าวว่า

"พ่อ...ฉันอยู่ในเรือนของท่านตลอดมา เคยทำภาชนะอะไรแตกไหม เคยเหยียบใครๆ เคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่อันไม่ควรหรือไม่ เพราะเหตุใด ท่านจึงเรียกเราว่า โคโกง โคโง่

ครั้งนี้เป็นความผิดของท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของฉัน บัดนี้ ขอให้ท่านไปเดิมพันกับโควินทกเศรษฐีใหม่ด้วยเงินสองพันกหาปณะ ขออย่างเดียว ท่านอย่าได้เรียกฉันว่า โคโกง โคโง่ ท่านจะได้ทรัพย์ตามที่ท่านปรารถนา ฉันจะไม่ทำให้ท่านเศร้าเสียใจ"

......พราหมณ์ได้ทำตามที่โคนันทิวิสาลบอก ในวันเดิมพัน พราหมณ์จึงพูดหวานว่า
"นันทิวิสาล...ลูกรัก เจ้าจงลากเกวียนทั้งร้อยเล่มนี้ไปเถิด !"

โคนันทวิสาลได้ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยการออกแรงลากเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้เกวียนเล่มสุดท้ายไปตั้งอยู่ที่เกวียนเล่มแรกอยู่

ทำให้พราหมณ์ชนะพนัน ด้วยเงินสองพันกหาปณะพระพุทธองค์เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้วตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า..คำหยาบ ไม่เป็นที่ชอบใจของใครๆ แม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉาน"

แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า
"บุคคลควรพูดแต่คำที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าพอใจในกาลใดๆ เมื่อพราหมณ์พูดคำที่น่าพอใจ

โคนันทิวิสาลได้ลากสัมภาระอันหนักได้ ทั้งยังทำให้หราหมณ์ผู้นั้นได้ทรัพย์อีกด้วย ส่วนตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย"


.....ครั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสชาดกจบลง แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔ โดยอเนกปริยายไปตามลำดับ แล้วทรงประชุมชาดกว่า

....." พราหมณ์ในครั้งนั้น ได้เสวยพระชาติเป็น "พระอานนท์" ส่วน "โคนันทิวิศาล" ได้มาเป็นพระองค์เอง"


ข้อคิดจากชาดก

.....๑. แม้คนที่กตัญญูรู้คุณ ตั้งใจจะทดแทนคุณ ยอมทำตามใจเราทุกอย่าง ก็ยิ่งมีสิ่งที่เขาทนไม่ได้คือ ถ้อยคำที่ไม่ไพเราะ คำพูดที่เสียดแทงใจ เพราะฉะนั้นไม่ว่ากาลไหนๆ ใครๆ ก็ไม่ควรพูดคำหยาบเลย
.....๒. การพูดด้วยคำพูดที่ดีพร้อมในทุกแง่ทุกมุม เป็นมงคลอย่างยิ่ง จัดอยู่ในมงคลชีวิต มงคลที่ ๑๐ มีวาจาสุภาษิต
.....๓. องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

(๑) พูดด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา มีเจตนาดี
(๒) พูดแต่คำจริง
(๓) พูดแต่คำสุภาพอ่อนน้อม
(๔) พูดแต่คำที่เป็นประโยชน์
(๕) พูดตามกาลอันสมควร รู้ว่าเมื่อไรควรพูด เมื่อไรควรนิ่ง



ที่มา - dhammathai.org, kalyanamitra.org