ตามรอยพระพุทธบาท

เล่าเรื่องไป "เมืองลาว" มกราคม ปี 2554 (ตอนที่ 1)
kittinaja - 23/1/11 at 08:19

ตอนที่ 2 ตอนที่ 3




การเดินทางไปประเทศลาว

ระหว่างวันที่ ๕ - ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔




ก่อนที่จะเล่าเรื่องการเดินทางไป "ลาวเหนือ" นั้น ผู้เขียนใคร่ขอย้อนกล่าวถึงการเดินทางไป สปป.ลาว เมื่อหลายปีก่อน ทั้งนี้ เป็นเพราะมีรอยพระพุทธบาทหลายแห่ง จึงต้องมีการเดินทางหลายครั้ง ดังนี้

๑. เดินทางไป ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๐ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ (ลาวใต้) ตามที่ได้เล่าไปในหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม ๑ (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)

๒. เดินทางเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๙ มกราคม ๒๕๔๔ (ลาวเหนือ) ตามที่ได้เล่าไปในหนังสือ "ตามรอยพระพุทธบาท" เล่ม ๓ (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)

๓. ครั้งนี้เดินทางเป็น ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๖ - ๑๓ มกราคม ๒๕๕๔ (บ่อแก้ว, หลวงน้ำทา, พงสาลี) อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ http://tamroiphrabuddhabat.com/xmb/viewthread.php?tid=861

ซึ่งได้เดินทางไปค้นหาตาม "ตำนานพระธาตุพนม" บ้าง โดยเฉพาะที่สำคัญคือ "พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก" ได้เล่าเรื่องตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับรอยพระพุทธบาท ณ บ้านอูไต้ บังเอิญคำว่า "บ้านอูไต้" นี้ ผู้เขียนได้พบว่ามีในแผนที่ประเทศลาวด้วย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองพงสาลี มีอาณาเขตติดกับชายแดนประเทศจีน ทำให้ผู้เขียนอยากจะเดินทางไปสำรวจ แต่เห็นว่าเป็นเรื่องยากเพราะไกลเหลือเกิน อีกประการหนึ่งหนทางก็ไม่ค่อยดี จึงทำให้งานสำรวจตรงจุดนี้ค้างมานานหลายปีแล้ว

ครั้นเมื่อปีที่แล้ว คือปี ๒๕๕๓ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสำรวจรอยพระพุทธบาท ณ ประเทศพม่า จนครบถ้วนแล้ว พอถึงปีนี้เห็นว่ายังมีงานค้างที่ประเทศลาว จึงได้วางแผนที่จะเดินทาง โดยเข้าไปศีกษาข้อมูลในเวปไซด์ต่างๆ ก่อน จึงพอจะทราบเส้นทางได้โดยคร่าวๆ ว่าถนนจากห้วยทราย - หลวงน้ำทา - เมืองล่า เป็นถนนลาดยางตลอด แต่ถนนจากเมืองล่าไปเมืองพงสาลีเป็นถนนลูกรัง แล้วถนนทุกเส้นที่ไปนี้ อย่าคิดว่าเป็นถนนเส้นตรงอย่างบ้านเรานะ ส่วนใหญ่เป็นทางขึ้นเขาทั้งนั้น การเดินทางครั้งนี้น่าจะเรียกว่า "ผจญภัยหมื่นโค้ง" เห็นจะได้

เดิมคิดว่าจะต้องข้ามไปประเทศลาวที่เชียงของ แล้วกลับมาให้ทันงานบวงสรวง ณ พระธาตุดอยตุง แต่พอไปถึงจริงๆ ปรากฏว่ากลับมาไม่ทัน เพราะได้พบรอยพระพุทธบาทตาม "พุทธตำนาน" จริง และโชคดีได้พบ "พระพุทธรูปสำคัญ ๔ องค์" องค์แรกมีชื่อว่า "พระสิงห์คำ" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและเลื่องลือของชาวลาวมาแต่โบราณ ตามประวัติเล่าว่าเป็น "พระพุทธรูปลอยน้ำ" เหมือนกับ หลวงพ่อโสธร และ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม แม้แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ยังเคยเสด็จไปกราบไหว้ "พระพุทธรูปสิงห์คำ" มาแล้วถึง ๒ ครั้ง

๕ มกราคม ๒๕๕๔ (อุทัยธานี - พิษณุโลก - อุตรดิตถ์ - แพร่ - พะเยา)

๑. พระธาตุดอยหยวก บ้านหนุน ต.ปง อ.ปง จ.พะเยา (บรรจุพระเกศาธาตุ และพระบรมธาตุริมขอบตาข้างขวาของพระพุทธเจ้า)



 


เรื่องนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผู้เขียนจะขอเริ่มเล่าการเดินทางไปตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๔ โดยออกจากวัดท่าซุงมุ่งตรงขึ้นไปกราบไหว้ พระธาตุดอยหยวก อ.ปง จ.พะเยา เพราะเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทาน "พระเกศาธาตุ" ไว้ที่นี่ ต่อมาได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ คือกระดูก "ริมขอบตาข้างขวา" มาบรรจุรวมไว้ด้วยกัน



 


หลังจากได้กราบไหว้บูชาแล้ว ผู้เขียนได้ถวายเครื่องไทยทาน ๑ ชุด มีอาสนะ พร้อมชุดกันหนาว, ย่าม ๑ ใบ, ชุดสังฆทาน (คุณก๊วยเจ๋ง และ คุณหลี เป็นเจ้าภาพถวายไว้หลายชุด) หนังสือตามรอยพระพุทธบาท เล่ม ๑ และถวายปัจจัยไว้บูรณะพระธาตุอีก ๒,๑๔๐ บาท แล้วได้พักค้างคืนที่ อ. จุน จ.พะเยา



๖ มกราคม ๒๕๕๔ (พะเยา - เชียงของ - ห้วยทราย - หลวงน้ำทา)

๒. พระธาตุนางหย้องมงคลคีรีสามัคคีธรรม ต.บุญเรียง อ.เชียงของ จ. เชียงราย




(เริ่มแรกเห็น "ป้ายเชิญชวนสร้างพระธาตุ" อยู่ริมถนนก่อน)



(ชาวบ้านได้สร้างที่พักมุงด้วยหญ้าคาสำหรับพระอยู่กรรม)

พระธาตุแห่งนี้ได้พบโดยบังเอิญ เนื่องจากระหว่างเดินทางไปเชียงของ พวกเราได้เห็นป้ายสร้างพระธาตุอยู่ข้างถนน จึงได้แวะเข้าไปร่วมทำบุญด้วย โดยขับรถขึ้นไปบนเชิงเขา เห็นมีเต้นท์กางและมีกระต๊อบมุงหญ้าคาหลายหลัง โดยมีรถกระบะชาวบ้านจอดอยู่หลายคัน ได้สอบถามชาวบ้านทราบว่า กำลังจัดงานอยู่กรรมพอดี มีพระภิกษุมาร่วมงานหลายสิบรูป ตอนนี้มีชาวบ้านมาทำบุญถวายอาหารเช้าพระที่เข้าอยู่กรรม (กรรมฐาน)



ผู้เขียนถวายเครื่องไทยทานชุดใหญ่ (ของคุณก๊วยเจ๋ง-คุณหลี) พร้อมปัจจัยร่วมสร้าง

เมื่อได้สอบถามถึงพระภิกษุที่เป็นผู้สร้างพระธาตุ ซึ่งตามป้ายบอกว่าชื่อ พระอาจารย์เนตรทองคำ อภิปุญโญ ผู้เขียนจึงเดินลงจากรถไปหาท่าน เห็นท่านกำลังนั่งฉันเช้าอยู่ ปรากฏว่าท่านจำผู้เขียนได้ เพราะเคยไปร่วมทำบุญบูรณะพระธาตุแถวเชียงรายเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว



(หลวงพ่อเนตรทองคำรับซองปัจจัยแล้วพนมให้พรแก่พวกเราทันที)

ตอนนี้จึงได้ร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างพระธาตุกับท่านอีก ๓,๐๐๐ บาท ท่านบอกว่าเดิมมีพระธาตุเก่าร้างอยู่บนเขา ชาวบ้านแถวนี้จึงได้อาราธนาให้ท่านมาเป็นประธานในการสร้างขึ้นใหม่ มีความสูงประมาณ ๓๐ เมตร จากนั้นพวกเราได้ถวายเครื่องไทยทานอีก ๓ ชุด เพื่อถวายพระรูปอื่นๆ ที่อยู่กรรมด้วย แล้วออกเดินทางต่อไป

๓. วัดพระแก้ว ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

ตอนบ่ายพวกเราได้ไปถึง วัดพระแก้ว เพื่อไปสอบถามข้อมูลการเดินทางก่อนไปลาว เพราะสมัยก่อนเมื่อปี ๒๕๔๓ ได้เคยเดินทางมาค้างคืนที่นี่ โดยมี หลวงพ่อสิงห์คำ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระแก้วให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แต่พอมาถึงปีนี้ได้ทราบว่าท่านมรณภาพไปนานแล้ว



(ผู้เขียนยืนมองตามที่สามเณรชี้บอกไปทางแม่น้ำโขง ตำแหน่งอยู่ตรงกลางแม่น้ำ)


ในระหว่างนี้ จึงรู้สึกเคว้งคว้างไม่รู้จะทำยังไงดี เพราะรถกระบะที่เคยเช่าไปลาว ได้ใช้โทรศัพท์เบอร์เดิมก็ติดต่อไม่ได้ ตอนนี้ทางวัดพระแก้วกำลังเตรียมจัดงานยกช่อฟ้าพระวิหาร ที่ได้บูรณะเพิ่งแล้วเสร็จนี้ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันท่านไม่อยู่ จึงได้เดินไปดูรอยพระพุทธบาทที่กลางแม่น้ำโขง แต่มองไม่เห็นเพราะน้ำยังมีมาก แต่ถ้าถึงหน้าแล้งน้ำแห้งลงหน่อย จะเห็นก้อนหินรอยพระพุทธบาทได้ รอยพระพุทธบาทในแม่น้ำโขงนี้ ตามตำนานเรียกว่า "รอยพระพุทธบาทผาช้าง"

พระธาตุที่สำคัญในอำเภอเชียงของมีอยู่หลายแห่ง แต่ที่เก่าแก่และสำคัญมาแต่โบราณ คือมี "พระเกศาธาตุ" บรรจุไว้ด้วย คือ วัดพระแก้ว และ วัดหลวง พวกเรายังไม่ได้สรงน้ำและปิดทอง เพราะต้องรีบเดินทางข้ามไปยังฝั่งลาวเวลา ๑๓.๐๐ น. แล้วติดต่อเช่ารถกระบะโตโยต้าวีโก้ ตกลงเช่าภายใน ๗ วัน เขาคิดราคา ๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมกับแลกเงินกีบกับธนาคาร ๓,๐๐๐ บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ๒๖๖ กีบต่อ ๑ บาท)

๔. วัดทาด (ธาตุ) สุวรรณผ้าคำ บ้านตีนธาตุ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว



(รถโตโยต้าวีโก้อยู่ในสภาพใหม่ ได้นำมาที่ทางเข้าวัดธาตุสุวรรณผ้าคำ)


ความจริงเดิมคิดว่าจะค้างคืนที่วัดพระแก้วก่อน แล้วค่อยเดินทางไปในวันรุ่งขึ้น แต่นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่วันนี้สามารถเดินทางข้ามไปห้วยทรายได้ในตอนบ่าย โดยติดต่อรถเช่าได้แล้ว และหาที่ฝากรถของเราไว้ที่ริมโขงได้ เมื่อลงตัวได้รวดเร็วอย่างนี้ จึงได้ลงเรือข้ามโขงไปทันที โดยมีสิ่งของมากมาย เช่น เครื่องไทยทาน และเครื่อสักการบูชาเป็นต้น

พวกเราได้เตรียมหนังสือเดินทาง (Passport) ไปด้วย จึงง่ายต่อการข้ามแดน และจะไปอยู่กี่วันก็ได้ไม่เกินกำหนด ๑ เดือน ช่วงบ่ายแดดร้อนจัดมาก ผู้เขียนต้องกางร่มเดินขึ้นฝั่ง ซึ่งมีชาวลาวเจ้าของรถเช่ามารออยู่แล้ว โดยได้ตกลงเช่ารถกระบะ มีโชว์เฟอร์เจ้าของรถชื่อว่า "นายเอ็ง" จึงได้เริ่มต้นไปที่ วัดธาตุสุวรรณผ้าคำ เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่สำคัญมาก่อน ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำโขง



(คุณสำราญและสามเณรที่วัดขึ้นไปห่มผ้าสีทองรอบองค์พระธาตุสุวรรณผ้าคำแล้วดูสวยงามยิ่งขึ้น)

สถานที่นี้ผู้เขียนเคยไปมาแล้ว เพราะทราบประวัติดีว่า เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและผ้าอาบน้ำของพระพุทธเจ้า ตามประวัติเล่าพระพุทธองค์ได้เสด็จลงไปสรงน้ำที่ริมโขง พวกเราจึงได้นำผ้าสีทองขึ้นไปห่มรอบองค์พระธาตุ ถึงแม้ตอนบ่ายอากาศจะร้อน แต่สามเณร ๒ รูปที่วัดก็ขึ้นไปช่วยคุณสำราญห่มจนได้ แล้วผู้เขียนก็ได้ปิดทองและสรงน้ำพระธาตุ

หลังจากทำบุญกับสามเณร ๑๐๐ บาทแล้ว จึงนั่งรถจากห้วยทรายและมาพักค้างคืนที่หลวงน้ำทา ซึ่งถนนลาดยางสะดวกมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ผู้เขียนเดินทางไป ตอนนั้นยังไม่ได้ทำถนน จึงเต็มไปด้วยฝุ่นลูกรังหนาเป็นคืบ หนทางก็ต้องเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา นับว่ายากลำบากมาก แต่ตอนนั้นถึงแม้เขาจะบอกว่าไปลำบาก แต่พวกเราก็โชคดีที่ฝนตกลงมาก่อนเดินทางเพียง ๑ วันเท่านั้น



(คลิกขยายภาพ "แผนที่ สปป.ลาว")

สมัยเมื่อปี ๒๕๔๑ นั้น คนขับรถเช่าบอกว่าจะต้องเจอฝุ่น แต่พวกเรากลับนั่งรถไปได้อย่างสบายๆ โดยเฉพาะคนที่นั่งอยู่ท้ายรถกระบะ เดิมคิดว่าจะต้องเจอฝุ่นอย่างหนัก แต่พอเดินทางไปจริงๆ ฝนตกลงมาฝุ่นจึงกลายเป็นเลน คงเป็นเพราะบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของลาวเป็นแน่แท้

ฉะนั้นในปีนี้ เมื่อผู้เขียนได้ทราบว่าเขาทำถนนไปถึงชายแดนจีนได้ประมาณ ๒ - ๓ ปีแล้ว จึงอยากจะย้อนกลับไปอีกสักครั้ง ห้วยทรายมาถึงหลวงน้ำทา ระยะทางประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร (เดินทางประมาณ ๓ ชั่วโมง) ระหว่างการเดินทาง ผู้เขียนก็ได้สอบถามคนขับรถชาวลาวว่า ตรงไหนเป็นถนนเส้นเก่าบ้าง คนขับรถได้ชี้มือขึ้นไปบนภูเขาพร้อมกับเล่าว่า


ขณะนี้รถได้วิ่งผ่าน "เวียงภูคา" ไปตามถนนลาดยางสายนี้ ซึ่งเป็นโครงการร่วมกัน ๓ ประเทศ คือช่วงที่ ๑ ไทยเป็นผู้สร้าง ช่วงที่ ๒ จีน และช่วงที่ ๓ ลาวสร้าง ช่วงนี้เวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น.พระอาทิตย์ส่องลงมาเป็นรัศมีดูสวยงามมาก จึงได้แวะค้างคืนกันที่หลวงน้ำทา ซึ่งสมัยนี้มีความเจริญมาก เป็นตลาดค้าขายใหญ่โต มีชาวฝรั่งต่างประเทศเดินไปมาคับคั่ง



๗ มกราคม ๒๕๕๔ (หลวงน้ำทา - อุดมไชย - เมืองล่า - พงสาลี)

ฉันเช้าและเตรียมอาหารเพลแล้ว จึงออกเดินทางจากหลวงน้ำทา เวลา ๗.๐๐ น. ระหว่างทางเห็นชาวเขาเผ่าอีก้อกำลังโยนลูกบอลเข้าหากัน อันเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงจะแต่งตัวสวยงาม เพื่อหาคู่รักไปในตัว เมื่อมาถึง "สามแยกนาเตย" จะพบทางแยกไปเชียงรุ่ง แต่เราเลี้ยวขวาไปเข้าตัวเมืองอุดมไชย ระหว่างรถเข้าไปเติมน้ำมัน จึงได้แลกเงินกีบเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ บาท (อัตราแลกเปลี่ยนอยูที่ ๒๖๔ กีบต่อ ๑ บาท) ระยะทางจากหลวงน้ำทา - อุดมไชย ๑๒๐ กิโลเมตร (ทางข้ามภูเขาทั้งสิ้น ปกติเขาวิ่งประมาณ ๕ ชั่วโมง แต่รถปิ๊คอัพของเราที่เช่ามาค่อนข้างใหม่ จึงทำเวลาได้เต็มที่ ถึงเมืองอุดมไชยเวลา ๑๐.๓๐ น. เท่านั้น)





(คนขับรถเล่าว่า ช่วงนี้ยังเป็นปีใหม่ ตามประเพณีของชนชาวเผ่า เด็กหญิงเหล่านี้จะโยนลูกบอลเข้าหากัน)





(ระหว่างนี้จะมีหนุ่มๆ เข้ามาร่วมสนุกด้วย หากถูกใจกับใครแล้ว จะชักชวนกันไปเป็นสามีภรรยากันในที่สุด)

จากนั้นได้ออกเดินทางต่อไปที่เมืองล่า โดยผ่านสามแยกเลี้ยวขวาไปปากโมง (น้ำบาก) เมืองงอย และเมืองหลวงพระบาง แต่เราไปทางตรงเพื่อแวะฉันเพลที่ร้านอาหารในเมืองล่า ซึ่งหาอาหารสำหรับคนไทยยากมาก ส่วนใหญ่เป็นอาหารพื้นเมือง โชคดีที่ได้เตรียมข้าวผัดใส่กล่องมาจากหลวงน้ำทา



๕. พระพุทธรูปสิงห์คำ (ลาวเขียน "สิงคำ") เมืองล่า แขวงอุดมไชย ประเทศลาว



(ผู้เขียนถ่ายรูปด้านหน้าพระวิหาร โดยมีคุณสำราญอยู่ด้านขวามือ และคุณเอ็งอยู่ด้านซ้ายมือ)



(ภาพด้านข้างพระวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสิงห์คำ ตั้งเด่นอยู่บนเนินเขา)

หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว ออกมายืนมองเห็นวิหารพระสิงห์คำอยู่บนเนินเขาแต่ไกล สำหรับพระพุทธรูปสิงห์คำองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวลาวองค์หนึ่ง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจมาก เดิมผู้เขียนนึกว่ายังไม่เคยไป แต่เมื่อได้กลับมาค้นหาข้อมูลการเดินทาง ปรากฏว่าได้เคยไปมาแล้วเมื่อปี ๒๕๔๔



(ป้ายเขียนบอกว่า "ต้นโพธิ์ต้นนี้มีอายุ 655 ปี" อยู่ด้านข้างพระวิหาร)


ผู้เขียนพร้อมกับคุณสำราญและคุณวัชรพล (บุ๋ม) จึงได้เข้าไปในวิหาร ระหว่างนี้เห็นมีชาวบ้านชายหญิงกลุ่มหนึ่งกำลังถวายอาหารพระรูปหนึ่ง พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน เจ้าหน้าที่ของวัดบอกว่า พระพุทธรูปองค์มีคนมาบนบานกันเยอะ พอได้ผลแล้วก็กลับมาแก้บนกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะคณะญาติโยมที่มานี้ ได้เดินทางมาจากหลวงพระบาง



(พระพุทธรูปสิงห์คำมีลูกกรงล้อมรอบอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันขโมย ความจริงเขาห้ามถ่ายรูปด้วย)



(แต่ด้วยความอยากนำมาเผยแพร่ คุณวัชรพลจึงจำเป็นต้องเสียมรรยาทไปบ้าง)



(คุณสำราญและคุณเอ็งร่วมกันถวายไทยทานและปัจจัยกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส)


พวกเรามองเห็นพระพุทธรูปอยู่ภายในห้องแคบๆ มีลูกกรงล้อมรอบพร้อมกับล็อกกุญแจไว้อย่างแข็งแรง ทั้งนี้เคยมีคนขโมยไปแต่ก็นำไปไม่ได้ จากนั้นได้สรงน้ำหอมและถวายพวงมาลัย แล้วออกไปถวายเครื่องไทยทาน ๑ ชุด และถวายเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ กีบ กับหลวงพ่อเจ้าอาวาส และได้ชื้อหนังสือ "ประวัติพระสิงห์คำ" เล่มละ ๓๐,๐๐๐ กีบ

หลังจากนั้นออกเดินทางต่อไป จากเมืองล่าก็ไม่กี่สิบกิโลถึงทางแยกขวาไปเมืองขัว (เมืองขวา) และไปเดียนเบียนฟู (เวียดนาม) แต่เราไม่เลี้ยวขวา กลับไปทางตรงคือเมืองพงสาลี ระยะทางจากอุดมไชยไปพงสาลี ประมาณ ๒๓๖ ก.ม. แต่ข้อมูลใหม่บอกว่า ๑๘๔ ก.ม. (มีรถโดยสารจากอุดมไชยไปพงสาลี มีแค่วันละเที่ยว แล้วก็เป็นรถเที่ยวเช้า ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ ๙ ชม.)

☼ ชมภาพธรรมชาติสองข้างทาง ภาพ ๑ ภาพ ๒ ภาพ ๓ ภาพ ๔ ภาพ ๕ (ภาพจาก www.2how.com/board/22960.html)

◘ ดูแผนที่ระยะทางจากหลวงน้ำทาได้ที่นี่ http://i212.photobucket.com/albums/cc179/Lam_merison/Laos%202005/P4060021.jpg

◘ อันนี้เป็นแผนที่ ระยะทางระหว่างแต่ละเมืองในแขวงพงสาลี
http://i212.photobucket.com/albums/cc179/Lam_merison/Laos%202005/P4100122.jpg
http://i212.photobucket.com/albums/cc179/Lam_merison/Laos%202005/P4100121.jpg

◘ แผนที่ประเทศลาว
http://i212.photobucket.com/albums/cc179/Lam_merison/Laos%202005/laos_bg.jpg

ประมวลภาพจาก "คณะอ๊อฟโร๊ด" ที่ได้ขับรถมอเตอร์ไซด์เดินทางไปเมื่อปีที่แล้วเล่าว่า ถนนที่โรยกรวดแม่น้ำข้างบนในขณะที่ผิวถนนเก่าเป็นหินผา หินโม่ก้อนโตๆ เท่าหัวเด็กเล็ก และผงฝุ่นที่เกิดจากการอัดบดของล้อรถที่อยู่บนสุดทำให้เวลารถวิ่งไปฝุ่นตลบไปหมดทั้งถนน


 


เส้นทางดูเหมือนจะลำบากมาก แต่ชาวบ้านที่นี่ใช้เป็นปกติและถือเป็นเส้นทางหลักในการไปยังแขวงพงสาลี โดยจะเห็นรถประจำทางรวมทั้งรถบรรทุกพ่วงขนาดใหญ่ขนสินค้ามาทางนี้











ถึง "บ้านบุนใต้" แล้วก็เป็น "บ้านบุนเหนือ" (คนไทยเขียนว่า "บุญเหนือ") เป็นเมืองสุดท้ายก่อนถึงพงสาลี



"บ้านยอด" ก่อนสิ้นสุดทางลูกรังทางดินแดง เห็นทางลาดยางข้างหน้า บริเวณ กม.๑๐๔ ถึงสามแยก (แยกนี้ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปยังชายแดนลาว - จีน อีก ๑๙ กม.) เรามุ่งหน้าขึ้นเหนือเรื่อยๆ เพื่อไปยังบ้านบุนเหนือก่อนที่ขึ้นไปพงสาลี กม.๔๐ ทางลาดชันขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับอากาศที่เริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด



(ขณะที่จอดรถเพื่อบรรเทาทุกข์กันที่ข้างทาง ช่วงนี้ยังเป็นถนนลูกรังอยู่จนกว่าจะถึง "บ้านบุนเหนือ")



(บริเวณสถานีขนส่ง "บ้านบุนเหนือ" ว่างไม่มีรถสักคัน มีแต่ร้านขายก๊วยเตี๋ยวและผลไม้อยู่โดยรอบ)



(ผู้เขียนได้เดินเข้าในสถานีขนส่ง สอบถามแม่ค้าไก่ย่าง ด้านหลังเป็นห้องทำการข้อมูลนักท่องเที่ยว แต่ร้างไปแล้ว)

เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. เศษ พวกเราได้แวะที่ตัวเมือง "บุนเหนือ" รถจอดตรงสามแยก (ถ้าเลี้ยวซ้ายไปทางเมืองอูเหนือ - อูใต้ ถ้าไปเมืองพงสาลีให้ตรงไป) ที่นี่เป็นตลาดบุนเหนือและสถานีขนส่ง มีรถโดยสารที่จะขึ้นไปพงสาลี หรือลงไปอุดมไชย ผู้เขียนและคนขับรถได้เดินลงไปถามเรื่อง "รอยพระพุทธบาท" ปรากว่าที่หมู่บ้านนี้ก็มี และอีกแห่งหนึ่งไปทางเมืองอูใต้ ผู้เขียนรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องเดินทางมาไกลและยากลำบาก เมื่อได้ทราบว่ามีจริงตามพุทธตำนาน



(ด้านหน้าห้อง Tourist Information นี้มีแผนที่ท่องเที่ยว จึงได้ถ่ายรูปเอาไว้ด้วย)


๖. รอยพระพุทธบาท บ้านบุนเหนือ เมืองบุนเหนือ แขวงพงสาลี (Phongsaly) ประเทศลาว

เมื่อได้ถามชาวบ้านแล้ว ทราบว่าโรงเรียนอยู่ริมถนน เพียงแค่เลี้ยวซ้ายเข้าไปในโรงเรียนก็จะเห็นป่าละเมาะอยู่ด้านหน้า ชาวบ้านบอกว่า แต่เดิมเคยมีรอยพระพุทธบาทในโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนการปกครองของรัฐบาลลาว ปัจจุบันนี้ไม่ทราบว่าก้อนหินนี้ไปอยู่ที่ไหนสืบหาไม่ได้ แต่ก็ได้กราบไหว้สถานที่นั้นด้วยความเคารพ ซึ่งชาวบ้านแถวนี้ยังได้มากราบไหว้อยู่เป็นประจำ ดังจะเห็นได้จากมีศาลเล็กๆ และมีผ้าตุงเก่าๆ แขวนอยู่แถวนั้น



(ภายในโรงเรียนการเมืองการปกครอง ก่อนที่จะสร้างเขาได้ขุดเอาก้อนหินรอยพระพุทธบาทออกไป)



(ตำแหน่งที่ผู้เขียนยืนอยู่นี้ เคยมีก้อนหินรอยพระพุทธบาท จะเห็นร่องรอยของชาวบ้านที่ยังเคารพนับถืออยู่)

ครั้นได้เข้าสำรวจแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้เห็นก้อนหินรอยพระพุทธบาท แต่ก็ดีใจที่ได้ข้อมูลไว้ แล้วจึงออกเดินทางต่อไป ซึ่งถนนช่วงนี้ลาดยางตลอด แต่ก็ต้องขึ้นเขาสูงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ระหว่างนี้มีหมอกปกคลุม แทบจะมองไม่เห็นถนน ทางเลี้ยวก็แคบและสูงชัน จึงต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น ถึงแม้จะเหลือระยะทาง ๓๐ ก.ม. แต่ก็ทำเวลาไม่ค่อยได้ เพราะเสี่ยงอันตรายจนเกินไป จึงทำให้ถึงตัวเมืองพงสาลีก็มืดค่ำแล้ว มองไปทางไหนก็มืด เพราะเขาไม่มีไฟถนนเหมือนบ้านเรา เข้าถึงที่พักประมาณ ๑๙.๐๐ น.

๘ มกราคม ๒๕๕๔ (พงสาลี - บ้านอูเหนือ)

ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
• แขวงพงสาลี : "เหนือสุดแห่งเมืองลาว"
• สถานที่ตั้ง : อยู่ติดชายแดนจีน + เวียดนามเหนือ (อยู่เหนือสุดของประเทศลาว)
• เมืองหลวง : เมืองพงสาลี

• พงสาลี : มีเนื้อที่ทั้งหมด 16,270 ตารางกิโลเมตร หากมองในแผนที่ พงสาลีเป็นดินแดนของลาวที่ติดกับพรมแดนของประเทศจีนและเวียดนาม ทำให้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีการเข้ามายึดครองจากหัวเมืองใหญ่ทั้งหลายในอดีต ในปัจจุบันพงสาลีเป็นเมืองหลวงของแขวง มีประชากร 167,181 คน โดยมีชนเผ่าขะมุ และชนเผ่าภูน้อยมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ ประกอบด้วย 6 เมือง เช่น เมืองพงสาลี, เมืองใหม่, เมืองขวา, เมืองสำพัน,เมืองอุดมไชย และเมืองยอดอู (อูใต้)



พระธาตุภูฟ้า



ทิวทัศน์เบื้องล่าง คือเมืองพงสาลี

• ตัวเมืองตั้งอยู่บนภูเขาสูง 1,400 เมตร ในเขตเขาภูฟ้า ทำให้อากาศเย็นสบายตลอดปี และเนื่องจากตั้งอยู่ในชัยภูมิอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คืออยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างจีนกับเวียดนาม ฝรั่งเศสจึงให้ความสำคัญกับพื้นที่แถบนี้มากถึงขนาดสั่งการให้ตั้งค่ายกองทหารรักษาการณ์ขึ้น ดังมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสปรากฎให้เห็นตามซอยต่างๆ แม้จะถูกอาคารพาณิชย์ของจีนที่เน้นประโยชน์ใช้สอยบดบังไปส่วนใหญ่

• ตามบันทึกกล่าวไว้ว่าในอดีตพงสาลีมีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองของพวกไทลื้อในแคว้นสิบสองปันนาของจีน แต่ฝรั่งเศสได้แย่งมาจากจีนในสนธิสัญญาที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 ต่อมาเมื่อตกมาเป็นของลาว จึงกลายเป็นแขวงที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาที่สุดแขวงหนึ่ง มีทั้งม้ง อาข่า เย้า ชาวไท เผ่าต่างๆ รวมถึงชาวต่างด้าวเวียดนามกับจีน เนื่องจากรัฐบาลลาวมีนโยบายที่จะสร้าง เอกภาพในความหลากหลาย จึงได้รวมชนกลุ่มน้อยถึง 23 เผ่า เข้าด้วยกัน

สถานที่ท่องเที่ยว
• พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า : ภายในจัดแสดงเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ และเครื่องประดับ ของชนเผ่าต่างๆไว้ให้ชม
• ตลาดเช้า : จะมีสินค้าและของกินพื้นเมืองให้ชิมกันมากมาย ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนใหญ่จะเป็นชาวพูน้อยและจีนเป็นหลัก
• ยอดภูฟ้า : ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุภูฟ้า ใช้เวลาเดินขึ้นประมาณ 40 นาที เป็นจุดที่สามารถมองเห็นเมืองพงสาลีได้รอบ ถ้ามาช่วงฤดูหนาวจะเห็นสายหมอกที่ปกคลุมเมืองพงสาลีได้อย่างสวยงาม
• ปัจจุบันนักท่องเที่ยวยังมาเที่ยวที่เมืองพงสาลีไม่มากนัก มีที่พักและร้านอาหารให้พอเลือกได้ ทั้งแบบเกสต์เฮาท์และโรงแรม ราคาไม่แพงมาก


ข้อมูลที่มา - oceansmile.com

๗. วัดภูฟ้า เมืองพงสาลี แขวงพงสาลี ประเทศลาว



ร้านอาหารโฟนสะอาดนี้ เป็นร้านเดียวในเมืองพงสาลี ที่มีทั้งข้าวผัดและข้าวต้ม (ลาวเรียก "ข้าวเปียก")



ร้านอาหารนอกนั้นหายากมาก ส่วนใหญ่มีแต่อาหารพื้นเมือง (ก๊วยเตี๋ยว)



ระหว่างฉันอาหาร เห็นภายในร้านมีรูปภาพยอดภูฟ้ากลางเมืองพงสาลี จึงให้บุ๋มช่วยถ่ายไว้
เพราะวันนี้อากาศปิดหมด มองไม่เห็นอะไร มีแต่หมอกลงเต็มไปหมด

ตื่นเช้าขึ้นมายังงงๆ เพราะเมื่อคืนนี้เข้าที่พักมองไม่ค่อยเห็นอะไร รู้แต่ว่าสถานที่พักอยู่เชิงเขาภูฟ้า ขณะเดินเข้าที่พักรู้สึกว่ามีละอองฝนโปรยลงมาบางเบา มองเห็นและพอรู้สึกได้ จึงได้ลงมาฉันเช้าที่ร้านอาหาร "โฟนสะอาด" พร้อมกับสั่งข้าวผัดเป็นอาหารเพลไว้ให้พร้อม เพื่อความไม่ประมาทนั่นเอง



(พระประธานในวิหาร ณ วัดภูฟ้า พวกเราได้ถวายปัจจัยและเครื่องไทยทานด้วย)



(ถือว่าเป็นการเยี่ยมเยียนเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกัน ระหว่างพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์ลาว)

ผู้เขียนได้ให้คนขับรถช่วยถามทางไปวัด เพราะได้แบ่งเครื่องสังฆทานไว้แต่ละเมือง จากนั้นได้ไปที่วัดภูฟ้า ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเชิงเขาภูฟ้า แต่ต้องเลี้ยวเลาะเข้าไปลึกพอสมควร แล้วได้พบกับเจ้าอาวาสซึ่งยังหนุ่มอยู่ พร้อมกับถวายเครื่องไทยทาน ๑ ชุด และทำบุญ ๒๐,๐๐๐ กีบ เสร็จแล้วรีบออกเดินทางเพื่อขึ้นพระธาตุภูฟ้า

๘. พระธาตุภูฟ้า เมืองพงสาลี แขวงพงสาลี ประเทศลาว (พบใหม่)

เมืองพงสาลียังมีภูเขาอยู่ในกลางเมือง ชื่อว่า "ภูฟ้า" สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๖๒๖ เมตร เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปชมวิวเมืองพงสาลีกันนานมาแล้ว และเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองรัฐบาลลาวได้สร้างพระธาตุขึ้นบนภูแห่งนี้ เรียกชื่อพระธาตุแห่งนี้ว่า "พระธาตุภูฟ้า" ทำให้ภูฟ้ากลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนอกจากไปชมวิวแล้ว ยังไปไหว้และชมพระธาตุด้านบนมากขึ้นไปอีก

ยอดภูฟ้าดั้งเดิมมีบันไดทางขึ้น ๘๘๘ ขั้น แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงละ ๔๐๐ ขั้น เมื่อเดินไปครึ่งทางจะมีจุดพักเป็นลานกว้าง มีโต๊ะและที่ปิ๊กนิค สามารถชื่ออาหารและเครื่องดื่มจากด้านบนนี้กินได้ จุดพักครี่งตรงนี้ สามารถขับรถวนรอบภูเขาขึ้นมาได้ แต่ตั้งแต่จุดนี้ไปหากจะขึ้นพระธาตุจะต้องเดินขึ้นไปเอง ๔๐๐ ขั้นบันได



(เช้านี้พวกเราถือว่ายังโชคดี รถสามารถวิ่งขึ้นไปได้จนถึงยอดเขา แต่ก็ต้องเสียค่าเปิดทางก่อน)

สำหรับการเดินทางของพวกเราในวันนี้ จะถือว่าโชคดีก็ได้ หรือว่าโชคไม่ดีก็ได้ เพราะว่าอากาศปิด ขึ้นมาถึงบนพระธาตุแล้ว แทบจะมองไม่เห็นอะไร เห็นแต่หมอกปกคลุมไปทั่ว (ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องนำรูปภาพจากเว็บอื่นมาลงแทน)



ภาพฐานพระธาตุองค์เก่า ที่นี่เป็นจุดสูงสุดในเมืองพงสาลี
ฝรั่งเศสได้ใช้เป็นที่ประดิษฐาน (หรือเก็บ) สิ่งศักดิ์สิทธิทางพุทธศาสนาที่รวบรวมมา



(เช้านี้อากาศหนาวเย็นหมอกปกคลุมทั้งเมืองพงสาลี เห็นพระธาตุเก่าอยู่ไม่ไกลจากพระธาตุองค์ใหม่)

ผู้เขียนและคณะรวม ๔ คน ได้เดินสำรวจบริเวณฐานพระธาตุองค์เดิม ซึ่งทางการได้ล้อมรั้วเอาไว้แต่ก็เดินเข้าไปได้ แต่เวลานี้อากาศเย็นและลมแรง เห็นว่าไปทำพิธีบวงสรวงที่พระธาตุองค์ใหม่จะดีกว่า ซึ่งอยู่ห่างประมาณ ๕๐ เมตรเท่านั้น



ถึงแม้จะมองเห็นไม่ชัด แต่พวกเราก็ทำพิธีบวงสรวงจนได้ โดยถือองค์พระธาตุเป็นจุดศูนย์รวม
เพื่อทำพิธีทุกแห่งในแขวงพงสาลี ที่ไม่สามารถจะไปให้ครบถ้วนได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นสิริมงคล
แก่ชาวลาวทั้งหลายที่อาศัยร่มเงาพระพุทธศาสนา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองตลอด ๕,๐๐๐ ปี


ด้านหน้าองค์พระธาตุมีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่องค์หนึ่ง จึงได้ทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วแขวงพงศาลีด้วยเสียงเทปของหลวงพ่อ แล้วจึงได้สรงน้ำหอมและปิดทององค์พระเจดีย์ จากนั้นจึงได้สรงน้ำและปิดทองที่พระธาตุเก่าซึ่งเหลือแต่ส่วนฐาน ขณะนี้บนพระธาตุภูฟ้ามีหมอกลงจัดมาก และทั่วเมืองพงสาลีเต็มไปด้วยหมอก แต่ที่น่าแปลกคือมีฝนละเอียดโปรยมาตลอดทาง จนกระทั่งผ่านเมืองพงสาลีไปแล้วก็ตาม



(รถวิ่งมาจากเมืองพงสาลีถึง "บ้านบุนเหนือ" ทางแยกเลี้ยวขวามีป้ายบอกไป "บ้านอูใต้" เป็นทางลูกรังตลอด)



(ยืนถ่ายรูปบนยอดเขาสูง เบื้องล่างคือเมืองยอดอู หรือ "บ้านอูใต้")


เมื่อไม่สามารถจะถ่ายภาพเมืองพงสาลีได้ จึงเดินทางออกจากเมืองพงสาลีกลับไปทางบ้านบุนเหนือ เพื่อเลี้ยวไปยัง เมืองอูใต้ เพื่อสืบหารอยพระพุทธบาทตาม "ตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลก" ต่อไป รถได้วิ่งมาถึงทางแยกซึ่งมีป้ายบอกทางไปยังเมืองอูใต้ มีระยะทาง ๙๓ กิโลเมตร จึงได้แวะฉันเพลระหว่างทาง ซึ่งเป็นทางลูกรังอัดแน่นมีสภาพดีพอใช้ได้ เดินทางข้ามเขาลงมาถึง "บ้านอูใต้" เวลาประมาณบ่าย ๒ โมง

"คุณไซคี" บันทึกข้อมูลไว้ในบล็อค oknation.net

♦ เมืองอู (Ou) เป็นเมืองทางเหนือของประเทศลาว อยู่ในแขวงพงสาลี เมืองยอดอูตั้งอยู่ริมน้ำอูที่ไหลผ่านเชื่อมโยงให้ล่องเรือลงมาได้จากเมืองอูจนถึงเมืองหลวงพระบาง


♦ เมืองยอดอูแบ่งออกเป็น 2 เมือง เป็นเมืองอูใต้ และ เมืองอูเหนือ เส้นทางการคมนาคมแสนลำบากทุลักทุเลมากโดยเฉพาะในหน้าฝนอาจจะตัดขาดจากโลกภายนอกเมืองอู เส้นทางการเดินทางจึงเหมาะที่จะเดินทางในหน้าแล้ง หรือหน้าหนาว น้อยคนนักที่เป็นคนไทย หรือคนต่างชาติจะเดินทางไปยังเส้นทางนี้ การเดินทางเริ่มจากเมืองเชียงของในฝั่งไทย ข้ามเรือไปเมืองบ่อแก้ว เดินทางต่อไปยังหลวงน้ำทา พัก 1 คืน

♦ จากนั้นเดินทางต่อไปยังเมือง อุดมไชย พัก 1 คืน จากนั้นเดินทางไปยังเมืองบุน (เหนือ) พัก 1 คืน เช้าจึงสามารถเดินทางไปยังเมืองอูไต้ และรอรถอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมงที่จะไปให้ถึงเมืองอูเหนือ หรือ เมืองยอดอู นับจากเมืองบุนขึ้นไปเงินที่จะใช้ได้คงเป็นเงิน เหรินหมินปี้ หรือ เงินเจี่ยว กับเงินกีบของปะเทดลาว เท่านั้น

♦ เส้นทางอาจจะไม่ยาวไกลสำหรับในความรู้สึกที่อยู่ในสังคมเมืองจนลืมชีวิตที่เปื้อนฝุ่น หรือเส้นทางในม่านฝุ่นเหล่านี้ แต่อย่าลืมว่ามีรถเพียง 1 คัน/วัน เท่านั้นที่จะเดินทางไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้

♦ เส้นทางการเดินทางบนรถที่ปะปนไปด้วยลาวเทิง หรือ ชนลาวที่เป็นชนเผ่าเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายชนเผ่า ตลอดจนไก่และหมู ดินแดนลาวเหนือเป็นดินแดนที่มีเผ่าต่าง ๆ อยู่มากมาย ม้ง ขมุ จีนฮ่อ ลาวห้วย ไทดำ ไทลื้อ แม้นจะแตกต่างกันด้วยขนบธรรมเนียมเฉพาะถิ่น




(จะมองเห็นแม่น้ำอูไหลผ่าน "บ้านอูใต้" จึงทำให้ชาวบ้านอูใต้มีความอุดมสมบูรณ์)


๙. รอยพระพุทธบาท "บ้านผ่อ" เมืองอูใต้ (ยอดอู) แขวงพงสาลี ประเทศลาว (พบใหม่)



(ผู้เขียนยืนที่สะพานข้ามแม่น้ำอู ก่อนถึงตลาดบ้านอูใต้ มองเห็นเครื่องปั่นไฟเล็กๆ วางบนเขื่อนเต็มไปหมด)

เมืองอูใต้นี้มีตลาดขายของส่วนใหญ่เป็นชาวจีน บ้านอูใต้นี้มีแม่น้ำไหลอูผ่าน จึงทำให้ชาวบ้านแถวนี้มีความอุดมสมบูรณ์กว่าหมู่บ้านอื่น มองไปที่สะพานข้ามแม่น้ำ จะเห็นมีมอเตอร์เล็กๆ มีใบจักรของเรือหางยาว ซึ่งหย่อนลงไปในน้ำเพื่อปั่นกระแสไฟ แล้วสายไฟก็โยงระเกะระกะไปตามบ้านเรือนต่างๆ ทำให้ชาวบ้านแถวนี้มีกระแสไฟใช้ตามบ้านเรือน แต่ก็เป็นแค่แสงสว่างเท่านั้น จะทำอย่างอื่นคงไม่ได้



(รถวิ่งผ่านตลาดบ้านอู่ใต้ ไม่กี่นาทีก็ถึงบ้านผ่อ)



(ชาวบ้านแถวนี้เป็นชาว "ไตลื้อ" เดิมอยู่ในเขตสิบสองปันนา ได้เดินนำเข้าไปไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้น)

รถได้วิ่งผ่านบ้านอูใต้ไปอีกประมาณ ๕ - ๖ ก.ม. จะถึงบ้านผ่อ [BAN PHOR] ตามข้อมูลที่ได้สอบถามเอาไว้แล้ว ได้พบชาวบ้านหลายคนแถวนี้ เดินนำไปที่รอยพระพุทธบาท อยู่ห่างถนนประมาณ ๕๐๐ เมตร จะมองเห็นศาลาครอบพระพุทธบาทแต่ไกล ด้านข้างศาลาจะมีลำห้วยเล็กๆ ส่วนด้านหลังเป็นป่าเขา



(ตอนแรกเป็นคนวัยหนุ่ม ตอนหลังมีชายผู้เฒ่ามาเล่าเรื่องราวให้ฟังหลายคน โดยมีคุณเอ็งเป็นล่ามให้)

ตามตำนานกล่าวไว้ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่อยู่ริมแม่น้ำ รอยพระพุทธบาทแห่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพราะถามใครก็รู้จักกันทั้งนั้น ลักษณะรอยพระพุทธบาทอยู่บนก้อนหินใหญ่ มีความสมบูรณ์ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลาครอบเอาไว้ แล้วเทปูนรอบๆ ก้อนหิน ได้มีการจัดงานสรงน้ำกราบไหว้เป็นประจำปีในวันสงกรานต์



พอไปถึงมองเห็นผ้าม่านกั้นกางอยู่บนก้อนหินรอยพระพุทธบาท
จึงได้เอาเชือกมาผูกกับเสาเพื่อแขวนฉัตร จะมองเห็นอยู่เหนือผ้าม่านของชาวบ้าน

บ้านผ่อนี้อยู่ระหว่างอูเหนือกับอูใต้ ในแผนที่เรียก "อูเหนือ" อูใต้เรียกว่า "เมืองยอดอู" รอยพระพุทธบาทจึงอยู่ระหว่างกลางสองเมืองนี้ เมื่อถึงงานไหว้ประจำปีจะมีชาวบ้านมากันมากมาย ผู้เขียนได้คุยกับชาวบ้านและคนในหมู่บ้านที่ดูแลรักษา ต่างก็บอกเสียงเดียวกันว่า มีการพบเห็นมานานแล้วตั้งแต่สมัยปู่ย่าโน้น มีความศักดิ์สิทธิ์และเคารพนับถือกันมานาน เคยมีคนเห็นดวงไฟลอยขึ้นเวลาวันพระวันโกน



(หลังจากได้ทำพิธีบวงสรวงสักการบูชาแล้ว จึงได้สรงน้ำหอมและโปรยดอกไม้)

มีลุงคนหนึ่งเล่าว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเคยเล่าสืบต่อกันมาว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่บนยอดเขาที่อยู่ตรงข้ามถนนไกลออกไปนี้ก่อน โดยพระพุทธองค์เสด็จประทับยืนทอดพระเนตรมาทางหมู่บ้านนี้ จึงได้เรียกว่า "บ้านผ่อ" แล้วจึงได้เสด็จประทับรอยพระพุทธบาท และมีรอยประทับนั่งบนก้อนหินอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก



(โดยก่อนนี้ผู้เขียนและคุณสำราญช่วยกันปัดฝุ่น แล้วล้างด้วยน้ำทำความสะอาดรอยพระพุทธบาท)

พวกเราได้ทำความสะอาด แล้วจึงได้เตรียมเครื่องสักการบูชา โดยแขวนฉัตรไว้กับเชือกด้านบน พร้อมกับเครื่องบูชามีฉัตรเงินฉัตรทอง ที่คณะชัยภูมิ (คุณหมี จากร้านสังฆภัณฑ์คิดบรรจง) ฝากมาด้วย แล้วจึงจุดธูปเทียนบูชาเปิดเทปบวงสรวงหลวงพ่อ พร้อมสรงน้ำหอม โปรยดอกไม้และปิดทองรอยพระบาท พร้อมกับสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยและคาถาเงินล้าน ด้วยความปลื้มปีติยินดี



(เครื่องบูชามีฉัตรเงินฉัตรทอง, พุ่มเงินพุ่มทอง ที่คณะคุณหมี จากชัยภูมิฝากมาถวายด้วย)



(หลังจากได้กราบไหว้แล้ว จึงเดินไปที่ศาลาครอบ "พระแท่นที่ประทับนั่ง" ต่อไป)

สถานที่แห่งนี้ไม่มีพระภิกษุมาอยู่อาศัยจึงไม่ได้เป็นวัด มีชาวบ้านเป็นผู้ดูแลรักษาไว้เท่านั้น จึงไม่ได้ถวายเงินไว้แต่อย่างใด ภายหลังคนขับรถบอกว่า ชาวบ้านเขาไม่ค่อยจะพอใจ เพราะพวกเราไม่ได้ให้อะไรเขาไว้เลย เป็นซะ...อย่างนั้น แต่ความจริงเขาก็ได้มากอยู่แล้วนะ แล้วเขาได้อะไรบ้างละ..อ๋อ..เขาก็ได้บุญในการกราบไหว้และสร้างศาลาครอบพระพุทธบาทไว้ไงละ..!

๑๐ รอยประทับนั่ง "บ้านผ่อ" เมืองอูใต้ (ยอดอู) แขวงพงสาลี ประเทศลาว (พบใหม่)



(ศาลาไม้หลังเล็กๆ ชาวบ้านสร้างคลุมไว้เช่นกัน แต่อยู่หลังบ้าน ปลูกผักและมีสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วย)

หลังจากนั้นได้เดินย้อนมากราบไหว้รอยประทับนั่ง (พุทธบัลลังก์ หรือ พระแท่นที่ประทับนั่ง) อยู่บนก้อนหินภายในศาลาเล็กๆ อยู่หลังบ้านชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากรอยพระพุทธบาทประมาณ ๕๐ เมตร เป็นรอยประทับนั่งของพระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมชาติสวยงามยิ่ง จึงได้นำพุ่มเงินพุ่มทองที่เหลือเป็นชุดสุดท้ายไปบูชา พร้อมกับสรงน้ำหอม โปรยดอกไม้ และปิดทอง



(ภาพถ่ายหลายๆ มุมของ "พระแท่น" มองเห็นแล้วชื่นใจเหลือเกิน คุ้มค่ากับที่เดินทางมาแสนไกล)



(ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย ชาวบ้านที่นี่รักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่มีการตบแต่งด้วยสีทองแต่อย่างใด)


จึงได้กราบไปก็อธิษฐานไปด้วยว่า ธรรมใดที่พระพุทธองค์ได้ทรงบรรลุแล้ว ขอให้พระแท่นพุทธบัลลังก์นี้ จงเป็นสักขีพยาน ขอให้พวกเราได้รู้แจ้งเห็นธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ รวมทั้งผู้ที่ฝากของมาถวายก็ดี หรือผู้ที่เคยนำปัจจัยใส่ย่ามไว้แล้วก็ดี ขอให้ได้มรรคผลนิพพานถ้วนทั่วกันทุกตัวคน โดยฉับพลันนั้นเทอญ



(ภาพสุดท้ายแห่งนี้ เป็นภาพวิหารพระพุทธบาท ที่ยืนถ่ายจากศาลาพระแท่นที่ประทับนั่ง)


เป็นอันว่า ผู้เขียนได้พบกับ "รอยพระพุทธบาท" สมดังเจตนา พร้อมกับแถมได้พบ "พุทธบัลลังก์" อีกด้วย ถือว่าการเดินทางครั้งนี้ได้ผลคุ้มค่าตามที่ตั้งใจไว้ ทั้งที่เดิมแทบจะไม่มีความหวังเอาไว้เลย เมื่อกราบไหว้บูชาเสร็จแล้ว จึงได้เดินทางต่อไปที่บ้านอูเหนือ แต่คนขับรถเลยไปอีก ๑๗ ก.ม. เกือบจะถึงชายแดนจีนอยู่แล้ว พอดีเป็นเวลาเย็นจึงต้องขับรถย้อนกลับมา แล้วเข้าไปพักที่ "เรือนพัก" ที่บ้านอูเหนือ ค่าที่พัก ๘๐,๐๐๐ กีบ เนื่องจากป้ายคำว่า "บ้านอูเหนือ" ล้มลงไป ทำให้มองไม่เห็นป้ายจึงขับรถเลยไป

๙ มกราคม ๒๕๕๔ (บ้านอูเหนือ - บ้านบุนเหนือ)

คำว่า "เรือนพัก" ของลาวหมายถึง "โรงแรม" นั่นเอง แต่เป็น "เรือนพัก" ที่อยู่ห่างไกล มีชาวจีนมาสร้างเอาไว้ ถ้าไม่งั้นต้องนอนที่กลางทุ่งนากันแน่ แต่พวกเราก็เตรียมถุงนอนและมุ้งเอาไว้แล้ว ยังไม่มีโอกาสได้ใช้เลยนะนี่ หมู่บ้านอูเหนือไม่ค่อยเจริญเหมือนบ้านอูใต้ กลางคืนก็มืดค่ำแล้ว พวกฆราวาสออกไปหาอาหารเย็นทานกัน แต่ก็ไม่มีอะไรนอกจากบะหมี่สำเร็จรูป โชคดีที่ชาวบ้านต้มน้ำร้อนใส่กระติกมาให้ พร้อมกับนำเทียนมาจุดให้แสงสว่าง คืนนั้นผู้เขียนไม่กล้าอาบน้ำ เพราะอากาศหนาวเย็นเหลือเกิน แล้วก็มองอะไรไม่เห็นเลยมืดไปหมด

๑๑. วัดไซ บ้านอูเหนือ เมืองยอดอู แขวงพงสาลี ประเทศลาว



(หลังจากเข้าไปกราบนมัสการพระประธานในวิหารแล้ว จึงได้ออกมาถ่ายรูปที่ด้านหน้าวิหาร)

ตอนเช้าตื่นขึ้นมาอากาศสดชื่นค่อยหายเพลียหน่อย มองดูรอบๆ เห็นเป็นทุ่งนา หลังจากฉันเช้าด้วยบะหมี่สำเร็จรูป ผลไม้ และขนมปังแล้ว ก็มาแวะที่วัดแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน ชื่อว่า "วัดไซ" (คงจะเป็น วัดไชย) เป็นวัดเล็กๆ มีพระแค่ ๒ รูปเท่านั้น อายุ ๖๐-๗๐ แล้ว จึงได้ถวายเครื่องไทยทาน ๑ ชุด พร้อมกับย่ามอีก ๑ ใบ และถวายปัจจัย ๒๐,๐๐๐ กีบ แล้วถ่ายรูปกับพระลาวไว้เป็นที่ระลึกด้วย

๑๒. วัดหลวง (วัดอูเหนือ) บ้านอูเหนือ เมืองยอดอู แขวงพงสาลี ประเทศลาว

คนขับรถได้นำไปที่วัดอีกแห่งหนึ่ง ตามที่ได้สอบถามมาแล้วว่าหมู่บ้านนี้มีวัด ๒ วัดเท่านั้น นับว่าทางด้านลาวเหนือ พระพุทธศาสนามีทีท่าว่าจะโรยรา ชาวบ้านแถวนี้ส่วนใหญ่เป็น "ชาวไตลื้อ" เดิมอยู่ในเขตปกครองของเมืองเชียงรุ่ง แคว้นสิบสองปันนา หลังจากยุคฝรั่งเศษปกครองได้ตกมาเป็นของลาว


(ภาพจาก board.trekkingthai.com)

รถได้วิ่งเข้าไปในวัดตอนเช้า มองไม่เห็นใครเลย คนขับรถต้องเดินขึ้นไปบนกุฏิ ปรากฏว่ายังไม่มีใครตื่น ต้องไปปลุกสามเณรองค์หนึ่งขึ้นมาด้วยความงัวเงีย ถามหาเจ้าอาวาสก็ยังไม่ตื่น จึงได้ฝากถวายเครื่องไทยทาน ๑ ชุด พร้อมขอให้สามเณรเพื่อนำทางไปขึ้นพระธาตุ ที่อยู่บนเขาไม่ไกลจากวัดหลวงนี้ พระเณรในลาวที่นี่ไม่รู้จักพระวินัยเลย สังเกตจากปฏิบัติแล้วนี้ (นี่คุณวัชรพลบันทึกไว้อย่างนี้นะ)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


webmaster - 28/2/11 at 16:37

๑๓. พระธาตุอูเหนือ วัดหลวง เมืองยอดอู แขวงพงสาลี ประเทศลาว (พบใหม่)



("ทาดอูเหนือ" นี่เขียนตามภาษาลาว อยู่บนยอดเขาข้างวัดหลวง แต่คนไทยอ่านแล้วก็เข้าใจ)

สามเณรได้รับอาสาเดินนำไป คือวัดหลวงอยู่บนเนินเขา ต้องเดินลงเล็กน้อยแล้วข้ามสะพานที่แม่น้ำ มองเห็นพระธาตุที่อยู่บนยอดเขาแต่ไกล อยู่ห่างจากวัดประมาณ ๓๐๐ เมตร มีแม่น้ำกั้นเอาไว้ สะพานนี้เขามีเครื่องเรือหางยาวปั่นไฟวางเต็มไปหมด จึงทำให้เดินลำบากมาก แทบจะตกน้ำกันไปหลายครั้ง บางช่วงต้องคลานไปก็มี



(เดินลงจากวัดหลวง ซึ่งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ แล้วลงมาข้ามสะพาน จากนั้นเดินไปที่ภูเขาข้างหน้า)



(ภาพระยะไกลกลางทุ่งนา จะมองเห็นพระธาตุอยู่บนยอดเขา และด้านล่างมีศาลาเก่าอยู่ด้านหน้าทางขึ้น)



(น้ำรินที่ไหลลงมาจากเบื้องบนพระธาตุอย่างไม่มีวันหมด ชาวบ้านได้สร้างให้ไหลออกจากปากพญานาค)

เสี่ยงเดินข้ามสะพานไปได้แล้ว ต้องเดินลัดเลาะไปที่เชิงเขา มองเห็นบันไดขึ้นพระธาตุประมาณ ๒๐๐ ขั้น มองเห็นน้ำไหลออกมาจากปากพญานาคที่ชาวบ้านสร้างไว้ ทำให้นึกถึงก่อนที่จะมา ชาวบ้านคนหนึ่งได้เล่าว่า น้ำนี้ไหลมาจากองค์พระธาตุด้านบนยอดเขา ชาวบ้านเคยนำน้ำมาดื่มกิน สามารถรักษาโรคได้



(บันไดทางขึ้นหญ้ารกและเปียกชื้นมีตะไคร่ขึ้น แต่ก็เดินได้สบายๆ ไม่ลื่น)

เมื่อเดินขึ้นไปบนองค์พระธาตุ ชาวบ้านบอกว่ามีอายุเก่าแก่ประมาณ ๕๐๐ ปี ไม่ทราบว่าสร้างในสมัยใด ไม่รู้ประวัติเลย ข้างล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยม ข้างบนเป็นทรงระฆังเก่าแก่ มีศาลาเล็กๆ อยู่ด้านข้าง จึงได้เปิดเทปบวงสรวงหลวงพ่อ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย สรงน้ำหอมและปิดทององค์พระธาตุ



(ศาลาเก่าข้างองค์พระธาตุ สร้างไว้ทำบุญทำทานตามประเพณีทุกปี)


ผู้เขียนได้นั่งทำพิธีบวงสรวงภายในศาลาหลังนี้ แล้วอาราธนาบารมีที่จะทำพิธีรวมทุกแห่ง ณ เมืองอูเหนือ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาในอาณาเขตนี้ จะได้เจริญรุ่งเรืองตลอดอายุ ๕,๐๐๐ ปี โดยมี "พระธาตุอูเหนือ" เป็นศูนย์กลาง ซึ่งพวกเราได้ทำพิธีเหมือนกันกับที่ "พระธาตุภูฟ้า" ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมเมืองพงสาลีเช่นกัน


(คำแปลจากป้ายจารึกอักษรลาว.. ทาดองนี้ สร้างเมื่อพระเจ้าโคตมะ (พระพุทธเจ้า) ไปปรินิพพานอยู่ประเทศอินเดีย 800 ปี ต่างหน้าเมืองไปมาในเมืองนี้จึงได้สร้างทาดนี้ขึ้นที่ พูแมวปิว นานเท่าใดก็ไม่รู้ นางฟ้าเป็นเจ้าเมืองอู ปี 1010 ระดมแรงงานได้ 1000 คน ถึงปี 1080 ได้นำมาพาชาวเมืองอู.....)



(คุณไซคี เป็นผู้เขียนคำแปลนี้ ซึ่งผู้เขียนได้นำรูปภาพมาประกอบจากเว็บ board.trekkingthai.com)

ก่อนจะกลับพวกเราได้เดินลงมาดื่มน้ำและล้างหน้ากันที่นี่ แล้วได้ถวายปัจจัยให้สารเณรที่นำทาง ๒๐,๐๐๐ กีบ แล้วเดินไปที่ด้านหน้าวัดได้ได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งได้ทราบข่าวจากคนเฝ้าเรือนพัก ต่างก็มารออยู่เกือบ ๑๐ คน ผู้เขียนได้ซักถามโดยมีคนขับรถเป็นล่ามช่วยแปล ทำให้ทราบว่ายังมีรอยพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่ง เดิมเรียกว่า "บ้านเสี๊ยะ" ซึ่งต้องเดินข้ามเขาไปอีกไกลเป็นชั่วโมง



(ชาวบ้านอูเหนือมารออยู่ที่ประตูทางเข้าวัดอูเหนือ)


แต่เดิมเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ได้มีชาวบ้านเคารพนับถือกราบไหว้รอยพระพุทธบาทกันเป็นประจำ ชาวบ้านก็มีศีลมีธรรม ทำให้คนในหมู่บ้านมีอายุยืน ไม่ค่อยมีใครตาย อาจจะเป็นภาระหรืออย่างไร ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวบ้านหันไปทำลายชีวิตสัตว์ เพื่อให้อายุไม่ต้องยืนยาวเกินไป คือฆ่าหมีตัวหนึ่ง แล้วกรรมชั่วนี้เองทำให้ชาวบ้านแห่งนี้เริ่มมีอายุสั้นลง ผลที่สุดกาลเวลาผ่านไปนายหลายชั่วอายุคน รอยพระพุทธบาทแห่งนี้ก็หายไปด้วย



(ลาจากเมืองยอดอู และได้พบกับมิตรภาพของคนไทลื้อ ด้วยภาษาไทยแม้นบางครั้งจะปนภาษาจีน )

>

รถบัสโดยสารจากบุนเหนือ - ยอดอู สามารถวิ่งขึ้นเขาสูงได้ (ภาพจาก oknation.net)



(ผู้เขียนและคุณสำราญยืนถ่ายรูปที่ป้ายใหญ่ริมถนน ก่อนที่จะแวะฉันเพลที่บ้านอูใต้)

ชาวบ้านที่มารอพบเหล่านี้เป็นผู้ชายทั้งสิ้นได้เล่าต่อไปว่า เคยให้พระมาทำพิธีขอขมาโทษ ด้วยการทำบายศรีกราบไหว้บูชา ถึงอย่างไรก็ดียังไม่พบรอยพระพุทธบาทนี้อีก ซึ่งหมู่บ้านนี้ก็รกร้างเป็นป่าเขาไปหมดแล้ว อีกทั้งผู้เขียนก็ไม่มีเวลาพอ จึงได้แต่ให้ทุกคนอธิษฐานไว้ หากถึงเวลาเมื่อใด เทพดาอารักษ์คงจะทำปรากฏให้เห็นได้อีก จากนั้นก็ได้อำลาชาวบ้าน ออกเดินทางย้อนกลับมาฉันเพลที่บ้านอูใต้ และเดินทางไปพักค้างคืนที่บ้านบุนเหนือ

๑๔ วัดบุนเหนือ บ้านบุนเหนือ เมืองบุนเหนือ แขวงพงสาลี ประเทศลาว

เดินทางกลับมาถึงบ้านบุนเหนือในเวลาเย็นพอดี ทางลาวเหนือด้านนี้มีความเจริญทางด้าน "เรือนพัก" ถึงแม้จะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่พวกเราก็หากันไม่ยากนัก ช่วงเย็นยังไม่มืดค่ำ จึงวางแผนที่จะไปทำบุญที่วัดบุนเหนือ ซึ่งเหลือสังฆทานอยู่ ๑ ชุด แต่ไม่มีย่ามและอาสนะกับชุดกันหนาว จึงถวายพระที่วัดนี้ พร้อมปัจจัยอีก ๓๕,๐๐๐ กีบ เพราะเห็นว่ากำลังมีการสร้างแท่น เพื่อรองรับรูปพระแม่ธรณีเอาไว้ด้านหน้า ตอนเข้าไปในวัดฝนตกลงมาปรอยๆ ด้วย



สามแยกบ้านบุนเหนือ ถ้าจะเข้าไปบ้านบุนเหนือเราต้องเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกไม่ไกล แต่เราไปพงสาลีต้องตรงไป ที่บ้านบุนเหนือมีสนามบิน ถ้าจะมาพงสาลีต้องมาลงเครื่องที่นี่ แล้วต่อรถเข้าพงสาลีอีกที (ภาพจาก landroverthailand.net/)

หลังจากนั้นจึงไปที่สามแยกทางไปพงสาลี (เลยสามแยกไป ๒๐๐ เมตร) ได้แวะเข้าไปด้านหน้าของโรงเรียนการปกครองอีกครั้ง เพื่อทำพิธีสักการบูชารอยพระพุทธบาทที่เคยประดิษฐานไว้ ณ.ที่นี้ พร้อมทั้งบวงสรวงเทปหลวงพ่อ สรงน้ำหอมและปิดทอง สวดอิติปิโส และคาถาเงินล้าน พร้อมกับอุทิศส่วนกุศลด้วย เป็นอันจบพิธีการกราบไหว้รอยพระพุทธครบถ้วนทุกแห่ง ตอนนี้แปลกดีที่อากาศครึ้มๆ อยู่ก็มีแสงแดดโผล่ออกมาได้สักครู่แล้วก็เหมือนเดิม

ช่วงหัวค่ำผู้เขียนเตือนให้คนขับรถคือ "คุณเอ็ง" ช่วยแปล "หนังสือประวัติพระสิงห์คำ" โดยให้คุณวัชรพลเป็นผู้บันทึก ในขณะที่นั่งแปลอยู่หน้าเรือนพัก ปรากฏว่ามีฝนตกปรอยลงมาทันที ตอนแรกพวกเราก็คิดว่าเป็นธรรมชาติ แต่วันต่อมาได้กลับมาพักที่อุดมไชย ในขณะที่กำลังแปลอยู่นั้น ฝนก็ตกลงมาอีก ทั้งๆ ที่ช่วงนี้เป็นฤดูหนาว ผู้เขียนจึงถือโอกาสอันเป็นมงคลนี้ ที่เป็นแรงกระตุ้นเตือนใจให้ติดตามไปกราบพระพุทธรูปที่มีความสำคัญในลาวอีก...

(โปรดติดตามตอนต่อไปคำแปล "หนังสือประวัติพระสิงห์คำ")



หนังสือ "ประวัติพระสิงคำ"

แปลจากภาษาลาวเป็นภาษาไทย โดย..คุณเอ็ง และ คุณวัชรพล (บุ๋ม) ศรีขวัญ


(หนังสือ "ประวัติพระสิงคำ" ขอสงวนลิขสิทธิ์)

ประวัติความเป็นมาของพระสิงคำ หลายขั้นตอนไม่ต่อเนื่องกันและตกอยู่ในสมัยสงครามหลายครั้ง บางส่วนของประวัติก็ถูกไฟไหม้ คนที่รู้ก็ตายไปแล้วบ้าง พระสิงคำนี้มีประวัติยาวนานกว่า ๒,๔๐๐ กว่าปีแล้ว...

ปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ.๒๕๓๙) ไปพบ "ประวัติพระสิงคำ" อยู่เมืองเวียงจันทร์ที่ วัดศรีเมือง เป็นหนังสือผูกใบลาน ซึ่งมีอยู่สองผูกเป็นตัวหนังสือธรรมใบลาน...

พระพุทธรูปองค์นี้หล่อในลังกาทวีป เมื่อทำการหล่อเสร็จแล้วนั้น นิ้วหัวแม่มือเบื้องขวาไม่เชื่อมกันเป็นเนื้อเดียว (ในปัจจุบันนี้ก็ยังเห็นรอยต่อของนิ้วหัวแม่มือกับองค์พระอยู่) พระสิงคำเคยมาสถิตอยู่ที่เมืองทรายฟอง (เวียงจันทร์) มาก่อน แล้วหายสาบสูญไป แต่กับไปปรากฏให้เห็นว่าจมอยู่ในวังน้ำ ชื่อว่า "วังห้อม" ในแม่น้ำพาก อยู่ระหว่างแขวงพงสาลีกับแขวงอุดมไชย ประมาณปี ค.ศ. 1353 (พ. ศ. ๑๘๖๙) โน้น

นับตั้งแต่นั้นมามีการเล่าขานกันว่า ชาวเขาเผ่าต่างๆ พยายามสืบค้นหาพระพุทธรูปองค์นี้ พวกชาวเขาเผ่าลาวเถิง เผ่ากึมมุบ้านลัน เผ่าพูลิงก๋อย พยายามค้นหาพระพุทธรูปองค์นี้ไปตามแม่น้ำพาก และแม่น้ำอู ก็มาเจอกับพระอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อพระอาจารย์วัดได้เล่าประวัติของพระสัมฤทธิ์เกี่ยวพันมากับพระสิงคำ มีพระห้าองค์ที่มาพร้อมกันคือ

๑. พระฆ้อง
๒. พระหิน
๓. พระนัก
๔. พระสัมฤทธิ์ และ
๕. พระสิงคำ


ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พระเจ้าฟ้างุ่ม ได้อัญเชิญพระทั้ง ๕ องค์นี้ ล่องมาตามลำน้ำโขง และล่องลงสู่แม่น้ำอู ส่วน "พระสิงคำ" ได้อัญเชิญมาทางแม่น้ำพาก เมื่อถึงวังห้อมเรือได้จมลง

ต่อมาพระสิงคำถูกอัญเชิญขึ้นมาจากน้ำ และประดิษฐานไว้ที่เมืองล่าจนถึงปัจจุบันนี้ ตามประวัติพระสิงคำจะมีอยู่ ๓ ชื่อคือ พระสิหิง สีหิงคะพุทโธ สุจิกะแซดคำ หรือ "สิงคำ" ต่อมาชาวเมืองล่าก็เรียกว่า "พระสิงคำ" มาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

ประวัติพระสิงคำ

ประมาณปี พ.ศ. ๑๐๐ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้หนึ่งร้อยปีแล้ว มีพระอรหันต์ชื่อ "พระอริยะวังโส" พร้อมด้วยเพื่อนพระอรหันต์รวม ๑๙ องค์ มีความต้องการที่อยากจะเห็นพระพุทธเจ้า พวกเราทั้งหลายเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่มีโอกาสเห็นรูปร่างหน้าตาของพระองค์ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเห็นได้

ในขณะที่พระภิกษุตั้งปัญหากันอยู่นั้น มีพญานาคตนหนึ่งแปลงกายเป็นชายหนุ่มมานั่งต่อหน้าพระภิกษุทั้งหลายแล้วกล่าวว่า

"ข้าแด่ผู้ทรงศีลทั้งหลาย ถ้าพวกท่านอยากจะเห็นพระพักตร์ของพระพุทธองค์แล้วไซร้ ให้ท่านทั้งหลายจัดแจงสถานที่ให้เป็นที่ราบ แล้วหาเครื่องสักการบูชาให้ครบ ๗ วัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะมาปรากฏตัวในที่นั้น พูดดังนี้แล้วก็หายตัวไปในทันที

ต่อมาพระอริยสาวกก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพญานาค พอถึงวันที่ ๗ ก็ปรากฏเห็นภาพของพระพุทธเจ้าที่สง่างาม วัดความสูงได้ ๑๘ ศอก เปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมี ๖ ประการ เรืองรุ่งอยู่ ณ สถานที่นั้น ทุกคนที่ได้มาเห็น ต่างก็ไม่อิ่มไม่เบื่อในการสักการบูชา

จากนั้นรูปภาพนั้นก็หายไป ภิกษุอรหันต์ทั้งหลายก็ปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรถึงจะได้รูปของพระองค์ไว้สักการบูชา จึงได้ตกลงที่จะหล่อรูปพระองค์ขึ้น ด้วยทองหลาว, ทองแค, ทองสัมฤทธิ์, ผสมรวมกันและมีฆราวาสต้นศรัทธาสมทบร่วมในการหล่อคือ พระยาอุพโพขัตติยะ

ภายหลังหล่อสำเร็จปรากฏว่า นิ้วหัวแม่มือเบื้องขวาขาดหายไปไม่เชื่อมเข้าหากัน พระอรหันต์ทั้งหลายจึงขอให้พระอรหันต์ที่มีอาวุโสหล่อให้สำเร็จ พระอรหันต์ผู้มีอาวุโสกลับบอกว่า ไม่ต้องหล่อพร้อมกับให้คำทำนายว่า ในกาลข้างหน้าจะมีพระยาท่านหนึ่ง จะเป็นผู้หล่อนิ้วมือนี้และเชื่อมต่อให้เสร็จ

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๑๐๓ พระพุทธรูปองค์นี้ได้แสดงอภินิหาร คือเสด็จไป เมืองอินทปัทฐา (นครพนมเปญ ประเทศกัมพูชา)

ปี พ.ศ. ๑๐๔ จึงเสด็จคืนสู่ลังกาทวีปเหมือนเดิม ชาวเมืองเห็นว่าพระองค์นี้มีอภินิหารอย่างยิ่ง จึงพร้อมกันเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับนำหมอโหรมาทำนายพระพุทธรูปองค์นี้ หมอโหรตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "สิหิงคะพุทโธ" "สุจิกะแซดคำ" หรือ "สิงคำ" ประชาชนทั่วไปจึงนิยมเรียกเป็น "พระสิงคำ" ตราบเท่าทุกวันนี้ หมอโหรยังทำนายอีกว่า พระพุทธรูปองค์นี้จะไปสถิตอยู่แถวเอเชียอาคเนย์และจะอยู่บนภูแห่งหนึ่งชื่อว่า "ภูเขาควาย" จนชั่วกาลนาน

ต่อมา พระยาศรีธรรมราช เจ้าผู้ปกครองเมืองอยุธยา เป็นสหายกับพระยาอุพโพขัตติยะที่อยู่ลังกาทวีป ได้รู้ข่าวของพระสิงคำว่ามีอิทธิปาฏิหาริย์ จึงคิดอยากได้ไว้สักการบูชา จึงส่งราชทูตพร้อมเครื่องบรรณาการมาถวายให้แก่พระยาอุพโพขัตติยะ ถ้าไม่ให้จะใช้กำลังแย่งเอาไป

พระเจ้าอุพโพขัตติยะจึงได้มอบพระสิงคำให้แก่พระยาศรีธรรมราช โดยเตรียมเรือสำเภาแล้วอัญเชิญพระเจ้าสิงคำลงเรือพร้อมกับอธิษฐานว่า ขอให้พระพุทธรูปทรงแสดงอภินิหารให้มวลหมู่มนุษย์ได้รับรู้ด้วยเถิด แล้วจึงให้เรือสำเภาล่องมาตามมหาสมุทร พอเรือสำเภามาถึงครึ่งทางก็ชนหินที่มีลักษณะเหมือนรูปช้าง เรือสำเภาแตกอัปปางลง

พระเจ้าสิงคำไม่ได้จมน้ำแต่อย่างใด สถิตอยู่บนกระดานแผ่นเดียวล่องลอยในมหาสมุทร ไปจนถึงเมืองอยุธยาด้วยการเฝ้ารักษาของพญานาค ในระหว่างนั้น พระยาศรีธรรมราชนอนหลับฝันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้มาถึงเมืงอยุธยาแล้ว

เมื่อตื่นขึ้นมาจึงแต่งเสนาอำมาตย์ออกไปดูอยู่ที่ท่าน้ำ เห็นพระพุทธรูปสถิตอยู่บนไม้กระดานแผ่นเดียว เหล่าเสนาอำมาตร์จึงตีฆ้องร้องป่าวประกาศให้ชาวเมืองทราบ นำข้าวตอกดอกไม้ไปต้อนรับแล้วทำการสมโภชครบถ้วน แล้วแห่พระเจ้าสิงคำไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองอยุธยาเพื่อกราบไหว้บูชา ต่อมามีพระยาชื่อว่า “มหาพรหม” ได้ทำการหล่อหัวแม่มือเบื้องขวาให้สมบูรณ์ในสมัยอยุธยานี้

พระเจ้าสิงคำสถิตอยู่ที่เมืองอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย ได้ ๑๔ อายุเจ้าพระยา (ประมาณ ๕-๖๐๐ ปี) ปี พ.ศ. ๘๖๘ พระองค์นี้ได้มาสถิตอยู่ที่เมืองล้านช้าง สมัย พระเจ้าโพธิสาร ครองบัลลังก์เสวยราชย์ที่ล้านช้าง

พระพุทธรูปองค์นี้ ในสมัยอยู่ที่เมืองอยุธยามีชื่อเรียกว่า "พระสิหิง" หรือ "แซดคำ" ส่วนชื่อ "พระสิงคำ" นี้ได้ชื่อมาภายหลังจากที่ได้มาอยู่ เมืองศรีสัชนาคนหุต (หลวงพระบาง) และได้ย้ายไปสถิตอยูที่ เมืองชายฟอง (เวียงจันทร์) นับแต่พระสิงคำสถิตอยู่ที่เมืองเวียงจันทร์ รวมได้ ๒๒ อายุชั่วพระยา (ประมาณ ๙๐๐ ปี)

ประวัติพระสิงคำ (ภาค ๒)

พระสิงคำปรากฏอยู่ ณ วังห้อม แม่น้ำพาก เมืองล่า แขวงอุดมไชย เมื่อปี ค.ศ. 1353-1355 ในศตวรรษที่ 14 (ประมาณปี พ.ศ. ๑๘๙๖) จากการเล่าสืบต่อกันมา...

ในสมัย เจ้าฟ้างุ้ม รวมประเทศลาวสำเร็จแล้ว ได้สืบต่อขยายศาสนาพุทธ จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูป ๕ องค์ มาจากเวียงจันทร์ เพื่อมาสถิตอยู่จุดสำคัญของแต่ละเมือง คือ

๑. "พระฆ้อง" สถิตอยู่ที่ เมืองงอย หลวงพระบาง

๒. "พระหิน" สถิตไว้ชายแดนเวียตนาม แต่พระองค์นี้ได้จมน้ำอยู่ที่ "วังควาย" ดอนน้ำนัว อยู่เหนือบ้านสบนาว อยู่ในจังหวัดพงสาลี (ผู้เขียนยังไม่พบ)

๓. "พระนัก" เอาไปไว้ที่ "เมืองยอดอู" แขวงพงสาลี (ผู้เขียนยังไปไม่ถึง) ปัจจุบันยังจมอยู่ในแม่น้ำอู ที่บ้านสบวัน

๔. "พระสัมฤทธิ์" แม่ทัพฝ่ายขวาของพระเจ้าฟ้างุ้ม อัญเชิญไปไว้ที่ "เมืองขวา" แขวงพงสาลี (เมืองขวานี้เรียกตามตำแหน่งของ "แม่ทัพฝ่ายขวา" มาจนถึงปัจจุบันนี้ ชาวลาวออกเสียงว่า "เมืองขัว")

๕. "พระสิงคำ" แม่ทัพฝ่ายซ้ายของพระเจ้าฟ้างุ้ม อัญเชิญไปไว้ที่ "เมืองเชียงรุ้ง" (สิบสองปันนา) เมื่อนำขึ้นมาบนเรือแล้วล่องมาตามแม่น้ำพาก ปรากฏว่ามีข้าศึกเข้ามาโจมตีจึงเกิดการต่อสู้กัน จึงเรียกบริเวณนั้นว่า "วังสู้" จากนั้นข้าศึกก็รายล้อมโจมตีเรื่อยมา จนกระทั่งพระสิงคำได้จมไปในบริเวณนี้ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า "วังห้อม" (ล้อม)

วังห้อม (ล้อม) อยู่บริเวณ "แก่งแม่น้ำพาก" ซึ่งอยู่ระหว่างกลางชายแดนเมืองขวา แขวงพงสาลี และ
เมืองล่า แขวงอุดมไชย ต่อมามีชาวบ้านหาดนาง ชื่อว่า "แสนซวก" ได้มาทอดแหหาปลาถึงวังห้อม เมื่อทอดแหหาปลาไปในแม่น้ำ บังเอิญแหของแสนซวกนี้ไปติดพระเกศ ดึงยังไงก็ไม่ขึ้นจึงตัดสินใจดำลงไปดู เห็นเป็นเกศพระพุทธรูปก็ตกใจ แต่ยิ่งตกใจมากขึ้นเมื่อ "พระสิงคำ" เปล่งแสงรัศมีอย่างสวยงามประดิษฐานอยู่บนแท่นหิน ซึ่งมีลักษณะเหมือนคนตบแต่งไว้อย่างน่าอัศจรรย์ ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า "พญานาค" เป็นผู้ปกปักรักษาดูแล

เมื่อแสนซวกนำเรื่องมาบอกกล่าวกับชาวบ้าน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อนำพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นจากแม่น้ำ จึงได้ตีฆ้องร้องป่าวบอกกล่าวไปทั่วทุกบ้านตามแม่น้ำพากและแม่น้ำอู เขตเมืองขวา แต่ไม่สามารถเอาขึ้นมาได้ จึงบอกข่าวมาทางเมืองล่าให้ทราบ

เมื่อทางเมืองล่าได้ทราบเรื่องแล้ว ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันมาและพยายามบอกแต่ละบ้านให้ฟั่นเชือกมา และต่อกันให้ได้ยาว ๑๐๐ วา เพื่อยกพระสิงคำขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้ผล

แต่มีชาวเขาเผ่าหนึ่งชื่อว่า "เผ่ากัมมุ" ซึ่งมีอยู่เจ็ดหลังคาเรือนเรียกว่า "บ้านหลัน" ทั้งหมดปรึกษาหารือกันมี เฒ่าสัน เฒ่าสน เฒ่าสาง เฒ่าสม เฒ่าจา เฒ่าแขก และ ยะล่าม ซึ่งเป็นแม่ม่าย ตกลงใช้หญ้าคาเขียว เฟืองข้าวกล่ำ(ข้าวเหนียวดำ) สายฝ้ายดำและสายฝ้ายแดงมารวมกันฟั่นเป็นเชือกจนได้ ๑๐๐ วา

เมื่อถึงเวลานัดหมายก็นำเชือกที่ทำนั้น พากันไปที่จุดนัดหมายที่วังห้อม พอไปถึงก็ยกมือไหว้อธิษฐานว่า

“สาธุ ขอให้เทวบุตร เทวดา แม่คงคา พญานาค จงช่วยพวกข้าทั้งหลายยกเอาพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมาด้วยเถิด”

แล้วพร้อมกันพูดเป็นภาษาลาวเทิ่ง (กัมมุ) ว่า

“วาเหรอนางเหรอจอม จิมเหมะฉันเรื่อง จอมจิมเฟืองเงาะเที่ยว” (ลุกขึ้น ลุมย้อมเชือกหญ้าคา ลุมย้อมเฟืองข้าวกล่ำ)

พูดแล้วจึงให้คนดำลงไปนำเชือกไปมัดไว้กับพระพุทธรูปสิงคำ พร้อมกันดึงขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย สร้างความมหัศจรรย์แก่คนทั้งหลายยิ่งนัก

ภายหลังที่นำพระพุทธรูปสิงคำขึ้นมาได้แล้ว ใครๆ ก็อยากเอาไว้บูชา เกิดมีการขัดแย้งระหว่างเมืองขวาและเมืองล่า เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงตกลงเสี่ยงเอาด้วยบุญวาสนา จึงอัญเชิญพระพุทธรูปใส่เรือแล้วอธิษฐานว่า ถ้าพระสิงคำไหลลงทางใต้ก็คือ พระพุทธรูปจะไปอยู่ที่เมืองขวา ถ้าไหลขึ้นไปทางเหนือก็คือ พระพุทธรูปสิงคำจะไปอยู่ที่เมืองล่า

พออธิษฐานแล้วก็ปล่อยมือสู่กลางวังน้ำ เรือได้ทวนน้ำอย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ จึงตกเป็นของเมืองล่า แล้วมอบหมายให้ชาวบ้านภูลิงก๋อย (เผ่าขมุ) เป็นผู้ดูแลรักษาพระพุทธรูปองค์นี้ พอชาวบ้านแห่พระจากวังห้อมมาถึง "ภูกิ่วอิด" ผู้แบกหามทั้งหมดก็เกิดอาการเหนื่อยล้า ยกแบกยังไงก็ไม่ขึ้น และเคลื่อนย้ายไปก็ไม่ได้ จึงพักไว้อยู่ที่นั้น

ในเมื่อไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปทางไหนได้ จึงเอาหมอโหรมาทำนาย ซึ่งทำนายว่าพระองค์นี้จะสถิตอยู่ภูเขาควายที่ปากน้ำพบสบน้ำต่อ จึงรู้ว่าภูกิ่วอิด (ภูเขาควาย) ตั้งอยู่ระหว่างกลางแม่น้ำล่าและแม่น้ำพากมาบรรจบกัน จึงเคลื่อนย้ายพระสิงคำองค์นี้ขึ้นมาไว้ข้างบนภูเขา (ซึ่งเป็นวัดสิงคำในปัจจุบันนี้)

ชาวเมืองจึงพร้อมกันปกปักรักษาพระพุทธรูปองค์นี้ ต่อมาทางการได้โยกย้ายชาวหมู่บ้านหลันมาอยู่บริเวณภูเขาควาย และให้ชาวบ้านหลันช่วยดูแลรักษาพระพุทธรูปสิงคำนี้

ต่อมาชาวบ้านหลันได้ย้ายมาอยู่ริมถนนในปี ค.ศ. 1979 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านสามัคคีชัย หลัก 15" จากอุดมไชยจนถึงทุกวันนี้ ประชาชนลาวเทิ่ง (ขมุ) ในหมู่บ้านหลัน ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และเมื่อปลูกข้าวได้ข้าวใหม่ๆ จะนำไปทำบุญใส่บาตร และมีการกินทานตามคติศาสนาพุทธอีกด้วย

ลักษณะของพระสิงคำ

ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ทองหลาง (ทองเหลือง) และทองแดง
ความสูงจากพระเกศถึงพระบาท 114 ซ.ม. หน้าอกกว้าง 54 ซ.ม. หน้าตักกว้าง 76 ซ.ม.

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประดับด้วยสร้อยสังวาล ฝังเพชรนิลจินดา อย่างสวยสดงดงาม พระโอษฐ์เบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส พระพักตร์งดงาม พระจักษุ มีแววแห่งความเมตตา อุเบกขาอย่างเห็นได้ชัด พระเกศ ปั้นหล่อได้งดงามสมลักษณะ ใครได้เห็นต้องเกิดศรัทธาเลื่อมใสอยากกราบไหว้บูชา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จไปกราบไหว้บูชามาแล้วถึง ๒ ครั้งแล้ว

คำอธิษฐาน

พระสิงคำเป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีคนมากราบไหว้บูชากันมากในทุกเทศกาลงานสำคัญในพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น มีผู้คนต่างก็มาอธิฐานขอสิ่งต่างๆจากพระพุทธรูปองค์นี้มาก และถ้าไม่เกินวิสัยแห่งกฎของกรรมแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างมากมาย

เหตุการณ์บางอย่าง

สมัยพระเจ้าอุ่นคำตรองราชย์สมบัติ พวกเจืองมาเจาะเอาหัวใจไป แต่เกิดมีฟ้าร้องฟ้าผ่า พายุพัดต้นไม้ล้ม พวกเจืองตายน่าอัศจรรย์มาก
ในปางสงครามกับอเมริกา เมืองหล้ามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดใส่วัดแต่ไม่ระเบิด ไม่ถูกวัด ไปตกที่อื่น
เมื่อถึงวันพระ ๑๔-๑๕ ค่ำ พอตกตอนค่ำพระเจ้าสิงคำจะหายตัวไป พอถึงเช้าก็เห็นอยู่ที่เก่า

การก่อสร้างวัดพระเจ้าสิงคำ

กล่าวถึง "ภูเขาควาย" ภายหลังที่อัญเชิญ "พระพุทธรูปพระสิงคำ" มาสถิตไว้แล้วแต่ไม่สร้างกุฏิวิหาร ชาวบ้านได้นำไม้มาสร้างเป็นวิหารและมุงด้วยหญ้าคากันแดดฝนเท่านั้น

ในปี พ.ศ. ๒,๐๐๐ ชาวบ้านได้สร้างอารามแบบศิลปะเผ่าไตลื้อขึ้น และได้ก่ออุโมงค์ไว้ใจกลางอารามและเอาพระสิงคำไว้ในนั้น สร้างโดยนายช่างชาวฮ่อ (ชาวจีน) แต่ไม่ทันสำเร็จ มาเสร็จในปีพ.ศ. ๒๔๗๓

ภายหลัง "ตุ๊เจ้าจำปา" เป็นคนบ้านดอนล้อมพร้อมด้วยพระสงฆ์ได้มาประจำอยู่ที่วัดนี้ ได้สืบต่อสร้างอารามปั้นดินเป็นขอบแล้วก่อฝาแบบไทลื้อจนสำเร็จ ต่อมา "ตุ๊เจ้าอ้วน" คนบ้านหาดนางได้สืบต่อทำฝา หน้าต่าง ดังที่เห็นในปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๔๙๗ - ๒๕๑๘ จักรวรรดิอเมริการุกราน ใช้เครื่องบินยิงทำลายวัดแห่งนี้ ประชาชนหนีเข้าไปอยู่ในป่า ทำให้วัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง เศร้าหมองเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ความรักความหวงแหนในพระเจ้าสิงคำของชาวเมืองล่า จึงได้เอาพระสิงคำองค์นี้ไปซ่อนไว้ในถ้ำ มีบางครั้งก็ขุดหลุมซ่อนเพื่อความปลอดภัย

เมื่อประเทศชาติถูกปลดปล่อย จึงนำพระเจ้าสิงคำออกมาขัดสีบูชา แต่ก็มีสีดำปนเขียว และไม่สวยงามเหมือนแต่ก่อน ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงกาล ชาวบ้านอยากให้พระองค์นี้มีสีสันสวยงาม จึงได้ตกลงพร้อมกันขัดสีเก่า แล้วทาสีใหม่เพื่อที่จะได้สวยขึ้น จึงได้สภาพที่เห็นเหมือนกับทุกวันนี้



๑๐ มกราคม ๒๕๕๔ (บ้านบุนเหนือ - เมืองขวา - เมืองอุดมชัย)


เมื่อผู้เขียนได้อ่านคำแปล "ประวัติพระสิงห์คำ" ดังนี้แล้ว จึงได้ปรึกษากับคุณเอ็ง ทราบพวกเราจะต้องกลับลงทางเมืองอุดมไชย จะต้องผ่านทางแยกไปเมืองขวาด้วย จึงตัดสินใจเดินทางไปกราบไหว้ "พระสัมฤทธิ์" ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ๑ ใน ๕ องค์ที่สำคัญ จึงได้ฉันเช้าและเตรียมอาหารเพลเป็นข้าวผัดใส่กล่อง เริ่มออกเดินทางต่อไปที่เมืองขวาทันที

๑๕.พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ วัดสีคูณเมือง เมืองขวา แขวงพงสาลี ประเทศลาว (พบใหม่)

รถกระบะวีโก้ได้วิ่งกลับมาตามถนนถูกรัง ผ่านเมืองบุนใต้จนมาถึงทางแยกไปเมืองขัว หรือเมืองขวา เป็นถนนลาดยางเรียบดีตลอด ทางการลาวได้ทำไว้เป็นอย่างดี ระหว่างทางได้แวะฉันเพลกันข้างถนน แล้วเดินทางถึงเมืองขวาประมาณบ่ายสองโมง



(พระสัมฤทธิ์องค์เล็ก (สีดำ) ประดิษฐานอยู่หน้าพระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่)

พวกเราได้เดินทางมาถึงสะพานข้ามแม่น้ำอู ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลมาจากพงสาลี นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือจาก "หาดสา" พงสาลี ลงมาที่เมืองขวาได้ หรือจะล่องเรือต่อไปที่เมืองงอย เพื่อขึ้นรถต่อไปที่เมืองหลวงพระบางก็ได้ คณะทั้งหมดได้ข้ามสะพานจอดรถไว้ที่ริมท่าน้ำ มองเห็นถนนข้างหน้าไปที่เมืองใหม่ และสามารถไปถึงเดียนเมียนฟู ประเทศเวียดนามได้ แต่คนขับรถบอกว่าถนนยังไม่ดีนัก


ผู้เขียนจึงได้เดินยืดเส้นยืดสายริมแม่น้ำ มองเห็นร้านค้าขายของทั้งสองด้านถนน จึงได้แวะเข้าไปถามแม่ค้าผลไม้ ว่ารู้จักวัดพระสัมฤทธิ์ไหม แม่ค้าชาวลาวใจดีชี้มือกลับเข้าไปในตัวเมือง ปรากฏว่าชื่อวัด "สีคูณเมือง" (คำไทย "ศรีคูณเมือง) วัดอยู่ในตลาดหาง่าย


ในขณะที่เข้าไปในวัดมีฝนตกเม็ดใหญ่ประมาณ ๕ นาทีแล้วก็หายไป มีสามเณร ๓ รูปมาต้อนรับและเปิดวิหาร เพื่อเข้าไปกราบไหว้บูชา ผู้เขียนจึงได้เข้าไปสรงน้ำหอม ปิดทองและกราบพระสัมฤทธิ์ แล้วทำบุญกับสามเณร ๒๐,๐๐๐ กีบ เมื่อออกมาจากวิหารฝนยังตกเป็นฝอยละอองอยู่ จากนั้นได้มาพักที่เมืองอุดมไชย

"เมืองไชย" แขวงอุดมไชย เมืองกึ่งกลางของลาวเหนือ เมืองที่เป็นทางผ่านไปยังหลวงพระบาง พงสาลี หลวงน้ำทา หรือหัวพันก็ได้ เมืองนี้จึงมีความสำคัญในฐานะเมืองชุมทางของแต่ละแขวงตอนบนของประเทศลาว มีคนอาศัยอยู่ประมาณเกือบสามแสนคน ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ ถึง ๒๓ ชนเผ่า ส่วนใหญ่เป็นม้ง เมี่ยน ภูไท อะข่า



(ทิวทัศน์เมืองอุดมไชย ถ่ายภาพจากด้านบนองค์พระธาตุชัยมงคล)

"อุดมไชย" หรือ เมืองไชย เป็นเมืองหลวงของแขวงอุดมไชย ตั้งอยู่ในวงล้อมของแขวงพงสาลี หลวงพระบาง ไชยบุรี และหลวงน้ำทา สมัยสงครามกู้ชาติและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทางหลวงหมายเลข ๑ ตัดกับทางหลวงหมายเลข ๔ เคยเป็นศูนย์กลางที่จีนใช้ส่งความช่วยเหลือผ่านไปยังขบวนการประเทศลาวในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓

แต่ในปัจจุบัน อาคารกงสุลเก่าของจีนได้เปลี่ยนแปลงเป็นโรงแรมไปแล้ว รัฐบาลลาวตอบแทนจีนที่ยอมเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนด้วยการให้สัมปทานไม้ในเขตหุบเขาแขวงอุดมไชย ส่งผลให้ป่าไม้บริเวณนี้ถูกทำลายลง ปัจจุบันจีนมีอิทธิพลในรูปของการค้า มีตลาดใหญ่ๆ ขายของมากมาย



๑๑ มกราคม ๒๕๕๔ (เมืองอุดมชัย - เมืองงอย)

๑๖ วัดพูธาตุชัยมงคล เมืองไชย แขวงอุดมไชย ประเทศลาว

หลังจากหาที่พักและฆราวาสทานอาหารเย็นกันแล้ว "คุณเอ็ง" คนขับรถได้ช่วยแปล "หนังสือประวัติพระสิงคำ ตอนที่ ๒" เสร็จประมาณ ๑ ทุ่ม ตอนนั้นมีฝนตกมาตลอดไม่หนักมากเป็นเม็ดเล็กละเอียด ในขณะที่เขาแปลอยู่ชั้นล่างของที่พัก ผู้เขียนอยู่ชั้นบนใจนึกอยากจะไปกราบ "พระฆ้อง" ที่อยู่ "เมืองงอย" เมื่อดูแผนที่แล้วจึงวางแผนที่จะไปในวันรุ่งขึ้น



(พระธาตุชัยมงคลรัตนมิ่งเมือง ผู้เขียนได้ขึ้นมากราบเป็นครั้งที่ ๒ แล้ว ครั้งแรกมาเมื่อปี ๒๕๔๔)

ตอนเช้าจึงได้รู้ว่า เมื่อตอนหัวค่ำฝนตกลงมาในขณะที่แปลหนังสือเป็นครั้งที่ ๒ และเป็นเวลาเดียวกันที่ผู้เขียนนึกอยากจะไปเมืองงอยด้วย เมื่อได้ปรึกษากับคนขับรถทราบว่า ระยะทางจากอุดมไชยไปเมืองงอย ประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร เช้านี้อากาศครึ้มตลอดไม่มีแดด จึงคิดจะไปกราบไหว้วัดคู่บ้านคู่เมืองอุดมไชยก่อน เนื่องจากมองเห็นพระธาตุบนยอดเขาในใจกลางเมืองอุดมไชย



(กาลเวลาผ่านไป ๑๐ ปี จึงได้กลับมาเยือนอีกครั้ง พบว่าทางวัดได้สร้างพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่อีก)

เวลา ๖.๓๐ น. ฉันเช้าที่ท่ารถขนส่งเมืองอุดมไชยแล้ว พร้อมสั่งอาหารกล่องเป็นข้าวผัด จึงได้เดินทางขึ้นไปบนยอด ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านเมืองประจำจังหวัดนี้ สามารถเห็นภูมิทัศน์ของตัวเมืองได้ทั้งหมด มีพระยืนปางประทานพรสูงประมาณ ๑๐ เมตร และองค์พระธาตุคู่บ้านเมืองด้วย เมื่อได้สรงน้ำหอมและปิดทองพระธาตุ พร้อมกับถ่ายรูปแล้ว จึงเดินทางต่อไปยังเมืองงอย

๑๗ พระพุทธรูปฆ้อง วัดโอกาดไชยาราม เมืองงอย แขวงอุดมชัย ประเทศลาว (พบใหม่)

การเดินทางในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเส้นทางที่ไม่มีในโปรแกรมมาก่อน ซึ่งเป็นทางเดียวกับที่ไปหลวงพระบาง ถนนหนทางข้ามเขาทั้งสิ้น มีแต่โค้งซ้ายโค้งขวา และโค้งอันตราย ช่วงนี้ถนนลาดยางแต่เก่าแล้ว จึงมีหลุมมีบ่อมากมาย



(สภาพรถบัส ๒๕ ที่นั่ง ได้แหกโค้งตกลงไปในเหวลึก เมื่อพฤศจิกายน ปี ๒๕๕๓ ปรากฏว่าตายเกือบหมด)



(ตรงตำแหน่งรถสีขาวตรงหัวโค้งนั่นแหละ รถบัสเบรคแตกพุ่งหลาวแหกโค้งลงไปเลย)

มีอยู่ช่วงหนึ่งคุณเอ็งได้จอดรถอยู่บนไหล่เขา พร้อมทั้งชี้มือลงไปที่หุบเขาด้านล่างลึกมาก บอกว่าเมื่อปีที่แล้วมีรถบัสขนาดกลาง ๒๕ ที่นั่ง วิ่งระหว่างเมืองบ่อแก้ว - อุดมไชย - หลวงพระบาง คนได้ไหลลื่นตกลงไปในเหวลึก มีคนตายทันที ๒๐ คน รอด ๒ คนอาการสาหัส ดังภาพที่เห็นนี้เป็นซากรถบัสที่ตกลงไปอยู่ในหุบเขานี้



(ผ่านตลาดเมืองงอยดูสภาพมีความเจริญ ถนนช่วงนี้ก็ดี แล้วจึงข้ามสะพานแม่น้ำ)


เมื่อเดินทางมาถึง "เมืองงอย" เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. ได้เวลาเพลพอดี ผู้เขียนฉันเพลที่ร้านอาหารริมสะพานข้ามลำน้ำอู มืทิวทัศน์สวยงามมาก เป็นสะพานมีท่าเรือสำหรับล่องไปเมืองต่างๆ ได้หลายเมือง มีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปมาท่องเที่ยวกันหลายคน



(สภาพทิวเขาริมลำน้ำในยามนี้ อากาศร่มเย็นสบายดี)


เนื่องจากเมืองงอยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีชาวฝรั่งเดินทางมาท่องเที่ยวกัน คนไทยก็นิยมมากันมาก ที่นี่เรียกว่า "หนองเขียว" เนื่องจากภูมิทัศน์ธรรมชาติสวยงามมาก มีภูเขาสูงใหญ่อยู่ริมแม่น้ำอู มองลงไปเห็นเรือนักท่องเที่ยวจอดอยู่มากมาย เชิญชมคลิปวีดีโอ "คลิปพงสาลี เมืองงอย เมืองขัว แม่น้ำอู" http://www.oknation.net/blog/clips/2010/06/03/entry-1



(หลังจากติดต่อเช่าเรือแล้ว จึงได้เดินลงที่ท่าเรือใต้สะพานข้ามแม่น้ำอู)


เมื่อได้สอบถามในร้านอาหารทราบว่า จะต้องนั่งเรือไปทางแม่น้ำอู จึงได้ติดต่อขอเช่าเรือ ๑ ลำ เพราะการไปกราบพระฆ้องต้องล่องเรือขึ้นไปทางเหนืออีกประมาณ ๑ ชั่วโมง ทิวทัศน์เป็นภูเขาซักซ้อนมีหมอกลงหนามากเป็นช่วงๆ ตลอดทาง



(ทิวทัศน์ริมตลิ่งสวยงามดี เรือวิ่งเร็วพอสมควร คนขับอยู่ด้านหน้า เอาลูกสาวตัวเล็กๆ มาเป็นผู้ช่วย)


ระหว่างที่นั่งเรืออากาศร่มเย็นถึงหนาว บางช่วงเป็นเกาะแก่งน้ำไหลเชี่ยว แต่คนขับเรือมีความชำนาญในร่องน้ำ สามารถฟันคลื่นที่ไหลเชี่ยวได้ มองดูทิวทัศน์สองข้างลำน้ำ มีหมอกปกลุมภูเขาตลอดสวยงามมาก เหมือนกับไปเที่ยวสวิสเซอร์แลนด์ทีเดียว ไม่มีแสงแดดมาแผดเผาเลย



(มองเห็นบ้านคนหลายหลังอยู่ริมตลิ่ง แสดงว่าใกล้ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว มองเห็นเรือที่นั่งมาได้ชัดเจน)


เรือเร็วของลาวแล่นผ่านโค้งไปมาตามลำน้ำ ลมเย็นปะทะ ต้องห่มผ้าคลุมกันหนาว บางช่วงมองเห็นบ้านคนบ้างเป็นระยะ เวลาบ่ายโมงก็ถึงท่าเรือไป "วัดพระฆ้อง" จะต้องเดินไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตรก็ถึงวัด ช่วงตั้งแต่เดินจากท่าเรือถึงวัด ต้องเดินกางร่มผ่านหมู่บ้าน เพราะมีฝนตกเป็นฝอยละเอียดตลอด



(เรือวิ่งมาประมาณชั่วโมงกว่าก็ถึงท่า เดินขึ้นบันไดเห็นป้าย ใครช่วยอ่านภาษาลาวให้ด้วยเน้อ)


เมื่อเดินเข้าไปใน วัดโอกาสไชยาราม ท่ามกลางสายฝนบางเบาเป็นละอองหมอก มองเห็นวิหารหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน "พระฆ้อง" ซึ่งเป็นพระพุทธรูสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวลาว ที่ผู้เขียนและคณะได้เดินทางมาถึงนับเป็นองค์ที่ ๓ แล้ว นับตั้งแต่ พระสิงห์คำ, พระสัมฤทธิ์, จนถึง "พระฆ้อง" ซึ่งมีความสำคัญจนต้องอยู่ในกรงแข็งแรงเพื่อป้องกันขโมย มองดูแล้วแปลกดี มีสภาพเช่นนี้เหมือนกันทุกองค์



(ที่ท่าเรือมีฝรั่งนั่งอยู่ในร้านอาหาร แถวนี้เขามีจัดทริปให้ล่องแก่งด้วย)



(เดินผ่านหมู่บ้านแถวนี้ ซึ่งมีรีสอร์ตหรือ "เรือนพัก" หลายแห่ง แล้วถึงประตูทางเข้าวัด)

ในเวลาที่จะบวงสรวง ผู้เขียนคิดว่าน่าจะทำพิธีบวงสรวงรวมกันทุกแห่ง เพราะพระพุทธรูปบางองค์ยังจมอยู่ในแม่น้ำ พวกเราคงไม่สามารถจะไปกราบไหว้ได้ จึงขอให้ทุกคนตั้งจิตอธิษฐานถือเอาสถานที่นี้เป็นจุดรวม ที่จะกราบไหว้พระพุทธรูปให้ครบถ้วนทั้ง ๕ องค์ โดยขออาราธนาบารมีคุณพระพุทธเจ้า เป็นต้น จนถึงคุณของพระมหากษัตริย์ผู้ครองแผ่นดินนี้ทุกพระองค์ ตลอดจนถึงเทพยดาอารักษ์พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์ ขอได้เสด็จมาเป็นสักขีพยาน ณ สถานที่นี้



(เดินขึ้นบันไดนาคเข้าไปภายในวัด เห็นป้ายวัดโอกาดไชยารามอยู่ด้านหน้า)


ผู้เขียนนั่งอยู่ด้านหน้าจึงได้จุดธูปเทียนบูชาพระฆ้อง ถึงแม้จะมีลูกกรงเหล็กขวางกั้นอยู่ แต่ก็หากั้นจิตใจพวกเราได้ไม่ จึงบอกให้คุณสำราญเอาฆ้องเล็กๆ ที่แขวนอยู่กับลูกกรง (คงจะมีคนมาถวายพระฆ้อง) เสียงพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ดังก้องทั่วบริเวณนั้น เป็นการสรุปบูชาพระพุทธรูปทั้ง ๕ พระองค์ที่อยู่ในลาว โดยมีองค์พระฆ้องเป็นศูนย์กลาง เพื่อความตั้งมั่นของพระพุทธศาสนาในอาณาเขตนี้ตลอด ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้

๑ พระฆ้อง ที่เมืองงอยนี้
๒ พระหิน อยู่บริเวณชายแดนลาวเวียดนาม และจมน้ำอยู่ที่ "วังควาย" ดอนน้ำนัว สบนาว
๓ พระนัก จมน้ำอยู่ที่บริเวณที่เรียกว่า "สบวัน" ในแม่น้ำอู
๔ พระสัมฤทธิ์ อยู่ที่เมืองขวา
๕ พระสิงคำ อยู่ที่เมืองล่า




คลิกขยายภาพ แผนที่ สปป.ลาว "ตำแหน่งพระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์"




(ก่อนเข้าไปในศาลาพระฆ้อง มองดูสายหมอกบางเบาโปรยลงมาที่แว่นตา)


หลังจากนั้นทุกคนได้ร่วมกันสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และคาถาเงินล้าน พร้อมกับอธิษฐาน ขอให้ผู้คนอยู่ดีกินดี คิดสิ่งใดถ้าไม่เกินวิสัยขอให้สมความปรารถนา ในขณะที่กล่าวชื่อพระพุทธรูปแต่ละองค์ ผู้เขียนได้ลั่นฆ้องชัยไปแต่ละครั้ง จนครบทั้ง ๕ แห่งด้วย จากนั้นจึงได้บูชาด้วยน้ำหอมและแผ่นทอง และอุทิศส่วนกุศลในตอนสุดท้าย เมื่อเดินกลับออกมาได้เข้าไปชมในวิหารหลังใหญ่ พร้อมกับทำบุญกับเณร ๒ องค์ๆ ละ ๒๐,๐๐๐ กีบ รวมเป็น ๔๐,๐๐๐ กีบ



(พระฆ้องประทับอยู่บนแท่นรวมกับพระพุทธรูปอื่น ภายในมีประตูเหล็กกั้นไว้)


เมื่อออกมาจากวิหารพระฆ้องแล้วฝนยังเป็นฝอยละเอียดอยู่ เดินมาถึงท่าเรือและนั่งเรือกลับ มีฝรั่งและชาวลาวร่วมเดินทางกับมาด้วย นั่งมาได้สักประมาณ ๒๐ นาที อยู่ดีๆ ใบพัดเรือก็หลุดจมน้ำไป ต้องไปยืมใบพัดเรือจากชาวบ้านริมแม่น้ำ เขาได้ถอดใบจักรจากเรือลำที่จอดอยู่ แล้วออกเดินทางต่อไป ช่วงนี้เสียเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง



(ผู้เขียนทำพิธีบวงสรวงรวมทั้งหมดเสร็จแล้ว จึงออกมาถวายปัจจัยให้แก่สามเณร ๒ รูป)


ผู้เขียนบอกถือเป็นการแก้เคล็ดในการเดินทางก็แล้วกัน หรือไม่ก็เขาอาจจะคิดค่าเช่าแพงเกินไป เดิมเช่าผ่านร้านอาหารคิดค่าเรือ ๕๐๐,๐๐๐ กีบ แต่ภายหลังได้ต่อรองกับคนขับเรือเหลือแค่ ๔๐๐,๐๐๐ กีบ ถึงแม้จะขัดข้องบ้างแต่ก็ปลอดภัย ถือว่าสำเร็จทุกแห่งก็พอใจแล้วละ หลังจากนั้นกลับมาพักที่เมืองอุดมไชยตามเดิม



(เดินกลับผ่านหมู่บ้านที่มีดอกเฟื่องฟ้ากำลังสวยงามสะพรั่ง แล้วเดินลงบันไดเพื่อขึ้นเรือกลับ)



(เรือวิ่งมาถึงแล้ว อากาศปิดหมอกลงจัดกว่าเดิม "บุ๋ม..วัชรพล" ตากล้องจึงยืนให้ถ่ายรูปบนสะพานบ้าง)



หมายเหตุ : ผู้เขียนสงสัยตำแหน่งที่ พระหิน จมอยู่ที่ "ดอนน้ำนัว สบนาว" ว่าอยู่ที่ตรงไหน จึงได้เข้าค้นหาพบข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ส่งทหารไปปราบจีนฮ่อที่ สปป.ลาว ซึ่งมีอยู่ในเว็บ iseehistory.socita.com ดังนี้


แม่ทัพได้รับตราพระราชสีห์ ที่ ๒๑๘ ลง วันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๓ ค่ำ ปีจอ (วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๒๙) ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการว่า ถ้าแม่ทัพได้ปราบปรามพวกฮ่อ กับตรวจตราจัดการให้รักษาด่านทางตามเขตต์แขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกตลอดขึ้นไปจนถึงเมืองแถงเมืองสิบสองจุไทย เสร็จราชการแล้ว ก็ให้แม่ทัพเลิกกองทัพมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพพระมหานคร ก่อนหน้าฤดูฝนในปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ พ.ศ.๒๔๓๐

เมื่อได้รับพระบรมราชโองการตามตราพระราชสีห์แล้ว แม่ทัพจึงสั่งการกำหนดเวลาให้ท้าวขุน และฝ่ายพวกหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองสิบสองจุไทยให้ลงมาพร้อมกัน ณ เมืองหลวงพระบางก่อน เพื่อจะได้ชี้แจงข้อราชการ ทั้งจะได้ให้เจ้าเมืองนครหลวงพระบางจัดราชการทางเมืองฝ่ายหัวพันทั้งห้าทั้งหก เลือกสรรท้าวขุนและเพี้ยกรมการที่มีสติปัญญาสามารถตั้งแต่งขึ้นให้ เป็นหัวพันผู้รักษาเมืองทั้งปวงให้เรียบร้อย กำหนดให้ลงมาถึงเมืองนครหลวงพระบาง ณ วันพุธ เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีจอ (ตรงกับ วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๙)

เมื่อได้ชนะศึก ได้รับพระบรมราชโองการให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพพระมหานคร และได้นัดหมายประชุมชี้แจงข้อราชการดังกล่าวแล้ว ท่านแม่ทัพก็ตระเตรียมกองทัพยกกลับมายังเมืองนครหลวงพระบาง ได้ออกเรือจากเมืองแถง (เดียนเบียนฟู) ค่ายเชียงแล ในวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ ตรงกับ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๙ เรือล่องลงมาถึงสบน้ำนัว ล่องตามน้ำนัว จนถึงวันศุกร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ออกจากปากน้ำนัว กระบวนเจ้าเมืองนครหลวงพระบางมาคอยรับ ล่องลำน้ำอู ต่อไป

วันจันทร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๒๙ ถึงเมืองงอย พักอยู่ ๒ วัน เพื่อฉลองพระเจดีย์ ซึ่งสร้างไว้บนยอดเขาเมืองงอย พระเจดีย์นี้แม่ทัพและนายทัพนายกองกับทหารทั้งปวงได้สร้างขึ้นไว้เป็นเครื่องบูชาในพระพุทธศาสนาและเป็นเครื่งองระลึกถึงกองทัพ

วันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม ๒๔๒๙ ถึงบ้านปากอู พระยาสุโขทัยกับเจ้าราชภาคิไนยซึ่งได้ยกมาก่อนได้มาคอยรับ และทำเป็นประตูเมืองไว้คอยรับที่ปากน้ำอูด้วย กับปลูกปะรำและที่พักไว้ รับเป็นอันมาก ตกแต่งด้วยดอกไม้สดกับมีพระสงฆ์คอยประพรมน้ำพระพุทธมนตร์ที่กองทัพจะผ่าน ไป เวลากลางคืนมีการเล่นฉลองหลายอย่าง ด้วยความชื่นชมยินดี

(โปรดติดตามตอนต่อไป คลิกที่นี่ ตอนที่ 2 ►)