ภาพข่าว..การเดินทางไปภาคเหนือ วันที่ 6 11 มกราคม 2552 (ตอนที่ 2)
webmaster - 30/6/08 at 06:23
5. รอยพระพุทธหัตถ์ก๊อแก้วเมืองกื้ด
วัดเมืองกื้ด ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
| |
ครั้นได้ทำบุญสร้างพระธาตุองค์ใหม่แล้ว จึงได้ออกเดินทางต่อไปที่แม่มาลัย แล้วเลี้ยวเข้าไปทางเมืองกื๊ด ระยะทางไม่ไกลประมาณ 20 กิโลเมตร
แต่สภาพถนนย่ำแย่เต็มที ใช้เวลานานเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงวัด มองเห็นวัดอยู่บนเนินมีต้นโพธิ์สูงใหญ่ เห็นชาวบ้านนั่งอยู่บริเวณทางขึ้นวัดอยู่หลายคน
| |
เมื่อได้พบกับ พระถา เจ้าอาวาส และพระอีกรูปหนึ่งชื่อ พระจิรพงศ์ ต่างก็เล่าเรื่องความเป็นมาของวัดให้ฟัง ปรากฏว่าเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งมาแต่โบราณ
ต่อมาพระจิรพงศ์ได้ส่งเอกสารมาให้อ่าน ดังนี้
ประวัติและความเป็นมา
เมืองกื้ดเป็นเมืองโบราณแต่เป็นเมืองเล็กๆ เข้าใจว่าสร้างโดยเจ้าเมืองในสมัยนั้นประมาณว่าสร้างรุ่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่ เมืองพร้าว เมืองแหง
คือประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ ปีล่วงเลยมาแล้ว มีข้อสันนิฐานเกี่ยวกับการตั้งเมือง ๒ ประเด็น คือ
๑. จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า ประวัติบ้านเมืองกื้ด เดิมสร้างโดยเจ้าเมือง ๓ เมือง (ไม่ทราบชื่อ)
ได้ไปเที่ยวป่าบังเอิญมาเจอกันจึงได้ชวนกันสร้างเมืองขึ้นให้ชื่อว่า เมืองงืด ซึ่งน่าจะแปลว่าความบังเอิญและเรียกต่อๆกันว่า เมืองกื้ด
๒. เมืองกื้ดเป็นชื่อเดิมของหมู่บ้านตั้งตามลักษณะของลำน้ำแม่แตง ซึ่งคำว่า กื้ด
เป็นคำโบราณเป็นคำเฉพาะใช้สำหรับน้ำที่ไหลผ่านหินหรือภูเขาเพื่อทะลุไปยังอีกฟากหนึ่ง เช่นที่ตำบลอินทขิลก็มีหมู่บ้าน ลักษณะนี้ เรียกว่า บ้านปางกื้ด
และสถานที่มีลักษณะเช่นนี้ในประเทศพม่าก็เรียกว่า กื้ด เช่นกัน
เมืองกื้ด เป็นที่มาของคำว่า ตำบลกื้ดช้าง แต่เดิมเป็นที่อาศัยของชาวลั๊วะ
ได้เคยเป็นเมืองเมืองหนึ่งในหลายเมืองของอาณาจักรล้านนามีอายุการสร้างหลายร้อยปี
ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเส้นทางติดต่อระหว่างล้านนากับประเทศพม่าที่มีการติดต่อค้าขาย ตลอดถึงการเดินทัพสมัยโบราณ ซึ่งเส้นทางนี้จะผ่านเมืองกื้ด
เมืองคอง เมืองแหง และเข้าเขตพม่า
ในสมัยโบราณเมืองกื้ดก็มีเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแล ต่อมาภายหลังถูกพม่าคุกคามบางครั้งก็เป็นของพม่า บางครั้งก็เป็นของเชียงใหม่ จวบจนรัชสมัย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ต้องการแผ่พระบรมราชานุภาพจึงยกทัพจากกรุงศรีอยุธยา ผ่านเชียงใหม่เพื่อจะไปตีเมืองอังวะ พระองค์ทรงใช้เส้นทางเดินทัพ
ตามเส้นทางเดิมของชาวเชียงใหม่และพม่าที่เคยใช้ติดต่อกัน คือต้องผ่าน เมืองกื้ด เมืองคองและเมืองแหง พระองค์ได้ทรงพักทัพที่บริเวณเมืองกื้ด หรือที่เรียกว่า
น้ำลั่นกื้ด
(พระวิหารที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ถวายให้พระพี่นางสุพรรณกัลยา
มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังพระวิหาร ด้านข้างเป็นอนุสาวรีย์พระนเรศวร)
ในคราวที่ทำการบูรณะวิหารหลังเก่า (พ.ศ.๒๕๓๒) มีจารึกว่าสร้างในปี พ.ศ. ๒๒๘๒ โดยได้จารึกไว้ในไม้กระดานเป็นอักษรขอม แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว
เจ้าอาวาสองค์หนึ่งที่ปกครองวัดเมืองกื้ด ในยุคสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกกับพม่าเพื่อขับไล่พม่าออกไปจากแผ่นดินไทยนั้น เรียกว่า
"ครูบาพรหมมหาปัญญา" (ครูบาหน้อย)
เล่ากันว่าครูบารูปนี้ได้ปรารภธรรมกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในคราวที่พระองค์เสด็จขึ้นไปเมืองแหง และได้ทรงเสี่ยงทายปลูกต้นโพธิ์กับครูบาพรหมมหาปัญญา
โดยพระองค์ทรงปลูกไว้ที่หน้าวัดเมืองกื้ด
สังเกตได้จากพระประธานในอุโบสถจะมีลักษณะพิเศษต่างจากพระพุทธรูปในล้านนา คือจะมีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน ( ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยา )
มีพระพักตร์ที่อ่อนช้อยงดงาม ท่านผู้รู้บางท่านกล่าวว่าพระองค์ทรงนำใบหน้าของ พระพี่นางสุพรรณกัลยา มาเป็นเค้าหน้าพระประธาน (
นอกจากนั้นตัวอาคารของอุโบสถเป็นศิลปะล้านนา ) จากนั้นทรงยกทัพเสด็จตามลำน้ำแม่แตงผ่านเมืองคอง เมืองแหง และเสด็จสวรรคต ในพ.ศ.๒๑๔๘
ในปัจจุบันที่วัดเมืองกื้ด ต้นโพธิ์ที่พระองค์ทรงปลูกยังยืนต้นเด่นเป็นสง่าที่หน้าวัด
ซึ่งต้นโพธิ์ต้นนี้ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวว่าเป็นหน่อของพระศรีมหาโพธิ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ที่ประเทศอินเดีย
กล่าวคือจะมีใบขนาดเล็กกว้างประมาณ ๒-๓ นิ้วไม่เหมือนต้นโพธิ์ทั่วไปที่มีใบใหญ่ ขนาด ๕-๖ นิ้ว
.......(ในปัจจุบันต้นโพธิ์ยังคงอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารจากการศึกษาค้นคว้าของ นายชัยยง ไชยศรี ว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มาพักทัพคืนที่
๓ ณ เมืองกื้ด แม่น้ำแม่แตง วันพฤหัสบดี ที่ ๑๔ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕
........และพระองค์อาจจะได้ทรงสั่งให้บูรณะวัดเมืองกื้ดด้วยก็เป็นได้ หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงยกทัพเสด็จตามฝั่ง ลำน้ำแม่แตงขึ้นไปถึงเมืองคอง เมืองแหง
และทรงสวรรคต ในปี พ.ศ.๒๑๔๘
........จากหลักฐานที่พบในพระวิหารหลังเก่าจารึกว่าสร้างปี พ.ศ.๒๒๘๒ คาดว่าน่าจะมีผู้มาบูรณะวัดและอาจจะจารึก ปี พ.ศ. ที่ทำการบูรณะก็เป็นได้
ซึ่งจากหลักฐานที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จสวรรคตนั้น ตรงกับ พ.ศ.๒๑๔๘ และที่พระองค์ทรงปลูกต้นโพธิ์ไว้ยังเห็นเป็นรูปร่างอยู่
ดังนั้นคาดว่าวัดเมืองกื้ดน่าจะสร้างก่อนปี
พ.ศ.๒๑๔๘)
ในพ.ศ.๒๔๑๗ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๗ ได้มีคำสั่งให้คนเมืองกื้ด จำนวน ๕๐ คนไปดูแลรักษาด่านเมืองแหง
(ขณะนั้นเมืองแหงเป็นเมืองร้างและเป็นช่องทางค้าขายกับพม่าคือช่องทางหลักแต่ง) เพื่อคุ้มครองผู้เดินทางค้าขาย และปราบปรามโจรผู้ร้าย
พ.ศ.๒๔๓๕ บ้านเมืองกื้ด หมู่ ๑ เป็นสถานที่ตั้งของแขวงอยู่ที่บ้านเมืองกื้ด เรียกว่า แขวงเมืองกื้ด ซึ่งมีขุนกื้ดคีรีวงค์ เป็นผู้ปกครองในสมัยนั้น
บ้านเมืองกื้ดเท่าที่ทราบมีผู้ปกครองได้แก่
๑. เจ้าพ่อขุนธนูทอง (ต๊าวอ้าย) เป็นผู้ปกครองดูแลเมืองกื้ดสมัยขึ้นกับเมืองเชียงใหม่
๒. เจ้าขุนกื้ดคีรีวงค์ เป็นผู้ปกครองแขวงเมืองกื้ด พ.ศ. ๒๔๓๕ (แขวงตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านเมืองกื้ด เป็นแขวงได้ ๒ ปี จากนั้นย้ายไปบ้านวังแดง
พ.ศ.๒๔๓๗)
๓. แสนคำเขื่อนขั้น จอมคีรีเมฆ (แสนไชย,แสนกั๋น) เป็นผู้ปกครองเมืองกื้ด (ปกครองทั้งเมืองกื้ด บ้านช้างดังปรากฏในค่าวว่า เมืองกื้ดบ้านช้าง
กิ๋นน้ำบ่อไหล ลูกน้องแสนไชย คอปอตกปล้อง หมายความว่า เมืองกื้ดและบ้านช้างดื่มน้ำแม่แตงจนคอพอก เพราะสมัยก่อนไม่มีเกลือไอโอดิน)
(อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมีคนนำไก่ไปถวายบูชา
ส่วนด้านข้างอนุสาวรีย์จะมีป้ายคำจารึกประวัติการบูรณะ)
ปูชนียวัตถุสำคัญภายในวัด
๑. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน พระประธานในพระอุโบสถ
หน้าตักกว้าง ๔๖ นิ้ว สูง ๑๘๐ นิ้ว
๒. พระสิงห์ ๓ จำนวน ๒ องค์ องค์ที่ ๑ หน้าตักกว้าง ๒๓ นิ้ว สูง ๑๒๐ นิ้ว
องค์ที่ ๒ หน้าตักกว้าง ๒๓นิ้ว สูง ๑๐๑ นิ้ว
๓. พระปิ่น (เป็นหินอ่อน) ๑ องค์ สูง ๒๓ นิ้ว กว้าง ๘ นิ้ว
๔. พระเกษร ( ทำจากดอกไม้ ) สูง ๒๓ นิ้ว กว้าง ๑๐ นิ้ว
๕. สัตตภัณฑ์
๖. เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ( เครื่องบวชพระพุทธรูปของชาวล้านนา )
๗. หีบธรรม
๘. ปราสาทพระ
ปูชนียสถานภายในวัด
๑. อุโบสถ ทรงล้านนา ( แต่เดิมเป็นวิหาร ภายหลังบูรณะเป็นอุโบสถ )
๒. วิหาร
๓. พระธาตุก้าวหน้ามหามงคลคีรี ศรีเมืองกื้ด
๔. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๕. รอยพระหัตถบาท
๖. พระบาทเกือกแก้ว
ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
๑. ครูบากัณฑารขะ ( ครูบาขาว ) เจ้าอาวาสองค์แรก
๒. ครูบาพรหมมหาปัญญา ( ครูบาหน้อย ) ประมาณ พ.ศ. ๒๑๑๐ - ๒๑๖๐
๓. ครูบาพรมเสน ประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๐-๒๔๑๐
๔. ครูบาหลวงอินต๊ะ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๐ - ๒๔๗๖
๕. พระอรุณ อรุโณ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๓ - ๒๕๐๐
๖. พระตั๋น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๐๓
๗. พระตั๋นพาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๙
๘. พระชัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ - ๒๕๑๓
๙. พระอธิการจันทร์แก้ว อินทวณฺโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๙
๑๐. พระทัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ - ๒๕๒๐
๑๑. พระจันทร์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑
๑๒. พระสม สุภโร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๒๔
๑๓. พระมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๖
๑๔. พระสกล อภินนฺโท ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๒๗
๑๕. พระอธิการสุรพล ปทุมวณฺโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๓๗
๑๖. พระคำ สีสํวโร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๙
๑๗. พระมินทร์ตา กตธมฺโม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ๒๕๕๐
๑๘. พระถา รตนวณฺโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ปัจจุบัน
ประวัติการค้นพบรอยพระพุทธหัตถ์
| |
เรื่องประวัติความเป็นมาก่อนที่จะค้นพบนั้น ความจริงให้เจ้าอาวาสบันทึกส่งมาให้ แต่เวลานี้ก็ยังไม่ได้รับ จึงต้องเล่าเท่าที่จำได้สั้นๆ ว่า
เป็นรอยพระหัตถ์ที่พบขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551ท่านได้ฝันว่ามีคนมาบอกให้ไปค้นหา ต่อมาก็จึงได้พบก้อนหินนี้ เดิมทียังไม่มีรอยแต่อย่างใด
เพิ่งจะปรากฏขึ้นให้เห็นเป็นอัศจรรย์
| |
ก้อนหินนี้ก็มีอยู่เดิมข้างถนนทางขึ้นวัด วางอยู่นานแล้วโดยไม่มีใครสนใจ ซึ่งมีรอยปรากฏขึ้นเป็นธรรมชาติ ทางวัดได้ทางฝากระจกครอบเอาไว้
จึงได้เอาผ้าห่มสไบบูชาไว้รอบรั้ว ต่อจากนั้นจึงบวงสรวงด้วยเทปหลวงพ่อ เห็นไม้ว่าวางอยู่ จึงอธิษฐานวัดไม้วา ปรากฏว่าเป็นรอยพระพุทธหัตถ์จริง
| |
นอกจากนี้ยังมีรอยเล็กๆ ปลายแหลม คล้ายรอยเกือกแก้วอีกแห่งหนึ่งด้วย จากนั้นก็เดินลงมาข้างล่าง เพราะท่านเล่าว่า วันที่พบรอยพระหัตถ์นั้น
ได้มีน้ำพุ่งออกมาจากบ่อน้ำเล็กๆ อีก 2 บ่อด้วย ทั้งๆ ที่เดิมก็ยังไม่ปรากฏมีมาก่อนเช่นกัน น้ำไหลตลอดจนทุกวันนี้ จึงได้นำก้อนอิฐไปวางกั้นไว้ที่ขอบบ่อ
| |
บ่อน้ำทิพย์สองบ่อนี้แปลกประหลาดมาก จะมีรสไม่เหมือนกัน บ่อหนึ่งมีรสฝาด อีกบ่อหนึ่งมีรสหวาน ค้นพบครั้งแรกมีกบตัวใหญ่ 2 ตัว หนักประมาณ 1
กิโลกรัมอยู่ด้วย จึงได้ถ่ายรูปเอาไว้ที่เห็นนี้ ต่อมาเด็กๆ จับเล่นบ่อยๆ เจ้าอาวาสจึงอธิษฐานว่า ถ้าเป็นเทวดาอารักษ์จริงก็ขอให้ไปเสียเถิด
| |
พอวันรุ่งขึ้นก็หายไปแล้ว จึงได้ปั้นรูปพญากบเอาไว้เป็นอนุสรณ์ ภายหลังมีชาวบ้านมาน้ำไปอธิษฐานดื่มกินรักษาโรคได้หลายรายแล้ว
ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างหลังคา ครอบทั้งรอยพระหัตถ์และบ่อน้ำทิพย์ จึงได้ร่วมทำบุญทุกอย่าง 20,000 บาท และรับเป็นเจ้าภาพที่จะถวายพระพุทธรูป หน้าตัก
30 นิ้ว มาถวายไว้ที่รอยพระหัตถ์นี้ พร้อมทั้งถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาทครบชุดอีกด้วย
| |
หลังจากนั้นก็เดินเข้าไปหลังศาลา มองเห็นพระเจดีย์อยู่บนเนินเขาสูงขึ้นไป แล้วจึงได้ขอลาท่านออกเดินทางกลับ พร้อมทั้งจดหมายเลขบัญชีธนาคาร
เพื่อจะได้โอนเงินไปทำบุญเพิ่มเติมอีก
ข่าวพบรอยพระหัตถ์พระพุทธเจ้า
จากหนังสือพิมพ์ www.thainews70.com/
........แตกตื่นพบรอยพระหัตถ์พระพุทธเจ้า
รอยพระบาทเกือกแก้วพระอรหันต์ 7 ขวบผู้ติดตามพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาล ก่อนพบรอยพระบาท เจ้าอาวาสวัดฝันเห็นชีปะขาวมาอวยพร จึงให้สามเณรลงมือปัดกวาดสถานที่
หน้าวัดเพื่อจัดตั้งทำเวทีพุทธาภิเษก ตะลึงพบรอยพระบาทขนาดใหญ่ ยาว 29 นิ้ว กว้าง 23 นิ้ว ปรากฏบนก้อนหินขนาดใหญ่ ด้านล่างมีบ่อน้ำทิพย์ที่ล้างบาตร
และบ่อน้ำดื่ม
.......เผยแหล่งที่พบ เป็นที่เส้นทางผ่านกองทัพ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ยกทัพไปรบกับพม่าเมื่อ 700 ปี ทีมงานสร้างภาพยนตร์หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ได้มาสำรวจเส้นทางการเดินทัพเพื่อจัดสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3
ผู้สื่อข่าวรายงานมาเมื่อ เวลา 11.30 น.วันที่ 19 ม.ค.นี้ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก พระอธิการถา รัตนวัณฺโณ เจ้าอาวาสวัดเมืองกึ๊ด หมู่ 1 ต.กึ๊ดช้าง
อ.แม่แตงเชียงใหม่ ว่า ได้พบรอยพระหัตถ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ และพบรอยพระบาทเกือกแก้ว พระอรหันต์ 7 ขวบ
ผู้ติดตามพระพุทธเจ้า สมัยพุทธกาล และยังพบ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นยารักษาโรคที่วัด ขอให้ไปร่วมตรวจสอบด้วย
ดังนั้นต่อมาผู้สื่อข่าว ได้เดินทางเข้าพบ พระอธิการถา รตนวณฺโณ เจ้าอาวาสวัด และ พระปิยะพันธ์ สุนทรปญโญ รองเจ้าอาวาสวัด และ พระจิรพงศ์ ชยมมงคโล
เลขาเจ้าอาวาส ได้พาผู้สื่อข่าวไปดูรอยพระหัตถ์ รอยพระบาท และบ่อน้ำทิพย์ ที่อยู่บริเวณหน้าวัดเมืองกื้ด ซึ่งทางวัดได้มีกั้นบริเวณไว้ และ
มีด้ายสายสิญจน์โยงใยเป็นลักษณะการผ่านการสวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
พระอธิการถา รัตนวณฺโณ เปิดเผยว่า การค้นพบรอยพระหัตถ์ รอยพระบาท และบ่อน้ำทิพย์ นั้น มีเรื่องราวความเป็นมาคือ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.51 ในตอนเย็น
ได้มีพระภิกษุสามเณร ได้พากันกวาดบริเวณทางขึ้นวัดได้พบก้อนหินก้อนหนึ่งอยู่ริมทางเดินมีลักษณะคล้ายรอยเท้าเด็ก แต่ไม่มีนิ้ว จึงคิดว่า น่าจะใช่รอยพระบาท
จึงได้เขียนวันที่พบก้อนหินนั้นไว้
จากนั้นได้นำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการบูชา แล้วไปค้นคว้าสอบถามผู้รู้หลายคนบอกว่า เป็นรอยพระบาทของพระอรหันต์ 7 ขวบ ที่ติดตามพระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาล
และประทับรอยพระบาทเอาไว้เป็นที่ระลึก จึงได้ตั้งชื่อไว้ว่า "พระบาทเกือกแก้วร่มโพธิ์นเรศวร"
จากนั้นวันที่ 8 ธ.ค.51 ได้มีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดงานสมโภช พระธาตุก้าวหน้ามหามงคลคีรี ศรีเมืองกื้ดขึ้น จากนั้นในที่ประชุมได้มีมติ
จะเอาวงแห่พื้นเมืองมาตั้งบริเวณทางขึ้นหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดจึงได้ให้พระภิกษุ สามเณร ทำความสะอาดบริเวณหน้าวัด ได้มีการถอนหญ้าที่รกขึ้นใกล้ก้อนหิน
ปรากฏว่าพบรอยพระหัตถ์ สร้างความปลื้มยินดีแก่พระเณร และศรัทธาบ้านเมืองกื้ดเป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งชื่อว่า"พระหัตถบาทก๊อแก้วเมืองกื้ด"
เพราะเจอระหว่างต้นก๊อกับต้นแก้วโดยพระหัตถ์ มีความกว้าง 23 นิ้ว ความยาว 29 นิ้ว แต่ละนิ้วกว้าง 3 นิ้ว
เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปก็มีคณะศรัทธาสาธุชนทั่วทุกสารทิศ พากันมากราบไหว้ เพื่อเยี่ยมชม สักการะไม่ขาดสาย
ซึ่งในคืน วันที่ 8 ธ.ค.51 เจ้าอาวาสวัดได้นิมิตฝันเห็นชีปะขาวมาอวยพร พร้อมกับบอกแหล่งบ่อน้ำทิพย์ ซึ่งมีกบตัวใหญ่หนักประมาณครึ่งกิโลกรัม เฝ้าอยู่
จึงได้ลงไปค้นหาก็เจอบ่อน้ำทิพย์ในวันที่ 10 ธ.ค.51 ทางเจ้าอาวาสวัด จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ พอรุ่งเช้ากบตัวนั้นได้หายไป
ทุกวันชาวบ้านจะมาอธิษฐานเพื่อขอน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ไปดื่มบางคนก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก ในแต่ละวันจะมีศรัทธาสาธุชนทั่วสารทิศมาสักการะ
รอยพระหัตถบาท รอยพระบาทเกือกแก้ว และเอาน้ำจากบ่อน้ำทิพย์ไปดื่มกินไม่ขาดสาย
เจ้าอาวาสวัดเมืองกื้ด เปิดเผยต่ออีกว่า ในครั้งแรกชาวบ้านบางคนไม่เชื่อว่าเป็นรอยพระหัตถ์และรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า แต่หลังจากมีข่าวแพร่ออกไปทางด้าน
หลวงพ่อชัยวัฒน์ อชิโต จากวัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ผู้ที่ทำการศึกษาคิดค้นเกี่ยวกับตำรารอยพระพุทธบาท รอยพระหัตถ์ พระพุทธเจ้า
ได้เดินทางมานั่งสมาธิกรรมฐานภายใน เกิดอาการปวดหัวอย่างแรง จึงได้สวดพระพุทธมนต์ และนำน้ำจากบ่อน้ำทิพย์มาดื่ม
ปรากฏว่าหายเฉียบพลัน จึงเกิดความเชื่อว่า เป็นรอยพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าที่ได้เดินทางมาจารึกไว้
ซึ่งรอยพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าจะปรากฏน้อยกว่ารอยพระบาท โดยรอยพระหัตถ์ที่พบเป็นรอยพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าจริงๆ
นอกจากนั้นทางวัดได้ก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นมาหนึ่งองค์บนภูเขา เพื่อเป็นการกราบไหว้สักการะแก่หมู่คนและเทวดา
และเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป จึงตั้งชื่อว่า "พระธาตุก้าวหน้ามหามงคลคีรีศรีเมืองกื้ด "
เป็นชื่อที่เป็นสิริมงคลใครมากราบไหว้และจะพบแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
ทางด้านพระปิยะพนธ์ สุนทรปญโญ รองเจ้าอาวาสวัดเมืองกื้ด เปิดเผยว่า สำหรับเมืองกื้ดเป็นเมืองโบราณ ประมาณว่าสร้างขึ้นสมัยเมืองเชียงใหม่ เมืองพร้าว
เมืองแหง ประมาณ 700 ปีที่ผ่านมา มีการจารึกไว้ในไม้กระดานเป็นอักษรขอม แต่ปัจจุบันได้หายไป
ในยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำศึกกับพม่าเพื่อขับไล่ออกไปจากแผ่นดินไทยนั้น ได้มีการปรารภธรรมกับครูบาพรหมมหาปัญญา (ครูบาหน้อย)
ในคราวเสด็จไปเมืองแหง โดยพระองค์ทรงปลูกต้นโพธิ์กับครูบาพรหมมหาปัญญาไว้หน้าวัด ในปัจจุบันต้นโพธิ์ยังคงอยู่
ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารจากการศึกษาค้นคว้าของนายชัยยง ไชยศรี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ศึกษาค้นคว้า
ทราบว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวร ได้มาพักทัพที่เมืองกื้ด และได้สั่งให้บูรณะวัดเมืองกื้ดด้วย หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2147
พระองค์ได้ยกทัพเสด็จไปเมืองแหงและทรงสวรรคต มีพระชนมายุ 50 พรรษา เมื่อเดือนธันวาคม 51 ที่ผ่านมาทางทีมงานภาพยนตร์เรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้จัดส่งทีมงานติดต่อมาทางวัดเพื่อถ่ายทำเส้นทางการเดินทัพและหนังประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวรภาค 3
โดยในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและหาโลเกชั่นเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์.
ขอแก้ข่าว
เรื่องการนำเสนอข่าวนี้ หลวงพี่ชัยวัฒน์ขอแก้ตรงคำที่ว่า
"...ได้เดินทางมานั่งสมาธิกรรมฐานภายใน เกิดอาการปวดหัวอย่างแรง จึงได้สวดพระพุทธมนต์ และนำน้ำจากบ่อน้ำทิพย์มาดื่ม
ปรากฏว่าหายเฉียบพลัน จึงเกิดความเชื่อว่า เป็นรอยพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าที่ได้เดินทางมาจารึกไว้..."
ความจริงในวันที่ไปนั้นตรงกับวันที่ 6 มกราคม 2552 ได้ไปเห็นแล้ว ท่านก็เชื่อว่าเป็นรอยจริง เพราะได้สำรวจมาแล้วหลายแห่ง
จากนั้นท่านได้ทำพิธีบวงสรวงและได้อธิษฐานวัดไม้ว่า ปรากฏว่าเป็นไปตามนั้นจริง ส่วนเรื่องอาการปวดหัว ไม่ได้ปวดหัวรุนแรงแต่อย่างใด
ปวดนิดหน่อยเนื่องจากเดินทางมาไกล ถนนไม่ค่อยดีเท่านั้นเอง จึงขอชี้แจงไว้เพียงแค่นี้ครับ