ตามรอยพระพุทธบาท

เล่าเรื่องการเดินทางไป "ภาคเหนือ และ พม่าตอนเหนือ (เชียงตุง)" 8 - 16 ม.ค. 2558
webmaster - 8/4/15 at 08:39

สารบัญ (เลือกคลิกที่รายการ)

[1]
ภาคเหนือ
[2] เชียงตุง

เล่าเรื่องการเดินทางไป "ภาคเหนือ และ พม่าตอนเหนือ (เชียงตุง)"

ระหว่างวันที่ 8 - 16 มกราคม 2558


๘ มกราคม ๒๕๕๘ (วัดท่าซุง - ลำปาง)

๑. บ่อโข้ง ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง

...การเดินทางขึ้นเหนือครั้งนี้ คงเป็นไปตามกำหนดการประจำปีของวัดท่าซุง แต่ละปีจะมีการเดินทางไปไหว้พระธาตุจอมกิตติและพระธาตุดอยตุง ลูกศิษย์หลวงพ่อฯวัดท่าซุงทุกคน จะรู้ประเพณีนี้กันเป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับ "คณะตามรอยพระพุทธบาท" จะต้องเดินทางไปก่อนล่วงหน้า สมัยก่อนหลวงพี่ชัยวัฒน์จะนำคณะไปทำความสะอาดจัดเตรียมสถานที่ไว้ก่อนล่วงหน้า ปัจจุบันนี้ท่านได้มอบหมายหน้าที่นี้ให้พระวัดท่าซุงรุ่นหลัง โดยมี "หลวงพี่พระปลัดสมนึก" เป็นหัวหน้า

ในปีนี้มีกำหนดการไหว้พระธาตุวันที่ ๑๐ - ๑๑ มกราคม ๒๕๕๘ คณะหลวงพี่จึงวางแผนออกเดินทางก่อนกำหนด เพราะท่านยังมีภารกิจที่จะต้องไปสำรวจรอยพระพุทธบาทที่ อ.สบปราบ จ.ลำปาง เนื่องจากมีข่าวทางหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการตัดก้อนหินรอยพระพุทธบาทที่นี่ นอกจากนี้หลังจากเสร็จงานไหว้พระธาตุดอยตุงแล้ว ท่านยังมีกำหนดการไปเชียงตุง ประเทศเมียนม่าร์ ต่อไปอีก ๓ - ๔ วัน

ด้วยเหตุนี้ เช้าวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘ จึงออกเดินทางกันแต่เช้าตามเส้นทางสายเอเซีย จนได้เวลาที่ท่านจะต้องฉันเพลแถว อ.สบปราบ พอดี พวกเราได้จัดอาหารถวายท่านในห้องอาหารริมถนน แล้วได้ถามทางที่จะไปรอยพระพุทธบาทกับเจ้าของร้าน หลังจากนั้นได้ออกเดินทางไปแวะที่ "บ่อโข้ง" ก่อน แล้วค่อยไปที่รอยพระพุทธบาทภายหลัง




ประวัติ "บ่อโข้ง" บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อำเภอสบปราบ

โดย พรทิวา ขันธมาลา จาก www.m-culture.in.th

...............บ่อโข้ง “โข้ง” มาจากคำว่า โข่ง ซึ่งเป็นชื่อหอยโข่ง เป็นหอยฝาเดียวและบ่อมีลักษณะเหมือนหอยโข่ง บางคนก็เรียกว่า บ่อค้ง มาจากคำว่า “บ่อคง” คือ คงทน ถาวร (ไม่แห้งจะมีน้ำอยู่ตลอดเวลา) บางคนก็สันนิษฐานว่า บ่อค้ง คือ มุ้ง เป็นภาษาเหนือซึ่งแปลว่า หลุม บ่อ

...............บ่อโข้ง อยู่ในท้องที่ตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง อยู่ทางทิศตะวันออกของ ๓ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๓ บ้านวังพร้าว หมู่ที่ ๖ บ้านวัฒนาและหมู่ที่ ๗ บ้านสบเรียง ถนนทางเข้าเข้าได้ ๓ ทาง คือ ตรงหน้าโรงเรียนบ้านวังพร้าว-สบเรียง หน้าวัดศรีบุญเรืองและทางบ้านวัฒนา

...............บ่อโข้งเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอสบปราบ ซึ่งคนสมัยก่อน ๆ เล่าให้ฟังว่า ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้เสด็จธุดงค์เพื่อโปรดสัตว์มาจากบ้านแม่ไทย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อยู่ทางทิศเหนือของตำบลสมัย อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง และได้มีสิงห์สาราสัตว์หลายชนิดได้ติดตามพระองค์มา เช่น เสือ ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข ไก่ ฯลฯ

..............พอเดินทางมาถึงสถานที่บ่อโข้งในปัจจุบัน บรรดาสัตว์ทั้งหลายหิวน้ำ เพราะบริเวณนั้นเป็นภูเขา สัตว์ทั้งหลายได้ทูลต่อพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระ ภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน ด้อยซึ่งความรู้และปัญญา ไม่สามารถจะเสาะแสวงหาแหล่งน้ำดื่ม เพื่อประทังชีวิตได้ จึงขอพึ่งพระบารมีของพระโพธิสมภาร พระพุทธเจ้าได้ทรงฟังเช่นนั้น จึงเกิดพระเมตตายิ่งนัก จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์มีพระวรกายสูงใหญ่ และทรงใช้พระอังคุฐ (หัวแม่มือ) กดลงบนแผ่นหินขนาดใหญ่ ปรากฏว่าแผ่นหินที่พระองค์ทรงกดลงนั้นขยายออกและเป็นบ่อ

...............ทันใดนั้นตรงก้นบ่อก็มีน้ำทิพย์พุ่งออกมาจนเต็มบ่อ บรรดาสัตว์ทั้งหลายเห็นดังนั้นเกิดความปิติยินดีอย่างท่วมท้น จึงกล่าวคำว่า “สาธุ” พร้อมกันถ้วนหน้า และตรงรี่เข้าไปแย่งกันดื่ม เพื่อบรรเทาความกระหายน้ำ สัตว์บางชนิดที่ไม่ค่อยสบายก็กลับมีสุขภาพแช็งแรง ในขณะที่พระองค์ทรงใช้พระอังคุฐกดลงบนแผ่นหินนั้น พระองค์ทรงท่าประทับคร่อมเพื่อใช้แรงกด พระองค์ใช้พระบาทยันกับหินอีกก้อนหนึ่ง จึงเกิดรอยพระบาทขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณบ่อโข้ง มีปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ บรรดาสัตว์ป่าและชาวบ้านที่ไปเลี้ยงวัว ควาย ไปทำไร่ ทำนา ก็ใช้น้ำนี้ดื่ม น้ำจะไม่แห้งจะเต็มบ่อตลอดไม่ว่าฤดูไหน ๆ ประชาชนที่เห็นก็เล่ากันต่อ ๆ มา มีชาวบ้านต่างตำบลก็พากันนมัสการ นำไปดื่ม-อาบเพื่อป้องกันโรคสืบกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

...............ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ (เหนือ) จะมีประชาชนไปทำบุญกันบริเวณบ่อโข้งทุกปี ตอนเช้าพิธีทางศาสนา ตอนบ่ายจะมีการจุดบ้องไฟแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน ตอนจะกลับบ้าน ทุกคนจะนมัสการ และนำน้ำจากบ่อโข้งไปเผื่อแผ่ให้ครอบครัวและลูกหลานทางบ้าน เพื่อนำไปอาบ- ดื่ม เป็นสิริมงคลและป้องกันโรค-รักษาโรค ชาวอำเภอสบปราบจะมีความเชื่อว่า บ่อโข้ง เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอสบปราบ ดังคำขวัญอำเภอสบปราบ “อุทยานแห่งชาติดอยจง มั่นคงวัฒนธรรม งามล้ำน้ำตกแม่ไซงู เชิดชูบ่อน้ำทิพย์ อ่างนับสิบรอบเมือง”





พวกเราได้มาพิสูจน์ถึงที่พบว่าน้ำไม่แห้งและน้ำมีรสซ่าเหมือนโซดาจริงๆ ก้มมองดูลงไปในบ่อจะเห็นฟองน้ำผุดขึ้นมาเรื่อยๆ นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกจริงๆ ที่ก้อนหินนี้มีหลุมเป็นบ่อที่อยู่สูงกว่าพื้นดิน แล้วน้ำมาได้อย่างไร..? คุณน้าสำราญจึงไม่ลืมที่จะนำมาผสมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วชมพูทวีป ตอนนี้บรรจุลงขวดพร้อมแจกที่วิหารสมเด็จองค์ปฐมเรียบร้อยแล้ว...จ้า หลวงพี่ฝากอนุโมทนาเฮียท้ง (สุชัย ชินบุตรานนท์) ช่วยเป็นเจ้าภาพบริจาคขวดพลาสติกใส่น้ำทิพย์หลายพันขวด

๒. รอยพระพุทธบาทบ่อโข้ง ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง (พบใหม่)


ในวันนั้นถ้าจำไม่ผิด ขณะที่รถวิ่งไปถึงบริเวณบ่อโข้ง มีคุณลุงชาวบ้านคนหนึ่งขับรถมอเตอร์ไซด์เข้ามาตัดไม้ไผ่พอดี จึงได้ถามถึงรอยพระพุทธบาท คุณลุงชี้มือบอกว่าอยู่ด้านโน้นพร้อมเดินนำทางไปในป่า สำหรับพระพุทธบาทรอยนี้อยู่ใกล้กับบ่อโข้ง เป็นรอย ๒ รอยซ้อนกัน มีวิหารครอบไว้เป็นหลังคาเป็นทรงล้านนา สร้างไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เคยมีพระมาพักอาศัยอยู่ที่นี่ สถานที่แห่งนี้มีการพบตรงกับปีที่เริ่มงานรอยพระพุทธบาทพอดี ดังนั้นรอยนี้เป็นรอยที่รอดหูรอดตาไปถึง ๒๐ กว่าปีกว่าจะได้มาพบ



ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดูตามรูปภาพแล้ว จะว่าก้อนหินก้อนนี้แปลกมาก ที่มีลักษณะเป็นสีขาวทองทั้งก้อน ปกติหินจะมีสีเทาเป็นส่วนใหญ่ บนก้อนหินจะมีพระพุทธรูปวางอยู่ สังเกตที่ผิวของก้อนหินจะไม่เรียบ มีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำแหลมคม เหมือนกับป้องกันไม่ให้ใครขึ้นไปเหยียบ พวกเราโชคดีที่ยังพบรอยพระพุทธใหม่ๆ อีก (ทั้งที่เขาพบกันตั้งนานแล้ว)



๓. รอยพระพุทธบาทคุ้มสามวัง ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง (พบใหม่)

สำหรับรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ หลวงพี่ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งคัดค้านที่จะเคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทนี้ไปไว้ที่แห่งหนึ่งที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นรอยพระบาทเกือกแก้วด้านขวา สภาพที่เห็นมีการรื้อมณฑปก่อน แล้วใช้รถแม็คโคขุดหินก้อนหินรอบๆ รอยพระพุทธบาทออก แต่โครงสร้างของหินก้อนนี้ใหญ่มาก ต้องใช้เวลามาก ชาวบ้านมาคัดค้านก่อน ทางการจึงประกาศไม่ให้มีการโยกย้ายภายหลัง พวกเราได้พบเห็นสภาพแล้วพูดได้คำเดียวว่า..เห็นแล้วน่าเศร้าสลดใจเป็นอย่างมาก เขาเลื่อมใสบูชาแบบเห็นแก่ตัวจริงๆ ดูข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ก็แล้วกัน...



ข่าว..ชาวลำปางค้านเคลื่อนย้ายหินมีรอยพระพุทธบาท

ชาวบ้านใหม่พัฒนา ลำปาง ชุมนุมประท้วงคัดค้าน การเคลื่อนย้ายหินก้อนใหญ่ขนาด 7 คนโอบ มีรอยคล้ายพระพุทธบาท


.........ที่บริเวณถนนทางเข้าร้านอาหารคุ้มสามวัง เขตบ้านใหม่พัฒนา ม.10 ต.สบปราบ อ.สบปราบ จ.ลำปาง ชาวบ้านสบปราบกว่า200 คน ยังคงปักหลักชุมนุมที่ทางเข้าพื้นที่ เพื่อรอการเจรจาหลังจากชาวบ้านทำการคัดค้าน การเคลื่อนย้ายหินก้อนใหญ่ขนาด 7 คนโอบ ที่มีรอยคล้ายพระพุทธบาท เพราะเชื่อว่าหินดังกล่าวนั้นมีอายุเก่าแก่หลายพันปี แต่เจ้าของที่ดินพยายามที่จะนำหินดังกล่าวออกไป และได้ทำพิธีเพื่อเตรียมเคลื่อนย้าย

ทั้งนี้ ชาวบ้านยังคงประกาศจะปักหลักชุมนุมจนกว่าจะได้ข้อยุติและจะไม่ให้นำหินออกจากพื้นที่ หรือให้เจ้าของที่ดินยอมยกให้เป็นสิ่งสาธารณะประโยชน์ เพราะอยู่ในพื้นที่มานานและเป็นที่บูชาของชาวบ้านมานานแล้ว ส่วนชาวบ้านยังยืนยันว่า จะไม้ให้ย้ายหินรอยพระพุทธบาทออกจากพื้นที่โดยเด็ดขาด

สำหรับที่ดินดังกล่าว เจ้าของได้ซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2532 เนื้อที่กว่า 38 ไร่ ทางด้านทิศเหนือเป็นป่าละเมาะมีหินก้อนดังกล่าว รวมทั้งมีผาหินและถ้ำ ซึ่งชาวบ้านระบุว่าพบเห็นรอยดังกล่าวมานานมาก จึงไม่อยากให้ย้ายหินออกจากพื้นที่


ที่มา - www.innnews.co.th






วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๘ (ลำปาง - พะเยา - เชียงราย)


๔. พระธาตุดอยผาปูน และ รอยพระพุทธบาท สำนักสงฆ์พระธาตุดอยผาปูน บ้านหลุก ต.นาครัว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง



สำหรับสถานที่แห่งนี้หลวงพี่เคยมา ๒ ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ครั้งแรกได้ขึ้นไปกราบไหว้องค์พระธาตุดอยผาปูน ซึ่งอยู่บนยอดเขา ภายใต้การดูแลของวัดบ้านหลุก ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ ปี ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร ต่อมาปี ๒๕๔๑ หลวงพี่ก็ได้เดินทางมาเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากได้พบรอยพระพุทธบาทใหม่สวยงามตามธรรมชาติ ขนาดใหญ่มาก ยาว ๑๓๐ ซ.ม. กว้าง ๗๕ ซ.ม. พื้นเรียบแต่ไม่มีนิ้วเท้า คล้ายรอยเกือกแก้ว ครั้งที่ ๓ นี้หลวงพี่อนุเคราะห์พาพวกเรามากราบไหว้กันเป็นพิเศษ

เมื่อขับรถขึ้นไปไหว้พระธาตุบนดอยผาปูนแล้ว (ตามประวัติที่มาครั้งแรกบอกว่าภายในบรรจุ "พระเกศาธาตุ") หลังจากไหว้องค์พระธาตุแล้ว จึงได้ขับรถลงมาข้างล่างเลี้ยวเข้าไปที่ "สำนักสงฆ์ดอยผาปูน" พบเจ้าอาวาสท่านก็ได้นำไปไหว้รอยพระพุทธบาท (ขอย้ำว่าอยู่หลังสำนักสงฆ์ คนละแห่งกับพระธาตุ)


หลวงพี่ได้ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส ๒,๐๐๐ บาท และถวายหนังสือตามรอย เล่ม ๑ เครื่องไทยทานและปฏิทินของ คุณก้วยเจ๋ง - เจ๊หลี ที่ฝากมาถวายด้วย ๑ ชุด จากนั้นเจ้าอาวาสก็ได้เดินนำไปป่าด้านหลังกุฏิ ระหว่างทางหลวงพี่พบรอยพระพุทธบาทเล็กๆ อยู่ข้างทางด้วย เรื่องรอยพระพุทธบาทคงไม่มีเรื่องเล่ามาก ขอนำคำบรรยายจากเว็บไซด์ nakrow.go.th ว่า...


.......พระธาตุดอยผาปูน (พระธาตุอโมงค์เสตังขมณี) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ วัดบ้านหลุก ข้ามฝั่งแม่น้ำจางไปประมาณ ๕๐๐ เมตร ไปตามถนนบ้านหลุก - นาดู่ เมื่อปี พ. ศ. ๒๕๐๔ หลวงพ่อคำปัน พร้อมด้วยคณะศรัทธาบ้านหลุกได้ช่วยกันปลูกสร้างพระธาตุถ้ำดอยผาปูนขึ้น และได้บูรณะสิ่งปลูกสร้างต่างๆ หลายอย่าง

พระธาตุถ้ำดอยผาปูนตั้งอยู่บนดอยโดดเด่นอยู่ลูกเดียว ลักษณะบนดอยเป็นรูปตัวแอล สูงจากพื้นราบประมาณ ๓๕ เมตร เป็นภูผาสีเหลืองนวลสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นหน้าผาสูงชันตลอดแนว และเป็นจุดมองทิวทัศน์ตระการตา


ธรรมชาติได้สรรค์สร้างสิ่งสวยงาม หน้าผา ถ้ำ บ่อน้ำสามพี่น้อง มีภูผาเป็นรูปสัตว์ต่างๆ มีถ้ำค้างคาว ซึ่งมีความงดงามของถ้ำล้ำลึก มีบันไดเหล็กวนลงได้ และมีแสงสว่างเพียงพอ สามารถลงไปชมภายในถ้ำอย่างสวยงาม ภายในบริเวณวัดมีพระสังกัจจยนะ ตั้งอยู่ริมหน้าผาดูโดดเด่นเป็นสง่า สามารถมองเห็นจากด้านล่างอย่างงดงาม

มีผู้คนขึ้นไปเที่ยวชมอย่างสม่ำเสมอ และมีรอยพระพุทธบาทข้างซ้ายเหยียบก้อนหินผา ทางส้นเท้าลึกลงในหิน รอยนิ้วไม่ชัด ฝ่าเท้ายาวเรียบ พุทธศาสนิกชนขึ้นไปสรงน้ำรอยพระบาทเป็นประจำ ต่อมาคณะศรัทธาบ้านหลุกและบ้านใกล้เคียง ช่วยกันปลูกสร้างที่พำนักสงฆ์ ศาลาและสิ่งต่างๆมากมาย เพื่อให้พระสงฆ์ สามเณร และประชาชนได้พักอาศัย ชื่อว่า "สำนักสงฆ์พระธาตุดอยผาปูน"




ขณะที่เดินเข้าไปไหว้รอยพระพุทธบาท ฝนตกพรำๆ ตลอด หลวงพี่ใช้หมวกพลาสติกคลุมหัว ไม่ต้องถือร่มให้เมื่อยมือค่ะ จากนั้นออกเดินทางจากลำปางสู่จังหวัดพะเยา หลวงพี่บอกว่าขึ้นเหนือแต่ละปีต้องสลับเส้นทาง เพราะปีที่แล้วขึ้นเชียงรายท่านให้ใช้เส้นทาง ฝาง - ท่าตอน



๕. วัดดงพระเจ้า ถ.พหลโยธิน ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา



........ขณะที่ขับรถไปในระหว่างทาง หลวงพี่นั่งรถผ่านท่านมองเห็นบนเขาข้างทางกำลังสร้าง "พระนอน" ความยาว ๓๙ เมตร จึงได้ทำบุญรวมกัน ๒,๐๐๐ บาท แล้วให้คุณเจกับคุณน้อยโหน่งขับรถขึ้นไปถวายพระที่อยู่บนเขา ช่วงนี้เจ๊มายินนั่งอยู่บนรถถ่ายรูปเสาหลักกิโลเมตรที่ 15 ปรากฏว่ากลับมาถูกเลขสองตัว 15 นับว่าเจ๊มีโชคดีถูกหวยทุกงวดตลอดมา ตั้งแต่ก่อนจัดงานลอยกระทงที่ "รอยพระพุทธบาทหินดาด เลาขวัญ" เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

๖. วัดป่ากล้วย หมู่ ๖ ต.สันทราย อ.เมือง จ.เชียงราย


ความจริงวัดนี้หลวงพี่เคยเข้ามาร่วมสร้าง "พระเจดีย์" หลายครั้งแล้ว แต่ท่านก็ลืมทุกครั้ง จึงเป็นกำไรของพวกเราที่ได้เข้ามาทำบุญกัน ครั้งนี้ทำบุญรวม ๒,๐๐๐ บาท หลวงพี่สั่งให้คุณบุ๋ม (วัชรพล) ช่วยถ่ายรูปฉัตรที่พระยืนไว้ด้วย เพราะลวดลายละเอียดสวยงาม



วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๗ (พระธาตุจอมกิตติ)


๗. พระธาตุจอมกิตติ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย




ในปีนี้การเดินทางไปกราบไหว้พระธาตุจอมกิตติ คงเป็นไปตามประเพณีเช่นเคยทุกปี ที่จะต้องมีการทำบายศรีไปบวงสรวง เป็นทีมงานพระภิกษุจากวัดท่าซุง เดินทางไปก่อนล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมสถานที่ ปีนี้ก็มีคนเยอะเหมือนทุกๆ ปี แต่ก็เป็นการบวงสรวงธรรมดา ไม่ได้ทำพิธีเฉลิมฉลองเหมือนกับปีที่แล้ว ที่มีการแต่งกายแบบชุดล้านนา ถึงอย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ก็ยังแต่งชุดไทย บางคนก็ต้องสวมเสื้อกันหนาวทับอีกชั้น เพราะอากาศต้นปียังมีความหนาวเย็นพอสมควร ส่วนเรื่องที่พักในปัจจุบันนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะรีสอร์ทมีเพิ่มขึ้นทุกปี


ก่อนเวลาบวงสรวงก็มีการเล่าประวัติเหมือนเช่นเคย จาก ดร.ปริญญา นุตาลัย และ หลวงพี่ชัยวัฒน์ สลับกันเล่า ส่วนท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมลก็จะมีการสรุปเป็นบางครั้ง ปีนี้ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมกิตติมานั่งร่วมพิธีด้วย ช่วงนี้ก็มีคณะพุทธบริษัททยอยเข้ามาทำบุญกับท่านเจ้าอาวาสตามอัธยาศัย คณะตามรอยพระพุทธบาทร่วมทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท


จนกระทั่งถึงเวลาบวงสรวง ๙.๓๐ น. รถบัสจากคณะสายลมยังมาไม่ครบก็ต้องรอกันก่อน จนถึงเวลาสมควรพระสงฆ์ ๕ รูปก็ต้องออกไปจุดธูปเทียนที่โต๊ะบายศรี คือที่หน้าพระเจดีย์องค์ใหญ่และพระเจดีย์ทั้งสี่ทิศ จากนั้นคุณสุพัฒน์ก็ได้ฤกษ์เปิดเทปเสียงบวงสรวงของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ทุกคนพนมมืออธิษฐานกันตามอัธยาศัย



เพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ, พระบรมสารีริกธาตุส่วนแขนเบื้องขวา และพระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าผาก ๑๑ องค์ นับเป็นกิจกรรมที่คณะศิษย์ "หลวงพ่อพระราชพรหมยาน" ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติขึ้นมากราบไหว้ทุกปี ทั้งนี้ ถือโอกาสเป็นการทำบุญเนื่องในปีใหม่ และตรงกับวันเด็กอีกด้วย




ปีนี้ที่ได้เห็นสภาพแปลกไปนั่นก็คือ องค์พระธาตุมีนั่งร้านอยู่รายรอบ หมายถึงทางกรมศิลปากรกำลังบูรณะ ได้ทราบว่าทางช่อง ๗ เป็นเจ้าภาพในการเปลี่ยนทองจังโก้ที่หุ้มใหม่ พวกเราโชคดีได้มีโอกาสร่วมทำบุญไปด้วย ถือว่าเป็นการบูรณะอีกครั้งหนึ่งในชีวิต




หลังจากทำพิธีบวงสรวงเสร็จแล้ว มีคณะพี่ต๋อยเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารและถวายเพลพระภิกษุทุกรูป จากนั้นก็ออกเดินทางไปเที่ยวกันต่อตามอัธยาศัย สำหรับคณะหลวงพี่ชัยวัฒน์ก็มีรถตู้ของญาติโยมติดตามไปหลายคัน





๘. วัดพระเจดีย์หลวง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย



จุดแรกที่ไปคือ "วัดพระเจดีย์หลวง" ตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสนด้านทิศตะวันออก เป็นวัดที่เก่าแก่ของเมืองเชียงแสน สร้างโดย พระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๗ (ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙) หลังจากนั้นพระเจ้าแสนภูได้เสด็จไปครองเมืองเชียงใหม่แทนพระราชบิดา คือ พระเจ้าชัยสงคราม ซึ่งเสด็จมาประทับยังเมืองเชียงราย พร้อมทั้งนำอัฐิของพระราชบิดา คือพ่อขุนเม็งรายมหาราชที่เสด็จสวรรคตที่เชียงใหม่กลับมายังเมืองเชียงรายด้วย


พระธาตุเจดีย์หลวงได้ชื่อมาจากพระเจดีย์องค์ใหญ่ ทรงระฆังแบบล้านนา สูง ๘๘ ม. ฐานกว้าง ๒๔ ม. เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในเชียงแสน ภายในวัดนอกจากพระเจดีย์หลวงแล้ว ยังมีพระวิหารซึ่งเก่าแก่มากพังทลายเกือบหมดแล้ว และเจดีย์รายแบบต่างๆ อีก ๔ องค์ โบราณสถานแห่งนี้แม้ว่าจะปรักหักพังไปมากแล้ว แต่ได้รับการบูรณะอย่างดีให้สมกับเป็นวัดที่สำคัญของ "เมืองหิรัญนครเงินยาง" ในสมัยอาณาจักรล้านนาไท


การเดินทางครั้งนี้พอดีได้ทราบข่าวว่า วัดพระเจดีย์หลวง มีการบูรณะ คณะของท่านจึงได้มาร่วมทำบุญซ่อมแซมพระเจดีย์ จำนวนเงิน ๓,๐๐๐ บาท โดยท่านเจ้าอาวาสให้การต้อนรับเป็นอย่างดี จึงพร้อมกันถวายสร้างวิหาร ๓,๐๐๐ บาท และสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม ๔,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท




๙. วัดพระมหาธาตุดอยจัน หมู่บ้านดอยจัน ต.โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย



จากนั้นออกเดินทางต่อไปที่ วัดพระมหาธาตุดอยจัน อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ ๑ เส้น และเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงพระบรรทมอีกด้วย ก่อนที่พระองค์จะเสด็จไปบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้นที่ "บ้านสวนดอก" (ทางไปเชียงของ ปัจจุบันคือวัดสวนดอก) พวกเราร่วมกันทำบุญ ๓,๔๐๐ บาทกับท่านเจ้าอาวาส เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบองค์พระธาตุกันต่อไป


......ตามที่หนังสือ"ตำนานเมืองโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน" ผูก ๑-๒-๓ เขียนไว้ว่า...พระพุทธเจ้าก็ไต่สันนั้นล่องไปใต้ไกล๋ผะหมาณปันวาแล้วก็ไปรอดแม่น้ำน้อยที่หนึ่งแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จขึ้นสู่ปล๋ายดอยรามลูกนั้น มีปล๋ายอันเปียงงามนัก พระพุทธเจ้าก็นอนที่นั้นคืนหนึ่ง กันว่ารุ่งแจ้งแล้ว พระพุทธเจ้าร่ำเปิงว่าดอยอันนี้เป๋นหลิ่ง และจันมากนัก คนตังหลายก็บ่รู้ว่ากูพระตถาคตะมานอนอยู่ฐานะที่นี้หั้น และแม้นว่าจักขึ้นมาก็หายากนักเหตุว่าดอยจันนัก


ร่ำเปิงสันนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ลูบเอาเกศาเส้นหนึ่ง ออกมาหื้อมหาสารีบุตรเถรเจ้า กับตังพญาอโสกะ และพระอินทร์แล้ว ก็พร้อมกั๋นเอาใส่โกฏแก้วแล้วเอาลงจุไว้ในปล๋ายดอยที่นั้นและ พระพุทธเจ้าก็จิ่งทำนายว่า ดูราภิกขุตังหลายปายหน้าเสี้ยงเจ่นเวียงโยนกนครราชธานีใจยะบุรีศรีจ๊างแส่น ไปแล้วอั้นคนเขาก็จักเปิกษา พร้อมเพียงกั๋นยกเอาคามะโภชกะผู้หนึ่ง อยู่บ้านติ๋นดอยปายใต้นี้เป๋นใหญ่แก่เขาแล้ว ก็จักเปิกษากั๋นสร้างที่บ้านใหญ่อันนั้นหื้อเป๋นเวียง อยู่หื้อเป๋นที่กั้งสัตรู๋แล้ว เขาก็จักพร้อมกั๋นมาสร้างหื้อเป๋นเจ๋ติยะก๋วม “เก๋ษาธาตุ” ยามนั้นจักได้จื่อว่า “ธาตุเจ้าดอยจัน” จ๊ะและว่าอั้นแล้ว พระพุทธเจ้าก้ปาเอาเจ้าภิกขุสังฆะตังหลาย ก็เสด็จจากดอยที่นั้น.





๑๐. วัดโค้งงาม ต.โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

......วัดโค้งงามเป็นวัดสุดท้ายในวันนี้ ได้แวะทำบุญ ๑,๐๐๐ บาท จากนั้นก็เดินทางไปประสานงานกับทัวร์ที่จะจัดเดินทางไปเชียงตุงต่อ หลังจากเสร็จงานที่พระธาตุดอยตุงแล้ว โดยกำหนดเดินทางข้ามไปพม่าที่ด่านแม่สาย - ท่าขึ้เหล็ก ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๕ มกราคม ฉะนั้นจะมีพวกเราบางคนเริ่มทยอยเดินทางกันมาถึงเชียงรายแล้ว หลวงพี่ได้กำหนดนัดไว้และจะนำไปกราบไหว้ ณ สถานที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายต่อไป


webmaster - 8/4/15 at 08:40

วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๘ (พระธาตุดอยตุง)


๑๑. พระธาตุดอยตุง ต.ห้วยไคร้ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย


ตามประวัติตำนานได้กล่าวไว้ว่า บริเวณที่ประดิษฐานองค์พระธาตุเดิมเป็นก้อนหินที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้าหลายพระองค์มาแล้ว ต่อมาพระมหากัสสปเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกระดูกไหปลาร้า (พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวติ


พระองค์ทรงเป็นประธานพร้อมด้วยมุขมนตรีเสนาอำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือดอยตุงปัจจุบัน) ต่อมาอีก ๑๐๐ ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถระ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบถวายให้พระเจ้ามังรายะนะราช แล้วจึงได้พร้อมใจกันนำพระบรมธาตุขึ้นบรรจุสร้างใหม่ขึ้นมาอีกองค์หนึ่งบนดอยตุง พร้อมได้ปฏิสังขรณ์องค์เดิมต่อไป


ขอนำเหตุการณ์ในปัจจุบันมาเล่ากันต่อไปว่า ในตอนเช้ามืดหลวงพี่ก็เดินทางมาถึง (แต่ก็มาถึงทีหลังหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดท่าซุง) ครั้นเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ๙.๓๐ น. ที่จะทำพิธีบวงสรวง หลวงพี่พร้อมคณะต่างก็บูชาผ้าตุง ด้วยการแขวนตุงเอกหลายหลากสีไว้บนเสา ตรงบริเวณหลุมที่ปักตุงแต่โบราณ แล้วร่วมกันทำบุญตามอัธยาศัย ประมาณ ๑,๐๐๐ บาท


งานพิธีบวงสรวงองค์พระธาตุดอยตุงประจำปีนี้ มีคณะพุทธบริษัทลูกหลานหลวงพ่อพระราชพรหมยานขึ้นมานอนค้างบนวัดพระธาตุน้อยกันเยอะมาก ตอนเช้ามืดก็มีคณะหลวงพี่จากลำพูนเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงข้าวต้มแต่เช้ามืดกันเลย ตั้งแต่ตีสี่เริ่มมีรถทยอยกันขึ้นมาเรื่อยๆ พวกเราก็ต้องออกมาจากที่พักในเวลาตีสี่เช่นกัน รถขึ้นมาถึงก็ยังไม่สว่าง จึงแวะเข้าห้องน้ำและทานอาหารเช้าที่วัดพระธาตุน้อยกันก่อน


จากนั้นก็ขับรถขึ้นไปบนยอดพระธาตุ บรรยากาศตอนเช้ามืดลมแรงอากาศหนาวเย็นมากกว่าทุกปี หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมลขึ้นมาถึงก่อน เจ้าหน้าที่ของเราช่วยกันจัดขบวนรถ เพื่ออำนวยความสะดวกตลอดเวลาทั้งขาขึ้นและขาลง ส่วนคณะพระสงฆ์วัดท่าซุงโดย หลวงพี่พระปลัดสมนึก ก็ได้ขึ้นมาเตรียมจัดสถานที่ตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว



ในปีนี้การแต่งกายไม่เหมือนปีก่อน เพราะไม่ได้จัดงานพิธีเฉลิมฉลอง แต่ก็ยังมีผู้แต่งกายแบบไทยมากมาย คงทำตามคำสั่งของ "ท่านย่า" ที่ท่านเคยรับสั่งตั้งแต่สมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ว่าให้ลูกหลานที่มาไหว้สถานที่สำคัญควรนุ่งผ้าถุงกัน ไม่ว่าจะเป็นพระธาตุจอมกิตติหรือพระธาตุดอยตุงก็ตาม



ครั้นใกล้ถึงเวลาบวงสรวง (ยังไม่ถึงเวลา ๙.๓๐ น. เมื่อเห็นว่าหมู่คณะมาพร้อมกันแล้ว จึงเริ่มพิธีก่อนเวลา) จึงเริ่มทำพิธีบวงสรวงกัน โดย ท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมล เป็นองค์ประธาน ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น มีคุณใหญ่ (น้องคุณขวัญ) เอาถุงน้ำร้อนมาถวายหลวงพี่ด้วย เพื่อช่วยให้มืออบอุ่นขึ้น หลังจากทำพิธีเสร็จแล้ว พี่ต๋อยพร้อมคณะเป็นเจ้าภาพถวายอาหารเพลและจัดเลี้ยงอาหารพวกเราทุกคน ต้องขอขอบคุณและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งค่ะ



๑๒. วัดห้วยปลากั้ง ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย


หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว หลวงพี่รีบเดินทางลงมาจากพระธาตุดอยตุง เพื่อไปรับคณะตามรอยเล็กๆ ที่สนามบินเชียงราย เวลา ๑๒.๓๐ น. หลังจากรอให้พวกเราที่เพิ่งมาถึงทานอาหารกลางวันที่สนามบินเรียบร้อยแล้ว หลวงพี่จึงพาคณะไปเที่ยวชมเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ที่ วัดห้วยปลากั้ง แล้วร่วมทำบุญถวายพระพุทธรูปองค์ละ ๑,๕๐๐ บาท ๒ องค์รวม ๓,๐๐๐ บาท กับเจ้าอาวาส และทำบุญอย่างอื่นๆ อีกรวม ๓,๐๐๐ บาท




๑๓. วัดศรีส้มสุก บ้านหนองบัวแดง ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมือง จ.เชียงราย


หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปที่วัดพระพุทธบาทผาเรือ แต่ระหว่างทางได้แวะที่ วัดศรีส้มสุก ร่วมทำบุญ ๑๑,๐๐๐ บาท ทางวัดเล่าว่าในวันพระ ๑๕ ค่ำ มีแสงเข้าและออกจากองค์พระธาตุด้วย

๑๔. พระพุทธบาทผาเรือ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย


ตำนานพระพุทธบาทผาเรือ

พรรษาที่ ๑๕ พระพุทธเจ้าเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ปฐมกัปป์ วันนั้น น้ำมหาสมุทรยิ่งขึ้น มาถึงที่นี่ มีพญาตนหนึ่ง ชื่อว่า สิงหะราชา เอาเรือมาจอดไว้คืนหนึ่ง น้ำก็แห้ง พญาสิงหะให้หมู่บริวาร เข็นเรือเพื่อลงน้ำ เรือหักเป็น ๓ บั้ง ๓ ท่อน พญาเจ้าก็เลยบอกให้บริวารว่ายน้ำ ตัวใครตัวมันก่อน ส่วนสิงหะราชาก็ไปตายค้างอยู่ที่บ้านนั้นเป็นเมืองค้างเรือ นั้นก็คือที่นั้นแหละ พระพุทธเจ้าก็ฐาปนาตั้งไว้ซึ่งรอยพระบาทข้างขวาดอยหนึ่ง ให้เป็นที่ไหว้สาแก่คนและเทวดา ฐานะที่นี่ได้ชื่อ พระบาทผาเรือ ชะแล

(นำมาจาก ตำนานโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแส่น)


พอดีผู้เขียนมีหนังสือเล่มนี้อยู่ จึงขอนำรายละเอียดมาเล่าไว้ดังต่อไปนี้ว่า..

......พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปหนวันตก ข้ามน้ำแม่กุกะนที (น้ำกก) ไปริมฝั่งโยนกนครราชธานีไชยะบุรีศรีช้างแส่นด้านอาคเณย์ไปไกล ๓ พันวา ไปรอดตีนดอยที่ว่า พระพุทธเจ้าก็ไปสถิตย์ยืนย่ำอยู่ยังหลังผาก้อน ๑ แล้ว พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ภิกขเว ดูราภิกขุทั้งหลาย ยามปฐมกัปป์วันนั้น น้ำแม่มหาสมุทรสาครยิ่งขึ้น (ท่วมขึ้น) มารอดที่นี้แล ยามนั้นยังมีพระยาตน ๑ ก็เอาบริวารแห่งตนเองเรือมาจระเดินบ้านเมืองทั้งหลายก็มารอดที่นี้ และยามนั้นน้ำแม่ขระนที (น้ำโขง) คือว่าน้ำแม่ของนั้นไป่มีเทื่อ (ยังไม่มีเลย)

ส่วนว่าพระยาตนนั้นมีชื่อว่า สิงหะ นั้นก็อยู่ผาก (ฝ่าย) วิเทหราชา แล้วก็เอาเรือมายั้งอยู่ที่นี้คืน ๑ เมื่อกลางคืนน้ำสมุทรสาครก็แห้งลงเข็นเรือแห่งพระยาตนนั้นเสียแล้ว คันว่ารุ่งแจ้งแล้ว ส่วนว่าพระยาตนนั้น ก็หันเรือแห่งตนค้างอยู่ยังหลังกระโดงเสียดั่งอั้นก็หื้อหมู่ลูกน้องแห่งตนงัดเรือนั้นลงแล้ว ส่วนว่าเรืออันนั้นก็หักลงเปน ๓ บั้ง ๓ ท่อนไปแล เมื่อนั้น ส่วนว่าพระยาตนนั้นกับทั้งบริวารแห่งตนก็ค้างอยู่ยังเกาะกลางน้ำที่นั้น คึดเชื้อใดก็บ่ช่างคึด (จนปัญญา) ก็เอากันร้องไห้อยู่ที่นี้แล้ว ก็เอากันลอยน้ำหนีไป ต่างคนก็ต่างไปตามกลังใผมันหั้นแล

ส่วนว่าพระยาตนนั้นก็ลอยไปหนบุพพะ (บูรพา) ไปไกลนักพ้นน้ำแล้วก็เทียวไปด้วยเถื่อนถ้ำภูดอย ก็เป็นอันอิดหอดด้วยอันอยากเข้า (หิวข้าว) ก็ไปค้างอยู่ที่นั้นก็ตายเสียที่นั้นลวดได้ชื่อว่า เมืองค้างว่าอั้น บัดนี้ภายลุนจิ่งแปลว่า เมืองกาง ว่าอั้นแล บัดนี้เรือนั้นคือว่าผานั้น พระตถาคตย่ำอยู่นี้แล พระพุทธเจ้าก็ฐาปนะตั้งไว้ยังปาทะ (พระบาท) ที่นี้รอย ๑ เพื่อหื้อเป็นผละบุญแก่พระยาตนนั้นแล หื้อเป็นที่ไหว้และบูชาแก่คนและเทวดามนุษยชาติ เมืองโยนกนครทั้งมวลแล พระพุทธเจ้าก็ทำนายว่าฐานะที่นี้จักได้ชื่อว่า พระบาทเรือ ว่าอั้นมีหั้นจะแล




ประวัติ วัดพระพุทธบาทผาเรือ

จาก takhaopleuk.go.th/travel_detail.php?id=4

......วัดพระพุทธบาทผาเรือ เป็นชื่อที่เรียกมาตั้งแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ เมื่อย้อนไปดูการสืบประเพณีการนมัสการรอยพระพุทธบาทก็มีมานานจนสืบสาวไม่พบ ทราบแต่เพียงว่าคนในถิ่นนั้นจะมีพิธีกรรมนมัสการโบราณวัตถุสืบเนื่องกันมาจากพระธาตุดอยตุง พระธาตุผาเงา พระพุทธบาทผาเรือ ดังนั้นชื่อวัดพระพุทธบาทผาเรือ คงจะเรียกตามวัตถุที่มีอยู่คือ มีรอยพระพุทธบาทบนก้อนหินขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับผาหินใหญ่ มีรูปลักษณะเหมือนเรือที่เกยอยู่ในท่า

จึงสันนิษฐานว่า คำเรียกชื่อวัดนั้นคงมีมาแต่โบราณแล้ว โดยสภาพแล้ววัดแห่งนี้มีสภาพเป็นภูเขาดินเหมือนภูเขาทั่วไปในเขตภาคเหนือ จะมีหินบ้างก็อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละก้อนใหญ่มากสามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยหลายจุดของพื้นที่นั้นจะมีซากก้อนอิฐโบราณกระจายอยู่ ทั้งสภาพเป็นเจดีย์และวิหาร เพราะมีกระเบื้องหลังคากองอยู่ทั่วบริเวณ

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ องค์การทหารผ่านศึก ได้ไปใช้พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำกก ซึ่งอยู่ในเขตตำบลท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จัดเป็นนิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึก เพื่อจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับทหารผ่านศึก เมื่อมีสมาชิกทหารผ่านศึกเข้ามาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านแล้ว วัดจึงเป็นที่จำเป็นสำหรับเป็นสถานที่ทำบุญและชี้นำในการปฏิบัติธรรม จึงพร้อมกันรักษาเขตวัดในบริเวณภูเขาที่เรียกว่า “ พระพุทธบาทผาเรือนี้ไว้เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ ” อาศัยประเพณีที่ชาวบ้านในเขตตำบลนี้ได้สืบทอดกันมาและด้วยซากโบราณที่มีอยู่ทั่วไปในภูเขาลูกนี้ จึงทำให้สมาชิกนิคมทหารผ่านศึกสงวนรักษาไว้เป็นเขตวัด เพื่อจะได้ทำการบูรณะต่อไป

ในระยะต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ขณะนั้นเป็นระยะที่ นายกฤษ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการกองนิคมมองเห็นความลำบากของสมาชิกในการทำบุญเกี่ยวกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำเป็นหลักแหล่ง บางครั้งก็ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมจึงได้มอบให้ ว่าที่ร้อยตรีเผด็จ ผ่องลำเจียก ที่เคยไปอุปสมบทกับ หลวงปู่ศรี มหาวีโร พระเถระฝ่ายวิปัสสนา ที่วัดป่ากุง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อขอความเมตตาจากท่าน โดยขอลูกศิษย์ของหลวงปู่เพื่อไปจำพรรษาและบูรณะวัดเป็นการถาวร เมื่อหลวงปู่ได้เมตตาไปดูสถานที่แล้ว ได้ส่งลูกศิษย์ไปจำพรรษาและทำการบูรณะตั้งแต่นั้นมา โดยขึ้นเป็นวัดสาขาแห่งหนึ่งในภาคเหนือ จึงมีพระสงฆ์จำพรรษามาตลอด

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ทางวัดได้สำรวจซากโบราณที่มีอยู่หลายจุดบนเขา เพื่อจะหาวิธีการบูรณะ ได้ค้นพบหลักฐานการสร้างวัดแห่งนี้ในอดีต เป็นแผ่นหินสีดำ ขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร ยาว ๒๒ เซนติเมตร จารึกเป็นดวงศิลาฤกษ์ และวัน เดือน ปี ที่ก่อสร้างวิหารบนหลังเขา โดยเขียนเป็นตัวอักษรไทยใหญ่ (พื้นเมือง) ผสมกับอักษรขอม มีข้อความจารึกว่า สร้างเมื่อจุลศักราช ๑๐๕๕ ปีระกา เดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ วันจันทร์ ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๒๓๖ มีอายุเก่าแก่ล่วงมาแล้วกว่า ๓๐๑ ปี จึงเชื่อได้ว่าวัดพระพุทธบาทผาเรือนั้นเป็นชื่อที่เรียกกันมาตั้งแต่โบราณแล้ว



เมื่อหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้เมตตาส่งลูกศิษย์ไปจำพรรษาก็เริ่มมีการบูรณะตั้งแต่นั้นมา ในระยะที่มีพระสงฆ์ต่อเนื่องได้มีการพัฒนาวัดมาโดยตลอด ดังนั้น ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้ซื้อที่ดินที่เป็นเขตถือครองของชาวบ้านจำนวนหลายแปลง เพื่อขยายเขตปลูกป่า จำนวน ๑๕๐ ไร่ เมื่อรวมกับเขตที่มีอยู่เดิม เป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๓๓๐ ไร่ และได้ขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานชลประทานเขต ๓ ลำปาง จัดสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มูลค่า ๑,๔๐๐,๐๐๐ ในเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ไร่ โดยมีเชิงเขาล้อมรอบ และแบ่งเป็นเขตปลูกไม้ผล และไม้เบญจพรรณ อื่น ๆ สร้างกุฏิถาวร ปัจจุบันทางวัดมีโครงการจะก่อสร้าง ศาลาปฏิบัติธรรม สำหรับพุทธศาสนิกชน ทั้งในเขตพื้นที่และเดินทางมาจากต่างจังหวัด

โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เพราะภายในเขตบริเวณวัดเป็นที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่พักปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ปัจจัยที่เป็นทุนบูรณะในระยะที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นศรัทธาจากต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนพระเถระในลูกศิษย์ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้เดินทางมาเยี่ยมและพักปฏิบัติธรรมต่อเนื่องมาโดยตลอด อนึ่ง การประชุมของวัดสาขาทั่วประเทศกว่า ๘๐ แห่ง ตามภาคต่าง ๆ มีพระสงฆ์ไปร่วมประชุมครั้งละประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ รูป ศาลาที่ประชุมจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวัดสาขาทางภาคเหนือ

เมื่อสรงน้ำวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ทางชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าวเปลือก หน่วยงานราชการในพื้นที่ ตลอดจนกลุ่มพลังมวลชน ราษฎร ของตำบลท่าข้าวเปลือกทุกครัวเรือน ได้ร่วมใจกันประกอบพิธีบวชป่า สืบชะตาตำบล น้อมรำลึกถึงบรรพชนผู้สร้างบ้านแป๋งเมือง โดยการใช้ผ้าจีบ ความยาวประมาณ ๓,๐๐๐ เมตร ห่มรอบบริเวณสวนป่า (ตามแนวกันไฟ) อันเป็นที่ตั้งของรอยพระพุทธบาทผาเรือ

การโยงด้วยสายสิญจน์จากบริเวณพิธีไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ (ทุกหลังคาเรือน) พร้อมทั้งได้อุทิศส่วนกุศลให้แก่อดีตกษัตริย์ทั้ง ๔๖ พระองค์ นับตั้งแต่พระเจ้าสิงหนกุมาร ไปจนถึงพระมหาไชยชนะ (ปรากฏตามตำนานโยนกนาคนคร) อุทิศส่วนกุศลให้แก่อดีตกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เคยปกครองท้องที่ตำบล หมู่บ้านทุกท่านที่เคยมีคุณูปการแก่อนุชนรุ่นหลัง นอกจากนี้ในวันวิสาขบูชาของทุกปีได้มีการจัดพิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาท ซึ่งถือเป็นประเพณีท้องถิ่นต่อไป



ขณะที่ไปถึงวัดนี้เห็นป้ายบอกว่าจะมีงานฝังลูกนิมิตพอดี พวกเราจึงได้ร่วมทำบุญสร้างพระอุโบสถ เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท พร้อมกับซื้ออาหารมาให้อาหารลิง แต่ตอนนี้ไม่มีลิงมาสักตัว เพราะเรามาถึงเย็นไปหน่อย จึงวางไว้ตรงบริเวณนี้เพื่อรอให้ลิงมากินกันในวันพรุ่งนี้ แล้วพวกเราก็ออกเดินทางต่อไป

๑๕. วัดสบแพง ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย


หมู่คณะทั้งหมดต้องรีบเดินทางกลับ เพราะเป็นเวลาเย็นแล้ว ขณะที่ผ่านวัดสบแพง หลวงพี่ได้เข้าไปทำบุญสร้างพระพุทธรูป เป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ความจริงตามหาวัดนี้ตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว แต่ไม่มีเวลาแวะสักที วันนี้หลวงพี่จึงตั้งใจจะไปทำบุญให้ได้ เพราะมีป้ายบอกเอาไว้ข้างทางด้วย


webmaster - 8/4/15 at 08:42

วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๘ (เชียงราย - เมืองยอง พม่า)


เชียงรายอินเตอร์ทราเวล
ตามรอยอารยธรรมและชนชาติพันธุ์
ไหว้พระเกศาธาตุ 9 จอม แห่งเมืองยอง-พยาก-เชียงตุง
กับ คณะตามรอยพระพุทธบาท (โปรแกรม 4 วัน 3 คืน)



เตรียมตัวเดินทาง ๑๒ ม.ค. ๒๕๕๘
เดินทางเข้าพม่า ๑๓ ม.ค. ๒๕๕๘
เมืองเชียงตุง พม่า ตอน ๑ ๑๔ ม.ค. ๒๕๕๘
เมืองเชียงตุง พม่า ตอน ๒ ๑๔ ม.ค. ๒๕๕๘
เมืองเชียงตุง พม่า ตอน ๑ ๑๕ ม.ค. ๒๕๕๘
เมืองเชียงตุง พม่า ตอน ๒ ๑๕ ม.ค. ๒๕๕๘

บันทึกภาพวีดีโอ - คุณปัณณวิชญ์ (ตึ๋ง) ภูไตรรัตน์
บันทึกภาพนิ่ง - คุณวัชรพล (ปุ๋ม) ศรีขวัญ


.......เชียงตุง (Kyaing tong) เป็นจังหวัดในเขตปกครองของรัฐฉาน สหภาพพม่า หรือ ประเทศพม่า หรือ เมียนมาร์ (Myanmar) สโลแกนของเมืองคือ 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู เชียงตุงมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย มาช้านาน (สยามและล้านนา)

อีกทั้ง อารยธรรม-เชื้อชาติ-ศาสนา ก็ใกล้เคียงกันจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ กลิ่นอายอารยธรรมของผู้คนในดินแดนนี้ทำให้ระลึกย้อนอดีตวิถีชีวิตในประเทศไทยไปประมาณ 30-40 ปี ด้วยสภาพความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายของผู้คนท้องถิ่นและธรรมชาติที่สวยงาม

ทำให้ผู้คนสามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ตนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และชาวพม่า

เมืองยอง (มหิยังครัฐ) เป็นเมืองหรืออำเภอหนึ่งใน รัฐฉาน ประเทศพม่าขึ้นกับแขวงเมืองพยาก เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งเกี่ยวข้องกับ พม่า ล้านนา สยาม ลาว และ เขตสิบสองปันนา ของจีน ผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง จะถูกเรียกว่า ชาวลื้อ

คนเมืองยองสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งและเมืองอื่น ๆ ในสิบสองปันนา ซึ่งเป็นคนลื้อหรือไทลื้อ และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูนในปี พ.ศ. 2348 คนทั่วไปจึงเรียกว่า คนเมืองยอง เพราะในสมัยนั้นรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติ (Nation State) แบบตะวันตกยังไม่เกิดขึ้น ในสมัยนั้นผู้คนต่างบ้านหลายเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จึงเรียกขานกันตามชื่อบ้านเมืองเดิม เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น

ฉะนั้นคนไทยอง จึงไม่ใช่คนไทยที่เป็นชาติพันธุ์ยอง แต่เป็นคนไทลื้อ ที่อาศัยอยู่เมืองยอง เมืองที่ผูกพันทั้งประวัติศาสตร์และชนชาติกับล้านนา และประเทศไทย นับเป็นการเปิดความบริสุทธิ์ ความงดงามของเมืองๆ หนึ่งที่นักท่องเที่ยวและพี่น้องชาวไตยอง หรือ คนลื้อเมืองยองในประเทศไทย ที่ใฝ่ฝันอยากจะได้มาเยี่ยมชม และเหยียบผืนแผ่นดินที่เป็นเมืองบรรพบุรุษ แห่งนี้

ด้วยความเจริญที่ยังไม่ถึง ธรรมชาติจึงงดงาม วิถีชีวิตผู้คนยังดำเนินอย่างดั้งเดิม และการได้กราบพระธาตุหลวงจอมยอง ถือเป็นสิ่งมงคลในชีวิตที่ครั้งหนึ่ง ลูกหลานเหลนโหลน คนยองใฝ่ฝันอยากจะมา และการเดินทางที่แสนพิเศษ ผ่านขุนเขา และสายน้ำ เราจะนำท่านเก็บความประทับใจกับดินแดนในฝันอย่างมิรู้ลืม

ส่วน เมืองพยาก นั้นได้ฟังจากผู้เฒ่าคนแก่เล่าสืบกันมานั้น เมื่อประมาณ 2500 ปีผ่านมา มีชนเผ่ากลุ่มหนึ่งมาก่อตั้งบ้านเมืองและปกครองกันมาก่อนหน้านี้คือ

ชนเผ่าทะมิน หรือ หวะ ตามหนังสือนั่นเอง ชนเผ่าทะมิน หรือ หวะ นั้นต้นตอมาจากชาว ขะม่า หรือ เขมร ที่อพยพลงมาตามแม่น้ำคงหรือแม่น้ำสาระวินและมาอาศัยอยู่ตามภูเขาสันเขาเมืองไตย (อ้างอิง - moungphayak.blogspot.com) มี พระธาตุจอมทอง พระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุจอมเท้า (ดอยเจขุมท้าว) พระธาตุจอมนาค เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองชาวพยาก


วันแรก
08 : 00 น นำท่านทำพิธีการผ่านด่านชายแดนไทย-พม่า และออกเดินทางจาก จ.ท่าขี้เหล็ก สู่นครเชียงตุง หรือชื่อเดิมว่า “เขมรัฐตุงบุรี” ตามเส้นทางเดินทัพแห่งราชอาณาจักรไทย สมัยรัชกาลที่ 4

เชียงตุงเป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน อันมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนานของชาวไทยเขิน ทั้งศิลปวัฒนธรรมประเพณี ที่สืบสานกับไทยล้านนา ซึ่งควรค่าแก่การศึกษา ใช้ระยะเดินทางชมทิวทัศน์และความเป็นอยู่ของชนเผ่าอาข่า ไทยล้านนา ไทยลื้อ ตลอดเส้นทาง

09 : 00 น. รอเปลี่ยนรถตู้อยู่ที่ วัดพระเจ้าระเข่ง และ วัดอ๋องติยะซียี อ.ท่าขี้เหล็ก พม่า
10 : 00 น. นำท่านออกเดินทางสู่ เมืองพยาก (หรือเมืองแพรก)
11 : 00 น. แวะรับประทานอาหารเที่ยงที่ ร้านอาหารบ้านท่าเดื่อ

12 : 00 น. เข้าไปที่วัดเซตาน (วัดหลวงศรีมุงเมือง) เพื่อประสานงานกับเจ้าอาวาสให้นำทางไปที่พระธาตุจักขุมาโต

13 : 00 น. ออกเดินทางสู่ เมืองยอง ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังใช้เวลาในการเดินทางเกือบ 4-5 ชั่วโมง ระหว่างทางชมธรรมชาติ และวิถีชีวิตชนบท ตลอดเส้นทาง

17 : 00 น. ถึงเมืองยอง นำท่านชม ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ (ต้นสรีค้ำ) ขนาดใหญ่ เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองยอง มีลายธรรมจักรที่ต้นด้วย ถือเป็นต้นไม้มงคลศักดิ์สิทธิ์ที่คนเมืองยองให้ความสำคัญมาก ตอนมาจากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ (ปรากฏว่าทัวร์ไม่ยอมพาไป อ้างว่าทหารไม่ให้ไปเป็นเขตอันตราย แต่ไม่แจ้งให้พวกเราทราบก่อนเดินทาง)

19 : 00 น. เข้าที่พัก พร้อมกับรับประทานอาหารเย็น

วันที่สอง
06 : 00 น. อรุณสวัสดิ์ยามเช้า รับประทานอาหารเช้าพร้อมทั้งเช็คเอ้าท์ออกจากที่พัก วันนี้เตรียมอาหารกลางวัน (ข้าวกล่อง) ไปทานระหว่างทางด้วย

07 : 00 น. นำท่านเดินทางสู่ดอยมหิยังคะ คือ พระธาตุหลวงจอมยอง ให้ท่านได้นมัสการกราบไหว้ พระเกศาธาตุ 4 เส้น และ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) ที่บรรจุอยู่ในองค์พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองยอง ท่านสามารถเดินชมทัศนียภาพ เมืองยอง ได้ทั้งเมือง (ปรากฏว่าพวกเราโชคดี ช่วงเดินทางหมอกลงมองไม่เห็นวิวอย่างที่ว่า)

11 : 00 น. แวะฉันเพลและญาติโยมทานอาหารกลางวัน (ข้าวกล่อง) ที่ วัดยางคำ เมืองยอง

12 : 00 น. เดินทางออกจากเมืองยอง ถึงทางแยกไปที่ ถ้ำน้ำยืน (พระพุทธเจ้าทรงสรงน้ำ และชำระพระทนต์ที่นี่) บ้านป่าขม เขตพื้นที่ห้วยชี (จากบ้านน้ำนางไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร) จากนั้นเดินทางสู่เมืองเชียงตุง

19 : 00 น. ถึงเชียงตุง เข้าเช็คอินโรงแรมที่พักเมืองเชียงตุง รับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหาร

วันที่สาม
07 : 00 น. อรุณสวัสดิ์ยามเช้า รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมจัดให้
08 : 00 น. เดินทางขึ้นไปไหว้ พระธาตุ 3 จอม แห่งเมืองเขียงตุงคือ

1. พระธาตุจอมคำ (พระเกศาธาตุ 4 เส้น)

2. พระธาตุจอมสัก สมัยก่อนถูกชาวคริสต์ทำลาย ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันสร้างพระพุทธรูปองคใหญ่ขึ้นมาแทน เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนชี้พระหัตถ์พยากรณ์ (พระยืนชี้นิ้ว) ที่ใหญ่ที่สุดในรัฐฉาน

3. พระธาตุจอมบน (จอมมน) ชม ต้นไม้ยางยักษ์ (ขนาด 10 คนโอบ อายุ 250 ปี เป็นต้นไม้คู่เมืองเชียงตุงปลูกโดย พระอลองพญา คนเชียงตุงเรียกว่า ต้นหมายเมือง) จากนั้นเดินทางไปไหว้พระธาตุที่อยู่นอกเมืองเชียงตุง คือ

1. พระธาตุจอมดอย (พระเกศาธาตุ 6 เส้น)
2. พระธาตุจอมศรี (พระเกศาธาตุ 2 เส้น) นำชมผลมะม่วงทองคำที่ขุดได้

ถ้ามีเวลาจะไปทำบุญที่ วัดป่าแดง ลอดประตูป่าแดง(หนี่งในสิบสองประตูเมืองที่ยังสมบูรณ์) ชม วัดพระแก้ว, วัดราชฐานหัวข่วง, วัดมหาเมี๊ยะมุณี หรือวัดพระเจ้าหลวง

ส่วนใหญ่พระวิหารของแต่ละวัดจะเป็นทรงพระยาธาตุ ศิลปะของมัณฑะเลย์และพิพิธภัณฑ์ชาวไทยใหญ่ นำเที่ยวรอบเมืองเชียงตุง ชมศาสนพิมาน ที่หนองคำ ทั้งนี้แล้วแต่จะมีเวลาพอแค่ไหน (ปรากฏว่าไปได้แค่ วัดป่าแดง, วัดยางควง, วัดอินทร์ ก็หมดเวลา)

19 : 00 น. รับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหาร จากนั้นนำท่านเดินเที่ยวตลาด ชมวิถีชีวิตเมืองเชียงตุงยามค่ำคืน และเข้าโรงแรมที่พัก

วันที่สี่
06 : 30 น. อรุณสวัสดิ์ยามเช้า รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมจัดให้ และเก็บกระเป๋าสัมภาระ เช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรม

07 : 30 น. นำท่านออกเดินทางสู่ เมืองพยาก โดยหัวหน้าทัวร์โทรศัพท์นัดพบกับเจ้าอาวาสวัดเซตาน ระหว่างทางที่จะไป พระธาตุจักขุมาโต (บรรจุขนคิ้วพระพุทธเจ้า)

10 : 30 น. ถึงพระธาตุจักขุมาโตแล้ว ทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพล เนื่องในโอกาสงานฉลองสมโภชองค์พระธาตุจักขุมาโต จากนั้นคณะญาติโยมพุทธบริษัทร่วมรับประทานอาหารกลางวัน

12 : 30 น. เดินทางกลับมาไหว้ พระธาตุจอมเท้า (ดอยเจขุมเท้า) บ้านเฟยฮูง ใกล้เมืองพยาก อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าปักไม้เท้า และประทานพระเกศาธาตุให้แก่ "ขุนลัวะอ้ายอง" พร้อมตรัสว่าสถานที่นี้ต่อไปจะเป็นเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า "พยัคฆรัฐ" คือเมืองพยากนั่นเอง

จากนั้นตรัสสั่งว่าตถาคตนิพพานต่อไปแล้วให้นำพระบรมธาตุฝ่ามือขวามาบรรจุไว้ที่นี้ จากนั้นไปไหว้ พระธาตุจอมแจ้ง ที่บ้านใหม่ และไปไหว้พระธาตุจอมทอง (อยู่ในค่ายทหารพม่า)

.......ประวัติ พระธาตุจอมทอง ซึ่งเป็นที่อาศัยของพยายักษ์ (ชาวบ้านมักเรียกว่า “เมืองพยายักษ์” จนเพี้ยนมาเป็น “เมืองพยาก” ในปัจจุบันนี้) ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดและพักค้างแรม ๑ คืน แล้วประทานพระเกศาธาตุให้แก่เจ้าเมืองพยากชื่อว่า "อุตตระ"

จากนั้นได้ทรงเหยียบ รอยพระพุทธบาท ไว้บนหินก้อนหนึ่ง พร้อมกับตรัสว่าเมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว จะมีผู้นำ พระบรมธาตุฝ่ามือซ้าย มาบรรจุไว้ที่นี้ (เวลานี้อยู่ในเขตทหาร) ถ้ามีเวลาจะไปกราบไหว้ พระธาตุจอมนาค ด้วย (ปรากฏว่าไม่สามารถไปได้ ต้องกลับกันก่อน)

15 : 00 น. นำท่านเดินทางสู่ท่าขี้เหล็ก ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่หนึ่ง ถึง อ.แม่สาย ด้วยความปลอดภัย พร้อมเก็บความประทับใจในการ “ตามรอยอารยธรรมและชนชาติพันธุ์ ไหว้พระเกศาธาตุแห่งเมืองเชียงตุง เมืองยอง เมืองพยาก ดินแดนพิเศษ แห่งขุนเขาและสายน้ำ” ไว้แต่เพียงแค่นี้..มิงกาลาบา.



(๐๗.๓๐ น. เตรียมตัวอยู่ที่ลานจอดรถหน้าโรงแรม รอรถตู้มารับข้ามแดนไป แต่รถมาไม่ตรงเวลานัด)

เมื่อได้อ่านโปรแกรมกันแล้ว ตอนนี้จะเริ่มเล่าเรื่องกันต่อไปว่า ตอนเช้าหลังทานอาหารเช้ากันแล้ว พวกเราพักที่แม่สายกันคนละแห่ง จึงต้องนัดพบกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โดยนัดคุณเดชา หัวหน้าทัวร์มาพบด้วย คุณเดชาบอกว่า ได้พยายามเข้าไปสืบหาที่พม่าแล้วไม่สามารถไปที่พระเจดีย์จักขุมาโตได้ ทำให้พวกเราผิดหวังตามๆ กัน


(ถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึกที่ด้านหน้าโรงแรมที่พัก อ.แม่สาย)

ช่วงนี้หลวงพี่เห็นว่าคงจะไม่ได้เรื่อง จึงจำเป็นต้องแสดงตัวว่าเป็นผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อกับทัวร์เอง หลังจากอธิบายจนเข้าใจกันแล้ว เวลา ๐๗.๓๐ น. จึงเอารถไปฝากไว้ที่บ้านคุณเดชา (ห่างจากด่านประมาณ ๗ กิโลเมตร) แล้วผ่านด่านเข้าไปในพม่าที่ท่าขี้เหล็ก ระหว่างรอเรื่องเอกสารก็ทำบุญบูรณะวัดนี้ และเปลี่ยนรถตู้เป็นของพม่า

๑๖. วัดพระเจ้าระเข่ง เมืองท่าขี้เหล็ก พม่า


ระหว่างรอทำเอกสารผ่านแดน จึงได้รวมเงินกันทำบุญบูรณะวัดนี้ ๓,๐๐๐ บาท


๑๗. วัดอ๋องติยะซียี เมืองท่าขี้เหล็ก พม่า




ช่วงนี้ก็ยังรอเวลาอยู่นานจึงได้ทำบุญวัดนี้ไปพลางๆ ร่วมกันบูรณะยอดพระวิหาร เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท


เวลา ๑๐.๐๐ น. ออกจากท่าขี้เหล็ก ทราบว่าต้องรอทำเอกสารผ่านแดนนานผิดปกติ เป็นเพราะว่ามีรถบัส ๑ คันจะไปทอดผ้าป่า จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนัก พวกเราก็พลอยเสียเวลาไปด้วย

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วรถตู้ทั้งสามคันวิ่งไปตามถนนลาดยาง (หลวงพี่บอกว่าเคยไปเมื่อปี ๒๕๔๒ ไม่เหมือนกับภาพเดิมๆ ที่เป็นลูกรังเต็มไปด้วยฝุ่น)

เวลา ๑๑.๓๐ น. แวะทานอาหารเพลที่บ้านท่าเดื่อ หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปที่เมืองพยาก แล้วแวะเข้าไปหาท่านเจ้าอาวาส วัดหลวงศรีมุงเมือง (วัดเซตาน) พร้อมนัดหมายเวลาและรถอีแต็กแบบโฟร์วิล เพื่อจะขึ้นไปที่พระเจดีย์จักขุมาโต ในวันที่ ๑๕ ม.ค. (หลังกลับมาจากเชียงตุง) ในตอนนี้ขอเล่าเรื่องประหลาดๆ สักเล็กน้อย คือก่อนที่จะพบกับเจ้าอาวาสวัดเซตานนั้น

หลวงพี่เดินลงจากรถเป็นองค์แรก เพราะท่านมองเห็นคนอยู่ในวัดหลายคน มีผู้ชายคนหนึ่งพูดไทยได้เป็นอย่างดี คำแรกที่หลวงพี่ถามว่า "รู้จักพระธาตุจักขุมาโตไหม" คำตอบที่ได้ยินชัดกันทุกคน โดยเฉพาะคุณเดชา หัวหน้าทัวร์ที่ก้าวลงจากรถตามมาด้วย "รู้จักครับ"

เสียงตอบจากผู้ชายคนนี้ ทำให้ทุกคนที่ได้ยินมีความหวังยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมีพระอีกรูปหนึ่ง (รองเจ้าอาวาสวัดเซตาน) ก็มายืนยันอีกด้วย คุณเดชาถึงกับตกตลึงเมื่อได้ยินเช่นนี้

ถึงกับบอกว่าเมื่อวันก่อนการเดินทาง ผมก็ได้มาถามหลวงพ่อแล้วท่านบอกว่าไม่รู้จัก (หมายถึงเจ้าอาวาสวัดเซตาน) ระหว่างนี้ท่านเจ้าอาวาสก็เดินออกมาจากศาลาพอดี ท่านก็ปฏิเสธว่าไม่ได้พูดเช่นนี้ เรื่องนี้ยิ่งทำให้คุณเดชาถึงกับงงหนักเข้าไปอีก


หลังจากทำความเข้าใจกันแล้ว ทุกคนรู้สึกดีใจและมีความหวังในครั้งนี้ ที่จะได้ขึ้นไปถึงพระธาตุจักขุมาโต โดยเฉพาะหลวงพี่และบางคน (คุณประสงค์ และคุณท้ง) ที่เคยเดินทางไปกับหลวงพี่เมื่อปี ๒๕๔๓ ในครั้งนั้นท่านไปถึงแค่ "ถ้ำน้ำยืน" เท่านั้น

ทุกคนจึงได้แต่ยืนมอง "พระธาตุจักขุมาโต" ที่อยู่บนเขาสูง พร้อมกับยกมือไหว้อยู่ ณ ที่นั้น นับเป็นเวลานานแล้วที่หลวงพี่จะได้ไปเคลียงาน ณ สถานที่นี้ พร้อมกับพวกเราทุกคนที่ได้มีโอกาสเดินทางร่วมไปกับท่านในครั้งนี้ นับว่าเป็นกุศลผลบุญใหญ่จริงๆ คะ



(ป้ายชื่ออยู่ที่ทางเข้าเมืองยอง)

เวลา ๑๒.๐๐ น. ออกเดินทางไปเมืองยอง ระยะทาง ๘๐ ก.ม. เจอกับสภาพถนนที่ยังไม่ได้ลาดยาง (เรียงก้อนหินเล็กๆ ไว้บนดินลูกรัง ไม่รู้ว่าพม่าเรียนวิชาทำถนนมาจากไหน) กว่าจะถึงเมืองยองได้เล่นเอาร่างกายสะเทือนไปทุกส่วน

จากนั้นรถก็เข้าโรงแรมที่พักเลยไม่ได้ไป "ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์" (ต้นสรีค้ำ) ขนาดใหญ่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการยิงกัน ทางทหารพม่าเกิดกลัวเราไม่ปลอดภัย คุณจันทร์ทิพย์ ภรรยาคุณเดชาหัวหน้าทัวร์ก็หวาดกลัวไปด้วยเลยไม่กล้าพาพวกเราไป ทั้งๆ ที่รู้แต่ไม่บอกพวกเราก่อนการเดินทาง ทุกคนเสียความรู้สึกและผิดหวังไปตามๆ กัน


เวลา ๑๙.๐๐ น. คณะก็มาถึงโรงแรมที่พัก ชื่อโรงแรมไทยลื้อ ทางโรงแรมมีร้านอาหารอยู่ด้วย จึงช่วยให้พวกเราได้รับความสะดวกเหนือความคาดหมาย เพราะเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว

การเดินทางด้วยสภาพถนนเช่นนี้ คนขับรถตู้ก็ไม่กล้าขับเร็ว ทำให้พวกเราเสียเวลากว่ากำหนดการไปมาก โปรแกรมที่จัดไว้เลยไม่ได้ไปไหนสักแห่ง แล้วก็มาเสียความรู้สึกอีกที่ไม่ได้ไปไหว้ ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นต้นไม้สำคัญของชาวพม่า

ตามประวัติกล่าวว่าตอนมาจากต้นที่ตรัสรู้ ณ ประเทศอินเดีย หลวงพี่เคยไปมาแล้วท่านบอกว่าต้นโพธิ์มีลายธรรมจักรที่โคนต้นด้วย จากนั้นก็ทานข้าวก่อนเข้านอนกัน ที่พักก็ดีเกินความคาดหมายเหมือนกัน เป็นห้องที่จัดเรียบง่าย สะอาด มีเตียงพร้อมมุ้งกางแบบเดิมๆ บ้านเราไม่ค่อยเห็นแบบนี้แล้ว


วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๘ (เมืองยอง - พยาก - เชียงตุง)


๑๘. พระธาตุหลวงจอมยอง (มหิยังคบรรพต) เมืองยอง รัฐฉาน พม่า

ประวัติพระธาตุหลวงจอมยอง (พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก)

“.....ในสมัยหนึ่ง ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จมาถึงเมืองยองนั้น พระองค์ได้เสด็จไปทางเมือง สุวรรณภูมิ ก่อน แล้วจึงเสด็จไปตามลำดับบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลาย จนกระทั่งขึ้นมาถึง เชียงของ และ เชียงตุง แล้วจึงเสด็จไปที่ พระพุทธหัตถ์นะนิ้ว (ที่มีเฉพาะรอยส้นพระหัตถ์ แต่ไม่มีรอยนิ้วพระหัตถ์)

ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จมาที่ ดอยปูคำ จากจุดที่สำคัญตรงนี้แหละ ที่ผู้เขียนจะเล่าสืบเนื่องต่อไปเลยว่า หลังจากองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ตรัสพยากรณ์ดังนี้แล้วจึงได้เสด็จต่อไปสู่ ดอยมหิยังคะ อันมีในเมืองมหิยังคประเทศ นั่นก็คือ เมืองยอง นี้แหละ พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธฎีกาต่อไปอีกว่า

“...ดอยมหิยังคะนั้นเป็นสถานที่วิเศษยิ่งนัก มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่านท่ามกลางเมือง แล้วพุ่งตรงเข้าสู่เชิงเขามหิยังคะ ๕ แห่งแล้วจึงไหลเลยไป

ดอยมหิยังคะนั้นตั้งขวางแม่น้ำไว้เหมือนเรือขวางแม่น้ำฉันนั้น ด้านท้ายภูเขาหันไปทางทิศตะวันตก หัวแห่งภูเขาหันไปทางทิศตะวันออก แม่น้ำมหิยังคะไหลผ่านท่ามกลางดอยที่มีคดโค้ง ๕ แห่ง ส่วนที่ตรงกลางดอยนั้นเป็นห้วงน้ำกว้างใหญ่ อันเป็นที่อยู่แห่ง พญานาคราช

ดูก่อน..อานนท์ หลังจากพระตถาคตนิพพานไปแล้ว จงเอาพระธาตุเชิงเกศาหน้าผากของตถาคตมาบรรจุไว้ในที่นี้เถิด

ตรัสดังนี้แล้วจึงทรงประทาน พระเกศาธาตุ ๔ เส้น เพื่อให้ประดิษฐานไว้บนดอยนี้ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วได้ ๕๐ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ถึงวันเพ็ญ เดือนอ้าย มีพระอรหันต์ ๔ องค์ เป็นประธาน ชื่อว่า

พระอานันทญาณะ พระอุปนันทะ พระโสภิตะ และ พระสุภัณณะ ได้นำเอา "พระนลาฏ" (กระดูกหน้าผาก) พร้อมทั้ง "พระเกศา" อีก ๔ เส้น มาบรรจุไว้ ณ ที่นี้ พร้อมกับบรรดาประชาชนทั้งหลาย อันมี พระเจ้าสุรังควัตติราช เป็นเจ้าเมือง

ครั้งนั้นพระเจ้าสุรังควัตติราชจึงได้ตรัสถามพระมหาเถระว่า ข้าพเจ้าจะทำการสักการบูชาด้วยวัตถุชนิดใด จึงจะเหมาะสมแก่พระเจดียธาตุนั้น พระมหาเถระใคร่ที่จะพรรณนาคุณของพระศาสดาจึงได้ตอบว่า

ดูก่อน..มหาบพิตร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง เพราะได้สั่งสมพระบารมี ๓๐ ทัศ ทรงบำเพ็ญมหาบริจาค ๕ ประการ จริยา ๓ ประการ กับทั้งสุจริต ๓ ประการ แล้วทรงตั้งปณิธานปรารถนาด้วยพระทัย นับเป็นเวลานาน ๗ อสงไขย

ต่อมาทรงตั้งความปรารถนาด้วยพระโอษฐ์ นับเป็นเวลานานได้ ๙ อสงไขย และด้วยพระทัย ด้วยพระโอษฐ์ ด้วยพระวรกาย จึงจะได้รับพยากรณ์อีก ๔ อสงไขย รวมเวลา ๒๐ อสงไขย ๑ แสนกัป จึงได้ทรงตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณด้วยพระองค์เองย่อมได้ชื่อว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอันไพศาลหาประมาณหาที่สุดมิได้”

ดูก่อน..มหาราชเจ้า มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ที่จะพึงกระทำการสักการบูชาให้เหมาะสมแก่พระคุณของพระพุทธเจ้านั้นหาไม่ได้ในโลกนี้ มนุษย์และเทวดาทั้งหลายจะทำได้ก็เพียงขวนขวายสักการบูชา ตามที่พอจะขวนขวายได้นั้นแต่เพียงประการเดียว...”

พระเจ้าเมืองยองได้ทรงสดับเช่นนั้น จึงได้ทรงกระทำสักการบูชาพระเกศาธาตุและพระนลาฏ ด้วยพระราชทรัพย์ศฤงคารอันมีค่ามากมายมหาศาล พร้อมทั้งพระราชทานผู้ดูแลรักษาพระธาตุตราบ ๕,๐๐๐ พรรษา จากนั้นมนุษย์และเทวดาก็พร้อมกันบูชา ด้วยการประโคมดนตรีเป็นการสมโภช ส่งเสียงสาธุการเป็นอันมาก แล้วได้สร้างยนต์จักรผันไว้ทั้ง ๔ ด้าน

หลังจากนั้นมาอีก ๗ เดือน พระอรหันต์ทั้ง ๔ องค์ก็นิพพาน พระราชาจึงได้ทรงอัญเชิญพระธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์ อยู่ห่างจากพระมหาเจดีย์ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๒๐ วา นับตั้งแต่นั้นมา มนุษย์ เทวดา ครุฑ นาค ยักษ์ และคนธรรพ์ทั้งหลาย ตลอดถึง พระอินทร์ พระพรหม ท้าวจตุโลกบาล ก็เข้ามาสักการบูชากราบไหว้พระมหาเจดีย์ทุกเวลา

ด้วยที่แท้พระมหาเจดีย์นี้ นับเป็นปูชนียสถานอันประเสริฐยิ่ง บุคคลใดก็ดีมีใจศรัทธาประสงค์จะขึ้นไปนมัสการ ถ้าบรรพชิตควรชำระสิกขาบทให้บริสุทธิ์เสียก่อน ถ้าหากเป็นคฤหัสถ์ก็ควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์ แล้วจึงขึ้นไปนมัสการพระมหาชินธาตุเจ้าเถิด

บุคคลใดประพฤติตนเป็นคนพาล ไม่สำรวมกายวาจาใจให้ดี เทวดาอารักษ์ที่อยู่เฝ้ารักษาพระธาตุไม่พอใจ จะกระทำให้บังเกิดอาเพทภัยต่างๆ แม้แต่ สมเด็จอมรินทราธิราช ก็ยังเสด็จลงมานมัสการอยู่เป็นนิจ

พระองค์ทรงเกรงภัยทั้งหลายจักบังเกิดแก่พระธาตุของพระพุทธเจ้า จึงทรงมีบัญชาแก่ เทวดาชื่อว่า “สุรณมหิยังคพิทธิวรลักขณะ” มาอยู่เฝ้ารักษาพระธาตุแห่งพระพุทธเจ้าตราบสิ้น ๕,๐๐๐ พรรษา บุคคลใดขึ้นมาสักการบูชาพระธาตุด้วย ความเคารพยำเกรงแท้

ท่านจงบันดาลความวุฒิเจริญให้เกิดแก่บุคคลนั้น ให้เขามั่งมีศรีสุขทุกเมื่อเถิด เพราะฉะนั้น เทวดา พระอินทร์ และ พระพรหมทั้งหลาย ย่อมลงมาไหว้พระมหาชินธาตุอยู่เสมอ เราย่อมได้กลิ่นของหอมตลบอบอวลไปทั่ว และมีเสียงดนตรีฆ้องกลองเป็นต้น เพราะเหตุว่าเหล่าเทพยดาได้ลงมาอบรมสมโภชบูชาพระมหาธาตุเจ้านั่นเอง

คนทั้งหลายไม่ควรทำอนาจารและทิ้งของสกปรกใกล้บริเวณนั้น จะไม่เป็นที่พอใจแก่เทวดาทั้งหลาย อาจจะบันดาลให้เกิดเพทภัยได้ ส่วนผู้ใดได้นมัสการกราบไหว้บูชาด้วย ความเคารพดังกล่าวมาแล้ว “ผู้นั้นย่อมจะสัมฤทธิ์ผล ทั้งโลกียสุขในเมืองมนุษย์และเมืองสวรรค์ จนกระทั่งเข้าถึงโลกุตรสุข คือพระนิพพานแน่นอนแล..”


ประวัติพระธาตุหลวงจอมยอง และไม้ศรีคำ (ต้นโพธิ์ทอง) เมืองยอง

จาก www.watpratupa.org/history/jomyang.html

......ตามประวัติที่พบในเว็บไซด์นี้จะมีสำนวนล้านนาอ่านยากมาก จึงขอเล่าลัดพอได้ใจความว่า ตั้งแต่เจ้าสุนันทะศรัตรู เป็นลูกเจ้ากษัตริย์แห่งเมืองเชียงรุ่ง ได้ปราบข้ามิละ (ลัวะ) แล้วได้เสวยเมืองสืบลูกหลานมาได้ ๑๑ พระองค์ จนถึงมาพระยานราสุมหาราช นางเทวีชื่อว่า "ยศสีดา" มีลูกชายชื่อว่า "สุลังกะวุตติ" (ตำนานพระเจ้าเลียบโลกเขียนว่า สุรังควัตติราช)

กาลครั้งนั้น พระศรีสุโทธนะเมืองกบิลพัสดุ์ และพระนางศรีมหามายามีพระราชบุตร ชื่อ "เจ้าชายสิทธัตถะกุมาร" ได้บวชเป็นพระพุทธเจ้าได้ชวนอรหันตา เหินฌานมาทางอากาศพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ ตน มาถึงยอดจอมดอยได้เอาเกศา ๔ เส้น

ในขณะนั้นมีพระฤาษีชื่อว่า "คิริมานนท์" อาศัยอยู่ที่แห่งนี้ได้ระลึกชาติแต่หนหลังว่า ตนได้เคยเป็นพ่อค้าเรือสำเภา ๕๐๐ ลำ เรือได้มาล่มเสียชีวิตและทรัพย์สินมีค่า ณ ที่นี้ พื้นดอยนี้มีปลาใหญ่และพญานาคตนหนึ่งชื่อ "เสนานาคราช" ฤาษีคิริมานนท์ก็ได้รับเอาเกศา ๔ เส้นแล้วใส่ในผอบไม้รวกฝังไว้เหนือจอมดอยทางด้านทิศตะวันตก แล้วเอาไม้รวกปลูกปิดไว้

หลังจากนั้นพระฤาษีก็สั่งพระยานราสุมหาราชไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จะมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อ พระสรภู ไปอัญเชิญพระเกศา ๔ เส้น พร้อมกับพระบรมธาตุด้ามมีดเบื้องซ้าย

(พุทธตำนานบอกว่า พระนลาฏ) เหาะมาเหนือดอยมหิยังคะ แล้วเอาเข้ามารวมกันไว้กับพระเกศาเดิม ๔ เส้น รวมเป็น ๘ เส้น เรียกว่า "อัฏฐริเกศา" แล้วพระราชาก็บรรจุไว้ในผอบไม้รวก ซ้อนไว้ในผอบแก้ว แล้วซ้อนไว้ในผอบทอง และซ้อนผอบจีนไว้เป็นชั้นๆ จากนั้นก็บูชาด้วยทรัพย์สินมีค่ามากมาย

จนถึงพุทธศักราชได้ ๑๙๔๕ จุลศักราชได้ ๗๖๔ ค.ศ.๑๔๐๒ กาลนั้นมีพระยาสุรังกะวุตติ อันมีเชื้อราชวงศ์ของพระยานราสุมหาราชสืบมาหลายโคตรพระยา ขณะนั้นมีพระอรหันต์ ๔ องค์ ชื่อ พระอานันทญาโณ, พระอุปนันโท, พระโสภิตะ และ พระสุภัณณะ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุ "กระดูกหน้าแข้ง" และ "กระดูกคอตีนกวา" กับธาตุย่อยดวงหนึ่งมารวมไว้

เมื่อปีพุทธศักราชได้ ๑๙๕๐ จุลศักราช ๗๖๙ ค.ศ.๑๔๐๗ พระอรหันต์ทั้ง ๔ รูปเอาดินสอแก้วไปอธิษฐานตัดกิ่งไม้ศรีมหาโพธิ์ (กิ่งด้านตะวันออก) อันพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในเมืองอินเดีย เอามาปลูกไว้ประจำเมืองทางทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือแห่งพระธาตุหลวงจอมยอง แล้วเอาต้นไม้เดื่อ ๑ ต้น มาปลูกไว้คู่กันกับต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ทองไกลประมาณ ๑๒๐ วา

สถานที่ปลูกไม้ศรีมหาโพธิ์ทองนั้นชื่อว่า "ยางกะ" เป็นดอนทราย ส่วนที่ปลูกต้นไม้เดื่อชื่อว่า "หัวดอนไฮ" จึงได้ชื่อว่า "บ้านเดื่อหนองไฮ" ตั้งแต่นั้นมาได้ ๗ เดือน กับ ๗ วัน พระอรหันต์ทั้ง ๔ รูปก็เข้านิพพานในวันนั้นแล

ยามนั้นพระยาสุรังกวุตติและชาวเมืองก็ได้ทำฌาปนกิจ แล้วเอาพระธาตุของท่านบรรจุไว้ในพระเจดีย์ ตั้งแต่นั้นมาได้ ๗ เดือน พญาเสนานาคราชก็ขึ้นมาปทักษิณ เวียนรอบพระธาตุ ๓ รอบ แล้วชำแรกกายเป็นห้วยลึกตราบถึงกาลบัดนี้

ส่วนลูกของพระยาสุรังกวุตติมี ๔ พระองค์ก็ได้ออกบวชเป็นพระอรหันต์ สำหรับพระยาผู้เป็นพ่อและพระนางเทวีผู้เป็นแม่ก็ตั้งอยู่ในพระโสดาบัน สวรรคตแล้วได้ไปบังเกิดในชั้นพรหม พระอินทร์ได้มอบหมายให้เทพบุตร ๔ องค์ ชื่อว่า สุรณะ, มหินิยัง, พิธิวระ, ลขะณะ ให้ดูแลพระมหาธาตุเจ้าจนถึงกาลบัดนี้แล...



เมื่อได้นำประวัติมาเล่าเสริม ท่านผู้อ่านคงจะทราบความสำคัญแล้ว จึงขอเล่าต่อไปว่า ตอนเช้าเวลา ๖.๓๐ น. ทานอาหารเช้าที่ร้านอาหารในที่พัก "โรงแรมไทยลื้อ"

มองดูเจ้าของร้านอายุ ๓๐ เศษๆ เป็นชาวไตยอง รูปร่างดี ผิวขาวสวย อัธยาศัยก็ดีมาก เช้านี้อุณหภูมิประมาณ ๖ องศา อากาศหนาวมาก ทางร้านต้องจุดกองไฟไว้ตลอดเวลา พวกเราบางคนจึงแวะมานั่งคุยจิบน้ำชากันไป


พวกเราได้ข่าวว่า "เจ๊มายิน" กับคณะบางคนได้ลุกขึ้นไปตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปชมตลาดชาวเมืองยอง แล้วกลับมาเล่ากันอย่างสนุกสนานว่า ตลาดยังไม่สว่างมองอะไรไม่ค่อยเห็น ต้องเอาไฟฉายไปส่องด้วย ปรากฏว่าได้ผ้าเมืองยองกลับมาด้วย

ช่วงนี้หลวงพี่ก็พยายามขอร้องทัวร์ให้นำไปไหว้ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ เพราะสอบถามเจ้าของร้านกับลูกจ้างที่มีบ้านอยู่แถวนั้น เขาบอกว่าตอนนี้ปลอดภัยแล้วสามารถไปกันได้ แต่หัวหน้าทัวร์ก็ยืนกรานคำเดิม


ทุกคนจึงต้องทำใจรู้ว่าโอกาสจะมาอีกก็แสนยาก จึงเตรียมตัวเดินทางไปไหว้ "พระธาตุหลวงจอมยอง" กันต่อไป จึงเก็บกระเป๋าข้าวของสัมภาระขึ้นรถตู้ พร้อมกับทัวร์เตรียมอาหารกล่องสำหรับทุกคนไปด้วย ด้วยการขนของขึ้นรถกระบะของคุณเดชาที่ขับตามมาด้วย


รถตู้วิ่งขึ้นมาบนยอดดอยมองไม่เห็นอะไรเลย เพราะหมอกลงเต็มไปหมด อากาศยังหนาวเย็น มองเห็นไม้นั่งร้านตั้งอยู่เต็มไปหมด ตอนแรกนึกว่าจะมีจังหวะเจอซ่อมองค์พระธาตุ ปรากฏว่าทางวัดกำลังสร้างพระนอนใหญ่อยู่ใกล้ๆ บริเวณ แต่เป็นพระผู้ใหญ่ที่เมืองยองมาสร้างไว้


วัดนี้มีรอยพระพุทธบาท และ รอยวางบาตร อยู่ด้านล่าง ส่วนปล่องพญานาค (ตามที่เห็นในภาพจะเห็นด้านบนคือรอยพระพุทธบาทจำลอง) ส่วนด้านล่างมองลงไปได้แค่นี้เอง

จากคำบอกเล่าว่าข้างล่างจะมีจักรยนต์ที่ "พระอินทร์" ท่านเนรมิตไว้ดูแลรักษาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า จากนั้นจึงตั้งเครื่องบูชาเพื่อที่จะบวงสรวง ห่มผ้าพระเจดีย์ เดินดูบริเวณรอบสถานที่ แล้วจึงทำพิธีบวงสรวงด้วยการเปิดเทปหลวงพ่อ แล้วสวดอิติปิโสและคาถาเงินล้าน


ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา พวกเราทำบุญประเภทไม่ได้เตรียมการณ์ไว้ก่อน จึงมีการถวายของที่จะบรรจุไว้ที่พระนอน สร้อยคอทองคำของคุณหลีและก๋วยเจ๋ง แก้วมณีของพี่สำราญ พระเครื่องต่างๆ ของคุณหนิงและน้องอิฏฐ์ และพระหางหมากเหลี่ยมเงินจากศรีสัชนาลัยของคุณปุ๋ม


หลวงพี่บอกว่าการเดินทางมาครั้งนี้โชคดีที่ได้พบกับท่านเจ้าอาวาส ไม่เหมือนครั้งก่อน ท่านจึงได้มีโอกาสได้พบกันเป็นครั้งแรก จึงได้ร่วมทำบุญดังนี้

๑. ทำบุญบูรณะวัดและสร้างพระนอน ความยาว ๓๐ เมตร เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท และ ๑๐๑,๐๐๐ จ๊าด
๒. ทำบุญกับเจ้าอาวาส (ถวายส่วนองค์) ๑๓,๐๐๐ จ๊าด กับ ๖๒๐ บาท
๓. ถวายพระลูกวัดอีก ๒ องค์ รวม ๕,๐๐๐ จ๊าด กับ ๓๐๐ บาท
๔. มอบเงินให้ช่างทำหลังคามณฑปครอบรอยวางบาตร (สร้างค้างอยู่ แต่จำยอดเงินทำบุญไม่ได้)
รวมทั้งหมด ๑๐,๙๒๐ บาท กับ ๑๑๙,๐๐๐ จ๊าด



ระหว่างที่หลวงพี่กำลังบูชาองค์พระธาตุอยู่นั้น ปรากฏว่าชายจีวรไปถูกเทียนที่จุดอยู่ ไฟไหม้จีวรเสียหายไป เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหลวงจอมยองจึงได้นำไตรจีวรใหม่มาถวายหลวงพี่ ๑ สำรับ เป็นจีวรสีเหลือง หลวงพี่บอกว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย สมัยก่อนมาที่เมืองยอง จีวรก็ถูกไฟไหม้ที่ต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ (ต้นสรีคำ) เช่นกัน



ภาพนี้หลวงพี่เล่าประวัติให้ฟังโดยย่อ หลังจากนั้นให้พวกเรานำเครื่องบูชาเข้าไปถวาย โดยเฉพาะคุณประสงค์ จากภูเก็ตเป็นตัวแทนแขวนระฆังเล็กๆ บูชาไว้ที่รั้วพระธาตุ

ถ้ามองเข้าไปด้านในจะเห็นผ้าห่มสีทองบูชารอบองค์พระธาตุ หลังจากนั้นหลวงพี่เข้าไปกราบ แล้วเดินมาที่รอยพระพุทธบาทจำลองก้มเข้าไปดูด้านใน จากนั้นเดินลงไปด้านล่าง เพื่อจะไปกราบไหว้พระเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ทั้ง ๔ รูป



ด้านหลังนี้หลวงพี่ได้ลงมาปิดทองและสรงน้ำพระธาตุพระอรหันต์ทั้ง ๔ องค์ พร้อมกับอนุโมทนาที่ท่านเป็นผู้อัญเชิญพระเกศาธาตุมาองค์ละ ๑ เส้น



จากนั้นได้ลงมาที่มณฑปรอยวางบาตร โดยขอให้ช่างที่สร้างพระนอนช่วยนำทาง หลังจากช่วยกันทำความสะอาดแล้วสรงน้ำหอม ปิดทอง

ทุกคนนำกระเป๋ามาเข้าพิธีพุทธาภิเษก พร้อมสวดคาถาเงินล้าน และเดินไปบ่อน้ำทิพย์ที่อยู่ด้านข้าง หลวงพี่รดน้ำมนต์ให้แก่ทุกคน และนำน้ำทิพย์ไปเพื่อรวบรวมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วชมพูทวีป



ในตอนนี้หลวงพี่มองเห็นหลังคาพระมณฑปยังสร้างไม่เสร็จ ท่านจึงได้บอกบุญให้พวกเราร่วมทำบุญกัน เพื่อมอบเงินให้ช่างได้ทำต่อให้สำเร็จ


รอยวางบาตรที่นี่เดิมคงไม่ชัดเจน เท่าที่เห็นได้มีการใช้ปูนโบกตบแต่งแล้วทาสีทอง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับบ่อน้ำทิพย์ พวกเราได้เข้าไปให้หลวงพี่รดศีรษะเพื่อเป็นสิริมงคล

จากนั้นจึงออกเดินทางต่อไป เสียดายที่ไม่มีเวลาเดินไปไหว้รอยพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ด้านล่างของภูเขาไกลออกไปมาก จึงได้แต่ยืนไหว้โมทนากับหลวงพี่เอาตรงนี้ก็แล้วกัน สมัยก่อนหลวงพี่มาค้างคืนที่นี่จึงมีโอกาสไปได้ครบทุกแห่ง.


webmaster - 4/5/15 at 10:28

๑๙. วัดยางคำ เมืองยอง รัฐฉาน พม่า

.....เมืองยอง เป็นเมืองหรืออำเภอหนึ่งใน รัฐฉาน ประเทศพม่า ขึ้นกับแขวงเมืองพยาก เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งเกี่ยวข้องกับ พม่า ล้านนา สยาม ลาว และ เขตสิบสองปันนา ของจีน ผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง จะถูกเรียกว่า ชาวลื้อ

คนเมืองยองสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งและเมืองอื่น ๆ ในสิบสองพันนา ซึ่งเป็นคนลื้อหรือไทลื้อ และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูนในปี พ.ศ. ๒๓๔๘ คนทั่วไปจึงเรียกว่า "คนเมืองยอง" เพราะในสมัยนั้นรัฐประชาชาติหรือรัฐชาติ (Nation State) แบบตะวันตกยังไม่เกิดขึ้น ในสมัยนั้นผู้คนต่างบ้านหลายเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จึงเรียนขานกันตามชื่อบ้านเมืองเดิม เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น ฉะนั้นคนไทยอง จึงไม่ใช่คนไทยที่เป็นชาติพันธุ์ยอง แต่เป็นคน "ไทลื้อ" ที่อาศัยอยู่เมืองยอง


หลังจากกราบไหว้พระธาตุหลวงจอมยองแล้ว รถวิ่งกลับเข้ามาในเมืองอีกครั้ง แล้วกำลังจะออกจากตัวเมือง หัวหน้าทัวร์โดย "คุณเดชา" ได้ไปล่วงหน้าก่อน แจ้งว่าได้ติดต่อ "วัดยางคำ" ไว้แล้ว ที่จะได้เตรียมจัดอาหารรับประทานกัน ตามที่เตรียมมาจากร้านอาหารในโรงแรมที่พักก็เป็น "ข้าวกล่อง" และพวกเราที่จัดเตรียมมาด้วย พอที่จะจัดให้พระท่านฉันเพล ส่วนฆราวาสก็ตามอัธยาศัย ด้วยการเดินไปทางหลังศาลามีโรงครัวเก่าๆ มีก็อกน้ำล้างมือ และมีห้องน้ำอยู่ข้างๆ


เอาละ..มองดูแล้วพอแก้ปัญหาไปได้ ส่วนเรื่องร้านอาหารที่จะนั่งทานแบบบ้านเราไม่ต้องไปหา หลังจากหาอะไรลงท้องเรียบร้อย พวกเราก็มาทำบุญกับเจ้าอาวาสวัดยางคำ ถวายเครื่องไทยทาน คณะคุณก๋วยเจ๋งเป็นเจ้าภาพ พร้อมปัจจัย ๑,๑๐๐ บาท กับ ๔๕,๐๐๐ จ๊าด ช่วงนี้คุณเดชาก็ขอตัวกลับไปแม่สายก่อน แล้วนัดพบกันที่จะขึ้นไปไหว้ "พระธาตุจักขุมาโต" ในวันที่ ๑๕ กันต่อไป



๒๐. ถ้ำน้ำยืน (ถ้ำน้ำนาง) เมืองพยาก พม่า

ขบวนรถตู้วิ่งออกจากเมืองยองหลังเที่ยงแล้ว รถตู้บางคันถึงกับบ่นว่าทีหลังไม่มาอีกแล้ว เพราะสงสารรถเหลือเกิน ถนนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ก้อนหินวางไว้ขรุขระเต็มไปหมด ถ้ารถคันไหนอยู่หลังก็จะเจอฝุ่นตลอด ระยะทางประมาณแค่ ๘๐ กิโลเมตรไปเมืองพยาก ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง

โปรแกรมระหว่างทางก่อนจะถึงเมืองพยาก เรามีกำหนดที่จะเข้าไปที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ "ถ้ำน้ำยืน" หรือ "ถ้ำน้ำนาง" ตาม "พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก" เล่าว่าหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่ "พระธาตุหลวงจอมยอง" แล้วพระองค์ได้เสด็จมาค้างคืนและตอนเช้าได้สรงน้ำและชำระพระทนต์ (แปรงฟัน) ณ สถานที่นี้

ส่วนตำนานเมืองพยากเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมือง "กำปอจะเติง" หรือเมืองยองในปัจจุบัน และพระพุทธจ้าได้ตรัสไว้ว่า อนาคตเมืองยองแห่งนี้จะเจริญรุ่งเรือง จึงประทาน "เกศา" หรือเส้นผมไว้จำนวน ๖ เส้นไว้ให้กับเมืองยอง จากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จออกมาจากเมืองยองแล้วมาที่ "เมืองปญาสะ" หรือ เมืองพยากในปัจจุบัน และทรงพำนักอยู่ที่บนภูเขาน้ำนาง

(น้ำนางอยู่ระหว่างเส้นทางไปเมืองยอง น้ำนางเป็นชื่อหมู่บ้านและอยู่ในเขตปกครองของเมืองพยากเช่นกัน) ซึ่งมีเผ่าหวะอาศัยอยู่ในตอนนั้น และพระพุทธเจ้าก็ได้ประทาน "ขนคิ้ว" ให้กับเผ่าหวะไว้เป็นที่เคารพนับถือ และเผ่าหวะได้เอา "ขนคิ้ว" ของพระพุทธเจ้าไปเก็บไว้ สร้างเป็นเจดีย์และตั้งชื่อว่า "พระธาตุจักขุมาโต" ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ข่าวสารได้มาถึง "ก้างอ้ายอุ่น" ผู้เป็นเจ้าปกครองในเมืองพยากเวลานั้น ได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่ "น้ำนาง" ก้างอ้ายอุ่นจึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อขอให้ไปปราบยักษ์ที่ "ดอยจอมทอง" เมืองพยาก (ที่มา - moungphayak.blogspot.com/2012/10/blog-post.html)

คำว่า "ดอยจอมทอง" ก็คือพระธาตุจอมทอง เมืองพยากนั่นเอง ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปกราบไหว้หลังจากวันนี้ เราไปที่ถ้ำน้ำยืนก่อนแล้ว จะเดินทางผ่านเมืองพยากไปก่อน แล้วไปพักค้างคืนที่เมืองเชียงตุง ๒ คืน จากนั้น วันที่ ๑๕ ม.ค. จึงจะย้อนกลับมาที่เมืองพยากอีกครั้งหนึ่ง ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องต่อไปว่า


ช่วงบ่ายรถตู้วิ่งกลับมาจากเมืองยอง ระหว่างทางก่อนจะถึงเมืองพยากประมาณ ๑๐ กว่าโล ตรงจุดนี้เป็นหมู่บ้านเล็กๆ หัวหน้าทัวร์ได้นัดรถสามล้อเครื่องเอาไว้ ๒ คัน ส่วนรถตู้ก็จอดรอพักอยู่ที่นี่ ความจริงเป็นรถสามล้อเครื่องแค่คันเดียว อีกคันไม่มีหลังคาเหมือนรถคุณแต๋นบ้านเรา


หลวงพี่นั่งนำหน้าไปก่อน ย้อนกลับมาไกลพอสมควร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปเป็นทางลูกรังขึ้นบนเนินเขา รถวิ่งไปด้วยความทุลักทุเลประมาณ ๒๐ นาทีก็ต้องลงเดินอีก ๒๐ นาที เหนื่อยกันพอสมควร เพราะเป็นทางลงเขา ถ้าสมัยก่อนหลวงพี่ไปอีกทางหนึ่งจะราบเรียบกว่านี้ ชาวบ้านบอกว่าถนนเส้นนั้นน้ำท่วม จึงต้องมาถนนเส้นอ้อมภูเขากัน


นับว่าพวกเรามาภายหลังโชคดีจริงๆ จากนั้นได้เดินมาใกล้พระเจดีย์ หลวงพี่พบปะพูดคุยกับพระที่ท่านอาศัยอยู่ที่นี่ จนทราบข้อมูลบ้างแล้ว พวกเราถวายไทยทานและปัจจัยไว้กับท่าน เพราะเห็นว่าหนทางลำบาก อาหารการขบฉันคงยากมาก บางคนถึงกับวางแผนไว้ว่า วันที่เดินทางกลับจะฝากสิ่งของมาถวายท่านไว้ที่นี่อีก เพราะทราบว่าทางทัวร์จะจัดมาอีกครั้งวันที่ ๒๔ ม.ค. ๕๘


พวกเราได้เข้าไปกราบไหว้พระเจดีย์แล้ว จึงถ่ายรูปหมู่กันเป็นที่ระลึก พร้อมกับถวายปัจจัยไทยทาน จำนวน ๑๑๖,๐๐๐ จ๊าด ทราบว่าทางพระผู้ใหญ่ส่งท่านมาเฝ้าที่นี่เพียงรูปเดียวเท่านั้น


หลังจากนั้นได้เดินไปหาสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงสรงน้ำ และชำระพระทนต์ที่นี่ ปรากฏว่าหลวงพี่เองก็หลงลืมไป เพราะท่านเคยมาเมื่อปี ๒๕๔๓ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น พระภิกษุที่นี่ก็ชี้มือไปอีกด้านหนึ่งที่พวกเราเดินผ่านมา พวกเราจึงได้เดินย้อนกลับไป



เพราะหลวงพี่บอกไว้ก่อนว่า บริเวณตรงที่พระพุทธเจ้าทรงสรงน้ำและชำระพระทนต์นั้น จะมีน้ำไหลออกมาจากปากถ้ำ ครูบาบุญชุ่มสร้าง พระอุปคุต (พระบัวเข็ม) ไว้อยู่กลางน้ำ น้ำที่ไหลออกมาจากภูเขานั้น จะไหลอยู่ตลอดเวลา เพาะเหตุนี้อากาศบริเวณนี้จึงเย็นสบาย


โดยเฉพาะต้นไม้ร่มคลื้มเต็มไปหมด พี่สำราญลุยน้ำเอาผ้าสีทองไปห่มพระอุปคุต คุณประสงค์เดินตามเอาเครื่องบูชาไปวางไว้ หลวงพี่อธิษฐานแล้วก็เอาน้ำล้างหน้า พร้อมกับประพรมให้พวกเราทุกคน


นับว่าเป็นความโชคดีที่ได้มาถึง เพราะเป็นสถานที่มายากมากๆ ถ้าไม่ให้ทัวร์จัดให้เขาคงไม่มา คุณเดชากับภรรยาต้องเสียเวลาเดินทางมาสำรวจไว้ล่วงหน้าตั้ง ๒ ครั้ง กว่าจะสืบหาได้ให้เรามากันได้ ทั้งนี้ก็ได้ข้อมูลจากเจ้าอาวาสวัดเซตาน เมืองพยาก ทำให้ได้รับผลสำเร็จในครั้งนี้


คราวนี้ก็เหลือสถานที่ยากกว่านี้อีก ๒ แห่ง นั่นก็คือ "พระธาตุจักขุมาโต" ที่สมัยก่อนหลวงพี่มองเห็นอยู่บนภูเขา แล้วได้บุญแค่ยืนไหว้อยู่ที่นี่ และอีกแห่งหนึ่งก็คือ พระธาตุจอมทอง ที่อยู่ในเขตทหาร นั่นก็ต้องลุ้นกันอีกทีว่า วันที่ ๑๕ เราจะย้อนกลับมากราบไหว้กันได้หรือไม่ ในตอนนี้ขอเดินย้อนกลับไปขึ้นรถอีแต๋นก่อน เพราะรถตู้คงรออยู่นานแล้ว จะต้องรีบเร่งเพื่อไปพักที่เมืองเชียงตุงต่อไป



วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๘ (เชียงตุง)


๒๑. วัดพระธาตุจอมคำ (จอมทอง) เมืองเชียงตุง พม่า

คณะตามรอยพระพุทธบาทเดินทางถึงเมืองเชียงตุงในเวลาค่ำ ทัวร์นำไปทานอาหารกว่าจะเข้านอนก็ดึกเหมือนกัน ก่อนนอนก็ต้องเตรียมบายศรีและเครื่องบูชาไว้ พอเช้าวันรุ่งขึ้น เวลา ๗.๐๐ น. ลงไปทานอาหารเช้าในห้องอาหาร ช่วยกันตักอาหารถวายหลวงพี่และหลวงพ่อสุรพงศ์ แต่ท่านฉันเจ คุณท้งได้จัดเตรียมสำรองมาเสริมด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ คุณท้ง (สุชัย) เป็นเจ้าภาพถวายทั้งสองรูป ขอเชิญร่วมอนุโมทนาด้วยกันค่ะ กำหนดการวันที่ ๑๔ และ ๑๕ จะไปไหว้ในเชียงตุง ก่อนอื่นขอนำเรื่องที่หลวงพี่เล่ามาให้อ่านกันอีกครั้ง ดังนี้

ประวัติเมืองเชียงตุง (เขมรัฐ) จาก หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๒

.......ในตอนเช้าวันที่ ๒๓ มี.ค. ๒๕๔๒ พวกเราก็ออกไปเที่ยวตลาดกัน ส่วนคณะแม่ครัวก็ช่วยกันทำอาหารใต้ร่มไม้ภายในวัดป่าแดง หลังจากพระเณรฉันเช้าภายในพระวิหารแล้ว จึงร่วมกันทำบุญกับ เจ้าอาวาสวัดป่าแดง เป็นเงินไทย ๕,๙๔๕ บาท เป็นเงินจีน ๕๐ หยวน เงินพม่า ๗๐ จ๊าด พร้อมเครื่องสังฆทานอีกมากมาย

ต่อจากนั้น จึงได้นั่งรถออกไปชมรอบบริเวณตัวเมืองเชียงตุง แล้วก็มายืนถ่ายรูปชมวิวกันที่หนองน้ำใหญ่ใจกลางเมือง ถ้ามองไปข้างหน้าผ่านหนองน้ำ จะเห็นพระธาตุสีทององค์ ใหญ่ท่ามกลางบ้านเรือนสูงเด่นเป็นสง่าแต่ไกลได้ชื่อว่า พระธาตุจอมคำ (จอมทอง) อันเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงตุงมานาน

เมืองเชียงตุงเป็นเมืองสำคัญใน รัฐฉาน ประเทศพม่า เดิมเรียกว่า เมืองเขิน (ขืน) หรือ เมืองเขมรัฐ แต่ก่อนที่จะเป็นบ้านเมือง ตามตำนานเล่าว่า สมัยนั้น พระพุทธเจ้าพร้อมกับพระสาวก ได้เสด็จมาบริเวณหนองน้ำ แล้วทรง พยากรณ์ว่า ต่อไปภายหน้าจะมีผู้มาระบายน้ำ ออกจากหนองใหญ่นี้ให้กลับคืนเป็นบ้านเป็นเมือง พระพุทธศาสนาจะมาประดิษฐานที่เมืองนี้ ในเวลาต่อมา “ตุงคฤาษี” ได้มาใช้ไม้เท้าระบายน้ำออกจากหนองไปลงแม่น้ำขืนทางทิศเหนือ น้ำแห้งแล้วจึงสร้างเป็นเมืองให้ชื่อเมืองตามนามของฤาษีตนนี้ว่า “เชียงตุง”

ถิ่นแดนนี้เป็นที่อาศัยของชนชาติลัวะมาก่อน สมัย พระยาเม็งราย ตีได้เมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๖ ชาวล้านนาจากเชียงแสนขึ้นไปอยู่กลายเป็น “ไทยเขิน” ต่อมา พระยาสุนันทะ แห่งเมืองเชียงรุ่งได้ตีเมืองเชียงตุง จึงอพยพผู้คนจากสิบสองปันนามาอยู่จนกลายเป็น “ไทยลื้อ”

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กองทัพ พระยากาวิละ จากเชียงใหม่ ขึ้นไปอพยพทั้งไทยลื้อและไทยเขิน ลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า “บ้านเขิน” ชนชาติกลุ่มนี้มีฝีมือทำเครื่องเงินและเครื่องเขิน และมีชื่อเสียงอยู่จนบัดนี้ จึงมีคำปริศนาทายว่า “เมืองอะไรเอ่ย...มี ๓ จอม, ๗ เชียง, ๙ หนอง, และ ๑๒ ประตู..?”

คำตอบก็คือ...เชียงตุง ซึ่งมีกำแพง เมืองยาว ๗.๕ ก.ม. (เท่ากับกำแพงเมือง กรุงเทพ) มี ๑๒ ประตู ล้อมรอบ รูปร่างรี ค่อนข้างจะกลม ภายในเวียงมีวัด ๔๔ วัด เช่น วัดหัวข่วง, วัดเชียงงาม, วัดหลวงเชียงยืน, วัด ป่าแดง, วัดจอมคำ, วัดเขมินทร์ เป็นต้น

นอกจากนั้นก็ยังมีหนองน้ำใหญ่ชื่อว่า “หนองตุง” อยู่ในใจกลางเวียง และยังมีหอหลวง หรือพระราชวังเดิม (ปัจจุบันได้ทำเป็นโรงแรมไปแล้ว) หอเทวดาเมือง และ พระธาตุ ๓ จอม ในที่นี้จะขออธิบายเฉพาะ “สามจอม” คำว่า “จอม” หมายถึงส่วนยอดสุด ได้แก่ พระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่อยู่บนเนินเขาทั้ง ๓ แห่ง ที่น้ำท่วมไม่ถึง คือ

๑. พระธาตุจอมคำ (จอมทอง) ๒. พระธาตุจอมสัก (ร้างไปแล้ว) ๓. พระธาตุจอมบน (จอมมน)

พระธาตุ ๓ จอมนี้ จึงเป็นพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงตุงมานานแล้ว แต่ก็ยังมี พระธาตุจอมศรี (สะหรี) แล้วก้อ พระธาตุจอมดอย ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุไว้เช่นกันที่อยู่นอกกำแพงเมือง ฉะนั้น เมืองเชียงตุงจึงเป็นเมืองพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาวางรากฐานพระศาสนาไว้ แต่สภาพบ้านเมืองก็มีความไม่แน่นอน เพราะอยู่ท่ามกลางระหว่างพม่า ไทย จีน และลาว

สรุปเหตุการณ์โดยย่อว่า หลังจาก พ่อขุนเม็งราย ตีได้เมืองเชียงตุงแล้ว จนถึงสมัย พระเจ้าผายู รัชกาลที่ ๕ แห่งล้านนาไทย ก็ ได้ส่งพระโอรสมีนามว่า เจ้าเจ็ดพันธุ (พันตู) มาปกครอง ในราว พ.ศ.๑๘๙๓ โดยมีข้าราชการ ขุนนาง กองทหาร และพระมหาเถระอีก ๔ องค์ พร้อมด้วยพระไตรปิฎก แล้วได้สร้างวัดถึง ๔ วัด เพื่อเป็นที่อยู่ของพระมหาเถระ ทั้ง ๔ องค์นั้น

เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย จนถึง พ.ศ.๒๔๓๓ อังกฤษก็เข้ามาปกครองเชียงตุง จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กอง ทัพไทยภายใต้การนำของ จอมพลผิน ชุณหวัณ ก็ได้ยึดครองเมืองเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย. ๒๔๘๕ แล้วจัดการปกครองเป็นจังหวัด หนึ่งของประเทศไทยให้ชื่อว่า “สหรัฐไทยเดิม”

ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว อังกฤษให้เอกราชแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ เชียงตุงถูกรวมอยู่ในสหภาพพม่าด้วย การติดต่อไปมาค้าขายกับประเทศไทยและดินแดนใกล้เคียง ก็ถูกปิดไปตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๖ มาจนกระ ทั่งปลายปี พ.ศ.๒๕๓๕ นับเป็นระยะเวลานาน เมืองเชียงตุงจึงถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้

ส่วน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงเมืองสุวรรณภูมิแล้ว จึงเสด็จต่อไปถึงเมืองจัมปานคร เข้าไปสู่เมืองลาว เมืองเชียงของ ตามลำดับ แล้วจึงเสด็จมาถึงเมืองเชียงตุง จากนั้นก็ไปเมืองยอง แล้ว
ย้อนขึ้นไปทางสิบสองปันนา ได้ประทับรอยพระบาทและประทานพระเกศาธาตุไว้ตามสถานที่ต่างๆ มากมาย ต่อจากนั้นจึงเสด็จกลับมาประทานพระเกศาธาตุ ณ พระธาตุจอมทอง เมืองพยาก จากนั้นจึงเสด็จมาที่เมืองเชียงแสน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เป็นลำดับ

หลวงพี่เล่าต่อไปว่า เวลาต่อมาท่านก็ได้พบกับพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง สมัยนั้นเป็นรองพระสังฆราช ท่านบอกว่า

- พระธาตุจอมยอง ในเมืองยอง บรรจุพระเกศาธาตุ ๘ เส้น
- พระธาตุจอมดอย นอกเมืองเชียงตุง บรรจุพระเกศาธาตุ ๖ เส้น
- พระธาตุจอมคำ ในเมืองเชียงตุง บรรจุ พระเกศาธาตุ ๔ เส้น
- พระธาตุจอมศรี ในเมืองเชียงตุง บรรจุพระเกศาธาตุ ๒ เส้น



เป็นอันว่า เราได้ทราบแล้วว่าองค์พระธาตุประธานแห่งเมืองเชียงตุง บรรจุพระเกศาธาตุ ๔ เส้น ของพระพุทธเจ้า ตามคำบอกเล่าวว่าเมื่อประมาณปี ๒๕๓๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคยเสด็จมาที่เชียงตุง และกราบนมัสการพระธาตุจอมคำ (จอมทอง) อีกด้วย พวกเราขึ้นมาบนนี้แล้วจะมองเห็นพระพุทธรูปยืน "ปางชี้พระหัตถ์พยากรณ์" (ชาวบ้านเรียก "พระชี้นิ้ว")


พวกเราขึ้นมาบนนี้แต่เช้าไม่เจอใครเลย จึงทำบุญใส่ตู้ตามอัธยาศัย แล้วช่วยกันเอาพวงมาลัยดาวเรืองบูชา แต่องค์พระธาตุใหญ่มาก จึงได้แต่บูชาได้เพียงแค่นี้ ช่วงเช้าอากาศหนาวเย็นพอสมควร แต่ก็ยังพอมองเห็นเมืองเชียงตุงได้โดยรอบ พวกเราได้เข้ามานั่งในวิหารข้างองค์พระธาตุ ในบริเวณนี้ยังมีพระเขี้ยวแก้วจำลองอีกด้วย







หลังจากไหว้พระธาตุแล้ว จึงลงมาแวะตรง "หนองตุง" ที่ตรงข้ามกับพระธาตุเป็นจุดหนึ่งที่สวยงามแห่งหนึ่ง แล้วถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก ท่ามกลางบรรยากาศยามเช้าที่สดชื่น แม้จะเดินทางมาจากเมืองยองด้วยความทรหดกันแล้ว แต่เมื่อได้พบกับความสวยงามเช่นนี้ พวกเราทุกคนก็ลืมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากันหมดสิ้น




๒๒. วัดพระยืน (พระธาตุจอมสัก) เมืองเชียงตุง พม่า



สถานที่แห่งนี้เป็นเนินเขาแต่ไม่สูงมาก อยู่ในเขตที่ชาวบ้านนับถือศาสนาคริสต์ สภาพพระเจดีย์ที่นี่จึงร้างมานานแล้ว ต่อมาชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธนำโดย "ท่านตันส่วย" สมัยเป็นผู้ว่าเมืองเชียงตุง คิดสร้างพระยืนสูงใหญ่ไว้ และให้สูงกว่าโบสถ์ของชาวคริสต์ด้วย เมื่อปี ๒๕๔๒ หลวงพี่เคยมาร่วมสร้างพระยืนสูง ๑๕ วาแล้ว ตอนนั้นกำลังเริ่มจะสร้าง หลวงพี่ได้แต่ทำบุญใส่ตู้บริจาค แต่ยังไม่ทันได้เห็นองค์พระก็กลับไปก่อน



หลวงพี่มาครั้งนี้จึงได้เห็นพระยืนสร้างเสร็จแล้ว (กำลังจะเก่าแล้วด้วย) เขากำลังบูรณะด้วยการตั้งนั่งร้านโดยรอบ เพื่อที่จะปิดทองทั้งองค์ด้วยงบประมาณ ๖๑๐ แสนจ๊าด คณะตามรอยฯ ทุกคนดีใจมากจึงรวบรวมเงินกันเดี๋ยวนั้นทันที พร้อมกับขอให้คุณจันทร์ทิพย์ไปตามคณะกรรมกรามมารับเงินจากหลวงพี่ด้วย แทบไม่น่าเชื่อว่าใช้เวลาไม่นาน ต่างคนต่างควักกระเป๋าต่อยอดกันไปเรื่อยๆ จากเดิมแค่หลักหมื่น แล้วเพิ่มไปเป็นหลักแสน แล้วจบลงด้วยตัวเลขที่แสนสวย คือ ๑,๐๐๐,๐๐๐ จ๊าด





๒๓. พระธาตุจอมมน (จอมบน) เมืองเชียงตุง พม่า



รถตู้ขับขึ้นมาถึงข้างบน บริเวณนี้จะเห็นแนวกำแพงเมืองโบราณด้วย หากมองจากข้างล่างจะเห็นตันยางใหญ่แต่ไกล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงตุง ถ้าเมื่อขึ้นมาถึงจะเห็นพระธาตุที่อยู่คู่กัน ๒ องค์ มีต้นยางยักษ์อายุมากกว่า ๒๕๐ ปี ขนาด ๑๐ คนโอบ ถ้าคนตัวเล็กก็ ๑๒ คน เป็นต้นไม้คู่เมืองเชียงตุง ปลูกโดยพระเจ้าอลองพญา คนเชียงตุงเรียกว่า "ต้นไม้เมือง"



กำแพงเมืองเชียงตุงนั้นก็คือ กำแพงที่ล้อมรอบเวียงเชียงตุง พวกเขาก่อกำแพงเมืองโดยอาศัยภูมิประเทศ ใช้วิธีปรับแนวกำแพงเมืองไปตามธรรมชาติ ที่ที่สูงก็ไม่ต้องก่อเพิ่ม ที่ๆต่ำก็เสริมให้สูงขึ้น ทำอย่างนี้จนรอบเวียง ความยาวของกำแพงนั้นคาดว่า ยาวพอๆ กับกำแพงในเวียงเชียงใหม่ แต่กำแพงเชียงตุงนั้น สูงใหญ่กว่าของเวียงเชียงใหม่


พงศาวดารของเมืองได้กล่าวไว้ว่า เมื่อจุลศักราช ๗๙๑ (พ.ศ.๑๗๗๒) พระยามังรายได้เสด็จประพาสป่าและทรงไล่กวางทองมาจนถึงเมืองเชียงตุง พระองค์ทรงเล็งเห็นภูมิประเทศของเมืองเชียงตุง ก็พอพระทัยมาก จึงยกกองทัพมารบ ยึดเมืองเชียงตุงไว้ในอาณาเขต และส่ง "เจ้าน้ำท่วม" ผู้เป็นราชบุตรไปปกครองเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๖


เชียงตุงจึงเป็นเมือง "ลูกช้างหางเมือง" หรือ "เมืองลูกหลวง" ขึ้นกับอาณาจักรล้านนาและได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากล้านนา ก่อนจะกลายเป็นเมืองประเทศราชของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง และเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปพร้อมกับพม่าในเวลาต่อมา


ในสมัยการล่าอาณานิคมนี้ ทำให้เกิดเจ้าฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชียงตุง พระนามว่า "เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง" หรือ "เจ้าอินแถลง" ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับ รัชกาลที่ ๕ ของไทย พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุงไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ เชียงตุงก็ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ

๒๔. พระธาตุจอมดอย เมืองเชียงตุง พม่า


กำหนดการวันนี้ช่วงเช้าเราก็ไปได้แค่ ๓ แห่งเท่านั้น คือ วัดพระธาตุจอมทอง, พระธาตุจอมสัก (พระยืน), พระธาตุจอมบน ก็สมควรแก่เวลาพักถวายอาหารเพลและรับประทานอาหารกลางวันกัน ทัวร์ได้จัดร้านอาหารให้เป็นกรณีพิเศษ เพราะที่ผ่านมาบางครั้งเราต้องทานอาหารกล่องกัน จากนั้นก็ออกเดินทางต่อไปนอกเมือง ระยะทางประมาณ ๒๐ ก.ม. สมัยก่อนหลวงพี่บอกว่าสภาพถนนเป็นลูกรัง แต่ปัจจุบันนี้ถนนลาดยางตลอด จึงทำเวลาได้เป็นอย่างดี



เมื่อรถวิ่งขึ้นไปบนยอดเขาสูง ระหว่างทางจะเห็นยอดพระเจดีย์สวยงามแต่ไกล รถขึ้นมาจอดบนลานข้างบน ซึ่งเป็นยอดเขามีที่ราบไม่มากนัก จะเห็นศาลาหลังใหญ่มีทางเดินชมวิวได้โดยรอบ ส่วนองค์พระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ ๖ เส้น จะอยู่ภายในพระวิหารแปดเหลี่ยม บนหลังคาเป็นพระเจดีย์ยอดเดียวที่สร้างครอบไว้



องค์พระธาตุด้านในประดับกระจกอย่างสวยงาม หมู่คณะได้นำผ้าห่มไปบูชาพระเจดีย์ หลังจากทำพิธีกราบไหว้บูชาแล้ว ขณะนั้นเจ้าอาวาสไม่อยู่ จึงได้นิมนต์สามเณรเป็นตัวแทนมารับเครื่องไทยทาน และร่วมทำบุญบูชาพระธาตุเป็นจำนวนเงิน ๗๐,๐๐๐ จ๋าด มีคลิปในยูทูปให้ฟังเพลงและชมทิวทัศน์ไปด้วยค่ะ










๒๕. พระธาตุจอมศรี เมืองเชียงตุง พม่า


หลังจากกราบไหว้พระธาตุจอมดอยกันแล้ว คณะรถตู้ก็วกกลับเข้ามาในเมืองเชียงตุงอีก รถวิ่งเข้าไปผ่านหมู่บ้านจอมศรี แล้วเลยเข้าไปในวัดจะเห็นพระเจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ ๒ เส้น ก่อนเดินทางได้ทราบข่าวจากหัวหน้าทัวร์ว่า ทางวัดได้ขุดพบ "มะม่วงทอง ๔ ลูก" ที่มะม่วงทองจารึกไว้ว่าสร้างเมื่อพ.ศ. ๑๐๑ นอกจากนี้ยังมี "พระพุทธรูปโบราณ" ขุดพบเจอใกล้เคียงกัน ในตอนนี้ขอนำเรื่องที่หลวงพี่เล่าไว้ในหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๒" มาเล่าต่อไปว่า


"......ครั้นเดินทางมาถึง วัดพระธาตุจอมศรี ซึ่งมีสภาพเก่าแก่ กำลังตั้งนั่งร้านเพื่อบูรณะ คณะตามรอยพระพุทธบาทจึงถือโอกาสร่วมสมัยด้วย ช่วยกันทำบุญทุกอย่าง ๑,๐๐๐ บาท และถวายให้พระนำทางอีก ๑๐๐ บาท เจ้าอาวาสวัดนี้เล่าว่า พระพุทธรูปภายในพระวิหารนี้ ช่างปั้นทำได้เฉพาะองค์พระเท่านั้น ไม่สามารถปั้นพระเศียรได้ พอจะปั้นทีไรจะเกิดอาเพททุกที จนกระทั่ง "พระเกศาธาตุ" เสด็จมาประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระ จึงสามารถปั้นองค์พระได้เสร็จสมบูรณ์ ปัจจุบันทางวัดได้สร้างเจดีย์ครอบไปแล้ว และภายใต้วิหารนี้เป็นถ้ำลึกอีกด้วย.."




ทางวัดได้นำไปไว้ในลูกกรงสแตนเลสเพื่อป้องกันอันตราย แต่หลวงพี่ได้ไปลูบคลำแล้วน่าจะเป็นหินที่แกะสลัก
ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า "วัดมะม่วงทอง" อีกชื่อหนึ่ง ภาพล่างจะเห็นรูปภาพมะม่วงทองทั้งหมดที่หน้าองค์พระ




ตอนที่หลวงพี่มานั้นยังไม่พบมะม่วงทอง ส่วนพวกเราโชคดีที่ได้มากราบไหว้วัตถุสิ่งของโบราณ แม้จะมาช่วงที่ทางวัดยังไม่ได้บูรณะอะไร แต่ก็ร่วมกันถวายเครื่องไทยทานกับเจ้าอาวาส พร้อมกับทำบุญที่นี่รวม ๕๖,๐๐๐ จ๋าด กับเงินไทย ๕๐๐ บาท จากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก ปรากฏว่าเห็นท้องฟ้ามีเมฆเป็นลูกคลื่นแปลกดีเหมือนกัน





๒๖. วัดราชฐานหลวงป่าแดง เมืองเชียงตุง พม่า


หลวงพี่มาพักที่ "วัดป่าแดง" แห่งนี้ทุกครั้งที่มาเชียงตุง ครั้งนี้ท่านตั้งใจจะมาพบกับเจ้าอาวาส เพราะหลวงพี่กับท่านไม่ได้พบกันมาหลายปีแล้ว แต่ปรากฏว่าเจ้าอาวาสไปศรีลังกา หลวงพี่จึงรวบรวมเงินจากคณะร่วมทำบุญจำนวนเงิน ๔๐,๐๐๐ จ๋าด กับ ๒,๐๐๐ บาท เพราะเห็นทางวัดกำลังสร้างศาลาหลังใหญ่ ด้วยการฝากถวายไว้กับพระรองเจ้าอาวาสแทน

หลวงพี่ได้ถามท่านเรื่อง "รอยปาต๊ะ" ที่เชียงตุง ท่านบอกว่าต้องเดินเข้าป่าขึ้นเขาไปไกลลำบากมาก แล้วท่านบอกต่อไปอีกว่าที่เชียงตุงยังมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง อยู่ที่บ้านนุง ห่างไกลออกไปนอกเมืองเชียงตุง พระพุทธรูปองค์นี้ทำด้วยไม้ไผ่ชื่อว่า "พระเจ้าอินสาน" พระพุทธรูป..ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยทองคำทองสัมฤทธิ์ หรือปูนปั้น แล้วแต่ความเชื่อความศรัทธา แต่การสร้างพระพุทธรูปโดยการนำไม้ไผ่มาจักสาน ถือเป็นวิธีการที่แปลกไปจากการหล่อพระพุทธรูปโดยทั่วไป


.......ชาวไท ในรัฐฉาน มีวิธีสร้างพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชาอีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้หวายหรือไม้ไผ่ที่จักแล้ว มาสานขึ้นเป็นองค์พระพุทธรูป พระพุทธรูปที่สานขึ้นนี้ องค์เก่าที่สุด พบเมื่อ พ.ศ.๑๘๘๑ ที่วัดบ้านเมืองนุง ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.เมืองขะ จ.เชียงตุง รัฐฉาน อยู่เหนือเวียงเชียงตุง ขึ้นไปประมาณ ๕๐ กม. ใกล้กับเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ของจีน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอก เนื่องจากไม่มีผู้ทราบประวัติ จึงเรียกกันว่า “พระเจ้าอินสาน” หมายความว่า “พระพุทธรูปที่พระอินทร์มาสานไว้” (พระเจ้า ในภาษาไทใหญ่และล้านนา แปลว่า พระพุทธรูป) และใช้เป็นชื่อเรียก พระพุทธรูปที่สานทุกองค์ ที่ค้นพบหรือสร้างขึ้นภายหลังว่า “พระเจ้าอินสาน”

.......สำหรับวัดป่าแดงนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ตามประวัติ "พระยามังราย" รบชนะได้ส่งเชื้อพระวงศ์ไปปกครอง ต่อมาโหรทำนายว่า เมืองเชียงตุง เป็นเมืองนามจันทร์ น้ำไหลจากทางทิศใต้ไปทิศเหนือ ผู้หญิงกินเมืองดี ถ้าผู้ชายกินเมืองให้เลี้ยงเจนเมือง ๕๐๐ นา และสร้างเจดีย์เป็นชื่อเมืองจึงจะดี ท้าวผายูแห่งเชียงใหม่จึงส่ง "เจ้าเจ็ดพันตู" ราชบุตร ไปปกครองเชียงตุงปี ๑๘๘๒ ได้นำพระมหาเถระ ๔ องค์ และพระพุทธศาสนานิกาย "หินยานกวง" จากวัดสวนดอก เชียงใหม่ไปเผยแพร่ คือ พระธรรมไตรโลก จากวัดพระแก้ว เชียงราย พระธรรมลังกา จากวัดหัวข่วง พระทสปัญโญ วัดพระกลาง และ พระมหาหงสาวดี วัดจอมทอง เมืองเชียงใหม่


พ.ศ. ๑๙๘๙ พระยาสิริธัมมุจุฬา เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงได้สร้างวัดป่าแดงถวาย "นิกายหินป่าแดง" ต่อมาเกิดการทะเลาะกันระหว่าง ๒ นิกาย คือ นิกายหินยางกวง (ดั้งเดิม) กับ นิกายหินป่าแดง (ใหม่) พระเมืองแก้วกษัตริยแห่งเมืองเชียงใหม่ สามารถประณีประนอมได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๐๕๒ และขอให้เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงอุปถัมภ์พระสงฆ์ทั้งสองนิกายไว้ เชียงตุงเป็นเมืองพระพุทธศาสนาได้รับสมญาว่าเป็น "เมืองร้อยวัด" เฉพาะในตัวเมืองมี ๔๔ วัด (วัดไทเขิน ๓๓ วัด) วัดม่าน ๑ วัด (พม่า) วัดไท ๑๐ วัด (ไทยใหญ่ผสมพม่า) ซึ่งมีความงดงามทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่งดงาม จากการผสมผสานศิลปะล้านนา ไทยรัฐฉาน และพม่าเข้าด้วยกัน


๒๗. วัดยางกวง เมืองเชียงตุง พม่า


ท่านผู้อ่านพอจะทราบประวัติความเป็นมาได้เป็นอย่างดี ประศาสตร์มีทั้งเรื่องดีและเรื่องยุ่งๆ ทั้งฝ่ายบ้านเมืองก็ดี ฝ่ายพระพุทธศาสนาก็ยังมีเรื่องไม่ถูกกัน เมื่อเกิดมีคณะสงฆ์ ๒ นิกาย ระหว่างวัดป่าแดงกับวัดยางกวง ฉะนั้น เพื่อมิให้เสียเปรียบกันทั้งสองฝ่าย ทั้งๆ ที่เรื่องสงบไปนานแล้ว แต่เมื่อเราได้รู้ประวัติความเป็นมาก็เป็นประโยชน์ต่อตนเองเหมือนกัน จะได้รู้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จะต้องนำมาปฏิบัติต่อตนเอง ไม่ใช่นำมายึดถือแล้วแบ่งแยกกัน เกิดความยึดถือที่เป็นอัตตา เมื่อสงฆ์แตกแยกก็จะทำให้ชาวบ้านพลอยแตกแยกกันไปด้วย นี่เป็นเหตุจากการแตกความสามัคคี การนับถือพระศาสนาจะต้องมีความเข้าใจรู้ซึ้งถึงปัญญาไปด้วยก็จะดี


แต่การมาเที่ยววัดยางกวง นอกจะมาดูแล้วน้อมนึกถึงประวัติศาสตร์ไป ตาก็มองดูพระพุทธรูป ๓ องค์ ทางด้านหลังพระประธานภายในวิหาร เพราะก่อนหน้าจะมาทัวร์มีข้อมูลสำหรับวัดนี้ คือมีไฮไลท์อยู่ที่พระพุทธรูปองค์หนึ่ง ที่สร้างได้สวยงามตรงที่จีวรมีการแกะสลัก และใช้อัญมณีในการตกแต่ง พร้อมประดับกระจกสีต่างๆ อย่างวิจิตรตระการตา



(ขอซูมภาพให้เห็นใกล้ๆ ว่าฝีมือการทำปราณีตแค่ไหน)


เป็นอันว่า "วัดยวงกวง" หรือ "วัดยางกง" สร้างขึ้นเมื่อครั้งสมัยพระยาผายู แห่งเชียงใหม่ ได้ส่งพระเถระจากเชียงใหม่ขึ้นไปเชียงตุง เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาหนสวนดอก ได้สร้างวัดยางกวงขึ้น พร้อมกับวัดป่าแดง จุดเด่นของวัดนี้คือ ทางขึ้นจะดูด้านล่างตัววัดตั้งอยู่บนเชิงดอย ภายในวิหารของวัดมีพระพุทธรูป ๓ องค์ จีวรประดับด้วยอัญมณีหลายหลากสีมองดูคล้ายเกล็ดพญานาค ชาวเชียงตุงจึงเรียกว่า "พระเกล็ดนาค"


พร้อมกันนั้นมีเรื่องเล่าของชาวเชียงตุงว่า มีพญานาคอาศัยอยู่ในหนองตุงมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงเลื้อยขึ้นมาในเวลากลางคืนนำอัญมณีจากใต้หนองตุงมาสร้างพระเกล็ดนาค ๓ องค์ไว้ที่ วัดยางกวง นอกจากนี้บริเวณทางเข้าวัดยางกวง มีชุมชนยางกวงซึ่งมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผา จะพบกับเครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆ ใช้ฝีมือล้วนๆ ปราศจากเทคโนโลยี และพบกับ “ต้นรับบ้านดิน“ ของจริง ซึ่งมีการสร้างเพื่ออยู่อาศัยมาหลายร้อยปีแล้ว


จากนั้นพวกเราช่วยกันถวายผ้าสไบแด่พระทั้งสามองค์นี้ แล้วหลวงพี่แจกขนมเด็กและให้เงินด้วย เด็กแต่ละคนตัวมอมแมม คุณมายินก็ร่วมแจกลูกอมด้วย พร้อมถวายปัจจัยให้แก่สามเณรทุกองค์ด้วย ปรากฏว่าพอเห็นเณรใกล้ๆ มองดูที่หัวเป็นโรคผิวหนังเกือบทุกองค์ ส่วนพระภิกษุไม่พบเลยสักองค์


webmaster - 4/5/15 at 16:52

๒๘. วัดอินทร์ เมืองเชียงตุง พม่า


วัดอินทร์แห่งนี้ ผู้เล่าได้ไปค้นพบจากเฟสบุคใช้ชื่อ "วัดอินทร์บุปผาราม" และจากแผ่นเอกสารนำเที่ยว มีข้อมูลเขียนไว้สั้นๆว่า : วัดอินวิหาร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเมืองเชียงตุง ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นใน ปี พ.ศ.ใด คนโบราณรุ่นเก่าเล่าตำนานสืบต่อกันมาว่า องค์พระประธานในพระวิหารวัดอินทร์แห่งนี้ สร้างด้วยไม้ไผ่โดยชาวเชียงตุงนำไม้ไผ่มาสานเป็นรูปองค์พระ


แต่ใช้เวลาหลายปียังไม่เสร็จสมบูรณ์ จนพระอินทร์ต้องแปลงกายเป็นผู้เฒ่ามาช่วยสานจึงจะแล้วเสร็จ จากนั้นจึงตกแต่งจนเป็นองค์พระประธานประดิษฐานอยู่ในพระวิหารจนตราบเท่าทุกวันนี้ ด้านหลังองค์พระมี "บ่อน้ำทิพย์" หรือที่เรียกกันว่า "บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์" คือไหลมาเรื่อยๆ ไม่แห้ง เป็นบ่อเล็กๆไม่ใหญ่มาก พวกเราตักน้ำในบ่อมากันคนละนิดคนละหน่อย บางท่านก็ตักมาดื่มเลย ก่อนดื่มก็อธิษฐานให้โรคร้ายในกายหายไปให้หมดสิ้น




สรุปว่าวันนี้พวกเราก็ได้กราบไหว้วัดที่สำคัญในเมืองเชียงตุงแต่เพียงแค่นี้ เพราะมาถึงวัดนี้ก็เป็นเวลาเย็นมากแล้ว คุณจันทร์ทิพย์ต้องขอตัวไปเดินเอกสารที่ด่าน เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับในวันพรุ่งนี้ แม้ว่าด้วยเวลาจำกัด จะไม่ได้ไปครบถ้วนทุกแห่ง แต่พวกเราก็ได้กราบไหว้สถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" ครบถ้วนทุกแห่ง


ตามกำหนดการ "วันที่สี่" ของการเดินทาง เวลา ๐๖.๓๐ น. รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม และเก็บกระเป๋าสัมภาระ เช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรม เวลา ๐๗.๓๐ น. ออกเดินทางสู่ เมืองพยาก โดยหัวหน้าทัวร์โทรศัพท์นัดพบกับเจ้าอาวาสวัดเซตาน ระหว่างทางที่จะไป พระธาตุจักขุมาโต (บรรจุขนคิ้วพระพุทธเจ้า)



วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ (เชียงตุง - พยาก - ท่าขี้เหล็ก)


๒๙. พระธาตุจักขุมาโต เมืองพยาก จ.เชียงตุง รัฐฉาน พม่า


วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเดินทาง จึงต้องรีบเร่งทำเวลาไปกราบไหว้ให้ครบถ้วนตามรายการ หัวหน้าทัวร์บอกว่า อยู่ที่พวกเราทุกคนที่จะทำเวลากันด้วย จากเมืองเชียงตุง - พยาก สภาพถนนลาดยางแบบนี้ทำให้รถตู้วิ่งได้เต็มที่ ครั้นมาถึงตัวเมืองพยากแล้ว รถก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปทางหมู่บ้านที่เราผ่านไปเมื่อวันก่อน (ก่อนถึงถ้ำน้ำยืน)


เวลา ๑๐.๓๐ น. ก็มาถึงจุดนัดพบในหมู่บ้านแห่งนี้ ตามที่คุณจันทร์ทิพย์โทรศัพท์นัดกับเจ้าอาวาสวัดเซตานไว้ มองดูคณะของท่านแล้วน่าปลื้มใจจริงๆ มีพระภิกษุสามเณร ๔ - ๕ รูป พร้อมชาวบ้าน ๑๐ กว่าคนนั่งรถมาด้วย ส่วนรถที่พวกเราเช่าไว้ ท่านเจ้าอาวาสก็ได้ติดต่อให้มารอรับอยู่ที่นี่ เป็นรถอีแต๊กโฟร์วีลขนาดใหญ่ ๒ คัน รถคันแรกเปิดประทุนโล่งหมด อีกคันหนึ่งเป็นอีแต๊กโฟร์วีลเช่นกัน แต่มีฝาด้านข้างปลอดภัยหน่อย ส่วนรถชาวบ้านขนเสบียงอาหารวิ่งล่วงหน้าไปก่อน คนขับรถตู้ของเราฝากรถไว้ที่นี่แล้วกระโดดขึ้นรถไปด้วย รถ ๒ คันคนประมาณ ๓๐ คน


สภาพถนนเป็นอย่างไรดูภาพเอาก็แล้วกัน เริ่มแรกก็วิ่งข้ามลำน้ำกันก่อน แล้วลุยขึ้นเขาไปหลายลูก โชคดีที่ฝนตกล่วงหน้าก่อน ทำให้ไม่มีฝุ่นให้ลำบากเลย เป็นเพราะบารมีองค์พระธาตุแท้ๆ ทำให้มีวันนี้ได้ ส่วนหลวงพี่ไม่ต้องพูดถึง ท่านรอคอยวันนี้มานาน ๑๗ ปีแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ทุกคนพลอยดีใจที่ได้ไปครั้งแรกร่วมกับท่านและหลวงพ่อสุรพงศ์ด้วย ระหว่างที่รถวิ่งไปตาของเราก็มองวิวทั้งสองข้างทาง ส่วนตากล้องก็ไปนั่งอยู่อีกคันหนึ่ง ทำให้มีภาพถ่ายให้ผู้อ่านได้ชมไปด้วยทุกเหตุการณ์ ก่อนอื่นขอนำประวัติสถานที่สำคัญแห่งนี้มาเล่ากันก่อน ดังนี้


ประวัติความเป็นมาของเมืองพยาก หรือ เมืองพญายักษ์


จาก - moungphayak.blogspot.com/2012/10/blog-post.html

หัวเมืองทางภาคตะวันออกมีจำนวน ๙ เมือง ซื่งประกอบด้วยเมืองต่างๆดังนี้
๑. เชียงตุง ๒. เมืองเป็ง ๓. เมืองยาง ๔. เมืองขาก ๕. เมืองโต๋น ๖. เมืองสาด ๗. ท่าขี้เหล็ก ๘. เมืองยอง ๙. เมืองพยากซึ่งเป็นเมืองอันดับที่ ๙ ของไทยใหญ่ทางทิศตะวันออก มีแม่น้ำไหลจากเมืองเชียงตุงชื่อว่า "น้ำหลง" ไหลผ่านมาตามระหว่างทางเมืองเชียงตุง-เมืองพยาก ภูมิทัศน์ทิศตะวันตกติดกับเมืองเชียงตุง ทิศตะวันออกอยู่ติดกับท่าขี้เหล็ก ทิศใต้ติดกับเมืองสาด ทิศเหนือติดกับเมืองยอง

ซึ่งเมืองพยากถือว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองต่างๆ โดยมีหมู่บ้านทั้งหมดในเขตเมืองพยากจำนวน ๒๕ หมู่บ้าน อันมี "บ้านเซตาน" (ชื่อเดิมก่อนหน้าคือ บ้านซาว สาเหตุที่ชื่อว่า ซาว เพราะว่าครั้งแรกการก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นมีบ้านเรือนแค่ ๒๐ หลังคาเรือน ซาว ในที่นี้ก็หมายถึง ยี่สิบ นั่นเองในภาษาไทยใหญ่)

ประวัติศาสตร์ก่อนการก่อตั้งเมืองพยาก


ประวัติเมืองพยากนั้นอาจดูเหมือนนิทานหรือนิยายก็ว่าได้ แต่ยังไงก็ดีประวัติศาสตร์จะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีต้นตอดังนั้นควรศึกษาเฉพาะที่อยากรู้และเข้าใจความเป็นมาอย่างลึกซึ้งแล้ว มันจะซ่อนอยู่ในตัวของมันเองในความเป็นจริงว่าเกิดขึ้นยังไง (เพราะว่าไม่มีบันทึกมาก่อนหรือมีแหล่งข้อมูลอ้างอิง แต่อาศัยการสอบถามผู้เฒ่าคนแก่ และหนังสือที่เรียบเรียงออกมาไม่นาน)

เมืองพยากนั้นได้ฟังจากผู้เฒ่าคนแก่เล่าสืบกันมานั้น เมื่อประมาณ ๒๕๐๐ ปีผ่านมา มีชนเผ่ากลุ่มหนึ่งมาก่อตั้งบ้านเมืองและปกครองกันมาก่อนหน้านี้คือ ชนเผ่าทะมิน หรือ หวะ ตามหนังสือนั่นเอง ชนเผ่าทะมิน หรือ หวะ นั้นต้นตอมาจากชาว ขะม่า หรือ เขมร ที่อพยพลงมาตามแม่น้ำโคงหรือแม่น้ำสาระวินและมาอาศัยอยู่ตามภูเขาสันเขาเมืองไตยตามดังประวัติศาสตร์นี้ได้บันทึกไว้ว่า

ชนเผ่าหวะได้ก่อสร้างเมืองขึ้นและได้ตั้งเป็นเวียงและปกครองกันมาชื่อว่า "เวียงกอน" อยู่ทิศใต้บ้านยางหมั้นหรือบ้านนาลีในปัจจุบัน และมี ก้างอ้ายอุ่น (ก้าง หมายถึง พ่อหลวงบ้าน) เป็นผู้ปกครองเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองเก่านี้ มีแม่น้ำสายหนึ่งคือแม่น้ำลงกั้นไว้ ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำยังมีอีกเวียงคือ "เวียงกอ" ซึ่งเป็นฐานป้องกันให้กับเวียงกอนหรือบ้านนาลีในปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ยังเหลือซากเศษก้อนอิฐไว้เป็นหลักฐานไว้อยู่

สมัยนั้นผู้ปกครองเวียงกอนยังเป็น "ก้างอ้ายอุ่น" คนเดิมซึ่งปกครองหมู่บ้านเล็กๆน้อยๆ ในแถบ
นั้นเป็นต้น ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงกอนนี้ยังมีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า "จอมตอง" ซึ่งมี ยักษ์ร้ายอาศัยอยู่ตนหนึ่ง เมื่อสมัยก้างอ้ายอุ่นเป็นผู้ปกครองอยู่นั้น ได้เอาผู้คนชาวบ้านไปสังเวย หรือให้เป็นเหยื่อของยักษ์ตนนั้นอยู่ตลอด ซึ่งทำความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับประชาชนรวมถึงก้างอ้ายอุ่นอยู่ตลอด

มีมาวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงใช้ทิพจักขุญาณแลเห็นว่า ถึงเวลาจะไปเผยแพร่ศาสนาแล้ว จึงเสด็จไปยัง วิเทหนคร หรือ ประเทศจีนในปัจจุบัน จากนั้นก็เสด็จมาเมือง "กำปอจะเติง" หรือเมืองยองในปัจจุบัน หลังจากตรัสพยากรณ์บ้านเมืองแล้ว จึงประทานพระเกศาธาตุไว้แล้วเดินทางมาที่ "เมืองปญาสะ" หรือ เมืองพยากในปัจจุบัน และทรงพำนักอยู่ที่บนภูเขาน้ำนาง แล้วประทาน "ขนคิ้ว" ให้กับเผ่าหวะเพื่อบรรจุไว้ที่ "พระธาตุจักขุมาโต"

ข่าวสารได้มาถึง "ก้างอ้ายอุ่น" ผู้ปกครองเมืองพยาก เวลานั้นได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่น้ำนาง ก้างอ้ายอุ่นจึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และบอกเรื่องราวที่อยู่ภายในจิตใจและเป็นที่เดือดเนื้อร้อนใจอยู่ตลอดเวลา ว่าจะแก้ไขยังไงต่อพระพุทธเจ้า คือการที่เอาประชาชนไปเป็นเหยื่อของยักษ์ ซึ่งนำความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

จากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปยังถ้ำบนภูเขาจอมตอง (ดอยจอมทอง) ซึ่งเป็นที่ยักษ์อาศัยอยู่ และยักษ์ก็ได้พบกับพระพุทธเจ้าโดยที่ยักษ์ไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า จึงออกพูดออกปากด่าพระพุทธเจ้าต่างๆ นาๆ แล้วจะกินพระพุทธเจ้าอยู่ตลอด จากนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงยื่นนิ้วชี้ให้ยักษ์กิน ยักษ์ตนนั้นก็กัดกินนิ้วของพระพุทธเจ้า แต่ยักษ์กัดยังไงก็กัดไม่เข้า จนทำให้ยักษ์ทรมานอย่างมาก และจนกระทั่งฟันของยักษ์หัก จึงตกใจกลัวบารมีของพระพุทธเจ้า และกราบร้องขอชีวิตว่าปล่อยข้าพเจ้าด้วยเถิด

จากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้เทศนาโปรดยักษ์ตนนั้น และให้หลักคำสอนและการรักษาศีล ๕ และนับถือสิ่งสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพต่อไป จากนั้นยักษ์ก็ได้พ้นจากกรรมวิบากแล้ว แต่ฉันใดก็ตามคนกับยักษ์อยู่ด้วยกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงให้ยักษ์ตนนั้นกลับเข้าสู่ถ้ำดังเดิม และพระพุทธเจ้าก็ได้เอาก้อนหินมาปิดปากถ้ำ และใช้เท้ายันก้อนหินปิดปากถ้ำ จึงเป็นรอยพระพุทธบาทจนถึงทุกวันนี้

จากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ทำนายทายทักไว้ว่า สถานที่แห่งนี้พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองและได้มอบพระเกศาหรือเส้นผมจำนวน ๒ เส้น และบรรจุสร้างเป็นพระเจดีย์จอมตอง ซึ่งยังคงสภาพที่สมบูรณ์ แต่ก็มีการบูรณะมาโดยตลอด อยู่ถึงปัจจุบันนี้ ดั้งนั้นเมืองพยากได้รอดพ้นภัยอันตรายจากยักษ์แล้ว

ซึ่งประเพณีขึ้นพระเจดีย์หรือการเฉลิมฉลองทำบุญพระเจดีย์จอมตองนั้น จะมีตรงกับเดือน ๔ เป็ง (เพ็ญ) ของทุกปี จะมีการจัดงานทำบุญเป็นประจำ ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีของคนในเมืองพยากจนถึงปัจจุบัน และมีการตีฆ้อง (มอง) ไปตามสันเขาจอมตอง ก็เพื่อคอยเตือนสติของยักษ์ที่อยู่ในถ้ำนั้นว่า ประชาชนคนทั่วไปทำบุญสุนทานอยู่ตลอด เพื่อไม่ให้ยักษ์นั้นออกมาจากถ้ำอีก ดังนั้นสาเหตุว่าเมืองนี้ได้ชื่อว่า "เมืองพญายักษ์" ก็เพราะว่าเมื่อก่อนได้มียักษ์อาศัยอยู่ จึงเรียกตามๆ กันจนถึงทุกวันนี้ นานไปเลยเพี้ยนเป็น "เมืองพยาก" โดยความเป็นจริงแล้วเมืองนี้ชื่อว่า "เมืองพญายักษ์" นั่นเอง

ก้างอ้ายอุ่นผู้ครองเมืองพยากได้อยู่ ๒๐ ปี หลังจากนั้นผ่านมาประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ปีต่อมา ก็มีชาวอยุธยาหรือว่าชาวเทศไทยในปัจจุบันนี้ได้เข้ามาทำสงครามกับ "เวียงกอน" (เมืองพยาก) เลยทำให้เวียงกอนหรือเมืองพยากล่มสลายไป จากนั้นชน "เผ่าหวะ" ก็ได้อพยพหนีไปทางตอนเหนือของเมืองเชียงตุง


ประวัติธาตุหรือพระเจดีย์ในเมืองพยากที่ควรรู้


๑. พระธาตุจ๋อมเต้า ตั้งอยู่บ้านเฟยฮูง (ไฟฮูง) ในปัจจุบัน พระเจดีย์แห่งนี้มีประวัติไว้ว่า สมัยพระพุทธเจ้ายังมีพระชนมายุอยู่ ในขณะนั้นได้เสด็จมาเยือนที่เมืองพยาก ได้ประทับอยู่ที่ดอยแห่งนั้นและได้เอาไม้เท้าทิ่มลง (สักลง) ที่พื้นดิน และมองดูสภาพแวดล้อมของเมืองพยากทั้งสี่ทิศแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประทาน เกศา หรือว่าเส้นผมของพระพุทธเจ้าจำนวน ๒ เส้น ให้แก่ ชาวทมิฬ (ว้า) นั่นเอง ผู้ก่อตั้งและบรรจุพระเกศาลงในพระธาตุ คือ "ก้างอ้ายอง" ซึ่งนับว่าเป็นพระธาตุเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองพยากเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันได้มีการทำนุบำรุงอยู่สม่ำเสมอ และมีประเพณีขึ้นพระธาตุในเดือน เจ๋งใหม่ ๑๕ ค่ำของทุกปี จะมีการทำบุญเป็นประจำ (สาเหตุที่ได้ตั้งชื่อว่า "จ๋อมเต้า" เป็นเพราะว่าพระพุทธเจ้าเอาไม้เท้าปักไว้นั่นเอง)

๒. พระธาตุจักขุมาโต ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านป่าขม เขตพื้นที่ห้วยชี หรือ จากบ้านน้ำนางไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ประวัติมีว่าดังนี้ สมัยพระพุทธเจ้าเลียบโลก ได้เสด็จมาสถานที่แห่งนี้ พระพุทธเจ้าได้มอบ (ขนคิ้ว) ให้กับ ชาวทะมินท์ (ว้า) และก่อเป็นพระธาตุเพื่อไว้เป็นที่สักการบูชา และได้มีการไปบูรณะครั้งแรกเมื่อปี จุลศักราช ๑๓๓๒ เดือน ๖ ออก ๖ ค่ำโดยมี (พระตันตะอินต๊ะ วรรโณ) เจ้าอาวาสวัดเฟยฮูงและ (พระตันตะญานะ) เจ้าอาวาสวัดบ้านเวียงใหม่ เป็นผู้นำคณะศรัทธาและแสนจายหลวง พร้อมใจกันไปสร้างศาลาหลัง ๑ เพื่อเอาไว้กันแดดกันฝน

ต่อมาเมื่อปี ๑๓๔๙ จุลศักราช ได้มีผู้ใจบาปลักลอบเข้ามาขุดเอาสิ่งของ รวมถึงพระพุทธรูปเก่าแก่ที่บรรจุไว้ในพระธาตุไป ต่อมาเมื่อปี ๑๓๕๑ จุลศักราช เจ้าอาวาสวัดบ้านเวียงใหม่ (พระตันตะญานะ) ได้เป็นผู้นำผู้มีเจตนาและคณะศรัทธาในเมืองพยากไปบูรณะสร้างพระธาตุขึ้นมาใหม่ พระธาตุจักขุมาโตแห่งนี้จะมีประเพณีทำบุญเป็นประจำทุกปีนั้นคือ เดือน ๕ ใหม่ เป็นประจำทุกปี

..... ขอโทษนะครับ กำลังเขียนใหม่ข้อมูลยังไม่เสร็จขออภัยมาณที่นี้ด้วย รออีกหน่อยครับจะพยายามเขียนให้เสร็จ (แปลจาก "หนังสือประวัติเมืองพยาก" ต้นภาษาเป็นภาษาเขิน แล้วแปลไทยครับ) เขียนโดย moungphayak



พวกเราพอจะทราบประวัติความเป็นมาแล้ว ขอเล่าเรื่องการเดินทางต่อไป ว่าใช้เวลาจากถนนใหญ่ ๒ ชั่วโมง เฉพาะขาไป ขากลับประมาณชั่วโมงครึ่ง ชาวบ้านได้ขึ้นไปถึงก่อน เพื่อเตรียมจัดเลี้ยงต้อนรับพวกเราด้วย ท่านเจ้าอาวาสวัดหลวงศรีมุงเมือง (วัดเซตาน) เป็นธุระจัดหารถอีแต๊กมาให้นำทางขึ้นเขา การเดินทางจึงมีการลุ้นกันไปตลอด เพราะรถแบบนี้ไม่เคยมีใครนั่ง กลัวว่าจะขึ้นเขาไม่ไหว แต่ปรากฏว่าแรงดีขึ้นเขาได้สบาย เมื่อมาถึงที่นี่ อากาศหนาวเย็นพอสมควร องค์พระธาตุไม่ใหญ่มาก ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารที่มุงด้วยสังกะสี


ต้องจอดรถไว้แล้วเดินขึ้นไป เนื่องจากพระวิหารอยู่บนยอดสุด มีคนเฝ้าอยู่คนเดียวไม่มีพระสงฆ์อยู่เลย มองเห็นเจ้าอาวาสกับรองเจ้าอาวาสท่านเดินขึ้นมาพอดี รู้สึกมีความสุขที่ได้มาถึงเสียที รอเวลาอยู่นานเหลือเกิน คุณจันทร์ทิพย์บอกว่าวันที่ ๒๔ ม.ค. จะต้องนำอีกคณะหนึ่งมาที่นี่ จังหวะดีจึงเหมือนกับได้มาเตรียมพร้อมไว้ก่อน



คณะพ่อออกแม่ออก ชาวบ้านเมืองพยากที่มากันได้ประกอบอาหารไว้สำหรับเลี้ยงคณะ ดูมีความเป็นกันเองดีมาก ได้นำหม้อข้าวจานช้อนอุปกรณ์ทุกอย่าง แล้วช่วยกันก่อไฟหุงหาอาหารไว้เตรียมพร้อม เพื่อถวายพระสงฆ์และจัดเลี้ยงพวกเราทุกคน


เมื่อคณะตามรอยฯ ถึงพระธาตุจักขุมาโตแล้ว หลวงพี่เห็นเป็นโอกาสดี พระภิกษุก็มาครบองค์สงฆ์ ท่านจึงขอให้ท่านเจ้าอาวาสทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หลวงพี่พร้อมคณะจะได้ถวายปัจจัยไทยธรรม และร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จากนั้นคณะญาติโยมพุทธบริษัทร่วมรับประทานอาหารกลางวัน


ก่อนจะเริ่มพิธี หลวงพี่เล่าประวัติถึงความสำคัญของสถานที่นี้ และที่มาของพระธาตุตามพุทธตำนาน "พระเจ้าเลียบโลก" จากนั้นจึงได้มีพิธีใหญ่เพราะคณะนี้ทุกคนต่างก็มาเป็นครั้งแรก ด้วยการจัดถวายห่มผ้าพระเจดีย์ และบูชาด้วยดอกดาวเรืองที่องค์พระธาตุด้วย



หลังจากทำความสะอาดบริเวณนี้แล้ว ได้จัดเตรียมเครื่องเสียงหลวงพ่อบวงสรวง จัดเครื่องบูชาสักการะ เช่นธูปเทียน พุ่มเงินพุ่มทอง ฉัตรเงินฉัตรทอง เตรียมเครื่องไทยทานถวายพระ หลังจากบวงสรวงด้วยเสียงของหลวงพ่อแล้ว หลวงพี่นำอธิษฐานเพื่อบ้านเมืองและประชาชนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ทั้งหมด ตลอดจนเป็นที่ตั้งของพระพุทธศาสนาให้ครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี


เนื่องจากพระสงฆ์มาเกิน ๔ รูป โดยมิได้คาดหมาย จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำบุญเป็นสังฆทานเลย หลังจากตัวแทนจุดธูปเทียน คุณท้งนำกราบพระและอาราธนาศีล ๕ ประธานสงฆ์โดยท่านเจ้าอาวาสให้ศีลเสร็จแล้ว ท่านได้เจริญพระพุทธมนต์สำเนียงแบบทางภาคเหนือของเรา ที่เรียกว่าสวดแบบล้านนานั่นเอง พวกเราตั้งใจฟังด้วยความสงบ มีชาวบ้านมาร่วมพิธีหลายคน แต่แม่ออกส่วนใหญ่อยู่ในครัวทำอาหารกัน


แต่มีเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่งคือ ในตอนนี้มีชาวบ้านคนหนึ่งได้ขับรถปิ๊กอัพตามมาทีหลัง ปรากฏว่าเป็นผู้สร้างวิหารครอบเอาไว้เอง เจ้าอาวาสจึงได้เชิญมาเล่าประวัติการสร้างให้พวกเราฟัง เพราะมองดูสภาพแล้วการสร้างไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องขนของข้ามภูเขามาหลายลูกกว่าจะมาถึงที่นี่ ด้วยเหตุนี้ หลวงพี่บอกว่ามิน่าละ สมัยก่อน (ปี ๒๕๔๒) ยืนอยู่ที่ถ้ำน้ำยืน (น้ำนาง) จะมองเห็นพระเจดีย์อยู่บนยอดเขานี้ พอมาถึงปัจจุบันนี้มีคนมาสร้างวิหารครอบไว้จึงมองไม่เห็น (ในสมัยนั้นหลวงพี่ได้แต่ยืนไหว้อยู่ที่ถ้ำน้ำยืน)


เมื่อได้ฟังคุณลุงเล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา หลวงพี่มองดูหลังคาวิหารเห็นว่าเก่าเริ่มผุแล้ว ท่านจึงรวบรวมปัจจัยมอบให้เจ้าอาวาสช่วยบูรณะ เพราะช่วงสงกรานต์ท่านจะนำชาวบ้านมาทำบุญสรงน้ำพระตามประเพณีอีกครั้งหนึ่ หลังจากสวดมนต์จบแล้ว จึงกล่าวคำถวายเป็นวิหารทานและสังฆทาน โดยมีการถวายอาหารและถวายเครื่องไทยทานพร้อมปัจจัย ดังนี้


- ทำบุญส่วนองค์ กับเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาส และทุกรูป รวม ๔,๐๐๐ บาท กับ ๑๓๒,๐๐๐ จ๊าด
- ถวายเป็นค่าฉัตรใหม่ ๓๐,๐๐๐ บาท กับ ๓๑,๐๐๐ จ๊าด
- ถวายซ่อมหลังคาวิหาร ๓๐,๐๐๐ บาท กับ ๕๐,๐๐๐ จ๊าด
- รวมเงินทั้งสิ้น ๖๔,๐๐๐ บาท กับ ๒๑๓,๐๐๐ จ๊าด



ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าพวกเราทำบุญกันเยอะพอสมควร เพราะทุกคนคิดว่าโอกาสเช่นนี้ไม่ใช่ของง่าย การได้กราบไหว้พระบรมธาตุขนคิ้วของพระพุทธเจ้าถึงที่นี่ ถือว่าเป็นบุญใหญ่ แต่ถ้าได้บูรณะปฏิสังขรณ์ก็ยังได้บุญใหญ่อีกต่อหนึ่ง ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงทุ่มเทกันเต็มที่




พวกเราได้ถวายทั้งส่วนองค์และทั้งส่วนรวมที่เป็นสังฆทาน (ตามภาพรูปสุดท้ายเป็นสามเณร) พระเณรชาวเมืองพยากท่านคงดีใจ เพราะหัวใจของเขาและเราก็เหมือนดวงเดียวกัน มีความเคารพนับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน จะแตกต่างแค่เรื่องประเพณีและเชื้อชาติเท่านั้น ทุกคนทั้งผู้รับและผู้ให้ต่างก็ยิ้มแจ่มใส แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เราก็เหมือนได้เคยร่วมบุญมาแต่ชาติปางก่อนฉะนั้น


จากนั้นก็รับประทานอาหารที่ชาวบ้านจัดไว้ให้ พระเณรก็ฉันเพลกันตามปกติ ทั้งอาหารที่ชาวบ้านเตรียมไว้ให้ และอาหารที่พี่ติ๋มเตรียมมา อาหารยังร้อนๆ อยู่เลย อุดมสมบูรณ์จริงๆ เป็นอาหารพื้นบ้านของเขาด้วย ใครที่ชอบประเภทนี้ก็ทานกันเต็มที่ พออิ่มหนำสำราญกันดีแล้ว จึงถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกแล้วเดินทางกลับ



งานนี้ทุกคนปลื้มใจมาก นอกจากจะได้มากราบไหว้ตามปกติแล้ว ยังได้ร่วมจัดงานพิธีเฉลิมฉลององค์พระธาตุอีกด้วย (ถ้าพระสงฆ์มีไม่ครบ จะจัดงานพิธีฉลองเช่นนี้ไม่ได้ จึงถือว่าเป็นการฉลองของตนเองทุกคนด้วย ที่ได้มีโอกาสมากราบไหว้เป็นครั้งแรก และครั้งต่อไปคงเกิดขึ้นอีกได้ยาก) การเดินทางมาถึงที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น จะต้องมีจังหวะที่ฝนไม่ตก ถนนไม่ลื่น และจะต้องมียานพาหนะที่คุ้นเคยกับสภาพถนนเช่นนี้ด้วย (ในภาพจะเห็น "ผ้าตุง" ผืนใหญ่ที่เรานำไปถวายด้วย)



ฉะนั้นก่อนออกเดินทาง คุณลุงคุณป้าเจ้าของที่เคยสร้างทั้งพระเจดีย์และวิหารครอบ (ผู้ชายสูงๆที่ยืนข้างหลังหลวงพี่) ที่ได้มารับรู้ในสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่นี้ด้วย ได้รับปากจะพาพวกเราไปพระธาตุอีก ๒ แห่ง คือพระธาตุจอมเท้า และพระธาตุจอมทอง ที่อยู่ในเขตทหารหนึ่งแห่ง ซึ่งมีรอยพระพุทธบาทอยู่ด้วย

เวลา ๑๒.๓๐ น. เดินทางกลับมาไหว้ พระธาตุจอมเท้า (ดอยเจขุมเท้า) บ้านเฟยฮูง ใกล้เมืองพยาก อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าปักไม้เท้า และประทานพระเกศาธาตุให้แก่ "ขุนลัวะอ้ายอง" พร้อมตรัสว่าสถานที่นี้ต่อไปจะเป็นเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า "พยัคฆรัฐ" คือเมืองพยากนั่นเอง จากนั้นตรัสสั่งว่าตถาคตนิพพานต่อไปแล้วให้นำพระบรมธาตุ "ฝ่ามือขวา" มาบรรจุไว้ที่นี้



พวกเราเดินลงมาขึ้นรถคุณแต๊กคันเดิม แต่ก่อนที่จะขึ้นรถก็แวะถ่ายรูปกับหมู่คณะพร้อมกับท่านเจ้าอาวาสวัดเซตานไว้เป็ที่ระลึก ข้างบนเป็นป้ายอ่านไม่ออกน่าจะเป็นชื่อวัด (วัดเซตาน ตำบลเวียง อำเภอเมืองพยาก จังหวัดเชียงตุง เจ้าครูบายี่ ธมฺมปาโล เจ้าอาวาส)

วัดเซตาน หรือ "วัดเวียงเก่า" ปัจจุบัน ตั้งอยู่ระหว่างกลางท่าขี้เหล็กและเชียงตุงระยะทางจากอำเภอแม่สายไปประมาณ ๘๐-๙๐ กิโลเมตร วัดจะอยู่ทางด้านซ้ายมือซึ่งติดกับถนนสายหลักที่ไปเชียงตุง ปัจจุบันทางวัดเซตานได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ซึ่งจัดการเรียนการสอนนักธรรมชั้น ตรี โท เอก ให้กับพระภิกษุและสามเณรในเขตพื้นที่เมืองพยาก และยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในเมืองพยากและเมืองใกล้เคียงอีกด้วย


คนขับก็พอพูดไทยได้ เพราะเคยไปทำงานที่เมืองไทย ขับรถลงไปอย่างช้าๆ ก่อนที่โบกมืออำลาและยกมือไหว้องค์พระธาตุจักขุมาโต เป็นอันว่าสำเร็จเสร็จสิ้นลงด้วยความมีสวัสดิภาพทุกประการ เพื่อเดินทางกลับไปที่พระธาตุจอมเท้า และพระธาตุจอมทอง (อยู่ในค่ายทหารพม่า) กันต่อไป แต่ระหว่างนั่งรถกลับมองขึ้นไปบนท้องฟ้า มีปรากฏการณ์แปลกประหลาด ตอนนี้อิฏฐ์บรรยายแทนว่า..





"ระหว่างเดินทางกลับจากพระธาตุจักขุมาโต ตอนนั้นทุกคนกำลังสนุกสนานถ่ายรูปกันครับ และก็ได้เห็นก้อนเมฆด้านบนเป็นลักษณะเส้นยาวๆ บางคนก็เห็นเป็นรูปพระธาตุบ้าง บางคนเห็นเป็นรูปพญานาคบ้าง (ส่วนอิฏฐ์มองว่าคล้ายรูปคิ้วและพระอาทิตย์สว่างเหมือนพระเนตรครับ).."


"....ที่สำคัญไม่ได้เป็นแค่ก้อนเมฆไม่กี่ก้อน แต่ก้อนเมฆบริเวณนั้นเป็นสีรุ้ง (พระฉัพรรณรังสี) หมดเลยครับ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ไม่นานมาก พอที่จะให้ทุกคนมองเห็นได้หมดครับ เพราะเห็นชัดมาก หลังจากที่ทุกคนได้ถ่ายรูปแล้ว ก้อนเมฆก็ค่อยๆ คลายสีกลับสู่สีขาวปกติครับ..."



๓๐. พระธาตุจอมเท้า หรือจอมเต้า (ดอยเจขุมท้าว) บ้านป่าซาง เมืองพยาก จ.เชียงตุง รัฐฉาน พม่า


รถวิ่งย้อนกลับมาทางเมืองพยาก ก่อนจะถึงเมืองพยากประมาณไม่กี่กิโลเมตร จะเห็นพระธาตุงามเด่น ซึ่งมีความสำคัญเป็น ๑ ใน ๔ จอมของเมืองพยาก คือ ๑. พระธาตุจอมทอง, พระธาตุจอมเท้า, พระธาตุจอมแจ้ง, พระธาตุจอมนาค ซึ่งบางแห่งเราไม่มีโอกาสไปให้ครบถ้วน ก่อนอื่นขอย้อนคำบอกเล่าของหลวงพี่ จากหนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๒ มีดังนี้


พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก กัณฑ์ที่ ๘

.......นโม ตสฺสตฺถุ ฯ โยนกโลกสฺมิ จาริกํ จรติ ฯ
ดูรา สาธุชนสัตบุรุษทั้งหลาย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ทรงพาพระอรหันต์ พระอินทร์และพระเจ้าอโศกราช เสด็จจาริกโปรดสัตว์ทั้งหลาย ในเมืองเขมรัฐทุกแห่งแล้ว ก็เสด็จเข้ามาในเมืองโยนก คือเมืองยวน พระพุทธองค์ก็เสด็จไปถึงเมืองพยาก เสด็จไปถึงแม่น้ำพยัคฆนที คือแม่น้ำพยาก แล้วพระองค์ก็ทรงชำระพระวรกายและทรงแปรงพระทนต์ ทรงประทับนั่งอยู่ (ถ้ำน้ำยืน)

ในเวลานั้นยังมีชาวทมิฬผู้หนึ่ง มันเดินไปพบพระพุทธองค์ จึงมีจิตโสมนัสยินดียิ่ง จึงเอาข้าวห่อถวายพระพุทธองค์ เมื่อทรงเสวยแล้วก็เสด็จล่องมาตามแม่น้ำ ถึงภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า ดอยเจขุนโท (บางฉบับ ดอยเจคุมเท่า) จึงเสด็จประทับอยู่เหนือยอดดอยแห่งนั้น ยังมีลัวะผู้หนึ่งเป็นขุนชื่อว่า ลัวะอ้ายอง (บางฉบับว่า อ้ายขน, อ้ายขุ่น) มันเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาก็มีใจโสมนัสมาก จึงนำพลูมาถวายแก่พระพุทธองค์ทรงรับและทรงเสวยแล้วก็ทรงรำพึงว่า

"สถานที่นี้ต่อไปภายหน้าจะเป็นเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า พยัคฆรัฐ คือเมืองพยาก พระเจ้าอโศก พระอินทร์และพระมหาอานนท์ได้ยินเช่นนั้นก็พร้อมกันกราบทูลว่า "ข้าแด่พระพุทธองค์ผู้เจริญ สถานที่นี้สมควรตั้งพระศาสนา ขอพระองค์จงทรงไว้พระธาตุเถิด"


พระพุทธเจ้าก็ทรงลูบพระเศียร ทรงได้พระเกศาธาตุหนึ่งองค์ ทรงมอบแก่พระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราชเอาให้แก่ขุนลัวะอ้ายอง มันก็นำเอาพระเกศาธาตุใส่ในกระบอกไม้รวก เอาใส่ไว้ในผอบทองคำใหญ่ ๗ กำมือ ใส่สิ่งของลงไปในผอบทองคำเป็นเครื่องสักการบูชา แล้วขุดหลุมเป็นอุโมงค์แห่งหนึ่งลึก ๗ ศอก กว้าง ๗ ศอก แล้วลัวะอ้ายองก็นำสิ่งมีค่าจำนวนหนึ่งล้านเจ็ดแสนเป็นวรามิสบูชาพระเกศาธาตุ แล้วก่อเจดีย์ทองคำสูง ๓ ศอก

สมเด็จอัมรินทราธิราชทรงเนรมิตยนตร์จักผันป้องกันไว้ เพื่อมิให้เป็นสาธารณ์แก่คนและสัตว์ทั่วไป เสร็จแล้วกลบถมจนเรียบร้อย ทรงมีพุทธบรรหารสั่งว่า "เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วท่านทั้งหลาย จงนำเอาธาตุฝ่ามือข้างขวามาบรรจุไว้ใที่นี้เถิด" (ปัจจุบันนี้เรียกว่า พระธาตุจอมเท้า เพราะเป็นสถานที่ปักไม้เท้าของพระพุทธเจ้าด้วย ภายในวัดจะมีรูปปั้นในขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทานพระเกศาธาตุ)


จากนั้นสมเด็จพระบรมครูก็เสด็จไปสู่ภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า ดอยจอมทอง ซึ่งมีอยู่ใกล้เมืองพยาก ในภูเขาลูกนี้มียักษ์ตนหนึ่งอาศัยอยู่ เจ้าเมืองพยากชื่อว่า "อุตตระ" จะต้องนำคนมาให้ยักษ์ตัวนี้กิน ๒ เดือนต่อ ๑ คน ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปทรมานยักษ์ตนนี้ จนมีความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้ทรงสถิตสำราญประทับสีหไสยาสน์บนดอยจอมทอง แห่งนี้จนสิ้นเวลา ๑ ราตรี ถึงอรุณรุ่งเช้า พญายักษ์ก็นำข้าวน้ำโภชนาหารมาถวายทาน

ส่วนขุนลัวะผู้เป็นเจ้าเมือง เมื่อเห็นพระพุทธเจ้าปราบยักษ์ตนนี้ได้ จึงเกิดความเลื่อมใสได้นำข้าวน้ำมาถวายแด่องค์สมเด็จพระจอมไตรจนถึงภูเขานี้เช่นกัน องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงอนุโมทนาแล้วตรัสว่า สถานที่นี้ควรเป็นที่ตั้งพระศาสนา แล้วจึงได้ประทานพระเกศาธาตุให้บรรจุไว้ในถ้ำ ณ ดอยจอมทองแห่งนี้ แล้วจึงเอาหินปิด ปากถ้ำไว้ ปากประตูถ้ำมี ๒ แห่ง คือทางทิศตะวันออกและทางทิศตะวันตก ทั้งสองประตูนี้มีลำธารมาต่อกัน ตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ตอนเย็นพระอาทิตย์ส่องทางทิศตะวันตก

ครั้นแล้วสมเด็จพระศาสดาทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ที่หินก้อนหนึ่ง ซึ่งกว้าง ๔ ศอก ยาว ๔ ศอก อยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง มีพระพุทธฎีกาตรัสสั่งอีกว่า เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว ท่านทั้งหลายจงนำเอา "พระธาตุฝ่ามือข้างซ้าย" ของตถาคตมาประดิษฐานไว้ที่นี้เถิด จากนั้นจึงเสด็จลงมาทางเชียงแสน เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน แพร่ และตากไปตามลำดับ รวมความว่าพระบรมสารีริกธาตุ ส่วน "ฝ่าพระหัตถ์เบื้องขวา" และ "ฝ่าพระหัตถ์เบื้องซ้าย" ได้มาประดิษฐาน ณ เมืองพยาก ประเทศพม่านี่เอง



คุณลุงคุณป้าที่นำทางมาได้เล่าว่า ตนเองเป็นผู้สร้างสถานที่นี้เช่นกัน หลวงพี่ถามว่าเป็นเพราะอะไร คุณลุงบอกว่าเป็นเพราะชื่อ "จอมท้าว" คำว่า "ท้าว" ของคุณลุงจะไม่เหมือนคำว่า "เท้า" ตามที่ประวัติบอกว่าพระพุทธเจ้ามาปักไม้เท้า แต่คุณลุงเข้าใจว่าเป็น "ท้าว" คือเป็นคำกิริยาหมายถึงเป็นการค้ำจุน ภายหลังจากได้สร้างที่นี่แล้ว คุณลุงคุณป้าก็มีฐานะดีมั่นคงตลอด นี่เป็นความเชื่อส่วนตัวของเขา


พวกเราได้ยินดังนั้นก็อยากมีส่วนร่วมบ้าง จึงได้ทำบุญให้กับพระ ๒ องค์ที่ประจำอยู่ที่นี่ เพื่อร่วมสร้างวิหาร ๖,๐๐๐ บาท (ตามภาพด้านล่างที่ติดป้ายไว้) และถวายส่วนองค์ ๗๑,๕๐๐ จ๊าด พร้อมกับขออนุโมทนาย้อนหลังในสมัยที่หลวงพี่เดินทางมาเมื่อปี ๒๕๔๒ ท่านได้มีส่วนร่วมในการบูรณะครั้งนั้นด้วย (สมัยก่อนพระเจดีย์ทาสีขาว ปัจจุบันนี้ทาสีทองหมดทั้งองค์)


webmaster - 4/5/15 at 16:53

๓๑. พระธาตุจอมทอง และ รอยพระพุทธบาท (ในค่ายทหาร) เมืองพยาก เชียงตุง รัฐฉาน พม่า

ตามโปรแกรมของทัวร์ เราจะต้องกลับถึงท่าขี้เหล็กไม่เกิน ๑๕.๐๐ น. ด้วยเหตุนี้ พวกเราแทบจะวิ่งกันทำเวลา โดยเฉพาะสถานที่ทั้งสองแห่งนี้อยู่ในเขตทหาร จะเห็นค่ายทหารอยู่บนเขาอันเป็นทำเลที่ดีในการรักษาพื้นที่เมืองพยาก ส่วนยอดพระเจดีย์เราก็มองเห็นอีกด้านหนึ่ง ทัวร์ได้แจ้งไว้กับทหารก่อนล่วงหน้าแล้ว เมื่อมีเจ้าอาวาสวัดเซตานและคนในพื้นที่พามาด้วยก็ช่วยให้สะดวกยิ่งขึ้น รถตู้วิ่งผ่านป้อมยามเข้าไปแล้วขึ้นเขาไปช้าๆ พวกเราทุกคนอยู่ในความสงบ เขาห้ามไม่ให้ถ่ายภาพ คุณปุ๋มจึงไม่มีภาพให้ดู (เฉพาะรอยพระพุทธบาท)


หลังจากกราบไหว้รอยพระพุทธบาทกันแล้ว ซึ่งอยู่ด้านข้างของถนน เขาสร้างศาลาเล็กครอบเอาไว้ ด้านในจะมีสีทองทารอยพระพุทธบาท ซึ่งปรากฏว่าตรงตามตำนานทุกอย่าง จากนั้นก็ขึ้นรถตู้กันอีกครั้งหนึ่ง รถวิ่งขึ้นไปสูงกว่าเดิมแล้วจอดใกล้ๆ พระเจดีย์ ๒ องค์ อันเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ ๑ เส้น และพระบรมสารีริกธาตุ "ส่วนฝ่ามือซ้าย"



บนค่ายทหารนี้แปลกกว่าคราวก่อน หลวงพี่บอกว่ามาสมัยก่อนไม่มีการปั้นรูปนี้ไว้ ถามชาวบ้านเขาบอกว่าทหารเป็นผู้ปั้นปากยักษ์ที่เห็นลิ้นโผล่ออกมา คิดว่าเขาอาจจะสร้างเป็นการแก้เคล็ดหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้


บนยอดเขานี้แม้จะมีทหารยืนเฝ้าอยู่แต่ก็ไกล ทำให้เราสามารถบันทึกภาพได้ จึงรีบเร่งกันปีนขึ้นไปห่มผ้าและพวงมาลัย พร้อมกับสวดมนต์แล้วสรงน้ำองค์พระธาตุและปิดทองอย่างรวดเร็ว เพราะใกล้เวลาบ่าย ๓ โมงตามนัดหมายแล้ว จากนั้นก็ไม่ลืมถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึก กราบลาท่านเจ้าอาวาสวัดเซตาน และร่ำลาชาวบ้านผู้ที่นำทางมาให้ ก่อนที่จะมาถึงด่านชายแดนทั้งสองแผ่นดิน นับว่าทันเวลาทุกอย่าง สมความปรารถนาและปลอดภัยทุกประการ ณ แผ่นดินของประเทศไทย คงทิ้งแต่ความทรงจำไว้เบื้องหลัง แต่ก็ยังฝังอยู่ในความฝันที่เป็นความจริงของพวกเราทุกคนตลอดไป...


วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๘ (เชียงราย - เชียงใหม่ - วัดท่าซุง)


๓๓. พระธาตุดอยจอมทอง ถ.จอมทอง ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย



คณะตามรอยเล็กๆ ได้มาถึงแม่สายในเวลาเย็น จึงจำเป็นต้องพักค้างคืนอีก ๑ คืน รุ่งเช้าหลวงพี่ได้นำมากราบไหว้ พระธาตุดอยจอมทอง ในตัวเมืองเชียงราย เพื่อให้กราบไหว้ได้ครบถ้วนตามตำรา หลวงพี่บอกว่า "พระธาตุจอมทอง" ที่มีชื่อเดียวกันนั้น ในโลกนี้มีด้วยกัน ๖ แห่ง ดังนี้

๑. พระธาตุจอมทอง เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา
๒. พระธาตุจอมทอง เมืองเชียงตุง รัฐฉาน พม่า
๓. พระธาตุจอมทอง เมืองพยาก รัฐฉาน พม่า
๔. พระธาตุจอมทอง อ.เมือง จ.เชียงราย
๕. พระธาตุจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
๖. พระธาตุจอมทอง อ.เมือง จ.พะเยา


สถานที่ทั้ง ๖ แห่งนี้ หลวงพี่บอกว่าบรรจุ "พระเกศาธาตุ" ทุกแห่ง ท่านได้ไปกราบมาครบถ้วนแล้ว ส่วนพวกเราบางคนอาจจะยังขาดที่ "เมืองเชียงรุ่ง" แต่วันนี้ก็ทำสถิติกราบไหว้กันตามกำลังเท่าที่ได้ ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุ "พระเกศาธาตุ" และพระบรมสารีริกธาตุ "ส่วนนิ้วทั้งสิบ" และ "ส่วนหน้าผาก ๕ องค์"


พวกเราได้เข้าไปถวายผ้าห่ม ซึ่งเหลือเป็นชิ้นสุดท้ายแล้ว พร้อมทั้งกราบไหว้บูชาด้วยการสวดอิติปิโส และคาถาเงินล้าน สรงน้ำหอม ดอกไม้โปรย ทำบุญกันตามอัธยาศัยใส่ตู้กันตามระเบียบ รวมกันประมาณ ๒,๐๐๐ บาท เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับ คณะบางท่านกลับไปที่สนามบินเชียงราย เพื่อบินกลับไปที่กรุงเทพฯ



๓๔. วัดพระธาตุดอยสะเก็ด ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่


สำหรับรอยพระพุทธบาทคู่แห่งนี้ หลวงพี่เคยมาเมื่อ ๓ ปี ที่แล้วหลังจากได้ข่าวว่าพบใหม่ ส่วนครั้งนี้ก่อนเดินทางได้ข่าวว่า จะมีการสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท หลวงพี่จึงขึ้นมาดูเพื่อร่วมทำบุญ แต่ปรากฏว่าแบบที่จะสร้างยังไม่ลงตัว แต่ยังมีโครงการอยู่ ซึ่งพวกเรามีความเห็นว่าน่าจะสร้างเล็กๆ แค่นี้ก็พอ เพื่อรักษาป่าและธรรมชาติเอาไว้แบบเดิมๆ



เมื่อเดินทางมาถึงสักครู่ใหญ่ คณะของคุณศรีนุช-คุณทีน่า และชาวเชียงใหม่อีก (ต้องขอโทษที่จำชื่อไม่ได้) ก็มาถึง เดิมนึกว่าหลวงพี่จะมาทันฉันเพลที่นี่ คณะนี้ได้นำบายศรีมาให้ ๒ ชุด หลวงพี่จึงได้นำไปถวายบูชารอยพระพุทธบาท หลังจากบวงสรวงด้วยเสียงของหลวงพ่อ แล้วกล่าวคำถวายเครื่องบูชารอยพระพุทธบาท




ช่วงที่มีแดดส่องเข้ามา จึงถ่ายภาพรอยพระพุทธบาทได้ชัดเจน มองเห็นกงจักร และลายเส้นของพื้นหินในรอยพระพุทธบาท นับว่าเป็นรอยที่สวยตามธรรมชาติมากอีกรอยหนึ่ง ในขณะนั้นมีพระที่ท่านดูแลอยู่ที่นี่ จึงได้ฝากถวายเจ้าอาวาส เงินร่วมทำบุญดังนี้ ๑. ร่วมสร้างพระมณฑป ๕,๐๐๐ บาท ๒. สร้างพระพุทธมหาจักรพรรดิ (พระพุทธมหาเศรษฐี) หน้าตักกว้าง ๙.๘๔ เมตร จำนวน ๕,๐๐๐ บาท จากนั้นก็เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ...






สรุป ตามรอยพระพุทธบาท ตั้งแต่วันที่ ๘ - ๑๖ มกราคม ๒๕๕๘

รวมทั้งหมด ๓๔ แห่ง (ในประเทศ ๑๗ แห่ง ต่างประเทศ ๑๗ แห่ง)

๑. พบรอยพระพุทธบาทใหม่ ๒ แห่ง คือ รอยพระพุทธบาทคุ้มสามวัง, รอยพระพุทธบาทบ่อโข้ง
บ่อน้ำศักดิ์สิทธ์ใหม่ ๑ แห่ง (บ่อโข้ง)
บ่อน้ำศักดิ์สิทธ์ต่างประเทศ ๒ แห่ง วัดอินทร์ เมืองพยาก และ ถ้ำน้ำยืน เมืองพยาก

๒. กราบรอยพระพุทธบาท
- ในประเทศ ๓ แห่ง รอยพระพุทธบาทดอยผาปูน, รอยพระพุทธบาทผาเรือ, รอยพระพุทธบาท วัดพระธาตุดอยสะเก็ด
- ต่างประเทศ ๑ แห่ง รอยพระพุทธบาท (ในค่ายทหาร) ใกล้พระธาตุจอมทอง เมืองพยาก

๓. ร่วมบูรณะและกราบพระธาตุ
- ในประเทศ ๕ แห่ง
พระธาตุจอมกิตติ (พระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุส่วนแขนเบื้องขวา และส่วนหน้าผาก ๖ องค์)
พระธาตุวัดเจดีย์หลวง
พระธาตุดอยจัน (พระเกศาธาตุ และเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงพระบรรทม)
พระธาตุดอยตุง (พระบรมสารีริกธาตุส่วนไหปลาร้าเบื้องซ้าย)
พระธาตุดอยจอมทอง (พระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุส่วนนิ้วทั้งสิบ และส่วนหน้าผาก ๕ องค์)

- ต่างประเทศ ๙ แห่ง
พระธาตุหลวงจอมยอง เมืองยอง (พระเกศาธาตุ ๘ เส้น พระบรมสารีริกธาตุส่วนหน้าผาก)
พระธาตุจอมคำ (จอมทอง) เชียงตุง (พระเกศาธาตุ ๔ เส้น)
พระธาตุจอมสัก (พระยืน) เชียงตุง
พระธาตุจอมมน เชียงตุง
พระธาตุจอมดอย เชียงตุง (พระเกศาธาตุ ๖ เส้น)
พระธาตุจอมศรี เชียงตุง (พระเกศาธาตุ ๒ เส้น)
พระธาตุจักขุมาโต เมืองพยาก (ขนคิ้ว)
พระธาตุจอมเท้า เมืองพยาก (พระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุส่วนฝ่ามือขวา)
พระธาตุจอมทอง เมืองพยาก (พระเกศาธาตุ พระบรมสารีริกธาตุส่วนฝ่ามือซ้าย)

๔. ร่วมสร้างพระนอน
- ในประเทศ ๑ แห่ง วัดดงพระเจ้า ยาว ๓๙ เมตร อ.เมือง จ.พะเยา
- ต่างประเทศ ๑ แห่ง วัดพระธาตุหลวงจอมยอง เมืองยอง

๕. ร่วมปิดทองพระยืนสูง ๓๐ เมตร ต่างประเทศ ๑ แห่ง คือ พระธาตุจอมสัก เชียงตุง
๖. ร่วมสร้างหลวงพ่อทันใจ ในประเทศ ๑ แห่ง คือ วัดสบแพง อ.แม่จัน เชียงราย
๗. ร่วมสร้างเจ้าแม่กวนอิม และร่วมสร้างโบสถ์ ในประเทศ ๑ แห่ง วัดห้วยปลากั๋ง อ.เมืองเชียงราย
๘. ร่วมสร้างพระเจดีย์ ๑ แห่ง วัดป่ากล้วย อ.เมือง จ.เชียงราย
๙. ทำบุญบูรณะวัด ต่างประเทศ ๓ แห่ง คือวัดพระเจ้าระแข่ง, วัดอ๋องติยะซียี ท่าขี้เหล็ก, วัดยางคำ เมืองยอง

รวมเงินทำบุญทั้งหมด ๑๔๘,๙๒๐ บาท กับอีก ๑,๗๓๐,๕๐๐ จ๊าด

........จึงขอสรุปเรื่องราวและเงินที่ทำบุญไว้แต่เพียงแค่นี้ หากมีข้อผิดพลาดประการใด กรุณาแนะนำเพื่อการแก้ไขข้อมูลต่อไป สุดท้ายนี้..อย่าลืมตั้งจิตร่วมอนุโมทนาด้วยกันนะ..สวัสดีค่ะ

<< กลับสู่สารบัญ


webmaster - 3/6/15 at 08:36

.