ตามรอยพระพุทธบาท

ความรู้เรื่อง "เด็กวัด" จากคุณอภิมุข
webmaster - 28/4/08 at 07:21

ส่งมาจาก..คุณอภิมุข

บทความพิเศษ / เด็กวัด

".......เมื่อพูดถึง “เด็กวัด” หลายคนคงจะนึกถึงภาพของเด็กชาย หรือวัยรุ่นชายที่ถือย่าม ปิ่นโต หรือถุงกับข้าวเดินตามหลังพระภิกษุที่ออกบิณฑบาตตอนเช้า และคอยหยิบอาหารที่เต็มออกจากบาตร แต่เด็กหรือวัยรุ่นนี้มาจากไหน และมีความเป็นอยู่อย่างไร อาจจะอยู่ห่างจากความคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของเรา

ผลงานวิจัยบางส่วนจากเรื่อง “วัดกับเยาวชน : บทบาทของวัดในการส่งเสริมให้ศิษย์วัดประสบความสำเร็จในชีวิต” ของ ประภาพร ชุลีลัง ทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กล่าวถึงบทบาทของวัดในอีกแง่มุมหนึ่ง นอกเหนือไปจากการเป็นศาสนสถานเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม รวมถึงการดำรงชีวิตของเด็กวัดหรือศิษย์วัด ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้

“วัด” นับเป็นศูนย์กลางของสังคม และตัวแทนของสถาบันทางพุทธศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานนอกจากเป็นที่พำนักของพระภิกษุผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาแล้ว วัดยังเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ทางสังคมในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ศูนย์กลางการศึกษา (ในอดีต) เป็นที่พึ่งทางใจ สอนวิชาชีพ ที่พักคนเดินทาง ฌาปนสถาน กล่าวได้ว่าวัดมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

ในสมัยที่ยังไม่มีโรงเรียนเช่นปัจจุบัน เด็กผู้ชายมักถูกส่งเข้ามาอยู่ที่วัด เพราะวัดเป็นสถานที่แห่งเดียวที่จะให้การศึกษาเล่าเรียนศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ โดยมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้สูงกว่าชาวบ้าน เป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้ ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมถึงการอบรมจรรยามารยาท ดังนั้น บุคคลไม่ว่าจะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจเช่นไร ถ้าต้องการให้บุตรหลานได้เล่าเรียนก็จะนำไปฝากให้อยู่ที่วัด

เป็นลูกศิษย์วัด คอยปรนนิบัติรับใช้พระภิกษุสงฆ์ และเมื่อมีอายุพอสมควรก็จะบรรพชาเป็นสามเณรและเรียนธรรมชั้นสูงขึ้นไป ครั้นพออายุครบก็จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทำให้เด็กชายส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ มีความรู้ทางศีลธรรม จริยธรรม

ในหลักธรรมในทางพุทธศาสนา ถือเป็นเกียรติของตนและครอบครัว และยังเป็นที่ยอมรับยกย่องของสังคม ซึ่งสมัยก่อนจะถือว่าคนที่บวชเรียนแล้วเป็น “คนสุก” คือว่าผ่านการอบรมบ่มนิสัยมาแล้ว และจะเรียกคำนำหน้าผู้ที่สึกจากพระว่า “ทิด” เช่น ทิดขาว เป็นต้น

ปัจจุบัน แม้ว่าบทบาทของวัดจะลดน้อยลงไปกว่าเดิมในเรื่องการให้การศึกษา เพราะโรงเรียนได้แยกจากวัดแล้วก็ตาม แต่หน้าที่การให้ความสงเคราะห์ในเรื่องที่อยู่อาศัยแก่เด็กหรือเยาวชนที่มาศึกษาเล่าเรียนก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะเยาวชนจากส่วนภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง และมีบทบาทในสังคมจำนวนไม่น้อยก็เริ่มต้นมาจากการใช้ชีวิตอยู่ในวัด โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ให้ความอนุเคราะห์

“เด็กวัด” หรือศิษย์วัดในสมัยก่อน มักจะเป็นลูกหลานที่พ่อแม่ ผู้ปกครองส่งมาศึกษาหาความรู้กับพระภิกษุสงฆ์ ส่วนสมัยนี้เด็กวัดมีเพิ่มขึ้นหลายประเภท เช่น เด็กเร่ร่อน ถูกทอดทิ้ง ไม่มีบิดามารดา เด็กที่ผู้ปกครองฐานะยากจน เด็กที่พ่อแม่มีลูกหลายคนและเลี้ยงไม่ไหว เด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว หรือไปทำงานต่างถิ่น เด็กที่มาจากครอบครัวแตกแยก รวมถึงชาวเขาเผ่าต่างๆ จากชายแดนที่ฐานะยากจน เป็นต้น

สำหรับผลวิจัยที่ผู้วิจัยได้เลือกวัดที่เป็นกรณีศึกษา 5 แห่ง คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดชนะสงคราม, วัดราชาธิวาส และวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ด้วยการศึกษาจากเอกสารการบอกเล่า การสังเกต และการสัมภาษณ์ทั้งพระภิกษุและศิษย์วัด พบว่าศิษย์วัดส่วนใหญ่คล้ายกับอดีต คือมาอยู่เพื่อการศึกษาเล่าเรียนในสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

การจะมาเป็นศิษย์วัดใดได้นั้น จำเป็นจะต้องมีบุคคลที่อาจจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง ที่รู้จักกับเจ้าอาวาสหรือพระภิกษุในวัด หรือมีเพื่อนที่เคยเป็นศิษย์วัดเป็นผู้แนะนำมา ซึ่งมีศัพท์เรียกเฉพาะว่า “มาตามสาย” แต่ส่วนใหญ่ศิษย์วัดมักจะมีภูมิลำเนาเดียวกับพระภิกษุที่มาอาศัยอยู่ด้วย

พระภิกษุแต่ละรูปจะมีวิธีการขัดเกลาศิษย์ เช่น ให้สังเกตจากการปฏิบัติของพระภิกษุที่เป็นผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง หรือจากศิษย์รุ่นพี่ เพื่อนศิษย์วัดด้วยกันเป็นผู้แนะนำในเรื่องต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ที่เรียกว่า กติกาสงฆ์ หรือระเบียบวัด เช่น ศิษย์วัดต้องไม่เสพสิ่งเสพติดให้โทษ ไม่เที่ยวเตร่ยามค่ำคืน และให้ความเคารพต่อพระภิกษุสามเณรที่มีวัยวุฒิสูงกว่า ฯลฯ

ส่วนกิจกรรมของศิษย์วัด ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย การติดตามพระภิกษุไปบิณฑบาต, การจัดสำรับถวายพระ, การดูแลความสะอาดในบริเวณกุฏิและภายในวัด, การอำนวยความสะดวกแก่พระภิกษุ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ เช่น การสวดมนต์ไหว้พระ และเข้าร่วมประชุมศิษย์วัด การช่วยเหลือเมื่อวัดมีงานสำคัญ การฝึกตอบกระทู้ธรรม การติดตามพระภิกษุไปในกิจนิมนต์ในงานพิธีการต่างๆ

สำหรับบทบาทของวัด ที่เป็นองค์กรหนึ่งของสังคม ในการส่งเสริมให้ศิษย์วัดประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งในที่นี้หมายถึง การมีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีอาชีพ มีฐานะมั่นคง หรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้น พบว่าการที่ศิษย์วัดได้อาศัยวัดเป็นที่พักอาศัยโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และวัดยังได้อนุเคราะห์เรื่องอาหารการกิน ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นบางส่วน ทำให้ลดภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง

และเป็นการเพิ่มโอกาสในการศึกษาแก่ศิษย์วัด และจากการที่วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่มีความสงบร่มเย็น ทำให้ศิษย์วัดมีสมาธิในการศึกษาทบทวนบทเรียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งวัดยังมีพระภิกษุ ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตใจและสติปัญญา ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ อบรมศีลธรรมจรรยา และช่วยชี้นำความประพฤติ ทำให้ศิษย์วัดมีความรับผิดชอบต่อตนเอง มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา และมีมานะพยายาม

การที่ศิษย์วัดได้พบปะผู้คนมากมาย ที่มีพื้นฐานแตกต่างกันที่มาวัด ทำให้ได้เรียนรู้การปรับตัวเข้าหาผู้อื่น มีความอดทน รู้จักการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ซึ่งจากการศึกษาของผู้วิจัย พบว่า ศิษย์วัดในอดีตที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา มีอาชีพมั่นคง บางคนรับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ เป็นนักการเมือง นักธุรกิจที่มีชื่อเสียง ก็ล้วนเป็นผลมาจากการที่บุคคลเหล่านี้

ด้านหนึ่งเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้พบและสัมผัสแต่สิ่งดีๆ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามตามแบบอย่างที่ได้พบเห็น อันนำมาซึ่งการประสบความสำเร็จในชีวิตดังกล่าว จากที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นว่า แม้เด็กวัดจะมาจากที่ต่างๆ นานา แต่ส่วนมากเมื่อเข้ามาอยู่ในวัด เป็นเด็กวัดหรือศิษย์วัดแล้ว ต่างก็ต้องอยู่ในระเบียบวินัย มีกฎกติกาที่อาจจะมากกว่าอยู่ “บ้าน” ด้วยซ้ำ

ดังนั้น “วัด” จึงมีส่วนอย่างมากในการกล่อมเกลาจิตใจ และปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็กและเยาวชนเหล่านี้เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

วันที่ 23 มีนาคม 2550