นิทานชาดก (เรื่องที่ 50) วาตมิคชาดก - ชาดกว่าด้วย "อำนาจของรส"
webmaster - 14/5/11 at 16:22
.....นิทานชาดกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ "พระพุทธเจ้า" ขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญพระบารมีมาในแต่ละชาติ
จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แล้วได้ตรัสเล่าบุพกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกมากมายหลายเรื่อง
ในตอนนี้ จะขอนำการ์ตูนเรื่องที่ 50 มีชื่อว่า "วาตมิคชาดก" (อ่าน..วาตะมิคะชาดก) เป็นเรื่องของ "อำนาจของรส" โดยพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น
"พระเจ้าพาราณสี" จึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
.....This story is a fable about "Buddha" While still a Bodhisat. He has to perform the prestige of each nation. Is a true story that occurred.
Then spoke told these deeds. Which in many Tripitaka on. At this will be cartoon chapters No.50 called "Vatamiga Jataka" The come into the
Buddha "King Varanasi"
วาตมิคชาดก : ชาดกว่าด้วย "อำนาจของรส"
มูลเหตุที่ตรัสชาดก
... พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระ
จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ว่า
....ได้ยินว่า เมื่อพระศาสดาทรงอาศัยพระนครราชคฤห์ ประทับอยู่ใน พระวิหารเวฬุวัน
วันหนึ่ง บุตรของตระกูลเศรษฐีผู้มีทรัพย์มากชื่อว่า ติสสกุมาร ไปพระวิหารเวฬุวัน ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วประสงค์จะบวช จึงทูลขอบรรพชา
แต่บิดามารดายังไม่อนุญาต จึงถูกปฏิเสธ ได้กระทำการอดอาหาร ๗ วัน แล้วให้บิดามารดาอนุญาตเหมือนกับที่พระรัฐบาลเถระได้กระทำ
ติสสกุมารจึงได้บวชในสำนักของพระศาสดา
ครั้นเมื่อพระศาสดาทรงให้กุมารนั้นบวชแล้ว ประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวันประมาณกึ่งเดือน จึงได้เสด็จไปพระวิหารเชตวัน
ในพระเชตวันนั้น กุลบุตรนี้สมาทานธุดงค์ ๑๓ เที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับตรอกในนครสาวัตถี ยังกาลเวลาให้ล่วงไป ใคร ๆ เรียกว่า พระจูฬบิณฑปาติกติสสเถระ
ได้เป็นผู้ปรากฏรู้กันทั่วไปในพระพุทธศาสนา เหมือนพระจันทร์เพ็ญในพื้นท้องฟ้าฉะนั้น.
ในกาลนั้น เมื่อกาลเล่นนักขัตฤกษ์ยังดำเนินไปในนครราชคฤห์ บิดามารดาของพระเถระเก็บสิ่งของอันเป็นเครื่องประดับ
อันมีอยู่ในครั้งพระเถระเป็นคฤหัสถ์ไว้ในผอบเงิน เอามาวางไว้ที่อกร้องไห้พลางพูดว่า
ในการเล่นนักขัตฤกษ์อื่น ๆ บุตรของพวกเรานี้ประดับด้วยเครื่องประดับนี้เล่นนักขัตฤกษ์ พระสมณโคดมพาเอาบุตรน้อยนั้นของพวกเราไปยังพระนครสาวัตถี บัดนี้
บุตรน้อยของเราทั้งหลายนั้น นั่งที่ไหนหนอ ยืนที่ไหนหนอ
ลำดับนั้น นางวัณณทาสีคนหนึ่งไปยังตระกูลนั้น เห็นภรรยาของเศรษฐีกำลังร้องไห้อยู่ จึง ถามว่า แม่เจ้า ท่านร้องไห้ทำไม ?
ภรรยาของเศรษฐีนั้นจึงบอกเนื้อความนั้น นางวัณณทาสีกล่าวว่า แม่เจ้า ก็พระลูกเจ้ารักอะไร ? ภรรยาเศรษฐี กล่าวว่า รักของสิ่งโน้นและสิ่งโน้น
นางวัณณทาสีกล่าวว่า ถ้าท่านจะให้ ความเป็นใหญ่ทั้งหมดในเรือนนี้แก่ดิฉันไซร้ ดิฉันจักนำบุตรของท่านมา ภรรยาท่านเศรษฐีรับคำว่า ได้
แล้วส่งนางวัณณทาสีนั้นไปพร้อมกับบริวารเป็นอันมากโดยพูดว่า
ท่านจงไปนำบุตรของเรามา ด้วยความสามารถของตน นางวัณณทาสีนั้นนั่งในยานน้อยอันปกปิด ไปยังนครสาวัตถี แล้วหาที่อาศัยที่ใกล้ถนนที่พระเถระเที่ยวภิกขาจาร
ไม่ให้พระเถระเห็นพวกคนที่มาจากตระกูลเศรษฐี อยู่โดยมีบริวารของตนแวดล้อมด้วยเท่านั้น
เมื่อพระเถระเข้าไปบิณฑบาต ได้ถวายยาคูหนึ่งกระบวยและภิกษาอันมีรสที่พระเถระเคยชอบ เพื่อให้ผูกพันด้วยความอยากในรสไว้แต่เบื้องต้น
แล้วให้นั่งในเรือนถวายภิกษาโดยลำดับ รู้ว่าพระเถระตกอยู่ในอำนาจของตน จึงแสดงการว่าเป็นไข้นอนอยู่ภายในห้อง
ฝ่ายพระเถระเที่ยวไปตามลำดับตรอก ในเวลาภิกขาจาร ได้ไปถึงประตูเรือน ชนที่เป็นบริวารรับบาตรของพระเถระแล้วนิมนต์พระเถระให้นั่งในเรือน
พระเถระนั่งแล้วถามว่า อุบาสิกาไปไหน ?
ชนบริวารกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ อุบาสิกาเป็นไข้ปรารถนาจะเห็นท่าน พระเถระถูกตัณหาในรส ได้ทำลายการสมาทานวัตรของตน โดยเข้าไปยังที่ที่นางวัณณทาสีนั้นนอนอยู่
นางวัณณทาสีรู้เหตุแห่งการมาเพื่อตน จึงประเล้าประโลมพระเถระนั้น ผูกด้วยตัณหาในรส ให้สึกแล้วให้ตั้งอยู่ในอำนาจของตน ให้นั่งในยาน
ได้ไปยังนครราชคฤห์นั่นเอง ด้วยบริวารใหญ่ ข่าวนั้น ได้ปรากฏแล้ว.
ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในโรงธรรมสภา สนทนากันขึ้นว่า ได้ยิน ว่า นางวัณณทาสีคนหนึ่ง ผูกพระจูฬบิณฑปาติกาติสสเถระด้วยตัณหาในรส แล้วพาไปแล้ว
พระศาสดาเสด็จเข้าไปยังโรงธรรมสภา ประทับบนอาสนะที่เขาตกแต่งไว้ แล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?
ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเรื่องราวนั้น
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ติดในรสตัณหา ตกอยู่ในอำนาจของนางวัณณทาสีนั้น ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้
แม้ในกาลก่อนก็ตกอยู่ในอำนาจของนางเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาแสดงว่า...
เนื้อความของชาดก
....ในอดีตกาล ในพระนครพาราณสี ได้มีคนเฝ้าอุทยานของพระเจ้าพรหมทัต ชื่อว่า "สัญชัย"
ครั้งนั้น เนื้อสมันตัวหนึ่งมายังอุทยานนั้น เห็นคนเฝ้าอุทยานจึงหนีไป ฝ่ายนายสัญชัยมิได้ขู่คุกคามเนื้อสมันนั้นให้ออกไป
เนื้อสมันนั้นจึงมาเที่ยวในอุทยานนั้นนั่นแลบ่อย ๆ
คนเฝ้าอุทยานนำเอาดอกไม้และผลไม้มีประการต่าง ๆ มาจากอุทยานแต่เช้าตรู่ นำไปถวายพระราชาทุกวัน ๆ ครั้นวันหนึ่ง พระราชาตรัสถามคนเฝ้าอุทยานนั้น ว่า
ดูก่อน สหายสัญชัย เธอเห็นความแปลกอะไร ๆ ในอุทยานบ้างไหม ?
คนเฝ้าอุทยานกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระบาทไม่เห็นสิ่งอื่น แต่ว่ามีเนื้อสมันตัวหนึ่งมาเที่ยวอยู่ในอุทยาน ข้าพระบาทได้เห็นสิ่งนี้
พระราชาตรัส ถามว่า ก็เธอจักอาจจับมันไหม ?
คนเฝ้าอุทยานกราบทูลว่า ข้าพระบาท ถ้าได้น้ำผึ้งหน่อยหนึ่งก็จักอาจนำเนื้อสมันนี้มายังภายในพระราชนิเวศน์ พระเจ้าข้า
พระราชาได้ให้น้ำผึ้งแก่คนเฝ้าอุทยานนั้น คนเฝ้าอุทยานนั้นรับน้ำผึ้งนั้นแล้วไปยังอุทยาน แอบเอาน้ำผึ้งทาหญ้าทั้งหลายในที่ที่เนื้อสมันเที่ยวไป
เนื้อสมันมากินหญ้าที่ทาด้วยน้ำผึ้ง ติดในรสตัณหา ไม่ไปที่อื่น มาเฉพาะอุทยานเท่านั้น คนเฝ้าอุทยานรู้ว่าเนื้อสมันนั้นติดหญ้าที่ทาด้วยน้ำผึ้ง
จึงแสดงตนให้เห็นโดยลำดับ
เนื้อสมันนั้นครั้นเห็นคนเฝ้าอุทยานนั้น ๒ ๓ วันแรกก็หนีไป แต่พอเห็นเข้าบ่อย ๆ จึงคุ้นเคย ถึงกับกินหญ้าที่อยู่ใน มือของคนเฝ้าอุทยานได้โดยลำดับ
คนเฝ้าอุทยานรู้ว่าเนื้อสมันนั้นคุ้นเคยแล้ว จึงเอาเสื่อลำแพนล้อมถนนจนถึงพระราชนิเวศน์ แล้วเอากิ่งไม้หักปักไว้ในที่ นั้น ๆ สพายน้ำเต้าบรรจุน้ำผึ้ง
หนีบกำหญ้า แล้วโปรยหญ้าที่ทาด้วยน้ำผึ้ง ลงข้างหน้าเนื้อ ได้ไปยังภายในพระราชนิเวศน์ทีเดียว
เมื่อเนื้อเข้าไปภายในแล้ว คนทั้งหลายจึงปิดประตู เนื้อเห็นมนุษย์ทั้งหลายก็ตัวสั่นกลัวแต่มรณภัย วิ่งมาวิ่งไป ณ พระลานในภายในพระราชนิเวศน์
พระราชาเสด็จลงจากปราสาท ทอดพระเนตรเห็นเนื้อนั้นตัวสั่น จึงตรัสว่า
ธรรมดาเนื้อย่อมไม่ไปยังที่ที่คนเห็น ย่อมไม่ไปยังที่ที่ถูกคุกคามตลอดชีวิต เนื้อสมันผู้อาศัยป่าชัฏเช่นนี้ ถูกผูกด้วยความอยากในรส มาสู่ที่นี้
ในบัดนี้ ผู้เจริญทั้งหลาย ชื่อว่าสิ่งที่ลามกกว่าความอยากในรส ย่อมไม่มีในโลกหนอ
พระโพธิสัตว์ ตรัสโทษแห่งตัณหาในรส ด้วยประการดังนี้ ครั้นตรัสแล้ว จึงทรงให้ส่งเนื้อนั้นไปยังป่านั่นเอง.
ประชุมชาดก
พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นางวัณณทาสีนั้น ผูกภิกษุนั้นด้วยตัณหาในรส กระทำไว้ในอำนาจของตนในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน
ก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า นายสัญชัยในครั้งนั้น ได้เป็นนางวัณณทาสีคนนี้ เนื้อสมันในครั้งนั้น ได้เป็นพระจูฬบิณฑปาติกภิกษุ
ส่วนพระเจ้าพาราณสีได้เป็นเราแล.
ที่มา - dharma-gateway.com
ข้อคิดจากชาดก
ผู้ใดเห็นแก่กิน เห็นแก่ลิ้น ติดอยู่ในรส ย่อมนำพาให้ตนเองเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนในภายหลังได้