ความรู้เรื่องวิธีการป้องกันและรักษาโรคสมองเสื่อม "อัลไซเมอร์ "
webmaster - 21/9/08 at 09:10
โรคอัลไซเมอร์
(ภาพจาก - oknaion)
อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์สมอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ พบในคนอายุน้อยได้แต่ไม่มากนัก
เมื่อมีอายุมากขึ้นจะเป็นโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขในต่างประเทศ พบว่า เมื่ออายุ 60 ปี จะมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม 1%
ของคนที่อายุเกิน 60 ปี และอุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 5 ปี หมายความว่าจาก 1% เมื่ออายุ 60 ปี พบได้ 2% ในกลุ่มอายุ 65 ปี พบเป็น 4%
ในกลุ่มอายุ 70 ปี เป็นต้น
ดังนั้น ยิ่งอายุยืนยาวขึ้น โอกาสเสี่ยงของการเป็นภาวะสมองเสื่อมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้สูงขึ้น เช่น กรรมพันธุ์ โดยพบว่าพ่อ แม่ พี่ หรือน้อง ป่วยเป็นอัลไซเมอร์หรือมีประวัติเป็น
Down Syndrome (ปัญญาอ่อน)ในครอบครัว
การใช้ยาต้านการอักเสบอย่างไม่ถูกต้อง หรือโดยไม่อยู่ในความดูแลของแพทย์ ภาวะขาดสารอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น การขาดวิตามินเอ ซี อี ซิลิเนียม
โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะลดลงไปจากเดิมบ้าง ความคิดอาจจะช้าลง การเรียนรู้สิ่งใหม่จะช้าลง
ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พบได้ในคนสูงอายุทั่วๆ ไป แต่คนสูงอายุเหล่านี้จะยังคงสามารถตัดสินใจ มีความคิดริเริ่ม มีจินตนาการ มีเหตุผลเป็นของตนเอง
จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงตามการมีอายุเท่านั้น
แต่สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการความจำเสื่อม การตัดสินใจลดลง และการใช้เหตุผลผิดปกติ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางด้านของอารมณ์และพฤติกรรม
โดยอาการเหล่านี้จะมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมักมีอาการแสดงต่างๆ เช่น ลืมชื่อคนในครอบครัวที่เป็นญาติสนิท
หรือเพื่อนไปรับประทานอาหารแล้วบอกว่ายังไม่รับประทาน
เดินเล่นในสวนใกล้บ้านแต่พอจะกลับบ้านแต่กลับไม่ถูก ไม่รู้ว่าตัวเองมาที่นี่ได้อย่างไร และจำเส้นทางกลับบ้านที่เคยกลับประจำไม่ได้ มีการตัดสินใจแย่ลง
เช่น ผู้ป่วยเป็นไข้ตัวร้อนต้องไปหาแพทย์แต่ผู้ป่วยกลับห่มผ้าและนอนอยู่บนเตียงแทน พูดไม่ค่อยเป็นประโยค มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์รวดเร็ว เช่น
จากอารมณ์เงียบเป็นร้องไห้ โดยไม่มีเหตุผล หรือมีอาการสับสนสลับหวาดระแวง ฯลฯ
หากมีอาการแสดงดังกล่าวข้างต้นเราควรนำผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม
และบุคคลใกล้ชิดหรือผู้ดูแลควรเข้าใจถึงอาการที่ผู้ป่วยไม่ควรโกรธผู้ป่วย และปรับสิ่งแวดล้อมพร้อมทั้งดูแลเรื่องอาหาร
และการออกกำลังกายอย่างให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
คนไทยเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้น
เหตุเพราะอาหารประเภทผัดทอด
พ.ญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองเสื่อม รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า จากสถิติของผู้ป่วยในไทย ที่อายุประมาณเกิน 60
ปีขึ้นไปเป็นโรคสมองเสื่อมถึงกว่า 600,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้
โรคสมองเสื่อมเกิดจากเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองเกิดอาการตีบ ทำให้ เซลล์สมองหมดประสิทธิภาพ ขณะที่โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากสภาพของสมองเสื่อมหรือตายไปแล้ว
พ.ญ.สิรินทร กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมมักมีอาการก่อนอายุ 60 ปี แต่ยังไม่ ปรากฏชัดเจน เมื่ออายุ 60
ปีถึงมีอาการขึ้นมาแท้จริงอาจเป็นก่อนหน้านี้แล้ว จึงขอให้ระมัดระวังอาหารของทอด ผัด มัน ถ้าอยากกินเนื้อสัตว์ให้เลือกปลา และกินข้าวเป็นหลักไม่กินแป้ง
ส่วนผักและผลไม้ ซึ่งมีมากในประเทศไทยนั้น ผักกินได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นผลไม้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความหวานมาก ต้องเลือกบริโภคผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาลมาก เช่น
ฝรั่ง
สำหรับอาการที่อาจจะมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อมและพบก่อนอายุ 60 ปีคือ เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
ซึ่งผู้ที่กังวลว่าตัวเองจะเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ จะมีแบบทดสอบ ผู้ที่ต้องการทราบติดต่อสอบถามได้ที่สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศ ไทย
โทร.0-2201-2588, 0-2880-8542
อ้างใน - พ.ญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน : โรคสมองเสื่อมสำหรับประชาชน สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
ที่มา - เว็บ clickforrich.com
หมั่นใช้สมองแต่ไม่ต้องคิดมาก
ลดเสี่ยง "อัลไซเมอร์
แพทย์ประสาทเตือนคนไทยเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มเป็น 4 เท่า ซ้ำกำลังคุกคามคนหนุ่มสาว แต่ป้องกันได้ถ้าไม่หาเรื่องใส่ตัว
ส่วนผู้สูงอายุต้องหมั่นใช้สมอง แต่ไม่คิดมาก ช่วยยืดอายุเซลล์สมองได้
รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ประธานวิชาการสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการครั้งแรกด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (The First National Conference on Neuroscience) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.51
ว่า
ปัจจุบันเมื่อประชาชนมีอายุยืนมากขึ้น ผลเสียที่ตามมาคือมีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคทางสมองและระบบประสาทเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ที่พบบ่อยคือโรคหลอดเลือดสมอง
หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ได้เกิดผลเสียเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงครอบครัว สังคม ประเทศชาติ
ที่อาจต้องสูญเสียบุคคลากรผู้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศเพราะเหตุนี้อีกมาก และจำนวนผู้ป่วยก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์
อัมพาต, สมองเสื่อมอัลไซเมอร์, อุบัติเหตุทางสมอง และอุบัติเหตุบนใบหน้า
"จากสถิติในปี 2526 มีความชุกของประชากรไทยที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 7 คนใน 1,000 คน ต่อมาในปี 2541 เพิ่มขึ้นเป็น 11 คนใน 1,000 คน
และล่าสุดในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็น 25 คนใน 1,000 คน จะเห็นได้ว่าเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า"
"ในปี 2545 มีการสำรวจประชากรในกรุงเทพฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 100 คน พบว่าเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ถึง 10 คน
และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การบริโภคที่เปลี่ยนไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรค
นอกเหนือจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อสมองถูกทำลายหรือเสื่อมลงไปแล้ว การจะทำให้ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกตินั้นทำได้ยาก
ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด" รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ที่น่าตกใจกว่านั้น รศ.นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลว่ามีอัตราของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปีเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมอาจเกิดจากเซลล์สมองเสื่อมไปเองตามธรรมชาติ แต่อาจเกิดเร็วกว่ากำหนด ซึ่งเรียกว่าอัลไซเมอร์ และยังมีสาเหตุอื่นๆ
ที่ทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้ เช่น อุบัติเหตุ การสูบบุหรี่ กินอาหารที่มีไขมันสูง ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวานโรคอ้วน
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมองเสื่อมเกิดในคนอายุน้อยๆ
"สมองเสื่อมต่างกับอาการหลงลืม ทั้งนี้เพราะความจำเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหน้าที่สมอง แต่ภาวะสมองเสื่อมนั้นเกิดจากสมองสูญเสียหน้าที่หลายส่วน เช่น
การคิด การแก้ปัญหา การควบคุมการทำงานของร่างกาย" รศ.นพ.สมศักดิ์ชี้แจง
และบอกอีกว่าโรคพาร์กินสันซึ่งเกิดจากเซลล์สมองที่ทำหน้าที่สร้างสารสื่อประสาทเสื่อม
ก็เป็นโรคทางสมองอีกโรคหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากในปัจจุบันและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ นายกสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เสริมว่า
โรคทางสมองและระบบประสาทในคนอายุน้อยส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ป่วยชักนำเหตุปัจจัยเข้ามา ทั้งการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารมันจัด หวานจัด
เค็มจัด เป็นต้น
แต่ทั้งหมดนี้สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคทางสมองมาก่อน โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
ดังที่กล่าวมาพร้อมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอ เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการเดินวันละ 10,000 ก้าว ไปพร้อมกับกิจวัตรอื่นๆ เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
"สำหรับผู้สูงอายุนั้น การได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอจะช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานได้ดี เช่น เล่นดนตรี คอสเวิร์ด อ่านหนังสือ พูดคุยกัน
ซึ่งชมรมผู้สูงอายุจะมีส่วนช่วยตรงนี้ได้" ศ.นพ.สุทธิพันธ์กล่าวเสริม
ที่มา - เว็บ scithai.com
โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่มาพร้อมกับอายุ เมื่ออายุย่าง 60 ปี มีโอกาสเป็นกันทั้งนั้น โดยประมาณ 3 %
ของคนไทยและคนทั่วโลกมีสิทธิเป็นโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะหากเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดอุดตัน
ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้ง่ายขึ้น
สำหรับผู้ป่วยนั้นเป็นความทุกข์มากทีเดียวเพราะไม่สามารถมีชีวิตปกติสุขได้ เพราะมักจะหลงลืมเรื่องต่างๆ ที่พูดคุย ที่ทำอยู่
ทำให้คนอยู่รอบข้างที่ไม่เข้าใจ หงุดหงิด รำคาญใจ ทะเลาะกัน อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ดูแล ซึ่งไม่ได้เตรียมการตั้งรับมาก่อน การขาดความความรู้ความเข้าใจ
ทำให้การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เป็นภาระที่สร้างความกังวลและความเครียด ส่งผลให้บรรยากาศในการดำเนินชีวิตร่วมกันกับผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็น สามี ภรรยา
พี่น้อง บิดา มารดา ไม่มีความสุข
โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ๆ จากลืมเรื่องที่พูดคุย จนลืมเรื่องราวในอดีต ดูแลตัวเองไม่ได้ จำคนใกล้ตัวไม่ได้
สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาในการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมและไม่รู้จะปรึกษาใคร สามารถเข้ารับฟังคำแนะนำ และรับฟังการบรรยายพิเศษที่
ศูนย์แห่งชาติสิริกิตติ์ วันที่ 27 - 28 ก.ย. 2551
วัคซีนป้องกันอัลไซเมอร์
อีกไม่นานนักเราอาจจะมีวัคซีนป้องกันโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ที่หลาย ๆ คนกลัวก็เป็นได้นะครับ เพราะขณะนี้ได้มีการวิจัยวัคซีนชนิดนี้ในหนูทดลองไปแล้ว
และได้ผลดีเสียด้วยครับ
วัคซีนที่กล่าวถึงนี้ค้นคว้าโดย คณะนักวิจัยแห่งศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ (University of Rochester Medical Center)
ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดกระบวนการอักเสบ (inflammation) หรือผลข้างเคียงรุนแรงเสียด้วย
ระบบภูมิคุ้มกันของหนูที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะถูกกระตุ้นให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อโปรตีนที่ชื่อ amyloid-beta peptide ซึ่งเกิดขึ้นมาก
และสะสมเป็น amyloid plaques ในสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ส่งผลให้หนูเหล่านี้ไม่มีพฤติกรรมที่แสดงถึงอาการ อัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อม อาทิ ความจำเสื่อม
การเรียนรู้เสีย หรือมีอาการก้าวร้าว
คุณหมอ William Bowers รองศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยาและจุลชีววิทยา หัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้กล่าวว่า
คณะนักวิจัยสามารถสร้างวัคซีนที่แรงพอแต่ปลอดภัยที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ และสิ่งที่น่า
ตื่นเต้นที่คุณหมอพบคือ หนูทดลองที่ได้รับการฉีดวัคซีนนอกจาก จะทำแบบทดสอบความจำได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนแล้ว ยังไม่พบร่องรอยของ amyloid plaque
ที่เป็นเครื่องบ่งชี้โรคอัลไซเมอร์ ในสมองหนูที่ได้วัคซีนเลย
ทบทวนกันสักนิดหนึ่งนะครับว่า โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เป็นโรคความเสื่อมทางสมองที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถกระทำกิจวัตรปรกติได้อีก
และดัชนีที่บ่งบอกโรคนี้ในสมองคือ การมี amyloid plaque กับการขาดกรดอะมิโน tau ที่ปรกติ
กรดอะมิโนตัวนี้ทำหน้าที่สร้างความสมดุลในโครงข่ายการสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง
นอกเหนือไปจากนั้นสิ่งที่เราพบในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คือการที่มีใยประสาท (neurfibrillary) พันกันยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ
เมื่อเป็นนานวันเข้าเซลล์สมองก็ตายลงไปเรื่อย ๆ ทำให้การเรียนรู้ต่าง ๆ รวมทั้งความจำผิดปกติอย่างมาก
หนูทดลองที่ได้รับวัคซีนที่นำมาทดลอง ครั้งนี้ถูกตัดต่อทางพันธุกรรมให้มีการสร้าง amy-loid-beta protein รวมทั้งมีกรดอะมิโน tau ที่ผิดปรกติด้วย
ก่อนที่จะเข้าสู่การทดลองนักวิจัยจะฝึกหนูเหล่า นี้ให้วิ่งวนหาทางออกจากเขาวงกต แล้วจดบันทึกเวลากับระยะทางที่หนูใช้ในการออกมาจากเขาวงกต
รวมทั้งความผิดพลาดที่เกิดระหว่างนั้นด้วย คุณหมอ วิลเลี่ยมบอกว่าเมื่อตรวจสมองของหนูที่ได้รับวัคซีนไม่พบกรดอะมิโน tau ที่ผิดปรกติเลย
คุณหมอวิลเลี่ยมเล่าต่อว่า วัคซีนนี้สร้างโดยใช้ไวรัสสายพันธุ์ herpes แต่ตัดท่อนที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อหรือเป็นโรคออกเสีย
จากนั้นใช้วิธีทางวิศวพันธุกรรมตัดต่อใส่ยีนที่สร้าง amyloid beta กับ interleukin-4 เข้าไป โปรตีนเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์
ของระบบภูมิคุ้มกันที่ชื่อ type 2 T helper cells เรียนรู้และจดจำ เพื่อจัดการกับ amyloid และ tau ที่ผิดปรกติ
คุณหมอวิลเลี่ยมได้ทดลองวัคซีนในหลายรูปแบบ ทั้งวัคซีน ที่มีแต่ชิ้นส่วนรหัสของ amyloid protein และวัคซีนที่มีทั้งชิ้นส่วน ของ amyloid protein และ
interleukin-4 ซึ่งอันหลังนี้พบว่าเป็นวัคซีนที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะนี้นักวิจัยกำลังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงดัดแปลงให้วัคซีนปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อว่าในอนาคตอันใกล้
นี้จะได้นำวัคซีนที่ค้นคว้าได้ไปทดลองในคนต่อไป ซึ่งแน่นอนครับ ขั้นตอนนี้คงใช้เวลาอีก 3-4 ปีข้างหน้านั่นแหละ
ที่มา - เว็บ medicthai.com
วิจัยพบสารสกัด "พริกไทยดำ" แก้อัลไซด์เมอร์
นักวิจัย มข.ค้นพบ "พิเพอรีน" สารสกัดพริกไทยดำแก้โรคอัลไซเมอร์ เผยผลทดลองหนูที่ความจำเสื่อมหายเป็นปกติ เตรียมยื่นขอจริยธรรมในคน
คาดไม่เกิน 2 ปี มีผลิตภัณฑ์แก้โรคความจำเสื่อมผู้สูงอายุ
ปัญหาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2004 พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จำนวน 9.5 แสนคน
ล่าสุดเกี่ยวกับการรักษาโรคดังกล่าว ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) คิดค้นวิธีการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมจากรายงานทางการศึกษาพบว่า
สารต้านอนุมูลอิสระสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม รศ.ดร.อรุณศรี ศรีปรีเปรม อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อ 2 ปีก่อนทีมวิจัยนำพริกไทยดำมาสกัดสาร
"พิเพอรีน" ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์เพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ จากนั้นนำสารดังกล่าวทดลองในหนูที่เซลล์ประสาทส่วนของการรับรู้ ตาย
หรือความจำเสื่อมกับหนูปกติ ด้วยการหยดสารพิเพอรีนทางรูจมูก เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการจดจำของหนูที่ได้รับสารในการจดจำจุดหมายในอ่างน้ำ
ปรากฏว่าผลการทดสอบหนูที่มีความจำเสื่อมกลับหายเป็นปกติ
ด้าน ผศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ กล่าวเสริมว่า
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะทดสอบความเป็นพิษ และภายหลังการทดสอบความเป็นพิษ ทีมวิจัยจะยื่นขอจริยธรรมในคน
และทำการทดสอบในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี
ก่อนจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์มีผลิตภัณฑ์สารสกัดพริกไทยดำแก้โรคความจำเสื่อมใช้ในอนาคต
ที่มา - เว็บ medicthai.net
บทความเรื่อง "การเดิน" ช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้
ปัญหาโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) เป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่สูงอายุทั้งเพศชายและเพศหญิง การรักษาในปัจจุบันยังได้ผลไม่ค่อยดีนัก
แม้จะมียาป้องกันและรักษามากมาย กลุ่มแพทย์ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้พยายามหาทางป้องกันและรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย
โดยพบว่าการออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อมได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยได้มีการทดลองโดย Abbott RD และคณะ
จากสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองและวิจัยกลุ่มคนสูงอายุ จำนวน 2,257 ราย ในกลุ่มอายุ 71-93 ปี โดยแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม
คือกลุ่มที่ใช้การเดินแบบไม่หักโหม กับอีกกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาระหว่างปี 2534-2536
โดยเลือกกลุ่มที่มีสมรรถภาพ ทางกายอยู่ในเกณฑ์ดี และติดตามผลการตรวจร่างกายทางระบบประสาท 2 ช่วงเวลา คือ ระหว่างปี 2537-2539 และระหว่างปี 2540-2542
แล้วใช้แบบทดสอบ ที่ได้มาตรฐานเป็นเกณฑ์วัด
ผลการศึกษาพบว่า ในจำนวน 2,257 รายนี้ พบว่าเกิดโรคสมองเสื่อมขึ้นในระหว่างที่ศึกษา จำนวน 158 ราย (คิดเป็น 15.6 คน/1000 คน/ปี)
ในจำนวนนี้พบว่า 101 คน เป็นโรคอัลไซเมอร์อย่างเดียว แบบไม่ทราบสาเหตุ ส่วนอีก 30 คน เป็นอัลไซเมอร์จากหลอดเลือดผิดปกติ ที่เหลืออีก 27 คน เป็นทั้ง 2
แบบ ร่วมกับภาวะอื่นๆ เช่น พาร์กินสัน ถ้าแบ่งกลุ่มตามลักษณะการเดินพบผลการทดลองดังนี้
- คนที่เดินมากกว่า 2 ไมล์/วัน มีอุบัติการณ์การเกิดภาวะสมองเสื่อม 10.3 คน/1000 คน/ปี
- คนที่เดินระหว่าง 1-2 ไมล์/วัน มีอุบัติการณ์การเกิดภาวะสมองเสื่อม 14.1 คน/1000 คน/ปี
- คนที่เดินระหว่าง 0.25-1 ไมล์/วัน มีอุบัติการณ์การเกิดภาวะสมองเสื่อม 17.6 คน/1000 คน/ปี
- คนที่เดินน้อยกว่า 0.25 ไมล์/วัน มีอุบัติการณ์การเกิดภาวะสมองเสื่อม 17.8 คน/1000 คน/ปี
ซึ่งผลสรุปพบว่า คนที่ออกกำลังกายโดยการเดินน้อยกว่า 0.25 ไมล์/วัน จะมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนที่เดินมากกว่า 2 ไมล์/วัน ถึง 1.9 เท่า
ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้ให้ความเห็นว่า การเดินช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมในคนสูงอายุได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในผู้ชาย ส่วนในผู้หญิง
ที่ออกแรงเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการเดินอย่างสม่ำเสมอ มีความสามารถทางสมอง สติปัญญา และความคิด ความจำได้ดีกว่ากลุ่มที่ออกแรง
กายน้อยกว่าเช่นกัน
เรียบเรียงและค้นคว้าโดย นพ.จรัสพล รินทระ...8 May,2007
เอกสารอ้างอิง......Abbott RD,et al. Walking and dementia in physical capable elderly men.JAMA 2004;292:1447-53
ที่มา - เว็บ www.clinicneo.co.th
น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคสมองเสื่อมเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ซึ่งมีผลต่อความจำ ความคิด เชาวน์ปัญญา
การใช้เหตุผลและการแก้ไขปัญหา โดยโรคสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดคือ
อัลไซเมอร์ เกิดจากการสะสมของโปรตีนชนิดหนึ่งในเซลล์ประสาท และ Amyloid plaques ในเนื้อสมองส่วนความจำทำให้เซลล์ตาย ไม่สามารถรับส่งกระแสประสาทได้ดังเดิม
ปัจจัยที่เป็นเหตุส่งเสริมคือ อายุมากกว่า 65 ปี
และพันธุกรรม เช่น มีบิดา มารดาป่วยเป็นโรคนี้
ส่วนโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองจะพบมากเป็นอันดับ 2
เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ซึ่งส่งผลให้เนื้อสมองตาย เช่น หลอดเลือดสมองตีบ มักพบในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดยมีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง
เดินลำบาก เกร็ง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมด้วย
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกได้รับการรักษาจากแพทย์
รวมทั้งการที่ผู้ป่วยและญาติได้รับคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์ สามารถชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น
และลดภาระของผู้ดูแลผู้ป่วยลงได้
จากการวิจัยพบว่า การใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงโดยการออกกำลังกายในช่วงวัยกลางคน เช่น การเดิน การวิ่งและการปั่นจักรยานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
สามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 60
จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนฮิปโปแคมปัสเป็นการลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม
สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุสามารถเข้าชม ได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข www.agingthai.org
ที่มา : ไทยรัฐ
นักวิจัยสหรัฐค้นพบ "น้ำองุ่น"
สามารถรักษาโรคสมองเสื่อมได้
(ภาพแลข้อมูลจาก oknaion น้ำองุ่น แอปเปิ้ล และแครนเบอร์รี่ พบว่า มีส่วนประกอบที่มีประโยชน์อยู่มาก โดยมีสารแอนตี้อ๊อกซิเดนท์
จะช่วยลดความเสียหายของสมอง ที่มีสาเหตุมาจาก "อนุมูลอิสระ" และเจ้าอนุมูลอิสระนี้ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น อัลไซเมอร์
และรอยเหี่ยวย่นอื่นๆ นั่นเอง เรียกว่าป้องกันโรคแล้ว ยังชะลอความชราได้อีกด้วย)
ผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ แห่งเมืองนิวยอร์ก ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการค้นคว้าวิจัย เพื่อหายาหรือวิธีการป้องกันและรักษาโรคสมองเสื่อม
หรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) นั้น ได้มุ่งความสนใจไปยังองุ่น ซึ่งในองุ่นจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือที่เรียกว่า Polyphenols
โดยส่วนใหญ่เราจะสามารถบริโภคได้ในรูปของไวน์แดง หรือน้ำองุ่น
โดยสาร Polyphenols จะมีส่วนช่วยให้คนเราสามารถมีอายุสมองที่ยาวนานขึ้นและแข็งแรง ทำให้สามารถทำงานและจดจำสิ่งต่างๆ ได้ เป็นอย่างดี
ถึงแม้จะอายุมากแล้วก็ตาม
ซึ่งทางนักวิจัยจากสถาบันวิจัยของ Mount Sinai School of Medicine ในนิวยอร์กเปิดเผยว่า สาร Polyphenols ทั้งในน้ำองุ่นหรือ ไวน์แดงนั้น
มีประสิทธิภาพและความสามารถที่จะไปจำกัดสาร beta-amyloid ที่เป็นสารที่ทำตัวเหมือนเป็นคราบหินปูนห่อหุ้มเลส์สมอของเรา ทำให้อาหารไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้
และยิ่งถ้าถ้าใครมีสาร beta-amyloid เกาะเยอะๆ
ก็จะทำให้การทำงานของสมองมีประสิทธิภาพลดลง
โดยทางทีมนักวิจัยพบว่า คนที่ดื่มไวน์แดงหรือน้ำองุ่น 100 % เป็นประจำ มีอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมในอัตราที่ต่ำมาก
ซึ่งการค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้ ได้ถูกนำไปแสดงผลงานที่ซานดิเอโก้ในการประชุมวิชาการประจำปีเกี่ยวกับ Society for Neuroscience
ซึ่งถือว่าเป็นการดีที่เรารู้หนทางป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าต้องมารักษาโรคทีหลัง
ที่มา - เว็บ igetweb.com
กินกล้วย ส้ม แอปเปิ้ลช่วยป้องกัน
สมองเสื่อมและโรคอัมพาตแบบสั่น
มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ อันมีชื่อเสียงโด่งดังของอเมริกา พบในการศึกษาใหม่ว่า การบริโภคผลไม้อย่างเฉพาะส้ม กล้วยหอม
และแอปเปิ้ลอยู่เป็นประจำวัน จะช่วยปัดเป่าโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์และโรคอัมพาตแบบสั่นได้
ศาสตราจารย์จาง วาย. ลี หัวหน้านักวิจัย ให้เหตุผลว่า เพราะสารที่มีสรรพคุณเป็นตัวล้างพิษในผลไม้เหล่านั้น
ช่วยให้ประสาทเสียหายน้อยลงผลไม้ทั้งสามชนิดนี้ นับเป็นผลไม้หลักในอาหารของคนตะวันตกและเอเชียอยู่แล้ว
อาจารย์จางยังได้เปิดเผยสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ว่า เป็นเพราะเซลล์ได้รับอันตรายทำให้ทำงานน้อยลง และยังไปทำให้ประสาทเสื่อมลงอีกทีหนึ่ง
เราศึกษาพบส่อว่า การบริโภคผลไม้สด เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยบรรเทาภัยจากโรคที่เกิดจากประสาทเสื่อม
ที่มา - เว็บ images.thaiza.com
จากรายงานของ มีอา คิวิเพลโต (Miia Kivipelto) นักวิจัยชาวสวีเดน จากสถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institute)
ในสต็อกโฮมที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Archives of Neurology ซึ่งเป็นวารสารด้านประสาทวิทยาของสมาคมแพทย์อเมริกัน (American Medical Association)
พบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วน ความดันสูง และมีระดับคอเลสเตอรอลสูงในช่วงวัยกลางคนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมในช่วงบั้นปลายของชีวิตถึง 2 เท่า
จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างประมาณ 1,500 คนตั้งแต่ปี 1972 พบว่า 16 %
ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในวัยกลางคนและมีน้ำหนักเกินมาตรฐานนั้นจะเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมมากกว่า 2 เท่า
เมื่อเทียบกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมของผู้มีน้ำหนักปกติซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ใน 4
และผู้ที่มีน้ำหนักเพิ่มสู่ภาวะน้ำเกินซึ่งมีจำนวนครึ่งของประชากรในกลุ่มตัวอย่าง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ปัจจัยคือ ความอ้วน
ความดันสูงและคอเลสเตอรอลสูงแล้ว พบว่าคนอ้วนเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่าผู้มีน้ำหนักปกติถึง 6 เท่า
เป็นโรคอ้วนในวัยกลางคน ความดันเลือดสูงและมีคอเลสเตอรอลสูง ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่า 2
เท่าตัวเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเช่นกัน คิวิเพลโตกล่าว ทั้งนี้โรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ
กำลังเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปทั่วโลก โดยเฉพาะประชากรผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยอีกชิ้นของ ดร.มาธา แคลร์ มอร์ริส จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยรัช (Rush University Medical Center) ในชิคาโก สหรัฐอเมริกา
ซึ่งได้ตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารการแพทย์ฉบับเดียวกันนี้ พบว่าการกินปลาเพียงสัปดาห์ละครั้งช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ โดยกรดไขมันโอเมกา 3
ที่มีอยู่ในปลานั้นทำให้สมองทำงานดีขึ้นพอๆ กับการตัดปัจจัยออกไป และจากการศึกษานาน 6 ปีพบว่าการกินปลายังปกป้องสมองของผู้สูงอายุได้ด้วย
อัตราความเสื่อมของสมองลดลง 10-13% ต่อปีในผู้ที่บริโภคปลาสัปดาห์ละครั้งหรือมากกว่านั้น เปรียบเทียบกับผู้ที่บริโภคปลาน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง
อัตราการลดลองนี้เท่าๆ กับชะลอความแก่ของสมองให้ลดลงได้ถึง 3 ใน 4 ดร.มอร์ริสกล่าวไว้ในรายงานการวิจัย
ที่มา - เว็บ blogth.com
น้ำโซดา น้ำอัดลม สุดอันตรายต่อสุขภาพ
คำเตือนจากแพทย์ชื่อดังระดับโลก เนื่องจากส่วนผสม สี สารกันบูด
และสารเคมีบางชนิด
ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนก่อนวัย โรคภาวะเสื่อมในสมองหรืออัลไซเมอร์
น้ำโซดา น้ำอัดลม สุดอันตรายต่อสุขภาพ คำเตือนจากแพทย์ชื่อดังระดับโลก เนื่องจากส่วนผสม สี สารกันบูด และสารเคมีบางชนิด ก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนก่อนวัย
โรคภาวะเสื่อมในสมองหรืออัลไซเมอร์
ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าฝรั่งตะวันตกป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหลาย ๆ สิบล้าน คน เพราะพิษร้ายสะสมมานานจากการนิยมดื่มน้ำอัดลม เป็นประจำ
นอกจากมีความเสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และเยื่อบุปอดอักเสบจากการทำลายของสารเคมีบางตัวที่เป็นส่วนผสมสำคัญ จะส่งผลร้ายทำให้เกิดโรค
"มะเร็งปอด" ในระยะต่อไป
ที่มา - เว็บ dhammadelivery.com