ข่าว...มดคันไฟสายพันธ์ใหม่ "อิวิคต้า" พิษร้ายกัดถึงตาย..!
webmaster - 14/8/09 at 09:49
มดคันไฟสายพันธุ์ใหม่
รายงานโดย :การ์ฟิลด์: วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552
......เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
มีความแตกตื่นในเรื่องราวของมดคันไฟสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังเป็นที่เกรงกลัวกันว่า
อีกไม่นานมดคันไฟสายพันธุ์ที่ว่านี้คงเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นแน่!
ทำไมใครๆ ก็ล้วนตื่นตระหนกแล้วก็กลัวเจ้ามดชนิดนี้กัน ความพิเศษและความร้ายกาจของแมลงชนิดนี้อยู่ตรงไหน วันนี้เราจะมาค้นหาคำตอบกัน
มดคันไฟที่รู้จักกันในชื่อว่า อินวิคตา (Invicta) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Red imported Fire Ant หรือ RIFA ชื่อวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า Solenopsis Invicta
จัดเป็นแมลงที่อยู่ในอันดับ Hymenoptera โดยจัดอยู่ในสกุลของมด ที่มีชื่อเรียกว่า สกุล Formicidae ถิ่นกำเนิดของมดคันไฟชนิดนี้อยู่ไกลจากประเทศไทยมากมายนัก
โดยมีถิ่นกำเนิดไกลถึงแถบทวีปอเมริกาใต้
สำหรับรูปร่างลักษณะของมดคันไฟอินวิคตา แทบไม่มีความแตกต่างกับมดคันไฟที่เราเคยเห็นอยู่เลย ต้องอาศัยการสังเกตจดจำเป็นพิเศษจึงจะสามารถพบเห็นความแตกต่างได้
โดยจะพบว่าผิวของลำตัวมดคันไฟสายพันธุ์ใหม่นี้จะมีลักษณะเรียบ และสีสันก็จะสดใสกว่า
ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องยากเหลือเกินในการแยกแยะความแตกต่างของมดทั้งสองชนิด
เมื่อไม่นานมานี้ประมาณปี ค.ศ. 1930 มดคันไฟสายพันธุ์ใหม่มีการแพร่กระจายไปสู่เมืองอื่นๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยการขนส่งสินค้าทางการเกษตรโดยติดมากับทางเรือขนส่งสินค้า และในอีกไม่กี่ปีต่อมาการแพร่กระจายของเจ้ามดคันไฟก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
แต่คราวนี้มันแพร่กระจายข้ามไปยังทวีปอื่นๆ ด้วย
ในปี ค.ศ. 2001 ประเทศออสเตรเลียก็ได้รู้จักกับมดคันไฟสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ในที่สุด แต่เชื่อหรือไม่ว่าประเทศรอบข้างของเราในทวีปเอเชียไม่ว่าจะเป็น
ประเทศจีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มดอินวิคตาก็ได้แพร่กระจายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกแล้วเช่นเดียวกัน
เริ่มสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่า ทำไมมดชนิดนี้ถึงได้สามารถอาศัยอยู่ได้ในทุกๆ ทวีป ทั้งในเขตร้อนและเขตหนาว ในระยะเวลาอันรวดเร็วถึงเพียงนี้ คำตอบก็คือ
เจ้ามดอินวิคตามีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งหรือพื้นที่ที่มักมีน้ำท่วมน้ำขังบ่อย
เจ้ามดชนิดนี้ก็สามารถปกป้องรัง และนางพญามดของมันเอาไว้ได้
อีกทั้งประชากรมดไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนๆ ก็มีความสามารถในการจัดการรังและเพิ่มจำนวนประชากรอยู่แล้ว
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าโอกาสที่มดคันไฟสายพันธุ์ใหม่นี้จะเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นช่างง่ายดายเหลือเกิน
แค่เพียงชื่อว่า มดคันไฟ ก็ดูจะไม่มีความน่าเกรงกลัวอะไรสักเท่าไร อันที่จริงแล้วประเทศไทยของเราก็มีมดคันไฟ มดแดง มดดำ มดตะนอย
ที่สร้างความวุ่นวายและบางชนิดก็กัดเจ็บ หรือต่อยแล้วปล่อยเหล็กในอยู่แล้วด้วย แล้วความแตกต่างของเจ้ามดตัวนี้จะสร้างความน่าตื่นตกใจอะไรกันนักเชียว!
ลองมาดูความไม่ธรรมดาของมดคันไฟสายพันธุ์ใหม่กันบ้าง...
......นอกจากความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดีแล้ว
รู้หรือเปล่าว่ามดชนิดนี้มีการสร้างรังโดยใช้มูลดินความสูงประมาณ 45-60 เซนติเมตร ภายในรังมีประชากรมดมากมายนับแสนตัว ซึ่งมากกว่ารังมดคันไฟธรรมดาหลายเท่า
โดยพื้นที่โปรดปรานที่มักทำรังอยู่อาศัยก็คือ พื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตร บริเวณที่มีแหล่งน้ำ ดังนั้นจึงสร้างความเสียหายให้กับระบบรากพืชที่อยู่ใต้ดิน
และเป็นอันตรายต่อบรรดาสิ่งมีชีวิตในแปลงปลูก รวมทั้งมนุษย์เราเป็นอย่างมาก
หากถูกมดคันไฟสายพันธุ์ใหม่นี้กัดต่อยเข้าละก็ แย่แน่ๆ... เหล็กในของมันมีพิษรุนแรง ทำให้เกิดอาการไหม้และคันบริเวณผิวหนัง
ต่อมาจะมีลักษณะเป็นตุ่มพองกลายเป็นหนองสีขาว เกิดอาการผิวหนังอักเสบส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตาย แต่ที่แย่ไปกว่านั้นหากคนที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงละก็
อาจถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้ ซึ่งนั่นเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เรา แล้วทีนี้ถ้าหากสัตว์สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ
ในแปลกปลูกที่มีขนาดตัวเล็กถูกมดชนิดนี้กัดต่อยเกิดอะไรขึ้น? สัตว์เหล่านั้นก็คงจะทนพิษร้ายของเหล็กในไม่ไหว และเสียชีวิตในที่สุดนั่นเอง
แม้ว่ามดคันไฟชนิดนี้จะมีพิษร้ายกาจ และน่าเกรงกลัวกว่ามดตัวไหนๆ ที่เราเคยรู้จักก็ตาม แต่ประโยชน์ของมันก็มีเช่นเดียวกัน
แม้ประโยชน์ที่ได้รับจะเป็นผลพลอยได้ก็ตาม จากความดุร้ายและพิษจากเหล็กในของมดชนิดนี้ ทำให้มันเป็นนักล่า (Predator)
เป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์เหลือเกิน ในการนำมาใช้ในการควบคุมจัดการกับแมลงศัตรูพืช ทั้งหนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกออ้อย มวนเขียวข้าว
หรือแม้กระทั่งเพลี้ยอ่อน แต่ความสามารถของนักล่าชนิดนี้ก็อาจไม่จำเพาะเจาะจงกับแมลงศัตรูพืชเท่านั้น
แมลงที่มีประโยชน์ในแปลงปลูกพืชก็ถูกมดคันไฟสายพันธุ์ใหม่กำจัดไปด้วยเช่นเดียวกัน
แต่ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจกันไปใหญ่ มดคันไฟอินวิคตาในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกควบคุมและป้องกันกำจัดได้อย่างไม่ยากเย็นนักโดยการใช้วิธีการ Biological Control
นั่นก็คือ การใช้สิ่งมีชีวิตในการคุมสิ่งมีชีวิต โดยการใช้สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วมากมายหลายชนิด เช่น การใช้ Pseudacteon Tricuspis และ Pseudacteon Curvatus
ซึ่งเป็นกลุ่มแมลงตัวเบียนเข้าไปทำลายตัวอ่อนของมดคันไฟ หรือแม้แต่การใช้ไวรัส SINV-1 ในการควบคุมกำจัด
ซึ่งจะส่งผลให้ในระยะยาวในการลดปริมาณประชากรมดคันไฟสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังระบาดและสร้างความเสียหายในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในปัจจุบัน
ในที่สุด มดคันไฟอินวิคตาก็ไม่ได้เป็นมดคันไฟที่น่ากลัว และร้ายแรงอย่างที่คาดคิด เพียงแต่ต้องรู้จักระมัดระวัง และสังเกตมดในบริเวณพื้นที่แปลงปลูก
และพื้นที่ใกล้เคียงอยู่เสมอๆ อย่างน้อยข่าวดีในตอนนี้นั่นก็คือ เจ้ามดคันไฟสายพันธุ์ใหม่ ก็ยังไม่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในผืนดินไทยของเราเสียหน่อย..!
www.posttoday.com/lifestyle.php
......มดคันไฟตัวใหม่ หรือ
มดคันไฟอิวิคต้า (Solenopsis invicta) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาได้แพร่กระจายไปเกือบทั่วโลก
และเริ่มขยายพันธุ์เข้ามาในเอเชียเมื่อสองถึงสามปีนี้พบได้ในไต้หวันและ ฮ่องกง และคาดว่าจะเข้ามาสู่ประเทศไทยในไม่ช้านี้
มดคันไฟอิวิคต้าสามารถปรับตัวและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
จนประเทศที่มีการระบาดของมดคันไฟอิวิคต้าต้องมีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยขึ้น มา เพื่อยับยั้งการขยายพันธุ์ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่โดนต่อย
และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการกัดกินพืชผักต่าง ๆ มดคันไฟอิวิคต้าชอบสร้างถิ่นอาศัยบริเวณที่มีน้ำไหลเวียน มีปริมาณ น้ำฝนมากกว่า 550 มิลลิเมตรต่อปี
อาทิ พื้นที่การเกษตร สวนป่า ทุ่งหญ้า ฝั่งแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งทะเล ทะเลทราย และสนามกอล์ฟ มักสร้างถิ่นอาศัยแบบเป็นรังหรือเป็นจอมโดยใช้มูลดิน
ซึ่งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร ความสูงประมาณ 4-24 นิ้ว
ส่วนมดคันไฟที่มีอยู่ในไทยจะสร้างรังเรียบ ๆ กับพื้น ไม่มีจอม และมีจำนวนประชากรมากถึง 500,000 ตัวต่อรัง ขณะที่มดคันไฟธรรมดาจะมีเพียง 10,000 ตัวต่อรัง
สำหรับรูปร่างหน้าตาภายนอกของมดคันไฟอิวิคต้านี้แทบจะไม่มีความแตกต่างจากมด คันไฟที่พบเห็นในประเทศไทย แต่จะมีผิวลำตัวเรียบและสดใสกว่า
และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีฟันตรงกลางริมฝีปากบน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองด้วยตาเปล่าไม่ค่อยเห็นต้องอาศัยแว่นขยายช่วย... รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา
แห่งภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าให้ฟังถึงเรื่องของมดคันไฟอิวิคต้า
มดคันไฟตัวใหม่นี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศเพราะอาณาจักรของมดชนิดนี้ ชอบทำลายอย่างมาก พวกมัน
จะครอบคลุมอาณาเขตบ้านเนื่องจากมดชนิดนี้มีจำนวนมากและรุกราน การขาดศัตรูธรรมชาติจึงทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มดคันไฟตัวใหม่นี้จะเข้าโจมตีไข่นก
และสัตว์เลื้อยคลานที่อายุน้อยจำนวนมาก และในพื้นที่ที่มีมดชนิดนี้สูงมากจะเข้าทำลายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น พวกสัตว์ฟันแทะ
และยังล่ากลุ่มผึ้งที่หากินเดี่ยว ๆ ด้วย
สำหรับผลกระทบต่อมนุษย์นั้นพบว่า เหล็กในจากมดชนิดนี้มีพิษสะสมทำให้เกิดอาการไหม้และคันอย่างรุนแรง
พิษจะออกฤทธิ์อยู่นานเป็นชั่วโมงและเป็นเม็ดตุ่มพองซึ่งกลายเป็นหนองสีขาว เมื่อตุ่มหนองนี้แตกก็สามารถมีแบคทีเรีย เข้าไปและเป็นแผลเป็น
บางคนที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงจะก่อให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้
มดชนิดนี้มีความก้าวร้าวสูงมากเมื่อมันต่อยจะ ฉีดสารพิษกลุ่ม alkaloid ทำให้เนื้อเยื่อตาย มีรายงานว่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกามีประชาชนประมาณ
25,000 คน ที่ต้องหาหมอเพื่อรักษาจากการโดนต่อยของมดชนิดนี้ และด้วยวิธีการโจมตีเหยื่อแบบรุมต่อยเป็นร้อย ๆ ตัว
ทำให้เหยื่อที่มีขนาดไม่ใหญ่มากได้รับบาดเจ็บถึงขั้นวิกฤติได้เลย
ในสหรัฐอเมริกามดชนิดนี้สร้างความเสียหายทางการเกษตรได้ในวงกว้าง ด้วยการเข้าไปทำลายระบบรากของพืช เช่น ถั่วเหลือง พืชตระกูลส้ม ข้าวโพด กะหล่ำ มันฝรั่ง
ถั่วลิสง ทานตะวัน ข้าวฟ่าง มะเขือ ถั่วเขียว เป็นต้น และทำความเสียหายในเครื่องมือการเกษตร สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า พื้นที่สาธารณะ อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์
รถยนต์ ปัจจุบัน มดชนิดนี้สร้างความเสียหายมาก กว่า 320 ล้านเอเคอร์ ใน 12 รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและเปอร์โตริโก
อย่างไรก็ตามในอเมริกามดคันไฟชนิดนี้เป็นตัวห้ำหั่นที่ดีเยี่ยมในธรรมชาติ และเป็นการควบคุมทางชีววิธีสำหรับศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะต้นอ้อย
มวนที่เป็นศัตรูข้าว แมลงหางหนีบ เพลี้ยอ่อน ด้วงงวง หนอนคืบถั่วเหลือง หนอนกินใบฝ้าย ต่อสน แต่มดชนิดนี้ก็ยังเป็นตัวทำลายแมลงพวกผสมเกสร เช่น
ผึ้งที่สร้างรังใต้ดิน และยังกินเมล็ด ใบ ราก เปลือก น้ำหวาน น้ำเลี้ยง เชื้อรา และมูลต่าง ๆ เป็นอาหารด้วย
ซึ่งจะสร้างมูลค่าความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเกษตรนับพันล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้มีแนว
โน้มสูงที่มดคันไฟชนิดนี้จะเข้ามาในประเทศไทยด้วยการติดมากับเรือสินค้าหรือ การขนส่งอื่น ๆ
จาก : news.sanook.com/