ตามรอยพระพุทธบาท

แจ้งข่าวพบ "รอยพระพุทธบาทใหม่" หลายแห่ง
webmaster - 6/9/09 at 15:22

อุตรดิตถ์..พบรอยแปลกบนแผ่นหินกลางป่าแม่จริม


อุตรดิตถ์ 4 ก.ย.- นายธาตรี บุญมาก นายอำเภอฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยภายหลังนำกำนันผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสองคอน อ.ฟากท่า เข้าตรวจพิสูจน์แผ่นหินที่ชาวบ้านเก็บหน่อไม้ป่าเข้าไปพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริมว่า

จุดที่พบอยู่กลางลำห้วยในป่าด้านเหนือบ้านหนองบัวนา หมู่ 8 ต.สองคอน ประมาณ 3 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินเท้าเข้าไปอีก 500 เมตร เป็นแผ่นหินขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร ประมาณ 35 ตารางเมตร มีรอยลึกลงไปประมาณ 1 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายฝ่าเท้ามนุษย์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่

โดยเฉพาะรอยขนาดใหญ่นั้นใหญ่กว่าเท้ามนุษย์ในปัจจุบันหลายเท่าตัว อยู่ตรงกลางของแผ่นหิน ที่เหลือเป็นรอยเล็ก-ใหญ่ สลับกันไป ซึ่งรอยเล็กสุดประมาณ 15 x 40 เซนติเมตร แต่ที่แปลกคือ ทุกรอยมุ่งหน้าไปทิศทางเดียวกันเข้าสู่ป่าบนภูเขาสูง

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ให้กำนันตำบลสองคอนระดมชาวบ้านพัฒนาพื้นที่ พร้อมทำรั้วกั้นบริเวณที่พบ และยังไม่อนุญาตให้เดินขึ้นไปเหยียบบนก้อนหิน เพราะอาจกระทบต่อร่องรอยดังกล่าว และจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด เพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง.

ที่มา - สำนักข่าวไทย



รอยเท้าขนาดใหญ่บนแผ่นหินมากกว่า 20 จุด


นายธาตรี บุญมาก นายอำเภอฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ ได้รับแจ้งจากนายสุวรรณ เพ็งหม้อ กำนันตำบลสองคอน อ.ฟากท่าว่าพบแผ่นหินขนาดใหญ่กลางลำห้วยในป่าเหนือหมู่ 8 บ้านหนองหัวนา ต.สองคอน ซึ่งเป็นเขตป่าในความดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่จริม มีความพิเศษกว่าแผ่นหินทั่วไป คือ พบมีรอยลักษณะคล้ายฝ่าเท้าของมนุษย์ แต่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็กใหญ่ต่างกันเป็นจำนวนมาก จึงนำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอฟากท่า ผู้นำชุมชนและชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้าไปตรวจสอบ

นายธาตรี กล่าวว่า บริเวณที่พบแผ่นหินดังกล่าวอยู่ในลำห้วยยั่น อยู่ในป่าเหนือหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร พบแผ่นหินซึ่งไม่ทราบชนิด แต่มีขนาดใหญ่เป็นเนื้อเดียวกัน ประมาณ 35 ตารางเมตร หรือ 5x7 เมตร ที่พิเศษและแปลกบนแผ่นหินก้อนดังกล่าวมีรอยบุ๋มลึกลงไปในเนื้อหินประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นลักษณะคล้ายฝ่าเท้ามนุษย์ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน และที่มีขนาดใหญ่กว่าเท้ามนุษย์ในปัจจุบันหลายเท่าตัว เป็นจำนวนมาก

“รอยเท้าที่ขนาดใหญ่สุดอยู่ตรงกลางของก้อนหินมีขนาด 1x1.5 เมตร ส่วนที่เหลือมีขนาดเล็กใหญ่สลับกันไป โดยขนาดเล็กสุด 15 x 40 เซนติเมตร มีมากกว่า 20 รอย แต่ที่แปลกคือปลายนิ้วเท้าทุกรอยปลายเท้าหันไปทิศทางเดียวกันคือเหมือนมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าบนภูเขา”นายธาตรี กล่าว

เบื้องต้นได้มอบหมายให้กำนันตำบลสองคอน ระดมชาวบ้านพัฒนา ตัดหญ้า บริเวณที่พบทำศาลเจ้าที่ พร้อมทำรั้วกั้นบริเวณที่พบ และยังไม่อนุญาตให้เดินขึ้นไปเหยียบบนก้อนหิน เพราะอาจกระทบต่อร่องรอยของฝ่าเท้า ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง

นายสุวรรณ เพ็งหม้อ กำนันตำบลสองคอน กล่าวว่า ลูกบ้านเข้ามาหาหน่อไม้ตามลำห้วยยั่น แต่ปีนี้น้ำในลำห้วยแห้งขอดจนสามารถมองเห็นโขดหินได้ชัดเจน จึงทำให้พบก้อนหินที่มีรอยฝ่าเท้าขนาดใหญ่ดังกล่าวโผล่ขึ้นมาเหนือลำห้วย ชาวบ้านที่ทราบเรื่องต่างหลั่งไหลมาดูอย่างต่อเนื่อง และก็พูดเป็นรอยพุทธบาท แต่แปลกตรงที่ว่ามีเป็นจำนวนมากและหลายขนาดลักษณะคล้ายการเดินจงกรม

ชาวบ้านบางรายก็เชื่อว่าน่าจะเป็นรอยเท้าของพระเกจิชื่อดังที่อาจมีวิชาอาคมสูง เพราะจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ป่าแถบดังกล่าวสมัยโบราณพระสงฆ์จากทั่วสารทิศมักเดินทางเข้ามาธุดงค์อย่างต่อเนื่องเพราะเป็นป่าที่อยู่ห่างไกลชุมชน ประกอบกับอยู่ใกล้ชายแดนไทย-ลาว จึงเงียบสงบและอาจมีการแสดงอิทธิฤทธิ์ด้านคาถาอาคม อย่างไรก็ตามอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ และชาวบ้านพร้อมที่จะร่วมหวงแหน อนุรักษ์ให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสตร์ และท่องเที่ยว


ที่มา : เนชั่นทันข่าว



26 มิถุนายน 2552 16:19 น.
นครศรีธรรมราช : พบรอยเท้าเด็กบนแผ่นอิฐโบราณคาดอายุ 1,300 พันปี


นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ที่กำลังปรับพื้นที่เพื่อดำเนินการอนุรักษ์เสริมความมั่นคงโบราณสถานเขาพระนารายณ์ (เขาศรีวิชัย) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ได้พบอิฐดินเผามีรอยเท้าเด็กติดอยู่ เบื้องต้นพบว่าแผ่นอิฐมีขนาดกว้าง 15.3 ซม. ยาว 22 ซม. หนา 6 ซม. น้ำหนัก 3,200 กรัม รอยเท้าที่พบมีสองรอยวางตัวสลับทิศทางกัน ขนาดกว้าง 4.7 ซม. ยาว 11.6 ซม. คาดว่าเป็นรอยเท้าเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี ขณะนี้นำไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราชแล้ว

นายพงศ์ธันว์ กล่าวว่า โบราณสถานเขาพระนารายณ์ มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 8x12 เมตร วางตัวยาวตามแนวแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ตะวันตกเฉียงใต้ สภาพของโบราณสถานพังทลายมาก เหลือความสูงของส่วนฐานประมาณ 25 ซม. หรือก่อเรียงอิฐสูงประมาณ 4 ชั้นอิฐ ขอบฐานมีความหนาประมาณ 75 ซม. ก่อเรียงอิฐแบบสั้นสลับยาว ก่อล้อมแกนดินผสมอิฐและหินถมอัดอยู่ภายใน เหลือความสูงในส่วนนี้ประมาณ 1 เมตร อิฐที่ใช้ก่อมีขนาดประมาณ 34x17x7 และ 30x18x6 ซม. เป็นอาคารที่มีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานอื่นๆ ในกลุ่มนี้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-15

ต่อมาในปีงบประมาณ 2549 สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ขุดค้นทางโบราณคดีที่กลุ่มโบราณสถานเขาพระนารายณ์ จนได้ค้นพบอาคารโบราณสถานเพิ่มขึ้นล่าสุดอีกหนึ่งหลังบริเวณตอนกลางของพื้นที่ อาคารหลังนี้มีสภาพทรุดโทรมมาก อาจจากการรื้อถอน หรือพังทลายตามธรรมชาติจนไม่สามารถศึกษารูปแบบอาคารและหน้าที่การใช้งานที่แท้จริงได้

ที่มา - เนชั่นทันข่าว

หมายเหตุ : ปัจจุบันปี 2553 ได้นำมามอบไว้ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี



วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 12:07:15 น.
พบรอยพระพุทธบาทเขาทับสีเทียน ชาวบ้านแห่กราบไหว้


ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเมื่อเวลา 07.30 น.วันที่ 12 มิถุนายน ว่า พระภิกษุซึ่งพักอาศัยอยู่ที่ที่พักสงฆ์เชิงเขาทับสีเทียน ได้พบรอยพระพุทธบาทแห่งใหม่บนเขาทับสีเทียน (เขาแร่) ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม หมู่ 12 ต.สระโบสถ์ อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี

เมื่อเดินทางไปถึงพบว่า บริเวณลานที่พักสงฆ์ดังกล่าวมีรถยนต์เก๋ง และรถยนต์กระบะของประชาชนที่ทราบข่าว เดินทางมาดูรอยพระพุทธบาทที่พบกันเป็นจำนวนมาก โดยรอยพระพุทธบาทที่พบอยู่ระหว่างลานหินช่วงกลางภูเขา เดินจากด้านหลังที่พักสงฆ์ขึ้นภูเขาไปประมาณ 100 เมตร มีประชาชนนำธูปเทียนจุดกราบไหว้พร้อมนำแผ่นทองคำเปลวไปปิดทับรอยพระพุทธบาทกันอย่างเนื่องแน่น โดยรอยพระพุทธบาทที่พบเป็นรอยพระบาทข้างขวา วัดความยาวจากส้นเท้าถึงปลายนิ้วโป้งขวา 170 ซม. วัดความกว้างได้ 60 ซม.ลึกประมาณ 5 ซม. สภาพสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มองเห็นด้วยตาเปล่าชัดเจน

พระณรงค์ เสาร์วิชิต อายุ 73 ปี ซึ่งเป็นพระที่นำไปพบรอยพระพุทธบาทกล่าวว่า เดินทางมาอยู่ที่พักสงฆ์ดังกล่าวได้ประมาณ 1 เดือนเศษ เนื่องจากป่วยไม่สบายด้วยโรคหอบและโรคปอด หายใจไม่ค่อยออก จึงเดินทางรักษาด้วยการกินยาสมุนไพรกับพระลำพอง ฐิตคุโณ ซึ่งมาอยู่ที่พักสงฆ์ก่อนหน้า หลังกินยาสมุนไพรของพระลำพองแล้ว อาการดีขึ้นหายใจสะดวก จึงเดินขึ้นมาบนเขาเพื่อท่องหนังสือพระและนอนพัก เนื่องจากมีอากาศที่เย็นสบาย

พระณรงค์เล่าให้ฟังต่อว่า วันที่ 5 มิถุนายน เดินขึ้นมาท่องหนังสือและนอนพักผ่อนตามปกติ และเกิดปวดปัสสาวะ จึงยืนฉี่บนภูเขาโดยไม่ทราบว่าบริเวณดังกล่าวมีรอยพระพุทธบาท เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีก้อนหินและใบไม้ปิดทับเอาไว้ หลังปัสสาวะเสร็จก็ท่องหนังสือและนอนพักผ่อนต่อ จนกระทั่งถึงเวลาเย็นรู้สึกตัวว่าไม่สบาย อาเจียน และอาการหนักขึ้นเรื่อยๆจนไม่รู้สึกตัว พระลำพองที่อยู่ด้วยกันจึงพาส่งโรงพยาบาลสระโบสถ์ให้แพทย์รักษา

ด้านพระลำพองกล่าวว่า เมื่อนำตัวพระณรงค์ไปถึงโรงพยาบาล พระณรงค์มีอาการเพ้อไม่รู้สึกตัวพร้อมส่งเสียงร้องโวยวายดังลั่นโรงพยาบาลคล้ายกับอาการผีเข้า พยาบาลต้องจับมัดมือและเท้าเอาไว้กับเตียง จากนั้นก็ให้ยากินพร้อมกับให้น้ำเกลือ แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ตนเห็นดังนั้นจึงไปหาหมอร่างทรง เนื่องจากคิดว่าพระณรงค์คงจะถูกของอะไรสักอย่างแน่นอน หลังร่างทรงนั่งทางในแล้วได้บอกว่า พระณรงค์ไปปัสสาวะรดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตนจึงกลับมาที่พักสงฆ์พร้อมจัดเครื่องเซ่นพร้อมหัวหมู ไปขอขมาตรงจุดที่พระณรงค์ปัสสาวะ และทำความสะอาดด้วยการปัดกวาดบริเวณดังกล่าว และได้พบรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่บนลานหินดังกล่าว ส่วนอาการป่วยของพระณรงค์ก็หายกลับคืนสู่สภาพปกติในเวลาที่รวดเร็ว

ขณะที่นางนภาพร วงศ์เลิศอารักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลสระโบสถ์ อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งว่าพบรอยพระพุทธบาทที่บนเขาแห่งนี้ ก็รีบเดินทางมาดูทันที ยอมรับว่ารอยพระพุทธบาทที่พบ มีสภาพที่สมบูรณ์และสวยงามเป็นอย่างมาก และในเบื้องต้นนี้จะทำเรื่องแจ้งให้นายอำเภอสระโบสถ์ให้ทราบ พร้อมกับจะแจ้งให้กรมศิลปากรมาตรวจสอบด้วยว่า รอยพระพุทธบาทที่พบมีความเป็นมาอย่างไร

นางนภาพร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่ อปพร.เทศบาลตำบลสระโบสถ์มาเฝ้าบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาทเอาไว้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบดูแลของเทศบาลตำบลสระโบสถ์ จากนั้นจะนำเชือกมากั้นห้ามประชาชนไปเหยียบย้ำใกล้บริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท คงให้จุดธูปเทียนไหว้สักการะได้ในระยะที่มองเห็นเท่านั้น หลังจากที่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตรวจสอบแล้ว จะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น คงต้องพูดคุยกันซึ่งคาดว่าคงจะมีหลายหน่วยงานต่ออีกที ซึ่งการพบรอยพระพุทธบาทครั้งนี้ นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของประชาชนชาวอำเภอสระโบสถ์เป็นอย่างมาก และจากการพูดคุยกับพระลำพองทราบว่า ร่างทรงได้บอกว่าให้เรียกรอยพระพุทธบาทที่พบบนเขาทับสีเทียนว่า “รอยพระพุทธบาทสระโบสถ์” เนื่องจากพบในพื้นที่อำเภอสระโบสถ์นั่นเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวต่อว่า หลังข่าวพบรอยพระพุทธบาทที่บนภูเขาทับสีเทียนแพร่กระจายออกไป ได้มีประชาชนทั้งในอำเภอสระโบสถ์ และอำเภอใกล้เคียงที่ทราบข่าว เดินทางมาดูพร้อมกราบไหว้รอยพระพุทธบาทที่พบ กันทั้งเวลากลางวันและกลางคืน โดยนางนภาพร วงศ์เลิศอารักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลสระโบสถ์ กล่าวว่า จะตั้งเต้นท์พร้อมจัดเตรียมน้ำไว้ให้ประชาชนที่เดินทางมากราบไหว้รอยพระพุทธบาทได้พักและดื่มกินข้างล่างบริเวณที่พักสงฆ์ ส่วนบริเวณรอยพระพุทธบาทที่พบคงให้กราบไหว้เพียงอย่างเดียวไปก่อน เพราะไม่อยากให้เกิดความเสียหายตามมา ส่วนจะให้เข้าไปดูใกล้ๆได้เมื่อไรนั้น คงต้องรอผลการประชุมอย่างเป็นทางการต่อไป

จากเจ้าหน้าที่อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงว่า ตนมีอาการปวดตามขาและเอว หลังทราบข่าวว่าพบรอยพระพุทธบาทที่เขาทับสีเทียน จึงเดินทางมาชมพร้อมจุดธูปเทียนกราบไหว้ จากนั้นใช้มือไปลูบที่รอยพระพุทธบาทพร้อมอธิษฐานขอให้อาการปวดขาและปวดเอวหาย จากนั้นก็ใช้มือมาลูบที่ขาและเอว รุ่งเช้าอาการปวดขาและปวดเอวก็หายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก

นางนภาพร วงศ์เลิศอารักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลสระโบสถ์ อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งว่าพบรอยพระพุทธบาทบนเขาทับสีเทียน หน้าอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม หมู่ 12 ต.สระโบสถ์ ซึ่งตรวจสอบแล้วมีสภาพที่สมบูรณ์และสวยงามมาก เบื้องต้นนี้จะแจ้งให้นายอำเภอทราบ และให้กรมศิลปากรมาตรวจสอบ นอกจากนี้จะให้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของเทศบาลมาเฝ้าบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของเทศบาล โดยห้ามประชาชนเข้าไปเหยียบย่ำใกล้บริเวณรอยพระพุทธบาท ให้สักการะในระยะที่มองเห็นเท่านั้น "หลังจากกรมศิลปากรมาตรวจสอบแล้วคงต้องพูดคุยกันหลายหน่วยงานว่าจะทำอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตามการพบรอยพระพุทธบาทนับเป็นนิมิตหมายที่ดีของชาวสระโบสถ์"

ที่มา - มติชนออนไลน์







พระพุทธบาทดังกล่าว ถูกพบในป่าบนภูเขาทับพุเทียน ปากทางเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่วังแขม หมู่ที่ 12 ต.สระโบสถ์ อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี ห่างจากที่พักสงฆ์ประมาณ 100 เมตร เป็นรอยพระพุทธบาทข้างขวา หันไปทางทิศใต้ วัดความยาวจากส้นเท้าถึงปลายนิ้วโป้งได้ 170 เซ็นติเมตร ความกว้าง 60 เซ็นติเมตร ลึก 5 เซ็นติเมตร ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มองด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน

พระณรงค์ เสาร์วิชิต กล่าวว่า ไปพบรอยพระพุทธบาทโดยบังเอิญ ขณะขึ้นไปรักษาอาการอาพาธบนภูเขาใกล้ที่พักสงฆ์ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น กระทั่งต้องใช้วิธีทางไสยศาสตร์ จึงรู้ว่าไปปัสสาวะใส่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อจัดเครื่องเซ่นไหว้ขอขมา และทำความสะอาดในบริเวณดังกล่าว จึงพบรอยพรพพุทธบาท ชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างไปจุดธูปเทียน และปิดทองบูชากันจำนวนมาก ขณะที่เทศบาลตำบลสระโบสถ์ ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าไปตรวจสอบแล้ว

ที่มา - www.ch7.com



บันทึก


วันที่ 13 มิถุนายน 2552 ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมน้องชายที่จังหวัดลพบุรี หลังจากเขาได้ไปแต่งงานมีภรรยาและทำงานที่นั่นคืออำเภอสระโบสถ์ ระหว่างทานอาหารกลางวัน น้องชายผมบอกว่าเดี๋ยวจะพาไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาท ที่เพิ่งค้นพบใหม่ล่าสุดในประเทศไทย โดยค้นพบโดยพระธุดงค์รูปหนึ่ง ซึ่งน้องผมบอกว่าเพิ่งค้นพบได้เพียงแค่ 4 วันเท่านั้นจนถึงวันนี้ (ขอย้ำ 4 วันเท่านั้นจริงๆโดยคำยืนยันจากชาวบ้านละแวกนั้นๆ)

เมื่อผมเดินทางไปถึง สิ่งแรกที่ผมพบเห็นคือชาวบ้านในละแวกนั้นๆประมาณไม่น่าเกิน 50 คนเห็นจะได้จับกลุ่มคุยกันบริเวณตีนเขาทางขึ้นโดยดูจากการแต่งตัวก็รู้ว่าเป็นชาวบ้านละแวกนั้นจริงๆ หลังจากนั้นผมก็ได้เดินขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาท โดยระยะทางจากตีนเขาถึงรอยพระพุทธบาทประมาณไม่เกิน 100 เมตรเท่านั้นเอง ซึ่งพอผมได้เห็นรอยพระพุทธบาทครั้งแรก ผมมีความรู้สึกดีใจมากที่ได้พบเห็นและได้สักการะบูชา พร้อมทั้งขอพรเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว

โดยผมมีภาพถ่ายจากมือถือมาให้พี่ๆน้องๆได้ดู ว่าเป็นยังไงให้ทุกคนได้ชมกัน มีโอกาสก็อย่าลืมไปสักการะกันนะครับเส้นทางไปเส้น อ.ชัยบาดาล-เพชรบูรณ์ โดยก่อนถึงชัยบาดาลประมาณ 40 km ให้สังเกตุทางเข้าสนามกอล์ฟนารายณ์ฮิลล์ทางด้านซ้ายมือ เพราะไปทางเดียวกันแต่ทางเข้าเล็กมากดูดีๆโดยทางเข้าจะมีวัดให้สังเกตุให้ดี และไปอีกประมาณ 20 km ก็ให้ถามชาวบ้านก็แล้วกันจะอยู่ใกล้เขื่อนอะไรจำไม่ได้แล้ว ขอให้โชคดีนะครับ



วันที่ 24 ส.ค. 2552
พบพระแก้วมรกตจำลองจมใต้น้ำที่พัทลุง


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 ส.ค. 2552 มีชาวบ้านจำนวนมากได้เดินทาง ไปชมองค์พระแก้วมรกต ขนาดหน้าตัก กว้าง 9 นิ้ว สูง 13 นิ้ว ที่บ้านเลขที่ 190 หมู่ที่ 4 ต.แพรกหา อ.ควนขนุน หลังจากที่ทราบข่าวว่า นายปรารภ หนูเนียม อายุ 42 ปี เจ้าของบ้านได้พบพระแก้วมรกตดังกล่าว จมน้ำอยู่ในลำคลองพังโย ริมถนนเอเชีย ช่วงจังหวัดพัทลุง - นครศรีธรรมราช ต.พนมวังก์ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง แล้วนำมาตั้งโต๊ะบูชาที่บริเวณหน้าบ้าน

นายปรารภ กล่าวว่า ก่อนจะพบพระแก้วมรกตนั้น ตนได้ออกไปวางลอบเพื่อดักปลาในลำคลองพังโย และขณะกำลังเดินวางลอบดักปลาอยู่ในน้ำ ซึ่งระดับน้ำลึกประมาณ 50 ซม. ก็ได้พบเห็นถุงพลาสติกสีแดงโผล่อยู่ที่ผิวน้ำ จึงได้เข้าไปยกดูก็พบว่าเป็นองค์พระแก้วมรกตใส่อยู่ในถุงดังกล่าว จึงได้อุ้มนำมาวางที่ริมฝั่ง จากนั้นจึงได้วิ่งไปตามนายสุทิน พี่ชายให้มาดู ก่อนจะนำกลับไปตั้งบูชาที่บ้าน พร้อมกับแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ แล้วนำกลับบ้าน และหลังจากที่ชาวบ้านทราบข่าวต่างก็เดินทางมาชมความงดงามและนำธูปเทียนและดอกไม้มาบูชาจำนวนมาก

สำหรับพระแก้วมรกตที่พบ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระแก้วมรกตทรงเครื่องฤดูร้อน มีขนาดหน้าตัก กว้าง 9 นิ้ว สูง 13 นิ้ว ด้านหลังมีตราสัญลักษณ์บริเวณฐานด้านหลัง มีตัวอักษร เขียนว่า พระแก้วมรกตจำลอง วัดพระแก้ว ในขณะที่เครื่องประดับมีค่าที่ติดกับเครื่องทรงขององค์พระได้ถูกแงะออกไปจนหมด ซึ่งคาดว่า คนร้ายอาจจะโจรกรรมพระมาแล้วงัดแงะเอาของมีค่าจากองค์พระไป ก่อนที่จะนำองค์พระมาทิ้งไว้ในลำคลอง ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากพระนี้เป็นของใคร หรือ วัดไหนก็ให้มาดูได้ และพร้อมที่จะส่งคืน แต่ต้องแสดงหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีมารับจะเก็บไว้บูชาที่บ้าน

นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ สนง.พุทธศาสนา และสนง.วัฒนธรรม จ.พัทลุง เข้าไปตรวจสอบแล้วว่าพระที่ชาวบ้านพบนั้น เป็นอะไร เป็นพระจากที่ใด และเป็นพระสมัยใด

ที่มา : เนชั่นทันข่าว



แจ้งข่าวเมื่อ 12 ก.ย. 2552 : รอยเท้าที่กบาลสเปียล ประเทศเขมร


ผมไปเที่ยวที่กบาลสเปียล เขมรเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมาครับ เจอรอยเท้าบนก้อนหิน ขนาดสัก 2 เท่าของเท้าผู้ชาย มีอยู่ 3-4 รอย ลองเดินตามรอยที่ปรากฏ พบว่ามีลักษณะการเดินเหมือนมนุษย์
จะมีสิ่งใด ที่มีน้ำหนักมาก ขนาดเดินบนหิน แล้วปรากฏรอยเท้าได้ แล้วถ้าเดินตั้งแต่ตรงนี้ยังเป็นดินอ่อนอยู่ จะต้องใช้เวลาสักกี่ปีกว่าดินตรงนี้จะกลายเป็นหินได้ ถามชาวเขมรที่ไปด้วย เขาก็บอกไม่รู้ สงสัยจะเป็นรอยเท้ายักษ์ มาช่วยยกหินไปสร้างปราสาท ใครมีคำตอบช่วยหน่อยนะครับ รูปจริงๆ ไม่ได้อำ

• กบาลสะเปียนหรือหัวสะพาน ถูกขนานนามจากแนวก้อนหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยมีลักษณะคล้ายสะพานทอดข้ามสายน้ำเล็กๆ ซึ่งมีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขากุเลน ธารน้ำสายนี้แยกไหลเป็นสายย่อยเลาะรอบเมืองพระนครผ่านเรือกสวนไร่นาของประชาชนก่อนที่จะไหลรวมกับแม่น้ำเสียมเรียบ และไหลลงทะเลสาบในที่สุด ทั้งพนมกุเลนและกบาลสะเปียนแม้จะอยู่ห่างกันคนละที่ แต่ก็มีสองสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้ผืนน้ำของท้องธารทั้งสอง ที่เหมือนกันคือรูปศิวะสลักหรือศิวลึงค์องค์ย่อมๆ ไปถึงขนาดใหญ่นับพันองค์ และรูปโยนีสลักอีกเป็นจำนวนมาก แผ่ขนานไปตามความยาวของลำธารตื้นๆ เป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นที่น่าสังเกตว่าด้านหน้าของโยนีถูกสลักให้หันไปทางทิศเหนือเสมอ เพราะว่าแต่โบราณถือว่าเหนือเป็นทิศแห่งโชคลาภ และความสมบูรณ์พูนสุขจึงนิยมสลักโยนีสู่ทิศเหนือเสมอ

• กบาลสะเปียน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ปลายพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีพระประสงค์เพื่อให้พราหมณ์ประกอบพิธีเสกน้ำให้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อนำน้ำไปประกอบพิธีหลวงในพระราชวัง และเพื่อให้เหล่ามวลประชาราษฎร์นำไปบูชารักษาโรคภัยไข้เจ็บ นำไปใช้กับไร่นาของตนได้ เพื่อผลผลิตที่สมบูรณ์

• กบาลสะเปียนถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของชาวกัมพูชา และปลอดพ้นจากสายตานักท่องเที่ยวในโลกยุคปัจจุบันมาเนิ่นนาน ด้วยอยู่ในป่ารกทึบและเส้นทางก็ไม่ได้ตัดผ่าน จนกระทั่งในปี พ.ศ.2511 (ค.ศ.1968) ปอล บัวลิเย่ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบกบาลสะเปียน และให้สมยาสายธารนี้ว่า “The River of the Thousand Lingar”

• ปัจจุบันการเดินทางไปเที่ยวชมกบาลสะเปียนนับว่าสะดวกมาก สามารถใช้ถนนเส้นทางจากเสียมเรียบ-ปราสาทบันทายสรี ระยะทาง 35 กิโลเมตร เมื่อถึงบันทายสรีให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางขนานกับพนมกุเลนไปอีก 12 กิโลเมตร ก็จะถึงสุดทางถนนจากนี้จะต้องเดินเท้าอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เส้นทางเดินจะไต่ระดับไปเรื่อยๆแต่ไม่ชันนัก ตลอดเส้นทางมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมได้บรรยากาศร่มรื่นพอสมควร ก่อนถึงทางไปสู่ต้นน้ำและสายธารแห่งพันศิวลึงค์จะมีทางแยกซ้ายไปเที่ยวชมน้ำตก สังเกตได้ว่าชาวกัมพูชาที่มากกบาลสะเปียนมักนิยมไปเล่นน้ำตกกันมากกว่ามาชมธารศิวลึงค์กันเสียอีก

• กบาลสะเปียน ความน่าตื่นตะลึงของกบาลสะเปียน มิได้มีเพียงรูปสลักศิวลึงค์นับพันองค์คู่กับฐานโยนีใต้ท้องน้ำที่มีหินทรายทอดตัวขนานไปกับสายธารนั้น ยังมีภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ภาพพระพรหมสี่หน้า ภาพตรีมูรติมีพระศิวะ พระพรหม และพระวิษณุประทับทรงอยู่ในปรางค์ปราสาท การสลักภาพมีทั้งแบบนูนสูงและต่ำ โดยเฉพาะภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนศิลาทรายทั้งที่ใต้ท้องน้ำตามโขดหิน และก้อนหินขนาดใหญ่มีให้ชมกว่า 5 แห่ง หลายท่านคงตั้งคำถามว่าภาพสลักเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร และเหตุใดจึงต้องมาแกะสลักไว้ใต้น้ำเช่นนี้

ดูเหมือนเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ยังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง แต่ก็พอมีหลักฐานยืนยันว่าในรัชสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ศิลปะแบบบาปวน พ.ศ. 1386-1418) ทรงมีพระบัญชาให้ช่างขอมสกัดภาพแบบทั้งนูนต่ำและนูนสูงเป็นรูปลักษณ์ของศิวลึงค์และโยนีบนหินทรายใต้สายธาร ด้วยการเบี่ยงสายน้ำเฉพาะบริเวณที่สกัดนั้นขึ้นให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามที่ต้องการด้วยความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายที่บูชาพระศิวะ และศิวลึงค์ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพระองค์ อันเป็นความเชื่อของขอมที่รับมาจากวัฒนธรรมอินเดียแต่โบราณ ทำให้วันนี้ใครต่อใครหลายคนตื่นเต้นและตื่นตะลึงกับพลังความเชื่ออันลี้ลับของชาวขอม



วันพุธ ที่ 30 พฤษภาคม 2550
พบรอยเท้าคนโบราณ
Posted by น้ำใสไหลรินริน , ผู้อ่าน : 255 , 16:04:11 น.
หมวด : ท่องเที่ยว


คุณตา ธเนศ ชุญช่วย จาก "แสงแก้วนิวส์เปเปอร์" เล่าให้ฟัง พร้อม นำภาพถ่ายรอยเท้ามนุษย์โบราณมาให้ดู พร้อมเล่าให้ฟังว่า ภรรยาผู้ใหญ่คำผัน สารคณา หมู่ที่6 อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ไปเก็บเห็ดแล้วพบเข้า ดังภาพข้างล่าง จ่ะ !


รอยดังกล่าว ที่พบนี้อยู่บนก้อนหินแข็ง ซึ่งโดยรอบๆจะมีก้อนหินน้อยใหญ่ รูปร่างแปลกๆอยู่เป็นอันมาก ชาวบ้านเรียกภูแห่งนี้ว่า "ภูเกลิ้ง"อยู่ที่หมู่ 6 บ้านภูเขาขาม ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

คุณตา ธเนศ ชุญช่วย เล่าว่าบน "ภูเกลิ้ง"แห่งนี้ เป็น ซูเปอร์มารเก็ตของชาวบ้าน และสัตว์เลี้ยงมาชั่วนาตาปี แต่ไม่ใครสังเกตุเห็น เพิ่งมาพบเห็นและเป็นข่าวมาเล่าให้ฟังนี้แหละ

สำหรับขนาดของรอยเท้านั้น ได้รับการบอกเล่าว่า ใหญ่กว่า คนธรรมดาประมาณ 2 นิ้ว ปัจจุบันมีประชาชนสนใจไปเที่ยวชมทุกวัน นะ

ที่มา - คุณชวการ ชาญกนกนรัฃต์ แจ้งข่าวทางอีเมล์



รอยพระพุทธบาท "ทุ่งใหญ่นเรศวร" จ.กาญจนบุรี (ลำดับที่ 599)


ท่านเจ้าอาวาสวังขยาย ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้ให้ข้อมูลรอยพระพุทธบาท พบอยู่ใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี (เข้าทาง "สำนักสงฆ์พุทโธภาวนา") จึงได้ขอก๊อปปี้รูปภาพมาให้ชมกัน ซึ่งคงจะยากที่จะเข้าไปถึงสถานที่นี้ได้



ถ้าสังเกตขอบนอกของรอยพระพุทธบาท จะเห็นเป็นรอยเบื้องขวา แต่ถ้าจะมองรอยด้านในที่มีน้ำขัง จะเป็นรอยเบื้องซ้าย


เป็นรอยพระพุทธบาทที่เห็นรอยนิ้วไม่ชัดเจนอยู่กลางทุ่งใหญ่นเรศวร ยากจะที่จะเดินเข้าไปกราบไหว้ได้
จึงขอส่งกระแสจิตกราบไหว้ด้วยเศียรเกล้า นับเป็นรอยพระพุทธบาท ลำดับที่ 599 ของประเทศ




แจ้งข่าวเมื่อ 14 มี.ค. 2553 : พบรอยพระพุทธบาทที่ปราจีนบุรี




รอยพระพุทธบาทนี้ค้นพบอยู่บนเขา ในเขตหมู่บ้านเขารัง อ.นาดี มีการพบกันมานานประมาณ 4-5 ปี แล้วครับ ค้นพบโดยนายทหาร ซึ่งได้ไปล่าสัตว์ ระหว่างที่รอซุ่มอยู่ก็ได้เหลือบไปเห็นแท่น มองไปมองมาคล้ายๆ รอยพระพุทธบาท จึงได้บอกกันต่อๆ มา



ปัจจุบันได้มีการสร้างเพิงเล็กๆ ข้างๆ รอยพระพุทธบาท (ไม่ได้สร้างครอบ) ชาวบ้านที่มาสักการะ ก็ได้นำหินมาเรียงๆ กันไว้ในลักษณะรูปเจดีย์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ที่นี่มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่...

ที่มา - คุณแชมป์ แจ้งข่าวทางอีเมล์



แจ้งข่าวเมื่อ 20 มี.ค. 2553 : รอยประทับนั่งที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ




ที่มา - ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม แจ้งข่าวทางอีเมล์



พบรอยพระพุทธบาทกลางลานหิน
วนอุทยานภูแฝก กาฬสินธุ์ อายุกว่า 1,100 ปี



เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายไพรโรจน์ เพชรสังหาร วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ได้เข้าตรวจสอบรอยพระพุทธบาท บริเวณลานหิน ในวัดถ้ำพระฤาษีวิปัสนาธรรม บ้านวังเวียง ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ที่ตั้งอยู่กลางวนอุทยานภูแฝก โดยมี พระอาจารย์น้อย ถิรวโส เจ้าอาวาสวัดป่าถ้ำพระฤาษี นายพิพิธ ภาระบุญ นายอำเภอนาคู และชาวบ้านจำนวนมากเดินทางมาเฝ้าสังเกตุการณ์

พระอาจารย์น้อย ถิรวโส เจ้าอาวาสวัดป่าถ้ำพระฤาษี อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พบรอยพระพุทธบาท และสิ่งมีค่าอื่น ๆ หลายรายการโดยบังเอิญ ขณะทำวิปัสสนาอยู่บริเวณลานหิน จึงได้นำน้ำมาลาดดู พบเป็นรอยที่เด่นชัด จึงแจ้งไปยังอำเภอนาคูให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายมาดู รวมทั้งสำนักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด ได้เข้ามาทำการตรวจสอบ และชี้ชัดว่า เป็นโบราณสถานจริง แต่โบราณสถานแห่งนี้ กลับยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนใด ๆ เลย

ด้าน นายไพโรจน์ เพชรสังหาร วัฒนธรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า รอยพระพุทธบาทที่พบนั้น มีขนาดความยาว 60 ซม. กว้าง 30 ซม. นิ้วเท้าทั้ง 5 เรียงเท่ากัน น่าจะมีอายุประมาณ 1,100 ปี เป็นลักษณะขนาดเท่ากันกับที่พบก่อนหน้าที่ที่บริเวณภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้ว เบื้องต้นได้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อดำเนินการดูแลรักษาตามมาตรการรักษาความปลอดภัย การให้ความรู้กับชาวบ้านในการดูแลรักษามรดกมีค่านี้ไว้ให้ดี ป้องกันการมาทำลายจากผู้ไม่หวังดี.

น.ส.พ.เดลินิวส์ : วันอังคาร ที่ 30 มีนาคม 2553