วันอาสาฬหบูชา
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชา
ในพระพุทธประวัติ
หลังตรัสรู้-ทรงท้อพระทัยในการแสดงธรรม
หลังจากพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแล้ว
พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณสัตตมหาสถานโดยรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง ๗ สัปดาห์
และในขณะทรงนั่งประทับเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ หลังการตรัสรู้ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ได้ทรงมานั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง คนจะรู้และเข้าใจตามได้ยาก ทรงปรารถในพระทัยว่า
... บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะประกาศธรรมที่เราตรัสรู้ เพราะธรรมที่เราตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไป ที่ถูกราคะ
โทสะครอบงำอยู่จะไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย, คนที่ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองมืด (คืออวิชชา) หุ้มไว้มิดทั้งหลาย
ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมะของเราที่เป็นสิ่งทวนกระแส (อวิชชา) ที่มีสภาพลึกซึ้ง ละเอียดเช่นนี้ได้เลย...
( โคลงมหาสินธุมาลี )
พลันทบทวนทั่วทั้ง ธรรมวรา
เพราะหยั่งพระปัญญา ตรัสรู้
แลลุ่มลึกนักหนา เลิศยิ่ง
ใครเล่าควรเป็นผู้ เพื่อแจ้งกระจ่างตาม
พระพรหมมาอาราธนาให้แสดงธรรม
เมื่อพระพุทธองค์ดำริจะไม่แสดงธรรมเช่นนี้ ปรากฏว่าท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบความดังกล่าวจึงคิดว่า[8]
"โลกจะฉิบหายละหนอ เพราะจิตของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อแสดงธรรม"
ท้าวสหัมบดีพรหม จึงเสด็จลงจากพรหมโลก เพื่อมาอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงตัดสินใจที่จะทรงแสดง พระธรรมที่ทรงตรัสรู้แก่คนทั้งหลาย
โดยท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวว่า
"ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด
ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด
สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม
สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่"
จากนั้นท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวอาราธนาเป็นนิพนธ์คาถาอีก ใจความโดยสรุปว่า
.. ขณะนี้ ธรรมะที่ไม่บริสุทธิ์ได้เกิดขึ้นในแคว้นมคธมาเนิ่นนาน.
ขอให้พระองค์เปิดประตูนิพพานอัน ไม่ตาย เพื่อสัตว์ทั้งหลายจักได้ฟังธรรมและตรัสรู้ตามเถิด,
คนยืนบนยอดเขา ย่อมเห็นได้โดยรอบฉันใด.
ข้าแต่พระองค์ พระองค์ย่อมเห็น!
พระองค์เห็นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่จมอยู่ในความทุกข์โศกทั้งปวง ถูกความเกิดแก่เจ็บตายครอบงำอยู่ไหม!.
ลุกขึ้นเถิดพระองค์ผู้กล้า! พระองค์ผู้ชนะสงคราม (คือกิเลส) แล้ว!...
ขอพระองค์เสด็จจาริกไปในโลกเถิด, ขอพระองค์จงทรงแสดงธรรมเถิด
สัตว์ที่จะรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์ มีอยู่แน่นอน!
( กลอนแปด )
ครั้งนั้น ท้าวสหัสบดีพรหม ที่นิยมว่าใหญ่ในสามโลก
ครั้งเห็นเหตุเช่นนั้นก็ทันความ มาทูลถามทูลองค์ทรงกรุณา
ว่าบัดนี้หมู่ผู้ฅน ทุกหนแห่ง ต่างสำแดงเดชกันด้วยตัณหา
พบแต่ทุกข์ทุกวันไร้ปัญญา ขอจงเทศนาพาพ้นภัย
ทรงพิจารณาเห็นบุคคลเปรียบบัวสามเหล่า-ตัดสินใจแสดงธรรม
หลังจากพระพุทธองค์ทรงพิจารณาตามคำเชื้อเชิญของสหัมบดีพรหม ที่เชิญให้ พระองค์แสดงธรรม
พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาตรวจสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ และทรงเห็นว่า สัตว์โลกที่ยังสอนได้มีอยู่
เปรียบด้วยดอกบัว ๓ จำพวก พวกที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มี พวกที่สอนได้ยากก็มี ฯลฯ
ดังความต่อไปนี้
เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี
มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี
มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี
มีอินทรีย์อ่อนก็มี
มีอาการดีก็มี
มีอาการเลวก็มี
จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี
จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี
บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี
เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว
ซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ
บางเหล่ายังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
บางเหล่า ตั้งอยู่เสมอน้ำ
บางเหล่า ตั้งขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติด
ฉันใด ดูกรราชกุมาร เมื่ออาตมภาพตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ฉันนั้น
ได้เห็นหมู่สัตว์ซึ่งมีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยก็มี
มีกิเลสดุจธุลีในจักษุมากก็มี
มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี
มีอินทรีย์อ่อนก็มี
มีอาการดีก็มี
มีอาการเลวก็มี
จะพึงสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี
จะพึงสอนให้รู้ได้ยากก็มี
บางพวกมีปกติเห็นโทษในปรโลกโดยเป็นภัยอยู่ก็มี...
ด้วยเหตุที่พระพุทธองค์พิจารณาบุคคลเปรียบด้วยบัวสามเหล่าดังกล่าว
พระพุทธองค์จึง ทรงตัดสินใจที่จะแสดงธรรม เพราะทรง
อาศัยบุคคลที่สามารถตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้เป็นหลัก
ดังความที่ปรากฏใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า
... บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว
จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย
เมื่อไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลงสู่ความแน่นอนมั่นคงและความถูกต้อง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบุคคล ๓ จำพวกนั้น เพราะเห็นแก่
บุคคลผู้ ได้เห็นพระตถาคต ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จึงหยั่งลงสู่ความแน่นอนถูกต้องในกุศลธรรม เมื่อไม่ได้เห็นไม่ได้ฟัง ย่อมไม่หยั่งลง
เราจึงอนุญาตการแสดงธรรมไว้ และก็เพราะ อาศัยบุคคลเหล่านี้เป็นหลักอีกเหมือนกัน จึงจำต้องแสดงธรรมแก่บุคคลประเภทอื่นด้วย...
หลังจากทรงตั้งพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ มาสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย
( กลอน ๘ )
ครั้นสดับรับฟังความดังนี้ ก็ทรงมีพระคุณกรุณาใหญ่
อาราธนาว่ารับทันใด แล้วจึ่งได้ใคร่ครวญทบทวนการณ์
ว่าหมู่สัตว์น้อยใหญ่ในโลกนี้ ล้วนแต่มีชีวาน่าสงสาร
มัวแต่หลงล่องเลี้ยวเที่ยวซมซาน เหตุไม่พานพบธรรมนำทางไป
จึงทรงเห็นสัตว์มีสี่พวกหมู่ ที่ได้อยู่ในโลกนี้เหตุมีไฉน
หนึ่ง อุคฆฎิตัญญู รู้ทันใด ย่อมบรรลุธรรมอำไพในฉับพลัน
สอง วิปจิตัญญู รู้ภายหลัง ไม่พลาดพลั้งหลงไปในธรรมนั่น
สาม เนยยะ คอยชี้ทุกวี่วัน อาจเท่าทันรู้ธรรมที่แท้จริง
สี่ ปทปรมะ นะหนักหนอ สอนจนพอยังไม่รู้ดูอ่อนยิ่ง
คงต้องปล่อยลอยไปไม่ประวิง แล้วละทิ้งเลิกสอนจรจำเป็น
อันหมู่ชนทั้งสี่ที่พบเข้า เปรียบเหมือนบัวสี่เหล่าเท่าที่เห็น
จะรู้ธรรมนำไปไม่ยากเย็น จึงจบเจนเมตตาทรงการุณย์
พระองค์ได้ทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะแสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ โปรดก่อนเป็นบุคคลแรก
ในครั้งแรกพระองค์ทรงระลึกถึง อาฬารดาบสกาลามโคตร และ อุทกดาบสรามบุตร ก่อน
ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระอาจารย์ที่พระองค์ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของท่านก่อน ปลีกตัวออกมาแสวงหาโพธิญาณด้วยพระองค์เอง
ก็ทรงทราบว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว
จึงได้ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
และทรงทราบด้วยพระญาณว่า ปัญจวัคคีย์พำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
พระองค์จึงตั้งใจเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นครั้งแรก
( กลอนแปด )
อาฬารอุทกดาบส สอง ทรงตรึกตรองตริทันที่ท่านหนุน
เคยได้รับอุ่นเอื้อความเจือจุน ท่านมีคุณแนะนำไม่อำพราง
แต่รู้ว่าชีวันอาสัญแล้ว รู้ว่าแคล้วคลาดกันต้องห่างเหิน
ปัญจวัคคีย์อยู่พึงรู้ทาง ย่อมกระจ่างแจ้งธรรมเหตุนั่นจริงๆ
เสด็จสู่พาราณสี-โปรดปัญจวัคคีย์
พระพุทธองค์ใช้กว่า ๑๑ วัน เป็นระยะทางกว่า ๒๖๐ กิโลเมตร เพื่อเสด็จจากตำบลอุรุเวลา ตำบลที่ตรัสรู้ ไปยังที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์
(โคลงสี่สุภาพ )
เห็นจริงเหตุนั้นแท้ พุทธองค์
มีพุทธประสงค์ โปรดให้
ปัญจวัคคีย์คง ไม่ขุ่น เคืองนา
จึงเคลื่อนเดินดำเนินได้ ดุ่มดั้นดันจรัล
ทรงครรไลสู่ป่าไม้ ของฤษี
ณ.เมืองพาราณสี สืบหน้า
หมู่ปัญวัคคีย์ คงอยู่ นั่นแล
พระผ่องพรรณเจิดจ้า แจ่มล้ำรัศมี ฯ
เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่อยู่ของเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือน ๘ (อาสาฬหมาส)
ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จเข้าไปที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล ด้วยเหตุที่ปัญจวัคคีย์รังเกียจว่า
"เจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาหันมาเสวยอาหารเป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมจึงได้เสด็จมา"
จึงได้นัดหมายกันและกันว่า
"พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้
ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเอง"
( โคลงสี่สุภาพ )
ไกลไกลใช่แล้วนี่ พระมุนี
ปัญจวัคคีย์ทราบดี นั่นให้
นัดหมายมั่นทันที เทียวว่า
จงอย่านบอย่าไหว้ อย่าต้อนรับพระองค์ ฯ
คงแหนงหน่ายเหนื่อยล้า โรยรา
จึ่งมุ่งหมายมาหา เพื่อให้
พวกเราช่วยกายา ยืนอยู่ จริงนา
หวังว่าจะมาใช้ ช่วยใช้อย่าหวัง
ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงกลุ่มพระปัญจวัคคีย์
พระปัญจวัคคีย์นั้นกลับลืมข้อตกลงที่ตั้งกันไว้แต่แรกเสียสิ้น ต่างลุกขึ้นมาต้อนรับพระพุทธเจ้า
รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท
รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย
พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวายไว้
( โคลงสี่สุภาพ )
สั่งแล้วก็นั่งหน้า หน่ายเมิน
เมื่อพระองค์มาเผชิญ พบเข้า
กลับมาช่วยกันเชิญ มาช่วยรับนา
รีบรับรีบมาเฝ้า ต่างท้วงทักถาม
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
"เราตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม
พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร
'จักทำให้เข้าใจแจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์'
ที่คนทั้งหลายผู้พากันออกบวชจากเรือนต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง"
แรกทีเดียวพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงค้านถึงสามครั้งว่า
"แม้ ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม
อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษ อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ (อุตตริมนุสสธรรมอลมริยญาณทัสสนวิเสส)
ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม
อันเป็นความรู้ ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถได้เล่า"
( โคลงสี่สุภาพ )
แต่นามกลับเอื้อนเอ่ย อาวุโส
ทำหยิ่งทำยโส อย่างล้ำ
ทำยิ่งใหญ่อวดโต ตอบอย่าง เฉยเฮย
เหตุนั่นจึงตรัสย้ำ อย่าได้เชือนแช
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
"พวกเธอยังจำได้หรือว่า เราได้เคยพูดถ้อยคำเช่นนี้มาก่อน"
( โคลงสี่สุภาพ )
ฟังคำไม่ปลาบปลื้ม ปัญวัค-คีย์เอย
เพราะไม่เคยประจักษ์ จิตแท้
จึงทรงไถ่ทวงทัก ถามว่า เรานา
เคยเอ่ยเองหรือแล้ว ว่ารู้โพธิธรรม
และตรัสว่า
... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านทั้งหลายจงเงี่ยโสตลงเถิด
เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่
ไม่ช้าเท่าไรก็จักทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่...
( โคลงสี่สุภาพ )
แลดู ณ.บัดนี้ นั่นเถิด
เราหยั่งญาณอย่างเลิศ ตรัสรู้
อย่ามัวเบื่อหน่ายเถิด พวกท่าน เสงี่ยมเทอญ
พวกท่านจักเป็นผู้ พบรู้สัจธรรม ฯ
ด้วยพระดำรัสดังกล่าว พระปัญจวัคคีย์จึงได้ยอมเชื่อฟังพระพุทธองค์ เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง
( โคลงสี่สุภาพ )
ฟังคำเช่นนี้ ก็จำนน
เชื่อแน่นอนในกมล แม่นไซร์
ประสงค์ล่วงรู้ผล เลิศยิ่ง
จึงนั่งนิ่งประณตไหว้ กราบก้มขอขมา ฯ
เมื่อปัญจวัคคีย์ตั้งใจเพื่อสดับพระธรรมของพระองค์แล้ว
พระพุทธองค์ทรงจึงทรงพาเหล่าปัญจวัคคีย์ไปสู่ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันร่มรื่น
แล้วทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ซึ่งเรียกว่า "ปฐมเทศนา"
( กลอนแปด )
เมื่อนั่น องค์พระพุทธผู้ผุดผ่อง ส่วแสงส่องสุขสันต์สู่หรรษา
ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระคุณกรุณา ปฐมเทศนาพาธรรมไป
ธรรมจักกัปวัตนสูตร เป็นพระสูตรสัจจริงอันยิ่งใหญ่
ล้อแห่งธรรมคอยเคลื่อนค่อยเลื่อนไป เลื่อนสู่ใจสู่ขวัญปัญจวัคคีย์
ภิกษุทั้งหลาย ผู้ออกบวชแสวงหาความหลุดพ้น ไม่ควรปฎิบัติตน 2 ประการ คือ
(๑) การแสวงหาความสุขทางกามคุณ แบบสุดโต่ง
ซึ่งทำให้จิตใจต่ำทราม เป็นเรื่องของชาวบ้านที่มีความใคร่ เป็นเรื่องของคนมีกิเลสหนาไม่ใช่เป็นสิ่งประเสริฐ
คือ มีแต่จะก่อให้เกิดข้าศึกคือกิเลส ไม่มีสาระประโยชน์อันใด
(๒) การปฏิบัติตนแบบก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ
คือ มีแต่จะก่อให้เกิดข้าศึก คือ กิเลสไม่มีสาระประโยชน์อันใด ฯ
( กลอน๘ )
ภิกษุทั้งหลายใส่ใจพึงใผ่คิด อย่าไปติดเหตุสองจะหมองศรี
หนึ่ง พัวพ้นมั่วแต่กามตามยินดี ทุกทิวาราตรีมีแต่กาม
สอง ทำตนให้ยากลำบากนัก ไม่ยอมพักเพียรจนถูกชนหยาม
สองสิ่งนี้บรรพชิตอย่างติดตาม ไม่อาจข้ามทุกข์ภัยในโลกา
ภิกษุทั้งหลาย หลักปฏิบัติอันเป็น ทางสายกลาง หลีกเลี่ยงจากการปฏิบัติแบบสุดโต่ง
ซึ่งเราตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยวดยิ่ง เห็นได้ด้วยตาใน รู้ด้วยญาณภายใน เป็นไปเพื่อความสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้อย่างทั่วถึง
เพื่อความดับกิเลสและกองทุกข์ ได้แก่
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
(๑) ความเห็นชอบ (๒) ความดำริชอบ (๓) วาจาชอบ (๔) การงานชอบ (๕) เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) ความเพียรชอบ (๗) ความระลึกชอบ ๘) ความตั้งจิตชอบ
( กลอนแปด )
จงมุ่งหมายสายกลางทางเดินนี้ เสริมสุขี วิลาศสมปรารถนา
นำเที่ยวชมทางดีชื่นชีวา สบหรรษาสดใสในธรรมจริง
หนึ่งมีปัญญาส่องดูแล้วรู้ชอบ ทั้งรู้รอบรู้ตัวทั่วทุกสิ่ง
สอง ดำริชอบกอปรธรรมนำแอบอิง ไม่ละทิ้งทางธรรมจำใส่ใจ
สาม มีวาจาเอ่ยชอบกอปรกุศล พูดแต่ผลที่ดีมีสดใส
สี่ ทำงานชอบกอรปกิจไป มิเหลวไหลกิจกรรมมุ่งทำดี
ห้า เลี้ยงตนชอบ กอปรสุจริต ไม่ทำผิดครรลองให้หมองศรี
หก เพียรชอบกอปรธรรมล้ำทวี ไม่แหนงหนีหน่ายธรรมนำทางได
เจ็ด ระลึกชอบรู้ตัวมิมัวหมอง มิขัดข้องเคืองขุ่นวุ่นหลงใหล
แปด ตั้งมั่นชอบมอบจิตชิดธรรมไป มีฤทัยมั่งคงดำรงดี
มัชฌิมา มีค่าเราว่ไว้ เพื่อสู่ความสดใสไม่ทุกขี
เราหยั่งรู้ด้วยปัญญาผ่านวารี ประสบศรีสุขศานต์สำราญใจ
ภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจ คือ ความจริงที่ช่วยมนุษย์ให้เป็นผู้ประเสริฐ เกี่ยวกับการพิจารณาเห็นทุกข์ เป็นอย่างนี้ คือ การเข้าใจว่า "เกิด แก่ เจ็บ ตาย"
ล้วนแต่ เป็นทุกข์
แม้แต่ความโศรกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ
ทั้งความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์
ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์
พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
ว่าโดยย่อ การยึดมั่นแบบฝังใจ ว่า เบญจขันธ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
ว่าเป็น อัตตา เป็นตัวเรา เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์แท้จริง
ภิกษุทั้งหลาย เหตุทำให้เกิดความทุกข์ (สมุหทัย) มีอย่างนี้
คือ ความอยากเกินควร ที่เรียกว่า ทะยานอยาก ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
มัวเพลิดเพลินอย่างหลงระเริงในสิ่งที่ก่อให้เกิดความกำหนัดรักใคร่นั้นๆ ได้แก่
(๑) ความทะยานอยากในสิ่งที่ก่อให้เกิดความใคร่
(๒) ความทะยานอยากในความอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่
(๓) ความทะยานอยากในความที่จะพ้นจากภาวะที่ไม่อยากเป็๋น เช่น ไม่อยากจะเป็นคนไร้เกียรติ ไร้ยศ เป็นต้น อยากจะดับสูญไปเลย ถ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้น
อย่างนี้
( กลอน๘ )
มีสาเหตุหนึ่งนั้นมันคือทุกข์ มีสบสุขโศกศัลย์น่าหวั่นไหว
คือเกิดแก่เจ็บตายมิหายไป เศร้าโศกใจแห้งผากพรากของรัก
ปรารถนาสิ่งใดไม่สมหวัง เกิดพลาดพลั้งผันผกจนอกหัก
ทุกข์จึงเยือนเข้าหาเข้ามาทัก ทุกข์มีหนักอยู่ตลอดมิรอดเลย
สาเหตุแห่งทุกข์เห็นเป็นไฉน จะแสดงแถลงไขให้เปิดเผย
คือ ตัณหา นั่นไงไม่ละเลย เราเอื้อนเอ่ยเป็นเหตุทุกข์อยุ่ทุกครา
มีสามอย่างสร้างกรรมทำหม่นหมอง เพราะมัวข้องติดใจมัวใฝ่หา
หนึ่ง กามนั่นหนอพอใจไม่เลิกรา นำกายาเกลือกกลั้วมั่วทุกวัน
สอง อยากได้โน่นเป็นนี้มีแต่ทุกข์ เสาะหาสุขทุกแห่งมุ่งแข่งขัน
หาหักหาญหักโหมรุกโรมรัน เพียงตัวฉันอย่างเดียวหลงเที่ยวชม
สาม ไม่อยากจะเป็น เห็นเหนื่อยหน่าย อยากจะตายเร็วพลันทุกข์มันถม
มองสิ่งใดเสร้าสร้อยเหงาหงอยตรม มิสุขสมเสร้าใจไปวันวัน
ภิกษุทั้งหลาย ทุกขโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง
คือ อริยมรรคมีองค์ 8
ได้แก่ (๑) ความเห็นชอบ (๒) ความดำริชอบ (๓) วาจาชอบ (๔) การงานชอบ (๕) เลี้ยงชีวิตชอบ (๖) ความเพียรชอบ (๗) ความระลึกชอบ (๘) ความตั้งจิตมั่นชอบ
ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้ เป็นทุกขอริยสัจจ
เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลายที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน
ว่านี้เป็นทุกขอริยสัจ เราได้กำหนดรู้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็นทุกสมุทัยอริยสัจ
เป็นสิ่งที่ควรละ
ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน
ว่านี้เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจเราละได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็น ทุกขนิโรธอริยสัจ
เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่าเป็น
ทุกขนิโรธอริยสัจ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรม ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่านี้เป็น
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย (บัดนี้) เราได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง อย่างแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลาย ที่เรายังไม่ได้เคยรับฟังมาในกาลก่อน ว่าเป็น
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดการหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริง ว่าอริยสัจ ๔ มี ๓ รอบ
มีอาการ ๑๒ (ได้แก่ ๑. หยั่งรู้อริยสัจ แต่ละอย่างตามความเป็นจริง ๒. หยั่งรู้กิจของอริยสัจ ๓. หยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้ว ในอริยสัจ) ยังไม่หมดจดเพียงใด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดการหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริงดังกล่าวมาหมดจดดีแล้ว
เมื่อนั้นเราได้ยืนยันตนเป็นผู้ตรัสรู้ชอบดังกล่าวแล้ว เช่นนั้น
การหยั่งรู้ การเห็นตามความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแก่เราแล้วว่า
ความหลุดพ้นของเราไม่มีการกลับกำเริบอีกแล้ว
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายแล้ว ไม่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดอีก
( กลอน ๘ )
บรรพชิตทั้งหลายอย่าหมายชิด อย่ามัวพิสมัยให้เหหัน
ควรปลดปละละวางรีบห่างพลัน มิฉะนั้นจะมิผ่องเรืองไร
วิถีทางดับทุกข์สบสุขสันต์ นิโรธนั่นดับลงสิ้นสงสัย
ดับทุกสิ่งลงพลันในทันใด เราจะทำให้แจ้งแทงด้วยญาณ
อริยมรรคแปด นั้นหากบรรจบ ย่อมประสบหนทางสว่างสถาน
พาข้ามพ้นผ่านล่วงจากบ่วงมาร พาเบิกบานสราญสุขอยู่ทุกวัน
อริยสัจจสี่ นี้ธรรมแท้ มิผันแปรยืนยงดำรงมั่น
เราได้แจ้งแล้วหนากล้ายืนยัน ว่าได้บรรลุธรรมอันอำไพ
บัดนี้เราเป็นพุทธพิสุทธิ์แล้ว ผุดผ่องแผ้วเพื่อสร้างสู่ทางใหม่
พาหมู่สัตว์ก้าวล่วงจากบ่วงภัย เรายิ่งใหญ่ส่องสว่างนำทางธรรม
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงพระปฐมเทศนานี้อยู่
ดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า
"สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา"
ท่านโกณฑัญญะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว
( กลอน ๘ )
บัดนั้น โกญฑัญญะ ประจักษ์ยิ่ง ดวงตาธรรมเห็นจริงทุกสิ่งนั้น
ทุกทุกสิ่งกระจ่างสว่างพลัน ได้เป็นพระโสดาบันในทันที
พระพุทธองค์ทรงทราบความที่พระโกณฑัญญะเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม
มีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคำสอนของพระองค์
จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า
"อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ"
ท่านผู้เจริญ ท่านโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ
เพราะเหตุนั้น คำว่า "อัญญา" นี้ จึงได้เป็นคำนำหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญา
( กลอน ๘ )
เมื่อนั้น พุทธองค์ก็ทรงเห็น โกณฑัญญะไดเป็นผู้เพ็ญศรี
ทรงพึงพอพระทัยให้เปรมปรีดิ์ เปล่งวจีออกมาว่าตามจริง
อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ ท่านได้โตเติบใหญ่ในธรรมยิ่ง
รู้แล้วหนอ รู้แล้วหนอ ข้อนั้นจริง ทุกทุกสิ่งท่านรู้อยู่ในใจ
เมื่อท่านพระโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบันแล้ว
จึงได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท
พระพุทธองค์จึงทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ว่า
"เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว
เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงนับเป็น "พระสงฆ์อริยสาวกองค์แรก" ในพระพุทธศาสนา
ซึ่งวันนั้นเป็นวันเพ็ญ กลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน ๘
เป็น วันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก
คือมี "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" ครบบริบูรณ์
( อินทรวงศ์ฉันท์ ๑๒ )
เมื่อเทศนาจบ ก็ประสบสว่างไสว
เพียงเอกะภายใน ณ มฤคทายวัน
โกณฑัญญะขอคำ อุปสัมปทามหันต์
องค์พุทธประทานพลัน อนุญาตและตรัสวจี
จงเป็นภิกษุมาเถิด จะประเสริฐประสบสุขี
ถอนทุกข์สวัสดี นะประพฤติพรหมจรรย์
เป็นภิกษุทันที ฐิติที่พระธรรมมั่น
เอกองค์พระสงฆ์ครัน อริโยสถิตสราญ
โลกนี้วิไลใส รัตนตรัยพิสุทธิ์พิศาล
เรืองรัตน์อุบัติตาม บริบูรณ์จรูญเจริญ ฯ
( กาพย์ยานี ๑๑ )
อีกสี่ฤษีไซร์ ทรงโปรดให้ไม่ห่างเหิน
ทอแสงธรรมนำเพลิน จนพบธรรมชุ่มฉ่ำตา
ได้บวชเป็นพระสงฆ์ ตามจำนงปรารถนา
ทรงเห็นเหมาะเวลา ควรเป็นเลิศธรรมทูต
ทรงแสดงอย่างแจ้งชัด อนันตลักขณสูตร
ว่าเบญจขันธ์ ภูต ย่อมกลับกลายสลายตน
อย่ามัวพันพัวนะ อนันตะทุกแห่งหน
ทั่วหล้าทั่วสากล มิใช่ตนมิใช่ตัว
หากลุ่ม หลงใหลแล้ว ไม่คลาดแคล้วคลุกทุกข์ทั่ว
มืดมนหม่นหมองมัว นัวเนาแนบแน่นเนิ่นนาน
จงปล่อยวางเสียเถิด จะเกิดสุขทุกสถาน
ไม่หม่นหมองมัวมาน มลายมืดในกมล
เมื่อทรงแสดงเสร็จ ก็สำเร็จบรรลุผล
ภิยโยแสนโสภณ อรหันต์เพริศพรรณพราย
หกพระอรหันต์ เกิดเฉิดฉันดั่งจันทร์ฉาย
จำรัสเพื่อจำราย จำเริญให้แก่โลกนี้ ฯ
********************
เรียบเรียงจาก
หนังสือ พุทธประวัติ ภาคหลากบทกวี โดยพระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์
วันอาสาฬหบูชา
ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ขึ้น ๑๔ ค่ำเดือนแปด ปีขาลโทศก
เวหา
บทความนี้ส่งมาจาก..คุณธีระ วรวงศ์จิตติ