นิทานชาดก (เรื่องที่ 36) อารามทูสกชาดก - ชาดกว่าด้วย "ฝูงลิงกับนายอุทยาน"
webmaster - 15/11/10 at 15:09
...นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง
ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 36 มีชื่อว่า "อารามทูสกชาดก" (อ่าน..อารามะทูสะกะชาดก) เป็นเรื่องของการดีแต่สอนผู้อื่น
โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น "บัณฑิต" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
.....This story is a fable about "Buddha" While still a Bodhisat. He has to perform the prestige of each nation. Is a true story that occurred.
Then spoke told these deeds. Which in many Tripitaka on. At this will be cartoon chapters No.36 called "Aramtosaga Jataka" The come into the
Buddha "Good people"
อารามทูสกชาดก : ชาดกว่าด้วย "เหตุที่นายอุทยานจะถูกติ"
มูลเหตุที่ตรัสชาดก
.....สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เสด็จจาริกไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศล
คหบดีผู้หนึ่งได้นิมนต์พระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ ให้ประทับในสวนของตน แล้วถวายภัตตาหาร หลังจากภัตตาหารแล้ว พระภิกษุสงฆ์ได้เดินชมสวนอันร่มรื่นสวยงามนั้น
ขณะที่พระภิกษุทั้งหลายกำลังชมความงามของหมู่ไม้ในสวนอยู่นั้น ได้สังเกตเห็นบริเวณหนึ่งเป็นที่โล่งเตียน ไม่มีต้นไม้ขึ้นเลย จึงถามคนสวนว่า
อุบาสก สวนนี้มีต้นไม้ขึ้นเชียวชอุ่ม ร่มรื่น เย็นสบายดีจริงๆ แต่ทำไมบริเวณตรงนี้ จึงไม่มีต้นไม้ขึ้นเลยสักต้นล่ะ
คนสวนจึงตอบว่า เมื่อเริ่มปลูกต้นไม้ในสวนนี้ เด็กทำสวนคนหนึ่ง ได้ถอนต้นไม้ที่เพิ่งปลูกขึ้นมาดูความยาวของรากก่อนจะรดน้ำ ต้นไม้จึงตายหมด
ที่ตรงนั้นจงโล่งเตียนไปอย่างที่พระคุณเจ้าเห็น ขอรับ
หลังจากชมสวนแล้ว พระภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระบรมศาสดาทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสนุสติญาณ
แล้วตรัสว่า
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เด็กคนนั้นไม่ได้เป็นคนทำลายสวนแต่ชาตินี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อนก็เคยทำลายสวนมาแล้วเหมือนกัน ตรัสแล้วพระพุทธองค์ทรงนำ
อารามทูสกชาดก มาตรัสเล่าดังนี้
เนื้อความของชาดก
......ในอดีตกาล
ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติกรุงพาราณสี มีนายอุทยานคนหนึ่ง เป็นผู้ดูแลพระราชอุทยานของพระเจ้าพรหมทัต
วันหนึ่ง มีงานนักขัตฤกษ์ในเมือง ชาวเมืองทั้งหลายต่างพากันไปเที่ยวเล่นกันอย่างสนุกสนาน นายอุทยานอยากออกไปเที่ยวสนุกเช่นคนอื่นๆ บ้าง แต่ก็เป็นห่วงว่า
ต้นไม้ในพระราชอุทยานที่เพิ่งปลูกจะขาดน้ำ เนื่องจากเป็นฤดูแล้ง ถ้าตนจะออกไปเที่ยวเสียก็จะไม่มีใครรดน้ำต้นไม้
แต่แล้วนายอุทยานก็นึกถึงฝูงลิง ที่อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน หวังจะให้ฝูงลิงช่วยรดน้ำต้นไม้แทนตน จึงเดินไปหาลิงที่เป็นจ่าฝูงแล้วกล่าวว่า
นี่แนะ เพื่อน เราเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาไม่น้อย อุทยานนี้เป็นที่อยู่ที่กินของเพื่อน เพื่อนคงอยากให้อทุยานนี้ สวยงามอุดมสมบูรณ์ตลอดไปใช่ไหม ?
ใช่ซิท่าน ถ้าไม่มีอุทยานนี้ พวกฉันคงลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านคอยดูแลเอาใจใส่ บำรุงรักษาต้นไม้ ให้ออกดอกออกผลตามฤดูกาล
นับว่าท่านมีพระคุณต่อพวกฉันจริงๆ ลิงจ่าฝูงตอบ
แหม.. เราดีใจที่เพื่อนพูดอย่างนี้ แต่นี่แน่ะ
เพื่อน สองสามวันนี้ ในเมืองมีงานนักขัตฤกษ์ ฉันอยากจะไปเที่ยวจริงๆ แต่ก็เป็นห่วงว่า
จะไม่มีใครรดน้ำต้นไม้ที่เพิ่งปลูกไว้
ไม่ทราบว่า
ถ้าฉันจะฝากเพื่อนช่วยดูแลรดน้ำให้ จะเป็นการรบกวนเกินไปหรือเปล่า ? นายอุทยานถามทันที
โธ่....ไม่รบกวนอะไรหรอก เชิญท่านไปเที่ยวให้สบายใจเถิด พวกฉันจะเอาใจใส่ ดูแลรดน้ำให้ อย่างดีทีเดียว ลิงจ่าฝูงรับปาก
นายอุทยานจึงนำกระออมจำนวนมากมาวางไว้ให้ แล้วตนเองจึงออกไปเที่ยว เมื่อนายอุทยานไปแล้ว พวกลิงทั้งหลายจึงฉวยกระออมเตรียมตักน้ำจะรดต้นไม้
ขณะนั้นเอง ลิงจ่าฝูงเกิดความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่ง จึงรีบกล่าวแก่บริวารว่า
เดี๋ยว หยุดก่อน หยุด หยุด อย่าเพิ่งรีบตัก ทำอย่างนั้นมันเปลืองน้ำ เราควรจะถอนต้นไม้มาดูรากเสียก่อนว่า รากยาวหรือรากสั้น ถ้ารากยาว เราก็มากหน่อย
ถ้ารากสั้น เราก็รดน้อยหน่อย อย่างนี้จะได้ไม่เปลืองน้ำ เพราะน้ำหายากอยู่ หมู่นี้ฝนยิ่งไม่ค่อยตกอยู่ด้วย
ลิงบริวารทั้งหลาย ต่างเห็นดีเห็นงามตามจ่าฝูง จึงช่วยกันถอนต้นไม้มาดูรากแล้วจึงรดน้ำ
ขณะนั้น บัณฑิตผู้หนึ่งเดินผ่านมา เห็นพวกลิงถอนต้นไม้ขึ้นมารดน้ำ จึงสอบถามลิง เมื่อทราบเรื่องแล้ว ก็ไม่แต่รำพึงว่า
โธ่เอ๋ย... เจ้าลิงโง่ คิดจะทำประโยชน์ แต่กลับทำเสียหาย
จากนั้น จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
..... การประพฤติประโยชน์ โดยผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์ มิอาจนำความสุขมาให้เลย ผู้มีปัญญาทราม ย่อมทำประโยชน์ให้เสียเหมือนลิงที่ทำสวน ฉะนั้น
.......พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
ลิงจ่าฝูง ได้มาเป็น เด็กคนทำสวน
บัณฑิตที่ผ่านมา คือ พระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
๑ . ผู้ที่ไม่ฉลาดในประโยชน์ แม้คิดว่าจะทำประโยชน์ ก็มักจะเป็นการทำให้เสียประโยชน์แทน คนเช่นนี้ มักไม่คิดถึงผลได้ผลเสีย มักจะเสนอโครงการอะไรต่ออะไร
ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปแล้วแทนที่จะเกิดผลดี กลับเป็นผลเสีย เช่นเสนอให้คนพกอาวุธได้ โดยอ้างว่า เพื่อไว้ใช้ป้องกันตัว
แต่เมื่อคนเราต่างมีอาวุธไว้ในครอบครองก็มักฮึกเหิม ใช้อาวุธทำร้ายกันเอง ตัดสินกันด้วยอารมณ์ และอาวุธแทนที่จะใช้ปัญญาระงับปัญหา
หรือเสนอให้ตั้งสถานเริงรมย์ แหล่งอบายมุข เพื่อดึงดูดเงินตราเข้าประเทศ ข้อเสนอนี้ ดูเผินๆ แล้วอาจเห็นว่าดี เพราะจะได้เงินตราจากต่างประเทศ
แต่ถ้ามองให้ลึกๆ แล้ว กลับเป็นการทำให้คนเกียจคร้าน เป็นแหล่งเพาะนักเลงการพนัน นักเลงสุรา นักเลงผู้หญิง ฯลฯ ประเทศชาติก็เหมือนตกอยู่ในความมืดมน
๒ . ผู้ใดที่ลูกน้องที่ไม่ฉลาด หากจะมอบหมายงานให้ทำควรกำหนดตารางงานให้ อย่าปล่อยให้ตัดสินใจวางแผนเอง เพราะหากเกิดผิดพลาด กลายเป็นผลเสียหาย
ยากแก่การแก้ไข
๓ . ผู้นำที่ฉลาดแต่มีลูกน้องโง่ แสดงว่า ในอดีตชาติ แม้ตนจะไม่ดื่มสุรา ไม่เสพยาเสพติด แต่ก็มีส่วนสนับสนุนผู้อื่นบ้าง ฉะนั้น ผู้นำที่ดี
จึงควรฝึกลูกน้องให้มีสติอยู่เสมอ ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งมึนเมา และอบายมุขทั้งปวง จะได้เกิดเป็นคนฉลาด
ที่มา - kalyanamitra.org