พบ "สาหร่ายปลอม" และ "ไข่ปลอม" ตามตลาดชายแดน
webmaster - 14/8/09 at 10:04
อย. เผยผลตรวจไม่พบสาหร่ายอบแห้งปลอม
......ชี้ของจริงแช่น้ำสีต้องไม่สม่ำเสมอ ขอบไม่เรียบมีรอยหยัก เนื้อลื่น มีกลิ่นคาว
ยืนยันผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการตรวจสอบจากด่าน อย. จะปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน
(ภาพจาก news.mthai.com)
........ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (27 ส.ค.) ว่า นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงข่าวกับ นพ.สุวรรณชัย
วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ กาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่าย
เปิดเผยถึงกรณีพบเมลส่งต่อหรือฟอร์เวิร์ดเมลสาหร่ายปลอม และมีผู้บริโภคเกิดความวิตกกังวลว่า สาหร่ายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะมีการปลอมปนพลาสติก นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ลงพื้นที่ตรวจสอบการนำเข้าและการจำหน่าย
พร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สาหร่ายอบแห้งส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อวิเคราะห์หา DNA ของสิ่งมีชีวิตและพิสูจน์ว่าเป็นพลาสติกหรือไม่
ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้ อย. ได้ร่วมกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ กาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์
ตรวจสอบสาหร่ายที่พบในเมลส่งต่อหรือฟอร์เวิร์ดเมลและที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะทางกายภาพ
ปรากฏว่าสามารถเห็นเซลล์สาหร่ายได้อย่างชัดเจน ในเบื้องต้นพบว่า สาหร่ายอบแห้งที่เก็บจากท้องตลาดมาตรวจจำนวน 5 ยี่ห้อเป็นสาหร่ายจริง
แต่ยังไม่สามารถระบุสายพันธุ์ สำหรับผล DNA เมื่อทราบผลวิเคราะห์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะแจ้งยืนยันอีกทางหนึ่ง
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อว่า อย. ขอยืนยันว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการตรวจสอบจากด่าน อย. จะปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน ขอให้ผู้บริโภคสบายใจได้
ซึ่งขณะนี้มีการนำเข้าสาหร่ายอบแห้งที่ถูกต้องจำนวน 23 บริษัท โดยตั้งแต่มกราคม 2552 จนถึงปัจจุบัน มีการขออนุญาตนำสาหร่ายอบแห้งเข้ามาในประเทศประมาณ
246,000 กก. มูลค่ากว่า 62 ล้านบาท
สำหรับการเลือกซื้อสาหร่ายอบแห้งให้ปลอดภัยที่สำคัญคือต้องมีฉลากภาษาไทย ระบุชื่ออาหาร ชื่อบริษัทผู้ผลิต/ผู้นำเข้า และที่ตั้ง ปริมาณสุทธิ
วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ และเมื่อนำสาหร่ายไปแช่น้ำแล้วสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่าสีของสาหร่ายจะไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเม็ดสีกระจายไม่เท่ากัน
ส่วนขอบไม่เรียบมีรอยหยัก เนื้อสัมผัสลื่นไม่แข็งกระด้าง มีกลิ่นคาว และมีความยืดหยุ่นซึ่งจะขึ้นอยู่กับในแต่ละสายพันธุ์ของสาหร่าย
อย่างไรก็ตาม อย. ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์สาหร่ายอบแห้งทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด
หากแสดงฉลากไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาทหากพบว่าเป็นพลาสติกจะจัดว่าเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันถึง
1แสนบาท ทั้งนี้เมื่อ อย. ตรวจสอบพบสาหร่ายปลอมจะได้แจ้งให้ผู้บริโภคทราบ รวมทั้งเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกจากท้องตลาดและระงับการนำเข้าโดยด่วน
ในขณะเดียวกันหากผู้บริโภคพบเห็นการนำเข้าหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยไม่มีฉลากภาษาไทย หรือสงสัยว่าจะเป็นของปลอม ผู้บริโภคสามารถแจ้ง
เบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือสายด่วน อย. โทร 1556 เพื่อ อย. จะได้ ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ที่มา - www.thairath.co.th
สาธารณสุขเข้ม ตรวจเก็บขนมสาหร่ายจากจีน
21-08-2552 | 11:20 l ch7.com
สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม ได้นำเจ้าหน้าที่ออกไปขอความร่วมมือและตรวจร้านจำหน่ายขนม และสาหร่ายที่นำเข้ามาจากประเทศจีน หลังจากที่
อย.ออกมาเตือนผู้บริโภค ถึงอันตรายจากการรับประทานสาหร่ายปลอมที่นำเข้าจากประเทศจีน
จากการตรวจสอบในตลาดจำหน่ายขนมในตลาดอินโดจีน จ.มุกดาหาร และตลาดที่จังหวัดนครพนม พบว่าร้านจำหน่ายขนมเกือบทุกร้าน มีขนมประเภทสาหร่ายจำหน่าย
และมีหลากหลายยี่ห้อ จึงให้เจ้าของร้านเก็บลงจากแผงจำหน่าย และนำขนมสาหร่ายบางส่วนไปตรวจสอบเพื่อหาสารปนเปื้อน
นอกจากนี้ ทางงานคุ้มครองผู้บริโภคยังได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่บริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองมุกดาหาร ด่านศุลกากร
รวมทั้งจุดผ่อนปรนตามแนวชายแดนจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ติดแม่น้ำโขง ให้ช่วยตรวจสอบการนำเข้าขนมสาหร่าย หากพบก็ให้อายัด ห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด
สั่งเก็บสาหร่ายปลอมตามตลาดชายแดน พร้อมเอาผิดคนขาย
20-08-2552 | 17:00 l ch7.com
นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงน้ำหลาก
มีสินค้าลำเลียงจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านลำน้ำโขงเข้าสู่ประเทศไทยมาก จึงสั่งให้ด่านชายแดนเพิ่มความเข้มงวด โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและยา
โดยล่าสุดมีรายงานว่า มีการนำสาหร่ายปลอม ซึ่งใช้สำหรับปรุงอาหาร ประเภทแกงจืด มาวางจำหน่ายจำนวนมากตามแนวชายแดน ลักษณะของบรรจุภัณฑ์จะเหมือนของจริงมาก
แต่ต่างกันตรงที่สาหร่ายจริง เมื่อนำมาแช่น้ำจะนิ่มเป็นเยื่ออ่อน ๆ แต่สาหร่ายปลอมแม้แช่น้ำก็ยังเหนียว ซึ่งสังเกตยากจะรู้ได้เมื่อนำไปแช่น้ำแล้วเท่านั้น
หากนำไปรับประทาน สาหร่ายปลอมจะเหนียว กัดไม่ขาด
ขณะนี้ อย.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ ถึงผลข้างเคียงหากบริโภคเข้าไป พร้อมเตือนผู้ประกอบการ
หากนำสาหร่ายปลอมมาจำหน่ายจะมีความผิดฐานจำหน่ายสินค้าปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ที่มา - www.ch7.com
webmaster - 20/8/09 at 20:28
ศุลกากรหนองคาย..พบ "ไข่ปลอม" จากภาคเหนือของลาว
นายด่านศุลกากรฯ พบไข่ปลอมแขวงทางเหนือลาว คล้ายไข่จริงมาก
ส่ง"อย."ตรวจพิสูจน์ ติงอย่าแตกตื่น ยังไม่พบนำเข้าไทย (ภาพประกอบชัดๆ ผลิตไข่ปลอม)
เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ด่านศุลกากรหนองคาย นายภราดร พงษ์สุวรรณ นายด่านศุลกากรหนองคาย ได้นำไข่ปลอมและไข่จริง มาทำการเปรียบเทียบ ซึ่งหากมองด้วยตาเปล่า
ไข่ปลอมจะไม่มีความแตกต่างจากไข่จริงเลย ทั้งสีเปลือกไข่ ขนาดของไข่ แต่ร้านค้าที่จำหน่ายจะมีการทำสัญลักษณ์บนเปลือกไข่ให้ทราบว่า เป็นไข่ปลอม
เปลือกไข่มีความหนาพอ ๆ กับไข่ไก่จริงเบอร์ 3 มีเนื้อเยื่อระหว่างเปลือกไข่กับไข่ขาวติดอยู่เหมือนไข่จริง
ส่วนไข่ขาว ก็มีลักษณะเป็นเมือกขาวคล้ายไข่จริง แต่ไข่ปลอมจะมีกลิ่นคาวมากกว่าไข่จริง ส่วนไข่แดง สีจะซีดออกเหลือง
เมื่อปล่อยไข่ที่กะเทาะเปลือกออกแล้วทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง ไข่ปลอมจะมีลักษณะเป็นแป้งผสมสี แต่ก็สามารถพิสูจน์ลักษณะภายนอกได้ด้วยวิธีการเขย่า
เมื่อเขย่าไข่ปลอมจะมีเสียงดังขลุกขลิก แต่ไข่จริงจะเนื้อแน่น มีน้ำหนักมากกว่า
นายด่านศุลกากรหนองคาย กล่าวว่า ไข่ปลอมที่นำมาเปรียบเทียบกับไข่จริงในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการนำไข่ปลอมมาตรวจสอบ
โดยเป็นไข่ปลอมที่ได้มาจากแขวงทางเหนือของประเทศลาว ที่อยู่ติดกับประเทศจีน โดยราคาไข่ปลอม ที่จีนอยู่ที่ฟองละ 0.75 บาท, ไข่ปลอมที่แขวงทางเหนือในลาว ฟองละ
1.50 บาท ส่วนไข่จริงในไทยอยู่ที่ฟองละ 3-5 บาท ทั้งนี้ ประชาชนชาวไทยอย่าเพิ่งแตกตื่นกับไข่ปลอม เนื่องจากยังไม่พบการลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทย
ซึ่งนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้ด่านศุลกากรตามแนวชายแดนที่มีเส้นทางการค้าและการขนส่งเชื่อมต่อจากประเทศจีน
เข้มงวดกวดขันมิให้มีการนำเข้าหรือลักลอบนำเข้ามาภายในประเทศ และจากการตรวจสอบของด่านศุลกากรหนองคายยังไม่พบมีการนำเข้าหรือลักลอบนำเข้าไข่ปลอมจากประเทศจีน
รวมทั้งได้ตรวจสอบภาวะการค้าไข่ในประเทศลาว ทั้งนครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงเวียงจันทน์ ยังไม่พบข้อมูลว่ามีการจำหน่ายไข่ปลอมในท้องตลาด
โดยหลังจากนี้ศุลกากรหนองคายจะส่งไข่ปลอมให้กับ อย. เพื่อตรวจพิสูจน์สารภายในไข่ปลอมว่าเป็นสารชนิดใดและมีอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่อย่างไร
แต่เบื้องต้นยืนยันว่ายังไม่พบการลักลอบนำเข้าไข่ปลอมในไทย ประชาชนจึงอย่าแตกตื่นตกใจกับไข่ปลอมมากนัก
ที่มา - www.bangkokbiznews.com
webmaster - 27/8/09 at 21:37
((( โปรดติดตามตอนต่อไป )))