ตามรอยพระพุทธบาท

ตามรอยพระพุทธบาท ณ ประเทศเมียนม่าร์ การเดินทาง (ครั้งที่ 1) ปี 2539
praew - 23/8/10 at 16:23

สารบัญ

01.
ย่างกุ้ง - สิเรียม
02. ประวัติพระเจดีย์ชเวดากอง (ตำนานของมอญ)
03. ประวัติพระเจดีย์โบตาทอง
04. ประวัติพระเจดีย์สุเล
05.
พระพุทธไสยาสน์เฉ้าทัตยี (พระตาหวาน)
06. ประวัติพระเจดีย์พระเจดีย์คาบาเอ
07. ย่างกุ้ง - พุกาม (ปะกัน)
08. ประวัติพระเจดีย์ชเวซิกอง
09. พิธีล้างพระพักตร์ "พระมหามุนี"
10. ประวัติเมืองหงสาวดี
10. ประวัติพระธาตุอินทร์แขวน
10. ประวัติพระพุทธรูปไจ้ปอลอ



ตามรอยพระพุทธบาท
ณ ประเทศเมียนม่าร์ การเดินทาง ครั้งที่ ๑
วันที่ ๒๐ - ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙



ชมคลิปวีดีโอ พม่า (ครั้งที่ ๑) ตอนที่ ๑


๑. พระเจดีย์กลางน้ำไจ้หม่อวน เมืองสิเรียม
๒. พระเจดีย์ไจ้เข้า
๓. พระเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง
๔. พระไสยาสน์เฉ้าทัตยี
๕. พระเจดีย์สุเล
๖. พระเจดีย์คาบาเอ
๗. พระเจดีย์โบตาทอง
๘. พระพุทธรูปโกทัตยี
๙. พระเจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกาม
๑๐. พระเจดีย์ชเวซานดอว์
๑๑. พระเจดีย์โลกะนันดา
๑๒. พระเจดีย์สวอนอูโพนเยี่ยซิน เมืองสกาย
๑๓. พระมหามุนี เมืองมัณฑเลย์
๑๔. พระเจดีย์และระฆังมิงกุน ใหญ่ที่สุดในโลก
๑๕. พระพุทธบาทบนภูเขามัณฑเลย์
๑๖. พระไสยาสน์ชเวต้าละยอง เมืองหงสาวดี
๑๗. พระพุทธรูปไจ้ปุ่น
๑๘. พระเจดีย์ชเวมอดอว์ (มุเตา)
๑๙. พระมหาเจดีย์ และ พระมหาหงสะสัจจะชินะมุนี
๒๐. พระเจดีย์ไจ้เที่ยว (พระธาตุอินทร์แขวน)
๒๑. พระพุทธรูปไจ้ปอลอ เมืองไจ้โท

ผู้เขียนได้เดินทางไปประเทศพม่าประมาณ ๗ ครั้ง แต่เพราะไปจนครบถ้วนแล้ว จึงขอเล่าเพียง ๔ ครั้งเท่านั้น คือ

ครั้งแรก ปี ๒๕๓๙ ไปที่เมืองย้างกุ้ง, สิเรียม, พุกาม, ภูเขาสกาย, มัณฑเลย์, หงสาวดี, ไจ้เที่ยว (อินทร์แขวน), ไจ้โท (พระไจ้ปอลอ)

ครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๔๓ ไปที่สะเทิม, ตองอู, เมเมี้ยว, สีป่อ, โมนยั้ว, ถ้ำพระมหา กัสสป, มานเซ็ทต่อว์, แปร, พะสิม, มอดินซูน

ครั้งที่ ๓ ปี ๒๕๔๕ ไปถ้ำพระมหากัสสป (ครั้งที่ ๒), สิตทวย, มร้อกอู (ยะไข่)

ครั้งที่ ๔ ปี ๒๕๔๕ ไปพม่าใต้ สะเทิม, ไจ้คามี, เมาะละแหม่ง, เมาตะมะ, สินไจ้, เกลาสะ, มะริด, ทวาย, ตะนาวศรี, แล้วย้อน กลับขึ้นไปที่ทะเลสาบอินเล



1

ย่างกุ้ง - สิเรียม

ตอนนี้จะขอเล่าเหตุการณ์ครั้งแรกก่อนว่าได้เริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ ๒๐ ก.พ. ๓๙ พร้อมผู้ร่วมเดินทางรวม ๔๕ คน ในขณะที่ เครื่องบินใกล้จะถึงสนามบิน คุณธนพนธ์ (เล็ก) ได้มองเห็นแสงรุ้งขึ้นคร่อมเมืองย่างกุ้ง นับ เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในการเดินทาง

ตอนบ่ายจึงเดินทางไปสู่ เมืองสิเรียม เพื่อนมัสการ พระเจดีย์กลางน้ำ “ไจ้หม่อวน” ซึ่งเป็นพระเจดีย์ที่อยู่บนเกาะกลางน้ำมานาน สองพันกว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยอาณาจักรมอญ ยังมีอำนาจในเขตนี้ โดย กษัตริย์ปาต๊ะ อัญเชิญ พระเกศาธาตุ มาจากประเทศอินเดีย แล้วนำมา บรรจุไว้ที่เกาะกลางน้ำแห่งนี้ ซึ่งมีกระแสน้ำ ไหลเชี่ยวกรากอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังมี พระพุทธรูปหยกขาว ซึ่ง ตามประวัติบอกว่าลอยน้ำมา แต่ชิ้นส่วนองค์พระ พุทธรูปขาด ๕ อย่างด้วยกันคือ พระเศียร แขน ๒ ข้าง และขา ๒ ข้าง ต่อมาชาวบ้านได้นำไปทิ้ง แต่พระพุทธรูปดังกล่าวก็กลับมาที่เดิม จึงได้มี การต่อเติมองค์พระให้สมบูรณ์ กษัตริย์ผู้สร้าง เจดีย์ไจ้หม่อวน ได้อธิษฐานขอพร ๓ ประการ สำหรับพระเจดีย์องค์นี้ คือ

๑. น้ำจะมากสักเท่าใด ก็ขอให้น้ำไม่ท่วม บริเวณเกาะนี้
๒. คนมามากสักเท่าใด ก็ขอให้รับได้หมด
๓. คนที่มีจิตศรัทธาทำบุญวัดนี้ ขอให้ร่ำ รวยโดยฉับพลัน

เมื่อรถปรับอากาศได้ไปถึงท่าเรือ พวก เราก็ได้ลงเรือหางยาวข้ามไปที่เกาะกลางน้ำ ซึ่ง มีชาวพม่าเดินทางมากราบไหว้กันมากมาย จึง เข้าไปกราบพระพุทธรูปหยกขาว และพระเจดีย์ ที่บรรจุพระเกศาธาตุ แล้วทำบุญร่วมบูรณะองค์ พระธาตุ จากนั้นก็ย้อนกลับทางเดิม ระหว่างทาง แวะที่ พระเจดีย์ไจ้เข้า เป็นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

คณะของเรานำผ้าห่มพระเจดีย์เดินวนรอบก่อนที่จะถวายบูชา พระเกศาธาตุ ซึ่งบรรจุไว้ภาย ในพระเจดีย์นี้ ตามประวัติเล่าว่า สร้างในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งสร้างในสมัยเดียวกับ พระเจดีย์ไจ้หม่อวน โดย พระโสณะ และ พระอุตตระ ได้เดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในประเทศพม่า และได้มาพัก ณ สถานที่นี้ ในขณะนั้น มีพระฤาษีองค์หนึ่งบำเพ็ญ พรตอยู่ ณ ที่นี้ แล้วได้พบกับพระเถระทั้งสององค์
และได้ขอบวชเป็นพระสงฆ์ และเดินทางไปประ เทศอินเดียเพื่อขอพระเกศาธาตุ ๓ องค์ มาประ ดิษฐานที่พระเจดีย์ไจ้เข้าแห่งนี้



ประวัติประเทศเมียนม่าร์ (พม่า)

ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าอภิราชา ผู้สืบเชื้อสายจาก “ศากยวงศ์” เสด็จหนีการฆ่าล้างเผ่า พันธุ์จาก พระเจ้าวิฑูฑภะ เข้ามาทางแคว้นอัสสัม แล้วได้มาสร้าง เมืองตะโก้ง และสร้าง เมืองแปร ขยายอาณาเขตไปถึง ยะไข่ และ พุกาม ซึ่งเป็น สมัยเดียวกับที่ พระเจ้าติสสะสีหธรรมราชา เจ้า ผู้ครองเมืองสะโตง และสมัยเดียวกับ พระเจ้าโอกลาปา กษัตริย์มอญเหมือนกัน ครองเมือง โอกลาปา (ย่างกุ้งในปัจจุบัน)

ในสมัยต่อมา พระเจ้าอนุรุทธมหาราช (อโนรธามังช่อ) ครองเมืองพุกาม ได้รวบรวมหัว เมืองต่างๆ ไว้ในพระราชอำนาจ แต่ก็ต้องมาล่ม สลายในสมัย พระเจ้านราสีหปติ (พระเจ้าหนีจีน) โดยการรุกรานของ กุ๊บไลข่าน กษัตริย์มองโกล ชาวพม่าได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ เมืองสกาย ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของเมืองมัณฑเลย์ บางส่วนก็ อพยพมาอยู่ที่ เมืองตองอู

ครั้นถึงสมัย พระเจ้าบุเรงนอง ได้รวบ รวมเมืองต่างๆ ขึ้นอีก ย้ายราชธานีจากเมืองตองอู มาอยู่ที่ เมืองหงสาวดี หลังจากพระองค์สวรรคต แล้ว ชาวมอญก็ยึดเมืองหงสาวดีได้ ชาวพม่าจึง อพยพไปอยู่ที่ เมืองอังวะ พวกมอญได้ตามไปยึด เมืองอังวะได้อีก จนถึงสมัย พระเจ้าอลองพญา ได้ต่อสู้จนชนะมอญและได้เมืองอังวะคืน จนถึง สมัย พระเจ้าโบดอพญา จึงย้ายจากเมืองอังวะ มาอยู่ที่ เมืองอมรปุระ (ใกล้เมืองมัณฑเลย์)

ต่อมาสมัย พระเจ้ามินดุง หลานของพระ เจ้าโบดอพญา ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองมัณฑ เลย์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า คือ พระเจ้าสีป่อ (ทีบอ) โอรสของพระเจ้ามินดุง ได้ตกเป็นเมือง ขึ้นของ อังกฤษ เป็นเวลาร้อยกว่าปี อังกฤษก็ได้ ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง แล้ว นายพล อ่องซาน ก็ได้ต่อสู้กับอังกฤษจนได้รับเอกราช เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑

หมู่บ้านมอญตรงนี้ ชื่อหมู่บ้าน ดากอง ส่วนคำว่า ย่างกุ้ง เป็นชื่อที่คนไทยเรียกเพี้ยนไป พวกฝรั่งจะเรียกว่า แรงกูน แต่คนพม่ากลับเรียก ว่า ยางกอง คำว่า “ยาง” แปลว่า ศัตรูหมดสิ้น “กอง” แปลว่าสลาย เมืองนี้ พระเจ้าอลองพญา ตั้งขึ้นหลังจากปราบมอญแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อเมือง ดากอง (ตะโก้ง) เป็น ยางกอง แปลว่า “ศัตรู หมดสิ้นสลาย” เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๘

◄ll กลับสู่สารบัญ



2

ประวัติพระเจดีย์ชเวดากอง (ตำนานมอญ)


ในตอนเช้าวันที่ ๒๑ ก.พ. ๓๙ อากาศ แจ่มใสสดชื่น เพราะเมื่อคืนนี้ฝนตกลงมาเต็มที่ พอไปถึง พระเจดีย์ชเวดากอง จึงมองดูสะอาด เรียบร้อย แต่มีบางคนต้องขุ่นมัวไปบ้าง ผู้เขียน ต้องขออภัยที่ต้องรีบไปให้ตรงเวลา เพราะว่าจะ ต้องไปทำพิธีบวงสรวงเป็นปฐมฤกษ์ หากเริ่ม แรกผิดเวลาไป สถานที่อื่นๆ ก็จะเสียฤกษ์ไปด้วย

เนื่องจากการเดินทางไปพม่าครั้งนี้ ได้ให้ คุณแดง (พรรณรัตน์) เตรียมบายศรีไป ๓ แห่ง และให้ เจ๊ชุ้น (ภูเก็ต) เย็บผ้าห่มพระเจดีย์ไปด้วย เกือบทุกแห่ง พระเจดีย์ในพม่าองค์ใหญ่ ผ้าห่ม แต่ละผืนยาวนับร้อยเมตร นอกจากนี้ก็ยังมีพาน พุ่มเงินพุ่มทอง ฉัตรเงินฉัตรทอง และผ้าตุงผืน ใหญ่ที่ คุณพงษ์ศักดิ์ เตรียมไปอีกด้วย

แต่ผู้ชายจะต้องเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าโสร่ง ถ้าจะต้องขึ้นไปห่มผ้าบนพระเจดีย์ วันนี้ทุกคน จึงเหมือนเป็นชาวพม่า (ปลอม) ส่วนผู้หญิงก็นุ่ง ผ้าถุงตามอัธยาศัย ทางขึ้นพระเจดีย์มีสามแบบ จะไปทางลิฟต์, บันไดเลื่อน, และขึ้นบันไดก็ได้ นับว่าทันสมัยกว่าบ้านเรา ทั้งที่บ้านเมืองเขายัง ไม่ค่อยเจริญ แต่พุทธสถานเขาเจริญกว่าเรามาก

ชาวพม่านิยมถวายข้าวพระในตอนเช้า กับสรงน้ำพระตามประจำวันเกิดที่อยู่รายรอบ พระเจดีย์ ภาพพจน์ชาวพม่าที่นี่ จึงดูไม่เหมือน อย่างที่คิด บางคนก็รังเกียจว่าพม่าเผาเอาทองของ เราไป แต่พอเรามาถึงจริงๆ แล้ว จึงได้รู้ว่าชาว พม่าส่วนใหญ่เขาจะไม่ขโมยสมบัติของพระศาสนา

ส่วนลานพระเจดีย์ก็กว้างใหญ่ มีศาลา มณฑป พระเจดีย์องค์เล็ก สมัยนั้น พระเขี้ยวแก้ว ยังอยู่ที่นี่ ปัจจุบันนี้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์ที่สร้างใหม่ ชื่อว่า พระเจดีย์ซะแวดอว์ หลังจากที่ได้จัดเตรียมเครื่องบูชาแล้ว หลวงพี่โอ และผู้เขียนก็ได้เดินนำขบวน โดยมีญาติโยมเดิน ถือธงและรูปหลวงปู่หลวงพ่อ พร้อมด้วยบายศรี พานพุ่ม และผ้าห่มพระเจดีย์ เป็นต้น เดินวน ประทักษิณรอบองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากอง

ท่ามกลางบรรยากาศในยามสาย อากาศ ยังสบายไม่ร้อน เพราะความเย็นจากฝนที่ตกลง มาเมื่อคืนนี้ ท้องฟ้าก็มีเมฆเป็นละลอกคลื่น เดิน ไปท่องอิติปิโสกันไป ในตอนนี้มีชาวพม่าเข้า มาเดินแห่ผ้าห่มด้วยเป็นแถวยาวเหยียด ชาวฝรั่ง ต่างชาติที่มาท่องเที่ยว ต่างก็ถ่ายรูปถ่ายวีดีโอกัน จากนั้นผู้เขียนก็ได้เล่าประวัติจากตำนานของพม่า และ พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก แต่ที่สำคัญก็คือ ตำนานของมอญที่หาอ่านยากมาก แต่ก็คงจะนำมาโดยย่อ พอที่จะเทียบเคียงกันได้ว่า พระเจดีย์ชเวดากอง แห่งนี้ เป็นที่บรรจุบริขาร ของพระพุทธเจ้ามาแล้ว ๔ พระองค์ ดังนี้

๑. ไม้เท้า ของสมเด็จพระกุกกุสันโธ
๒. เครื่องกรองน้ำ ของสมเด็จพระโกนาคม
๓. ผ้าจีวร ของสมเด็จพระพุทธกัสสป (ตำนานมอญบอกว่า ผ้าอาบน้ำ)
๔. พระเกศา ๘ เส้น ของสมเด็จองค์ปัจจุบัน

และในกาลต่อไปในอนาคต เมื่อ พระศรีอาริย์ เสด็จปรินิพพานไปแล้ว จะอัญเชิญพระ บรมสารีริกธาตุส่วน พระศอ (คอ) และ พระนลาฏ (หน้าผาก) นำมาบรรจุไว้ ณ ที่แห่งนี้ด้วย

ตามที่ทราบประวัติกันดีอยู่แล้วว่า พระเจดีย์ชเวดากองนี้มีพ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตะปุสสะ และ ภัลลิกะ เป็นผู้อัญเชิญพระเกศามาบรรจุไว้ แต่ตำนานมอญ ขนานแท้และดั้งเดิม เรียกว่า พระเจดีย์เลียะเกิง มีพี่น้องสองคนชื่อ ตะเปา และ ตะปอ เดินทางมาจากอาณาจักรรามัญ เมือง อสิตัญจนะ (เมืองโอกลาปา) มีชื่อว่า โบกขรวดี ในหมู่บ้านเวียโกลง (อยู่ทางทิศตะวันตกของ เจดีย์เลียะเกิง)

นายตะเปาและตะปอมีพ่อชื่อ นายสะเดา เปิน แม่ชื่อ นางทอเลียะ ภายหลัง พระเจ้าโอก ลาปา กษัตริย์มอญ พระราชทานชื่อให้ว่า สุวรรณ เศรษฐี ต่อมาสองพี่น้องได้นำสินค้าไปขายทาง เรือ เดินทาง ๒๔ วันถึงขึ้นฝั่งที่ อัชชัตนคร แล้วจ้างเกวียนเดินทางต่อสู่เมือง ปัณณุวะ ใน ระหว่างทางได้นั่งพักผ่อนใต้ต้นไทรแห่งหนึ่ง

ในเวลานั้นมีเทพธิดาที่อาศัยต้นไทรนี้ ผู้เคยเป็นแม่ในอดีตชาติของพ่อค้าทั้งสองได้มาบอกว่า ขณะนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ๔๙ วัน กำลังประทับอยู่ใต้ต้นเกตุ ยังไม่เสวยพระ กระยาหารเลย พ่อค้าทั้งสองได้ทราบดังนั้น จึง ได้นำข้าวสะตูผง ข้าวสะตูก้อน (ขนมแห้ง) ๔๙ ก้อนไปถวายแด่พระพุทธเจ้า ขณะนั้น ท้าว มหาราชทั้ง ๔ ได้นำบาตรมาถวายด้วย

ครั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวย แล้วตรัสพระธรรมเทศนา จนพ่อค้าสองคนตั้งอยู่ในสรณคมน์ ๒ คือ พระพุทธและพระธรรม นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา แล้ว พระพุทธองค์จึงประทานพระเกศาธาตุ ๘ เส้น พร้อมตรัสสั่งให้พ่อค้าทั้งสองกับพระมหากษัตริย์โอกลาปานำไปบรรจุไว้บน ภูเขาสิงฆุตตระ ซึ่งเป็นสถานที่เคยบรรจุบริขารของพระพุทธ เจ้าทั้งสามพระองค์ล่วงมาแล้ว ภายหลังจึงมีชื่อ ตะปุสสะ และ ภัลลิกะ ปรากฏอยู่จนถึงบัดนี้

ขณะที่ประคองรับเอาพระเกศาทูนขึ้นไว้ บนศีรษะนั้น พระรัศมีพุ่งออกมาแวววับ มีแสง สว่างรุ่งโรจน์ไปทั้งป่า ผืนแผ่นดินก็หวั่นไหว แม้ แต่คลื่นลมในมหาสมุทรก็พัดแรง อันเป็นกิริยา อาการบูชาด้วยความเคารพของบรรดาเทพและ พรหมทั้งหลาย ที่ได้แซ่ซ้องสาธุการถึง ๓ ครั้ง

ในมหาศักราช ๑๐๓ ปี เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ พระอินทร์ได้เนรมิตปราสาทแก้วมณีบรรจุ พระเกศาธาตุไว้บนเรือทองคำ แล้วพี่น้องสอง คนได้อัญเชิญกลับมาถึง เมืองอจิตตนคร (บาง แห่งเรียก เชตุตรนคร) เจ้าผู้ครองนครได้ขอแบ่ง พระเกศาธาตุไป ๒ เส้น แล้วบรรจุไว้ในปรา สาทหลังหนึ่งท่ามกลางพระนคร (ยะไข่)

จากนั้นก็ลงเรือเดินทางมาถึงที่ มุห์แนง เกียะรัต น้ำแห้งจึงทอดสมอเรือไว้ ในขณะนั้น พญาชัยเสนนาคราช ได้เห็นพระรัศมีของพระ เกศาธาตุสว่างไสว จึงได้เนรมิตเป็นมานพน้อย ขึ้นมาขโมยพระเกศาธาตุไปอีก ๒ เส้น นำไป บูชาที่นาคพิภพชื่อว่า “ภูมินทร์” ภายหลังได้มี พระอรหันต์มาอัญเชิญไปบรรจุไว้ที่ศรีลังกา

ในขณะนั้น ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฝนตกพรำ ๆ พ่อค้าทั้งสองมองขึ้นไปบนท้องฟ้า แลเห็นแสง สว่างพุ่งออกมา สถานที่นั้นจึงเรียกว่า “ปันเสริง” (เวลานี้เรียก พระเจดีย์มอดินซูน อยู่ที่แหลม เนเกรย์ ผู้เขียนได้ไปกราบไหว้เมื่อ ปี ๒๕๔๓ ปรากฏว่าเจอสภาพแบบนี้เหมือนกัน คือ คลื่น ลมปั่นป่วน ต้องเดินฝ่าสายฝนกันไป)

จากนั้นก็แล่นเรือไปจนถึง เมืองเลียะเกิง (พระไตรปิฎกเรียก อุกกลชนบท ปัจจุบัน คือ ย่างกุ้ง หรือ ตะโก้ง ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เรียกว่า อุปลนคร คือ พระเจ้าโอกลาปาอยู่ใน เมือง ธัญญวดีนคร เป็นใหญ่กว่าเมืองทั้งหลาย ตำนานบางแห่งว่า พระเจ้าโอกลาปามักจะเสด็จ ไปบนยอดเขา โดยนั่งสวดมนต์ภาวนา หวังจะให้ได้พระบรมธาตุมาไว้บูชา ในขณะนั้น พระพุทธองค์ใกล้จะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ มาปรากฏพระวรกายต่อหน้าพระเจ้าโอกลาปา และตรัสว่า “พระราชประสงค์ของพระองค์จะ สัมฤทธิ์ผลเป็นแน่แท้)

ขอเล่าเรื่องต่อไปว่า พ่อค้าสองคนได้เข้า ไปกราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ พระเจ้า โอกลาปา ทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศา ธาตุ ๘ เส้น เพื่อถวายให้พระองค์บรรจุไว้บนดอย สิงฆุตตระ แต่ขณะนี้เหลือกลับมาเพียง ๔ เส้น พระองค์จึงได้เสด็จไปพร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ ทั้งหลาย (บางแห่งว่ามีนายพล ๑,๐๐๐ นาย คำว่า “โบตาทอง” แปลว่า นายพลหนึ่งพันนาย) เพื่อ ไปอัญเชิญพระเกศาธาตุที่ท่าเรือ

ต่อมาพระเจ้าโอกลาปาได้เปิดผอบพบว่าพระเกศาธาตุเหลืออยู่ ๔ เส้นจริง ครั้นได้ทรง อธิษฐานปรากฏว่าพระเกศาธาตุยังอยู่ครบถ้วน ทั้ง ๘ เส้น (บางแห่งว่าสองพี่น้องเป็นผู้อธิษฐาน) พระเกศาธาตุก็ได้เปล่งฉัพพรรณรังสีรุ่งโรจน์ พระเจ้าโอกลาปาทรงมีพระทัยปลื้มปีติ จึงยก พระขรรค์เพื่อจะบั่นพระเศียรบูชาคุณของพระ พุทธเจ้า แต่พระมเหสีได้ยื้อแย่งพระขรรค์จาก พระหัตถ์ไว้ แล้วกราบทูลว่าพระศาสดาตรัส ให้พระองค์เป็นผู้สร้างพระเจดีย์มิใช่หรือ ถ้าพระองค์สวรรคตใครเล่าจะเป็นผู้บรรจุพระเกศาธาตุ

ในเวลานั้น มีประชาชนมาห้อมล้อมที่ท่าเรือกันมากมาย ยังมีชายแก่แต่เป็นหม้ายคนหนึ่ง ชื่อว่า เลียะถี มีศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงเบียดเข้าไปในหมู่ฝูงชน หวังจะบูชาพระเกศาธาตุ แต่ก็ ถูกด่าถูกว่าต่างๆ นานา นายเลียะถีก็ไม่สนใจ พยายามเดินเบียดเข้าไปถึงที่ตั้งบูชาพระเกศาธาตุ

ขณะนั้น พระเจ้าโอกลาปาทอดพระเนตรมายังนายเลียะถีด้วยมีพระทัยเมตตา เห็นใจในความเลื่อมใสใจจริง จึงตรัสอนุญาตให้เข้ามากระทำการบูชา นายเลียะถีจึงเปลื้องผ้าห่มของตนเองออกมาบูชาพระเกศาธาตุ ทันใดนั้นเอง ด้วยอำนาจแห่งการบูชา พระเกศาธาตุได้แสดง ปาฏิหาริย์ ๖ ประการ

มหาชนได้เห็นเหตุอัศจรรย์แล้ว จึงได้ กล่าวสรรเสริญนายเลียะถีอย่างกึกก้อง พระมหากษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นเหตุอัศจรรย์แห่งพระ เกศาธาตุแล้ว ทรงมีพระประสงค์จะบูชาด้วยพระเศียรของพระองค์เอง จึงยกพระขรรค์จะตัดพระเศียร แต่พระราชินีก็ตรัสห้ามเช่นเดียวกับครั้งแรก



3

พระเจดีย์โบตาทอง


(ภาพจาก myanmartours.us)

ในสถานที่นี้ภายหลัง พระเจ้าโอกลาปา ได้ให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งบรรจุพระเกศาธาตุ ไว้ ๒ เส้น เพราะปรารภว่ามีชายแก่ชื่อเลียะถี ขอเข้ามาไหว้พระเกศาธาตุ พระองค์จึงขนาน นามพระเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์เลียะถีอัด ภายหลัง เพี้ยนไปเป็น “กยาด - เต - ออบ”

(ปัจจุบันนี้เรียกว่า พระเจดีย์โบตาทอง แปลว่านายพล ๑,๐๐๐ นายที่ไปรับพระเกศาธาตุ คราวนั้น เวลานี้ถ้าเข้าไปข้างใน ด้านซ้ายมือของ พระเจดีย์ จะมีรูปปั้น เทพเจ้าทันใจ องค์หนึ่งยืน ชี้นิ้ว ตามประวัติของพม่าเล่าว่า เทวดาองค์นี้ เป็นผู้ชี้บอกสถานที่สร้างพระเจดีย์ที่ภูเขาสิงฆุตตระ พระเจดีย์นี้อยู่ใกล้ท่าเรือปากแม่น้ำย่างกุ้ง

ต่อมาพระเจดีย์ถูกระเบิดจากฝ่ายสัมพันธ มิตรเมื่อปี ๒๔๘๖ ได้พบ พระเกศาธาตุ และ พระเขี้ยวแก้ว ซึ่ง พระเจ้าอลองสินธุ พยายาม ที่จะนำมาจากจีนแต่ไม่สำเร็จ จนในปี ๒๕๐๓ รัฐบาลจีนจึงได้คืนให้แก่ชาวพม่า เวลานี้ได้สร้างพระเจดีย์โบตาทองใหม่ ภายในจะมองเห็นพระ เกศาธาตุด้วย ส่วน พระเขี้ยวแก้ว ได้อัญเชิญไป ไว้ที่พระเจดีย์ชเวดากอง และสร้างพระเจดีย์ใหม่ ชื่อว่า พระเจดีย์ซะแวดอว์ นั่นเอง

แต่ในที่บางแห่งเล่าว่า พระเขี้ยวแก้ว องค์ นี้เดิม พระเจ้ากนิษกะ เป็นผู้อัญเชิญมายังเมือง เปชะวาร์ ต่อมาถูกพวกมุสลิมทำลายในปี พ.ศ ๒๔๕๑ พบกล่องบรรจุเจดีย์แก้ว ภายในบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ๓ องค์ สมัยนั้น ประชาชน นับถืออิสลาม (ปัจจุบันคือ ปากีสถาน) อังกฤษ ซึ่งปกครองอินเดีย จึงได้มอบให้แก่พุทธสมาคม ประเทศพม่า)

ฝ่ายพระเจ้าโอกลาปาก็ได้อัญเชิญเข้าไปยังปราสาทของพระองค์ แล้วให้สร้างปะรำพิธี มีการประดับตกแต่งด้วยเครื่องบูชามากมาย บรรดาประ ชาชนทั้งหลายได้เข้ามาบูชาพระเกศา ธาตุทั่วทุกสารทิศ ทางด้าน ภูเขาสิงฆุตตระ มี ตะขาบตัวใหญ่ตัวหนึ่งกินช้างเป็นอาหาร แล้ว คาบกระดูกและงามาสร้างรังที่อยู่จนสูง เหตุที่ตะขาบสร้างรังจึงเรียกชื่อว่า สิงฆุตตระ ภาษา มอญชื่อว่า เตอคะปัวเกียะกี คือ ภูเขารังตะขาบ

เทพเจ้าทันใจ ผู้บอกชี้ทางให้ไปสร้างที่ชเวดากอง


(ภาพจาก exoticontour.com)

แต่ในตอนนั้น พระเจ้าโอกลาปา ยังหา ภูเขาสิงฆุตตระไม่พบตลอด ๓ ปี (ตำนานพม่า ว่าหาอยู่ ๗ วัน ฉะนั้นการนับอายุของพระเจดีย์ ระหว่างมอญกับพม่าจึงแตกต่างกัน ๓ ปี) ต่อเมื่อ ได้พบแล้ว จึงทำการขุดลึกลงไป ๘๐ ศอก พบ ผอบทองคำที่บรรจุพุทธบริขารของพระพุทธเจ้า ทั้งสามพระองค์แล้ว จึงได้นำพระเกศาธาตุอีก ๘ เส้น มารวมเป็นที่เดียวกัน

ก่อนจะทำพิธีบรรจุพระเกศาธาตุนั้น ได้ มีพิธีการสรงน้ำก่อน (สถานที่เคยสรงน้ำพระ เกศาธาตุ อยู่ทางทิศเหนือของพระเจดีย์ชเวดา กอง ชื่อ พระเจดีย์ซานดอริ้ง ส่วนทางทิศอีสาน จะมีเจดีย์องค์หนึ่ง ชื่อ พระเจดีย์นองรองยี (เจดีย์ องค์พี่) สร้างเป็นต้นแบบไว้ก่อนที่จะสร้างเจดีย์ องค์ใหญ่อย่างในปัจจุบันนี้ (พระเจดีย์องค์น้อง) ขอย้อนเล่าถึงตอนที่จะมีพิธีสรงน้ำต่อไปว่า

ตำนานมอญได้เล่าว่า พระอินทร์ได้เสด็จ มาร่วมสร้างกับพระเจ้าโอกลาปาด้วย ในขณะ ที่นำพระเกศาธาตุออกจากผอบแก้วมณี เพื่อจะ ทำพิธีสรงน้ำ มนุษย์และเทวดามีความปีติยินดี แซ่ซ้องสาธุการ พระเกศาธาตุก็แสดงปาฏิหาริย์ ลอยสูงขึ้นไปบนอากาศ แผ่พระรัศมีกระจายออกไปทั่วจักรวาล คนตาบอดก็มองเห็น คนหูหนวก ก็ได้ยิน คนพิการก็หายเป็นปกติ พื้นแผ่นดินก็ สะเทือนหวั่นไหว ฟ้าแลบแปลบปลาบ สายฝน ก็โปรยปรายลงมาในขณะนั้น

พระเจ้าโอกลาปาและพระมเหสีมีพระ ทัยโสมนัสยินดี จึงได้ถอดมงกุฎและเครื่องประ ดับออกบูชา พร้อมด้วยมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ต่างก็บูชาด้วยสิ่งของมีค่าหาประมาณมิได้ หลัง จากนั้นที่ได้สรงน้ำแล้ว จึงได้บรรจุไว้ในอุโมงค์ แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบไว้สูง ๒๘ ศอก (บาง แห่งว่าสูง ๔๔ ศอก) ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

ประวัติบางแห่งเล่าว่า ได้สร้างพระเจดีย์ บนเนิน ดากอง หรือ ตะโก้ง คำว่า ชเว แปลว่า ทอง ชาวพม่าจึงเรียกว่า “ชเวดากอง” ซึ่งอยู่สูง กว่าระดับพื้นราบประมาณ ๑๖๖ ฟุต จากการ สำรวจพบว่า องค์พระเจดีย์มีร่องรอยการก่อเพิ่ม เติมถึง ๗ ครั้ง พระเจดีย์สูงประมาณ ๓๒๖ ฟุต

ตามประวัติบอกว่า ปิดด้วยแผ่นทองคำแท้ แบบทองจังโก ๘,๖๘๘ แผ่น น้ำหนักรวม ๒ ตัน ประดับเพชร ๕,๕๔๘ เม็ด พลอย นิล บุษราคัม อีก ๒,๓๑๗ เม็ด และมรกต (บางแห่งว่าทับทิม ขนาดเท่าไข่ไก่บนยอดฉัตรพระเจดีย์) ทั้งหมด ประดับอยู่บนสุดเหนือฉัตรขนาดใหญ่ ๑๐ เมตร ซึ่งประดับเพชรไว้ถึง ๔๐,๐๐๐ กว่าเม็ด รวม ๗๐ กะรัต ซึ่งสร้างขึ้นบนไม้หุ้มทองเจ็ดเส้น ประดับ ระฆังเล็กๆ ทองคำ ๑,๐๖๕ ลูก ระฆังเงิน ๔๒๐ ลูก

ฝ่ายพระอินทร์เห็นว่า มนุษย์ทั้งหลายที่ ได้ช่วยกันแผ้วถางป่าในสถานที่สร้างพระเจดีย์ ได้เกิดเป็นโรคต่างๆ เช่นไออกมาเป็นเลือด จึง ได้เนรมิตบ่อน้ำไว้ ๔ บ่อทั้งสี่ทิศ อยู่ระหว่างทาง เดินและที่บันไดเซาปาน ใครได้ดื่มกินอาบก็หาย จากโรคนั้น บ่อน้ำยังปรากฏอยู่บ่อหนึ่งชื่อว่า กะมากรัดชิม (บ่อล้างเลือด)



4

พระเจดีย์สุเล


(ภาพจาก manager.co.th)

สำหรับปะรำพิธีอันเป็นที่ประดิษฐาน พระเกศาธาตุนั้น ภายหลังได้สร้างพระเจดีย์ องค์หนึ่ง ปรารภเหตุว่าให้เป็นที่ตั้งพระเกศาธาตุก่อน จึงมีชื่อว่า กยาดบู เพราะอยู่ในหมู่บ้านนี้ หรือเพราะอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อ อสุกะ ได้บรรจุ พระเกศาธาตุไว้ ๒ องค์ จึงเรียกว่า เจดีย์อสุกะ ภายหลังอำมาตย์มอญชื่อ สุระ ได้มาบูรณะเจดีย์ นี้แล้ว จึงเรียกชื่อใหม่ว่า เจดีย์สุระ ภายหลังเรียก เพี้ยนไปว่า พระเจดีย์สุเล ดังนี้

ต่อมาภายหลัง นายตะเปาและนายตะปอ สองพี่น้องได้ไปเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กรุงราชคฤห์ และสดับฟังพระธรรมเทศนา นาย ตะเปาได้บรรลุพระโสดาบัน ส่วนนายตะปอได้ เป็นพระอรหันต์ แล้วอุปสมบทในพุทธศาสนา ไม่กลับมาอีก นายตะเปาจึงเดินทางกลับเมือง มอญแต่เพียงคนเดียว ฝ่ายพระตะปอมีชื่อเสียง ไปทั่วจนมีชื่อว่า “พระธรรมิกมหาเถระ”

พระเจดีย์เลียะเกิงตั้งแต่แรกสร้างมานั้น ได้มีการทนุบำรุงตลอดมาจนถึง พระยาอู่ พระเจ้าราชาธิราช กษัตริย์เจาปุ พระเจ้าธรรมเจดีย์ (ในศิลาจารึกเรียกว่า ไตรบรรพตเจดีย์) ได้มีการ ต่อเติมจนมีส่วนสูงทั้งหมด ๓๒๖ ฟุต แวดล้อม ด้วยเจดีย์บริวารชั้น ๑ มี ๑๒๒ องค์ ชั้นบนคือ ชั้น ๒ มี ๖๘ องค์ รวมเป็น ๑๙๐ องค์ ส่วนเจดีย์ที่บริเวณลานพระธาตุมี ๑๒ องค์ ศาลาและวิหารที่อยู่รายรอบนี้มีทั้งหมด ๑๙ หลัง แต่มีวิหารหลังใหญ่ ๔ ทิศ ของพระเจดีย์ ชเวดากองนั้น เป็นวิหารของพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ อีกทั้งมีการประดับไฟในยามค่ำคืนไว้ ส่องสว่างอย่างสวยงามตระการตาด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ นายทอเลอ เจ้าเมืองมุห์แนงเกียะรัต ได้มาบูรณะครั้งใหญ่อีก แต่ฉัตรที่ พระเจ้าช้างเผือก ได้เคยพระราชทาน ไว้ ๙๕ ปีแล้ว มีบางส่วนชำรุดไป พระเจ้ามินดง จึงได้พระราชทานใหม่ แล้วทำพิธียกฉัตร ๗ ชั้น ซึ่งมีน้ำหนักทองคำ ๒๐,๒๒๙ บาทเศษ แก้ว มณีเพชรพลอยนั้นประมาณ ๓๖,๔๑๑ เม็ด พระองค์ได้ร่วมบริจาคพร้อมกับประชาชนชาว พม่า ทำพิธียกยอดฉัตรถึง ๓ - ๔ ครั้ง แล้วเสร็จ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๕

ก่อนที่พม่าจะเสียเอกราชให้แก่อังกฤษนั้น องค์พระเจดีย์ชเวดากองยังสามารถมองเห็นภาย ในพระเจดีย์ว่าบรรจุเครื่องบริขารของพระพุทธ เจ้าองค์ก่อนๆ ได้ และโดยเฉพาะพระเกศาธาตุ จะบรรจุไว้ในผอบทอง ประดิษฐานบนเรือสำเภา ทอง และจะลอยขึ้นลงตามน้ำได้ด้วย

จนพระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้าย คือ พระเจ้าสีป่อ ทรงทราบแน่ชัดแล้วว่า ไม่สามารถที่จะ รักษาประเทศพม่าไว้ได้ จึงรับสั่งให้ก่อปิดองค์ พระเจดีย์ไม่ให้เห็นสิ่งของด้านในได้ จากนั้น อังกฤษได้เข้ายึดครองพม่าสำเร็จ และได้นำปืน ใหญ่ขึ้นไปตั้งบนลานพระธาตุ พร้อมทั้งสั่งห้าม มิให้ชาวพม่าขึ้นไปบนนี้โดยเด็ดขาด

ทหารอังกฤษคงจะทราบว่า ภายในพระ เจดีย์ได้บรรจุทรัพย์สินสิ่งของมีค่าไว้ จึงได้แอบ ขุดพระเจดีย์ลึกลงไปได้ประมาณ ๓๐ ฟุต แต่ก็ ยังไม่ถึงจุดสำคัญที่ได้บรรจุไว้ลึกถึง ๗๐ ฟุต ชาว พม่าทราบข่าวจึงรวมตัวกันเรียกร้อง เรื่องทราบ ถึงพระราชินีของอังกฤษ จึงรับสั่งให้คืนพระเจดีย์ ชเวดากองคืนให้แก่ชาวพม่า หลังจากนั้นก็มีการ เรี่ยไร เพื่อทำการบูรณะพระเจดีย์ขึ้นใหม่

เป็นอันว่าชื่อเดิมของ พระเจดีย์เลียะเกิง ก็ได้สูญหายไปจากแผ่นดิน พร้อมกับอาณาจักร รามัญก็ล่มสลายไปเมื่อ วันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๐๐ โดยถูกพม่าบุกทำลายเมืองหลวง คือ หงสาวดี จนพ่ายแพ้ยับเยิน ชาวมอญจึงได้ อพยพมาอยู่ที่เมืองไทยกันมากมาย ได้สืบตระ กูลรุ่นลูกรุ่นหลานจนถึงบัดนี้

ในสมัยปัจจุบันนี้ ชาวโลกได้รู้จักกันใน นาม พระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งได้สร้างเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ชาวมอญและพม่าได้ถือเป็นวันทำ บุญเป็นประจำทุกปี และเป็นการบังเอิญอย่างยิ่ง ที่พวกเราได้มาใกล้วันครบรอบวันเกิดพอดี ฉะนั้น ในอดีตกาลที่ผ่านมา เราจะเคยมาสู่ดินแดนนี้ หรือไม่ก็ตาม การมาในชาตินี้ก็จะมาอธิษฐาน ขออนุโมทนาท่านผู้ร่วมสร้างและผู้ร่วมบูรณะ ทั้งหลาย เพื่อความตั้งมั่นในพระศาสนาตลอดไป

จากนั้นก็เปิดเทปหลวงพ่อบวงสรวง ท่ามกลางชาวพม่าทั้งหลายด้วย แล้วนำผ้าขึ้นไปห่ม บูชา มีขนาดยาว ๑๐๐ กว่าเมตร นับว่าได้ถวาย เครื่องบูชากันเต็มที่ ในเวลานั้นมีการบูรณะพระ เจดีย์บริวาร จึงได้ร่วมกันทำบุญ ๑๗,๔๐๐ จ๊าด และอีก ๔๔ ดอลลาร์ ก่อนที่จะอุทิศส่วนกุศล ให้แก่เทวดาผู้อารักษ์ทั้งหลาย

หลังจากนั้นได้เดินชมรอบๆ บริเวณนี้ เช่นที่ พระเจดีย์ชเวดากองจำลอง สร้างด้วยทอง คำหนัก ๕๒ กิโลกรัม ไหว้ พระพุทธรูปสุริยัน จันทรา สร้างด้วยหินอ่อนปิดทองสวยงาม อัญเชิญ มาจากอินเดีย และไปที่มุมหนึ่งของพระเจดีย์ เขาเรียกว่า “จุดอธิษฐานศักดิ์สิทธิ์” ด้านนี้ถ่าย รูปได้เต็มองค์พระเจดีย์ แล้วได้เข้าไปนมัสการ พระเขี้ยวแก้ว เสร็จแล้วก็ไปชมการฟ้อนรำจาก คณะนาฏศิลป์สาวชาวพม่า ประมาณ ๕ - ๖ คน ตามที่ผู้เขียนได้ขอให้คุณมิคกี้ติดต่อมารำถวาย



5

พระพุทธไสยาสน์เฉ้าทัตยี (พระตาหวาน)


(ภาพจาก bloggang.com)

จึงเป็นอันว่าเสร็จพิธีบวงสรวงสักการ บูชาได้ครบถ้วน ณ สถานที่นี้ ได้ทำพิธีครอบคลุม รวมหมดทุกแห่งในอาณาเขตนี้ ต่อนี้ไปก็แค่ ไหว้กันแบบธรรมดา เช่น พระพุทธไสยาสน์เฉ้า ทัตยี ที่ใหญ่และมีพระพักตร์งดงามที่สุดในพม่า ยาว ๒๒๐ ฟุต เดิมเป็นพระนั่ง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ส่วนที่พระบาทจะมีลายลักษณ์ ๑๐๘

ต่อมาองค์พระได้ทรุดตะแคงลง ชาวพม่า จึงร่วมกันสร้างขึ้นใหม่เป็นพระนอน ยาว ๗๐ เมตร มีพุทธลักษณะสมสัดส่วน วงพระพักตร์ และดวงพระเนตร เหมือนกับมีชีวิตจิตใจจริงๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ผู้เขียนได้เดินทางไปกับ ท่านพระครูปลัดอนันต์ เป็นจังหวะที่เขากำลัง บูรณะพอดี จึงได้มีโอกาสร่วมทำบุญด้วย ปัจจุบันนี้คนไทยนิยมเรียกกันว่า "พระตาหวาน"



6

พระเจดีย์คาบาเอ


(ภาพจาก oceansmile.com)

หลังจากนั้นก็เดินทางไปไหว้ พระเจดีย์ คาบาเอ สมัยนั้น นายกรัฐมนตรีอูนุ ให้สร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ตามเรื่องเล่าว่า มีชีปะ ขาวผู้หนึ่งมาปรากฏกายต่อหน้า พระสยาเต ซึ่ง กำลังนั่งสมาธิอยู่ใกล้ เมืองปะคกกู ริมฝั่งแม่น้ำ อิระวดี แล้วยื่นไม้เท้าที่มีตัวหนังสือจารึกให้ ชีปะ ขาวผู้นี้ขอให้พระสยาเตนำไม้เท้าไปมอบให้นาย อูนุ และสั่งให้นายอูนุทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

เมื่อนายอูนุได้รับไม้เท้าแล้ว จึงสั่งให้ สร้างพระเจดีย์คาบาเอ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๙๗ - ๒๔๙๙) พระเจดีย์สูง ๓๔ เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อ ด้วยเงินหนัก ๕๐๐ กิโลกรัม แล้วได้บรรจุพระ อัฐิธาตุของ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลาน์ ซึ่งขุดพบในอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ โดย ข้าหลวงชาวอังกฤษแห่งอินเดียได้มอบไว้ให้

พระเจดีย์ที่บรรจุนั้น ทำเป็นรูปทรงคล้าย กับที่ สาญจิเจดีย์ ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่ บรรจุพระธาตุของพระอัครสาวกทั้งสองเหมือนกัน ส่วนทางด้านเหนือของเจดีย์เป็นที่ตั้งของ ถ้ำมหาปาสาณคูหา ซึ่งนายอูนุได้สร้างไว้ทำสังคายนา เป็นการจำลองแบบ ถ้ำสัตตบรรณคูหา กรุงราช คฤห์ ที่พระมหากัสสปใช้เป็นที่ทำสังคายนาครั้ง แรก ถ้ำมหาปาสาณคูหามีห้องโถงจุคนได้ถึง หนึ่งหมื่นคน สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗



7

ย่างกุ้ง - พุกาม (ปะกัน)


(ภาพจาก www.ktc.co.th)

ตอนไปพม่าครั้งแรกนั้น ยังไม่มีเครื่องบิน จึงต้องเดินทางโดยรถยนต์หรือรถไฟกัน เย็น นั้นก็ได้ไปที่สถานีรถไฟ เพื่อเดินทางไปลงที่ สถานีตาร์ซี ขณะขึ้นรถไฟฝนก็ตกลงมาไล่หลังอีก ทั้งที่ไม่ใช่หน้าฝนสักหน่อย คุณมิคกี้หัวหน้า ทัวร์เป็นห่วงสุขภาพของพวกเรา

เนื่องจากอากาศที่พุกามร้อนจัดกว่านี้มาก คุณมิคกี้เห็นฝนตกที่ย้างกุ้ง จึงพูดกับพวกเราว่า ถ้าฝนตกที่พุกามด้วย จะยกนิ้วหัวแม่โป้งให้เลย แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้คิดอะไร เมื่อขึ้นรถไฟชั้นพิเศษ คือปรับเอนนอนได้ก็จริง แต่วิ่งเขย่ายิ่งกว่ารถไฟ ไทยเสียอีก พวกเราก็ได้นอนพักไปบนรถ มอง เห็นผู้หญิงชาวพม่ากำลังนั่งนับลูกประคำอยู่

เราจึงรู้ว่าคนพม่ายังรักษาจารีตประเพณี ที่ดีงาม เข้าวัดฟังธรรมรักษาศีล แบบคนไทย สมัยโบราณ ทุกคนได้พบเห็นแล้ว จึงลืมเรื่องใน อดีตที่มีอคติกับชาวพม่าอย่างสิ้นเชิง สถานที่ทุก แห่งที่เข้าไป จะเห็นชาวพม่านั่งสวดมนต์บ้าง นั่งสมาธิบ้าง โดยทางวัดจะมีลูกประคำแขวนไว้ให้ ตู้บริจาคก็เต็มไปด้วยเงินจ๊าด พระเจดีย์แต่ละ องค์ปิดทองสวยอร่ามไปหมด

สองวันแห่งการเดินทาง ภาพที่เห็นจึง เริ่มมีความประทับใจ หวนคิดถึงเหตุการณ์ที่ผ่าน ไป นอนหลับๆ ตื่นๆ จนกระทั่งรถไฟถึงเป้าหมายในเวลาเช้า รถบัสได้มารับที่สถานีรถไฟตาร์ซี ในขณะที่นั่งไปในรถ หลวงพี่โอ สวดมนต์ทำ วัตรเช้า ปรากฏว่าคนที่อยู่ข้างหน้าตะโกนดังลั่น บอกว่ามีฝนโปรยลงมาที่กระจกหน้ารถ

เท่านั้นแหละ..พวกที่นั่งอยู่ด้านหลังลุก ขึ้นมามองดูกัน คุณมิคกี้ก็ยอมรับว่า ด้วยอำนาจ แห่งพุทธบารมี และผลบุญที่เกิดจากการตั้งใจ บูชา จึงทำให้มีอานุภาพเช่นนั้น รถบัสวิ่งไปประ มาณ ๓ - ๔ ชั่วโมง ใกล้เวลาฉันเพล ต้องรีบเข้า ไปที่ร้านอาหารในเมืองพุกาม ปรากฏว่าสภาพ ถนนเต็มไปด้วยน้ำเจิ่งนอง มีพวกเราบางคน สงสัย จึงขอให้คุณมิคกี้เข้าไปถามคนในร้าน เขาบอกว่าฝนเพิ่งตกผ่านไปเมื่อตะกี้นี่เอง

ในตอนนั้น เมืองพุกาม ยังไม่เจริญและ ไม่มีนักท่องเที่ยวมากมายเหมือนสมัยนี้ เพราะ อากาศแห้งแล้ง คล้ายเป็นทะเลทรายมาก่อน ทางการพม่าเพิ่งเริ่มต่อท่อน้ำและปลูกต้นไม้ เพื่อ สร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นผิวดินก่อน พร้อม ทั้งเริ่มบูรณะปิดทององค์พระเจดีย์ ภายในเวลา ไม่กี่ปี เมืองแห่งพระเจดีย์สี่พันองค์ก็ฟื้นกลับ มารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง

ในอดีต อาณาจักรพุกาม นี้มีพระเจดีย์ ทั้งสิ้น ๔ ล้านกว่าองค์ แต่เนื่องจากแผ่นดินไหว หลายครั้ง ทำให้พระเจดีย์ได้รับความเสียหาย ปัจจุบันยังคงเหลือสภาพอยู่เพียงแค่นี้ ซึ่งมองดู แล้วสวยงามเหมือนกับเมืองพระเจดีย์ โปรแกรม ในพุกามมีหลายแห่ง แต่ผู้เขียนจะเล่าเฉพาะพระ เจดีย์สำคัญที่สุด ตามที่เขาได้จัดอันดับไว้ดังนี้

๑. พระเจดีย์ชเวซิกอง ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด บรรจุพระเขี้ยวแก้ว สมัย พระเจ้าอนุรุทธมหาราช

๒. พระเจดีย์โลกะนันดา มีพระเขี้ยวแก้ว

๓. พระเจดีย์ธรรมยางยี ใหญ่ที่สุด

๔. วัดอานันดา สง่างามที่สุด

๕. วัดธาตุบินยู สูงที่สุด

๖. พระเจดีย์กอว์ดอว์ปลิน สวยที่สุด

๗. พระเจดีย์ชเวซานดอว์ มีพระเกศาธาตุ

นอกจากนี้ก็ยังมีพระเจดีย์อีกมากมาย แต่ ก็จะขอเล่าตอนไปที่ พระเจดีย์โลกะนันดา พบ ว่ากำลังบูรณะพอดี ในขณะที่เดินแห่ผ้าห่มพระ เจดีย์อยู่นั้น อากาศก็มืดครึ้มลงทันที หลังจากได้ ร่วมทำบุญบูรณะพระเจดีย์อันเป็นที่ประดิษฐาน พระเขี้ยวแก้ว กันประมาณ ๑๒,๐๐๐ จ๊าด แล้ว จึงเดินทางไปชมพระอาทิตย์ตกดินที่ พระเจดีย์ ชเวซานดอว์ กันต่อไป

ตามประวัติเล่าว่า พระเจดีย์ชเวซานดอว์ เป็นพุทธสถาน ๑ ใน ๓ แห่งที่ พระเจ้าอนุรุทธ ทรงสร้างไว้ในเมืองพุกาม สร้างในปี พ.ศ. ๑๖๐๐ หลังจากที่ทรงมีชัยชนะกลับมาจากเมืองสะเทิม ซึ่งเป็นอาณาจักรของมอญ ในพระเจดีย์บรรจุ พระเกศาธาตุ ที่อัญเชิญมาจากเมืองสะเทิม

ในคืนนั้นก็ได้พักค้างคืนริมแม่น้ำอิระวดี แล้วช่วยกันทำบายศรี เพื่อจะทำพิธีบวงสรวงใน วันรุ่งขึ้น ทั้งๆ ที่เดิมไม่ได้คิดว่าจะต้องมาทำพิธี ที่นี่ เพราะก่อนเดินทางผู้เขียนไม่ได้สนใจเมือง พุกามเท่าไหร่ ครั้นได้มาพบอภินิหารเช่นนี้ จึง บอกให้ คุณแดง เอาบายศรีที่อื่นมาทำที่นี่ก่อน แล้วค่อยหาใบตองทำบายศรีชดเชยกันวันหลัง

วันรุ่งขึ้น วันที่ ๒๓ ก.พ. ๓๙ เวลาประ มาณ ๙ โมงเช้า ขณะที่รถวิ่งจะไปไหว้พระพุทธ รูปสำคัญองค์หนึ่งที่เพิ่งขุดพบในพระเจดีย์ พวก เราได้มองเห็นแสงรุ้งขึ้นบนท้องฟ้า ขึ้นใกล้ๆ กับดวงอาทิตย์ มีลักษณะเรียวๆ จึงถามคุณมิคกี้ว่า ตรงที่แสงรุ้งขึ้นบนภูเขานั้น มีพระเจดีย์สีขาว ชื่อว่าอะไร

คุณมิคกี้บอกว่า บนภูเขานั้นมี พระเขี้ยวแก้ว บรรจุอยู่ในพระเจดีย์ที่ชื่อว่า “ตุรินต่อง” เมื่อมองดูแสงรุ้งอีกครั้ง จึงพบว่ามีลักษณะโคน ใหญ่แต่ปลายเรียว คล้ายกับพระเขี้ยวแก้วจริงๆ แต่มองดูแล้วอยู่ห่างไกลมาก อีกทั้งไม่มีอยู่ใน โปรแกรมด้วย แล้วคุณมิคกี้ก็อธิบายว่า ในเมือง พุกามมี พระเขี้ยวแก้ว อยู่ ๔ แห่ง ดังนี้

๑. พระเจดีย์ชเวซิกอง

๒. พระเจดีย์โลกะนันดา

๓. พระเจดีย์ตุรินต่อง

๔. พระเจดีย์ตันจิต่อง

พระเจดีย์บรรจุพระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ แห่ง รอบเมืองพุกามนี้ ต่อมาปี ๒๕๔๓ ผู้เขียนก็ได้ เดินทางไปกราบไหว้จนครบถ้วนทุกแห่ง



ประวัติเมืองพุกาม

สมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุได้ ๗๐ ปี (๓๕ พรรษา) ได้เสด็จมาที่ ภูเขาตันจิต่อง แล้วทรงชี้ให้พระอานนท์ดูที่ฝั่งตรงข้ามของแม่ น้ำอิระวดี และตรัสว่าฝั่งโน้นมีป่าไม้และบ่อน้ำ มีนกกระยางและนกอีกาอยู่บนต้นไม้

คำว่า มีนกอยู่ที่บ่อน้ำ แปลว่า ตถาคต ปรินิพพานไปแล้วหลังจาก ๖๕๑ ปี ที่ตรงนั้น จะเป็น เมืองโป๊กกาม (พุกาม) มีราชวงศ์ ๕๕ พระองค์ ส่วนคำว่า นกกระยางเกาะอยู่บนต้นไม้ แปลว่า ประชาชนที่เมืองนี้ จะอยู่ดีกินดีมีความสุข

ต่อมาหลังจากที่พระศาสดาพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้จะเจริญรุ่งเรือง ประมาณปี พ.ศ. ๖๕๑ พระเจ้าสมุทรธิราช สร้างเมือง อริมัทนปุระ หรือว่า เมืองโป๊กกาม (ปะกัน) และมีชน ชาติพยูตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ ศรีเกษตร (เมืองแปร) แล้วได้มีการทำสงครามกันระหว่างชาวไตจาก ยูนนานบ้าง จากมอญบ้าง จนถึงสมัย พระเจ้าอนุรุทธ (พ.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๐) ลำดับที่ ๔๒ แห่ง ราชวงศ์ ทรงพิชิตอาณาจักรมอญได้ในปี ๑๖๐๐

พระองค์ได้มีความเลื่อมใสในพระพุทธ ศาสนา ทรงสร้างพระเจดีย์ไว้มากมาย โดยรวบ รวมพระบรมสารีริกธาตุจาก เมืองปีเยย์ มีพระรากขวัญ (ไหปลาร้า) และพระนลาฏ (หน้าผาก) และทรงได้รับพระเขี้ยวแก้วจากลังกาด้วย คือ

ในปี พ.ศ. ๑๖๐๑ พระเจ้ากรุงลังกาได้ ถวายพระเขี้ยวแก้ว ๑ องค์ โดยท่านทูตของลังกา อัญเชิญมาทางเรือ เมื่อมาถึง ท่าเรือโลกะนันดา พระเจ้าอนุรุทธได้เสด็จลงไปในน้ำ แล้วอัญเชิญ ขึ้นบนพระเศียรพร้อมกับเสี่ยงอธิษฐานว่า หาก พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในเมืองพุกาม ขอให้พระเขี้ยวแก้วนี้จงแสดงอภินิหารอย่างใด อย่างหนึ่ง ปรากฏว่าพระเขี้ยวแก้วได้แยกออก เป็น ๔ องค์ด้วยกัน

หลังจากนั้น พระองค์ทรงปล่อยให้พญา ช้างเผือกที่ใช้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วนี้ เพื่อเป็น การเสี่ยงทาย ถ้าไปหยุดที่ไหนก็จะสร้างเจดีย์ ที่นั่น ผลปรากฏว่าพระเขี้ยวแก้วได้ประดิษฐาน อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว

แต่ว่า พระเจดีย์ชเวซิกอง เริ่มสร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. ๑๖๒๐ ขณะที่สร้างฐานเจดีย์ไปได้เพียง ๓ ชั้น พระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ (บางแห่ง บอกว่า ถูกควายขวิดจนสิ้นพระชนม์) พระเจ้าจันสิทธา พระราชโอรสจึงได้สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๖๓๒ ภายในบรรจุ พระรากขวัญ และ พระเขี้ยวแก้ว ของพระพุทธเจ้าด้วย

ในประวัติพม่าโดย จี.อี.ฮาวีย์ เล่าพิสดาร ไปกว่านี้อีกว่า พระเจ้าอนุรุทธ เป็นผู้มีฤทธิ์เหาะ ได้ พระองค์มีความประสงค์ใคร่จะคัดลอกพระ ไตรปิฎก จึงส่งคนไปทางเรือสำเภาล่วงหน้าไป ก่อน พอคำนวณว่าเรือใกล้จะถึง พระองค์ก็ทรง ม้าอาชาไนยเหาะไปลังกาทวีป ไปถึงพร้อมกับ เรือสำเภา ๒ ลำ ในวันเดียวกันนั้น

หลังจากคัดลอกพระไตรปิฎกเสร็จแล้ว จึงอัญเชิญพระไตรปิฎกลงเรือลำหนึ่ง อีกลำหนึ่ง อัญเชิญพระแก้วมรกตมาด้วย แต่เรือที่นำพระ ไตรปิฎกได้มาถึงเมืองพุกาม ส่วนเรือที่นำพระ แก้วมรกต ได้ถูกกระแสลมพัดหลงไปที่ เมืองอินทรปัตถ์ (เขมร) พระเจ้าอนุรุทธก็ทรงม้าอาชา ไนยตามไปอีก แต่ก็ไม่สามารถนำกลับมาได้

การไปลังกาครั้งนี้ จึงเป็นเหตุสำคัญที่ได้ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก กลับมาด้วย โดย พระมหาสามีเจ้าธัมมรโส เป็นผู้ไปคัดลอกเฉพาะที่ อยู่ในเมืองใกล้ๆ เมืองหงสาวดี เมืองกุสินาราย อันเป็นบริเวณแคว้นเมืองมอญ เมืองยวน (น่าจะ เป็นเชียงใหม่) เมืองหริภุญชัย เมืองลื้อเมืองไทย ทั้งมวล ท่านได้อยู่จำพรรษา ๑ เดือน แล้วเดิน ทางกลับมาทางทะเล เป็นเวลา ๖ เดือน

◄ll กลับสู่สารบัญ


praew - 23/8/10 at 16:28

สรุปได้ว่า พระแก้วมรกต ได้อยู่ในประ เทศลังกา เขมร ลาว แล้วมาอยู่ที่ไทย แต่ไม่เคย ไปอยู่ที่พม่าเลย คงเป็นเพราะว่าพม่ามีพระพุทธ รูปสำคัญอยู่แล้วก็ได้ จึงจะเห็นได้ว่าพระเจ้าอนุรุทธทรงมีฤทธิ์คล้ายกับ พระยาชมพูบดี ที่เหาะไปกระทืบยอดปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร จนพระพุทธเจ้าต้องปลอมพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพื่อจะทรงทรมาน พระยาชมพูบดี ต่อมาจึงนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์

ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่า พระยาชมพูบดี อาจจะอยู่ทางพม่าก็ได้ เพราะทางพม่าจะนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องพระเจ้าจักรพรรดิ ตัวอย่างเช่น พระมหามุนี เป็นต้น ส่วนเมืองไทยก็มี พระแก้วมรกต ทรงเครื่องกษัตริย์เหมือนกัน แม้แต่ที่วัดท่าซุงก็นิยมสร้างพระพุทธรูปแบบนี้ ซึ่งผู้เขียนก็ได้สร้างไว้ที่ วัดสิริเขตคีรี อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย



8

พระเจดีย์ชเวซิกอง


(ภาพจาก variety.domunz.com/)

ความมหัศจรรย์ของ พระเจดีย์ชเวซิกอง มี ๙ อย่างคือ

๑. ดูเหมือนตั้งอยู่บนเนินเขา แต่จริงๆ อยู่บนพื้นราบเท่ากับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ

๒. ฉัตรบนยอดเจดีย์ปักอยู่บนยอดโดย ไม่มีลวดยึดไว้เลย

๓. กระดาษทิ้งลงมาจากยอดเจดีย์ จะไม่ ปลิวออกจากบริเวณเจดีย์

๔. เงาของเจดีย์จะไม่เกินออกไปจากฐาน ล่าง

๕. ต้นไชยา (พิกุล) ออกดอกตลอดปี

๖. คนจะมานมัสการมากเท่าใดไม่เคยเต็ม รับได้หมด

๗. ฝนตกมากน้ำไม่ขังในบริเวณเจดีย์

๘. ตีระฆังด้านขวา ด้านซ้ายจะไม่ได้ยิน

๙. เมื่อมีเทศกาลประจำปี ไม่เคยมีใครใส่ บาตรได้เป็นคนแรก เพราะถึงจะมาเช้าแค่ไหน แต่ก็จะมีคนใส่บาตรแล้ว (เทวดามาใส่ก่อนเสมอ)

ผู้เขียนขอนำประวัติมาเล่าไว้เพียงย่อๆ ต่อไปจะขอเข้าไปไหว้ พระพุทธรูปสมปรารถนา เป็นพระพุทธรูปที่ถูกค้นพบโดยพระภิกษุชาวพม่า ท่านได้มานั่งสมาธิที่พระเจดีย์ร้างองค์นี้มากว่า สิบปี ต่อมาได้เกิดนิมิตว่ามีพระพุทธรูปอยู่ใต้ ฐานพระเจดีย์ จึงขอให้ทางกรมศิลปากรขุด ปรากฏว่าพบพระพุทธรูปองค์นี้จริงๆ

แล้วได้แจ้งไปยังรัฐบาลขอทำการสมโภช ระหว่างรอการสมโภชอยู่นั้น พระพุทธรูปก็ได้ แสดงปาฏิหาริย์ คือ มีแสงสีแดงเกิดขึ้นรอบองค์ พระเป็นเวลา ๗ คืน นับว่าโชคดีของพวกเราที่ ได้มานมัสการ ครั้นกราบไหว้เสร็จแล้ว จึงออก เดินทางสู่ พระเจดีย์ชเวซิกอง เพื่อทำพิธีบวงสรวง โดยวางเครื่องบายศรีตรงจุดสำคัญที่เรียก กันว่า จุดอธิษฐานศักดิ์สิทธิ์ ซึ่ง พระเจ้าอนุรุทธมหาราช เคยทรงคุกเข่าอธิษฐานตามความฝัน

บริเวณลานพระเจดีย์แห่งนี้ จะมีพระเณร ชาวพม่าถือบาตรมารอญาติโยมอยู่เสมอ ไปทีไร ก็เจอทุกที ส่วนใหญ่จะใส่เงินจ๊าดกัน จากนั้น ก็ได้เริ่มทำพิธีบวงสรวง ซึ่งเป็นจุดที่มิได้ตั้งใจ หรือเตรียมการไว้ก่อน จากนั้นก็ถวายผ้าห่มบูชา พระธาตุ และร่วมทำบุญกันรวม ๑๕,๔๗๑ จ๊าด

ใกล้บริเวณนั้นจะมีหลุมเล็กๆ กว้างประ มาณ ๓ นิ้ว ลึก ๑ นิ้ว มีน้ำขังอยู่ ถ้าก้มลงมองดู จะเห็นยอดเจดีย์ ซึ่งเป็นที่สำหรับพระมเหสีของ พระเจ้าอนุรุทธชมยอดพระเจดีย์ แต่เดิมนั้นพระ นางเคยเงยหน้าขึ้นมอง เป็นเหตุให้ปิ่นปักผมตก ลงมา จึงได้ให้ช่างหลวงมาหาวิธีที่พระนางมอง ยอดพระเจดีย์ โดยไม่ต้องเงยหน้าขึ้นไป นับว่า เป็นเทคนิคที่ชาญฉลาดของคนสมัยโบราณ



พระสิขีพุทธปฏิมา

ต่อจากนั้นก็เข้าไปไหว้พระพุทธรูปศักดิ์ สิทธิ์องค์หนึ่ง ต้องมุดเข้าไปในช่องแคบๆ ทีละ คน มองดูเป็นพระพุทธรูปศิลาปิดทองเก่าแก่มาก เห็นบอกว่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช เหมือนกัน เรื่องนี้จึงทำให้นึกถึง พระสิขีพุทธปฏิมา ในหนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ ได้เล่าว่า

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ เสด็จมาประทับนั่งบนก้อนหินดำก้อนหนึ่ง ใกล้ เมืองอยุธยา ได้ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่นั้นมาหินดำก้อนนั้น เทวดาและมนุษย์ ทั้งหลายกราบไหว้บูชาเป็นนิจ หินก้อนนี้มีชื่อว่า อาทรศิลา แปลว่า “หินที่เขานับถือ”

ต่อจากนั้นมามีกษัตริย์องค์หนึ่งในเมือง มอญ ได้โปรดให้ช่างแกะสลักหินก้อนนี้เป็นพระ พุทธรูปจำนวน ๕ องค์ แล้วนำไปประดิษฐาน อยู่ใน มหานคร ๑ ละโว้ ๑ สุธรรมวดี (สะเทิม) ๑ รัมเทศ (พุกาม) ๑ อโยชชปุระ (อยุธยา) ๑ และ คำว่า สิขี แปลว่า “เปลวไฟ” หรือ “นกยูง”

ต่อมา พระเจ้าอนุรุทธ ได้ทูลขอพระพุทธ รูปองค์นี้จาก พระเจ้ามนูหะ แต่ไม่ยอมให้ พระ เจ้าอนุรุทธจึงยกทัพตีเมืองสะเทิมได้ แล้วจับพระ เจ้ามนูหะไปไว้ที่เมืองพุกาม ภายหลังกษัตริย์ ในมหานคร ผู้สร้างพระปฏิมาหินดำนี้ ได้ถวาย พระพุทธรูปของพระองค์ให้แก่พระเจ้าอนุรุทธ จึงสันนิษฐานได้ว่า เมืองพุกามต้องมีพระพุทธ รูปหินดำไว้ ๒ องค์ เพราะในตอนหลังพระเจ้า อนุรุทธก็ได้ถวายพระแม่เจ้าจามเทวีไป ๑ องค์

รวมความตามที่ผู้เขียนเคยค้นคว้าพระ สิขีพุทธปฏิมาทั้ง ๕ องค์นี้ น่าจะอยู่ที่ วัดมหาวัน จ.ลำพูน ที่เรียกว่า พระรอดหลวง และที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง หรือจะที่ วัดพระบรมธาตุ อ.บ้านตาก จ.ตาก ปัจจุบันเรียกว่า พระเจ้าทันใจ มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน และที่เหลือ อยู่ในเมืองพุกาม ๑ องค์ น่าจะเป็นองค์นี้ก็ได้นะ



พุกาม - สกาย - มัณฑเลย์

สถานที่สำคัญต่อไปก็คือ เมืองสกาย ซึ่งอยู่ห่างจากพุกามไกลเหมือนกัน รถปรับอากาศ แต่ไม่เย็นเสียแล้ว เนื่องจากแอร์เสีย คงเป็นเพราะ บุญใหญ่นะ ต้องรอรถมารับจากมัณฑเลย์ พวก เราต้องนั่งอดทนในรถตลอดทาง แต่โชคดีใน ขณะที่แอร์เสีย ปรากฏฝนตกตลอดทางเลย ใน ระหว่างทางที่รถวิ่งมาเปลี่ยน ฝนก็หยุดตกพอดี

รถวิ่งข้ามแม่น้ำอิระวดีไกล้จะถึงภูเขาสกาย พอจะมองเห็นทิวทัศน์ได้แต่ไกล พบว่า บนเขาแต่ละแห่งเต็มไปด้วยพระเจดีย์สีขาว ชาว พม่านิยมสร้างพระเจดีย์กันเสียจริงๆ พอรถ บัสวิ่งไปถึงเชิงเขา ต้องนั่งรถสองแถวต่อขึ้นไป บนเขาอีก ขณะที่รถวิ่งไปถึงพลันก็มีละอองฝน โปรยลงมาเล็กน้อย

พระเจดีย์สวอนอูโพนเยี่ยซิน

พวกที่ก้าวลงมาจากรถสองแถวต่างก็ดีใจในพุทธานุภาพ เพราะเจดีย์ที่มองเห็นอยู่บนนี้มี ชื่อว่า พระเจดีย์สวอนอูโพนเยี่ยซิน ตามประวัติ เล่าว่า หลังจากที่องค์สมเด็จพระชินศรีได้เสด็จ ไปที่พุกามแล้ว พระองค์ได้เสด็จต่อมาที่ ภูเขาสกาย แล้วได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า เมื่อสมัย พระพุทธกกุสันโธ ภูเขานี้เรียกว่า เศลาพับปฏะ สมัยพระพุทธโกนาคม เรียกว่า องคาจาระ สมัย พระพุทธกัสสป เรียกว่า ธัมมิกกะ สมัยตถาคต เรียกว่า นาคะธัตถะ หรือ “ภูเขากบ”

ครั้นแล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าต่อไปว่า เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นกระต่าย เคยอาศัย อยู่ที่ภูเขานี้ และเคยไปที่ภูเขามัณฑเลย์ หลังจาก นั้นพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาทไว้ ต่อมา พ.ศ. ๑๘๕๖ มีอำมาตย์คนหนึ่งชื่อว่า ปุญญะมา ได้มาสร้างพระเจดีย์นี้ไว้ และตั้งชื่อว่า พระเจดีย์โพนเยี่ยซิน

หลังจากนั้นได้มีชาวบ้านมาถวายข้าวที่ พระเจดีย์นี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เคยมีใครได้ ถวายเป็นคนแรกเลย ภายหลังจึงได้ทราบว่า มี เทวดานำมาถวายเป็นคนแรกทุกครั้ง จึงได้เปลี่ยนชื่อพระเจดีย์องค์นี้ว่า พระเจดีย์สวอนอูโพนเยี่ย ซิน ภาษาพม่าแปลว่า “ถวายข้าวเป็นครั้งแรก”

เมืองสกายนี้เคยเป็นเมืองหลวงของพม่าเหนือ อยู่ในการปกครองของชาวรัฐฉาน ตั้งแต่ ปี ๑๘๕๘ - ๑๙๐๗ จึงได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เมือง อังวะ ชาวพม่าเปรียบเมืองสกายเป็นเสมือนเชิง เขาพระสุเมรุอันลี้ลับ และบางคนถือว่า สกาย เป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาในพุทธศาสนา มักจะ พาลูกชายมาบรรพชาเป็น “ฉินปิ้ว” (สามเณร)

เมื่อได้เดินขึ้นมาบนพระเจดีย์นี้ จะมองเห็นทัศนียภาพของแม่น้ำอิระวดีช่วงที่งดงามที่สุด และมองเห็น สะพานอังวะ ที่เชื่อมระหว่างเมือง สกายอังวะ และ อมรปุระ จะสังเกตได้ว่าพระ เจดีย์บนภูเขาที่เห็นไกลๆ นั้น ทางเดินจะมุงหลัง คาเพื่อกันฝนกันความร้อนจากแสงแดดด้วย

ครั้นได้ชมทิวทัศน์พอสมควรแล้ว จึงเดิน เข้าไปข้างในวิหาร จะมองเห็นกบตัวใหญ่ ที่เขา หล่อไว้ด้วยสัมฤทธิ์ มีคนลูบหัวจนแวววับไปเลย เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าได้เคยเสวยพระชาติเป็น พญากบ อาศัยอยู่ที่นี่ พวกเราไม่มีใครกล้าลูบได้ แต่เดินออกไปแห่ผ้าห่มเดินวนรอบพระเจดีย์ แล้วนำไปมอบไว้กับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล

หลังจากได้ทำบุญร่วมบูรณะพระเจดีย์กันเป็นเงิน ๑๖,๑๘๕ จ๊าด แล้วจึงออกเดินทางไปที่ พระเจดีย์กองมุดอว์ มีรูปทรงกลมคล้ายที่ศรีลังกา ซึ่งเป็นที่บรรจุ พระเขี้ยวแก้ว ที่ได้มาจากลังกา จากนั้นก็ไปที่ อมรปุระ ชมโรงงานช่างของพม่า คือ การทอผ้าไหม แกะสลักพระพุทธรูปหินอ่อน และการผลิตแผ่นทองคำเปลว แล้วจึงเดินทางสู่ เมืองมัณฑเลย์ เพื่อเตรียมพักผ่อนกันแต่หัวค่ำ



9

พิธีล้างพระพักตร์ "พระมหามุนี"



ตามประวัติเล่าว่า พระมหามุนี หรือที่ เรียกกันว่า พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม เป็นพระ พุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมัณฑเลย์ และมีพิธีล้างพระ พักตร์มานานแล้ว แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่ เมือง ยะไข่ คู่กับพระมหามุนีอีกองค์หนึ่ง จึงเรียก พระมหามุนีเมืองยะไข่ว่าเป็นองค์พี่ พระมหา มุนีเมืองมัณฑเลย์เป็นองค์น้อง ภายหลังผู้เขียน ก็ได้ติดตามไปไหว้ถึงเมืองยะไข่เช่นกัน

ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จ ไปแสดงธรรมเทศนาโปรดชาว เมืองธัญญาบุรี (เมืองยะไข่) โดยเสด็จมาประทับ ณ ยอดเขาศิลา คีรี (อยู่ด้านหลังของพระวิหาร ซึ่งอยู่ไกลมาก จะสามารถมองเห็นเจดีย์สีทองอยู่บนยอดเขา ที่สร้างเพื่อครอบจุดที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จประ ทับยืน และ ตรงข้ามกับ วิหารพระมหามุนีองค์ต้น จะเป็นเทือกเขาอารกันโยมา)

จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จเข้ามายัง พระนคร เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน พระเจ้าจันทราสุริยา ทรงทูลขอให้พระพุทธเจ้าทิ้งตัวแทนของ พระองค์ไว้ให้มวลมนุษย์ พระพุทธองค์จึงทรง ประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์ ในขณะที่ท้าวสักกะได้ทรง สร้างพระพุทธรูป ซึ่งดูราวกับมีชีวิตขึ้นมา พระ มหามุนีจึงประดิษฐานเหนือบัลลังก์ประดับเพชร อยู่ที่เนินเขาสิริกุตตะ

แต่บางตำนานได้เล่าว่า พระเจ้าจันทราสุริยา ได้ให้ช่างนำหินมาแกะสลักเป็นรูปเหมือน ของพระพุทธเจ้า ขนาดเท่าองค์จริงขณะที่กำลัง แสดงธรรมอยู่ และเมื่อเสร็จแล้วได้นำเป็นต้น แบบโดยหล่อองค์ที่สองด้วยทองสัมฤทธิ์ เมื่อ พระพุทธเจ้าทรงเทศนาจบแล้ว ได้ทำการหายใจ รดพระพุทธรูปทั้งสององค์ ซึ่งถือว่าเป็นการ ปลุกเสกด้วยพระพุทธองค์เอง และได้มีพุทธวาจา กล่าวกับพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ว่า จงอยู่ที่นี้ เพื่อเป็นที่สักการะของผู้มีความศรัทธาต่อไป

ฉะนั้น พระมหามุนีองค์ต้น หรือองค์พี่ (อารกันมหามุนี) เป็นองค์แรกที่แกะสลักจากหินอ่อน ซึ่งมีขนาดเท่าองค์จริง ปกติจะมีน้ำซึมออก มาตามผิวของพระพุทธรูปคล้ายกับเหงื่อซึมออก มาตลอดเวาลา แต่ปัจจุบันนี้ทางวัดได้ปิดทอง องค์พระ จึงทำให้ไม่มีเหงือซึมออกมาอีก

ส่วน พระมหานุมีองค์น้อง (มัณฑเลย์ มหามุนี) องค์นี้สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ มีขนาด ใหญ่กว่าองค์ต้น โดยได้ทำการถอดแบบมาจาก พระมหานุนีองค์ต้น ซึ่งมีผู้มาปิดทองคำเปลวจน ทำให้องค์พระมีลักษณะใหญ่ขึ้น จึงเรียกว่า พระพุทธรูปเนื้อนิ่ม (ปิดทองได้เฉพาะผู้ชาย)

สมัยที่ พระเจ้าอนุรุทธครองเมืองพุกาม พระองค์ได้พิชิตภาคเหนือของยะไข่ พยายาม จะนำพระมหามุนีกลับไปด้วย แต่ก็ไม่สามารถ นำกลับไปได้ ต่อมา พระเจ้าอลองสินธุ พระราช นัดดาของพระเจ้าอนุรุทธตีเมืองยะไข่ พ.ศ. ๑๖๖๑ ทหารได้ทำลายวัดและลอกเอาทองจากพระมหา มุนีไป หลังจากนั้นชาวยะไข่ได้บูรณะขึ้นมาอีก

เมืองยะไข่ (มร้อกอู) เป็นที่อาศัยของชาว ศากยะ ที่อพยพมาจากกรุงกบิลพัสดุ์ คนที่นี่จะ ชำนาญการเดินเรือ จะมีอาชีพประมงและเป็น โจรสลัดด้วย โดยเฉพาะทำเลที่ตั้งของเมืองนี้ ทางด้านหนึ่งจะติดกับทะเล อีกด้านหนึ่งจะมีเทือก เขาอารกันโยมาขวางกั้นอยู่ ทอดตัวเหมือนกำ แพงเมือง ถ้ามีช่องว่างระหว่างเขา ก็จะใช้อิฐและ หินก่อขึ้นเชื่อมรอยต่อของเทือกเขาให้เป็นกำแพง ต่อเนื่องกันไป

เพราะฉะนั้น เมืองยะไข่จึงมักจะไม่ค่อย มีข้าศึกมารุกราน โดยเฉพาะพระมหามุนีไม่มี ใครสามารถนำไปได้ จะยกไปทางเรือก็ยาก หรือ จะข้ามเขาอารกันโยมายิ่งยากใหญ่ แต่ผลสุดท้าย ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ราชบุตรของพระเจ้าอลองพญา ชื่อว่า พระเจ้าโบดอพญา (พระเจ้าปะดุง) ด้วย ความประมาทของชาวยะไข่ด้วยที่มัวระวังแต่ ทางน้ำ ไม่นึกว่าทัพของข้าศึกจะเข้ามาทาง เมืองมินบู แล้วข้ามเทือกเขาอารกันโยมาจนสำเร็จ

กว่าจะป้องกันได้ทัน ข้าศึกก็บุกเข้ามาถึง แล้ว ชาวยะไข่จึงต้องร่ำไห้ด้วยเความเสียดาย เมื่อข้าศึกใช้ความฉลาดที่แยบยลกว่า ชนิดว่า บุกเข้าตีท้ายครัวนั่นแหละ ที่นี้ท่านผู้อ่านลองคิด ดูอีกซิว่า พระพุทธรูปใหญ่มีน้ำหนักมากๆ อย่าง นี้ เขาจะเอาข้ามเทือกเขาสูงไปได้อย่างไร

คงจะไม่ยากสำหรับผู้ที่วางแผนมาดีแล้ว ในตอนแรกนั้น จะอัญเชิญพระมหามุนีองค์ต้นไป
แต่แปลกที่ไม่สามารถจะยกให้ขยับเขยื้อนได้ ทั้งที่ องค์เล็กกว่า จึงเปลี่ยนใจนำพระมหามุนีองค์น้อง ไปแทน โดยการตัดองค์พระออกเป็น ๓ ส่วน แล้วนำไปประกอบขึ้นใหม่ที่ เมืองอมรปุระ

ตั้งแต่บัดนั้นมา พระมหามุนี องค์นี้ ก็ได้มาสถิตสถาพรอยู่ในเมืองมัณฑเลย์ โดยพระเจ้า โบดอพญาทรงสั่งให้สร้างเจดีย์ ๗ ชั้น ที่งดงาม ไม่เหมือนใครใน พ.ศ. ๒๓๒๗ ต่อมาเจดีย์องค์ แรกถูกไฟไหม้ จึงสร้างใหม่ให้เหมือนกับองค์เดิม พระมหามุนีมีความสูง ๓.๘ เมตร แต่มอง ดูองค์พระใหญ่ขึ้น เพราะปิดทองคำเปลวหนา ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหลายปีก่อนเคยถูกไฟไหม้ น้ำ ทองที่ไหลออกมาชั่งได้หลายกิโลกรัม

ยังมีรูปถ่ายที่ด้านหน้าวิหาร เป็นรูปภาพ ขาวดำ ถ่ายไว้สมัยแรกๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน จะเห็นว่าพระพักตร์ยังหนุ่มอยู่ แล้วก็มีภาพช่วง กลาง จนมาถึงใกล้สมัยปัจจุบันนี้ จะเห็นว่าพระ มหามุนีเหมือนคนมีอายุมากขึ้น นับว่าเป็นเรื่อง ที่แปลกมาก คล้ายกับอายุสังขารของคนจริงๆ ในตอนนี้จะขอเล่าเรื่องปัจจุบันกันต่อไปว่า...

เช้ามืดวันนี้ พวกเรามีนัดต้องตื่นประมาณ ตีสี่ เพื่อไปชมพิธีล้างพระพักตร์ พระมหามุนี กัน สมัยนั้นเขาห้ามไม่ให้ถ่ายรูปถ่ายวีดีโอ แต่ ก็มีคนถ่ายมาได้ทุกอย่าง เพราะคนไทยชาวพุทธ บางคนยังไม่เคยเห็นพิธีเช่นนี้มาก่อน จึงเป็นที่ สนใจอย่างใจจดใจจ่อ แม้จะต้องตื่นกันมาแต่เช้า มืดก็ตาม พอมาถึงไม่เฉพาะคนไทยแล้วละ มีคน พม่านั่งรออยู่เต็มพระวิหาร บางคนก็สวดมนต์ บางคนก็เตรียมดอกไม้มาบูชาพระกัน

แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้จองที่นั่งไว้สำหรับคนไทย ทำให้ไม่ต้องไปนั่งเบียดกับชาวพม่า พอถึง เวลาเจ้าอาวาสก็ได้ขึ้นไปทำพิธี พร้อมกับผู้ช่วย เป็นฆราวาสอีก ๒ - ๓ คน พวกเราได้เตรียมผ้า เช็ดหน้าใหม่ๆ มาจากเมืองไทย จึงฝากส่งขึ้นไป ให้เจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าอาวาสเอาน้ำล้างพระพักตร์ แล้ว ท่านก็เอาผ้าเช็ดหน้าซึ่งมีหลายผืน เช็ดแล้ว ส่งกลับลงมาทีละผืนๆ มีคนคอยโบกพัดให้ด้วย

พระเจดีย์เมืองมิงกุน


(ภาพจาก pantip.com)

ต่อจากนั้นพวกผู้ชายก็ได้ขึ้นไปปิดทอง ที่องค์พระ เมื่อได้ทำบุญรวมกัน ๑๐,๐๐๐ จ๊าด แล้วทุกคนก็เดินทางกลับไปรับประทานอาหาร เช้า ตอนสายก็ลงเรือไปชม พระเจดีย์และระฆัง มิงกุน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างนั่ง เรือก็ได้นั่งทำบายศรีกันไปด้วย ท่ามกลางบรรยา กาศในแม่น้ำอิระวดี ทำให้ได้เปลี่ยนอิริยาบถกัน บ้าง เดินทางไปพม่าครั้งนี้ จึงได้นั่งทั้งรถไฟและ เรือครบถ้วน

จนกระทั่งเรือมาถึงเห็นพระเจดีย์เหลือ แค่ฐานเท่านั้นเอง ปรากฏว่า พระเจ้าโบดอพญา จะสร้างให้ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อปี ๒๓๓๓ มี ทูตจากจีนได้นำ พระเขี้ยวแก้ว และธิดา ๓ องค์ ของกษัตริย์จีนมาถวาย ซึ่งเป็นองค์เดียวกับที่ พระเจ้าอนุรุทธและพระเจ้าอลองพญาต้องการ

ต่อมาได้สร้างพระเจดีย์ได้ ๗ ปี สูง ๑๕๒ เมตร ค่าแรงงานมากค่าใช้จ่ายมหาศาล ทำให้ เศรษกิจของประเทศตกต่ำ จึงเป็นชนวนให้เกิด สงครามกับอังกฤษครั้งแรก พระองค์จึงชลอการ สร้างพระเจดีย์ออกไป จนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๓๕๖ มีพระชนมาย ุ ๗๕ ปี



ชมคลิปวีดีโอ พม่า (ครั้งที่ ๑) ตอนที่ ๒

ส่วนระฆังมีน้ำหนัก ๘๗ ตัน ปากกว้าง ๕ เมตร พระเจ้าโบดอพญา สั่งสร้างปี ๒๓๓๓ เพื่อให้คู่กับเจดีย์มิงกุน ซึ่งเป็นงานวิจิตรศิลป์ที่ สร้างด้วยความยากลำบาก ดังนั้นเพื่อป้องกันมิ ให้ใครมาทำซ้ำ จึงสั่งให้ประหารศิลปินผู้สร้างเสีย

ต่อไปก็คือ พระเจดีย์ซินพิวเม (เมียะเต็ง ด่าน) เป็นเจดีย์ที่สวยงาม ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของ หมู่บ้านมิงกุน สร้างโดย พระเจ้าบาจิดอ หลาน ของพระเจ้าปะดุง ในปี ๒๓๕๙ เพื่อระลึกถึงพระ มเหสีซินพิวฺเม สร้างตามหลักจักรวาล มีพระ จุฬามณีตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นต้น เมื่อ ได้เดินชมจนทั่วแล้ว จึงเดินทางกลับแล้วนั่งรับ ประทานอาหารกลางวันบนเรือกัน

ตอนบ่ายเดินทางขึ้นไปบน เขามัณฑเลย์ มีความสูง ๒๓๖ เมตร มีทางขึ้นบันได ๑,๗๒๙ ขั้น แต่รถขึ้นไปได้สะดวก มีพระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระบรมธาตุไว้ ๓ องค์ แต่รอยพระพุทธ บาทจะต้องเดินลงบันไดมาอีกหน่อย ชาวพม่า เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับ ณ ที่ แห่งนี้ แล้วทรงชี้พระหัตถ์ไปทางเมืองมัณฑเลย์ ตรัสทำนายว่า พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองในเขตนี้

(ตามประวัติบางแห่งเล่าอีกว่า เมื่อครั้ง ในศาสนาพระพุทธกกุสันโธ พระพุทธโกนาคม และพระพุทธกัสสป แม้พระองค์เองเมื่อครั้งยัง เสวยพระชาติเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ได้เคยอาศัยที่เขามัณฑเลย์นี้)

สมัยต่อมา พระเจ้ามินดง ผู้ปรารถนา พระโพธิญาณ จึงให้สร้างเมืองมัณฑเลย์ขึ้นใน ปี ๒๔๐๐ และย้ายราชธานีมาจากอมรปุระ ชาว พม่าเชื่อว่า นางรากษส สันทโมกขิต มีความเลื่อม ใสในพระพุทธเจ้า นางจึงตัดเต้านมถวายเป็น พุทธบูชา พระพุทธเจ้าจึงทรงแย้มพระโอษฐ์ พี่ ชายของนางทูลถาม พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“สันทโมกขิต สั่งสมบุญบารมีมานาน ต่อไปในภายหน้าจะไปเกิดเป็น พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งมัณฑเลย์” และมีความเชื่อต่ออีกว่า พระเจ้ามินดงมาเกิดเป็น ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย

ฉะนั้น บนภูเขามัณฑเลย์ที่อยู่ท่ามกลาง พระนคร คงจะเหมือนกับดอยสุเทพที่อยู่ในเมือง เชียงใหม่ ลักษณะที่พระพุทธเจ้าประทับยืนชี้ หัตถ์ คล้ายกับที่เมืองพุกาม หรือในเมืองไทย เช่น ที่ พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุดอยตุง และ พระธาตุเขาน้อย จ.น่าน ข้างบนนี้ยังมี รูปปั้นงูคู่ ซึ่งชาวพม่าเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาก เวลาเจ็บปวดบริเวณ ใด พอสัมผัสที่ตัวงูก็จะบรรเทาไปได้

หลังจากที่ได้ทำพิธีบวงสรวงภายในพระ เจดีย์ นับบายศรีเป็นชุดที่ ๓ แล้ว พวกเราได้จัด ขบวนแห่เช่นเคย แล้วได้มอบผ้าห่มพระเจดีย์ ให้กับเจ้าหน้าที่ พร้อมกับร่วมทำบุญ ๑๐,๐๐๐ จ๊าด จากนั้นก็เดินลงไปที่ รอยพระพุทธบาท ในระหว่างทางจะมีร้านขายของมากมาย

ในตอนนี้ จะมองเห็นรูปปั้น นางรากษส สันทโมกขิต ตัดเต้านมยกขึ้นถวายพระพุทธเจ้า จึงได้อนุโมทนาแล้วเดินลงไปอีก รอยพระพุทธ บาทอยู่ข้างบันได รอยอยู่บนก้อนหินที่มีลักษณะ คล้ายรอยเท้าใหญ่ประมาณ ๑ เมตรเศษ

หลังจากนั้นก็กลับลงมา ไกด์พาไปเที่ยวชม พระราชวังมัณฑเลย์ สมัยพระเจ้ามินดง แต่ เป็นการจำลองด้วยไม้สัก เพราะของเดิมถูกพวก อังกฤษทำลายไปหมดสิ้น เมื่อ ๒๐ มี.ค. ๒๔๘๘ ต่อไปก็เป็นการช้อปปิ้งเครื่องประทินผิวของพม่า “ทานาคา” พวกที่ซื้อมาแล้วไม่รู้ใช้บ้างหรือเปล่า



10

มัณฑเลย์ - หงสาวดี (พะโค)

ตอนเย็นวันนี้ จะต้องย้อนกลับมาขึ้นรถ ไฟที่ สถานีตาร์ซี อีก แล้วนั่งโยกไปเยกมาไป กับแรงเหวี่ยงของรถไฟกันทั้งคืน แต่ก็สนุกดีนะ ใครไม่เคยไปแบบนี้ จะลองดูบ้างก็ได้ ตอนหลัง หลวงพี่โอ ไปพม่าอีกหลายครั้ง ยังบอกว่าตอน ไปครั้งแรกจะดีกว่าครั้งหลังเสียอีก

ขบวนรถไฟได้มาถึงสถานี หงสาวดี ในตอนเช้ามืด มีรถบัสรับไปฉันอาหารเช้า จุดแรก ไปนมัสการ พระพุทธไสยาสน์ชเวต้าละยอง มี อายุกว่าพันปี นับว่าเป็นพระนอนที่งดงามองค์ หนึ่งในพม่า มีความยาว ๑๘๐ ฟุต พระเจ้าเมง กาติปะที่ ๑ สร้างไว้เมื่อปี ๑๕๓๗ หลายปีต่อ มามอญตกอยู่ใต้อำนาจพม่า องค์พระจึงถูกทิ้งผุ พังอยู่ถึง ๕๐๐ ปี มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด

จนถึงปี ๒๔๒๔ ขณะที่อังกฤษจะสร้างทางรถไฟ ทำการถางป่าพบกองอิฐมากมาย จนถึงปี ๒๔๔๙ จึงได้สร้างหลังคาคลุมไว้ พอถึงปี ๒๔๙๑ จึงมีการบูรณะทาสีปิดทองใหม่ บางแห่ง บอกว่าเคยซ่อมแซมครั้งหนึ่งในสมัย พระเจ้าธรรมเจดีย์ ประวัติก็มีเพียงแค่นี้

สำหรับจุดที่ ๒ ก็คือ พระมหาเจดีย์ ที่พระเจ้าบุเรงนอง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๓ เพื่อบรรจุ พระเขี้ยวแก้ว ซึ่งเจ้าเมืองโคลัมโบถวาย ให้ตามสัญญา เมื่อครั้งพวกโปรตุเกสยึดเมือง โคลัมโบ และได้ชิงเอาพระเขี้ยวแก้วกลับไป พระ เจ้าบุเรงนองทรงทราบเรื่อง ก็ได้ขอไถ่พระเขี้ยว แก้วคืน แต่พวกโปรตุเกสไม่ยอม กลับบดพระ เขี้ยวแก้วให้ละเอียดเป็นผุยผงแล้วโปรยลงทะเล

ภายหลังพระเขี้ยวแก้วแสดงปาฏิหาริย์ เสด็จกลับมายังเมืองโคลัมโบ ประจวบกับในขณะ นั้นเมืองโคลัมโบมีศึกรอบข้าง พระเจ้าบุเรงนอง จึงเสนอเข้าไปช่วยเหลือ ถ้าช่วยให้พ้นจากข้าศึก ได้ จะขอพระเขี้ยวแก้วเป็นสิ่งตอบแทน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๑๑๙ ได้รับพระทันตธาตุ พระองค์ตรัสว่า

“สวรรค์ทรงโปรดข้าแล้ว อโนรธาได้ เพียงพระทันตธาตุจำลองจากลังกา อลองสินธุไปเมืองจีนโดยเปล่าประโยชน์ แต่ข้าได้พระทันต ธาตุนี้ด้วยปัญญาและศรัทธาของข้าเอง..”

หลังจากนั้นมีคนมาทูลว่า องค์จริงยังอยู่ ที่เมืองแคนดี้ ลังกา แต่พระองค์ไม่เชื่อ ทรงลั่น กุญแจเก็บรักษาพระทันตธาตุและบาตรไว้ในพระ มหาเจดีย์ พระเขี้ยวแก้วอยู่ในพระมหาเจดีย์ได้ เพียง ๓๔ ปี ในปี ๒๑๔๒ พระเจ้าอะเน่าแพหลุ่น ตีเมืองพะโคได้ และย้ายพระทันตธาตุไป ยังตองอู แล้วโปรดให้สร้าง พระเจดีย์กองมุดอว์ ที่เมืองสกาย ตามที่เราไปมาก่อนแล้วนั่นเอง

ครั้นได้ถวายผ้าห่มแล้ว จึงเข้าไปฉันเพล ในเมือง เสร็จแล้วจึงเดินทางไปไหว้พระพุทธรูป องค์หนึ่ง ตามที่ หลวงปู่ชัยวงศ์ เคยแนะนำให้ คนมาไหว้ ชื่อว่า พระมหาหงสะสัจจะชินมุนี มี พุทธลักษณะงดงาม ผู้เขียนได้เห็นพิธีการล้าง พระพักตร์ พระมหามุนี ที่มัณฑเลย์มาแล้ว จึง ถือโอกาสขออนุญาตเจ้าหน้าที่ของวัด พร้อมกับ พวกเรา ๒ - ๓ คน ขึ้นไปล้างพระพักตร์

เมื่อเสร็จพิธีที่ได้ทำแบบเฉพาะหน้า นับ ว่าเป็นบุญมหาศาลแล้ว จึงไปไหว้ พระพุทธรูปไจ้ปุ่น สร้างเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิหันหลังชนกัน ๔ องค์ หมายถึงพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ที่ได้ตรัสรู้ไปแล้ว องค์ใหญ่มากสร้างโดย ๔ สาวพี่น้องที่อุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนา สร้าง พระพุทธรูปแทนตนเอง และสาบานว่าตนจะไม่ ข้องแวะกับบุรุษเพศ ได้บูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๙

แต่ในที่บางแห่งบอกว่า สร้างในสมัย พระเจ้าธรรมเจดีย์ เมื่อพวกเราไปถึงพบว่ากำลัง มีการบูรณะอยู่ ๑ องค์พอดี จึงถือว่ามาได้จังหวะ ดีมาก พระพุทธรูปใหญ่ๆ อย่างนี้หาโอกาสยาก จึงได้ร่วมกันทำบุญเป็นเงิน ๑๑,๓๗๗ จ๊าด และ ๑๐๐ ดอลลาร์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ คือทิ้ง ช่วงไปอีก ๑๐ ปี ผู้เขียนก็ได้พาญาติโยมไปอีก ปรากฏว่ากำลังบูรณะพอดีอีก จึงได้ร่วมทำบุญ กันเป็นกรณีพิเศษ จึงขอเล่าประวัติกันต่อไปว่า..



ประวัติเมืองหงสาวดี (พะโค)

ตามพระราชพงศาวดารพม่ามอญนี้ ใน สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้คัดแปลจากหนังสือรามัญใบ ลาน แล้วเก็บไว้ในหอหลวง จนถึงรัชกาลที่ ๕ จึงได้ตีพิมพ์ ณโรงพิมพ์หลวง พอย่อความได้ว่า

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๘ พรรษา แล้วเสด็จจาริกมาถึง เขาสุทัศนะ ซึ่งบัดนี้ เป็นที่ตั้งเมืองหงสาวดี แต่ก่อนนั้นยังเป็นทะเลอยู่ แต่ภูเขาสุทัศนะนั้น เมื่อน้ำแห้งไปจะผุดขึ้นสูง ประมาณ ๒๓ วา ดูแต่ไกลเหมือนพระเจดีย์ พวกรามัญเรียก สุทัศนบรรพต ต่อมาเปลี่ยนไป เรียกว่า มุเตา จนทุกวันนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงที่จะตั้งเมือง หงสาวดีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นหงส์ทอง ๒ ตัว ลงเล่นน้ำอยู่ จึงทรงทำนายว่า สืบไปภายหน้า สถานที่นี้จะเป็นมหานครชื่อว่า หงสาวดี และ จะเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ พระศาสนาจะ รุ่งเรืองตั้งมั่นอยู่ ณ ที่นี้

(แต่ตามตำนานทั่วไปเล่าว่า พระพุทธเจ้า เสด็จมาทางอากาศ ถึงทะเลอันเวิ้งว้าง เห็นเกาะ ผุดขึ้นก็เสด็จลงประทับ ขณะนั้นมีหงส์ ๒ ตัว ป้องปีกนมัสการด้วยกิริยาอาการเคารพ แล้วจึง ตรัสทำนายกับพระอานนท์เหมือนที่กล่าวแล้ว)

กาลภายหลังปรินิพพานแล้วได้พันปี หาด ทรายที่ภูเขานี้ได้ตื้นขึ้นมา ๑๓ วา (คล้ายที่สระ บุรี) มีเรือลำหนึ่งวิ่งมาจากเมืองพิทยานคร จะไป ค้าขาย ณ เมืองสุวรรณภูมิ ได้เห็นหงส์สองตัวนั้นแล้ว กลับไปที่เมืองพิทยานครกราบทูล พระเจ้าบัณฑุราชา ให้ทรงทราบ พระองค์จึงให้ผู้ฉลาด ในไตรเพท แล้วได้ศึกษาเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้ ตามที่ตำราไตรเพทบอกไว้อย่างนั้น

พระเจ้าบัณฑุราชาจึงรับสั่งให้เอาเสาหิน ไปปักเขตแดน แล้วจารึกวันเดือนปีไว้ด้วยว่า ใน อาณาเขตนี้พระองค์ได้มาจองไว้ โดยปักเสาศิลา ลงบนหาดทรายที่หงส์ทองทั้งคู่ลงมาจับกันอยู่นั้น เวลาล่วงไปอีก ๑๖๐ ปี หาดทรายตื้นขึ้นเป็นแผ่น ดิน พระเจ้าแผ่นดินอีกสองชั่วพระองค์ ได้ทราบ ว่าพระเจ้าปู่ให้ปักเสาศิลาไว้ จึงให้อำมาตย์คุม พวกแขก ๗๐ คนมาอยู่รักษา ล่วงไปอีก ๕๖ ปี ที่ แห่งนี้ดอนขึ้น บางแห่งเป็นไร่นา บ้างยังเป็นป่ารก

สมัยต่อมาได้มีราชกุมาร ๒ พี่น้อง ชื่อว่า สามลกุมาร และ วิมลกุมาร ซึ่งเป็นโอรสของ พระเจ้าเสนะคงคา และ นางวิมลาราชเทวี แห่ง เมืองรัมวดี (ย่างกุ้ง) ทั้งสองได้ไปอาศัยอยู่ที่เมือง สุธรรมวดี (สะเทิม) ภายหลังถูกไล่ออกจากเมือง โลมฤาษี จึงแนะนำให้ไปที่เกาะแห่งนี้ ราชกุมารทั้งสองพร้อมกับผู้ติดตามอีก ๑๗๐ คน จึงเอาไม้ไผ่มัดเป็นแพข้ามไปที่เกาะนี้ คนที่อยู่บ้านแถวนี้พากันมาอยู่ด้วย นับรวมกันได้ประมาณพันคนเศษ จึงปรึกษาจะสร้างพระนคร ที่ตรงไหนดี (สงสัยว่าจะเป็นหงส์สองตัวมาเกิด)

ขณะนั้น พระอินทร์ ได้ทราบเรื่องที่ พระพุทธเจ้าเคยพยากรณ์ไว้ จึงได้แปลงเพศเป็น พราหมณ์ “นครวัฒกี” เข้าไปรับอาสาช่วยหาให้ เห็นว่าสถานที่หงส์ทองจับอยู่เป็นชัยภูมิที่เหมาะ แต่ว่าพวกแขกที่รักษาอยู่เดิมบอกว่า พระเจ้า บัณฑุราชาได้ให้เอาเสาศิลามาปักจองไว้นานแล้ว แต่นครวัฒกีบอกว่า ตนเองได้เอาเสา ทองคำปักไว้ลึกกว่านั้นอีก ๑๐ วา แล้วจึงให้คน ดำลงไป พบเสาทองคำที่พระอินทร์แอบเนรมิต เอาไว้จริงๆ สถานที่ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันนั้น เป็นใจกลางเมือง เรียกว่า อินทรจักรเมือง ต่อมา ได้สร้าง พระเจดีย์เห็นหลัก เอาไว้

พระอินทร์ให้พวกมอญเอาเสาทองคำไปฝังไว้ด้านทิศใต้ แล้วพวกรามัญได้ก่อพระเจดีย์ บรรจุพระเกศาธาตุไว้องค์หนึ่ง เรียกว่า พระเจดีย์ได้ชนะ จากนั้นก็สร้างพระนครตรงที่ได้เสาทอง คำขึ้นมา ที่หงส์ทองทั้งคู่เคยจับอยู่นั้น ให้ชื่อว่า เมืองหงสาวดี แล้วให้ สามลกุมาร ผู้พี่ขึ้นครอง เมืองเป็นปฐมกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสักรทัต เมื่อพระศาสนาล่วงแล้วได้ ๑๑๑๖ ปี

และมีกษัตริย์สืบต่อมาอีก ๑๗ พระองค์ เวลาผ่านมาได้ ๑๕๐ ปี พระเจ้าติสราชา กลับไม่นับถือพระรัตนตรัย นับถือแต่เทพาอารักษ์ ตรัส สั่งให้เก็บเอาพระพุทธรูปไปทิ้งเสียในแม่น้ำ มี ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งอยู่ในเมืองหงสาวดี ชื่อ นางภัทรา เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ได้ไปอาบ น้ำแล้วคลำถูกพระพุทธรูปในแม่น้ำ

จากนั้นได้ยกพระพุทธรูปขึ้นมาตั้งไว้ใน ศาลาหลายองค์ แต่คนใช้บอกเรื่องที่พระราชา ตรัสสั่งไว้ว่า ถ้าใครบูชาพระพุทธรูปหรือพระ สถูปจะฆ่าให้ตาย นางภัทราได้ฟังจึงคิดว่า เรา สู้เสียสละชีวิตถวายพระรัตนตรัยดีกว่า แล้วทำ การชำระล้างพระพุทธรูปนั้น จนพระราชาทรง ทราบเรื่องนี้ จึงตรัสสั่งให้ไปจับตัวนางภัทรามา ไต่สวน นางก็ยอมรับความจริงทุกอย่าง

พระเจ้าติสราชาจึงลงโทษโดยให้เอาช้าง ซับมันวิ่งเข้ามาทำร้าย แต่ไม่สามารถทำอันตราย แก่นางได้ เนื่องจากตั้งจิตอธิษฐานเอาคุณพระ รัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แล้วแผ่เมตตาให้พระราชาและควาญช้าง บันดาลให้ช้างสะดุ้งตกใจกลัววิ่งหนี ไป พระองค์จึงให้พานางไปฝังลงในหลุมแค่อก แล้วคลุมด้วยฟางข้าวจุดไฟเผา แต่ไฟก็ไม่ไหม้อีก พระราชาจึงตรัสว่า ถ้าพระพุทธรูปของนางประเสริฐแล้ว ทำให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้ นางจึงจะรอดชีวิต ถ้าทำไม่ได้จะสับกายให้เป็น เจ็ดท่อน นางก็เอาดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชา ตั้งสัตยาธิษฐานว่า

“ข้าพเจ้านับถือคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวง พระรัตนตรัยประเสริฐกว่าสิ่ง ทั้งหลายในโลก ด้วยเดชะ คำสัตย์ของข้าพเจ้า ๒ ประการนี้ ขอให้พระพุทธรูป ๘ องค์นี้ ลอยขึ้น ไปในอากาศให้ถึงสำนักพระเจ้าแผ่นดิน..”

พอจบคำอธิษฐาน พระพุทธรูปทั้ง ๘ องค์ ก็ลอยขึ้นไปในอากาศ (ต่อมาที่ตรงนี้ได้สร้างพระ เจดีย์ไว้ให้ชื่อว่า ตีละบอเติน คำไทยว่า พระบินขึ้น พระเจดีย์นี้อยู่ข้างทิศตะวันออกของวัดปะ ลองซอน สถานที่พระพุทธรูปลงมานั้น เรียกว่า กะยัดปอซอ คำไทยว่า พระลง พระเจ้าติสราชา ได้เห็นคุณของนางเป็นที่ประจักษ์ จึงตั้งให้เป็น พระอัครมเหสีทรงมีนามว่า พระนางภัทราราชเทวี

เมื่อพระราชารู้คุณพระพุทธศาสนาแล้ว จึงให้เที่ยวเก็บพระพุทธรูปกองไว้ และได้พระ เกศาธาตุองค์หนึ่ง จึงก่อพระเจดีย์สวมไว้ให้ชื่อ ว่า พระโวรต แปลว่า กองแก้ว ต่อมาเปลี่ยนไปว่า กะยัดกลอมปอน แปลว่า พระเจดีย์ร้อยอ้อม ชื่อ นั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ครั้นพระเจ้าติสราชา ทิวงคตแล้ว เมืองหงสาวดีสิ้นวงศ์กษัตริย์รามัญ เมืองก็ร้างเป็นป่าไป

แต่ในตำนานทั่วไปเล่าว่า เดิมเป็นเกาะ เล็กๆ เรียกว่า ฮินตากอง มีเนื้อที่แค่หงส์ ๒ ตัวเกาะได้ ตัวเมียก็เลยขึ้นไปเกาะบนหลังตัวผู้ สัญลักษณ์ของเมืองหงสาวดี จึงมีรูปหงส์สองตัว เกาะหลังกัน แต่ชาวบ้านมักจะเรียก เมืองพะโค ฉะนั้น เมืองหงสาวดีจึงมักจะถูกน้ำท่วม เพราะ หลังจากผู้เขียนกลับมาแล้วได้ ๓ เดือนน้ำก็ท่วม



พระเจดีย์ชเวมอดอว์ (มุเตา)


(ภาพจาก pantip.com)

เมืองหงสาวดีอยู่ห่างย่างกุ้ง ระยะทาง ๘๐ กม. มี เจดีย์ชเวมอดอว์ หรือ มุเตา เป็นพระเจดีย์ คู่บ้านคู่เมืองในปัจจุบันนี้ มีลักษณะคล้ายชเวดา กอง สูงถึง ๑๑๔ เมตร (ชเวดากองสูง ๑๐๙ เมตร) ตามตำนานเล่าว่า ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ที่ภูเขามัตหุละ ใกล้ลำน้ำยุนชะไล ได้แสดงธรรม โปรดพี่น้องสองคน ชื่อ มหาศาล กับ จุลศาลแล้วทรงประทานพระเกศาธาตุ ๒ เส้น ตรัสสั่ง ให้เอาไปประดิษฐานไว้ที่ เขาสุทัศนะ พี่น้อง ๒ คนนี้เป็นชาวเมืองซองดู อยู่ใกล้ๆ หงสาวดี

แต่ทั้งสองไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน จึงช่วย กันค้นหาจนพบ แล้วก่อพระสถูปขึ้นองค์หนึ่ง สูง ๕๐ ศอก บรรจุพระเกศา ๒ เส้นไว้ กาลเวลา ล่วงไปสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช ก็ได้ทรงมา ปฏิสังขรณ์พระสถูปนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘ พระองค์ ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอีก พร้อมทองคำ แท่งยาว ๖ นิ้ว ถวายเป็นพุทธบูชา

ต่อมาภายหลัง พระเจ้าสามล ผู้สร้างเมือง หงสาวดี ได้เสริมยอดพระเจดีย์เป็น ๘๑ ฟุต และ พระเจ้าวิมล ผู้อนุชา ได้เสริมให้สูงขึ้นไป อีกเป็น ๘๘ ฟุต ในปี พ.ศ. ๑๘๐๖ พระเจ้าสโม ดาโกซ่า ได้บูรณะทำให้สูงอีก ๑๓๐ ฟุต แล้วได้ ให้ชื่อว่า ชเวมอดอ แปลว่า ทองคำแท่งยาวครึ่งฟุต

สมัย พระเจ้าราชาธิราช ก็ได้บรรจุ พระเขี้ยวแก้ว ด้วย เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๘ ถวายภัตตาหาร แด่พระสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป ตลอด ๗ วัน พร้อมถวาย ทองคำหนักเท่ากับน้ำหนักของพระองค์ด้วย และ สมัย พระเจ้าธรรมเจดีย์ ได้เสริมให้สูงขึ้นอีก เป็น ๒๗๗ ฟุต มีเรื่องเล่าขานกันมาว่า

ในอดีตชาติที่ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ เกิด เป็นโอรสของพระเจ้าราชาธิราช ได้ถูกเหล่าเสนา นำตัวไปฆ่า ก่อนตายได้สาบานว่า จะกลับมาเกิด ใหม่ เพื่อฆ่าชาวมอญ จึงได้มาเกิดเป็นกษัตริย์ พม่า ผู้ปกครองเมืองตองอู ภายหลังได้ถวายมงกุฎ ทำยอดพระเจดีย์ ในสมัย พระเจ้าบุเรงนอง ก็ได้ทรงแกะเอามณีที่ประดับมหามงกุฎของพระ องค์ ทรงพระราชทานให้ไปทำยอดเจดีย์ด้วย

พระเจ้าโบดอพญา (ปะดุง) ได้สร้างฉัตร และเสริมยอดพระเจดีย์ให้สูงถึง ๒๙๗ ฟุต ต่อมา ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ๓ ครั้ง ครั้ง หลังสุดปี ๒๔๗๓ เกือบจะพังทั้งหมด หลัง สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ทำการบูรณะใหม่เสร็จ เมื่อปี ๒๔๙๗ พระเจดีย์ก็ได้ยอดฉัตรใหม่เป็น ทองคำแท้หนัก ๓๐.๘ ก.ก. ประดับเพชร ๘๒๙ เม็ด ทับทิม ๘๔๓ เม็ด อัญมณีอื่นๆ อีก ๑,๕๘๘ เม็ด ส่วนยอดเก่าได้หักพังลงมาอยู่แถวนั้น

มีเรื่องแทรกนิดคือ คุณกาญจนา ภรรยา คุณมิคกี้เล่าว่า ตามตำนานพม่าบอกว่า พระนางสุพรรณกัลยา ทรงประทับอยู่ที่เมืองตองอู ทรง เป็นมเหสีที่พระเจ้าบุเรงนองรักมาก มีพระธิดา ด้วยกันองค์หนึ่งชื่อว่า เจ้าหญิงน้อย ภายหลัง อภิเษกกับแม่ทัพพม่าที่พระเจ้าบุเรงนองไว้ใจที่สุด และมีพระธิดา ๑ องค์

ภายหลังพระธิดาได้อภิเษก กับแม่ทัพแห่ง เมืองมิถิลา มีบุตรชาย ๑ คน คือ นายอูกะลา นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของพม่า ชาวพม่า เรียกพระนางสุพรรณกัลยาว่า เจ้าหญิงพิษณุโลก ภาษาพม่าก็คือ ปิตุวนมิทุยา คำว่า “ปิตุวน” แปลว่า “พิษณุโลก” หากเราคุยกับคนพม่า และ บอกว่าเราเป็น “โยเดีย” เขาจะเข้าใจทันทีว่าเรา คือชาวอโยธยา หรือ “อยุธยา” ในปัจจุบันนี้เอง

ฉะนั้น ในสมัยที่ พระนางสุพรรณกัลยา กับ สมเด็จพระนเรศวร ขณะที่เป็นตัวประกัน ได้เสด็จมานมัสการพระเจดีย์มุเตาบ่อยครั้ง ฝ่าย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระอัยยิกาเจ้า ซึ่งถูก บังคับให้สละราชสมบัติ และเสด็จมาเป็นตัวประ กันพร้อมกัน ต่อมาทรงผนวชเป็นภิกษุ น่าจะ เคยประทับอยู่ที่วัดพระธาตุมุเตาเช่นกัน ดังนี้

ประวัติศาสตร์ของไทยช่วงนี้ ต้องบันทึก ไว้ด้วยความสะเทือนใจ แต่ก็ต้องหักห้ามใจใน กฎของกรรม เรามาสร้างบุญด้วยการเวียนเทียน แห่ผ้าพระเจดีย์กันดีกว่า แล้วน้อมจิตอนุโมทนา ผู้ร่วมสร้างและผู้ร่วมบูรณะทั้งหลายแล้ว จึงได้ ร่วมทำบุญ ๑๔,๖๒๐ จ๊าด กับอีก ๑๖๒ ดอลลาร์



หงสาวดี - ไจ้เที่ยว (อินทร์แขวน)

ต่อไปนี้พวกเราจะเดินทางไปจุดสำคัญที่ สุด แต่ถ้าจะนับอันดับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาว พม่าถือว่า พระเจดีย์ชเวดากอง เป็นอันดับ ๑ และอันดับที่ ๒ คือ พระมหามุนี เมืองมัณฑเลย์ ส่วนอันดับที่ ๓ คงหนีไม่พ้นที่เราจะไปกัน นั่น ก็คือ พระธาตุอินทร์แขวน แห่งเมืองไจ้โท

พระเจดีย์แห่งนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษามอญ ว่า ไจ้ทีโย (ไจ้เที่ยว) หมายถึง ก้อนหินทอง หรือ ภูเขายาติตอง (ภูเขาฤาษี) อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่าง เมืองตะโทง (สะเทิม) กับ เมืองพะโค (หงสาวดี) มีเจดีย์ขนาดเล็ก สูง ๕.๕ เมตร ตั้งอยู่บนก้อนหิน ใหญ่ที่วางอยู่อย่างหมิ่นเหม่

คุณมิคกี้จัดสถานที่แห่งนี้ไว้เป็นรายการ สุดท้าย เพราะว่าเดินทางไปยากนั่นเอง เริ่มแรก รถบัสไปจอดส่งพวกเราที่จุดเปลี่ยนรถหกล้อ เปิดประทุน ที่เรียกว่า คิมปุนแค้มป์ จากนั้นรถ หกล้อก็พาเราไปแบบสายฟ้าแลบ วิ่งขึ้นเขาลง เขาเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปตามไหล่เขาอย่างรวด เร็วด้วยความชำนาญ รถก็ไม่มีหลังคา เดิมทีได้ เตรียมผ้าปิดจมูกไปด้วย แต่สังเกตฝนเพิ่งตก ผ่านไปไม่นาน พวกเราจึงโชคดีไม่ต้องกินฝุ่นกัน

รถวิ่งขึ้นไปบนเขาสูงเรื่อยๆ ท่ามกลางป่า เขาที่ยังเป็นธรรมชาติ พอใกล้จะถึงจุดก็ต้องหยุด รอ เพื่อให้รถที่วิ่งสวนทางมาถึงก่อน เพราะเป็น ทางแคบ จากนั้นก็วิ่งขึ้นไปถึงจุดสุดท้าย ที่จะ ต้องนั่งเสลี่ยงคานหามกันต่อไป รับจ้างโดยชาว บ้านแถวนี้ แต่ก่อนนี้ไม่มีค่าทิป ปัจจุบันพวกฝรั่ง ไปทิปให้ เวลานี้มันก็เลยขอเพิ่มค่าทิปอีกต่างหาก

บางครั้งก็น่ารำคาญ แรกๆ ก็พอทนได้ แต่ตอนหลังมีการหามไปแวะที่ร้านขายน้ำข้างทาง เพื่อให้เราซื้อน้ำให้มันกิน มีหลายคนจำใจต้อง ทำแบบนั้น แต่ผู้เขียนไม่ตามใจมันหรอก เพราะ เราก็ให้มันครบตามข้อตกลงแล้ว ขณะที่มันวาง เสลี่ยงลง แม่ค้าก็เข้ามาตื้อให้ซื้อน้ำขวด

ผู้เขียนจึงดัดสันดานมันด้วยการเดินลง จากเสลี่ยงทันที ไม่ต้องหามกันต่อไป เพราะเรา ยังไม่ได้ให้เงินค่าหาม พวกที่หาม ๔ คน รีบ วิ่งตามไป กลัวว่าเราจะเดินหนีขึ้นไปเสียก่อน นี่ เล่าเรื่องไปตอนหลังนะ ในตอนแรก พวกนี้ยังมี นิสัยดีอยู่ ไม่งกเงินเหมือนปัจจุบันนี้ ร้านขาย ของก็ไม่มาก ระหว่างทางยังมีป่าไม้เป็นธรรมชาติ

สมัยนั้น ถึงแม้พวกเราจะขึ้นไปถึงเย็นแล้ว ก็ตาม ขณะที่ถูกหามขึ้นเสลี่ยงไป เป็นเวลามืดค่ำ แล้ว แต่เราก็ปลอดภัยกันทุกคน ตอนแรกก็ใจ หายเหมือนกัน เพราะพวกเรามีผู้หญิงหลายคน แต่ไปครั้งแรกนี้ผู้เขียนอยากจะลองเดินขึ้นไป โดย มีพวกคนหาม ๔ คนเดินตามไปด้วย

เดินกลางคืนก็ดีนะ ไม่เหนื่อยมาก ภาวนา ไปด้วย ถือเป็นการเดินเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แบบสมัยโบราณ บนยอดสุดจะเห็นก้อนหินตั้ง เด่นอยู่บนหน้าผา โดยมีพระเจดีย์อยู่บนก้อนหิน ที่เหมือนคล้ายหัวฤาษีนี้ ปิดทองสวยอร่าม โดย เฉพาะเวลากลางคืน ผู้คนยังมากราบไหว้กันอย่าง เนืองแน่น กลิ่นธูปควันเทียนฟุ้งตลบอบอวลยิ่ง

ก่อนจะถึงพระเจดีย์มีวิหารด้านซ้ายมือ จะมองเห็นรูปปั้นอยู่ภายในศาลา เป็นผู้หญิงนอน อยู่ และมีชายและหญิงสูงอายุเข้ามาประคอง ตาม ประวัติเล่าว่า ผู้หญิงที่นอนอยู่นั้น เป็นพระมเหสี ของพระเจ้าสุธรรมวดี ซึ่งได้มาทิวงคต ณ จุดนี้ เมื่อครั้งที่ต้องการจะมาบูชาพระเจดีย์เป็นครั้งสุด ท้าย และร่างกายก็ได้กลายเป็นหิน แต่เวลานี้ได้ปั้นรูปของนางทับหินก้อนนั้นแล้ว

ส่วนทางด้านขวามือภายในศาลาอีกหลัง หนึ่ง จะมีภาพวาดก้อนหินที่วางอยู่ จะแสดงให้ เห็นว่า ช่องว่างระหว่างก้อนหินกับหน้าผานั้น เดิมจะห่างกันพอตัวไก่ลอดได้ ต่อมาลดลงมา เหลือแค่นกลอดได้ ภายหลังเคยมีคนเอาเชือกมา ลอดผ่านไปได้ ปัจจุบันนี้คงจะมองแทบไม่เห็น

◄ll กลับสู่สารบัญ


webmaster - 27/8/10 at 10:59

11

ประวัติพระธาตุอินทร์แขวน


(ภาพจาก tourtooktee.com)

ย้อนไปในอดีตกาล ๕๐ ปี ก่อนที่พระพุทธ เจ้าจะตรัสรู้ สมัยที่ พระเจ้าติสสะ ครอง เมืองสุภินนคร รัฐอปรันตกะ มีพระโอรส ๒ องค์ ชื่อ ติสสะ และ ชัยยะ ได้ออกบวชเป็นฤาษี องค์พี่อยู่ ที่ เขาคิชฌคีรี (บางแห่งว่า คัชชคีรี) อยู่ใกล้ทะเล ส่วนองค์น้องอยู่ที่ พันธคีรี

บริเวณที่พระฤาษีผู้พี่อาศัยอยู่นั้น มีวิชาธร ผู้หนึ่ง (เป็นผู้มีฤทธิ์) ได้ร่วมประเวณีกับนางนาค จากนั้นวิชาธรผู้นั้นก็เหาะไป ส่วนนางนาคก็ได้ ตั้งครรภ์และคลอดออกมาเป็นไข่ ๒ ฟอง แต่เกิด ความอับอายจึงนำไข่ไปซ่อนไว้ในถ้ำบนเขา (ถ้ำ นี้ต้องเดินลงมาจากพระเจดีย์ ๓๐ นาที ปากถ้ำ ไม่ใหญ่แต่ภายในกว้าง มีพระพุทธรูปอยู่มาก)

ฝ่ายพระฤาษีได้ยินเสียงร้องของเด็กภาย ในถ้ำ จึงเดินมานำเด็กนี้ไปเลี้ยง ฤาษีผู้น้องขอ นำเด็กไปเลี้ยงคนหนึ่ง พออายุได้ ๑๐ ขวบก็ตาย ส่วนองค์พี่ก็ได้เลี้ยงเด็กคนพี่จนอายุได้ ๑๙ ปี แล้วได้แต่งงานกับสาวชาวกะเหรี่ยงแถบนี้

ต่อมาพระเจ้าติสสะเสด็จสวรรคต เสนา อำมาตย์จึงมาตามฤาษีไปครองเมือง แต่ฤาษีทั้ง สองไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทางโลก จึงให้เด็กคนพี่ ที่เลี้ยงไว้ไปครองเมืองแทน เมื่อเดือนมีนาคม มหาศักราช ๑๑๐ ทรงพระนามว่า พระเจ้าติสสะธรรมราชา ครองเมืองสุธรรมวดีต่อไป

(ในคัมภีร์ศาสนวงศ์เล่าว่า กุมาร ๒ คน เป็นบุตรของอำมาตย์ ต่อมากุมารผู้พี่อายุได้ ๑๒ ปี ท้าวสักกะได้สร้างเมืองใหม่ ชื่อ สุธรรมปุระ แล้ว ให้กุมารครองเมือง มีพระนามว่า พระเจ้าสีหราช แต่ในศิลาจารึกว่า พระเจ้าสิริมาโสก ดังนี้)

ฝ่ายเด็กผู้น้องเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ได้ไป เกิดในครอบครัวของเศรษฐีใน เมืองมิถิลา ชื่อว่า ควัมปติ เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว เด็ก ผู้นี้แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือเกิดมาแล้วก็จะร้องไห้ ตลอดเวลา แต่เมื่อพาไปวัดก็จะหยุดร้อง จนอายุ ได้ ๗ ขวบ จึงได้นำไปบวชเป็นสามเณร

หลังจากนั้น ๑ ปีก็สามารถบรรลุเป็น พระอรหันต์ ด้วยคุณธรรมวิเศษจึงระลึกชาติได้ นึกถึงแม่ในชาติก่อนที่เป็นนางนาค แต่แม่ก็เสีย ชีวิตไปแล้ว จึงระลึกถึงพี่ชายในอดีต ซึ่งขณะนี้ ได้เป็นพระราชาครองเมืองสุธรรมวดี จากนั้นจึง ได้ทูลขอพระพุทธเจ้าเพื่อไปหาพี่ชายในอดีต

สามเณรควัมปติจึงได้เหาะลงมาหน้าท้อง พระโรง แล้วเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้พระองค์ ทรงทราบ พระเจ้าสุธรรมวดีอยากจะฟังเทศน์ แต่สามเณรบอกว่าจะต้องลงจากบัลลังก์ก่อน แล้ว ให้เราขึ้นไปนั่งข้างบนแทน พระราชาก็ยอมทำ ตาม สามเณรองค์อรหันต์ก็ได้แสดงธรรม จน พระเชษฐาเกิดดวงตาเห็นธรรมแล้ว กล่าวชมว่า น่าเลื่อมใสยิ่งนัก

ฝ่ายสามเณรกล่าวว่า เรานั้นเป็นเพียงลูก ศิษย์เท่านั้น ท่านอาจารย์ของเราเก่งกว่านี้มาก พระเจ้าสุธรรมวดีถามว่า พระอาจารย์ของท่าน คือผู้ใด ท่านจึงกล่าวว่าอาจารย์ของเรา คือ พระพุทธเจ้าโคตมะ พระราชาได้ฟังดังนั้น มีพระประ สงค์จะพบพระพุทธเจ้า จึงถามต่อไปว่าจะต้องทำ อย่างไรจึงได้พบ สามเณรน้อยตอบว่า พระองค์ ควรตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้พบพระพุทธเจ้า

ในพรรษาที่ ๘ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป จึงเสด็จโปรด พระเจ้าสุธรรมวดีและชาวเมืองทั้งหลาย ให้ตั้ง อยู่ในไตรสรณาคมน์เป็นเวลา ๗ วัน แล้วได้ประ ทานเส้นพระเกศาธาตุให้แก่พระฤาษีสองพี่น้อง คนละหนึ่งเส้น จากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จกลับ

(คัมภีร์ศาสนวงศ์อ้าง ในศิลาจารึกบอกว่า เสด็จมาพร้อมกับพระภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป และ พระพุทธเจ้าประทานพระเกศาธาตุ ๖ องค์ แก่ ฤาษี ๖ ตน ภายหลังจากนั้น พระควัมปติเถระได้ อัญเชิญ พระทันตธาตุ ๓๓ องค์ ไปจากจิตกาธาน ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งพระทัยไว้ในเวลา ปรินิพพาน บูชาอยู่ ๓๗ ปี แล้วจึงนำมาสู่เมือง สุธรรมปุระ มอบให้แก่พระเจ้าสีหราชนำไปประ ดิษฐานในพระเจดีย ์ ๓๓ แห่ง)

ต่อมาพระฤาษีผู้น้องได้นำพระเกศาธาตุ ไปบรรจุไว้ที่ พระเจดีย์สินไจ้ บนยอดเขาสูงเมืองอะเปา ส่วนพระฤาษีผู้พี่นั้นได้เก็บพระเกศาธาตุ ไว้ในปิ่นปักผม จนอายุถึง ๙๒ ปี ฝ่ายพระเจ้า ติสสะธรรมราชาทรงเป็นห่วง จึงได้ค้นหาสถานที่เหมาะสม แต่พระฤาษีเห็นว่าพระเกศาธาตุเป็น ของสูง สมควรที่จะอยู่ในที่สูง หมายความจะต้อง อยู่บนศีรษะของตนตลอดเวลา จนกว่าจะมีสิ่งที่ อัศจรรย์แล้วจึงจะยอม

พระราชาก็ให้ค้นหาจนพบหินบนยอดเขานี้ ที่ว่าลอยขึ้นจากพื้นเป็นที่อัศจรรย์ (บางตำนาน เล่าว่า พระอินทร์ได้มีบัญชาให้นางฟ้าที่รักษามหา สมุทร ไปหาก้อนหินที่มีรูปร่างเหมือนหัวฤาษี นางจึงได้ไปนำหินก้อนนี้มาจากในมหาสมุทร แล้วนำมาตั้งไว้ให้ลอยจากพื้นประมาณ ๙ นิ้ว (ครึ่งศอก) ให้เห็นเป็นที่อัศจรรย์)

เมื่อพระฤาษีได้เห็นอภินิหารเช่นนี้ แต่ก็ยังเกิดความลังเล จะเป็นเพราะเสียดายก็ได้ จึง อธิษฐานว่า ถ้าพระเกศาธาตุสมควรจะประดิษ ฐาน ณ ที่นี้ ขอให้พุทธบารมีจงบังเกิดขึ้น เวลา นั้น ก้อนหินก็เกิดมีรัศมีเป็นสีต่างๆ และเกิดเงา ของพระพุทธเจ้าบนก้อนหินนี้ด้วย

พระฤาษีได้เห็นอัศจรรย์ดังนี้แล้ว จึงเข้า ไปก้มกราบก้อนหินนั้นด้วยความปลื้มปีติ พระ เกศาธาตุที่เก็บไว้ในมวยผมได้เสด็จลอยขึ้นบน อากาศ แล้วมีฟ้าผ่าลงตรงกลางก้อนหิน พระ เกศาธาตุก็จมลงในก้อนหินทันที หลังจากนั้น พระฤาษีก็ได้สิ้นใจตายไปทันที

พระราชาก็ให้สร้างพระเจดีย์องค์เล็กครอบเอาไว้ แล้วเรียกว่า “ไจ้ฤาษีโร” เป็นภาษามอญ มีความหมายว่า เจดีย์ที่ฤาษีสร้าง ต่อมาชาวพม่า เรียกเพี้ยนเป็น “ไจ้ทีโย” หรือ “ไจ้เที่ยว” นั่นเอง หลังจากนั้น พระมเหสีของพระเจ้าสุธรรมวดี มี ความประสงค์จะมากราบไหว้พระเจดีย์

แต่ในระหว่างทางจะต้องผ่านพวกชาวป่า ชาวเขาที่ไม่ชอบพระมเหสี พวกทหารที่ติดตาม มาด้วยเกิดนึกกลัวหนีกลับไปหมด พระนางก็ดี ใจจะได้อยู่อย่างสงบ ไม่ต้องการกลับไปอีก ใน ขณะที่เดินทางไปนั้น พวกชาวป่าก็ไล่ตามมาทำ ร้าย พระมเหสีได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้ตนได้ ไปเห็นหรือได้กราบไหว้พระเจดีย์สักครั้งก่อนตาย

จากนั้นก็ได้รวบรวมพละกำลังทั้งหมดที่มี เริ่มออกวิ่งมายังพระเจดีย์ไจ้เที่ยว จนใกล้จะถึง บริเวณพระเจดีย์ สามารถมองเห็นได้ดังที่ตั้งใจ ไว้แล้ว หลังจากนั้นพระนางก็ได้สิ้นใจไป ต่อมา พระราชาทรงทราบข่าวนี้ แต่ก็ไม่กล้าเสด็จมา เพราะเกรงว่าชาวป่าชาวเขาจะทำร้ายพระองค์ ในภายหลังพระวรกายของพระนางก็ได้กลาย เป็นหินอยู่ใกล้กับพระเจดีย์นี้

ประวัติความเป็นมาก็จบเพียงแค่นี้ จะขอ เล่าเรื่องของเราต่อไปว่า พระเจดีย์นี้ตั้งอยู่ที่ความ สูง ๑,๒๐๐ เมตร สรุปแล้วใช้เวลาขึ้นรถ ๖ ล้อ ประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วเปลี่ยนเป็นนั่งเสลี่ยงขึ้น เขาอีก ๔๕ นาที แต่ผู้เขียนขอเดินขึ้นไปเอง เขาพูดกันว่าต้องไปพระธาตุอินทร์แขวนให้ครบ ๓ ครั้ง ผู้เขียนก็ได้ไปครบในปี ๒๕๔๙ แต่ครั้งที่ ๓ นี้ จึงถือโอกาสเดินกลับลงมาเอง

คืนนั้นพวกเราก็ได้บูชาพระเกศาธาตุด้วยแสงไฟที่จุดขึ้นบูชา แล้วกลับมานอนพักผ่อน ใน ตอนเช้า วันที่ ๒๖ ก.พ. ๓๙ จึงจัดขบวนแห่ เครื่องสักการบูชา มีบายศรี (ต้นสุดท้าย) เป็นต้น เดินไปเป็นระยะทาง ๕๐๐ เมตร สู่ลานกว้างของ พระเจดีย์ แล้วได้จัดทำพิธีบวงสรวงที่ด้านหน้า เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเข้าไปปิดทองได้ แล้วได้ร่วมทำบุญเป็นเงิน ๑๔,๖๒๐ จ๊าด กับอีก ๑๖๒ ดอลลาร์

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ผู้เขียนได้มีโอกาส เดินทางไปกับ ท่านเจ้าอาวาสวัดท่าซุง โดยมี โยมจิตต์อารีย์ ทีปะนาถ เป็นผู้นิมนต์ ก่อนไป โยมอัญเชิญ ได้ถวายผู้เขียน ๑๐๐ ดอลลาร์ ขณะ ที่ไปถึง พระเจดีย์ชเวดากอง นั้น คุณมิคกี้ได้บอก ว่าเมื่อคืนนี้ดูทีวีเขารายงานว่า เวลานี้ พระเจดีย์ ไจ้เที่ยว กำลังเปลี่ยนฉัตรใหม่ ตอนนี้ได้นำฉัตร มาพักไว้ที่พระเจดีย์ชเวดากอง

ผู้เขียนจึงให้คุณมิคกี้นำไป ปรากฏว่าฉัตร ได้วางอยู่มุมหนึ่งของพระเจดีย์ แยกชิ้นส่วนออก วางไว้แต่ละชิ้น เป็นทองคำแท้ สวยงามอลังการ มาก มีชาวพม่านั่งอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเข้าไป ร่วมทำบุญใส่ตู้บริจาค แล้วเดินกลับออกมา แต่ ผู้เขียนยังไม่อิ่มใจ ขอให้คุณมิคกี้ย้อนกลับไปอีก

เพื่อที่จะขอทำบุญที่เป็นทองคำแท้ เมื่อ เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ๆ นั่งเฝ้าฉัตรอยู่ เขาบอกว่า เต็มหมดแล้ว แต่แนะนำให้ทำระฆังเล็กๆ ได้ จึง ถามว่าต้องใช้เงินเท่าไร เขาบอกประมาณ ๑๐๐ ดอลลาร์ ผู้เขียนจึงมอบเงินนั้นให้ทันที พระภิกษุ ชาวพม่าที่นั่งอยู่ด้วย จึงบอกให้เขียนชื่อนามสกุล เขาจะสลักไว้ที่ระฆังทองคำนั้นให้ทีหลัง

เมื่อเดินกลับออกมา ด้วยความปลื้มใจว่า เราได้ทำบุญสมหวังแล้ว ถ้าจะไปที่พระเจดีย์ ไจ้เที่ยวตอนนี้เราก็ไม่พบ หรือถ้าไม่มาที่ชเวดา กองก็ไม่รู้อีก จึงถือว่าบุญบันดาลก็ว่าได้ ครั้นพอ เดินออกมาได้เพียงนิดเดียว เกิดมีละอองฝน โปรยลงมาทันที ถึงแม้จะเป็นเวลากลางคืน แต่ พอจะมองเห็นได้จากพื้นลานพระเจดีย์ชเวดากอง

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ พวกเราก็ได้กลับมา ไหว้ที่นี่กันอีก ต้นปีก็ได้ทำบุญค่าไฟสปอตไลท์ ปลายปีก็ได้มีโอกาสร่วมบูรณะพระเจดีย์อีกด้วย นับว่าการเดินทางไปพม่าแต่ละครั้ง ต้องถือว่า เป็นจังหวะมากกว่า พระเจดีย์ทุกแห่งจะมีการ ซ่อมแซมทุกๆ ๔ ปี แล้วแต่โอกาสที่จะได้ทำบุญ

ก่อนจะกลับ คุณมิคกี้ได้ขอให้เจ้าหน้าที่ คนหนึ่ง ช่วยพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ให้พวกเราชม เขาเป็นคนมีอายุพอสมควร ได้นั่งคุกเข่าแล้วยก มือพนมอธิษฐานสักครู่หนึ่ง แล้วจึงนั่งหันหลัง ดันก้อนหินพระเจดีย์ พวกโยมผู้หญิงต้องยืนดู อยู่ไกล แต่ก็พอสังเกตได้จากที่เราเอาไม้เล็กๆ ไป วางค้ำไว้ก่อน ปรากฏว่าเห็นไม้เคลื่อนไหวออก มา นั่นแสดงให้เห็นว่า เพียงกำลังแค่คนเดียว สามารถดันก้อนหินให้ไหวได้เป็นอัศจรรย์

มีหลายคนได้เห็นแล้วถึงกับปีติ โดย เฉพาะ คุณนารี และ คุณสายสมร จากพิจิตร ถึง กับน้ำตาไหลด้วยความปลื้มใจ จากนั้นก็เดินทาง กลับลงมาที่รถบัส แล้วออกเดินทางกลับไปแวะ ไหว้ พระพุทธรูปไจ้ปอลอ ที่เมืองไจ้โท กันก่อน



12

ประวัติพระพุทธรูปไจ้ปอลอ


(ภาพจาก oceansmile.com)

สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ครองเมือง ปาฏลีบุตร ได้ส่งพระราชโอรสคือ พระมหินทเถระ ไปประกาศพระศาสนาที่ลังกาทวีป ในเวลา นั้น พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นเจ้าผู้ครองนครอนุราธปุระ พระองค์ได้สร้างพระพุทธรูปไว้เป็น จำนวนมาก ในจำนวนพระพุทธรูปหลายองค์ มี อภินิหารเกิดขึ้นกับพระพุทธรูป ๔ องค์ คือ เกิด มีรัศมีขึ้นและองค์พระก็กระพริบตาได้ด้วย

พระราชาทรงปีติมาก จึงอยากจะนำพระ พุทธรูปไปบูชาที่พระราชวัง แต่พระมหินทเถระ ทูลแนะนำว่า ไม่ควรนำไปบูชาเป็นส่วนพระองค์ อยากให้พระพุทธรูปได้ไปตามที่ท่านปรารถนา จะไป พระราชาจึงทรงตกลงและตั้งจิตอธิษฐาน ลอยพระพุทธรูปลงสู่มหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗ ที่ท่าเรือชมพูโกละ

พระพุทธปฏิมากรได้แสดงอภินิหารอีก มีรัศมีสว่างและกระพริบตา แล้วได้ลอยไปใน มหาสมุทรอินเดียอย่างรวดเร็ว องค์ที่ ๑ ลอยเข้า ทางปากอ่าวเบงกอลไปที่ เมืองพะสิม องค์ที่ ๒ ลอยไปถึงชายทะเล แหลมไจ้คามี เมืองเมาะละ แหม่ง องค์ที่ ๓ ลอยไป เมืองทวาย องค์ที่ ๔ หายไปในทะเลนานหลายร้อยปี

กาลเวลาผ่านไปนาน ยังมีมหาเศรษฐีผู้ หนึ่ง ภรรยาได้ฝันว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ แล้วประทับยืนอยู่บนศีรษะของสามี และภรรยา รุ่งขึ้นภรรยาเศรษฐีก็ได้ไปหาพระที่ นับถือ พร้อมทั้งเล่าความฝันให้ฟัง พระก็ได้ทำ นายฝันว่า ภรรยาเศรษฐีจะได้ทำนุบำรุงพระพุทธ ศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

หลายเดือนต่อมา ในปี พ.ศ. ๘๐๓ ชาว บ้านในเมืองไจ้โทก็ได้เห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ประทับอยู่บนล้อเกวียนที่ทำด้วยหิน แล้วลอยน้ำ เข้ามายังคลองเล็กๆ ของเมืองไจ้โท ชาวบ้านบาง คนก็ได้ลงไปในน้ำเอาเชือกมัดดึงขึ้นมา แต่ไม่ เป็นผลสำเร็จ หลังจากข่าวนี้แพร่กระจายออกไป จนถึงเศรษฐีสองสามีภรรยา ทั้งสองก็ได้ไปดู และบังเกิดความปีติ นึกถึงความฝันของตนเอง

ภรรยาเศรษฐีจึงอธิษฐานว่า ถ้าพระพุทธ รูปองค์นี้ จะเป็นดังเช่นความฝัน ก็ขอให้ท่านขึ้น มาประทับบนบก ระหว่างนั้น มีชาวบ้านกำลัง นั่งปั่นด้ายอยู่ ภรรยาเศรษฐีจึงไปขอเอาเส้นด้าย นำมามัดผูกกับพระพุทธรูป เพื่อจะดึงขึ้นมาข้าง บนฝั่ง ชาวบ้านก็พากันหัวเราะเยาะว่า ด้ายเส้น เล็กๆ แค่นี้จะดึงได้อย่างไร ขนาดใช้โซ่เส้นโตๆ ดึงยังไม่ได้เลย

ดังนั้นภรรยาเศรษฐีจึงได้ดึงเส้นด้ายขึ้นมา ปรากฏว่าสามารถนำขึ้นมาได้ ทุกคนก็พากัน แปลกใจเป็นอย่างมาก ภรรยาเศรษฐีก็ได้สร้างวัดถวายพระพุทธรูปองค์นี้ ครั้งแรกพระพุทธรูป หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แต่พอนาน ไปพระพุทธรูปก็หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวัน ตก มีชาวบ้านมาขยับให้หันกลับไปทางทิศตะวัน ออก พอวันรุ่งขึ้นพระพุทธรูปก็หันไปแบบเดิมอีก

ผลสุดท้ายก็ต้องสร้างวัดใหม่ หันหน้าไป ทางทิศตะวันตก แล้วตั้งชื่อว่า “พระพุทธรูปไจ้ ปะลอ” ซึ่งเป็นภาษามอญ แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้เสด็จมาจากทิศตะวันตก (ศรีลังกาอยู่ทางทิศ ตะวันตกของพม่า) ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็นไจ้ปอลอ

ต่อมาชาวบ้านพากันมากราบไหว้เป็นอันมาก และปิดทองคำเปลวถวาย ได้บังเกิดอภินิหาร ขึ้นอีกคือ มีไฝเกิดขึ้นจากภายในองค์พระบริเวณ พระพักตร์ และเมื่อมีการปิดทองคำเปลวทับ บริเวณไฝนั้นจะปิดไม่ได้ เพราะทองคำเปลวจะ หลุดออกมา ไฝนั้นก็จะเคลื่อนที่ไปมาอยู่เสมอ

เรื่องราวก็จบเพียงเท่านี้ จากนั้นพวกโยม ผู้ชายก็ขึ้นไปปิดทองคำเปลวที่องค์พระ สามารถ มองเห็นไฝได้จริงๆ แล้วร่วมกันทำบุญเป็นเงิน ๓,๗๑๐ จ๊าด กับ ๑๐๐ ดอลลาร์ ต่อมาปี ๒๕๔๙ ผู้เขียนก็ได้มาอีกครั้งหนึ่ง พบว่าทางวัดกำลังจะ บูรณะพระวิหารพอดี จึงได้ร่วมทำบุญด้วย

เป็นอันว่า การเดินทางครั้งแรกคงจะหมด รายการแต่เพียงแค่นี้ นับเวลา ๘ วันของการเดิน ทาง ตั้งแต่วันที่ ๒๐ - ๒๗ ก.พ. ๓๙ คุณหมออู๊ด และ คุณมธุรส เป็นผู้บันทึกไว้ว่า ได้ทำบุญ รวมทั้งสิ้น ๑๒๒,๘๕๑ จ๊าด และอีก ๔๐๖ ดอลลาร์ นับเป็นเวลา ๑๐ กว่าปี กว่าจะได้นำมาเล่าสู่กันฟัง บางคนก็ตายไปแล้วก็มี เช่น คุณโยมปรุง เป็นต้น แต่ผลบุญที่เราได้ทำแล้วนั้น ยังคงเป็นอมตะตลอดไป.

◄ll กลับสู่สารบัญ

((( โปรดติดตามตอนต่อไป การเดินทาง ครั้งที่ ๒ (พม่าฝั่งตะวันออก - พม่าเหนือ) )))