ตามรอยพระพุทธบาท

สระบุรี-ตาก-ลำปาง-เชียงใหม่-พิษณุโลก-แม่สอด 6-11 มี.ค. 2553
praew - 9/2/10 at 12:21

วันที่ 6 มีนาคม 2553 (อุทัยธานี - สระบุรี)

1. วัดพระธาตุเจริญธรรม หมู่ 5 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

- ร่วมทำบุญสร้าง “พระพุทธเมตตานิมิตมงคล” หน้าตัก 14 ศอก เป็นเงิน 3,000 บาท


...กำหนดการเดินทางไปทิปนี้ หลวงพี่ชัยวัฒน์ได้รับกิจนิมนต์ไปงานพิธีหล่อพระ "พระเจ้าทันใจ" ที่วัดถ้ำรัตนบุปผา อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี ท่านจึงออกเดินทางไปสำรวจรอยพระพุทธบาท "ไร่มะยงชิด" ก่อน ตามที่หลวงพี่ประทักษ์ (อ.ตุ๋ย) จ.สกลนคร เป็นผู้แจ้ง


ในขณะที่รถวิ่งไปตามถนนสายแก่งคอย หลวงพี่เห็นกำลังสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ทาสีขาวอยู่บนเขา ท่านจึงบอกให้พวกเราขับรถเข้าไปภายในวัดพระธาตุเจริญธรรม พร้อมกับได้ถวายปัจจัยร่วมทำบุญเป็นเงิน 3,000 บาท แล้วให้คุณบุ๋มไปถ่ายภาพมาให้ชม อนุโมทนาร่วมกันนะค่ะ ที่ได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่โดยบังเอิญค่ะ

2. รอยพระพุทธบาท "ไร่มะยงชิด" (ไร่คุณเล็ก) บ้านหัวโกรก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี (ลำดับที่ 600)
- เป็นรอยพระพุทธบาทข้างขวา แบบเหยียบไปและกลับ เป็น ๒ รอย ขนาดใกล้เคียงกันมาก
- รอยแรก ปลายพระบาทไปทางทิศเหนือวัดความกว้างได้ ๕๑ c.m. ความยาว ๑๒๓ c.m.
- รอยที่ ๒ ปลายพระบาทไปทางทิศใต้ วัดความกว้างได้ ๕๓ c.m...ความยาว ๑๒๐ c.m.
- เจ้าของไร่ชื่อ คุณสุรพล (เล็ก) สกุลจึงเจริญ และเคยเห็นดวงไฟลอยขึ้นเมื่อประมาณ ๕ ปีที่แล้ว


หลังจากทำบุญสร้างพระใหญ่โดยไม่ตั้งใจมาก่อนแล้ว รถได้วิ่งจากแก่งคอยไปทางมวกเหล็ก เพื่อสืบหารอยพระพุทธบาทใหม่ ซึ่งหลวงพี่เพิ่งจะได้รับข้อมูลทางโทรศัพท์จากอาจารย์ตุ๋ยในวันเดินทางนี้พอดี ท่านเองก็ทราบจากคนอีสานที่มาทำงานแถวนี้

แต่พวกเราก็ต้องใช้เวลาสอบถามเส้นทางอยู่นานเหมือนกัน กว่าจะเข้ามาถึง "ไร่มะยงชิด" ของคุณเล็ก ขณะที่รถวิ่งเข้าไปในเขตไร่ส่วนตัว เห็นคนงานกำลังเก็บวิ่งไม้ขึ้นรถพอดี หลวงพี่จึงเข้าไปสอบถาม คนงานคนหนึ่งจึงได้เดินนำขึ้นไปบนเขาแถวนี้ ซึ่งอยู่สูงไม่มากนัก พร้อมกับบอกเล่าข้อมูลพอสมควร


เมื่อเดินขึ้นไปได้ประมาณ 5-6 นาที คนงานก็ชี้ไปที่ก้อนหินก้อนหนึ่ง พวกเราเข้าไปเห็นเป็นรอยลึกเข้าไปในหิน คล้ายกับที่เคยเห็นที่อื่นมาก่อน แต่เพื่อความมั่นใจ หลวงพี่ได้อธิษฐานเสี่ยงทาย


ปรากฏว่าเป็นรอยที่ไปและกลับ 2 รอย คล้ายกับเป็นรอยเบื้องขวา พวกเราได้พยายามถ่ายรูปให้ได้หลายมุม ซึ่งพอจะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น


ที่ดินบริเวณนี้ ส่วนใหญ่เป็นโขดหินทั้งสิ้น เป็นไร่ส่วนตัวของคุณเล็ก ได้ปลูกบ้านพักไว้ด้านใน บังเอิญวันที่พวกเราไปถึงเป็นวันเสาร์ คุณเล็กได้เดินทางมาจากกรุงเทพฯ พอดี คนงานได้โทรศัพท์แจ้งให้คุณเล็กทราบก่อนแล้ว


หลวงพี่ได้ทำพิธีบวงสรวงสรงน้ำหอมโปรยดอกไม้ เพราะมั่นใจว่าเป็นรอยพระพุทธบาทแน่นอน โดยเฉพาะเจ้าของไร่ก็มีความเชื่อถือ และมีความศรัทธาเช่นกัน โดยเฉพาะภรรยาของคุณเล็กได้อธิษฐาน แล้วก็ได้สมความปรารถนาทุกประการ


หลังจากทำพิธีกราบไหว้บูชาเสร็จแล้ว หลวงพี่ได้ไปสนทนากับคุณสุรพลที่บ้านพัก ซึ่งแต่เดิมเจ้าของบ้านก็ไม่ค่อยเชื่อถือเท่าใดนัก แต่เมื่อได้ประสบกับเหตุการณ์หลายอย่าง จึงทำให้มีความศรัทธายิ่งขึ้น หลวงพี่ได้แนะนำในการรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิมๆ แบบนี้ แล้วก็ลาเจ้าของบ้านออกเดินทางต่อไป.



วันที่ 7 มีนาคม 2553 (สระบุรี - แม่สอด)

3. วัดถ้ำรัตนบุปผา อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี
- หล่อพระพุทธรูปทันใจหน้าตัก ๔ ศอก "สมเด็จองค์ปฐมปางพระเจ้าจักรพรรดิ" ด้วยปูนปั้นพร้อมหล่อพระเกศด้วยโลหะ
- เริ่มพิธีบวงสรวงตั้งแต่เวลา ๙.๑๕ น. โดย หลวงพี่ชัยวัฒน์ และ หลวงน้าสุรพงษ์ เจ้าอาวาส เสร็จแล้วเข้าแถวเทปูนหล่อพระพุทธรูปแล้วเสร็จก่อนเพล ชมรายละเอียดได้ คลิกที่นี่
หลังจากเสร็จพิธีหล่อ "หลวงพ่อทันใจ" เสร็จแล้ว หลวงพี่ได้เดินทางขึ้นเหนือทันที เนื่องจากท่านมีรายการตกค้างมาจากประเทศพม่า หลังจากที่ท่านได้เดินทางไปตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. - 2 มี.ค. 2553 แต่ยังมีสถานที่ตกค้างอีก 2 แห่ง คือ พระเจดีย์มอระอิ และ พระเจดีย์มอระอะ (หรือมอระเอะ) ซึ่งจะต้องเข้าทาง ต.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก

4. วัดเกาะรากเสียดนอก ต.เพชรชมภู อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร (ไม่ได้ถ่ายภาพ)
ในระหว่างทางได้แวะร่วมทำบุญสร้างพระหน้าตัก 7 ศอก ณ วัดเกาะรากเสียดนอก จำนวนเงิน 2,200 บาท แล้วเดินทางไปพักค้างคืนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก



วันที่ 8 มีนาคม 2553 (แม่สอด - พบพระ)

5. วัดหลวง ต.แม่ปะ อ. แม่สอด จ.ตาก

ในตอนเช้า หลวงพี่ได้เข้าไปสอบถามในตลาด แต่ก็ไม่มีใครรู้จักพระเจดีย์ทั้งแห่งนี้ หลวงพี่จึงตัดสินใจบอกให้ขับรถเข้าไปในวัดหลวง เผื่อว่าพระอาจจะรู้เรื่องนี้ก็ได้ ในขณะที่เข้าไปเห็นช่างกำลังสร้างศาลา "พระอุปคุต" พวกเราจึงร่วมทำบุญเป็นเงิน 500 บาท พร้อมกับสอบถามโยมและพระภายในวัดก็ไม่มีใครรู้เรื่อง

ในขณะนั้น มีคุณลุงคนหนึ่งขับรถเครื่องเข้ามาพอดี พวกเราเรียกว่า "ลุงโซ" พอหลวงพี่ถามคำว่า "เจดีย์มอระอิ -มอระอะ" เคยไปไหม ปรากฏว่าแกพยักหน้า บอกว่ารู้จักและได้ยินชื่อนี้มาตั้งแต่เด็กๆ พวกเราถึงกับดีใจยิ้มได้ นึกว่าจะหมดหวังเสียแล้ว หลวงพี่จึงได้ชักชวนให้ช่วยนำทาง ลุงโซบอกว่าต้องไปสืบหาที่ บ้านหมื่นฤาชัย ต.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก

6. วัดหมื่นฤาชัย บ้านหมื่นฤาชัย ต.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก
- ทำบุญสร้างศาลา ซ่อมหลังคาวัด ๒,๐๐๐ บาท
- ถวายเครื่องสังฆทาน และถวายส่วนองค์พระในวัด ๓ รูปรวม ๘๐๐ บาท


(ภาพจาก : img234.imageshack.us)


ลุงโซได้นำพวกเราเดินทางไปที่พบพระ (เดิมเรียก "เพอะพะ")โดยเลี้ยวรถเข้าไปทางขวาคือ " บ้านหมื่นฤาชัย " โดยแวะตรวจที่ด่านทหารก่อน แล้วจึงเข้าไปที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งนี้ รถวิ่งเข้าไปภายในวัด ตรงไปที่ศาลาเก่าๆ หลังหนึ่ง ซึ่งกำลังรื้อหลังคาเพื่อเปลี่ยนใหม่

ภายในวัดมีพระ 3 รูป และมีชายชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งกำลังนั่งอยู่ ซึ่งเป็นคนที่ลุงโซต้องการพบพอดี ปรากฏว่าลุงกะเหรี่ยงคนนี้เคยบวชพระเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้มาก่อน แต่เวลานี้ได้สึกไปนานแล้ว และเคยไปที่ "เจดีย์มอระอิ -มอระอะ" มาแล้วด้วย

นับว่าโชคดีที่มาถึงก็ได้พบคนที่รู้หนทางไปพอดี แต่ลุงกะเหรี่ยงคนนี้บอกว่า ถ้าจะเดินทางไปวันนี้คงไม่ทัน เพราะหนทางไกลและไปลำบากมาก เพราะพระเจดีย์สององค์นี้อยู่บนเขาสูงในเขตประเทศพม่า พวกเราได้ยินก็ยังไม่ย่อท้อ พยายามสอบถามการหาเช่ารถโฟร์วินฝั่งพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ "บ้านหมื่นฤาชัย" นี้ จากชาวบ้านที่อยู่ข้างวัดด้วย


แต่ก่อนที่จะข้ามไปหารถฝั่งโน้น ซึ่งมีแม่น้ำเมยเป็นเขตแดน พวกเราได้ทำบุญถวายสังฆทานกันก่อน และถวายปัจจัยร่วมซ่อมหลังคาศาลาวัด พร้อมกับถวายส่วนองค์รวม 1,800 บาท จากนั้นได้นำรถไปฝากจอดไว้ที่ด่านทหารริมแม่น้ำเมย พวกเราสามารถเดินข้ามแม่น้ำไปได้ โดยมีหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดบ้านหมื่นฤาชัยพร้อมกับ "ลุงโซ" เดินนำไปด้วย


พวกเราเดินข้ามฝั่งไปที่ร้านค้าฝั่งพม่า แต่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นเขตรับผิดชอบของ "ชาวมอญ" หลังจากได้เดินไปที่ร้านค้าชาวมอญริมถนนแล้ว จึงได้ติดต่อหารถปิคอัพโฟร์วิลได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเขาคิดค่าเช่าต่อวัน 5,000 บาท โดยนัดให้รถไปรอที่ "บ้านวาเลย์" ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งอยู่เลย "บ้านพบพระ" ไปอีก 12 ก.ม. ต่อจากนั้นพวกเราจึงนั่งรถอีแต๋นข้ามแม่น้ำกลับมาฝั่งไทย


พวกเราได้ขับรถเข้ามาส่งเจ้าอาวาสที่วัดบ้านหมื่นฤาชัย ก่อนจะกลับหลวงพี่ได้ถวายกระเช้าสังฆทานที่ "เจ๊รัตนา" ถวายมาจากวัดถ้ำรัตนบุปผา จ.สระบุรี แก่หลวงพ่อ พร้อมกับปัจจัยเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท (รวมทั้งสิ้น 2,800 บาท) ซึ่งจะมองเห็นศาลาไม้หลังเก่าๆ นี้ ที่พวกเราได้ร่วมทำบุญซ่อมหลังคาใหม่ด้วย

จากนั้นเดินทางไปที่ "บ้านวาเลย์" อยู่ห่างไปอีก 12 ก.ม. เพื่อเดินข้ามสะพานไปฝั่งพม่า แต่ก็ยังเป็นเขตกะเหรี่ยง เพื่อลองหารถเช่าอีกแห่งหนึ่ง แต่เมื่อเดินข้ามไปถามแล้ว ปรากฏว่าแพงกว่าเดิม จึงเดินกลับเข้ามาในเขตไทยอีก แล้วเดินทางกลับมาที่แม่สอดอีก เพื่อเตรียมตัวเดินทางในวันรุ่งขึ้น.


webmaster - 24/4/10 at 16:27

วันที่ 9 มีนาคม 2553 (แม่สอด - บ้านวาเลย์ - บ้านกุ๊ยตะโฮ พม่า)

7. พระเจดีย์มอระอิ บ้านกุ๊ยตะโฮ ต.ตะนอทะ เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมาร์

ตอนเช้าวันนี้ "ลุงโซ" หรือ นายติ่นซู เขาวิลาส ผู้แสนดี ถึงแม้จะรู้จักกันโดยบังเอิญเมื่อวานนี้ แต่ก็มีน้ำใจจัดเตรียมอาหารให้พร้อม มีทั้งข้าวสวยและข้าวเหนียว อีกทั้งน้ำพริกที่คุณลุงตำเอง พร้อมด้วยกับข้าวอื่นๆ และน้ำดื่ม ออกเดินทางจากแม่สอดแต่เช้ามืดสู่ "บ้านแม่วาเลย์" อ.พบพระ จ.ตาก

เริ่มออกเดินทางไปตามถนนสายแม่สอด - อุ้มผาง แต่ระหว่างทางต้องเลี้ยวขวาเข้าพบพระ แล้วขับเลยไปทางบ้านวาเลย์ แวะทานข้าวเช้าที่หน้าร้านขายของริมชายแดน เสร็จแล้วเดินหิ้วของข้ามสะพานเล็กๆ โยกเยก ซึ่งเป็นคลองเล็กๆ แต่น้ำแห้ง กว้างประมาณ 5 เมตรเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า

เวลาประมาณ 7.00 น. ตามเวลาที่นัดไว้กับรถปิ๊กอัพที่เช่าไว้ โดยเจ้าของรถเป็นชาวกะเหรี่ยงสัญชาติไทย ชื่อ "มานพ" ชื่อกะเหรียงว่า "ตีมิ" ก็ได้เดินข้ามสะพานมารับพวกเราตามนัด สิ่งของที่เตรียมไปก็มีเสบียงอาหารกลางวัน, ขวดน้ำดื่ม, เครื่องบูชามีผ้าสีทองและดอกไม้บูชา เป็นต้น

เมื่อเดินหิ้วของมาถึงรถปิ๊กอัพแล้ว ซึ่งเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อติดแอร์ ก็รีบวิ่งออกไปด้วยความรวดเร็วตามถนนลูกรังกว้างพอสมควร ผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงอยู่สองข้างทาง ขณะที่ผ่านมาถึงค่ายทหาร "กะเหรี่ยงพุทธ" เวลาที่ผ่านป้อมยามทหาร คนขับรถต้องเปิดกระจกลง เพื่อให้ทหารสามารถมองเห็นคนที่นั่งอยู่ภายในรถได้ เป็นการช่วยให้ประหยัดเวลา ไม่ต้องจอดรถให้ตรวจดูคนที่อยู่ภายในรถ

รถวิ่งไปตามป่าเขาตลอดเส้นทาง จะหาบ้านคนสักหลังก็ไม่มี โชคดีที่ทหารกะเหรี่ยงพุทธเกรดทางลูกรังไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นหน้าแล้งฝนยังไม่ตก ถนนจึงขรุขระไม่มากนัก หลวงพี่ชัยวัฒน์ดีใจมาก ท่านได้พูดไปในระหว่างนั่งรถว่า นึกไม่ถึงว่าจะมาถึงจนได้ ความจริงท่านเพียงแค่มาหาข้อมูลเท่านั้นเอง โดยได้ทราบจาก พระสุวรรณ สุวัณโณ พระภิกษุชาวมอญ (ได้เดินทางมาศึกษาปริญญาตรีที่มหาจุฬา) ซึ่งเป็นผู้นำทางหลวงพี่ไปไหว้พระเจดีย์ที่ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2553

ท่านได้แปลจากตำนานมอญว่า ตามประวัติเล่าว่าใน "รัฐมอญ" มีพระเกศาธาตุ (ชาวมอญเรียกว่า "ธาตุศก") จำนวน 15 แห่ง ในจำนวนนั้น "ฤาษีกัปปะ" ได้นำพระเกศาธาตุไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์มอระอิ 1 เส้น และ "ฤาษีนารทะ" อัญเชิญพระเกศาธาตุ 1 เส้น ไปบรรจุไว้ที่มอระอะเจดีย์ บนภูเขาชื่อ "อะโรนะเทนโปดอพญา" เมื่อปี พ.ศ. 114

ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่ท่านเดินทางไปประเทศพม่า ท่านและหลวงพี่สุวรรณพยายามสืบหาเจดีย์ทั้งสองแห่งนี้ตลอดเวลา จนกระทั่งได้ไปพบชาวเมียวดีสองสามีภรรยาที่เดินทางไปไหว้พระเจดีย์ที่ "อินดอว์ยี" เมืองมิจิน่า ประเทศพม่า ขณะนั่งรถบัสคันเดียวกัน บอกว่าเคยไปไหว้พระเจดีย์มอระอิมาแล้ว แต่ต้องไปเข้าที่บ้านพบพระ จ.ตาก หลวงพี่จึงได้ชวนพวกเรามาด้วยในครั้งนี้


รถวิ่งไปตามไหล่เขาได้ประมาณ 1 ชั่วโมง จึงจะถึง "บ้านกุ๊ยตะโฮ" ต.ตะนอทะ เมืองเมียวดี ช่วงนี้เจ้าของรถบอกว่าจะต้องหาเช่ารถชาวกะเหรี่ยงที่นี่ขึ้นเขาอีกต่อหนึ่ง แต่ทว่ารถคันนั้นได้วิ่งขึ้นเขาไปตั้งแต่เช้าแล้ว ในระหว่างนี้ หลวงพี่และพวกเราเดินลงทักทายกับทหารกะเหรี่ยงและชาวบ้านที่ยืนอยู่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นเขาสูงชัน

ด้วยเหตุที่ไม่มีรถเช่าขึ้นเขาอีกต่อหนึ่ง โชเฟอร์ของเราจำต้องนำรถของตนเองขึ้นเขาทันที รถได้วิ่งเข้าป่าลึกไปอีก จนกระทั่งถึงลำธารแห่งหนึ่งเห็นมีรถวิ่งสวนมา (เป็นรถคันเดียวที่เราจะเช่าต่อนั่นเอง) จึงหยุดรถทักทายกันแล้วเดินลงไปวักน้ำล้างหน้ากัน เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเมื่อย หลังจากนั่งรถนานพอสมควร ตามภาพจะเห็นถนนที่ขรุขระไปตามที่เชิงเขา ซึ่งเป็นหนทางที่พวกเราจะต้องลำบากไปยิ่งกว่านี้ คือการขึ้นเขาสูงชันที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ


รถโฟว์วิลคันเดิมได้วิ่งขึ้นเขาแล้วขึ้นเขาเล่า หลังจาก "คุณมานพ" โชเฟอร์ชาวกะเหรี่ยงคนนี้ ได้ลงไปเซ่นไหว้เจ้าที่ตามประเพณีการเดินป่า จะต้องไหว้เจ้าที่เจ้าทางกันก่อนที่ซุ้มเล็กๆ ข้างทาง ในตอนนี้มองเห็นก้อนอิฐวางกองไว้และปูนซิเมนต์หลายถุงระเกะระกะอยู่เชิงเขาเต็มไปหมด มีคุณมานพบอกว่าข้างบนกำลังสร้างศาลาหลังใหญ่ หลวงพี่จึงขอให้พวกเราช่วยกันขนอิฐและปูนซิเมนต์ขึ้นรถเอาบุญทันที โดยมีลุงโซนั่งคอยดูอยู่ข้างหลัง


ในขณะนี้ รถได้วิ่งขึ้นเขาไปอย่างรวดเร็ว ทำเอาพวกเราใจหายใจคว่ำ เพราะการขับเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปมาอย่างชำนิชำนาญ นับเป็นเวลาชั่วโมงกว่าๆ จนกระทั่งมองเห็นยอดพระเจดีย์สีขาว "มอระอิ" อยู่บนภูเขาสูง และมองเห็นยอดภูเขาที่ไกลไปอีกลูกหนึ่ง ซึ่งคุณมานพบอกว่านั่นแหละคือ "มอระอะ" ที่พวกเราถามหา


แต่ทว่าไม่สามารถไปได้ เพราะอยู่ไกลกว่า "พระเจดีย์มอระอิ" มาก จะต้องออกทางชายแดนอุ้มผาง แล้วเข้าทาง "ค่ายทหารกะเหรี่ยงคริสต์" ซึ่งเวลานี้ยังไม่ปลอดภัย จึงไม่สามารถจะไปได้ คงได้แต่มองดูเมฆหมอกที่ล้อมรอบเหลือแต่ยอดสุดเท่านั้น ในขณะที่ยืนพักรถอยู่ท่ามกลางภูเขาสูงที่ผ่านมาหลายสิบลูกแล้ว

หลังจากจอดรถถ่ายรูปบนยอดภูเขาสูงกันแล้ว แต่ก็ยังต้องนั่งรถกันต่อไป คราวนี้ต้องวิ่งไปตามเส้นทางบนสันเขา บางช่วงก็เห็นชาวกะเหรี่ยงกำลังเดินลงมาจากยอดเขา บางช่วงก็จะมีการถอยรถขึ้นเขาและถอยรถลงเขาด้วย โชคดีว่าได้คนขับรถที่มีความชำนาญในเส้นทาง แต่แกบอกว่าเคยขับรถเกือบจะชนกันมาแล้วเหมือนกัน โชคดีที่เบรคทันห่างกันแค่คืบเดียวเท่านั้น พวกเราฟังแล้วใจหาย..ว๊าบ !

เหตุที่ต้องขับรถถอยหลังเช่นนี้ เป็นเพราะว่าเป็นทางโค้งที่หักศอก (อย่างแรง) นั่นเอง จึงต้องถอยหลังรถขึ้นไปก่อน นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตจริงๆ ที่ทหารกะเหรี่ยงพุทธใช้รถแบ็คโคตัดถนน ด้วยการตัดผ่ากลางเขาขึ้นทุกลูกนั่นเอง (ไม่ได้ตัดถนนแบบทั่วไป คืออ้อมไปอ้อมมา) แต่นี่แกตัดถนนขึ้นไปตรงๆ โชเฟอร์เล่าว่า ทหารกะเหรี่ยงกำลังจะตัดถนนใหม่ ด้วยการอ้อมเขาไปมาแบบสากลที่เขาทำถนนทั่วไป


ตามภาพที่เห็นในตอนนี้ รถได้วิ่งขึ้นมาถึงยอดเขามอระอิ (เกือบสูงสุด) แล้ว มองเห็นศาลาหลังใหญ่ที่เจ้าอาวาสพร้อมกับทหารกะเหรี่ยงกำลังสร้างค้างอยู่ มีศาลาหลังเล็กๆ อยู่ข้างทาง เจ้าหน้าที่ได้นิมนต์หลวงพี่ขึ้นไปพักและถวายเครื่องดื่ม ส่วนโชเฟอร์ของเราไปทานอาหารที่ด้านหลัง ซึ่งเป็นโรงทานเลี้ยงฟรีให้แก่ผู้ที่ขึ้นไปไหว้พระเจดีย์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและศักดิ์สิทธิ์ของชาวกะเหรี่ยงในเขตนี้มาแต่โบราณกาล


ในขณะนี้ มีชาวกะเหรี่ยงที่ขึ้นมาก่อนและพระภิกษุสามเณรกำลังเดินขึ้นเดินลงมาจากยอดเขาหลายองค์ ชาวบ้านหญิงชายหลายคนที่ขึ้นมาไหว้พระเจดีย์แล้ว บางคนก็ช่วยขนอิฐขนปูนลงจากรถของเรา พวกเราลงเดินยืดเส้นยืดสาย นับเป็นเวลาชั่วโมงครึ่ง คือเริ่มเดินทางตั้งแต่ 7.00 น. จนถึงบนยอดเขาเวลา 9.30 น.

เมื่อเดินขึ้นไปบนศาลาจะมองเห็นรูปภาพที่แขวนอยู่ ซึ่งเป็นงานพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างศาลาที่ผ่านมา โดยระหว่างนายทหารกะเหรี่ยงพุทธกับเจ้าอาวาสวัดนี้ เมื่อเข้าไปถามเจ้าหน้าที่เขาบอกว่า เจ้าอาวาสป่วยไม่สบายไปโรงพยาบาล


หลังจากเตรียมเครื่องบูชาและอาหารเพลสำหรับหลวงพี่แล้ว จึงเดินขึ้นไปด้านหลังศาลาที่กำลังสร้างอยู่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของการไหว้ ก่อนจะขึ้นเขาไปไหว้พระเจดีย์มอระอิ ซึ่งอยู่บนยอดเขาสูงขึ้นไปอีกนั้น จะต้องไปเซ่นไหว้เจ้าที่ก่อน ภายในศาลาเล็กๆ หลังนี้จะเห็นมีรูปปั้นพระฤาษีและเทวดาผู้รักษาพื้นที่นี้ หลังจากพวกเราไหว้เจ้าที่เสร็จแล้ว หลวงพี่ก็เริ่มเดินนำไปขึ้นได้พบกับพระชาวกะเหรี่ยงรูปใดที่สวนทางมา ท่านจะถวายปัจจัยองค์ละ 100 บาท พร้อมย่ามทันทีทุกรูป (คุณหลี-คุณก๊วยเจ๋ง เป็นผู้ถวายย่าม)

>

ต่อจากนั้นพวกเราได้เดินขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ท่ามกลางท้องฟ้าที่มีสีน้ำเงินบริสุทธิ์สดใสจริงๆ ปราศจากเมฆหมอกให้หมองมัวเหมือนข้างล่าง ระหว่างทางก็ได้ทำบุญกับพระเณรที่เดินสวนทางกันไป จนกระทั่งพบกับกลุ่มชาวบ้านที่นำเด็กๆ เดินขึ้นไปไหว้พระเจดีย์เช่นกัน บนยอดเขาแห่งนี้มีพระเจดีย์ 2 แห่ง แห่งละ 2 องค์ อยู่ใกล้กัน


เมื่อเดินขึ้นไปเรื่อยๆ อากาศหายใจเริ่มน้อยลง หัวใจเต้นแรง ทุกคนเหนื่อยหอบ ส่วนตาก็แหงนมองขึ้นไปบนยอดเขาสูงสุด ซึ่งจะเห็น "พระเจดีย์มอระอิ" อยู่บนยอดเขาสูงสุดมีเจดีย์ 2 องค์ องค์เล็กกว่าจะบรรจุพระเกศาธาตุ และห้ามผู้หญิงขึ้นมาโดยเด็ดขาด เพราะจะเกิดอาเพศ คือน้ำที่เชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำทิพย์จะแห้งเหือดไปทันที (บ่อน้ำทิพย์อยู่ข้างล่าง) ต้องทำพิธีขอขมากันหลายครั้งแล้ว


เพราะฉะนั้น เขาจึงสร้างพระเจดีย์ใหม่ไว้อีก 2 องค์ (ก่อนที่จะถึงเจดีย์บนสูงสุด) เพื่อสำหรับให้ผู้หญิงจะได้กราบไหว้ ซึ่งอยู่ด้านล่างต่ำลงมาหน่อยหนึ่ง โดย มีประเพณีว่าผู้หญิงห้ามทำอะไรเลย ต้องให้ผู้ชายทำให้ทุกอย่าง และเมื่อขึ้นมาบนนี้ ทุกคนต้องรักษาศีลกินเจทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยสืบประเพณีเช่นนี้มาแต่โบราณแล้ว




ภาพนี้ได้เดินขึ้นมาบนยอดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะมองเห็นพระเจดีย์ที่อยู่ด้านล่าง พวกเราที่เป็นผู้หญิงจึงต้องรออยู่ที่นี่ หลวงพี่ก็ได้ขึ้นไปห่มผ้าสไบทองทั้งสององค์ โดยมี "ลุงโซ" ที่ขึ้นไปรออยู่ก่อนแล้วพร้อมกับ "คุณมานพ" โชเฟอร์ของเรา หลวงพี่ได้ให้เขาช่วยอ่านคำจารึกที่ฐานพระเจดีย์ ทราบว่า "พระเจดีย์มอระอิ" ยกฉัตรเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1154 (พ.ศ.1697)


คุณมานพได้เล่าตามตำนานพื้นบ้านว่า สมัยก่อนมีชาวกะเหรี่ยงชื่อว่า "แสะพอ" เป็นคนมีฐานะดีแถวนี้ คือมีช้างเป็นพันเชือก ซึ่งเป็นผู้สร้าง "พระเจดีย์ทอง" ที่เมืองเมียวดี และเป็นผู้ขึ้นมาบูรณะพระเจดีย์มอระอิทั้งสี่องค์นี้ นับเป็นเวลา ๑๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว แต่เดิมเป็นเจดีย์ไม้เล็กๆ เท่านั้น


หลังจากห่มผ้าสีทองและคุณสำราญจัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนจัด พร้อมกับจัดที่นั่งให้หลวงพี่เสร็จแล้ว จึงเปิดเทปบวงสรวงอัญเชิญเสียงหลวง แล้วปิดทองสรงน้ำด้วยน้ำอบไทยและโปรยดอกไม้โดยรอบ ท่ามกลางบรรยากาศที่สดใส มองเห็นพระเจดีย์มอระอะแต่ไกล แต่ก็ไม่ค่อยเห็นชัดแล้ว เพราะเมฆหมอกเข้ามาปกคลุมยอดสุดแล้ว น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นพุทธบารมีที่พวกเราได้มองเห็นตั้งแต่เดินทางขึ้นมาแล้ว



ถ้ามองลงไปจากยอดเขา จะมองเห็นพี่มายินนั่งกางร่มอยู่ข้างพระเจดีย์ 2 องค์อยู่เบื้องล่าง บอกว่าได้ยินเสียงหลวงพ่อบวงสรวงได้เป็นอย่างดี ทั้งได้บูชาพระรัตนตรัยและอธิษฐานกราบไหว้พระเกศาธาตุ รวมทั้งส่งจิตไปกราบไหว้ "พระเจดีย์มอระอะ" ที่อยู่ห่างไกลนี้อีกด้วย เรียกว่าได้กราบไหว้ "พระเกศาธาตุ" ครบถ้วนทั้งสองแห่งนั่นเอง




หลังจากเสร็จพิธีที่ได้อธิษฐานเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งสองประเทศเขตแดน และความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาตลอดห้าพันปีแล้ว หลวงพี่ได้สั่งบุ๋มให้ถ่ายภาพทุกมุมขององค์พระเจดีย์ด้วย เพราะโอกาสจะขึ้นมานั้นแสนยากจริงๆ ซึ่งจะมองเห็นว่ายอดพระเจดีย์แห่งนี้ เป็นยอดสูงสุดจริงๆ โดยมีทิวเขาเห็นอยู่ลิบๆ เบื้องล่างมากมาย


ภายหลังจากเดินทางกลับกันมาแล้ว ลูกจ้างที่มาทำงานในร้านอาหารพี่มายินเล่าว่า บ้านของเธอก็อยู่แถวนั้น สามารถเดินขึ้นมาจาก "บ้านจ่งโด" ทางด้านโน้นได้เหมือนกัน ตามรูปภาพจะมองเห็นอยู่ไกลลิบนั่นเอง แต่เธอก็บอกว่าได้มายินชื่อพระเจดีย์แห่งนี้มานานแล้วเช่นกัน และมีคำเล่าลือตรงกันว่า "ถ้าผู้หญิงคนไหนขึ้นไปแล้ว จะทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่จะไปตักน้ำ จะต้องให้ผู้ชายทำให้หมด" เธอเรียกว่า "พระเจดีย์มอระอิ - มอระเอ๊ะ" ซึ่งในชีวิตนี้เธอตั้งใจไว้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่ก็ยังไม่มีโอกาสขึ้นไปเลย


ในตอนนี้ หลวงพี่เดินลงไปที่พระเจดีย์ของผู้หญิงสร้างแล้ว ส่วนบุ๋มยังอยู่ข้างบน ท่านบอกให้ถ่ายรูปไว้ด้วย สำหรับภาพต่อมาเป็นภาพถ่ายระยะไกล จะมองเห็นเส้นทางที่จะเดินกลับยาวเหยียดลงไป

>

ด้านข้างมีรูปปั้นเทวดาทั้งสี่ทิศยืนอยู่ที่เสาหงส์ ได้ถ่ายภาพพระเจดีย์ผู้หญิงสร้างไว้ในระยะใกล้ ก่อนที่จะเดินลงไปจัดอาหารเพลถวายหลวงพี่กันต่อไป


บริเวณตรงทางขึ้นเขานี้ มีกุฏิหลังเล็กๆ อยู่ข้างทาง พวกเราได้จัดอาหารเพลถวายหลวงพี่ ในขณะที่ท่านนั่งฉันบนฟากหลังกุฏิ พวกเราได้เดินย้อนขึ้นไปห่มผ้าสีทองที่พระเจดีย์ผู้หญิงสร้างทั้งสององค์ จากนั้นเดินลงมาทานอาหารกลางวันที่ข้างล่าง.


หากเดินลงมาจากยอด เหลียวมองย้อนไปทางข้างยอดเขา จะรู้สึกแปลกใจที่มองเห็นดอกไม้ป่าบานเบ่งอยู่ทั่วไป จะมีเฉพาะบริเวณยอดดอยพระเจดีย์เท่านั้น เหมือนธรรมชาติจะสร้างสรรไว้เพื่อบูชาพระเกศาธาตุฉะนั้น



หลังจากนั้นก็เดินลงมาที่รถจอดอยู่ มีนายทหารกะเหรี่ยงยศพันโทอยู่แถวนั้น คุณมานพบอกว่าเป็นญาติกัน หลวงพี่อยากจะทำบุญอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ได้ทำบุญใส่ตู้ที่ศาลาไปแล้ว จึงได้มอบเงินให้นายทหารผู้นั้น 3,000 บาท ส่วนเงินที่พวกเราใส่ตู้ รวม 2,000 บาท และที่ทำบุญใส่ตู้บูรณะพระเจดีย์บนยอดเขา 2,200 บาท ถวายปัจจัยพระ 5 รูป รวม 500 บาท หลวงพี่แจกเงินให้เด็กที่พบกันในระหว่างทางอีก 300 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,000 บาท

ก่อนจะกลับก็มีทหารกะเหรี่ยงนำสมุนไพรป่ายาดองมาถวายหลวงพี่ขวดหนึ่งด้วย บอกว่าช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น คิดว่าชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้คงจะปลื้มใจเหมือนพวเรา โดยเฉพาะหลวงพี่ได้เดินทางเข้ามาในเขตนี้ เสมือนกับท่านได้มาทำหน้าที่เป็นศาสนสัมพันธ์ เพื่อเป็นการเชื่อมต่อความสัมพันธไมตรีอย่างดียิ่ง ในเขต "กะเหรี่ยงพุทธ" ที่อยู่ในดินแดนประเทศเมียนม่าร์แห่งนี้ เพื่อให้สืบต่อยิ่งยืนยาวนานตลอดกาลห้าพันปีนั้นเทอญฯ



8. รอยพระพุทธบาทตะนอทะ วัดตะนอทะ บ้านตะนอทะ เมืองเมียวดี พม่า
- พบพระไทย ๙ รูป จะขึ้นไปพระเจดีย์มอระอิ จึงได้ทำบุญถวายย่ามและเงินรวม ๒,๕๐๐ บาท
- สรงน้ำปิดทองห่มผ้าบูชารอยพระพุทธบาท


ในตอนบ่าย หลวงพี่เดินทางลงจากยอดเขา ผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงกุ๊ยตะโฮ แล้วเลี้ยวไปที่ วัดตะนอทะ อยู่ข้างหมู่บ้าน รถวิ่งไปจอดที่หน้าพระเจดีย์ โดยมีศาลาหลังใหญ่อยู่ด้านข้าง คุณมานพได้พาหลวงพี่ไปที่ลำธารข้างศาลาวัด มีกระแสน้ำไหลเย็น เดินไปที่ก้อนหินก้อนหนึ่ง ซึ่งมีพระชาวไทย 2 รูปกำลังสรงน้ำอยู่พอดี


คุณมานพบอกว่าตนเคยเห็นรอยพระพุทธบาทที่นี่มานานแล้ว แต่ก่อนรอยชัดเจนมาก ปัจจุบันนี้แทบจะมองไม่ค่อยเห็น แต่ก็มีริ้วรอยยังหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งหลวงพี่บอกว่ารอยหายไปเยอะแล้ว ไม่สามารถจะนับลงลำดับในรอยพระพุทธบาททั่วประเทศได้ จึงได้แต่กราบไหว้บูชาตามข้อมูลที่บอกเล่าไว้ ปรากฏว่าหลังจากเล่าให้ฟังแล้ว พวกเราก็มองไม่เห็นคุณมานพอีกเลย จนกระทั่งมองลงไปในลำธารด้านหนึ่ง เห็นคุณมานพลงไปอาบน้ำซะแล้ว


ต่อมาพระภิกษุ 2 รูปบอกว่า ท่านเพิ่งจะเดินทางมาถึงพร้อมกับเพื่อนพระภิกษุอีก 7 รูป ซึ่งกำลังพักผ่อนอยู่ในศาลา เพื่อรอรถที่จะมารับขึ้นไปบนยอดเขามอระอิ เพื่อนำเครื่องปั๊มน้ำและสายยางขึ้นไปถวาย


หลังจากได้กราบไหว้รอยพระพุทธบาทกันแล้ว จึงได้เดินขึ้นไปที่ศาลา หลวงพี่ได้ถวายปัจจัยพร้อมกับย่ามแด่พระภิกษุ 9 รูปที่เดินทางมาจากภาคอิสาน ถวายส่วนองค์และเป็นค่าเครื่องปั๊มน้ำด้วย รวมเป็นเงิน 2,500 บาท ซึ่งเป็นเวลาที่รถปิ๊คอัพมารับพอดี นับว่าพวกเราโชคดีที่ได้ร่วมทำบุญปิดท้ายรายการในครั้งนี้ด้วย

จากนั้นจึงเดินทางกลับมาส่งคุณลุงโซที่แม่สอด หลวงพี่ได้มอบ "พระยืนประทับพระบาท" 1 องค์ ส่วนลุงโซก็เดินเข้าไปในบ้าน หยิบเอาลูกประคำลูกปัดมาถวายหลวงพี่ 1 เส้นเป็นที่ระลึกอีกด้วย แล้วก็ลาผู้ร่วมเดินทางที่แสนดี เหมือนกับญาติสาโลหิตในปางก่อน เพื่อออกเดินทางต่อไป

รวมยอดเงินทำบุญ 10,500 บาท ค่าเช่ารถ 5,000 บาท โดยมีลุงโซร่วมถวายด้วยอีก 1,000 บาท



9. วัดหนองบัวบูรพา ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ. ตาก (ไม่มีภาพ)
- ในระหว่างเดินทาง หลวงพี่เห็นมีป้ายจึงได้แวะเข้าไปทำบุญสร้างพระเจดีย์ หอระฆัง เมรุ พระพุทธรูป ๑,๕๐๐ บาท
- ทำบุญสร้างฉัตร ๕๐๐ บาท
รวมเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท

10. พระธาตุดอยหัวฝาย อ.แม่สอด จ. ตาก (ไม่มีภาพ)
- ร่วมทำบุญสร้างพระธาตุ ๒,๐๐๐ บาท

11. พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ. ตาก (ไม่มีภาพ)
- ทำบุญร่วมสร้างพระธาตุ ๒,๐๐๐ บาท



วันที่ 10 มีนาคม 2553 (ตาก - ลำปาง - เชียงใหม่)

12. วัดบ้านผึ้งนาเกลือ หมู่ ๕ ต.วังพร้าว อ.เกาะคา จ.ลำปาง
- สร้างพระธาตุทันใจสูง ๑๙ เมตร ให้แล้วเสร็จใน ๙ เดือน และหล่อพระพุทธรูปสูง 9 เมตร เสร็จในวันเดียว
- ร่วมทำบุญ ๑ กอง ๒,๙๙๙ บาท
- ทำพิธีตอกไม้มงคลที่เสาเอกพร้อมกับถ่ายรูปกับพระอาจารย์ที่เป็นผู้ดำเนินการ


วันนี้นับเป็นวันที่สี่ของการเดินทาง ในระหว่างเดินทาง หลวงพี่ได้แวะทำบุญหลายแห่ง ด้วยเหตุที่ทางวัดเขียนป้ายไว้ จึงทำให้รู้ว่าที่ไหนทำบุญอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะสถานที่แห่งนี้เช่นกัน หลวงพี่ต้องบอกให้เลี้ยวรถเข้าไปอีก จอดรถแล้วมองเห็นทางวัดกำลังจัดเตรียมสถานที่ จึงเดินผ่านซุ้มข้ามสะพานไป ซึ่งจะมองเห็นต้นไม้ใหญ่มีไม้ค้ำอยู่ตามกิ่งมากมาย ตามประเพณีของชาวเหนือ


ท่านอาจารย์ได้ต้อนรับหลวงพี่ แล้วเล่าวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างพระธาตุทันใจ พร้อมกับจะจัดพิธีหล่อพระพุทธรูปในเดือนธันวาคมนี้อีกด้วย



หลวงพี่ได้ร่วมทำบุญ 1 กอง เป็นเงิน 2,999 บาท จากนั้นท่านได้นำหลวงพี่ไปที่วางศิลาฤกษ์ ซึ่งมีอยู่หลายหลุมโดยรอบ แล้วตอกไม้มงคลทั้ง 9 อย่างลงไปในหลุมนั้น



บริเวณปะรำพิธีโดยรอบ มีการขนอิฐหินดินทรายมาเตรียมพร้อม ประดับตกแต่งด้วยธงทิวและฉัตร


ก่อนจะลากลับ หลวงพี่ได้เดินทักทายกับญาติโยมชาวบ้าน ที่กำลังเตรียมงานอย่างขมีขมัน


13. พระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง (บรรจุพระเกศาธาตุ และ พระธาตุส่วนลำคอหน้าและหลัง)
- พระธาตุกำลังบรูณะ (เข้าเฝือก) ร่วมทำบุญกับเจ้าอาวาส ๕.๐๐๐ บาท
- ถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาท ๔ เล่ม (หนึ่งชุด)



ภายในวิหารหลวง ข้างองค์พระธาตุลำปางหลวง


หลวงพี่ได้เข้าไปเยี่ยมเยียนท่านพระมหานิยม เจ้าอาวาส เพราะไม่ได้พบกันหลายปีแล้ว
หลวงพี่จึงได้มอบหนังสือตามรอยพระพุทธบาท 1 ชุด หลังจากได้เคยมาจัดงานที่นี่เมื่อปี 2540


พร้อมกันนี้หลวงพี่ได้ถวายปัจจัยร่วมบูรณะองค์พระธาตุ จำนวนเงิน 5,000 บาท พร้อมกับเครื่องไทยทาน


14. รอยพระพุทธบาทแม่แอน ต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
- จากการเดินสำรวจดู และสังเกตลักษณะรอยพระพุทธบาท ตลอดจนหลวงพี่ได้เสี่ยงอธิฐานแล้ว ปรากฏว่าไม่เข้าตามลักษณะที่เคยสำรวจมา
- ร่วมทำบุญสร้างพระพุทธรูปและกุฏิวิหาร โดยใส่ตู้บริจาค ๑,๐๐๐ บาท


ทางสำนักกำลังสร้างพระพุทธรูปตรงบริเวณลำห้วย ซึ่งอยู่ริมทางน้ำไหลผ่าน หากมีน้ำป่าไหลมาแรง จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง


"รอยพระพุทธบาท" และ "รอยพระหัตถ์" ที่อยู่บนแผ่นหินริมลำห้วยนี้ ไม่เห็นมีร่องรอยเดิมเลย มีแต่รอยเว้าที่เห็นเป็นนิ้วเท่านั้น แล้วใช้สีทองทาเป็นรูปเท้าเอาไว้


อีกทั้ง "บ่อน้ำทิพย์" ก็เป็นหลุมเล็กๆ ที่เกิดจากน้ำไหลรินผ่าน คุณลุงที่อยู่ที่นี่ท่านบอกว่าเป็นนิมิตจากพระอาจารย์รูปหนึ่ง




วันที่ 11 มีนาคม 2553 (เชียงใหม่ - พิษณุโลก)

15. รอยพระพุทธบาทเขาหวด (เขานมสองเต้า) หมู่ 11 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก (ลำดับที่ 604)

- อยู่บนยอดเขาต้องใช้เวลาขึ้น ๒-๓ ชั่วโมง เลยไม่ได้ขึ้นไป
- ฝากให้ชาวบ้านชื่อ "คุณลุงอุดม" ขึ้นไปถ่ายรูปมาให้
- ถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาทไว้ที่สำนักสงฆ์นี้ ๑ ชุด
- ถวายเงินให้พระและฆราวาส เพื่อขึ้นไปถ่ายรูปส่งมาให้หลวงพี่รวม ๘๕๐ บาท


พวกเราเดินทางล่องมาจากเชียงใหม่ แล้วก็เลี้ยวเข้าไปทางพิษณุโลก - วังทอง เพื่อเข้าไปสืบหารอยพระพุทธบาทบนเขาที่ ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก


รถวิ่งเข้าไปทางสายแก่งจูงนาง - บ้านร่มเกล้า จนไปถึงสำนักสงฆ์บ้านร่มเกล้า 3 ในเวลาเย็น มีพระภิกษุอาศัยอยู่ที่นี่ 1 รูป


หลังจากได้สอบถามท่านแล้ว รอยพระพุทธบาทอยู่บนเขาลูกนี้ เรียกกันว่า "เขาหวด" หรือ "เขานมสองเต้า" ซึ่งไม่สามารถจะขึ้นได้ทัน ต้องใช้เวลาเดินข้ามเขาไปอีก 2 - 3 ชั่วโมง จึงถวายหนังสือตามรอยพระพุทธบาท 1 ชุด และถวายปัจจัยให้พระและเป็นค่าถ่ายรูปแก่คุณลุงอุดม รวมเป็นเงิน 850 บาท

สรุปตั้งแต่วันที่ 6 - 11 มีนาคม 2553
- รวมเงินทำบุญทั้งหมด ๓๔,๘๕๐ บาท
- รอยพระพุทธบาท ๓ แห่ง จำลอง ๑ แห่ง
- สร้างพระธาตุเจดีย์ ๖ แห่ง
- สร้างพระพุทธรูป ๓ แห่ง
- ร่วมสร้างวัด ๒ แห่ง

ทีมงานตามรอยพระพุทธบาทคงจะเล่าสรุปไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีการเดินทางอีกหลายแห่ง จึงขอเชิญติดตามอ่านไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งร่วมอนุโมทนาบุญกุศลจากการไหว้พระธาตุและรอยพระพุทธบาท ตลอดจนแวะทำบุญสร้างพระพุทธรูป สร้างพระเจดีย์ สร้างโบสถ์วิหารตามวัดต่างๆ ตลอดเส้นทาง..สวัสดีค่ะ.


webmaster - 27/5/10 at 11:43

(Update 27-05-53)