พบรอยพระพุทธบาทคู่ ณ วัดถ้ำขุมทรัพย์ อ.เกาะคา จ.ลำปาง
webmaster - 30/8/12 at 10:26
ผอ.ศิลปากรที่ 7 ตรวจสอบรอยพระพุทธบาท
วัดถ้ำขุมทรัพย์ เกาะคา ลำปาง
วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:44 น. ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 25 ส.ค. นายเมธาดล วิจักรขณะ ผอ.สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน และคณะเจ้าหน้าที่ ได้เดินทางเข้าตรวจสอบรอยพระพุทธบาทที่พบภายในวัดถ้ำขุมทรัพย์ หมู่ 5
ต.บ้านใหม่พัฒนา อ.เกาะคา จ.ลำปาง หลังได้รับแจ้งว่าพบรอยพระพุทธบาทดังกล่าว โดยมีพระรัตนกิจ อภิปุณโณ พระที่ประจำวัดแห่งนี้
และเป็นผู้พบรอยพระพุทธบาทคอยให้รายละเอียดแก่เจ้าหน้าที่
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร พบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทจริง รูปร่างสมบูรณ์โดยการแกะสลักลงบนหินศิลาแลง
และมีร่องรอยของการเทปูทับอีกชั้นหนึ่งซึ่งมีสีชมพูคล้ายกับมีส่วนผสมของชาด นอกจากนั้นยังมีการวาดก้นหอยบริเวณนิ้วเท้า และมีพระธรรมจักรอยู่กลางฝ่าเท้า
ขนาดความยาว 2.40 ม.ความกว้างด้านบนนิ้ว 110 ซ.ม. และความกว้างบริเวณส้น 72 ซ.ม.
นายเมธาดล วิจักรขณะ ผอ.สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน เปิดเผยว่า สำหรับในอาณาจักรล้านนาที่เคยพบรอยพระพุทธบาทจะอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง
ซึ่งเป็นรอยประเภทบริโภคเจดีย์ คือ มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในเส้นทางที่พระองค์เคยผ่านหรือเคยจำพรรษาอยู่ น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช
พ.ศ.1992 อายุราว 500-600 ปี ส่วนรอยพระพุทธบาทที่พบที่วัดถ้ำขุมทรัพย์แห่งนี้ เป็นรอยที่มนุษย์ทำขึ้นเช่นกันโดยมีการแกะสลักลงบนพื้นหินศิลาแลง มีรูปร่าง
นิ้ว ข้อพระบาท ลายก้นหอย และที่สำคัญมีรอยพระธรรมจักร ซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นการแกะสลักเป็นรอยพระพุทธบาทคู่ คล้ายกับที่พบในเมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี
สำหรับรอยพระบาทบนหินศิลาแลงที่พบนี้มีความเก่าแก่มาก แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าในสมัยใด
เนื่องจากต้องตรวจสอบมูลฐานที่ใกล้เคียงก่อนว่าในแถบนี้มีมูลฐานอยู่ในสมัยทวารวดีหรือสมัยล้านนา ส่วนรอยปูนที่นำมาทับคาดว่าจะเป็นการเพิ่มเติมทีหลัง
โดยจะให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปากรเข้ามาตรวจสอบว่าเป็นปูนชนิดใด ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นในสมัยล้านนาหรือไม่ เนื่องจากปูนที่ปิดทับนั้นมีสีชมพู
เพราะสมัยล้านนาส่วนใหญ่จะใช้การปิดทองร่องชาด ซึ่งชาดจะมีสีแดงหากมีการผสมกับปูนแล้วจะออกสีชมพูคล้ายกัน
จึงต้องใช้หลักฐานหลายอย่างที่จะนำมาพิจารณาอายุความเก่าแก่
แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัวสันนิษฐานว่า อาจจะเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 อย่างน้อยน่าจะเกิดขึ้นในสมัยล้านนา ซึ่งจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปี
และหากมีหลักฐานตรวจสอบความเป็นมาและยุคสมัยได้ชันเจน กรมศิลป์ก็พร้อมที่จะขึ้นทะเบียน และมีแนวทางจะทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาร่วมกับจังหวัดต่อไป
ในเบื้องต้น ผอ.กรมศิลปากรที่ 7 ได้แนะนำให้ทางวัดเก็บเหรียญที่ชาวบ้านนำมาโยนไว้ในพระพุทธบาทออก และติดป้ายห้ามไม่ให้มีการโยนเหรียญอีก
เนื่องจากเกรงว่ารอยที่พบจะเกิดความเสียหาย พร้อมกับกำชับให้ดูแลรักษาไว้ให้ดีเพื่อจะให้นักโบราณคดีเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
สำหรับการพบรอยพระพุทธบาทที่วัดถ้ำขุมทรัพย์นั้น พระรัตนกิจ อภิปุณโณ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดเพียงรูปเดียว เล่าว่า
ได้ฝันว่าตนเองเดินจงกลมอยู่บริเวณจอมปลวก จากนั้นก็นั่งสมาธิและมือกวาดไปพบรอยพระบาทส่วนหัวแม่เท้าหนึ่งข้าง
จากนั้นก็ตื่นแต่เนื่องจากฝันนั้นเหมือนจริงมากก็เลยเดินออกดูและพบจอมปลวกจริงจึงลองเขี่ยใบไม้ที่ทับถมกันดูก็พบรอยพระพุทธบาทอยู่จริง
แต่รากของต้นโพธิ์พยายามชอนไชรอยพระพุทธบาท จึงได้ตัดต้นโพธิ์ทิ้งและนำเต้นมากางคลุมรอยพระพุทธบาทไว้
แต่ก็ไม่เคยบอกเรื่องดังกล่าวกับใครจะรู้ก็เพียงญาติโยมที่เข้ามาทำบุญเท่านั้น จึงไม่ได้รับการบูรณะดูแลเท่าที่ควร
ด้านนายมงคล ขัดผาบ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนา จ.ลำปาง เปิดเผยว่า วัดถ้ำขุมทรัพย์ ได้จดทะเบียนเป็นวัดเมื่อปี 2530
โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ห้างฉัตรเป็นผู้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ โดยมีพระครูตัน เป็นเจ้าอาวาส เริ่มแรกหลังมีการก่อตั้งวัด
พระครูตันได้รับการบริจาคเงินจากองค์การกุศลระหว่างประเทศเพื่อให้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่บำบัดรักษาผู้ติดเชื้อ HIV
จนชาวบ้านที่อยู่โดยรอบไม่กล้าเข้ามาที่วัดแห่งนี้ เนื่องจากในสมัยนั้นเรื่องโรคเอดส์ยังเป็นที่รังเกียจของสังคม
และเมื่อไม่มีการช่วยเหลือต่อเนื่องทำให้ในปี 40-41 การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ก็ต้องหยุดไปโดยปริยาย
และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาในวัดนี้อีกเลยจนกลายเป็นวัดร้าง
จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา พระรัตนกิจ อภิปุณโณ อายุ 59 ปี หลังบวชและมาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้เมื่อปีที่ผ่านมา
และปัจจุบันเป็นผู้ดูแลวัดแห่งนี้แทนพระครูตันเจ้าอาวาสซึ่งขณะนี้กำลังอาพาธอยู่ และได้พบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้จากในนิมิตฝันของตนเอง
แต่เมื่อนำเรื่องไปบอกชาวบ้านแต่ก็ไม่มีใครเชื่อ และด้วยกลัวรอยดังกล่าวจะหายไปจึงได้นำเต็นท์มากางครอบไว้พร้อมนำขดลวดมาขึงโดยรอบ
กันไม่ให้สัตว์ต่างๆเข้ามาเหยียบย่ำจนเกิดความเสียหายได้
ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ารอยพระพุทธบาทที่พบนี้เป็นรอยพระพุทธบาทจริง แต่ยังไม่สามารถระบุอายุได้ จึงประสานงานไปยังสำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน
เพื่อเข้ามาตรวจสอบอายุของรอยดังกล่าว
หากมีอายุตามหลักเกณฑ์ที่กรมศิลป์กำหนดว่าต้องขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานก็ต้องขึ้นทะเบียนและอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากรต่อไป